Dare to Slowcombo

Slowcombo คอมมิวนิตี้สเปซที่อยากสร้างพื้นที่ให้ผู้มาเยือนรักตัวเอง รักผู้อื่น และรักโลก

ในยุคที่ความวุ่นวายเป็นส่วนหนึ่งเข้ากับสังคม โลกขับเคลื่อนไปข้างหน้า ในขณะที่ผู้คนต้องคอยวิ่งตามให้ทัน เมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้คนจำนวนไม่น้อยเริ่มขวนขวายหาที่พักใจจากอาการเหนื่อยล้าที่สะสมมาเป็นเวลานาน 

แล้วที่ไหนเล่าจะเหมาะสมไปกว่าสถานที่ตรงหน้าเราตอนนี้

Slowcombo คือสถานที่ที่เรากำลังกล่าวถึง อาคารที่ตั้งตระหง่านอยู่ในใจกลางสามย่าน ย่านเมืองเก่าที่ห้อมล้อมไปด้วยความเจริญ ซึ่งแลกมากับความวุ่นวายของคนเมืองที่กำลังพยายามใช้ชีวิต แต่ ณ จุดศูนย์กลางแห่งความว้าวุ่น ก็ยังมีคอมมิวนิตี้สเปซแห่งนี้ตั้งอยู่เพื่อรอให้ผู้คนเข้ามาพักใจจากวันที่สาหัส

ผู้ร่วมก่อตั้ง Slowcombo คือ อิ๊บคล้ายเดือน สุขะหุต หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Sretsis แบรนด์เสื้อผ้าจากสามพี่น้องที่มีมายาวนาน และ คุณโต๋–นุติ์ นิ่มสมบุญ เจ้าของสตูดิโอออกแบบ Slowmotion และผู้ก่อตั้งแบรนด์พัดลมสุดเท่อย่าง บังกะโล

จุดเริ่มต้นในการทำ Slowcombo ของทั้งสองเกิดจากการย่างเท้าเข้าสู่บทบาทคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องแบกรับความเครียดจากทั้งหน้าที่การงานและยังต้องบาลานซ์การดูแลครอบครัวโดยการเป็นตัวอย่างพ่อแม่ที่ดีให้แก่ลูก

“จากเป็นแค่คนที่ทำงานเฉยๆ กลายมาเป็นคุณพ่อ เป็นคุณแม่ เป็นคุณน้า คุณป้า คุณลุง และเป็นหลายๆ สถานะ อิ๊บรู้สึกว่าการที่เราจะแชร์ประสบการณ์ หรือการที่เราพยายามจะวางพื้นฐานที่ดีให้กับลูกมันต้องเกิดที่ตัวเราก่อน ก่อนที่จะสอนลูก”

แม้ว่าทั้งสองจะยังไม่เคยสัมผัสการสร้างคอมมิวนิตี้มาก่อน แต่ทั้งสองก็มีความสุขและสนุกที่จะได้ถ่ายทอดเรื่องราวสุขภาวะที่พวกเขาได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมสนุกๆ ที่คอมมิวนิตี้

“ตอนนี้ Slowcombo กลายเป็นแพสชั่นโปรเจกต์ท่ีเราสนุก เราได้ลองอะไรใหม่ๆ สำหรับพี่โต๋ก็เหมือนกัน มันกลายเป็นว่าเราเอาประสบการณ์หรือทักษะในการทำงานที่เรามีมาประยุกต์กับสิ่งใหม่ในสิ่งที่เราอยากเรียนรู้ แม้ว่าเราจะไม่ได้มาจากอุตสาหกรรม wellness หรือการทำพื้นที่สร้างสรรค์มาก่อน” 

หญิงสาวกล่าวอย่างตื่นเต้นก่อนที่บทสนทนาจะค่อยๆ ลงลึกถึงเบื้องหลังสถานที่แห่งนี้

สนามฝึกฝนความสุข 

ก่อนจะมาเป็นตึก Slowcombo เดิมที่นี่เคยเป็นทั้งโรงหนังสามย่าน สถานที่เรียนของนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปัจจุบันได้กลายมาเป็นที่พักใจของใครหลายๆ คน  หากว่าเดินเข้ามาภายในอาคารแล้ว จะเห็นได้ว่าโครงสร้างส่วนหนึ่งของอาคารยังคงเค้าโครงเดิมให้เห็นอยู่

“เมื่อเดินเข้ามาในตึก Slowcombo จะเห็นฉากเหล็ก การผูกของเหล็ก ซึ่งเรารู้สึกว่า ยุคนี้เราไม่เห็นอะไรแบบนี้แล้ว เรารู้สึกว่ามันคือความสวยงามที่มาจากภายใน เหมือนกันกับปรัชญาของ Slowcombo ที่อยากให้ทุกคนกลับไปสู่ความสวยงามแบบ raw beauty 

 “มันก็เหมือนตึกนี้ที่เราต้องการโปรโมตให้คนกลับเข้าไปสำรวจข้างในตัวเองมากขึ้น เราไม่อยากให้คนมองแค่ความสวยงามที่มาจากด้านนอกอย่างเดียว เราต้องการให้คนเห็นว่าสิ่งไหนที่มันดีต่อใจ หรือช่วยให้เขาพัฒนาข้างในให้มีความสวยงามและมีคุณค่ามากขึ้นได้ ซึ่งโครงสร้างของตึกมันไปได้ดีกับคอนเซปต์ของ Slowcombo ที่ว่า health and well-being ต้องมาจากด้านใน” อิ๊บถ่ายทอดเรื่องราวของตึกให้เราฟัง

“What is one thing you could do to take better care of yourself” หรือ “ทำยังไงให้เราดูแลตัวเองได้ดีขึ้น” คือสิ่งที่อิ๊บคิดขณะที่เธอกำลังวางโครงการทำตึกนี้

ทั้งสองเล่าว่าเป้าหมายในการทำตึกของที่นี่คือการเล่าเรื่องเครียดให้สนุก ไม่น่าเบื่อ ผ่านการเล่าจากภาษาที่ตลกหรือกิจกรรมที่สนุก เช่น อินสตาแกรมโพสต์ ที่บอกเล่าเรื่องราวของดวงจันทร์ที่เคลื่อนย้าย หรือสื่อสาระน่ารู้เรื่องกาย ใจ และการรักษ์โลก กิจกรรม pickleball ที่คนจะได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเองและคนอื่นมากขึ้น การดูสีออร่าของตัวเองเพื่อให้รับรู้อารมณ์ของตัวเองมากขึ้น หรือจะเป็นกิจกรรมรักษ์โลกอย่างการทำกระเบื้องจากวัสดุชีวภาพ (Biomaterials) จากนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติ (INDA) จุฬาฯ และสิ่งที่ Slowcombo ให้ความสำคัญมากที่สุดคือต้องรู้จริงและรู้แน่ชัดว่าต้องการที่จะส่งสารแบบไหนไปให้คนที่มาที่นี่

“มันเหมือนหลักพุทธศาสนานั่นแหละ เราต้องมีสติในการใช้ชีวิต แต่เรารู้สึกว่าหลักพุทธศาสนาถ้าเราเอามาพูดกับคนรุ่นใหม่ ไปวัด นุ่งขาว คงจะไม่มีใครอยากมาหาเราที่นี่ เราเลยเอาคำว่า mindfulness มารวมกับ playground เราอยากทำให้ทุกคนมองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่เขาได้เล่นสนุก ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ ที่สร้างความสุขให้กับพวกเขา นี่คือสิ่งที่เราจะพยายามทำให้ได้เพื่อทุกคน” อิ๊บพูดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ก่อนจะเล่าถึงแก่นหลักที่ทั้งสองอยากให้คนที่มาที่นี่ได้รับไป 

“แก่นหลักๆ ที่ทุกคนจะได้รับจากที่นี่คือ เราอยากให้คนเกิดการรักตัวเอง (self love) รักตัวเองเสร็จก็ต้องรักผู้อื่น (love other) แบ่งสิ่งดีๆ ให้กับผู้อื่น รักผู้อื่นแล้วเราก็ต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างที่เราทำมันคือการรักษ์โลก (love the world) ของเราด้วย เพราะเราก็อยากทิ้งสิ่งดีๆ ให้กับคนรุ่นถัดไป ในขณะที่รุ่นเรายังอยู่ในเมือง อากาศดีได้ เปิดประตู เปิดหน้าต่าง แต่พอถึงรุ่นลูกเราเขาไม่สามารถอยู่ในเมืองได้แล้ว เพราะมีแต่มลพิษ ฝุ่น PM2.5 เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้” 

ณ ที่นี่ คุณต้องกล้า 

“ความไม่กล้าเป็นจุดบอดของคน” โต๋บอกกับเราในช่วงหนึ่งของการสนทนาถึงวิธีคิดเบื้องหลังในการออกแบบกิจกกรรม

“เหมือนการเล่นเครื่องเล่น ถ้าคุณไม่กล้าเล่น คุณก็ไม่ได้ความสนุกใช่เปล่า เหมือนกันกับที่นี่ ถ้าไม่กล้าไปเข้ากิจกรรม ไม่กล้าลอง ก็จะไม่ได้ประสบการณ์ความสนุกแน่นอน เพราะฉะนั้นสุขภาวะที่ดีจะเกิดได้ก็ต้องกล้าที่จะเปิดโลกให้กับตัวเอง”

เมื่อเดินเข้ามาข้างในจะพบกับป้ายบอกชั้นของตึก ที่มีด้วยกันทั้งหมด 3 ชั้น ชั้น 1 ‘Eat wisely’ เต็มไปด้วยของกินที่คัดสรรความอร่อยและดีต่อสุขภาพ ชั้น 2 ‘Live slowly’ จะได้เจอกับกิจกรรมในห้อง Energy Space ที่พร้อมมอบความสนุกและการตื่นรู้ (awakening) ให้กับทุกคน ชั้น 3 ‘Move creatively’ เป็น active space ที่มีโซน Pickleball รอให้คุณได้มาเหวี่ยงความเหนื่อยล้าออกจากตัว

โต๋บอกว่าทุกอย่างที่นี่ต้องใช้ความกล้า 

กล้ากิน กล้าลอง กล้าทำ

ชั้น 1 เริ่มการสำรวจ

เมื่อเดินเข้ามาในตึก นอกจากกลิ่นอายของความขลัง ผู้ที่มาเยี่ยมชมก็จะได้กลิ่นอาหารหอมๆ ที่มาจากครัวต่างๆ ภายในตึก โดยร้านอาหารที่ตั้งในตึกนี้ถูกเลือกแล้วเลือกอีกจากทีมงาน Slowcombo เพื่อให้คนที่มาได้ทานอาหารสุขภาพทางเลือก ที่ได้ทั้งสุขภาพบาลานซ์ไปกับความสดอร่อย ซึ่งความน่าสนใจของร้านไม่ใช่แค่ความอร่อยหรือความสุขภาพดี แต่ทุกร้านยังบรรจุไปด้วยเรื่องราวที่รอถ่ายทอดผ่านอาหารมื้อนั้นๆ ที่ถูกส่งผ่านมาถึงมือคุณ

เช่น ‘ครัวแม่คำนวณ’ ที่คำนวณแคลฯ ให้คนกินเรียบร้อยไม่ต้องกังวลว่าแคลฯ มื้อนั้นๆ จะเกินจากที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือ ‘Good Cha’ ที่คัดสรรชาคุณภาพดีส่งตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น มีชาให้เลือกหลากหลายเหมาะสำหรับสายรักชาและชาววีแกน เพราะใช้นมข้าวโอ๊ตและนมถั่วเหลืองแทนการใช้นมวัว หรือร้านน้ำปั่นสมูตตี้จาก ‘Self.’ ที่มีผักผลไม้หลากหลายใน 1 แก้ว มาพร้อมกับแพ็กเกจน่ารักๆ และคุณประโยชน์ที่ไม่ซ้ำกันในแต่ละแก้ว สำหรับใครที่เบื่ออาหารไทยอยากลองอาหารต่างประเทศ ‘Son of Saigon’ ก็พร้อมที่จะเสิร์ฟอาหารเวียดนามต้นตำรับ หรือถ้าวันไหนรู้สึกระบบลำไส้มีปัญหาก็ไม่ต้องห่วง เพราะมี ‘Green Geek’ ร้านที่พร้อมจัดเสิร์ฟคอมบูชะให้แก่กระเพาะ

อีกส่วนที่ภูมิใจนำเสนอของที่นี่คือ ‘Co-Cafe’ ที่มาพร้อมกับคอนเซปต์แปลกใหม่ตามแบบฉบับ Slowcombo ที่นี่เปิดโอกาสให้ผู้ขายรายใหม่ที่อยากลองมีหน้าร้านเป็นของตัวเองได้มาเช่าที่ในระยะเวลา 3-4 เดือน แถมอุปกรณ์แต่งร้านให้ครบครัน โดยร้านล่าสุดที่มาตั้งคือร้าน ‘Roti Dood’ ที่มาพร้อมกับเมนูโรตีที่หลากหลาย จุดเด่นของร้านนี้คือ น้ำมันที่ใช้ในการทอดโรตีเป็นน้ำมันมะพร้าว

“ร้านที่เราเลือกมาก็ตามคอนเซปต์ของที่นี่ อร่อย เข้าใจง่าย ทุกคนมีความสุข ร้านอาหารที่เลือกมาอร่อยแน่ๆ แต่ว่าการทำร้านอาหารหน้าร้านมันมีขั้นตอนหลายอย่างมากกว่าการขายในออนไลน์ เราทำเพราะอยากให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้เติบโต คนที่มาสมัครส่วนใหญ่ถ้าไม่เอาก็คือไม่เอาเลย เพราะร้านที่จะมาขายที่ Slowcombo ได้ต้องตรงกับคอนเซปต์ที่วางไว้ คืออาหารต้องอร่อย กระบวนการทำอาหารต้องตอบโจทย์ความยั่งยืนและเป็นอาหารทางเลือกสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค ส่วนคนที่สนใจเขาก็เอาเลย คือเขาอยากลองว่าถ้ามีหน้าร้านจริงๆ แล้วมันจะเจออะไรบ้าง ซึ่งผมว่ามันก็เป็นบทเรียนสำหรับเราและเขา เขาได้มีโอกาส ส่วนเราก็ได้เห็นว่าเขาสามารถเขาเติบโตไปได้แค่ไหน” โต๋บอกถึงขั้นตอนในการเลือกร้าน

นอกจากนี้ Slowcombo ยังมีแพลนที่จะนำอาหารที่เหลือเข้าร่วมโครงการกับมูลนิธิรักษ์อาหาร (SOS Thailand) เพื่อไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการ และลดขยะอาหารที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละวัน ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของที่นี่ คือ รักตัวเอง รักผู้อื่น และรักษ์โลก

ชั้น 2 ก้าวผ่านความกลัว 

กิจกรรมของชั้น 2 มีหลากหลายกิจกรรมให้เลือกสรรทั้งร้านค้า ร้านดอกไม้ และพื้นที่ทำกิจกรรมประจำสัปดาห์สุดพิเศษสไตล์ Slowcombo แต่ทุกกิจกรรมที่นี่ต้องใช้ความกล้า แน่นอนว่าทุกคนมีนิยามความกล้าที่แตกต่างกัน แต่สำหรับที่นี่ความกล้าคือการกล้าที่จะได้ลองทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่อาจจะยังไม่เคยได้ลองทำ โดยไม่ให้ความกลัวมาเป็นอุปสรรคในการลองทำอะไรที่ต่างจากสิ่งที่เคยทำในชีวิตประจำวัน 

ชั้นสองจึงสร้างมาเพื่อให้คนที่มา Slowcombo ได้ก้าวผ่านความกลัวในการลองทำกิจกรรมที่แปลกใหม่ และปลดปล่อยความรู้สึกที่อยู่ข้างในออกมาผ่านกิจกรรมที่ทาง Slowcombo เตรียมไว้ให้

เมื่อก้าวบันไดขึ้นไปบนชั้น 2 ด้านหน้าจะเป็นร้าน ‘Regrow’ ร้านข้าวของเครื่องใช้จิปาถะที่สร้างขึ้นมาสำหรับคนที่อยากจะรักษ์โลกและรักในดีไซน์ มีทั้งปิ่นโตพับได้ ไขผึ้งห่ออาหาร และยังมี refill station ที่สามารถนำขวดหรือบรรจุภัณฑ์มาเติมสบู่ แชมพู ยาสระผม เป็นต้น โดยแนวคิดของร้านนี้เกิดขึ้นมาจากแนวคิดการมีสุขภาวะที่ดีของอิ๊บ

“เมื่อเราจะซื้ออะไรก็ตาม เราต้องคิดว่าของสิ่งนี้สามารถอยู่กับเราได้นานหรือเปล่า มันไม่ใช่แค่อยากซื้อแล้วซื้อ แต่ว่ามันคิดไปจนถึงว่าของสิ่งนี้จะไปอยู่ตรงไหนต่อ ซึ่งก็เหมือนกันกับตึกนี้ สิ่งสำคัญที่เราอยากให้คนได้จากตึกนี้คือ ของที่ทุกคนซื้อไปจากที่ร้าน Regrow จะสามารถอยู่กับเขาไปได้ยาวๆ”

ถ้าหากเรามองไปทางด้านซ้าย เราก็จะเจอเข้ากับร้านดอกไม้ ‘Malibarn’ ที่รอให้ทุกคนได้เข้าไปชื่นชมกับดอกไม้ออร์แกนิกจากชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่ และมีกิจกรรมจัดดอกไม้เพื่อให้ได้ใช้เวลากับตัวเอง แต่กิจกรรมของชั้น 2 ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ เพราะชั้นนี้ยังมีห้อง Energy Space ที่มีกิจกรรมประจำสัปดาห์สำหรับคนที่อยากมาใช้เวลากับตัวเอง ทำให้ตัวเองตื่นรู้จากบางสิ่งที่หลงลืมอยู่ในจิตใจส่วนลึก

“กิจกรรมต่างๆ จะขึ้นอยู่กับธีมของแต่ละเดือน หรือปฏิทินจันทรคติ เพราะที่นี่เราเชื่อในพลังพระจันทร์ เขาพูดว่าพระจันทร์สามารถทำให้เกิดน้ำขึ้น-น้ำลงได้ ในขณะที่ร่างกายมนุษย์มีน้ำถึง 70% ทำไมพระจันทร์ถึงจะไม่ส่งผลกับร่างกายมนุษย์”

ความน่าสนใจของห้องนี้คือ ภายในห้องออกแบบให้เหมือนกับว่าคุณได้หลบหนีจากโลกภายนอกไปสู่อีกที่หนึ่ง ห้องนี้ถูกตกแต่งโดยคุณชารีฟ ลอนา และทีมออกแบบภายในจาก Studio Act of Kindness กิจกรรมในห้องมีทั้ง Sound Healing กิจกรรมอาบคลื่นเสียงผ่านขันหิมาลัย หรือคริสตัลโบวล์ พิธีดื่มคาเคาศักดิ์สิทธ์อย่าง CaCao Ceremony มีสติด้วยการเต้นผ่านกิจกรรม Sircle หรือทำกิจกรรมกับครอบครัวผ่าน Family Yoga 

และที่สำคัญไม่ต้องกลัวว่ากิจกรรมจะมีแต่ภาษาอังกฤษ เพราะที่นี่กิจกรรมทุกอย่างมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมโอบกอดทุกเชื้อชาติ เพราะความต้องการของที่นี่คืออยากให้สุขภาวะที่ดีเข้าถึงคนไทยได้มากขึ้น 

“วันนั้นมีคนไทยคนหนึ่งมาเข้ากิจกรรม sound healing แล้วเขาบอกว่า ‘ดีมากเลยที่นี่มีภาษาไทยด้วย’ เพราะว่าตอนที่เขาไปที่อื่น เขาไม่กล้าเข้าไปร่วมกิจกรรมหรือไม่กล้าที่จะพูด แต่เมื่อได้มาลองทำกิจกรรมที่นี่เขารู้สึกกล้าและรู้สึกสบายใจมากขึ้น” อิ๊บเล่าถึงหนึ่งในเสียงตอบรับของคนที่มาทำกิจกรรมในห้อง Energy Space

ชั้นที่ 3 ชั้นเรียกเหงื่อ

“หลังจากเรานั่งทำงานมาทั้งวัน ถ้าได้ออกกำลังกายเราคงจะรู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เราเลยอยากให้คนได้มีช่วงเวลาที่เขารู้สึกดีกับตัวเองเมื่อมาที่นี่เท่านั้นเอง” โต๋เล่าที่มาของกิจกรรมบนชั้น 3 

เมื่อเดินขึ้นมาที่ชั้นนี้จะเห็นสนาม pickleball กีฬาที่ผสมผสานกีฬา 2 ชนิดระหว่างปิงปองและแบดมินตัน ซึ่งถูกคิดค้นโดยครอบครัวหนึ่ง เพื่อหาอะไรทำยามว่างในช่วงฤดูร้อน 

จุดที่ยืนอยู่ ณ ตอนนี้เรียกว่า Active Space

“ถ้าถามว่ากิจกรรมอะไรที่เหมาะกับที่นี่คงเป็นกิจกรรมที่มีความง่าย อย่าง pickleball ก็คือมันง่ายต่อทุกคน หลังเลิกงานไม่ต้องมีอุปกรณ์มา หรือว่าไม่ต้องมีทักษะ เหมือนกับการตีปิงปอง ไม่ต้องมีสกิลมาก่อน ทุกคนมาคลายเครียด มาผ่อนคลายกับเพื่อน มาหัวเราะกันที่คอร์ต แค่นี้เขาก็กลับบ้านอย่างอารมณ์ดีแล้ว

“ความท้าทายของที่นี่คือทุกคนต้องกล้า เรามีกิจกรรมเยอะมากและมีประโยชน์ด้วย แต่ความท้าทายของที่นี่คือ คุณจะกล้ามาลองทำกิจกรรมเหล่านี้ที่เรามีหรือเปล่า”

โอบรับประสบการณ์ใหม่

“ที่นี่แตกต่างจากที่อื่น เพราะเราไม่ได้มองว่าที่นี่เป็นร่มที่มีแต่เรื่อง meditate และ sound healing เรายังมีการผสมผสานไปกับงานอาร์ต งานทอล์ก งานสนุกๆ บวกกับสอดแทรกเรื่องสุขภาวะที่ดี เหมือนเป็นการ combo กิจกรรมให้บาลานซ์กัน” นี่เป็นอีกหนึ่งนิยามของตึก Slowcombo หรือ mindfulness playground พื้นที่ที่สร้างขึ้นมาสำหรับทุกคน

กิจกรรมที่ Slowcombo ไม่ได้หมดแค่ที่กล่าวมาข้างต้น แต่ที่นี่ยังมีกิจกรรมที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน

“ความสนุกของที่นี่อีกอย่างคือ การที่คนติดต่อเราเข้ามาเรื่อยๆ เพื่อที่จะเช่าสเปซ ทั้งคนที่รู้และคนที่ไม่รู้คอนเซปต์เราก็ต้องดูว่าเขาอยากทำนิทรรศการอะไร และคอนเซปต์ของนิทรรศการนั้นคืออะไร ตรงกับคอนเซปต์ของที่ Slowcombo ไหม” โต๋เล่าถึงเสียงตอบรับ

กิจกรรมต่างๆ เกิดจากแนวคิดที่อยากโอบกอดผู้เข้าชมทุกวัย ให้ทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการมาทำกิจกรรมที่ตัวเองสนใจ แน่นอนว่าทุกกิจกรรมมีความน่าสนใจแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าใครจะชอบกิจกรรมแบบไหน ทำให้ที่นี่ต้องมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อที่จะสามารถรองรับความต้องการที่แตกต่างของทุกคนได้

“กลุ่มเป้าหมายหลักของที่นี่มีตั้งแต่นักศึกษามหาลัย (college student) วัยทำงาน (young professional) และนักเก็บเกี่ยวประสบการณ์ (world explorer) ซึ่งในสามกลุ่มนี้เราไม่ได้มองว่าเราอยากเจาะกลุ่มวัยใดวัยหนึ่งอย่างเดียว แต่เราอยากทำให้ทุกคนมองว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เล่นสนุก ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ และสร้างความสุขให้กับพวกเขา นี่คือสิ่งที่เราจะพยายามทำ” 

Slowcombo เป็นแพสชั่นโปรเจกต์ แต่อีกแง่หนึ่งในโลกของทุนนิยมที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยเงิน การจะประสบความสำเร็จต้องเกิดจากการวางแผนทางธุรกิจอย่างรอบคอบ

“เราอยากจะสร้างให้ที่นี่เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเองได้ แต่ต้องเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับคนได้เช่นเดียวกัน เราไม่ได้อยากผลิตอาหารที่ขายแล้วรายได้ดี แต่เป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ หรือผลิตของใช้ที่มันจะกลายเป็นขยะในอนาคต นั่นไม่ใช่เป้าหมายของที่นี่”

“เราต้องการให้คอนเซปต์ที่เราสร้างมาสามารถต่อยอดไปเป็นธุรกิจได้ในตัวของมันเอง เช่น บนชั้น 2 เรามี ‘Slowcombo give and receive tree’ เป็นกิจกรรมภายใต้คอนเซปต์ love yourself และ love other โดยจะให้คนที่มาเขียนการ์ดแห่งคำมั่น (affirmation card) แล้วแขวนการ์ดนั้นให้คนอื่นได้มาหยิบไป โดยให้นึกว่าถ้าเขาอยากจะส่งความรู้สึกที่ดีให้คนอื่นเขาจะเขียนอะไรลงไป จากนั้นก็ให้เขาไปเลือกคำที่เหมาะกับเขาในวันนั้นนำกลับบ้านไป ในส่วนของไอเดียหรือกรอบแนวคิดของต้นไม้ต้นนี้สามารถนำไปต่อยอดเป็นต้นแบบธุรกิจ (business model) ที่คนอื่นสามารถมาซื้อไอเดียและนำไปทำต่อได้ คือทุกคอนเซปต์ของที่นี่ อิ๊บอยากให้มันสามารถต่อยอดไปเป็นผลิตผลอื่นๆ ได้ แต่ว่าในทุกผลิตผลที่ออกมาจากที่นี่ต้องสามารถตอบโจทย์ 3 คีย์เวิร์ดของเรา คือ รักตัวเอง รักผู้อื่น และรักษ์โลก

“อย่างน้อยตอนนี้เราได้เล่าคอนเซปต์นี้ออกไปร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วว่าคอนเซปต์เราคืออะไร แล้วเราก็ค่อยๆ ได้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ จุดแรกเราก็โอเคนะค่อยๆ ไป แต่ถ้าถามว่ามันสำเร็จหรือยังตึกนี้ก็ยังไม่ได้สำเร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ไม่ได้มีผู้เช่าร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าผู้เช่าเต็มก็ไม่ได้หมายความว่าตึกนี้เสร็จแล้วนะ เรายังต้องมีการสร้างแบรนด์ กิจกรรม การกำหนดปฏิทินรายปี ที่จะทำให้ที่นี่ยังคงคอนเซปต์ ความเป็น mindfulness playground ที่เราตั้งใจไว้ให้ได้” อิ๊บเล่าถึงภาพรวมของ Slowcombo ณ ปัจจุบัน และแผนการในอนาคต

สุขภาวะที่ดีควรง่ายต่อการเข้าถึง

ความเป็น Slowcombo ไม่ได้อยู่แค่ตึกใจกลางสามย่าน แต่ Slowcombo ยังรับทำสื่อที่ทำให้คนตระหนักถึงสุขภาวะที่ดีให้แก่บริษัทอื่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำวิดีโอกับบริษัทอื่นสอนเรื่องการหายใจ หรืองานในปีหน้าที่ให้พื้นที่ Ctrl+R Collective ในช่วงเทศกาล Bangkok Design Week 

Slowcombo เชื่อว่าคอนเซปต์สุขภาพกายใจที่ดี ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ที่ Slowcombo แต่พวกเขาต้องการทำให้พื้นที่ตรงนี้มีน้ำหนักมากพอที่จะต่อยอดเพื่อไปร่วมงานกับที่อื่นๆ ได้

“เราไม่ได้มองว่าสเปซเราจะจบแค่ทำธุรกิจในสเปซของเรา แต่คอนเซปต์ของ mindfulness ของเรา เราสามารถไปช่วยบริษัทที่เขาต้องการสร้างสุขภาวะที่ดีในคอมมิวนิตี้ด้วยตัวเองได้ เราอาจจะไปช่วยต่อยอดให้เขา”

แม้ว่าคุณอิ๊บและคุณโต๋ทั้งคู่ต่างยังใหม่กับวงการคอมมิวนิตี้สเปซ พวกเขาและทีมจึงวางแผนอย่างดีเพื่อที่จะทำให้คอมมิวนิตี้นี้เติบโตไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ นั่นคือการเล่าเรื่องให้สนุกแต่ยังต้อง ‘รู้จริง’ 

“เรามีที่ปรึกษาหลากหลายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เพื่อให้เราเป็นตัวจริง การได้มาทำงานที่นี่ ทำให้เจอที่ปรึกษาหลายทาง หลากหลายศาสตร์ ที่ปรึกษาระบบ ที่ปรึกษา สถาปนิก ที่ปรึกษาระบบไฟ เราก็ต้องมีที่ปรึกษา ที่ปรึกษาค่อนข้างสำคัญ”

ตัวอย่างหนึ่งคือการที่ทีม Slowcombo มีที่ปรึกษาคนไทยใน UN ที่ร่วมดูแลโครงการ Sustainable Development Goal 17 มาช่วยให้คำปรึกษาเรื่องความยั่งยืน

“ในขณะที่บาลานซ์ ลองผิด ลองถูก เราต้องมีจุดมุ่งหมายว่าเราทำไปทำไม มันอาจจะนานกว่าคนอื่น เราอาจจะไปแบบลองผิดลองถูก แต่ว่าเราจะไปแบบมีจุดมุ่งหมาย”

ความฝันนึงของ Slowcombo ในวันหน้าคือการได้ขยับขยายไปเปิดที่จังหวัดอื่นในประเทศไทย เพราะพวกเขามีความเชื่อว่าสุขภาวะที่ดีควรง่ายต่อการเข้าถึง

“เราอยากลองไปเปิดที่เมืองอื่น อยากไปอยู่ภูเก็ต หรืออยากไปอยู่เชียงใหม่ อยากไปแถบอีสาน อุบลฯ ขอนแก่น เรารู้สึกว่าถ้าคอนเซปต์นี้มันสำเร็จ มันไม่จำเป็นจะต้องอยู่แค่ที่กรุงเทพฯ มันสร้างคอมมิวนิตี้แบบนี้ที่อื่นได้ ด้วยคอนเซปต์แบบนี้ คอนเซปต์มันง่ายมากเลย เรื่องการรับประทาน เรื่องออกกำลังกาย เรื่องใจ เรื่องสุขภาพ เรารู้สึกว่านั่นถือว่าเป็นจุดที่สำเร็จของ Slowcombo เพราะว่ามันสามารถกลายไปเป็นธุรกิจต้นแบบ ที่สร้างคอมมิวนิตี้ที่ทำให้คนมีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”

ปรัชญา ณ Slowcombo 

คนที่ได้มาเยี่ยมชม Slowcombo เมื่อกลับออกไปจากที่นี่คงต้องได้อะไรสักอย่างกลับไป ไม่ว่าจะเป็นสุขภาวะที่ดีจากการกิน ความสนุกและความสงบจากกิจกรรม หรือจะเป็นการได้หันมารักตัวเอง รักผู้อื่น และรักษ์โลก 

นี่เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทั้งสองต้องการให้คนที่มาได้รับกลับไป แต่ในฐานะเจ้าของพื้นที่ สถานที่แห่งนี้ได้ให้อะไรแก่พวกเขาเช่นกัน

“เราเอาประสบการณ์ที่ได้มาบาลานซ์ในการทำงาน มันทำให้งานเราสนุกขึ้น เหมือนเราก็ได้ใช้วิชาที่เราทำให้คนอื่น มาทำให้ตัวเองมีความสุขขึ้น

“ถ้าเป็นในงานประจำที่ตัวเองทำ เราก็พยายามจะใช้ความรู้ด้านความยั่งยืน คือเราก็บอกลูกค้าไปด้วยว่ามันมีอย่างนี้นะ หาวิธีลดต้นทุนสิ่งแวดล้อมในการผลิตแพ็กเกจจิ้งโดยที่มันไม่ต้องวุ่นวาย ทั้งๆ ที่แต่ก่อนไม่ใช่คนแบบนี้นะ แต่ก่อนยิ่งเยอะ ยิ่งดี ต้องเว่อร์วัง มีห่อแล้วยังมีห่ออีก” 

ในส่วนของอิ๊บที่อยู่กับวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนาน การปลุกปั้นคอมมิวนิตี้แห่งนี้ทำให้เธอได้กลับมาอยู่กับตัวเองอีกครั้ง

“เราทำงานทุกวันในเรื่องของสิ่งด้านนอก เสื้อผ้ามันคือด้านนอกอย่างเดียว มันคือการทำให้คนเห็นภาพลักษณ์ข้างนอกของเรา แต่การทำงานที่นี่ทำให้เราได้ใช้เวลาอยู่กับตัวเอง มีเวลามาเข้าโยคะเพราะว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่เราที่นี่ ไปเข้าคลาสอื่นๆ เสร็จก็ต้องมากินอาหารอันนี้ มันก็กลับสู่ด้านในมากขึ้น

“เพราะฉะนั้นการได้ทำงานตรงนี้ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่สนุก ได้ผ่อนคลาย เพราะเราได้มาให้เวลากับตัวเองในการพัฒนาข้างในของตัวเอง นี่คือสิ่งที่สถานที่แห่งนี้ให้เรา”

Location : 126 Soi Chula 5, Wang Mai, Pathumwan, Bangkok 10330 Thailand
Facebook : Slowcombo
Instagram : Slowcombo

Writer

"A girl who is trying to figure out how to describe herself."

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like