ตลาดอาหารไทยกลับมาเติบโต และโอกาสของ LINE MAN Wongnai หลังเข้าซื้อกิจการ FoodStory หวังเป็น Restaurant Ecosystem

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าในปี 2566 ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีน่าจะยังหดตัวลง 0.6% จากปี 2565 หลักๆ แล้วก็เพราะผู้คนทานอาหารนอกบ้านได้ ที่สำคัญการซื้อมาทานหรือทำที่บ้านก็ยังช่วยลดส่วนต่างค่าขนส่งลงไปด้วย

เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลร้านอาหารที่ใช้ Wongnai POS โดย LINE MAN Wongnai ยังพบว่ามูลค่าการซื้อ-ขายรวม (GMV) ของยอดขายประเภทนั่งรับประทานที่ร้าน (dine-in) กลับมามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังโควิด-19 คลี่คลาย แพลตฟอร์มฯ จึงต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงให้ได้

หนึ่งในการปรับตัวที่เห็นได้ชัดเจนคือการประกาศเข้าซื้อกิจการสตาร์ทอัพ FoodStory โดย LINE MAN Wongnai และการจัดงาน ‘Restaurant 2023: Future’s Recipe’ เพื่อเผยภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในไทยปี 2566 รวมถึงแผนและฟีเจอร์โซลูชั่นจัดการร้านอาหาร เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งให้ธุรกิจฟู้เดลิเวอรีที่กำลังชะลอตัว

.ภายในงาน ‘ยอด ชินสุภัคกุล’ เผยว่า

1. มีร้านอาหารในไทยเปิดใหม่บนแพลตฟอร์ม LINE MAN Wongnai เพิ่มขึ้นถึง 13.6% หรือราว 1 แสนกว่าร้าน เปรียบเทียบระหว่างเดือนมิถุนายน 2565 และมิถุนายน 2566

2. ร้านอาหารเปิดใหม่ที่เติบโตสูงสุด ได้แก่ ร้านอาหารเช้า (แซนด์วิช) ร้านอาหารจีน และร้านสุกี้ยากี้ ชาบู 

3️. ร้านอาหารเปิดใหม่ที่เติบโตชะลอลง ได้แก่ ฟู้ดทรัก ร้านข้าวต้มมื้อดึก และร้านพิซซ่า 

.สิ่งที่น่าสนใจคือในจำนวนร้านอาหารเปิดใหม่ มีร้านอาหารถึง 50% ที่ต้องปิดตัวลงภายในปีแรก และ 65% ที่ปิดตัวลงภายใน 3 ปี ด้วยไม่ว่าจะเพราะต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ตุ้นทุนการบริหารร้าน (ค่าน้ำ ค่าไฟ) ที่สูงขึ้น ร้านคู่แข่งมากขึ้นเนื่องจากการเปิดร้านอาหารในไทยนั้นทำได้อย่างเสรี จำนวนลูกค้าใหม่ลดลง ลูกค้าประจำลดลง และต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ตามลำดับ

ในมุมของ LINE MAN Wongnai ที่แต่เดิมก็เป็นเจ้าตลาด POS อยู่แล้ว ด้วยมีร้านอาหารกว่า 55,000 ร้านทั่วประเทศที่เลือกใช้ Wongnai POS และ FoodStory POS คิดเป็นสัดส่วน 40% ของตลาด เทคโนโลยี POS ที่ล้ำหน้าหลังการเข้าซื้อกิจการ FoodStory จะช่วยให้ร้านอาหารลดต้นทุนและเพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนั้น การรวมตัวกันครั้งนี้ยังทำให้ Wongnai POS ตอบโจทย์ร้านอาหารขนาดกลางได้ด้วย จากที่แต่เดิม Wongnai POS จะตอบโจทย์คาเฟ่หรือร้านขนาดเล็ก ส่วน FoodStory มักตอบโจทย์ร้านอาหารขนาดใหญ่มากกว่า 

ในงาน ‘ฐากูร ชาติสุทธิผล’ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มผลิตภัณฑ์ระบบจัดการร้านอาหาร FoodStory POS ของ LINE MAN Wongnai ยังเปิดฟีเจอร์ใหม่ เช่น Mobile Order ระบบสั่งอาหารผ่านการสแกน QR code ที่ส่งตรงถึงพนักงานในครัว ลดปัญหาการรับออร์เดอร์ผิดพลาดหรือตกหล่น Master Data ระบบรวมศูนย์จัดการข้อมูลจากหลายสาขา เข้าถึงข้อมูลร้านอาหารทุกสาขาได้ทุกที่ทุกเวลา

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจในการเป็น ecosystem ร้านอาหารไทยของ LINE MAN Wongnai ที่ไม่เพียงช่วยให้ร้านอาหารไทยมีระบบการจัดการที่ดีขึ้น แต่ยังเป็นธุรกิจสำคัญที่เสริมแกร่งให้ LINE MAN Wongnai มีทั้งฐานข้อมูลและบริการสำหรับร้านอาหารที่ครบกว่า 

ต่อจากนี้จึงน่าสนใจว่า จากเทรนด์ฟู้ดเดลิเวอรีที่กำลังหดตัว การเดินหน้ารุกธุรกิจ POS เต็มตัวของบริษัทจะทำให้ LINE MAN Wongnai เดินหน้าสู่ทิศทางไหนได้อีกบ้าง

อ้างอิง

ลุยปารีสตามรอยธุรกิจร้านอาหารที่อยู่ในหนังทั้ง Emily in Paris, Midnight in Paris, Julie & Julia

เมืองใหญ่ที่ถูกเอ่ยขานตามๆ กันมาว่าเป็นมหานครของโลกใบนี้ ไม่ว่าจะนิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว ปักกิ่ง ต่างก็มีมนตร์เสน่ห์ที่ชวนให้ผู้คนต้องหลงใหลต่างกันไปคนละแบบ บางเมืองโดดเด่นที่การวางผังเมือง บางเมืองโดดเด่นที่การรักษาสิ่งแวดล้อม บางเมืองโดดเด่นที่การผสมผสานคนหลากหลายเชื้อชาติ แต่ถ้าเราพูดถึงเมืองแห่งความรัก เมืองแห่งแสงไฟ เมืองที่ไม่เคยหลับใหลจากแฟชั่นแถมยังเป็นเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของอาหารหลายๆ อย่างที่เป็นที่รักที่ถูกปากของคนทั้งโลก เราคงต้องคิดถึงที่นี่

ปารีส

ความคิดขณะแรกที่รู้ตัวว่าจะได้ไปปารีส 17 วันของเราคือ เอาล่ะ ฉันจะกวาดกินครัวซองต์กับช็อกโกแลตร้อนทุกร้าน ทุกคาเฟ่ที่อยู่ในสายตา ที่ได้เดินผ่านให้เรียบเลย! ไม่ใช่ในฐานะคอลัมนิสต์และคนจัดรายการ Bon appétit ธุรกิจรอบครัวอะไรหรอก แต่แค่ในฐานะคนที่หลงรักอาหารฝรั่งเศสอย่างสุดหัวใจมาแต่ไหนแต่ไรต่างหาก

ถึงจะอยู่ปารีสนานร่วมสิบวัน แต่การจะกวาดกินขนมทุกร้าน แวะทุกคาเฟ่โดยไม่มีทิศทางดูจะเป็นอะไรที่ไร้เป้าหมายเกินไป เราเลยตั้งธีมขึ้นมาให้ตัวเองได้พอสนุกว่า เราจะไปตามรอยร้านอาหาร และคาเฟ่ต่างๆ ที่มีฉากหลังเป็นมหานครแห่งความรักแห่งนี้ดีกว่า

ว่าแล้วก็เตรียมกระเพาะอาหารแล้วตามเรามาได้เลย เราจะพาไปท่องปารีสเอง!

Emily in Paris

อาจจะมีซีรีส์และหนังหลายเรื่องที่ใช้ปารีสเป็นฉากหลัง แต่คงต้องยอมรับว่าตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา ซีรีส์ที่ถ่ายทำในปารีสและถูกพูดถึงมากที่สุด และอาจยังต้องถือว่าเป็นซีรีส์ที่ทำให้คนอยากลัดฟ้าบินไปปารีสมากที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ ออริจินัลซีรีส์จาก Netflix เรื่อง Emily in Paris

Emily in Paris พูดถึงเอมิลี่ นักการตลาดสาวจากอเมริกาที่ต้องย้ายมาประจำการที่ปารีส ที่ด้วยหน้าที่การงานที่มีโอกาสได้พบเจอกับคนมากหน้าหลายตาอยู่บ่อยๆ อยู่แล้ว เพราะเธอต้องเจอกับลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าระดับไฮเอนด์ ทั้งร้านอาหาร เสื้อผ้า หน้าผม งานสังคมต่างๆ ที่เอมิลี่ไป ที่เอมิลี่กิน ดูจะน่าสนใจน่าไปลองเช็กอินตามไปซะหมด

ร้านที่เราไปเยือนคือ Terra Nera ร้านอาหารอิตาเลียน ที่ตั้งอยู่ที่ถนน Rue des Fossés-Saint-Jacques โดยหนึ่งในฉากน่าประทับใจในเรื่อง Emily in Paris คงหนีไม่พ้นซีนที่นางเอกสาวชาวอเมริกันยืนกรานขอให้ทางร้านอาหารเปลี่ยนสเต๊กให้สุกแบบมีเดียมแรร์แบบที่เธอต้องการ ไม่ใช่สุกแบบตามใจเชฟ

ถึงแม้ว่าพนักงานเสิร์ฟจะยืนกรานเสียงแข็งว่า นี่คือระดับความสุกที่เชฟการันตีแล้วว่าอร่อยที่สุดและดีที่สุดสำหรับสเต๊กจานนี้ แต่เอมิลี่ก็ยังคงยืนกรานว่า “Customer is always right” (ลูกค้าต้องถูกเสมอสิ!) พนักงานเสิร์ฟจึงหมดหนทางจะเถียงต่อ ต้องไปตามเชฟออกมาอธิบายด้วยตัวเองว่าสเต๊กจานนี้ตกลงมันควรสุกระดับไหนกันแน่

แต่เอมิลี่ อเมริกันเกิร์ลที่สดใสและแสนมั่นใจก็ต้องอ่อนระทวยลงในทันใด เมื่อเชฟรูปหล่อนัยน์ตาฟ้าปนเทา ผมสีบลอนด์เข้มเดินออกมาจากครัวแล้วถามว่า 

“ได้ข่าวว่าสเต๊กของคุณมีปัญหาหรอครับเอมิลี่”

ใช่น่ะสิ เชฟรูปงามคนนั้น คือแกเบรียล เพื่อนบ้านแสนดีของเอมิลี่ และร้านอาหารร้านนั้นในซีรีส์ คือร้านอาหารที่เชฟแกเบรียลสุดหล่อทำงานอยู่

ในเรื่อง Emily in Paris ร้านอาหารร้านนี้ชื่อว่า Les Deux Compères ขายอาหารฝรั่งเศสและต่อมาได้ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็น L’Esprit de Gigi เมื่อแกเบรียลได้ขยับขึ้นมาเป็นหุ้นส่วนของร้าน แต่ก็ยังคงเป็นร้านอาหารฝรั่งเศสอยู่แต่ใส่ความเป็นนอร์มังดีเข้าไปตามพื้นเพเดิมของแกเบรียล

การตกแต่งในร้านทั้งจานชาม โต๊ะ เก้าอี้ จากในเรื่องสู่ความจริงดูเหมือนกันทุกอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ต่างกันเพียงตรงที่ว่า ในความเป็นจริงแล้วร้านร้านนี้ ไม่ได้ชื่อว่า Les Deux Compères หรือ L’Esprit de Gigi แต่ชื่อว่า Terra Nera แถมไม่ได้ขายอาหารฝรั่งเศสแต่อย่างใด แต่ขายอาหารอิตาเลียนและเมดิเตอร์เรเนียนต่างหาก

Midnight in Paris

บางครั้งแค่เห็นชื่อผู้กำกับเราก็พอจะเดามู้ดแอนด์โทนของหนังเรื่องนั้นๆ ออกตั้งแต่ยังไม่ได้เข้าไปดูตัวอย่างหนังด้วยซ้ำ และสำหรับ Woody Allen ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งผู้กำกับที่ใครๆ พอจะเดาทางได้เมื่อเห็นชื่อของเขาคนนี้ว่าน่าจะต้องเป็นหนังที่มีโทนในการเล่าเรื่องที่ฉลาดคมคาย

วู้ดดี้ อัลเลน เติบโตมาจากย่านบรูกลินที่คุณพ่อเป็นคนทำหนังสือ คุณแม่ทำงานที่ร้านขายดอกไม้ ส่วนตัวเขาเองก็เป็นป๊อปปูลาร์บอยตั้งแต่เด็ก เพราะชอบทำกิจกรรมในโรงเรียน จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นวู้ดดี้ทำหนังเกี่ยวกับนิวยอร์กอยู่บ่อยๆ เช่นแมนแฮตตัน ใน A Rainy Day in New York (2019)

แต่นอกจากนิวยอร์กแล้ว เมืองที่ดูจะรักวู้ดดี้มากเป็นพิเศษ เพราะหนังของวู้ดดี้ได้รับฟีดแบ็กที่ดีเสมอเมื่อเข้าฉายที่นั่น และวู้ดดี้เองก็รักเมืองนี้เช่นกัน และเมืองๆ นั้นคือ ปารีส

หากความรู้สึกที่ดีที่สุดในโลกคือ การที่เรารักใครสักคนแล้วเขาก็รักเราตอบ หัวใจที่เขามอบให้แก่เรามีขนาดคลับคล้ายคลับคลาว่าจะพอดีกันกับขนาดของหัวใจที่เรามอบให้แก่เขา ความสัมพันธ์ระหว่างวู้ดดี้ อัลเลน กับปารีส คงถือว่าเป็นความรักที่ดีที่สุดในโลกอย่างแน่นอน 

วู้ดดี้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า 3 เมืองในโลกนี้ที่เขาชอบที่สุดคือ นิวยอร์ก เวนิส และปารีส ไหนๆ เราก็อยู่ที่ปารีสแล้ว และหนังเรื่อง Midnight in Paris (2011) ของวู้ดดี้ที่เล่าถึงการย้อนเวลากลับไปในอดีตของพระเอก Gil Pender โดยมีฉากหลังเป็นปารีส

เรื่องราวแบบเหนือจริงที่ตัวเอกสามารถย้อนเวลาทะลุมิติแบบนี้เราคงได้เห็นกันอยู่บ่อยครั้งแล้ว แต่ความฉลาดในการเล่าเรื่องของหนังวู้ดดี้เรื่องนี้อยู่ที่การผูกโยงภาพของปารีสในอดีตและปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน แถมเล่ามันออกมาได้อย่างดงามทั้งในด้านฉากหลังที่มีภาพทัศน์เป็นปารีส และเรื่องราวต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่เมืองแห่งนี้เคยเป็นแหล่งรวมตัวของนักประพันธ์ นักเขียนก้องโลกมากมาย

กิล พระเอกของเรื่องสามารถย้อนเวลากลับไปได้ในยุค 1920s โดยเขาได้ไปพบกับเหล่าศิลปิน นักคิด นักเขียน ผู้มีชื่อเสียงมากมายที่อาศัยอยู่ในปารีสในยุคนั้น เช่น F. Scott Fitzgerald, Ernest Hemingway และ Jean Cocteau

The Crémerie-Restaurant Polidor คือสถานที่ที่กิลได้พบกับเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ บทสนทนาที่เขาทั้งสองในฐานะนักเขียนที่ถึงแม้จะอยู่กันคนละช่วงยุค แต่ใจก็ใฝ่ไปในทางเดียวกันดูเป็นบทสนทนาที่น่าสนใจ ซื่อสัตย์ จริงใจ ที่นักเขียนสองคนจะแลกเปลี่ยนความคิดต่ออาชีพของตัวเองให้แก่กันและกันได้ 

กิลเองมาจากยุคปัจจุบันที่คนต่างยกย่องว่างานเขียนของเฮมิงเวย์นั้นยิ่งใหญ่ ส่วนเฮมิงเวย์เองอาศัยอยู่ในยุคของตัวเองซึ่งเขาไม่สามารถหยั่งรู้ได้เลยว่า งานเขียนของเขาจะเป็นสิ่งที่คนต่างเล่าขานถึงและถูกตีพิมพ์ซ้ำๆ เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้วหลังจากเขาเสียชีวิตลงในปี 1961

 ร้าน The Crémerie-Restaurant Polidor เป็นร้านอาหารเก่าแก่ของปารีสที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1845 ในร้านขายอาหารฝรั่งเศสและเป็นร้านที่เหล่านักเขียน และปัญญาชนชอบมารวมตัวกันตั้งแต่สมัยไหนๆ ชื่อที่เราน่าจะคุ้นหูกันดีน่าจะมี James Joyce, Boris Vian และเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ปัจจุบันนี้ร้าน Polidor ยังคงเปิดให้บริการและเสิร์ฟความอร่อยให้คนปารีสอยู่ทุกวัน 

อาจจะเป็นที่ตำแหน่งที่ตั้งของร้านที่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษาอย่าง University of Paris และ The Collège de France ทำให้เราได้เห็นนักศึกษาแวะเวียนมาเป็นลูกค้าร้านนี้อยู่จำนวนไม่น้อย แถมอีกสาเหตุที่ทำให้ร้านนี้เป็นขวัญใจนักศึกษารวมถึงชาวปารีส นั่นคือ นอกจากอาหารฝรั่งเศสของร้านนี้จะเสิร์ฟด้วยความอร่อยและใส่ใจในการทำ ราคาที่ร้าน Polidor ตั้งเอาไว้เมื่อเทียบกับทั้งบรรยากาศ คุณภาพ และความอร่อยของอาหาร ถือว่าเป็นราคาที่เป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์มากโขอยู่ทีเดียว

 Julie & Julia

เต๋อ นวพล เคยเขียนบทเอาไว้ว่า “ถ้าเรารักอะไรสักอย่าง มันจะพาเราไปสักที่” 

ถ้าอย่างนั้นแล้วสิ่งที่พาให้ผู้หญิงสองคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ไม่เคยเห็นหน้ากัน แต่กลับมีเรื่องราวที่ผูกโยงเขาทั้งสองต่อกันไว้ได้อย่างสวยงามแถมพามาอยู่จุดที่เกือบจะรู้จักกันได้ คงจะหนีไม่พ้นความรักในอาหารของหญิงทั้งคู่

Julia Child หญิงที่ติดตามสามีนักการทูตมาอาศัยอยู่ในปารีส เธอจึงไปเรียนทำอาหารที่โรงเรียนสอนทำอาหาร Le Cordon Bleu จนต่อมาเธอได้ตีพิมพ์หนังสือสอนทำอาหารร่วมกับเพื่อนอีกสองคน โดยหนังสือเล่มนั้นคือ Mastering the Art of French Cooking แถมเธอยังมีรายการทีวีทำอาหารเป็นของตัวเองที่เป็นระดับตำนานอีกต่างหาก

ไม่ว่าเธอจะหยิบจับ เคลื่อนไหวไปมายังไงในห้องครัว มันช่างพลิ้วไหวดูเป็นธรรมชาติ เธอสามารถโรยเกลือใส่ลงไปในออมเลตแบบรวดเร็วจนคุณไม่ทันสังเกตด้วยซ้ำ ไม่ใช่เพราะเธอมือไวหรือเคลื่อนไหวราวกับพายุ แต่เพราะทุกอิริยาบถของเธอในห้องครัวดูเต็มไปด้วยความรื่นรมย์และรอยยิ้ม จนคุณเพลิดเพลินไปกับการมองมวลรวมทุกบรรยากาศที่เธอสร้างขึ้นมาโอบล้อมครัวนั้นไว้

Julie Powell หญิงที่ติดอยู่กับงานรูทีนแบบเดิมๆ ที่เธอไม่ได้รัก แต่จำต้องทำเพราะชีวิตบางครั้งก็ไม่ได้อนุญาตให้เราได้มีทางเลือกมากมายนัก เธอคิดจะหาบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเป้าหมายของชีวิต เพื่อให้ตัวเองได้ตื่นขึ้นมาในแต่ละวัน และเป้าที่เธอตั้งไว้คือการทำอาหารทุกวันทั้ง 524 เมนู จากหนังสือ Mastering the Art of French Cooking ของจูเลีย ไชลด์ เป็นเวลา 1 ปี และเธอจะบันทึกการทำอาหารผ่านบล็อกของเธอทุกวัน เมื่อเขียนบล็อกทุกวันๆ เข้า ก็เริ่มมีคนสนใจตามอ่านเรื่องราวการทำอาหารของจูเลียมากขึ้นทุกวัน จนสุดท้ายเธอก็ได้ทำอาหารต้อนรับคอลัมนิสต์จากหนังสือพิมพ์ The New York Times เรื่องราวการทำอาหารของเธอถูกตีพิมพ์และถูกกล่าวถึงในสื่อต่างๆ มากมาย

จนแล้วจนรอดในที่สุดในตอนจบหญิงสองคนนี้ไม่ได้รู้จักกัน แต่เราเชื่อว่าเรื่องราวของทั้งสองเป็นทั้งไฟเป็นทั้งน้ำให้กับคนทุกคนที่ดูหนังเรื่องนี้ หนังเรื่องนี้น่าจะช่วยเติมไฟให้กับคนหลายคนที่กำลังท้อและเหนื่อยกับชีวิต แต่การลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่เราเห็นว่ามันช่างเล็กน้อย แต่มันก็อาจจะยิ่งใหญ่ได้ แล้วไม่ใช่เพราะมันจะทำให้เราได้ตีพิมพ์หนังสือ หรือทำให้เราได้สัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ชื่อดัง แต่มันทำให้เราได้ตื่นมาพร้อมกับเป้าประสงค์อะไรสักอย่างในชีวิต เป็นไฟที่ผลักให้เราต้องตื่นขึ้นมาทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ

ในขณะเดียวกันหนังเรื่องนี้ก็คงจะเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้คนดูได้ชุ่มชื่นหัวใจ ไหนจะการทำอาหารแต่ละเมนูที่ทั้งจูเลียและจูลี่ทำ ใครมันจะอดใจไม่น้ำลายไหลตามไหวบ้าง!

Shakespeare and Company Café–คือคาเฟ่ที่เราเลือกไปตามรอยสำหรับหนังเรื่องนี้ ภายในร้านบรรยากาศน่ารัก มีโต๊ะที่ทำเป็นบาร์ไม้ยาวๆ ริมหน้าต่างสามารถนั่งไปด้วยมองออกนอกกระจกชมผู้คนที่เดินผ่านไปมาได้ด้วย ขนมอบ ขนมปัง ชา กาแฟ ในร้านค่อนข้างหลากหลาย ร้านนี้เป็นคาเฟ่แบบบริการตัวเอง นั่นคือคุณเดินไปสั่งอาหาร จ่ายเงิน และยกของกินเครื่องดื่มทั้งหมดมานั่งที่โต๊ะเอง

ถ้าถามเราว่าคาเฟ่นี้ปรากฏในฉากหนังเรื่องนี้ในซีนไหน เราคงตอบคุณแบบเกรงใจๆ ว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ปรากฏในฉากไหนเลย

อ้าว!

แต่ที่เราเรียกว่าตามรอย Julie & Julia มาที่ร้านคาเฟ่แห่งนี้ เพราะร้านหนังสือข้างๆ คาเฟ่ร้านนี้ที่มีชื่อร้านว่า Shakespeare and Company เป็นร้านหนังสือที่จูเลีย ไชลด์ ไปยืนค้นหนังสือในตอนต้นๆ ของเรื่อง ตอนเพิ่งย้ายมาอยู่ที่ปารีสใหม่ๆ

ร้านหนังสือ Shakespeare and Company เป็นร้านหนังสือเก่าแก่ของปารีสที่เปิดมาตั้งแต่ปี 1951 โดย George Whitman แถมเป็นร้านหนังสือที่เป็นแหล่งรวมพลคนรักการอ่านการเขียนมาตั้งแต่ยุคไหนๆ เดิมทีร้านนี้ชื่อว่า Le Mistral ต่อมาร้านนี้ได้ถูกเปลี่ยนให้ชื่อว่า  Shakespeare and Company ในปี 1964 ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.ในฐานะครบรอบ 400 ปีเกิดของวิลเลียม เชกสเปียร์ 2. เป็นเกียรติให้กับนักทำร้านหนังสือที่จอร์จศรัทธา นั่นคือ Sylvia Beach (ซึ่งซิลเวียเปิดร้านหนังสือชื่อ Shakespeare and Company เช่นกันแต่เปิดในช่วงปี 1919-1941)

ร้านหนังสือ Shakespeare and Company ของจอร์จจึงถูกมองว่าเป็นร้านหนังสือที่เป็นทายาทของซิลเวีย เพราะเหมือนจะสืบทอดเจตนารมณ์ต่างๆ เฉกเช่นเดียวกันกับร้านหนังสือของซิลเวีย ร้าน Shakespeare and Company ของซิลเวีย เป็นร้านหนังสือภาษาอังกฤษที่รวบเอาคอนเซปต์ร้านหนังสือและห้องสมุดเข้าไว้ด้วยกันเป็นแห่งแรกของปารีส

พูดง่ายๆ คือ ถ้าใครไม่มีเงินพอจะซื้อหนังสือ ก็สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของร้านแล้วมายืมหนังสือกลับไปอ่านได้ที่บ้าน เมื่ออ่านจบแล้วก็เอาหนังสือมาคืน หรือจะสมัครเป็นสมาชิกแล้วเข้ามานั่งอ่านหนังสือในร้านเฉยๆ ก็ยังได้ ไม่ต้องซื้อหนังสือเลยสักเล่ม

หรือหากจะมากไปกว่านั้นคือ เหล่านักเขียนบางคนอาจจะไม่มีเงินแม้กระทั่งจะสมัครเป็นสมาชิกของร้าน (เช่นเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ก็เคยมียุคที่ไม่มีเงินสมัครเป็นสมาชิกของร้าน) ซิลเวียก็อนุญาตให้เข้ามาอ่านหนังสือที่ร้านได้โดยไม่คิดเงินอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้เอง ร้าน Shakespeare and Company จึงเป็นแหล่งรวมพลคนรักการอ่านการเขียนมาตั้งแต่ยุค 100 กว่าปีที่แล้ว หรือแม้กระทั่งเจมส์ จอยซ์ เองก็เป็นหนึ่งในนักเขียนที่มีความสัมพันธ์อันดีที่สุดกับร้านหนังสือแห่งนี้

จอร์จตั้งใจว่าจะให้ร้าน Shakespeare and Company เป็นเมกกะรวมคนที่รักการอ่านการเขียนไว้ด้วยกัน จนถึงปัจจุบันเหล่าคนรักการอ่านจากทั่วทุกมุมโลกยังคงแวะเวียนมาที่ร้านหนังสือแห่งนี้อยู่อย่างเนืองแน่นจนถึงกับต้องเข้าคิวเพื่อเข้าร้านหนังสือ! 

จูเลีย ไชลด์ ก็คือหนึ่งในคนรักการอ่านหนังสือ (ครัว) ที่โชคชะตาพาเธอมาถึงปารีสจนเธอได้มายืนหาหนังสือที่หน้าร้าน Shakespeare and Company เช่นกัน ดังนั้นหากคุณได้มีโอกาสแวะไปซื้อหนังสือสักเล่มที่ร้านนี้ เดินไปอีกสัก 10 ก้าว คุณก็สามารถนั่งอ่านหนังสือที่เพิ่งซื้อไป จิบกาแฟไป ชมวิวเมืองปารีสไป เหมือนกับที่เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เจมส์ จอยซ์ หรือจะเป็นจูเลีย ไชลด์ เคยทำได้ที่นี่

หวังว่าการมาท่องปารีสด้วยกันในคราวนี้พร้อมกับธีมหนังทั้งสามเรื่องจะทำให้คุณเพลิดเพลินและลึกซึ้งกับมหานครแห่งนี้มากขึ้น นอกจากครัวซองต์ร้อนๆ และบาแกตต์อุ่นๆ คราวต่อไปหากคุณได้ไปปารีส ถ้าโชคชะตาและทุกอย่างถูกจัดสรรไว้อย่างลงตัว เราอยากให้คุณได้ลองไปตามรอยร้านเหล่านี้ เผื่อว่าคุณจะตกหลุมรักปารีสแบบที่ปารีสทำให้เราตื่นขึ้นมาทุกเช้าที่อยู่ที่นั่นพร้อมกับคำคำนี้ที่ดังในใจว่า

Paris, Je t’aime.  

ที่มา

เมื่อเกอิชาออกร่ายรำช่วยเศรษฐกิจ ระบำแห่งเมืองหลวงเก่าหลังญี่ปุ่นย้ายเมืองหลวง 

ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงเข้าฤดูร้อนของญี่ปุ่น และในช่วงนี้เองที่เมืองเกียวโต เป็นเดือนของเทศกาลสำคัญที่เรียกว่าเทศกาลกิออนหรือ Gion Matsuri หนึ่งในสามเทศกาลใหญ่ประจำเมืองของญี่ปุ่นเคียงคู่มากับเทศกาลเท็นจินของโอซาก้า เทศกาลคันดะของโตเกียว เทศกาลกิออนก็ตามชื่อคือจัดขึ้นโดยมีศาลเจ้ายาซากะในย่านกิออนเป็นศูนย์กลาง เป็นเทศกาลของนิกายชินโต มีการประดับโคมและการแห่ลากรถขนาดใหญ่ไปตามถนนสายสำคัญของเมือง

พอพูดถึงย่านกิออน เราก็จะคิดถึงย่านพิเศษของเมืองโตเกียว เป็นย่านของเหล่าไมโกะ เกอิโอและบรรยากาศที่เหมือนหยุดเวลาไว้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมโบราณของญี่ปุ่น และแทบจะเป็นตัวแทนหนึ่งของความเป็นญี่ปุ่นยุคโบราณ

แต่ทว่าก่อนที่กรุงเกียวโตจะรุ่งโรจน์และย่านกิออนกลายเป็นย่านสำคัญอย่างเป็นทางการที่รุ่งเรืองนั้น ย้อนไปในช่วงยุคเมอิจิ สมัยรอยต่อที่ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ความทันสมัยหรือ Modernization Period หลังจากสิ้นสุดจากระบอบโชกุนลง รัฐบาลเมอิจิและสมเด็จพระจักรพรรดิได้ตัดสินใจย้ายศูนย์กลางการปกครองออกจากกรุงเกียวโตอันเก่าแก่ไปยังเมืองเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบัน ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับการปกครองและความเปลี่ยนแปลงจากการปรับประเทศให้ทันสมัย เมืองเกียวโตที่เคยรุ่งเรืองกลับซบเซาลง

ในช่วงเวลานั้นเองทางเมืองเกียวโตจึงตัดสินใจที่จะกอบกู้เศรษฐกิจของเมือง และการกอบกู้ในช่วงนั้นคือการที่เมืองแสดงตัวตนและบทบาทในเวทีโลกด้วยการจัดงานเอกซ์โป ซึ่งก็คือการจัดเกียวโตเอกซ์โพซิชั่นขึ้น แต่การจัดงานก็มีความยากอยู่ จนกระทั่งทางเมืองได้ตัดสินใจออกแบบงานอย่างระมัดระวังและยกย่องมรดกทางศิลปวัฒนธรรมขึ้นเป็นจุดเด่นของงาน หนึ่งในนั้นคือการเชิญไมโกะออกร่ายรำแสดงในงาน

การร่ายรำของไมโกะในงานสาธารณะระดับนานาชาติและเป็นการเปิดตัวเมืองโตเกียวในฐานะพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมนับเป็นการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ เป็นการร่ายรำแรกต่อสายตาสาธารณชนนอกเขตเมืองบุปผา ความสำเร็จและความร่วมมือจากย่านเริงรมย์ในครั้งทำให้เกิดย่านกิออนในฐานะย่านสมัยใหม่ เกิดประเพณีการแสดงสำคัญของเหล่าไมโกะและเกอิโกะประจำปี รวมถึงการกลายมาเป็นตัวแทนที่เป็นรูปธรรมของสัญลักษณ์และมรดกวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

ย้ายเมืองหลวง เกียวโตเอกซ์โป

การย้ายเมืองหลวงของญี่ปุ่นเป็นห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในทุกๆ ด้านของประเทศ ในปี 1868 ระบอบโชกุนและซามูไรล่มสลาย มีการสถาปนารัฐธรรมนูญที่มีองค์พระจักรพรรดิขึ้นเป็นศูนย์กลางอำนาจ หนึ่งปีให้หลังสมเด็จพระจักรพรรดิทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงโตเกียวและกลายเป็นเมืองหลวงมาจนถึงปัจจุบัน ในห้วงเวลาดังกล่าวเรียกกันว่ายุคเมอิจิ เป็นยุคที่ญี่ปุ่นปรับประเทศเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ เปิดรับความทันสมัยและวิทยาการต่างๆ 

การย้ายศูนย์กลางอำนาจเป็นการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจ กรุงเกียวโตในฐานะศูนย์กลางอำนาจและความเจริญมากว่าพันปีนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 การหันเหประเทศเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่และการย้ายเมืองหลวงออกไปทำให้เกียวโตประสบภาวะซบเซา จากเมืองหลวงที่เคยรุ่งโรจน์ เกียวโตต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดในฐานะเมืองในกระแสธารของโลกสมัยใหม่

กรุงเกียวโตเองก็พยายามปรับตัวเองไปสู่เมืองสมัยใหม่ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคส่วนต่างๆ เช่นธุรกิจสิ่งทอ ใบชา และที่สำคัญคือธุรกิจท่องเที่ยว หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการที่เลือกจัดเวิลด์เอกซ์โป หรือ Kyoto Exposition โดยเอกซ์โปของเกียวโตนับได้ว่าจัดขึ้นสองครั้งในปีต่อเนื่องกัน ในปี 1871 มีการเปิดงานแล้วแต่ค่อนข้างเงียบเหงา ไม่มีคนสนใจ ในช่วงนั้นเองจึงมีการก่อตั้งทีมผู้จัดงานขึ้นและวางกลยุทธ์ใหม่ก่อนที่จะเปิดงานในปีถัดมาคือ 1872

ในงานรอบสองของเกียวโตเอกซ์โป คณะจัดงานได้วางแผนงานอย่างถี่ถ้วนขึ้น มีการคัดเลือกการแสดงเพื่อดึงดูดและแสดงตัวตนของความเป็นเกียวโตอันมีนัยถึงสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น มีการแสดงพลุไฟ จัดการแข่งขันซูโม่ เปิดโรงละครโนห์ (Noh Theater) และที่สำคัญคือมีการจัดแสดงระบำของเหล่าไมโกะที่เรียกว่า Miyako Odori มีความหมายว่า ระบำแห่งนครหลวงโบราณ (Dances of the Old Capital) การร่ายรำในครั้งนั้นเป็นการแสดงของเหล่าไมโกะและเกอิโกะภายนอกนครบุปผาเป็นครั้งแรก และนับเป็นจุดพลิกผันสำคัญและเป็นรากฐานของย่านกิออนในปัจจุบัน

นครบุปผา จากย่านเริงรมย์สู่ย่านสมัยใหม่

ก่อนจะเข้าสู่บทบาทของเกอิชาและการเป็นย่านสมัยใหม่จากการแสดงระบำในปี 1872 ตัวย่านเริงรมย์ของเหล่าเกอิชานับเป็นย่านเก่าแก่ที่อยู่คู่กรุงเกียวโตอย่างน้อยก็ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 17 ย่านเริงรมย์ของญี่ปุ่นเป็นย่านกินดื่มประเภทหนึ่งเรียกรวมว่าเป็นย่านบุปผาหรือ Hanamachi ในย่านนี้จะเป็นพื้นที่กินดื่มสำคัญของเมือง สำหรับกรุงเกียวโตเองมีศูนย์กลางอยู่ที่ศาลเจ้ายาซากะ ก่อตัวขึ้นจากการเป็นแหล่งกินดื่มของผู้ที่เดินทางจาริกมายังศาลเจ้า รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงคือบริเวณแม่น้ำคาโมะ

ในย่านบุปผาแต่เดิมเป็นย่านเริงรมย์ประเภทหนึ่ง มีการกินดื่มยามย่ำคืน ก็จะมีหญิงบริการด้วย ในส่วนของสตรีที่ทำงานในย่านเริงรมย์ก็เริ่มพัฒนาแบ่งแยกไปสู่หญิงสาวที่ได้รับการฝึกฝนศิลปะแขนงต่างๆ ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงโดยที่ไม่ได้ค้าประเวณีโดยตรง การเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ที่ต้องมีการฝึกฝนและกินอยู่นี้ก็คืองานและฝึกฝนของเหล่าเกอิชา เป็นผู้ให้ความบันเทิงระดับสูง พื้นที่ที่เกอิชาซึ่งประกอบด้วยไมโกะ และเกอิโกะหรือไมโกะฝึกหัดใช้ชีวิต เป็นพื้นที่ให้บริการและฝึกฝนศาสตร์ต่างๆ จะเรียกว่าเป็นนครบุปผา ตัวย่าน การแสดงและการเข้าถึงบรรดาเกอิโกะนับเป็นพื้นที่เฉพาะ มีขนบธรรมเนียมและรูปแบบการให้บริการที่เฉพาะเจาะจง คนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้โดยง่าย

ทีนี้ ในการจัดแสดงเกียวโตเอกซ์โป มีการดีลที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือการแสดงระบำแห่งเมืองหลวงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ในการร่ายรำแรกนี้มีโรงเรียนรำสำคัญคือโรงเรียนรำของตระกูลอิโนะอุเอะ (The Inoue School) โรงเรียนฝึกรำเก่าแก่ของเมือง ในการร่ายรำแรกนั้นทางผู้ว่าเกียวโตได้เชิญคาตายามะ ฮาคุโระ (Katayama Hakuro) ผู้สืบทอดในฐานะอิโนะอุเอะรุ่นที่สามเข้าร่วมด้วย อาจารย์ฮาคุโระตกลงช่วยเหลือผู้ว่าเมือง โดยทั้งออกแบบท่ารำและใช้งานเอกซ์โปที่จะจัดขึ้นเป็นที่แสดงฝีมือของเหล่าลูกศิษย์ที่มีแวว

การแสดงครั้งนั้นนับเป็นระบำแห่งนครโบราณแรก และอาจารย์ฮาคุโระได้ทำการขอรวมย่านย่อยๆ ทั้งแปดย่านที่ดีและมีฝีมือบริเวณกิออนเข้าด้วยกันและเรียกว่าเป็นกิออนโคบุ (Gion Kobu) และขอให้ย่านกิออนที่เหลือรวมและเรียกชื่อว่ากิออนโอซึบุ (Gion Otsubu–ปัจจุบันเรียกว่า Gion Higashi) ย่านกิออนโคบุเป็นย่านที่เธอขอผูกขาดการสอนร่ายรำของโรงเรียนอิโนะอุเอะไว้ 

การขอแบ่งย่านกิออนออกเป็นพื้นที่เฉพาะ เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของย่านบุปผาที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของย่าน (district) สมัยใหม่ที่อยู่ใต้การบริหารของเมือง (แต่มีความเป็นย่านที่พิเศษของตัวเอง) นอกจากการแบ่งย่านเป็นกิออนพิเศษ ในตอนนั้นความร่วมมือของย่านบุปผาต่อการบริหารเมืองเกียวโตทำให้ทางเมืองมอบรางวัลให้ มีการให้ที่ดินเพิ่มเติมบริเวณกิออนปัจจุบันทำให้ทางกิจการของย่านบุปผาสามารถสร้างโรงแสดงของตนเอง

ที่น่าสนใจคือย่านกิออนค่อนข้างกลายเป็นย่านสมัยใหม่แล้ว มีการสร้างโรงพยาบาล และพื้นที่ฝึกสอนศิลปะที่เกี่ยวข้องเช่นดนตรี การเต้นรำ หรือก็คือทักษะของสตรี ได้รับแต่งตั้งเป็นโรงเรียน นับเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการให้การศึกษาในวิธีแบบสมัยใหม่ โรงพยาบาลเองก็เป็นส่วนส่งเสริมสุขภาพของสตรีที่ทำงานในย่าน ซึ่งบางส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีอยู่ด้วย การมีพื้นที่สาธารณสุขเฉพาะจึงส่งเสริมสวัสดิภาพของสตรีในกิจการและการทำงานต่อไป

ปัจจุบันย่านกิออนนับเป็น 2 ใน 5 ย่านบุปผาของเกียวโต ย่านส่วนใหญ่ตั้งอยู่จากศาลเจ้ายาซากะถึงแม่น้ำคาโมะ โดยศูนย์กลางของย่านจะมีโรงฝึก (kaburenjō) คือพื้นที่ฝึกฝนการร้องและร่ายรำเป็นศูนย์กลาง ย่านฮานะมาจิค่อนข้างมีรูปแบบความสัมพันธ์ของตัวเอง การทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ความเป็นย่านที่มีความเป็นครอบครัวในการใช้ชีวิตและการทำงาน

ความเป็นสมัยใหม่ของระบำและบทบาทของศิลปวัฒนธรรม

ปัจจุบัน ขนบธรรมเนียมรวมถึงการให้บริการในย่านบุปผาก็ยังคงรักษาธรรมเนียมเดิม คือแยกออกเป็นโลกเฉพาะ แต่ทว่าในการเป็นย่านสมัยใหม่ การเข้ามาร่วมกับเมืองทำให้ย่านบุปผามีพื้นที่ในฐานะย่านที่มีระบบระเบียบและมีการปกครองในการบริหารเมืองสมัยใหม่ นอกจากนี้ การเปิดกิจการและโลกของไมโกะให้กับเมือง เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์และมรดกของญี่ปุ่นก็มีการปรับไปสู่ความทันสมัยแทรกอยู่ด้วย

ตัวอย่างสำคัญคือระบำ Miyako Odori อันเป็นระบำที่ออกแบบใหม่สำหรับงานเอกซ์โปโดยเฉพาะ และกลายเป็นธรรมเนียมที่จะมีการแสดงระบำนี้ในพื้นที่สาธารณะในทุกๆ ปีหลังจากนั้น ตัวระบำมิยาโกะเป็นพื้นที่ทดลองของผู้จัดงานคือเหล่าผู้กำกับ แรกเริ่มที่สุดคือการจัดเก้าอี้แบบตะวันตกเพื่อรองรับผู้ชมจากต่างชาติ ตัวการแสดงแบ่งย่อยเป็นองค์ราว 8-10 องค์ เล่าถึงความงามในฤดูกาลต่างๆ ด้วยความเข้าใจที่ว่าผู้ชมเป็นนักท่องเที่ยว การแสดงจะถูกย่อลงให้ใช้เวลาทั้งหมดเพียงหนึ่งชั่วโมง มีการแสดงภาพฤดูกาลที่เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวเช่นความสดใสของฤดูร้อน ความงดงามของนครโบราณที่คลุมด้วยหิมะ ตัวการแสดงปรับเปลี่ยนได้ แต่องค์สุดท้ายจะต้องเป็นฉากอันสวยงามของดอกซากุระอันบานสะพรั่ง

ในความเข้าใจว่าการร่ายรำต่อสาธารณชนที่เป็นนักท่องเที่ยวและมีผลเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ในการแสดงมักจะปรากฏฉากที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศญี่ปุ่น ราวกับว่าผู้ชมได้ท่องเที่ยวไปทั่วญี่ปุ่นตลอดทั้งปี ก่อนจะจบลงด้วยภาพซากุระจนทำให้การแสดงระบำนี้ได้ฉายาในโลกตะวันตกว่าเป็นระบำดอกซากุระ

นอกจากเป้าหมายด้านประชาสัมพันธ์แล้ว การแสดงของเหล่าไมโกะยังได้รับการยกระดับเป็นการแสดงระดับชาติ หลายครั้งจัดแสดงเพื่อต้อนรับแขกของประเทศ ในการแสดงระบำสำคัญนี้มีบางครั้งที่ไมโกะหรือเกอิโกะจะสะบัดธงของชาตินั้นๆ มีบันทึกว่าครั้งมกุฏราชกุมารแห่งแมนจูเรียเสด็จเยือนในปี 1939 พระองค์และคณะทรงมีความปีติยินดีเมื่อเห็นธงของตนโบกสะบัดบนเวทีการแสดง

ระบำทั้งห้า จากห้าเมืองบุปผา

นับจากงานเอกซ์โป พื้นที่ของเมืองบุปผาบางส่วนกลายเป็นพื้นที่และกิจกรรมสาธารณะ เช่นการรวมตัวกันเพื่อปฏิญาณในช่วงปีใหม่ในโรงฝึกของเขตต่างๆ ในเขตสำคัญมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปจับตาชม หรือจากธรรมเนียมการแสดงระบำที่ Miyako Odori กลายเป็นอีเวนต์สำคัญของเมือง

หลังจากนั้นในทุกๆ ปี เขตบุปผาทั้งห้าของเกียวโตจะสลับกันจัดแสดงระบำเป็นการแสดงสาธารณะ มีการจำหน่ายบัตรในหลายราคาตั้งแต่ 1,500-4,500 เยน บัตรที่แพงขึ้นมาก็อาจจะรวมพิธีชงชาที่มีขนมวากาชิเสิร์ฟด้วย ในเทศกาลนอกจากระบำแล้วก็ยังมีการแสดงอื่นๆ ถ้าไล่ตามเวลาของปี ระบำหรือโอโดริจะเริ่มที่คิตาโนะโอโดริ จัดแสดงจากเขตคามิชิชิเคน (Kamishichiken) ย่านเกอิชาที่เก่าแก่ที่สุด จัดแสดงช่วงฤดูใบไม้ผลิคือราวสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน, ระบำมิยาโกะโอโดริ จัดแสดงโดยย่านกิออนโคบุ แสดงช่วงเดือนเมษายน, เคียวโอโดริ (Kyō Odori) จากเขตมิยากวะ (Miyagawa-chō) เขตที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ตั้งของโรงละครคาบุกิ ระบำจึงได้รับอิทธิพลของละครคาบุกิเป็นจุดเด่นด้วย แสดงช่วงเดือนต้นเดือนเมษาเหมือนกัน, ระบำคาโมกาวะ โอโดริ (Kamogawa Odori) ของเขตปอนโตโช (Pontochō– แสดงครั้งแรกร่วมกับระบำมิยาโกะในงานเอกซ์โป) แสดงช่วงเดือนพฤษภาคม และสุดท้ายคือกิออนโอโดริ โดยย่านกิออนฮิกาชิ (Gion Higashi) แสดงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ยังมีการแสดงรวมกันของทั้งห้าเขตเมืองบุปผาในช่วงปลายเดือนมิถุนายนเป็นอีเวนต์ใหญ่ เป็นการแสดงสองวันพร้อมบริการอาหารชุดแบบไคเซกิ งานใหญ่นี้จะมีราคาบัตรแพงและมีจำนวนน้อยหน่อย

การย้อนดูบทบาทที่น่าสนใจระหว่างเมืองบุปผา ซึ่งไม่ได้มีแค่เหล่าไมโกะแต่ยังรวมถึงศิลปะแขนงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กิโมโน โรงน้ำชา ไปจนถึงบานประตูกระดาษและการบริหารกิจการและชุมชนในระดับย่านนับเป็นอีกกรณีที่น่าสนใจของการรักษาและปรับวัฒนธรรมไปสู่โลกสมัยใหม่ และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีกในความพิเศษคือการรักษาความเป็นพื้นที่เฉพาะของย่านบุปผาที่เหมือนจะมีโลกและกาลเวลาของตัวเอง กับการแสดงตัวตนและประโยชน์ในกิจกรรมสาธารณะของเมือง 

การผนวกและเปิดตัวตนของย่านและศิลปวัฒนธรรมโบราณจากความหมิ่นเหม่ของการพ้นสมัยและการติดอยู่กับอดีต การปรับเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ทำให้มรดกและศิลปวัฒนธรรมของกรุงเกียวโตก้าวไปสู่การเป็นสัญลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และสุดท้ายกลายเป็นมรดกที่คนทั่วโลกชื่นชมและหลงใหล

อ้างอิง

กลยุทธ์ของ Marimekko ในไทย กับการพาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค

หากพูดถึง มารีเมกโกะ แบรนด์ไลฟ์สไตล์แฟชั่น ที่โดดเด่นด้วยลายพิมพ์และสีสันสัญชาติฟินแลนด์ เราเชื่อว่าทุกวันนี้ผู้บริโภคคนไทยน้อยคนนักที่ไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเฉพาะผ้าพิมพ์ลายดอกอูนิกโกะที่เป็นเอกลักษณ์ที่ใครเห็นก็จำได้ขึ้นใจ 

แต่กว่าจะเติบโตและมาถึงทุกวันนี้ของมารีเมกโกะในไทยภายใต้การบริหารของ ธนจิรา กรุ๊ป ไม่ใช่เรื่องง่าย ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่ม บริษัท ธนจิรา กรุ๊ป เล่าย้อนให้ฟังว่า แบรนด์มารีเมกโกะเข้ามาเปิดสาขาแรกในไทยเมื่อปี 2558 หรือ 8 ปีก่อน ในตอนนั้นความท้าทายคือ คนไทยยังรู้จักแบรนด์มารีเมกโกะไม่มากนัก และหนักไปกว่านั้นคือคนยังเข้าใจว่าเป็นแบรนด์ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ 

โจทย์ในตอนนั้นคือการตีความการเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ของมารีเมกโกะ และจะทำยังไงให้ผู้บริโภคคนไทยเข้าใจเรื่องลายพิมพ์นี้ผ่านความเป็นไลฟ์สไตล์ให้ได้ ทำให้ ธนจิรา กรุ๊ป เลือกทำกลยุทธ์การตลาดผ่านสินค้าแฟชั่น 

หลังจากเปิดสาขาแรกได้ 2 ปี ธนจิรา กรุ๊ป ตัดสินใจปิดสาขารีโนเวตใหม่ทั้งหมด ปรับโฉมหน้าร้านสาขาให้มีดิสเพลย์เป็นหุ่นที่สวมใส่เสื้อผ้าเพื่อนำเสนอให้กับลูกค้าที่พบเห็น และนำช็อปของแบรนด์เข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่จำหน่ายเสื้อผ้าแฟชั่น ซึ่งต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ทำการตลาดด้วยกลุ่มสินค้าภายในบ้าน 

ธนพงษ์เล่าให้ฟังอีกว่า ธนจิรา กรุ๊ป เลือกถุงผ้าพิมพ์ลายดอกอูนิโกะที่มีราคาพันกว่าบาท เป็นกลยุทธ์ในการสร้าง Awareness เพราะเป็นสินค้าที่เข้าถึงง่าย และราคาไม่แพงมาก ที่ทำให้ผู้บริโภคมองเห็นแบรนด์ และเป็นที่ฮิตของเด็กนักเรียน นักศึกษา และคนรุ่นใหม่ และเกิดการทำตลาดด้วยพลังการบอกต่อแบบ User-Generated Content ที่ผู้บริโภคมักจะถ่ายรีวิวลายถุงผ้าลงโซเชียลอยู่เสมอ

“จากตอนนั้นถึงตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จมากผู้โภคจากที่เริ่มใช้สินค้าจากถุงผ้า ก็ค่อยๆ ขยับมาเป็นสินค้าในหมวดอื่นๆ ทั้งเสื้อผ้า และของใช้ในบ้าน และรู้จักแบรนด์มารีเมกโกะมากขึ้น”

มาถึงขวบปีที่ 9 มารีเมกโกะในไทยเพิ่มกลยุทธ์พัฒนาแบรนด์ด้วยการขยายการรับรู้และเข้าถึงแบรนด์ผ่านการสร้างประสบการณ์ร่วมของผู้บริโภคด้วยการแตกไลน์ธุรกิจกอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านของใช้ จาน ชาม และ ของตกแต่งบ้านจากกลุ่มสินค้าภายในบ้านเข้ามาเป็นจุดเชื่อมโยงให้เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนไทยมากยิ่งขึ้น จากความสำเร็จของการเปิด Marimekko Pop Up Café ที่ เซ็นทรัล เอมบาสซีขึ้นเป็นสาขาแรกของโลก ที่สามารถสร้างยอดจำหน่ายในกลุ่มสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าภายในบ้าน เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ต่อยอดมาเป็น Marimekko Kafé ที่ ดิ เอ็มโพเรียม พื้นที่ไลฟ์สไตล์สเปซแบบฟินนิชที่เปิดติดกับช้อปมารีเมกโกะ

ธนพงษ์ บอกอีกว่า สำหรับการขยาย Marimekko Kafé นั้นจะไม่มีการเปิดสาขาคาเฟ่แยกต่างหาก แต่จะต้องเปิดติดกับร้านสาขามารีเมกโกะเผื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน และการขยายโอกาสการรับรู้ในแบรนด์ เมื่อผู้บริโภคมาใช้บริการคาเฟ่เสร็จ ก็สามารถเดินไปเลือกซื้อสินค้าที่ช้อปต่อได้เลย

ความท้าทายของในขวบวัยนี้คือ การหากลุ่มลูกค้าใหม่ ที่ยังเป็น nonuser ให้เป็น user เพิ่มมากขึ้น ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ ที่ธนจิรา กรุ๊ป ต้องการให้มารีเมกโกะเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่ครอบคลุมทุกบริบทในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่เสื้อผ้า กระเป๋า หรือ จาน ชาม แต่เป็นแบรนด์ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยใช้เรื่องของดีไซน์และฟังก์ชันเป็นตัวนำ

จากการที่มารีเมกโกะใช้สินค้าแฟชั่นเป็นตัวนำทำให้ปัจจุบันมารีเมกโกะในไทยมีสัดส่วนรายได้จากการขายสินค้า Ready to Wear 49%, Bag & Accessories 30%, Home Collection 20%  และอื่นๆ 1%

ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่สัดส่วนยอดขายส่วนใหญ่มาจากสินค้ากลุ่มของใช้ในบ้าน

ปัจจุบันมารีเมกโกะในไทยมีด้วยกัน 13 สาขา ถือเป็นประเทศในเอเชียที่มีสาขามากที่สุดรองจากญี่ปุ่น ที่นอกจากจะขยายสาขาในประเทศเพิ่มแล้ว ทิศทางในขวบปีถัดๆ ไป คือการพาแบรนด์มารีเมกโกะออกไปสู่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชียตะวัยออกเฉียงใต้ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ที่ธนจิรา กรุ๊ป เพิ่งจะได้สิทธิ์ในการบริหารอีก 1 ประเทศในอาเซียน คาดว่าจะเป็นสิงคโปร์ที่เป็นกลุ่มประเทศที่มีกำลังซื้อสูง โดยจะเห็นความชัดเจน และประกาศอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้

lululemon แบรนด์ที่จริงจังกับนวัตกรรมและประสบการณ์จนขายเลกกิ้งโยคะราคาครึ่งหมื่นได้

ลองทายกันว่ากางเกงโยคะในภาพนี้สนนราคาอยู่ที่เท่าไหร่?

สายโยคะที่รู้จัก lululemon คงทายกันถูก แต่ถ้าใครไม่เคยรู้จักหรือไม่รู้ลึกเกี่ยวกับแบรนด์นี้ ขอเฉลยว่าสนนราคาโดยประมาณเริ่มต้นที่ 3,000 กว่าบาทขึ้นไป!

อ่านไม่ผิด นี่คือราคาของกางเกงโยคะตัวเดียวเท่านั้น ที่สามารถทำราคาได้ขนาดนี้ ก็เพราะมันติดป้าย lululemon แบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายสัญชาติแคนาดา ที่โด่งดังจากการผลิตเสื้อผ้าโยคะ ก่อนจะแตกไลน์เป็นเสื้อผ้าออกกำลังกายประเภทอื่นๆ ที่ใส่ออกกำลังกายก็เลิศ แถมใส่เพื่อแฟชั่นก็เก๋ 

ย้อนกลับไปในปี 1998 Chip Wilson ได้ก่อตั้งบริษัทผลิตเสื้อผ้าสำหรับเล่นเซิร์ฟขึ้น ก่อนที่จะเริ่มสร้างแบรนด์ lululemon ขึ้นมาจาก pain point ของคนเล่นโยคะที่เสื้อผ้าดูไม่รื่นรมย์เท่าไหร่ ความแตกต่างนั้นเองทำให้ไม่นานนักวิลสันก็สามารถเปิดสาขาอื่นๆ ในประเทศ จนขยายไปยังหลายประเทศทั่วโลก และล่าสุดก็ได้มาเปิดสาขาที่ไทย ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 โซน Central Court  

ความสำเร็จของ lululemon นั้นประกอบขึ้นด้วยหลายปัจจัย ชนิดที่แบรนด์คู่แข่งอย่าง Nike, Adidas และอีกหลายๆ แบรนด์ก็ยังไม่สามารถเอาชนะได้ แต่ก่อนจะสัมผัสความแตกต่างที่ว่า เราขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจกลยุทธ์ของ lululemon ผ่านบทความนี้

1. มองการณ์ไกลเพื่อเป็น first mover ของวงการ

การเป็นผู้นำในวงการสำคัญกับการสร้างแบรนด์ไม่น้อย และนั่นทำให้วิลสันเน้นคิดและทำตามสัญชาตญาณ 

ในปี 1997 ก่อนที่โยคะจะได้รับความนิยม เขาเห็นบทความเกี่ยวกับโยคะในหนังสือพิมพ์ โปสเตอร์คลาสโยคะ และได้ยินบทสนทนาเกี่ยวกับโยคะที่ร้านกาแฟวนไปวนมา จาก 3 ครั้งนั้นทำให้เขาเลือกสมัครเรียนโยคะทันที และเขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าโยคะจะต้องโตภายในอีก 5 ปีแน่ๆ 

สิ่งสำคัญกว่านั้น เขายังเห็น pain point ของคนเล่นโยคะว่าชุดโยคะนั้นช่างไม่น่าสวมใส่เอาเสียเลย วิลสันจึงเริ่มต้นคิดค้นชุดเล่นโยคะที่ไม่เพียงส่งเสริมการยืดเหยียด แต่ยังสวยงามน่าสวมใส่ หลังจากนั้นไม่นาน lululemon สาขาแรกที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดาก็เกิดขึ้น

แม้ช่วงแรกจะโตช้าจนถ้าเป็นผู้ประกอบการคนอื่นก็อาจถอดใจไปแล้ว แต่เพราะเทรนด์สุขภาพและเทรนด์การเล่นโยคะโตขึ้นตามลำดับตามที่วิลสันคาดการณ์ไว้ ในที่สุด lululemon ก็มีชื่อเสียงในฐานะเแบรนด์เสื้อผ้าโยคะที่มีสไตล์ และสามารถขายเลกกิ้งโยคะได้ในราคาสูงถึง 98 ดอลลาร์สหรัฐ

2. แบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายที่จริงจังกับนวัตกรรมขั้นสุด

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเลกกิ้งและสารพัดอุปกรณ์กีฬาของ lululemon ถึงแพงแซงหน้าแบรนด์อื่นไปได้ แต่ก็ยังขายดีตลอดกาลแบบไม่มีใครล้มแชมป์ เพราะสินค้าของ lululemon ไม่ใช่ว่าแพงอย่างไม่มีเหตุผล แต่มันแฝงไปด้วยนวัตกรรมที่ใครก็สู้ไม่ได้ต่างหาก 

ทั้งเลกกิ้งที่ซับเหงื่อได้ดี แห้งเร็ว แถมยังลดแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดกลิ่นอับ สปอร์ตบราที่ผลิตขึ้นจากผ้า Light Ultralu ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของ lululemon เพื่อตัดเย็บสปอร์ตบราที่กระชับแต่สบายเหมือนไม่ได้ใส่ หรือจะเป็นเสื้อแขนยาว Swiftly Tech ทรงเข้ารูปแต่ไร้รอยต่อ เหมาะกับการใส่ออกกำลังกายทุกแบบ 

นอกจากนั้นยังมีเนื้อผ้ากรรมสิทธิ์ของ lululemon ที่แบรนด์อื่นๆ เลียนแบบได้ยาก อย่าง Luon ที่ให้ความรู้สึกคล้ายกับผ้าฝ้ายยืดที่ยืดหยุ่นน้อยที่สุดในบรรดาเนื้อผ้าของแบรนด์ แต่ซัพพอร์ตที่สุด 

Everlux ที่เส้นด้ายไนลอนจะดึงเหงื่อออกจากร่างกายและกระจายไปทั่วเนื้อผ้า ทำให้เนื้อผ้าแห้งเร็ว ขณะที่อีลาสเทนให้ความยืดหยุ่นและซัพพอร์ต เหมาะกับสาย HIIT หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เล่นแล้วเหงื่อหยดติ๋งๆ

Nulu ที่บางจนเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เหมาะกับสายโยคะหรือกิจกรรมที่ใช้แรงไม่มาก Nulux ที่หนากว่าแต่นุ่มและสบาย เหมาะกับการออกกำลังกายหลายชนิด หรือ Boolux และ Luxtreme เนื้อผ้าบาง ยืดหยุ่นสูงสุด แต่ซัพพอร์ตได้ดี เหมาะกับสายวิ่ง

3. เสื้อผ้าออกกำลังกายที่วางตัวเองเป็นไลฟ์สไตล์แบรนด์

อย่างที่บอกว่าแบรนด์ไม่ได้เปิดตัวมาเพื่อผลิตชุดโยคะที่ฟังก์ชั่นเจ๋งอย่างเดียว แต่ต้องการแก้ pain point ด้านภาพลักษณ์ให้คนออกกำลังกายด้วย 

lululemon จึงไม่เพียงวางตัวเองเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ผ่านดีไซน์ของแบรนด์เท่านั้น แต่รูปแบบการสื่อสารของแบรนด์ก็ยังสื่อให้เห็นถึงความเป็นไลฟ์สไตล์ด้วย เช่น พิมพ์คำพูดสร้างแรงบันดาลใจบนถุงช้อปปิ้ง ผนังของร้านค้ากว่า 700 แห่งทั่วโลกและทั่วสำนักงานใหญ่ของบริษัทในแวนคูเวอร์

4. สร้างประสบการณ์ภายในร้านและสร้างคอมมิวนิตี้คนออกกำลังกาย

ถ้าเข้าไปดูในเว็บไซต์ของแบรนด์จะพบว่า lululemon เขียนวิสัยทัศน์ในการทำแบรนด์เอาไว้ว่าร้านของแบรนด์จะต้องเป็นมากกว่าสถานที่ นั่นคือไม่เพียงจริงจังกับการออกแบบสินค้า แต่ยังจริงจังกับการออกแบบประสบการณ์การช้อปปิ้งในร้านและการสร้างคอมมิวนิตี้ให้ชุมชน

สาขาที่น่าสนใจคือสาขาที่สวนสาธารณะลินคอล์น ชิคาโก ที่แบรนด์ใช้พื้นที่ 20,000 ตารางฟุต สร้างสตูดิโอโยคะ ห้องออกกำลังกาย พื้นที่ทำสมาธิ และคาเฟ่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเปิดให้เข้าร่วมฟรี นอกจากนั้น ภายในร้านต่างๆ ยังมีบริการเย็บขอบกางเกงและปรับทรงฟรี

lululemon ยังมีกิจกรรมวิ่ง ชกมวย ทำสมาธิ และพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ซึ่งครูสอนโยคะขั้นปรมาจารย์อย่าง Baron Baptiste และ Janet Stone ที่เคยสอนที่งาน Sweatlife (อีเวนต์ของ lululemon) ยังบอกกับนิตยสาร Elle ว่ามันถือเป็นประสบการณ์การออกกำลังกายที่ไม่เหมือนใคร 

ความแตกต่างนี้เองที่ทำให้ Lululemon ชนะใจลูกค้าได้ และสามารถสร้างคอมมิวนิตี้ที่เต็มไปด้วย loyalty fan เพราะลูกค้าจะไม่ใช่แค่นักช้อป แต่ยังเป็นผู้ร่วมกิจกรรมที่ใช้เวลาในร้านนานขึ้น นอกจากทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ทำให้ลูกค้ารู้สึกผูกพันกับแบรนด์ ไม่ได้มองว่าแบรนด์เป็นเพียงผู้รับเงินจากเราเท่านั้น แต่แบรนด์ยังสร้างสรรค์สิ่งดีๆ มาตอบแทนลูกค้า ควรค่าแก่การอุดหนุนและสมัครเป็นแฟนพันธุ์แท้

5. การตลาดแบบเน้นชุมชนเป็นศูนย์กลาง

ขณะที่แบรนด์คู่แข่งอย่าง Nike, Adidas และอีกหลายแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาเลือกใช้คนดังเป็นอินฟลูเอนเซอร์ และแอมบาสเดอร์ แต่ lululemon เลือกทำการตลาดปากต่อปากผ่านการจัดกิจกรรมและการเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีอิทธิพลในวงการโยคะและกีฬาจริงๆ 

สิ่งนี้สะท้อนความคิดแรกก่อตั้งของชิป วิลสัน ที่ต้องการทำการตลาดแบบปากต่อปากเพราะเงินในการสร้างแบรนด์ช่วงแรกนั้นมีไม่มากนัก

6. ไม่เปลี่ยนโฟกัส

แม้ lululemon จะเปิดมานานกว่า 2 ทศวรรษ และปัจจุบันก็มีหมวดหมู่สินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่โฟกัสของแบรนด์ไม่ได้ต่างออกไปมากนัก คือแบรนด์ยังคงเน้นการพัฒนาสินค้าในหมวดโยคะเป็นหลัก ซึ่งทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นและแข็งแรง 

ถึงปัจจุบัน lululemon จะขยายไลน์สินค้าไปยังรองเท้าและเสื้อผ้าผู้ชายด้วย พวกเขาก็ไม่ได้เร่งรีบแต่กลับค่อยๆ ขยายและสร้างความรับรู้ให้ลูกค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ต่างจากหลายแบรนด์ที่เมื่อเริ่มโตก็หันไปออกสินค้าหมวดอื่นมากจน core value ของแบรนด์สั่นคลอน เช่นที่ครั้งหนึ่ง Apple ผลิตสินค้าหลากหลายมากเกินไป จนทำให้เกือบไปไม่รอด เมื่อ Steve Jobs กลับมาเป็นซีอีโอที่ Apple อีกครั้ง ในปี 1997 เขาเลือกลดจำนวนผลิตภัณฑ์และรุ่นของ Apple ลง 70% และมุ่งผลิตสินค้าเพียงไม่กี่อย่าง เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณปี 1998 Apple ก็กลับมาทำกำไรได้กว่า 309 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

กลยุทธ์เหล่านี้เองที่ทำให้ lululemon กลายเป็นแบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายและไลฟ์สไตล์ที่มีอิทธิพลที่สุดแบรนด์หนึ่งในโลก ซึ่งแฟนๆ ชาวไทยสามารถไปพิสูจน์สิ่งที่เราเล่าไว้ทั้งหมดในช็อปสาขาประเทศไทยได้แล้ว!

อ้างอิง

ตั้งรัฐบาลช้ากระทบเศรษฐกิจไทยยังไง ภาคธุรกิจต้องการอะไรจากรัฐบาลชุดใหม่

เผลอแป๊บเดียว คนไทยอย่างเราผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 1 เดือน แต่กลับยังไม่มีความแน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล ปล่อยให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงสุญญากาศ ทำให้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นที่พูดถึง และอยู่ในความสนใจของนักลงทุนไทยและต่างประเทศ

การจัดตั้งรัฐบาลถือเป็นความหวังของภาคธุรกิจ เนื่องจากนักลงทุนต่างก็ต้องการเห็นความชัดเจนของรัฐบาลใหม่ และยังเป็นการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง

หากการจัดตั้งไม่เป็นไปตามไทม์ไลน์ในเดือนสิงหาคมนี้ หรือล่าช้าออกไปอีก อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และมีนักลงทุนหลายอุตสาหกรรมที่ยังคงรอดูทีท่าของรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งเรื่องการแต่งตั้งรัฐมนตรี การประกาศนโยบายที่เป็นกรอบการทำงาน และการจัดสรรงบประมาณ

ทุกวันที่ผ่านไปท่ามกลางความไม่แน่นอน ยิ่งทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบในแง่การแข่งขัน สำหรับคนไทยอาจรอได้ แต่นักลงทุนต่างชาติไม่รู้สึกเหมือนเรา แน่นอนว่าระยะเวลาการตัดสินใจของนักลงทุนแต่ละอุตสาหกรรมก็แตกต่างกัน เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด อาจใช้เวลาในการรอการจัดตั้งรัฐบาลประมาณ 3 เดือน ซึ่งหากช้ากว่านั้น ก็มีสิทธิ์ย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า

สำหรับภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้มากกว่าครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลจากการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนั่นเอง ที่คาดว่าจะมีประมาณ 28.5 ล้านคน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการ GDP ปีนี้ไว้ที่ 3.7% และตัวเลขส่งออกยังติดลบ 1.2% เพราะยังต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่

อย่างไรก็ตาม ช่วงปลายปีนี้ไม่ใช่แค่ไทยที่หวังเพิ่งการท่องเที่ยว อีกหลายประเทศก็เปิดประเทศพร้อมๆ กับเรา การช่วงชิงนักท่องเที่ยวจึงมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น การสนับสนุนจากภาครัฐกลายเป็นกุญแจสำคัญ

อีกเรื่องที่รอไม่ได้คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือนของ Gen Y ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง Gen X และ Gen Z ซึ่งในอนาคต Gen Y นี่แหละจะเป็นเดอะ แบก ในการแบกรับภาระต่างๆ และในยุคที่เศรษฐกิจไม่ดี สิ่งที่ตามมาต้องเป็นเรื่องค่าแรงที่ปรับขึ้นไม่ได้ ทำให้เกิดสภาวะที่ยากลำบาก ทั้งการเป็นเสาหลักของบ้าน ความกังวลในเรื่องหน้าที่การงาน หรืออยากใช้ชีวิตให้เต็มที่แต่เงินไม่พร้อม ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจที่ภาคธุรกิจต้องการจากรัฐบาลชุดใหม่ มี 3 ส่วนด้วยกัน คือ

  1. แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล 
  2. โมเดลเศรษฐกิจยั่งยืน (BCG Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม 
  3. การพัฒนาบุคลากรและการพัฒนาแรงงานในประเทศ ควบคู่ไปกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยพรรคใหญ่แกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็มีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งต้องพัฒนาแรงงานที่มีคุณภาพ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนจับตามองนโยบายเหล่านี้อย่างใกล้ชิด

มาถึงตรงนี้ คงฝากการบ้านไปยังรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะจัดการอย่างไร ทั้งเรื่องการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน การรับมือกับปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งล้วนแต่เป็นโจทย์ยากที่รอการแก้ไข

อ้างอิง

Talk to PEACH แอพฯ ที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการปรึกษาปัญหาทางเพศกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ทุกวันนี้ บทสนทนาเรื่องเพศอาจเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่หลายคนพูดได้แบบไม่ขัดเขิน แต่ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ยังมีอีกหลายคนที่ยังติดอยู่ในมายาคติเดิมๆ ของสังคมที่เคยห้ามพูดถึงเรื่องใต้สะดือ ไม่ว่าจะมาจาการตีกรอบจากครอบครัว บทบาททางเพศ หรือปัจจัยอื่นก็ตาม

ควรรับมือกับประจำเดือนมาผิดปกติยังไง, กินยาคุมฉุกเฉินแบบไหนดีที่สุด, ถ้าหลั่งภายนอกจะท้องไหม เหล่านี้คือคำถามที่หลายคนเคยสงสัยมาตั้งแต่เด็ก

สิ่งที่ตามมาคือเมื่ออยากรู้ อยากถาม แต่ไม่รู้จะไปหาคำตอบที่ไหน สุดท้ายก็ต้องเสิร์ชเว็บเข้าไปอ่านหรือถามเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้  ซึ่งมีโอกาสไม่น้อยที่จะได้ข้อมูลผิดๆ 

เหวิน–ชวิศา เฉิน เห็น pain point นี้ตั้งแต่เด็ก เธอมีความกลัวและข้อห้ามเรื่องเพศเป็นเพื่อนสนิท กว่าจะตกตะกอนว่าปัญหาเรื่องเพศควรเป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้ปกติ อายุก็ขึ้นเลขสอง สิ่งที่ตระหนักได้ในเวลาเดียวกันคือมีคนอีกหลายคน หลายวัย ที่ประสบปัญหาเดียวกันแต่ไม่รู้จะหาคำตอบที่ถูกต้องจากตรงไหน

ชวิศาจึงก่อตั้ง Talk to PEACH แอพฯ ให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องเพศที่เธอรวบรวมคุณหมอเฉพาะทางมารวมอยู่ในแอพฯ เดียว เพื่อให้คนทุกเพศ ทุกวัย มาหาคำตอบกับหมอได้ในราคาที่เอื้อมถึงได้ (เริ่มต้นคำถามละ 49 บาท หรือจะคุยเป็นเซสชั่นแบบตัวต่อตัวก็จ่ายหลักร้อย) ที่สำคัญคือเธออยากสร้างให้มันเป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งไม่มีกรอบใดๆ มาตัดสิน ปรึกษาแบบเปิดหน้าหรือไม่เปิดหน้าได้ตามสะดวกใจ ไม่ว่าคุณกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับน้องจู๋หรือน้องจิ๋ม การกินยาคุมกำเนิด ไปจนถึงเรื่องความสุข-ทุกข์บนเตียง

คอลัมน์ Micro Wave ตอนนี้จึงอยากจัดเซสชั่นพิเศษกับชวิศา คุยกันตั้งแต่เรื่อง pain point เบื้องหลังธุรกิจ ช่องว่างในตลาด HealthTech เมืองไทย กระแสเรื่องเพศที่ส่งผลต่อแอพฯ ไปจนถึงคำถามสำคัญว่า ทำไมปัญหาเรื่องเพศจึงไม่ควรถูกซ่อนไว้ใต้พรม (หรือกางเกง, กระโปรง) ของพวกเราอีกต่อไป

Session 1
Sex Talk 101
Speaker : ชวิศา เฉิน และแม่

ในวัยเยาว์ ชวิศาเป็นเหมือนเด็กหลายคนที่เติบโตมาพร้อมกับมายาคติเรื่องเพศ  ภายใต้ชายคาของครอบครัวคนจีนที่มีความอนุรักษนิยมสูง เธอเคยเป็นเด็กที่ไม่เคยรู้แม้แต่วิธีการใช้ผ้าอนามัย

“ตอนประจำเดือนมา แม่บอกว่าไม่ต้องทำอะไร แค่อย่ากินน้ำเย็น เหวินต้องไปเรียนวิธีการใส่ผ้าอนามัยจากเพื่อนที่โรงเรียนด้วยซ้ำ หรือถ้าเป็นเรื่องการมีเพศสัมพันธ์แม่ก็บอกว่าห้ามมีเด็ดขาดจนกว่าจะแต่งงาน หลีกเลี่ยงทุกอย่าง ทำให้เหวินกลัวทุกอย่างเพราะรู้สึกเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก จนเรียนจบมหาวิทยาลัยก็ไม่เคยจูบเลย

“จุดเปลี่ยนคือเหวินแพ้ผ้าอนามัยตอนอายุ 22 นั่นเป็นครั้งแรกที่พูดเรื่องเพศกับแม่ ตอนแรกเหวินก็กลัวแม่คิดว่าเหวินไปติดมาหรือเปล่าแต่พอบอกแม่ก็พาไปหาหมอ เหตุการณ์นั้นเป็นจุดปลดล็อกที่ทำให้แม่กล้าพูดเรื่องเพศกับเหวินมากขึ้น แม่บอกว่าแม่กลัว เขิน เพราะแม่ก็ถูกสอนมาไม่ให้พูดเรื่องเพศเหมือนกัน”

เพราะเห็นว่าปัญหาเรื่องเพศมักถูกซุกไว้ใต้พรม ประกอบกับ pain point เรื่องการแพ้ผ้าอนามัย ชวิศาจึงเปิดแบรนด์ Wendays ผ้าอนามัยออร์แกนิกของตัวเองขึ้นมาเพราะคิดว่าผู้มีประจำเดือนหลายคนน่าจะเคยประสบปัญหาเดียวกับเธอ ช่วงเวลานั้นเองที่เธอเริ่มทำคอนเทนต์สื่อสารเรื่องเพศควบคู่ไปด้วย 

“เหวินคิดว่าเราจะมาเป็นแบรนด์ผ้าอนามัยที่พูดเรื่องผ้าอนามัยทั้งวันมันก็จะไม่มีประโยชน์อะไร เราทำ sex education ที่ให้ความรู้เรื่องประจำเดือน การมีเซ็กซ์ การป้องกันไปด้วย 

“คอนเทนต์เหล่านี้ทำให้เหวินไปเจออีกจุดเปลี่ยนหนึ่งคือ มีลูกค้าทักมาถามว่าลูกเขาเพิ่งมีประจำเดือนครั้งแรก เขาต้องซื้อผ้าอนามัยไซส์อะไรบ้าง และต้องสอนลูกอะไรบ้าง ทำให้เหวินถามตัวเองต่อว่า นั่นน่ะสิ ถ้าเหวินมีลูกเหวินจะสอนลูกยังไงนะ รู้สึกว่าการไปสอนลูกเขาเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวงมาก 

“โชคดีที่เหวินมีที่ปรึกษาเป็นคุณหมอสูติ-นรีเวช เขาก็แนะนำเหวินให้ไปเรียนเป็นนักเพศวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้”

Session 2
Essential Skills for a Sexologist 
Speaker : ชวิศา เฉิน และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

สารภาพตามตรง เราเพิ่งเคยได้ยินคำว่านักเพศวิทยาหรือ Sexologist เป็นครั้งแรกก็วันนี้

“นักเพศวิทยาเป็นศาสตร์ใหม่ คนที่เป็นนักเพศวิทยาในประเทศไทยมีไม่ถึง 100 อาจารย์แพทย์ที่คณะจึงพยายามสร้างบุคลากรใหม่ทุกปี สิ่งที่นักเพศวิทยาทำคือการให้คำปรึกษาโดยทำความเข้าใจองค์ประกอบ 4 ส่วนถึงจะให้คำปรึกษาได้ นั่นคือเรื่องสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความสัมพันธ์ และสังคม เพราะสังคมรอบข้างมีการบูลลี่เขาหรือเปล่า หรือความสัมพันธ์ของเขาต่อครอบครัวเป็นแบบไหน 

“ในคลาสของเหวินทุกคนเป็นหมอหมดเลย เหวินเป็นคนธรรมดาที่อยากไปเรียนเพราะอยากรู้เรื่องนี้จริงๆ ซึ่งมันก็ทำให้เหวินเห็นว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก แล้วคนที่เขาไม่มีโอกาสเข้าถึงคลาสนี้เขาจะทำยังไง สิ่งหนึ่งที่เหวินได้เรียนรู้จากการติดตามอาจารย์หมอไปดูเคสต่างๆ คือการเห็นว่ามันมีอุปสรรคในการเข้าถึงการให้คำปรึกษาเรื่องเพศเยอะ เช่น การรอคิวนาน 2-3 เดือน การเดินทางยาวนานที่บางคนขับรถจากลพบุรีตั้งแต่ตี 2 เพื่อให้มาถึงโรงพยาบาลตอน 6 โมงเช้า และโรงพยาบาลเองก็ไม่สามารถรับผู้ป่วยได้เยอะขนาดนั้น”

นั่นคือตอนที่ไอเดียของบริการให้คำปรึกษาเรื่องเพศทุกที่ทุกเวลาของเธอถูกจุดประกายขึ้น เพื่อลดช่องว่างของการเข้าถึงการปรึกษาปัญหาเรื่องเพศที่เธอมองเห็น

Session 3
How to Make a Sexual Wellbeing Super App
Speaker : ชวิศา เฉิน และทีม

สตาร์ทอัพซึ่งใช้เทคโนโลยีมาแก้ pain point เรื่องสุขภาพหรือ HeatlhTeach ไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย แต่ชวิศาบอกว่าส่วนใหญ่มักเน้นเรื่องสุขภาพกายหรือสุขภาพจิตไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่บริการให้ความรู้เรื่องเพศยังไม่เคยมีใครทำ

เช่นนั้นเอง ชวิศาจึงลงมือทำ และสิ่งแรกที่ทำคือการพยายามรวบรวมบุคลากรที่ให้คำปรึกษาเรื่องเพศ ทั้งหมอสูฯ หมอยูโร และจิตแพทย์มาไว้ในบริการเดียวกันให้ได้มากที่สุด

ประกอบกับกระแสในสังคมตอนนี้ที่เปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น หลายคนเข้าใจเรื่องความสุขทางเพศมากขึ้น ทว่าสิ่งที่ยังค้างเติ่งคือคำถามว่าจะทำยังไงให้มีความสุข หรือจะทำยังไงให้สุขภาวะทางเพศและชีวิตบนเตียงนั้นมีคุณภาพ นี่คือโอกาสที่เธอมองเห็นว่าบริการให้คำปรึกษาเรื่องเพศนั้นจะไปได้ดี

Talk to PEACH จึงเกิดขึ้น ในฐานะแอพฯ แรกของไทยที่เปิดให้ทุกคนมาเมาท์มอยปัญหาเรื่องเพศได้ง่ายๆ โดยไม่ติดความเขินอาย แถมยังทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามแต่ที่เราสะดวก

“เหวินไม่ได้มองว่าเป้าหมายคือการเป็นแอพฯ telemedicine เท่านั้น แต่จริงๆ Talk to PEACH เราอยากเป็น Sexual Wellbeing Super App ที่มีทั้งการให้คำปรึกษา ซึ่งเริ่มจากการส่งคำถามเข้ามาแล้วมีนักเพศวิทยาตอบภายใน 2 ชั่วโมง และมีระบบ Sexual Health Tracking หรือการบันทึกสุขภาพเพศ ซึ่งหมายความรวมถึงเรื่องประจำเดือน ตกขาว อารมณ์ทางเพศ และการแข็งตัว มีการติดตามหลายอย่างเพราะเหวินมองว่าแต่ละเพศมีความต้องการในการแทร็กไม่เหมือนกัน และในอนาคตเรายังอยากทำคอมมิวนิตี้ เป็น secret club ที่ให้คนเข้ามาบอกเล่าประสบการณ์เรื่องเพศของตัวเอง” 

นอกเหนือจากแอพฯ Talk to PEACH ยังขยันไปให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศตามโรงเรียนต่างๆ เพราะเข้าใจว่าครูหลายคนอาจรู้สึกเคอะเขินที่จะสอนเรื่องเพศกับนักเรียนด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป พวกเธอจึงยินดีเป็นตัวกลางในการสื่อสารเรื่องนี้ให้กับเด็กๆ

สิ่งที่เราสงสัยคือ Peach Team หารายได้จากสิ่งนี้ได้ยังไง ชวิศาตอบด้วยรอยยิ้มว่า “ณ ตอนนี้เราหาเงินจากค่าคอมมิชชั่น และในอนาคตเราจะหาเงินจากการขายสินค้าที่เกี่ยวกับสุขอนามัยทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นถุงยางอนามัย เจลหล่อลื่น ผ้าอนามัย รวมถึงเร็วๆ นี้เราจะเปิดคลินิกเสริมความงามอวัยวะเพศหญิงแบบครบวงจรของตัวเองด้วย ที่นั่นให้บริการจ่ายยาแบบ on-demand และ subscription เช่น ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินและฮอร์โมนต่างๆ”

Session 4
The Future of Sex Talk
Speaker : ชวิศา เฉิน และทุกคน

สิ่งสำคัญที่ชวิศาได้เรียนรู้หลังจากปล่อยแอพฯ ให้คนทั่วไปได้ใช้ คือปัญหาเรื่องเพศเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต และคนแต่ละกลุ่ม แต่ละช่วงอายุก็มีความสงสัยเรื่องเพศที่แตกต่างกัน

“ถ้าแบ่งตามเพศ คำถามยอดฮิตที่เพศหญิงมักจะถามคือเรื่องท้อง  อันดับต่อมาคืออาการเจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และการไม่ถึงจุดสุดยอด ส่วนเพศชายก็จะเป็นเรื่องน้องไม่แข็ง หลั่งเร็ว และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ถ้าไม่จำกัดเพศ คำถามของคนทั่วไปก็จะอยากรู้เรื่องความต้องการของคู่ครองที่ไม่เท่ากัน” เธอเล่า

“ประสบการณ์ที่เหวินอยากให้ลูกค้าได้จากแอพฯ อย่างแรกคืออยากให้เขาคลายกังวลก่อน หลายครั้งลูกค้าฟีดแบ็กเราหลังการให้บริการว่าขอบคุณมากเลยที่อยู่ข้างๆ เพราะเขาไม่สามารถปรึกษาเรื่องนี้กับใครได้ ซึ่งหลายปัญหาถ้าแก้ได้ยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะสุขภาพทางเพศส่งผลต่อทุกอย่าง ซึ่งถ้าแก้เร็วมันก็จะลดเวลาที่เขาจะ suffer กับสิ่งที่เจออยู่ ทำให้เขามีความสุขได้เร็วขึ้น”

จนถึงวันนี้ที่ Talk to PEACH เปิดให้บริการได้ราว 6 เดือน แอพฯ ของชวิศาให้คำปรึกษาไปแล้วกว่า 500 เคส พร้อมกับค่าเฉลี่ยคะแนนของแอพฯ สวยๆ ที่ 4.9/5 ดาว

แม้จะดูเป็นตัวเลขที่บ่งบอกว่าการปรึกษาทางเพศนั้นมีแนวโน้มจะเติบโตได้ดี หากชวิศายังมองว่าสังคมของเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการสนทนาเรื่องเพศได้อย่างเสรีเท่านั้น

“อย่างวันนี้พอเหวินพูดคำว่าเซ็กซ์ออกมา หลายคนอาจจะเลิ่กลั่กอยู่จนทำให้เหวินเลิ่กลั่กตาม ก่อนจะถามตัวเองว่าเลิ่กเลิ่กทำไมนะ เหวินคิดว่าเรื่องเพศพูดได้ แต่ขึ้นอยู่ว่าเราพูดกับใคร พูดแบบไหน พูดแล้วได้อะไรมากกว่า เหวินมองว่ายิ่งมีคนพูดเรื่องเพศเยอะก็ยิ่งดี เพราะเรื่องนี้ควรจะเติบโตไปพร้อมกับสังคม

“และจริงๆ การพูดเรื่องเพศเยอะขึ้น สังคมเปิดกว้างขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่าเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น การพูดเรื่องเพศเยอะขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเราในแง่ไหน เพราะอย่างในเมืองนอกเองเขาก็พูดเรื่องเพศได้อย่างอิสระแต่นักเพศวิทยาก็ยังเยอะอยู่ นั่นแปลว่าคนยังต้องการผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เหมือนกัน เหวินมองว่าการปรึกษาเรื่องเพศก็ไม่ต่างจากการปรึกษาเรื่องจิตใจ อย่างทุกวันนี้คนเริ่มเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้ามากขึ้นก็ทำให้เขาอยากไปหาจิตแพทย์มากขึ้น การเข้าใจเรื่องเพศก็เป็นแบบนั้น เพราะฉะนั้น พูดให้เยอะเลยค่ะ”

เธอหัวเราะ ก่อนจะยกความตั้งใจที่ Talk to PEACH มีตั้งแต่วันแรกมาย้ำให้ฟังอีกครั้ง

“Talk to PEACH มุ่งมั่นที่จะยกระดับสุขภาพทางเพศของทุกคน  เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในสังคมที่เรื่องเพศเข้าถึงได้ พูดถึงได้ เราย่อมมีสุขภาวะทางเพศที่ดีขึ้น และการมีองค์ความรู้ที่ทำให้รู้จักดูแลตัวเองมากขึ้น มันไม่ได้ส่งผลต่อแค่ตัวเราแต่ยังส่งผลต่อคู่รัก เพื่อน พ่อแม่ความสัมพันธ์รอบตัวเรา สุดท้ายมันจะสร้างสังคมที่น่าอยู่ ปลอดภัย และคนในสังคมเข้าใจกันมากขึ้น

“การได้ทำ Talk to PEACH มีความหมายกับเหวินมากนะ เพราะเหวินมองว่าถ้าทำเรื่องนี้เพื่อหวังจะรวย จริงๆ เหวินอาจไม่มีแรงทำขนาดนี้เลย การทำธุรกิจนี้มีปัญหาที่เหวินต้องแก้ไขตลอดเวลา สมองเหวินไม่เคยได้หยุดพัก แต่สิ่งที่ทำให้อยากทำต่อในทุกวันคือเหวินมองว่าเราทำเพื่อสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเรามากๆ ถ้าเหวินทำสิ่งนี้จะช่วยคนได้เท่าไหร่ ทำให้น้องๆ เข้าใจเรื่องนี้ได้เยอะขนาดไหน หรือทำให้คู่สมรสที่เขาแต่งงานแล้วหย่าเพราะเรื่องเพศลดน้อยลงได้ขนาดนี้ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เหวินอยากไปต่อ มันเหมือนเหวินได้เปลี่ยนชีวิตคน”

3 คำแนะนำที่นักธุรกิจ Telemedicine หน้าใหม่ควรรู้

  • “หนึ่ง ควรรู้ว่า core competence หรือจุดแข็งที่ตัวเองมีไม่เหมือนคนอื่นคืออะไร ไม่ใช่เรื่องสกิลอย่างเดียว มีคอนเนกชั่น เงิน เวลา ทีมไหม ถ้าไม่มีก็ไปสร้างให้มี
  • “สอง ควรรู้ว่าเราพร้อมไหม พร้อมในที่ไหน คือทั้งตัวเราและทีมเรา  รวมถึงความพร้อมที่จะยอมรับความผิดพลาด ล้มเหลว พร้อมยอมรับว่ามันไม่เวิร์กแล้วเดินต่อ
  • “สาม ควรรู้ตลาดที่จะลงเล่นด้วยการศึกษาก่อนว่าเราไปตอบโจทย์ส่วนไหน ถ้ามีเจ้าตลาดที่ใหญ่มากอยู่แล้วควรไปตลาดอื่น เพราะการที่เขามาถึงจุดนั้นได้เขาต้องผ่านอะไรมาเยอะมาก มีประสบการณ์มากกว่าเราเป็นร้อยเท่า ที่สำคัญคือมันเป็นตลาดที่กำลังโตหรือกำลังตาย มีลูกค้าหรือเปล่า”

A24 ค่ายหนังทางเลือกสัญชาติอเมริกันกับเบื้องหลังการตลาดและวิธีทำหนังให้อยู่ได้ everywhere

“A24 เป็นบริษัทประเภทที่จะพูดว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่าหนังมันเกี่ยวกับอะไร แค่พวกเขารู้สึกได้ก็พอแล้ว” 

Barry Jenkins ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘Moonlight’ เคยกล่าวประโยคข้างต้นเอาไว้ ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของค่ายภาพยนตร์ทางเลือกอย่าง A24 เอาไว้ได้เป็นอย่างดี

สำหรับคนนอกวงการที่อาจจะยังไม่รู้จัก A24 เป็นบริษัทธุรกิจบันเทิงอิสระสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งเมื่อปี 2012 โดยเพื่อนสนิท 3 คนอย่าง Daniel Katz, David Fenkel และ John Hodges ชื่อของบริษัทเกิดขึ้นอย่างไม่ซับซ้อนเพราะ Katz ให้สัมภาษณ์ว่าเขาอยากทำค่ายหนังมานานแล้ว แต่ระหว่างคิดว่า ‘ถึงเวลาแล้วที่จะต้องทำค่ายหนัง’ ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับตอนที่เขาอยู่บนทางด่วน A24

หลายคนแม้ยังไม่คุ้นชื่อค่ายหนังที่ว่า แต่เชื่อเถอะว่าเราอาจจะเคยได้ยินชื่อหนัง หรือเคยเห็นโปสเตอร์หนังจากค่ายนี้อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น Everything Everywhere All at Once (2022), Pearl (2022) Hereditary (2018), Lady Bird (2017), Moonlight (2016) หรือแม้กระทั่งภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าเรื่องล่าสุดอย่าง Past Lives (2023) ที่กำลังเข้าฉายในขณะนี้

นอกจากชื่อบริษัทที่แปลกแตกต่าง ค่ายนี้ยังเซอร์ไพรส์คอหนังอยู่เสมอ และแม้จะเป็นเพียงค่ายเล็กๆ แต่ปี 2023 A24 ก็ได้เข้าชิงออสการ์ถึง 18 ครั้ง และในครั้งนั้น Everything Everywhere All at Once ก็ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไป

อะไรเป็นจุดแข็งที่ทำให้ค่ายหนังอินดี้ค่ายนี้กลายเป็นเหมือนแสงนีออนในวงการภาพยนตร์ที่เฉิดฉายอย่างมีสไตล์ 

1. รู้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร

A24 เป็นค่ายที่รู้ตัวดีว่ากลุ่มคนดูหนังพวกเขาคือใคร นั่นก็คือกลุ่มมิลเลนเนียล และเจนฯ Z หรือกลุ่มคนดูอายุ 18-34 ปีนั่นเอง

ความชัดเจนตรงนี้ทำให้ครั้งหนึ่ง นักเขียนนามว่า Willy Sraley ถึงกับเอ่ยปากแซวว่า A24 ย่อมาจาก ‘A 24-year-old guy will think this is the best movie ever made.’ หรือก็คือ ‘A24 ค่ายหนังที่คนอายุ 24 ปี คิดว่าผลิตหนังได้เจ๋งที่สุด’ การันตีจากคะแนนรีวิวจาก Rotten Tomatoes ที่รวบรวมคะแนนหนังจากนักวิจารณ์มากหน้าหลายตา

นอกจากนั้น คอหนังของ A24 ยังมีรสนิยมการชมหนังที่ค่อนข้าง niche นำเสนอ genre ที่ค่ายอื่นไม่สนใจ และไม่ยึดติดกับหนัง หรือการนำเสนอที่เฉพาะเจาะจงเหมือนหลายๆ ค่าย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าหนังของพวกเขาจะเอาชนะใจคนดูหมู่มากไม่ได้ เพราะความเจ๋ง แปลก แหวกแนวนั้นย่อมทำให้ผู้ชมรู้สึกตื่นเต้นได้เสมอ 

ดูอย่าง Lady Bird (2017) ที่ได้รับคะแนนจาก Rotten Tomatoes ถึง 99% และ Everything Everywhere All At Once (2022) ได้รับคะแนน 93% และเป็นที่พูดถึงในกลุ่มคนดูทั่วโลก พร้อมกับกวาดรายได้ไปจาก Box Office 141.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. โปรดักต์แตกต่างอย่างมีคุณภาพ

 หนังทุนสูง ไม่ว่าวัยไหนก็เอนจอยอย่างหนังบล็อกบัสเตอร์ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จ เพราะหนังถูกย่อยให้เข้าถึงคนดูทุกกลุ่ม อย่างดิสนีย์ ที่ก็คงเดาได้ว่าเป็นหนังที่เหมาะกับเด็ก หรือหนังมาร์เวลที่มีภาคต่อไม่สิ้นสุด 

สุดท้ายแล้วคอหนังก็ได้ดูแต่หนังที่ถูกผลิตซ้ำๆ หนังที่ผลิตมาจึงน่าเบื่อและจำเจ แต่ A24 ทำหนังในแบบฉบับที่แปลก ไม่เหมือนใคร จับใจคนดูได้อยู่หมัด ผนวกกับงานภาพที่งดงามและวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เป็นไปตามขนบ มีความขบถยั่วยุ แต่ทำให้คนดูเข้าถึงและรู้สึกอินไปกับเรื่องราวที่หนังถ่ายทอดออกมาได้ นำเสนอมุมมองใหม่ๆ ที่มักถูกมองข้าม รวบรวมและผลิตหนังเกือบทุกแนว โดยเฉพาะหนังสยองขวัญร่วมสมัยและหนังอาร์ตเฮาส์ 

ไม่ว่าจะ Swiss Army Man (2016) หนังที่พาคนดูไปติดเกาะกับศพที่ตดได้และถูกนำมาทำเป็นเจ็ตสกี ภาพยนตร์สุดแปลกแหวกแนวอย่าง Lamb (2021) ที่ครอบครัวหนึ่งรับลูกแกะมาเลี้ยง แต่ถ้าเป็นแกะธรรมดาก็คงไม่ใช่ A24 เพราะลูกแกะตัวนี้เป็นแกะครึ่งคน!

หรืออย่าง A Ghost Story (2017) พล็อตหนังผีที่ผีไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่มาสอนปรัชญาชีวิตแทน หรือว่าจะเป็นเรื่อง The Lobster (2015) เรื่องราวเกี่ยวกับโลกดิสโทเปียที่คุณจะกลายเป็นสัตว์ไปตลอดกาล หากคุณไม่สามารถหาคู่ครองได้ภายใน 45 วัน ที่หนังสอดแทรกสัญญะไว้ตามมุมต่างๆ ทำให้คนดูได้อะไรกลับไปขบคิด 

3. ให้อิสระกับทีมงานได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์

หนึ่งในผู้ก่อตั้งค่ายอย่าง Katz เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาอยากให้คนที่มีความสามารถได้มีโอกาสทำหนังและใช้ความสามารถที่มี พวกเขาจึงให้อิสระแก่ผู้ผลิตเบื้องหลังและเบื้องหน้าได้เฉิดฉายในแบบของตัวเอง ส่วนพวกเขาก็คอยสนับสนุนและแนะนำอยู่หลังกล้อง 

ถ้าจะทำให้เข้าใจง่าย ลองเปรียบเทียบค่ายฮอลลีวูดและค่ายยักษ์ใหญ่กับร้านอาหาร ค่ายยักษ์ใหญ่อย่างฮอลลีวูดเปรียบกับร้านอาหารชื่อดัง ที่ทำอาหารตามต้นตำรับ ตามสูตรฉบับที่ใครกินก็ติดใจ แต่ก็พร้อมเบื่อได้ตลอดเวลา ขณะที่ A24 เปรียบเสมือนเชฟเทเบิล คอยเสิร์ฟอาหารตามเรื่องราวที่คนครัวอยากถ่ายทอดออกมาในมื้อนั้นๆ รสชาติแปลกใหม่ไปทุกวัน 

หนังของ A24 จึงจะเป็นแนวดราม่า ไซไฟ หรืออะไรก็ได้ ตราบใดที่มีความคิดสร้างสรรค์และความสดใหม่เป็นตัวนำ เมื่อความนอกกรอบประกอบเข้ากับความแปลกใหม่ ไม่จำเจ หนังของ A24 จึงเป็นที่น่าจดจำ ชนิดที่แค่เห็นโลโก้เราก็เฝ้ารอดูแทบไม่ไหว

David Bornfriend—A24

4. ทำหนังคุณภาพ พร้อมๆ กับการทำให้คนเห็นบ่อยๆ

การจะทำให้คอหนังอยากซื้อตั๋วเพื่อมาดูหนัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือการทำให้เขาเชื่อว่าหนังที่ทำมานั้นมีคุณภาพอย่างแท้จริง โดยอาศัยการทำให้ผู้ดูหนังเห็น ยิ่งบ่อยเท่าไหร่คอหนังก็จะจำได้เร็วมากขึ้น 

ในปี 2022 ค่ายได้ปล่อยหนังออกมาถึง 20 เรื่อง ขณะที่ค่ายยักษ์สังกัดฮอลลีวูดอย่าง Paramount ปล่อยหนังในค่ายออกมาเพียง 18 เรื่องเท่านั้น คำถามคือความถี่และสม่ำเสมอนั้นสำคัญยังไง คำตอบคือ นั่นก็เพื่อให้คนจดจำชื่อค่ายได้ 

ตอนนี้หนังในสังกัดของค่าย A24 มีด้วยกันถึง 134 เรื่องภายในระยะเวลา 12 ปี ทั้งแนวหนังที่หลากหลายบวกกับความเยอะของจำนวนหนังที่ออกมา ทำให้คอหนังที่ดูหนังเป็นอาจิณต้องเคยดูหรือเห็นหนังของค่ายนี้ผ่านตามาอย่างแน่นอน 

การเห็นโลโก้ซ้ำๆ ในหลายปีที่ผ่านมาและประสบการณ์ที่ดีต่อหนัง นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของการเกิดแฟนเบส A24 ขึ้นมา

5. หาที่ทางที่เหมาะสมให้งานที่ไม่ปัง

สัจธรรมการทำหนังของค่ายไหนก็แล้วแต่ มีปังก็ต้องมีบ้ง A24 ก็เช่นกัน 

Nate Jones นักเขียนในสังกัด Vulture ได้ให้สัมภาษณ์กับ Vox ว่า “มีหนังเป็นกระตั้กที่ A24 ผลิตออกมา แต่คนไม่เคยแม้แต่จะได้ยินชื่อ เช่น The Adderall Daireis, Revenge Green Dragon, The kill team

ความลับที่ A24  ซุกไว้ใต้พรมจึงคือแทนที่จะนำหนังที่ทำแล้วดันไม่โดนใจตัวเอง (และคาดการณ์ว่าอาจไม่ถึงใจแฟนคลับ) ไปฉายที่โรงหนังอินดี้ ค่ายก็เลือกที่จะโยนหนังพวกนี้ไปฉายใน DirecTV หรือ Apple TV ซึ่งคงมีแค่แฟนคลับตัวยงของค่ายเท่านั้นที่จะไปขุดหาหนังพวกนี้มาดู

6. ปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยการเปิดใจให้สิ่งใหม่

หนึ่งสิ่งที่ช่วยดึงดูดให้คนเลือกชมภาพยนตร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งคือชื่อของนักแสดง ผู้กำกับ ที่ถ้ายิ่งดัง ค่ายก็วางใจได้เปลาะหนึ่งว่ายอดดีแน่ คนดูจึงได้เห็นแต่ผลงานรูปแบบเดิมๆ นักแสดงคนเดิมๆ วนลูปอยู่อย่างนั้น

กลับกันกับค่ายหนังอย่าง A24 ที่รักและชอบอะไรแปลกใหม่ หนึ่งสิ่งที่พวกเขาปฏิวัติอุตสาหกรรมภาพยนตร์คือการให้พื้นที่กับกลุ่มคนหน้าใหม่ให้มีผลงานเฉิดฉายบนหน้าจอภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับหรือนักแสดง

นักแสดงจำนวนไม่น้อยดังเป็นพลุแตกหรือเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจากการร่วมงานกับ A24 เช่น Anya Taylor-Joy เป็นที่รู้จักในวงการมากขึ้นจากการแสดงที่น่าสะพรึงในหนังเรื่อง The Witch (2015) หรือ Janelle Monáe ที่เป็นหนึ่งในนักแสดงในหนังออสการ์ของ A24 อย่าง Moonlight (2016) และ Saoirse Ronen ที่โลดแล่นอย่างสง่างามบนหน้าจอกับการแสดงที่วัยรุ่นทุกคนเข้าถึงได้อย่างหนังเรื่อง Lady Bird (2017)

ไม่ใช่เพียงแค่หนังแสดงที่ได้รับการรู้จักบนหน้าจอมากขึ้น ผู้กำกับหน้าใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังอย่าง A24 เป็นที่จดจำมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Daniel Scheinert และ Daniel Kwan ที่สร้างหนังที่ดังเป็นพลุแตกอย่างเรื่อง Everything Everywhere All At Once (2022) ก็เปิดตัวการกำกับหนังเรื่องแรกของพวกเขาอย่างเรื่อง Swiss Army Man (2016) กับค่าย A24 

A24 ได้พิสูจน์ว่าการเปิดโอกาสและให้พื้นที่กับอะไรใหม่ๆ นั้นสำคัญ นอกจากนี้การให้แสงกับนักแสดงหรือผู้กำกับโนเนมของค่าย A24 ยังเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยพัฒนาวงการภาพยนตร์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ไม่จมอยู่กับหนังพล็อตเดิมๆ ของนายทุน และนักแสดงหน้าซ้ำๆ

7. ทำยังไงก็ได้ให้เสียงดังกว่าแม้งบน้อย

Loren Schwartz เจ้าหน้าที่การตลาดที่ทำงานให้กับสตูหนังฮอลลีวูดอย่าง Warner Bros หรือ Fox เคยแสดงความเห็นหนึ่งที่น่าสนใจไว้ว่า “เมื่อกระเป๋าเงินคุณไม่หนัก คุณต้องทำยังไงก็ได้ให้เสียงคุณดังกว่า” A24 จึงถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจถึงวิธีการที่พวกเขาเลือกใช้

ด้วยงบประมาณในการโปรโมตต่ำ ค่ายจึงไม่สามารถโปรโมตหนังผ่านสื่อโทรทัศน์หรือเช่าป้ายบิลบอร์ดได้ A24 เลยเน้นโปรโมตหนังของพวกเขาผ่านสื่อออนไลน์ถึง 95% ซึ่งเป็นสื่อที่ทุกคนเข้าถึงได้ สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ แถมยังประหยัดงบอีกต่างหาก 

การโปรโมตของพวกเขาถือเป็นการตลาดแบบกองโจร (Guerrila Marketing) ซึ่งเป็นการตลาดที่เน้นการนำเสนอไอเดียที่แปลกใหม่ น่าจดจำ น่าทึ่ง เพื่อให้เกิดกระแสในสังคมจนเกิดเป็นการพูดปากต่อปากอย่างการสร้างทินเดอร์หญิงสาวที่ชื่อ Ava เพื่อโปรโมตหนังไซไฟอย่าง ‘Ex Machina’ หรือจะเป็นการผลิตของที่ระลึกจากหนังต่างๆ เช่น googly eyes และ ถุงมือไส้กรอกจาก ‘Everything Everywhere All At Once’  

แค่นั้นยังไม่พอ! A24 ยังผลิตของที่ระลึกจากค่ายตัวเองร่วมกับแบรนด์อื่น เช่น เทียนหอมกลิ่นต่างๆ ออกมาอีกด้วย ทั้งยังมีพ็อดแคสต์ บทความ และที่สำคัญคือ A24 All Access หรือ AAA24 สิทธิพิเศษสำหรับเหล่าแฟนๆ ของค่าย โดยสิทธิพิเศษที่ว่าได้แก่ หนังสือทำมือ ของขวัญวันเกิด และสิทธิพิเศษอีกมากมาย

ความกล้าในการเสิร์ฟหนังแนวสดใหม่ ไม่ซ้ำใคร อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ รวมถึงกลยุทธ์การตลาดของค่าย A24 เหล่านี้เอง ที่ไม่เพียงทำให้แฟนๆ เข้าถึงค่ายได้ใกล้ชิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้าง brand loyalty ที่ทำให้เกิด ‘เฟนเบส A24’ คอยดูหนังและอุดหนุนสารพัดของจุกจิกของพวกเขาอยู่เสมอ

ทั้งหมดนี้ถือเป็น business model ที่ส่งผลทางตรงให้บริษัทด้านรายได้มหาศาล โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากการฉายหนังเพียงอย่างเดียวด้วย 

ทั้งหมดนี้คงเป็นเหตุผลให้ค่ายหนังอินดี้อย่าง A24  อยู่ได้ใน everywhere ของวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์และคอหนัง

“ผมคิดว่าค่ายจุดไฟความคิดและทำให้คนรุ่นใหม่มีกำลังใจ ‘หนังเรื่องนี้ใช้งบเท่านี้ แต่มันประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ ด้วยงบเท่านี้ฉันสามารถทำให้มันปังได้’ คุณเข้าใจไหม อารมณ์แบบพรุ่งนี้อะไรก็เป็นไปได้’”

Noah Sacco หัวหน้าฝ่ายจัดซื้อและอำนวยการผลิตของ A24 ให้สัมภาษณ์ใน GQ 

อ้างอิง 

Q-CHANG ศูนย์รวมช่างซ่อมบ้านอย่างครบวงจร ที่หวังเป็นซัพพอตเตอร์ให้ทั้งช่างและเจ้าของบ้าน

สำหรับคนที่เป็นเจ้าของบ้าน เจ้าของคอนโด น่าจะเคยเจอปัญหาเหล่านี้ ไล่ตั้งแต่หลังคารั่ว น้ำไม่ไหล แอร์ไม่เย็น และสารพัดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องบ้านที่ชวนปวดหัวไม่น้อย

แม้เหมือนเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่วิธีการแก้ไขกลับไม่ง่าย ติดต่อหาช่างมาซ่อมแล้ว บางครั้งก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจทั้งเรื่องคุณภาพ และราคา

pain point ที่ว่ามานี้คือส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดแพลตฟอร์มศูนย์รวมช่างคุณภาพและบริการดูแลบ้านครบวงจรที่ชื่อว่า ‘คิวช่าง (Q-CHANG)’ ขึ้นเมื่อปี 2561

แพลตฟอร์มนี้คือสตาร์ทอัพเล็กๆ ที่เริ่มจากการเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ของพนักงานภายในบริษัท ก่อนที่จะนำมาให้บริการจริง โดย Nexter Incubator ที่มีเอสซีจีเป็นหนึ่งในผู้ลงทุน

คิวช่างวางตัวเป็นตัวกลางที่เชื่อมต่อช่างและเจ้าของบ้านให้มาเจอกัน ที่ไม่ได้จะมาดิสรัปต์ช่าง แต่หวังมาช่วยพัฒนาช่างให้มีฝีมือเป็นช่างเกรดเอ และช่วยให้เจ้าของบ้านได้รับบริการที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน 

คิวช่างยึดหลักการทำงานด้วยพื้นฐานสำคัญคือ เรื่องคุณภาพและความยั่งยืน จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมธุรกิจของคิวช่างถึงเติบโตแบบก้าวกระโดด จากขวบปีแรกมีรายได้แค่ 6 ล้านบาท ขวบปีที่ผ่านมามีรายได้ถึง 250 ล้านบาท

เราจึงอยากชวนหัวเรือใหญ่อย่าง บอย–ศรัณย์วิศว์ ภักดีนอก มานั่งคุยถึงแนวคิด วิธีการทำงานในการปลุกปั้นให้สตาร์ทอัพที่ชื่อว่าคิวช่างนี้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับเป้าหมายที่อยากพาคิวช่างเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจนี้

อะไรที่ทำให้คุณปิ๊งไอเดียและเริ่มต้นปลุกปั้นให้ ‘คิวช่าง’ เกิดขึ้นมาได้

เริ่มจากการคิดโปรเจกต์แข่งกันเกิดเป็นสตาร์ทอัพภายในก่อน ต้องบอกว่าคิวช่างเกิดจากหลายปัจจัย พอเราคลุกคลีอยู่ตรงนี้มานาน เราเห็น pain ของการซ่อมแซมบ้านที่ครั้งนึงใช้เวลาติดต่อค่อนข้างนาน สารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นลูกค้าเองไม่ได้แฮปปี้ ส่วนช่างเองก็ไม่ได้แฮปปี้

พอเรามี hint นี้เป็นเรื่องแรกๆ สิ่งที่เราคิดต่อมาคือ แล้วโปรเจกต์อะไรที่เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว และเมื่อเราทำแล้ว ตัวเราเองจะได้ใช้ด้วยในอนาคต ซึ่งในตอนนั้นเป็นช่วงที่สตาร์ทอัพกำลังบูม เป็นช่วงที่เทคโนโลยีกำลังมาเต็มตัว และเดลิเวอรีกำลังมา มันเลยเป็นจุดที่เราคิดว่าเราจะทำเรื่องบ้านให้เป็นเรื่องใกล้ตัวแบบเดลิเวอรีได้ยังไง

เราใช้เทคโนโลยี ใช้ know-how ที่เรามีมาปรับและพัฒนาให้เกิดเป็น คิวช่าง (Q-CHANG) แพลตฟอร์มศูนย์รวมช่างคุณภาพและบริการดูแลบ้านครบวงจร ที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว 

สิ่งที่ยากที่สุดในขวบปีแรกของคิวช่างคืออะไร 

ยากที่สุดคือสิ่งที่เราทำอยู่นี่แหละ จะหาเงิน หาของอะไร ช่างหรือลูกค้าเขาไม่มีเราเขาสามารถหาจากที่ไหนก็ได้นะ แต่สิ่งที่เป็นจุดตายที่ได้ประโยชน์ทั้งช่างและเจ้าของบ้าน คือการหางานที่ต้องคำนึงถึงหลายเรื่อง ทั้งคุณภาพที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน สิ่งที่ตามมาคือแล้วเราจะหาช่างและหาลูกค้าให้มาเจอกันได้ยังไง และเมื่อเจอกันแล้วต้องสื่อสารกันอย่างไรถึงจะรู้เรื่อง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนเวลาล้างแอร์ บางทีเราที่เป็นเจ้าของบ้านก็คุยกับช่างไม่รู้เรื่อง ต้องล้างแบบไหนนะ ซึ่งเจ้าของบ้าน pain นะ แต่พอเขาใช้คิวช่างเราได้ฟีดแบ็กได้คอมเมนต์จากลูกค้า เราดีใจนะว่าคิวช่างมาช่วยยกระดับอะไรแบบนี้ได้  

ไม่ใช่แค่ฝั่งลูกค้า ฝั่งช่างเองเขาก็รู้สึกโอเคที่เขามีคนคอยเคลียร์ให้ เพราะบางทีช่างเคยเจอว่า ตกลงราคาค่าบริการกันไว้เท่านี้ๆ แต่พอล้างเสร็จเร็ว กลายเป็นว่าลูกค้าบอกว่าล้างเร็วแบบนี้จากค่าล้างพันบาทก็เหลือแปดร้อยบาทแล้วกันอะไรแบบนี้ ซึ่งเราก็ได้ฟีดแบ็ก ได้คุยกับช่างเยอะมากๆ

พอยิ่งเป็นสตาร์ทอัพแล้วด้วยยิ่งยากเข้าไปอีก เราเป็นแพลตฟอร์มมีซ้ายกับขวา เมื่อเราเอาช่างมาอยู่บนแพลตฟอร์มแล้ว แต่เราหาลูกค้าให้ไม่ได้นั่นหมายความว่าเครื่องเราจุดไม่ติด พอจุดไม่ติดธุรกิจนั้นล้มเลย

ปีแรกคิวช่างมีรายได้แค่ 6 ล้านบาทเองนะ ขวบปีแรกมันเลยเป็นช่วงที่เราต้องใช้เงินในการทำมาร์เก็ตติ้งให้คนรู้จัก ให้คนมาใช้งานค่อนข้างเยอะ

คุณเองนิยามดีเอ็นเอของคิวช่างไว้ยังไง

มันอยู่ในแท็กไลน์ของเราเลย ‘WE’VE GOT YOUR BACK แบ็คอัพทุกเรื่องบ้าน’ เราคือซัพพอร์ตเตอร์ เป็นแบ็กอัพให้กับเจ้าของบ้านและช่าง

เราบอกน้องๆ เสมอว่าเวลาคุณคุยกับลูกค้าหรือช่าง คุณต้องรู้ตัวเองว่าคุณคือซัพพอร์ตเตอร์ ไม่ใช่เจ้านาย หรือไปชี้นำอะไร เมื่อเวลาเกิดปัญหาอะไรคิวช่างจะคอยแก้ปัญหาให้

ท่ามกลางผู้ให้บริการรับซ่อมแซมบ้านมากมาย คิวช่างมีจุดต่างที่เด่นกว่าผู้ให้บริการเจ้าอื่นยังไง

จริงๆ ต้องบอกว่าบริการเกี่ยวกับบ้านนั้นเริ่มง่ายมาก ทุกคนก็อยากทำ แต่จะทำยังไงให้ทุกอย่างมีคุณภาพ ทั้งคุณภาพของช่าง คุณภาพของเซอร์วิส

เรื่องคุณภาพเป็นเกมยาวที่ไม่ใช่แค่จังหวะที่ช่างเข้าไปให้บริการอย่างเดียว แต่คุณภาพต้องมีมาตั้งแต่จังหวะแรกที่ลูกค้าเข้ามาในแพลตฟอร์ม ช่างออกไปรับงาน จนจบงานและออกจากแพลตฟอร์มไป

ลูกค้าที่ใช้บริการคิวช่างจะเข้ามาจองใช้บริการล่วงหน้าในแพลตฟอร์ม 24 ชั่วโมง เวลาไหนก็ได้ นึกอยากกดจองทำความสะอาดบ้านตอนตี 1 ตี 2 ก็สามารถเข้ามาทำเรื่องจองได้เลย งานมันก็จะเข้าไปในระบบ และแมตช์กับช่างทันที ถึงเวลาช่างก็ไปให้บริการตามคิวที่นัดไว้ รวมถึงหลังจากให้บริการเสร็จ เรายังมีรับประกันหลังการบริการ มีระบบตรวจรับแก้ไขงานจนกว่าลูกค้าจะพึงพอใจ 

คิวช่างให้ความสำคัญในการพัฒนาอยู่ 3 เรื่องคือ Customer  พยายามฟังเสียงของลูกค้า และนำมาปรับปรุงบริการให้ดียิ่งขึ้น, Collaboration การไปกับพาร์ตเนอร์ที่จะทำให้คิวช่างเติบโตมากขึ้น จะเห็นว่าคิวช่างไม่ได้มีแค่แพลตฟอร์มของตัวเองอย่างเดียว แต่มีการไปพาร์ตเนอร์หลายๆ เจ้า ไปอยู่บนมาร์เก็ตเพลส ไปมีจุดให้บริการในร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ที่ตอนนี้มี 100 สาขาทั่วประเทศ เพื่อไปใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น 

และ Co-Creation การนำเทคโนโลยีมาใช้ เราผ่านจุดยากมาแล้วคือเรื่องของปริมาณงาน เดือนนึงเรามีงานเป็นหมื่นๆ งาน เรามีการปรับโอเปอเรชั่นหลังบ้านเรื่อยๆ เพื่อให้ระบบสามารถ handle งานไหว รวมถึงระบบติดตามสถานะงานตั้งแต่กดจองไปยังขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่คิวช่างจะจ่ายเงินให้ช่างเลย

พอเราเป็น ‘ตัวกลาง’ ที่ทำให้เจ้าของบ้านและช่างมาเจอกัน จุดเสี่ยงที่เราอาจโดนตัดออกไปคือการที่เจ้าของบ้านและช่างไปดีลกันเองนอกรอบ คุณแก้ปัญหานี้ยังไง

ผมเจอคำถามเหล่านี้กับนักลงทุนตลอดว่าถ้าเขาไปติดต่อกันเองนอกแพลตฟอร์มจะทำยังไง ป้องกันยังไง 

คำตอบคือ “ป้องกันไม่ได้ ถ้าคุณไม่มี value มากพอ”

 หนึ่งเรื่องที่ผมบอกกับทีมเสมอว่า ถ้าคุณไม่มี value คุณแค่ทำธุรกิจแบบหักหัวคิวคุณอย่าทำ ในวันที่เขาไปติดต่อกันเองหลังไมค์คุณก็จบแล้ว

value ในตนเองของคิวช่างคือต้องหางานให้ช่างได้มากพอ คุณต้องแก้ปัญหาในวันที่เขาไม่ว่าจะเป็นช่างหรือลูกค้าต้องการ นั่นคือฟังก์ชั่น ลูกค้าที่มาใช้บริการเราแล้วเงียบไปนี่น่ากลัวนะ 

และไม่ใช่ว่าคิวช่างไม่เคยผิดพลาดนะ เคยเหมือนกัน แต่เราเอาจุดที่ผิดพลาดมาเรียนรู้และแก้ไข

แล้วแบบนี้ business model ของคิวช่างเป็นแบบไหน 

 เรายังเชื่อเรื่องของ core transaction แม้เราคือตัวกลาง เมื่อลูกค้าจ่ายเงินเข้ามาในระบบเงินอยู่กับเรา เราได้รายได้จากช่างเป็นทรานแซ็กชั่นเดียวที่เราทำ แต่จริงๆ ทรานแซ็กชั่นของเราคืออะไร คือการที่เราทำให้เจ้าของบ้านกับช่างมาเจอกันต่างหาก 

เราทำตรงนี้ให้แข็งแรงโดยที่ช่างเต็มใจที่จะทำงานกับคิวช่าง เต็มใจที่จะให้สล็อตเวลากับเรา ให้เราเอาสล็อตเวลาไปให้กับลูกค้า นี่คือ core transaction ที่เราโฟกัส

สิ่งที่ต้องสร้างเพิ่มเติมคือ เราจะทำยังไงให้ลูกค้าเลือกใช้ พึงพอใจที่จะใช้บริการคิวช่าง ซึ่งสิ่งที่เราเทิร์นกลับไปให้ลูกค้าคือ คุณภาพ การรับประกัน และการรับ complain

เห็นคิวช่างเพิ่งเปิดอะคาเดมี่อย่างเป็นทางการไปเมื่อไม่นานนี้

ใช่ มันเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่และเรียนรู้ตลอดนะ คนทั่วไปอาจไม่ชอบการอบรม แต่รู้ไหมว่าช่างพวกนี้เขาโคตรชอบอบรมเลย 

คิวช่างมีอบรมออนไลน์มาโดยตลอด พอถึงจุดนึงที่มีงานเข้ามาเยอะมาก จาก 8,000 งาน กระโดดไป 20,000 งาน บางอย่างอบรมออนไลน์อย่างเดียวมันไม่พอ เราจึงทำอะคาเดมี่อย่างเป็นทางการขึ้น

Q-CHANG ACADEMY ที่เปิดขึ้นมานี้ไม่ใช่พัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือช่างในแพลตฟอร์มอย่างเดียว แต่เราให้ความสำคัญคือการยกระดับมาตรฐานฝีมือและคุณภาพชีวิตของช่างในและนอกแพลตฟอร์ม

เน้นให้ช่างมีความมั่นคงทั้ง 3 เรื่อง คือมั่นคงทางใจ มั่นคงทางการเงิน และมั่นคงในเรื่องของความรู้ โดยเน้นพัฒนาใน 3 ด้านหลัก ทั้ง soft skill ไม่ว่าจะทักษะการสื่อสาร การเจรจาระหว่างช่างกับลูกค้า, hard skill ที่ให้เรียนรู้การซ่อมแซม ติดตั้งด้วยวิธีที่ได้มาตรฐาน และ business skill ที่ให้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ การบริหารจัดการภาษี และวางแผนทางการเงิน

และทำให้ช่างที่อยู่บนแพลตฟอร์มกลายเป็นช่างเกรดเอให้ได้

พอมีอะคาเดมี่แล้ว คิดจะมีช่างเป็นของคิวช่างเองไหม

ผมคิดว่าไม่นะ แม้การมีช่างเป็นของตัวเองจะคุมคุณภาพได้ดีกว่า แต่เรามาทางนี้แล้วเราอยากสร้างอาชีพให้คนจริงๆ

แล้วแบบนี้คุณมีวิธีการคัดเลือกช่างมาอยู่บนแพลตฟอร์มยังไง

มันเหมือนการแต่งงานกันนะ ที่ต้องหาคนที่เหมาะ ซึ่งจริงๆ วันแรกที่ช่างเข้ามาในแพลตฟอร์มเราไม่รู้หรอก แต่เทคโนโลยีก็ช่วยเราเยอะ คิวช่างมีอยู่ 4-5 ขั้นตอน

  1. รับสมัครช่างจากช่องทางต่างๆ รวมไปถึงพาร์ตเนอร์ 
  2. สัมภาษณ์เบื้องต้นเพื่อตรวจสอบความสามารถและประสบการณ์การทำงาน
  3. ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
  4. อบรมและทดสอบความสามารถ soft skill และ hard skill ตามมาตรฐานของคิวช่าง
  5. ช่วงทดลองงาน เพื่อตรวจสอบการทำงานอย่างใกล้ชิด จนผ่านมาตรฐาน จึงให้รับงานคิวช่างแบบเต็มตัว 

ถ้าช่างกรอกข้อมูลมั่วๆ มาเราก็รู้แล้วนะก็ดูออกแล้วว่าแนวโน้มช่างคนนี้เป็นคนที่ไม่เวิร์กสูงมาก หลังจากที่เรารับช่างเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว เราทดลองเปิดระบบให้เขาทำงาน 3 ครั้งก่อน เมื่อผ่านเกณฑ์คิวช่างถึงเปิดระบบให้ช่างสามารถรับงานได้อย่างเต็มตัว งานที่อยู่ในระบบจะเข้าไปแมตช์กับช่างทันที 

เมื่อช่างกดปฏิเสธรับงานเราก็รู้หมด ซึ่งคิวช่างมีเกณฑ์ประเมินไว้หมดว่าช่างกดปฏิเสธกี่ครั้งจะโดนพักงาน

ตามหลักเศรษฐศาสตร์มันเป็นเรื่องของ willingness to pay ความยินดีหรือความเต็มใจของผู้บริโภคที่พร้อมจะจ่ายค่าสินค้าหรือบริการ พอทำงานผ่านระบบก็เหมือนกัน แต่อันนี้คือ willingness to do เราจะเห็นเลยว่าช่างคนไหนมีความกระตือรือร้นบ้าง ระบบเรากรองมาเยอะจริงๆ บางทีพอถึงเวลาทำงานตั้งใจนะ แต่คุณภาพ ความสะอาดอาจไม่ได้  เราเอากลับมาเรียน มาปรับจนได้ช่างคุณภาพที่ดีเป็นช่างเกรดเอ

จำนวนช่างในคิวช่างตอนนี้มี 1,625 ทีม อาจมีไม่ถึง 10% ของช่างทั้งตลาด แต่ในวันที่เราแข็งแรงมากพอมันจะดึงดูดช่างนอกเหนือจาก 10% ที่มีอยู่เข้ามา และพัฒนาไปด้วยกัน

ดูเหมือนทุนที่สำคัญที่สุดของคิวช่างคือคน 

ใช่ สิ่งที่ทำให้ธุรกิจเดินไป หนึ่งคือช่าง เพราะถ้าไม่มีช่างเท่ากับว่าธุรกิจผมเจ๊งเลยนะ เท่ากับศูนย์ สองคือน้องๆ ในทีมที่ช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา สามคือลูกค้าถ้าไม่มีลูกค้าคิวช่างก็ไปต่อไม่ได้เหมือนกัน

ลูกค้าเลือกใช้บริการไหนของเรามากที่สุด

คิวช่างมีมากกว่า 120 บริการ ครอบคลุมทุกเรื่องของบ้าน ทั้งล้าง ซ่อม ติดตั้ง ต่อเติม อย่างครบวงจร 

บริการที่ได้รับความนิยมมากๆ คือ ซ่อมหลังคารั่ว ล้างแอร์ แม่บ้านทำความสะอาด ล้างเครื่องซักผ้า และติดตั้งแอร์ โดยบริการซ่อมหลังคารั่วถือว่าเป็นหนึ่งในบริการที่ได้รับความนิยมสูงสุด

คุณมองว่าธุรกิจนี้มันเป็น red ocean ไหม

คนทำธุรกิจรับซ่อมแซมเยอะจริง แต่ที่ทำได้ดีมีคุณภาพอาจจะไม่เยอะ เบอร์ 1 ของตลาดทำรายได้ 700-800 ล้านเองนะ ผมว่ามันยังไม่ได้ red ocean  

สิ่งที่เห็นตอนนี้บาร์ด้านล่างที่เราเห็นแล้วคือช่างมีไม่พอ แต่บาร์บนเรายังไม่เห็นยอดรายได้ของบาร์บนเลย เพราะมันยังโตได้อีกมาก ยังไม่มีใครเป็นเจ้าตลาดที่ชัดเจน 

ความท้าทายในขวบปีที่ 5 ของคิวช่างคืออะไร

คือช่างไม่พอ แรงงานลดลง และช่างอาจไม่ได้เลือกเราเป็นตัวเลือกแรกในการรับงาน เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานหนักขึ้น ให้เรามี value มากขึ้น

คิวช่างเราอยากเป็น someone ในทีมต้องคิดเสมอว่าลูกค้าใช้โปรดักต์ระดับโลกทุกวัน แล้วเราจะมาใช้โปรดักต์ที่ made in thailand  แล้วได้คุณภาพแค่นี้มันไม่ได้นะ เราต้องเทคแคร์ลูกค้าให้เป็นแบบนั้น และอยู่ในธุรกิจได้อย่างยั่งยืนจริงๆ ลูกค้าใช้บริการเราอย่างต่อเนื่องจริงๆ 

ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด คุณมองอนาคตและมีทิศทางในการดำเนินในขวบปีถัดๆ ไปยังไง

ปีแรกของคิวช่างมีรายได้แค่ 6 ล้านบาท ปีที่ผ่านมาคิวช่างมีรายได้ 250 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกของปีนี้ให้บริการไปแล้วกว่า 55,000 งาน ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ ยอดจองบริการคิวช่างเติบโตขึ้นถึง 1.7 เท่า

อย่างที่บอกไปคิวช่างผ่านร้อนผ่านหนาวมาระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่เรายังคงทำต่อไปคือการรักษาคุณภาพ และพัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ผมให้กับน้องๆ ในทีมเสมอเลยคือ เฟลได้  เฟลแล้วต้องเรียนรู้และพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

ในแง่ธุรกิจปฏิเสธไม่ได้ว่าเราจะต้องเติบโตอย่างมั่นคงแข็งแรงแบบไม่ต้อง raise fund แล้ว ต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ภายใน 2-3 ปี

เราหวังอยากเป็นเบอร์ 1 ของผู้ให้บริการซ่อมแซมต่อเติมบ้านในตลาดประเทศไทยให้ได้ และอาจจะเริ่มไปเติบโตในต่างประเทศ ไปเป็น world player ที่ตอนนี้คิวช่างกำลังศึกษาอยู่