60 ปีกรีนบัส เมล์เขียวของหมู่เฮาจาวเหนือ และศาสตร์แห่งการพัฒนาเพื่อปิดช่องโหว่แบบไร้วันจบ

‘ผู้โดยสารเลี้ยงเรา’

แรกก้าวเข้าไปในสำนักงานใหญ่กรีนบัส ตัวหนังสือสีขาวจากประโยคข้างต้นปรากฏให้เราเห็นอย่างเด่นชัดโดยพาดทับอยู่บนพื้นหลังตึกสีเขียว ราวกับถ้อยคำนี้เป็นเครื่องเตือนใจที่เมื่อเห็นก็พร้อมสลักลงไปในหัวใจและความคิดของบุคลากรทุกคน

กรีนบัส (Greenbus Thailand) หรือบริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด คือผู้ให้บริการด้านการขนส่งและการเดินทางที่ชาวเหนือรู้จักเป็นอย่างดี เพราะด้วยเส้นทางการให้บริการที่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดในภูมิภาคถึง 14 เส้นทาง กรีนบัสจึงมักเป็นบริการขนส่งและเดินทางแรกเสมอที่คนพื้นที่นึกถึง พร้อมเรียกด้วยคำติดปากว่า ‘รถเมล์เขียว’ หรือ ‘เมล์เขียว’

แต่นอกเหนือจากการเป็นมิตรการเดินทางอันคุ้นเคยให้กับชาวเหนือแล้ว ปัจจุบันกรีนบัสมีบริการที่ครอบคลุมและหลากหลายมากกว่านั้น เช่น เส้นทางเดินรถ 3 เส้นทางเชื่อมภาคเหนือ-ภาคใต้, เส้นทางเดินรถ 1 เส้นทางเชื่อมภาคเหนือ-ภาคอีสาน, บริการรับ-ส่งพัสดุภัณฑ์, บริการรถเช่าเหมาเพื่อการท่องเที่ยว และอีก 2 บริการมาใหม่ล่าสุดอย่าง ‘HOP&GO’ รถบัสประจำเที่ยวชมเมือง และ ‘Greenpark Community Mall’ คอมมิวนิตี้มอลล์ใหม่เอี่ยมที่เน้นบริการ drive-thru & pick-up แห่งแรกของเชียงใหม่

ดังนั้นถ้ามองแค่สิ่งที่กรีนบัสทำทั้งหมด การพาตัวเองมาสนทนากับ ‘สมชาย ทองคำคูณ’ แม่ทัพใหญ่ของกรีนบัสดูจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอยู่แล้ว แต่ที่เราสนใจมากกว่านั้นคือการที่ตัวสมชายเองเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของผู้ก่อตั้งโดยตรง และเป็นคนพากรีนบัสโต้คลื่นผ่านมรสุมครั้งใหญ่อย่างโควิด-19 จนเข้าสู่ขวบปีที่ 60 ของกรีนบัสในปี 2567 นี้ 

เรื่องราวเบื้องหลังทั้งหมดเป็นยังไง รูปแบบการดำเนินธุรกิจไหนคือเคล็ดลับของสมชาย และอะไรคือความเชื่อหลัก ที่ทำให้กรีนบัสอยู่ยั้งยืนยงเคียงข้างหมู่เฮาชาวเหนือมาได้นานขนาดนี้

ตีตั๋วขึ้นรถเมล์เขียวมาได้เลย เราจะเดินทางล่องไปในถ้อยคำของสมชายกัน

ในเว็บไซต์ของบริษัทกรีนบัส ระบุไว้ว่า พ.ศ. 2507 บริษัทได้สัมปทานเส้นทางเดินรถลำปาง-แม่สายเป็นเส้นทางเดินรถแรก อยากให้ช่วยเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังและความเป็นมาของการเริ่มต้นนี้ให้ฟังหน่อย

ถ้าว่ากันด้วยข้อมูล ผมคือรุ่นที่ 2 ของกรีนบัส คุณคำรณ ทองคำคูณ หรือคุณพ่อคือรุ่นที่ 1 และเป็นคนที่เริ่มต้นตั้งบริษัทจนได้สัมปทานเส้นทางเดินรถลำปาง-แม่สายอย่างที่กล่าวไปในเว็บไซต์ แต่ถ้าว่ากันด้วยความเป็นมาจริงๆ สำหรับผมกรีนบัสเริ่มต้นตั้งแต่รุ่นคุณปู่แล้ว

ปู่ผมคืออดีตทหารมหาดเล็กของเจ้าพระยากำแพงเพชร ซึ่งเจ้าพระยากำแพงเพชรเป็นคนที่ชอบของหรือเครื่องใช้สมัยใหม่ โดยในเวลาที่ปู่ผมทำงานกับท่าน หนึ่งในของทันสมัยที่เจ้าพระยากำแพงเพชรสนใจคือ ‘รถ’ ปู่ผมผู้ที่มีความถนัดในการซ่อมของจำพวกเครื่องยนต์ เลยได้คุ้นเคยกับรถและมีความชำนาญค่อนข้างเฉพาะทางตั้งแต่ในยุคนั้น

ทีนี้พอคุณปู่แต่งงานแล้วย้ายมาอยู่แม่สายด้วยภาวะสงคราม ปู่จึงลงทุนซื้อรถบรรทุกเป็นของตัวเองเพื่อเริ่มกิจการรับขนส่งระหว่างแม่สายกับลำปาง หนึ่ง เพราะเชี่ยวชาญเรื่องเครื่องยนต์อยู่แล้ว สอง คือเล็งเห็นโอกาสในการทำการค้า เนื่องจากสมัยก่อนลำปางถือเป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่งของภาคเหนือ และแม่สายเองก็เป็นด่านค้าขายระหว่างไทย-จีนและพม่า ธุรกิจของคุณปู่จึงเป็นไปด้วยดี 

แวดล้อมนี้เองที่ส่งผลให้คุณพ่อเองเติบโตมาโดยเห็นรถและเครื่องยนต์จนเป็นเรื่องชินตา ทำให้ในปี 2506 ที่กรมการขนส่งทางบกมีการจัดระเบียบเรื่องการขนส่งสาธารณะทั่วประเทศ คุณพ่อเลยเล็งเห็นโอกาสจากต้นทุนของทางบ้าน จึงจัดตั้งบริษัทขึ้นมาในปี 2507 และยื่นขอเส้นทางไป คุณพ่อได้เส้นทางลำปาง-แม่สายเป็นเส้นทางแรก และเริ่มวิ่งรถตั้งแต่นั้นด้วยรถโดยสารรุ่นแรกที่คล้ายรถบรรทุกพราะตัวถังทำจากไม้ แต่ก็ให้บริการอย่างเป็นกันเอง เสริมความโดดเด่นด้วยด้านข้างรถที่ทาสีเขียว 

สมญานามของกิจการจึงถูกเรียกตั้งแต่สมัยนั้นว่า ‘เมล์เขียว’ หรือ ‘รถเมล์เขียว’ ก่อนกลายเป็นกรีนบัสแบบทุกวันนี้ พร้อมกับการขยายเส้นทางและพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่อง

จากลำปาง-แม่สาย ทำไมปัจจุบันศูนย์กลางของกรีนบัสจึงอยู่ที่เชียงใหม่

ในปี 2506 ปีเดียวกันกับที่กรมการขนส่งทางบกมีการจัดระเบียบเรื่องการขนส่งสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดขึ้นพอดี เชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองที่มีความต้องการเดินทางเข้ามาสูง เมืองเองก็เติบโตขึ้นเร็วมาก อีกทั้งการตัดถนนใหม่ก็เอื้อให้เดินทางสู่เชียงใหม่ได้สะดวกขึ้น ความเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือจึงย้ายสู่จังหวัดเชียงใหม่แทน ส่งผลต่อเส้นทางเดินรถและที่ตั้งของกิจการบ้านเราด้วย ที่ได้มีการจัดตั้ง บริษัท ชัยพัฒนาขนส่งเชียงใหม่ จำกัด ขึ้นเมื่อปี 2522 บริเวณสำนักงานใหญ่ที่เรากำลังนั่งคุยกันอยู่นี้

แล้วตัวคุณเองคล้ายกับคุณพ่อหรือเปล่า ที่เติบโตมาโดยคุ้นชินกับธุรกิจขนส่งจนได้เข้ามาทำงานรับช่วงต่อ

สงสัยจะใช่ครับ (หัวเราะ) ของแบบนี้มันเป็นไปเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้บังคับอะไรเรา แต่ด้วยความคุ้นเคยตั้งแต่ยังเด็ก ซากรถที่จอดทิ้งไว้ในอู่คือสนามเด็กเล่น และการซ่อมรถคือภาพที่ผมเห็นจนชินตา เหล่านี้คงส่งผลต่อผมไม่มากก็น้อย มันซึมซับโดยไม่รู้ตัว ทำให้พอโตขึ้นและเรียนจบด้านทรัพยากรบุคคล ผมเลยเข้ามาเริ่มต้นงานที่บริษัทตั้งแต่ปี 2530 โดยตั้งฝ่ายทรัพยากรบุคคลขึ้นมาเป็นครั้งแรก

ทำไมถึงเลือกเรียนด้านทรัพยากรบุคคลและเริ่มทำงานด้านนี้ก่อน

ตอบตามตรงคือเพราะสมัยผมไม่มี ‘วิชาบริหารธุรกิจขนส่ง’ ถ้ามีคงเลือกเรียนไปแล้ว (หัวเราะ) แต่ผมมองว่าการเรียนและเริ่มต้นงานด้านทรัพยากรบุคคลก่อนก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะงานฝ่ายนี้ทำให้ผมเห็นและพยายามทำความเข้าใจความเป็นไปของทุกฝ่ายอยู่เสมอ

เพราะหลังจากเริ่มต้นที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลสักพัก ผมก็ต้องย้ายไปเรียนรู้งานตามฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายเดินรถ ไปจนถึงฝ่ายหารายได้เพื่อจะได้ทำเป็นทุกอย่าง แต่ไม่ว่าจะฝ่ายไหน สิ่งที่ผมท่องไว้ในใจอยู่เสมอคือการเรียนรู้เพื่อพูดภาษาเดียวกันกับเขา ไม่ว่าจะภาษาช่าง ภาษาคนขับ หรือภาษาคนขายตั๋ว เพราะสำหรับคนทำงานแล้ว การเจอคนที่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำ งานจะเดินไปข้างหน้าได้ไวขึ้นมาก อีกอย่างคือพอถึงวันที่มีโอกาสได้เป็นผู้บริหาร ผมก็สามารถพูดคุยกับคนทำงานทุกฝ่ายได้อย่างเข้าใจด้วย

การได้เป็นผู้บริหารในบริษัทที่เห็นมาตั้งแต่เด็ก มีอะไรที่แตกต่างจากที่คิดไว้ไหม

ผมใช้คำว่า ‘ต้องแตกต่าง’ ก็แล้วกัน เพราะจากวันแรกจนถึงวันที่ผมมีโอกาสได้เข้าไปบริหาร สิ่งที่เคยเห็นหรือเคยคิดต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปแน่นอนอยู่แล้ว 

เพราะการเข้ามาในบริษัทที่ทำงานในสไตล์เถ้าแก่ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ผมต้องเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำงานให้เป็นระบบระเบียบและเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น กระบวนการเรียนรู้งานตามฝ่ายต่างๆ จึงเกิดขึ้นอย่างที่เล่าไป เพื่อให้ผมได้เห็นพิมพ์เขียวการทำงานของบริษัทอย่างถ่องแท้ และถอดออกมาเป็นโครงสร้างเพื่อวางระบบให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งพอเห็นทั้งระบบแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการตั้งคำถามว่า ‘เราจะทำให้ธุรกิจดีขึ้นได้ยังไง?’ โดยพวกเราก็ค่อยๆ ตอบคำถามด้วยสิ่งที่ค้นพบระหว่างทางตลอดเวลาที่ผ่านมา

ธุรกิจขนส่งและการเดินทางมีความยากที่แตกต่างจากธุรกิจอื่นบ้างไหม และกรีนบัสทำยังไงเพื่อแก้ไขความยากที่ว่า

เรื่องง่ายๆ อย่างการทำกำไรให้มากขึ้นนี่แหละ คือความยากของธุรกิจนี้

ธุรกิจขนส่งมีข้อจำกัดที่ใหญ่มากอยู่ นั่นคือการถูกภาครัฐควบคุมปัจจัยเรื่องค่าโดยสาร การเพิ่มรายได้โดยการเพิ่มรายรับต่อหัวผ่านการขึ้นค่าตั๋วจึงแทบเป็นไปไม่ได้ แต่กลายเป็นว่าจากข้อจำกัดนั้น มันทำให้เราต้องมองหาวิธีการทำกำไรแบบอื่นแทน จนเกิดเป็น ‘การลดต้นทุนโดยที่คุณภาพการบริการไม่ลด’ ในแบบของกรีนบัส

เช่น จากเดิมที่รถ 1 คัน มีคนขับประจำรถ 1 คน เราได้เปลี่ยนนโยบายเป็นรถ 10 คัน ต่อคนขับ 14 คนโดยแต่ละคนไม่ประจำรถ เหมือนกับนักบินที่ไม่ประจำเครื่องบิน ผลดีที่เกิดขึ้นคือเมื่อรถถึงปลายทางและพักรถจนปลอดภัย คนขับอีกชุดจะพร้อมบริการทันที ผลัดเปลี่ยนคนขับเดิมให้ไปพักผ่อน เครื่องจักรก็จะทำงานได้รอบมากขึ้น  ทำให้เมื่อคำนวณกับค่าเสื่อมต่างๆ แล้ว วิธีการนี้จะทำให้เครื่องจักรสามารถสร้างรายได้ให้เรามากขึ้นถึง 50% ต่อยอดให้เราไปซื้อรถใหม่ได้ไวขึ้น และรถรุ่นใหม่ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งการประหยัดต้นทุนต่อเนื่อง เพราะด้วยความใหม่ของเครื่องจักร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าบำรุงรักษาก็จะน้อยลงกว่าปกติ กลายเป็นการเพิ่มส่วนต่างกำไรต่อหนึ่งรอบการวิ่งของเราให้มากขึ้นไปอีก  

อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้น ระหว่างทางเรามีเรื่องให้ปรับแก้อีกมากเพื่อการเติบโตทางธุรกิจ แบบไม่เพิ่มค่าตั๋ว เช่น การเปลี่ยนรุ่นรถให้เป็นแบบเดียวกันเพื่อประโยชน์ในแง่ของอะไหล่, การนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุน ไปจนถึงการมองเส้นทางการเดินรถเป็นอีกหนึ่งสินค้า ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลต่อภาพรวม ทำให้บริษัทก้าวมาไกลจนถึงตอนนี้

เหมือนค่อยๆ หาจุดพัฒนาไปเรื่อยๆ

(นิ่งคิด) ไม่เชิงเป็นการหาจุดพัฒนา ในมุมผม ผมอยากใช้คำว่า ‘หาปัญหา’ มากกว่า

เพราะก่อนหน้านี้ด้วยความคุ้นชินเนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำมานาน ไม่แปลกเลยที่เราจะมองไม่เห็นปัญหา หลายเรื่องถูกบดบังด้วยความเคยชินไปแล้ว แต่พอเราเปลี่ยนมุมมอง เริ่มมองหาว่าอะไรคือจุดติดขัดหรือข้อจำกัดในธุรกิจ ตอนนั้นแหละที่เราจะเจอปัญหา และเมื่อเราเจอปัญหา เราก็จะเจอวิธีพัฒนาให้บริษัทดีขึ้นได้

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งหนึ่งผมเจอปัญหาที่คนขับรถของเรามักมีปัญหาในครอบครัว ซึ่งจะมองว่าไม่เกี่ยวกับบริษัทก็ได้ แต่ผมว่าไม่ใช่ คำว่า ‘คุณภาพชีวิต’ มันคือการเกี่ยวพันกันของทุกเรื่อง ผมจึงตั้งคำถามขึ้นมาใหม่ว่า ‘งั้นบริษัทจะทำยังไงดี ให้คุณภาพชีวิตของคนขับรถของเราดีขึ้น’ 

จากคำถามนั้น ผมได้คำตอบออกมาเป็นการกำหนดเป็นนโยบายบริษัท ว่าคนขับรถของเราจะต้องทำงาน 289 วันต่อปี ไม่รวมลาป่วย-ลากิจ และเราจะมาคำนวณเลยว่าเส้นทางที่แต่ละคนต้องขับใช้เวลากี่วัน แล้วนำไปหารกับ 289 วัน จนได้ข้อมูลว่าคนขับแต่ละคนต้องขับรถกี่เที่ยวต่อสัปดาห์ และต้องหยุดพักเป็นเวลากี่วันต่อสัปดาห์ หรือพูดง่ายๆ ว่ากรีนบัสบังคับให้คนขับรถ ‘ต้องหยุดงาน’ นั่นเอง

ทำไมต้องทำแบบนั้น? เพราะก่อนหน้านี้ด้วยความที่คุณพ่อเริ่มต้นธุรกิจแบบระบบเถ้าแก่ การขับรถของคนขับจะเป็นไปแบบ ‘ตามใจต้องการ’ กล่าวคือใครขับมากก็ได้มาก ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนอยากมีรายได้ ในแต่ละเดือนพวกเขาจึงพยายามทำรอบรถให้ได้มากที่สุด แต่จุดนั้นแหละ ที่ถ้าไม่ระวังก็อาจทำให้เกิดหลายปัญหาตามมา เช่น สุขภาพที่แย่ลงของคนขับ หรือความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ห่างเหินด้วยปัจจัยของเวลา คิดตามง่ายๆ ก็ได้ว่าลูกเมียคุณจะมีความสุขไหม ถ้าเขาไม่ได้เจอคุณเลย ผมคิดว่าไม่ ผมจึงพยายามหาสมดุล จนเกิดเป็นนโยบายบริษัทตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ 

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างของปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานเลย คือโควิด-19 เพราะตั้งแต่เดินรถครั้งแรกเมื่อปี 2507 กรีนบัสไม่เคยหยุดวิ่งบริการผู้โดยสารแม้แต่วันเดียว แต่ปี 2563 ภาครัฐสั่งให้เราหยุดเดินรถเป็นเวลาถึง 23 วัน ตอนนั้นสารภาพว่าทำอะไรไม่ถูก เพราะเป็นปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราขาดทุนเยอะมาก แต่ก็พยายามประคองกันจนผ่านมาได้ ด้วยวิธีการแบ่งรายได้อันน้อยนิดเป็นเงินเดือนให้พนักงานที่เหลือยังอยู่กันไหว โดยส่วนต่างจากเงินเดือนที่ควรได้ เราก็ถือว่าบริษัทติดหนี้พนักงานอยู่ พูดง่ายๆ ว่าเราจ่ายเงินเดือนเท่าเดิมนั่นแหละ เพียงแต่แบ่งจ่ายเท่าที่ไหวไปก่อน พอบริษัทกลับมาเดินรถปกติหลังจากนั้นเราก็ทยอยใช้คืนจนปลดหนี้พนักงานหมดเมื่อปีที่แล้วนี่เอง สาเหตุที่ต้องทำแบบนี้เพราะสำหรับผม คนคือบุคลการที่สำคัญที่สุด เราต้องรักษาคนให้ได้แม้ธุรกิจจะเกิดวิกฤตยังไงก็ตาม

ฟังดูบริษัทมีการพัฒนาหรือปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลาเลย แล้วในมุมกลับกันล่ะ มีอะไรที่คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลงไหม เช่น ความเชื่อดั้งเดิมของบริษัทที่ถูกส่งต่อกันมา

แน่นอน มีสิ่งที่คงเดิมอยู่แล้ว เอาเข้าจริงการพัฒนาที่ยกตัวอย่างไปก็เพื่อให้หล่อเลี้ยงความเชื่อดั้งเดิม 3 ข้อของบริษัทให้แข็งแรงและเหมาะสมตามยุคมากขึ้นด้วยซ้ำ

หนึ่งคือมาตรฐานของการขนส่ง เช่น เรื่องการตรงต่อเวลา หรืออย่างการที่ถ้าขายตั๋วไปแล้วยังไงก็ต้องมีรถออก แม้จะมีผู้โดยสารแค่คนเดียวก็ตาม 

สองคือมาตรฐานการบริการ เช่น การเข้าถึงการซื้อตั๋วที่ต้องสะดวกสบาย ไปจนถึงการบริการระหว่างโดยสาร

และสาม คือมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย เช่น เรื่องของสภาพรถและคนขับ ที่เรามีระบบคัดเลือกพนักงานขับรถเป็นของตัวเอง ใช้มายี่สิบกว่าปีแล้ว คือมีการทดสอบลงลึกไปถึงขั้นจิตวิทยา เพื่อดูว่าเป็นคนยังไง ใจร้อนหรือเปล่า เหมาะกับการเป็นคนขับรถของกรีนบัสหรือไม่ เป็นต้น 

เหล่านี้เป็นความเชื่อที่ยังคงเดิม ท่ามกลางการพยายามหาและปิดช่องโหว่ที่เกิดขึ้นในทุกวัน

การปิดช่องโหว่ในทุกวัน อาจแปลว่าบริษัทไม่มีวันสมบูรณ์แบบเลยหรือเปล่า

ผมไม่ได้มองแบบนั้นนะ แต่ผมมองว่าการพยายามในทุกวัน เพื่อตอบโจทย์พันธกิจหลักที่ยิ่งใหญ่กว่าความเชื่อของบริษัทมากกว่า นั่นคือการทำให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น

ต้องเข้าใจก่อนว่าแท้จริงแล้วการขนส่งและการเดินทาง เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องให้บริการประชาชน โดยพวกเขามีสองเครื่องมือที่จะทำให้บริการขนส่งและการเดินทางเกิดขึ้นได้ นั่นคือรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชนแบบเรา ดังนั้นจะมองว่านี่คือหน้าที่ความรับผิดชอบที่เราต้องมีส่วนในการดูแลสังคมก็ย่อมได้ ทำให้มันไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะหยุดพยายาม เพราะในเมื่อการพยายามปิดช่องโหว่ของเราหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน งั้นทำไมเราถึงจะไม่ทำล่ะ ยิ่งอยู่เชียงใหม่ด้วย ปัญหาเรื่องการเดินทางในจังหวัดเป็นสิ่งที่แก้ไม่ตกอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถมีส่วนร่วมในการทำ ปิดช่องโหว่นี้ เราก็น่าลองทำดู ไม่ลองก็คงไม่รู้หรอกว่าทำได้ไหม

แต่สิ่งที่ผมอยากฝากไว้กับเรื่องนี้สำหรับอนาคต คือในส่วนของภาครัฐมากกว่า เพราะอย่างที่บอกไปนั่นแหละว่าการพยายามของเราไม่ได้อิสระขนาดนั้น หลายอย่างต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐในการตัดสินใจและสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่นการเดินรถระหว่างเชียงใหม่-ภูเก็ต ด้วยระยะเวลาที่นานกว่า 26 ชั่วโมง ถ้ามองเรื่องคุณภาพชีวิต ยังไงผู้โดยสารก็ควรได้เดินทางโดยใช้รถนอน แต่ในปัจจุบันด้วยข้อจำกัดต่างๆ การใช้รถนอนที่มีที่นั่งสะดวกสบายกับราคาค่าตั๋วที่ถูกกำหนด เอกชนไม่มีทางทำให้เกิดขึ้นจริงได้เลย รวมถึงปัญหาด้านอื่นๆ อีกที่ภาคเอกชนอยากได้คนที่เข้าใจและพูดภาษาเดียวกันจากทางภาครัฐมาช่วยกันทำงาน อันนี้คือปัญหาที่พวกเราไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ เลยอยากตั้งคำถามไปยังภาครัฐว่าคุณภาพชีวิตประชาชนคงดีขึ้นไม่น้อยเลยถ้าเราทำงานโดยเห็นเป้าหมายเดียวกัน

คำถามสุดท้าย ในฐานะผู้บริหารที่มีอายุงาน 37 ปีในบริษัทอายุ 60 ปี  มีบทเรียนอะไรที่อยากฝากถึงผู้ประกอบการรุ่นใหม่ไหม อะไรที่พวกเขาควรรู้ในโลกธุรกิจยุคนี้

(นิ่งคิดนาน) คุณรู้ไหมว่าพอทำงานมาหลายสิบปี แล้วมีมุมมองว่าต้องหาปัญหาแล้วแก้ไขในทุกวัน กลายเป็นว่าผมไม่เคยได้มีเวลาให้หยุดคิดถึงเรื่องนี้เลย แทบไม่เคยตกตะกอนบทเรียนใดๆ กับตัวเองหรือให้คนอื่น ผมเพิ่งขบคิดคำตอบของคำถามนี้เมื่อคืนตอนตี 2 นี่เอง จนได้เจอว่าการเริ่มต้นทำธุรกิจในมุมมองของผม มันควรตั้งต้นจาก 2 คำถามสำคัญ 

หนึ่ง คุณมีความสามารถแค่ไหน

สอง คุณมีเวลาแค่ไหน

ถ้าคุณมีความสามารถในการทำอะไรสักอย่าง คุณต้องใช้เวลาให้น้อยที่สุด แต่ถ้าคุณไม่เก่ง คุณต้องใช้เวลามากในการทำสิ่งนั้นให้สำเร็จเท่ากัน หรือถ้าคุณไม่เก่ง แต่อยากใช้เวลาน้อย ก็เป็นหน้าที่ของคุณแล้ว ที่ต้องไปทำตัวเองให้เก่งขึ้น ปิดช่องโหว่ของคุณหรือธุรกิจตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นให้ได้ เพื่อใช้เวลาให้น้อยอย่างที่ตั้งใจ คุณต้องประเมินและตอบ 2 คำถามนี้ให้ถูกต้องและบริหารจัดการมัน

เท่านี้การปิดช่องโหว่ในแบบของคุณก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง

‘Predator’ ปั่นไซด์โค้งเปลี่ยนโลกลูกหนัง

Match : Wimbledon FC vs Manchester United
Date : 17 สิงหาคม 1996

การแข่งขันเดินทางมาถึงในช่วงท้ายของเกมแล้ว ด้วยสกอร์นำ 2-0 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เตรียมคว้าชัยชนะเหนือวิมเบิลดันได้อย่างแน่นอนในเกมเปิดสนามฤดูกาล 1996-1997

แต่ก่อนเสียงนกหวีดสุดท้ายจะดังขึ้น ได้เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นปรากฏการณ์ในเวลาต่อมา

ไอ้หนุ่มฝรั่งหน้าตี๋ ได้บอลแถวกลางสนาม สายตาของเขาเหลือบมองไปข้างหน้าเห็นนีล ซัลลิแวน ผู้รักษาประตูคู่แข่งออกมายืนห่างจากเส้นประตูเป็นระยะหลายหลาอยู่ ถ้าลองลักไก่ยิงไกลก็ดูน่ารักน่าลุ้นอยู่เหมือนกัน

“ลองดู!” ว่าแล้วไอ้หนุ่มหน้ามนที่ต่อมากลายเป็นไอคอนของโลกฟุตบอล ก็ตัดสินใจหวดบอลจากแถวกลางสนาม บอลนั้นลอยโด่งก่อนจะมุดเข้าประตูไปอย่างน่ามหัศจรรย์ กลายเป็นประตูที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของ เดวิด เบ็กแฮม ทันที

เช่นเดียวกับ ‘adidas Predator’ รองเท้าที่เปลี่ยนโลกฟุตบอลไปตลอดกาล

1.

ในเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2023-2024 นัดซูเปอร์บิ๊กแมตช์ระหว่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กับลิเวอร์พูล ที่สนามเอทิฮัดสเตเดียม ได้มีเรื่องราวเล็กๆ ที่แฟนฟุตบอลจำนวนหนึ่งพึงสังเกตเห็น

เรื่องเล็กๆ ที่ว่านั้นคือรองเท้าฟุตบอล หรือ ‘สตั๊ด’ ของเทรนต์ อเล็กซานเดอร์-อาร์โนลด์ ผู้เล่นตำแหน่งแบ็กขวาคนสำคัญของทีม​ ‘หงส์แดง’ ที่ดูแปลกตากว่าปกติ

รองเท้าคู่นั้นมีสีขาว ด้านข้างมีแถบสีแดง 3 แถบ แต่ที่โดดเด่นและสะดุดตามากกว่าคือเป็นรองเท้าฟุตบอลที่มีลิ้นรองเท้ายาวลงมาปิดห่อหุ้มเชือกรองเท้าด้านในอีกที และที่สำคัญคือลิ้นรองเท้านั้นมีสีแดง

‘รองเท้าขาวลิ้นแดง’ ในกล่องความทรงจำของแฟนฟุตบอลที่ติดตามเกมมายาวนานมากกว่า 20 ปีก็จะรู้กันดีว่ามันคือรองเท้า adidas Predator ของเดวิด เบ็กแฮม!

เรื่องราวยิ่งสนุกและตื่นเต้นยิ่งขึ้นเมื่อสตาร์ของทีมลิเวอร์พูลคนนี้ยังเป็นคนทำประตูสำคัญในช่วงก่อนหมดเวลาการแข่งขันไม่นานนัก ด้วยการยิงจากนอกกรอบเขตโทษเสียบมุมเข้าไปอย่างสวยงาม เป็นประตูที่ช่วยทำให้ลิเวอร์พูลตีเสมอเป็น 1-1 ซึ่งเป็นสกอร์สุดท้ายของเกมนี้

หลังเกมจบลงวงเสวนาภาษาลูกหนังบนโลกโซเชียลมีเดียก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนและตั้งคำถามกันอย่างสนุกสนาน โดยหนึ่งในประเด็นที่พูดคุยกันคือรองเท้าปริศนาที่เทรนต์สวมใส่

“นี่เทรนต์เปลี่ยนมาใส่ adidas แล้วเหรอ?”

“นั่นมันรองเท้ารุ่นอะไร ใช่ Predator หรือเปล่านะ?”

“ลิ้นแดงแบบนี้มันคือรองเท้าของเบ็กแฮมเป๊ะเลย”

ใช่ ใช่ไหมนะ

2.

ในชีวิตคน สิ่งที่จะกำหนดว่าเราจะได้เป็นอะไร ไม่ได้เป็นอะไร ไม่ได้มีแค่ความตั้งใจ

บ่อยครั้งที่โชคชะตานำพาเราไปเอง

เหมือนเช่น เคร็ก จอห์นสตัน นักฟุตบอลชาวออสเตรเลียที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมลิเวอร์พูลยุคเกรียงไกรยิ่งใหญ่คับฟ้าในช่วงทศวรรษ 1980 เรียกได้ว่าเป็นชีวิตที่เหมือนอยู่ในความฝัน แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ต้องละทิ้งทุกอย่างในชีวิตเพื่อสิ่งที่สำคัญกว่า 

จุดเปลี่ยนนั้นเกิดจากการที่พี่สาวของเขาเกิดล้มป่วยหนักในระหว่างอยู่ที่ประเทศโมร็อกโกในช่วงต้นปี 1988 และจำเป็นจะต้องถูกส่งตัวกลับมารักษาที่บ้านเกิดในประเทศออสเตรเลีย และต้องการใครสักคนที่จะคอยดูแล

จอห์นสตันอยู่เล่นกับลิเวอร์พูลจนจบฤดูกาลในเดือนพฤษภาคมก่อนตัดสินใจเดินทางกลับออสเตรเลียโดยไม่คิดที่จะหวนกลับมาอีก 

แต่เพราะชีวิตรักและผูกพันกับเกมฟุตบอล เขายังคงเล่นฟุตบอลอยู่ที่บ้าน จนวันหนึ่งมีกลุ่มเด็กๆ เดินมาเคาะประตูหน้าบ้าน

ก๊อก ก๊อก!

“น้าช่วยสอนผมเล่นฟุตบอลหน่อยสิครับ”

จอห์นสตันที่มีเวลาว่างเหลือเฟือยินดีและเต็มใจอย่างยิ่งที่จะสอนเด็กๆ เหล่านี้ โดยในแต่ละวันก็จะมีบทเรียนลูกหนังที่แตกต่างกันออกไป

จนกระทั่งถึงวันหนึ่งที่จอห์นสตันจะสอนเรื่องของการยิงฟรีคิกแบบปั่นโค้งๆ

“ดูนี่นะ ถ้าเราอยากจะปั่นบอลให้โค้งๆ เนี่ยเราต้องเตะที่ด้านข้างของลูก มันจะคล้ายๆ กับเวลาเราตีลูกสปินตอนเล่นปิงปองนี่แหละ”

เด็กๆ ได้ฟังแล้วก็มองหน้าจอห์นสตัน

“ก็น้าเป็นนักบอลน้าก็พูดง่ายสิ น้าดูรองเท้าของเราก่อน มันทำมาจากหนังนะ แถมยังเปียกแล้วก็ลื่น แล้วก็ไม่ได้มียางแบบไม้ปิงปองแปะอยู่บนนี้ด้วย”

ทันทีที่เด็กๆ พูดจบ เหมือนมีหลอดไฟดวงใหญ่ปรากฏบนหัวของจอห์นสตัน

3.

ความตั้งใจแรกของจอห์นสตันคือการสร้างรองเท้าฟุตบอลที่จะช่วยให้เด็กๆ เตะลูกโค้งได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งที่เขาทำก็เป็นการต่อยอดจากคำพูดของเด็กๆ ด้วยการกลับบ้านแล้วลอกแผ่นยางบนไม้ปิงปองออกมา ก่อนจะตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วทากาวเอาแปะไว้ที่ด้านในของรองเท้าฟุตบอล

ถึงหน้าตาของมันจะดูไม่เข้าท่านัก แต่ผลการทดลองถือว่ามีบางอย่างที่น่าสนใจ เพราะตอนที่เอาไปลองปั่นโค้งดูปรากฏว่านอกจากวิถีลูกจะเหมือนสั่งได้แล้ว ยังมีเสียงในจังหวะรองเท้ากระทบบอลที่น่าประทับใจด้วย

จอห์นสตันรู้แล้วว่าไอเดียของเขาอาจเปลี่ยนแปลงวงการรองเท้าฟุตบอลได้เลย

ว่าแล้วเขาก็ใช้เวลาในการพยายามสร้างรองเท้า ‘โปรโตไทป์’​ หรือตัวทดลองขึ้น ใช้เงินทองไปไม่น้อย แล้วรีบจดสิทธิบัตรเอาไว้ป้องกันไม่ให้ใครมาขโมยไปในอนาคต

สิ่งต่อไปที่นักเตะออสซี่ทำคือการพยายามเร่ขายฝันของเขาให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง adidas, Puma และ Nike แต่ไม่มีใครเลยที่ตอบรับหรือสนใจที่จะพูดคุย

แต่จอห์นสตันยังไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เขาเอาหัวใจมาเป็นตราชั่ง เอาความรู้สึกเป็นเข็มทิศนำทาง 

“ถ้าอยากจะให้ใครสักคนช่วยผลิตรองเท้าในความฝันของเขาให้ออกมาเป็นความจริง มันควรจะเป็นที่ไหนกันแน่นะ”

หัวใจของเขาบอกว่าไม่มีที่ไหนจะดีกว่า adidas ยักษ์ใหญ่ผู้มาก่อนใครและสร้างตำนานมากมายในวงการลูกหนังอีกแล้ว

ว่าแล้วเขาก็ตัดสินใจเดินทางไปยังเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี ทันที และใช้ความทรงจำนำทางให้ไปโผล่ที่สโมสรบาเยิร์น มิวนิกเพื่อหวังจะพบใครสักคนที่จะช่วยเชื่อมจุดให้เขาต่อ

ปรากฏว่าจอห์นสตันได้พบกับฟรานซ์ เบ็กเคนเบาเออร์, คาร์ล ไฮน์ซ รุมเมนิกเก้ และพอล ไบรต์เนอร์ สามตำนานของทีมเสือใต้เข้าพอดี และมีโอกาสได้ขายไอเดียให้ ซึ่งถึงแม้ว่ารองเท้าต้นแบบของเขาจะไม่ได้ดูสวยงามอะไรนัก แต่ทั้งสามรู้สึกสนใจและขอให้เขาช่วยทำรองเท้าให้หน่อย เพื่อจะใส่เล่นในช่วงงานเทศกาลของเมือง

คำสั่งซื้อ 3 คู่แรกได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว จอห์นสตันรีบผลิตก่อนจะส่งให้ทั้ง 3 ใส่เล่นในงานเทศกาล โดยที่ตัวเขาเองนอกจากจะมาส่งรองเท้าด้วยตัวเองแล้วยังขอโอกาสในการบันทึกวิดีโอเก็บไว้ด้วย

ภาพวิดีโอการเล่นฟุตบอลของเบ็กเคนเบาเออร์ รุมเมนิกเก้ และไบรต์เนอร์ถูกส่งไปยังสำนักงานใหญ่ของ adidas ที่เมืองนูเรมแบร์ก โดยที่เจ้าตัวได้ขอโอกาสในการเข้าพบกับผู้บริหารระดับสูงเพื่อเดิมพันการขายฝันครั้งสุดท้าย

ในทีแรกไม่มีใครสนใจไอเดียรองเท้าของจอห์นสตันเลย เพราะตลาดรองเท้าฟุตบอลในยุคนั้นดูกันแค่ 3 องค์ประกอบสำคัญคือ คุณภาพของหนังที่นำมาใช้ผลิต ประเภทของปุ่มหรือ ‘สตั๊ด’ (ซึ่งเป็นคำที่คนไทยใช้เรียกรองเท้าฟุตบอล) และสุดท้ายคือสีสันว่าจะดึงดูดใจลูกค้าแบบไหน

แต่ทันทีที่จอห์นสันเปิดวิดีโอขึ้นจอ แม้คุณภาพของมันจะค่อนข้างต่ำ ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง แต่ผู้บริหารเหล่านั้นก็รู้ได้ในทันทีว่า 3 คนที่ปรากฏตัวคือใครบ้าง 

แล้วเสียงปรบมือแปะแรกก็ดังขึ้น

ก่อนที่เสียงปรบมืออีกหลายแปะจะดังตามมา

adidas ตกลงซื้อไอเดียของเขา การเซ็นสัญญามีขึ้นแทบจะทันที ในข้อแม้ว่า adidas ขอเป็นผู้ออกแบบและดูแลการผลิตเอง 

โดยที่วันนั้นไม่มีใครรู้ว่านี่คือวันเกิดของแบรนด์รองเท้าฟุตบอลที่ทรงพลังที่สุดแบรนด์หนึ่งตลอดกาล

4. 

ความจริงแล้ว adidas ซึ่งก่อตั้งโดยอดอล์ฟ (หรืออาดี) ดาสเลอร์ เป็นผู้ผลิตรองเท้าที่นำสมัยกว่าใครเพื่อนมาตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเลยทีเดียว

อดอล์ฟและพี่ชายรูดอล์ฟ สองพี่น้องตระกูลดาสเลอร์ ตั้งร้านรองเท้าขึ้นมาในบ้านของแม่ตั้งแต่ปี 1924 (ใช่ ปีนี้ครบรอบ 100 ปีพอดี) โดยใช้ชื่อว่า ‘Gebrüder Dassler Schuhfabrik’ หรือโรงงานรองเท้าพี่น้องดาสเลอร์

สิ่งที่ทำให้โรงงานเล็กๆ แห่งนี้โด่งดังขึ้นมาคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเริ่มจากการสร้างรองเท้าวิ่ง (Spike) ที่ยอดเยี่ยมจนสร้างชื่อในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1936 ที่กรุงเบอร์ลิน ผ่านสุดยอดนักวิ่งอย่างเจสซี โอเวนส์​ 

จากนั้นพี่น้องจะเกิดปัญหาไม่ลงรอยกันจนแยกตัวออกไปตั้งบริษัทของตัวเอง แต่ ‘adidas’ ของอดอล์ฟก็ยังรักษาแนวทางการสร้างสรรค์ได้ ซึ่งหนึ่งในผลงานสำคัญที่สุดคือการสร้างนวัตกรรมรองเท้าฟุตบอลที่เปลี่ยนปุ่ม (สตั๊ด) ได้

รองเท้าฟุตบอลนี้กลายเป็นอาวุธลับทำให้ทีมชาติเยอรมนีตะวันตกคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกได้ในปี 1954 ด้วยการล้มสุดยอดทีมของโลกในเวลานั้นอย่างฮังการีในรอบชิงชนะเลิศที่ได้รับการขนานนามว่า ‘ปาฏิหาริย์แห่งแบร์น (Miracle of Bern)’

โดย 3 แถบสีขาวที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของรองเท้าฟุตบอล adidas ก็ถือกำเนิดในเกมนั้น ด้วยความที่อาดี ดาสเลอร์ ต้องการให้รองเท้าโดดเด่นเป็นที่จดจำจึงเอานิ้วจุ่มสีขาวแล้วป้ายเข้าที่ด้านข้างของรองเท้า

หลังจากนั้น adidas ต่อยอดสร้างสรรค์รองเท้าฟุตบอล (และรองเท้าทุกประเภท) เรื่อยมา โดยรุ่นที่อมตะตลอดกาลที่ยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้คือรุ่น Copa Mundial (แปลว่าฟุตบอลโลกในภาษาสเปน เพราะทำมาต้อนรับฟุตบอลโลก 1982 ที่สเปน)

รองเท้ารุ่นนี้วางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1979 ซึ่งสิ่งที่มอบให้แก่ผู้สวมใส่คือเรื่องของความทนทาน (durability) และความมั่นคง (stability) โดยที่ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน Copa Mundial ก็แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย เรายังสามารถตามหารองเท้ารุ่นนี้ได้เสมอ และนักเตะหลายคนก็ยังสวมใส่ลงสนามเหมือนเดิม

แต่สำหรับ Predator แล้วมีความแตกต่างกันออกไป

5. 

รองเท้า Predator รุ่นแรก (The Original) ออกวางจำหน่ายในปี 1994 โดยที่จอห์นสตันเห็นแล้วก็ได้แต่อมยิ้มเพราะรองเท้านี้มีเอกลักษณ์ที่คล้ายคลึงกับต้นแบบที่เขาทำไว้ โดยเฉพาะแถบยางที่ติดอยู่แถวข้างเท้าด้านใน การออกแบบทำให้รองเท้าดูดุดันสมชื่อ ‘นักล่า’ (ยุคนั้นหนังตระกูล Predator คือหนังขึ้นหิ้งระดับตำนาน) และมีสีแดงเป็นลวดลายเร่าร้อน

แต่ทีเด็ดอยู่ที่คำโฆษณาที่ต้องบอกว่านึกว่ามาจากวัดไร่ขิง!

‘100% Legal 0% Fair’

แปลเป็นไทยได้ความทำนองว่า “ถูกกฎร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ยุติธรรมสักเปอร์เซ็นต์”

ก๊อบปี้ของโฆษณาตัวนี้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงในโลกฟุตบอล เพราะลำพังด้วยดีไซน์ของ Predator ก็แตกต่างจากรองเท้าสตั๊ดทั่วไปอยู่แล้ว เรียกว่าทั้งฉีกและล้ำกว่าทุกรุ่นทุกยี่ห้อในตลาด แต่คำโฆษณานี้ทำให้เกิดกระแสการอยากรู้อยากลองของนักเตะแข้งทอง แข้งเงิน หรือแข้งสัมฤทธิ์

word of mouth ทำให้ทุกคนอยากลองรองเท้ารุ่นนี้ และเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันระงมตามสนามฟุตบอลว่าถ้าใครใส่รองเท้า Predator ก็จะเล่นเก่งขึ้นทันที ที่สำคัญคือนอกจากจะยิงได้หนักหน่วงขึ้นแล้ว ยังปั่นโค้งๆ ได้ดังใจนึกด้วย

ลองจินตนาการว่ายุคนั้นคือปี 1994 เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งเริ่มต้น ไม่มีการใช้แพร่หลายมากนัก แต่กระแสการบอกปากต่อปากทำให้ Predator กลายเป็นรองเท้าสุดฮอตที่ขายดิบขายดีจนแทบหาของไม่ได้ ซึ่งไม่เพียงกับนักเตะตาสีตาสาที่เล่นตามสวนสาธารณะ แม้แต่นักฟุตบอลระดับสตาร์เองก็อยากลองแต่หาของลำบาก

นั่นเป็นโอกาสของ adidas ที่จัดส่งรองเท้าให้เหล่านักเตะไปสวมใส่กัน ซึ่งนักเตะดังในยุคแรกๆ ที่ใส่ Predator วาดลวดลายในสนามแล้วโดดเด่นจัดๆ มีตั้งแต่ อเลสซานโดร เดล ปิเอโร โกลเดนบอยของวงการฟุตบอลอิตาลี, ซีเนดีน ซีดาน อัครมหาศิลปินลูกหนังชาวฝรั่งเศส, พอล แกสคอยน์ อัจฉริยะลูกหนังที่มีพรสวรรค์สูงสุดของอังกฤษ

และเดวิด เบ็กแฮม ยอดดาวรุ่งที่แจ้งเกิดจากการยิงไกลครึ่งสนามในเกมกับวิมเบิลดัน ด้วยรองเท้า adidas Predator Touch ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นที่ 3 และเป็นรุ่นแรกที่มีการเพิ่มลิ้นรองเท้าสีแดงเข้ามาด้วย

โดยที่หลังจากนั้นอีกหลายรุ่นถัดมา Predator เป็นรองเท้าที่มีเอกลักษณ์เพิ่มเติมคือต้องมีลิ้นรองเท้า และสีที่ขายดีที่สุดล้วนแต่เป็นรุ่นที่มีลิ้นรองเท้าสีแดง

ใครบ้างจะไม่อยากลองใส่ Predator แล้วพยายามดึงลิ้นออกมาให้ลึกที่สุดแล้วใช้แถบยางรัดมัดไว้ที่ปุ่มสตั๊ดคู่หน้าสุดให้เท่เหมือนเบ็กแฮม?

6.

ถ้าเราหยิบรองเท้า Predator มาชำแหละ เราจะพบว่ามีองค์ประกอบหลักๆ ของรองเท้าอยู่ 3 อย่างด้วยกัน

อย่างแรกคือส่วนของอัปเปอร์รองเท้าที่จะมีการออกแบบลวดลายดุดัน วัสดุที่ใช้เปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีที่มีการพัฒานาขึ้นเรื่อยๆ

อย่างต่อมาคือแถบปั่นที่เป็นของที่ขาดไม่ได้

และอย่างสุดท้ายคือพื้นรองเท้าที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

แต่สิ่งที่ทำให้ Predator เป็นรองเท้าฟุตบอลที่เป็นอมตะไม่มีวันตายคือดีเอ็นเอของมัน ได้แก่เรื่องของคุณภาพ (quality), นวัตกรรม (innovation) และสุดท้ายคือ positioning ของผลิตภัณฑ์

Predator เป็นรองเท้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอโดยใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดของยุคสมัย ต้องมีคุณภาพที่ดีทนทานซึ่งเป็นเรื่องของการผลิต

ส่วนจุดที่ทำให้รองเท้าสายนักล่าพิชิตใจทุกคนได้คือจุดยืนในการเป็นรองเท้าที่เกิดมาเพื่อช่วยให้ทุกคนเตะฟุตบอลได้หนักแน่นและแม่นยำขึ้น (powerful and precision) ซึ่งแน่นอนหัวใจสำคัญคือ ‘แถบปั่น’ ที่เกิดจากแนวคิดของจอห์นสตัน

เพียงแต่ในแต่ละรุ่นที่ออกวางจำหน่ายจะมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาไปเรื่อย ไม่ว่าจะเพื่อประสิทธิภาพ หรือเพื่อความสวยงาม เช่น ในรุ่น Accelerator ที่ออกวางจำหน่ายในปี 1998 นอกจากลิ้นรองเท้าที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว แถบปั่นที่เคยมีหน้าตาเหมือนครีบปลาก็มีการปรับดีไซน์ให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น และทำให้รองเท้ารุ่นนี้เป็นรองเท้า Predator ที่อยู่ในใจแฟนๆ ตลอดกาล

แต่พอถึงรุ่น Precision ที่วางจำหน่ายในอีก 2 ปีถัดมาแถบปั่นได้เปลี่ยนมาเป็นแถบยางที่ดูเรียบร้อย น้อยแต่มาก และกลายเป็นแนวทางใหม่ในอีกหลายรุ่นต่อมา

adidas เคยประสบปัญหาในการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ให้ Predator จนเหมือนจะหลงทางไปตั้งแต่รุ่น Predator 18, Predator 20, Predator Freak ซึ่งพยายามจะตีความใหม่ ทดลองเรื่องของการเปลี่ยนแถบปั่นมาเป็นปุ่มหนาม 

แต่สุดท้ายแล้ว adidas พบว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับ Predator คือการได้พาทุกคนเดินทางย้อนเวลากลับไปหาความทรงจำเดิมๆ เพิ่มเติมด้วยความรู้สึกใหม่ๆ

“ในตอนที่เราจะเริ่มสร้าง Predator หรือรองเท้ารุ่นอะไรก็ตาม เราจะกลับไปดูบันทึกเก่าๆ ของเราเสมอ ซึ่งมันล้วนแล้วแต่มีความน่าประทับใจในแบบของมันเอง เราจะเริ่มทุกอย่างจากจุดนั้นเพราะเราอยากจะได้ความรู้สึกของวันเก่าๆ กับทุกสิ่งทุกอย่างที่รองเท้าตระกูลนี้เคยเป็นมา” มาห์ซา อาร์ยาน ผู้อำนวยการแผนกรองเท้าฟุตบอลของ adidas กล่าวถึงรองเท้า Predator 24 รองเท้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่เพิ่งออกวางจำหน่ายในเดือนมกราคม 2024 ได้สร้างความตื่นเต้นอย่างมากสำหรับคนรักรองเท้าฟุตบอล

เพราะด้วยดีไซน์รองเท้าสีดำ แถบขาว และมีลิ้นสีแดง (แอบส้มหน่อยๆ) ที่มีตัวเลข ‘30’ ซ่อนอยู่ด้านในถือว่าเป็น Predator ที่ถูกทุกข้อ เป็นการฉลองครบรอบ 3 ทศวรรษของรองเท้าตระกูลนี้ได้อย่างยิ่งใหญ่

นอกจากภาพของเหล่านักเตะจำนวนมากที่สวมใส่รองเท้านี้ลงแข่งในโทรทัศน์ เชื่อว่ามีหลายคนที่จะได้เห็นภาพของเหล่านักเตะสมัครเล่นที่ต่างอวดรองเท้าสตั๊ดคู่ใหม่ของพวกเขาที่ต้องแย่งชิงทุ่มทุนกันมาอย่างยากลำบาก จนกลายเป็นของหายาก ราคาถูกปั่นขึ้นอีกหลายพันบาท ทั้งๆ ที่ไม่ได้ถึงกับเป็นรองเท้ารุ่นลิมิเต็ดอะไร 

สิ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้ง ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้

7. 

สำหรับ adidas รองเท้าฟุตบอลรุ่น Predator เป็นหนึ่งในความสำเร็จที่ช่วยพลิกโชคชะตาของบริษัท

จากปี 1992 ที่ตัวเลขบัญชีติดลบเกือบจะล้มละลาย ในปี 2001 ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนีทำรายได้จากการขายรองเท้าถึง 6,000 ล้านยูโร และตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 21,000 ล้านยูโร ในปี 2021

แน่นอนว่าตัวเลขทั้งหมดนี้ไม่ได้มาจาก Predator อย่างเดียวแต่รองเท้าตระกูลนักล่าก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดตลอดกาล ซึ่งเชื่อว่าตัวเลขรายได้รวมถึงยอดจำหน่ายของ Predator 24 น่าจะสูงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เมื่อดูจากกระแสตอบรับในเวลานี้

แต่สิ่งที่ไม่สามารถนำตัวเลขใดมาคำนวณได้คือคุณค่าของรองเท้ารุ่นนี้ที่เปลี่ยนแปลงโลกฟุตบอลไปตลอดกาล

ในตลาดการแข่งขัน ผู้ผลิตรายอื่นต้องปรับตัวตาม Nike ถึงกับต้องสร้างรองเท้าตระกูล Mercurial ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับ Predator และเกิดการแข่งขันในเรื่องของนวัตกรรมในรองเท้าฟุตบอลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

รองเท้าฟุตบอลเกิดการ ‘แบ่งสาย’ ขึ้น เช่น สายความเร็ว (speed), สายพลัง (power) และสายควบคุม (control) โดย Predator อยู่กึ่งกลางระหว่างสายพลังและสายควบคุม ซึ่งมีคู่แข่งผลัดกันขึ้นชกมาหลายรุ่น โดยเฉพาะจาก Nike ที่ส่งรุ่น Total90, Hypervenom, CTR360 หรือ Puma (ของรูดอล์ฟ) ที่พยายามท้าชนด้วย evoPOWER, evoTOUCH

แต่มีเพียง Predator เป็นชื่อเดียวที่ยืนหยัดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ โดยนอกจากจะมีรุ่นใหม่เกือบทุกปี ยังมีรุ่น Remake ที่ชวนทุกคนย้อนกาลเวลาไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Accelerator, Precision, Pulse และรุ่นพิเศษสุดๆ ‘Predator 30’ เวอร์ชั่นฉลองครบรอบ 30 ปี ซึ่งเป็นการตอบสนองกลุ่มนักสะสมที่มีจำนวนไม่น้อยด้วย

เรียกได้ว่า Predator ไม่ได้เป็นแค่รุ่นรองเท้าเท่านั้นแต่เป็น ‘แบรนด์’ ที่ผ่านการพิสูจน์อย่างเข้มข้นในแต่ละวันเดือนปีที่ผ่านไป ไม่ต่างอะไรจาก Nike Air Jordan, Converse Chuck Taylor ที่ต่างมีเรื่องราวและเรื่องเล่าของตัวเอง

สำหรับ Predator ​เรื่องราวนั้นคือ Legacy นิทานลูกหนังที่ถูกเล่าขานผ่านฮีโร่มากมายไม่ว่าจะเป็นเบ็กแฮม ผู้เป็นไอคอนของรองเท้าตระกูลนี้ตลอดกาล ไปจนถึงซูเปอร์สตาร์อย่างซีดาน, เดล ปิเอโร ข้ามรุ่นมาถึงสตีเวน เจอร์ราร์ด, ริคาร์โด กาก้า, ชาบี เอร์นานเดซ ที่ล้วนแต่เป็นเหล่านักเตะในระดับ elite ของโลก

ก่อนจะมาสู่ยุคปัจจุบันกับจู๊ด เบลลิงแฮม, เปดรี และเทรนต์ เหล่าความหวังใหม่ที่จะจุดประกายให้โลกลูกหนังต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า 

นี่คือตำนานรองเท้าฟุตบอลที่จะมอบแพสชั่นและพลังให้ใครก็ตามที่อยากจะรู้สึกสักครั้งว่าการปั่นโค้งๆ เสียบสามเหลี่ยมแบบที่เราเห็นในทีวีว่ามันสุดยอดแค่ไหน

Bend it like…Me 🙂

Match Facts
1. รองเท้าที่เดวิด เบ็กแฮม ใส่ยิงฟรีคิกในตำนานที่ช่วยให้ทีมชาติอังกฤษตามตีเสมอทีมชาติกรีซในช่วงนาทีสุดท้ายคือรุ่น Predator Precision โดยที่ลิ้นสีแดงนั้นปักชื่อ Brooklyn ลูกชายของกัปตันทีมสิงโตคำรามไว้
2. Predator 24 รุ่นปัจจุบัน มี 3 เวอร์ชั่นด้วยกันคือแบบมีเชือก, ไม่มีเชือก (laceless) และมีลิ้นรองเท้า แน่นอนว่าแบบหลังสุดคือแบบที่คนต้องการมากที่สุด และราคาก็แพงที่สุดด้วยเช่นกัน!

อ้างอิง

ทำไม 20 ตระกูลรวยสุดในเอเชียปีนี้ ไร้เงาตระกูลจีน และเศรษฐีอินเดียติดถึง 6 อันดับ

เว็บไซต์ Bloomberg จัดอันดับ 20 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย ประจำปี 2024 ความน่าสนใจของปีนี้อยู่ที่ตระกูลมหาเศรษฐีจากจีนได้หายไปจากลิสต์ ไม่ติดแม้แต่อันดับเดียว 

ในภาพรวม 20 อันดับของตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียพบว่า 6 ใน 20 เป็นตระกูลจากอินเดีย นั่นหมายความว่าการกระจุกตัวของความมั่งคั่งและอำนาจในเอเชียกำลังเปลี่ยนไป เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนเริ่มชะลอตัว ที่ผ่านมาจีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมานานหลายทศวรรษ และในปีนี้นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2020 ที่ตระกูลร่ำรวยจากจีนไม่ผิดโผ

แต่กลับเป็นอินเดียที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อแซงหน้าจีนอย่างรวดเร็ว และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นอินเดียกลายเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกแซงหน้าฮ่องกง

‘เหตุใดเศรษฐกิจจีนจึงชะลอตัว’

นับตั้งแต่เกิดโควิดจนถึงช่วงโควิดซา ชาวจีนก็ยังไม่กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่าย ที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าใช้เงิน ต้องการเซฟเงินในกระเป๋าให้มากที่สุด ซึ่งผิดจากหลักที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าชาวจีนที่อัดอั้นจากช่วงโควิดจะใช้เงินเต็มที่

นอกจากนี้ยังมีหลายปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ทั้งในเรื่องของการส่งออก ความต้องการของสินค้าจีนทั่วโลกก็ลดลง ประเทศที่เป็นคู่ค้าลดการนำเข้าสินค้าจีน อัตราการว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์  และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในประเทศตกต่ำ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อความมั่งคั่งของตระกูลเก่าแก่ของจีน ทำให้หลายธุรกิจไม่ติดโผในปีนี้

‘อินเดียจะแซงจีนได้หรือไม่’

ปัจจุบันอินเดียขึ้นแท่นการเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกประมาณ 1,428 ล้านคน แซงหน้าจีนที่มีประชากร 1,425 ล้านคน และอินเดียเป็นประเทศที่มีคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเกือบครึ่งของประชากรทั้งหมด (ประมาณ 714 ล้านคน) ซึ่งมากกว่าไทย 6 เท่า 

ด้วยตัวเลข GDP ในปี 2023 ที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.3% จนถึงปี 2030 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศสมาชิก G20 และธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะโต 6.6% ซึ่งดีที่สุดในกลุ่มประเทศชั้นนำ นอกจากนี้อินเดียยังเป็นประเทศที่มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นมากถึง 106 บริษัท ถือเป็นประเทศที่มียูนิคอร์นมาเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และจีน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อินเดียเป็นที่หมายปองของแบรนด์ต่างชาติมากมาย

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์ของเว็บไซต์ Financial Review ระบุว่า อินเดียอาจไม่สามารถเป็นมังกรผงาดแบบจีนได้ในเร็วๆ นี้ เพราะมีข้อจำกัดในหลายด้านเรื่องการจ้างงาน สุขภาพ การศึกษา และอาหาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเมื่อเทียบกับจีน ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ในขณะที่อินเดียยังต้องพึ่งพาภาคเอกชนเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังเศรษฐกิจอินเดีย บอกว่า คนวัยทำงานส่วนใหญ่ (60%) ไม่ต้องการทำงาน และเข้าสู่ระบบการจ้างงาน เนื่องจากความล้มเหลวของนโยบายด้านการศึกษาที่ทำให้นักศึกษาจบใหม่ว่างงาน หรือไม่ได้งานตามความถนัด

เมื่อไหร่อินเดียจะแซงหน้าจีน?

มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เปิดเผยว่า อินเดียจะแซงจีนได้ในอีก 30 ปีข้างหน้ากว่าที่ขนาดเศรษฐกิจอินเดียจะแซงหน้าจีน และทางจีนเองก็พัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยจะเห็นได้จากการที่จีนก็พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์จากการเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเลียนแบบ เป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการของตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปกครอง จำนวนประชากร และค่านิยมของคนจีนที่ทำงานหนักและทำอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้จีนแข่งขันกับสหรัฐฯ ได้

และในงานวิจัยดังกล่าว ยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่าการที่อินเดียจะแซงหน้าจีนเป็นไปได้ยากมากๆ หรือถ้าเป็นไปได้จริง ก็อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้

สำหรับผลการจัดอันดับ 20 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย พบว่า ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชียอันดับ 1 ตกเป็นของตระกูลอัมบานี (Ambani) จากอินเดีย เจ้าของเครือข่ายธุรกิจ Reliance Industries ที่กระจายอยู่ในหลายอุตสาหกรรมทั้งธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โทรคมนาคม เครือข่ายมือถือ ค้าปลีก และบริษัทด้านสื่อและโฆษณา ที่มีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 102.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ  

อันดับ 2 คือ ตระกูลฮาร์โตโน่ (Hartono) จากอินโดนีเซีย ผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย และยังลงทุนในธนาคารกลางแห่งเอเชีย มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 44.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 3 คือ ตระกูลมีทรี (Mistry) จากอินเดีย เจ้าของบริษัท Shapoorji Pallonji Group ที่ลงทุนในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะวิศวกรรมและก่อสร้าง อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างธนาคารกลางอินเดียในมุมไบ และพระราชวัง Al Alam สำหรับสุลต่านแห่งโอมาน มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 36.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันดับ 4 คือ ตระกูล Kwok จากฮ่องกง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดในฮ่องกง มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 32.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

อันดับ 5 คือ ตระกูลเจียรวนนท์ จากไทย เจ้าของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ที่ครอบคลุมธุรกิจหลากกลุ่ม ทั้งอาหาร ค้าปลีก และโทรคมนาคม  มีมูลค่าทรัพย์สินรวม 31.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของรายละเอียดอื่นๆ ดูได้จากลิงก์นี้ www.bloomberg.com/features/asia-richest-families-2024-list

จากลิสต์ดังกล่าวจะเห็นได้ชัดเจนว่า ขั้วมหาอำนาจของเอเชียที่มาแรงในปัจจุบันคือ อินเดีย ที่กำลังเร่งเดินหน้า ขับเคี่ยวมูลค่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าจีนยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอิทธิพล เพียงแค่ตอนนี้ยังต้องรอเวลาฟื้นตัวให้กลับมาสดใสดังเดิม ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าในปีต่อไปตระกูลที่ร่ำรวยจากจีนจะกลับมาติดอันดับอีกครั้ง

ข้อมูลจาก

Arc’teryx แบรนด์สินค้า-เสื้อผ้าเอาต์ดอร์สัญชาติแคนาดาที่ร่วมจุดกระแสแฟชั่นแนว Gorpcore

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เสื้อผ้าเอาต์ดอร์อาจไม่จำเป็นสำหรับการสวมใส่เพียงแค่ในวันที่ต้องการออกไปแอดเวนเจอร์ ไปแคมป์ปิ้ง ออกไปปีนผา หรือเล่นสกีเท่านั้น เพราะเมื่อเทรนด์ ‘My body, My choice’ ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1969 ถูกนำกลับมารณรงค์และพูดถึงขึ้นมาใหม่ในสังคม ด้วยบริบทที่ไม่ใช่เพื่อผู้หญิงเพียงเท่านั้น ทั้งยังนับได้ว่าเป็นการมอบอิสรภาพ-ความมั่นใจในการแต่งตัวให้กับผู้คนทุกเพศทุกวัยมากขึ้นด้วย และไม่ว่าเราจะแต่งตัวโป๊แค่ไหน หรือมิดชิดเพียงใด นั่นก็เป็นสิทธิของเรา

เช่นเดียวกับเทรนด์การแต่งตัวในต่างประเทศ กับการหยิบเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ออกมาสวมใส่ในวันธรรมดาๆ วันที่ต้องออกมาจ่ายตลาด หรือแม้แต่วันที่ตั้งใจออกมานั่งจิบกาแฟกลางเมืองชิลล์ๆ ด้วยอิสรภาพในการแต่งตัวเช่นนี้ เทรนด์แฟชั่นและการแต่งตัวใหม่ๆ จึงได้ผุดขึ้นมามากมาย โดยการนำเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ หรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุกันน้ำอย่าง ‘GORE-TEX’ (กอร์เท็กซ์) มาแมตช์เข้ากับการแต่งกายแนวสตรีทแวร์นั้น ก็ได้ก่อให้เกิดเทรนด์แฟชั่นที่เรียกว่า ‘Gorpcore’ (กอร์ปคอร์) แฟชั่นที่นำพาให้แบรนด์เอาต์ดอร์ต่างๆ ได้เฉิดฉายอยู่บนรันเวย์  ตลอดจนบนเรือนร่างของเหล่าเซเลบริตี้ เรียกได้ว่าก้าวข้ามขีดจำกัดของการแต่งตัวไปได้อย่างง่ายดาย

แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เทรนด์ Gorpcore จะเกิดขึ้นแค่เพียงเพราะผู้คนหันมาสวมใส่กางเกง รองเท้า หรือแจ็กเก็ตผ้ากันน้ำมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ที่มีคำขึ้นต้นว่า ‘เทรนด์’ หรือ ‘แฟชั่น’ ก็แปลว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกระแส Y2K การแต่งตัวย้อนไปในยุค 2000 ต้นๆ หรือเทรนด์แฟชั่น old money และ quiet luxury ที่การแต่งตัวด้วยลักชูรี่แบรนด์แต่ไม่ตะโกน ตลอดจนเทรนด์แฟชั่นที่คาดการณ์ว่ากำลังจะมาแทนที่ Y2K อย่าง minimal 90s กับการแต่งตัวเรียบแต่โก้ในสไตล์ยุค 1990 ส่วนคำว่า Gorpcore นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงฤดูหนาวของปี 2017 โดยนักเขียนจากสื่อ The Cut ของนิวยอร์กอย่างเจสัน เฉิน (Jason Chen) โดย Gorpcore หรือ G.O.R.P ย่อมาจากชื่อขนมทานเล่นของนักกิจกรรมเอาต์ดอร์ ‘Good Old Raisins and Peanuts’ สแน็กบาร์ที่ประกอบไปด้วยธัญพืช ถั่ว และลูกเกดนั่นเอง  

ท่ามกลางกระแส Gorpcore ที่ยังคงมาแรงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์สัญชาติแคนาดาอย่าง ‘Arc’teryx’ (อาร์กเทอริกซ์) แบรนด์ที่เคยเป็นที่รู้จักเพียงแค่กลุ่มนักเดินทางและสายแอดเวนเจอร์ ได้กลายมาเป็นแบรนด์เอาต์ดอร์ที่สายแฟชั่นส่วนใหญ่ต่างก็รู้จักแบรนด์นี้ไปพร้อมๆ กับเทรนด์การแต่งตัวแบบ Gorpcore 

Biztory ตอนนี้จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับ Arc’teryx ให้มากขึ้น ตลอดจนเส้นทางการเติบโตสู่การเป็นแบรนด์ที่ร่วมจุดประกายแฟชั่นแบบ Gorpcore สู่รันเวย์ของเหล่าลักชูรี่แบรนด์

@arcteryx

Take care of your sh*t, so it can take care of you. Visit our website to explore our new and improved ‘Product Care’ page. #arcteryx #ReCARE

♬ original sound – Arc’teryx

ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีก่อนหรือใน ค.ศ. 1989 ที่เมืองนอร์ทแวนคูเวอร์ (North Vacouver) รัฐบริติชโคลอมเบีย (British Columbia) ประเทศแคนาดา แบรนด์ ‘Rock Solid’ (ร็อก โซลิด) โดย ‘Dave Lane’ (เดฟ เลน) นักปีนผาท้องถิ่น ผู้ซึ่งชื่นชอบการผจญภัยและการสำรวจ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจของเขาที่อยากจะผลิตสินค้าอย่างสายรัดตัวสำหรับปีนผา (climbing harness) คุณภาพดีให้กับเหล่านักปีนผาโดยเฉพาะ และแม้ว่า Rock Solid จะเป็นเพียงแค่ธุรกิจเล็กๆ ที่เพิ่งเปิด อีกทั้งยังมีการผลิตสินค้าเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าอย่างนักปีนผาเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าภายในหนึ่งปีนับจากก่อตั้ง เดฟ เลน จะสามารถทำรายได้จากการผลิต-ขายสายรัดตัวสำหรับปีนผาไปได้เป็นจำนวนเงินกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.05 ล้านบาทไทย  ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่เยอะสำหรับธุรกิจ niche หน้าใหม่เลยทีเดียว

ภายในปีเดียวกันนี้เอง หรือในปี 1990 เดฟ เลน ยังได้พาร์ตเนอร์บริษัทคนใหม่อย่างเจเรมี การ์ด (Jeremy Guard) ผู้ซึ่งเคยรับหน้าที่บริหารจัดการด้านการเงินของ Rock Solid มาร่วมลงทุนไปด้วยกัน

ก่อนในปี 1991 แบรนด์สายรัดตัวปีนผาจะถูกรีแบรนด์ใหม่และเปลี่ยนชื่อให้กลายมาเป็น ‘Arc’teryx’
แบรนด์ขายสินค้า-เสื้อผ้าเอาต์เดอร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานและดีไซน์วัสดุระดับไฮเอนด์อย่างเนื้อผ้ากันน้ำ-กันลม (GORE-TEX) เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่กว้างขึ้นกว่านักปีนผาอย่างการเจาะกลุ่มลูกค้าสายแอดเวนเจอร์ อาทิ สายแคมป์ปิ้ง เดินป่า และสายเล่นสกีอีกด้วย

เราเชื่อว่าหลายๆ คนที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าจากชื่อแบรนด์เก่าอย่าง Rock Solid ที่อ่านออกเสียงง่ายและสามารถแปลความหมายได้อย่างตรงตัวว่า ‘แข็งแรง ทนทาน’ นั้น มาสู่ชื่อแบรนด์ใหม่หรือ ‘Arc’teryx’ ที่ออกเสียงว่า ‘อาร์กเทอริกซ์’ กับโลโก้แบรนด์รูปร่างคลับคล้ายซากกระดูกหรือซากฟอสซิลได้ยังไงกันแน่ๆ

โดยชื่อ ‘Arc’teryx’ จริงๆ แล้วย่อมาจากชื่อทางวิทยาศาตร์ของอาร์คีออปเทอริกซ์ (Archaeopteryx lithographica) หนึ่งในสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคจูราสสิก หรือสัตว์ที่มีรูปร่างอยู่กึ่งกลางระหว่างไดโนเสาร์กับนก 

แต่แล้วอะไรกันล่ะที่ทำให้เดฟ เลน กับเจเรมี การ์ด ตัดสินใจหยิบเอาซากฟอสซิลและชื่อของสัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้ มาตั้งเป็นชื่อและถอดแบบให้ออกมาเป็นโลโก้แบรนด์ของพวกเขา

นั่นก็เพราะว่าเดฟ เลน และเจเรมี การ์ด ต่างก็มองลึกลงไปถึงวิวัฒนาการของเจ้าอาร์คีออปเทอริกซ์ที่ตามบันทึกของนักบรรพชีวินวิทยาแต่เดิมมองว่าสัตว์ตัวนี้ อาจไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นไดโนเสาร์หรือนกกันแน่ แต่เมื่อลองค้นหาในบันทึกถัดๆ มา พวกเขาสองคนก็ได้พบว่าสัตว์อย่างอาร์คีออปเทอริกซ์นั้นมีวิวัฒนาการที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นนกอย่างชัดเจนมากขึ้น จนทำให้นักบรรพชีวินวิทยาสามารถยืนยันได้ว่าอาร์คีออปเทอริกซ์เป็นนกตัวแรกที่ไม่ใช่แค่ไดโนเสาร์ที่มีขนแบบนกเท่านั้น

ด้วยวิวัฒนาการของเจ้าสัตว์ตัวนี้ จึงทำให้เขาทั้งสองคนมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับมัน เพราะจากแบรนด์เล็กๆ ที่เคยคิดจะขายเพียงสายรัดปีนผา ก็เกิดการพัฒนาให้กลายมาเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์อย่างเต็มรูปแบบ แบรนด์ที่พวกเขามีความตั้งใจอยากผลิตสินค้าคุณภาพดีด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ผู้คนกล้าออกมาใช้ชีวิตเอาต์ดอร์มากขึ้นด้วยชื่อเท่ๆ อย่าง ‘Arc’teryx’ นั่นเอง

แต่ก่อนที่จะไปถึงหมวดหมู่เสื้อผ้าที่ทั้งทนแดด ทนฝน กันน้ำ กันลมอย่างที่ว่าไว้ โปรดักต์แรกในนาม Arc’teryx เอง ก็ยังคงเป็นสินค้าอย่างสายรัดปีนผาเช่นเดิม เพิ่มเติมคือสายรัดในเวอร์ชั่นที่พัฒนาแล้ว โดยเลนและการ์ดได้ตัดสินใจปรับดีไซน์จากสายรัดหนังแบบแฮนด์คราฟต์เส้นหนาๆ กับคุณสมบัติที่เพียงแค่ช่วยให้นักปีนผาได้เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว ได้กลายมาเป็นสายรัดที่สามารถรับแรงกระแทกเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากการปีนผาได้อีกด้วย โดยโปรดักต์ชิ้นนี้ ก็พัฒนามาจากประสบการณ์ปีนผาโดยตรงของทั้งเลนและการ์ดนั่นเอง

@arcteryx

Meet the Arcteryx team bringing fit and function together to create your favorite gear. #obsessivedesign #arcteryx

♬ original sound – Arc’teryx

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ในปี 1993 Arc’teryx ก็ยังออกไลน์โปรดักต์สายรัดปีนผารุ่นใหม่ ‘Vapor Harness’ สายรัดปีนผารูปทรงคล้ายตัววี (V-stay) ที่ถูกผลิตออกมาเพื่อเจาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักปีนผาแบบฮาร์ดคอร์เป็นครั้งแรก และจุดเด่นของเจ้า Vapor Harness นั่นก็คือรูปทรงของสายรัดที่จะมาช่วยโอบอุ้มสรีระของนักปีนผาได้อย่างดี โดยโปรดักต์สุด niche รุ่นนี้แหละที่ทำให้ Arc’teryx เริ่มกลายมาเป็นแบรนด์เอาต์ดอร์ที่ผู้คนในวงการอุปกรณ์เอาต์ดอร์ต่างก็พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย

ด้วยนวัตกรรมใหม่อย่าง Vapor Technology ที่ Arc’teryx ได้ค้นพบจากการผลิตสายรัดปีนผา เลนและการ์ดจึงได้ตัดสินใจนำเทคโนโลยีนี้มาสานต่อด้วยการริเริ่มดีไซน์โปรดักต์ใหม่ของแบรนด์อย่าง ‘Bora Backpack’ กระเป๋าเอาต์ดอร์รุ่นแรกที่มาพร้อมกับสายคาดเอวและสายสะพายแบบรูดปรับให้เข้ากับสรีระของผู้ใช้งานแต่ละคนได้อีกด้วย

แม้กระเป๋าเอาต์ดอร์จะเป็นโปรดักต์ที่เลนและการ์ดต่างก็ไม่เคยมีประสบการณ์การผลิตหรือการดีไซน์มาก่อน แต่เชื่อไหมล่ะว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่กระเป๋ารุ่นนี้วางขายออกสู่สาธารณะ Bora Backpack คือกระเป๋าที่เหล่าแบ็กแพ็กเกอร์และสายเอาต์ดอร์ต่างก็ยกย่องให้เป็นกระเป๋าที่ดีที่สุดชองยุคเลยก็ว่าได้

เมื่อโปรดักต์อย่างสายรัดปีนผาและกระเป๋าเอาต์ดอร์ของ Arc’teryx สามารถสร้างความโดดเด่นและความน่าสนใจในตัวแบรนด์ให้กับเหล่าผู้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง Arc’teryx ในปี 1998 จึงได้ตัดสินใจต่อยอดธุรกิจด้วยการหันมาพัฒนาสินค้าในหมวดหมู่เสื้อผ้าชั้นนอกและหมวก (outerwear) สำหรับการสวมใส่เพื่อทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Arc’teryx ถือเป็นแบรนด์เอาต์ดอร์แบรนด์แรกๆ ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี GORE-TEX  หรือวัสดุผ้ากันน้ำกับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของตนเอง ทั้งยังได้ร่วมพัฒนาเทคนิคการตัดเย็บแบบซ่อนตะเข็บหรือ ‘seam tape’ ที่จากเดิมวัสดุแบบ GORE-TEX จะใช้พื้นที่ในการเย็บซ่อนตะเข็บทั้งตัวกว้างถึง 22 มิลลิเมตร ให้ลดลงมาเหลือเพียงแค่ 19 มิลลิเมตร และ 8 มิลลิเมตรในเวลาถัดมาได้สำเร็จ จึงทำให้แจ็กเก็ตรุ่นแรกอย่าง ‘Alpha SV Jacket’ ของ Arc’teryx มีน้ำหนักที่เบาและระบายความชื้นได้ดีกว่าแจ็กแก็ตเอาต์ดอร์แบรนด์อื่นๆ ในท้องตลาดนั่นเอง

แต่ความน่าสนใจของแบรนด์สินค้าเอาต์เดอร์สัญชาติแคนาดาแบรนด์นี้ไม่ได้มีดีแค่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้กับหลากหลายผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เพียงเท่านั้น แต่ Arc’teryx เอง กลับมองว่าการที่แบรนด์จะสามารถผลิตสินค้าเอาต์ดอร์ได้อย่างฟังก์ชั่นที่สุด คือการที่พวกเขาจะต้องนำสินค้าออกไปทดลองใช้กับสถานการณ์จริงๆ ได้อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลให้ในปี 1999 Arc’teryx ยังรับหน้าที่เป็นแบรนด์ผู้ผลิต customized แจ็กเก็ตให้แก่เหล่าทีมงานของสำนักงานการจัดการหิมะถล่มในเมือง British Columbia ได้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่และร่วมเป็นผู้ฟีดแบ็กแจ็กเก็ตรุ่นนี้ไปด้วยกัน

ด้วยดีมานด์ของสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น Arc’teryx ธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ จึงจำเป็นที่จะต้องขยายฐานการผลิตสินค้าด้วยการสร้างโรงงานสเกลเล็กในรัฐนอร์ทแวนคูเวอร์ ก่อนจะถูกขยายมาเป็นโรงงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นชื่อว่า  ‘ARC’One’ ในระยะเวลาถัดมา โดย ARC’One ไม่ได้เป็นเพียงแค่โรงงานที่เน้นผลิตสินค้าของ Arc’teryx แบบ in-house เท่านั้น แต่ยังมีห้องแล็บให้แก่เหล่าดีไซเนอร์และวิศวกร ซึ่งจะประกอบไปด้วยห้องทดสอบความแข็งแรง ทนทานและความยืดหยุ่นของสายรัดปีนผา (harness test) รวมไปถึงสถานที่อย่างหน้าผาจำลอง (climbing gym) ที่นอกจากจะใช้ในการทดลองโปรดักต์ได้แล้ว ก็ยังเป็นพื้นที่ผ่อนคลายของเหล่าสตาฟในโรงงานได้อีกด้วย

แต่หากจะตอบคำถามว่า Arc’teryx โดดเด่นแค่ไหน ก็คงต้องเล่าย้อนไปในปี 2001 ปีที่ Salomon Group แบรนด์สินค้าเอาต์ดอร์และรองเท้าแอดเวนเจอร์ภายใต้การบริหารของ Adidas ได้เข้าซื้อกิจการ Arc’teryx ไปในช่วงปี 2001 ก่อนที่จะตัดสินใจขายให้กับ Amer Sports รีเทลเลอร์สัญชาติฟินแลนด์ในปี 2005 และ ANTA Sports รีเทลเลอร์สัญชาติจีนในปี 2019 ตามลำดับ

ปัจจุบันสินค้าของ Arc’teryx ประกอบไปด้วยสินค้าในหมวดหมู่เสื้อผ้าชั้นนอกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อแจ็กเก็ต เสื้อลำลอง กางเกง รองเท้า หมวก ถุงมือ ถุงเท้า และกระเป๋าซึ่งจะแบ่งเซกชั่นออกไปตามประเภทกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น เสื้อผ้าชั้นนอกสำหรับกิจกรรมปีนผา เล่นสกี เดินป่า หรือวิ่งเทรล เป็นต้น โดยสินค้าในหมวดหมู่อุปกรณ์นั้น Arc’teryx ก็ยังคงวางขายเพียงแค่สายรัดสำหรับปีนผาและถุงใส่ชอล์กที่ก็มีให้เลือกหลากหลายรุ่นตามสไตล์ของผู้ใช้งานแต่ละคนนั่นเอง

เมื่อไล่เรียงจากไทม์ไลน์ของ Arc’teryx แล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่า Arc’teryx ใช้เวลาไม่นานนักในการขึ้นเป็นแบรนด์เอาต์ดอร์ระดับไฮเอนด์ โดยหนึ่งในคีย์ที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีกคือ ‘Frank Ocean’ (แฟรงก์ โอเชียน) นักร้อง นักแต่งเพลง และแรปเปอร์ชาวอเมริกันที่ปรากฏตัวใน Paris Fashion Week 2019 ด้วยสไตล์การแต่งตัวที่แปลกตาอย่างการสวมใส่เสื้อแจ็กเก็ตสำหรับทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์ในรุ่น ‘Marmot Puffer Jacket’ และหมวกบีนนี่ของ  Arc’teryx ออกมาร่วมงานแฟชั่นโชว์นั่นเอง เมื่อภาพของแฟรงก์ โอเชียน ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน สินค้าของ Arc’teryx รุ่นดังกล่าวก็ sold out ไปอย่างรวดเร็วในสโตร์ทั่วโลก

และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Arc’teryx กลายมาเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์ยอดฮิตสำหรับสายแฟชั่น แบรนด์ที่สามารถหยิบออกมาสวมใส่ได้ในทุกๆ วันของช่วงฤดูหนาว

แต่เส้นทางการเติบโตของ Arc’teryx ในฐานะแบรนด์เอาต์ดอร์ผู้นำเทรนด์แฟชั่นนั้น เห็นจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ Paris Fashion Week 2019 เพราะในปี 2020 แฟชั่นดีไซเนอร์ระดับไอคอนิกอย่าง ‘Virgil Abloh’ (เวอร์จิล แอ็บโล) อดีตผู้ก่อตั้งแบรนด์ลักชูรี่สตรีทแวร์สัญชาติอิตาลี Off-White และครีเอทีฟไดเรกเตอร์แห่งลักชูรี่แฟชั่นเฮาส์สัญชาติฝรั่งเศส Louis Vuitton ได้ตัดสินใจนำแจ็กเก็ตรุ่นคลาสสิกของ Arc’teryx อย่าง ‘Alpha SV Jacket’ มาแปลงโฉมและพรีเซนต์ร่วมไปกับคอลเลกชั่นเสื้อผ้าประจำฤดูใบไม้ร่วง / ฤดูหนาว (Fall/Winter 2020) ของแบรนด์ Off-White บนรันเวย์แฟชั่นโชว์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีสองพี่น้อง นางแบบชาวอเมริกันชื่อดังอย่าง ‘Gigi Hadid’ และ ‘Bella Hadid’  มาร่วมเดินเปิด-ปิดโชว์ครั้งนี้อีกด้วย 

จริงอยู่ที่ว่า Arc’teryx อาจเป็นหนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์ที่จุดประกายเทรนด์แฟชั่นแบบ Gorpcore มาตั้งแต่ปี 2017 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่เซเลบริตี้หรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่นยังคงสวมใส่เสื้อผ้าของ Arc’teryx ในชีวิตประจำวัน และการที่แจ็กแก็ตของ Arc’teryx มีบทบาทสำคัญบนรันเวย์แฟชั่นโชว์จะส่งผลให้เทรนด์แบบ Gorpcore ยังคงอยู่ในกระแสมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยสิ่งที่ทำให้ผู้คนเห็นภาพของเทรนด์แฟชั่น Gorpcore ชัดเจนขึ้น นั่นก็คือการนึกถึงเสื้อผ้าของ Arc’teryx ด้วยนั่นเอง

ก่อนในปี 2021 แบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์อย่าง Arc’teryx ก็ได้ออกคอลเลกชั่นเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ประจำฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาวร่วมกับ ‘Jil Sander’ แบรนด์ลักชูรี่แฟชั่นสไตล์มินิมอลสัญชาติเยอรมันออกมาให้แฟนๆ ของทั้งสองแบรนด์ได้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง

นี่คือเรื่องราวและเส้นทางการเติบโตของแบรนด์สินค้าเอาต์ดอร์ ‘Arc’teryx’ แบรนด์จากนักปีนผาชาวแคนาดาที่ก้าวเข้าสู่รันเวย์แฟนชั่นโชว์ของเหล่าลักชูรี่แบรนด์และเทรนด์แฟชั่นสุดฮิตอย่าง Gorpcore ได้ในระยะเวลา 30 ปี

ภาพ : Arc’teryx, Jil Sander

อ้างอิง

เหตุผลที่แก้ว Stanley Quencher ของแบรนด์อายุ 111 ปี กลับมาบูม จนยอดขายทะลุ 750 ล้านดอลลาร์

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลัง Starbucks x Stanley Quencher สีชมพูลิมิเต็ดออกจำหน่าย สาวกแก้วเก็บความเย็นในสหรัฐอเมริกาหลายแห่งต่างก็กรูเข้าซื้อ บ้างล้มจนเกิดรอยถลอก บางคนได้แผลฟกช้ำกลับบ้าน!

จากที่ในปี 2562 มีเพียง 73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2566 Stanley ก็ทำยอดจนทะลุ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถ้าจะบอกว่าเหตุผลของยอดขายที่ปังเปรี้ยงขนาดนี้มาจากการที่ Stanley มอบรถคันใหม่ให้กับลูกค้าที่รถทั้งคันไหม้แต่แก้ว Stanley Quencher ยังอยู่ดีก็ใช่ แต่ที่จริงแล้ว กระแสของแก้ว เริ่มกลับมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น!

1. Stanley ก่อตั้งขึ้นในปี 1913 โดย William Stanley Jr. นักประดิษฐ์ผู้เปลี่ยนวิธีการบริโภคเครื่องดื่มไปตลอดกาล ด้วยขวดเครื่องดื่มแบบพกพาที่ผลิตจากสเตนเลสสตีลซึ่งนอกจากจะแข็งแรงทนทาน ก็ยังเก็บอุณหภูมิได้ดีเยี่ยม ช่วงแรกเน้นตอบโจทย์กลุ่มผู้ชาย กลุ่มคนเดินป่า และพนักงานปกน้ำเงิน หรือคนทำงานโรงงาน

2. สินค้าไอคอนของแบรนด์ที่กำลังเป็นกระแสตอนนี้คือ Stanley Quencher ขนาด 40 ออนซ์ และ 30 ออนซ์ เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คุณสมบัติพิเศษคือการเก็บเครื่องดื่มร้อนได้มากถึง 7 ชั่วโมง และเครื่องดื่มเย็นเป็นเวลา 9-11 ชั่วโมง แถมยังถือง่ายด้วยด้ามจับสุดแข็งแรง และวางในช่องวางแก้วในรถได้ด้วย 

3. หนึ่งในประเด็นที่คาดว่าน่าจะมีผลต่อการกลับมาของ Stanley ไม่น้อยคือเทรนด์ #WaterTok ใน TikTok ที่ชาวอินฟลูเอนเซอร์ชวนกันเติมแต่งรสชาติของน้ำเปล่าให้ชวนดื่มเพื่อสร้างแรงจูงใจในการดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน แน่นอนว่าในวิดีโอต่างๆ นั้น ขวดน้ำพกพาย่อมเป็นอีกจุดเด่น และ Stanley ที่มีดีไซน์ดี สีเด่น พร้อมด้วยคุณสมบัติในการเก็บอุณหภูมิดีเยี่ยม ย่อมทำให้หลายคนต้องการ Stanley มากขึ้น

4. จากการสัมภาษณ์ของ Retail Dive พบว่าอีกก้าวของแบรนด์ที่น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แบรนด์ขายดิบขายดี คือการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของแก้วน้ำ จากชายแทร่ มาสู่กลุ่มไร้เพศ โดยเฉพาะเพศหญิง รวมถึงสร้างภาพจำใหม่ ว่า Stanley ไม่ใช่แบรนด์สำหรับการเดินป่าหรือแคมป์ปิ้งเท่านั้น แต่ยังเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะชีวิตของหนุ่มสาวออฟฟิศ

เรื่องเริ่มมาจาก The Buy Guide แพลตฟอร์มขายของออนไลน์ในอินสตาแกรมของเพื่อนสาว 3 คน อย่าง  Linley Hutchinson, Ashlee LeSueur และ Taylor Cannon ชอบแก้ว Quencher มาก และเริ่มติดต่อกับแบรนด์อย่างจริงจัง แทนที่แบรนด์จะทำการตลาดแบบ affiliate ที่แบรนด์อื่นๆ ทำกัน แบรนด์กลับให้ The Buy Guide เป็นอีกตัวแทนที่ซื้อแก้ว 10,000 ใบไปขายต่อ

แม้ตอนแรกเพื่อนสาวทั้งสามจะคิดไม่ตกว่าจะขายยังไงให้หมด แต่เพียง 4 วันที่เริ่มขาย แก้วก็หมดไปแล้ว 5,000 ใบ ยิ่งทำให้ The Buy Guide มั่นใจว่า Stanley กำลังทาร์เก็ตลูกค้าผิดกลุ่ม ทั้งยังแนะนำแบรนด์ว่าถ้าอยากขายดี ยังไงก็ต้องหันมาให้ความสนใจกับกลุ่มลูกค้าผู้หญิงอายุ 25-50 ปี เพราะผู้ติดตามกว่า 97.7% ของเพจเป็นผู้หญิง ซึ่งมีอายุระหว่าง 25-45 ปี 

โชคดีที่ผู้บริหารใหม่ของ Stanley เห็นความเป็นไปได้ และพร้อมปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของลูกค้าจริงๆ เราจึงได้เห็นภาพผู้หญิงและเพศอื่นๆ ใช้แก้ว Stanley กันในชีวิตประจำวันมากขึ้น แถมสินค้าของแบรนด์ยังมีสีพาสเทล และเฉดอื่นๆ ที่เข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะกลุ่มหนุ่มเดินป่าอีกต่อไป 

6. สิ่งหนึ่งที่ LeSueur จาก The Buy Guide บอกกับ Retail Dive คือ “แบรนด์ใดๆ ในโลกที่ไม่ได้ทำการตลาดกับผู้หญิงอายุ 25-50 ปีถือว่าพลาดเป้าไปจริงๆ” ซึ่งเราว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่เล่นประเด็นเชิงความยั่งยืน เพราะศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Fashion Institute of Technology อย่าง Daniel Benkendorf ยังบอกว่าผู้หญิงถือเป็นกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ที่ต้องการโฆษณาเรื่องความยั่งยืน เพราะคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะผู้หญิงจะเลือกซื้อของจากตัวชี้วัดว่าแบรนด์มีจริยธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมมากแค่ไหน

7. ปัจจุบัน Stanley Quencher ไม่ใช่เพียงแก้วเก็บอุณหภูมิ แต่กลายเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน ของสะสมที่แม้จะมีแก้วอยู่แล้วก็ซื้อมาเก็บได้เรื่อยๆ เพราะเฉดสีที่หลากหลาย ทำให้ผู้คนเลือกสีแก้วที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์วันนั้นๆ ได้ ที่สำคัญ ตอนนี้ Stanley ยังเป็นเครื่องบอกสถานะทางสังคม เพราะราคาแก้วที่ไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายสำหรับทุกคน ทำให้ผู้ที่มี Stanley Quencher ในครอบครองนั้นเป็นคนที่คอมมิวนิตี้ชาวเก๋ยอมรับอีกด้วย 

การกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของ Stanley จึงถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนสำคัญของหลายแบรนด์ ทั้งเรื่องการหากลุ่มลูกค้าให้ตรงจุด การพร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับยุคสมัย และการฟังเสียงลูกค้าอย่างเข้าใจจริงๆ 

อ้างอิง

ถึงคราวแบรนด์ไฮเอนด์ต้องปรับตัวแบบสับตามคุณค่าใหม่ของลูกค้า

ในอดีตธุรกิจแบรนด์หรู (luxury) ขึ้นชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่แค่ไหนก็ไม่กระทบธุรกิจด้วยกำลังซื้อที่สูงของผู้บริโภคระดับบนและชื่อเสียงของแบรนด์อันแข็งแกร่ง แต่สถานการณ์ช่วงหลังๆ มานี้อาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และอาจถึงคราวเหล่าแบรนด์ luxury ต้องเตรียมปรับทิศทางธุรกิจกันบ้างแล้ว

ชวนมาไขข้อสงสัยว่าทั้งๆ ที่แบรนด์เหล่านี้ฮอตฮิตติดลมบนมากๆ แล้วเกิดอะไรขึ้นจึงเกิดความท้าทายใหม่กับธุรกิจหมวดนี้ 

1. ผลประกอบการของธุรกิจ luxury ระดับโลกเป็นยังไง?

หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวมาบ้างแล้วว่าช่วงปลายปีที่แล้วหุ้นของ LVMH บริษัทเจ้าของแบรนด์ Louis Vuitton, Dior, Fendi, Tiffany & Co.อยู่ในขาลง บทวิเคราะห์จาก HSBC Global Research คาดการณ์ว่าผลประกอบการของ LVMH น่าจะอยู่ในระยะ roller coaster หรือช่วงไม่แน่นอนต่อไปและยังระบุว่ากำไรในไตรมาสที่ 3 ของปี 2023 โตขึ้นเพียง 1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งนับว่าน้อยและในตลาดอเมริกายังมียอดขายลดลง 2% อีกด้วย  

ในขณะที่ Kearing บริษัทผู้เป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง Gucci, Bottega Veneta, YSL ก็มียอดขายลดลงเช่นกัน โดยมียอดขายช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีที่แล้วต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ แถมกำไรก็ลดลง 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งทาง Kearing มองว่าที่ผลประกอบการต่ำว่าที่คาดเป็นเพราะธุรกิจไปจับกลุ่มเป้าหมายเป็นคนที่ใฝ่ฝันอยากได้แบรนด์หรู ทำนองกดไลก์แบรนด์รัวๆ เลิฟแบรนด์มากแต่กลับประหยัดงบการช้อปปิ้งในชีวิตจริง

(ทั้งนี้แม้เจ้าใหญ่หลายเจ้าจะมีผลประกอบการลดลง แต่แอบกระซิบว่าก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้างสำหรับบางแบรนด์ที่เป็นดาวค้างฟ้าซึ่งดึงดูดกลุ่ม super rich ระดับท็อปอย่าง Hermès) 

2. ช่วง roller coaster ของธุรกิจ luxury เหล่านี้กำลังบ่งบอกอะไร?

Nicholas Colas, Co-founder ของสถาบัน DataTrek Research ให้ความเห็นว่า LVMH เป็นธุรกิจที่มีการบริหารจัดการที่ดีมากและในอดีตที่ผ่านมานักลงทุนก็มักเห็นการเติบโตอย่างแข็งแรงของหุ้น LVMH แต่ในวันนี้อัตรากำไรที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเจนของธุรกิจที่แข็งแรงและมีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลกระดับ LVMH ก็บ่งบอกถึงความแข็งแรงของอุตสาหกรรมธุรกิจ luxury โดยรวมว่ากำลังสั่นคลอน

สาเหตุสำคัญข้อหนึ่งที่ส่งผลกระทบคือเศรษฐกิจถดถอยโดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศมหาอำนาจใหญ่ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เช่น เมื่อเศรษฐกิจจีนไม่ดีและมีลูกค้าคนจีนเป็นนักช็อปแบรนด์หรูในอเมริกาและยุโรปเยอะ จึงส่งผลให้ความต้องการซื้อของฟุ่มเฟือยชะลอตามไปด้วย ส่วนในอเมริกาา ข้อมูลจาก Bank of America card ก็ระบุว่าการรูดบัตรเพื่อช็อปแบรนด์ luxury มีอัตราที่ลดลงถึง 6 ไตรมาสต่อเนื่องกันเลยทีเดียว

3. โอกาสของธุรกิจ luxury ในช่วงไม่แน่นอนแบบนี้คืออะไร? 

Julie Petit ผู้ทำงานในบทบาท Luxury & Retail Leader ของบริษัท consult ชื่อ Mazars ให้ความเห็นว่าถึงงบช้อปปิ้งของผู้คนจะมีแนวโน้มน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าลูกค้าจะไม่ซื้อของจากแบรนด์ luxury แบรนด์โปรด พวกเขาแค่รัดเข็มขัดในการใช้เงินและมองหาสินค้าที่มีราคาน้อยลงในการช้อปปิ้งเท่านั้น

และแม้ภาพรวมของธุรกิจสินค้าของใช้ส่วนตัวอย่าง personal luxury ของธุรกิจเจ้าใหญ่จะมีแนวโน้มเป็นขาลง แต่หากเจาะข้อมูลดูแบรนด์ luxury เฉพาะในหมวด hospitality ที่มอบประสบการณ์และบริการสุดพิเศษอย่างบริการล่องเรือ cruise และร้านอาหาร fine dining จะพบข้อมูลที่แตกต่างออกไป คือธุรกิจเฉพาะหมวดนี้เป็นอุตสาหกรรมที่โตขึ้นถึง 15% ต่อปี โดยสินค้าที่เรียกว่าเป็น ‘experience-based’ ที่มอบประสบการณ์ระหว่างใช้หรือเสพสินค้าก็รวมอยู่ในหมวดขาขึ้นเช่นกัน เช่น ศิลปะ fine art, รถยนต์หรู, เครื่องบิน private jet, ไวน์, อาหาร gourmet

4. ธุรกิจจะปรับตัวยังไงดี?

  • ‘Move From Things to Experieces’ สร้างประสบการณ์ ไม่ใช่แค่นำเสนอสินค้า เช่น สร้างประสบการณ์พิเศษในร้านรีเทล เปิดร้านอาหารหรือโรงแรมที่ให้คุณค่าในประสบการณ์ไม่เหมือนใครที่ตอบสนองต่อคุณค่าใหม่ของคนยุคนี้ที่มองหาเรื่องราวและความทรงจำมากกว่าแค่ใช้สินค้า 
  • ‘Diversify’ ขยายหมวดธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีแค่หมวดสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น Dolce & Gabbana ที่ประกาศว่ามีแพลนก้าวเข้าสู่วงการสกินแคร์และอสังหาริมทรัพย์ 

ขนาดแบรนด์ luxury ที่เคยมองกันว่ามั่นคงมาก ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไงยังต้องเริ่มมูฟเพื่อปรับตัว นั่นอาจแปลว่าธุรกิจในหมวดอื่นๆ ทั่วไปก็อาจถึงเวลาต้องปรับตัวตามเศรษฐกิจโลกและคุณค่าใหม่ของลูกค้าเช่นกัน

อ้างอิง :

Concept Speed ชุดกีฬาแบรนด์ไทยสำหรับคนเสพความเร็ว ที่ขอเป็นหนึ่งในความสำเร็จของคนเล่นกีฬา

ย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2566 ได้เกิดปรากฏการณ์ในแวดวงวิ่งของประเทศไทย หลังเหล่านักวิ่งขาแรงจำนวนมาก ได้หันมาใส่เสื้อผ้าของ Concept Speed แบรนด์เสื้อผ้าน้องใหม่ในวงการ ที่ผลิตโดยคนไทย จนมีเหล่านักวิ่งใส่ตามเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นกระแส ‘ไทยผลิต ไทยใช้ ไทยแรง’ ในช่วงปีที่ผ่านมา

แบรนด์ Concept Speed เป็นเหมือนลูกรักของ ‘พีช สุคนธราช’ ชายผู้หลงใหลการเล่นกีฬาและความเร็ว นำมาสู่การผลิตและออกแบบเสื้อผ้าออกกำลังกายที่ทำให้เหล่านักกีฬาที่ทำผลงานได้ดี หรือกลุ่ม ‘ขาแรง’ ทั้งในวงการวิ่ง และปั่นจักรยานที่เขาเคยตีตลาดมาก่อนหน้า ยังคอยตามเสพ ตามซื้อสินค้าไม่ว่าจะออกมากี่คอลเลกชั่น กี่รูปแบบก็ตาม ทั้งที่ตัวเขาเองก็ยืนยันชัดเจนว่าสินค้าของแบรนด์มีไว้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเร็วในกีฬาต่างๆ เท่านั้น 

“คำว่า ‘เร็ว’ ไม่ได้แปลว่า เร็วกว่าใครเขา แต่แปลว่าเร็วกว่าตัวเองเมื่อวาน แบรนด์ของเรามองหากลุ่มลูกค้าแบบนี้อยู่ กลุ่มลูกค้าที่เป็นใครก็ตามที่ต้องการเก่งขึ้น กำลังฝึกฝน และแข่งกับเงาตัวเองอยู่ ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายให้กับนักกีฬาหรือคนที่เก่งมากๆ อยู่แล้วเท่านั้น”

น่าสนใจไม่น้อยว่าพีชจับคำว่า ‘ความเร็ว’ มาทำแบรนด์และการตลาดยังไง ถึงขนาดที่นักวิ่งนักปั่นไว้ใจและเลือกสินค้าของ Concept Speed มากกว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ที่สำคัญ วิธีบริหารและจัดกิจกรรมต่างๆ ของเขาเป็นแบบไหนจนทำให้ Concept Speed มีตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งยังมีนักกีฬากึ่งสมัครเล่นที่กลายมาเป็นลูกค้าอย่างเหนียวแน่นตลอด

ย้อนกลับไป อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองอยากเริ่มธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อ-ขายเสื้อผ้ากีฬา

ต้องเล่าก่อนว่า ผมเกิดในยุคที่เชื่อเรื่องว่าเราต้องมีกิจการของตัวเอง ไม่ทำงานเป็นลูกน้องใคร เป้าหมายของผมจึงคือผมต้องมีกิจการเป็นของตัวเองให้ได้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะทำอะไร แต่ด้วยนิสัยของผมคือเวลาทำอะไรสักอย่าง ผมชอบหาช่องทางในการทำเงิน ตั้งแต่ช่วงเล่นการ์ดเกม เกมออนไลน์ ปืนบีบีกัน ก็จะมีการค้าขายเกิดขึ้นทั้งหมด ได้บ้าง เสียบ้าง จ่ายหนึ่งหมื่น คืนหนึ่งร้อย อะไรแบบนี้บ้าง

จนมาถึงช่วงที่ผมชอบปั่นจักรยาน ตรงนี้จะมีความหลังกับมันนิดนึง (ยิ้ม) คือจักรยานคันแรกของผมซื้อมา 4 หมื่นกว่าบาท จากเงิน 5 หมื่นบาท แต่พอขี่ไปได้ 2 เดือนผมดันขี่ไปชนกับรถเมล์จนมันพังทั้งคัน แต่ผมเองก็อยากปั่นจักรยานต่อทั้งที่เงินเก็บหมดแล้ว 

คิดอยู่นานว่าจะทำยังไงดี สุดท้ายเลยไปรูดบัตรเครดิตประมาณ 5 ใบเพื่อซื้อจักรยานคันละ 2 แสนกว่าบาท ซื้อแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเลย แต่สุดท้ายก็โดนที่บ้านจับได้ และบังคับให้เราขายจักรยานทิ้ง แม้มันจะลงเอยไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ แต่ผมก็คิดได้ว่าถ้าเราอยากปั่นจักรยาน เราต้องมีเงินและเวลา 

ผมเปลี่ยนเป้าหมายเลย ไม่เอาแล้วเจ้าของกิจการ ไม่เอาแล้วการซื้อมาขายไป เราจะปั่นจักรยาน และทำเงินจากจักรยาน เราจะรวยให้ได้ หลังจากนั้น 1 ปี ที่ผมไม่มีจักรยาน ผมตั้งใจทำงานเก็บเงิน จนมีเงินสด 300,000 บาท วันนั้นเดินเข้าไปในร้านแล้วลากจักรยานกลับมาบ้านด้วยเงินสดเลย คือภูมิใจมาก 

หลังจากนั้นก็อยู่ในวงการจักรยานมาตลอด คือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เป็นกิจกรรมที่รู้สึกว่าจะอยู่กับมันได้นานกว่ากิจกรรมอื่นๆ 

จุดไหนที่เริ่มเห็นช่องทางในการสร้างรายได้จากการปั่นจักรยาน

ผมเริ่มรู้สึกว่าเสื้อผ้าที่เราใช้ในการปั่นจักรยานมันไม่ค่อยดีพอ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มปั่นจักรยาน เทรนด์เสื้อผ้าจักรยานในประเทศไทยมันเหมือนเดิมมาตลอด คือเป็นของจีนที่คุณภาพไม่ได้สูงมาก ประกอบกับตอนนั้นผมเห็นแบรนด์เสื้อผ้าจักรยานยี่ห้อหนึ่งชื่อว่า Rapha ที่เห็นปุ๊บรู้สึกกับมันปั๊บเลย ช่างดูผู้ดี ดูหรูหรา ความรู้สึกเหมือนเราได้เห็นกระเป๋า Louis Vuitton หลังใช้กระเป๋าธรรมดามาตลอด 

ผมเลยกดสั่งชุดจักรยานของ Rapha มาในราคา 7,000 กว่าบาท บวกภาษีอีก 40% ไปจบที่หนึ่งหมื่นบาท ถามว่าแพงไหม ก็แพงอยู่ ผมยอมรับ แต่พอเราได้ใส่แล้วนี่สิ มันลืมเรื่องราคาหมดเลย ด้วยคุณภาพ ด้วยชื่อชั้นของแบรนด์ ใส่แล้วมันรู้สึกดีไปหมด กลายเป็นว่าช่วงนั้นผมปั่นจักรยาน 7 วัน ก็ใส่ชุดของ Rapha ทั้ง 7 วันเลย ใส่แล้วก็เอามาซักทุกวัน

พอใส่บ่อยยิ่งขึ้น เพื่อนที่ปั่นจักรยานก็ถามว่าแบรนด์อะไร เราเลยป้ายยาพวกเขา แล้วเกิดเป็นความคิดว่าจะทำยังไงให้ได้ชุดจักรยานของ Rapha มาใส่อีกในราคาถูกลง ผมเลยเปิดรับหิ้วให้กับกลุ่มเพื่อนจักรยาน พอซื้อมามากขึ้น ราคาสินค้าก็ถูกลง และเก็บค่าหิ้วสินค้าเพิ่มนิดหน่อย ก็พอมีรายได้กลับมาบ้าง 

จุดนี้แหละที่รู้สึกว่าดูเป็นช่องทางทำเงินได้ เลยทำมาตลอด จนมีเงินเก็บ 500,000 เลยนะ คือมันเยอะจนรู้สึกว่างานประจำที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์แล้ว เลยคิดว่าจะทำควบคู่กันไปก่อน แล้วถ้าอันไหนไปได้ดีกว่ามากๆ ก็ค่อยยึดงานตรงนั้นเป็นงานหลัก

การเป็นพ่อค้ารับหิวเสื้อผ้ากีฬาดูไปได้สวย 

แต่หลังจากนั้น มันไม่เหมือนเดิม 

พอรับหิ้วมาสักพัก แบรนด์ Rapha ก็เริ่มดังขึ้น ผู้เล่นรายใหม่ก็เริ่มเข้ามาในตลาด พ่อค้า-แม่ค้านักหิ้วก็มีมากขึ้น ไม่ใช่ผมคนเดียวแล้ว และจากที่ผมเคยขายได้หลักหมื่น ก็เริ่มถูกพ่อค้ามาตัดราคากันเอง เหลือหลักพัน ได้กำไรหลักร้อยเขาก็เอาแล้ว 

ผมเลยรู้สึกว่าไม่ใช้แล้ว คำว่าไม่ใช่คือ ได้เงินน้อย เราไม่ได้หมิ่นเงินน้อยนะ เพียงแค่รู้สึกว่าเราเป็นคนลงแรง ผมเปิดตลาดให้คนแรก แต่ทำไมตะกร้าใบนี้ถึงโดนควักเละเทะแบบนี้ ในวันนั้นเลยรู้สึกว่าต้องหากำแพงสักอย่างมากั้นให้รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เราทำ

แล้วคุณทำยังไงต่อ 

ตอนนั้นผมเลยมีความคิดที่จะทำ multi-brand store ไม่เอาแค่แบรนด์ Rapha มาขายอย่างเดียวแล้ว แต่เราอีเมลไปหาแบรนด์อื่นๆ ที่รองลงมา ตั้งแต่อันดับ 2-100 เลย เพื่อขอเสื้อผ้ามาขายในร้านเรา 

เชื่อไหม ไม่มีใครตอบผมสักคนเลย แต่โชคดีที่สุดท้ายแล้วมีแบรนด์จากออสเตรเลียเขาให้โอกาส ให้เราลองสั่งมาขายดูก่อน 300,000 บาท ด้วยความที่ผมมีฐานลูกค้าเก่าที่เขาเชื่อมั่นในการเลือกเสื้อผ้าของตัวเรา ก็เลยมีคนมาซื้อ

สรุปดีกว่าเดิม ด้วยชื่อชั้น ด้วยความแปลกใหม่ คราวนี้แค่ 6 เดือนผมได้เงินหลายล้านเลย บางทีไปงานปั่นจักรยานครั้งเดียว ได้ลูกค้าใหม่มา 600 คน เฉลี่ยเขาจ่ายให้เราคนละ 10,000 บาท แบบนี้ก็เลยโตแบบก้าวกระโดด

จนพอเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น แบรนด์อื่นๆ ก็เริ่มตอบเรากลับมาบ้างแล้ว ผมเลยเพิ่มแบรนด์อื่นๆ ในร้านของเรา และตั้งเป้าหมายว่าจะทำ multi-brand store ในประเทศไทยจริงๆ 

การขยับมาทำ multi-brand store ดูเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

ทุกอย่างมันมีเวลาของมันนะ คือพอทำไปได้ 5-6 เดือนผมรู้สึกว่าควบคุมยาก

คำว่าควบคุมยากหมายถึงเราควบคุมคุณภาพของสินค้ายาก บางแบรนด์เราชอบเสื้อ บางแบรนด์เราชอบกางเกง บางแบรนด์เราชอบความหนา ความบาง ตอนนั้นก็เลยผุดมาในหัวว่าอยากลองทำแบรนด์ของตัวเองดู แต่ก็เป็นได้แค่การคิด ยังไม่กล้าลงมือทำ ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง ยังกลัวอยู่ ก็เลยคิดว่าจะขายแบรนด์อื่นๆ แล้วเรียนรู้จากเขาให้มากจนเรามั่นใจก่อน 

โชคดีว่าสิ่งร้ายมันเกิดขึ้นเร็ว คือพอทำไปได้เกือบปี บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทย เขาก็ไปเทคโอเวอร์บริษัทเสื้อผ้าจักรยานที่ผมขาย ผมเลยหลุดจากการเป็นตัวแทน ตอนนั้นแหละที่เริ่มคิดได้แล้ว ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่มีความมั่นคงเลย และสิ่งที่จะอยู่กับตัวเราไปตลอดคือการที่ต้องเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง 

หลังจากนั้นผมเริ่มทดลองจากเงินทุนส่วนตัวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จำนวนกว่า 95% หมดไปกับการจ่ายค่าสินค้าเพื่อทดลอง หาโรงงานผลิต คือกว่าจะหาโรงงานที่ใช่นี่ผมตระเวนหา 50-60 โรงงานเลยนะ แล้วก็ใช้เงินตลอด จนมันร่อยหรอ 

สุดท้ายก็ยังไม่ได้ที่พอใจขนาดนั้น แต่รู้สึกว่าแบบนี้มันดีที่สุด มันผ่านมาตรฐานเราแล้ว ก็เลยลองผลิตมาดู 100 ตัว ใครจะเอาก็เอา ปรากฏว่าแค่ชั่วโมงเดียว เสื้อของเรา sold out คือยังไม่ได้เห็นตัวอย่างอะไรเลย คนเขาซื้อด้วยชื่อ ด้วยเครดิตของผม 

หลังจากนั้นก็เอาเงินที่ได้มาจากการขายล็อตแรกมาหาโรงงานต่อ สุดท้ายก็ได้คุณภาพการตัดชุดที่พอใจ ผมเลยหยุดการขายยี่ห้ออื่น แล้วเริ่มทำแบรนด์ของตัวเองที่ชื่อว่า Concept Speed เต็มตัว

หากสรุปเส้นทางก่อนสร้างแบรนด์ Concept Speed อะไรคือสิ่งสำคัญก่อนเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง

แพสชั่นต้องแรง เงินต้องพร้อม 

สมมติคุณบอกว่าจะวิ่งขึ้นตึก 20 ชั้นภายใน 10 นาที บางคนบอกมึงตายแน่ อย่าทำเลย แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีแพสชั่นกับเรื่องนี้จริงๆ ผมมองว่าสุดท้ายคุณจะหาวิธีทำมันให้ได้ ดังนั้นการมีแพสชั่นจะทำให้เรากล้ากว่าคนรอบข้าง 

ส่วนเงินต้องพร้อม ผมไม่ได้บอกว่าคุณต้องมีหลักสิบล้านบาท ผมก็เริ่มจากศูนย์ มีเงินเก็บแค่หลักหมื่น แต่ผมหมายความว่า เงินที่เข้ากระเป๋าคุณทุกวันมันเพียงพอต่อการกินอยู่ของคุณแค่ไหน ในวันที่คุณมีเงินหลักหมื่น คุณยังมีเงินเก็บที่เหลือเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ไหม ถ้าลองบวก-ลบ ลองคำนวณแล้ว ในแต่ละเดือนยังมีเงินเก็บเหลืออยู่ ก็แปลว่าคุณพร้อมแล้วสำหรับการทำธุรกิจ

แต่ถ้าแพสชั่นไม่แรง เงินไม่พร้อม สุดท้ายเลยคือห้ามยอมแพ้ เพราะในวันที่แพสชั่นเรามอด เงินทุนเริ่มติดขัด สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะทำให้หัวใจของเรามันยังสู้ต่อคือการไม่ยอมแพ้ ดังนั้นเป็นไปได้ ปักธงกับความสำเร็จข้างหน้าเอาไว้ก่อน แล้วท่องเอาไว้เสมอว่า จะแพ้ไม่ได้ จะแพ้ไม่ได้ 

 ที่ผมเล่าไปอาจจะดูมีแต่ค่อยๆ สำเร็จขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่ระหว่างทางก็เละเทะอยู่ไม่น้อย น้ำตาไหลตลอดทาง 

ในวันที่พร้อมทำแบรนด์ของตัวเอง คอนเซปต์ของ Concept Speed ที่คุณวาดภาพไว้เป็นแบบไหน 

วิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนจบมามันสอนว่า คุณจะขายของให้กับลูกค้าได้คุณต้องตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาให้กับเขาได้ 

ดังนั้นผมเลยปักธงว่าแบรนด์เล่นกับคนที่ชอบความเร็ว ชื่อ Concept Speed ก็ถูกต่อยอดมาจากไอเดียนี้ คือแบรนด์เราต้องเร็ว ผมเองก็เป็นคนที่เร็วอยู่แล้ว ทำอะไรคล่องแคล่ว ไม่ช้า ไม่เสียเวลา จะปั่นก็ต้องเร็ว จะวิ่งก็ต้องเร็ว คือเราต้องสร้างภาพจำของแบรนด์ให้คนเห็นว่า ใครก็ตามที่ใส่เสื้อผ้าแบรนด์ของเราเป็นคนที่เร็ว 

นำไปสู่เรื่องคุณภาพเสื้อผ้า มันต้องดี ต้องซัพพอร์ตการพยายามทำความเร็วของพวกเขา ต้องรัดรูป ใส่แล้วสวย ใส่แล้วดูดีขึ้น ใส่แล้วเร็ว 

คำว่า ‘เร็ว’ ของแบรนด์คือเร็วแบบไหน

ไม่ได้แปลว่า ‘เร็วกว่าใครเขา’ แต่แปลว่า ‘เร็วกว่าตัวเองเมื่อวาน’ แบรนด์ของเรามองหากลุ่มลูกค้าแบบนี้อยู่ เป็นใครก็ตามที่ต้องการเก่งขึ้น ฝึกฝนอยู่ กำลังแข่งกับเงาตัวเองอยู่ นั่นคือเรา ไม่ได้ความว่าเราจะขายให้กับนักกีฬาหรือคนที่เก่งมากๆ อยู่แล้วเท่านั้น 

คอนเซปต์เสื้อผ้ากีฬาที่เฉพาะทางแบบนี้ ในวันแรกของการทำแบรนด์ลูกค้าเข้าใจไหม

น้อยในน้อย แม้กระทั่งเพื่อนยังถาม ถามยันเรื่องราคาว่าแพงไปไหม

ผมไม่ได้บอกว่าของแพงจำเป็นต้องดี ของดีจำเป็นต้องแพง แต่มากกว่าราคาที่เห็นคือเราใส่หัวใจเข้าไป เราไม่ได้ทำให้มันราคาแพง แต่ทุกอย่างมันมีต้นทุนของมัน เพราะใส่นวัตกรรมที่ดีที่สุดสำหรับพวกคุณในเสื้อผ้าของเรา

หวั่นใจบ้างไหมที่ต้องต่อสู้กับแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาใหญ่ๆ ระดับโลก 

ผมรู้อยู่แก่ใจมาตลอด เพราะด้วยความที่เราเป็นลูกค้าของแบรนด์เหล่านี้มาก่อน ไม่ว่าวันนี้จะมีแบรนด์ของตัวเองแล้วก็ตาม แต่คนมันเคยชอบแบรนด์ใหญ่ๆ มาก่อนก็ปฏิเสธไม่ลง มองข้ามมันไม่ได้ 

ดังนั้นผมจึงต้องแตกต่าง ไม่ไปเล่นในตลาดเดียวกับที่เขาทำอยู่ จะไม่สู้ในสังเวียนที่ไม่มีวันชนะ คุณทำเสื้อผ้าสำหรับกลุ่มคนออกกำลังกายทุกเพศทุกวัยเหรอ ผมขอทำให้เฉพาะแค่กลุ่มที่ชอบความเร็วก็แล้วกัน 

ผมคิดแบบนี้นะ

อะไรทำให้คุณแตกไลน์สินค้าจากเสื้อผ้าสำหรับการปั่นจักรยาน มาเป็นเสื้อผ้าสำหรับการวิ่ง ซึ่งกลายเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์

เรื่องส่วนตัวล้วนๆ เลย ผมปั่นจักรยานมา 12 ปี เลยรู้สึกเบื่อเพราะมันคือ 1 ใน 3 ของชีวิตเลยนะ ถามว่าอิ่มตัวไหม อิ่ม เบื่อไหม เบื่อ แต่ก็ยังมีความสุขกับมัน แล้วก็เป็นงานที่ทำได้เรื่อยๆ ด้วย 

จนวันที่ผมมีลูกสาว ผมก็บอกแฟนว่า อยากยกบริษัทนี้ให้ลูกถ้าเขาโตขึ้น ให้เขาทำอะไรก็ได้ บัญชี มาร์เก็ตติ้ง หรือบริหารบริษัท แฟนบอกคำเดียวเลย ไม่ให้ เดี๋ยวลูกล้มจักรยาน ไหปลาร้าหักแบบผม แขนหัก รถชนตายจะทำยังไง ก็ถกเถียงกันยกใหญ่เลย 

จนสุดท้ายผมถามว่า แล้วถ้าเป็นวิ่งได้ไหม ซึ่งแฟนก็บอกว่าถ้ามันไม่อันตราย ไม่ไหปลาร้าหักแบบปั่นจักรยานก็ไม่มีปัญหา ตอนนั้นเองที่ผมเริ่มมองว่า Concept Speed ไม่ใช่แบรนด์ขายเสื้อผ้าจักรยานอย่างเดียวแล้ว แต่เราจะขายเสื้อผ้ากีฬา

คนที่ปั่นจักรยานมาตลอดแต่ต้องมาทำเสื้อผ้าวิ่ง ต้องเริ่มต้นยังไง

ออกไปวิ่งก่อน ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ใช่คนที่วิ่งและชอบวิ่งเลย 

จำได้เลยว่าวันแรกผมคุยกับตัวเองทั้งทาง “นี่เพิ่ง 5 กิโลเมตรเองเหรอวะ” “เฮ่ย! นี่เพิ่งครึ่งชั่วโมงเหรอ” แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังมาผิดทางอะไรแบบนั้นนะ เพราะเราปักธงไปแล้วว่าจะทำแบบนี้ ก็ต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะวิธีแบบไหน 

ช่วงที่ผมหัดวิ่ง ก็เริ่มพยายามทำความเข้าใจตลาดว่า นักวิ่งเขาต้องการอะไร อยากให้มีชุดกีฬาแบบไหน มีกิจกรรมแบบใด ที่สำคัญคืออะไรที่นักวิ่งต้องการ แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ยังไม่ได้ทำ ซึ่งตลาดของนักกีฬากึ่งสมัครเล่น กลุ่มคนที่กำลังฝึกฝนเพื่อความเป็นเลิศในการวิ่งนี่แหละ ที่จะเป็นช่องทางของเรา

ตลาดเสื้อผ้ากีฬาจักรยานกับวิ่งแตกต่างกันมากไหม

สำหรับผมมองว่า โอกาสในการจ่ายเงินให้กับสินค้าของนักวิ่งไม่สูงเท่านักปั่นจักรยาน วงการวิ่งราคาในการเข้ามาเล่นมันไม่แพง รองเท้าวิ่งดีๆ หนึ่งคู่ก็พอแล้ว ต่างกับจักรยานที่ราคาเริ่มต้นก็ 30,000-40,000 ดังนั้นคนกลุ่มปั่นจักรยานเสื้อราคา 5,000-10,000 เขาก็ยอมจ่ายได้ แต่สำหรับวงการวิ่ง ราคานี้หมายถึงรองเท้าดีๆ คู่หนึ่งของพวกเขาเลย 

กลุ่มลูกค้าเสื้อผ้าวิ่งของ Concept Speed เป็นใคร

ผมมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าที่น่ารักจำนวนหนึ่ง พอเขาเห็นผมมาวิ่ง เขาก็มาวิ่งตามด้วย เราเลยกำหนดกลุ่มลูกค้าในช่วงแรกของเราได้ค่อนข้างง่าย คือกลุ่มคนที่ปั่นจักรยานด้วยกัน แล้วอยากลองมาวิ่ง

แล้วพอวิ่งมาระยะหนึ่ง ก็ได้เริ่มเข้าไปอยู่ในกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น เช่น กลุ่มของโค้ชสอนวิ่งต่างๆ ที่ผมได้เข้าไปเรียน ก็ทำให้ได้รู้จักคนมากยิ่งขึ้น 

จุดหนึ่งที่น่าสนใจของแบรนด์ Concept Speed คือดีไซน์ของชุดทั้งจักรยานและวิ่ง คอนเซปต์ภายใต้ลวดลายเหล่านี้คืออะไร

เราจะมีคอลเลกชั่นที่ชื่อว่า Know Me Soon มาจากตัวผมเอง ที่อยากบอกกับแบรนด์ใหญ่ๆ ว่า เดี๋ยวเจอกัน แต่ที่เราอยากสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าคือ อยากให้เป็นแรงบันดาลใจประมาณว่าความเร็วที่มันยากกว่าจะทำได้นั้น เดี๋ยวเจอกัน เดี๋ยวฉันจะทำให้ดู อะไรประมาณนี้ 

ส่วนเรื่องการออกแบบ จริงๆ ไอเดียผมได้มาจาก Karl Lagerfeld นักออกแบบแบรนด์แฟชั่นระดับโลก เขาเคยพูดว่า “โลกใบนี้มันไม่เคยมีใครตาบอดและออกแบบได้ ทุกสิ่งมันเกิดขึ้นจากสิ่งที่เคยเห็นและประสบการณ์ชีวิต”

คือผมไม่ได้มีความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ อันนี้ผมรู้ตัว แต่ผมก็รู้ตัวด้วยเช่นกันว่าตัวเองเป็นคนเสพเยอะ ชอบแฟชั่น มีความอินดี้ อยากหาอะไรใหม่ๆ ซึ่งมันก็สะท้อนออกมาเป็นเสื้อผ้าของแบรนด์ 

ในแง่ธุรกิจของเสื้อผ้ากีฬาวิ่ง ใช้คำว่าประสบความสำเร็จได้ไหม

ขอใช้คำว่า โคตรๆ 

ต้องบอกว่าเป้าปัจจุบันที่มันเป็นอยู่วันนี้ เป็นเป้าหมายที่ผมตั้งเอาไว้ใน 3 ปีข้างหน้า แต่พอมันมาถึงได้ในเวลาไม่กี่เดือน ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ ยังมีคนต้องการอะไรแบบนี้อยู่ เพียงแต่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน 

นอกจากขายในไทย คุณทำยังไงให้ Concept Speed มีตัวแทนจำหน่ายหลากหลายประเทศด้วย

ผมเชื่อว่าทุกคนที่ทำธุรกิจ ถ้าขายออกต่างประเทศได้ ทุกคนอยากทำ ผมก็ตั้งเป้าไว้ แต่บังเอิญผมตั้งไว้แปลกๆ หน่อย คือผมตั้งไว้ว่าผมจะไม่ไปบุกต่างประเทศเอง แต่จะให้เขาเดินเข้าหาเราแทน เพราะอำนาจต่อรองมันมากกว่า 

ความยากในการทำงานกับตัวแทนในต่างประเทศคืออะไรบ้าง

อย่าเรียกว่าระวังเลย ใช้คำว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับตัวแทนได้บ้างดีกว่า คือมันมืดไปหมดเลย เราจะรู้ความเคลื่อนไหวได้จากในโซเชียลมีเดียอย่างเดียว อย่างมากก็การไปเยี่ยมไม่กี่ครั้ง ที่พอจะสืบต่อได้บ้าง ที่เหลือก็ต้องสวดมนต์เอาเองว่า ตัวแทนจะน่ารัก จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก 

ถ้าต้องระวังขนาดนี้ อะไรที่ทำให้ยังรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการมีตัวแทนในต่างประเทศ

แบรนดิ้ง เพราะกลายเป็นว่ามูลค่าของ Concept Speed สูงขึ้นมาก จากตอนแรกที่คนไทยใส่แบรนด์นี้เพราะตัวผมเป็นเจ้าของ ทุกวันนี้ลูกค้าต่างประเทศไม่รู้จักผมแล้ว หลังจากนี้ผมหวังว่าลูกค้าในไทยก็จะไม่ต้องเคยเห็นหน้า หรือไม่รู้จักชื่อผม เพียงแค่เห็นว่าเป็น Concept Speed เขาก็ตัดสินใจเลือกซื้อแล้ว

มีหลักในการพิจารณาตัวแทนในต่างประเทศยังไงบ้าง

อันดับแรกเลยคือเรื่องเงิน ต้องพูดกันตามตรงว่าเราไม่รู้จักกัน ไม่รู้นิสัยเขา เลยต้องคุยกันด้วยยอดการสร้างสินค้า ถ้าได้ยอดตามที่ตกลงกัน มีการชำระเงิน เราถึงส่งสินค้าให้เขา นั่นคือวันแรกของการมีตัวแทนต่างประเทศ

หลังจากนั้นถึงจะมีเรื่องสัญญาและเงื่อนไขต่างๆ ให้เขาปฏิบัติตาม เพื่อให้การเป็นตัวแทนของเรายังคงไว้ซึ่งคุณภาพ เช่นต้องมีการรักษายอดสั่งซื้อ มีการบินมาดูงานที่สาขาหลัก เป็นต้น

อีกสิ่งที่ Concept Speed เป็นที่พูดถึงทั้งในแวดวงจักรยานและวิ่งคือการจัดกิจกรรม ทำไมแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาจึงต้องมีกิจกรรมด้วย  

ผมแบ่งไอเดียเรื่องอีเวนต์ออกเป็น 2 ส่วน 

อันแรกคือ อีเวนต์สำหรับการพิชิตเป้าหมาย สำหรับนักกีฬากึ่งสมัครเล่น ยกตัวอย่างในวงการวิ่ง คือผมรู้ว่าการจะวิ่งให้เร็วขึ้นสัก 1 นาทีมันยากขนาดไหน เราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของคนที่กำลังพยายามจะเร็วขึ้นตรงนี้อยู่ 

ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับความเร็วระดับมาตรฐานของนักกีฬาวิ่งกึ่งสมัครเล่นของประเทศไทย เช่น การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนเวลา 1 ชั่วโมง 35 นาที หรือการวิ่งมาราธอน 3 ชั่วโมงครึ่ง คือพวกนี้เป็นตัวเลขที่เรานับถือคนที่ทำได้ ว่าเขาได้ทุ่มเท ได้สังเวยอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มันมา เราจึงจะจัดกิจกรรมให้เขาได้มาทำลายสถิติตรงนี้

อีกส่วนคือกิจกรรมที่แปลกใหม่ เช่นการ วิ่ง 18 กิโลเมตร โดยมีรถคอยให้บริการ แบบที่เห็นตามคลิปเวลานักกีฬาจากประเทศเคนยาซ้อม อยากทำแบบนั้น หรือการวิ่งขึ้นลานจอดรถ 9 ชั้น อะไรแบบนี้ ก็เป็นอะไรใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ Concept Speed จะทำ

กิจกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อการขายสินค้าของ Concept Speed ยังไง

มันคือการสร้างความจดจำให้กับคนในแวดวงนั้น 

ยกตัวอย่าง ในวงการปั่นจักรยาน 7-8 ปีก่อนไม่มีใครจัด Group Ride เลยในประเทศไทย ผมก็ทำเป็นคนแรก คือหลายคนอาจมองว่าเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย แต่ผมมองว่ามันเป็นการกระตุ้นวงการนะ คือการทำให้คนกว่า 500 คน ต้องขับรถ แบกจักรยาน มาร่วมงานของคุณได้นี่ไม่ธรรมดาแล้ว 

เรื่องยอดขายที่จะตามมาหลังจากกิจกรรมไม่ต้องพูดถึงเลย ถ้าเขาจ่ายค่าตั๋ว ค่าที่พักในการเดินทางมาร่วมงานได้ ก็ซื้อเสื้อผ้าของเราได้เหมือนกัน

การเป็นคนชอบออกกำลังกาย แล้วมีแบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายเป็นของตัวเองมันตอบอะไรกับตัวเองได้บ้าง 

ทุกเหรียญมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือมันภูมิใจ มันสนุกกับการได้อยู่กับสิ่งที่เรารักทุกวัน เห็นคนที่ชอบออกกำลังกายเหมือนกันใส่แบรนด์เสื้อผ้าของเรา 

แต่ในอีกด้านหนึ่งคือหลับตาได้ข้างเดียว วันไหนเห็นลูกค้าใส่แบรนด์เราเยอะมันก็มีความสุข แต่ถ้าวันไหนไม่เห็น วันไหนขายไม่ดี ผมก็เครียด ก็เซ็ง มันกลายเป็นว่าการออกกำลังกายของเราสนุกน้อยลงไปเยอะ

วันนี้ประเมินคะแนนในการทำธุรกิจของตัวเองเอาไว้เท่าไหร่

ให้สัก 3 คะแนนพอ 

ผมรู้ว่าตัวเองไม่เก่งเรื่องบริหารเลย ถ้าย้อนเวลาได้จะไปทำแบบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เปิดร้านรับหิ้วอย่างเดียวดีกว่า ต่อให้ได้เงินน้อยกว่านี้เยอะแต่ผมก็สบายใจ เพราะว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจ มันต้องมากกว่ากำไรขาดทุน พนักงานทุกคนคือส่วนหนึ่งของเรา ลูกค้าทุกคนคือเพื่อนของเรา มันกดดัน

คือผมเป็นคนที่ชอบทำแต่สิ่งที่เป็นตัวเอง อะไรที่ไม่ชอบไม่ใช่ผมทำไม่ได้นะ แต่ผมไม่ทำเลย เช่นบัญชีเป็นต้น ทั้งบริษัทเนี่ย หั่นออกมา ผมจะอยู่ในส่วนของการผลิต ออกแบบ การตลาด ไม่มีบัญชีเพราะว่าบัญชีให้แฟนดู เพราะว่าผมไม่ชอบ ผมชอบแค่วิ่ง แค่ปั่นจักรยาน

ผมเลยรู้ตัวว่าผมไม่ใช่ผู้บริหารที่ดี 

มีคำแนะนำสำหรับคนที่เอาความชอบและแพสชั่นมาทำเป็นธุรกิจบ้างไหม

ต้องแยกแยะให้เด็ดขาด 

เคยมีรุ่นพี่คนหนึ่งในวงการเขาบอกว่า ไม่ว่าเรื่องที่เข้ามาหาคุณจะคอขาดบาดตายขนาดไหน ถึงเวลานอนต้องนอน แล้วตื่นค่อยเข้ามาแก้ ไม่อย่างนั้นจะนอนไม่หลับ ช่วงพักคือต้องพัก ครอบครัวคือครอบครัว เพื่อนคือเพื่อน 

อีกอย่างคือผมเรียนรู้อีกว่า ผู้บริหารต้องมีจังหวะไร้หัวใจ ต้องเลือดเย็น กำไร ขาดทุน เรื่องลูกน้อง ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด 

ที่เหลือก็ทำบุญไว้ก่อน เอาเฮงๆ เข้าไว้ (หัวเราะ)

หวยสร้างชาติ เมื่อมนุษยชาติกับหวยเป็นของคู่กันและสัมพันธ์กับเศรษฐกิจของประเทศ

ทำไมเราถึงชอบเล่นหวยกันนัก จริงๆ ไม่ใช่แค่เราชาวไทยที่รักการเล่นหวย รักบรรยากาศของวันที่ 1 และ 16 ของเสียงหมุนวงล้อสุดอัศจรรย์ แต่หวยอยู่คู่กับมนุษยชาติชนิดที่เรียกว่าเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับมนุษย์เรา เป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์และการก่อร่างสร้างประเทศ เป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งในพัฒนาการของมนุษยชาติ รากฐานตึกรามบ้านช่อง ที่ดิน สินทรัพย์ไปจนถึงความมั่งคั่งต่างๆ หลายส่วนมีการสุ่มเพื่อแบ่งสัน หรือก็คือหวยเป็นศูนย์กลางสำคัญหนึ่ง

ในฐานะที่บ้านเราเป็นอีกหนึ่งดินแดนแห่งการเล่นหวย คอลัมน์ทรัพย์คัลเจอร์ขอเชิญชวนทุกท่านท่องกลับไปในประวัติศาสตร์อันยาวนานของสลากกินแบ่ง จากเรื่องราวเก่าแก่ที่มีระบุตั้งแต่ในพระคัมภีร์ที่พระเจ้าแนะนำให้ใช้การจับสลากเพื่อแบ่งสันที่ดินไปจนถึงการสร้างกำแพงเมืองจีนด้วยรายได้จากการขายหวย ไปจนถึงการออกสลากในยุคอาณานิคมของอเมริกาและการที่หวยกลายเป็นสุดยอดแรงกระเพื่อมและกิจการของรัฐที่สัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้คนอย่างลึกซึ้ง

หวย ไม่ใช่แค่เรื่องหวยๆ แต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน และการสุ่มนั้นก็เป็นสิ่งที่เรารัก และอาจส่งผลกับความคิด ความเชื่อ เกี่ยวข้องกับมุมมองที่เรามีต่อชีวิต ไปจนถึงส่งผลในการกำหนดทิศทางในการดำเนินชีวิตของเราด้วย

การสุ่มในฐานะการจัดการทรัพยากรพื้นฐาน ถึงการห้ามปรามที่รุนแรง

พื้นฐานสำคัญของหวยคือการแบ่งสันปันส่วน โดยการแบ่งสันปันส่วนนั้นมีการใช้ระบบสุ่มเข้ามาช่วยในการจัดสรร ถ้าเรามองพื้นฐานสังคมมนุษย์ในฐานการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากร การแบ่งส่วนและสุ่มด้วยระบบสลากจึงดูจะเป็นวิธีที่เป็นธรรมที่สุดอย่างหนึ่งในการจัดสรรสิ่งต่างๆ ไปสู่ผู้คนในสังคม การสุ่มจึงเป็นวิธีที่ระงับความขัดแย้งได้ค่อนข้างดีและประเด็นเรื่องดวงจึงเป็นพื้นฐานหนึ่งของความสงบสุขในการแบ่งสันทรัพยากรของเรา

เบื้องแรกที่เรามักอ้างถึงคือพระคัมภีร์ หมายถึงจะมีอะไรเป็นธรรมมากไปกว่าข้อเสนอแนะของพระผู้เป็นเจ้า ในพระคัมภีร์เก่า (Old Testament) โมเสสเมื่อต้องจัดสันดินแดนหรือที่ดิน พระเจ้าทรงบัญชาให้โมเสสแบ่งดินแดนคานาอันให้กับเผ่าต่างๆ (โยชูวา 14) ด้วยการ ‘ทอดสลาก’ การทอดสลากเพื่อแบ่งที่ดินกลายเป็นรากฐานของ ‘ชนอิสราเอล’ ประเด็นเรื่องการที่พระเจ้าใช้วิธีการสุ่มเพื่อแบ่งสันดินแดนมีความซับซ้อนเช่นสัมพันธ์กับการสร้างสันติสุขในหมู่ชนเผ่าที่กลายเป็นชนกลุ่มเดียวกันผ่านการถือครองและส่งต่อที่ดิน แนวคิดเรื่องชะตาที่ถูกกำหนดไว้

บทบาทของสลากโดยทั่วไปในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกค่อนข้างคล้ายกับการใช้ระบบสลากในพระคัมภีร์ คือเป็นเครื่องมือที่รัฐจะกระจายทรัพยากรให้กับประชากรของตนเอง ในอารยธรรมเก่าแก่เช่นกรีก ที่กรุงเอเธนเอง การเลือกคนทำงานให้กับรัฐก็จะใช้ระบบสุ่ม คือชายหนุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไปจะเขียนชื่อลงในระบบสลาก และรัฐจะใช้วิธีสุ่มชื่อเพื่อคัดเลือกในการเข้าทำตำแหน่งต่างๆ ในสมัยโรมันระบบสุ่มถูกใช้ในระบบการลงโทษ หน่วยทหารที่มีปัญหาเช่นขี้ขลาดหรือขัดคำสั่งจะถูกลงโทษ การลงโทษจะไม่ลงโทษทุกคนหรือทั้งกรมกอง แต่จะใช้วิธีสุ่มทหารขึ้นมาลงโทษเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่าง 

เหตุที่โรมันต้องใช้วิธีสุ่มในการลงโทษเพื่อห้ามปราม ก็ด้วยว่า การลงโทษทางการทหารของโรมันมีความเด็ดขาดรุนแรง โทษที่ว่าคือโทษตาย

หวยกับรากฐานและการทำเรื่องราวดีๆ

ถ้าเรามองเรื่องการสุ่มกับมนุษยชาติ รากฐานเก่าแก่ของมนุษย์มักจะเชื่อมั่นในโชคชะตา เชื่อว่าเราถูกกำหนดเส้นทางบางอย่างไว้ ดังนั้นการสุ่ม การออกสลาก จึงค่อนข้างสอดคล้องทั้งกับการจัดการความขัดแย้ง และสัมพันธ์กับการขีดเส้นจากอำนาจที่เหนือกว่ามนุษย์ 

นัยของสลากหรือการจับหวยจึงค่อนข้างมีนัยเชิงบวก เป็นความสัมพันธ์ของรัฐที่มีต่อประชาชน ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมเรื่องการออกหวยมักจะเกี่ยวข้องกับการลงทุนของรัฐที่นำไปสู่เรื่องราวดีๆ เป็นการลงทุนที่ให้คุณกับสังคมโดยรวม ซึ่งรัฐมักจะใช้ระบบหวยในการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการใหญ่นั้นๆ 

ตัวอย่างที่เก่าแก่ของหวยกับเรื่องราวดีๆ คือหวยของจีน จีนในยุคบรรพกาลคือเก่าแต่ตั้งแต่ยุคก่อนคริสตกาล (ประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาล) ในยุคราชวงศ์ฮั่นที่มีการสร้างกำแพงเมืองจีน มีหลักฐานการใช้ระบบหวยที่เรียกว่าหวยพิราบขาว (beige piao) เป็นหวยตัวเลขที่คล้ายบิงโก ในสมัยฮั่นพบว่าเมืองน้อยใหญ่ต่างๆ ได้รับอนุญาตให้ออกสลากจำหน่าย โดยมีเป้าหมายในการระดมทุน หนึ่งในการระดมทุนของหวยพิราบคือการสร้างกำแพงเมืองจีน

ในยุคหลังจากการสร้างกำแพงเมืองจีน ในทำนองเดียวกันโลกตะวันออกก็มีการออกสลากระดมทุนเช่นกัน สมัยโรมันเองก็มีการออกสลากเพื่อการระดมทุน คือในสมัยจักรพรรดิออกัสตุส (Augustus) ในรัชสมัยดังกล่าวกรุงโรมต้องการงบเพื่อซ่อมแซมเมือง และด้วยเงื่อนไขความมั่นคง ทางจักรพรรดิไม่สามารถขึ้นภาษีซึ่งเสี่ยงต่อการถูกต่อต้าน ในสมัยดังกล่าวจักรพรรดิจึงออกหวยที่ได้ทั้งขึ้นทั่งล่องคือออกระบบสลาก รางวัลในยุคนั้นไม่ใช่เงินแต่คือของล้ำค่าต่างๆ เช่นบ้านเรือนไปจนถึงทาส ผลคือได้ระดมทุนและได้ความนิยมไปพร้อมๆ กัน 

นอกจากในระดับรัฐแล้ว ระบบลอตเตอรี่ในสมัยโรมันยังเป็นที่นิยมในงานเลี้ยงครัวเรือนด้วย คือการจัดงานเลี้ยงอาหารจะมีการถือสลาก ซึ่งผู้เข้าร่วมที่มีสลากทุกคนจะได้รับรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง จากจานชาม เครื่องประดับ การคิดเรื่องการสุ่มในฐานะความบันเทิงและการได้สิ่งของจึงค่อนข้างเป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ลอตเตอรี่กับรากฐานโลกสมัยใหม่

จากสมัยโรมัน เรื่อยมาจนถึงยุโรปในยุคที่นับได้ว่าเป็นรากฐานของโลกสมัยใหม่ ลอตเตอรี่เองก็ยังคงเป็นวิธีการสำคัญในการระดมทุน และถือเป็นรากฐานทั้งของระบบเศรษฐกิจโลกคือการค้าระหว่างประเทศไปจนถึงการเป็นรากฐานของเศรษฐกิจสำคัญคืออเมริกาดัวย

หวยสัมพันธ์กับยุคสมัยและการลงทุนของอังกฤษที่ทำให้อังกฤษกลายเป็นมหาอำนาจและเป็นเจ้าอาณานิคม อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ออกหวยที่ถือเป็นหวยระดับชาติและมีรางวัลเป็นเงินสด (ก่อนนี้ในเบลเยียมและสเปนมีหวยที่ได้เงินเป็นรางวัลแล้วแต่ยังไม่เป็นระดับชาติ) หวยอังกฤษเกิดขึ้นในรัชสมัยพระราชินีอลิซาเบธที่หนึ่ง ออกสลากงวดแรกในปี 1564 การออกหวยของอังกฤษมีเป้าหมายในการลงทุนเพื่อสร้างเรือและพัฒนาท่าเรือ นับเป็นรากฐานการส่งออกและความเป็นมหาอำนาจของยุคสมัยใหม่หนึ่ง ในสมัยนั้นรางวัลที่หนึ่งมีมูลค่า 5,000 ปอนด์ สลากราคา 10 ชิลลิ่ง

จากรากฐานของการค้าและการเดินเรือ อเมริกาในฐานะพื้นที่อาณานิคมของอังกฤษ และอเมริกาในฐานะอีกหนึ่งดินแดนของการเล่นหวย การสร้างอาณานิคมของอเมริกาก็มีหวยเป็นหัวใจในการปูถนนหนทาง สร้างมหาวิทยาลัย การก่อตั้งอาณานิคมแรกของอังกฤษในช่วงปี 1612 การก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ มักจะใช้การออกสลากเพื่อระดมทุน ทั้งการสร้างถนน การสร้างโบสถ์ ในสมัยศตวรรษที่ 18 การลงทุนในมหาวิทยาลัยสำคัญคือฮาร์วาร์ดและเยลก็ใช้ระบบลอตเตอรี่ในการระดมทุน กระทั่งในยุคของจอร์จ วอร์ชิงตัน เองก็มีการสนับสนุนลอตเตอรี่เพื่อสร้างถนนข้ามภูเขา Blue Ridge Mountains ซึ่งโครงการหลังสุดนี้พับไปไม่สำเร็จ

นอกจากในโลกตะวันตกแล้ว ประวัติศาสตร์อย่างย่อของประเทศไทย หวยเองก็สัมพันธ์กับการก่อร่างระบบเศรษฐกิจแบบเงินตรา และเกี่ยวข้องกับการใช้จ่าย หวยในเมืองไทยเองเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ในสมัยนั้นเกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ผู้คนเอาเงินไปขุดฝังไว้ใต้ดินทำให้เกิดความเสียหายคือเงินตราหายไปจากตลาด ในสมัยนั้นจึงได้โปรดให้ตั้งโรงหวยขึ้น การเล่นหวยแต่เดิมเกิดในชุมชนจีน มีการออกหวยโดยใช้รูปดอกไม้ จึงเรียกว่าฮวยหวย แปลว่าชุมนุมดอกไม้ 

ความพิเศษของการเกิดขึ้นของหวยในสังคมไทยจึงสัมพันธ์กับการแก้ปัญหาและการเกิดขึ้นของระบบเงินตรา เป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย  รัชกาลที่ 3 ทรงออกระบบหวยตามคำแนะนำของจีนหง (ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์พระศรีไชยบาน) แรกสุดด้วยความที่นำแบบอย่างจากจีนจึงออกหวยเป็นตัวอักษรจีน แล้วเปลี่ยนเป็นรูปคน ก่อนที่จะมาใช้เป็นตัวอักษรไทย เป็นที่มาของคำว่าหวย ก ข มาตั้งแต่ยุคนั้น

จุดเริ่มต้นของหวยจึงเป็นการรักษาเงินตราไว้ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งต่อมาพบว่าหวยเป็นแหล่งรายได้สำคัญมากอย่างหนึ่งของรัฐ แต่หวยในยุคแรกก็มีปัญหาคือเกิดนายอากรหวยเถื่อนจนรัชกาลที่ 5 จึงดำริให้ค่อยๆ ลดบทบาทของหวยและยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มมีการออกสลากกินแบ่งของรัฐหรือลอตเตอรี่ ซึ่งเป็นการระดมทุนเพื่อบำรุงการกุศล จนในสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้มีระบบการออกสลากเป็นประจำ มีการปรับเป็นระบบเลขท้ายและระบบตัวเลขแทนตัวอักษรเช่นที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน

ความฝันของผู้ชนะ และการซ้อมรับมือความผิดหวัง

ส่งท้ายประเด็นเรื่องหวย หวยในทางเทคนิคและถ้าพูดอย่างสุดโต่ง หวยเป็นพื้นที่สีเทาและเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าเรามองที่มาอันยาวนานทั้งของตะวันตก เอเชีย และบ้านเรา หวยสัมพันธ์กับระบบเศรษฐกิจและการก่อร่างสร้างรัฐอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกันหวยเองก็ถูกโจมตีเช่นเป็นการปล้นคนจนไปเจือจานกิจการในภาพรวม หวยทำให้เกิดการเสพติด เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ซึ่งในส่วนนี้ก็แล้วแต่มุมมอง

ถ้าเรามองในมุมของสังคมที่เชื่อว่าสมาชิกมีวุฒิภาวะ เราเองก็ยังคงสนุกกับการเล่นหวยโดยที่เชื่อว่าทุกคนตระหนักว่าการถูกหวยเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง การรวยจากหวยเป็นปลายทางที่อาจจะอยู่ในความฝัน ไม่นับตำนานคนถูกหวยที่มักไม่ยั่งยืน มีญาติมายืมและจบท้ายด้วยการกลับไปจนกว่าเดิม

ในแง่นี้เราอาจมองหวยในมุมมองของวัฒนธรรมได้ หวยเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ชีวิตประจำวันของเรามีสีสัน คือโลกสมัยใหม่บอกเราถึงเส้นทางรวยเช่นการขยันและอดออม การใช้ชีวิตก้มหน้าทำงานที่ซ้ำซาก จำเจ และน่าเบื่อ แต่หวยเป็นเหมือนปรากฏการณ์พิเศษที่จะทำให้ทุก 15 วันธรรมดาของเราไม่ธรรมดา เป็นช่วงเวลาที่เราจะได้มีความฝันเล็กๆ ที่จะกลายเป็นผู้ที่โชคชะตาคัดเลือกให้ได้รางวัลใหญ่จากจักรวาลของการดิ้นรนสู่ความมั่งคั่งที่เราดิ้นรนไม่รู้จบนี้

นอกจากนี้หวยยังสัมพันธ์กับการเชื่อมโยงกันในระดับความฝันของผู้คน การมีฝันร่วมกัน การออกหวยและการซื้อหวยเป็นกิจกรรมที่เรารู้สึกเชื่อมต่อกับอย่างลำลองกันคนรอบตัว จากพนักงานบริษัทถึงแม่ค้าแม่ขาย การซื้อหวยเป็นการได้ลองเป็นผู้แข่งขันในสนามความฝันของคนแทบจะทุกชั้น เป็นความรู้สึกที่เราจะได้ลุ้นเข้ารอบ ได้หวังว่าจะเป็นผู้ชนะ และที่สำคัญคือเป็นการฝึกยอมรับความพ่ายแพ้และเริ่มต้นใหม่อย่างไม่รู้จบ 

อ้างอิงข้อมูลจาก

สรุปจุดเด่นของเครื่องมือ AI จาก Insiderly School of AI โดย เอ–วรวิสุทธิ์​ ภิญโญยาง

AI เป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับทักษะคนเก่งปานกลางให้สามารถไปแข่งกับคนเก่งระดับท็อปได้ ไม่ต้องเป็นนักออกแบบ นักเขียน โฆษกหรืออินฟลูเอนเซอร์ก็สามารถทำงานที่ใช้ทักษะเหล่านี้แบบมืออาชีพได้ง่ายขึ้นโดยร่นระยะเวลาการเรียนรู้และการทำงานลงได้ 

วันนี้ Capital รวมเครื่องมือ AI หลากหลายหมวดจาก Insiderly School of AI โดย เอ–วรวิสุทธิ์​ ภิญโญยาง
ผู้ก่อตั้งสถาบันปลดล็อกธุรกิจด้วย AI และที่ปรึกษาด้าน AI แก่องค์กรมาให้เตรียมจดเช็กลิสต์ซอฟต์แวร์สำคัญไว้สำหรับอัพสกิลกัน

1. เครื่องมือสร้างรูป (art & image generator)

แค่ใส่ประโยคบรรยายก็สามารถสร้างรูปง่ายๆ ได้ 

  • DALL·E : เครื่องมือจากค่าย OpenAI เจ้าเดียวกับผู้สร้าง ChatGPT ที่ใช้ง่ายเหมาะกับผู้เริ่มต้นและต้องซื้อเครดิตในโปรแกรมเพื่อสั่งสร้างภาพให้ละเอียดตามต้องการ 
  • Midjourney : โปรแกรมที่หลายคนน่าจะคุ้นหูจากการสร้างภาพในจินตนาการด้วยภาพสมจริงหลากสไตล์ โดยใช้ได้ผ่าน discord

หากต้องการการปรับแต่งภาพแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น แนะนำเครื่องมือเหล่านี้

  • Stable Diffusion : ปรับแต่งรูปได้เยอะ เช่น สามารถปรับท่าทางได้ละเอียด เอาไปพัฒนาต่อได้
  • SUPERMACHINE : เน้นรูปโมเดลทั้งภาพวาดพอร์เทรต ดิจิทัลอาร์ต ภาพ illustration
  • Stockimg AI : สร้างรูปได้หลากหลายทั้งโปสเตอร์ โลโก้ ปกหนังสือ QR code เหมาะกับคนที่อยากออกแบบสื่อหลากหลายประเภท

2. เครื่องมือช่วยเขียน (copywriting)

ไม่ว่าจะช่วยคิดหัวข้อ เขียนคอนเทนต์ สคริปต์ AI สมัยนี้ก็สามารถปรับแต่งได้หมด

  • Cohesive.so : เขียนคอนเทนต์ได้สารพัดรูปแบบ ทั้งแบบบทความ โพสต์ แคปชั่นและคำบรรยายโฆษณาในโซเชียลมีเดียโดยสามารถเลือกแพลตฟอร์มที่จะเขียนลงได้ทั้งอินสตาแกรม, เฟซบุ๊ก, TikTok ฯลฯ
  • Castmagic.io : ถอดเสียงคลิปและสรุปเป็นข้อความได้ ความสามารถพิเศษคือการสรุปย่อคลิปที่มีความยาวหลักชั่วโมงได้ภายใน 5 นาที ช่วยเพิ่มสปีดการเรียนรู้ 1,000 เท่าและยังสามารถแชตถาม-ตอบกับบอตเกี่ยวกับคอนเทนต์ได้อีกด้วย

3. เครื่องมือช่วยสื่อสาร (communication)

สำหรับคนที่พูดหน้ากล้องไม่เก่ง สคริปต์ก็คิดไม่ออก เรื่องบุคลิกภาพก็กังวล ปัญหาทั้งหมดจะหายไปแค่ใช้ AI มาช่วยในการถ่ายทำคอนเทนต์วิดีโอ 

  • Synthesia, HeyGen : สร้างวิดีโอพร้อมโฆษก AI Avatar ได้ง่ายๆ โดยสามารถปรับแต่งและเลือก avatar ได้ตามใจชอบ
  • ElevenLabs : เปลี่ยนเทกซ์เป็นเสียงพูด AI Voice Cloning ทำให้การพากย์เสียงฟังดูรื่นหูไม่สะดุด 
  • NVIDIA Broadcast : ปรับลุคให้มั่นใจด้วยการสบตาคนดู เพราะอายคอนแทกต์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การออกกล้องดูดีขึ้นและทำให้คนดูรู้สึกถึงการให้ความสำคัญ 
  • ChatGPT : ทำให้การเขียนสคริปต์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แค่ป้อนคำถามใส่ ChatGPT AI ก็จะช่วยร่างบทที่เราต้องการมาให้ทันที  
  • Pictory.ai : เปลี่ยนเทกซ์เป็นวิดีโอ ทั้งสามารถแปลงบทความจากบล็อก หรือไฟล์ Word เป็นวิดีโอ และยังเอาบทพูดจาก ChatGPT มาต่อยอดใส่เป็นเสียงพากย์ได้ด้วย   

นอกจากเครื่องมือทั้งหมดเหล่านี้แล้ว สำหรับคนที่อยากใช้เครื่องมือ AI ควรรู้จักค่ายผู้สร้าง AI 3 ค่ายใหญ่อย่าง Google ที่สร้าง Bard กับ Duet AI, Open AI ผู้สร้าง ChatGPT กับ Copilot และ Anthropic ผู้สร้าง Claude ซึ่งเครื่องมือทั้งหมดเหล่านี้สามารถใช้ช่วยปรับการสื่อสารหรือถาม-ตอบสิ่งที่อยากรู้ได้

หากอยากศึกษาเรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ AI เพิ่มเติม ทั้งเครื่องมือใหม่ๆ และข่าวสารอัพเดตเกี่ยวกับ AI สามารถ
เข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.insiderly.ai

ESG ไม่ใช่แค่กระแสแต่เป็นทางรอดธุรกิจยุคใหม่ ท่ามกลางความท้าทายรอบด้าน

โลกกำลังเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาสังคมที่รุนแรง ธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทายในการดำเนินธุรกิจซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของบริษัท และความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้แนวคิด ESG (environmental, social และ governance) กลายเป็นกติกาในการทำธุรกิจในปัจจุบัน

ซึ่งจริงๆ แล้ว แนวคิด ESG ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไปเพราะในช่วง 2-3 ปีมานี้ ภาคธุรกิจเริ่มคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม ทำให้คำว่า ESG ถูกพูดถึงมากขึ้น และหันมาให้ความสำคัญกับ ESG มากกว่าที่ผ่านมา โดย ESG ประกอบด้วย 3 มิติคือ

มิติด้านสิ่งแวดล้อม (environment) แนวคิดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ

มิติด้านสังคม (social) แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ตั้งแต่พนักงาน ลูกค้า ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งหมด

มิติด้านธรรมาภิบาล (governance) แนวคิดเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ต่อต้านการทุจริต และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

อย่างที่ว่าไว้ ESG ไม่ใช่เรื่องใหม่ แล้วอะไรคือสิ่งที่คนทำธุรกิจและคนทำงานควรรู้ ณ ตอนนี้เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าสู่โลกธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในปี 2024 เราจึงตั้งใจไปพูดคุยกับ ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UNGCNT) ซึ่งเป็นเครือข่ายท้องถิ่นขององค์การสหประชาชาติ (UN Global Compact) ที่ก่อตั้งในปี 2018 เพื่อรณรงค์ให้บริษัททั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่ยั่งยืนทั้งระบบ ภายใต้การดำเนินการใน 3 มิติข้างต้น

ดร.ธันยพรอธิบายให้เห็นภาพว่า ภาคธุรกิจคือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนโลกให้ดีขึ้น โดยการแสดงความรับผิดชอบ และสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ ด้วยการใช้ ESG เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจทางธุรกิจเพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับนักลงทุนและลูกค้า อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในกระบวนการดำเนินธุรกิจ สร้างสัมพันธภาพที่แข็งแกร่งในองค์กร และช่วยให้การปรับปรุงกระบวนการดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

ซึ่งความรับผิดชอบที่ว่านี้ถูกกำหนดมาตั้งแต่ปี 2000 มีด้วยกัน 4 ส่วน คือ

1. สิทธิมนุษยชน เริ่มตั้งแต่การเริ่มธุรกิจ การสร้างโรงงานโดยไม่กระทบชุมชนรอบข้าง ไปจนถึงการจ้างงาน 

2. แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินธุรกิจในประเทศหรือต่างประเทศ ทุกประเทศต่างมีกฎหมายแรงงานควบคุมอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายหรือมาตรการระหว่างประเทศที่ทุกภาคส่วนต้องหารือร่วมกัน เช่น บริษัทในไทยที่ว่าจ้างแรงงานต่างชาติจะมีข้อตกลงหรือมาตรการดูแลพนักงานยังไง หรือในกรณีที่คนไทยไปทำงานในต่างประเทศ บริษัทในประเทศนั้นๆ จำเป็นต้องมีมาตรฐานการดูแลพนักงานข้ามชาติยังไง

3. สิ่งแวดล้อม เป็นความรับผิดชอบในส่วนของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ และได้ประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงลดการทำธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

4. ความโปร่งใส เป็นการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ ปราศจากการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

“ความรับผิดชอบทั้ง 4 ส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องรับรู้ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจในประเทศใดก็ตาม จำเป็นต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก การมีข้อบังคับเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังและมีการวางแผนการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนขึ้น โดยเฉพาะกับองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจในต่างประเทศ ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการทำ ESG เนื่องจากเป็นมาตรฐานที่ทั่วโลกให้การยอมรับ”

สิ่งแวดล้อมคือปัญหาเร่งด่วน ธุรกิจต้องลงมือทำทันที

จะว่าไปแล้วในมุมของการทำธุรกิจ ความรับผิดชอบทั้ง 4 ส่วนดังกล่าวล้วนเป็นพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องทำอยู่แล้ว ทว่าประเด็นสำคัญที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ใช่แค่การรีไซเคิลขยะ ปิดน้ำปิดไฟเมื่อไม่ใช้ แต่ในการทำ ESG มีมากกว่านั้น องค์กรต้องรู้ว่าในเวลานี้สิ่งที่ทำอยู่อาจยังไม่พอ สมาคมฯ จึงมีหน้าที่ผลักดันนโยบายภาครัฐ และเป็นเจ้าภาพในการให้องค์ความรู้และคำปรึกษาต่างๆ

ดร.ธันยพรเล่าว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจไม่ใช่เรื่องเล็กที่แกล้งทำเป็นไม่เห็นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งในชุมชนที่มาจากโรงงานที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้นใช้น้ำในการผลิตมากกว่าที่ชาวบ้านใช้ในการอุปโภคบริโภค แม้โรงงานจะไม่สามารถคืนน้ำทุกหยดให้ชุมชนได้ แต่ก็ต้องมีการชดเชยเยียวยาที่เหมาะสม หรือปัญหาเรื่อง PM2.5 ในเมือง ภาครัฐสามารถกำหนดมาตรการต่างๆ ในการดูแลได้ เช่น ในโซนที่ค่าฝุ่นสูงเกินกำหนด องค์กรหรือบริษัทในโซนนั้นอาจให้พนักงานทำงานที่บ้าน หรือรถบรรทุกน้ำมันดีเซลที่ขับเข้าเมืองต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่น 

ก่อนหน้านี้มีการประเมินจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบอกว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้า โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และจะร้อนในระดับนั้นอย่างน้อย 1 ปี ทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าโลกจะร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

“ในกรณีนี้ถ้าเราต้องการลดอุณหภูมิของโลกลง 1.5 องศาเซลเซียส อาจต้องมีข้อตกลงว่าควรหยุดผลิตสินค้าบางส่วน แต่เนื่องจากประชากรเราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยังไม่มีปีไหนที่โลกที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้จริง”

ขับเคลื่อนจากบริษัทมหาชน สู่ผู้ประกอบการรายย่อย

เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ต้องนึกถึงอุตสาหกรรมพลังงาน (oil & gas) ที่มีความเกี่ยวข้องกับทุกธุรกิจบนโลกใบนี้ เพราะหากวันใดอุตสาหกรรมพลังงานหยุดการผลิต ก็จะส่งผลกระทบทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการศึกษา การก่อสร้าง การขนส่ง หรือการเกษตร

ดร.ธันยพรเล่าว่าทางสมาคมฯ จึงหารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ครอบครอง GDP ส่วนใหญ่ของโลกเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม เพราะถ้าธุรกิจเหล่านี้ขยับตัวก็จะสร้างแรงกระเพื่อมเรื่อง ESG ไปสู่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ และภาคประชาชนได้กว้างขึ้น หน้าที่ของสมาคมฯ ในเวลานี้จึงอยู่ที่การสื่อสารกับภาคธุรกิจเพื่อสร้าง positive impact ซึ่งปัจจุบันสมาคมฯ มีสมาชิกในไทยประมาณ 130 ราย โดยอยู่ในกลุ่มองค์กรขนาดกลางถึงใหญ่ เช่น บางจาก, บ้านปู,  CP Group และเครือ ปตท. เป็นต้น

แต่หากถามว่าการทำ ESG เป็นเรื่องของธุรกิจขนาดใหญ่อย่างเดียวหรือไม่ คำตอบของ ดร.ธันยพรคือ ไม่ใช่ เพราะจริงๆ แล้วกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SMEs เริ่มมาเนิ่นนานแล้ว เพียงแต่อาจไม่ได้เรียกสิ่งที่ทำว่า ESG เช่น ธุรกิจร้านอาหารที่ต้องดูแลระบบหลังบ้านให้ดี โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและการจัดการเศษอาหาร เนื่องจากร้านอาหารส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ในชุมชนที่มีผู้คนพลุกพล่าน การกำจัดเศษอาหารหรือคราบมันต่างๆ จึงต้องทำอย่างเป็นระบบ ไม่ทิ้งเรี่ยราดจนส่งกลิ่นเหม็นไปสู่ชุมชนใกล้เคียง

ความแตกต่างของการทำ ESG ระหว่างผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่อยู่ที่การทำรายงานและวัดผล ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่ต้องระบุไปในนโยบายให้ชัดเจน มีตัวเลขวัดผล ที่บอกได้ว่าสิ่งที่บริษัททำสร้างผลกระทบเชิงลบหรือเชิงบวกในแง่ใดบ้าง

ESG เป็นกติกาในการทำธุรกิจยุคใหม่ 

ปัจจุบันการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ESG ไม่ใช่ว่า ESG คืออะไรหรือทำไปทำไม แต่เป็นคำถามว่าจะทำยังไงและเริ่มทำเมื่อไหร่
ธุรกิจไม่สามารถรีรอได้อีกต่อไป ต้องเร่งลงมือทำทันที เพื่อสร้างโอกาสสู่การเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน และในอนาคต ESG จะกลายเป็นกติกาโลกในการทำธุรกิจในหลายประเทศ รวมถึงเป็นมาตรฐานและข้อบังคับในการดำเนินงาน ในขณะเดียวกันผู้บริโภคก็เริ่มตระหนักถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและตัดสินใจซื้อสินค้าจากองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่อง ESG มากขึ้น

เมื่อเป็นแบบนี้แล้ว หากธุรกิจที่ต้องการสร้างผลกำไรอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องการทำ ESG จะเกิดอะไรขึ้น

“เวลานี้ ESG กลายเป็นมาตรฐานในการทำธุรกิจไปแล้ว หากคุณมีเป้าหมายการทำธุรกิจในประเทศก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีพาร์ตเนอร์หรือคู่ค้าในต่างประเทศ การไม่ทำ ESG อาจทำให้ธุรกิจสูญเสียโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุน เสียโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ หรืออาจถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

“ยกตัวอย่างเคสของแบรนด์อาหารญี่ปุ่นที่เข้ามาเปิดป๊อปอัพสโตร์ในไทย และทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าอาหารที่เติบเป็นอาหารปรุงสดใหม่โดยเชฟชาวญี่ปุ่น หากแบรนด์อธิบายอย่างชัดเจนตั้งแต่แรก ผู้บริโภครู้ความจริงก็มีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะไปทานหรือไม่ แต่เมื่อแบรนด์ไม่ได้บอกข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคในทันที และทางบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นก็ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษสำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว”

แล้วการทำ ESG ต้องเข้มข้นแค่ไหน?

ดร.ธันยพรเล่าว่า ปัจจุบันการทำ ESG มีด้วยกัน 4 ระดับ คือระดับที่มีการวัดผลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ระดับที่ทุกคนในองค์กรรับรู้ถึงแผนและนโยบาย ระดับที่ฝังอยู่ใน KPI ของพนักงานทุกคน และระดับที่พนักงานสามารถขยายผลไปสู่คนรอบข้างได้ 

โดยทั่วไปแล้วระดับการทำ ESG ขององค์กรจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น นโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร แผนการดำเนินงาน การสื่อสาร และอื่นๆ องค์กรที่ทำได้ดีก็จะได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

สำหรับองค์กรที่ยังไม่เริ่มทำ ESG ถ้าอยากทำตอนนี้จะสายไปไหม

ธุรกิจที่เริ่มก่อนย่อมได้เปรียบ ถ้าในอุตสาหกรรมที่คุณอยู่คู่แข่งเริ่มทำไปบ้างแล้ว นั่นหมายความว่าคุณกำลังเดินตามหลังคู่แข่ง แต่ถ้าอยากตามให้ทันก็ต้องทำอย่างจริงจัง พัฒนาสินค้าและบริการให้น่าสนใจ เพราะในท้ายที่สุดผู้บริโภคจะรับรู้ถึงสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ เนื่องจากเวลานี้ผู้บริโภคต้องการซื้อสินค้าจากแบรนด์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้นำองค์กรคือกุญแจสำคัญ

“ผู้นำองค์กรถือเป็นกุญแจสำคัญในการทำ ESG ที่รับหน้าที่กำหนดเป้าหมาย โดยเริ่มตั้งแต่วางนโยบาย กระบวนการผลิต ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าไปสู่มือลูกค้า นอกจากนี้ผู้นำองค์กรยังต้องสื่อสารไปสู่พนักงานทุกระดับชั้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งในบางครั้งอาจต้องเริ่มจากการเลือกพนักงานที่มีเซนส์หรือแนวคิดเดียวกัน” ดร.ธันยพรกล่าว

แม้ว่าแนวคิดด้านการบริหารจัดการ ESG จะมุ่งหวังไปที่การขับเคลื่อนในภาคธุรกิจ แต่ในรายละเอียดของแต่ละมิติ การแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม หรือธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจก็เป็นหน้าที่ของทุกคน ดังนั้นหัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ความเข้าใจ

ในภาคธุรกิจ แม้คุณจะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นที่หลายคนมองว่ามีอายุการใช้งานน้อย แต่ธุรกิจก็สามารถผลิตเสื้อผ้าให้มีอายุการใช้งานได้เกิน 10 ปี โดยเลือกวัสดุที่ทนทาน ใช้งานได้นาน และในมุมของผู้บริโภคต้องมีการสร้างค่านิยมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก เช่น การซื้อเสื้อผ้า เมื่อไม่ใส่แล้วก็อาจส่งต่อ ดัดแปลง ใช้ซ้ำ หรือซื้อเท่าที่จำเป็น

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน นี่อาจไม่ใช่เวลาที่ทุกภาคส่วนอยู่ในโหมดเฝ้าระวัง แต่เป็นโหมดที่ต้องลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นในมิติใดมิติหนึ่ง หากทุกฝ่ายเห็นความสำคัญและช่วยกัน แนวคิด ESG ก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก