Born Pink

เครื่องแบบสีชมพูหลากเฉดของ ภูเมศร์ เตชะบรรเจิด อินทีเรียร์หนุ่มผู้สนุกกับการแต่งชุดสีชมพู

แม้ว่า Barbie จะลาจอไป (พร้อมกวาดรายได้หลักพันล้านจากทั่วโลก สมตำแหน่งแชมป์หนังทำเงินของค่าย Warner Bros. ล้มแชมป์เก่าอย่างหนังภาคจบของ Harry Potter อย่างขาดลอย)

และคอนเสิร์ตสุดท้ายของ BLACKPINK จะเพิ่งจบลง

แต่เหตุผลของการหยิบชุดสีชมพูออกมาใส่นั้นไม่ได้จบลงไปด้วย

เราขอแนะนำให้รู้จัก เจ–ภูเมศร์ เตชะบรรเจิด บุคคลที่ใส่เสื้อผ้าสีชมพูได้สนุกที่สุดตั้งแต่เคยรู้จักมา

ในคอลัมน์ Youniform เราไม่ได้คุยแค่กับคนที่รักการแต่งตัว แต่เราเลือกคนที่สนุกกับการแต่งตัวมากๆ มากๆๆ มากจนส่งผลให้การทำงานดีขึ้น และดีขึ้น ดีขึ้นไปอีกถึงขั้นสร้างตัวตน และทำให้ธุรกิจของเขาหรือเธอดีขึ้น

ซึ่งเจเป็นอย่างที่ว่ามาทั้งหมด 

ก่อนจะเล่าถึงสีชมพูของเจ เราของแนะนำเจให้คุณรู้จักแบบสั้นๆ ก่อนที่จะมีใครเผลอตัดสินกันเพียงแค่ชุดที่เขาสวมใส่ภายนอก

เจ เป็นอินทีเรียร์ เปิดบริษัทรับงานออกแบบและตกแต่งภายในชื่อ Huippu ซึ่งเป็นภาษาฟินแลนด์แปลว่าสีชมพู 

หลังเรียนจบปริญญาตรีด้านการออกแบบ เจเริ่มต้นทำงานในวงการอีเวนต์และแฟชั่นกับตัวแม่อย่างป้าตือ ก่อนย้ายไปเรียนรู้งานด้านออกแบบลายผ้าในบริษัทอินทีเรียร์พร้อมๆ กับเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อรู้ตัวและรู้ใจแน่ชัดแล้วว่าจะเอาดีด้านการออกแบบลายผ้าและผลิตภัณฑ์ เจตัดสินใจไปเรียนต่อด้าน textile ที่ฟินแลนด์ เพราะชอบเส้นสีและลวดลายของแบรนด์ Marimekko มากๆ และแม้จะเลือกเรียนเอกสาขาออกแบบลายผ้าและกราฟิก เขากลับเลือกทำงานวิจัยเรื่องสีชมพูกับแฟชั่นเสื้อผ้าผู้ชายตามที่หลงใหล เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเปลี่ยนมุมมองต่อสีต่างๆ ในโลก ซึ่งส่งผลต่องานและชีวิตในเวลาต่อมา

หลังเรียนจบ เขากลับมาทำงานออกแบบให้หน่วยงานภาครัฐที่ทำงานพัฒนาสินค้าท้องถิ่น ช่วยชาวบ้านสร้างงานไปอวดสายตาชาวโลกที่ญี่ปุ่น พร้อมๆ กับเป็นอาจารย์ประจำ ต่อมาย้ายไปทำงานด้านแบรนดิ้งให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยชื่อดังอย่าง Modernform ก่อนจะออกมาก่อตั้งบริษัทอินทีเรียร์ของตัวเอง 

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะสีชมพู

ใช่แล้ว เครื่องแบบในการทำงานของเขาส่วนใหญ่ก็เป็นสีชมพูด้วย

เชิญฟังเรื่องสีชมพู ของชายที่หลงใหลการแต่งกายด้วยชุดสีชมพูจนกลายเป็นภาพจำ ทำบริษัทออกแบบที่ชื่อมีความหมายว่าสีชมพู ในออฟฟิศที่ตกแต่งด้วยสีชมพู ตั้งแต่ กระถางต้นไม้หน้าประตู ไปจนโต๊ะ ตู้ นาฬิกา เก้าอี้ดีไซน์สวย 

และถ้าคุณเปิดเพลย์ลิสต์ของ BLACKPINK คลอตามไปด้วยระหว่างอ่านบทสัมภาษณ์นี้ ก็จะเป็นอะไรที่ถูกต้องมาก

ย้อนกลับไปสมัยเรียน textile ที่ฟินแลนด์ เครื่องแบบนักเรียนแฟชั่นของคุณเป็นยังไง

เมื่อก่อนเราก็แต่งตัวสตรีททั่วไปนะ เสื้อสี เสื้อสกรีน กางเกงยีนส์ จนกระทั่งตอนไปเรียนต่อด้านออกแบบและ textile ที่ฟินแลนด์ เพราะเราสนใจเรื่องผ้าพิมพ์ลาย และชอบแบรนด์ Marimekko มาก แต่พอไปถึงที่นู่นคัลเจอร์ช็อกเลย ทุกคนแต่งตัวสีดำกันหมด นักเรียนแฟชั่นทุกคนใส่ชุดดำล้วน ดำแบบไม่มีลายไม่มีอะไรเลย อาจเป็นเพราะ Marimekko เป็นแบรนด์สามัญประจำบ้านที่อยู่กับพวกเขามานาน 50-60 ปีแล้ว เขาไม่ได้มองว่านี่คือแบรนด์แฟชั่นอย่างที่เรามอง ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่นั่นเขาสนใจเรื่อง sustainability เขาก็มองว่าสีดำใช้ได้บ่อย ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย ซึ่งเราก็ลอง explore ตัวเองด้วยการแต่งตัวตามพวกเขาบ้าง

เมื่อไหร่ที่คุณเริ่มรู้สึกสนุกกับการใส่ชุดสีชมพูจนกลายเป็นภาพจำ

จุดเริ่มต้นที่ลุกมาแต่งตัวชุดสีชมพูนั้นธรรมดามากๆ มีวันหนึ่งที่เราใส่เสื้อสีชมพูไปงานแต่งเพื่อนแล้วมันเหมือนมีพลังงานบางอย่าง หลังจากนั้นเราก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับสีนี้ 

เมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว บังเอิญได้ไปดูงานนิทรรศการของ Li Edelkoort นักออกแบบและนักกำหนดเทรนด์ (trendsetter) ของโลกชาวดัตช์ เขาพูดถึงสีชมพูประมาณว่า วันหนึ่งสีชมพูจะเปลี่ยนแปลงโลก เพราะกลายเป็น new black หรือสีกลางๆ ที่ไม่ได้ใช้ยากอย่างในอดีต ซึ่งในเวลานั้นเขาก็ไม่ได้ให้เหตุผลอะไรมากมาย แต่ก็ทำให้เรารู้สึกสนใจและอยากเข้าใจการใช้สีชมพูมากขึ้น เมื่อลงไปศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์สีก็พบว่าจริงๆ สีชมพูเป็นสีของเด็กผู้ชาย

สีชมพูเป็นสีของเด็กผู้ชาย?

ใช่ ในอดีต สีแดงเป็นสีของนักรบ มาจากสีของเลือด ขณะที่สีชมพูเองก็เป็นสีแดงในเวอร์ชั่นที่อ่อนลง ก็เลยเป็นตัวแทนสีของเด็กผู้ชาย และถ้าเรากลับมาดูจริงๆ เทียบความอ่อนหวาน สีฟ้าจะอ่อนกว่าและให้ความรู้สึกซอฟต์กว่า หรือถ้าเราไปดูชุดพระแม่มารีย์ เราจะเห็นว่าเขาใส่ชุดสีฟ้าตลอด พระนางมารี อ็องตัวเน็ต (Marie Antoinette) ก็ใช้สีฟ้า ดังนั้นผู้หญิงไม่ได้ใช้สีชมพูตั้งแต่ต้น 

ต่อมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีบันทึกว่าทหารรัสเซียเวลาจะจำแนกประเภทนักโทษเขาจะติดป้ายที่ตัวนักโทษ โดยเขาเลือกติดตราสามเหลี่ยมสีชมพูลงบนนักโทษ homosexual มันก็เลยเกิดภาพจำใหม่เกี่ยวกับสีชมพูและค่อยๆ กลายเป็นสีของเด็กผู้หญิงไป ซึ่งมันก็ไม่ได้นานมาก นับจนถึงวันนี้ก็แค่ 50-60 ปีเท่านั้น

เราก็เลยรู้สึกว่า การให้ค่าว่าสีไหนเป็นของใครมันเป็นเรื่องที่เกิดจากคนด้วยกันเองทั้งนั้น พอยิ่งศึกษาก็สนุกขึ้น นอกจากนี้เราจะพบว่า จริงๆ ผู้หญิงเองก็มีปัญหากับสีชมพู ทั้งๆ ที่เป็นสีของผู้หญิง เช่น คนที่ทำงานในสายงานกฎหมายหรือผู้บริหารก็จะพยายามไม่ใช้สีชมพู เพราะมันทำให้เขาดูอ่อนหวานไป ดูไม่มีพลังต่อสู้กับผู้ชายที่ใส่ชุดสีเข้ม ยิ่งสีชมพูถูกใช้ในบาร์บี้หรือคิตตี้ ก็ยิ่งตอกย้ำภาพจำว่าสีชมพูเป็นสีของผู้หญิง และจากความเชื่อที่ส่งต่อผ่านทางสายตาก็กลายเป็นค่านิยมที่ฝังหัว brainwash เราโดยไม่รู้ตัว

ในฐานะนักศึกษาประวัติศาสตร์สีชมพู ถ้าต้องเขียนคำนิยามให้สีชมพูในยุคนี้ คุณจะบอกทุกคนว่าอะไร

สำหรับเราสีชมพูเป็นตัวแทนความคิดสร้างสรรค์ในยุคใหม่ เป็น symbolic ของการทลายกรอบเดิม การที่เรามองข้ามค่านิยม สายตาเดิมๆ และพาตัวเองออกมาเล่นในพื้นที่ใหม่ๆ ทุกครั้งที่เราใส่สีชมพูเราไม่รู้สึกว่าเราเป็นผู้หญิงหรือเราซอฟต์อะไรแบบนี้ เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งหนึ่งที่เราเล่นสนุกกับมันได้

ปกติผู้ชายมีเสื้อผ้าที่ถูกใจยากอยู่แล้ว พอเข้าวงการสีชมพู คุณมีปัญหากับการช้อปปิ้งบ้างไหม 

ไม่ค่อยนะ เพราะจริงๆ แฟชั่นเองก็มีการปรับตัวตลอด อย่างในช่วง 2010 พวก menswear จะเน้นเรื่อง cross-dressing เช่น Riccardo Tisci ตอนที่เขาทำให้ Givenchy เขาเอากระโปรงมาให้ผู้ชายใส่ ซึ่งช่วงแรกเขายังเล่นกับไอเทมผู้หญิงอย่างชุดเดรส กระโปรง 4-5 ปีต่อมาถึงจะเริ่มมาจับสีมาใช้ในงาน อย่างสีชมพูก็จะมาปรากฏบนเสื้อผ้าผู้ชายเยอะขึ้น มันก็กลายเป็นพอคนใส่เขาก็รู้สึกสนุกกับการแต่งตัวมากขึ้น เสื้อผ้าก็จะเริ่มเยอะตาม ก็ทำให้เราหาซื้อไอเทมสีชมพูได้เยอะขึ้น เพื่อนๆ พอเห็นอะไรสีชมพูก็จะส่งข้อความมาป้ายยา ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าแต่ลามไปถึงเฟอร์นิเจอร์ก็กลายเป็นแบรนดิ้งเราไป

กับเรื่องการแต่งตัวยังมีเรื่องไหนที่รู้สึกอยากทดลองอยากก้าวข้ามอีกไหม

สิ่งที่ท้าทายในวันนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องชุดเดรส เรายังต้องสู้กับสายตาของคน อย่างบางวันที่อยากใส่เราก็ใส่ แต่มันมีปัญหาแน่นอน เช่น ไม่ได้ชอบเข้าห้องน้ำผู้หญิงแต่จะใส่เดรสเข้าห้องน้ำผู้ชายก็ตลกดี

ความชอบในการแต่งตัวและความรักที่มีให้สีชมพูทำให้ชีวิตการทำงานดีขึ้นยังไง สมมติถ้าวันนั้นไม่ค้นพบและกลายเป็นคนที่หลงใหลในสีชมพู ชีวิตคุณจะแตกต่างไปจากนี้แค่ไหน 

น่าจะต่างนะ และอาจจะเป็นด้วยวัย เหมือนพอเราโตขึ้นแล้วเลือกอะไรบางอย่าง พอเราเริ่ม settle เราก็เลือกที่จะไม่ได้รับหมด คือเราก็รับหมดแหละ เราทำงานตรงนี้ก็ต้องศึกษาให้หมด แต่เรากรองว่าอะไรที่มันเหมาะและไม่เหมาะ อย่างแต่ก่อนนี้ฉันต้องแฟชั่น ฉันต้องมีไอเทมประจำซีซั่น แต่ว่าตอนนี้ก็คือเราดูแล้วเอามาทวิสต์ เอามาปรับให้มันเข้ากับสิ่งที่เป็นตัวเรามากขึ้น 

เรารู้สึกว่ามันก็มีผลกับการใช้ชีวิต อันดับแรกคือเราเป็นดีไซเนอร์ก็ต้องมีลุคเหมือนกัน การที่เสื้อผ้าทำให้เรามีความมั่นใจได้ ก็ช่วย empower ได้ แต่ก็ยังมีกาลเทศะ วันนี้ต้องไปงานแถลงข่าวเปิดตัว เราเจอใคร ต้องแต่งตัวประมาณไหน วันนี้เจอลูกค้า ลูกค้าแบบไหน ถ้าเราอยากได้งานมันเป็น first impression สิ่งที่เขาเห็นเราอะไรอย่างนี้ เขาจะเชื่อเราได้ยังไง

ในหน้าแนะนำตัวเองบนเว็บไซต์บริษัทเขียนว่า huippu แปลว่าสีชมพู อะไรคือที่มาหรือความหมายที่ซ่อนอยู่ในคำนี้

ตอนแรกเราต้องการแค่คำที่แปลว่า pink แต่ภาษาฟินแลนด์มันไม่มีคำว่าสีชมพู มีคำแบบยาวๆ ที่แปลว่าแดงอ่อน หรืออีกคำนึงคือ pinkki ซึ่งมันก็ไม่เก๋ ค้นหา และเลือกอยู่ 10 คำ จนไปเจอคำว่า huippu อ่านว่า ฮุอิปปุ ชอบคำนี้เลย พอไปสืบค้นคำแปล ก็เจอว่า peak, awesome, cool ความหมายมันดีเนอะก็เลยเลือกคำนี้

ความชอบสีชมพูของคุณส่งผลกระทบต่องานอินทีเรียร์ที่ทำแค่ไหน

สีชมพูกลายเป็นภาพจำของเราก็จริง แต่กับงานอินทีเรียร์ที่ทำ เราก็ไม่ได้อยากใส่สีชมพูลงไปในบ้านหรือพื้นที่ของใคร แต่หลังๆ ลูกค้าเริ่มรีเควสต์ขอสีชมพูจากเรา บางทีเราก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะเขามาที่ออฟฟิศ คือเราตกแต่งออฟฟิศด้วยสีชมพูก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกหวานแต่อย่างใด เราอยากทวิสต์มุมมอง ไม่อยากให้รู้สึกว่าสีนี้คือความหวาน หรือความอะไรเลย เราอยากให้เขารู้สึกว่าสีนี้มันธรรมดา เป็นสี natural บวกกับการ decoration ต่างๆ เราก็ไม่ได้ดันไปในทางนั้นเลย ทำให้ลูกค้ากล้าที่จะใช้สีนี้มากขึ้น แล้วก็สนุกกับมันด้วย

กับงานอินทีเรียร์ คุณมีวิธีหรือสไตล์การทำงานยังไง

เราพบว่าอินทีเรียร์เป็นกึ่งๆ งานเซอร์วิส ไม่ใช่งานขาย มันไม่ได้แค่การดีไซน์อย่างเดียว แต่มันอาศัยการคุยกับคนให้เชื่อในสิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราคิด พรีเซนต์ยังไงให้สิ่งที่เราคิดอยู่มันถูกต้องกว่าสิ่งที่เขาคิด และส่วนใหญ่งานที่เราเจอคือบ้าน ซึ่งอินทีเรียร์บางคนจะไม่ชอบทำบ้าน เพราะมันต้องดีลกับอะไรที่เป็นความชอบส่วนบุคคลมากๆ เราไม่มีทางรู้ว่าแต่ละคนมีพื้นฐานอะไร ไปเจอหรือเคยได้เห็นอะไรมา แล้วสิ่งไหนคือสิ่งที่เขาคิดว่ามันสวย มันยากมาก จริงๆ สตูดิโออินทีเรียร์มีเยอะนะ การที่ลูกค้าเลือกเดินมาหาเราก็ถือเป็นการสกรีนระดับหนึ่งแล้วว่าเขาเคยเห็นงานของเราผ่านตามาบ้าง เขาคงจะชอบอะไรบางอย่างจากงานเก่าๆ ของเรา มันก็จะคุยกันง่ายขึ้น 

เวลาเราทำงาน เราคิดถึง experience design ไม่ได้วางห้องรับแขกแล้วก็ตกแต่ง สิ่งแรกที่เราคิดคือ journey เราคิดว่าเราเป็นคนอยู่ในหลังบ้านนี้ เราจะเจออะไรบ้าง 1 2 3 4 เช่น สิ่งแรกที่ทำตอนเข้าบ้านคือถอดรองเท้า คุณต้องมีโถงแบบนี้ เข้ามาต้องเจออะไร เห็นอะไร ความรู้สึกแต่ละโซนที่เดินผ่านไป ตรงนี้อยากให้รู้สึกผ่อนคลาย ตรงนี้อยากให้รู้สึก formal สำหรับคนที่ไม่สนิทให้มาอยู่ตรงนี้ คือเราคิดเป็น journey ไป เขาก็จะรู้สึกว่าพอบ้านเขาเสร็จแล้วเขาต้องจัดการอะไรตรงไหน แต่ว่าบางคนไม่ได้คิดอะไรแบบนี้ คิดแต่ว่าภาพต้องออกมาเป็น 3D แล้วสวย

หรืออย่างบ้านคนไทยส่วนมากจะไม่ชอบให้กั้น เดี๋ยวบ้านดูแคบ ขอแบบโล่งๆ พอโล่งปุ๊บสิ่งที่เกิดขึ้นคือไม่มีที่เก็บของ พออยู่ไปของก็เริ่มงอกขึ้นมาเต็มบ้าน กลายเป็นรกกว่าเดิม เราก็จะคุยกับเขาตั้งแต่แรกว่าสิ่งที่ต้องมีมันต้องมีนะ แต่เรามีวิธีการว่าควรจะเก็บไว้ตรงไหนเพื่อไม่เข้ามาทำลายพื้นที่กับความสวยงาม

อะไรคือสิ่งที่คุณมักจะคิดเผื่อหรือทำให้ลูกค้าเสมอ

เวลาเราทำงานเราจะเหลือสเปซไว้ เราไม่ต้องการทำภาพไฟนอลร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะว่านี่คือบ้านเขาไม่ใช่บ้านเรา เพราะฉะนั้นเราต้องการให้บ้านหลังนี้เป็นตัวตนของเขา เราจะเหลือสเปซอย่างเช่นเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่ง เราเพียงแค่แนะนำประมาณหนึ่งว่า ประมาณนี้เหมาะกับบ้านนะ ชอบวินเทจมั้ย หรือชอบแสกนดิเนเวีย ชอบของใหม่หมดเลย หรือชอบมิกซ์แอนด์แมตช์ เราต้องเคลียร์กับเขาให้จบก่อนเพราะจะได้รู้ความต้องการ บางบ้านจะชอบเฟอร์นิเจอร์เก่ามาก ผูกพันกับของสมัยย่ายาย หรือต้องการเปลี่ยนใหม่หมดเลย แต่ว่าสิ่งที่คุณชอบเป็นสไตล์ประมาณไหน จะคลาสสิกจะอะไรมีได้หมด เราทำหน้าที่ดูแลว่าจะทำให้พอดีที่ตรงไหน

ตลอดอาชีพการเป็นนักออกแบบ เทรนด์การแต่งบ้านเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

ถ้าพูดถึงโดยรวม แต่ก่อนจะมีความรู้สึกว่ามันมีความ niche มากคนที่สนใจอินทีเรียร์หรือสนใจดีไซน์ เราอยู่มาตั้งแต่ยุค 90s ซึ่งก็ยังไม่มีโซเชียล ดังนั้นหาตัวอย่างงานดูยาก อย่างหนังสือก็จะแพงมาก คนก็ยังไม่ได้มีความชอบหลากหลายหรือมีสไตล์ชัดเจน ก็เหมือนแฟชั่นแหละ มายุคนี้มันก็ดีนะมีอะไรให้ดูเยอะเลย แต่ว่าก็ยังขาดความเข้าใจ เราจะหาของตามร้านในอินสตาแกรมมาแต่งบ้านเองตามชอบยังไงก็ได้นะ แต่ว่าเขาอาจจะไม่รู้ว่ามันเป็นของปลอม หรือใครเป็นคนออกแบบงานชิ้นนั้น กลายเป็นอะไรที่ฉาบฉวยเกินไป มันอาจจะสวยแค่ตอนนี้ แต่เมื่อนานวันมันอาจจะไม่ใช่ตัวเขา เฟอร์นิเจอร์ควรอยู่กับเราได้นานๆ ดูสิราคาแต่ละตัวตั้งเท่าไหร่

การรู้ให้ลึกมันสำคัญยังไง

เรามักจะสอนนักเรียนเสมอว่าเวลาเห็นอะไรที่ชอบ อย่าหยุดแค่ว่าเราชอบ เราควรจะดูต่อว่าแบรนด์อะไร ดีไซเนอร์คือใคร ดีไซเนอร์คนนี้เขาเคยออกแบบอะไร สไตล์เขาเป็นยังไง พอเราเข้าใจงานของนักออกแบบหลายๆ คน เราก็จะเริ่มดูออกว่างานของใครเป็นแบบไหน จากนั้นจะเริ่มปะติดปะต่อความชอบเราได้มากขึ้น ดังนั้นแทนที่เราจะแรนด้อมดูรูปไปเรื่อยๆ ถ้าเราศึกษาโดยการหาคนที่ดีไซน์ แล้วไปดูต่อว่า inspiration เขามาจากไหน เขาเคยผ่านแบรนด์อะไรมา เราก็จะรู้แล้วว่างานสไตล์แบบนี้ใช้กับอะไร ก็จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น ดีกว่ามั่วๆ ไป

สมมติมีลูกค้าเข้ามาบอกอยากได้บ้านแบบมูจิ อย่างนี้คุณทำให้ได้ไหม

ทำได้ๆ ทุกวันนี้ก็มีโจทย์แบบนี้อยู่

แล้วอะไรคือลายเซ็นหรือสิ่งที่คุณมักจะใส่ลงไปในงาน

พวก element โค้งๆ เราทำมาก่อนที่จะฮิตกันนะ ซึ่งครั้งแรกสุดมาจากลูกค้าอยู่ภูเก็ตอยากได้บ้านแนวชิโนโปรตุกีส พอทำไปทำมาก็เกิดเป็นซิกเนเจอร์ จะมีความเป็นสแกนดิเนเวียอยู่ เพราะว่าเราได้รับอิทธิพลมาเยอะเหมือนกัน เป็นความ luxury แต่ว่า low key เราไม่ชอบความตะโกน เราชอบที่เรารู้ เขารู้ มันมีดีเทลอะไรบางอย่างที่มีความพิถีพิถัน ทุกอย่างเป็น custom design เราไม่เอาฟอร์แมตจากบ้านนี้มาใส่บ้านนี้ คือเราเริ่มใหม่ทุกครั้ง แต่ว่า element บางอย่างที่ต้องมีก็ยังต้องมี แต่เราจะทำด้วยดีไซน์พิเศษสำหรับบ้านหลังนี้ บาลานซ์ตามงบประมาณที่มี

Blackpink in your area!

Pumate Techabanjerd
Position: Founder & Design Director
Office: Huippu design

“เวลาเห็นสีชมพูในร้านเสื้อผ้า เราจะพุ่งไปหามันก่อน สมมติว่ามีสีอยู่ 5 สี เราก็สีชมพูหรือดำไปเลย แต่สีที่เป็นสีหลักก็คือสีชมพู” นี่คือคำสารภาพของหนุ่มนักช้อปฯ

ไม่บอกก็พอจะนึกออกว่าตู้เสื้อผ้าของเขามีสีชมพูกี่สิบเฉดสี เราจึงขอให้เขาเล่าวิธีมิกซ์แอนด์แมตช์ชุดสีชมพูแบบ 3 Level 

LEVEL 1

“อันดับแรก ถ้าอยากสนุกก็ต้องเปิดใจก่อน แต่สีชมพูที่เราพูดถึงคือสีเฉดนี้ เฉดอ่อนไม่ใช่เฉด shocking pink ซึ่งมันก็ง่าย มันมีความสุภาพ เป็นสีสุภาพ ดูสบายตา ใส่กับอะไรก็ได้ ถ้ากลัวหวานไปก็อาจจะต้องเลือกอะไรที่ซิมเปิลหน่อย ไม่ต้องมีระบาย ใส่ซิลูเอตที่สบายๆ หรือใส่กับยีนส์อะไรก็ได้ ไม่ต้องให้มันดูเป็นชุดฟิตรัดแล้วกระโปรงบาน”

LEVEL 2

“ถ้าอยากสนุกขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะบวกกับไอเทมที่เป็นแฟชั่นมากขึ้น เราอาจจะใส่เป็นเสื้อคร็อปบ้าง เอวสูง เสื้อกล้ามบ้าง ลองเอามาใช้ดูได้ ใส่กับอะไรที่อยู่ในกระแส จริงๆ ไอเทมสีชมพูมีเกือบทุกแบรนด์ และมันกลายเป็นสีขายดีถ้าสังเกตได้”

LEVEL 3

“เลเวลที่สามก็คือใส่ทุกไอเทมไปเลย head to toe และเพื่อให้ดูไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ต้องดูกาลเทศะว่าไปไหน ไปเที่ยวไปปาร์ตี้ก็จัดเต็มได้ สิ่งที่ต้องระวังคือ เวลาคิดภาพการแต่งตัวเราก็ต้องเรเฟอเรนซ์ไปหาคนที่ดูเท่ ไม่ใช่เรเฟอเรนซ์ไปทางปาร์ตี้ และพยายามเรเฟอเรนซ์ไปทางคอนทราสต์ ดูคูล บวกกับแอตทิจูดตอนใส่ ต้องไม่ดูลั้ลลากระโปรงบาน”

“จริงๆ ตอนนี้เขาก็รณรงค์ว่าใส่อะไรก็ได้ ห้าม body shaming คนอวบอาจจะใส่เสื้อพอดีตัวมากๆ ก็ได้ถ้าเรามั่นใจ 

“กลับมาที่เรื่องสีชมพูคนที่มีปัญหาส่วนใหญ่คือคนที่ให้ค่าว่ามันดูเฟมินีนมาก ถ้าเรามองว่ามันไม่ใช่ มันเป็นอย่างอื่นได้ เราก็จะหาวิธีแต่งตัวออกมาได้เอง เช่น เราก็ใส่ชุดเดรสบ้าง แต่ว่าจะเป็นเดรสที่ไม่มีเคิร์ฟใดๆ เพราะเราไม่ได้ต้องการแต่งหญิง เรามองว่าอันนี้คือไอเทมหนึ่งที่ผู้ชายก็ใส่ได้ บอดี้ผู้ชายใส่ได้ เราคิดอย่างนั้น ช่วงนี้เราสนใจเสื้อที่มีแพตเทิร์นยากๆ อย่างแบรนด์ Enföld ของญี่ปุ่น มันจะมีความเป็น feminist designer ความเป็น COMME des GARÇONS ที่มีซิลูเอตที่ใหญ่หน่อย เราชอบความยูนิเซกซ์ของมัน หรือแบรนด์ LEMAIRE ก็ชอบมาก ตอนนี้รอคอลเลกชั่นของ Phoebe Philo เขาบอกว่าเขา launch ปีนี้”

“Phoebe Philo ก็เป็นดีไซเนอร์ที่ให้อินสไปร์มาก ทั้งจากงานเขาและตัวเขา ตอนที่เขาทำแบรนด์ CELINE ต่อเนื่องมาถึงการปรับวิธีออกแบบช็อปใหม่ให้คล้ายเป็นอาร์ตแกลเลอรีซึ่งเขาเป็นคนแรกที่ทำ แต่ก่อนช็อปแฟชั่นทุกแบรนด์จะดูเป็นโชว์รูม แต่ของ CELINE ทำเป็นที่นั่งเล่น มีโซฟา ชั้นเรียบๆ วางกระเป๋าห่างๆ แล้วก็หินเอามาตั้งเป็นเคาน์เตอร์ เรารู้สึกว่ามันมีความเท่มาก มีอาร์ตไดเรกชั่นที่เราเห็นแล้วมีสไตล์ชัดเจนมาก บางที element ในการดีไซน์บางอย่างเราก็ดูจากตรงนี้ และเขาก็เป็นไบเบิลเล่มหนึ่งเลย”

“นอกจากซิลูเอตของชุด เราดูเสื้อผ้าจากแมตทีเรียลค่อนข้างเยอะ เราไม่ได้ซื้อเยอะเหมือนสมัยก่อน เรายอมซื้อแพงขึ้นเพื่อให้ได้ผ้าที่ดี ฝีมือดี คัตติ้งดูดี” เจเล่าเคล็ดลับการซื้อหาชุดสนุกๆ สไตล์นักออกแบบ

“สีชมพูเฉดไหนที่แทนความรู้สึกตอนนี้ได้ดีที่สุด” เราถาม

“C = 0, M = 24, Y = 0, K = 0” เจ ตอบเป็นค่า CMYK สีประจำตัวของสตูดิโอ Huippu ซึ่งเป็นสีชมพูตรงกลาง ไม่ดูพาสเทลเกินไป แค่ออกไปทางตุ่นๆ ให้ความรู้สึกร่วมสมัยและก็ดูคลาสสิก

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like