โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ โรงพยาบาลสัตว์แห่งแรกที่เปิด 24 ชม. และใช้ระบบ HIS และ AI บริหาร

หลายสิบปีก่อน สัตว์เลี้ยงอาจเป็นเพียงสัตว์ที่เฝ้าบ้าน ตัดภาพกลับมาที่ปัจจุบัน หมาแมวที่เราเคยมองเป็นเพียงสัตว์ก็กลายเป็นน้อง ลูก หรือหลาน อาหารที่ได้กินยังต้องผ่านการคิดค้นมาอย่างดี ที่สำคัญ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย พ่อแม่สองขาอย่างมนุษย์ก็พร้อมพาเหล่าสี่ขาหน้าทะเล้นไปหาหมอทันที

เทรนด์การเลี้ยงสัตว์ที่เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นนี้ย่อมส่งผลให้การเลี้ยงสัตว์เป็นลูกไม่ใช่เทรนด์ที่มาแล้วหายไป แต่จะอยู่คู่กับทุกสังคมบนโลกใบนี้ไปอีกนานแสนนาน แน่นอนว่าธุรกิจที่คิดขึ้นมาเพื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักย่อมไปได้ดีและไปได้ไกล 

นอกจากผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดแล้ว ธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงก็เติบโตแบบก้าวกระโดด แต่ในบรรดาโรงพยาบาลสัตว์เหล่านั้น เชื่อว่าชื่อของ ‘โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ’ น่าจะเป็นชื่อที่หลายคนนึกถึง เพราะไม่เพียงแต่อายุอานามที่นานกว่า 30 ปีที่บอกถึงความเชี่ยวชาญ แต่ด้วยคุณภาพและมาตรฐานที่ไม่ว่าจะไปกี่สาขาก็ยังได้รับบริการเหมือนเดิม

จากวันแรกที่คนบอกว่าบ้าที่นึกเปิดโรงพยาบาลสัตว์ 24 ชั่วโมง สู่วันที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อมีรายได้กว่าพันล้านบาท มีสาขาในประเทศไทยกว่า 19 สาขา มีสาขาที่ต่างประเทศอย่างโฮจิมินห์ และมีแผนจะขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายแห่ง สิ่งที่เราสนใจคือ ภายใต้ตัวเลข 30 ปีนี้ซ่อนหลักสำคัญในการทำธุรกิจอะไรไว้บ้าง

เราจึงมีนัดกับ หมอกิสพ.ญ.กฤติกา ชัยสุพัฒนากุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ จำกัด ที่โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ สาขาพระราม 9 เพื่อสนทนาถึงขวบปีที่ผ่านมา และการรับมือกับความเสี่ยงในขวบปีต่อๆ ไป

ย้อนกลับไป เทรนด์การเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นยังไง

ไม่เป็นอย่างวันนี้แม้แต่นิดเดียว มันเปลี่ยนไปเยอะมาก คนก็ยังให้หมากินข้าวเหลือจากตัวเองอยู่เลย โรงพยาบาลสัตว์ก็ยังไม่มี มีเพียงคลินิกเล็กๆ แถวบ้านที่เปิดแค่ช่วง 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม อย่าว่าแต่คลินิกสัตว์เลย คลินิกคนก็เป็นอย่างนั้น 

ตอนนั้นเราเพิ่งเรียนจบจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ใหม่ๆ รุ่นพี่ก็ชวนไปเปิดคลินิกแถวสุขุมวิท 22 พอทำงานที่จุฬาฯ เสร็จก็ไปรับพาร์ตไทม์กับเขา เราเองก็เป็นคนมีประสบการณ์​ ทุ่มเท และตั้งใจทำงานมากๆ รู้ตัวอีกทีก็ไม่เคยได้ปิดคลินิกตอน 2 ทุ่มเลยสักครั้ง เพราะเคสมันเยอะมาก บางทีกลับบ้านไปแล้วก็ถูกเรียกกลับมาทำเคสฉุกเฉิน อย่างหมาถูกรถชน แมวคลอดลูกไม่ออก หมากัดกัน 

จากจุดนั้นก็เริ่มขยายเวลาลองมาเปิดตอนกลางวันดูบ้าง เคสมันก็เพิ่มขึ้นตลอด ทำคลินิกอยู่ 10 ปี เลยคิดเปิดเป็นโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อซะเลย แล้วเปิดให้เป็นเรื่องเป็นราว 24 ชั่วโมง ถือเป็นที่แรกของไทยที่ทำแบบนั้น

ในสมัยที่คนยังไม่ได้ลงทุนกับการเลี้ยงสัตว์เท่าปัจจุบัน คนรอบตัวคุณมองการเปิดโรงพยาบาลสัตว์ 24 ชั่วโมงว่ายังไงบ้าง

ตอนนั้นคนก็ว่าเราบ้า มันจะรอดเหรอ เพราะยังไม่มีใครยอมจ่ายเงินกับหมากับแมวขนาดนั้น เขาบอกเอาเงินไปปลูกตึกแถวขายง่ายกว่าหรือเปล่า 

กลัวบ้างไหม

ถามว่ากลัวไหม ไม่กลัวเลย เพราะตอนเปิดคลินิกมันก็มีเคสไหลเข้ามาตลอด เพราะเวลาหมาแมวเป็นอะไรกลางดึกเขาไม่มีที่พึ่งเขาก็ต้องมาหาเรา พอเราแตกต่าง แล้วเราก็มีประสบการณ์​ สิ่งไหนรักษาได้หรือไม่ได้เราก็บอกตรงๆ คนก็บอกกันปากต่อปาก มีคนเอาไปประกาศในวิทยุด้วยซ้ำ ขนาดแท็กซี่ยังรู้เลยว่าถ้าหมากัดกันเขาต้องพามาหาเรา

มันก็ย้อนกลับไปว่าเราทำทุกอย่างเพราะเราอยากทำให้คุณภาพชีวิตของหมาแมวดีขึ้น แล้วคุณภาพชีวิตของเจ้าของก็จะดีขึ้นเหมือนกัน เราจำได้เลย เมื่อ 30 ปีที่แล้วมีฝรั่งคนหนึ่งเขาบอกเราว่า ‘you work so hard for such a little money’ 

เราก็คิดว่าเหรอ เหมือนเราไม่เคยคิดเรื่องเงินทอง ไม่เคยรู้ว่าความเหนื่อยนี้มันมูลค่าเท่าไหร่ คิดแต่ว่าฉันก็แค่ทำหน้าที่ของฉันให้ดีที่สุด ทำเสร็จแล้วไม่ขาดทุนก็โอเคแล้วไง 

จากทำหน้าที่รักษาสัตว์ ต้องเปลี่ยนมือมามองภาพรวมและบริหาร คุณใช้ทักษะอะไรในการทำโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

เราเป็นสัตวแพทย์ เราไม่เคยประเมินตลาด การเงินก็ไม่เป็น ไม่รู้อย่างอื่น เป็นแต่รักษา แต่ที่เราทำได้และพามันมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะเรามีแพสชั่นกับมันมากว่าเราอยากทำให้การรักษาสัตว์มันดีขึ้นได้กว่านี้ 

พอเราทำเต็มที่ ลูกค้าให้การตอบรับที่ดี จากตึกแถว 3 คูหา ก็ไปเซ้งห้องตรงข้าม ห้องที่ 4 ห้องที่ 5 ก็ตามมาเรื่อยๆ ถามว่าใช้อะไรวัดว่าจะเปิดสาขาใหม่ได้ ก็ไม่มีอีกเหมือนกัน เพียงแค่เคสมันเยอะขึ้นจนเรารู้สึกว่ามันขยายสาขาได้

ต้องบอกว่าหมูไม่กลัวน้ำร้อนเลย 

ความไม่รู้อะไรเลยตรงนั้นทำให้โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อแตกต่างจากที่อื่นยังไงบ้าง  

เราไม่รู้อะไรเลย แต่เราเอาโรงพยาบาลคนเป็นตัวอย่าง จนลูกค้าก็บอกว่าโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อเหมือนโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เวอร์ชั่นสัตว์เลี้ยง เพราะนอกจากเราจะเปิด 24 ชั่วโมง เราก็ทำแผนกผู้ป่วยในขึ้นมาเพราะบางครั้งสัตว์ป่วยก็ต้องคอยให้น้ำเกลือหรือให้อาหาร ยา ตอนกลางคืน  

ตั้งแต่แรกที่เปิด เราก็มีใบสั่งงานเพื่อให้ทุกอย่างมันควบคุมได้ เช่น ถ้าจะหยอดตาหมาต้องหยอดกี่ข้าง หยอดกี่เวลา หยอดข้างซ้ายหรือขวา แล้วก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากระบบกระดาษเป็นดิจิทัลเพื่อลดความผิดพลาด ลดความวุ่นวาย 

สักพักก็เอาระบบ ISO เข้ามาช่วยสร้างระบบให้โรงพยาบาลมีมาตรฐาน มีระบบ iMed® ระบบ HIS หรือ Hospital Information System ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในโรงพยาบาลคนอยู่แล้ว ถือเป็นที่แรกเหมือนกันที่เอาระบบนี้มาใช้จนมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ใช้ตาม 

ล่าสุดก็เพิ่งอัพเดตให้เป็น iMed® X ที่สามารถออนระบบผ่านมือถือได้ ซึ่งเราเสียไปอีกหลายสิบล้าน แต่เราเชื่อว่าหมอจะทำงานได้ง่ายขึ้น แล้วลูกค้าก็สะดวกขึ้นด้วย เขาสามารถทำนัดผ่านมือถือได้ ถ้าพาหมามาอาบน้ำ ระบบก็ขึ้นว่าอยู่ขั้นตอนไหนแล้ว ส่วนหมอก็ไม่ต้องส่งเวรปากเปล่าให้วุ่นวาย เพราะข้อมูลสัตว์แต่ละตัวอยู่ในระบบหมดเลย  

หลังจากได้ ISO มาไม่นานเราก็เปิดโรงเรียนเพื่อเทรนพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล เทรนฟรอนต์ เทรนการเตรียมยา ช่วงแรกๆ หมอก็สอนกันเองนี่แหละ เพราะมันไม่มีอาชีพผู้ช่วยสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพิ่งจะเปิดสอนหลักสูตรนี้ได้ไม่นานมานี้ด้วยซ้ำ 

เรายังมี AI หรือแชตบอตช่วยดูแลจัดการเคสต่างๆ ให้หมอด้วย ทุกเช้า AI จะส่งรีพอร์ตให้ทุกสาขาว่าเราจะมีจำนวนนัดเท่าไหร่ นัดลูกค้าตอนกี่โมง เป็นแมว หมา หรือเอ็กโซติก แต่ละสาขาจะได้บริหารตัวเองกันได้ กลางคืนก็จะรวบรวมมาให้ว่าวันนี้แต่ละสาขาทำอะไรไปบ้าง 

เราใช้ระบบในการทำงานเยอะมาก มันช่วยให้เราลดคนแล้วข้อมูลก็ถูกต้องแม่นยำ ที่สำคัญ ถ้าเรามีระบบ ไม่ว่าจะเปิดอีกกี่สาขาเราก็จะคงคุณภาพและมาตรฐานเอาไว้ได้ เพราะอย่าลืมว่าเรามีเคสวันนึงหลายพันเคส ถ้าเราไม่มีระบบมันจะเป็นยังไง 

การเป็นโรงพยาบาลแรกในหลายเรื่อง ทั้งการเปิด 24 ชั่วโมง หรือการนำระบบต่างๆ มาใช้สำคัญยังไง

ไม่ได้มองว่าสำคัญหรือไม่สำคัญ เราแค่อยากพัฒนาให้ดีขึ้นมากกว่า วิชชั่นคือการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน ถ้าเราเจอปัญหาอะไรเราจะมาคุยกันว่าจะแก้ยังไงได้บ้าง 

อีกสิ่งที่เราให้ความสำคัญก็คือเรื่องของคนเพราะว่าคนเป็นคนทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้น ทุกอย่างมันคิดขึ้นบนพื้นฐานว่าเราอยากให้คนหน้างานทำงานได้อย่างสมาร์ตและสะดวก

คนที่ว่าหมายถึงใครบ้าง 

ทั้งหมอ พยาบาล แคชเชียร์ ห้องจ่ายยา พนักงานทุกคน เรามีทุนให้เรียนและอบรมตลอด ทั้งหมอ พยาบาล ผู้ช่วยจะต้องสอบอยู่เสมอ ว่าเขายังมีความรู้เท่าเดิมไหม แล้วก็มีเกณฑ์หลายเกณฑ์เพื่อวัดว่าเขาได้ไปสร้างอะไรให้วงการหรือสังคมบ้าง  

ถ้ามีความรู้เพิ่มขึ้นก็จะได้เลเวลเพิ่ม ค่าตรวจก็จะได้มากขึ้น ไม่อย่างนั้นถ้าคนตั้งใจทำงานแต่เขาได้ค่าตอบแทนเท่าเดิม มันก็ไม่มีกำลังใจ ขณะเดียวกันเราก็ได้พัฒนาคนของเราอยู่เสมอ

นอกจากดูแลบุคลากร คุณมีหลักในการดูแลลูกค้ายังไง

เราจะมีหลักสูตรสอนหมอและพนักงานทุกฝ่ายว่าเราควรจะคุยกับลูกค้ายังไง เช่น ถ้าเขาถามว่าห้องน้ำอยู่ไหน ถ้าไม่ได้เรียน ก็อาจจะบอกว่าอยู่นู่น แต่ถ้าเรียนในหลักสูตรนี้ก็จะต้องพูดว่าอยู่ทางนี้ค่ะ แล้วผายมือด้วย 

ที่เราต้องมีหลักสูตรแบบนี้เพราะเราต้องการส่งมอบ customer experience ที่ดีที่สุด

เทรนด์สัตว์เลี้ยงที่เปลี่ยนไปมีผลกับการบริหารยังไงบ้าง 

เดี๋ยวนี้คนใส่ใจเรื่องสัตว์กันมากขึ้น โรงพยาบาลเราจะเน้นเรื่องการป้องกันมากกว่าการรักษา ซึ่งเรามีฐานข้อมูลจากการใช้ระบบมานานหลายสิบปี ฐานข้อมูลเหล่านี้ก็ช่วยให้เราวิเคราะห์ทิศทางและวิธีการทำธุรกิจได้แม่นยำ

เช่นหมาคอร์กี้ เรารู้เลยว่าตอนเด็กๆ เขามักจะท้องเสีย พอโตขึ้นสัก 2 ขวบ เริ่มมีเรื่องโรคผิวหนัง แต่ไม่ค่อยท้องเสียแล้ว พอแก่อีกนิดจะเริ่มเป็นต้อกระจกที่ตา เรานำข้อมูลเหล่านี้มาทำเป็นโปรเจกต์ Dog Life Time ว่าเจ้าของควรจะเน้นป้องกันมากกว่าการรักษายังไงบ้าง เพราะเวลาป้องกันมันใช้เงินไม่กี่ร้อยกี่พัน ถ้าเขาไม่รู้จักป้องกันมันจะกลายเป็นหลักหมื่น

อย่างที่ผ่านมาเราทำแพ็กเกจตรวจสุขภาพราคาหลัก 2,000 บาท จาก 4,000-5,000 บาทก็ขายดีมาก เพราะลูกค้าก็ยินดีจ่ายเพื่อจะได้ป้องกันไว้ก่อน 

พฤติกรรมของคนที่เลี้ยงสัตว์เป็นลูกมากขึ้นย่อมทำให้เจ้าของคาดหวังกับการรักษา ถือเป็นข้อดีไหม

การที่เขาเลี้ยงเป็นลูกนั้นดีนะ นั่นแปลว่าเขาใกล้ชิดและรู้รายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์แต่ละตัว เขาจะจดมาเลยว่ากินข้าวได้ไหม อ้วกไปกี่ครั้ง ต่างจากแต่ก่อนที่ให้แม่บ้านเลี้ยง แล้วแม่บ้านก็ไม่บอกว่าอ้วกไปแล้วกี่สิบรอบ ประโยคที่คลาสสิกมากคือซึมๆ ไม่กินข้าวเราก็ต้องมาดูเองทั้งหมด บางทีก็ต้องให้แอดมิตเพื่อมาดูอาการเอง

แต่ถามว่าพอเขาเลี้ยงเป็นลูกแล้วมันมาพร้อมความคาดหวังที่สูงขึ้นไหม ก็ใช่ หมอก็ต้องอธิบายมากขึ้น ต้องมีข้อมูลที่ดีขึ้น แต่มันก็ถือว่าเป็นเรื่องดีเพราะเราก็ได้พัฒนา และที่จริงแล้วการที่เขามีข้อมูลมาพร้อมมันช่วยให้หมอทำงานง่ายขึ้น

ที่สำคัญ ยิ่งเราฟังลูกค้ามากเท่าไหร่เราก็จะยิ่งตอบความต้องการเขาได้มากขึ้น เช่น Pet Taxi เราก็ทำเป็นที่แรก แต่ที่มามันง่ายมากคือลูกค้าไม่อยากเอาหมาขึ้นรถเพราะขนจะเต็มรถเขา เขาอยากให้มีบริการรับ-ส่ง เราก็เลยทำขึ้นมา 

เขาอยากให้มีร้านกาแฟไว้นั่งระหว่างรอผลเลือด เราก็ไปหามาให้ อยากได้ที่วิ่งเล่นเราก็ทำ เรายังมีสระว่ายน้ำสำหรับว่ายเล่น กับว่ายกายภาพ มีกรูมมิ่งที่เกิดมาจากการที่หมาเป็นโรคผิวหนัง มีเพ็ตช็อปที่เจ้าของก็มาซื้อของได้เลย ไม่ต้องไปหาข้างนอก เพราะบางทีหมาแมวต้องทานอาหารสำหรับประกอบโรคเขาก็ไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน

มันเลยเกิดเป็น ecosystem ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันหมดเพื่อให้โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อเป็นมากกว่าแค่โรงพยาบาลสัตว์ที่เน้นการรักษา 

มากกว่าการเป็นโรงพยาบาลสัตว์หมายความว่ายังไง

เราจะไม่ได้แค่รักษาอย่างเดียว แต่เราเอาความรู้ประสบการณ์ของเรามาพัฒนาให้สัตว์เลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

อย่างที่ผ่านมาเราก็ไปร่วมพัฒนาอาหารและขนมน้องหมาน้องแมวกับทางนอติลุสซึ่งนอกจากเขาจะทำอาหารคนแล้ว เขายังรับผลิตอาหารสัตว์ แต่เขาไม่รู้พฤติกรรมหรือความต้องการของเจ้าของ ขณะที่เราเองก็เข้าใจสิ่งนั้นดี

เราเลยเอาความรู้ในแง่การเป็นสัตวแพทย์ของเราไปเติมให้เขา เขาก็เอาความรู้เรื่องโภชนาการมาคุยกับเราจนได้ออกมาเป็นแบรนด์ Remy ที่มีขนมหมาและแมวที่ดีต่อสุขภาพ แล้วเราก็เชื่อว่าเรามีจุดแข็งทั้งคู่ เพราะพอไปออกบูทที่ Pet Expo แล้วบอกว่ามาจากการร่วมมือของ 2 แบรนด์นี้ ลูกค้าก็ซื้อยกลัง เพราะเขาเชื่อว่าเราทั้งคู่เป็นคุณนายละเอียดและเป็นตัวจริงที่ทำจริง

หรืออย่างทรายแมว Dr.Choice อาจารย์ที่จุฬาฯ เขามีความรู้เรื่องการแปลงมันสำปะหลังของไทยมาเป็นทรายแมว แต่เขาไม่รู้พฤติกรรมแมว เราก็ช่วยเทสต์ช่วยพัฒนาในวอร์ดของเรา จนเพิ่มคุณค่าให้มันสำปะหลังได้ เพราะทรายของเราก็จับตัวได้ดี ไม่มีฝุ่น ไม่เปลือง ทิ้งชักโครกก็ได้ แมวเลียเท้าก็ไม่อันตราย

คิดเห็นยังไงกับเทรนด์ตลาดสัตว์เลี้ยงที่กำลังโต

บางคนบอกว่าตลาดสัตว์เลี้ยงกำลังดีเลย ใครๆ ก็อยากเข้ามา แต่สำหรับคนที่ทำตรงนี้มา 30-40 ปี มันไม่ได้หวานหอมแบบนั้นหรอก การที่จะทำให้มันสำเร็จ มันมีเรื่องให้คิดและทำเยอะมาก 

ก่อนหน้านี้มันก็เฟลบ้าง ถ้าเป็นแผลที่หลัง หลังเราเหวอะหวะไปหมดแล้ว บางแผลก็อาจจะแห้งแล้ว เราเคยไปเปิดสาขาเล็กๆ ที่เลียบด่วนก็ไม่สำเร็จ แต่มันก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่าถ้าจะไปเปิดที่ไหนก็ต้องเลือกโลเคชั่นที่ใช่ อย่าไปดูว่ามันถูกหรือแพง มันเป็นที่ดินของคนรู้จักหรือเปล่า เพราะถ้าโลเคชั่นไม่ใช่ก็ไม่เฟล 

ทีหลังเราก็เอาข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ว่าลูกค้าอยู่ตรงไหน เราจะไปเปิดตรงไหนบ้าง เรียกว่าเราต้องถอดบทเรียนจากทุกปัญหาทุกครั้งเพื่อไม่ให้มันผิดซ้ำ 

แล้วภาพในอนาคตของโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อที่มองไว้

เรามีแผนจะ M&A (Mergers and Acquisitions) เข้าไปดูคลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์ที่เจ้าของทำไม่ไหวแล้ว เราจะเข้าไปช่วยดูแลระบบหลังบ้าน สต็อก การจัดซื้อ การเงิน ซึ่งมีคนติดต่อเราเข้ามาเยอะมาก แต่เราก็จะเลือกคนที่มีความเชื่อเดียวกัน

ที่สำคัญ เราวางแผนขยายสาขาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหลังจากที่ไปเปิดสาขาที่โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ก็มีหลายประเทศชวนเราไปเปิดสาขา 

คุณบอกว่าคุณก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อขึ้นมาจากแพสชั่น แล้วตอนนี้คุณยังมีแพสชั่นอยู่ไหม

ยังมีแพสชั่นอยู่ และยังทำงานและประชุมอยู่ตลอด แต่ทีมงานก็เก่งกันหมดแล้ว และอีกสักพักลูกๆ ก็จะเข้ามาสานต่อความตั้งใจของเรา  

รวมลิสต์ Twisted Mooncake ขนมไหว้พระจันทร์รสชาติโมเดิร์นจาก 10 ร้านทางเลือกในปีนี้

‘ขนมไหว้พระจันทร์’ ถ้าไม่ได้ทำมาจากไส้ดั้งเดิมอย่างเม็ดบัว ไส้ไข่แดงเค็มหรือไส้รวมถั่ว 5 ชนิดอย่างที่รู้จักกันในชื่อของไส้ธัญพืชแล้วนั้น หลายๆ คนก็คงนึกถึงไส้งาดำและไส้ทุเรียนหมอนทองที่ก็ฮิตไม่แพ้กัน แต่เท่าที่สังเกตในปีนี้เราเห็นความเป็นไปได้สนุกๆ ของเมนูขนมไหว้พระจันทร์มากมาย หลายร้านสามารถรังสรรค์ออกมาให้เป็นรสชาติโมเดิร์นได้หลากหลาย

เทศกาลไหว้พระจันทร์ในปีนี้จะตรงกับวันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 ตรงกับคืนเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งในวัฒนธรรมจีนถือเป็นการบ่งบอกว่าเราได้เข้าสู่ช่วงกลางฤดูใบไม้ร่วงแล้ว (Mid-Autumn Festival) และเพื่อเป็นการฉลองฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่มาถึงนี้ ในค่ำคืนของวันไหว้พระจันทร์ บ้านเรือนก็จะถูกตกแต่งด้วยโคมไฟสีแดง ก่อนจะไหว้ดวงจันทร์และกินขนมไหว้พระจันทร์ด้วยกันนั่นเอง

ถึงแม้ประเพณีการกินขนมไหว้พระจันทร์นั้นจะมาพร้อมกับความหมายที่เป็นมงคลของแต่ละไส้ดั้งเดิม แต่ด้วยยุคสมัยและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าขนมไหว้พระจันทร์จะถูกทวิสต์ออกมาให้เป็นรสชาติหรือไส้ไหนๆ แต่ก็ยังคงรูปทรงกลมคล้ายดวงจันทร์ไว้ ก็ถือว่าเป็นการเฉลิมฉลองให้กับเทศกาลนี้อยู่ดี

ก่อนจะถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ในวันพรุ่งนี้ เราขอชวนดูขนมไหว้พระจันทร์หลากรสชาติทางเลือกที่ผสมผสานความครีเอทีฟจากกว่า 10 ร้านกัน

Ampersand Gelato
Flavour : Dark Chocolate & Salted Egg, Salted Egg & Dark Chocolate, Raspberry Sorbet & Yuzu Sorbet, Strawberry Cheesecake & Lychee Raspberry, Coffee & Vanilla

Ampersand Gelato คือแบรนด์เจลาโต้ฝีมือคนไทยที่ตัวชื่อแบรนด์นั้นมีที่มาจากสัญลักษณ์ ‘&’ หมายถึงการเชื่อมรสชาติของแต่ละชาติเข้าด้วยกัน โดย Ampersand Gelato ยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 25 ร้านเจลาโต้ยอดเยี่ยมจากทั่วโลกในบทความ ‘The World’s greatest ice-cream stores’ ของ Financial Times ในปี 2565 อีกด้วย

ความน่าสนใจของขนมไหว้พระจันทร์ในสไตล์ของ Ampersand Gelato นั้น คือการตั้งใจฉีกกรอบขนมไหว้พระจันทร์ในรูปแบบเดิมที่เป็นตัวเนื้อแป้งให้กลายมาเป็นเจลาโต้กว่า 4 คู่รสชาติมาให้เลือกลิ้มลอง

ไม่ว่าจะเป็นเจลาโต้ดาร์กช็อกโกแลตคู่กับไข่เค็ม หรือจะสลับเป็นรสชาติไข่เค็มขึ้นมาเป็นพระเอกคู่กับดาร์กช็อกโกแลตแทน ทั้งยังมีเชอร์เบตที่จับคู่รสชาติหวานซ่อนเปรี้ยวของราสป์เบอร์รีและยูซุ หรือใครที่ชอบรสชาติคลาสสิก รสชาติวนิลลาจับคู่กับกาแฟก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดี สำหรับขนมไหว้พระจันทร์รสชาติมาตรฐานจะอยู่ที่ราคา 220 บาทต่อชิ้น ขณะที่รสชาติพรีเมียมนั้นจะอยู่ที่ 280 บาทต่อชิ้น

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ ampersandgelato

Araksa Tea Room
Flavour : Earl Grey, Joy Tea, Thai Tea, White Peony

จากไร่ชาออร์แกนิกในจังหวัดเชียงใหม่ ‘Araksa Tea Garden’ ได้พัฒนาสู่ห้องน้ำชา ‘Araksa Tea Room’ โลเคชั่นใหม่ล่าสุดในย่านตึกเก่าโซนบางรักหรือซอยเจริญกรุง 38 ของกรุงเทพมหานครฯ 

ปีนี้ทาง Araksa ได้จัดเซต ‘ARAKSA Mooncake’ เซตขนมไหว้พระจันทร์ไส้ชาออร์แกนิกของทางไร่ให้ได้กินคู่ไปกับการดื่มชาร้อนๆ ด้วยเช่นกัน โดยเราสามารถเลือกจับคู่มาในกล่อง 2 รสชาติ ราคา 680 บาท หรือใครที่อยากลิ้มลองทั้ง 4 รสชาติ เขาก็มีกล่องคละ 4 รสชาติ ราคา 1,360 บาท ที่จะมีทั้งเซตขนมไหว้พระจันทร์ไส้ชาเบลนด์ระหว่างชาดำและจำปาแห้งอย่าง ‘Joy Tea’ คู่กับชาดำยามเช้า ‘English Tea Breakfast’ เซตขนมไหว้พระจันทร์ไส้ชาไทย ‘Thai Tea’ การันตีด้วยรางวัลเหรียญเงินจาก AVPA Paris Contest ในหมวดหมู่ ‘Teas of the World’ ปี 2563 จับคู่มากับชาดำ ‘Black Tea’ รสนุ่มๆ อีกสักตัว และสำหรับใครที่เป็นสายชาขาว เราขอแนะนำเป็นเซตขนมไหว้พระจันทร์ไส้ชา ‘White Peony’ หอมกลิ่นน้ำผึ้ง-ดอกไม้อ่อนๆ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ araksatearoom

Baker x Florist
Flavour : Red Velvet, Hazelnut, Banana Honey Cream Cheese, Intense Chocolate

Baker x Florist คือคาเฟ่ที่รวมเอาสองความชื่นชอบอย่างขนมเบเกอรีและร้านดอกไม้เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งด้วยสโลแกนของทางร้านอย่าง ‘In good butter we trust’ ทำให้เรารับรู้ได้เลยว่าจุดเด่นของ Baker x Florist คือการเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีในการทำทุกๆ เมนูขนมเบเกอรีของทางร้านนั่นเอง

สำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ในปีนี้ Baker x Florist ตั้งใจรังสรรค์ขนมไหว้พระจันทร์ให้ออกมาในรูปแบบของ ‘Mini Cake Mooncake’ เค้กไหว้พระจันทร์ชิ้นเล็กๆ ที่ผสานไปด้วยเนื้อเค้ก 4 รสชาติ มาพร้อมคอนเซปต์ของความหมายมงคลอย่าง ‘ฮก (โชคลาภ)’ เนื้อเค้กรสชาติ Red Velvet  ต่อด้วยเนื้อเค้กรสชาติ Hazelnut ในความหมายมงคลอย่าง ‘สุข’ ก่อน ‘รวย’ จะมาในรสชาติเค้ก Intense Chocolate  และปิดท้ายเซตนี้ไปด้วยเนื้อเค้กรสชาติ Banana Honey Cream Cheese อย่าง  ‘ซิ่ว (อายุยืน)’ บรรจุพร้อมเพรียงมาในแพ็กเกจจิ้งแบบกล่อง 4 ชิ้น ราคา 1,168 บาทให้เล

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ bakerxflorist

CHAEN TEA Experience
Flavour : Uji Matcha Roasted, Yame Matcha x Azuki, Hojicha Durian Monthong with Salted Egg

บาร์น้ำชาร่วมสมัยแห่งนี้เปรียบเสมือนอีกก้าวหนึ่งของร้านป๊อปอัพ ‘ChaEn Matcha’ แบรนด์ชาเขียวของคนไทย ผลผลิตจากการปลูกชาในไร่ที่จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย สู่การพัฒนาตัวแบรนด์ให้ออกมาเป็น ‘CHAEN TEA Experience’ ที่จะไม่ได้มีเพียงแค่ชาเขียว แต่ยังนำหลากหลายชาท้องถิ่นออกมารังสรรค์ให้เป็นเมนูใหม่ๆ ร่วมไปกับมัทฉะจากประเทศญี่ปุ่นและชาไต้หวันอีกด้วย

ถึงแม้ขนมไหว้พระจันทร์จะเป็นประเพณีของชาวจีน แต่ด้วยความเป็นบาร์น้ำชาร่วมสมัยที่ผสมผสานการตกแต่งในสไตล์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ขนมไหว้พระจันทร์ของ CHAEN TEA Experience นั้น จึงออกมาในคอนเซปต์ 4 ช่วงเวลาของวันกับ 4 รสชาติในสไตล์ญี่ปุ่นด้วยชื่อ ‘CHAEN Kichi Mooncake’ ที่ไล่เรียงชื่อรสชาติตั้งแต่ช่วงเช้าของวัน

ไล่ตั้งแต่ ‘โอฮาโยะหมอนทอง’ ขนมไหว้พระจันทร์ที่สอดไส้ทุเรียนหมอนทองและไข่แดงเค็ม ช่วงกลางวัน หรือ ‘โอสึอูจิมัทฉะ’ ไส้มัทฉะเบลนด์สามสายพันธุ์เดี่ยวจากเมืองวาซูกะ จังหวัดเกียวโต ก่อนยามเย็นของวันจะมาในชื่อ ‘คอมบังวะอะซูกิ’ ที่สอดไส้มัทฉะจากเมืองยาเมะ จังหวัดฟุกุโอกะ โดยจะให้คาแร็กเตอร์ของชาที่แตกต่างกันออกไป มาพร้อมถั่วแดงที่จะช่วยเพิ่มเทกซ์เจอร์ของชิ้นนี้ จบท้ายด้วยการส่งทุกคนเข้านอนไปกับ ‘โอยาสึมิโฮจิฉะ’ ขนมไหว้พระจันทร์สอดไส้ชาเขียวคั่วไหม้คาเฟอีนต่ำหรือที่เรียกกันว่าโฮจิฉะ (Hojicha) ในราคารวมรสกล่องละ 788 บาท

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ chaen.tea.ex

HOLIDAY PASTRY
Flavour : Hongkong Golden Custard, Fresh Durian Mornthong Custard, Black Truffle Custard, Durian Mornthong Salted Egg, Jujube & Date Palm, Lotus Seed & Almond

จากร้านขายขนมออนไลน์กลายมาเป็นหน้าร้านขนมสไตล์ all-day dining ที่พร้อมเสิร์ฟทั้งเมนูหมวดหมู่เบเกอรี อาหารและเครื่องดื่ม ในทุกมื้อตลอดวันย่านเจริญนคร สู่ HOLIDAY PASTRY เวอร์ชั่นใหม่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 7 อีกก้าวสำคัญของแบรนด์ที่พร้อมเปิดตัวในเดือนตุลาคมนี้ โดยมาในคอนเซปต์ใหม่ของร้านอย่าง The Dining Room ที่นำเอาความชื่นชอบ-ความทรงจำของการท่องเที่ยวมาบอกเล่าเรื่องราวผ่าน ‘อาหาร ‘ และ ‘ขนม’ นอกจากความโดดเด่นในความคิดสร้างสรรค์ และรสชาติขนมของ HOLIDAY PASTRY แล้ว การตกแต่งภายในร้านสาขาใหม่อย่างสไตล์อาร์ตเดโค ที่จำลองบรรยากาศโรงแรมใจกลางมหานครนิวยอร์ก ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

ก่อนที่เราจะได้ยลโฉมสาขาใหม่ของ HOLIDAY PASTRY ในเทศกาลไหว้พระจันทร์ในปีนี้ ทางร้านยังชวนให้เรามาฟังเรื่องราวของเซตขนมไหว้พระจันทร์ ‘The Golden Box’ ที่มีให้เลือกสั่งกว่า 6 รสชาติ ไม่ว่าจะเป็นไส้ดั้งเดิมตามสูตรฮ่องกงต้นตำรับที่มีส่วนประกอบของเนยจากฝรั่งเศสอย่างคัสตาร์ดไข่เค็ม คัสตาร์ดทุเรียนหมอนทอง และรสชาติลิมิเต็ดอย่างคัสตาร์ดทรัฟเฟิล ส่วนในไลน์สูตรต้นตำรับเองก็มีไส้ทุเรียนหมอนทองไข่เค็ม พุทราจีนและอินทผาลัม รวมไปถึงไส้เม็ดบัวและอัลมอนด์ในราคา 8 ชิ้น เริ่มต้นที่ 1,088 บาท บรรจุในแพ็กเกจจิ้งสีเหลืองทองอร่ามและลวดลายสไตล์ Luxury Modern Chinese ที่สื่อถึงความมั่งคั่งอีกด้วย

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ holidaypastry

Kyo Roll En
Flavour : Satsuma Imo, Black Forest, Thai Tea, Homemade Fish Floss, Yuzu Lava, Durian Salted-Egg, Matcha Mont Blanc

Kyo Roll En คือร้านขนมหวานญี่ปุ่นส่งตรงจากเกียวโต ที่หลายๆ คนคงคุ้นหูคุ้นตากันดีกับเมนูโรลเค้ก นามะช็อกโกแลต และซอฟต์เสิร์ฟอย่างรสชาติชาโคล (Sumi) กับรสชาติมัทฉะกันอยู่แล้ว ก่อนที่ไม่นานมานี้ทาง Kyo Roll En เอง จะเพิ่งแตกไลน์แบรนด์ขนมหวานญี่ปุ่นสุดฮิตอย่างมัทฉะมองบลังค์ (Matcha Mont Blanc) ภายใต้ชื่อ ‘Mont Blanc by Kyo Roll En’ มาไว้ที่ชั้น 3 ของห้างเกษรวิลเลจอีกด้วย

ด้วยกระแสของมัทฉะมองบลังค์ที่ยังไม่หยุดนิ่ง หนึ่งในรสชาติขนมไหว้พระจันทร์ไลน์คลาสสิกของ Kyo Roll En ในปีนี้ ก็คงหนีไม่พ้นไส้เกาลัดผสมมัทฉะ (Matcha Mont Blanc) คละไปกับรสชาติดั้งเดิมอย่างทุเรียนไข่เค็ม (Durian Salted-Egg) รสชาติญี่ปุ่นอย่างไส้มันหวาน (Satsuma Imo) และไส้ยูซุ (Yuzu Lava)

ไม่หมดเพียงเท่านี้ แต่ Kyo Roll En ยังมีเซตขนมไหว้พระจันทร์ในไลน์ ‘รวมดารา’ ที่เสมือนการร่วมรังสรรค์ไส้ขนมไหว้พระจันทร์ทั้งหมด 4 รสชาติไปกับ 4 ร้านดังที่ได้รับรางวัลมิชลินสตาร์ อาทิไส้เค้ก ‘Black Forest’ จากร้าน Sühring, ไส้ชาไทย ‘Thai Tea’ จาก Le Du, ไส้ปั้นขลิบไส้ปลา ‘Homemade Fish Floss’ จากร้าน POTONG และไส้มันหวานญี่ปุ่น ‘Satsuma Imo’ ในนามของ Kyo Bar บาร์ขนมหวานไลน์พรีเมียมจากทาง Kyo Roll En เอง โดยขนมไหว้พระจันทร์ในไลน์นี้จะถูกบรรจุลงกล่องสีแดงแรงฤทธิ์ตัดกับสีทองของรูปทรงกระต่ายบนหน้ากล่องที่สื่อถึงปีเถาะอย่างปี 2566 นี้

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ kachabros

Maison Bleue
Flavour : Vanilla Custard, Salted Egg Lava Custard, Durian with Salted Egg, Black Sesame Ginger Heritage, Tuiteries, Jadounette, Ispahan

ร้านอาหารฝรั่งเศสแบบ all-day dining หลังสีฟ้าใจกลางสุขุมวิทแห่งนี้ตั้งใจเสิร์ฟอาหารและขนมหวานฝรั่งเศสแบบร่วมสมัย ถือเป็นโปรเจกต์ต่อจากร้านก่อนอย่างคาเฟ่ขนมหวาน ‘Let Them Eat Cake’ ของหนึ่งในพาร์ตเนอร์ร้าน Maison Bleue หรือ ‘มู่–จักรทอง อุบลสูตรวานิช’ ส่วนอาหารคาว จะเป็นพาร์ตของ ‘เชฟกันน์–สรวิศ แสงวณิช’

เช่นนั้นแล้ว ขนมไหว้พระจันทร์ของ Maison Bleue จึงเป็นการใช้เทคนิคการทำขนมแบบฝรั่งเศส

ทั้งยังสอดแทรกวัฒนธรรมฝรั่งเศสไว้ในทุกรายละเอียดของตัวขนม โดยนอกจากไลน์คลาสสิกไส้ดั้งเดิมกว่า 4 รสชาติที่ถูกรวมในหนึ่งเซตราคา 788 บาทแล้ว ยังมีอีกหนึ่งไลน์ที่เราควรจะต้องเอ่ยถึงเลย ก็คือ ‘MB’s Favorite Set’ ที่ประกอบไปด้วยไส้น้ำตาลมะพร้าวจากอัมพวาในชื่อ ‘Heritage’, ไส้พิสตาชิโอกับราสป์เบอรีอย่าง ‘Jadounette’, ส่วน ‘Tuileries’ คือไส้เกาลัดเชื่อมกับชาไทย จบท้ายด้วยรสชาติซิกเนเจอร์ของร้านอย่าง ‘Ispahan’ ส่วนผสมของกลีบกุหลาบ ลิ้นจี่ และราสป์เบอรี

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นและแปลกใจไปกับเซตขนมไหว้พระจันทร์ของ Maison Bleue คือกล่องแพ็กเกจจิ้งที่ได้ศิลปินชื่อดังอย่าง ‘นักรบ มูลมานัส’ มารังสรรค์ลวดลายบนกล่องและถุง  ชวนเราให้อยากเก็บสะสมแบบครบทั้งเซต โดยคอลเลกชั่นนี้นักรบได้แรงบันดาลใจมาจาก 6 หญิงสาวที่มีอิทธิพลในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสและอาณาจักรจีนโบราณนั่นเอง

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ maisonbleue_bkk

Scene Bangkok
Flavour : Salted Egg Lava, Coffee Horlick, Earl Grey Dulcey, Yuzu Strawberry Matcha, Passion Fruit, Osmanthus

Scene Bangkok Pâtisserie & Brasserie เป็นอีกหนึ่งคาเฟ่สไตล์ฝรั่งเศสที่เสิร์ฟเมนูเบเกอรี พาทิสเซอรี ครัวซองต์ ควบคู่ไปกับเมนูอาหารแบบ all-day brunch ย่านพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 

สำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ในปีนี้ Scence Bangkok มาพร้อมกับแพ็กเกจจิ้งในรูปแบบกล่องลิ้นชักสีน้ำเงิน สีประจำของทางร้าน ฉลุด้วยลวดลายของพระจันทร์และดวงดาว ถือเป็นไอเดียดีๆ ที่สามารถนำกล่องไปใช้ซ้ำอีกได้ อย่างการเป็นอุปกรณ์ตกแต่งบ้านและใส่ของ

ด้านในของกล่องจะบรรจุไปด้วยขนมไหว้พระจันทร์ทั้งหมด 8 ชิ้น รวม 5 รสชาติและ 5 ความหมายมงคล อาทิ ‘LUCK’ ไส้ชาเอิร์ลเกรย์ผสมด้วยวอดก้าและช็อกโกแลต ‘FORTUNE’ ที่สอดไส้ยูซุ มัทฉะ และสตอว์เบอรี หรือจะเป็น ‘MONEY’ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เสาวรส มะนาว และกลิ่นชาหมื่นลี้ ก็ดูแปลกใหม่สุด

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ scenebangkok.th

Sarnies Bangkok
Flavour : Pineapple with Salted Egg Egg Yolk, Lemon Szechuan Peppercron, Chocolate Orange Mocha, Durian with Salted Egg Yolk

Sarnies Bangkok คือแบรนด์กาแฟสัญชาติสิงคโปร์ มี Sarnies Roastery โรงคั่วกาแฟที่เป็นฐานที่มั่น ส่งเมล็ดกาแฟให้กับ Sarnies ทุกๆ สาขา ก่อนจะเปิด ‘Sarnies Sourdough’ ร้านเบเกอรีโฮมเมดที่เน้นขนมปังอย่างซาวร์โดว์ และร้านพิซเซอเรียย่านเจริญกรุง 42/1 โดยตอนนี้ Sarnies Sourdough ก็ได้กลายมาเป็นครัวกลางของทั้ง Sarnies Roastery และ ‘Sarnies Bangkok’ คาเฟ่ที่เน้นเสิร์ฟเมนูสไตล์คอมฟอร์ตฟู้ดในสาขาแรกสุดอย่างเจริญกรุง 44 (ก่อนหน้านี้ สาขาแรกจริงๆ จะใช้ชื่อ ‘A Stimulant by Sarnies’ ตั้งอยู่แถวสุขุมวิทก่อนปิดตัวลง) และสาขาล่าสุดอย่างสาขาหลังสวน ในช่วงสุดสัปดาห์จะมีเซสชั่นดนตรีสดให้ได้รับฟังกันด้วย นอกจากนั้นคาเฟ่ในเครือ Sarnies ยังมี ‘Sarnies カフェ Sukhumvit’ คาเฟ่กลิ่นอายสไตล์ญี่ปุ่นที่ล้อไปกับย่านพร้อมพงษ์ และ ‘Pimp My Salad’ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพย่านสาทรอีกด้วย

ถึงแม้ตัวแบรนด์ Sarnies จะมีสัญชาติสิงคโปร์ แต่เซตขนมไหว้พระจันทร์ของ Sarnies Bangkok นั้นถูกรังสรรค์จากหลากวัตถุดิบท้องถิ่นให้ออกมาเป็น 4 รสชาติพิเศษในราคา 1,188 บาท ไม่ว่าจะเป็น ‘Pineapple with Salted Egg Yolk’ ไส้สับปะรดกวนจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถั่วกวนและไข่แดงเค็ม,  ‘Lemon Szechuan Peppercorn’ ไส้ขนมไหว้พระจันทร์ที่ทำมาจากพริกไทยเสฉวน ผิวเลมอน เปลือกมะนาวและถั่วกวน, ‘Chocolate Orange Mocha’ ที่ประกอบไปด้วยไส้ถั่วกวนรสมอคค่า ผงโกโก้ ส้มเชื่อม โมจิรสกาแฟกับช็อกโกแลตชิป และจะขาดไส้ดั้งเดิมอย่าง ‘Durian with Salted Egg’ ไปไม่ได้ ซึ่งทางร้านได้เลือกใช้ทุเรียนกวนจากจังหวัดจันทบุรี ถั่วกวน และไข่แดงเค็ม

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ @sarnies.bkk

Yellow Spoon Pastry
Flavour : Golden Night Marmalade, Shadow of Harmony, Lunar Salted Treats, Blessing Sour, Vanilla Moon’s Charm Moonbeam Matcha

ร้านขนมเบเกอรีและเค้กโฮมเมดโลโก้รูปช้อนกับพื้นหลังสีเหลืองพาสเทลโดดเด่นสมชื่อ ‘Yellow Spoon’ ยึดหลักคอนเซปต์ Honest & Artisan มาตั้งแต่วันแรกของการทำร้าน นั่นคือ ‘ความซื่อสัตย์ในการทำขนมสไตล์โฮมเมด’ ด้วยการเลือกเปิดเผยทุกวัตถุดิบที่เน้นใช้จากธรรมชาติและปราศจากไขมันทรานส์ โดย ‘Yellow Spoon Pastry’ นั้น เริ่มต้นมาจากการเปิดร้านขายขนมในแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อทำขนมเบเกอรีต่างๆ ส่งให้คาเฟ่ในกรุงเทพฯ ก่อนจะเปิดหน้าร้านเล็กๆ ในห้างสรรพค้า แล้วจึงขยับขยายมาเป็นแฟล็กชิปสโตร์คาเฟ่สาขาเอกมัย ก่อนล่าสุดจะเพิ่งเปิดหน้าร้านสาขาใหม่แถวสุรวงศ์นั่นเอง

สำหรับปี 2566 นี้ นับเป็นปีแรกของ Yellow Spoon Pastry กับการรังสรรค์ขนมไหว้พระจันทร์ที่ทางร้านตั้งใจอยากให้ตัวขนมนั้นแตกต่างออกไปจากสไตล์ดั้งเดิมในทุกสัมผัส โดยเริ่มจากการเปลี่ยนเนื้อแป้งของขนมไหว้พระจันทร์ให้กลายมาเป็น ‘Snowskin Mooncake’ ที่ทั้งยืดและนุ่มคล้ายไดฟูกุ เหมาะกับการกินแบบแช่เย็นๆ ก่อนจะมาพร้อมกับ 6 รสชาติสไตล์โมเดิร์นทวิสต์ อย่าง ‘Blessing Sour’ ไส้เลมอนทาร์ต, ‘Vanilla Moon’s Charm’ ไส้แอปเปิลวนิลลาคัสตาร์ด หรือจะเป็นไส้ถั่วทองกวนกับแยมส้ม ‘Golden Night Mamarlade’ ไปจนถึงไส้ไข่เค็มมันม่วงกวนอย่าง ‘Lunar Salted Treats’

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมแบรนด์ @yspastry

Slowcombo คอมมิวนิตี้สเปซที่อยากสร้างพื้นที่ให้ผู้มาเยือนรักตัวเอง รักผู้อื่น และรักโลก

ในยุคที่ความวุ่นวายเป็นส่วนหนึ่งเข้ากับสังคม โลกขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในขณะที่ผู้คนต้องคอยวิ่งตามให้ทัน เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มขวนขวายหาที่พักใจจากอาการเหนื่อยล้าที่สะสมมาเป็นเวลานาน 

แล้วที่ไหนเล่าจะเหมาะสมไปกว่าสถานที่ตรงหน้าเราตอนนี้

Slowcombo คือสถานที่ที่เรากำลังกล่าวถึง อาคารที่ตั้งตระหง่านอยู่ในใจกลางสามย่าน ย่านเมืองเก่าที่ห้อมล้อมไปด้วยความเจริญ ซึ่งแลกมากับความวุ่นวายของคนเมืองที่กำลังพยายามใช้ชีวิต แต่ ณ จุดศูนย์กลางแห่งความว้าวุ่น ก็ยังมีคอมมิวนิตี้สเปซแห่งนี้ตั้งอยู่เพื่อรอให้ผู้คนเข้ามาพักใจจากวันที่สาหัส

ผู้ร่วมก่อตั้ง Slowcombo คือ อิ๊บคล้ายเดือน สุขะหุต หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Sretsis แบรนด์เสื้อผ้าจากสามพี่น้องที่มีมายาวนาน และ โต๋–นุติ์ นิ่มสมบุญ เจ้าของสตูดิโอออกแบบ slowmotion และผู้ก่อตั้งแบรนด์พัดลมสุดเท่อย่าง บังกะโล

จุดเริ่มต้นในการทำ Slowcombo ของทั้งสองเกิดจากการย่างเท้าเข้าสู่บทบาทคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องแบกรับความเครียดจากทั้งหน้าที่การงานและยังต้องบาลานซ์การดูแลครอบครัวโดยการเป็นตัวอย่างพ่อแม่ที่ดีให้แก่ลูก

“จากเป็นแค่คนที่ทำงานเฉยๆ กลายมาเป็นคุณพ่อ เป็นคุณแม่ เป็นคุณน้า คุณป้า คุณลุง และเป็นหลายๆ สถานะ อิ๊บรู้สึกว่าการที่เราจะแชร์ประสบการณ์ หรือการที่เราพยายามจะวางพื้นฐานที่ดีให้กับลูกมันต้องเกิดที่ตัวเราก่อน ก่อนที่จะสอนลูก”

แม้ว่าทั้งสองจะยังไม่เคยสัมผัสการสร้างคอมมิวนิตี้มาก่อน แต่ทั้งสองก็มีความสุขและสนุกที่จะได้ถ่ายทอดเรื่องราวสุขภาวะที่พวกเขาได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมสนุกๆ ที่คอมมิวนิตี้

“ตอนนี้ Slowcombo กลายเป็นแพสชั่นโปรเจกต์ท่ีเราสนุก เราได้ลองอะไรใหม่ๆ สำหรับพี่โต๋ก็เหมือนกัน มันกลายเป็นว่าเราเอาประสบการณ์หรือทักษะในการทำงานที่เรามีมาประยุกต์กับสิ่งใหม่ในสิ่งที่เราอยากเรียนรู้ แม้ว่าเราจะไม่ได้มาจากอุตสาหกรรม wellness หรือการทำพื้นที่สร้างสรรค์มาก่อน” 

หญิงสาวกล่าวอย่างตื่นเต้นก่อนที่บทสนทนาจะค่อยๆ ลงลึกถึงเบื้องหลังสถานที่แห่งนี้

สนามฝึกฝนความสุข 

ก่อนจะมาเป็นตึก Slowcombo เดิมที่นี่เคยเป็นทั้งโรงหนังสามย่าน สถานที่เรียนของนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันได้กลายมาเป็นที่พักใจของใครหลายๆ คน  หากว่าเดินเข้ามาภายในอาคารแล้ว จะเห็นได้ว่าโครงสร้างส่วนหนึ่งของอาคารยังคงเค้าโครงเดิมให้เห็นอยู่

“เมื่อเดินเข้ามาในตึก Slowcombo จะเห็นฉากเหล็ก การผูกของเหล็ก ซึ่งเรารู้สึกว่า ยุคนี้เราไม่เห็นอะไรแบบนี้แล้ว เรารู้สึกว่ามันคือความสวยงามที่มาจากภายใน เหมือนกันกับปรัชญาของ Slowcombo ที่อยากให้ทุกคนกลับไปสู่ความสวยงามแบบ raw beauty 

 “มันก็เหมือนตึกนี้ที่เราต้องการโปรโมตให้คนกลับเข้าไปสำรวจข้างในตัวเองมากขึ้น เราไม่อยากให้คนมองแค่ความสวยงามที่มาจากด้านนอกอย่างเดียว เราต้องการให้คนเห็นว่าสิ่งไหนที่มันดีต่อใจ หรือช่วยให้เขาพัฒนาข้างในให้มีความสวยงามและมีคุณค่ามากขึ้นได้ ซึ่งโครงสร้างของตึกมันไปได้ดีกับคอนเซปต์ของ Slowcombo ที่ว่า health and well-being ต้องมาจากด้านใน” อิ๊บถ่ายทอดเรื่องราวของตึกให้เราฟัง

“What is one thing you could do to take better care of yourself” หรือ “ทำยังไงให้เราดูแลตัวเองได้ดีขึ้น” คือสิ่งที่อิ๊บคิดขณะที่เธอกำลังวางโครงการทำตึกนี้

ทั้งสองเล่าว่าเป้าหมายในการทำตึกของที่นี่คือการเล่าเรื่องเครียดให้สนุก ไม่น่าเบื่อ ผ่านการเล่าจากภาษาที่ตลกหรือกิจกรรมที่สนุก เช่น อินสตาแกรมโพสต์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของดวงจันทร์ที่เคลื่อนย้าย หรือสื่อสาระน่ารู้เรื่องกาย ใจ และการรักษ์โลก กิจกรรม pickleball ที่คนจะได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและคนอื่นมากขึ้น การดูสีออร่าของตัวเองเพื่อให้รับรู้อารมณ์ของตัวเองมากขึ้น หรือจะเป็นกิจกรรมรักษ์โลกอย่างการทำกระเบื้องจากวัสดุชีวภาพ (biomaterials) จากนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ (INDA) จุฬาฯ และสิ่งที่ Slowcombo ให้ความสำคัญมากที่สุดคือต้องรู้จริงและรู้แน่ชัดว่าต้องการที่จะส่งสารแบบไหนไปให้คนที่มาที่นี่

“มันเหมือนหลักพุทธศาสนานั่นแหละ เราต้องมีสติในการใช้ชีวิต แต่เรารู้สึกว่าหลักพุทธศาสนาถ้าเราเอามาพูดกับคนรุ่นใหม่ ไปวัด นุ่งขาว คงจะไม่มีใครอยากมาหาเราที่นี่ เราเลยเอาคำว่า mindfulness มารวมกับ playground เราอยากทำให้ทุกคนมองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เขาได้เล่นสนุก ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ที่สร้างความสุขให้กับพวกเขา นี่คือสิ่งที่เราจะพยายามทำให้ได้เพื่อทุกคน” อิ๊บพูดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ก่อนจะเล่าถึงแก่นหลักที่ทั้งสองอยากให้คนที่มาที่นี่ได้รับไป 

“แก่นหลักๆ ที่ทุกคนจะได้รับจากที่นี่คือ เราอยากให้คนเกิดการรักตัวเอง (self love) รักตัวเองเสร็จก็ต้องรักผู้อื่น (love others) แบ่งสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น รักผู้อื่นแล้วเราก็ต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างที่เราทำมันคือการรักษ์โลก (love the world) ของเราด้วย เพราะเราก็อยากทิ้งสิ่งดีๆ ให้กับคนรุ่นถัดไป ในขณะที่รุ่นเรายังอยู่ในเมืองอากาศดีได้ เปิดประตู เปิดหน้าต่าง แต่พอถึงรุ่นลูกเราเขาไม่สามารถอยู่ในเมืองได้แล้ว เพราะมีแต่มลพิษ ฝุ่น PM2.5 เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้” 

ณ ที่นี่ คุณต้องกล้า 

“ความไม่กล้าเป็นจุดบอดของคน” โต๋บอกกับเราในช่วงหนึ่งของการสนทนาถึงวิธีคิดเบื้องหลังในการออกแบบกิจกกรรม

“เหมือนการเล่นเครื่องเล่น ถ้าคุณไม่กล้าเล่น คุณก็ไม่ได้ความสนุกใช่เปล่า เหมือนกันกับที่นี่ ถ้าไม่กล้าไปเข้ากิจกรรม ไม่กล้าลอง ก็จะไม่ได้ประสบการณ์ความสนุกแน่นอน เพราะฉะนั้นสุขภาวะที่ดีจะเกิดได้ก็ต้องกล้าที่จะเปิดโลกให้กับตัวเอง”

เมื่อเดินเข้ามาข้างในจะพบกับป้ายบอกชั้นของตึก ที่มีด้วยกันทั้งหมด 3 ชั้น ชั้น 1 ‘Eat Wisely’ เต็มไปด้วยของกินที่คัดสรรความอร่อยและดีต่อสุขภาพ ชั้น 2 ‘Live Slowly’ จะได้เจอกับกิจกรรมในห้อง Energy Space ที่พร้อมมอบความสนุกและการตื่นรู้ (awakening) ให้กับทุกคน ชั้น 3 ‘Move Creatively’ เป็น active space ที่มีโซน pickleball รอให้คุณได้มาเหวี่ยงความเหนื่อยล้าออกจากตัว

โต๋บอกว่าทุกอย่างที่นี่ต้องใช้ความกล้า 

กล้ากิน กล้าลอง กล้าทำ

ชั้น 1 เริ่มการสำรวจ

เมื่อเดินเข้ามาในตึก นอกจากกลิ่นอายของความขลัง ผู้ที่มาเยี่ยมชมก็จะได้กลิ่นอาหารหอมๆ ที่มาจากครัวต่างๆ ภายในตึก โดยร้านอาหารที่ตั้งในตึกนี้ถูกเลือกแล้วเลือกอีกจากทีมงาน Slowcombo เพื่อให้คนที่มาได้ทานอาหารสุขภาพทางเลือก ที่ได้ทั้งสุขภาพบาลานซ์ไปกับความสดอร่อย ซึ่งความน่าสนใจของร้านไม่ใช่แค่ความอร่อยหรือความสุขภาพดี แต่ทุกร้านยังบรรจุไปด้วยเรื่องราวที่รอถ่ายทอดผ่านอาหารมื้อนั้นๆ ที่ถูกส่งผ่านมาถึงมือคุณ

เช่น ‘ครัวแม่คำนวณ’ ที่คำนวณแคลฯ ให้คนกินเรียบร้อยไม่ต้องกังวลว่าแคลฯ มื้อนั้นๆ จะเกินจากที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือ ‘GOOD CHĀ’ ที่คัดสรรชาคุณภาพดีส่งตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น มีชาให้เลือกหลากหลายเหมาะสำหรับสายรักชาและชาววีแกน เพราะใช้นมข้าวโอ๊ตและนมถั่วเหลืองแทนการใช้นมวัว หรือร้านน้ำปั่นสมูตตี้จาก ‘Self.’ ที่มีผักผลไม้หลากหลายใน 1 แก้ว มาพร้อมกับแพ็กเกจน่ารักๆ และคุณประโยชน์ที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละแก้ว สำหรับใครที่เบื่ออาหารไทยอยากลองอาหารต่างประเทศ ‘Son of Saigon’ ก็พร้อมที่จะเสิร์ฟอาหารเวียดนามต้นตำรับ หรือถ้าวันไหนรู้สึกระบบลำไส้มีปัญหาก็ไม่ต้องห่วง เพราะมี ‘The Green Geek’ ร้านที่พร้อมจัดเสิร์ฟคอมบูชะให้แก่กระเพาะ

อีกส่วนที่ภูมิใจนำเสนอของที่นี่คือ ‘Co-Cafe’ ที่มาพร้อมกับคอนเซปต์แปลกใหม่ตามแบบฉบับ Slowcombo ที่นี่เปิดโอกาสให้ผู้ขายรายใหม่ที่อยากลองมีหน้าร้านเป็นของตัวเองได้มาเช่าที่ในระยะเวลา 3-4 เดือน แถมอุปกรณ์แต่งร้านให้ครบครัน โดยร้านล่าสุดที่มาตั้งคือร้าน ‘Roti Dood’ ที่มาพร้อมกับเมนูโรตีที่หลากหลาย จุดเด่นของร้านนี้คือ น้ำมันที่ใช้ในการทอดโรตีเป็นน้ำมันมะพร้าว

“ร้านที่เราเลือกมาก็ตามคอนเซปต์ของที่นี่ อร่อย เข้าใจง่าย ทุกคนมีความสุข ร้านอาหารที่เลือกมาอร่อยแน่ๆ แต่ว่าการทำร้านอาหารหน้าร้านมันมีขั้นตอนหลายอย่างมากกว่าการขายในออนไลน์ เราทำเพราะอยากให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เติบโต คนที่มาสมัครส่วนใหญ่ถ้าไม่เอาก็คือไม่เอาเลย เพราะร้านที่จะมาขายที่ Slowcombo ได้ต้องตรงกับคอนเซปต์ที่วางไว้ คืออาหารต้องอร่อย กระบวนการทำอาหารต้องตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นอาหารทางเลือกสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ส่วนคนที่สนใจเขาก็เอาเลย คือเขาอยากลองว่าถ้ามีหน้าร้านจริงๆ แล้วมันจะเจออะไรบ้าง ซึ่งผมว่ามันก็เป็นบทเรียนสำหรับเราและเขา เขาได้มีโอกาส ส่วนเราก็ได้เห็นว่าเขาสามารถเติบโตไปได้แค่ไหน” โต๋บอกถึงขั้นตอนในการเลือกร้าน

นอกจากนี้ Slowcombo ยังมีแพลนที่จะนำอาหารที่เหลือเข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิรักษ์อาหาร (SOS Thailand) เพื่อไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการ และลดขยะอาหารที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของที่นี่ คือ รักตัวเอง รักผู้อื่น และรักษ์โลก

ชั้น 2 ก้าวผ่านความกลัว 

กิจกรรมของชั้น 2 มีหลากหลายกิจกรรมให้เลือกสรรทั้งร้านค้า ร้านดอกไม้ และพื้นที่ทำกิจกรรมประจำสัปดาห์สุดพิเศษสไตล์ Slowcombo แต่ทุกกิจกรรมที่นี่ต้องใช้ความกล้า แน่นอนว่าทุกคนมีนิยามความกล้าที่แตกต่างกัน แต่สำหรับที่นี่ความกล้าคือการกล้าที่จะได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่เคยได้ลองทำ โดยไม่ให้ความกลัวมาเป็นอุปสรรคในการลองทำอะไรที่ต่างจากสิ่งที่เคยทำในชีวิตประจำวัน 

ชั้นสองจึงสร้างมาเพื่อให้คนที่มา Slowcombo ได้ก้าวผ่านความกลัวในการลองทำกิจกรรมที่แปลกใหม่ และปลดปล่อยความรู้สึกที่อยู่ข้างในออกมาผ่านกิจกรรมที่ทาง Slowcombo เตรียมไว้ให้

เมื่อก้าวบันไดขึ้นไปบนชั้น 2 ด้านหน้าจะเป็นร้าน ‘Regrow’ ร้านข้าวของเครื่องใช้จิปาถะที่สร้างขึ้นมาสำหรับคนที่อยากจะรักษ์โลกและรักในดีไซน์ มีทั้งปิ่นโตพับได้ ไขผึ้งห่ออาหาร และยังมี refill station ที่สามารถนำขวดหรือบรรจุภัณฑ์มาเติมสบู่ แชมพู ยาสระผม เป็นต้น โดยแนวคิดของร้านนี้เกิดขึ้นมาจากแนวคิดการมีสุขภาวะที่ดีของอิ๊บ

“เมื่อเราจะซื้ออะไรก็ตาม เราต้องคิดว่าของสิ่งนี้สามารถอยู่กับเราได้นานหรือเปล่า มันไม่ใช่แค่อยากซื้อแล้วซื้อ แต่ว่ามันคิดไปจนถึงว่าของสิ่งนี้จะไปอยู่ตรงไหนต่อ ซึ่งก็เหมือนกันกับตึกนี้ สิ่งสำคัญที่เราอยากให้คนได้จากตึกนี้คือ ของที่ทุกคนซื้อไปจากที่ร้าน Regrow จะสามารถอยู่กับเขาไปได้ยาวๆ”

ถ้าหากเรามองไปทางด้านซ้าย เราก็จะเจอเข้ากับร้านดอกไม้ ‘Malibarn’ ที่รอให้ทุกคนได้เข้าไปชื่นชมกับดอกไม้ออร์แกนิกจากชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ และมีกิจกรรมจัดดอกไม้เพื่อให้ได้ใช้เวลากับตัวเอง แต่กิจกรรมของชั้น 2 ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะชั้นนี้ยังมีห้อง Energy Space ที่มีกิจกรรมประจำสัปดาห์สำหรับคนที่อยากมาใช้เวลากับตัวเอง ทำให้ตัวเองตื่นรู้จากบางสิ่งที่หลงลืมอยู่ในจิตใจส่วนลึก

“กิจกรรมต่างๆ จะขึ้นอยู่กับธีมของแต่ละเดือน หรือปฏิทินจันทรคติ เพราะที่นี่เราเชื่อในพลังพระจันทร์ เขาพูดว่าพระจันทร์สามารถทำให้เกิดน้ำขึ้น-น้ำลงได้ ในขณะที่ร่างกายมนุษย์มีน้ำถึง 70% ทำไมพระจันทร์ถึงจะไม่ส่งผลกับร่างกายมนุษย์”

ความน่าสนใจของห้องนี้คือ ภายในห้องออกแบบให้เหมือนกับว่าคุณได้หลบหนีจากโลกภายนอกไปสู่อีกที่หนึ่ง ห้องนี้ถูกตกแต่งโดยชารีฟ ลอนา และทีมออกแบบภายในจาก Studio Act of Kindness กิจกรรมในห้องมีทั้ง sound healing กิจกรรมอาบคลื่นเสียงผ่านขันหิมาลัย หรือคริสตัลโบวล์ พิธีดื่มคาเคาศักดิ์สิทธ์อย่าง cacao ceremony มีสติด้วยการเต้นผ่านกิจกรรม Sircle หรือทำกิจกรรมกับครอบครัวผ่าน family yoga 

และที่สำคัญไม่ต้องกลัวว่ากิจกรรมจะมีแต่ภาษาอังกฤษ เพราะที่นี่กิจกรรมทุกอย่างมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมโอบกอดทุกเชื้อชาติ เพราะความต้องการของที่นี่คืออยากให้สุขภาวะที่ดีเข้าถึงคนไทยได้มากขึ้น 

“วันนั้นมีคนไทยคนหนึ่งมาเข้ากิจกรรม sound healing แล้วเขาบอกว่า ‘ดีมากเลยที่นี่มีภาษาไทยด้วย’ เพราะว่าตอนที่เขาไปที่อื่น เขาไม่กล้าเข้าไปร่วมกิจกรรมหรือไม่กล้าที่จะพูด แต่เมื่อได้มาลองทำกิจกรรมที่นี่เขารู้สึกกล้าและรู้สึกสบายใจมากขึ้น” อิ๊บเล่าถึงหนึ่งในเสียงตอบรับของคนที่มาทำกิจกรรมในห้อง Energy Space

ชั้นที่ 3 ชั้นเรียกเหงื่อ

“หลังจากเรานั่งทำงานมาทั้งวัน ถ้าได้ออกกำลังกายเราคงจะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เราเลยอยากให้คนได้มีช่วงเวลาที่เขารู้สึกดีกับตัวเองเมื่อมาที่นี่เท่านั้นเอง” โต๋เล่าที่มาของกิจกรรมบนชั้น 3 

เมื่อเดินขึ้นมาที่ชั้นนี้จะเห็นสนาม pickleball กีฬาที่ผสมผสานกีฬา 2 ชนิดระหว่างปิงปองและแบดมินตัน ซึ่งถูกคิดค้นโดยครอบครัวหนึ่ง เพื่อหาอะไรทำยามว่างในช่วงฤดูร้อน 

จุดที่ยืนอยู่ ณ ตอนนี้เรียกว่า Active Space

“ถ้าถามว่ากิจกรรมอะไรที่เหมาะกับที่นี่คงเป็นกิจกรรมที่มีความง่าย อย่าง pickleball ก็คือมันง่ายต่อทุกคน หลังเลิกงานไม่ต้องมีอุปกรณ์มา หรือว่าไม่ต้องมีทักษะ เหมือนกับการตีปิงปอง ไม่ต้องมีสกิลมาก่อน ทุกคนมาคลายเครียด มาผ่อนคลายกับเพื่อน มาหัวเราะกันที่คอร์ต แค่นี้เขาก็กลับบ้านอย่างอารมณ์ดีแล้ว

“ความท้าทายของที่นี่คือทุกคนต้องกล้า เรามีกิจกรรมเยอะมากและมีประโยชน์ด้วย แต่ความท้าทายของที่นี่คือ คุณจะกล้ามาลองทำกิจกรรมเหล่านี้ที่เรามีหรือเปล่า”

โอบรับประสบการณ์ใหม่

“ที่นี่แตกต่างจากที่อื่น เพราะเราไม่ได้มองว่าที่นี่เป็นร่มที่มีแต่เรื่อง meditate และ sound healing เรายังมีการผสมผสานไปกับงานอาร์ต งานทอล์ก งานสนุกๆ บวกกับสอดแทรกเรื่องสุขภาวะที่ดี เหมือนเป็นการ combo กิจกรรมให้บาลานซ์กัน” นี่เป็นอีกหนึ่งนิยามของตึก Slowcombo หรือ mindfulness playground พื้นที่ที่สร้างขึ้นมาสำหรับทุกคน

กิจกรรมที่ Slowcombo ไม่ได้หมดแค่ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ที่นี่ยังมีกิจกรรมที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน

“ความสนุกของที่นี่อีกอย่างคือ การที่คนติดต่อเราเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อที่จะเช่าสเปซ ทั้งคนที่รู้และคนที่ไม่รู้คอนเซปต์เราก็ต้องดูว่าเขาอยากทำนิทรรศการอะไร และคอนเซปต์ของนิทรรศการนั้นคืออะไร ตรงกับคอนเซปต์ของที่ Slowcombo ไหม” โต๋เล่าถึงเสียงตอบรับ

กิจกรรมต่างๆ เกิดจากแนวคิดที่อยากโอบกอดผู้เข้าชมทุกวัย ให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการมาทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ แน่นอนว่าทุกกิจกรรมมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าใครจะชอบกิจกรรมแบบไหน ทำให้ที่นี่ต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการที่แตกต่างของทุกคนได้

“กลุ่มเป้าหมายหลักของที่นี่มีตั้งแต่นักศึกษามหาวิทยาลัย (college student), วัยทำงาน (young professional) และนักเก็บเกี่ยวประสบการณ์ (world explorer) ซึ่งในสามกลุ่มนี้เราไม่ได้มองว่าเราอยากเจาะกลุ่มวัยใดวัยหนึ่งอย่างเดียว แต่เราอยากทำให้ทุกคนมองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เล่นสนุก ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ และสร้างความสุขให้กับพวกเขา นี่คือสิ่งที่เราจะพยายามทำ” 

Slowcombo เป็นแพสชั่นโปรเจกต์ แต่อีกแง่หนึ่งในโลกของทุนนิยมที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยเงิน การจะประสบความสำเร็จต้องเกิดจากการวางแผนทางธุรกิจอย่างรอบคอบ

“เราอยากจะสร้างให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับคนได้เช่นเดียวกัน เราไม่ได้อยากผลิตอาหารที่ขายแล้วรายได้ดี แต่เป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือผลิตของใช้ที่มันจะกลายเป็นขยะในอนาคต นั่นไม่ใช่เป้าหมายของที่นี่”

“เราต้องการให้คอนเซปต์ที่เราสร้างมาสามารถต่อยอดไปเป็นธุรกิจได้ในตัวของมันเอง เช่น บนชั้น 2 เรามี ‘Slowcombo give and receive tree’ เป็นกิจกรรมภายใต้คอนเซปต์ love yourself และ love others โดยจะให้คนที่มาเขียนการ์ดแห่งคำมั่น (affirmation card) แล้วแขวนการ์ดนั้นให้คนอื่นได้มาหยิบไป โดยให้นึกว่าถ้าเขาอยากจะส่งความรู้สึกที่ดีให้คนอื่นเขาจะเขียนอะไรลงไป จากนั้นก็ให้เขาไปเลือกคำที่เหมาะกับเขาในวันนั้นนำกลับบ้านไป ในส่วนของไอเดียหรือกรอบแนวคิดของต้นไม้ต้นนี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นต้นแบบธุรกิจ (business model) ที่คนอื่นสามารถมาซื้อไอเดียและนำไปทำต่อได้ คือทุกคอนเซปต์ของที่นี่ อิ๊บอยากให้มันสามารถต่อยอดไปเป็นผลิตผลอื่นๆ ได้ แต่ว่าในทุกผลิตผลที่ออกมาจากที่นี่ต้องสามารถตอบโจทย์ 3 คีย์เวิร์ดของเรา คือ รักตัวเอง รักผู้อื่น และรักษ์โลก

“อย่างน้อยตอนนี้เราได้เล่าคอนเซปต์นี้ออกไปร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่าคอนเซปต์เราคืออะไร แล้วเราก็ค่อยๆ ได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ จุดแรกเราก็โอเคนะค่อยๆ ไป แต่ถ้าถามว่ามันสำเร็จหรือยัง ตึกนี้ก็ยังไม่ได้สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ไม่ได้มีผู้เช่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้เช่าเต็มก็ไม่ได้หมายความว่าตึกนี้เสร็จแล้วนะ เรายังต้องมีการสร้างแบรนด์ กิจกรรม การกำหนดปฏิทินรายปี ที่จะทำให้ที่นี่ยังคงคอนเซปต์ ความเป็น mindfulness playground ที่เราตั้งใจไว้ให้ได้” อิ๊บเล่าถึงภาพรวมของ Slowcombo ณ ปัจจุบัน และแผนการในอนาคต

สุขภาวะที่ดีควรง่ายต่อการเข้าถึง

ความเป็น Slowcombo ไม่ได้อยู่แค่ตึกใจกลางสามย่าน แต่ Slowcombo ยังรับทำสื่อที่ทำให้คนตระหนักถึงสุขภาวะที่ดีให้แก่บริษัทอื่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำวิดีโอกับบริษัทอื่นสอนเรื่องการหายใจ หรืองานในปีหน้าที่ให้พื้นที่ Ctrl+R Collective ในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week 

Slowcombo เชื่อว่าคอนเซปต์สุขภาพกายใจที่ดี ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ที่ Slowcombo แต่พวกเขาต้องการทำให้พื้นที่ตรงนี้มีน้ำหนักมากพอที่จะต่อยอดเพื่อไปร่วมงานกับที่อื่นๆ ได้

“เราไม่ได้มองว่าสเปซเราจะจบแค่ทำธุรกิจในสเปซของเรา แต่คอนเซปต์ของ mindfulness ของเรา เราสามารถไปช่วยบริษัทที่เขาต้องการสร้างสุขภาวะที่ดีในคอมมิวนิตี้ด้วยตัวเองได้ เราอาจจะไปช่วยต่อยอดให้เขา”

แม้ว่าทั้งอิ๊บและโต๋ต่างยังใหม่กับวงการคอมมิวนิตี้สเปซ พวกเขาและทีมจึงวางแผนอย่างดีเพื่อที่จะทำให้คอมมิวนิตี้นี้เติบโตไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ นั่นคือการเล่าเรื่องให้สนุกแต่ยังต้อง ‘รู้จริง’ 

“เรามีที่ปรึกษาหลากหลายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เพื่อให้เราเป็นตัวจริง การได้มาทำงานที่นี่ ทำให้เจอที่ปรึกษาหลายทาง หลากหลายศาสตร์ ที่ปรึกษาระบบ ที่ปรึกษาสถาปนิก ที่ปรึกษาระบบไฟ เราก็ต้องมีที่ปรึกษา ที่ปรึกษาค่อนข้างสำคัญ”

ตัวอย่างหนึ่งคือการที่ทีม Slowcombo มีที่ปรึกษาคนไทยใน UN ที่ร่วมดูแลโครงการ Sustainable Development Goal 17 มาช่วยให้คำปรึกษาเรื่องความยั่งยืน

“ในขณะที่บาลานซ์ ลองผิด ลองถูก เราต้องมีจุดมุ่งหมายว่าเราทำไปทำไม มันอาจจะนานกว่าคนอื่น เราอาจจะไปแบบลองผิดลองถูก แต่ว่าเราจะไปแบบมีจุดมุ่งหมาย”

ความฝันนึงของ Slowcombo ในวันหน้าคือการได้ขยับขยายไปเปิดที่จังหวัดอื่นในประเทศไทย เพราะพวกเขามีความเชื่อว่าสุขภาวะที่ดีควรง่ายต่อการเข้าถึง

“เราอยากลองไปเปิดที่เมืองอื่น อยากไปอยู่ภูเก็ต หรืออยากไปอยู่เชียงใหม่ อยากไปแถบอีสาน อุบลฯ ขอนแก่น เรารู้สึกว่าถ้าคอนเซปต์นี้มันสำเร็จ มันไม่จำเป็นจะต้องอยู่แค่ที่กรุงเทพฯ มันสร้างคอมมิวนิตี้แบบนี้ที่อื่นได้ ด้วยคอนเซปต์แบบนี้ คอนเซปต์มันง่ายมากเลย เรื่องการรับประทาน เรื่องออกกำลังกาย เรื่องใจ เรื่องสุขภาพ เรารู้สึกว่านั่นถือว่าเป็นจุดที่สำเร็จของ Slowcombo เพราะว่ามันสามารถกลายไปเป็นธุรกิจต้นแบบ ที่สร้างคอมมิวนิตี้ที่ทำให้คนมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”

ปรัชญา ณ Slowcombo 

คนที่ได้มาเยี่ยมชม Slowcombo เมื่อกลับออกไปจากที่นี่คงต้องได้อะไรสักอย่างกลับไป ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะที่ดีจากการกิน ความสนุกและความสงบจากกิจกรรม หรือจะเป็นการได้หันมารักตัวเอง รักผู้อื่น และรักษ์โลก 

นี่เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทั้งสองต้องการให้คนที่มาได้รับกลับไป แต่ในฐานะเจ้าของพื้นที่ สถานที่แห่งนี้ได้ให้อะไรแก่พวกเขาเช่นกัน

“เราเอาประสบการณ์ที่ได้มาบาลานซ์ในการทำงาน มันทำให้งานเราสนุกขึ้น เหมือนเราก็ได้ใช้วิชาที่เราทำให้คนอื่น มาทำให้ตัวเองมีความสุขขึ้น

“ถ้าเป็นในงานประจำที่ตัวเองทำ เราก็พยายามจะใช้ความรู้ด้านความยั่งยืน คือเราก็บอกลูกค้าไปด้วยว่ามันมีอย่างนี้นะ หาวิธีลดต้นทุนสิ่งแวดล้อมในการผลิตแพ็กเกจจิ้งโดยที่มันไม่ต้องวุ่นวาย ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่ใช่คนแบบนี้นะ แต่ก่อนยิ่งเยอะ ยิ่งดี ต้องเว่อร์วัง มีห่อแล้วยังมีห่ออีก” 

ในส่วนของอิ๊บที่อยู่กับวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนาน การปลุกปั้นคอมมิวนิตี้แห่งนี้ทำให้เธอได้กลับมาอยู่กับตัวเองอีกครั้ง

“เราทำงานทุกวันในเรื่องของสิ่งด้านนอก เสื้อผ้ามันคือด้านนอกอย่างเดียว มันคือการทำให้คนเห็นภาพลักษณ์ข้างนอกของเรา แต่การทำงานที่นี่ทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง มีเวลามาเข้าโยคะเพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่เราที่นี่ ไปเข้าคลาสอื่นๆ เสร็จก็ต้องมากินอาหารอันนี้ มันก็กลับสู่ด้านในมากขึ้น

“เพราะฉะนั้นการได้ทำงานตรงนี้ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่สนุก ได้ผ่อนคลาย เพราะเราได้มาให้เวลากับตัวเองในการพัฒนาข้างในของตัวเอง นี่คือสิ่งที่สถานที่แห่งนี้ให้เรา”

Location : 126 Soi Chula 5, Wang Mai, Pathumwan, Bangkok 10330 Thailand
Facebook : Slowcombo
Instagram : Slowcombo

FYSIK แบรนด์อุปกรณ์ออกกำลังกายแฮนด์คราฟต์ที่ออกแบบสวยงามเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง

คนที่ออกกำลังกายจะรู้กันดีว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการออกกำลังคือการดีดตัวเองให้ลุกจากเตียง ผูกเชือกรองเท้าให้แน่น รวบรวมพลังลมปราณแล้วเดินไปหยิบดัมเบลสักคู่ออกจากตู้

เป้าหมายมีไว้ให้พิชิต แต่แรงจูงใจในการออกกำลังกายก็สำคัญไม่แพ้กัน หากจะมีอุปกรณ์ออกกำลังกายแบรนด์ไหนที่ช่วยจูงใจให้อยากทำ ที่หนึ่งในใจเราตอนนี้ขอยกให้ FYSIK

FYSIK เป็นแบรนด์อุปกรณ์ออกกำลังกายแฮนด์คราฟต์ของ Henrik Olofsson และแอม–ภัทราวรรณ ธรสารสมบัติ ก่อตั้งราว 8 ปีก่อน ด้วยความเชื่อว่าอุปกรณ์ออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องถูกเก็บไว้ในตู้แต่สามารถตั้งโชว์ไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน ประหนึ่งเฟอร์นิเจอร์​ชิ้นหนึ่งที่เจ้าของเลือกสรรมาอย่างดี

ว่าด้วยเรื่องฟังก์ชั่น อุปกรณ์ออกกำลังกายของพวกเขาไม่ต่างจากอุปกรณ์เราเคยเห็น มีทั้งดัมเบล เชือกจั๊มป์โรป เมดิซีนบอล ฯลฯ หากสิ่งที่ทำให้ต่างคือทั้งหมดเป็นงานแฮนด์คราฟต์แบบคอนเทมโพลารี สไตล์สวีเดน ผลิตจากไม้ เหล็ก และหนังคุณภาพดี โดยให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาพอๆ กับการใช้งาน

คอลัมน์ 5P ตอนนี้ ขอพาไปทำความรู้จักแบรนด์อุปกรณ์ออกกำลังกายที่จะจูงใจให้รักสุขภาพมากขึ้น รู้ตัวอีกที การตื่นทุกเช้ามาฟิตหุ่นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

PRODUCT

เฮนริกและแอมเจอกันในยิมในปี 2011 เขาบอกว่าสิ่งที่ประทับใจในตัวหญิงสาวคือทัศนคติในการออกกำลัง แอมรักการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นชีวิตจิตใจ ต่างจากหลายคนที่ไม่ว่าจะออกกำลังกายหนักแค่ไหน เธอไม่เคยกลัว 

“ผมคิดว่าเมื่อคุณมีทัศนคติที่ดีในยิม คุณน่าจะมีทัศนคติเดียวกันในด้านอื่นๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะการงานหรือที่บ้าน” ชายหนุ่มยิ้ม

ความสนใจในการออกกำลังพาให้ทั้งคู่รู้จักกัน นำไปสู่การเป็นพาร์ตเนอร์กันทั้งในด้านชีวิตและการงาน ธุรกิจแรกที่เปิดด้วยกันคือยิมชื่อ HAUS No.3 ในปี 2015

HAUS No.3 เป็นยิมที่เฮนริกและแอมอยากให้เป็นพื้นที่พิเศษของคนออกกำลังกาย พวกเขาจึงสร้างยิมสไตล์ House Studio ที่สวย เท่ เข้าไปแล้วไม่รู้สึกเหมือนอยู่ในยิม

เมื่อยิมขึ้นชื่อว่าพิเศษแล้ว อุปกรณ์ออกกำลังกายก็ต้องพิเศษตามไปด้วย แต่หลังจากเสาะหาอุปกรณ์ออกกำลังกายจากหลายร้าน ทั้งคู่ก็ไม่เจออุปกรณ์ที่สวยและเหมาะกับยิมของพวกเขาอย่างที่คาดหวัง

“นั่นคือตอนที่เราคุยกันว่า ทำไมเราไม่สร้างอุปกรณ์ออกกำลังกายของเราขึ้นมาเองล่ะ” แอมบอก นั่นคือตอนที่พวกเขาสร้าง FYSIK ขึ้นมา

“เราอยากสร้างความแตกต่างให้ยิมของเรา ซึ่งผมคิดว่าใครๆ ก็บอกว่ายิมของตัวเองแตกต่างทั้งนั้นแหละ สำหรับเราการทำอุปกรณ์ออกกำลังกายเหล่านี้ช่วยอธิบายกับผู้คนว่ายิมของเราต่างจากที่อื่นยังไง มันคล้ายๆ รูปภาพรูปหนึ่งสามารถแทนคำพูดได้เป็นพันคำ” เฮนริกเท้าความถึงจุดประสงค์แรกให้ฟัง

ระหว่างที่พวกเขาเปิดยิมให้บริการ เฮนริกกับแอมทำธุรกิจขายเสื้อผ้าออกกำลังกายที่เน้นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงเป็นหลัก และต้องพัฒนาอุปกรณ์ออกกำลังกายไปพร้อมกัน 

หลังจากการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขาก็เข็น FYSIK ออกมาขายสำเร็จ ลูกค้าที่มายิมหลายคนเห็นแล้วชอบ สั่งพรีออร์เดอร์ ไม่นานก็เริ่มติดตลาด พวกเขาจึงตัดสินใจปิดยิมและหันมาทุ่มเทกับ FYSIK เต็มตัว 

เฮนริกกับแอมเปิดโรงงานผลิตของตัวเอง จ้างช่างประจำ และรับวัตถุดิบจำพวกไม้มาจากหลายย่านในกรุงเทพฯ ประกอบกับเหล็กจากบริษัทเหล็กของครอบครัวแอม โดยหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือสินค้าทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์คราฟต์ ทำด้วยมืออย่างประณีตทุกชิ้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากงานไม้ของประเทศสวีเดน บ้านเกิดของเฮนริก

“ในบ้านเกิดของผมไม่มีใครทำงานฝีมือแบบนี้อีกแล้วแต่ในไทยยังมีอยู่ ผมจึงมีความสุขมากเมื่อได้อยู่ที่นี่ ในจุดแรกเริ่ม ผมเดินทางไปเยาวราชในเวลาว่างเพื่อไปเจอช่างฝีมือที่รับทำอุปกรณ์เหล่านี้ วาดรูปสิ่งที่อยากได้ใส่กระดาษให้เขา แล้วเขาก็ทำดัมเบลมาให้หนึ่งอัน ผมกลับไปหาเขาทุกสัปดาห์หลังจากนั้น” ชายหนุ่มเล่า

หนึ่งในโอกาสที่พวกเขามองเห็นคือคนรักสุขภาพทั้งหลายสร้างบ้านและพื้นที่ออกกำลังกายของตัวเองขึ้นมา พวกเขาทุ่มเทไปกับการหาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นที่ใช่ แต่พอเป็นอุปกรณ์กำลังกายที่ดูดีและเข้ากับบ้านกลับหาได้ยากเหลือเกิน 

“เราไม่อยากสร้างอุปกรณ์ออกกำลังที่คุณอยากซ่อนมันไว้ เราอยากให้มันเป็นอุปกรณ์ที่ตั้งโชว์ได้ เจ้าของภูมิใจที่จะโชว์มัน มากกว่าอุปกรณ์ออกกำลังที่ใช้เสร็จแล้วเก็บเลย” แอมเล่าความตั้งใจ ก่อนเฮนริกจะเสริมต่อ

“หลักพฤติกรรมศาสตร์ข้อหนึ่งบ่งบอกว่า ถ้าคุณอยากสร้างนิสัยบางอย่างให้เกิดขึ้น คุณต้องมีแรงจูงใจและมีบางสิ่งที่เตือนความจำ เหมือนเวลาคุณเข้าห้องน้ำแล้วเห็นแปรงสีฟัน คุณก็จะจำได้ว่าเราต้องแปรงฟัน ดัมเบลก็เช่นกัน ถ้าคุณมีเซตดัมเบลสวยๆ ในบ้านที่เห็นได้ทุกวัน คุณก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้มันบ่อยๆ”  

ไม่เพียงแค่หน้าตาสวยแต่อุปกรณ์ออกกำลังกายของ FYSIK นั้นให้สัมผัสและความรู้สึกที่แตกต่าง

“เวลาที่คุณใช้มัน คุณจะรู้สึกว่ามันเป็นของแฮนด์เมดจริงๆ ที่ประกอบสร้างและดีไซน์มาอย่างดี และนั่นยิ่งทำให้คุณหลงใหลมันมากขึ้น” ชายหนุ่มนักออกแบบบอก แล้วอธิบายว่า อีกหนึ่งข้อดีของอุปกรณ์ออกกำลังกายแฮนด์เมดคือมันประกอบใหม่ได้ตลอด 

“หนึ่งใน pain point ใหญ่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการออกกำลังกายคือ หลังจากคนใช้อุปกรณ์ไป 5-10 ปี หากพวกเขาคิดจะขายต่อก็ไม่มีใครอยากซื้อของมือสอง” แต่ FYSIK แก้ pain point นี้ได้ เพราะหลังจากหลายปีที่ลูกค้าซื้อไปใช้งาน หากพวกเขาอยากได้เซตใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ แต่ส่งสิ่งที่มีอยู่มาให้พวกเขาเปลี่ยนชิ้นส่วนบางอันใหม่ได้เลย

PRICE

กลยุทธ์ด้านการตั้งราคาของ FYSIK นั้นเรียบง่าย นั่นคือตั้งราคาให้สมเหตุสมผลกับสินค้าเท่านั้น 

“พวกเราอยากภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ อยากให้ความสำคัญกับคุณค่าของสินค้า กลยุทธ์การตั้งราคาที่สมเหตุสมผลสำหรับเราจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนในการสร้างสรรค์สินค้า ซึ่งหมายถึงเวลาในการทำที่ยาวนาน ความทุ่มเท และค่าวัสดุด้วย” เฮนริกบอก

ด้วยหมวดหมู่สินค้าที่มีหลากหลาย ราคาสินค้าของพวกเขาจึงเริ่มต้นราวๆ 1,000 บาทขึ้นไป ราคาจะสูงแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนอุปกรณ์ที่ลูกค้าอยากได้ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ระยะเวลาที่ลูกค้าอาจจะมีให้จำกัด 

PLACE

FYSIK มีหน้าร้านที่เอ็มควอเทียร์ แบ่งสินค้าไปจำหน่ายที่ร้านขายอุปกรณ์ฟิตเนส Sierra บ้าง แต่หลักๆ แล้วพวกเขาใช้ระบบพรีออร์เดอร์จากทางออนไลน์เป็นหลัก โดยมีระยะเวลาในการทำอุปกรณ์เริ่มต้นตั้งแต่ 1 สัปดาห์เป็นต้นไป

นอกจากลูกค้าที่เคยมายิมของพวกเขาแล้วประทับใจ FYSIK ยังรับพรีออร์เดอร์อุปกรณ์จากทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ฮาวาย ฮ่องกง ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อิตาลี และอีกหลายประเทศ  ซึ่งนอกจากลูกค้าที่เป็นบุคคลทั่วไปแล้ว พวกเขายังทำอุปกรณ์ออกกำลังกายให้กับโรงแรมหลายแห่ง มากกว่านั้นคือสินค้าไม่ได้ถูกซื้อไปใช้เองเท่านั้น ลูกค้าบางคนยังซื้ออุปกรณ์ไซส์เล็กๆ จับพอดีมืออย่างลูกบอลสำหรับนวด (massage ball) ไปเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษด้วย

“พอเราบอกว่าเราทำธุรกิจขายสินค้าออกกำลังกาย ผู้คนมักคิดว่ากลุ่มลูกค้าหลักๆ ของเราคือคนที่ไปยิมเป็นประจำ แต่จริงๆ แล้วกลุ่มลูกค้าที่เราจับมักจะเป็นคนที่ชอบงานดีไซน์ พวกเขาอาจไม่ได้ไปยิม 7 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปบ้างเป็นครั้งคราว และบางทีอาจจะออกกำลังกายที่บ้าน” เฮนริกอธิบาย

“นอกจากคนกลุ่มนี้ เรายังอยากจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพาวเวอร์ในการใช้เงิน โดยเฉพาะคนที่รักดีไซน์แนวสแกนดิเนเวียซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในไทย” แอมสมทบ

คุยมาถึงตรงนี้ เราสงสัยว่าทั้งๆ ที่เฮนริกก็เป็นคนสวีเดน และสไตล์สินค้าของ FYSIK คือสแกนดิเนเวีย การไปตั้งช็อปในบ้านเกิดของเขาจะดีกว่าธุรกิจมากกว่าหรือเปล่า

ชายหนุ่มยิ้ม ก่อนจะตอบว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่แข็งแรงทั้งด้านการเงินและความมั่นคง อย่างที่ผมบอกไปว่าเราสามารถหาช่างฝีมือดีในไทยได้เยอะ ที่นี่มีประวัติศาสตร์ของคนทำงานคราฟต์ที่ยาวนาน พวกเขาคุ้นชินกับการทำงานไม้ งานหนัง และงานเหล็ก มากกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็นโลเคชั่นที่สะดวกสบายเรื่องโลจิสติกส์ ใกล้กับประเทศอื่นๆ ที่ลูกค้าของเราอยู่ด้วย”

PROMOTION

ตั้งแต่เปิดแบรนด์มา เฮนริกและแอมบอกว่าพวกเขาแทบจะไม่ได้ทำการตลาดเลย นอกจากเปิดเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียเพื่อจัดจำหน่ายสินค้า

“การทำการตลาดของเราจะเป็นระบบ passive มากกว่า เป็นการตลาดออร์แกนิก เพราะผลิตภัณฑ์ของเราค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาด” เฮนริกบอก 

“ซึ่งจริงๆ ตลาดของอุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นตลาดที่แข่งขันสูงมาก แต่ FYSIK สร้างหมวดหมู่ใหม่ คล้ายๆ ที่เครื่องทำกาแฟ Nespresso สร้างเครื่องทำกาแฟแบบ Home Barista ที่เจ้าของบ้านทำกาแฟเองได้ แถมยังเป็นเครื่องที่ดูดี แมตช์กับห้องครัวของเขา หรือ Lululemon ที่สร้างมิติใหม่ๆ ให้กับชุดออกกำลังกาย FYSIK ก็อยากเป็นแบบนั้น

“แต่แน่นอนว่าในอนาคต บางทีอาจจะ 3-6 เดือนต่อจากนี้เราอยากมีช็อปบนออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรงโดยไม่ต้องส่งอีเมลมาหาเรา เราอยากทำสต็อกสินค้าจากตัวที่ขายดี และอยากทำโปรโมชั่นและการโฆษณาอื่นๆ ในอนาคต แต่ ณ ตอนนี้เราพยายามทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก เพราะสำหรับเรา การขายสินค้าในไทยก็ยังง่ายกว่าการจัดส่งไปต่างประเทศอยู่ดี เพราะฉะนั้นเร็วๆ นี้เราพยายามจะทำให้ลูกค้าในไทยรู้จักเรามากขึ้นล่ะ” ชายหนุ่มเล่าแผนในอนาคต

PERFECTION

P ตัวสุดท้ายของ FYSIK คือ Perfection หรือความสมบูรณ์แบบ

“ความสมบูรณ์แบบน่าจะเป็นคำที่ดี ในสายตาของผม หากเราพยายามจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ธุรกิจจะดำเนินไปได้ด้วยตัวเองมันเอง และเราสามารถหาจุดสมดุลระหว่างการงานกับชีวิตของเราได้” เฮนริกอธิบาย

“ผมกับแอมมีลูก 2 คนที่เราอยากใช้เวลากับพวกเขาให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นเราย่อมต้องการไปถึงจุดที่เราสามารถไปรับลูกๆ ที่โรงเรียนได้โดยไม่เครียดจนเกินไป (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจให้สมบูรณ์แบบนั้นสำคัญ ถ้าเราสามารถไปถึงจุดที่เราพร้อมทั้งด้านการผลิต ช่องทางการขาย มีโชว์รูมของตัวเอง และทำให้ธุรกิจของเราดำเนินไปด้วยตัวเองได้ ชีวิตของเราก็จะสมบูรณ์แบบไปด้วย เพราะฉะนั้นความสมบูรณ์แบบคือสิ่งที่เราอยากไปให้ถึง” ทั้งสองยิ้มพร้อมกันหลังสิ้นสุดประโยค

รู้จัก Marketing 6.0 การตลาดในยุคไร้เส้นแบ่ง จากเวที Digital SME Conference Thailand 2023

โลกกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ดังนั้นการทำตลาดจึงต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะในโลก Metaverse ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตคนมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกออนไลน์กับออฟไลน์เลือนรางไปทุกที

ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล เล่าบนเวทีในงาน Digital SME Conference Thailand 2023 ว่าการตลาดยุคต่อไปต้อง ‘Forget the Line’ หรือให้ลบลืมเส้นแบ่งไปได้เลย เพราะในอนาคตจะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการซื้อสินค้าออนไลน์หรือออฟไลน์อีกต่อไป ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเรากำลังเข้าสู่ยุค Marketing 6.0

เพื่อให้เข้าใจจุดเริ่มต้นของ Marketing 6.0 มาย้อนดูแนวคิดของหลักการตลาดตั้งแต่ 1.0 กันก่อน

  • Marketing 1.0 – Product Centric เน้นสินค้า การผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ตามความเชื่อที่ว่า สินค้าดี ยังไงก็ขายได้
  • Marketing 2.0 – Customer Centric ผลิตสินค้าโดยมีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง มีการค้นหาว่าลูกค้าชอบอะไร ต้องการอะไร แล้วค่อยผลิตสินค้า
  • Marketing 3.0 – Human Centric ให้ความสำคัญกับความเป็น ‘มนุษย์’ เป็นการทำธุรกิจโดยมีจริยธรรม ตอบแทนสังคมและสิ่งแวดล้อม 
  • Marketing 4.0 – Traditional to Digital การตลาดที่เอาเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย เพื่อให้เข้าถึงลูกค้ามากยิ่งขึ้น 
  • Marketing 5.0 – Technology for Humanity เป็นการรวมแนวคิดของ Marketing 4.0 เข้ามาด้วย มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำตลาด (MarTech) เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า และทำให้สังคมดีขึ้น
  • จนมาถึง Marketing 6.0 ที่ ดร.เอกก์บอกว่า ต้อง ‘forget the line’ ทุกวันนี้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว ทั้งการทำ SEM, SEO, Online Ads, Re-Targeting ฯลฯ แต่วันนี้การตลาดออนไลน์จะถูกผูกเข้ากับ Metaverse จึงเกิดเป็น Marketing 6.0 ที่มีแนวคิดว่าด้วย Metaverse Marketing 

ความหมายของ Metaverse ไม่ใช่แค่เรื่องเทคโนโลยีหรือโลกเสมือน แต่หมายถึง ‘Omnichannel (การตลาดหลายช่องทาง)’ ที่ผสานทุกช่องทางเข้าด้วยกันโดยไม่มีเส้นแบ่ง แบรนด์จึงแทบไม่ต้องสนใจเลยว่าทำการตลาดออนไลน์หรือออฟไลน์  ท่องให้ขึ้นใจเลยว่า Forget the Line ทุกช่องทางมีการเชื่อมโยงกันโดยไม่สะดุด

‘Offline in Online, Online in Offline’

ดร.เอกก์ได้อธิบายคอนเซปต์ของ Marketing 6.0 ไว้ว่า จากเดิมโลกธุรกิจแบ่งเป็นออฟไลน์และออนไลน์เมื่อเป็น Metaverse Marketing กลายเป็น Offline in Online, Online in Offline มีความทับซ้อนกันจนแยกไม่ออก 

Metaverse ในมิติของการตลาดจึงเป็นการนำออฟไลน์มารวมกับออนไลน์ เช่น ในโลกความจริงเราซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ ก็จะได้รับสินค้าส่งตรงถึงบ้าน แต่ในโลก Metaverse อาจเป็นการซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ เพื่อให้ Avatar ของเราใส่ในโลกเสมือน โดยมีราคาเท่ากับหน้าร้าน

หรือแม้แต่วงการความงามก็นำเทคโนโลยี AI/VR มาใช้ เช่น เมื่อคุณไปเคาน์เตอร์เครื่องสำอางเพื่อซื้อลิปสติก ทางร้านได้นำเทคโนโลยี VR มาใช้ที่เคาน์เตอร์ เพื่อให้ลูกค้าได้เทสต์สีลิปสติกที่เหมาะกับตัวเอง เพราะแบรนด์เข้าใจดีว่าการทาแล้วลบบ่อยๆ ไม่เป็นผลดี หรือการทดลองสีบนข้อมือก็ไม่สะดวก เมื่อคุณได้ลิปสติกที่ต้องการ ก็สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ที่เคาน์เตอร์ และเมื่อชำระเงินเรียบร้อย พนักงานจะนำลิปสติกที่คุณสั่งซื้อมาให้ ถ้าเป็นแบบนี้เราก็แยกไม่ออกแล้วว่าเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ 

5 เทคโนโลยีที่นักการตลาดต้องเรียนรู้
และทำความเข้าใจ Marketing 6.0

  • Internet of Think (IoT) มีหน้าที่ประมวลข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการทำ CRM (ระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์) หรือประยุกต์ใช้กับส่วนอื่นๆ 
  • AI (artificial intelligence) การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานและการใช้ชีวิต เช่น ChatGPT, การสั่งงานด้วยเสียง, อุปกรณ์สมาร์ตโฮม เป็นต้น
  • 3D Asset เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในการออกแบบกลยุทธ์หรือสินค้าที่อยู่ในโลกเสมือนจริง ซึ่งไม่จำเป็นต้องผลิตหรือขายได้จริง แต่ต้องเป็นสินค้าที่เปลี่ยนมุมคิดของธุรกิจนั้นๆ หรือเป็นธุรกิจใหม่
  • Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อป้องกันข้อมูลรั่วไหล จัดเก็บและดูแลข้อมูล
  • AR/VR เทคโนโลยีเชื่อมโลกเสมือนเข้าด้วยกัน เป็นอุปกรณ์ในการป้อนข้อมูลผ่านทาง AR หรือ VR เช่น Apple Vision Pro หรือ VR Headset ต่างๆ

นอกจาก 5 เทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว การตลาดในยุคไร้เส้นแบ่ง Metaverse Marketing ต้องให้ความสำคัญกับ Seamless Experience หรือการออกแบบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ 

แม้ Marketing 6.0 จะฟังดูเป็นเรื่องซับซ้อนสำหรับบางคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในวันหนึ่งเราจะเข้าสู่ยุค Marketing 6.0 เต็มตัว การได้รู้ทิศทางลมเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าโลกธุรกิจกำลังเปลี่ยนไป ผู้ที่อยู่รอดต้องปรับตัวทัน และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ

เครื่องแบบสีชมพูหลากเฉดของ ภูเมศร์ เตชะบรรเจิด อินทีเรียร์หนุ่มผู้สนุกกับการแต่งชุดสีชมพู

แม้ว่า Barbie จะลาจอไป (พร้อมกวาดรายได้หลักพันล้านจากทั่วโลก สมตำแหน่งแชมป์หนังทำเงินของค่าย Warner Bros. ล้มแชมป์เก่าอย่างหนังภาคจบของ Harry Potter อย่างขาดลอย)

และคอนเสิร์ตสุดท้ายของ BLACKPINK จะเพิ่งจบลง

แต่เหตุผลของการหยิบชุดสีชมพูออกมาใส่นั้นไม่ได้จบลงไปด้วย

เราขอแนะนำให้รู้จัก เจ–ภูเมศร์ เตชะบรรเจิด บุคคลที่ใส่เสื้อผ้าสีชมพูได้สนุกที่สุดตั้งแต่เคยรู้จักมา

ในคอลัมน์ Youniform เราไม่ได้คุยแค่กับคนที่รักการแต่งตัว แต่เราเลือกคนที่สนุกกับการแต่งตัวมากๆ มากๆๆ มากจนส่งผลให้การทำงานดีขึ้น และดีขึ้น ดีขึ้นไปอีกถึงขั้นสร้างตัวตน และทำให้ธุรกิจของเขาหรือเธอดีขึ้น

ซึ่งเจเป็นอย่างที่ว่ามาทั้งหมด 

ก่อนจะเล่าถึงสีชมพูของเจ เราของแนะนำเจให้คุณรู้จักแบบสั้นๆ ก่อนที่จะมีใครเผลอตัดสินกันเพียงแค่ชุดที่เขาสวมใส่ภายนอก

เจ เป็นอินทีเรียร์ เปิดบริษัทรับงานออกแบบและตกแต่งภายในชื่อ Huippu ซึ่งเป็นภาษาฟินแลนด์แปลว่าสีชมพู 

หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านการออกแบบ เจเริ่มต้นทำงานในวงการอีเวนต์และแฟชั่นกับตัวแม่อย่างป้าตือ ก่อนย้ายไปเรียนรู้งานด้านออกแบบลายผ้าในบริษัทอินทีเรียร์พร้อมๆ กับเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อรู้ตัวและรู้ใจแน่ชัดแล้วว่าจะเอาดีด้านการออกแบบลายผ้าและผลิตภัณฑ์ เจตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน textile ที่ฟินแลนด์ เพราะชอบเส้นสีและลวดลายของแบรนด์ Marimekko มากๆ และแม้จะเลือกเรียนเอกสาขาออกแบบลายผ้าและกราฟิก เขากลับเลือกทำงานวิจัยเรื่องสีชมพูกับแฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชายตามที่หลงใหล เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองต่อสีต่างๆ ในโลก ซึ่งส่งผลต่องานและชีวิตในเวลาต่อมา

หลังเรียนจบ เขากลับมาทำงานออกแบบให้หน่วยงานภาครัฐที่ทำงานพัฒนาสินค้าท้องถิ่น ช่วยชาวบ้านสร้างงานไปอวดสายตาชาวโลกที่ญี่ปุ่น พร้อมๆ กับเป็นอาจารย์ประจำ ต่อมาย้ายไปทำงานด้านแบรนดิ้งให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยชื่อดังอย่าง Modernform ก่อนจะออกมาก่อตั้งบริษัทอินทีเรียร์ของตัวเอง 

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะสีชมพู

ใช่แล้ว เครื่องแบบในการทำงานของเขาส่วนใหญ่ก็เป็นสีชมพูด้วย

เชิญฟังเรื่องสีชมพู ของชายที่หลงใหลการแต่งกายด้วยชุดสีชมพูจนกลายเป็นภาพจำ ทำบริษัทออกแบบที่ชื่อมีความหมายว่าสีชมพู ในออฟฟิศที่ตกแต่งด้วยสีชมพู ตั้งแต่ กระถางต้นไม้หน้าประตู ไปจนโต๊ะ ตู้ นาฬิกา เก้าอี้ดีไซน์สวย 

และถ้าคุณเปิดเพลย์ลิสต์ของ BLACKPINK คลอตามไปด้วยระหว่างอ่านบทสัมภาษณ์นี้ ก็จะเป็นอะไรที่ถูกต้องมาก

ย้อนกลับไปสมัยเรียน textile ที่ฟินแลนด์ เครื่องแบบนักเรียนแฟชั่นของคุณเป็นยังไง

เมื่อก่อนเราก็แต่งตัวสตรีททั่วไปนะ เสื้อสี เสื้อสกรีน กางเกงยีนส์ จนกระทั่งตอนไปเรียนต่อด้านออกแบบและ textile ที่ฟินแลนด์ เพราะเราสนใจเรื่องผ้าพิมพ์ลาย และชอบแบรนด์ Marimekko มาก แต่พอไปถึงที่นู่นคัลเจอร์ช็อกเลย ทุกคนแต่งตัวสีดำกันหมด นักเรียนแฟชั่นทุกคนใส่ชุดดำล้วน ดำแบบไม่มีลายไม่มีอะไรเลย อาจเป็นเพราะ Marimekko เป็นแบรนด์สามัญประจำบ้านที่อยู่กับพวกเขามานาน 50-60 ปีแล้ว เขาไม่ได้มองว่านี่คือแบรนด์แฟชั่นอย่างที่เรามอง ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่นั่นเขาสนใจเรื่อง sustainability เขาก็มองว่าสีดำใช้ได้บ่อย ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ซึ่งเราก็ลอง explore ตัวเองด้วยการแต่งตัวตามพวกเขาบ้าง

เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มรู้สึกสนุกกับการใส่ชุดสีชมพูจนกลายเป็นภาพจำ

จุดเริ่มต้นที่ลุกมาแต่งตัวชุดสีชมพูนั้นธรรมดามากๆ มีวันหนึ่งที่เราใส่เสื้อสีชมพูไปงานแต่งเพื่อนแล้วมันเหมือนมีพลังงานบางอย่าง หลังจากนั้นเราก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับสีนี้ 

เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว บังเอิญได้ไปดูงานนิทรรศการของ Li Edelkoort นักออกแบบและนักกำหนดเทรนด์ (trendsetter) ของโลกชาวดัตช์ เขาพูดถึงสีชมพูประมาณว่า วันหนึ่งสีชมพูจะเปลี่ยนแปลงโลก เพราะกลายเป็น new black หรือสีกลางๆ ที่ไม่ได้ใช้ยากอย่างในอดีต ซึ่งในเวลานั้นเขาก็ไม่ได้ให้เหตุผลอะไรมากมาย แต่ก็ทำให้เรารู้สึกสนใจและอยากเข้าใจการใช้สีชมพูมากขึ้น เมื่อลงไปศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์สีก็พบว่าจริงๆ สีชมพูเป็นสีของเด็กผู้ชาย

สีชมพูเป็นสีของเด็กผู้ชาย?

ใช่ ในอดีต สีแดงเป็นสีของนักรบ มาจากสีของเลือด ขณะที่สีชมพูเองก็เป็นสีแดงในเวอร์ชั่นที่อ่อนลง ก็เลยเป็นตัวแทนสีของเด็กผู้ชาย และถ้าเรากลับมาดูจริงๆ เทียบความอ่อนหวาน สีฟ้าจะอ่อนกว่าและให้ความรู้สึกซอฟต์กว่า หรือถ้าเราไปดูชุดพระแม่มารีย์ เราจะเห็นว่าเขาใส่ชุดสีฟ้าตลอด พระนางมารี อ็องตัวเน็ต (Marie Antoinette) ก็ใช้สีฟ้า ดังนั้นผู้หญิงไม่ได้ใช้สีชมพูตั้งแต่ต้น 

ต่อมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีบันทึกว่าทหารรัสเซียเวลาจะจำแนกประเภทนักโทษเขาจะติดป้ายที่ตัวนักโทษ โดยเขาเลือกติดตราสามเหลี่ยมสีชมพูลงบนนักโทษ homosexual มันก็เลยเกิดภาพจำใหม่เกี่ยวกับสีชมพูและค่อยๆ กลายเป็นสีของเด็กผู้หญิงไป ซึ่งมันก็ไม่ได้นานมาก นับจนถึงวันนี้ก็แค่ 50-60 ปีเท่านั้น

เราก็เลยรู้สึกว่า การให้ค่าว่าสีไหนเป็นของใครมันเป็นเรื่องที่เกิดจากคนด้วยกันเองทั้งนั้น พอยิ่งศึกษาก็สนุกขึ้น นอกจากนี้เราจะพบว่า จริงๆ ผู้หญิงเองก็มีปัญหากับสีชมพู ทั้งๆ ที่เป็นสีของผู้หญิง เช่น คนที่ทำงานในสายงานกฎหมายหรือผู้บริหารก็จะพยายามไม่ใช้สีชมพู เพราะมันทำให้เขาดูอ่อนหวานไป ดูไม่มีพลังต่อสู้กับผู้ชายที่ใส่ชุดสีเข้ม ยิ่งสีชมพูถูกใช้ในบาร์บี้หรือคิตตี้ ก็ยิ่งตอกย้ำภาพจำว่าสีชมพูเป็นสีของผู้หญิง และจากความเชื่อที่ส่งต่อผ่านทางสายตาก็กลายเป็นค่านิยมที่ฝังหัว brainwash เราโดยไม่รู้ตัว

ในฐานะนักศึกษาประวัติศาสตร์สีชมพู ถ้าต้องเขียนคำนิยามให้สีชมพูในยุคนี้ คุณจะบอกทุกคนว่าอะไร

สำหรับเราสีชมพูเป็นตัวแทนความคิดสร้างสรรค์ในยุคใหม่ เป็น symbolic ของการทลายกรอบเดิม การที่เรามองข้ามค่านิยม สายตาเดิมๆ และพาตัวเองออกมาเล่นในพื้นที่ใหม่ๆ ทุกครั้งที่เราใส่สีชมพูเราไม่รู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงหรือเราซอฟต์อะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่เราเล่นสนุกกับมันได้

ปกติผู้ชายมีเสื้อผ้าที่ถูกใจยากอยู่แล้ว พอเข้าวงการสีชมพู คุณมีปัญหากับการช้อปปิ้งบ้างไหม 

ไม่ค่อยนะ เพราะจริงๆ แฟชั่นเองก็มีการปรับตัวตลอด อย่างในช่วง 2010 พวก menswear จะเน้นเรื่อง cross-dressing เช่น Riccardo Tisci ตอนที่เขาทำให้ Givenchy เขาเอากระโปรงมาให้ผู้ชายใส่ ซึ่งช่วงแรกเขายังเล่นกับไอเทมผู้หญิงอย่างชุดเดรส กระโปรง 4-5 ปีต่อมาถึงจะเริ่มมาจับสีมาใช้ในงาน อย่างสีชมพูก็จะมาปรากฏบนเสื้อผ้าผู้ชายเยอะขึ้น มันก็กลายเป็นพอคนใส่เขาก็รู้สึกสนุกกับการแต่งตัวมากขึ้น เสื้อผ้าก็จะเริ่มเยอะตาม ก็ทำให้เราหาซื้อไอเทมสีชมพูได้เยอะขึ้น เพื่อนๆ พอเห็นอะไรสีชมพูก็จะส่งข้อความมาป้ายยา ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าแต่ลามไปถึงเฟอร์นิเจอร์ก็กลายเป็นแบรนดิ้งเราไป

กับเรื่องการแต่งตัวยังมีเรื่องไหนที่รู้สึกอยากทดลองอยากก้าวข้ามอีกไหม

สิ่งที่ท้าทายในวันนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องชุดเดรส เรายังต้องสู้กับสายตาของคน อย่างบางวันที่อยากใส่เราก็ใส่ แต่มันมีปัญหาแน่นอน เช่น ไม่ได้ชอบเข้าห้องน้ำผู้หญิงแต่จะใส่เดรสเข้าห้องน้ำผู้ชายก็ตลกดี

ความชอบในการแต่งตัวและความรักที่มีให้สีชมพูทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้นยังไง สมมติถ้าวันนั้นไม่ค้นพบและกลายเป็นคนที่หลงใหลในสีชมพู ชีวิตคุณจะแตกต่างไปจากนี้แค่ไหน 

น่าจะต่างนะ และอาจจะเป็นด้วยวัย เหมือนพอเราโตขึ้นแล้วเลือกอะไรบางอย่าง พอเราเริ่ม settle เราก็เลือกที่จะไม่ได้รับหมด คือเราก็รับหมดแหละ เราทำงานตรงนี้ก็ต้องศึกษาให้หมด แต่เรากรองว่าอะไรที่มันเหมาะและไม่เหมาะ อย่างแต่ก่อนนี้ฉันต้องแฟชั่น ฉันต้องมีไอเทมประจำซีซั่น แต่ว่าตอนนี้ก็คือเราดูแล้วเอามาทวิสต์ เอามาปรับให้มันเข้ากับสิ่งที่เป็นตัวเรามากขึ้น 

เรารู้สึกว่ามันก็มีผลกับการใช้ชีวิต อันดับแรกคือเราเป็นดีไซเนอร์ก็ต้องมีลุคเหมือนกัน การที่เสื้อผ้าทำให้เรามีความมั่นใจได้ ก็ช่วย empower ได้ แต่ก็ยังมีกาลเทศะ วันนี้ต้องไปงานแถลงข่าวเปิดตัว เราเจอใคร ต้องแต่งตัวประมาณไหน วันนี้เจอลูกค้า ลูกค้าแบบไหน ถ้าเราอยากได้งานมันเป็น first impression สิ่งที่เขาเห็นเราอะไรอย่างนี้ เขาจะเชื่อเราได้ยังไง

ในหน้าแนะนำตัวเองบนเว็บไซต์บริษัทเขียนว่า huippu แปลว่าสีชมพู อะไรคือที่มาหรือความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำนี้

ตอนแรกเราต้องการแค่คำที่แปลว่า pink แต่ภาษาฟินแลนด์มันไม่มีคำว่าสีชมพู มีคำแบบยาวๆ ที่แปลว่าแดงอ่อน หรืออีกคำนึงคือ pinkki ซึ่งมันก็ไม่เก๋ ค้นหา และเลือกอยู่ 10 คำ จนไปเจอคำว่า huippu อ่านว่า ฮุอิปปุ ชอบคำนี้เลย พอไปสืบค้นคำแปล ก็เจอว่า peak, awesome, cool ความหมายมันดีเนอะก็เลยเลือกคำนี้

ความชอบสีชมพูของคุณส่งผลกระทบต่องานอินทีเรียร์ที่ทำแค่ไหน

สีชมพูกลายเป็นภาพจำของเราก็จริง แต่กับงานอินทีเรียร์ที่ทำ เราก็ไม่ได้อยากใส่สีชมพูลงไปในบ้านหรือพื้นที่ของใคร แต่หลังๆ ลูกค้าเริ่มรีเควสต์ขอสีชมพูจากเรา บางทีเราก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะเขามาที่ออฟฟิศ คือเราตกแต่งออฟฟิศด้วยสีชมพูก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกหวานแต่อย่างใด เราอยากทวิสต์มุมมอง ไม่อยากให้รู้สึกว่าสีนี้คือความหวาน หรือความอะไรเลย เราอยากให้เขารู้สึกว่าสีนี้มันธรรมดา เป็นสี natural บวกกับการ decoration ต่างๆ เราก็ไม่ได้ดันไปในทางนั้นเลย ทำให้ลูกค้ากล้าที่จะใช้สีนี้มากขึ้น แล้วก็สนุกกับมันด้วย

กับงานอินทีเรียร์ คุณมีวิธีหรือสไตล์การทำงานยังไง

เราพบว่าอินทีเรียร์เป็นกึ่งๆ งานเซอร์วิส ไม่ใช่งานขาย มันไม่ได้แค่การดีไซน์อย่างเดียว แต่มันอาศัยการคุยกับคนให้เชื่อในสิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราคิด พรีเซนต์ยังไงให้สิ่งที่เราคิดอยู่มันถูกต้องกว่าสิ่งที่เขาคิด และส่วนใหญ่งานที่เราเจอคือบ้าน ซึ่งอินทีเรียร์บางคนจะไม่ชอบทำบ้าน เพราะมันต้องดีลกับอะไรที่เป็นความชอบส่วนบุคคลมากๆ เราไม่มีทางรู้ว่าแต่ละคนมีพื้นฐานอะไร ไปเจอหรือเคยได้เห็นอะไรมา แล้วสิ่งไหนคือสิ่งที่เขาคิดว่ามันสวย มันยากมาก จริงๆ สตูดิโออินทีเรียร์มีเยอะนะ การที่ลูกค้าเลือกเดินมาหาเราก็ถือเป็นการสกรีนระดับหนึ่งแล้วว่าเขาเคยเห็นงานของเราผ่านตามาบ้าง เขาคงจะชอบอะไรบางอย่างจากงานเก่าๆ ของเรา มันก็จะคุยกันง่ายขึ้น 

เวลาเราทำงาน เราคิดถึง experience design ไม่ได้วางห้องรับแขกแล้วก็ตกแต่ง สิ่งแรกที่เราคิดคือ journey เราคิดว่าเราเป็นคนอยู่ในหลังบ้านนี้ เราจะเจออะไรบ้าง 1 2 3 4 เช่น สิ่งแรกที่ทำตอนเข้าบ้านคือถอดรองเท้า คุณต้องมีโถงแบบนี้ เข้ามาต้องเจออะไร เห็นอะไร ความรู้สึกแต่ละโซนที่เดินผ่านไป ตรงนี้อยากให้รู้สึกผ่อนคลาย ตรงนี้อยากให้รู้สึก formal สำหรับคนที่ไม่สนิทให้มาอยู่ตรงนี้ คือเราคิดเป็น journey ไป เขาก็จะรู้สึกว่าพอบ้านเขาเสร็จแล้วเขาต้องจัดการอะไรตรงไหน แต่ว่าบางคนไม่ได้คิดอะไรแบบนี้ คิดแต่ว่าภาพต้องออกมาเป็น 3D แล้วสวย

หรืออย่างบ้านคนไทยส่วนมากจะไม่ชอบให้กั้น เดี๋ยวบ้านดูแคบ ขอแบบโล่งๆ พอโล่งปุ๊บสิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีที่เก็บของ พออยู่ไปของก็เริ่มงอกขึ้นมาเต็มบ้าน กลายเป็นรกกว่าเดิม เราก็จะคุยกับเขาตั้งแต่แรกว่าสิ่งที่ต้องมีมันต้องมีนะ แต่เรามีวิธีการว่าควรจะเก็บไว้ตรงไหนเพื่อไม่เข้ามาทำลายพื้นที่กับความสวยงาม

อะไรคือสิ่งที่คุณมักจะคิดเผื่อหรือทำให้ลูกค้าเสมอ

เวลาเราทำงานเราจะเหลือสเปซไว้ เราไม่ต้องการทำภาพไฟนอลร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่านี่คือบ้านเขาไม่ใช่บ้านเรา เพราะฉะนั้นเราต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นตัวตนของเขา เราจะเหลือสเปซอย่างเช่นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง เราเพียงแค่แนะนำประมาณหนึ่งว่า ประมาณนี้เหมาะกับบ้านนะ ชอบวินเทจมั้ย หรือชอบแสกนดิเนเวีย ชอบของใหม่หมดเลย หรือชอบมิกซ์แอนด์แมตช์ เราต้องเคลียร์กับเขาให้จบก่อนเพราะจะได้รู้ความต้องการ บางบ้านจะชอบเฟอร์นิเจอร์เก่ามาก ผูกพันกับของสมัยย่ายาย หรือต้องการเปลี่ยนใหม่หมดเลย แต่ว่าสิ่งที่คุณชอบเป็นสไตล์ประมาณไหน จะคลาสสิกจะอะไรมีได้หมด เราทำหน้าที่ดูแลว่าจะทำให้พอดีที่ตรงไหน

ตลอดอาชีพการเป็นนักออกแบบ เทรนด์การแต่งบ้านเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

ถ้าพูดถึงโดยรวม แต่ก่อนจะมีความรู้สึกว่ามันมีความ niche มากคนที่สนใจอินทีเรียร์หรือสนใจดีไซน์ เราอยู่มาตั้งแต่ยุค 90s ซึ่งก็ยังไม่มีโซเชียล ดังนั้นหาตัวอย่างงานดูยาก อย่างหนังสือก็จะแพงมาก คนก็ยังไม่ได้มีความชอบหลากหลายหรือมีสไตล์ชัดเจน ก็เหมือนแฟชั่นแหละ มายุคนี้มันก็ดีนะมีอะไรให้ดูเยอะเลย แต่ว่าก็ยังขาดความเข้าใจ เราจะหาของตามร้านในอินสตาแกรมมาแต่งบ้านเองตามชอบยังไงก็ได้นะ แต่ว่าเขาอาจจะไม่รู้ว่ามันเป็นของปลอม หรือใครเป็นคนออกแบบงานชิ้นนั้น กลายเป็นอะไรที่ฉาบฉวยเกินไป มันอาจจะสวยแค่ตอนนี้ แต่เมื่อนานวันมันอาจจะไม่ใช่ตัวเขา เฟอร์นิเจอร์ควรอยู่กับเราได้นานๆ ดูสิราคาแต่ละตัวตั้งเท่าไหร่

การรู้ให้ลึกมันสำคัญยังไง

เรามักจะสอนนักเรียนเสมอว่าเวลาเห็นอะไรที่ชอบ อย่าหยุดแค่ว่าเราชอบ เราควรจะดูต่อว่าแบรนด์อะไร ดีไซเนอร์คือใคร ดีไซเนอร์คนนี้เขาเคยออกแบบอะไร สไตล์เขาเป็นยังไง พอเราเข้าใจงานของนักออกแบบหลายๆ คน เราก็จะเริ่มดูออกว่างานของใครเป็นแบบไหน จากนั้นจะเริ่มปะติดปะต่อความชอบเราได้มากขึ้น ดังนั้นแทนที่เราจะแรนด้อมดูรูปไปเรื่อยๆ ถ้าเราศึกษาโดยการหาคนที่ดีไซน์ แล้วไปดูต่อว่า inspiration เขามาจากไหน เขาเคยผ่านแบรนด์อะไรมา เราก็จะรู้แล้วว่างานสไตล์แบบนี้ใช้กับอะไร ก็จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ดีกว่ามั่วๆ ไป

สมมติมีลูกค้าเข้ามาบอกอยากได้บ้านแบบมูจิ อย่างนี้คุณทำให้ได้ไหม

ทำได้ๆ ทุกวันนี้ก็มีโจทย์แบบนี้อยู่

แล้วอะไรคือลายเซ็นหรือสิ่งที่คุณมักจะใส่ลงไปในงาน

พวก element โค้งๆ เราทำมาก่อนที่จะฮิตกันนะ ซึ่งครั้งแรกสุดมาจากลูกค้าอยู่ภูเก็ตอยากได้บ้านแนวชิโนโปรตุกีส พอทำไปทำมาก็เกิดเป็นซิกเนเจอร์ จะมีความเป็นสแกนดิเนเวียอยู่ เพราะว่าเราได้รับอิทธิพลมาเยอะเหมือนกัน เป็นความ luxury แต่ว่า low key เราไม่ชอบความตะโกน เราชอบที่เรารู้ เขารู้ มันมีดีเทลอะไรบางอย่างที่มีความพิถีพิถัน ทุกอย่างเป็น custom design เราไม่เอาฟอร์แมตจากบ้านนี้มาใส่บ้านนี้ คือเราเริ่มใหม่ทุกครั้ง แต่ว่า element บางอย่างที่ต้องมีก็ยังต้องมี แต่เราจะทำด้วยดีไซน์พิเศษสำหรับบ้านหลังนี้ บาลานซ์ตามงบประมาณที่มี

Blackpink in your area!

Pumate Techabanjerd
Position: Founder & Design Director
Office: Huippu design

“เวลาเห็นสีชมพูในร้านเสื้อผ้า เราจะพุ่งไปหามันก่อน สมมติว่ามีสีอยู่ 5 สี เราก็สีชมพูหรือดำไปเลย แต่สีที่เป็นสีหลักก็คือสีชมพู” นี่คือคำสารภาพของหนุ่มนักช้อปฯ

ไม่บอกก็พอจะนึกออกว่าตู้เสื้อผ้าของเขามีสีชมพูกี่สิบเฉดสี เราจึงขอให้เขาเล่าวิธีมิกซ์แอนด์แมตช์ชุดสีชมพูแบบ 3 Level 

LEVEL 1

“อันดับแรก ถ้าอยากสนุกก็ต้องเปิดใจก่อน แต่สีชมพูที่เราพูดถึงคือสีเฉดนี้ เฉดอ่อนไม่ใช่เฉด shocking pink ซึ่งมันก็ง่าย มันมีความสุภาพ เป็นสีสุภาพ ดูสบายตา ใส่กับอะไรก็ได้ ถ้ากลัวหวานไปก็อาจจะต้องเลือกอะไรที่ซิมเปิลหน่อย ไม่ต้องมีระบาย ใส่ซิลูเอตที่สบายๆ หรือใส่กับยีนส์อะไรก็ได้ ไม่ต้องให้มันดูเป็นชุดฟิตรัดแล้วกระโปรงบาน”

LEVEL 2

“ถ้าอยากสนุกขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะบวกกับไอเทมที่เป็นแฟชั่นมากขึ้น เราอาจจะใส่เป็นเสื้อคร็อปบ้าง เอวสูง เสื้อกล้ามบ้าง ลองเอามาใช้ดูได้ ใส่กับอะไรที่อยู่ในกระแส จริงๆ ไอเทมสีชมพูมีเกือบทุกแบรนด์ และมันกลายเป็นสีขายดีถ้าสังเกตได้”

LEVEL 3

“เลเวลที่สามก็คือใส่ทุกไอเทมไปเลย head to toe และเพื่อให้ดูไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ต้องดูกาลเทศะว่าไปไหน ไปเที่ยวไปปาร์ตี้ก็จัดเต็มได้ สิ่งที่ต้องระวังคือ เวลาคิดภาพการแต่งตัวเราก็ต้องเรเฟอเรนซ์ไปหาคนที่ดูเท่ ไม่ใช่เรเฟอเรนซ์ไปทางปาร์ตี้ และพยายามเรเฟอเรนซ์ไปทางคอนทราสต์ ดูคูล บวกกับแอตทิจูดตอนใส่ ต้องไม่ดูลั้ลลากระโปรงบาน”

“จริงๆ ตอนนี้เขาก็รณรงค์ว่าใส่อะไรก็ได้ ห้าม body shaming คนอวบอาจจะใส่เสื้อพอดีตัวมากๆ ก็ได้ถ้าเรามั่นใจ 

“กลับมาที่เรื่องสีชมพูคนที่มีปัญหาส่วนใหญ่คือคนที่ให้ค่าว่ามันดูเฟมินีนมาก ถ้าเรามองว่ามันไม่ใช่ มันเป็นอย่างอื่นได้ เราก็จะหาวิธีแต่งตัวออกมาได้เอง เช่น เราก็ใส่ชุดเดรสบ้าง แต่ว่าจะเป็นเดรสที่ไม่มีเคิร์ฟใดๆ เพราะเราไม่ได้ต้องการแต่งหญิง เรามองว่าอันนี้คือไอเทมหนึ่งที่ผู้ชายก็ใส่ได้ บอดี้ผู้ชายใส่ได้ เราคิดอย่างนั้น ช่วงนี้เราสนใจเสื้อที่มีแพตเทิร์นยากๆ อย่างแบรนด์ Enföld ของญี่ปุ่น มันจะมีความเป็น feminist designer ความเป็น COMME des GARÇONS ที่มีซิลูเอตที่ใหญ่หน่อย เราชอบความยูนิเซกซ์ของมัน หรือแบรนด์ LEMAIRE ก็ชอบมาก ตอนนี้รอคอลเลกชั่นของ Phoebe Philo เขาบอกว่าเขา launch ปีนี้”

“Phoebe Philo ก็เป็นดีไซเนอร์ที่ให้อินสไปร์มาก ทั้งจากงานเขาและตัวเขา ตอนที่เขาทำแบรนด์ CELINE ต่อเนื่องมาถึงการปรับวิธีออกแบบช็อปใหม่ให้คล้ายเป็นอาร์ตแกลเลอรีซึ่งเขาเป็นคนแรกที่ทำ แต่ก่อนช็อปแฟชั่นทุกแบรนด์จะดูเป็นโชว์รูม แต่ของ CELINE ทำเป็นที่นั่งเล่น มีโซฟา ชั้นเรียบๆ วางกระเป๋าห่างๆ แล้วก็หินเอามาตั้งเป็นเคาน์เตอร์ เรารู้สึกว่ามันมีความเท่มาก มีอาร์ตไดเรกชั่นที่เราเห็นแล้วมีสไตล์ชัดเจนมาก บางที element ในการดีไซน์บางอย่างเราก็ดูจากตรงนี้ และเขาก็เป็นไบเบิลเล่มหนึ่งเลย”

“นอกจากซิลูเอตของชุด เราดูเสื้อผ้าจากแมตทีเรียลค่อนข้างเยอะ เราไม่ได้ซื้อเยอะเหมือนสมัยก่อน เรายอมซื้อแพงขึ้นเพื่อให้ได้ผ้าที่ดี ฝีมือดี คัตติ้งดูดี” เจเล่าเคล็ดลับการซื้อหาชุดสนุกๆ สไตล์นักออกแบบ

“สีชมพูเฉดไหนที่แทนความรู้สึกตอนนี้ได้ดีที่สุด” เราถาม

“C = 0, M = 24, Y = 0, K = 0” เจ ตอบเป็นค่า CMYK สีประจำตัวของสตูดิโอ Huippu ซึ่งเป็นสีชมพูตรงกลาง ไม่ดูพาสเทลเกินไป แค่ออกไปทางตุ่นๆ ให้ความรู้สึกร่วมสมัยและก็ดูคลาสสิก

PokPok สตาร์ทอัพฟู้ดเดลิเวอรีที่ได้ไอเดียจากรถพุ่มพวง ส่งอาหารดังที่อยู่ไกลข้ามโซนถึงบ้าน

สำหรับคนไทยแล้ว เรื่องกินเรื่องใหญ่ แต่ถ้าเราอาศัยอยู่แถวบางนาแล้วเกิดอยากกินกวยจั๊บเจ้าดังที่เยาวราช ก็แทบไม่ต้องคิดเลยว่าจะมีบริการแอพฯ เดลิเวอรีเจ้าไหนมาส่ง เพราะเกินระยะทางที่แอพฯ กำหนด หรือถ้าสู้ค่าส่งก็แพงหูฉี่อยู่ดี 

แต่นั่นไม่ใช่กับ PokPok สตาร์ทอัพเดลิเวอรีที่ตั้งใจส่งของอร่อยจากร้านดังในเมือง ถึงมือผู้คนในย่านชานเมือง แถมยังไม่มีค่าส่งด้วย

“คอนเซปต์ของเราคือ ร้านดังข้ามโซน เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนทุกเพศทุกวัยได้ง่ายที่สุด เราพยายามหาร้านอาหารอร่อยที่คุ้มค่าคุ้มราคา แม้จะอยู่ไกลแค่ไหนเราก็ส่ง เราทำสิ่งที่แพลตฟอร์มอื่นทำไม่ได้ ทำให้ลูกค้าอยู่กับเรามาตลอด” นาย–นัฐพงษ์ จารวิจิต CEO และ Co-founder บอกเราในวันที่นัดพบกันพร้อมกับ เจ–หฤษฎ์ หัตถวงษ์ COO และ Co-founder แห่ง PokPok

หากธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในความคิดของคุณ หมายถึงการส่งอาหารถึงบ้าน สำหรับ PokPok ไม่ใช่แบบนั้น เพราะพวกเขาคัดสรรเมนูอาหารจากร้านเด็ดในโซนใจกลางเมือง ตั้งแต่ระดับมิชลินไปจนถึงสตรีทฟู้ด ในรูปแบบของ sharing economy เพื่อส่งถึงโต๊ะอาหารของผู้คนย่านชานเมือง โดยในแต่ละวันจะเปลี่ยนผันร้านและเมนูไปไม่ซ้ำกัน ในอีกทางผู้ใช้บริการก็ไม่ต้องเสียเวลาเลือกร้านหรือคิดว่าจะกินอะไรดี

PokPok นับเป็นแพลตฟอร์มที่มาช่วยแก้ pain point ของร้านอาหารและผู้บริโภคได้ทันท่วงที ทำให้วันนี้มีผู้คนแวะเวียนกันสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มกว่า 20,000 คน ใน 40 เส้นทาง เชื่อมโยงร้านดังกว่า 400 ร้านทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล

กว่า 2 ปีที่ PokPok เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งการตลาดนี้ท่ามกลางสงครามของฟู้ดเดลิเวอรีเจ้าดัง ไม่ได้ทำให้พวกเขาหวาดกลัวแต่อย่างใด เพราะบริการรับ-ส่งอาหารของพวกเขา ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของผู้คนย่านชานเมืองไปแล้ว 

นี่คือสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่เราอยากแนะนำให้รู้จัก 

จากโปรแกรมเมอร์ในเยอรมนี สู่ผู้ริเริ่มบริการรับ-ส่งอาหาร

“ผมทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ในเยอรมนีกว่า 10 ปี เขียนแอพฯ มานับไม่ถ้วน” นัฐพงษ์ย้อนเล่าเรื่องราวในวันวานเมื่อเราชวนคุยถึงจุดเริ่มต้น “จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกอิ่มตัวกับการทำงาน เลยตัดสินใจย้ายกลับไทยเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะกลับมาทำอะไร เลยเริ่มจากการใช้ทักษะที่มีทำแอพฯ liluna ลิลูน่า – Ride Sharing ทางเดียวกัน ไปด้วยกัน ซึ่งก็ทำอยู่ประมาณ 4 ปี ประจวบกับที่โควิดมาพอดี เลยรู้ว่าธุรกิจอาจไปต่อได้ยาก เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทาง ที่ช่วงนั้นเจอการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทาง ผมจึงนำโมเดลนั้นมาพัฒนาต่อเป็น PokPok ในปัจจุบัน”

ในช่วงเวลาที่ PokPok ยังเป็นเพียงไอเดียทางธุรกิจ นัฐพงษ์และหฤษฎ์ได้เจอกันที่เวทีแข่งขันแผนธุรกิจ เมื่อมีการพูดคุยถึงโมเดลธุรกิจ และความเป็นไปได้ ทั้งคู่จึงตัดสินใจเริ่มต้น PokPok ด้วยกัน

จากวิกฤตโควิดที่บีบให้ร้านอาหารต้องเข้าสู่ระบบแอพฯ เดลิเวอรี สิ่งที่เห็นได้ชัดและส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก คงหนีไม่พ้นเรื่องค่าอาหารที่แพงกว่าหน้าร้าน เพราะร้านอาหารต้องโดนหักค่า GP (gross profit ส่วนแบ่งหรือคอมมิชชั่นที่ร้านต้องจ่ายให้แพลตฟอร์ม) มากถึง 30-35% ซึ่งถ้ารวมกับค่าส่งก็ยิ่งเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค

“ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับร้านอาหารทั่วประเทศ เราใช้เวลาศึกษาและตกผลึกความคิดกว่า 6 เดือน เพื่อให้ไอเดียเป็นรูปเป็นร่างและจับต้องได้จริง” นัฐพงษ์เล่า

หลายคนอาจไม่เชื่อว่า จุดเริ่มต้นของไอเดียนี้มาจากรถพุ่มพวง รถกับข้าวที่เข้าถึงทุกซอกซอยโดยไม่มีค่าส่ง แต่จะบวกเพิ่มจากค่าอาหารหรือวัตถุดิบนั้นๆ ในบริบทของคนรุ่นใหม่ที่ไม่มีเวลาทำอาหาร รถพุ่มพวงอาจยังไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะมักขายของสดที่ต้องนำมาปรุงต่อ แต่สิ่งที่ตอบโจทย์กว่าน่าจะเป็นอาหารพร้อมทาน และที่สำคัญคือต้องเป็นอาหารอร่อย

พร้อมส่งทุกที่ เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากทานของอร่อย

อย่างที่ว่าไว้ PokPok ถือกำเนิดขึ้นในช่วงโควิด พร้อมภารกิจที่ยิ่งใหญ่คือ การส่งต่อความอร่อยจากร้านดังในเมืองถึงบ้านคุณ ด้วยกลไกง่ายๆ เริ่มจากการเป็นตัวกลางประสานระหว่างร้านอาหาร พาร์ตเนอร์ และลูกค้าที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ผ่าน LINE@

“ความตั้งใจของเราคืออยากส่งมอบอาหารอร่อยๆ จากร้านดังในเมือง ถึงผู้คนที่อยู่ห่างไกล ตัวผมอยู่คอนโดย่านบางนา เกิดอยากกินกวยจั๊บเยาวราช ถ้าสั่งผ่านแอพฯ ก็คงเสียค่าส่งแพงสุดๆ หรือถ้าจะขับรถมาเองก็ต้องเสียค่าน้ำมัน เสียเวลาในการเดินทาง 2-3 ชั่วโมง ผมเลยคิดว่าจะทำยังไงให้เสียค่าส่งน้อยที่สุด

“ทุกคอนโดหรือหมู่บ้านมักจะมีไลน์กลุ่มอยู่แล้ว และในช่วงโควิด เราเห็นคนโพสต์ขายอาหารบ่อยๆ ถ้าผมโพสต์ว่าพรุ่งนี้จะไปเยาวราช มีใครอยากฝากซื้ออะไรไหม แล้วเรามาแชร์ค่าส่งด้วยกัน แค่นี้ก็ประหยัดค่าส่งได้ หรือคิดค่าหิ้วออร์เดอร์ละ 20 บาท ถ้าในคอนโดมีคนสั่ง 50 ออร์เดอร์ก็คุ้มแล้ว” นัฐพงษ์เล่า

วิธีการขายของ PokPok เป็นการเข้าหาลูกค้าเชิงรุก ทุกวันทีมงานจะส่งเมนูประจำวันให้ลูกค้าทางไลน์กลุ่มตามเส้นทางต่างๆ หากลูกค้าอยากกินเมนูไหนก็สามารถสั่งผ่านไลน์ของพาร์ตเนอร์ หรือที่แอพฯ อื่นๆ เรียกว่าไรเดอร์ได้เลย

พาร์ตเนอร์ที่เข้ามาทำงานกับ PokPok มีทั้งคนที่เคยเป็นไรเดอร์ผ่านแอพฯ เดลิเวอรีมาก่อน หรือคนที่ต้องการหาอาชีพเสริม ซึ่งเมื่อเข้ามาทำงานแล้วทีมงานจะสอนการใช้แพลตฟอร์มและวิธีการเข้าถึงลูกค้า รวมถึงช่วยเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า เมนูยอดนิยม และนำมาวิเคราะห์เพื่อส่งให้ลูกค้าเลือกในวันต่อๆ ไป ซึ่งวิธีนี้เหมือนการรับหิ้ว ฝากซื้อ เป็นวิธีบ้านๆ ที่เข้าใจง่าย และตอบโจทย์ลูกค้าได้จริง

ทดลองเพื่อหาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ธุรกิจและบริการ

ช่วงแรกพวกเขาเป็นคนรับ-ส่งอาหารด้วยตัวเอง ตั้งแต่การดีลกับร้านอาหาร การนัดจุดรับส่ง วางแผนการเดินทาง สำรวจเส้นทาง ที่ตั้งร้านอาหาร รวมถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ 

หนึ่งในสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้คือการรักษาคุณภาพอาหาร ด้วยความที่อยากให้อาหารอร่อยเหมือนกินที่ร้าน 

“ช่วงแรกเรายังไม่มีความรู้ พอมีรถฟู้ดทรัคก็ต้องใช้ตู้อุ่นอาหาร ซึ่งตามมาด้วยการติดตั้งตู้ปั่นไฟบนรถ เมื่อนำมาใช้จริงก็ไม่เวิร์กเหมือนที่คิด เพราะทำให้ในรถอากาศร้อนมาก แถมยังมีเสียงดัง จริงๆ แล้วแค่กล่องเก็บอุณหภูมิก็พอ ทำให้เราเสียเงินเสียเวลาไปพอสมควร”

เลือกใช้ไลน์เพื่อเข้าถึงผู้สูงอายุ

ถ้าคุณอยากลองสั่งอาหารผ่าน PokPok ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แค่แอดไลน์ @rodpokpok ก็สามารถสั่งอาหารได้ทันที ดูว่ามีเส้นทางไหนน่าสนใจและเลือกจุดที่ต้องการให้ไปส่ง โดยบวกเพิ่ม 20 บาทจากค่าอาหาร

รูปแบบการให้บริการของ PokPok นั้นสะดวกและเรียบง่ายคล้ายกับการรับหิ้ว แต่หลายคนก็คงสงสัยว่า ในเมื่อทีมงานเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาแอพพลิเคชั่น ทำไมไม่นำแอพฯ มาใช้เหมือนกับผู้ให้บริการอื่นๆ

“ผมได้ยินคำถามนี้บ่อยๆ แต่จากการทดลองทำด้วยตัวเอง พบว่าแอพฯ ยังไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น เพราะเราให้บริการในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลัก ดังนั้นเราจึงเลือกใช้วิธีการสั่งซื้อผ่านไลน์อย่างเดียว และลูกค้าของเราก็มีกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ถนัดใช้แอพฯ การคุยผ่านไลน์จึงสะดวกต่อพวกเขามากกว่าด้วย” นัฐพงษ์เล่า

“แล้วทายสิครับว่ากลุ่มลูกค้าหลักของ PokPok อายุเท่าไหร่” คราวนี้นัฐพงษ์ถามเรากลับก่อนเฉลย

ไม่ใช่ 20+ หรือ 30+ แต่เป็นกลุ่มที่มีอายุ 45-70 ปี

“ทุกคนที่โทรมาหาผมจะแทนตัวเองว่าป้า และเรียกผมว่าลูกเกือบทุกคน ทำให้ผมได้รู้ว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องใช้ไลน์ เพราะลูกค้ากลุ่มนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ไลน์ตัวจริง เราต้องค่อยๆ อธิบาย สื่อสารด้วยความเข้าใจ ให้เวลาในการคิดและเรียบเรียงคำพูดมากกว่าวัยอื่นๆ บางคนเป็นคนเหงา โทรมาหาเราคุยกันเป็นชั่วโมง เล่าเรื่องราวชีวิต หรือแนะนำร้านอาหารต่างๆ”

เท่าที่เราฟังทั้งคู่เล่า ทำให้เรามองเห็นอีกความพิเศษของเดลิเวอรีที่ชื่อ PokPok

จะมีผู้ให้บริการฟู้ดเดลิเวอรีสักกี่รายที่เข้าใจด้วยการเข้าถึงลูกค้าขนาดนี้

ปัจจุบันรายได้หลักของ PokPok มาจาก 2 ส่วนคือ ค่าบริการ 20 บาท และการซื้ออาหารในราคาทุน เนื่องจากเราซื้อในจำนวนมาก จึงทำให้ได้ราคาถูกกว่าหน้าร้าน ซึ่งก็เป็นความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายระหว่างร้านอาหารกับเราที่เกื้อกูลกัน และไม่ต้องการให้ภาระไปตกที่ลูกค้า

“ส่วนเรื่องการบริการ ผมเน้นย้ำกับพาร์ตเนอร์เรื่องการแต่งตัวต้องใส่ผ้ากันเปื้อนที่มีโลโก้ PokPok เพื่อแสดงตัวว่ามาจากที่ไหน และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนอื่นๆ รู้จักเรามากขึ้น ที่สำคัญต้องมีใจรักในงานบริการ เพราะเขาเป็นเหมือนตัวแทนบริษัทที่ต้องพูดคุยกับลูกค้าไม่ใช่แค่รับ-ส่งอาหารอย่างเดียว ตอนนี้เรามีพาร์ตเนอร์ประมาณ 40 คน แต่ละคนมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน เราจึงต้องมีการฝึกอบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการบริการอยู่เสมอ

ด้วยความที่ PokPok เป็นทีมเล็กๆ ที่ช่วยกันทำทุกอย่าง เบอร์โทรที่ติดอยู่บนรถพาร์ตเนอร์ก็คือเบอร์พวกผมเอง หากมีข้อผิดพลาดหรือเรื่องร้องเรียนลูกค้าจะโทรหาเราทันที ทำให้เราเห็นทุกอย่างว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง และเข้าไปแก้ไขทันที หฤษฎ์กล่าว

ไม่เคยมองว่าต้องแข่งกับใคร เพราะไม่เหมือนใคร

แม้ PokPok จะเป็นธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีที่เปิดได้ไม่นาน แต่พวกเขาก็มองเห็นการเติบโตในระยะยาวของธุรกิจนี้

“เราไม่เคยมองว่าต้องแข่งกับใคร เพราะเราไม่เหมือนใคร ถ้าต้องแข่งขันด้วยโปรโมชั่นหรือส่วนลดก็ไม่ใช่ทางของเรา เพราะค่าส่งเราถูกอยู่แล้ว หากต้องเลือกคู่แข่ง เรามองว่าคู่แข่งของเราคือแม่ค้ารับหิ้ว ที่มีรูปแบบธุรกิจเหมือนกัน เวลาเราโพสต์เมนูประจำวันเขาก็จะโพสต์ตาม หรือโพสต์ล่วงหน้าคิดแทนว่าพรุ่งนี้เราจะขายอะไร ทว่าความได้เปรียบของเราอยู่ที่ระยะทาง สามารถส่งระยะไกลได้ อาหารมีความหลากหลาย และเวลาจัดส่งแน่นอน ขณะเดียวกันเราก็พยายามเปลี่ยนคู่แข่งให้เป็นพาร์ตเนอร์แทน ด้วยการชวนให้เขามาทำงานกับเรา” นัฐพงษ์เล่าวิธีคิด

ว่ากันว่าการทำงานกับ ‘คน’ เป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก แล้วพวกเขามีวิธีจัดการยังไง-เราสงสัย

“ใช่ จัดการยากจริงๆ” นัฐพงษ์ตอบทันที “เราต้องดูว่าส่วนไหนที่เราใช้คนบ้าง และพยายามลดทอนในขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เช่น มีทีมงานหรือนำระบบ POS (point of sale) เข้ามาช่วยในการออร์เดอร์ หรือพาร์ตเนอร์บางคนไม่ถนัดเรื่องการสื่อสาร เราต้องมีผู้ช่วยเข้าไปคุยกับลูกค้าแทน เพื่อตอกย้ำจุดแข็งของเราในเรื่องการเข้าถึงและความเป็นกันเอง”

ส่วนระบบหลังบ้าน หฤษฎ์เล่าให้ฟังว่า มีทีมแอดมินดูแลข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่การหาร้านอาหาร การทำอาร์ตเวิร์กเมนูแต่ละร้าน การควบคุมคุณภาพอาหาร การบริการลูกค้า รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ถ้าเจอจุดผิดพลาดจะให้การช่วยเหลือทันที ในระหว่างส่งอาหารจะมีการอัพเดตสเตตัสด้วยการถ่ายรูปเมื่อถึงร้าน การคอนเฟิร์มออร์เดอร์ ทุกขั้นตอนเราจะส่งรูปให้ลูกค้าดูเสมอ เพื่อแสดงถึงความใส่ใจ โดยมากพาร์ตเนอร์จะส่งอาหารในเส้นทางเดิม จึงมีความผูกพันกับลูกค้าในเส้นทางของตนเอง 

ความตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญ อย่าล้อเล่นกับคนโมโหหิว

งานฟู้ดเดลิเวอรีเวลาทุกวินาทีมีความหมาย 

“เวลาที่ลูกค้าสั่งอาหารกับเรา พวกเขาต้องส่งล่วงหน้า 1 วัน นั่นหมายความว่าพวกเขาต้องได้รับอาหารตรงเวลา เราจะสั่งอาหารกับร้านไว้ก่อน พอไปถึงก็จะได้รับอาหารพอดี หากมีการส่งช้า ส่งผิด เราต้องให้ทานฟรี หรือมีการชดเชย เพราะการทำผิดกับคนโมโหหิวเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น 

“ถ้ามีข้อผิดพลาดและไม่รีบแก้ไข ลูกค้าก็พร้อมเปลี่ยนไปใช้แอพฯ อื่น และถ้ามีหนึ่งคนไม่พอใจแล้วโพสต์ลงกรุ๊ปไลน์ จะส่งผลเสียต่อธุรกิจอย่างมาก ฉะนั้นเราต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการส่งตรงเวลา” นัฐพงษ์พูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้

ร้านเด็ด ร้านดัง ร้านลับ เก็บเรียบทุกเส้นทาง

ปัจจุบัน PokPok มี 40 เส้นทางครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในแต่ละเส้นทางมีการทำรีเสิร์ชร้านเด็ดในย่านต่างๆ ทั้งเยาวราช ตลาดพลู บรรทัดทอง เป็นข้อมูลที่มาจากการลงพื้นที่ค้นหาร้านเด็ดของทีมงาน การแนะนำจากลูกค้า รวมถึงข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ร้านดังที่ว่ามีทั้ง ก๋วยจั๊บนายเอ็ก, ลอดช่องสิงคโปร์, ขนมเปี๊ยะง่วนฮะเซ้ง, ขาหมูสมใจ สะพานควาย, ตาชัย ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย, กุยช่าย ตลาดพลู, เย็นตาโฟ เสาชิงช้า และเจ๊ปากแดง ก๋วยเตี๋ยวหลอด

กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งสตรีทฟู้ดที่เต็มไปด้วยอาหารอร่อย การเสาะแสวงหาร้านเด็ดจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเปิดเส้นทางใหม่นั้นยากกว่า

PokPok จะพิจารณาจากจำนวนจุดจอด (หมู่บ้าน คอนโด และชุมชน) และระยะทางจากร้านอาหารถึงบ้านลูกค้า ต้องเป็นเส้นทางที่ไม่ไกลจนเกินไป เพื่อรักษาคุณภาพอาหารให้อร่อยเหมือนทานสดใหม่ที่ร้าน เช่น รับอาหารจากร้านตอนบ่าย 2 ส่งถึงบ้านลูกค้าตอน 4 โมงเย็น ก็จะทำให้อาหารอร่อยเหมือนเดิม 

“ในแต่ละเส้นทางต้องมีหมู่บ้านหรือคอนโดมากพอที่จะส่งได้ ขั้นต่ำอยู่ที่ 5 จุดจอด ประมาณ 30 ออร์เดอร์ ถ้าจุดจอดน้อยกว่านั้น จำนวนออร์เดอร์ต้องมากกว่าหรือเทียบเท่า” นัฐพงษ์เล่าถึงขั้นตอนการวางแผนกำหนดเส้นทาง

ทั้งคู่เล่าให้ฟังว่า อาหารที่ขายดีเป็นเมนูที่ราคาไม่เกิน 100 บาท เป็นอาหารจานเดียวง่ายๆ อย่างกวยจั๊บ ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง ทำให้ในการเลือกเส้นทาง ต้องมีร้านอาหารที่หลากหลาย คาวหวาน เครื่องดื่มต้องครบ ถ้ามีเมนูข้าวก็ต้องมีเมนูเส้น หรือถ้ามีของแพงก็ต้องมีของที่ราคาต่ำกว่า 100 บาท เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้า และกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งหลายเมนูในครั้งเดียว ส่วนใหญ่แล้ว 1 ออร์เดอร์จะสั่ง 1-3 เมนู มูลค่าการสั่งซื้อต่อครั้งอยู่ที่ 150-200 บาท และอัตราการซื้อซ้ำ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์

อย่างที่รู้กันว่า PokPok เริ่มต้นช่วงโควิดที่ผู้คนไม่ชอบออกจากบ้าน แต่ว่าตอนนี้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติมากขึ้น จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับตัว

“ช่วงโควิดยอดขายเราดีมากๆ พอโควิดซาลง ในแง่ของพฤติกรรมตอนนี้ผู้คนกล้าออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ยอดขายหายไปเกือบครึ่ง เป็นอยู่อย่างนั้น 6 เดือนถึงเกือบปี หลังจากนั้นยอดขายก็ค่อยๆ กลับมาแต่อาจไม่ดีเท่าเดิม สิ่งที่เราเห็นเป็นเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับการสั่งอาหารออนไลน์ ไม่ชอบรอคิว ไม่อยากเดินทาง เราสามารถปรับปรุงการบริการให้ดีขึ้นได้ด้วยการเพิ่มร้านใหม่ๆ พัฒนาระบบการสั่งอาหารให้ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น มีทีมงานช่วยในการรับออร์เดอร์ รวมถึงมีระบบจัดเก็บข้อมูลการขาย ทำให้เรารู้ว่าลูกค้าชอบทานอาหารประเภทไหน และสามารถส่งมอบบริการที่ตรงใจลูกค้ามากที่สุด 

“คนส่วนใหญ่มักคิดว่าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ต้องมีคนสั่งอาหารเยอะ แต่จริงๆ แล้ววันธรรมดา หรือวันทำงานต่างหากที่มียอดสั่งมากที่สุด โดยเฉพาะในโซนออฟฟิศที่สั่งเพื่อกินเป็นมื้อเย็น หรือสั่งเผื่อวันหยุด เพราะเมื่อถึงวันหยุด คนส่วนใหญ่ก็อยากออกไปกินข้าวนอกบ้าน ใช้เวลากับครอบครัว”

เป็นธรรมดาของการทำธุรกิจที่ย่อมมีคู่แข่ง แอพฯ ฟู้ดเดลิเวอรีหลายเจ้าแข่งขันกันเรื่องราคาและโปรโมชั่น ซึ่งท้าทายการทำงานของพวกเขาอย่างมาก

“สิ่งที่เรายึดมั่นในการทำธุรกิจคือ การรักษาจุดยืนเรื่องราคาและคุณภาพ ตอนนี้เราเริ่มต้นที่ราคา 20 บาท ถ้าคู่แข่งเข้ามาทำในราคาที่ต่ำกว่าก็คงทำได้ยาก แม้วันนี้จะไม่มีคู่แข่ง เราก็ต้องพัฒนาตลอดเวลา เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

“อีกอย่างเราก็ยังไม่ได้ดีขนาดนั้น ยังมีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องคุณภาพอาหาร การจัดส่งให้ตรงเวลา การหาลูกค้าใหม่ รักษาลูกค้าเดิม รวมถึงสร้างความพึงพอใจให้ทุกฝ่าย ทั้งพาร์ตเนอร์ ลูกค้า และร้านอาหาร” หฤษฎ์พูดถึงความเชื่อในการทำธุรกิจ

“ตอนนี้ผมให้คะแนนตัวเองอยู่ในเกณฑ์พอไปได้ ยังมีอะไรต้องพัฒนาอีกเยอะ” นัฐพงษ์สมทบ

ความสัมพันธ์แบบพึ่งพา เพื่อโตไปด้วยกัน

การพาธุรกิจให้ไปต่อเพื่อให้อยู่รอดในยุคนี้เป็นเรื่องยาก สิ่งสำคัญที่พวกเขายึดถือมาตลอดจึงเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพราะพาร์ตเนอร์เองก็เป็นฟันเฟืองที่ขาดไม่ได้ของ PokPok ซึ่งแอพฯ อื่นจะเรียกว่าไรเดอร์ ซึ่งอาจจะให้ความรู้สึกเหินห่างกว่าคำว่าพาร์ตเนอร์ ที่เปรียบเหมือนคู่คิดและเพื่อนในการทำงาน

“ทุกคนสามารถเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับเราได้ ขอแค่มีใจรักงานบริการ มีรถยนต์ และพร้อมทำงาน เราพร้อมสนับสนุนในทุกด้าน มีพาร์ตเนอร์เราหลายคนที่เข้ามาทำแล้วมีรายได้มากกว่าการทำงานประจำ มีคนที่ทำได้ 5,000 บาทต่อวัน แรกๆ ก็ทำคนเดียวแต่เมื่อมีรายได้มั่นคง ก็เริ่มชวนเพื่อนหรือคนในครอบครัวมาทำด้วย หรือบางคนถึงกับเปลี่ยนใหม่เลยก็มี

“ในฝั่งของร้านอาหาร หลายร้านที่เราไปคุยบอกว่า ออร์เดอร์ที่ได้จากเราเป็นจำนวนที่ไม่เคยได้มาก่อน เพราะถ้าสั่งจากแอพฯ ปกติ จะอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากร้าน แต่ลูกค้าที่มาจากเรามีทั้งบางนา ลำลูกกา หรือพุทธมณฑล ทำให้ร้านได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ เหมือนกับการขยายสาขาให้ร้านโดยที่ไม่ต้องเปิดสาขาเอง”

ในวันที่เราคุยกันนี้ PokPok เดินทางเข้าสู่ปีที่ 3 ถือว่ายังเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่มีแพชชั่นในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้แพลตฟอร์มเติบโตในแบบที่พวกเขาคาดหวัง

“อาหารเป็นเพียงจุดเริ่มต้น วันหนึ่งที่เติบโตขึ้น เราสามารถให้บริการรับ-ส่งสินค้าประเภทอื่นได้ ในอนาคตเรามีแผนขยายเส้นทางให้มากขึ้นจาก 40 เป็น 200 เส้นทาง โดยเป้าหมายของปีหน้าเราตั้งเป้าไว้ที่ 100 เส้นทาง โดยต้องตรงเงื่อนไขที่ว่า เส้นนั้นต้องมีร้านอร่อย คุ้มค่าคุ้มราคา หากทำได้เราก็พร้อมจะมุ่งสู่นอกกรุงเทพฯ”

นี่เป็นเรื่องราวของ PokPok สตาร์ทอัพไทยที่ไม่ใช่แค่ฟู้ดเดลิเวอรีรับ-ส่งอาหารทั่วไป แต่เป็นสื่อกลางระหว่างร้านอาหาร พาร์ตเนอร์ และลูกค้า ที่พร้อมส่งมอบของอร่อยและอีกหลากความเป็นไปได้ในอนาคตสู่ทุกครัวเรือน และสร้าง ecosystem ด้านอาหารอย่างครบวงจร

‘นักจับหนูอาชีพ’ จากปัญหาหนูล้นเมืองในยุคกลาง ถึงอาชีพเพาะหนูสวยงาม และต้นกำเนิดหนูทดลอง

ช่วงนี้เราพูดถึงหนูกันเยอะ ยิ่งหน้าฝนเราอาจเห็นน้องหนูออกมาเพ่นพ่าน ตามกองขยะ ตามเสาไฟฟ้า ทุกวันนี้นอกจากเราจะจัดการกับหนูกันเองด้วยกาวดักหนู ไปซื้อกรงมาดัก ในบางพื้นที่เราก็อาจจะใช้บริการบริษัทกำจัดสัตว์รำคาญมืออาชีพ

ถ้าเรามองย้อนไป หนูถือเป็นอีกปัญหาที่ก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับพื้นที่เมือง คือมนุษย์เรามีปัญหากับหนูกันมานานแล้ว แต่พอคนมาอยู่รวมกันเยอะๆ มีขยะโดยเฉพาะขยะอาหารจำนวนมาก เกิดการวางระบบท่อระบายน้ำ เมืองที่นอกจากจะตั้งใจออกแบบเพื่อผู้คนแล้ว เจ้าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็แอบเข้ามาอาศัยที่ว่างในมุมมืดของเมืองในการเอาตัวรอด ก่อนจะแพร่ขยายอาณาจักรของตัวเองในเงาของตึกรามบ้านช่อง และออกมาใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางคืนที่ผู้คนส่วนใหญ่หลับใหล

เมื่อมีหนู มีเมือง มีคนหลายชนชั้นเข้ามาอยู่ร่วมกันแล้ว สังคมจึงเกิดอาชีพ 

ธุรกิจที่พอจะนับว่าเป็นกิจการกำจัดสัตว์ชวนรำคาญยุคแรกๆ คืออาชีพนักจับหนู จริงๆ นักจับหนูฟังดูเป็นอาชีพที่ต่ำต้อยคือทำงานกับสิ่งสกปรก แต่ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง นักจับหนูนับเป็นหนึ่งในไม่กี่อาชีพที่สามัญชนสามารถโดดเข้ามาทำงานได้ แถมเจ้าหนูท่อทั้งหลายที่ผู้คนที่รับมือด้วยเป็นสิ่งมีชีวิตสุดร้าย ดังนั้นนักจับหนูค่อนข้างได้รับการยอมรับ ถ้าทำดีๆ ก็ถือเป็นอาชีพที่รายได้งาม

ในประวัติศาสตร์นักจับหนูเริ่มกลายเป็นอาชีพในสมัยกลาง จนเรื่อยมาถึงยุควิคตอเรีย ยุคที่ลอนดอนท่วมไปด้วยหนู นักจับหนูเริ่มมีความเป็นอาชีพ มีระบบระเบียบ ในยุคนั้นถึงขนาดเกิดนักจับหนูที่ขนานนามว่าเป็น ‘นักจับหนูหลวง’ หรือนักจับหนูของพระราชินีกันเลย ซึ่งนักจับหนูคนดังกล่าวก็เป็นสามัญชนที่กลายเป็นคนดัง 

การจับหนูของนักจับหนูหลวงบางส่วนก็คล้ายกับการทำธุรกิจ มีสไตล์ในการทำงาน แถมที่ย้อนแย้งคือพ่อหนุ่มนักจับหนูคนดังไปๆ มาๆ จากที่จับหนูให้คนร่ำรวยก็ดันเลี้ยงและเพาะหนูสีแปลกๆ กลับมาจนกลายเป็นเทรนด์ของสาวสังคมชั้นสูง กลายเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของวงการหนูสวยงามไปอีก

หนูในฐานะสัตว์มหัศจรรย์ และความสยองขวัญสมัยใหม่

ในมิติทางวัฒนธรรม หนูถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับอารยธรรมมนุษย์ ส่วนใหญ่หนูมักเกี่ยวข้องกับเรื่องเหนือธรรมชาติ พวกมันมีจำนวนมากมายแต่บางครั้งฝูงหนูก็เหมือนจะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว บางครั้งพวกมันเหมือนจะล่วงรู้อนาคต เป็นตัวแทนของลางสังหรณ์ ในบางความเชื่อเช่นเอเชีย หนูเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง ความเฉลียวฉลาด บ้างก็เป็นพาหนะของเทพเจ้า

ไม่ว่าหนูจะถูกมองยังไงในยุคโบราณ ด้วยพฤติกรรมของพวกมัน หนูก็นับเป็นสัตว์รำคาญที่ก่อความเสียหายให้กับมวลมนุษย์ พวกมันกัดกินสิ่งของ ขโมยอาหาร ทำผู้คนตกอกตกใจ ถ้ามองย้อนไปถึงอารยธรรมต่างๆ ก็มีการรับมือกับหนูอยู่เสมอเช่นสมัยอียิปต์มีการเลี้ยงแมวไว้เพื่อจับหนู ยุคโรมันก็เลี้ยงสุนัขไว้กำจัด ในระดับนิทาน หนูเคยเป็นฝันร้ายที่เกือบทำหมู่บ้านหรือดินแดนล่มสลายเช่นในนิทานเยอรมันที่เล่าถึงหมู่บ้านที่ถูกรุกรานด้วยฝูงหนู จนมีนักดนตรีผู้มีพลังพิเศษสามารถเป่าขลุ่ยและชักนำฝูงหนูทั้งหมดออกจากหมู่บ้านได้ นิทานดังกล่าวก็สะท้อนความกังวลไปจนถึงพวกหนูบ้านและหนูท่อทั้งหลายที่เริ่มเป็นภัยคุกคาม

ทีนี้ ปัญหาของหนู ดังกล่าวว่าเป็นปัญหาของเมือง คือเมืองยิ่งเติบโตคนยิ่งแน่น หนูก็เป็นสัตว์รำคาญที่สุดท้ายอาจไม่ได้แค่รำคาญแต่นำพาความตายมาให้ ดังนั้นจึงเป็นอีกครั้งที่เราจะย้อนกลับไปในยุคกลาง ยุคสมัยที่ผู้คนเริ่มสร้างเมืองล้อมกำแพง เป็นเมืองที่มีโบสถ์หรืออาจจะปราสาทเป็นศูนย์กลาง แน่นอนว่ายุคกลางเป็นยุคที่เมืองยังโตแบบตามมีตามเกิด แต่ในช่วงนั้นก็เริ่มมีเมืองที่เป็นเมืองเช่นปารีส ลอนดอนในช่วงศตวรรษที่ 14-15 ก็เริ่มมีครัวเรือนหนาแน่นแล้ว สิ่งที่มากับหนูในท้ายที่สุดก็คือกาฬโรค ฝันร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปหลักร้อยล้าน

นอกจากการพาเอาโรคร้ายที่เกือบทำลายอารยธรรมมนุษย์ได้มาด้วย นึกภาพในสมัยกลางหรือต่อเนื่องมาจนยุคสมัยใหม่คือราวๆ ยุควิคตอเรีย สมัยนั้นตู้เย็นก็ยังไม่มี การมีหนูวิ่งไปวิ่งมานั้นแสนจะลำบาก หนึ่งในพื้นที่แสนรำคาญใจคือพวกหนูชอบไปอยู่ในกองฟางซึ่งเป็นที่นอนของชาวนาและชาวบ้าน หนูพวกนี้เท่าที่มีบันทึกไว้คือพวกมันไม่ใช่จะน่ารักแต่ดุร้าย ตัวใหญ่ มีเยอะ รับมือยาก

ยิ่งล่วงเลยมาในสมัยวิคตอเรีย ยุคแห่งระเบียบ ความสะอาดและความเจริญ หนูเป็นเหมือนสิ่งมีชีวิตที่ตรงกันข้ามกับโลกอันเจริญ พวกมันถูกมองว่าตะกละ หิวกระหาย และเลวร้ายขนาดเป็นสัตว์ที่กินพวกเดียวกันเอง กินไม่เลือก แถมยุควิคตอเรียเป็นยุคที่เน้นการสะกดกลั้นเรื่องเพศ หนูจึงยิ่งกลายเป็นศัตรูของสังคม คือมันเป็นตัวแทนของความหิวกระหายทางเพศ การแพร่ขยายสายพันธุ์อย่างไม่หยุดหย่อน

ดังนั้นหนูจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ยากของสังคมเมืองในการรักษาความสงบเรียบร้อย สังคมยุโรปจึงเกิดอาชีพใหม่ที่ค่อนข้างมีหน้ามีตาในสังคม เป็นที่ต้องการตัว และไปไหนมาไหนพร้อมเสียงโห่ร้องชื่นชม

บันทึกลับนักจับหนู ไลฟ์โค้ชจากปลายศตวรรษที่ 19

คุณเคยต้องรับมือกับหนูในบ้านมั้ย 

เอาเป็นว่าขนาดเราที่อยู่ในศตวรรษที่ 21 มีวิทยาการก้าวหน้า มีความรู้เรื่องสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีกระทั่งอุปกรณ์ในการจัดการหนูที่ได้รับการพัฒนามาอย่างยาวนาน การต้องจัดการกับหนูพวกนี้ยังเป็นเรื่องที่แสนปวดหัว เป็นฝันร้ายในครัวเรือนอย่างหนึ่ง

ด้วยความยาก และความสยองของหนู นักจับหนูอันเป็นอาชีพที่เริ่มปรากฏในบันทึกหรือภาพวาดในช่วงยุคกลางหลายครั้งจะมีภาพที่ออกจะมหัศจรรย์อยู่บ้าง เอาว่าเบื้องต้นนักจับหนูเหล่านี้ค่อนข้างก่อตัวเป็นอาชีพที่ต้องมีทักษะเฉพาะ สามารถไล่ล่าและจับหนูได้ อาจจะด้วยมือเปล่า แต่อาวุธสำคัญของนักจับหนูคือการใช้สัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะสุนัขไล่และจับหนู ถ้าเราดูภาพวาดโบราณ นักจับหนูในฝรั่งเศสที่เรียกว่า chasseur de rats มักถูกวาดให้มาพร้อมกับกรงที่เป็นเหมือนไม้ยาว สวมใส่ผ้าคลุม และชูกรงที่มีซากหนูห้อยอยู่ แล้วตะโกนไปตามท้องถนนว่า Mort-aux-rats! หรือความตายจงมีแก่เหล่ามุสิก

จากการเดินเร่ไปตามถนน การทำงานของนักจับหนูก็จะเป็นการรับจ้างไปในพื้นที่ต่างๆ เช่นในบ้าน ในคฤหาสน์ โรงนา สวนสาธารณะ ไปจนถึงปราสาทราชวัง นักจับหนูก็จะทำงานตามชื่อคือไล่จับหนูโดยแลกกับค่าจ้างตามตกลง 

จากสมัยกลาง นักจับหนูกลายเป็นอาชีพที่สำคัญมากๆ ในสมัยวิคตอเรีย ด้วยการขยายตัวของเมือง ในช่วงนั้นอังกฤษ โดยเฉพาะลอนดอนและเมืองใหญ่อื่นๆ จึงเจอกับปัญหาหนูจู่โจมและเกิดอาชีพนักจับหนูที่ค่อนข้างเป็นทางการขึ้นมา ในยุคนั้นเราจะพบนักจับหนูถูกเล่าถึงอยู่ในพื้นที่ทางศิลปะต่างๆ มีภาพวาด มีเรื่องเล่าที่มีนักจับหนูเป็นตัวเอกหรือถูกพูดถึง มีบทกวีที่เล่าถึงอาชีพนี้เป็นการเฉพาะ ว่ากันว่ามีเกณฑ์ถึงขนาดว่าถ้าจับหนูได้ตามจำนวนจะได้รับสถานะ ช่วงหนึ่งรัฐบาลอังกฤษมีการมอบเงินรางวัลและสถานะให้กับนักจับหนูที่จับหนูได้ 5,000 ตัวต่อปี หรือวันละ 13 ตัว

ก่อนที่เราจะพูดถึงนักจับหนูคนดัง ในช่วงปลายยุควิคตอเรียมีบันทึกเล่มหนึ่ง เป็นงานเขียนตีพิมพ์เป็นเรื่องเป็นราว งานเขียนนั้นชื่อว่า ความลับของนักจับหนู ประสบการณ์จาก 25 ปี โดย ไอค์ แมตทิวส์ (Full Revelations of a Professional Rat-Catcher, after 25 Years’ Experience by Ike Matthews) ถ้าพูดอย่างติดตลกหนังสือที่ตีพิมพ์ในปี 1898 คงคล้ายกับหนังสือว่าด้วยอาชีพ เคล็ดลับไลฟ์โค้ช ที่เราหาอ่านได้บนชั้นเบสต์เซลเลอร์ในยุคปัจจุบัน

สำหรับบันทึกลับนักจับหนูเป็นงานเขียนจากนักจับหนูของอังกฤษ ด้านหนึ่งนักจับหนูคงเป็นหนึ่งในอาชีพที่เฟื่องฟู ความสนุกจากหนังสือคือผู้เขียนเองได้เสนอแนะเคล็ดลับ หลายส่วนเป็นความเข้าใจเชิงพฤติกรรมของหนู ในบันทึกจะมีการพูดถึงการจัดวางกับดักที่แนะนำให้ลองทำเส้นทางเดินของหนูก่อนด้วยผงขี้เลื่อย พอทำได้สักสี่คืนก็จะเกิดเส้นรอยหนู หลังจากนั้นค่อยวางกับดัก ซึ่งผู้เขียนบอกว่า พอเราดักหนูหลังจากวางขี้เลื่อยแล้วหนูจะเรียนรู้และไม่เข้าใกล้ขี้เลื่อยอีก เราก็ต้องเปลี่ยนวัสดุใหม่ไปใช้ขี้เถ้าแทน ตรงนี้นับเป็นองค์ความรู้ นอกจากนี้ยังมีการอธิบายการสังเกต การไล่จับหนูในพื้นที่ต่างๆ

ในสมัยกลางและวิคตอเรีย อาวุธหลักของนักจับหนูคือมือและการใช้สัตว์เลี้ยง ในคู่มือเล่มนี้พูดถึงการฝึกและใช้สัตว์จับหนูที่มีคุณสมบัติต่างกันออกไป เช่น พูดถึงการใช้ตัวเฟอร์เร็ตเพื่อไล่และจับหนูซึ่งผู้เขียนบอกว่าก็ดี แต่อาจเหมาะกับบางพื้นที่เช่นบ้านชั้นเดียว ฟาร์มขนาดใหญ่แต่อาจไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีหลายๆ ชั้นโดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ในเมือง นอกจากนี้ยังพูดถึงการฝึกพังพอนซึ่งแกว่าก็ประสิทธิภาพเท่าๆ กับสุนัขที่ปราดเปรียว แต่พังพอนตัวใหญ่กว่าเฟอร์เร็ต เลยอาจเข้าไปไม่ได้ทุกที่ แต่พังพอนมีจุดดีคือมันจะพาซากหนูกลับออกมาด้วยเสมอคือหมดปัญหาหนูตายคาพื้นที่และเหม็นไปหลายวัน

นอกจากรายละเอียดและความรู้แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังค่อนข้างครุ่นคิดและพูดถึงความเป็นอาชีพของนักจับหนู คือพูดเรื่องตำแหน่งแห่งที่ เช่น นักจับหนูมีสถานะที่แปลก คือคนก็รัก ทำรายได้ก็ดี แต่ก็อาจจะถูกดูถูกบ้างเพราะทำงานในที่สกปรก นอกจากลักษณะงานแล้วผู้เขียนยังพูดถึงจรรยาบรรณซึ่งสอดคล้องกับความเป็นอาชีพที่คนจะให้เกียรติด้วย คือนักจับหนูอาจจะไม่มีจรรยาบรรณได้ ควรรักษาจรรยาบรรณและความซื่อสัตย์ไว้เพื่อทำอาชีพนี้อย่างมีเกียรติได้ต่อไป 

ตรงนี้เริ่มมีนัยของธุรกิจ ในหนังสือถึงขนาดมีคำคมว่า ‘Honesty is the best policy.’ จุดท้าทายสำคัญที่ในหนังสือยกตัวอย่างคือ เวลาไปจับหนู ในบ้านเศรษฐีสมัยก่อนจะมีป่า และมีพื้นที่สำหรับกีฬาล่าสัตว์ด้วย ทีนี้ถ้านักจับหนูไปเห็นกระต่ายซึ่งมีมูลค่าตัวละหนึ่งชิลลิ่ง ก็อาจจะแอบจับกลับมาขายด้วย แต่ในทางกลับกัน หนู 12 ตัวได้ราคาสี่ชิลลิ่ง ฟังดูน้อย แต่การที่เราไม่แตะต้องกระต่ายหรือสัตว์เพื่อการล่าเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ ในบ้านหรือพื้นที่เดียวกัน นักจับหนูอาจสามารถกลับไปจับหนูได้ถึง 500 ตัวต่อปี

นอกจากเรื่องจริยธรรมการทำงาน ในชีวิตนักจับหนูค่อนข้างได้รายได้ค่อนข้างดี บ้านหลังหนึ่งอาจจับหนูได้เป็นร้อยๆ ตัว ลูกค้าหลายคนก็ให้ความเคารพ เชื่อใจกลายเป็นมิตรสหายกัน แต่คุณไอค์ผู้เขียนก็พูดถึงความขัดแย้งบ้าง เช่นให้ไปจับหนูแล้วได้จำนวนมาเท่าไหร่ เจ้าของพื้นที่ก็อาจจะเกิดไม่ยอมจ่าย เขาบอกว่า นักจับหนูไม่ต้องทำอะไรมาก แค่บอกว่าจะปล่อยคืนที่ไป พูดไปเท่านี้ส่วนใหญ่ก็จะยินยอมจ่ายค่าดำเนินการตามตกลง

ประเด็นการจับหนู นอกจากการจับ และสังหารแล้ว นักจับหนูยังมีหลายการงานที่เกี่ยวข้อง บางส่วนอาจจะเป็นมุมมืดหน่อยเช่นการเกิดขึ้นของสังเวียนหนูหรือ rat pit สังเวียนหนูบางที่ทำหน้าที่เป็นความบันเทิง กับบางส่วนเป็นที่ที่นักจับหนูจะเอาหนูไปฆ่า การจับหนูหลายครั้งที่มีการจับหนูเป็นๆ ได้ ไปจนถึงได้รับหนูเป็นๆ มา การกำจัดหนูก็เป็นอีกภาระที่สุดท้ายคนเราก็หาทางไปได้ เจ้าสังเวียนบางครั้งเป็นเหมือนเกม คือมีการปล่อยสุนัขเข้าไปแล้วดูว่าสุนัขของใครจะสังหารหนูได้มากกว่ากัน บ่อนหนูนี้จึงกลายเป็นปัญหาทั้งว่าเป็นการทรมานสัตว์ที่ไม่ได้หมายถึงหนู แต่หมายถึงสุนัข กับกลายเป็นว่านักจับหนูก็เลยมีการเก็บหนูเป็นๆ ไว้ รอป้อนให้กับบ่อนกัดหนูเหล่านี้ กลายเป็นว่าแทนที่จะกำจัดหนูได้ หนูที่นักจับหนูจับมาได้ก็แพร่พันธุ์เยอะขึ้นไปอีก 

แจ็ค แบล็ค นักจับหนูในพระองค์

จากบันทึกของคุณไอค์ที่เป็นภาพรวมของนักจับหนู ถ้าเราพูดถึงอาชีพหรือกิจการจับหนู เราต้องพูดถึงนักจับหนูคนดังผู้ขนานนามตัวเองว่าเป็น ‘ผู้ทำลายเหล่าหนูและเชื้อชาของพระราชินี (rat and mole destroyer to her Majesty)’ หรือในนามของ ‘นักจับหนูสูงสุด (supreme rat catcher)’ ชื่อแสนเท่เหล่านี้ถูกบันทึกไว้ในงานเขียนชื่อ London Labour and the London Poor เป็นรวมบทความที่กลายเป็นสารานุกรมของนักหนังสือพิมพ์ชื่อ Henry Mayhew โดยเขาออกไปรวบรวมเรื่องราวของคนทำงานในกรุงลอนดอน เป็นคนทำงานในช่วงทศวรรษ 1840 เป็นอาชีพต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็มีนักจับหนูคนดังคือคุณแจ็ค แบล็ค ผู้เรียกตัวเองว่าเป็นนักจับหนูหลวงกันเลยทีเดียว

งานรวบรวมอาชีพนี้เลยน่าสนใจเพราะให้ภาพกลุ่มคนใหม่ๆ ที่กำลังดิ้นรนและทำมาหากินในเมือง สำหรับแจ็ค แบล็คเอง แม้จะเป็นหนึ่งในแรงงานและคนทำงานยากจนคนหนึ่ง แต่จริงๆ ตัวเขาเองด้วยการเป็นนักจับหนูถือว่าเป็นทักษะพิเศษที่สนองความต้องการของเมือง แถมอย่างย้อนแย้งคือเขาเองค่อนข้างมีมุมมองทางธุรกิจและทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการจับหนูนี่แหละ แต่ไม่ได้ได้เงินแค่จากการจำกัดหนูเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการขายหนูเพื่อการกีฬา และที่แปลกกว่านั้นคือกลายเป็นเจ้าพ่อสัตว์แปลกแบบมาก่อนกาล

ย้อนไปสมัยเด็ก แจ็ค แบล็ค เป็นเด็กชาวบ้านที่ตัวแกเองมีความสามารถในการจับหนู เขาเล่าให้นักหนังสือพิมพ์ฟังว่าตอนเด็กเขาก็ไปจับหนูที่สวน Regent’s Park อวดฝีมือให้พวกชนชั้นสูงที่ไปหย่อนใจในสวนชม จนเมื่ออายุสิบขวบ แจ็ค แบล็คในวัยนั้นก็ได้รับการว่าจ้างและค่าจ้างให้จับหนูอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกและเริ่มอาชีพนักจับหนูมาตั้งแต่ตอนนั้น

จุดเด่นของแจ็คเราอาจพูดได้ว่ามาจากความเป็นแบรนด์ของเขา แจ็คเป็นคนสนุกสนาน เป็นคนที่ค่อนข้างฉูดฉาด แจ็คมีชื่อเสียงในช่วงอายุประมาณ 40 ปี มักปรากฏตัวในเครื่องแบบที่เขาคิดขึ้นเอง เป็นชุดแสนเก๋ที่สร้างสีสันให้ผู้พบเห็น คือแจ็คจะใส่กางเกงหนังสีขาว คลุมด้วยเสื้อคลุมสีม่วงและมีสายสะพายลายหนูคาดคล้องไหล่เอาไว้ แจ็คเองเป็นหนี่งในต้นตำรับในการฝึกสัตว์เพื่อจับหนู แน่นอนว่าตัวเฟอร์เร็ตดูเข้าท่าที่สุดเท่าๆ กับสุนัข ตัวเฟอร์เร็ตจะเคลื่อนที่ไปในพื้นที่แคบๆ ได้เหมือนกับงู นอกนั้นเขาเองยังทดลองฝึกสัตว์อีกหลายชนิดที่เขาว่าไม่ค่อยเวิร์ค เช่น ลิง ตัวแบดเจอร์ ไปจนถึงแรคคูน

จากคำบอกเล่าของแจ็คซึ่งสอดคล้องกับบันทึก 25 ปีนักจับหนู แจ็ค แบล็ค บอกว่ารายได้หลักในการจับหนูจริงๆ ไม่ได้มาจากการกำจัดหนูได้ แต่คือการที่เขานำหนูที่ยังมีชีวิตไปขายให้กับบ่อนกัดหนู ซึ่งบ่อนกัดหนูมักจะอยู่ในผับทั่วทั้งลอนดอน เป็นการปล่อยฝูงหนูไว้แล้วคนที่ไปผับจะนำสุนัขไปและให้พวกมันแสดงความสามารถสังหารหนูให้ได้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งฟังแล้วเวรี่หลอน

จากนักจับหนูสู่ฟาร์ม และอาจรวมถึงหนูทดลอง

นอกจากความหลอนแล้ว แจ็คยังนับเป็นคนที่มีหัวการค้ามากๆ คนหนึ่ง ด้วยความที่เขาทำงานจับหนูให้พวกผู้ดี แถมด้วยอาชีพนักจับหนูจึงมีการเลี้ยงสัตว์จำนวนมากตั้งแต่สุนัข นก ตัวเฟอร์เร็ต รวมถึงหลายครั้งเขาก็จะจับหนูหน้าตาแปลกๆ สีสันแปลกๆ มาเลี้ยงไว้ ตรงนี้เองเลยเกิดอาชีพใหม่ขึ้นคือการเป็นเจ้าพ่อสัตว์สวยงาม หนูที่เคยจับมาฆ่าก็ถูกนำไปเลี้ยงดูและผสมพันธุ์จนเกิดเป็นหนูสีแปลกๆ นอกจากหนูสีแปลกๆ แล้วแจ็คยังทำการเลี้ยงและฝึกหนูของตัวเอง มีการนำมาเปิดแสดงและขายสินค้าที่เกี่ยวกับการกำจัดหนูอื่นๆ ด้วย เรียกได้ว่ามีโชว์พร้อมขายตรง

สำหรับการเติบโตของนักจับหนูสู่ฟาร์มสัตว์สวยงามถือเป็นก้าวอันประหลาด สุดท้ายกลายเป็นว่าเหล่าสตรีชั้นสูงเองก็กลับนิยมเลี้ยงหนูสวยงาม (fancy rat) ที่แจ็คจับและพัฒนาสีสันขึ้นผ่านการเลี้ยงและผสมพันธุ์ขึ้น ทีนี้จากนักทำลายหนูของพระราชินี แจ็คเลยเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้เลี้ยงหนู ในช่วงทศวรรษ 1840-1860 กระแสนิยมเลี้ยงหนูสวยงามท่ีมาจากหนูของแจ็คก็ได้รับความนิยม หนูเหล่านี้กลายเป็นหนูในกรงทอง เลี้ยงไว้ในกรงที่ประดับประดาและปิดด้วยทองคำ กระทั่งพระราชินีวิคตอเรียเองก็ซื้อและเลี้ยงหนูสวยงามจากแจ็ค ต่อมาในปี 1901 จึงได้เกิดสมาคมเลี้ยงหนูขึ้นคือ National Mouse Club มีการประกวดและให้รางวัลระดับชาติ

นอกจากกิจกรรมการจับหนูที่กลายเป็นสัตว์เลี้ยงจากฝีมือของแจ็คแล้ว ในกิจการโหดร้ายเช่นการเลี้ยงหนูทั้งเพื่อป้อนให้กับสนามพนันหรือหลายคนก็เชื่อว่าแจ็คเองก็อาจจะเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงและพัฒนาจนเกิดหนูสีขาวตาแดงขึ้น การเพาะเลี้ยงหนูตรงนี้บ้างก็เชื่อว่าเป็นรากฐานหนึ่งที่อาชีพเกี่ยวกับการจับหนูมีคุณูปการต่อวงการวิทยาศาสตร์ คือเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและป้อนหนูขาวให้กับการทดลองต่างๆ โดยเฉพาะการทดลองทางการแพทย์ซึ่งแน่นอนว่าเป็นรากฐานของวิทยาการและความก้าวหน้า รวมถึงความมั่นคงปลอดภัยของเราในทุกวันนี้ ซึ่งบางคนเชื่อว่าแจ็ค แบล็คอาจเป็นส่วนหนึ่งในการเลี้ยงและส่งต่อหนูทดลองให้กับโลกสมัยใหม่ด้วย

ประเด็นเรื่องนักจับหนู การจับหนูเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวและอาชีพในประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับบริบท เกี่ยวข้องกับเมืองและปัญหาของเมือง นอกจากนั้นอาชีพนักจับหนูยังสัมพันธ์กับการทำมาหากิน การประกอบอาชีพที่เปิดโอกาสให้คนชั้นล่างได้มีพื้นที่และได้ไต่เต้าทางสังคม และกิจการการจับหนูยังพัฒนาไปสู่พื้นที่แปลกประหลาด 

จากการจับเพื่อแก้ไขปัญหาสู่ความบันเทิงที่อาจโหดร้ายสักหน่อย กลายเป็นการเพาะเลี้ยง เป็นธุรกิจ และบางส่วนในกิจการที่ดูสกปรกนั้นสัมพันธ์กับการสาธารณสุขในภาพรวม จนกลายเป็นรากฐานหนึ่งของการทดลองเรื่องยาและนวัตกรรมอื่นๆ ด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก