Flower in hand by P. ร้านดอกไม้ที่เปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจและสิ่งแวดล้อม

Flower in hand by P. เป็นร้านดอกไม้

ขึ้นชื่อว่าร้านดอกไม้แปลว่าดาวเด่นของร้านคือ ‘ดอก’ ขณะที่ส่วนประกอบอื่นนอกจากดอกมักกลายเป็น ‘ขยะ’

ถ้าไปดูหลังร้านดอกไม้แทบทุกร้านเราจะเจอถังขยะที่เต็มไปด้วยกิ่ง ก้าน ใบ และขยะอีกหลายชนิดจากกระบวนการผลิตดอกไม้หนึ่งช่อ ไม่ว่าจะเป็นเศษกระดาษ เศษโอเอซิส เศษสำลี ไปจนถึงเศษพลาสติกจำนวนมาก

เมื่อเห็นขยะกองโตขึ้นทุกวัน ร้านดอกไม้เล็กๆ แห่งนี้เลยเริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตั้งใจว่าจะต้องลดขยะที่เกิดจากมือของพวกเขาให้ได้ ตาม motto ของร้านที่กล่าวว่า Flower for a better life and community.

ร้านดอกไม้ทำให้ชีวิตของคนรอบๆ ตัวดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตในธรรมชาติ ชีวิตของแม่บ้าน ชีวิตของเกษตรกร หรือแม้แต่ชีวิตของคนใน Flower in hand by P. ที่ดีขึ้นตามธุรกิจที่เบ่งบาน

ร้านดอกไม้หนึ่งร้านทำให้ชีวิตดีขึ้นได้ยังไงและทำไมการปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งแวดล้อมถึงทำให้ธุรกิจเติบโต เพียงเปิดประตูร้านเข้ามาดูก็จะรู้ทันที

Flower in hand by P.

Flower in the bin

แพร พานิชกุล และ นิว–กิตติคุณ ชัยวัฒนธรรม สองผู้ก่อตั้งนั่งรอเราอยู่ที่โต๊ะกลางร้าน บนโต๊ะมีแจกันดอกไม้นับสิบ ทุกอันดูออกว่าเคยเป็นขวดน้ำ ขวดโหล หรือบรรจุภัณฑ์อะไรสักอย่างมาก่อน

“เราทำเป็นตัวอย่างให้ลูกค้าเห็นว่าแม้แต่แจกันเขาก็ reuse เอาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้วมาใช้ได้นะ” แพรบอกแล้วชวนนั่งลงคุยกันที่โต๊ะนั้นเอง

ก่อนหน้านี้เรารู้จัก Flower in hand by P. ในฐานะร้านที่ทำให้ดอกไม้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน เพราะนอกจากบริการจัดช่อดอกไม้ที่คนมักซื้อให้กันในวันพิเศษ พวกเขายังมีบริการ flower subscription และเปิดเวิร์กช็อปสอนจัดดอกไม้อยู่เสมอ สนับสนุนให้คนซื้อดอกไม้ไปตกแต่งบ้านเพิ่มความสดชื่นในทุกๆ วัน

Flower in hand by P.

แม้แต่ช่วงโควิดที่หน้าร้านต้องปิด พวกเขาก็ออกโปรดักต์แจกันพร้อมช่อดอกไม้ให้คนได้ซื้อไปเพิ่มความสดใสในช่วงกักตัวและกลายเป็นสินค้าขายดีทันที

แน่นอนว่าปริมาณดอกไม้ที่เพิ่มขึ้นหมายถึงขยะที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

“พอแจกันดอกไม้ได้รับผลตอบรับดีมากกลายเป็นว่าร้านมีออร์เดอร์เพิ่มขึ้น ขยะต่อวันก็เยอะขึ้นกลายเป็น 1-2 ถุงขยะของถังขยะ กทม. ส่วนหนึ่งคือขยะจากบรรจุภัณฑ์พวกกระดาษห่อ อีกส่วนเป็นขยะจากดอกไม้ซึ่งเหลือค่อนข้างเยอะจนเพื่อนมาที่ร้านแล้วเพื่อนถามว่า ‘แกทิ้งอันนี้ทำไม’ หรือลูกค้ามองดอกไม้ในถังขยะแล้วก็พูดว่า ‘สงสารน้อง’” แพรเล่า

“คนมองว่ามันยังมีคุณค่า ยังสวยอยู่ แต่เราไม่สามารถเอาดอกไม้เหล่านั้นมาทำช่อได้จริงๆ แค่กลีบมีรอยสีน้ำตาล รอยเฉา หรือก้านดอกไม้หักหรือสั้นก็นำมาจัดเป็นช่อไม่ได้แล้วเพราะลูกค้าเขาคาดหวังว่าช่อดอกไม้จะต้องสมบูรณ์

“พอถึงช่วงวาเลนไทน์ เราเห็นคนมาเก็บขยะร้านเราไปประมาณ 10 ถุงแล้วรู้สึกแย่มากเพราะมันส่งผลให้คนอื่นต้องมาแบกภาระกับร้านเรา เรารู้สึกว่าถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไปเราจะรู้สึกแย่ในการทำธุรกิจ กำไรไม่ใช่ผลตอบแทนที่ทำให้เรารู้สึกดีเพียงอย่างเดียว แต่การได้ทำประโยชน์ให้คนอื่นมันตอบโจทย์ใจเรามากกว่า”

Flower in hand by P.

Waste in hand

ความตั้งใจจริงทำให้แพรและนิวเริ่มหยิบขยะดอกไม้ในร้านมาทดลองแปรรูป แล้วกิ่ง ก้าน ใบ และดอกไม้มีตำหนิก็ค่อยๆ กลายเป็นโปรดักต์ชิ้นแล้วชิ้นเล่าที่วางขายจริงทุกวันนี้

นิวผู้เป็นกำลังหลักฝ่าย upcycling เล่าให้เราฟังถึงวิธีคิดอย่างละเอียดลออ

“เมื่อก่อน พวกดอกไม้มีตำหนิหรือก้านสั้นเราจะนำมาห้อยไว้เฉยๆ ให้เป็นดอกไม้แห้ง แต่พอเริ่มคิดว่าจะลดขยะ เราก็รีเสิร์ช ทดลองหลายๆ วิธีจนได้วิธีคิดโปรดักต์ออกมา ดังนั้นเวลาเจอดอกไม้ที่มีตำหนิเราก็มีขั้นตอนจัดการแล้ว”

นิวเล่าว่าขั้นแรก ถ้ารูปทรงและก้านของดอกไม้ยังสวย เขาจะนำไปห้อยทำเป็นช่อดอกไม้แห้งซึ่งคนนิยม

Flower in hand by P.

ขั้นที่สอง ถ้ารูปทรงดอกไม้ยังสวยแต่ก้านหักสั้นจะนำไปเก็บในซิลิก้าเจลทำเป็นดอกไม้แห้งซึ่งแพรจะนำมาจัดเรียง เข้ากรอบอย่างสวยงามให้คนซื้อไปแต่งบ้าน หรือบางดอกอาจนำไปทับกลายเป็นดอกไม้แห้งแบบสองมิติให้อารมณ์นอสทัลเจีย ก่อนถูกนำมาจัดเรียงเป็นโปสต์การ์ดดอกไม้

Flower in hand by P.

ในช่วงวาเลนไทน์ที่ผ่านมาพวกเขายังทดลองบริการใหม่ให้ลูกค้าที่ซื้อดอกไม้ไปสามารถส่งดอกไม้กลับมาให้ทางร้านเข้ากรอบเก็บความทรงจำ และหากทดลองแล้วว่าภายในช่วง 6 เดือนดอกไม้ยังคงสภาพดีนี่อาจจะเป็นบริการหลักของร้านในอนาคต

ขั้นที่สาม ถ้าดอกไม้นั้นร่วงโรยจนแทบไม่เป็นทรง พวกเขาจะเก็บไว้เฉพาะกลีบ รวบรวมนำไปทำเป็นสีย้อมผ้าหรือสีระบายจากดอกไม้

เอาแค่สามขั้นตอนนี้ก็ได้โปรดักต์ขายดีมาแล้วหลายชิ้น (อย่างกรอบรูปและโปสต์การ์ดนั้นขายดีมากชนิดที่ทำออกมาเท่าไหร่ก็หมด) ถึงอย่างนั้นกระบวนการเหล่านี้ก็แทบจะเป็นการจัดการกับตัวดอกอย่างเดียว นิวจึงต้องคิดต่อว่าส่วนอื่นล่ะจะนำไปทำเป็นอะไรดี

คำตอบสุดเซอร์ไพรส์ ส่วนหนึ่งกลายร่างเป็นกระดาษห่อดอกไม้อีกที

Flower in hand by P.

“เท่าที่เราทดลองมามีดอกไม้ไม่กี่ชนิดที่สามารถดึงสีออกมาย้อมได้ เราเลยต้องคิดต่อว่าจะจัดการกลีบดอกไม้ที่ไม่ให้สีหรือใบที่ต้องลิดทิ้งยังไง สุดท้ายก็ลองนำไปพัฒนากับกลุ่มที่ทำกระดาษสาที่เชียงใหม่ทำเป็นกระดาษเยื่อ กระดาษสาเอากลับมาห่อดอกไม้ที่ร้าน”

ทั้งสองคนหยิบกระดาษสาที่พัฒนาแล้วมาให้ดู ไม่บอกก็ไม่รู้ว่าในนั้นมีส่วนผสมของเศษดอกไม้ ใบไม้อยู่เป็นจำนวนมาก ถึงอย่างนั้นเมื่อรู้แล้วกระดาษตรงหน้ายิ่งดูสวยขึ้นอีกเท่าตัว

Flower in package

อย่างที่แพรเล่าให้เราฟังตั้งแต่ต้น ขยะของร้านดอกไม้แบ่งได้เป็นสองหมวดใหญ่ๆ หมวดแรกคือขยะดอกไม้ที่พวกเขานำไป upcycling เป็นโปรดักต์สร้างสรรค์ อีกส่วนคือขยะจากแพ็กเกจจิ้งไม่ว่าจะเป็นกระดาษห่อดอกไม้ โอเอซิส เทปกาว และสิ่งอื่นๆ ที่ย่อยสลายตามธรรมชาติได้ยากเย็น

เมื่อจะลดขยะภายในร้าน บรรจุภัณฑ์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยน

“ร้านเราสร้างขยะส่วนหนึ่งแล้ว ลูกค้ารับแพ็กเกจจิ้งไปก็สร้างขยะเหมือนกัน เราเลยอยากเปลี่ยนมาใช้แพ็กเกจจิ้งที่นำไปใช้ซ้ำได้ ช่วงวาเลนไทน์ปี 2019 เราเริ่มหาผ้าลายน่ารักๆ เอามาห่อดอกไม้แล้วก็บอกลูกค้าว่ามันเอาไปใช้ห่ออย่างอื่นได้อีกหรือผูกผมได้นะ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแพ็กเกจ ปัจจุบันช่อผ้าก็ยังมีขายที่ร้านแต่เราพัฒนามันมาเรื่อยๆ ต่อไปก็จะเพิ่มการใช้ผ้าที่ย้อมจากสีดอกไม้เหลือทิ้งด้วย” แพรอธิบาย

ถ้าเคยเป็นลูกค้าของ Flower in hand by P. จะรู้ว่าเอกลักษณ์ของพวกเขาคือการใช้โทนสีละมุนตาและประเภทกระดาษห่อที่มีให้เลือกสารพัด ตั้งแต่กระดาษขาว กระดาษสี ไปจนถึงพลาสติก เมื่อจะปรับให้ eco ขึ้นแพรเล่าต่อว่าพวกเขายังต้องคงเอกลักษณ์เอาไว้ทั้งเรื่องห่อผ้าคุม โทนสี และความหลากหลายของวัสดุ

Flower in hand by P.

ดังนั้นนอกจากใช้ผ้าห่อ แพรและนิวยังครีเอทีฟหยิบเอาถุงผ้ามาใส่ช่อดอกไม้ให้รียูสง่ายขึ้น ซึ่งขายดิบขายดี โดยผ้าที่นำมาทำถุงเป็นเศษผ้าจากอุตสาหกรรมแฟชั่นที่พวกเขาได้จากองค์กร moreloop ช่วยลดขยะในแวดวงอื่นไปพร้อมกัน

“ละเอียดไปกว่านั้น เราพยายามปรับทุกวัสดุที่ใช้ เช่น ตอนแรกเราใช้สำลีในการหุ้มน้ำให้ดอกไม้แต่มันสร้างขยะเยอะเราเลยเปลี่ยนมาใช้เศษผ้าที่เหลือทิ้ง เปลี่ยนสกอตเทปและเชือกเป็นเกรดย่อยสลายได้ หรือปกติเวลาจัดกระเช้าจะต้องใช้โอเอซิสซึ่งย่อยสลายไม่ได้ เราก็เปลี่ยนเป็นการจัดดอกไม้ใส่แจกันแทน” แพรชี้ให้ดูตัวอย่างกระเช้าสานที่มีแจกันซ่อนอยู่ในนั้นดูน่ารัก เป็นครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้ที่เราประทับใจไอเดียของพวกเขาซึ่งทั้งแก้ปัญหาได้ดีแต่ไม่ทำให้รู้สึกว่าคุณภาพด้อยลง กลับกันยิ่งทำให้โปรดักต์น่ารัก แตกต่างกว่าเดิม

Sustainability in communication

ถ้าเป็นแบรนด์เปิดใหม่การสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจจุดยืนคงไม่ยาก แต่เพราะ Flower in hand by P. มีอายุถึง 7 ปีและมีแฟนๆ เหนียวแน่น การเปลี่ยนจึงไม่ได้ทำได้ทันที โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ที่กระทบต่อภาพจำที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์​

ต้นไม้ยังต้องใช้เวลาเติบโต แพรบอกว่าพวกเขาก็ต้องใช้เวลาค่อยๆ สื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจเช่นกัน

“เราทำธุรกิจ เวลาปรับเปลี่ยนจะให้เปลี่ยนในวันเดียวลูกค้าจะตกใจ เช่น เรื่องกระดาษห่อดอกไม้ ลูกค้าบางคนจะยังติดกับภาพเดิมๆ ว่าช่อดอกไม้ก็ต้องห่อกระดาษสิ เราเลยยังเหลือตัวเลือกกระดาษไว้ แต่ไม่มีกระดาษพลาสติกแล้ว และเพิ่มตัวเลือกอย่างเช่นโท้ตแบ็ก ต่อไปเราอาจจะเปลี่ยนเป็นกระดาษสาทั้งหมดเพื่อให้ย่อยสลายง่าย เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกสนุกในการเลือกแล้วค่อยๆ ทำคอนเทนต์ความรู้ในช่องทางของเราว่าทำไมเราถึงมีทางเลือกเหล่านี้”

Flower in hand by P.

“เวลาสื่อสารกับลูกค้าเราต้องค่อยๆ ทำให้เขาเห็น แทรกซึมเข้าไปทีละนิด”​ นิวช่วยเสริม “เราไม่ได้เปลี่ยนตู้มเดียวแต่วางวิชชั่นไว้ว่าปีไหนเราจะไปถึงจุดไหน เช่น แน่นอนเราก็ยังมีสต็อกวัสดุอยู่เราก็ไม่ได้ตัดทิ้ง เพราะถ้าตัดทิ้งก็เหมือนกับเราก็สร้างขยะอยู่ดี ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ สื่อสาร” แพรเสริมอีกนิดว่าช่วงเวลาในการสื่อสารก็สำคัญ ลองเลื่อนกลับไปอ่านบทความนี้อีกครั้งแล้วจะเห็นว่าทุกครั้งเธอจะเปิดตัวโปรดักต์หรือบริการใหม่ในวันวาเลนไทน์

“แพรเลือกเปลี่ยนทุกๆ วาเลนไทน์เพราะเป็นช่วงที่คนเสิร์ชหาร้านดอกไม้” แพรเฉลย “มันเป็นช่วงที่มีคนเข้ามาดูเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมของเราเยอะ อะไรที่เราสื่อสารในช่วงนี้คนก็จะเห็นเยอะที่สุด อย่างตอนเริ่มทำช่อผ้าก็ทำในช่วงวาเลนไทน์ เพิ่มกระดาษห่อจากกระดาษสาก็ช่วงนี้ หรือที่ลองทำบริการส่งดอกไม้มาเก็บเข้ากรอบก็วาเลนไทน์เหมือนกัน ผลตอบรับที่ได้ก็ค่อนข้างดีเลย”

แต่ไม่ใช่ว่าสื่อสารแล้วจบ แพรและนิวยังเก็บเอาฟีดแบ็กไปพัฒนาต่อ ทั้งการทดลองเข้ากรอบดอกไม้ที่รอฟีดแบ็กถึง 6 เดือน หรือการค่อยๆ ปรับภาพลักษณ์ของ ‘กระดาษสา’ ซึ่งพวกเขาค้นพบว่าคนส่วนใหญ่ไม่ชอบมันแค่เพราะ ‘ขอบกระดาษ’

“ตอนแรกเรามี pain point ว่าคนไทยไม่ค่อยชอบกระดาษสาเพราะรู้สึกว่าเห็นได้ทั่วไป ไม่ค่อยมีมูลค่า ลูกค้าบางคนก็บอกว่าไม่ชอบเพราะขอบมันรุ่ย เราก็ให้คนทำเขาตัดขอบมาเรียบๆ (หัวเราะ) กลายเป็นว่าลูกค้าโอเคมากขึ้น เหมือนเขารับไม่ได้แค่ที่ขอบมันดูรุ่ยๆ ไม่ได้รับไม่ได้ที่มันเป็นกระดาษสา” แพรเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

แค่โซเชียลมีเดียยังสื่อสารได้ไม่กว้างพอ ในงาน Bangkok Design Week 2022 ที่ผ่านมา พวกเขาเลยเอาการทดลอง upcycling ดอกไม้รูปแบบต่างๆ ไปจัดแสดง

“จุดประสงค์คือเราอยากให้คนเห็นว่าดอกไม้สามารถอยู่ต่อไปได้นะ เพราะว่าส่วนใหญ่ลูกค้าคนไทยจะชอบดอกไม้สดแต่ชอบดอกไม้ที่อยู่ได้นาน มันขัดแย้งกัน (หัวเราะ) เราเลยทำ mini exhibition ให้ลูกค้าดูเลยว่าการเก็บดอกไม้แห้งหรือเอาไป upcycling มันไม่ยาก คนก็เข้าใจมากขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ก็สนใจอยากรู้ว่าเขาจะเก็บดอกไม้ยังไงซึ่งตรงตามจุดประสงค์ของเราที่อยากลดขยะและอยากให้ลูกค้าลดด้วย”

Flower in business

“เดี๋ยวนี้วันหนึ่งเหลือขยะไม่ถึงครึ่งถุงครับ” นิวตอบทันทีที่เราถามว่าปัจจุบันผลประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมของร้านเป็นยังไง ส่วนผลประกอบการด้านกำไร ทั้งนิวและแพรเห็นตรงกันว่าตั้งแต่ปรับทิศทางให้ดีต่อโลก ธุรกิจก็ดียิ่งขึ้นไปอีก

“รายได้เพิ่มเกิดจากโปรดักต์ที่เรา upcycling นี่แหละ อย่างกรอบรูปดอกไม้ก็ขายดี แล้วก็มีการ์ดดอกไม้ที่ขายค่อนข้างง่ายเพราะราคาไม่สูง บางทีก็ขายออกคู่กับช่อดอกไม้ บางทีลูกค้าไลน์มาขอซื้อการ์ดอันเดียวไปติดที่บ้านก็มี หรือโท้ตแบ็กก็ขายดีเพราะเอาไปใช้ต่อได้

“ลูกค้าใหม่ก็มีเข้ามาเพิ่มด้วย อย่างช่วงที่ผ่านมาแบรนด์ H&M Home เขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน พอเขาเห็นว่าร้านเราพยายามปรับตรงจุดนี้เขาก็ชวนไปทำเวิร์กช็อปดอกไม้” แพรบอก

Flower in hand by P.

“เราคิดว่าเราสามารถขยายกลุ่มลูกค้าได้ด้วย” นิวอธิบายเพิ่มเติม “ที่ผ่านมาจะมีคนบางกลุ่มที่มองว่าดอกไม้ให้ไปแล้วก็รอวันทิ้ง พอเราสามารถ upcycling มันได้ก็เหมือนได้เจาะตลาดลูกค้ากลุ่มนี้เพิ่ม รวมถึงเรามองว่าในอนาคต ทั้งลูกค้าที่เป็น end user เองหรือภาคธุรกิจจะให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มันก็เป็นจุดแข็งหนึ่งที่เราสามารถเสนอได้ว่าร้านของเราให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน”

มากกว่าโปรดักต์ที่เพิ่มขึ้น ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมยังพาให้แพรและนิวคิดต่อยอดธุรกิจร้านดอกไม้สู่ธุรกิจฟาร์ม เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจดอกไม้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

เพราะ pain point ของร้านดอกไม้ไม่ได้มีแค่เรื่องขยะซึ่งแทบจะอยู่สุดกระบวนการ นิวเล่าว่ายังมีเรื่องของสารเคมีที่ใช้ปลูกดอกไม้​ และ carbon footprint ที่เกิดจากการนำเข้าดอกไม้ด้วย

Flower in hand by P.

“pain point หลักตอนนี้คือเรื่องขยะซึ่งเราเริ่มแก้ได้แล้ว ส่วน pain point อีกสองข้อของเราคือเรื่องการนำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศ แต่ก่อนเราใช้ดอกไม้นำเข้าถึง 80% ทั้งจากจีน ยุโรป เคนยา เอกวาดอร์ ซึ่งสร้าง carbon footprint มากมายและไม่สร้างรายได้ให้คนไทย รวมไปถึงเราไม่รู้ว่าดอกไม้ที่เราเอาเข้ามามีสารเคมีปนเปื้อนมากน้อยแค่ไหน

“พอเราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเลยคิดว่าทำไมไม่ทำให้มันครบกระบวนการไปเลยล่ะ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือมีฟาร์มปลูก เราเข้าใจว่าดอกไม้ที่ปลูกแบบแมสอาจต้องใช้สารเคมี ใช้ยาฆ่าแมลงค่อนข้างเยอะ เราอยากเริ่มเล็กๆ ทดลองใช้สารเคมีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้หรือไม่ใช้เลย ถ้ามันเวิร์กก็อยากขยายไปสร้างเครือข่ายเกษตรกรให้เขามีรายได้เพิ่มขึ้น การทำแบบนี้ทำให้เราแทร็กได้ว่าดอกไม้มีที่มายังไงและได้ช่วยลด carbon footprint เพราะว่าเราไม่ต้องนำเข้าแล้ว ร้านเราก็ได้ซัพพลายดอกไม้ ส่วนขยะที่เหลือตอนนี้ก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์เอากลับมาใช้ที่ฟาร์มได้เลย”

แต่ไม่ว่าวิธีการหรือธุรกิจจะเปลี่ยนหน้าตาไปแค่ไหน สุดท้ายแล้วหัวใจของร้านก็ยังเป็นเรื่องเดิม นั่นคือการทำให้ชีวิตประจำวันของคนชุ่มชื่นด้วยดอกไม้และมีดอกไม้เป็นธรรมชาติใกล้ๆ ตัว

เพียงแต่วันนี้ธรรมชาติที่ดอกไม้นั้นเติบโตมากำลังจะดีขึ้นอีกนิดด้วยสองมือของ Flower in hand by P.

คุยกับ Aww บริษัทรับสร้างสรรค์ virtual human เจ้าแรกในญี่ปุ่นที่ทำให้คนทั่วโลกร้อง awww

ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงเรื่องการสร้างสรรค์งานป๊อปๆ จนกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อันแข็งแรงอยู่แล้วทั้งการ์ตูน อนิเมะ เกมต่างๆ และยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แม้ฝั่งเพลงและละครจะพลาดท่าให้เกาหลีไปบ้าง แต่ฝั่งความบันเทิงสองถึงสามมิติก็ยังยืนหนึ่ง aww tokyo

ช่วง 3-4 ปีที่แล้ว VTuber หรือ virtual YouTuber ยูทูบเบอร์ที่ใช้ตัวการ์ตูนญี่ปุ่นแทนหน้าของตัวเองเริ่มป๊อปขึ้นมาจนมีจำนวนหลายพันคน แต่ที่มาแรงมากตอนนี้ต้องยกให้ virtual human มนุษย์เสมือนจริงจากบริษัท Aww ที่สร้างความตื่นเต้นไปทั่วโลก

virtual human คือมนุษย์เสมือนจริงที่สร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยคอมพิวเตอร์ ส่วนมากน้องๆ จะมีแอ็กเคานต์โซเชียลมีเดียเป็นของตัวเองและมีคาแร็กเตอร์เป็นเอกลักษณ์ต่างกันออกไปตามใจของผู้สรรค์สร้าง ไม่ต่างจากอินฟลูเอนเซอร์คนหนึ่ง VHuman ของที่นี่นั้นมีหลายคาแร็กเตอร์และก้าวไกลเกินกว่า VTuber ไปเยอะมาก น้องๆ เข้าไปแจมในหลายวงการและได้รับการยอมรับจากหลายแบรนด์ระดับโลก เช่น Disney, Nintendo, SK-II, IKEA, P&G, Porsche, Dior หรือแม้แต่ KFC ยิ่งวงการแฟชั่นยิ่งงานชุกมาก ทั้งงานแฟชั่นโชว์และนิตยสาร

VHuman ของ Aww มีที่มาที่ไปยังไง ทำไมถึงไปไกลได้ขนาดนี้และจะไปไหนต่อ Takayuki Moriya หนึ่งในผู้ก่อตั้งมีคำตอบ

image : instagram.com/imma.gram

Virtual to Reality

Aww ก่อตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2019 เป็นบริษัท virtual human เจ้าแรกในญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าทำงานแทบจะครบวงจร ทั้งเป็นโมเดลลิ่งพาน้องๆ VHuman ในสังกัดไปทำงานต่างๆ และรับสร้างสรรค์ VHuman ให้กับลูกค้าโดยดูรวมไปถึง direction และ storytelling

image : instagram.com/imma.gram
image : instagram.com/plusticboy

Aww มีชื่อบริษัทมาจากภาษาอังกฤษ Aww ซึ่งเป็นเสียงร้องเมื่อเราได้ยินเรื่องน่าประทับใจ เพราะพวกเขาตั้งใจจะสร้างคอนเซปต์ใหม่หรือลูกเล่นใหม่ๆ ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและสื่อสารเมสเซจที่ทำให้ผู้คนฉุกคิดถึงอะไรบางอย่างที่ทำให้คนเห็นแล้วรู้สึก “อ่อวว์…”

“ส่วนหนึ่งที่เลือกคำนี้เพราะผมชอบปฏิสัมพันธ์ (interaction) ที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ต เลยอยากเลือกใช้คำที่คนใช้กันในอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงอยากให้คนเห็นคอนเทนต์ของเราแล้วรู้สึกแบบนั้น คือตกใจ เซอร์ไพรส์ อะไรแบบนี้” ทาคายูกิ CEO หนุ่มเริ่มเล่า 

ที่นี่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องงาน CG, AI, AR, VR ต่างๆ อยู่แล้ว พวกเขาทำวิจัยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและสีหน้าของมนุษย์มากว่าสิบปี เมื่อมีทั้งเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์จึงนำไปสู่ผลงานที่แตกต่างจากในตลาดและได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็ว

aww tokyo
image : instagram.com/imma.gram

“ช่วงที่คนเริ่มเปลี่ยนจากการเสพสื่อแมสมาเป็นสื่อโซเชียล พวกผมกำลังอยากสร้างวัฒนธรรมใหม่ของญี่ปุ่นที่ไม่ใช่อนิเมะ สิ่งที่เราทำเลยสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมพอดี 

“ยุคนี้ virtual มาแรง เราต้องมีแพลตฟอร์มเพื่อแข่งขันในระดับโลก ซึ่งในญี่ปุ่นยังไม่ค่อยมี แต่พวกผมมีเทคโนโลยีและทักษะที่สามารถทำเรื่องพวกนี้ได้ จริงๆ แล้วผมก็ไม่อยากยึดติดว่าจุดแข็งของเราคือเทคโนโลยีมากนักเพราะมันเป็นสิ่งที่คนก็ทำกันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ผมมองว่าเป็นที่รู้จักในฐานะเป็นแบรนด์ที่สร้างมนุษย์หรือ virtual human ก็ต้องใช้ตรงนี้เป็นจุดขายสร้างมูลค่าให้มันมากขึ้น เราเลยจะก้าวสู่โลก NFT ด้วย”

สมเป็นแนวคิดของชายผู้เคยให้สัมภาษณ์ว่างานครีเอทีฟยังไงก็ต้องพึ่งพาสื่อ ไม่งั้นต่อให้สร้างคอนเทนต์น่าสนใจแค่ไหนก็ไม่มีคนรู้จัก ส่วนแก่นสำคัญที่เขาใส่ใจคืออะไรนั้น ซีอีโอหนุ่มตอบไว้เช่นนี้

“พวกผมเป็นครีเอเตอร์ ถึงแม้ตอนนี้โลกเราขับเคลื่อนด้วยตัวเลข เช่น KPI ใช้ตัวเลขวัดความสำเร็จ แต่สิ่งที่เราใส่ใจคืองานที่ทำขับเคลื่อนความรู้สึกของใครได้ไหม”

image : instagram.com/ria_ria_tokyo
image : instagram.com/ria_ria_tokyo

Virtual and Human

Aww มี Vhuman ในสังกัดหลากหลาย แต่ละคนก็มีคาแร็กเตอร์ ความถนัดแตกต่างกันไป เช่น Ella เป็น Vhuman ที่พัฒนาร่วมกับดิสนีย์ซึ่งดูมีความเป็นเจ้าหญิงน่าเอ็นดูตามแบรนด์อิมเมจ และ Plusticboy หนุ่มน้อยหน้ามนสุดเท่ไฮแฟชั่น แต่ดาวเด่นที่สร้างชื่อให้บริษัทคือ Imma สาวแซ่บผมสั้นสีชมพูสดใสกับลุคสุดคูล พี่สาวของ Plusticboy นั่นเอง

Imma ได้ร่วมงานกับแบรนด์ชั้นนำมากมายอย่าง SK-II, IKEA, Porsche ขึ้นปกนิตยสารอีกเป็นกอง ได้คอลแล็บกับ Kusama Yayoi Museum และร่วมงานกับต่างชาติมากมาย รวมไปถึงบริษัทสัญชาติไทยอย่าง True Corporation ในฐานะ brand ambassador ของ True 5G ด้วย ยังไม่พอ น้องยังติดโผ Forbes women of the year ปี 2020, เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน NEW VIEW AWARDS 2021 ของญี่ปุ่นและได้ปรากฏตัวในงานพิธีปิดของ Tokyo 2020 Paralympic Games อีกต่างหาก

image : instagram.com/imma.gram
image : instagram.com/imma.gram

“หลายแบรนด์อาจจะมองข้อดีของการคอลแล็บกับ Vhuman ในแง่ของความแปลกใหม่ แต่อีกหลายเจ้าก็เลือกเพราะชอบสตอรี่และการแสดงออกของ Vhuman คนนั้นจริงๆ ใช้เกณฑ์เดียวกันกับเวลาแคสต์ดาราเซเลบเลยครับ ซึ่งจุดนี้ผมมองว่า Vhuman ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์เลย” ทาคายูกิเคยเล่าถึงข้อดีในการร่วมงานกับ Vhuman ไว้เช่นนั้น

ด้วยความเป็น Vhuman ที่สามารถก้าวข้ามขอบเขตที่มนุษย์ทำไม่ได้หลายอย่าง อีกทั้งยังไม่มีปัญหาเรื่องความเหนื่อยล้า ดราม่าต่างๆ แถมยังแปลกใหม่สร้างสีสันให้แบรนด์ แต่เห็นอายุน้อยร้อยงานแบบนี้ น้องๆ ก็ไม่ได้รับงานมั่วซั่ว แต่แอบเลือกงานละเอียดทีเดียว 

“มีงานด้านแฟชั่นติดต่อเข้ามาเยอะซึ่งเราก็ปฏิเสธไปเยอะเหมือนกันครับ ที่ผ่านมาการเสพสื่อแมสเป็นการสื่อสารทางเดียว ไม่สามารถทัชความรู้สึกคนดูได้ แต่ตอนนี้การเสพสื่อเปลี่ยนไป ซึ่งถ้าไม่จำกัดงานที่รับหรือดูขอบเขตให้ดีมันอาจจะเป็นการโกหกได้ซึ่งพวกผมไม่อยากทำแบบนั้น เมสเซจที่เราอยากสื่อสารกับสิ่งที่ลูกค้าอยากสื่อสารควรไปในทางเดียวกัน ต่อให้ได้เงินเยอะแค่ไหน ถ้าแนวคิดไม่ตรงกันก็ไม่รับทำครับ”

นอกจากจะดูเนื้อหาและคุณภาพของงาน อีกสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญอย่างมากคือความรู้สึก 

“เราทรีต Vhuman เป็นเหมือนมนุษย์และมีความรักให้กับคาแร็กเตอร์ที่สร้างขึ้นมา ดูว่างานที่จะรับเป็นงานที่พวกเขาอยากจะทำจริงๆ ไหม มีหลายคาแร็กเตอร์ที่โดนใช้งานเหมือนเป็นหุ่นยนต์ที่ถูกใช้เพื่ององค์กร มันน่าสงสารครับ ผมพยายามจะไม่ให้คาแร็กเตอร์หมดคุณค่าหลังทำงาน”

image : instagram.com/ria_ria_tokyo

Virtual Future

Aww ไม่ได้กำหนดตายตัวว่าจะต้องสร้างสรรค์ Vhuman ใหม่ๆ ออกมาทุกกี่เดือน แต่ก็ยังตั้งใจจะทำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสื่อสารสิ่งที่พวกเขาวางแผนเอาไว้ อีกทั้งยังตั้งใจจะลุย NFT ให้มากขึ้นด้วยอย่างที่เคยเล่าไว้ตอนต้น

“ตอนนี้รายได้ของบริษัทมาจากการรับงานของ Vhuman และการพัฒนา Vhuman ให้ลูกค้าครับ เดี๋ยวจะลุยเรื่อง NFT มากขึ้น มีโปรเจกต์สนุกๆ ที่ยังไม่ได้ประกาศด้วย งานแบบเดิมก็ยังรับแต่หลังจากนี้ NFT น่าจะเป็นหลัก

image : instagram.com/imma.gram
image : instagram.com/imma.gram

“ผมว่าญี่ปุ่นสร้าง IP (intellectual property หรือทรัพย์สินทางปัญญา ในที่นี้หมายถึงงานสร้างสรรค์อย่างการ์ตูน ป๊อปอาร์ต เกม อนิเมะ ฯลฯ) เก่งนะ โดยส่วนตัวผมมองว่า Vhuman มีความเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตในเชิงศาสนาความเชื่อ เช่น การนับถือภูตผี ความเชื่อว่ามีเทพ ชีวิต จิตวิญญาณในทุกสรรพสิ่งไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ ผมว่าแนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการเกิดของอนิเมะ มังงะ คือเป็นภาพที่เขียนบนกระดาษแล้วมีชีวิตขึ้นมา ก็เหมือนความเชื่อในอดีตที่เชื่อว่ามีจิตวิญญานสถิตอยู่ Vhuman เองก็เช่นกัน 

“แต่ผมว่าญี่ปุ่นไม่เก่งเรื่องธุรกิจ NFT ตอนนี้มีคอนเทนต์ญี่ปุ่นเยอะ แต่ส่วนมากเป็นคนต่างชาติสื่อสารผ่านวัฒนธรรมญี่ปุ่นมากกว่า โดยส่วนตัวผมมองว่าการแข่งขันของญี่ปุ่นจะเริ่มหลังจากนี้ อาจจะช้า แต่น่าจะมาแน่ครับ”

ศึก Vhuman ใน NFT เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย น้องๆ กระโจนออกมาจากโลกเสมือนสร้างสรรค์งานให้เราเสพในโลกจริงจนตื่นเต้น แล้วกำลังจะกลับเข้าไปฟาดฟันในพื้นที่ดิจิทัลอีกครั้ง อาจจะมีอะไรมาทำให้เราร้อง Aww อีกในไม่ช้า

ส่วนใครที่อยากจะสร้าง Vhuman กับเขาบ้าง ทาคายูกิทิ้งคำแนะนำสั้นๆ ไว้ให้ว่า 

“ไม่ควรตามกระแสหรือความต้องการของตลาด ทำตามที่ตัวเองอยากทำเต็มที่ไปเลยครับ ไม่งั้นคอนเทนต์จะไม่สนุก”

คุยกับโจ้ ธนา และหนุ่มเมืองจันท์ สองผู้ก่อตั้ง ABC ที่ประกาศเลิกทำหลักสูตร ทั้งที่มีจำนวนคนสมัครล้นหลาม

สถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ หรือ ABC (Academy of Business Creativity) คือหลักสูตรธุรกิจที่เอาวิทยากรด้านธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์มาให้ความรู้ 

นอกจากความรู้จากประสบการณ์จริงของคนแวดวงต่างๆ หลักสูตรของที่นี่ยังให้มิตรภาพและความทรงจำ ซึ่งไม่เกินจริงเลยหากจะบอกว่านักธุรกิจ (ชั้นนำ) กว่าครึ่งวงการเคยผ่านหลักสูตรนี้มาแล้วทั้งนั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรทำให้เจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ ทายาทธุรกิจ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั่วฟ้าเมืองไทย หลากหลายอุตสาหกรรม หลากหลายวัย พร้อมใจกันจ่ายเงินหลักแสนบาทสมัครเรียนหนังสือ ในหลักสูตรที่มีชื่อผู้สอนและเนื้อหาที่เรียนแตกต่างจากทุกหลักสูตรในตลาด ไม่ว่าจะเป็น อนันต์ อัศวโภคิน, ประภาส ชลศรานนท์, เศรษฐา ทวีสิน, สุวภา เจริญยิ่ง, สุรชัย พุฒิกุลางกูร หรือแม้แต่เรียนวิชาทำหนังสั้นกับจิระ มะลิกุล 

และไม่ว่างานและหมายนัดประชุมจะยุ่งวุ่นวายแค่ไหน หากได้เข้าเรียน แทบจะไม่มีใครยอมพลาดกิจกรรมทั้งกลางวันและกลางคืนของหลักสูตรนี้ไปได้เลย 

หากใครติดตามข่าวสารแวดวงธุรกิจมาบ้าง ย่อมรู้ว่าหลักสูตร ABC เริ่มต้นจากไอเดียสนุกๆ ของ โจ้–ธนา เธียรอัจฉริยะ และ ตุ้ม–สรกล อดุลยานนท์ หรือหนุ่มเมืองจันท์  แม้จะออกตัวว่าไม่เคยทำหลักสูตรใดๆ มาก่อน แต่ด้วยแนวคิดที่เฉียบคม ความแปลกใหม่ ความใส่ใจในรายละเอียด และความเอาจริงเอาจัง ก็ทำให้หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย จนถึงตอนนี้เดินทางสร้างนักธุรกิจมาแล้ว 12 รุ่น 

แรกเริ่มเดิมที Capital ตั้งใจชวนทั้งธนาและสรกลมาถอดรหัสความสำเร็จตลอด 10 ปีที่ทำหลักสูตรธุรกิจนี้ จนกระทั่งรู้ว่าทั้งสองคนตัดสินใจประกาศเลิกทำหลักสูตร ABC โดยจะทำถึงรุ่นที่ 14 ซึ่งขณะนี้มีนักเรียนสมัครครบเต็มทุกอัตรา

ก่อนจะไปฟังที่มาและเหตุผลของการเลิกทำ เราชวนผู้ก่อตั้งทั้งสองคนย้อนไปคุยถึงปีแรกที่ริเริ่มทำ ตั้งแต่คิดวิชาสนุกๆ วางแผนกลยุทธ์หาคนมาเรียน การคัดคน การแก้เกมในช่วงวันแรกๆ ที่ทั้งคู่ยอมรับว่าแป้ก ไม่เหมือนอย่างที่คิด ไปจนถึงเรื่องบรรยากาศการเรียนการสอนที่ไม่ได้ปาร์ตี้หนักอย่างที่หลายคนเข้าใจ วิธีการสร้างคอมมิวนิตี้ที่แน่นแฟ้นที่สุด และเคล็ดลับที่ทำหลักสูตรให้ได้ใจผู้เรียนจนมีคนยื่นใบสมัครตลอด ไม่เคยต้องเสียเงินแม้แต่บาทเดียวทำโฆษณาใดๆ

วงการธุรกิจและสร้างสรรค์จะเป็นยังไงในวันที่ไม่มีหลักสูตร ABC แล้ว ไปฟังทั้งสองคนพร้อมกัน

อะไรทำให้คุณทั้งคู่ลุกขึ้นมาจับมือกันทำหลักสูตรที่เป็นที่กล่าวขานในวงการธุรกิจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

ธนา : ตอนนั้นเป็นช่วงที่เราลาออกจากงานพอดี ตอนแรกอาจารย์เน่ง– ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน เจ้าของและอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ชวนไปสอนหนังสือ พอเสนอให้เขาทำหลักสูตรธุรกิจ อาจารย์เน่งก็สนับสนุนทันที โดยที่เรายังไม่รู้วิธีทำคลาสเรียนเลยนะ ก็เลยไปชวนพี่ตุ้มซึ่งลาออกจากงานมาเหมือนกัน

สรกล : ผมกับโจ้คุ้นเคยกันมาตั้งแต่ทำ Happy Book Day ของสำนักพิมพ์มติชนซึ่งดีแทคมาเป็นสปอนเซอร์หลัก โจ้ก็เป็นตัวละครในหนังสือของผมด้วย ผมเขียนเรื่องโจ้บ่อยมาก ตอนนั้น ผมเพิ่งลาออกจากมติชนมาได้ไม่นาน โจ้มาหาผมพร้อมไอเดียว่าอยากทำหลักสูตรธุรกิจที่รวมสมองซีกซ้าย-ซีกขวา หรือความคิดในฝั่งศาสตร์และศิลป์ พวกเราก็นั่งคิดชื่อวิทยากรกันก่อน

ABC

ในเมื่อต่างคนต่างไม่เคยทำหลักสูตรเรียนกันมาก่อน พวกคุณเริ่มต้นจากอะไร

ธนา : หลักสูตรที่มีในเวลานั้นมักจะมีสถาบันมากำหนดคอนเซปต์และท่าในการเล่าชัดเจน เช่น เรื่องตลาดทุน เรื่องความยุติธรรม เรื่องทหารและความมั่นคงต่างๆ แต่ที่นี่อาจารย์เน่งบอกแค่ว่าอยากทำอะไรทำเลย ทำให้เต็มที่เลย ถ้าเกิดอะไรขึ้นเดี๋ยวเธอรับผิดชอบเองไม่ต้องเป็นห่วง เพราะฉะนั้นมันเลยไม่มีกรอบตั้งแต่แรก

เราคิดจากคนเรียนมากกว่าว่าเราอยากฟังใคร เราอยากฟัง พี่จิ๋ม–สุวภา เจริญยิ่ง, คุณอนันต์ อัศวโภคิน และเก้ง–จิระ มะลิกุล เราอยากฟังเพราะเราไม่เคยฟังที่ไหน คิดไปสักพักก็อยากเรียนเองขึ้นมา นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลักสูตรเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง อย่างชื่อ ABC ก็ไม่ได้มาจาก Academy of Business Creativity ตั้งแต่แรก แต่เริ่มจากการหาชื่อย่อเล่นๆ แล้วพบว่า ABC มันจำง่ายดี จากนั้นชวน ตูน–สุธีรพันธุ์ สักรวัตร (ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์) มาช่วยเขียนคำอธิบายหลักสูตรเพื่อทำเอกสารประชาสัมพันธ์ให้ดูวิชาการหน่อย

เรื่องจำนวนนักเรียนตอนนั้นคำนวณง่ายๆ ว่าต้องมีนักเรียนสัก 60 คนถึงจะไปได้ ส่วนเรื่องราคาค่าเรียนตั้งไว้ที่แสนกว่าบาทสำหรับการเรียน 3 เดือน ช่วงแรกๆ ก็มีคนบอกว่าแพง แต่เราก็ขอลองดูถ้าสมัครเรียนไม่ถึง 60 คนก็แค่เลิกทำ

นักการตลาดอย่างพวกคุณใช้วิธีไหนหาคนมาเรียน

ธนา : ช่วงแรกเราลองไปโฆษณาก็ไม่เวิร์กนะ ไม่มีใครสมัคร ผมก็เริ่มเขียนลงเฟซบุ๊ก

สรกล : ผมเขียนในเฟซบุ๊ก ในคอลัมน์ และไล่ตามคอนเนกชั่นที่มีเลย ใช้วิธีเล่าสิ่งที่ทำให้เขาฟัง แล้วบอกว่ามาเหอะ มาเรียน

ธนา : เขาก็มาเพราะเกรงใจกัน แม้ว่าจริงๆ ไม่รู้ว่าคืออะไร ด้วยเครดิตของเราสองคนทำให้ตอนนั้นรวบรวมคนได้มาจำนวนหนึ่ง และในที่สุดเราก็ได้นักเรียนรุ่นแรกมา 99 คน เป็นส่วนผสมที่แปลกมาก มีทหาร มีนักธุรกิจ มีซีอีโอ และเจ้าของกิจการเยอะมาก บางคนเป็นแบรนด์คู่แข่งกันในตลาดก็มาเรียนอยู่ในห้องเดียวกัน มีนักร้อง มีดารา มีอุดม แต้พานิช ด้วย

สรกล : พอเริ่มเรียนวันแรกก็แป้กเลย เพราะคุณครูกับนักเรียนเถียงกัน

ธนา : ใช่ ความครีเอทีฟที่เราคิดว่าดีมาก วันแรกก็แป้กเลย

ABC

เกิดอะไรขึ้น

ธนา : ชีวิตก็แบบนี้ ไม่มีอะไรราบรื่น เราก็กังวลเพราะมีฟีดแบ็กว่าคลาสเรียนอะไรไม่เห็นสนุกเลย พวกเราทำไปก็แก้ไป เพราะความไม่รู้ก็ทำให้ ABC เรามีอะไรบางอย่างที่เป็นซิกเนเจอร์ของเรา นอกจากนี้ช่วงแรกมี เพ็ชร ชินบุตร มาช่วยทำหลักสูตรด้วย เพ็ชรเป็นคนช่วยคิดว่าต้องมีการตั้งกลุ่มเป็นชื่อเมือง หรือต้องมีโครงสร้างหลักสูตรยังไง

กว่าจะมาเป็นวันนี้ เราผ่านอะไรมาเยอะมากเลย สิ่งสำคัญคือเราต้องมองเขาเป็นนักเรียนไม่ใช่ลูกค้า เพราะถ้าเขาเป็นลูกค้า เราจะคิดอีกแบบ เราจะดูแลเขา เราจะพยายามเอาใจเขา แต่เราคิดว่าเขาเป็นนักเรียน เราดูแลเขาดี แต่จะไม่ตามใจ เพราะกติกายังต้องเป็นกติกา

สรกล : ตอนนั้นเราตั้งใจกันว่ายังไงตอนจบก็จะต้องมีทริปไปต่างจังหวัดด้วยกัน โจ้ก็เสนอว่าน่าจะมอบโจทย์ทำหนังสั้นความยาว 5 นาที มีพี่เก้ง (จิระ มะลิกุล) มาสอนวิธีทำหนังสั้นง่ายๆ ใช้เวลาในช่วง 3 วัน 2 คืน ถ่ายทำ 3 ชั่วโมงน่าจะไม่ยากอะไร พี่เก้งฟังก็โอเค แล้วแกเพิ่งมาเล่าตอนก่อนเริ่มทำว่า ทำหนังสั้น 5 นาที คณะนิเทศศาสตร์ใช้เวลาเรียนกัน 1 เทอม แล้วนี่คือนักธุรกิจที่ไม่เคยรู้เรื่องการทำหนังสั้นมาก่อน ต้องเขียนบทเอง ถ่ายทำเองและเล่นเองทั้งหมด กลายมาเป็นเรื่องที่ท้าทายสุดๆ 

รุ่น 1 เราพาไประยอง เป็นรุ่นที่สนุกมากเพราะว่ามั่วมาก แต่ก็ออกมาดีมาก พี่เก้งชอบดูหนังสั้นของ ABC มาก พี่เก้งกับวรรณ–วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ ดูหนังสั้นแล้วคอมเมนต์ละเอียดมาก ซึ่งหลังจากนั้นก็มีพัฒนาการมาเรื่อยๆ มีคนเข้ามาช่วยมากมาย ที่ดีคือถ้าชาว ABC ไปเจอพี่เก้งข้างนอกแล้วทักทาย พี่เก้งจะถามกลับว่าเล่นเป็นตัวละครตัวไหน เพราะพี่เก้งจำนักเรียนเกือบทุกรุ่นได้จากในหนัง ABC 

ABC

จริงๆ แล้ว ABC เป็นหลักสูตรธุรกิจที่สอนอะไรกันแน่

ธนา : หลักสูตรรุ่นแรกๆ อยู่ในคอนเซปต์การรวมกันของสมองซีกซ้ายและซีกขวา วิทยากรที่มาจะสลับกันอยู่คนละบทบาท เช่น ฟังคุณบุญคลี ปลั่งศิริ เล่าเรื่องธุรกิจจ๋าๆ แล้วก็สลับมาฟังคุณสุรชัย พุฒิกุลางกูร เล่าเรื่องศิลปะการสร้างภาพประกอบโฆษณา

สรกล : บางทีก็มีป๋องแป๋ง–อาจวรงค์ จันทมาศ มาเล่าเรื่องดาราศาสตร์ ซึ่งนักธุรกิจชอบมากนะเพราะมันเป็นโลกใหม่สำหรับเขา การทำหนังสั้นและกิจกรรมแรลลี่ก็เช่นกัน หลักสูตรเราตั้งแต่รุ่นที่ 1 มาจนวันนี้ มันก็มีพัฒนาการอยู่ตลอด สิ่งสำคัญคือเราเองก็เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน พวกเราเริ่มต้นจากความไม่รู้ พอไม่รู้เราก็ลอง ถ้าอันไหนไม่ใช่ก็แค่เปลี่ยน

การเปิดโลกใบใหม่อย่างความคิดสร้างสรรค์หรือเรื่องราวนอกวงการนั้นสำคัญต่อคนทำธุรกิจยังไง ถึงขนาดต้องมีหลักสูตรและเรียนกันจริงจังแบบนี้

ธนา : จริงๆ เราไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนขนาดนั้น เราก็แค่มนุษย์ที่มีความอดทนต่ำ สมาธิสั้น เลยชอบฟังอะไรที่สนุก เพราะฉะนั้นอันดับแรกคือต้องสนุกก่อน ซึ่งก็ต้องผ่านการทดลองมา อย่างรุ่นแรกเรามีนักวิชาการมาพูด ปรากฏนักเรียนหลับครึ่งห้อง เราก็เรียนรู้ว่าถ้าจะต้องเชิญวิทยากรมาเขาต้องมีความสามารถในการเล่าเรื่องให้สนุก มีทักษะดึงดูดคนดู หลังจากนั้นเราก็มองหาวิทยากรที่มีความซนเป็นสำคัญ 

สรกล : นอกจากเรื่องเล่าที่สนุก วิชาประสบการณ์ของผู้เล่าก็สำคัญ และสิ่งที่ผมกับโจ้ทำเวลามีวิทยากรมาคือนั่งสังเกตปฏิกิริยาผู้เรียนที่มีต่อผู้พูด

ธนา : ใช่ๆ เราต้องคิดละเอียดเพราะว่าอยากให้นักเรียนนั่งฟังได้จนจบ เราซีเรียสกับจำนวนนักเรียนในห้องมาก คือหลักสูตรส่วนใหญ่ที่ผมเคยไปเรียนมา ถ้าวิทยากรน่าเบื่อนักเรียนก็จะนั่งอยู่กัน 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไปนั่งคุยอยู่นอกห้อง ผมคุยกับพี่ตุ้มตั้งแต่แรกว่าเราไม่อยากให้ห้องเรียนของเรามีบรรยากาศแบบนั้น มาวันนี้เราก็ยังวัดตัวเลขกันอยู่เลยนะ สมมติว่านักเรียนมีประมาณ 140 คน ปกติในห้องมีคนฟัง 100 คนขึ้นไป วิทยากรก็จะตื่นเต้นและสนุกไปด้วย ซึ่งวิทยากรต้องสนุกด้วยนักเรียนถึงไม่ออกไปนอกห้อง 

เราให้ความสำคัญกับห้องเรียนเยอะมาก KPI เราคือจำนวนนักเรียนในห้อง ถ้าคนน้อยเราถือว่าเราเฟลเลย แล้ว KPI เรื่องนี้มันบังคับกันไม่ได้เหมือนเด็กๆ ใครขาดเรียนครูตีมืออะไรแบบนี้ทำไม่ได้ มันก็ต้องขึ้นกับเขา ต้องทำให้เขาอยากมาจริงๆ อยากฟังจริงๆ เพราะฉะนั้นคนที่มาเรียนจะรู้ว่าหลักสูตรเราสนุก ตอนไปเรียนหลักสูตรอื่นเราก็ไม่เคยต้องฟังต้องจดอะไรเยอะขนาดนี้เหมือนกัน

ABC

นอกจากความสนุกแล้ว โจทย์ของการทำ ABC มีอะไรอีกบ้าง

สรกล : เวลาที่คนเราฟังเรื่องเดียวกัน เราขีดเส้นใต้สิ่งสำคัญกันคนละบรรทัดนะ หนังสือแต่ละเล่มที่เราอ่าน เราก็ขีดเส้นใต้ไม่เหมือนกัน เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ผมคิดว่า หนึ่งคือเขาได้วิชาประสบการณ์ นักธุรกิจพวกนี้เขามีประสบการณ์ชีวิตเยอะมาก บางทีเขาเป็นเชื้อไฟสมบูรณ์แล้ว แค่ต้องการประกายไฟบางอย่าง ถ้าในเชิงธุรกิจเขาสามารถเอาประโยชน์นั้นไปต่อยอดธุรกิจ มีเคสเยอะมากเลย อย่างเรื่องการตั้งราคา เขากำลังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อยู่ เขาได้กำไรจากสิ่งนี้เลย เขาก็เดินมาบอกว่า พี่ตุ้มผมได้ค่าเรียนคืนแล้ว เขาพูดอย่างนี้เลย อันนี้คือในเชิงธุรกิจ 

อันที่สอง เขาได้ความรู้ใหม่ที่อยู่นอกกรอบเขา โดยเฉพาะส่วนที่ไม่ใช่เรื่องในวงเขา ผมจำได้เลย มีนักธุรกิจใหญ่ เป็นคนที่คิดธุรกิจตลอดเวลา เขาเป็นคนที่นั่งคู่กับเปิ้ล นาคร แล้วเปิ้ล นาครไม่รู้จักคำว่า KPI คืออะไร นักธุรกิจคนนี้ก็ช่วยอธิบาย 

ต่อมา นิ้วกลม (เอ๋–สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์) มาเป็นวิทยากร เขาเล่าประสบการณ์ตอนทำเอเจนซีโฆษณา พอทำดีๆ อยู่ก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ไปเดินทางท่องเที่ยว นักธุรกิจคนนี้ก็ไม่เข้าใจ เขาถามนิ้วกลมว่า “ถามจริงๆ เถอะ เป้าหมายในชีวิตคุณคืออะไร” คือเขาไม่เข้าใจ เพราะว่านักธุรกิจคิดว่าถ้าคุณสั่งสมประสบการณ์ชีวิตไปถึงจุดจุดหนึ่งคุณควรทำมันต่อ เพราะคุณได้ value ตัวเองแล้ว คุณจะไปต่อง่ายขึ้น แต่คุณทิ้งแล้วมาเริ่มต้นใหม่ เขาไม่เข้าใจ เปิ้ล นาคร ก็ต้องอธิบายวิธีคิดของคนทำงานสร้างสรรค์จนนักธุรกิจคนนั้นเข้าใจ อันนี้คือสิ่งที่คุณจะได้จากตรงนี้

ธนา : เรื่องราวของวิทยากรก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเองก็เยอะมาก เพราะว่าในแต่ละรุ่นประกอบด้วยคนที่หลากหลายทั้งวัยและงานที่ทำ มีตั้งแต่อายุ 25-70 ปี คนอายุ 70 คุยกับคนอายุ 25 โลกก็เปลี่ยน คนอายุ 70 คุยกับคนอายุ 25 โลกก็ไม่เหมือนเดิม มีตั้งแต่สายศิลปินจ๋าๆ ที่ไม่รู้เรื่องธุรกิจเลย กับสายธุรกิจจ๋าๆ ที่ไม่เข้าใจเรื่องอะไรที่มันสวยงามทั้งสิ้น สุดขั้วมากๆ เช่น มียูทูบเบอร์คุยกับเจ้าของโรงเหล็กอย่างนี้มีความคละกันในเรื่องที่แลกเปลี่ยน ได้แชร์ประสบการณ์ หลายคนบอกว่าตอนอยู่บริษัทเขาจะสั่งใครก็ได้ แต่อยู่ที่นี่สนุกกว่าเพราะสั่งใครไม่มีใครเชื่อ เขาจึงได้เจอสิ่งที่เขาไม่เคยเจอในชีวิต เวลาโดนเด็กสั่ง ก็รู้สึกสนุกเพราะได้เรียนรู้

ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้ว่าความหลากหลายของนักเรียนเป็นหัวใจของ ABC เราก็เริ่มหาทางพัฒนาความสัมพันธ์ มีกิจกรรมที่สร้างทีมเพื่อให้เขาสนิทกัน เช่นกิจกรรมกลางคืนซึ่งคนชอบเข้าใจว่าปาร์ตี้กินเหล้าแต่จริงๆ ที่นี่เราเคร่งครัดเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์มากๆ เราไม่อยากเห็นใครเมา ซึ่งงานกลางคืนนั้นก็เป็นการบ้านอีกเหมือนกัน พวกเขาจะได้ประชุม เตรียมแผนการแสดง ได้เห็นการพลีชีพ ได้เห็นการเสียสละเล่นในสิ่งที่ไม่เคยเล่นที่ไหน และได้กำลังใจจากเพื่อนๆ เป็น team building ที่แทรกอยู่ในเนื้อหาและกิจกรรม

ABC

อะไรคือกลยุทธ์ที่ซ่อนอยู่และทำให้ ABC ประสบความสำเร็จ

ธนา : อย่างแรกหลักสูตรเราคือการเดินทาง เป็น journey ที่เรามีการวางจุดเริ่มต้นต่อเนื่องไปถึงตอนจบ อย่างที่สองเป็นหัวใจของการทำหลักสูตรเราเลยนะ นั่นคือ คนทำหลักสูตรอย่างเรากับพี่ตุ้มต้องแทบไม่มีตัวตน ช่วงแรกๆ คนอาจจะสนใจเพราะพวกเราเป็นคนทำ แต่จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น เราเชื่อว่าเมื่อเรายิ่งไม่มีตัวตนเท่าไหร่ หลักสูตรก็จะยิ่งเด่น อย่างตอนที่เราสัมภาษณ์วิทยากรบนเวที เราต้องแทบจะไม่มีตัวตนในเรื่องราวนั้น คือใครถามไม่รู้ ขอให้เป็นคำถามที่ดี วิทยากรจะได้พูดเยอะๆ หรือเวลานักเรียนเล่นสนุกทำกิจกรรมกัน เราก็เป็นแค่คนสร้างบรรยากาศให้เขาสนิทกัน ยิ่งเราไม่มีตัวตนเลยยิ่งดี เขาก็จะยิ่งเกรงใจ เรารู้สึกว่าความไม่มีตัวตนของคนทำหลักสูตรนี่แหละสำคัญมาก

สรกล : พี่ตา–ปัญญา นิรันดร์กุล เคยพูดว่า พิธีกรที่ดีที่สุดก็คือคนที่ทำให้แขกรับเชิญที่มารายการเด่นที่สุด พิธีกรที่ดีจะต้องไม่มีตัวตน แต่เป็นคนที่เชื่อมต่อร้อยเรียงเรื่องราว ซึ่งพอถึงจุดหนึ่งเวลาคนดูเขาจำได้ เขาก็จะพูดถึงรายการนี้ที่ปัญญาเป็นคนทำ ABC ก็เช่นกัน อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าเป็นเพราะเรื่องของการใส่ใจรายละเอียด ซึ่งผ่านการออกแบบมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องอาหาร ห้องน้ำ เราจะดูละเอียด

ABC

ดูยังไง

ธนา : แม้ในห้องเรียนจะมีคน 140 คน พอลูกอมใครหมดแม่บ้านเขาจะรู้ว่าคนนี้ชอบกินอะไร เขาก็จะเติมลูกอมให้ ซึ่งเรื่องเล็กน้อยเหล่านี้สร้างความประทับใจ คนที่มาเรียนบางคนเขาใช้บริการโรงแรมหรือร้านอาหารระดับ 5-6 ดาว มาทั้งชีวิต เขายังประทับใจและออกปากชมการบริการของทีมผู้ดูแล อย่างอาหารกลางวัน เราไม่เสิร์ฟอาหารแพงๆ นะ แต่เลือกสรรสตรีทฟู้ดร้านที่ไปกินยาก หาที่จอดรถยาก เราก็ยกมาเป็นอาหารกลางวันให้เขาได้กินที่นี่ เช่น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อลุงปานที่เลิกไปแล้วย้ายร้านมาอยู่อัสสัมชัญ เราก็ไปตามมาออกร้าน

สรกล : เรื่องแม่บ้านนี่เราไม่เคยต้องไปสอนเขานะ หรือบางเรื่องเราเป็นคนคิด น้องเป็นคนคิดโดยมีโจทย์ว่าทำให้คนที่มาเรียนรู้สึกว้าวโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่คือรายละเอียดเล็กๆ 

ธนา : เช่น ช่างภาพเราเนี่ย ถ่ายรูปหมู่ปั๊บประมาณ 5 นาที ทุกคนก็จะได้รูป ทั้งหมดเป็นเรื่องรายละเอียด

อะไรคือที่มาของความละเอียดเหล่านี้

ธนา : พี่ตุ้มเป็นคนที่เซนซิทีฟกับความรู้สึกของนักเรียนมาก เรากลัวว่าจะทำอะไรไม่ดี ไม่ถูกใจ ซึ่งตอนจบ ABC รุ่นแรก มีคนเดินมาถามว่า “พี่ทำขนาดนี้ พี่คุ้มเหรอ พี่ไม่ขาดทุนเหรอ” ทำให้เรารู้สึกว่านี่ไม่ใช่เรื่องเงินเลยนะ แต่มันใช้ความใส่ใจในรายละเอียดทำให้เขารู้สึกว่าแม้แต่เรื่องเล็กๆ ขนาดนั้นก็ทำให้ได้ อย่างในห้องน้ำจะมีตู้หนึ่ง ในนั้นมีของทุกอย่างที่ผู้หญิงและผู้ชายใช้ ประมาณ 30-40 ไอเทม มีน้ำยาบ้วนปาก ไหมขัดฟัน ผ้าอนามัย แป้ง มีทุกอย่าง มาจากการสังเกตว่าคนถามหาอะไรบ้างตลอด 10 กว่ารุ่นที่ผ่านมา

แล้วจริงๆ ที่ทำอยู่มันคุ้มไหม

ธนา : คุ้มนะ

สรกล : คือมันไม่ใช่ที่ราคา อย่างที่เล่าเรื่องอาหารกลางวันที่ไม่ใช่อาหารแพงหรู แต่เป็นอาหารร้านดังและอร่อย เราใช้วิธีนี้เพื่อดึงดูดให้เขาอยากมาทานมื้อเที่ยง เพื่อจะได้เข้าเรียนช่วงบ่ายทันเวลา และเหมือนเป็นการผ่อนคลายก่อนเรียน ไม่ใช่มาถึงก็เข้าห้องเรียนเลย แต่ถ้าอาหารมันเฉยๆ เขาอาจจะมาบ่าย 2-3 

ธนา : จริงๆ เรื่องคุ้มหรือไม่ มันมีคุ้ม 2 คุ้ม คือนักเรียนรู้สึกคุ้มมั้ย ถ้าเขารู้สึกคุ้มก็จะไปบอกต่อ อันนี้ก็ชัดเจน ส่วนเราคุ้มมั้ย เราก็คุ้มแหละ ถ้าขาดทุนเราคงทำต่อไม่ได้

สรกล : มากกว่ากำไรคือคำขอบคุณจากผู้มาเรียน มันไม่มีมูลค่าเป็นตัวเลข แต่ให้ความรู้สึกทางใจว่าสิ่งที่เราทำมันโดนใจเขานะ คือเขาจ่ายตังค์แล้วยังมาขอบคุณเราอีก ทำให้เรารู้สึกดีมากๆ

ABC

อะไรคือมาตรวัดความสำเร็จของหลักสูตร ABC

สรกล : คือผมได้ยินบ่อยๆ ว่าการตลาดที่ดีที่สุดคือการบอกต่อ และการทำ ABC ก็ได้พิสูจน์ความจริงข้อนี้ เพราะหลังจากรุ่นแรก เราไม่เคยต้องเสียเงินเพื่อการโฆษณาแม้สักบาทเดียว สิ่งที่เรากลัวมากกว่าคือกลัวคนล้น อย่างตอนนี้ผู้สมัครเรียนมีจำนวนล้นไป 3 รุ่นแล้ว (รุ่นสุดท้ายคือรุ่นที่ 14 เป็นกลุ่มผู้สมัครที่ยื่นใบสมัครมาตั้งแต่รุ่นที่ 12)

ธนา : ช่วงหลังๆ ก็เลยไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับที่ไหน เพราะมันเต็มของมันมาเงียบๆ ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา

หลักสูตร ABC มีหลักการหรือวิธีคัดคนมาเรียนยังไง

ธนา : ยุคแรกเรายังใช้วิธีให้เขียนใบสมัครเข้ามา ซึ่งก็ใช้วิธีนี้จนมาถึงรุ่นที่ 8-9 แต่เพราะใบสมัครเยอะเกินไป เราจึงเพิ่มเงื่อนไขว่าคนที่จะสมัครต้องมีนักเรียนรุ่นก่อน recommend หรือรับรองมา เหมือนสมาชิก sport club คนที่แนะนำต้องรับผิดชอบด้วยนะถ้าเขาเกเรไม่มาเรียน เราจะโทรไปดุคนที่แนะนำ วิธีนี้ทำให้ศิษย์เก่ากลัวมาก กลัวเขาจะเสียชื่อ ดังนั้นนักเรียนรุ่นหลังๆ ก็จะถูกเตรียมพร้อมมาประมาณหนึ่ง ว่าที่นี่มีกฎนะ มันก็จะเกิดกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่ดี

สรกล : วิธีนี้ยังเป็นกันชนที่ดีด้วย สำหรับนักเรียนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้ามา ถึงเขาใช้ชื่อว่านักเรียนแต่เขาก็เป็นนักธุรกิจใหญ่ อยู่ดีๆ จะเข้าไปพูดเตือนก็ทำได้ยาก แต่กับศิษย์เก่าซึ่งเราก็สนิทกันแล้ว มีอะไรเราก็โทรรายงานหรือสอบถามได้

คิดยังไงเมื่อมีคนตั้งใจมาเรียน ABC เพื่อคอนเนกชั่น 

สรกล : แม้ใครจะเข้าใจว่าหลักสูตรนี้ช่วยสร้างคอนเนกชั่นหรือความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ แต่ด้านหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ทุกคนรู้จักกันจากตัวตนที่อยู่ใน ABC ไม่ได้รู้จักว่าคนนี้คือใคร คนบางคนนี่ไม่รู้เลยว่าเพื่อนที่เรียนข้างๆ กันคือทายาทธุรกิจใหญ่ ทำธุรกิจอื่นๆ มากมาย ไปรู้กันตอนแนะนำตัวตอนเรียนจบ

อะไรคือความเป็น ABC ที่คนไม่ค่อยรู้

สรกล : ก่อนจะเริ่มคลาสที่นี่เรามีวันปฐมนิเทศที่จริงจังมาก สไลด์เยอะมากและเพิ่มจำนวนหน้าขึ้นทุกรุ่น โดยเฉพาะข้อห้ามปรามที่เยอะมาก

ธนา : โดยเฉพาะเรื่องเครื่องดื่มมึนเมา คนอาจคิดว่า ABC ปาร์ตี้ดื่มเหล้าฟรีสไตล์ จริงๆ แล้วเราเข้มและโหดเรื่องการจำกัดแอลกอฮอล์ เพราะเมื่อไม่มีแอลกอฮอล์ มิตรภาพก็งอกงามได้ง่ายกว่า สมมติมีคนดื่มเหล้ามากๆ แน่นอนว่าเพื่อนเกินครึ่งไม่ดื่มเขาก็กลับบ้าน บรรยากาศก็เสีย ทั้งยังเสี่ยงต่อการทะเลาะกัน เมื่อเราทำให้เห็นว่าหลักสูตรนี้ปลอดภัยจริงไว้ใจได้ หลายๆ คนจึงกล้าแนะนำลูก แฟน หรือพี่น้องมาเรียน

นอกจากนี้มีเรื่องการให้เกียรติสุภาพสตรี ให้เกียรติเพื่อน แล้วก็ให้เกียรติสถาบันเวลาไปต่างจังหวัด อย่าไปเบ่ง อย่าพูดจาไม่ดี เหมือนนักเรียนเลย คือมีกฎระเบียบที่ละเอียดมาก ซึ่งถ้าใครไม่มาปฐมนิเทศวันแรก เราก็จะตามไปปฐมนิเทศให้ครบทุกคนนะ เพราะถือว่าตกลงกันแล้ว กติกาคือแบบนี้ เพราะฉะนั้นนักเรียนจะเกรงใจมาก หรือถ้าเล่นเกมกันก็คืออย่าโกรธเพื่อน บางทีเรื่องมันเล็กน้อย บางคนติดนิสัยตุกติก ในการแข่งขัน อยากให้เขามีมุทิตาจิต คือยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี แล้วคนอื่นคนนั้นนี่คือเพื่อนเราด้วยนะ เป็นสิ่งที่เราพยายามจะสอดแทรกอยู่ในหลักสูตร

เราคิดว่ากำลังสร้างที่นี่ให้เป็นสังคม giver นะ เราพยายามจะบอกว่าคนทุกคนมีทั้งบวกและลบ แต่อยู่ที่นี่เราอยากให้ทุกคนหันด้านดีเข้าหากัน แล้วก็ช่วยเหลือกัน เสียสละกัน ไม่เอาเปรียบกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เรารู้สึกว่าทุกคนมีแสงตลอดเวลา และถ้าเราไม่หยิบแสงหรือชี้นำอะไรแสงเลยสุดท้ายมันจะเผากันเอง ดังนั้นเราต้องพยายามเอาแสงคนนี้มาตรงนี้ อย่ายิงกันเอง เขาไม่ใช่ศัตรู อย่ายิงเขา คือเราไปห้ามให้เขาไม่มีแสงไม่ได้เพราะคนที่มาทุกคนเขามีแสงหมด แต่เราจะทำยังไงให้แสงมารวมกันแล้วเป็นแสงลำใหญ่ๆ ที่มีพลังแทนที่จะยิงกันเอง ข้อดีของกฎระเบียบคือเขาจะเข้าใจที่มาที่ไปของหลักสูตร ซึ่งเราเล่าเรื่อง giver ตั้งแต่วันแรกเลย นี่คือเป้าประสงค์ของเราในหลักสูตรช่วงหลังๆ และเราพยายามจะไปเป้านี้ด้วยกัน

ABC

วิธีการสร้างคอมมิวนิตี้ที่ใครๆ ก็อยากเข้าไปอยู่ ในแบบฉบับของ ABC เป็นยังไง

ธนา : เรามี ABC Talk ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนยกมือเสนอตัวเป็นคนเล่าเรื่องในเวลา 15 นาที สัปดาห์ละ 2 คน โดยมีผมและพี่ตุ้มเป็นโค้ชติวเข้มวิชาเล่าเรื่อง เรื่องที่เล่ามีหลากหลายมาก ตั้งแต่ชีวิต ลูก การเจ็บป่วย อกหัก ลดน้ำหนัก หลายครั้งเป็นทอล์กที่เปลี่ยนชีวิตจริงๆ บางคนไม่เคยพูดในที่สาธารณะมาก่อน ทำให้หลายคนกล้าออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง

สรกล : อย่างเรื่องหนังสั้น ในวินาทีแรกไม่มีใครเชื่อว่าตัวเองจะทำหนังสั้นได้ แต่เมื่อผ่านมาได้เขาก็เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ มีนักธุรกิจบางคนบอกว่าหลังจากทำหนังสั้นเสร็จแล้ว เวลาเอเจนซีโฆษณามานำเสนอเขาจะไม่ค่อยกดดันเท่าไหร่ เพราะเขารู้ว่ามันยากแค่ไหน ซึ่งต้องให้เครดิตมหาวิทยาลัยศรีปทุม คือถ้าไม่ได้ทำงานกับอาจารย์เน่ง หลักสูตร ABC คงไม่สำเร็จอย่างวันนี้ อย่างหนังสั้นเรามีน้องๆ จากคณะนิเทศศาสตร์มาช่วย 50-60 คนมาเป็นกองหลังคอยซัพพอร์ต ช่วยตัดต่อหรือเสกทุกอย่างได้หมดเลย

นอกจากความรู้และมิตรภาพ อะไรคือสิ่งที่หลักสูตร ABC ให้กับผู้เรียนอีกบ้าง

ธนา : ให้ความทรงจำ โมเมนต์ที่ได้ทำอะไรแบบนี้กับเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นความสนุก อุปสรรค การเสียสละ ความน่าอาย เรื่องท้าทาย ความเหนื่อยล้า ได้ฟังเรื่องเล่าชีวิตของเพื่อน ได้เห็นว่าเขาเจ๋งแค่ไหน ต้องยอมรับว่ายิ่งอายุเยอะขึ้น ความทรงจำยิ่งงอกได้น้อยลง เพราะเราทำงาน routine พอมาเจอประสบการณ์แบบนี้มันก็ทำให้ขนลุกซู่ซ่าเหมือนกัน 

จริงๆ พวกเราเคยทำหลักสูตรย่อย ABC Real เน้น real estate ซึ่งก็ดีนะ เราทำไป 2 รุ่น ปัญหาของผมกับพี่ตุ้มคือเราไม่ค่อยเข้าใจ real estate พอเวลาวิทยากรมาบรรยายเราก็จะสัมภาษณ์ได้ประมาณนึงเพราะเราไม่ได้เข้าใจลึกซึ้ง แล้วเราก็เคยทำ ABC Talent เป็นหลักสูตรที่ออกแบบเพื่อเด็กอายุ 20-30 ซึ่งเรารู้สึกว่าตัวเองแก่เกินไปแล้ว จริงๆ ดีมากเลยนะพวกเขาเพิ่งเริ่มทำงานก็จะมีความซ่า เราก็พยายามจะสอนไปในทางที่คนรุ่นนี้ควรจะรู้ แต่มันต้องใช้พลังงานเยอะมาก เพราะพวกนี้มันปาร์ตี้หนัก (หัวเราะ) ทำได้ 3 รุ่นก็รู้สึกว่าเราแก่เกินไปแล้ว ดังนั้นถ้านับรวม ABC ตอนนี้ก็มี 12+3+2 เท่ากับประมาณ 17 รุ่น

สถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากระทบการเรียนการสอนแค่ไหน

สรกล : ปัญหานำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ทำให้มี Virtual ABC มีเกมออนไลน์ให้สะสมคะแนน หรือกิจกรรมท้าให้ออกไปเต้นหน้าร้านสะดวกซื้อ หรือแต่งตัวเป็นตัวละครในดิสนีย์แล้วถ่ายรูปส่งมาประกวดกัน ซึ่งถ้าไม่มีโควิดก็ไม่มีทางคิดไอเดียนี้ออกมาได้ เป็น ABC Multiverse ที่ใช้เล่นกันอยู่ในตอนนี้

จากวันแรกที่เริ่มต้นทำด้วยความสนุก พอมาถึงวันนี้ พวกคุณยังรู้สึกสนุกเหมือนเดิมอยู่ไหม มีเรื่องไหนที่ไม่สนุกแล้วบ้าง

สรกล : ตอนเริ่มต้นครั้งแรกพวกเราเต็มไปด้วยความไม่รู้ แต่ก็มาเรียนรู้ไปเรื่อยๆ เป็นบทเรียนชีวิตบทหนึ่งที่ไว้บอกคนอื่นได้ว่าการเริ่มต้นด้วยความไม่รู้นั้นดีแค่ไหน ในการทำงานก็คือการเดินทาง จากวันแรกถึงวันนี้ ใครที่เรียนรุ่น 1 แล้วมาดูรุ่นนี้จะเห็นว่ามันต่างกันเยอะมาก มีพัฒนาการเยอะ แต่ถ้าไม่มีรุ่น 1 ก็ไม่มีวันนี้

ตอนนี้ยังสนุกอยู่ แต่ผมรู้ว่าตัวเองทำอะไรต่อเนื่องยาวนานมากๆ ไม่ได้ เพราะความตื่นเต้นหรือความสนุกจะลดลง ก็บอกเรื่องนี้กับพี่เน่งและโจ้ไปเป็นปีแล้ว

ธนา : จริงๆ ยังสนุกอยู่นะ ได้เห็นครอบครัว ABC ที่ขนาดใหญ่ขึ้น แต่เราก็รู้สึกว่าเราควรจะจบเมื่อถึงตอนที่พีคที่สุด ตอนที่คนโหยหา อยากเรียน เหมือนเรากำลังกระชากปลั๊กออกตอนที่พีคที่สุด หนังจะจบแล้ว พระ-นางกำลังรักกันเวลานั้นแหละให้ถอดปลั๊กเลย มันจะกลายเป็นที่จดจำ แต่ถ้าเรายังไปต่อ ค่อยๆ ลดอารมณ์ลง soft landing คนก็จะไม่จดจำ 

เราคุยกับพี่ตุ้มมาเรื่อยๆ ว่าเราควรจะเลิกเมื่อไหร่ พี่ตุ้มกำลังจะอายุ 60 เราก็คิดวางแผนไว้ถึงรุ่นที่ 14 หรืออีก 2 รุ่นต่อจากนี้ แต่ว่าไม่ต้องสมัครมานะ เพราะนักเรียนที่มีอยู่ตอนนี้ล้นมาถึงรุ่นที่ 13 และ 14 แล้ว ซึ่งมีนักเรียนรุ่นละ 140 คน แต่ตอนนี้รับเต็มไปแล้ว และมีคนสำรองอยู่อีกเกือบร้อยคน ดังนั้นมั่นใจได้เลยว่าการให้สัมภาษณ์ในวันนี้ไม่ใช่การโฆษณาให้มาสมัครเรียน เพราะเราปิดรับสมัครไปหมดแล้ว และจะไม่มีการเปิดรับสมัครอีก

ตอนนี้รู้สึกเหมือนกำลังถูกดึงปลั๊กแล้วจริงๆ

ธนา : ภาษาผมเรียกว่าจบแบบเขาทราย (เขาทราย แกแล็คซี่ อดีตนักมวยแชมป์โลกชาวไทย) คือจบตอนที่มันยังพีคอยู่ หรือตอนนักเรียนยังสมัครกันล้นอยู่ เราก็จบแบบสวยๆ ถามว่าเสียดายไหม แน่นอนเสียดาย มีหลายคนถามว่าจะเลิกทำไม คนยังเยอะอยู่เลยยังทำได้ถึงรุ่นที่ 20 สบายๆ แต่เราทั้งคู่คิดว่าเราต้องจบตอนพีค จบตอนที่เราไม่ค่อยอยากจบน่าจะเป็นการจบที่ดีที่สุด เห็นไหมว่าทุกวันนี้คนยังพูดถึงเขาทรายอยู่เลย เราอยากจบแบบไหน อยากจบแบบเขาทรายหรือนักมวยทั่วไป ถ้าจบแบบเขาทรายคือจบที่ยก 14 

สรกล : เรารู้สึกว่าจังหวะนี้คือจังหวะที่เหมาะสมที่สุด เราจะทำต่อก็ได้แต่เราไม่ทำ เลิกในตอนที่ยังไปได้ ดีกว่าทำไปแล้วแผ่วลงในตอนท้าย แล้วต้องไปประกาศโฆษณา ไปง้อนักเรียนว่ามาสมัครเถอะ อันนี้คือประกาศเลิกโดยที่ไม่รับสมัครแล้วด้วยนะ ขออภัยด้วยมันเต็มแล้วจริงๆ

วงการธุรกิจและสร้างสรรค์จะเป็นยังไงในวันที่ไม่มีหลักสูตร ABC แล้ว

ธนา : โลกนี้มันกว้างใหญ่ หลักสูตร ABC เราไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือสำคัญกับใครขนาดนั้น เราก็แค่ดูแลนักเรียนพันกว่าคน เทียบกับประเทศไทยที่มีหลายสิบล้านคน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเรียนรู้ระหว่างทางของพวกเราทั้งหมด จากปัญหาที่แก้ไขหรือจากการลุกขึ้นมาใส่ใจกับรายละเอียด 

สรกล : เป็นคำถามที่ยิ่งใหญ่เกินไปมาก (หัวเราะ) ผมอยากตอบว่าวงการธุรกิจและสร้างสรรค์ในวันที่ไม่มีหลักสูตร ABC ก็ยังเหมือนเดิม เพราะเราเล็กมากครับ ที่สำคัญเราไม่ได้สำเร็จทุกอย่างนะ มาพูดวันนี้เหมือนเราทำสำเร็จทุกเรื่อง แต่จริงๆ มีความล้มเหลว มีบทเรียนอยู่ในนั้นเยอะ ซึ่งผมรู้สึกว่าสิ่งที่หลักสูตร ABC กำลังบอกก็คือ ทุกคนเรียนรู้จากสิ่งที่เราไม่รู้ได้ โลกไม่ได้มีเพียงแต่ที่เรารู้ มันมีอะไรมากกว่านั้น เราแค่ต้องทลายกรอบหรือเปิดใจกว้างยอมรับ ทั้งนี้เหมาะไม่เหมาะค่อยว่ากันอีกที หรืออาจทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อไปทำอย่างอื่น ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ บางอย่างไม่รู้เพราะว่าไม่เคยทำ ไม่เคยทดลอง ถ้าคุณมีคัมภีร์นี้อยู่ในใจ คุณจะทำอะไรก็ได้ อย่างเรื่องของนักธุรกิจที่ไม่เคยทำหนังสั้น แต่ทำออกมาแล้วใช้ได้ย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา

การทำหลักสูตร ABC เปลี่ยนความเชื่อเรื่องไหนของคุณไปตลอดกาลบ้าง

สรกล : ผมมองว่าทุกปัญหานำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ ที่นี่มีสิ่งที่ผมชอบอย่างหนึ่ง นั่นคือมันเป็นงานที่ไม่ได้มาวางนโยบาย เป็นงานที่ลงไปปฏิบัติ แล้วก็จะเห็นปัญหาเยอะก็เลยต้องลงไปแก้ปัญหา เรื่องที่สองคือเวลาทำงานคู่กับโจ้ ผมคิดบางอย่างไม่เหมือนเขา แต่มันดีมาก เป็นการทำงานที่ดีมาก เรียนรู้วิธีคิดแบบซีอีโอคู่ ที่โจ้แนะนำ คือถ้าคนหนึ่งตัดสินใจอะไรไปแล้วแม้ไม่เห็นด้วยก็ให้ทำก่อน แล้วค่อยมาถกเถียงกันทีหลัง (แรงบันดาลใจจากคุณวิชัย เบญจรงคกุล และคุณซิคเว่ เบรคเก้ ซีอีโอของ DTAC) งานก็เลยเดินไปได้ดี ทีมงานไม่สับสน โจ้เป็นผู้นำที่มีก๊อกสอง คือที่คิดว่าดีแล้วเขาจะดันให้ดีที่สุดให้ได้ ซึ่งผมไม่มีแรงขนาดนั้น แล้วต้องชมทีมงานด้วย เป็น avengers มาก พวกเขาคิดแทนเราหลายๆ อย่าง เช่นพวกรายละเอียดที่เรานึกไม่ถึง ผมเชื่อว่าพวกเขาเป็นมืออาชีพที่เก่งมาก บางอย่างพวกเขามาคุมงานได้ดีกว่าเราด้วยซ้ำ แล้วก็อีกเรื่องที่สำคัญ การทำงานที่ดีจะต้องมีอาจารย์เน่ง เป็นผู้ใหญ่ที่ใจใหญ่มากคือเขาไม่เข้ามาก้าวก่าย แค่คุ้มครองอยู่ข้างหลัง

ธนา : สำหรับเราคือเรื่องทุกคนมีด้านดี หลายครั้งเราได้รับคำเตือนว่าให้ระวังนักเรียนคนนี้เพราะเขาเป็นคนอันตราย หรือเคยไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอเรามีกฎชัดเจน มีกรอบว่าหลักสูตรนี้เราทำเพื่อแบบนี้ ทุกคนไม่มีใครร้าย พอเรามีกรอบชัดเจนเขาก็ปฏิบัติตาม แล้วก็เป็นนักเรียนที่น่ารัก เราก็เฝ้าระวังนะ ขณะเดียวกันก็ทำความเข้าใจว่าทุกคนมีด้านดี ดังนั้นถ้าเราหันด้านดีเข้าหากัน มันก็จะเป็นสังคมที่ดี

ทำสิ่งที่ชอบ แค่ในสนามที่เเข่งขันกับตัวเอง?

EP.3

Why do you need to compete

ในการเเข่งขัน brewers cup หรือการเเข่งขันชงกาแฟแบบ filter coffee ผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกวิธีที่ตัวเองต้องการนำเสนอมาใช้ในการแข่งขัน เช่น การดริปด้วยดริปเปอร์แบบต่างๆ, การใช้เครื่องชงแบบ syphon, aeropress ฯลฯ มีกติกาว่าผู้เข้าแข่งขันจะต้องพูดคำว่า time ก่อนเริ่มการเเข่ง เเละพูดอีกครั้งเพื่อบอกให้กรรมการรู้เมื่อการนำเสนอจบลง

time!

เรามักเคยได้ยินว่า เวลาที่เราลงมือทำตามแพสชั่น การเเข่งขันจะเกิดขึ้นแค่กับตัวเราเอง เท่านั้น

ที่น่าสนใจคือ เเล้วการเเข่งขันกับตัวเอง ควรจะหยุดอยู่แค่การเเข่งกับตัวเองจริงๆ หรือไม่

แน่นอนว่าการทำร้านกาแฟก็คือการทำธุรกิจ และในตลาดของธุรกิจก็มีผู้เล่นอื่นๆ มากมายที่เรานิยามเขาว่าคู่เเข่งขันทางธุรกิจ ดังนั้นการทำธุรกิจแม้จะมาจากสิ่งที่ชอบและหลงใหล หรือใครอาจจะตั้งเป้าหมายเป็นการแข่งขันกับตัวเอง ไม่มีทางที่เราจะหยุดอยู่ที่การเเข่งขันกับตัวเองได้จริงๆ

นอกจากการแข่งขันในเชิงธุรกิจหรือตลาดแล้ว ในวงการกาแฟก็มีการแข่งขันในการทำกาแฟเช่นกันทั้งการแข่ง barista (แข่งชงกาแฟโดยใช้เครื่องเอสเพรสโซ), brewers cup (แข่งชงกาแฟแบบ filter coffee), cup taster (แข่งชิมกาแฟ), roasting (แข่งคั่วกาแฟ) หรือแข่งลาเต้อาร์ต ฯลฯ

การเเข่งขันรายการต่างๆ เหล่านี้ในระดับโลกจะมีจัดอยู่ประจำทุกๆ ปี ผู้เข้าแข่งขันในระดับโลกจะมาจากผู้ที่ชนะในการแข่งขันระดับประเทศ

TIME
TIME

ดับลิน 2016

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ผมได้เข้าไปชมการแข่งขันทั้ง barista และ brewers cup ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ในสายตาของการเป็นผู้ชม แน่นอนว่าในบรรยากาศแบบนั้น มันชวนจินตนาการว่าหากเราได้มาเป็นผู้เล่นในสนามแข่งแบบนี้ 

คงเป็นเรื่องที่น่าสนุก ตื่นเต้น และสามารถบอกได้ว่า

นี่คือประสบการณ์แบบ once in a lifetime หรือจะหลายๆ ครั้งก็ได้เพราะมีผู้เข้าแข่งขันมากมายที่เป็นแชมป์ในระดับประเทศ แล้วมาแข่งระดับโลก แล้วก็กลับมาแข่งอีกเรื่อยๆ 

บรรยากาศในปีนั้นค่อนข้างคึกคัก การได้ไปอยู่ในบรรยากาศการเเข่งขันระดับโลกทำให้เราได้เจอโรงคั่วต่างๆ ที่เราคอยติดตาม และที่สำคัญมันก็มักจะสร้างเเรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน เพื่อที่สักวันหนึ่งจะได้มีโอกาสไปยืนอยู่ตรงเวทีเเบบนั้น

ผมจำได้ว่าในปีนั้นผมไปยืนอยู่หน้าเวทีของการเเข่งขัน brewers cup เพื่อดูผู้เข้าเเข่งขันที่มาจากหลายๆ ประเทศ 

ตอนนั้นก็เพียงเเค่คิดในใจว่า

ถ้าสักวันหนึ่งได้มาสัมผัสบรรยากาศบนเวทีเเบบนั้นก็คงดี

ผมทดความฝันนั้นไว้ที่ดับลิน

TIME
TIME

ในปีนั้นผมได้ลงเเข่งเป็นปีแรกเช่นกัน มันเกิดขึ้นก่อนที่งานเเข่งระดับโลกจะมีขึ้น 

ผมไม่ได้เป็นผู้ชนะไปแข่งระดับโลกในปีนั้น

ผมจึงตัดสินใจลงแข่งอีกสามครั้งต่อมา

เเละเวลาก็ผ่านไปอย่างช้าๆ…

2016

2017

2018

2019

และในปีที่สี่ ผมก็ได้ไปอยู่ในจุดที่ผมเคยวาดหวังไว้ 

การไม่ล้มเลิกไปก่อน มันทำให้ผมได้เข้าไปถึงจุดหมายที่เราหวัง สิ่งนี้เองที่ช่วยให้ผมได้ทบทวนว่า จริงๆ แล้วการทำตามแพสชั่นไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเสมอคือการแข่งขัน

การเเข่งขันที่มากกว่าการแข่งขันกับตัวเอง

ในแต่ละปีที่ไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นคือการตั้งข้อสงสัยในตัวเองว่าเราเหมาะกับสิ่งนี้จริงๆ ไหม หรือการลงเเข่งมันมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

มันคือการตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่เราทำ หลายคนคงเคยตั้งคำถามกับความสามารถของตัวเองในวันที่เราผ่านการทำสิ่งที่เรารักมาช่วงเวลาหนึ่ง แม้เราจะทำมันแทบจะทุกวันแต่เราก็ยังตั้งแง่กับตัวเองว่า

เราทำมันได้ดีพอแล้วหรือยัง? 

หรือ ผู้เล่นคนอื่นๆ ก็ทำได้ดีกว่าเรา

ผมสังเกตว่าเรื่องนี้มักเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัวไม่ว่าคนเหล่านั้นจะทำงานเขียน ทำภาพยนตร์ เป็นนักเเสดง หรือทำงานบริหาร

การหาสนามให้ตัวเองลงแข่งจึงเป็นคำตอบที่ช่วยคลายความคลางเเคลงใจนี้ไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะไม่ว่าเราจะแพ้หรือชนะในสนามนั้นๆ ผลลัพธ์ที่ได้ตามมาคือ มันจะไม่ทำให้เราหยุดนิ่ง

เราจะพยายามค้นหาตัวตนที่ดีกว่าเดิมไปเรื่อยๆ

บอสตัน 2019

10 นาทีที่เคยฝันไว้ในชีวิต บนเวทีตรงนั้น นั่นคงเป็นคำที่ผมอยากพูดมากที่สุดเพื่อเป็นการกล่าวอำลาความสงสัยตัวเอง ด้วยการติ๊กถูกในหัวข้อการเเข่งขันที่ต้องการทำให้ได้ เพื่อข้ามไปยังข้อถัดๆ ไป

TIME!

(credit: instagram @picolofolkvento)

Salaryman Return (on Investment) มนุษย์ออฟฟิศกับแผนการลงทุนระดับเบื้องต้น

มนุษย์ออฟฟิศ นอกจากจะทำให้เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว Capital อยากทำให้เรื่องวางแผนทางเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตร ไปจนถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้ไปต่อ

มนุษย์ออฟฟิศ WEALTH DONE คือ คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน ผ่านตอบคำถามเรื่องการเงินและการลงทุน โดย สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ ผู้เป็นทั้งกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นอุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย เป็นคุณครู เป็นนักเขียน และล่าสุดเป็นคอลัมนิสต์ของ Capital ที่จะมาพบผู้อ่าน ทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co เริ่มตอนแรกวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราชาว Capital ได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital ระหว่างนี้ ตามไปทำความรู้จักคอลัมนิสต์คนใหม่ของเราได้ที่ บทสัมภาษณ์ตอนล่าสุดของคอลัมน์ ณ บัตรนั้น

นอกจากจะทำให้เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว Capital อยากทำให้เรื่องวางแผนทางเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตร ไปจนถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้ไปต่อ

WEALTH DONE คือ คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน ผ่านตอบคำถามเรื่องการเงินและการลงทุน โดย สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ ผู้เป็นทั้งกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นอุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราชาว Capital ได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital ระหว่างนี้ ตามไปทำความรู้จักคอลัมนิสต์คนใหม่ของเราได้ที่ บทสัมภาษณ์ตอนล่าสุดของคอลัมน์ ณ บัตรนั้น

นอกจากจะทำให้เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว Capital อยากทำให้เรื่องวางแผนทางเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตร ไปจนถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้ไปต่อ

WEALTH DONE คือ คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน ผ่านตอบคำถามเรื่องการเงินและการลงทุน โดย สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ ผู้เป็นทั้งกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราชาว Capital ได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital ระหว่างนี้ ตามไปทำความรู้จักคอลัมนิสต์คนใหม่ของเราได้ที่ บทสัมภาษณ์ตอนล่าสุดของคอลัมน์ ณ บัตรนั้น

นอกจากจะทำให้เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว Capital อยากทำให้เรื่องวางแผนทางเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตร ไปจนถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้ไปต่อ

WEALTH DONE คือ คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน ผ่านตอบคำถามเรื่องการเงินและการลงทุน โดย สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ ผู้เป็นทั้งกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราชาว Capital ได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital ระหว่างนี้ ตามไปทำความรู้จักคอลัมนิสต์คนใหม่ของเราได้ที่ บทสัมภาษณ์ตอนล่าสุดของคอลัมน์ ณ บัตรนั้น

นอกจากจะทำให้เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว Capital อยากทำให้เรื่องวางแผนทางเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตร ไปจนถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้ไปต่อ

คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน ผ่านตอบคำถามเรื่องการเงินและการลงทุน โดย สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ ผู้เป็นทั้งกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นอุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราชาว Capital ได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital ระหว่างนี้ ตามไปทำความรู้จักคอลัมนิสต์คนใหม่ของเราได้ที่ บทสัมภาษณ์ตอนล่าสุดของคอลัมน์ ณ บัตรนั้น

นอกจากจะทำให้เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว Capital อยากทำให้เรื่องวางแผนทางเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตร ไปจนถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้ไปต่อ

คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน ผ่านตอบคำถามเรื่องการเงินและการลงทุน โดย สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ ผู้เป็นทั้งกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นอุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย เป็นคุณครู เป็นนักเขียน และล่าสุดเป็นคอลัมนิสต์ของ Capital ที่จะมาพบผู้อ่าน ทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co เริ่มตอนแรกวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราชาว Capital ได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital ระหว่างนี้ ตามไปทำความรู้จักคอลัมนิสต์คนใหม่ของเราได้ที่ บทสัมภาษณ์ตอนล่าสุดของคอลัมน์ ณ บัตรนั้น

นอกจากจะทำให้เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว Capital อยากทำให้เรื่องวางแผนทางเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตร ไปจนถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้ไปต่อ

คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน ผ่านตอบคำถามเรื่องการเงินและการลงทุน โดย สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ ผู้เป็นทั้งกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นอุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย เป็นคุณครู เป็นนักเขียน และล่าสุดเป็นคอลัมนิสต์ของ Capital ที่จะมาพบผู้อ่าน ทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co เริ่มตอนแรกวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม

หากคุณมีคำถามเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุนที่เกิดขึ้นรอบตัวและสงสัยใคร่รู้เป็นพิเศษ ส่งมาบอกพวกเราชาว Capital ได้ที่ [email protected] หรือทุกช่องทางโซเชียลมีเดียของ Capital ระหว่างนี้ ตามไปทำความรู้จักคอลัมนิสต์คนใหม่ของเราได้ที่ บทสัมภาษณ์ตอนล่าสุดของคอลัมน์ ณ บัตรนั้น

นอกจากจะทำให้เรื่องธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว Capital อยากทำให้เรื่องวางแผนทางเงินและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย เป็นมิตร ไปจนถึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อเลี้ยงธุรกิจให้ไปต่อ

คอลัมน์ที่อยากผลักดันให้คนหันมาวางแผนการเงิน ผ่านตอบคำถามเรื่องการเงินและการลงทุน โดย สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ ผู้เป็นทั้งกรรมการอิสระในบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นอุปนายกสมาคมนักวางแผนทางการเงินไทย เป็นคุณครู เป็นนักเขียน และล่าสุดเป็นคอลัมนิสต์ของ Capital ที่จะมาพบผู้อ่าน ทุกวันพฤหัสบดี เว้นวันพฤหัสบดี ที่ capitalread.co เริ่มตอนแรกวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม

คุยกับ กานต์ กิตติเวช วันที่โลกนี้มีก๋วยเตี๋ยวเรือมากมาย แต่ทำไม ‘ทองสมิทธ์’ ยังคงเปล่งประกาย

หากทองเนื้อเก้า คือทองเนื้อดีมีค่ามาก ‘ทองสมิทธ์’ ก็คงมีความหมายทำนองนั้นได้ แต่คำว่า ‘เนื้อดี’ ของ ทองสมิทธ์ ไม่ได้หมายถึงเนื้อทองคำที่เปล่งประกายให้ตาเห็น แต่มันหมายถึง ‘เนื้อวากิว’ ที่เปล่งประกายอร่อยระดับมีแสงออกจากปากนั่นเอง

ก๋วยเตี๋ยวเรือเป็นอาหารที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน สมัยก่อนพ่อค้าแม่ขายอาจจะต้องพายเรือล่องมาตามลำน้ำเพื่อขายก๋วยเตี๋ยวจากบนเรือ จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ก๋วยเตี๋ยวเรือ’ แต่ในสมัยนี้ที่เราไม่จำเป็นต้องไปนั่งรอที่ท่าน้ำทุกวันเพื่อจะได้กินก๋วยเตี๋ยวเรือแสนอร่อยอีกต่อไป เพราะเป็นเมนูที่มีขายอยู่ทั่วไปจนถึงในห้างสรรพสินค้า

หากวาดแผนที่ตามล่าหาร้านก๋วยเตี๋ยวเรืออร่อยในเมืองไทย ชื่อ ‘ทองสมิทธ์’ คงต้องถูกบันทึกเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายในฐานะร้านก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดังแห่งยุค 

กานต์ กิตติเวช และหุ้นส่วนทั้งสามอย่าง อัจฉรา บุรารักษ์, โรจนินทร์ อรรถยุกติ และอินทิรา แดงจำรูญ คือตัวตั้งตัวตีที่ทำให้ชื่อของทองสมิทธ์ถือกำเนิดขึ้นบนลายแทงก๋วยเตี๋ยวเรือในประเทศไทย รวมทั้งสามารถเรียกได้ว่า เป็นผู้ปลุกกระแสก๋วยเตี๋ยวเรือเนื้อวากิวให้ฟีเวอร์แพร่หลายในประเทศอีกด้วย

พูดถึงก๋วยเตี๋ยวเรือจนน้ำลายเริ่มสอ เราอยากชวนมาดูวิธีคิดทางธุรกิจของทองสมิทธ์ ผ่านคำบอกเล่าของ กานต์ กิตติเวช โดยการเปรียบเปรยกระบวนการสร้างแบรนด์เป็นการทำก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชาม ไล่ตั้งแต่การลวกผักไปจนถึงการโรยกากหมูเจียว เพื่อให้เห็นว่าธุรกิจที่ทำด้วยความละเมียดในแบบทองสมิทธ์นั้นเป็นเช่นไร

ขั้นที่ 1 : ลวกผัก

ผักในชามก๋วยเตี๋ยวอาจถูกมองเป็นเพียงตัวประกอบในสายตาใครบางคน แต่สำหรับคอเกาเหลาเราต่างทราบกันดีว่า เนื้อสัมผัสของผักในชามที่ดีควรจะพอดิบพอดี ไม่สุกจนอ่อนยวบ แต่ก็ไม่ควรแข็งจนกระด้าง ต้องลวกในน้ำร้อนจนสุกเพียงพอดีเท่านั้น ซึ่งอาจจะเหมือนกับกาลเวลาที่พาเพื่อนที่รู้จักกันอยู่แล้วเป็นสิบปี แต่โอกาสเพิ่งจะมาพอดีกันจนได้ร่วมธุรกิจด้วยกันในปี 2561

จุดเริ่มต้นของสหายเพื่อนรักนักกินก๋วยเตี๋ยวเรือ

“มันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ของเรากับพี่ปลา iberry และเพื่อนพี่ปลาอีกคนนึง คือพี่ตุ๊กตา (อินทิรา แดงจำรูญ) มีจังหวะที่พวกเราได้มาเจอกันครั้งแรก ตอนนั้นพี่ปลารับหน้าที่เป็นพิธีกร สัมภาษณ์เชฟหลายๆ ท่านเกี่ยวกับวัตถุดิบอาหารไทย เราเป็นหนึ่งในนั้น ได้เจอกับพี่ปลาคุยกันแล้วก็ถูกชะตา ลึกๆ คิดไว้ว่าสักวันนึงคงได้โคจรมาพบกัน หลังจากนั้นมีอะไรก็เลยช่วยกันเรื่อยมา อย่างตอนที่พี่ปลาเปิดร้านอาหารเราก็ไปช่วยชิม ช่วยเช็ก ติดต่อกันมาเรื่อยๆ”

จนเมื่อเวลาผ่านไป 15 ปี เมื่อวงการธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น ตัวเลือกของร้านอาหารหลากหลายขึ้น ความเฉพาะทางของร้านอาหารเริ่มมีเปิดตัวให้เห็นอย่างหลากหลาย 

วันนั้นเอง กานต์ กิตติเวช ผู้ซึ่งผ่านชีวิตจากการเป็นบาร์เทนเดอร์บนเรือสำราญเดินทางไปทั่วโลก จนเก็บหอมรอมริบเงินไปเรียนด้านอาหารอย่างจริงจังที่อเมริกา แล้วกลับมาทำงานที่ไทยด้านที่ปรึกษาร้านอาหารเป็นสิบปี และเพื่อนๆ อีกสามคนจึงตัดสินใจว่า พวกเขาจะเปิดร้านอาหารร่วมกัน

โจทย์คือ เป็นร้านอาหารไทยที่มีความเฉพาะทาง กินง่ายๆ กินได้เรื่อยๆ และมีบรรยากาศความอบอุ่นเป็นกันเองของมิตรภาพความเป็นเพื่อน

และจากโจทย์ต่างๆ ที่วางไว้ สุดท้ายมาลงตัวที่ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ

ทั้งสี่เพื่อนรักแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน ปลา อัจฉรา ดูแลภาพลักษณ์และการสร้างแบรนดิ้งของร้าน, ตุ๊กตา อินทิรา ดูแลเรื่องบัญชีของร้านและการบริการส่วนหน้า, ทิม โรจนินทร์ ดูแลเรื่องการวางแผน การเงิน การขยายสาขา และกานต์ กิตติเวช ดูแลเรื่องรสชาติของอาหาร

thongsmith

ขั้นที่ 2 : ลวกเส้น

มีสำนวนที่ว่า ‘ลางเนื้อชอบลางยา’ บางคนชอบเส้นใหญ่ บางคนชอบเส้นเล็ก บางคนชอบบะหมี่ รสนิยมของเส้นก๋วยเตี๋ยวคงเทียบได้ว่าเป็นสิ่งปัจเจก แต่ละคนมีรสนิยมที่ไม่เหมือนกัน แล้วเมื่อทั้งสี่เพื่อนรักตกลงใจจะเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ รสนิยมก๋วยเตี๋ยวของพวกเขาจะลงตัวที่ ‘เส้น’ ในรูปแบบไหนกันที่จะโดนใจมหาชน

คำตอบที่มาจากการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ก่อนจะมาเป็นรสชาติก๋วยเตี๋ยวเรือหอมฉุยที่เราได้ชิมกันทุกวันนี้ กานต์ กิตติเวช ผู้ได้รับมอบหมายจากเพื่อนทั้งสามให้เป็นคนรับผิดชอบเรื่องสูตรและรสชาติของ ‘ทองสมิทธ์’ เริ่มสร้างรสชาติของก๋วยเตี๋ยวเรือทองสมิทธ์จากการตระเวนเก็บแต้มกินก๋วยเตี๋ยวเรือตามร้านต่างๆ พร้อมกับวิเคราะห์สิ่งใดที่เขาชอบ-ไม่ชอบ แล้วเก็บสะสมสิ่งที่ชอบเอาไว้ในใจ จากสิ่งละอันพันละน้อย จนออกมาเป็นคำตอบว่ารสชาติแบบใด คือ ‘ก๋วยเตี๋ยวเรือในฝัน’ ของเขา

การทำก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามอาจเป็นเรื่องของรสนิยมว่าชอบรสจัดหรือรสจืด แต่เรื่องการทำก๋วยเตี๋ยวเรือออกมาเพื่อขายให้คนจำนวนมหาศาลผู้ต่างที่มา เป็นเรื่องที่ใช้ทั้งศาสตร์ในความรู้เรื่องอาหารและศิลปะในการชิมและปรุง

“เราอยู่ในครัว ชิมๆ เช็กๆ ในช่วงแรกที่เปิดร้านทองสมิทธ์ เราใช้หลังบ้านของเราเองผลิตซุปเบสต่างๆ รวมถึงการทำอะไรหลายๆ อย่างที่ทำให้การทำงานของหน้าสาขาง่ายขึ้น ทั้งหมักเนื้อ ตุ๋นหมู ตุ๋นเนื้อ ด้วยความที่ครัวในตอนแรกเล็กมาก แต่หน้าร้านขายอยู่ตลอดเวลา 

“บุคลากรในร้านเราก็สู้กันอย่างสุดใจเลยนะ พักกินข้าว 1 ชั่วโมง ก็พูดว่า เออ พี่ ผมขอทำต่ออีกแป๊บนึง เดี๋ยวค่อยไปกิน เราก็ใช้วิธีเพิ่มงานหลังบ้านของตัวเอง อาทิตย์แรกๆ ตอนเปิดร้าน เนื้อตุ๋นไม่พอเราก็ต้องนั่งตุ๋นเนื้อต่อหลังปิดร้าน เพื่อให้น้องๆ ที่ร้านมีเนื้อใช้ขายได้ในวันถัดไป”

thongsmith

ขั้นที่ 3 : วางเนื้อวากิวสไลด์

พระเอกของก๋วยเตี๋ยวเรือเนื้อวากิว ก็คงต้องเป็นเนื้อวากิวที่กานต์เล่าเอาไว้ให้ฟังว่า ทองสมิทธ์เลือกสรรเอาเนื้อวากิวส่วนสะโพกมาเสิร์ฟให้แก่ลูกค้า สไลด์เป็นแผ่นบางกำลังพอดี วางบนเส้นก๋วยเตี๋ยวพร้อมลูกชิ้น และเนื้อตุ๋นหอมๆ ราดน้ำซุปร้อนๆ จนเนื้อสุกฉ่ำชมพูกำลังพอดี

การใส่เนื้อวากิว คือการสร้างความแตกต่างเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของตนเด่นออกมาจากก๋วยเตี๋ยวเรือนับพันนับล้านถ้วยบนโลกนี้ ไม่ต่างจากความคิดที่ฉีกออกไปจากก๋วยเตี๋ยวเรือที่คุ้นลิ้นคนไทยมานาน

เบื้องหลังความคิดในการสร้างความต่าง

“จากคอนเซปต์ของเราคือ ก๋วยเตี๋ยวเรือพรีเมียม เราขายก๋วยเตี๋ยวเรือเนื้อ แล้วก็หมู เน้นที่คุณภาพของวัตถุดิบ สด สะอาด รสชาติเข้มข้นจัดจ้าน เลือกความเผ็ดได้ เราใช้เนื้อสัตว์ที่มีการเลี้ยงดูที่ดี สายพันธุ์ที่ดีอย่างเนื้อวากิว แล้วเราก็ใช้น้ำซุปที่มาอยู่ด้วยกันกับเนื้อแต่ละชนิดแล้วน่ารัก”

ดังนั้นในการใช้เนื้อจากสายพันธุ์ที่ดีมาสร้างความแตกต่างให้กับก๋วยเตี๋ยวเรือของทองสมิทธ์ กานต์ กิตติเวช ยังต้องคิดถึงน้ำซุปที่จะมาเป็นส่วนประกอบสุดท้ายก่อนก๋วยเตี๋ยวแต่ละชามจะถูกยกเสิร์ฟถึงมือลูกค้า

thongsmith

ขั้นที่ 4 : ปรุงน้ำซุป

นอกจากวากิวเนื้อนุ่มพระเอกของเมนูก๋วยเตี๋ยวเรือเนื้อวากิว สิ่งที่ทำให้พระเอกของเราเจิดจรัสได้คงจะเป็นน้ำซุปที่หอมกรุ่นเครื่องยาจีน

ทองสมิทธ์เองให้ความสำคัญกับน้ำซุปไปไม่น้อยกว่าองค์ประกอบใด จนถึงขั้นผลิตสูตรน้ำซุปขึ้นมาเอง

ผลิตเองแทบทุกอย่างเพื่อให้ได้รสชาติที่ต้องการ

เบื้องหลังการผลิตซุปสะท้อนให้เห็นถึงการคิดถึงหัวอกของลูกค้า เพราะซุปของที่นี่มีการแยกความเผ็ด 4 ระดับ ตั้งแต่ 0-4

“สำหรับเราบางทีน้ำซุปของก๋วยเตี๋ยวเรือบางเจ้าอาจจะฉุนไปนิดนึง หรือพริกที่บางเจ้าใช้ ก็อาจจะ เอ๊ะ พี่คั่วเข้มไปหรือเปล่า ดำไปหน่อย ขมไปนิดรึเปล่า เครื่องยาจีนบางอย่าง มันก็อาจจะละมุนกว่านี้ได้นะ ทำนองนั้น 

“จุดชี้ชัดของเราก็คือ ฉันอยากทำก๋วยเตี๋ยวที่วัตถุดิบคุณภาพสูง แล้วก็ traceability สะอาด ปลอดภัย บวกกับมาเคาะจูนรสชาติที่ต้องการ มันก็เลยกลายเป็นว่า แทบจะผลิตทุกอย่างออกมาเอง” 

คำว่า ‘ผลิตเองแทบจะทุกอย่าง’ ของกานต์ หมายความถึงตั้งแต่การคัดส่วนผสมและปริมาณที่ใช่ มาผลิตเป็นสารตั้งต้นในการทำก๋วยเตี๋ยว เช่น ขนาดของเครื่องยาจีนแต่ละชนิดที่ใช้ต้มน้ำซุปของก๋วยเตี๋ยวเรือก็เป็นสิ่งที่กานต์ปรับจูนสัดส่วนขึ้นเอง จากการทดลองว่าหากต้มน้ำซุปกับยาจีนที่ 30 นาที ไปถึง 3 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น รสชาติจะออกมาเป็นอย่างไร รสชาติของน้ำซุปกับเนื้อวัว กับรสและกลิ่นของน้ำซุปเมื่อต้องอยู่กับเนื้อวากิว ต้องใช้สัดส่วนหรือสูตรที่แตกต่างกันหรือไม่

และที่สำคัญกานต์ กิตติเวช ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่างเป็นประโยชน์ เขากำหนดให้แต่ละสาขาต้องส่งหน้าตาของน้ำซุปเข้ามาให้เขาดูทุก 2 ชั่วโมง

“ตอนนี้ที่เรานั่งคุยกันอยู่ น่าจะมีหน้าตาน้ำซุปเข้ามาสัก 200 ข้อความได้แล้วนะ” กานต์ กิตติเวช พูดพลางหัวเราะ “แต่ส่วนใหญ่น้องๆ เขาค่อนข้างรู้ ในขณะเดียวกันเป็นการกระตุ้นให้น้องๆ เขาช่วยกันดู ช่วยกันเช็ก”

ขั้นที่ 5 : โรยกากหมูเจียว

ลำพังเนื้อตุ๋นหอมๆ เส้นก๋วยเตี๋ยวนุ่มๆ กับเนื้อวากิวสไลด์ในชามก็อร่อยเด็ดดวงเพียงพอ แต่ถ้าจะให้ดีสาวกการกินก๋วยเตี๋ยวเรือคงจะทราบว่าความรื่นรมย์อย่างหนึ่งของการกินก๋วยเตี๋ยวเรือ อยู่ที่ขั้นตอนสุดท้ายก่อนตักก๋วยเตี๋ยวเข้าปาก คือการได้เทกากหมูเจียวโรยลงบนชามก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ เพิ่มรสสัมผัสกรุบกรอบในชามให้มีมิติมากขึ้น

สำหรับ ‘กากหมู’ ของทองสมิทธ์ ก็ยังสะท้อนถึงบุคลิกของร้านได้เป็นอย่างดี เพราะมันหมายถึงการคิดถึง ‘ความสมบูรณ์แบบ’ จนกระทั่งขั้นตอนสุดท้ายของการทำก๋วยเตี๋ยว ที่ใช้กากหมูเจียววันต่อวันเพื่อป้องกันการเหม็นหืนหากปล่อยข้ามวัน

กินวันนี้ พรุ่งนี้ หรืออีกสามเดือนข้างหน้า ต้องให้เหมือนกันที่สุด

“เรื่องของโปรดักต์ต้องดันให้สุด อย่า compromise แบบไปเอาอันนี้มาใช้แทนดีกว่า แบบนี้ไม่ได้ อีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องของมาตรฐาน กินวันนี้ กินพรุ่งนี้ กินอีกสามเดือนข้างหน้า ก็พยายามจะทำให้เหมือนกันที่สุด

“กากหมูเจียวของทองสมิทธ์ก็ราคาไม่ค่อยถูกนะ แต่มันมีเหตุผลของมัน จะสังเกตว่ากากหมูเจียวของทองสมิทธ์จะชิ้นโต แต่ในขณะเดียวกันก็เจียวมาแบบไม่มีน้ำมันตกค้างเลย มีแต่ความกรอบ หอม อร่อย โล่ง มันจะมีเรื่องของการคัดสินค้า ซึ่งตรงนี้เราซีเรียสมาก

“อย่างกากหมูเจียวเราใช้มันหมูส่วนที่มันของหมูหนาและแข็งล้วน ซึ่งมันจะมาจากหมูที่ตัวโต ตัวโตก็เลี้ยงนาน ก็ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น แล้วนำมาทำความสะอาดอย่างดี ตรวจเช็ก ก่อนนำมาหั่น เจียวกับใบเตยเยอะๆ เพื่อให้กลิ่นใบเตยช่วยให้มันหอม จนออกมาเป็น กากหมูเจียวของทองสมิทธ์”

จากทองเนื้อ 9 มาเป็นทองเนื้อ 11 (สาขา)

นับแต่วันแรกที่เปิดร้านแล้ว กานต์ กิตติเวช ได้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลและออกแบบรสชาติอาหารภายในร้านทองสมิทธ์ สู่วันที่ทองสมิทธ์ขยับขยายจากห้องอาหาร 100 ตร.ม. เป็น ร้านอาหารก๋วยเตี๋ยวเรือชื่อดังที่มีสาขามากมายกว่า 11 แห่งทั่วกรุงเทพฯ การขยายสาขาอาจจะเป็นฝันหนึ่งที่กานต์และผองเพื่อนก้าวไปได้ถึง แต่ทว่าขั้นตอนการขยายสาขาอย่างยิ่งใหญ่ก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง

“ไอเดียก็คือเราต้องรู้จักในสิ่งที่เราทำอย่างชัดเจนก่อน ว่าวิธีไหนที่ถูกต้อง ขั้นตอนต่างๆ ที่ย่อยออกมาให้ละเอียดพอ ในขณะเดียวกันก็ง่ายพอที่จะให้น้องๆ ทุกสาขาปฏิบัติตามได้อย่างชัดเจน”

ฟังจากที่กานต์เล่าดังนั้น เราอาจจะพอเห็นทางได้ว่า เขาวางแนวทางไว้ให้น้องๆ พ่อครัวแม่ครัวในทีมทองสมิทธ์เดินตามไว้อย่างชัดเจน ทั้งการจัด การปรุง การจัดวางของจานชามและอาหารให้ออกมาได้ทั้งรูปและรสเดียวกันของร้านทั้ง 11 สาขา

นอกจากแนวทางที่ชัดเจนแล้ว กานต์ กิตติเวช พยายามควบคุมรสชาติของทั้ง 11 สาขาให้ใกล้เคียงกันมากที่สุด เริ่มตั้งแต่การมี SOP (standard of operation) ที่ชัดเจน จำนวนกรัมของเส้นที่ใช้ในก๋วยเตี๋ยวแต่ละชาม น้ำมันเจียวที่จำเป็นต้องใช้ช้อนลักษณะเดียวกันในทุกสาขา รวมไปถึงขั้นตอนต่างๆ ของกานต์ปั้นแต่งก๋วยเตี๋ยวออกมาในแต่ละชาม

ถ้าเปรียบเทียบทองสมิทธ์เป็นดั่งมนุษย์ กานต์ กิตติเวช เปรียบเทียบว่า ทองสมิทธ์คือเด็กน้อยที่เริ่มมีแข้งขาที่แข็งแรงและเพิ่งเริ่มเดินได้ แต่เด็กน้อยทองสมิทธ์คนนี้ยังคงมีความท้าทายที่รอการเติบโตอยู่ข้างหน้าอีกมากมาย ทั้งการเดินทางไปต่างจังหวัดหรือแม้กระทั่งต่างประเทศ

คำว่า สัมฤทธิ์ ที่อยู่ในชื่อ ทองสมิทธ์ (ทอง + สัมฤทธิ์) จึงยังคงต้องใช้กาลเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไปว่า ทองสมิทธ์จะสามารถสัมฤทธิ์ผลในขั้นต่อไปได้หรือไม่

แต่หากเอาคำว่า สัมฤทธิ์ผล มาวัดกับตัว กานต์ กิตติเวช เองแล้ว เขาพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าการตื่นขึ้นมาในตอนเช้าแล้วได้ลุกขึ้นมาในแต่ละวันแล้วไม่รู้สึกท้อหรือเหนื่อยใจอันใดเลย ร่างกายเขายินดีกับการตื่นขึ้นมาเพื่อไปทักทายน้องๆ พนักงานที่ร้านทุกวัน และได้ใช้ชีวิตในทุกวันอย่างมีความหมาย นี่คือคำว่า ‘สัมฤทธิ์ผล’ หรือ ประสบความสำเร็จในแบบของกานต์ กิตติเวช แล้ว


ฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่

Spotify : spoti.fi/3Ex6C1M
Apple Podcasts : apple.co/3jYGNhM

For Sale : บทบาทของดวงและฝีมือ

ขึ้นชื่อว่าวงการบริหารธุรกิจที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน หนีไม่พ้นการถกเถียงฟาดฟันคะยั้นคะยอ หว่านล้อมให้ผู้คนคล้อยตามว่า โมเดลธุรกิจของฉันนี่แหละเจ๋งสุด ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจำนวนนับไม่ถ้วนลำพองใจว่า ความสำเร็จของพวกเขาหรือเธอมาจาก ‘ฝีมือ’ แทบร้อยเปอร์เซ็นต์ โชคหรือ ‘ดวง’ มีส่วนช่วยน้อยมาก และเชื่อต่อไปว่า ความสำเร็จนั้นสามารถถอดรหัสมาเป็น ‘สูตรสำเร็จ’ ให้ทุกคนเจริญรอยตาม

คำถามที่ว่า ความสำเร็จทางธุรกิจแต่ละกรณีเกิดจาก ‘ดวง’ หรือ ‘ฝีมือ’ มากกว่ากัน มีสัดส่วนอย่างละกี่เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นปัญหาโลกแตกที่จะเถียงกันไม่รู้จบไปอีกชั่วกัลปาวสาน

ข้อเท็จจริงจากงานวิจัยธุรกิจจำนวนมากชี้ชัดว่า ทั้ง ‘ดวง’ และ ‘ฝีมือ’ เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ผู้ประกอบการก็มีแนวโน้มที่จะประเมินบทบาทของ ‘ดวง’ ในความสำเร็จของตัวเองต่ำเกินจริง ประเมินบทบาทของ ‘ฝีมือ’ ตัวเองสูงเกินจริง ศาสตราจารย์หลิวเฉิงเหว่ย จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย ESMT Berlin เยอรมนี วิเคราะห์บริษัท 50 แห่งที่ถูกเลือกขึ้นมาชื่นชมในไตรภาคหนังสือธุรกิจขายดีติดลมบน ชื่อ In Search of Excellence, Good to Great และ Built to Last พบว่าความรุ่งโรจน์ของบริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่ตามมาด้วยขาลงหลังจากที่หนังสือถูกตีพิมพ์ โดยในบรรดาบริษัท ‘ดีเลิศ’ 50 แห่ง มี 16 แห่งที่ล้มเลิกกิจการภายใน 5 ปีหลังจากที่หนังสือออก อีก 23 แห่งตกกระป๋องกลายเป็นบริษัทดาดๆ วัดจากการที่ราคาหุ้นบริษัททำผลงานได้แย่กว่าดัชนี S&P 500 ในบรรดาบริษัทที่เหลือ 11 แห่ง มีเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่ยังคง ‘ดีเลิศ’ สมกับที่ถูกอวยในหนังสือ

บางคนมองว่า ซีอีโอของบริษัทที่เคยได้รับการยกย่องว่า ‘ดีเลิศ’ อาจลำพองใจและเคยตัวจนไม่คิดจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทตกต่ำลงในภายหลัง ทว่า ศาสตราจารย์หลิวมองว่า คำอธิบายที่เรียบง่ายกว่านั้นอีกก็คือ ซีอีโอที่ถูกอวยเหล่านั้นไม่ได้เก่งกาจขนาดนั้นตั้งแต่แรก พวกเขาเพียงแต่ ‘โชคดี’ ที่สำเร็จ และหลังจากนั้นก็ ‘โชคร้าย’ ที่ล้มเหลว ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นก็หมายความว่า ไม่ค่อยมีประโยชน์ที่เราจะยกซีอีโอเหล่านี้เป็นไอดอลและพยายามเลียนแบบพวกเขา เพราะต่อให้เราสามารถลอกเลียนแบบได้ทุกกระเบียดนิ้ว ทำทุกอย่างที่พวกเขาทำ เราก็ไม่มีวันผลิตซ้ำ ‘ดวง’ ได้เลย

ผลการวิจัยของศาสตราจารย์หลิว เสนอว่า แทนที่จะตั้งคนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดเป็นต้นแบบ เราควรสนใจคนที่ ‘สำเร็จรองลงมา’ (second best) แทน ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมดนตรี ค่ายเพลงควรปั้นศิลปินที่ได้อันดับ 22-30 บนบิลบอร์ดชาร์ต 100 ไม่ใช่อันดับท็อป 20 ศาสตราจารย์หลิวอธิบายว่า หลายเพลงในยุคนี้ฮอตฮิตติดลมบน เป็นไวรัลก่อนใครจะคาดคิด ซึ่งมี ‘ดวง’ เป็นส่วนสำคัญ อย่างเพลง GANGNAM STYLE จากเกาหลี ซึ่งศิลปิน PSY ไม่เคยประสบความสำเร็จขนาดนั้นได้อีกเลย 

ศาสตราจารย์หลิววิเคราะห์ทิศทางและสถิติของศิลปินติดชาร์ตแล้วสรุปว่า คนที่ได้อันดับท็อป 20 มีแนวโน้มสูงที่ซิงเกิลถัดไปจะได้อันดับ 40-45 โดยเฉลี่ยเท่านั้น พูดง่ายๆ คือ มีโอกาส ‘ตกชั้น’ มากกว่าศิลปินคนอื่นที่เพลงติดอันดับ 22-30–การที่ศิลปินกลุ่มหลัง ‘สำเร็จรองลงมา’ นั่นแหละที่บ่งชี้ว่า ความสำเร็จของพวกเขาน่าจะเกิดจาก ‘ฝีมือ’ มากกว่า ‘ดวง’ชัยชนะในโลกของบอร์ดเกมบ่อยครั้งก็แยกยากมากเช่นกันว่าเกิดจาก ‘ดวง’ หรือ ‘ฝีมือ’ มากกว่ากัน และบอร์ดเกมจำนวนมากก็อาศัย ‘ดวง’ เป็นกลไกสำคัญในเกม แต่มีน้อยเกมที่จะผสม ‘ดวง’ กับ ‘ฝีมือ’ ได้อย่างกลมกล่อมและตื่นเต้นเร้าใจภายในเวลาเพียง 15-20 นาที ได้ดีเท่ากับ For Sale (‘บ้านนี้ขาย!’ ในฉบับแปลไทย) เกมเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ระดับขึ้นหิ้งจาก Stefan Dorra นักออกแบบชาวเยอรมัน

board

For Sale เล่นได้ 3-6 คน จบเกมใครมีเงินมากสุดชนะตามธรรมเนียมเกมธุรกิจทั่วไป กติกาเข้าใจง่ายและอุปกรณ์ก็ไม่มีอะไรมาก หลักๆ ใช้เพียงไพ่ 2 สำรับ สำรับแรกเป็นไพ่สีเขียวเรียกว่า ‘อสังหาริมทรัพย์’ เรียงเลขไม่ซ้ำใบจาก 1-30 สำรับที่สองเป็นไพ่สีฟ้าเรียกว่า ‘เช็ค’ ซึ่งเป็นเงินในเกม มี 30 ใบ บางใบมูลค่าซ้ำกัน ไม่นับเหรียญหรือโทเคนมูลค่า $1,000 หลายสิบอันที่ใช้แทนเงินสด เริ่มต้นให้สับไพ่ทั้งสองสำรับ คว่ำกองไพ่อสังหาฯ ไว้กลางวง จากนั้นแจกเหรียญให้ผู้เล่นรอบวงในจำนวนเท่ากัน เพื่อให้ทุกคนเริ่มเกมด้วยเงินจำนวนเท่ากัน จากนั้นสุ่มไพ่อสังหาฯ บางใบออกจากเกม ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น การสุ่มนี้เพื่อทำให้ผู้เล่นมีจำนวนไพ่อสังหาฯ เท่ากันทุกคนในแต่ละตา

เราจะทำให้เงินงอกเงยได้ยังไง? สิ่งที่เราต้องทำใน For Sale คือพยายามประมูลเงินน้อยที่สุดที่ทำได้ เพื่อประมูลไพ่อสังหาฯ ที่ดีที่สุดที่หาได้ (‘มูลค่าจริง’ ของอสังหาในเกมนี้ดูจากเลขบนไพ่ ยิ่งสูงยิ่งแปลว่าเป็นที่ดินมูลค่าสูง) ในครึ่งแรกของเกม จากนั้นก็หาทางขายอสังหาฯ เหล่านั้นเพื่อแลกกับไพ่เช็คมูลค่าสูงสุดที่หาได้ในครึ่งหลังของเกม 

ครึ่งแรกของเกมพาเราเข้าสู่โลกของการประมูล แต่ละตาเริ่มจากการเปิดไพ่อสังหาฯ จากกอง จำนวนเท่ากับจำนวนผู้เล่น นี่คือ ‘ตลาดอสังหาฯ’ ในตานั้นๆ จากนั้นผู้เล่นผลัดกันเสนอราคาประมูลด้วยการวางเหรียญบนโต๊ะ คนต่อไปต้องเสนอราคาสูงกว่าคนก่อนหน้า ไม่งั้นต้องบอก ‘ผ่าน’ เช่น ถ้าผู้เล่นคนแรกเสนอ 2 เหรียญ คนต่อไปต้องเสนอ 3 เหรียญ หรือบอก ‘ผ่าน’ การประมูลจะเวียนไปเรื่อยๆ กี่รอบก็ได้จนกระทั่งมีคนบอก ‘ผ่าน’ คนแรกที่ผ่านจะต้องหยิบไพ่อสังหาฯ ที่มีมูลค่าน้อยที่สุด (ตัวเลขต่ำสุด) จากตลาดอสังหาฯ คนที่สองที่ผ่านจะต้องหยิบไพ่ที่มีมูลค่าน้อยที่สุดที่ยังเหลืออยู่ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนทุกคนผ่านหมด จบตาแต่ละคนจะได้ไพ่อสังหาฯ คนละ 1 ใบ 

กฎที่น่าสนใจคือ ผู้เล่นทุกคนยกเว้นคนที่เสนอราคาประมูลสูงสุดจะได้เงินประมูลคืนครึ่งหนึ่งเมื่อบอกผ่าน เช่น สมมติเราขานอยู่ที่ 4 เหรียญ และรอบต่อมาบอกผ่าน เราจะได้เงินคืน 2 เหรียญทันทีพร้อมไพ่อสังหาฯ มูลค่าต่ำสุด แต่คนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในวง (ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องบอกผ่านก็ได้ เพราะเหลือคนเดียว) จะต้องจ่ายเงินทั้งหมดที่ตัวเองเสนอ ไม่ได้ส่วนลดใดๆ กฎข้อนี้ทำให้เราต้องคิดหนักในแต่ละตาว่าจะ ‘ทุ่ม’ ดีไหม อสังหาฯ มูลค่าสูงสุดในตานั้นๆ น่าจะคุ้มค่าแก่การทุ่มทุนหรือไม่ เราจะเก็บเงินไว้รอทุ่มในตาต่อๆ ไปดีกว่าไหม อย่าลืมว่าทุกคนรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าไพ่อสังหาฯ มีเพียง 30 ใบ เลขไม่ซ้ำกัน ฉะนั้นถ้าไพ่เลขสูงๆ ยังไม่ออกมา ทุกคนก็จะมีแนวโน้มกันเงินไว้ทุ่มในอนาคต

การประมูลตาต่อๆ ไป จะทำแบบเดียวกัน โดยคนที่ได้เสนอราคาประมูลก่อนคือคนที่ได้อสังหาฯ มูลค่าสูงสุดในตาก่อนหน้า เมื่อใดที่ไพ่อสังหาฯ หมดกองกลาง (เพราะไปอยู่ในมือผู้เล่น) เมื่อนั้นตลาดอสังหาฯ ก็จะวาย และครึ่งหลังของเกมก็จะเริ่มต้น

ในช่วงหลังของเกม เราจะพยายามขายอสังหาฯ ในมือให้ได้เงินมากที่สุด แต่เรามองไม่เห็น ‘คนซื้อ’ ในเกมนี้และการขายก็เกี่ยวกับดวงด้วย เพราะแต่ละตาจะหงายไพ่ ‘เช็ค’ มาเท่ากับจำนวนผู้เล่น ไพ่เช็คเหล่านี้มีมูลค่า $0-$15,000 เช็คเหล่านี้แทน ‘ตลาดอสังหาฯ’ คราวนี้แทนที่เราจะใช้เหรียญ เราจะใช้วิธี ‘ประมูลด้านกลับ’ ด้วยการเลือกไพ่อสังหาฯ หนึ่งใบในมือมาคว่ำวางตรงหน้า เมื่อผู้เล่นทุกคนเลือกอสังหาฯ มาคว่ำแล้ว ก็จะหงายไพ่ขึ้นมาพร้อมกัน คนที่เสนอไพ่อสังหาฯ มูลค่าสูงสุดในวงจะได้ไพ่เช็คมูลค่าสูงสุดในตลาดไป คนที่เสนอไพ่อสังหามูลค่าต่ำสุดจะได้ไพ่เช็คมูลค่าน้อยสุด 

การขายอสังหาฯ วิธีนี้จะทำไปเรื่อยๆ ตาแล้วตาเล่า จนกระทั่งผู้เล่นทุกคนขายอสังหาฯ หมดมือ จากนั้นก็นับเงินทั้งหมด (เช็ค + เหรียญ) ใครมีเงินมากสุดชนะ ถ้ามีคนเสมอกัน ให้คนที่มีเหรียญมากกว่าชนะ (ถือว่าเก่งกว่าเพราะทุ่มทุนประมูลอสังหาฯ น้อยกว่า) 

แน่นอน เราจะอยาก ‘ปล่อยของ’ ในมือโดยที่ทำกำไรให้ได้มากที่สุด เช่น ปล่อยอสังหาเบอร์ 16 ที่เราซื้อมาในราคา $5,000 (ขานราคาประมูล 5 เหรียญ) แลกไพ่เช็ค $12,000 (แปลว่ามีกำไร $12,000-$5,000 = $7,000) แต่แทบเป็นไปไม่ได้ที่เราจะทำอย่างนั้นได้ทุกตา โดยเฉพาะในเมื่อไพ่เช็คในแต่ละตาถูกสุ่มขึ้นมาวาง และผู้เล่นคนอื่นก็พยายามจะทำแบบเดียวกัน บางตาเราอาจต้องยอมขาดทุน (ขายอสังหาในราคาต่ำกว่าที่ซื้อมา) เพราะหวังน้ำบ่อหน้าในอนาคต

For Sale เป็นเกมเล็กเล่นง่ายที่อัดแน่นไปด้วยการตัดสินใจยากๆ ตลอดเวลา แถม ‘ดวง’ ก็มีส่วนอย่างชัดเจน เพราะทั้งไพ่อสังหาฯ และไพ่เช็คถูกสุ่มขึ้นมาทุกตา แถมเรายังต้องคอยสังเกตการกระทำของผู้เล่นคนอื่นๆ ด้วย หลายคนที่เล่นเกมนี้เก่งมากจะจำว่าใครได้ไพ่อสังหาฯ ใบไหนไปบ้างก่อนเข้าครึ่งหลังของเกม แต่ผู้เขียนไม่เคยทำได้เลย ในแต่ละตาเราต้องตัดสินใจว่า จะ ‘ทุ่ม’ เงินประมูลซื้อไพ่อสังหาฯ ในตานั้นไหม หรือจะอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ยอมรับอสังหาฯ มูลค่าต่ำ เพื่อเก็บเงินไว้ทุ่มซื้ออสังหาฯ มูลค่าสูงๆ ในตาต่อๆ ไป (ซึ่งแปลว่าต้องคอยจำเหมือนกันว่าไพ่อสังหาฯ ใบไหนออกมาในตลาดแล้วบ้าง ใบไหนยังอยู่ในกอง) 

ในเมื่อทุกคนมีเงินหรือเหรียญตั้งต้นเท่ากัน ไม่มีทางเพิ่มเหรียญ (ที่ใช้ในการประมูล) หมดแล้วหมดเลย นั่นก็หมายความว่าเราต้องคอยดูด้วยว่าคู่แข่งคนอื่นๆ กำลังทำอะไร เช่น ถ้าเห็นว่าคนทางขวาของเรากำลังเสนอราคาสูงเว่อร์ อารามอยากได้ไพ่อสังหาฯ สูงสุดในตานั้นมาก เราอาจจะอยากเก็บเงินของเราไว้ ปล่อยให้เขาได้ไปเพราะรู้ว่าตาต่อไปเขาจะมีเงินมาแข่งน้อยลง หรือถ้ากล้าเสี่ยงเราก็อาจเกทับ เสนอราคาประมูลสูงกว่านั้นไปอีกเพื่อบีบให้เขาลงทุนมากกว่าเดิม แต่ต้องเดิมพันว่าเขาอาจรู้นิสัยเราดี แกล้งประมูลสูงๆ ล่อให้เรามาแข่ง จากนั้นบอกผ่าน เท่ากับสับขาหลอกให้เราค้างเติ่งบนดอย!

ในครึ่งหลังของเกมที่เราพยายามปล่อยของทำกำไร ‘ดวง’ ก็ยังคงเป็นส่วนสำคัญเพราะไพ่เช็คถูกสุ่มหงายทุกตา แต่เราก็บริหารจัดการดวงได้ด้วยการพยายามวัดใจคู่แข่ง ใครที่มีความจำดี โดยเฉพาะถ้าจำแม่นว่าผู้เล่นคนไหนมีอสังหาฯ อะไรบ้างในมือจากครึ่งแรกของเกมอาจได้เปรียบในช่วงนี้ สมมติว่าเช็ค $15,000 (มูลค่าสูงสุดในเกม) เพิ่งออกมาในตานี้หลังจากที่เล่นกันไปแล้วหลายตา ถ้าเราจำได้ว่าในตาก่อนๆ ไพ่อสังหาฯ ใบไหนถูกขายไปแล้วบ้าง ความรู้นี้ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เราประมูล ‘แพง’ เกินไป เช่น ถ้าเราเลือกคว่ำไพ่อสังหาฯ เบอร์ 27 (ดีที่สุดในมือ) เพื่อหวังชิงเช็ค $15,000 โดยที่จำไม่ได้ว่าคู่แข่งอีกคนยังมีไพ่เบอร์ 29 ในมือ พอเปิดไพ่รอบวงเจ้าของ 29 ก็จะได้เช็ค $15,000 ไป เราได้เช็คมูลค่ารองลงมาแทน (ถ้าเบอร์ 27 สูงเป็นอันดับสองในวง) ซึ่งอาจทำให้เราขาดทุนหนักมากเลยก็ได้ (เช่น สมมติเช็คมูลค่ารองลงมาคือ $6,000 แต่เราประมูลซื้อเบอร์ 27 สูงถึง $10,000 เป็นต้น) ดังนั้น ยิ่งเรา ‘อ่าน’ คู่แข่งของเราออก คาดการณ์ถูกว่าพวกเขาจะทำอะไร และมีความจำดี เราก็ยิ่งบริหารจัดการ ‘ดวง’ ในช่วงที่สองได้ดียิ่งขึ้น

ความเจ๋งจุดหนึ่งของ For Sale เป็นเรื่องของ ‘ดวง’ เช่นกัน นั่นคือ ในเมื่อแต่ละตาใช้วิธีสุ่มหงายไพ่ (ไม่ว่าไพ่อสังหาหรือไพ่เช็ค) แต่ละตาและแต่ละเกมที่เราเล่นจะไม่มีวันซ้ำเดิม กลยุทธ์ที่เคยใช้การได้ในเกมที่แล้วอาจใช้ไม่ได้แล้วในเกมนี้ บางตาตลาดอสังหาฯ อาจเต็มไปด้วยไพ่ที่มีมูลค่าใกล้เคียงกัน (เช่น ออกเลข 5, 7, 8, 9) ดังนั้นเราอาจต้องประมูลแบบอนุรักษนิยมมากกว่าปกติ จะได้ไม่เสียเยอะ บางตาตลาดอาจมีไพ่ที่มูลค่าต่างกันมาก (เช่น 1, 4, 19, 29) ดังนั้นเราอาจต้องอนุรักษนิยมน้อยลง แข่งประมูลเพื่อจะได้ไม่ลงเอยกับไพ่มูลค่าติดดิน 

ธรรมชาติ ‘สุ่ม’ ของ For Sale แปลว่าเป็นไปได้ที่เราจะทำกำไรจากอสังหาฯ มูลค่าต่ำเตี้ย มากกว่าอสังหาฯ มูลค่าสูงลิ่ว ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าในช่วงท้ายเกม คู่แข่งเราทุกคนขายอสังหาฯ มูลค่าสูงลิบไปหมดแล้ว และเราโชคดีที่หงายไพ่เช็คออกมา ปรากฏว่าเป็นเช็คมูลค่า $10,000 เท่ากันทุกใบ เปิดโอกาสให้เราขายอสังหาเบอร์ 1 (เพิงหมาแหงน) ได้อย่างชิลล์ๆ พลางยิ้มเยาะคนอื่น ในราคา $10,000 ฟันกำไรไปเหนาะๆ $9,000 เพราะประมูลมันมาในราคา $1,000 (1 เหรียญ) เท่านั้น

For Sale เป็นเกมที่ไม่เหมาะสำหรับเกมเมอร์สายวางแผนผู้เคร่งครัด ไม่ชอบให้มีเรื่องที่ควบคุมไม่ได้อย่าง ‘ดวง’  มาทำลายแผนที่ตัวเองวางไว้อย่างสวยงาม แต่สำหรับผู้ประกอบการและคนทั่วไปที่รู้ซึ้งเป็นอย่างดีถึงบทบาทของโชคในธุรกิจและชีวิตประจำวัน For Sale ก็เป็นเกมสนุกติดหนึบที่ช่วยให้เราแยกแยะได้ดีขึ้นระหว่าง ‘ดวง’ และ ‘ฝีมือ’

จะได้ไม่พานหลงระเริงจนหลงผิด คิดว่าความสำเร็จทั้งหลายล้วนเกิดจาก ‘ฝีมือ’ ของเราเท่านั้น

‘Tony’s Chocolonely’ ช็อกโกแลตที่หักยังไงก็ไม่มีทางเท่ากันเพื่อสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม

กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทช็อกโกแลต Tony’s Chocolonely ที่สร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านยูโรต่อปีและมีส่วนแบ่งของตลาดกว่า  21 เปอร์เซ็นต์ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พยายามทำบางอย่างที่ยิ่งใหญ่มากกว่าการแค่การขายช็อกโกแลตแสนอร่อยให้คนทั่วโลก ด้วยภารกิจที่ไม่ใช่เพียงการสร้างผลกำไรจากแท่งช็อกโกแลตแต่พยายามขจัดแรงงานทาสออกจากขั้นตอนการผลิตช็อกโกแลต นอกจากนั้นยังพัฒนาและปรับปรุงสภาพการทำงานของคนงานในสวนโกโก้ทั่วโลกด้วย

เบน กรีนสมิท (Ben Greensmith) ผู้จัดการธุรกิจที่ดูแลสหราชอาณาจักรบอกว่า Tony’s Chocolonely คือบริษัทที่ต้องการ ‘สร้างผลกระทบเชิงบวก’ ให้กับสังคมผ่านธุรกิจที่พวกเขาทำตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัท

Tony's Chocolonely

Tony’s Chocolonely เกิดขึ้นในปี 2003 โดย Maurice Dekker ที่มีอาชีพเป็นโปรดิวเซอร์และ Teun van de Keuken ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์และวิทยุชาวดัตช์ซึ่งสร้างชื่อเสียงในการสืบสวนการค้าและการผลิตที่ไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมอาหาร เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับแรงงานทาสสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมายทั่วฟาร์มโกโก้ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งสำหรับเขาแล้วมันน่าแปลกใจมากเพราะแบรนด์ช็อกโกแลตชื่อดังของโลกมากมายต่างได้ร่วมมือกันลงนามในข้อตกลงเพื่อยับยั้งไม่ให้มีการใช้แรงงานทาสในกระบวนการทั้งหมดโดยเฉพาะ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี พวกเขาทั้งสองคนเลยพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยการแสดงให้ทุกคนเห็นเลยว่าแบรนด์ช็อกโกแลตสามารถประสบความสำเร็จได้แบบยั่งยืนโดยไม่ต้องมีการใช้แรงงานทาสเด็กในชุมชนแอฟริกาตะวันตกแบบผิดกฎหมายเลย และทุกคนที่อยู่ในกระบวนการผลิตจนถึงการขายก็จะได้ส่วนแบ่งผลกำไรที่สมเหตุสมผลอีกด้วย

แรงงานทาสหรือแรงงานผิดกฎหมายอาจจะดูเป็นสิ่งที่ไกลตัวสำหรับเราทุกคนในโลกยุคปัจจุบัน ทุกอย่างดูทันสมัย มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เข้มงวด เทคโนโลยีที่มาช่วยผ่อนแรงสำหรับงานหนัก แต่ความจริงแล้วปัญหาของการใช้แรงงานมนุษย์อย่างผิดกฎหมายในยุคปัจจุบันที่เรียกว่า ‘modern slavery’ หรือ ‘ทาสสมัยใหม่’ นั้นยังคงมีอยู่จริงๆ เราอาจจะไม่เคยเห็นหรือสัมผัสด้วยตัวเอง รายงานข่าวอาจจะมีน้อยเกินไป แต่สถิติที่โหดร้ายจากองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติที่ก่อตั้งมายาวนานที่สุดตั้งแต่ปี 1839 อย่าง antislavery.org บอกว่า ตอนนี้มีคนที่ตกเป็นทาสแรงงานทั่วโลกกว่า 40 ล้านคน (ซึ่งเอเชียถือว่าเยอะที่สุดด้วย) 1 ใน 4 ของจำนวนนั้นหรือประมาณ 10 ล้านคนเป็นเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และประมาณ 71 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิงทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ถ้ามองจากภายนอกแล้วพวกเขาอาจจะดูเหมือนทำงานทั่วไป แต่ความจริงแล้วคนเหล่านี้ตกอยู่ในสภาวะของทาสผู้ถูกควบคุม อาจจะต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงหรือการข่มขู่ ถูกบังคับให้เป็นหนี้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือถูกยึดพาสปอร์ตไปและถูกคุกคาม หลายคนตกหลุมพรางกดขี่อันนี้เพียงเพราะพยายามหนีความยากจนและความไม่มั่นคง อยากทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น อยากหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่กลับกลายเป็นว่าพวกเขาไม่สามารถหนีออกไปจากตรงนี้ได้ กลายเป็นทาสที่ถูกเอารัดเอาเปรียบและไม่ได้รับการดูแลทางกฎหมายเลยแม้แต่น้อย

ในปี 2005 นั้น Teun van de Keuken จึงเปิดตัว Tony’s Chocolonely ช็อกโกแลตแท่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว ผ่านกระบวนการออกมาเป็นแท่งและวางขายให้กับลูกค้า เขาอยากสื่อให้ทุกคนรู้ว่ามันสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมายเลย มีการจ่ายเงินอย่างถูกกฎหมายให้กับเกษตรกร ทำทุกอย่างโปร่งใสตั้งแต่ต้นจนจบ

ชื่อของบริษัทนั้นมาจากชื่อของ Teun van de Keuken ย่อมาเป็น ‘Tony’ ส่วน ‘lonely’ คือการค้นหาเส้นทางการผลิตช็อกโกแลตแบบไม่ใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมายอย่างโดดเดี่ยว เลยกลายเป็น Tony’s Chocolonely 

ช็อกโกแลตล็อตแรกขายหมดอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงจากการสนับสนุนของลูกค้าที่ชื่นชอบในไอเดีย ตอนนี้มีวางขายในตลาดมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก และยังขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แพ็กเกจของ Tony’s Chocolonely นั้นโดดเด่นด้วยสีสันที่สดใส และตัวหนังสือที่ย้อนยุคหน่อยๆ ซึ่งแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ใช้สีที่ชัดเจนว่าเป็นช็อกโกแลตอย่างสีน้ำตาล พวกเขาใช้สีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในอุตสาหกรรมช็อกโกแลต รวมทั้งดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาหยิบดู ทำให้คนสงสัยว่ามันคือช็อกโกแลตอะไรกันแน่ พอหยิบขึ้นมาดูก็จะเป็นโอกาสที่แบรนด์สามารถสื่อสารให้ลูกค้าที่หยิบขึ้นมาอ่านด้านหลังของแพ็กเกจได้เลยว่าสิ่งที่แบรนด์กำลังจะทำคืออะไร บอกเล่าเรื่องราวจุดประสงค์ให้ลูกค้าที่หยิบขึ้นมาอ่าน เพราะฉะนั้นอย่างแรกเลยก็คือทำยังไงก็ได้ให้ลูกค้าสนใจจะหยิบขึ้นมาก่อน จึงเป็นที่มาของการออกแบบแพ็กเกจด้านนอกที่ฉูดฉาด

พอแกะออกมาภายในแพ็กเกจก็จะเห็นข้อความที่กระตุ้นจิตสำนึกเรื่องการใช้แรงงานทาสและแรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย แค่นั้นยังไม่พอ พวกเขายังจงใจแบ่งชิ้นช็อกโกแลตให้เป็นชิ้นๆ ที่ขนาดไม่เท่ากันเพื่อแสดงถึงความไม่เท่าเทียมกันในห่วงโซ่อุปทานของโกโก้ มีการเอารัดเอาเปรียบกันจนทำให้เกิดการใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมายในสายงานการผลิต แถมถ้าสมมติว่าเอาช็อกโกแลตแท่งของ Tony’s Chocolonely มาวางดู จะเห็นว่ามันเป็นแผนผังประเทศที่ผลิตช็อกโกแลตในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งประกอบไปด้วยโกตดิวัวร์, กานา, โตโก, เบนิน, ไนจีเรีย และแคเมอรูน

Tony's Chocolonely
Tony's Chocolonely

เบนบอกว่า “คุณอาจได้ชิ้นใหญ่ไปเหมือนเป็นบริษัทช็อกโกแลตขนาดใหญ่ หรือคุณอาจจะได้อะไรเล็กๆ น้อยๆ เฉกเช่นเดียวกับชาวนา” มันเป็นการใช้ตัวสินค้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของแบรนด์ได้อย่างชาญฉลาดเพราะพวกเขาไม่เคยซื้อสื่อเพื่อโฆษณาเลย

Tony’s Chocolonely เป็นบาร์ช็อกโกแลตที่แตกต่างจากเจ้าอื่นๆ แต่พวกเขาไม่ได้แค่อยากทำให้มันแตกต่างเพียงเพราะอยากแตกต่างเท่านั้น พวกเขามีเหตุผลอันเป็นหัวใจของแบรนด์เลยก็ว่าได้ ตามเป้าหมายของบริษัทที่บอกว่า

“Crazy about chocolate, serious about people–A 100% Slave-Free Chocolate industry–That’s our goal”

เป้าหมายของช็อกโกแลตแท่งนี้ที่หักยังไงก็ไม่เท่ากันพยายามจะสื่อก็คือการให้ลูกค้าที่ซื้อไปนั้นได้หยุดและคิดสักหน่อยถึงช็อกโกแลตที่กำลังจะหยิบเข้าปาก ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงๆ ในโลกของเรา และยังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ 

Tony's Chocolonely

แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบเรียบไร้อุปสรรค อุตสาหกรรมช็อกโกแลตทั่วโลกมีขนาดใหญ่และสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างมหาศาล โดยในตอนนี้มีมูลค่าประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ทั่วโลก และคาดว่าจะถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 แน่นอนว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ก็สูงเช่นกัน เพราะมีเจ้าใหญ่ๆ ครองตลาดอยู่ แถม Tony’s Chocolonely ก็ต้องประสบปัญหาทางด้านอื่นระหว่างทางด้วยไม่ใช่แค่การขายให้ได้อย่างเดียว แม้ว่าจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขนาดไหนก็ตาม อย่างในปี 2021 ที่พวกเขาเจอกระแสด้านลบเมื่อชื่อแบรนด์ถูกตัดออกจากรายชื่อผู้ผลิตที่มีจริยธรรมโดยองค์กรอุตสาหกรรม Slave Free Chocolate เพราะดันไปร่วมงานกับบริษัทแปรรูปโกโก้รายใหญ่อย่าง Barry Callebaut ที่มีข่าวว่าละเมิดการใช้แรงงานมนุษย์

อันที่จริงกระบวนการทั้งหมดในการผลิตช็อกโกแลตตั้งแต่ต้นจนจบนั้นมีความซับซ้อนและบางทีก็ไร้ความโปร่งใส ส่วนใหญ่แล้วมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของกระบวนการทั้งหมดจะเริ่มต้นที่กานาและโกตดิวัวร์ ซึ่งในขณะที่บริษัทช็อกโกแลตขนาดใหญ่ทั่วโลกสร้างรายได้และกำไรมหาศาลปีแล้วปีเล่า แต่เกษตรกรที่บริษัทเหล่านี้ต้องพึ่งพาในกระบวนการปลูกและดูแลยังคงยากจนข้นแค้นอย่างน่าสลดใจ พวกเขายากจนมากจนเหมือนถูกบีบบังคับให้จ้างแรงงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเด็กและคนที่อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย เพียงเพื่อจะพอมีเงินแค่เอาชีวิตรอดหลังฤดูเก็บเกี่ยวผ่านไปแล้วเท่านั้น

ราคาโกโก้ในประเทศเหล่านี้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลมาตั้งแต่แรก (เรียกว่า farm gate price) แต่เกษตรกรเกือบทั้งหมดก็ยังอยู่ใต้ค่าเฉลี่ยเส้นความยากจนอยู่ดี บริษัทใหญ่ๆ ส่วนใหญ่จะจ่ายเพียงค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น และถึงแม้ว่าจะมีการปรับปรุงข้อกำหนดทางกฎหมายจากองค์กรอย่าง Fairtrade ที่มีการเสนอราคาที่สูงขึ้นสำหรับโกโก้ที่ผ่านการรับรองว่ามาจากฟาร์มที่ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก มันก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี เบนบอกว่าเมื่อคุณซื้อช็อกโกแลตแท่งหนึ่งที่เป็น Fairtrade มันก็ไม่ได้หมายความว่าโกโก้ในบาร์ของคุณนั้นมีกระบวนการทุกอย่างที่เป็นธรรม แต่มันหมายความว่าในกระบวนการทั้งหมดนี้ มีบางคน บางแห่ง ซื้อ-ขายโกโก้เหล่านั้นอย่างยุติธรรม

การตรวจสอบแบบย้อนกลับทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากแหล่งของเมล็ดโกโก้นั้นกระจัดกระจายไปทั่วจากฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยหลายล้านราย แถมกระบวนการซื้อ-ขายก็มักจะขายผ่านผู้ค้าในท้องถิ่นที่ดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลที่จำกัด เพราะฉะนั้นเมล็ดโกโก้เลยถูกผสมรวมกันระหว่างกระบวนการเหล่านี้

Tony’s Chocolonely เลยตัดสินใจนำเทคโนโลยีอย่างบล็อกเชนเข้ามาใช้เพื่อให้มั่นใจว่าการตรวจสอบแหล่งที่มาที่ไปตลอดทั้งสายนั้นสามารถติดตามได้จริงๆ โดยบริษัทจะจ่ายให้เกษตรกรในราคาที่สูงโดยคำนวณตามขนาดของฟาร์มและจำนวนสมาชิกในครอบครัว ไม่เพียงมีเป้าหมายแค่เพิ่มรายได้ให้พวกเขาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เกษตรกรเหล่านี้ยังสามารถลงทุนในทรัพยากรอื่นๆ ที่จะช่วยยกระดับชีวิตของตัวเองและครอบครัวขึ้นไปด้วย อย่างเช่นการเสนอหลักสูตรฝึกอบรมการเกษตรที่จะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตในอนาคต โดยทางบริษัทจะแบ่งสัดส่วนรายได้ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายปลีกแท่งช็อกโกแลตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ของพวกเขา และทุกปีสามารถตรวจสอบรายละเอียดเหล่านี้ได้จากเอกสารเผยแพร่ในรายงานประจำปีของบริษัทด้วย

เบนอธิบายถึงขั้นตอนนี้ว่ามันใช้เงินและเวลาค่อนข้างเยอะเพราะต้องใช้เทคโนโลยีระบบ GPS เพื่อวางแผนที่สำหรับฟาร์มแต่ละแห่งเพื่อให้ทราบว่าแต่ละที่นั้นสามารถสร้างผลผลิตได้มากขนาดไหน ทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการที่ต้องพัฒนาต่อไป มันอาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เป็นก้าวแรกที่จำเป็นต้องทำเพื่อสร้างห่วงโซ่การผลิตที่ติดตามได้อย่างแท้จริง

แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะคิดในเชิงบวกเห็นด้วยกับสิ่งที่ Tony’s Chocolonely ทำ อย่าง Ayn Riggs ผู้อำนวยการองค์กร Slave Free Chocolate ซึ่งเป็นกลุ่มที่ลบชื่อของ Tony’s Chocolonely ออกจาก directory ผู้ผลิตที่มีจริยธรรมเมื่อสิ้นปี 2020 เธอเชื่อว่าสิ่งที่บริษัทกำลังพยายามทำนั้นเป็นเรื่องการตลาดมากกว่า เอาเรื่องความเท่าเทียมและจริยธรรมมาสร้างเป็นจุดขายเพื่อให้ได้กำไรเยอะๆ หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘greenwashing’ และเป็นเพียงหมากของธุรกิจเท่านั้น เธอกล่าวว่า “พวกเขาไม่ได้กำลังจะเปลี่ยนแปลงโลก แค่กำลังทำการตลาดเท่านั้นเอง”

บริษัทตอบสนองกับข่าวแย่ๆ นี้โดยการออกมาแสดงจุดยืนที่มั่นคงอีกครั้ง Tony’s Chocolonely แถลงการณ์ยาวเหยียดโดยส่วนหนึ่งบอกว่า “เราไม่เคยพบกรณีของทาสสมัยใหม่ในห่วงโซ่การผลิตของเราเลย แต่เราเคยพบกรณีการใช้แรงงานเด็กอย่างผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในฟาร์มโกโก้ที่เราจัดหาเมล็ดอยู่บ้าง ซึ่งเราเองก็พูดถึงเรื่องนี้ถ้าเกิดขึ้นและโปร่งใสกับเรื่องนี้มาโดยตลอดร้อยเปอร์เซ็นต์”

มันเป็นเรื่องยากที่จะออกไปตอบโต้ข่าวที่เกิดขึ้น สิ่งที่พวกเขาทำได้คือบอกข้อมูลตามความเป็นจริงทั้งหมดเท่านั้น 

อุตสาหกรรมช็อกโกแลตให้ผลกำไรที่งดงาม แต่โดยรวมแล้วมันกระจุกตัวอยู่กับบริษัทยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่แห่งอย่าง Hershey’s, Nestle, Mars และ Mondelez (เจ้าของ Cadbury, Oreo, Toblerone และ Belvita) ซึ่งแบรนด์เหล่านี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ควบคุมตลาดการผลิตทั่วโลกและมีอำนาจต่อรองในมืออย่างมาก เอาตัวอย่างง่ายๆ เพียงแค่ไตรมาสแรกของปี 2021 บริษัท Mondelez ทำรายได้ไปมากกว่า 7.2 พันล้านดอลลาร์ และกำไรมากถึง 515 ล้านดอลลาร์แล้วจากยอดขายของ Oreo และ Dairy Milk

Tony's Chocolonely

เมื่อมองภาพใหญ่ Tony’s Chocolonely ถือว่าเล็กและเดียวดายเหมือนชื่อของบริษัทไม่มีผิด เขาคือปลาตัวน้อยๆ ที่ว่ายอยู่ในบ่อของฉลาม แต่ถ้ามองจากมุมของบริษัทเอง พวกเขาก็ทำได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่ว่า “Crazy about chocolate, serious about people–A 100% Slave-Free Chocolate industry–That’s our goal” แม้จะไม่ได้กำไรหรือเติบโตอย่างมาก แต่ก็ได้สร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ให้กับผู้บริโภคช็อกโกแลตทั่วโลก พวกเขาไม่กลัวที่จะตะโกนดังๆ ถึงความฝันและมุ่งมั่นที่จะทำให้มันเติบโต นอกจากนั้นยังสร้างความแตกต่างในสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ ทั้งแพ็กเกจ ทั้งการออกแบบแท่งช็อกโกแลต และแน่นอนเรื่องของกระบวนการผลิตที่โปร่งใส เมื่อเจอกับการวิจารณ์ก็ตอบโต้อย่างเปิดเผยด้วยข้อมูลและความซื่อสัตย์ ไม่ปิดบังความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและพยายามแก้ใขให้เร็วที่สุด ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

การทำธุรกิจในยุคที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ตลาดที่ผันผวนและมีเจ้าใหญ่ๆ ที่ครอบครองตลาดอยู่ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายอยู่แล้ว Tony’s Chocolonely ไม่เพียงแค่พยายามสร้างรายได้จากการขายช็อกโกแลตเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดเท่านั้น พวกเขาต้องการสร้างผลกระทบทางบวกแก่โลกของเรา ทำให้ทุกคนเห็นว่ามันเป็นไปได้ที่จะทำธุรกิจให้เติบโตและทุกคนก็ได้ผลประโยชน์ที่เพียงพอไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าโลกนี้มี ‘ความไม่เท่าเทียม’ แฝงอยู่ใกล้ตัวเสมอ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม และตัวของเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของมันด้วย ถ้าไม่เชื่อลองหักแบ่งแท่งช็อกโกแลตของ Tony’s Chocolonely ดูก็ได้ เพราะหักยังไงมันก็ไม่เท่ากัน และนั่นก็สะท้อนความไม่เท่าเทียม

อ้างอิง

babame.com/tonys-chocolonely-the-story-behind-the-brand.html

mailchimp.com/courier/article/tonys-chocolonely

instagram.com/tonyschocolonely_us

slavefreechocolate.org

fairtrade.net

forbes.com/sites/afdhelaziz/2020/10/30/how-the-netherlands-no-1-chocolate-brand-tonys-chocolonely-is-winning-fans-in-the-usand-helping-people-vote/?sh=71f34b0637b9

tonyschocolonely.com/int/en/our-story/how-it-all-started