เครื่องปรับบรรยากาศ
หลัก 4P+1 ของ ‘บังกะโล’ พัดลมดีไซน์สวยที่แก้ pain point คนแต่งบ้าน โดย โต๋ slowmotion
สำหรับคนรักการแต่งบ้าน พัดลมดูจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ้ากรรมที่คอยตามจองล้างจองผลาญให้บ้านที่ออกแบบตกแต่งมาอย่างดีตกม้าตายในที่สุด
โต๋–นุติ์ นิ่มสมบุญ ก็เคยประสบปัญหาเดียวกัน
ปัญหาที่ว่าคืออะไร เราขอเล่าแบบติดสปีด เร็ว แรง เหมือนพัดลมเบอร์สาม
พัดลมบังกะโลเริ่มจากนุติ์ ซึ่งเป็นนักออกแบบเจ้าของสตูดิโอออกแบบชื่อดัง slowmotion เขาไม่ชอบพัดลมพลาสติกที่บ้านของแม่ แล้วที่บ้านแม่มีส่วน semi-outdoor เยอะมาก ยิ่งต้องใช้พัดลมพลาสติกเยอะตามไปด้วย เขารู้สึกขัดใจ และคิดถึงพัดลมเหล็กสมัยเด็ก
วันหนึ่งเพื่อนวัยเด็กผู้เป็นเจ้าของโรงงานผลิตมอเตอร์เปรยขึ้นมาว่าอยากทำพัดลมเหล็กจัง นุติ์ตาลุกวาว จับเข่าคุยว่าใช่เลย อยากทำมาก ถึงไม่มี know-how อะไรสักอย่างแต่ก็จะลุย
สู้เพื่อพัดลมเหล็ก!
ความบ้าจี้ในวันนั้นเลยนำพาให้เขาตามหาโรงงานที่มีคุณภาพและคราฟต์พัดลมได้สมใจ จนก้าวมาเป็น CEO แบรนด์พัดลม บังกะโล ในบัดดล
ตัดภาพมาตอนนี้ เราอยู่ในห้องทำงานของนุติ์เรียบร้อยแล้ว ทั้งห้องนอกจากจะตกแต่งสวยงามไม่เสียชื่อนักออกแบบ ยังมีพัดลมตั้งเรียงรายอยู่แทบทั่วทั้งห้อง คอยท้าทายว่าให้มองฉันสิ ฉันอยู่ตรงไหนก็สวยไม่ขัดตา
พาลให้สงสัยว่านอกจากหลักการและความสามารถในการออกแบบที่นุติ์ใช้จนได้พัดลมหน้าตาดีที่ใครเห็นก็ให้คะแนน 10/10 นุติ์ยังใช้หลักการตลาดอะไรมารันแบรนด์พัดลมนี้อีก
เริ่มถามจากปากเขากัน!
Product
พัดลมบังกะโล วางปุ๊บ ห้องสวยปั๊บ
เพราะนิยามคำว่าโปรดักต์ที่ดีของนุติ์คือ โปรดักต์ที่เห็นแล้วไม่ขัดตา ใช้แล้วไม่ขัดใจ เมื่อคิดอยากทำพัดลมให้ตรงอุดมคติ นักออกแบบอย่างเขาจึงพุ่งเป้าไปที่การพัฒนาหน้าตาของสินค้าเป็นประเด็นแรก
“เราเริ่มออกแบบจากโลโก้ก่อนเลย โลโก้ต้องสวยก่อน” ผู้ผ่านงานออกแบบโลโก้มานับชิ้นไม่ถ้วนอย่างนุติ์ตอบแกมหัวเราะ แล้วค่อยไล่ถึงส่วนประกอบอื่นๆ ที่เขาใส่ใจลงดีเทลไม่ต่างกัน
ตั้งแต่ฝาตะแกรงเหล็กครอบแบบแบนที่นอกจากจะประกอบด้วยมือ ยังออกแบบโดยใช้สายตาของความเป็นพ่อ ทำให้ถี่เพื่อป้องกันเด็กๆ เอานิ้วแหย่
จำนวนของใบพัดที่แม้จะไม่มีผลกับระดับความเย็นแต่ก็ช่วยทำให้ดูเก๋
มอเตอร์ทรงเหลี่ยมที่เป็นเอกลักษณ์พิเศษของแบรนด์
ไปจนถึงสีที่นอกจากจะใช้เซนส์ด้านการออกแบบที่มีอยู่ดั้งเดิม เขายังเอามาผูกรวมกับรูปแบบการแต่งบ้านของคนไทย ที่มีทั้งบ้านไทย บ้านมินิมอล บ้านหวานๆ สไตล์โคโลเนียลชายทะเล
บังกะโลจึงไม่ใช่แค่เครื่องใช้ไฟฟ้าให้ความเย็น หากแต่เป็นประหนึ่งเฟอร์นิเจอร์ที่จะทำให้บ้านดูเต็มขึ้น
“เวลาจะออกแบบพัดลมมาสักรุ่นเราจะคิดถึงสถานที่ที่พัดลมจะไปอยู่ก่อน ต้องคิดค่ากลางว่าบ้านแบบนี้ ต้องใช้สีโทนไหนที่เวลาเอาไปตั้งแล้วจะเข้ากันได้กับทุกอย่าง ต้องดูเทรนด์ว่าตอนนี้คนชอบสีอะไร สีไหนกำลังมา แล้วทำให้มีทางเลือกมากกว่าตลาด” นุติ์อธิบาย ยกตัวอย่างให้ฟังถึงวิธีการออกแบบของตัวเอง
“คนไทยมีบ้านไทย บ้านไม้เยอะ สีดำทองเลยน่าจะเหมาะ แต่ก็ต้องดูรายละเอียดด้วยว่าจะให้เป็นดำด้าน ดำเงา สีทองก็ธรรมดาไม่ได้ ต้องให้ดูเก่าๆ หน่อย มันถึงจะเข้ากับบ้านไทยมากกว่า”
นุติ์บอกว่าตอนเริ่มทำแบรนด์ เขามองภาพว่าอยากให้บังกะโลเป็นเหมือนกับฮาตาริ เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนทั่วไปยอมรับและใช้งานกันคู่บ้าน เป็นเหมือน SMEG ที่สวยและคุณภาพดี
นอกจากจะทำหน้าตาให้ดูดี เตรียมเซอร์วิสศูนย์ซ่อมให้พร้อม เขาจึงพยายามนำข้อเสียหรือปัญหาของพัดลมแบบเดิมมาอุดรูรั่วให้มากที่สุด
ในห้องทำงานของเขาจึงเต็มไปด้วยพัดลมบังกะโลทั้งแบบสำเร็จแล้ว และแบบที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา
“อย่างรุ่น honolulu หน้าตามันอาจจะดูธรรมดา แต่เราทำมาเพื่อร้านอาหาร สังเกตว่าเวลานั่งในที่เอาต์ดอร์คนจะชอบแย่งพัดลมกัน เพราะมันมีไม่พอ เราเลยพยายามเอาเทคโนโลยีเข้ามาใส่ ทำให้ตัวใบพัดข้างในส่ายได้ ลมเลยจะกระจายโดนทุกคน” นุติ์เว้นวรรค
“เวลาคิดจะทำโปรดักต์อะไรขึ้นมาเราจะดูก่อนว่าเราสู้ได้ไหม ถ้าสู้ได้เราก็กล้าบ้า กล้าใส่พลัง เพราะทุนของเราคือความบ้า แต่ถ้าทำออกมาแล้วยังกลางๆ ก็ให้แบรนด์อื่นที่ดีอยู่แล้วเขาขายไปดีกว่า
“ถามว่าทุกวันนี้เราแพ้พัดลมพลาสติกไหม แพ้ ตอบได้ตรงๆ เลย เรื่องแรงลม เราก็สู้ไม่ได้ แต่จุดที่สู้ได้แน่คือวางแล้วเปลี่ยนโลก วางแล้วบ้านสวยเลยนี่แหละ”
Price
ให้ราคากับความคราฟต์
แม้พัดลมบังกะโลจะมีราคาสูงกว่าพัดลมในท้องตลาดทั่วไป คืออยู่ที่ 4,000-8,000 บาทโดยประมาณ แต่นุติ์ก็บอกเราด้วยรอยยิ้มว่าช่วงแรกเขามั่นใจเต็มร้อยว่ายังไงก็คงมีคนคอเดียวกันสนใจ
และที่ราคาสูง ก็มีเหตุผลรองรับ
เป็นเพราะกระบวนการผลิตนั้นไม่ได้ทำโดยระบบอุตสาหกรรมทั่วไปด้วย นอกจากจะส่งไปผลิตถึงเมืองนอกเพื่อให้ได้มาตรฐานตามที่นุติ์ยอมรับ การผลิตยังเป็นแบบทำมือ ต้องค่อยๆ ขด ค่อยๆ เคาะเหล็กทีละก้าน เพื่อให้เห็นดีเทลความสวย เห็นความแข็งแรง
“มันเป็นความคราฟต์ที่เรายอมเสีย” เขาว่า “เรารู้แหละว่าถ้าราคาอยู่ที่พันต้นๆ คนจะจ่ายเงินซื้อง่ายกว่า แต่ถ้าจ่ายง่ายแล้วมันพังง่ายด้วย เราก็ขอทำให้ได้ในสิ่งที่เราชอบทั้งดีไซน์ ชอบทั้งคุณภาพออกมาดีกว่า
“เราพยายามคำนวณราคาให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดันทุรังเฉพาะชิ้นส่วนที่จำเป็นกับอายุการใช้งานจริงๆ เท่านั้น อย่างตัวเลขตรงปุ่มปรับระดับลมจริงๆ ก็ยังขัดใจนะ คิดว่าน่าจะทำให้เนี้ยบกว่านี้ได้ แต่ถ้ามันใช้งานได้แล้วก็ไม่ได้กระทบอะไร งั้นก็อย่าไปเพิ่มต้นทุนตรงนี้เลย เลือกเสียเฉพาะส่วนสำคัญๆ ที่ปล่อยผ่านไม่ได้ เช่น ข้อต่อที่เชื่อมกับส่วนหัว ส่วนคอ เปลี่ยนให้เป็นเหล็กทั้งหมดเพื่อที่ว่าจะได้ไม่หักง่าย ยืดอายุการใช้งาน
“อะไรที่จะเป็นปัญหาในอนาคตเราก็เพิ่มบัดเจ็ต เพิ่มสเปกให้มันแข็งแรงอยู่ได้นานขึ้น”
ถึงราคาจะต่ำลงกว่านี้ไม่ได้ แต่ บังกะโล ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ นุติ์กวักมือเรียกลูกค้า บอกว่าเขาก็พยายามออกโปรโมชั่นมาดึงดูดใจลูกค้าบ่อยๆ อยู่เหมือนกัน
Promotion
ถ้าเข้าใจลูกค้า การส่งเสริมการขายจะได้ผล
“เราลองทำโปรโมชั่นมาหมดแล้ว 3:3 4:4 ตามวันต่างๆ ใน Lazada ในห้าง เข้าร่วมหมดเลย” นุติ์ยืนยัน
“ทำมาหมดจนมาเข้าใจเอาตอนหลังว่าโปรโมชั่นแบบนั้นมันส่งผลต่อยอดขายน้อย”
เขาบอกว่าขึ้นชื่อว่าโปรโมชั่น จริงๆ มันก็ได้ผลกับลูกค้าเสมอนั่นแหละ เพียงแต่เท่าที่สังเกตโปรโมชั่นที่ทำงานกับลูกค้าของบังกะโลจะต้องเป็นโปรโมชั่นแบบเข้าใจคน เข้าใจจุดประสงค์ของการนำไปใช้งานมากกว่า
“เหมือนเราต้องช่วยสร้างภาพให้ลูกค้าเห็นนิดนึงว่าช่วงนี้เขาต้องใช้พัดลมแล้วนะ พยายามหาอินไซต์มาขายของ”
เรื่องคาดไม่ถึงอย่างหนึ่งที่นุติ์ได้จากอินไซต์ก็คือ จริงๆ แล้วช่วงเวลาขายดีของพัดลมไม่ใช่ช่วงหน้าร้อนอย่างที่คิด
“บางทีเราลืมคิดไปว่าจริงๆ อากาศเย็นเปิดพัดลมมันเหมาะกว่า แค่เปิดพัดลมตัวเดียวก็จบแล้ว หรืออย่างช่วงเวิร์กฟรอมโฮม ทุกคนก็ตั้งใจเซฟค่าแอร์
“การตั้งชื่อเลยช่วยได้เหมือนกัน เช่น Work From Home Sale, Winter Sale, Save ค่าไฟ Sale หาอะไรที่รีเลตกับเขามาเป็นตัวเชิญชวน”
นอกจากจะหาเรื่องราวใกล้ตัวมาจุดประเด็นกระตุ้นต่อมช้อปของลูกค้า บังกะโลยังมีการคอลแล็บกับร้านขายดอกไม้อย่าง Plant House เพื่อเนรมิตของขวัญให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น สำหรับใครที่อยากได้พัดลมไปเป็นของขวัญงานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่ง หรือแม้แต่งานศพก็สามารถสั่งพัดลมจากบังกะโลแล้วให้ Plant House จัดเป็นเซตดอกไม้ให้ได้
กลเม็ดอีกอย่างที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้บังกะโลก็คือการคุย การให้คำแนะนำกับลูกค้า ซึ่งวิธีของนุติ์ก็ไม่ธรรมดา เพราะบางทีเขาก็แปลงตัวเป็นอินทีเรียร์ดีไซเนอร์ในคราบแอดมิน รีทัช ตัดแปะพัดลม กับบ้านของลูกค้า เป็นตัวอย่างให้เห็นกันตรงๆ ว่าพัดลมรุ่นไหน สีอะไรจะเหมาะกับบ้านของพวกเขามากที่สุด
Place
ยิ่งคนเห็นมาก โอกาสขายออกก็มาก
เพราะพัดลมบังกะโลทำมาซะสวยเนี้ยบตรงตามปก หากจะขายแต่ในช่องทางออนไลน์ก็เป็นสิ่งน่าเสียดาย การนำพัดลมไปจัดแสดงจริงให้คนเห็นความสวย เลยเป็นหนึ่งในกลยุทธิ์ที่นุติ์มองว่ามีส่วนช่วยเพิ่มยอดขาย
นี่เลยเป็นเหตุผลที่ว่าไม่ว่าจะเป็นงานแฟร์อย่างบ้านและสวน หรือตลาดนัดวินเทจอย่าง Made by Legacy บังกะโลจึงขอร่วมออกบูทด้วยตลอด แม้กระทั่งงานออกร้านภริยาทูตเขาก็ไปออกบูทมาแล้ว
“บางที่เรารู้อยู่แล้วว่าขายไม่ได้หรอก แต่อย่างน้อยเราก็ขอไปอธิบาย ไปให้คนเห็น
“อย่างงานออกร้านภริยาทูต มันจะเป็นฟีลเหมือนเอาของดีของแต่ละที่มาขายกัน อิตาลีเขาก็พาไวน์มาขาย มีน้ำมันมะกอก เราเห็นแล้วก็เออ ใช่ว่ะ งานนี้มีแม่บ้านเลยลองไป แต่กลายเป็นว่าไปแล้วขายไม่ได้เลย คนไม่ได้อยากจะมาซื้อของชิ้นใหญ่ เขาเน้นซื้อของกระจุกกระจิกซะมากกว่า” นุติ์เล่าไปหัวเราะไป ก่อนตอบสิ่งที่เราสงสัยว่าแม่บ้านเกี่ยวข้องยังไงกับเรื่องนี้
คำตอบคือถึงพัดลมบังกะโลจะออกแบบให้ unisex แล้ว แต่นุติ์ก็ยังรู้สึกว่ากลุ่มแม่บ้านคือกลุ่มลูกค้าหลักที่มีอำนาจตัดสินใจซื้อของเข้าบ้านอยู่ดี สถานที่วางขายส่วนใหญ่ที่เขาเลือกไป จึงจำเป็นต้องมีแม่บ้านมาเป็นแขกคนสำคัญ
“เราเลือกห้างที่เหมาะกับเราด้วย อย่างที่ Chic Republic ก็จะมีคนที่ชอบบ้านสไตล์โคโลเนียลอยู่ หรือเซ็นทรัล ชิดลม ก็จะเห็นเลยว่าคนที่ตัดสินใจซื้อเป็นคุณแม่แน่นอน ส่วนใหญ่ถ้ามาเป็นคู่ภรรยาก็มักจะเป็นคนตัดสินใจ สามีชอบอันไหน ภรรยาเป็นคนตบท้าย”
เพราะแต่ละที่ที่ไปวางขาย คาแร็กเตอร์ของกลุ่มลูกค้าก็ต่างกันชัดเจน เวลาออกงานที เขาจึงต้องเลือกรุ่นให้เหมาะสมกับกลุ่มตลาดนั้นๆ ด้วย
เพื่อยืนยันว่าเมื่อสถานที่ต่าง กลุ่มลูกค้าก็ต่าง นุติ์จึงเล่าถึงช่วงแรกๆ ที่เขาไปออกแฟร์ให้ฟัง
“ช่วงแรกเราจะโดนจัดไปอยู่ที่เครื่องใช้ไฟฟ้าตลอด พอตอนหลังถึงรู้ว่ามันไม่เหมือนกัน อยู่หมวดนั้น เราจะโดนถามแต่เรื่องสเปกของพัดลม กี่เฮิร์ต ซ่อมยังไง ข้างในทำด้วยขดไฟฟ้าแบบไหน ต่างกับตอนย้ายมาฝั่งของแต่งบ้านมาก
“แต่ข้อดีก็คือตอนนี้เราตอบเรื่องพวกนั้นได้หมดแล้ว ซ่อมยังไง ใช้ไฟแบบไหน เรามีประสบการณ์แนะนำลูกค้าได้ทั้งสองฝั่ง บริการลูกค้าได้ทุกแบบ”
Placement
ที่เหมาะที่ควร
เมื่อถามนุติ์ว่า ‘P’ สุดท้ายที่เขายึดถือคืออะไร นุติ์รีบตอบแบบไม่ลังเลว่าคงเป็น placement เพราะสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เขาใช้มาตั้งแต่การคิดชื่อแบรนด์ว่า ‘บังกะโล’ แล้ว
“เราอยากให้คนนึกภาพว่าได้อยู่ในบ้าน ขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ ได้อยู่ในที่ที่เขาได้พักผ่อน ตากอากาศ”
ชื่อรุ่นพัดลมของแบรนด์เลยมีกิมมิกเป็นชื่อเมืองตากอากาศ ที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์และลักษณะเด่นของรุ่นนั้นๆ อย่าง Istanbul นุติ์ก็มองว่าเป็นเมืองที่มีทั้งความเป็นตะวันออกและตะวันตก เมืองไม่ได้ดูเป็นเมืองชายทะเลจ๋า สีทองดำจึงเหมาะกับรุ่นนี้ที่สุด หรือ Hampton ก็เป็นพัดลมสีขาวผสมนิกเกิล สะท้อนความหรูหราเช่นเดียวกับเมือง
“เราติดใจกับพัดลมที่บ้านมาตลอด อยากให้พัดลมมันสวยเข้ากับบ้าน ตอนนี้เลยรู้สึกว่ามันค่อยๆ ตรงกับภาพที่เราตั้งใจไว้ตอนแรกแล้ว โรงแรม คน ที่เราอยากให้พัดลมไปอยู่ ก็ได้อยู่แล้ว รู้สึกว่ามันอยู่ได้ถูกที่
“สถานที่ที่เรามีภาพว่าอยากให้มันไปถึง เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เพราะมันทำให้เราแฮปปี้ ฟูลฟิล
“ย้อนกลับไปตอนต้นไงว่าเราขัดใจเรื่องนี้มาตลอด บางทีดูสัมภาษณ์รายการเยี่ยมบ้าน เอ้า บ้านสวย แต่มาตายที่พัดลม จากวันที่นั่งนึกภาพว่าคนแบบนี้น่าจะมาซื้อของเรา จนวันนี้ที่เขามาซื้อจริงๆ แค่นั้นก็แฮปปี้แล้ว”