Geishat

เมื่อเกอิชาออกร่ายรำช่วยเศรษฐกิจ ระบำแห่งเมืองหลวงเก่าหลังญี่ปุ่นย้ายเมืองหลวง 

ช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงเข้าฤดูร้อนของญี่ปุ่น และในช่วงนี้เองที่เมืองเกียวโต เป็นเดือนของเทศกาลสำคัญที่เรียกว่าเทศกาลกิออนหรือ Gion Matsuri หนึ่งในสามเทศกาลใหญ่ประจำเมืองของญี่ปุ่นเคียงคู่มากับเทศกาลเท็นจินของโอซาก้า เทศกาลคันดะของโตเกียว เทศกาลกิออนก็ตามชื่อคือจัดขึ้นโดยมีศาลเจ้ายาซากะในย่านกิออนเป็นศูนย์กลาง เป็นเทศกาลของนิกายชินโต มีการประดับโคมและการแห่ลากรถขนาดใหญ่ไปตามถนนสายสำคัญของเมือง

พอพูดถึงย่านกิออน เราก็จะคิดถึงย่านพิเศษของเมืองโตเกียว เป็นย่านของเหล่าไมโกะ เกอิโอและบรรยากาศที่เหมือนหยุดเวลาไว้ เป็นหนึ่งในพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมโบราณของญี่ปุ่น และแทบจะเป็นตัวแทนหนึ่งของความเป็นญี่ปุ่นยุคโบราณ

แต่ทว่าก่อนที่กรุงเกียวโตจะรุ่งโรจน์และย่านกิออนกลายเป็นย่านสำคัญอย่างเป็นทางการที่รุ่งเรืองนั้น ย้อนไปในช่วงยุคเมอิจิ สมัยรอยต่อที่ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ความทันสมัยหรือ Modernization Period หลังจากสิ้นสุดจากระบอบโชกุนลง รัฐบาลเมอิจิและสมเด็จพระจักรพรรดิได้ตัดสินใจย้ายศูนย์กลางการปกครองออกจากกรุงเกียวโตอันเก่าแก่ไปยังเมืองเอโดะหรือโตเกียวในปัจจุบัน ในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับการปกครองและความเปลี่ยนแปลงจากการปรับประเทศให้ทันสมัย เมืองเกียวโตที่เคยรุ่งเรืองกลับซบเซาลง

ในช่วงเวลานั้นเองทางเมืองเกียวโตจึงตัดสินใจที่จะกอบกู้เศรษฐกิจของเมือง และการกอบกู้ในช่วงนั้นคือการที่เมืองแสดงตัวตนและบทบาทในเวทีโลกด้วยการจัดงานเอกซ์โป ซึ่งก็คือการจัดเกียวโตเอกซ์โพซิชั่นขึ้น แต่การจัดงานก็มีความยากอยู่ จนกระทั่งทางเมืองได้ตัดสินใจออกแบบงานอย่างระมัดระวังและยกย่องมรดกทางศิลปวัฒนธรรมขึ้นเป็นจุดเด่นของงาน หนึ่งในนั้นคือการเชิญไมโกะออกร่ายรำแสดงในงาน

การร่ายรำของไมโกะในงานสาธารณะระดับนานาชาติและเป็นการเปิดตัวเมืองโตเกียวในฐานะพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมนับเป็นการแสดงครั้งประวัติศาสตร์ เป็นการร่ายรำแรกต่อสายตาสาธารณชนนอกเขตเมืองบุปผา ความสำเร็จและความร่วมมือจากย่านเริงรมย์ในครั้งทำให้เกิดย่านกิออนในฐานะย่านสมัยใหม่ เกิดประเพณีการแสดงสำคัญของเหล่าไมโกะและเกอิโกะประจำปี รวมถึงการกลายมาเป็นตัวแทนที่เป็นรูปธรรมของสัญลักษณ์และมรดกวัฒนธรรมของญี่ปุ่น

ย้ายเมืองหลวง เกียวโตเอกซ์โป

การย้ายเมืองหลวงของญี่ปุ่นเป็นห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในทุกๆ ด้านของประเทศ ในปี 1868 ระบอบโชกุนและซามูไรล่มสลาย มีการสถาปนารัฐธรรมนูญที่มีองค์พระจักรพรรดิขึ้นเป็นศูนย์กลางอำนาจ หนึ่งปีให้หลังสมเด็จพระจักรพรรดิทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงโตเกียวและกลายเป็นเมืองหลวงมาจนถึงปัจจุบัน ในห้วงเวลาดังกล่าวเรียกกันว่ายุคเมอิจิ เป็นยุคที่ญี่ปุ่นปรับประเทศเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ เปิดรับความทันสมัยและวิทยาการต่างๆ 

การย้ายศูนย์กลางอำนาจเป็นการเปลี่ยนผ่านที่น่าสนใจ กรุงเกียวโตในฐานะศูนย์กลางอำนาจและความเจริญมากว่าพันปีนับตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 การหันเหประเทศเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่และการย้ายเมืองหลวงออกไปทำให้เกียวโตประสบภาวะซบเซา จากเมืองหลวงที่เคยรุ่งโรจน์ เกียวโตต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดในฐานะเมืองในกระแสธารของโลกสมัยใหม่

กรุงเกียวโตเองก็พยายามปรับตัวเองไปสู่เมืองสมัยใหม่ มีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคส่วนต่างๆ เช่นธุรกิจสิ่งทอ ใบชา และที่สำคัญคือธุรกิจท่องเที่ยว หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือการที่เลือกจัดเวิลด์เอกซ์โป หรือ Kyoto Exposition โดยเอกซ์โปของเกียวโตนับได้ว่าจัดขึ้นสองครั้งในปีต่อเนื่องกัน ในปี 1871 มีการเปิดงานแล้วแต่ค่อนข้างเงียบเหงา ไม่มีคนสนใจ ในช่วงนั้นเองจึงมีการก่อตั้งทีมผู้จัดงานขึ้นและวางกลยุทธ์ใหม่ก่อนที่จะเปิดงานในปีถัดมาคือ 1872

ในงานรอบสองของเกียวโตเอกซ์โป คณะจัดงานได้วางแผนงานอย่างถี่ถ้วนขึ้น มีการคัดเลือกการแสดงเพื่อดึงดูดและแสดงตัวตนของความเป็นเกียวโตอันมีนัยถึงสัญลักษณ์ของความเป็นญี่ปุ่น มีการแสดงพลุไฟ จัดการแข่งขันซูโม่ เปิดโรงละครโนห์ (Noh Theater) และที่สำคัญคือมีการจัดแสดงระบำของเหล่าไมโกะที่เรียกว่า Miyako Odori มีความหมายว่า ระบำแห่งนครหลวงโบราณ (Dances of the Old Capital) การร่ายรำในครั้งนั้นเป็นการแสดงของเหล่าไมโกะและเกอิโกะภายนอกนครบุปผาเป็นครั้งแรก และนับเป็นจุดพลิกผันสำคัญและเป็นรากฐานของย่านกิออนในปัจจุบัน

นครบุปผา จากย่านเริงรมย์สู่ย่านสมัยใหม่

ก่อนจะเข้าสู่บทบาทของเกอิชาและการเป็นย่านสมัยใหม่จากการแสดงระบำในปี 1872 ตัวย่านเริงรมย์ของเหล่าเกอิชานับเป็นย่านเก่าแก่ที่อยู่คู่กรุงเกียวโตอย่างน้อยก็ตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 17 ย่านเริงรมย์ของญี่ปุ่นเป็นย่านกินดื่มประเภทหนึ่งเรียกรวมว่าเป็นย่านบุปผาหรือ Hanamachi ในย่านนี้จะเป็นพื้นที่กินดื่มสำคัญของเมือง สำหรับกรุงเกียวโตเองมีศูนย์กลางอยู่ที่ศาลเจ้ายาซากะ ก่อตัวขึ้นจากการเป็นแหล่งกินดื่มของผู้ที่เดินทางจาริกมายังศาลเจ้า รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงคือบริเวณแม่น้ำคาโมะ

ในย่านบุปผาแต่เดิมเป็นย่านเริงรมย์ประเภทหนึ่ง มีการกินดื่มยามย่ำคืน ก็จะมีหญิงบริการด้วย ในส่วนของสตรีที่ทำงานในย่านเริงรมย์ก็เริ่มพัฒนาแบ่งแยกไปสู่หญิงสาวที่ได้รับการฝึกฝนศิลปะแขนงต่างๆ ทำหน้าที่ให้ความบันเทิงโดยที่ไม่ได้ค้าประเวณีโดยตรง การเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ที่ต้องมีการฝึกฝนและกินอยู่นี้ก็คืองานและฝึกฝนของเหล่าเกอิชา เป็นผู้ให้ความบันเทิงระดับสูง พื้นที่ที่เกอิชาซึ่งประกอบด้วยไมโกะ และเกอิโกะหรือไมโกะฝึกหัดใช้ชีวิต เป็นพื้นที่ให้บริการและฝึกฝนศาสตร์ต่างๆ จะเรียกว่าเป็นนครบุปผา ตัวย่าน การแสดงและการเข้าถึงบรรดาเกอิโกะนับเป็นพื้นที่เฉพาะ มีขนบธรรมเนียมและรูปแบบการให้บริการที่เฉพาะเจาะจง คนทั่วไปเข้าถึงไม่ได้โดยง่าย

ทีนี้ ในการจัดแสดงเกียวโตเอกซ์โป มีการดีลที่น่าสนใจเกิดขึ้น คือการแสดงระบำแห่งเมืองหลวงอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ในการร่ายรำแรกนี้มีโรงเรียนรำสำคัญคือโรงเรียนรำของตระกูลอิโนะอุเอะ (The Inoue School) โรงเรียนฝึกรำเก่าแก่ของเมือง ในการร่ายรำแรกนั้นทางผู้ว่าเกียวโตได้เชิญคาตายามะ ฮาคุโระ (Katayama Hakuro) ผู้สืบทอดในฐานะอิโนะอุเอะรุ่นที่สามเข้าร่วมด้วย อาจารย์ฮาคุโระตกลงช่วยเหลือผู้ว่าเมือง โดยทั้งออกแบบท่ารำและใช้งานเอกซ์โปที่จะจัดขึ้นเป็นที่แสดงฝีมือของเหล่าลูกศิษย์ที่มีแวว

การแสดงครั้งนั้นนับเป็นระบำแห่งนครโบราณแรก และอาจารย์ฮาคุโระได้ทำการขอรวมย่านย่อยๆ ทั้งแปดย่านที่ดีและมีฝีมือบริเวณกิออนเข้าด้วยกันและเรียกว่าเป็นกิออนโคบุ (Gion Kobu) และขอให้ย่านกิออนที่เหลือรวมและเรียกชื่อว่ากิออนโอซึบุ (Gion Otsubu–ปัจจุบันเรียกว่า Gion Higashi) ย่านกิออนโคบุเป็นย่านที่เธอขอผูกขาดการสอนร่ายรำของโรงเรียนอิโนะอุเอะไว้ 

การขอแบ่งย่านกิออนออกเป็นพื้นที่เฉพาะ เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงของย่านบุปผาที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของย่าน (district) สมัยใหม่ที่อยู่ใต้การบริหารของเมือง (แต่มีความเป็นย่านที่พิเศษของตัวเอง) นอกจากการแบ่งย่านเป็นกิออนพิเศษ ในตอนนั้นความร่วมมือของย่านบุปผาต่อการบริหารเมืองเกียวโตทำให้ทางเมืองมอบรางวัลให้ มีการให้ที่ดินเพิ่มเติมบริเวณกิออนปัจจุบันทำให้ทางกิจการของย่านบุปผาสามารถสร้างโรงแสดงของตนเอง

ที่น่าสนใจคือย่านกิออนค่อนข้างกลายเป็นย่านสมัยใหม่แล้ว มีการสร้างโรงพยาบาล และพื้นที่ฝึกสอนศิลปะที่เกี่ยวข้องเช่นดนตรี การเต้นรำ หรือก็คือทักษะของสตรี ได้รับแต่งตั้งเป็นโรงเรียน นับเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการให้การศึกษาในวิธีแบบสมัยใหม่ โรงพยาบาลเองก็เป็นส่วนส่งเสริมสุขภาพของสตรีที่ทำงานในย่าน ซึ่งบางส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีอยู่ด้วย การมีพื้นที่สาธารณสุขเฉพาะจึงส่งเสริมสวัสดิภาพของสตรีในกิจการและการทำงานต่อไป

ปัจจุบันย่านกิออนนับเป็น 2 ใน 5 ย่านบุปผาของเกียวโต ย่านส่วนใหญ่ตั้งอยู่จากศาลเจ้ายาซากะถึงแม่น้ำคาโมะ โดยศูนย์กลางของย่านจะมีโรงฝึก (kaburenjō) คือพื้นที่ฝึกฝนการร้องและร่ายรำเป็นศูนย์กลาง ย่านฮานะมาจิค่อนข้างมีรูปแบบความสัมพันธ์ของตัวเอง การทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ความเป็นย่านที่มีความเป็นครอบครัวในการใช้ชีวิตและการทำงาน

ความเป็นสมัยใหม่ของระบำและบทบาทของศิลปวัฒนธรรม

ปัจจุบัน ขนบธรรมเนียมรวมถึงการให้บริการในย่านบุปผาก็ยังคงรักษาธรรมเนียมเดิม คือแยกออกเป็นโลกเฉพาะ แต่ทว่าในการเป็นย่านสมัยใหม่ การเข้ามาร่วมกับเมืองทำให้ย่านบุปผามีพื้นที่ในฐานะย่านที่มีระบบระเบียบและมีการปกครองในการบริหารเมืองสมัยใหม่ นอกจากนี้ การเปิดกิจการและโลกของไมโกะให้กับเมือง เป็นส่วนหนึ่งของสัญลักษณ์และมรดกของญี่ปุ่นก็มีการปรับไปสู่ความทันสมัยแทรกอยู่ด้วย

ตัวอย่างสำคัญคือระบำ Miyako Odori อันเป็นระบำที่ออกแบบใหม่สำหรับงานเอกซ์โปโดยเฉพาะ และกลายเป็นธรรมเนียมที่จะมีการแสดงระบำนี้ในพื้นที่สาธารณะในทุกๆ ปีหลังจากนั้น ตัวระบำมิยาโกะเป็นพื้นที่ทดลองของผู้จัดงานคือเหล่าผู้กำกับ แรกเริ่มที่สุดคือการจัดเก้าอี้แบบตะวันตกเพื่อรองรับผู้ชมจากต่างชาติ ตัวการแสดงแบ่งย่อยเป็นองค์ราว 8-10 องค์ เล่าถึงความงามในฤดูกาลต่างๆ ด้วยความเข้าใจที่ว่าผู้ชมเป็นนักท่องเที่ยว การแสดงจะถูกย่อลงให้ใช้เวลาทั้งหมดเพียงหนึ่งชั่วโมง มีการแสดงภาพฤดูกาลที่เป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวเช่นความสดใสของฤดูร้อน ความงดงามของนครโบราณที่คลุมด้วยหิมะ ตัวการแสดงปรับเปลี่ยนได้ แต่องค์สุดท้ายจะต้องเป็นฉากอันสวยงามของดอกซากุระอันบานสะพรั่ง

ในความเข้าใจว่าการร่ายรำต่อสาธารณชนที่เป็นนักท่องเที่ยวและมีผลเพื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว ในการแสดงมักจะปรากฏฉากที่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศญี่ปุ่น ราวกับว่าผู้ชมได้ท่องเที่ยวไปทั่วญี่ปุ่นตลอดทั้งปี ก่อนจะจบลงด้วยภาพซากุระจนทำให้การแสดงระบำนี้ได้ฉายาในโลกตะวันตกว่าเป็นระบำดอกซากุระ

นอกจากเป้าหมายด้านประชาสัมพันธ์แล้ว การแสดงของเหล่าไมโกะยังได้รับการยกระดับเป็นการแสดงระดับชาติ หลายครั้งจัดแสดงเพื่อต้อนรับแขกของประเทศ ในการแสดงระบำสำคัญนี้มีบางครั้งที่ไมโกะหรือเกอิโกะจะสะบัดธงของชาตินั้นๆ มีบันทึกว่าครั้งมกุฏราชกุมารแห่งแมนจูเรียเสด็จเยือนในปี 1939 พระองค์และคณะทรงมีความปีติยินดีเมื่อเห็นธงของตนโบกสะบัดบนเวทีการแสดง

ระบำทั้งห้า จากห้าเมืองบุปผา

นับจากงานเอกซ์โป พื้นที่ของเมืองบุปผาบางส่วนกลายเป็นพื้นที่และกิจกรรมสาธารณะ เช่นการรวมตัวกันเพื่อปฏิญาณในช่วงปีใหม่ในโรงฝึกของเขตต่างๆ ในเขตสำคัญมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปจับตาชม หรือจากธรรมเนียมการแสดงระบำที่ Miyako Odori กลายเป็นอีเวนต์สำคัญของเมือง

หลังจากนั้นในทุกๆ ปี เขตบุปผาทั้งห้าของเกียวโตจะสลับกันจัดแสดงระบำเป็นการแสดงสาธารณะ มีการจำหน่ายบัตรในหลายราคาตั้งแต่ 1,500-4,500 เยน บัตรที่แพงขึ้นมาก็อาจจะรวมพิธีชงชาที่มีขนมวากาชิเสิร์ฟด้วย ในเทศกาลนอกจากระบำแล้วก็ยังมีการแสดงอื่นๆ ถ้าไล่ตามเวลาของปี ระบำหรือโอโดริจะเริ่มที่คิตาโนะโอโดริ จัดแสดงจากเขตคามิชิชิเคน (Kamishichiken) ย่านเกอิชาที่เก่าแก่ที่สุด จัดแสดงช่วงฤดูใบไม้ผลิคือราวสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน, ระบำมิยาโกะโอโดริ จัดแสดงโดยย่านกิออนโคบุ แสดงช่วงเดือนเมษายน, เคียวโอโดริ (Kyō Odori) จากเขตมิยากวะ (Miyagawa-chō) เขตที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ตั้งของโรงละครคาบุกิ ระบำจึงได้รับอิทธิพลของละครคาบุกิเป็นจุดเด่นด้วย แสดงช่วงเดือนต้นเดือนเมษาเหมือนกัน, ระบำคาโมกาวะ โอโดริ (Kamogawa Odori) ของเขตปอนโตโช (Pontochō– แสดงครั้งแรกร่วมกับระบำมิยาโกะในงานเอกซ์โป) แสดงช่วงเดือนพฤษภาคม และสุดท้ายคือกิออนโอโดริ โดยย่านกิออนฮิกาชิ (Gion Higashi) แสดงช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน

นอกจากนี้ยังมีการแสดงรวมกันของทั้งห้าเขตเมืองบุปผาในช่วงปลายเดือนมิถุนายนเป็นอีเวนต์ใหญ่ เป็นการแสดงสองวันพร้อมบริการอาหารชุดแบบไคเซกิ งานใหญ่นี้จะมีราคาบัตรแพงและมีจำนวนน้อยหน่อย

การย้อนดูบทบาทที่น่าสนใจระหว่างเมืองบุปผา ซึ่งไม่ได้มีแค่เหล่าไมโกะแต่ยังรวมถึงศิลปะแขนงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กิโมโน โรงน้ำชา ไปจนถึงบานประตูกระดาษและการบริหารกิจการและชุมชนในระดับย่านนับเป็นอีกกรณีที่น่าสนใจของการรักษาและปรับวัฒนธรรมไปสู่โลกสมัยใหม่ และยิ่งน่าสนใจมากขึ้นไปอีกในความพิเศษคือการรักษาความเป็นพื้นที่เฉพาะของย่านบุปผาที่เหมือนจะมีโลกและกาลเวลาของตัวเอง กับการแสดงตัวตนและประโยชน์ในกิจกรรมสาธารณะของเมือง 

การผนวกและเปิดตัวตนของย่านและศิลปวัฒนธรรมโบราณจากความหมิ่นเหม่ของการพ้นสมัยและการติดอยู่กับอดีต การปรับเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ทำให้มรดกและศิลปวัฒนธรรมของกรุงเกียวโตก้าวไปสู่การเป็นสัญลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และสุดท้ายกลายเป็นมรดกที่คนทั่วโลกชื่นชมและหลงใหล

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like