From Canadian Mountains to Runway

Arc’teryx แบรนด์สินค้า-เสื้อผ้าเอาต์ดอร์สัญชาติแคนาดาที่ร่วมจุดกระแสแฟชั่นแนว Gorpcore

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เสื้อผ้าเอาต์ดอร์อาจไม่จำเป็นสำหรับการสวมใส่เพียงแค่ในวันที่ต้องการออกไปแอดเวนเจอร์ ไปแคมป์ปิ้ง ออกไปปีนผา หรือเล่นสกีเท่านั้น เพราะเมื่อเทรนด์ ‘My body, My choice’ ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 1969 ถูกนำกลับมารณรงค์และพูดถึงขึ้นมาใหม่ในสังคม ด้วยบริบทที่ไม่ใช่เพื่อผู้หญิงเพียงเท่านั้น ทั้งยังนับได้ว่าเป็นการมอบอิสรภาพ-ความมั่นใจในการแต่งตัวให้กับผู้คนทุกเพศทุกวัยมากขึ้นด้วย และไม่ว่าเราจะแต่งตัวโป๊แค่ไหน หรือมิดชิดเพียงใด นั่นก็เป็นสิทธิของเรา

เช่นเดียวกับเทรนด์การแต่งตัวในต่างประเทศ กับการหยิบเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ออกมาสวมใส่ในวันธรรมดาๆ วันที่ต้องออกมาจ่ายตลาด หรือแม้แต่วันที่ตั้งใจออกมานั่งจิบกาแฟกลางเมืองชิลล์ๆ ด้วยอิสรภาพในการแต่งตัวเช่นนี้ เทรนด์แฟชั่นและการแต่งตัวใหม่ๆ จึงได้ผุดขึ้นมามากมาย โดยการนำเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ หรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุกันน้ำอย่าง ‘GORE-TEX’ (กอร์เท็กซ์) มาแมตช์เข้ากับการแต่งกายแนวสตรีทแวร์นั้น ก็ได้ก่อให้เกิดเทรนด์แฟชั่นที่เรียกว่า ‘Gorpcore’ (กอร์ปคอร์) แฟชั่นที่นำพาให้แบรนด์เอาต์ดอร์ต่างๆ ได้เฉิดฉายอยู่บนรันเวย์  ตลอดจนบนเรือนร่างของเหล่าเซเลบริตี้ เรียกได้ว่าก้าวข้ามขีดจำกัดของการแต่งตัวไปได้อย่างง่ายดาย

แต่ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เทรนด์ Gorpcore จะเกิดขึ้นแค่เพียงเพราะผู้คนหันมาสวมใส่กางเกง รองเท้า หรือแจ็กเก็ตผ้ากันน้ำมากขึ้น เพราะเมื่อไหร่ที่มีคำขึ้นต้นว่า ‘เทรนด์’ หรือ ‘แฟชั่น’ ก็แปลว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกระแส Y2K การแต่งตัวย้อนไปในยุค 2000 ต้นๆ หรือเทรนด์แฟชั่น old money และ quiet luxury ที่การแต่งตัวด้วยลักชูรี่แบรนด์แต่ไม่ตะโกน ตลอดจนเทรนด์แฟชั่นที่คาดการณ์ว่ากำลังจะมาแทนที่ Y2K อย่าง minimal 90s กับการแต่งตัวเรียบแต่โก้ในสไตล์ยุค 1990 ส่วนคำว่า Gorpcore นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงฤดูหนาวของปี 2017 โดยนักเขียนจากสื่อ The Cut ของนิวยอร์กอย่างเจสัน เฉิน (Jason Chen) โดย Gorpcore หรือ G.O.R.P ย่อมาจากชื่อขนมทานเล่นของนักกิจกรรมเอาต์ดอร์ ‘Good Old Raisins and Peanuts’ สแน็กบาร์ที่ประกอบไปด้วยธัญพืช ถั่ว และลูกเกดนั่นเอง  

ท่ามกลางกระแส Gorpcore ที่ยังคงมาแรงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์สัญชาติแคนาดาอย่าง ‘Arc’teryx’ (อาร์กเทอริกซ์) แบรนด์ที่เคยเป็นที่รู้จักเพียงแค่กลุ่มนักเดินทางและสายแอดเวนเจอร์ ได้กลายมาเป็นแบรนด์เอาต์ดอร์ที่สายแฟชั่นส่วนใหญ่ต่างก็รู้จักแบรนด์นี้ไปพร้อมๆ กับเทรนด์การแต่งตัวแบบ Gorpcore 

Biztory ตอนนี้จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับ Arc’teryx ให้มากขึ้น ตลอดจนเส้นทางการเติบโตสู่การเป็นแบรนด์ที่ร่วมจุดประกายแฟชั่นแบบ Gorpcore สู่รันเวย์ของเหล่าลักชูรี่แบรนด์

@arcteryx

Take care of your sh*t, so it can take care of you. Visit our website to explore our new and improved ‘Product Care’ page. #arcteryx #ReCARE

♬ original sound – Arc’teryx

ย้อนกลับไปเมื่อ 35 ปีก่อนหรือใน ค.ศ. 1989 ที่เมืองนอร์ทแวนคูเวอร์ (North Vacouver) รัฐบริติชโคลอมเบีย (British Columbia) ประเทศแคนาดา แบรนด์ ‘Rock Solid’ (ร็อก โซลิด) โดย ‘Dave Lane’ (เดฟ เลน) นักปีนผาท้องถิ่น ผู้ซึ่งชื่นชอบการผจญภัยและการสำรวจ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจของเขาที่อยากจะผลิตสินค้าอย่างสายรัดตัวสำหรับปีนผา (climbing harness) คุณภาพดีให้กับเหล่านักปีนผาโดยเฉพาะ และแม้ว่า Rock Solid จะเป็นเพียงแค่ธุรกิจเล็กๆ ที่เพิ่งเปิด อีกทั้งยังมีการผลิตสินค้าเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าอย่างนักปีนผาเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าภายในหนึ่งปีนับจากก่อตั้ง เดฟ เลน จะสามารถทำรายได้จากการผลิต-ขายสายรัดตัวสำหรับปีนผาไปได้เป็นจำนวนเงินกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.05 ล้านบาทไทย  ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่เยอะสำหรับธุรกิจ niche หน้าใหม่เลยทีเดียว

ภายในปีเดียวกันนี้เอง หรือในปี 1990 เดฟ เลน ยังได้พาร์ตเนอร์บริษัทคนใหม่อย่างเจเรมี การ์ด (Jeremy Guard) ผู้ซึ่งเคยรับหน้าที่บริหารจัดการด้านการเงินของ Rock Solid มาร่วมลงทุนไปด้วยกัน

ก่อนในปี 1991 แบรนด์สายรัดตัวปีนผาจะถูกรีแบรนด์ใหม่และเปลี่ยนชื่อให้กลายมาเป็น ‘Arc’teryx’
แบรนด์ขายสินค้า-เสื้อผ้าเอาต์เดอร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานและดีไซน์วัสดุระดับไฮเอนด์อย่างเนื้อผ้ากันน้ำ-กันลม (GORE-TEX) เพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มที่กว้างขึ้นกว่านักปีนผาอย่างการเจาะกลุ่มลูกค้าสายแอดเวนเจอร์ อาทิ สายแคมป์ปิ้ง เดินป่า และสายเล่นสกีอีกด้วย

เราเชื่อว่าหลายๆ คนที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงสงสัยอยู่ไม่น้อยว่าจากชื่อแบรนด์เก่าอย่าง Rock Solid ที่อ่านออกเสียงง่ายและสามารถแปลความหมายได้อย่างตรงตัวว่า ‘แข็งแรง ทนทาน’ นั้น มาสู่ชื่อแบรนด์ใหม่หรือ ‘Arc’teryx’ ที่ออกเสียงว่า ‘อาร์กเทอริกซ์’ กับโลโก้แบรนด์รูปร่างคลับคล้ายซากกระดูกหรือซากฟอสซิลได้ยังไงกันแน่ๆ

โดยชื่อ ‘Arc’teryx’ จริงๆ แล้วย่อมาจากชื่อทางวิทยาศาตร์ของอาร์คีออปเทอริกซ์ (Archaeopteryx lithographica) หนึ่งในสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในยุคจูราสสิก หรือสัตว์ที่มีรูปร่างอยู่กึ่งกลางระหว่างไดโนเสาร์กับนก 

แต่แล้วอะไรกันล่ะที่ทำให้เดฟ เลน กับเจเรมี การ์ด ตัดสินใจหยิบเอาซากฟอสซิลและชื่อของสัตว์ดึกดำบรรพ์ตัวนี้ มาตั้งเป็นชื่อและถอดแบบให้ออกมาเป็นโลโก้แบรนด์ของพวกเขา

นั่นก็เพราะว่าเดฟ เลน และเจเรมี การ์ด ต่างก็มองลึกลงไปถึงวิวัฒนาการของเจ้าอาร์คีออปเทอริกซ์ที่ตามบันทึกของนักบรรพชีวินวิทยาแต่เดิมมองว่าสัตว์ตัวนี้ อาจไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นไดโนเสาร์หรือนกกันแน่ แต่เมื่อลองค้นหาในบันทึกถัดๆ มา พวกเขาสองคนก็ได้พบว่าสัตว์อย่างอาร์คีออปเทอริกซ์นั้นมีวิวัฒนาการที่ปรับเปลี่ยนไปเป็นนกอย่างชัดเจนมากขึ้น จนทำให้นักบรรพชีวินวิทยาสามารถยืนยันได้ว่าอาร์คีออปเทอริกซ์เป็นนกตัวแรกที่ไม่ใช่แค่ไดโนเสาร์ที่มีขนแบบนกเท่านั้น

ด้วยวิวัฒนาการของเจ้าสัตว์ตัวนี้ จึงทำให้เขาทั้งสองคนมีความรู้สึกเชื่อมโยงกับมัน เพราะจากแบรนด์เล็กๆ ที่เคยคิดจะขายเพียงสายรัดปีนผา ก็เกิดการพัฒนาให้กลายมาเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์อย่างเต็มรูปแบบ แบรนด์ที่พวกเขามีความตั้งใจอยากผลิตสินค้าคุณภาพดีด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ผู้คนกล้าออกมาใช้ชีวิตเอาต์ดอร์มากขึ้นด้วยชื่อเท่ๆ อย่าง ‘Arc’teryx’ นั่นเอง

แต่ก่อนที่จะไปถึงหมวดหมู่เสื้อผ้าที่ทั้งทนแดด ทนฝน กันน้ำ กันลมอย่างที่ว่าไว้ โปรดักต์แรกในนาม Arc’teryx เอง ก็ยังคงเป็นสินค้าอย่างสายรัดปีนผาเช่นเดิม เพิ่มเติมคือสายรัดในเวอร์ชั่นที่พัฒนาแล้ว โดยเลนและการ์ดได้ตัดสินใจปรับดีไซน์จากสายรัดหนังแบบแฮนด์คราฟต์เส้นหนาๆ กับคุณสมบัติที่เพียงแค่ช่วยให้นักปีนผาได้เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว ได้กลายมาเป็นสายรัดที่สามารถรับแรงกระแทกเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บจากการปีนผาได้อีกด้วย โดยโปรดักต์ชิ้นนี้ ก็พัฒนามาจากประสบการณ์ปีนผาโดยตรงของทั้งเลนและการ์ดนั่นเอง

@arcteryx

Meet the Arcteryx team bringing fit and function together to create your favorite gear. #obsessivedesign #arcteryx

♬ original sound – Arc’teryx

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ในปี 1993 Arc’teryx ก็ยังออกไลน์โปรดักต์สายรัดปีนผารุ่นใหม่ ‘Vapor Harness’ สายรัดปีนผารูปทรงคล้ายตัววี (V-stay) ที่ถูกผลิตออกมาเพื่อเจาะกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักปีนผาแบบฮาร์ดคอร์เป็นครั้งแรก และจุดเด่นของเจ้า Vapor Harness นั่นก็คือรูปทรงของสายรัดที่จะมาช่วยโอบอุ้มสรีระของนักปีนผาได้อย่างดี โดยโปรดักต์สุด niche รุ่นนี้แหละที่ทำให้ Arc’teryx เริ่มกลายมาเป็นแบรนด์เอาต์ดอร์ที่ผู้คนในวงการอุปกรณ์เอาต์ดอร์ต่างก็พูดถึงกันอย่างแพร่หลาย

ด้วยนวัตกรรมใหม่อย่าง Vapor Technology ที่ Arc’teryx ได้ค้นพบจากการผลิตสายรัดปีนผา เลนและการ์ดจึงได้ตัดสินใจนำเทคโนโลยีนี้มาสานต่อด้วยการริเริ่มดีไซน์โปรดักต์ใหม่ของแบรนด์อย่าง ‘Bora Backpack’ กระเป๋าเอาต์ดอร์รุ่นแรกที่มาพร้อมกับสายคาดเอวและสายสะพายแบบรูดปรับให้เข้ากับสรีระของผู้ใช้งานแต่ละคนได้อีกด้วย

แม้กระเป๋าเอาต์ดอร์จะเป็นโปรดักต์ที่เลนและการ์ดต่างก็ไม่เคยมีประสบการณ์การผลิตหรือการดีไซน์มาก่อน แต่เชื่อไหมล่ะว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีนับตั้งแต่กระเป๋ารุ่นนี้วางขายออกสู่สาธารณะ Bora Backpack คือกระเป๋าที่เหล่าแบ็กแพ็กเกอร์และสายเอาต์ดอร์ต่างก็ยกย่องให้เป็นกระเป๋าที่ดีที่สุดชองยุคเลยก็ว่าได้

เมื่อโปรดักต์อย่างสายรัดปีนผาและกระเป๋าเอาต์ดอร์ของ Arc’teryx สามารถสร้างความโดดเด่นและความน่าสนใจในตัวแบรนด์ให้กับเหล่าผู้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง Arc’teryx ในปี 1998 จึงได้ตัดสินใจต่อยอดธุรกิจด้วยการหันมาพัฒนาสินค้าในหมวดหมู่เสื้อผ้าชั้นนอกและหมวก (outerwear) สำหรับการสวมใส่เพื่อทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดย Arc’teryx ถือเป็นแบรนด์เอาต์ดอร์แบรนด์แรกๆ ที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี GORE-TEX  หรือวัสดุผ้ากันน้ำกับผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าของตนเอง ทั้งยังได้ร่วมพัฒนาเทคนิคการตัดเย็บแบบซ่อนตะเข็บหรือ ‘seam tape’ ที่จากเดิมวัสดุแบบ GORE-TEX จะใช้พื้นที่ในการเย็บซ่อนตะเข็บทั้งตัวกว้างถึง 22 มิลลิเมตร ให้ลดลงมาเหลือเพียงแค่ 19 มิลลิเมตร และ 8 มิลลิเมตรในเวลาถัดมาได้สำเร็จ จึงทำให้แจ็กเก็ตรุ่นแรกอย่าง ‘Alpha SV Jacket’ ของ Arc’teryx มีน้ำหนักที่เบาและระบายความชื้นได้ดีกว่าแจ็กแก็ตเอาต์ดอร์แบรนด์อื่นๆ ในท้องตลาดนั่นเอง

แต่ความน่าสนใจของแบรนด์สินค้าเอาต์เดอร์สัญชาติแคนาดาแบรนด์นี้ไม่ได้มีดีแค่การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้กับหลากหลายผลิตภัณฑ์ของแบรนด์เพียงเท่านั้น แต่ Arc’teryx เอง กลับมองว่าการที่แบรนด์จะสามารถผลิตสินค้าเอาต์ดอร์ได้อย่างฟังก์ชั่นที่สุด คือการที่พวกเขาจะต้องนำสินค้าออกไปทดลองใช้กับสถานการณ์จริงๆ ได้อีกด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลให้ในปี 1999 Arc’teryx ยังรับหน้าที่เป็นแบรนด์ผู้ผลิต customized แจ็กเก็ตให้แก่เหล่าทีมงานของสำนักงานการจัดการหิมะถล่มในเมือง British Columbia ได้ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่และร่วมเป็นผู้ฟีดแบ็กแจ็กเก็ตรุ่นนี้ไปด้วยกัน

ด้วยดีมานด์ของสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น Arc’teryx ธุรกิจที่มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทสตาร์ทอัพเล็กๆ จึงจำเป็นที่จะต้องขยายฐานการผลิตสินค้าด้วยการสร้างโรงงานสเกลเล็กในรัฐนอร์ทแวนคูเวอร์ ก่อนจะถูกขยายมาเป็นโรงงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้นชื่อว่า  ‘ARC’One’ ในระยะเวลาถัดมา โดย ARC’One ไม่ได้เป็นเพียงแค่โรงงานที่เน้นผลิตสินค้าของ Arc’teryx แบบ in-house เท่านั้น แต่ยังมีห้องแล็บให้แก่เหล่าดีไซเนอร์และวิศวกร ซึ่งจะประกอบไปด้วยห้องทดสอบความแข็งแรง ทนทานและความยืดหยุ่นของสายรัดปีนผา (harness test) รวมไปถึงสถานที่อย่างหน้าผาจำลอง (climbing gym) ที่นอกจากจะใช้ในการทดลองโปรดักต์ได้แล้ว ก็ยังเป็นพื้นที่ผ่อนคลายของเหล่าสตาฟในโรงงานได้อีกด้วย

แต่หากจะตอบคำถามว่า Arc’teryx โดดเด่นแค่ไหน ก็คงต้องเล่าย้อนไปในปี 2001 ปีที่ Salomon Group แบรนด์สินค้าเอาต์ดอร์และรองเท้าแอดเวนเจอร์ภายใต้การบริหารของ Adidas ได้เข้าซื้อกิจการ Arc’teryx ไปในช่วงปี 2001 ก่อนที่จะตัดสินใจขายให้กับ Amer Sports รีเทลเลอร์สัญชาติฟินแลนด์ในปี 2005 และ ANTA Sports รีเทลเลอร์สัญชาติจีนในปี 2019 ตามลำดับ

ปัจจุบันสินค้าของ Arc’teryx ประกอบไปด้วยสินค้าในหมวดหมู่เสื้อผ้าชั้นนอกเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เสื้อแจ็กเก็ต เสื้อลำลอง กางเกง รองเท้า หมวก ถุงมือ ถุงเท้า และกระเป๋าซึ่งจะแบ่งเซกชั่นออกไปตามประเภทกิจกรรมที่เหมาะสม เช่น เสื้อผ้าชั้นนอกสำหรับกิจกรรมปีนผา เล่นสกี เดินป่า หรือวิ่งเทรล เป็นต้น โดยสินค้าในหมวดหมู่อุปกรณ์นั้น Arc’teryx ก็ยังคงวางขายเพียงแค่สายรัดสำหรับปีนผาและถุงใส่ชอล์กที่ก็มีให้เลือกหลากหลายรุ่นตามสไตล์ของผู้ใช้งานแต่ละคนนั่นเอง

เมื่อไล่เรียงจากไทม์ไลน์ของ Arc’teryx แล้ว เราจะเห็นได้ชัดว่า Arc’teryx ใช้เวลาไม่นานนักในการขึ้นเป็นแบรนด์เอาต์ดอร์ระดับไฮเอนด์ โดยหนึ่งในคีย์ที่ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้นไปอีกคือ ‘Frank Ocean’ (แฟรงก์ โอเชียน) นักร้อง นักแต่งเพลง และแรปเปอร์ชาวอเมริกันที่ปรากฏตัวใน Paris Fashion Week 2019 ด้วยสไตล์การแต่งตัวที่แปลกตาอย่างการสวมใส่เสื้อแจ็กเก็ตสำหรับทำกิจกรรมแอดเวนเจอร์ในรุ่น ‘Marmot Puffer Jacket’ และหมวกบีนนี่ของ  Arc’teryx ออกมาร่วมงานแฟชั่นโชว์นั่นเอง เมื่อภาพของแฟรงก์ โอเชียน ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน สินค้าของ Arc’teryx รุ่นดังกล่าวก็ sold out ไปอย่างรวดเร็วในสโตร์ทั่วโลก

และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Arc’teryx กลายมาเป็นแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์ยอดฮิตสำหรับสายแฟชั่น แบรนด์ที่สามารถหยิบออกมาสวมใส่ได้ในทุกๆ วันของช่วงฤดูหนาว

แต่เส้นทางการเติบโตของ Arc’teryx ในฐานะแบรนด์เอาต์ดอร์ผู้นำเทรนด์แฟชั่นนั้น เห็นจะไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่ Paris Fashion Week 2019 เพราะในปี 2020 แฟชั่นดีไซเนอร์ระดับไอคอนิกอย่าง ‘Virgil Abloh’ (เวอร์จิล แอ็บโล) อดีตผู้ก่อตั้งแบรนด์ลักชูรี่สตรีทแวร์สัญชาติอิตาลี Off-White และครีเอทีฟไดเรกเตอร์แห่งลักชูรี่แฟชั่นเฮาส์สัญชาติฝรั่งเศส Louis Vuitton ได้ตัดสินใจนำแจ็กเก็ตรุ่นคลาสสิกของ Arc’teryx อย่าง ‘Alpha SV Jacket’ มาแปลงโฉมและพรีเซนต์ร่วมไปกับคอลเลกชั่นเสื้อผ้าประจำฤดูใบไม้ร่วง / ฤดูหนาว (Fall/Winter 2020) ของแบรนด์ Off-White บนรันเวย์แฟชั่นโชว์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีสองพี่น้อง นางแบบชาวอเมริกันชื่อดังอย่าง ‘Gigi Hadid’ และ ‘Bella Hadid’  มาร่วมเดินเปิด-ปิดโชว์ครั้งนี้อีกด้วย 

จริงอยู่ที่ว่า Arc’teryx อาจเป็นหนึ่งในแบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์ที่จุดประกายเทรนด์แฟชั่นแบบ Gorpcore มาตั้งแต่ปี 2017 แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการที่เซเลบริตี้หรือเหล่าอินฟลูเอนเซอร์สายแฟชั่นยังคงสวมใส่เสื้อผ้าของ Arc’teryx ในชีวิตประจำวัน และการที่แจ็กแก็ตของ Arc’teryx มีบทบาทสำคัญบนรันเวย์แฟชั่นโชว์จะส่งผลให้เทรนด์แบบ Gorpcore ยังคงอยู่ในกระแสมาได้จนถึงทุกวันนี้ โดยสิ่งที่ทำให้ผู้คนเห็นภาพของเทรนด์แฟชั่น Gorpcore ชัดเจนขึ้น นั่นก็คือการนึกถึงเสื้อผ้าของ Arc’teryx ด้วยนั่นเอง

ก่อนในปี 2021 แบรนด์เสื้อผ้าเอาต์ดอร์อย่าง Arc’teryx ก็ได้ออกคอลเลกชั่นเสื้อผ้าเอาต์ดอร์ประจำฤดูใบไม้ร่วง/ฤดูหนาวร่วมกับ ‘Jil Sander’ แบรนด์ลักชูรี่แฟชั่นสไตล์มินิมอลสัญชาติเยอรมันออกมาให้แฟนๆ ของทั้งสองแบรนด์ได้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง

นี่คือเรื่องราวและเส้นทางการเติบโตของแบรนด์สินค้าเอาต์ดอร์ ‘Arc’teryx’ แบรนด์จากนักปีนผาชาวแคนาดาที่ก้าวเข้าสู่รันเวย์แฟนชั่นโชว์ของเหล่าลักชูรี่แบรนด์และเทรนด์แฟชั่นสุดฮิตอย่าง Gorpcore ได้ในระยะเวลา 30 ปี

ภาพ : Arc’teryx, Jil Sander

อ้างอิง

Writer

นักเขียน ผู้ซึ่งมี ‘มัทฉะ’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like