เมื่ออินไซต์ไม่ได้มองเห็นได้ง่ายๆ แต่ซ่อนอยู่ในความเจ็บปวดระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน

หลายครั้งที่เราได้โจทย์มาจากลูกค้า แล้วพบว่าสิ่งที่ลูกค้าอยากจะเล่ามันเป็นอะไรที่ ‘กลางมาก’ จนไม่มีอะไรให้เกาะ หรือที่พวกเรานักโฆษณามองว่า “ไม่มีอะไรให้เล่า” 

อาจเป็นเพราะเวลาคิดแคมเปญที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นคนกลุ่มแมส ทำให้มาร์เก็ตเตอร์ต้องคิดอะไรให้กลางๆ ที่สุดเพื่อจะจับกลุ่มให้กว้างที่สุด มันก็ไม่ผิด แต่มันก็อาจจะไม่ผิด ไม่ดี จนไม่มีอะไรให้พูดถึงก็ได้

ดังนั้นทำให้ระยะหลังๆ ตอนคุยงานกัน ทางทีมก็จะพยายามบอกลูกค้าอยู่บ่อยๆ ว่าสิ่งที่มาร์เก็ตเตอร์อยากบอก อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าอยากฟัง

อันนี้ไม่ได้บอกว่ามาร์เก็ตเตอร์ไม่เก่งหรืออะไรนะครับ แค่จะบอกว่ามันเป็นหน้าที่ของนักโฆษณาแหละที่จะเหลาไอเดียของลูกค้าให้แหลมขึ้น แปลงสารตั้งต้นของมาร์เก็ตเตอร์ให้มีเนื้อมีหนังมากขึ้น มันจะได้โดนใจกลุ่มเป้าหมายในหมู่กลางให้ลึกขึ้น

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อยู่ดีๆ เมืองไทยก็มีแอพพลิเคชั่นบริการจ่ายเงินผุดขึ้นมากมาย แล้วเจ้าแอพพวกนี้ก็จะมีความสามารถคล้ายๆ กัน คือทำธุรกรรมทางการเงินได้เกือบทุกอย่าง จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ได้ จ่ายค่าตั๋วหนังได้ หรือจ่ายบิลต่างๆ ได้ แต่ถึงจะมีแอพการเงินผุดขึ้นพร้อมๆ กันเยอะแค่ไหน แต่ปัญหาของแอปเหล่านี้มักจะมีสองจุดใหญ่ๆ

1. ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเจ้าแอพนี้มีไว้ทำอะไร หลายๆ เจ้าชื่อของแอพก็สื่อให้เห็นว่าทำอะไร แต่หลายๆ แอพชื่อก็ไม่ได้เล่าเลยว่าแอพนี้ทำอะไร มีฟังก์ชั่นอะไร พอไม่รู้ก็ไม่เกิดการลอง แต่ในกรณีแอพการเงิน ถ้าไม่รู้ก็เป็นปัญหาแล้ว และยังมีปัญหาที่สอง

2. คนไม่กล้าใช้ เพราะยุคนั้นเรายังมีความเชื่อว่า เรื่องเงินๆ ทองๆ นอกจากธนาคารแล้วก็ไม่ควรจะไว้ใจใครอีก และด้วยอินเทอร์เน็ตบ้านเราที่ไม่ค่อยเสถียร การทำธุรกรรมออนไลน์ก็ยิ่งไม่น่าไว้ใจอีก ทำให้การโฆษณาแอพเหล่านี้ทางลูกค้าเองก็ต้องทำงานหนักหลายด้านเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านส่งเสริมการขาย หรือด้าน educate ผู้ใช้ให้ไว้ใจตัวแอพ สร้างความน่าเชื่อถือ ฯลฯ

หลายๆ แอพจึงชูเรื่องความสะดวก รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องต่อคิว รวมไปถึงงานนึงที่เรามีโอกาสได้เข้าไปทำ นั่นก็คือ AirPay (ที่ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น ShopeePay แล้ว)

พูดแบบไม่อาย วันที่เข้าไปรับบรีฟงานนี้ ผมก็เป็นคนนึงที่ไม่เคยใช้แอพการเงินเหล่านี้ และก็ยังเป็นหนึ่งในผู้คนที่ไม่ไว้ใจแอพการเงินอื่นที่ไม่ใช่ธนาคาร คือใช้บริการแอพสโตร์ที่ผูกบัตรเครดิตเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่การที่เอาแอปไปผูกกับบัญชีธนาคารต่างๆ รู้สึกไม่ปลอดภัยจริงๆ ทำให้ตอนรับบรีฟก็มีความซักไซ้ไล่เลียงประมาณนึงว่าไว้ใจได้จริงเหรอ ไว้ใจได้แค่ไหน

คือลูกค้าต้องรู้สึกแน่ๆ ว่าไอ้แว่นนี่ไม่เคยใช้แอพนี้ชัวร์ๆ

ในวันที่รับบรีฟ AirPay ยังไม่ได้มี positioning อะไรชัดเจนมาก ถ้าจำไม่ผิดแท็กไลน์ยังใช้คำว่า ครบจบในแอพเดียว 

ซึ่งคนอื่นในตลาดก็ใช้คำนี้เช่นกัน

จุดขายที่ลูกค้าบรีฟมาก็เหมือนกับที่ผมเกริ่นไว้คือ สะดวก จ่ายบิลได้ทุกที่ทุกเวลา จ่ายได้ทุกบิล
เรารู้สึกว่าจุดขายที่จ่ายบิลได้ทุกที่มันก็ดี ถ้าจะทำหนังโฆษณาเลยก็ได้ เพราะแอ็กชั่นของ ‘จ่ายบิลได้ทุกที่’ มันก็เล่าได้สนุกแล้ว

คือหนังโฆษณาเราสามารถเล่าในท่าไหนก็ได้ แต่มันจะมีท่ามาตรฐานอยู่ 2 ท่าคือ

1. เล่าในมุมที่ยังไม่เคยใช้โปรดักต์

ยกตัวอย่างหนังของพี่ต่อ ธนญชัยนะครับ ภาพเปิดมาเป็นร้านสะดวกซื้อแห่งนึง ตัวละครชายเดินเข้ามาอย่างเร่งรีบและร้อนรน ดูก็รู้ว่าปวดขี้ในระดับรุนแรงที่สุด

ตัวละครชายหยิบทิชชู่พร้อมแบงก์พันให้แคชเชียร์ที่เป็นยายแก่ เรื่องก็ดำเนินตรงที่ยายแก่คิดเงินช้ามาก เงอะๆ งะๆ จนตัวละครชายต้องยกมือไหว้และคิดเงินให้ แต่สุดท้ายก็ไม่ทัน ตัวละครชายพูดในตอนจบว่า ไม่เอาแล้วทิชชู่ ขอเปลี่ยนเป็นกางเกงในแทน

จากนั้นก็มีเสียงโฆษกมารับว่า “ยุคนี้ต้องเร็วนะครับ ใช้บัตรเงินสดสมาร์ทเพิร์สดีกว่า”

หนังโฆษณาในมุมนี้จะมีไอเดียสรุปคือ ‘ถ้าไม่ใช้สินค้า ก็จะลำบากแบบนี้แหละ’

2. เล่าในมุมที่ใช้โปรดักต์ไปแล้ว

ยกตัวอย่างหนังของพี่ต่อ ธนญชัยอีกรอบนะครับ ภาพเปิดมาเป็นบรรยากาศงานเลี้ยงราตรีไฮโซ ทุกคนแต่งตัวสูททักซิโด้ราตรีหรูกันทั้งนั้น จู่ๆ ก็มีตัวละครนำเป็นชายแต่งตัวมอซอ กางเกงบอล เสื้อยืดขาดๆ หน้าตามอมแมม ผิดที่ผิดทาง เดินไปขอหญิงไฮโซเต้นรำ

ดนตรีนิ่มนวลแบบงานกาล่าก็บรรเลง ในขณะที่ตัวละครชายก็เต้นโยกย้ายตามจังหวะเด็กแว้น ดูยังไงก็ไม่เข้ากับบรรยากาศโดยรอบ ภาพตัดไปที่ชายแก่ท่าทางภูมิฐาน ดูเป็นประธานของงาน กล่าวขึ้นมาว่า “ใครน่ะ ดูดีจังเลย” และโฆษกก็รับพร้อมกับภาพโคลสอัพให้เห็นว่าตัวละครมอซอคนนั้นใส่นาฬิกา “ก็นาฬิกาผู้ดีไง ใส่แล้วดูดีทันที แถมฟรีที่ห้างแว่นท็อปเจริญ”

หนังโฆษณาในมุมนี้ก็จะมีไอเดียสรุปว่า ‘ใช้โปรดักต์แล้ว ชีวิตมันก็ดีแบบนี้แหละ’

แสดงว่าโจทย์ที่ต้องเล่าว่า ‘จ่ายบิลได้ทุกที่’ มันสามารถเล่าได้หมดเลยนะ ไม่ว่าก่อนใช้ หรือหลังใช้ ง่ายหมดเลย
แต่กระนั้นก็รู้สึกว่าคำว่า ‘สะดวก’ มันไม่ได้เซ็กซี่ขนาดนั้น เพราะทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนโลก ล้วนแต่สร้างความสะดวกทั้งนั้น

เราพบว่า จ่ายบิลได้ทุกที่หรือความสะดวก มันยังไม่ได้ทำงานกับ pain point ของคน 

ตอนนั้นเราต้องคิดให้ได้ว่า สะดวกแล้วยังไงต่อ สะดวกแล้วมันแก้ปัญหาอะไรให้ชีวิต–ซึ่งคิดไม่ออกเลยครับ, มึนตึ๊บอยู่วันนึง ยอมแพ้ แยกย้ายกันกลับบ้าน

เวลาคิดงานไม่ออก ก็ไม่ต้องคิดครับ ล้อมวงแล้วมานั่งบ่นอะไรก็ได้ครับ บ่นขิงข่าปลาร้าหน้ามันอะไรก็ได้ บ่นไปเรื่อยๆ ให้บทสนทนามันดำเนินต่อไปให้ได้เรื่อยๆ ไม่ต้องอยู่ในหัวข้องานก็ได้ เมื่อวานไปดูหนังมาไม่สนุกเลย เมื่อคืนนอนไม่หลับ เมื่อเช้าแมวอึนอกกระบะทราย ไม่มีที่จอดรถ อะไรก็ได้ หรือจะพูดเรื่องดราม่าประจำวันอะไรก็ได้พูดไปเรื่อยๆ
พูดไปให้บรรยากาศมันโฟลว์ แล้วเดี๋ยวมันจะมีของออกมาเองครับ

พอเราบ่นไปเรื่อย ก็เริ่มมีคนบ่นเรื่อง จ่ายค่าไฟผ่านแอพไม่ทัน ไปจ่ายที่เซเว่นก็ไม่ทัน (ตอนนั้นมันมีช่วงเวลากำหนดอยู่ว่า จ่ายที่เคาน์เตอร์ได้ถึงวันนี้วันนั้น) เลยต้องไปจ่ายที่การไฟฟ้า แล้วรอนานมาก เซ็งมาก
ทำให้เราพบอินไซต์ว่า การที่มนุษย์ยินยอมใช้แอพจ่ายบิล ที่จ่ายได้ทุกที่ทุกเวลา หรือที่เราเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘ความสะดวก’ 

มันเป็นแค่ผลพลอยได้นะครับ แต่เนื้อแท้แล้วทุกคนเกลียดการรอครับ

ผมว่ามันไม่ใช่คำว่า ‘ประหยัดเวลา’ หรือ ‘ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์’ หรือ ‘อย่าเสียเวลา’

คำว่า รอ มัน painful กว่านั้นเยอะ คำว่า ประหยัดเวลา, ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หรือ อย่าเสียเวลา ถ้าเรามองรูปคำดีๆ 3 คำนี้ล้วนเป็นคำที่พูดก่อนหรือหลังกิจกรรมไปแล้วทั้งนั้น คือเป็นคำเตือนเพื่อไม่ให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่ดี
แต่คำว่ารอเนี่ย…เกิดขึ้นระหว่างทางเลย เป็นช่วงเวลา painful ที่สุด ระหว่างรอนี่แหละที่เราจะเกิดปัญญาว่า “รู้งี้ไปใช้นั่นใช้นี่ดีกว่า” 

ดังนั้นคำว่า รอ คือคีย์เวิร์ดที่ถูกอินไซต์กับโจทย์นี้

โอเค เราเจอแล้วว่าเราจะตีอินไซต์ของโจทย์นี้ที่ ‘การรอ’ แต่ในการเล่าให้เป็นหนัง แค่นี้อาจจะกว้างไปนิดหน่อย เรายังต้องลงให้ลึกมากกว่านี้อีก

เรามาคิดต่อว่าในระหว่างเรารออะไรบางอย่าง หรือในกรณีนี้คือไปจ่ายบิลที่เคาน์เตอร์ หรือซื้อตั๋วหนังเนี่ย ตอนไหนที่เราท้อกับการรอที่สุด?

เรามาได้คำตอบแบบนี้ครับ…

เราพบว่ามนุษย์เราถ้าเห็นแถวที่รอซื้อตั๋วอะไรสักอย่างแถวยาวเลย เราจะรู้ทันทีว่านานแน่ๆ วินาทีนั้นเราเลือกแล้วว่า เราจะเข้าแถวหรือไม่ 

ถ้าเข้า แปลว่าเรารับสภาพได้แล้วว่าต้องรอ ดังนั้นเราจะยอมรับการรอได้ (เพราะเราเลือกเอง) เราก็อยู่ในแถวไปเลย 20 นาที 30 นาที ครึ่งชั่วโมง 45 นาที ไม่เคยมีปัญหาอะไรเลย เรารอได้

แต่ความอดทนใจเย็นที่เรารอมาได้เรื่อยๆ จะสิ้นสุดลงตอนที่เรารอเพื่อเป็นคิวต่อไปครับ

เคยไปกดตู้ ATM แล้วคนหน้ามีธุระเยอะมากกกกกก โอนเงิน เช็กบัญชี ถอนเงินอีก พี่!!!!! พี่ทำอะไรอยู่ ทำไมนาน!! (ทั้งที่ก่อนหน้านี้รอมาได้ 15 คิว)

หรือไปทำธุระที่แบงก์ ได้คิวที่ 078 ก็รอได้ไม่มีปัญหาอะไร รอไป 20 คิว ไม่มีปัญหา

จนกระทั่งเจ้าคิว 077 มึงทำอะไรของมึ้งงงงงงงง นี่มาฝากเงินหรือฝากชีวิต นี่จะรับพนักงานเป็นลูกบุญธรรมเลยมั้ยเล่าาาา

และคลาสสิกสุด ซื้อตั๋วหนัง แถวยาวก็รอได้ ไม่มีปัญหา เล่นมือถือก็ได้

แต่พอคนข้างหน้าเท่านั้นแหละ ซื้อป๊อปคอร์นไหม ใช้โค้ดแลกส่วนลดไหม กดรหัสไหม อ้าว กดรหัสไม่ได้อีก เลือกที่นั่งอีก โว้ยยย!!!

มันก็เลยกลายเป็นที่มาของคำว่า “คนข้างหน้าเรื่องเยอะเสมอ” ที่เราเอาไปเล่าในหนัง

ถ้าไม่อยากหัวเสียกับความเรื่องเยอะของคนข้างหน้าก็ใช้ AirPay สิ สบายอารมณ์

จากนั้นเราก็เขียนแท็กไลน์ให้ใหม่ว่า “AirPay เปย์ครบ จบทุกการรอ” ชัดเจน

รู้ว่า AirPay มีไว้ทำธุรกรรมทางการเงิน และจ่ายได้ทันที ไม่ต้องรอ

พออินไซต์แม่น ตัวหนังก็ทำงาน จุดขายก็ขยับจาก สะดวก เป็น จ่ายอะไรก็ไม่ต้องรอ แก้ pain point ได้ตรงจุดกว่า

ผมรู้สึกว่า การจะเจาะอินไซต์ให้ดีมันต้องลงแรงกับมันนิดหน่อย ต้องตั้งคำถามกับพฤติกรรมคนได้ หรือง่ายกว่านั้น ต้องตั้งคำถามกับพฤติกรรมตัวเองให้ได้ เคยมีรุ่นพี่ท่านนึงแนะนำว่า หนึ่งวิธีง่ายๆ ที่เราจะเป็นนักโฆษณาให้ได้ คือการใช้ขนส่งสาธารณะ

มันควรมีบางวันที่เรางดใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วไปขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองเห็นมนุษย์ที่อยู่คนละระบบนิเวศกับเราบ้าง

มีช่วงหนึ่งผมเคยตั้งกฎกับตัวเองว่า ถ้าขึ้นรถเมื่อไหร่ ผมจะต้องฟังวิทยุลูกทุ่งมหานครเท่านั้น ผมบังคับให้ตัวเองฟังเพลงลูกทุ่งทุกวัน ไปฟังว่าดีเจเขาเล่นมุกอะไร ไปฟังว่าเวลาผู้ฟังโทรเข้ามาคุยกับ DJ เขาพูดอะไร มีสำเนียงพูดยังไง เขาอายแบบไหน เขาไม่มั่นใจยังไง และที่สำคัญที่สุดคือ ไปฟังว่าเนื้อหาในเพลงลูกทุ่งตอนนี้เขาพูดเรื่องอะไรกัน เขาพูดเรื่องความรักในมุมไหนบ้าง

มันเปิดหูเปิดตาเราได้โดยที่เราไม่ต้องออกเดินทางไปท่องเที่ยวเลยนะ

(และอยากจะบอกว่า รายการดูดวงของพี่ปูโลกเบี้ยว สนุกมากกกกกกกกกก)

อินไซต์ไม่เคยเป็นจุดใหญ่ มันเป็นจุดเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในสัญชาตญาณคนเสมอ ผู้บริโภคเองก็ไม่รู้ตัวหรอกว่าตัวเองคิดแบบนั้นอยู่

เหมือนเหมืองเพชร ที่ต้องเจาะภูเขาทั้งลูก เพื่อร่อนหินทั้งเขาให้เหลือเพชรเม็ดเล็กๆ แค่เม็ดเดียว

‘Won (วน)’ โปรเจกต์รีไซเคิลพลาสติกที่พยายามหาทางออกให้กับสิ่งที่ผู้คนมองว่าเป็นผู้ร้าย

ในวันที่ผู้คนและแบรนด์ตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น–และยิ่งเพิ่มขึ้นทุกวัน ผ่านการ reduce, reuse หรือ recycle ที่ลดปริมาณการใช้ นำมาใช้ซ้ำ และนำมาแปรรูปเป็นสิ่งใหม่

‘Won (วน)’ เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหลังนั่นคือการ recycle ที่นำเอาขยะมาแปรรูป จนกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ทำให้สิ่งแวดล้อมและองค์กรเติบโตไปด้วยกันได้ 

อธิบายให้เข้าใจอย่างกระชับ Won คือโปรเจกต์ที่จะไปเก็บรวบรวมขยะพลาสติกเหลือใช้ของผู้คนตามจุดต่างๆ จากนั้นจะนำมันมาคัดแยก ทำความสะอาดเพื่อที่จะนำไปเข้าเครื่องที่ผ่านความร้อน จนถุงใบเก่าถูกหลอมละลายกลายมาเป็นเม็ดพลาสติกสีขาว ก่อนจะนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตพลาสติกขึ้นมาใหม่ที่เอามาใช้ ‘วน’ ไปได้อีกครั้ง

ฟังเผินๆ เหมือนทุกอย่างจะดูดี แต่พอได้มานั่งคิดดีๆ อีกทีทำให้เราเกิดคำถามขึ้นในใจว่า แล้วแบบนี้ต้นทุนของการนำพลาสติกเก่ามาทำใหม่นั้นแพงกว่าการผลิตใหม่หรือไม่ หากแพงกว่าในเชิงธุรกิจมันจะเป็นสิ่งที่ทำวนไปได้ในระยะยาวจริงหรือ หรือนี่เป็นเพียงโครงการ CSR ระยะสั้นหรือเปล่า และคำถามอีกมากมายที่เกิดขึ้นในหัว 

ซึ่งคงจะไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่า กมล บริสุทธนะกุล ผู้ก่อตั้งโครงการ Won ขึ้นมา

เท้าความให้ฟังว่า ก่อนมาเป็นผู้ก่อตั้งโครงการ Won กมลรับหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารการเงินและทายาทธุรกิจเจเนอเรชั่นที่สองของ TPBI  บริษัทที่เน้นผลิตถุงพลาสติกซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 

ด้วยความเป็นธุรกิจแบบ B2B หลายคนอาจยังไม่คุ้นชื่อ TPBI มากนัก แต่ความจริงแล้วสินค้าของ TPBI นั้นอยู่ใกล้ตัวผู้คนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นถุงที่ใช้ตามห้าง ถุงก๊อบแก๊บ ถุงบางๆ ที่ม้วนเป็นโรลสำหรับใส่ผลไม้ในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือแม้กระทั่งถุงขยะก็ตาม 

ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ถุงพลาสติกจาก TPBI ยังถูกส่งออกไปขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังในต่างประเทศด้วยเช่นกัน 

ด้วยความเป็นบริษัทผลิตพลาสติกรายใหญ่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงแรกที่ปล่อยโครงการ Won ออกไป หลายคนมองว่ามันเป็นเพียงแค่โปรเจกต์ที่ทำมาเพื่อตอบสนองการเป็น CSR ของ TPBI ซึ่งกมลบอกว่าความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้น 

เริ่มต้นจากความเชี่ยวชาญเดิม มาต่อยอดเป็นสิ่งใหม่ 

จุดเริ่มต้นของ Won เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้วโดยกมลและกลุ่มคนเล็กๆ อีกไม่กี่คนที่เขาเรียกว่า ‘ทีม Innovation’ งานของทีมนี้ก็ตามชื่อที่ตั้ง คือเป็นการมารวมกลุ่มกันเพื่อทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ

หนึ่งในผลลัพธ์ของการทดลองก็คือ การนำสิ่งที่ TPBI ถนัดอยู่แล้วนั่นคือการรีไซเคิลพลาสติก มาต่อยอดจนเป็น Won

ที่ใช้คำว่า ‘ถนัดอยู่แล้ว’ นั่นเพราะว่าในรายได้ทุก 100 บาทของ TPBI มาจากการผลิตถุงพลาสติกประมาณ 70 บาท  แล้วในตัวเลข 70 บาทนั้น ราว 70 เปอร์เซ็นต์เป็นถุงที่ผลิตมาจากพลาสติกแบบ Post-Industrial Recycled (PIR) หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ มันคือการนำเศษพลาสติกที่เหลือจากกระบวน ‘การผลิต’ มารีไซเคิลและผลิตซ้ำจนกลายเป็นถุงใหม่ที่นำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง

แล้ว Won จะแตกต่างจากสิ่งที่ TPBI ทำอยู่แล้วยังไง

กมลอธิบายว่า ด้วยเทรนด์ที่เปลี่ยนไป คนให้ความสำคัญในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น–และยิ่งมากขึ้นทุกวัน เขาจำต้องขยับปรับอะไรบางอย่างให้เข้ากับผู้คนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“TPBI จะคอยรับเศษพลาสติกแบบ PIR เป็นหลัก ส่วน Won ถูกออกแบบมาให้แตกต่างด้วยการรับพลาสติกที่เป็น Post Consumer Recycled (PCR) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ มันก็คือพลาสติกเหลือใช้จากผู้บริโภคทั่วไปนี่แหละ

“ซึ่งหากนำถุงหนึ่งใบมารีไซเคิลใหม่ ผลที่ได้ก็จะออกมาเป็นถุงใบใหม่ที่มีมวลเท่ากัน โดย 99 เปอร์เซ็นต์ในนั้นมาจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ส่วนอีก 1 เปอร์เซ็นต์คือพลาสติกใหม่ที่ต้องใส่มาเพื่อประคองให้มันสามารถขึ้นรูปมาเป็นถุงได้อีกครั้ง”

ในปัจจุบัน สายตาของใครหลายคนพลาสติกคือผู้ร้าย แต่สำหรับกมล พลาสติกในมุมมองของเขานั้นต่างออกไป 

“คงเป็นเพราะเราอยู่กับมันมาแต่เด็ก แล้วสิ่งที่ทำให้ผมเป็นตัวเป็นตนมาได้จนถึงตอนนี้ส่วนหนึ่งก็คือรายได้จากครอบครัวที่มาจากธุรกิจพลาสติก

“ผมคิดว่าจริงๆ แล้วเรามีวิธีดีลกับมันได้ เพราะ 20-30 ปีที่ผ่านมาก็เห็นว่าจริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่รีไซเคิลมาได้อยู่ตลอด”

ฟังสิ่งที่กมลพูดทำให้เรานึกถึงเหตุผลในการเกิดขึ้นของถุงพลาสติก ที่ผู้คิดค้นอย่าง Sten Gustaf Thulin ตั้งใจว่าอยากจะให้มันเป็นสิ่งที่ใช้ซ้ำได้หลายๆ ครั้ง เพื่อจะได้ช่วยลดการใช้ถุงกระดาษ เและนำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าที่ลดลงได้

แพลตฟอร์มที่ช่วยหาทางออกให้กับขยะพลาสติก

ในฐานะที่อยู่กับการรีไซเคิลพลาสติกมานาน กมลอธิบายว่า ยังมีหลายคนคิดว่าพลาสติกรีไซเคิลนั้นจะต้องมีราคาถูกกว่าพลาสติกใหม่ เหมือนกับของมือสองหลายๆ อย่างที่มีราคาถูกกว่าสินค้ามือหนึ่ง

ทว่าในมุมของ Won ต้นทุนที่สูงไม่ได้อยู่ตรงขั้นตอนของการเอาพลาสติกเหลือใช้มาเข้าเครื่องจักร เพราะกระบวนการในการแปรรูปให้ถุงเก่าออกมาเป็นเม็ดพลาสติกนั้นใช้เวลาเพียงแค่วันกว่า ส่วนการนำเม็ดพลาสติกมาขึ้นรูปเป็นถุงอีกครั้งก็ใช้เวลาหลักชั่วโมงเท่านั้น 

“สิ่งที่นานคือขั้นตอนก่อนหน้าที่กว่าจะรวบรวม ขนย้าย คัดแยกเพื่อที่จะเอามันมารีไซเคิลได้ เป็นเรื่องที่ใช้ทั้งต้นทุนของเงิน คน และเวลาไม่ใช่น้อยเลย เพราะมันคือการเก็บรวบรวมพลาสติกแบบ PCR จากครัวเรือนต่างๆ ที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย และไม่ใช่ว่าพลาสติกทุกชนิดจะสามารถเอามารีไซเคิลได้ทั้งหมด เราก็เลยต้องใช้แรงมือของคนในการช่วยคัดเลือกมันก่อน”

แม้ในช่วงเริ่มต้น Won จะได้รับเงินสนับสนุนจาก TPBI ในการก่อร่างสร้างโปรเจกต์ให้เกิดขึ้นมา ทว่าการจะทำให้โปรเจกต์ที่ตั้งใจทำเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ได้อย่างยั่งยืน CSR อาจไม่ใช่คำตอบของการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้

นั่นจึงจำเป็นต้องมีการหารายได้มาเพื่อประคองให้ Won สามารถอยู่วนไปได้ด้วยตัวมันเอง อย่างในตอนนี้ก็มีถุงพลาสติกจาก Won ส่งไปขายตามที่ต่างๆ รวมถึงการไปคอลแล็บกับหลายๆ แบรนด์เพื่อผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกมาจำหน่าย 

กมลไม่ได้มองว่า Won จะทำหน้าที่แค่รวบรวมขยะ นำมารีไซเคิล แล้วทำของออกมาขายเท่านั้น แต่ความคาดหวังของเขาคือการผลักดันให้ Won กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยหาทางออกให้กับขยะพลาสติก ผ่านการไปจับมือกับแบรนด์หรือองค์กรต่างๆ ใครมีปัญหาก็มาร่วมหาทางออกกับ Won ได้ เพราะมี know-how ในการแก้ไขปัญหาพร้อมสรรพ

“เพราะการจะทำเรื่องสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ลำพังแล้วการขับเคลื่อนของ Won เพียงคนเดียวก็คงไม่อาจทำให้มันกลายเป็นความจริงขึ้นมาได้ ทว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรเล็ก องค์กรใหญ่ รวมถึงผู้คนด้วยเช่นกัน เหมือนอย่างตอนนี้ที่ awareness ของการใช้ถุงพลาสติกนั้นเริ่มดีขึ้น ก็เพราะมาจากความร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย ทั้งแบรนด์เล็กแบรนด์ใหญ่หันมาให้ความสนใจและออกมา take action บางอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม” 

เมื่อแบรนด์เดินมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง

ในเชิงสิ่งแวดล้อม แม้ว่าต้นทุนของพลาสติกรีไซเคิลจะแพงกว่า แต่มันก็เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าในวันที่ภาวะโลกร้อนเขยิบใกล้ตัวเราขึ้นมาทุกวัน 

คำถามที่น่าสนใจและหลายคนอาจสงสัยคือ ในโลกของธุรกิจหากต้นทุนของถุงสูงขึ้น มันจะเป็นวิธีการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับโลกในระยะยาวหรือไม่ 

“ตอนนี้กระแสสังคมเริ่มบีบให้แบรนด์เดินมาถึงทางแยกที่ต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง เพราะการทำธุรกิจให้อยู่รอดในยุคนี้และอยู่ต่อไปในอนาคตได้มันไม่ได้มีแค่เรื่องของกำไร แต่ยังต้องเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาคิดคำนวณในการทำธุรกิจด้วยเช่นกัน เป็นเหมือนการจ่าย environment tax ทางอ้อม และในอีกแง่มุมหนึ่งการลงทุนหันมาใช้ถุงรีไซเคิลก็สะท้อนความรับผิดชอบบางอย่างของแบรนด์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเหมือนกัน”

เมื่อฟังที่กมลพูดก็ทำให้เรานึกถึงข่าวคราวในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา ที่หลายแบรนด์ระดับโลกต่างออกมาให้คำสัญญาที่จะลดการใช้พลาสติกแบบ single-use ภายในปี 2025 และเมื่อแบรนด์ใหญ่ขยับก็มักจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้อีกหลายๆ ธุรกิจต้องปรับตัวตามอยู่เสมอ 

“ผมคิดว่าถ้าธุรกิจเอาแต่ผลิต มุ่งเน้นแต่กำไร โดยไม่ได้คิดถึงคนอื่นที่อยู่รอบข้าง สุดท้ายผู้บริโภคก็จะไม่เลือก แล้วแบบนี้แบรนด์จะอยู่ต่อไปได้ยังไง” กมลทิ้งท้าย 

วิชาการจัดการโรงแรมช่วงโควิดของ Rayavadee ในวันที่ต้องปรับธุรกิจให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น

เมื่อโรคระบาดเป็นอุปสรรคของการเดินทางระหว่างประเทศ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้เหมือนเดิม หลายต่อหลายฝ่ายจึงออกมาบอกว่าเพื่อประคองให้ธุรกิจโรงแรมยังอยู่รอดจนถึงวันที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเหมือนก่อนช่วงเวลาก่อนเกิดโควิดได้ เหล่าผู้ประกอบการจำต้องปรับกลยุทธ์ทั้งในแง่ของราคาและการบริการเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่เป็นคนไทยมากขึ้น 

แต่ในเมื่อโรงแรมไม่ได้มีแค่เรื่องของห้องพัก ลองจินตนาการตั้งแต่เดินเข้าไป check-in หน้าเคาน์เตอร์ จนถึงวันที่ check-out เดินออกมา จะเห็นว่าโรงแรมนั้นเป็นธุรกิจที่มีรายละเอียดอยู่ในนั้นมากมาย  

ทั้งสิ่งที่แขกผู้เข้าพักมองเห็นได้อย่างงานบริการตั้งแต่หน้าประตูไปจนถึง facility ต่างๆ หรือสิ่งที่แขกผู้เข้าพักมองไม่เห็นอย่างการจัดการหลังบ้านซึ่งมากกว่างานเบื้องหน้าหลายเท่าตัว 

แบบนี้แล้ว การปรับตัวที่ว่า เป็นเรื่องที่ยาก-ง่ายเพียงใด

วันนี้เราจึงชวน ทิพย์ชยา พงศธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม กลุ่มบริษัทพรีเมียร์ ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง Rayavadee, Tamarind Village และ Raya Heritage มาพูดคุยกันเรื่องวิชาการจัดการโรงแรมช่วงโควิดว่าเป็นยังไง

RE-CAP

ธุรกิจโรงแรมในปี 2021 ยังคงเผชิญกับความท้าทาย 

นอกจากสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและข่าวคราวที่ปรากฏตามหน้าสื่อ ข้อมูลที่บอกว่าในช่วงมกราคม-พฤศจิกายนปี 2020 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 83.21 เปอร์เซ็นต์ 

ส่วนปี 2021 ที่เพิ่งผ่านมาก็ลดลงจากปี 2020 มาอีก 97.05 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งตอกย้ำถึงความน่ากังวลใจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมในบ้านเรา ที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นกลุ่มลูกหลักในการสร้างเม็ดเงินให้กับธุรกิจนี้

“จากที่การท่องเที่ยวเคยเป็นภาคธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างมหาศาล แต่พอเกิดโรคระบาดทำให้ผู้ประกอบการต้องเริ่มหันมาฉุกคิดสิ่งต่างๆ มากขึ้น การเพิ่มจำนวนห้องพัก เปิดสาขาใหม่เหมือนในอดีตอาจไม่ใช่โมเดลที่ทำให้ธุรกิจเติบโตได้แบบยั่งยืนอีกต่อไปในอนาคต โครงการใหญ่ๆ หลายแห่งก็คงจะต้องชะลอการเปิดตัว และในขณะเดียวกันที่พักขนาดไม่ใหญ่แต่มีเสน่ห์ของความเป็นท้องถิ่นก็จะได้รับความนิยมมากขึ้น” ทิพย์ชยาฉายภาพรวมธุรกิจโรงแรมในปีที่ผ่านมาให้ฟังอย่างกระชับ

เมื่อลองคิดตาม หากวัดจากแค่หน้าฟีดบนโซเชียลมีเดียหรือลิงก์ที่คนใกล้ตัวหลายคนส่งมาเพื่อจะชวนไปเที่ยวต่างจังหวัด ก็มักจะเป็นที่พักเชิงโลคอลเสียเป็นส่วนใหญ่อย่างที่เธอว่า 

PLANNER

สิ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับธุรกิจโรงแรมในปี 2022 

โดยรวมแล้วมุมมองของทิพย์ชยาที่มีต่ออุตสาหกรรมโรงแรมในปีนี้ไม่ต่างจากที่หลายฝ่ายออกมาพูดกันสักเท่าไหร่ 

“ถึงยังไงแล้วกลุ่มลูกค้าหลักที่สร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนในธุรกิจก็ยังคงเป็นชาวต่างชาติ เพราะเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่า และระยะเวลาในการมาพักก็นานกว่าเมื่อเทียบกับคนไทย แต่เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับเข้ามาไม่ได้เหมือนช่วงก่อนเกิดโรคระบาด ธุรกิจโรงแรมก็ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้เข้ากับลูกค้าที่เป็นคนไทยมากขึ้น ทั้งในแง่ของราคา บริการ สถานที่ facility บางอย่างที่เหมาะกับการมา workation”

ส่วนประเด็นที่ว่าที่พักแนวโลคอลนั้นมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นั้นเธอมองว่ามันไม่ใช่แค่เพราะการ work from home เป็นเวลานานจนอยากจะหาที่พักที่ท่องเที่ยวแนวที่มีกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่นและธรรมชาติ แต่ยังเพราะเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน

 “หากเทียบกับสิบปีก่อนหน้าที่การเข้าถึงข้อมูลยังไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ผ่านปลายนิ้วเหมือนอย่างทุกวันนี้ เวลาลูกค้าจะตัดสินใจเลือกที่พักไปถึงก็ไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง ดังนั้นการเลือกแบรนด์ที่มีชื่อเสียงจึงเหมือนเป็นการซื้อความมั่นใจในการเดินทางของแต่ละทริปไปได้ระดับหนึ่ง

“แต่ทุกวันนี้บนโลกออนไลน์มีเหล่าบล็อกเกอร์ไปรีวิวให้ดูว่าสถานที่จริงเป็นยังไง มีการให้คะแนนคุณภาพที่พักแต่ละที่ผ่าน third party ทั้งหลาย ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวเปิดใจไปพักที่พักแนวโลคอลมากขึ้น”

นิยามของที่พักแนวโลคอล

ในความหมายของทิพย์ชยา คำว่าที่พักแนวโลคอลคือโรงแรมที่กลมกลืนไปกับพื้นที่นั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ดีไซน์ภายนอก แต่รวมไปถึงรายละเอียดและวิธีคิดข้างใน 

เพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่าโลคอลในมุมมองของเธอมากขึ้น จึงขอหยิบยก ‘Raya Heritage’ ที่จังหวัดกระบี่มาอธิบายให้เห็นภาพ นอกจากสถาปัตยกรรมภายนอกแล้ว ระบบข้างในต่างๆ ก็ถูกคิดมาอย่างเป็นมิตรกับท้องถิ่นด้วยเช่นกัน

ไล่ตั้งแต่การลงทุนติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียข้างใน จนทำให้มันวนกลับสู่ธรรมชาติ โดยนำมารดน้ำต้นไม้ได้อีกครั้ง หรือระบบของเครื่องปรับอากาศก็เลือกใช้การทำระบบน้ำเย็นฝังอยู่ใต้ดินแทนคอมเพรสเซอร์แอร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นมิตรกับธรรมชาติที่ทำให้ไม่เกิดลมร้อนแล้ว การเลือกใช้ระบบน้ำเย็นแทนก็ยังเป็นมิตรกับหูของมนุษย์มากกว่าคอมเพรสเซอร์ด้วยเช่นกัน 

“คือเราไม่ได้จะเข้าไปทำธุรกิจแบบปีสองปีแล้วเลิก เราต้องอยู่ตรงพื้นที่นั้นกับคนแถวนั้นอีกนาน ซึ่งการที่เราปล่อยอะไรไม่ดีออกมาที่มันเป็นปฏิปักษ์ต่อชุมชน สุดท้ายแล้วสิ่งนั้นก็อาจย้อนกลับมาหาตัวเราเอง ดังนั้นเราก็ต้องทำอะไรที่เป็นมิตรกับโลคอลด้วย และอีกมุมหนึ่งมันก็เป็นเรื่องคุณค่าทางจิตใจของคนทำธุรกิจด้วยเช่นกัน” ทิพย์ชยาอธิบายถึงความเชื่อ 

ปรับตัวให้อยู่รอด

เมื่อลูกค้ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของโรงแรมในเครือเป็นชาวต่างชาติมาโดยตลอด ดังนั้นการจะปรับธุรกิจให้เข้ากับลูกค้าที่เป็นคนไทยจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่ใครหลายคนคิด 

เพราะเมื่อพฤติกรรมของคนไทยกับต่างชาตินั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลยุทธ์ที่ใช้กับลูกค้าทั้งสองกลุ่มจึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน 

ยกตัวอย่างลูกค้าฝั่งอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส มักจะจองผ่านเอเจนซีที่มีคนบริการสิ่งต่างๆ ให้อย่างเสร็จสรรพ ตั้งแต่ตั๋วเครื่องบินไปจนถึงห้องพัก ดังนั้นการทำตลาดกับลูกค้ากลุ่มนี้จึงเป็นการไปสร้างความสัมพันธ์กับเหล่าเอเจนซีเพื่อให้เอเจนซีแนะนำที่พักให้กับลูกค้าอีกทอดหนึ่ง

หรือถ้าเป็นลูกค้าฝั่งอเมริกา ก็จะเป็นการไปสร้างความสัมพันธ์กับ The Leading Hotels of The World (LHW) เครือข่ายที่จะคัดเลือกโรงแรม independence ที่น่าเชื่อถือและมีคุณภาพเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเธอก็ต้องพยามพาโรงแรมในเครือที่เธอบริหาร ให้เข้าไปอยู่ในเครือนี้ให้ได้ เพื่อเป็นเหมือนเครื่องหมายในการการันตีคุณภาพ และเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับโรงแรมมากขึ้น

ที่ผ่านมา Raya ใช้กลยุทธ์ดังกล่าวในการทำการตลาดมาโดยตลอด แต่เมื่อต้องปรับตัวให้เข้ากับคนไทยมากขึ้น แนวทางในการสื่อสารแบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าจึงต้องปรับตามเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้งผ่าน Facebook Ads, SEO, SEM นั่นทำให้ช่วงสองปีที่ผ่านมาช่องทางออนไลน์ของโรงแรมในเครือ Raya กระเตื้องขึ้นเป็นอย่างมาก ถึงกับทำให้เธอรู้สึกว่า 

“มันอิมแพกต์ขนาดนี้เชียวหรือ”

รายได้ของธุรกิจโรงแรม อาจไม่ได้เกิดขึ้นในโรงแรมเสมอไป 

นอกจากการปรับกลยุทธ์ต่างๆ ของโรงแรมให้เข้ากับลูกค้าที่เป็นคนไทย อีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ ก็คือการใช้ประสบการณ์ในการทำธุรกิจที่สั่งสมมาเพิ่มช่องทางในการหารายได้ อย่างการไปเป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่นที่อยากทำโรงแรม 

เพราะในห้วงเวลาวิกฤตนี้ ก็ยังมีคนที่มองว่ามันคือโอกาส เป็นหมือนช่วงเวลาสุญญากาศที่จะทำให้เริ่มก่อร่างสร้างธุรกิจโรงแรมได้โดยไม่ต้องเสียโอกาสอื่นๆ ทางธุรกิจไป และก็เป็นโอกาสที่ทำให้ทิพย์ชยาได้เจอช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยเช่นกัน 

“ส่วนใหญ่คนที่มาทำจะเป็นคนที่มีที่ดินอยู่แล้ว มีใจรัก ชอบธุรกิจโรงแรม แต่อาจไม่มีประสบการณ์มากนัก เราก็เลยใช้ความเชี่ยวชาญที่มีมาเป็นคอนซัลต์ให้ คือแทนที่จะปล่อยเวลาว่างที่มีอยู่ให้มันล่วงเลยไป เราเลยมานั่งคิดว่า จริงๆ แล้วเรายังมีจุดเด่นหรือจุดแข็งอะไรอีกบ้าง ที่สามารถดึงมันออกมา แล้วแปลงให้มันกลายเป็นรายได้ กลายเป็นว่ามันทำให้เราได้ค้นพบโอกาสใหม่ๆ แล้วก็เป็นโอกาสที่ทีมของเราชอบที่จะทำมันด้วยเช่นกัน ” ทิพย์ชยากล่าวทิ้งท้าย

3 หัวใจหลักสำคัญของการทำธุรกิจโรงแรม 

  1. คน : ทิพย์ชยามองว่าเรื่องของคนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก องค์กรต้องดูแลพนักงานให้ดี ให้สามารถมีความก้าวหน้าในชีวิตและมีบาลานซ์ได้ สิ่งเมื่อพนักงานได้รับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไป สุดท้ายพนักงานก็จะมีความสุขและก็จะวนกลับมาเป็นธุรกิจที่ดี เพราะการที่องค์กรเสียบุคคลากรไปนั้นตามมาด้วยต้นทุนอีกมากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินที่ต้องจ้างพนักงานใหม่ แต่คือต้นทุนของเวลาที่กว่าจะเทรนให้คนใหม่ทำงานได้เทียบเท่าหรือดีกว่าคนเก่านั้น เป็นสิ่งที่ใช้เวลาไม่น้อยเลย
  2. เป็นหนึ่งเดียวกับพื้นที่ตรงนั้น : เธอเชื่อว่าการทำธุรกิจโรงแรม ในวิธีที่เข้าไปอยู่กับพื้นที่นั้นๆ อย่างกลมกลืน มากกว่าที่จะสร้างสถาปัตยกรรมอะไรต่างๆ ตามเทรนด์ เพราะเทรนด์มาไม่นานเดี๋ยวก็ไป แต่กลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่นในแต่ละที่นั้นมีความยั่งยืนกว่า อีกประเด็นคือการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเชียงใหม่หรือภูเก็ต ก็อยากสัมผัสกับกลิ่นอายของความเป็นท้องถิ่นนั้นๆ มากกว่าอะไรที่เป็นโมเดิร์นอยู่แล้ว
  3. การบริหารจัดการสื่อสาร : ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงาน หรือการสื่อสารไปถึงผู้ค้าลูกค้า เป็นเรื่องที่เธอให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาหลายๆ อย่างเริ่มมาจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจน

คุยกับนักคั่วกาแฟ ‘เตและพลอย’ เรื่องเทรนด์กาแฟและวิธีเอาตัวรอดในยุคที่ใครๆ ก็คั่วขายเองได้

ขวบปีที่ผ่านมา ธุรกิจกาแฟถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องปรับตัวกันหนักมากทีเดียว ไม่ว่าจะด้วยมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ชีวิตชีวาของคาเฟ่หายไป หรือกระทั่งเทรนด์ที่คนกินกาแฟผันตัวมาเป็น home brewer กันมากขึ้น 

เมื่อคลี่ดูรายละเอียด สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้นำพาทั้งอุปสรรคและโอกาสในการทำงานรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาท้าทายความสามารถในการตัดสินใจของคนทำธุรกิจ สำหรับบางคนคงแทบไม่มีเวลาให้ได้พักหายใจ

ในเดือนที่หลายๆ คนปักหมุดให้เป็นเดือนแห่งการเริ่มต้นใหม่อย่างเดือนนี้ เราชวนคนกาแฟเบอร์ต้นๆ ของบ้านเราอย่าง เต–เอกเมธ วิภวศุทธิ์ นักคั่วกาแฟผู้ก่อตั้งคาเฟ่และโรงคั่ว Brave Roasters และ พลอย–ผกาวัลย์ ติรไพโรจน์ นักคั่วกาแฟจาก Roots ที่ปีนี้เธอเบนเข็มมาทำ Sauce Coffee แบรนด์กาแฟที่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมของตัวเองเต็มตัว มานั่งคุยและแบ่งปันบทเรียนจากการทำธุรกิจกาแฟในปีที่เต็มไปด้วยความผันผวนที่ว่า

และที่สำคัญ ในเส้นทางนี้ ยังมีช่องว่างหรือโอกาสให้กับคนที่อยากเริ่มนับหนึ่งในอุตสาหกรรมกาแฟนี้ยังไงบ้าง มาฟังจากเสียงของเตและพลอยไปพร้อมกัน

RE-CAP

Improvise to Survive

“ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่เราต้องจูนอารมณ์ตัวเองเยอะมากก่อนจะคิดว่าร้านเราจะเดินไปทางไหน หรือเราควรจะทำอะไรเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ยิ่งตอนที่สาขาในห้างของเราถูกปิด มันทำให้เราลนลานมากๆ เพราะมันคือประสบการณ์ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน” เตเริ่มต้นเล่า

ถึงตอนนั้น Brave Roasters จะยังเหลือหน้าร้านอีก 3 สาขาที่สามารถเปิดให้บริการกับลูกค้าได้ แต่ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ออกบ้านกันน้อยลง ความลนลานของเจ้าของธุรกิจเลยทวีคูณไปด้วย

“เราบอกคนในทีมว่าเราจะไม่ถอย ณ ตอนนั้นทำอะไรได้ให้ทำหมด เรียกว่าอิมโพรไวซ์ได้เลย แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ต้องมีการวางแผนด้วยว่าแต่ละสัปดาห์เราจะขายอะไรบ้าง อย่างถุง Concentrated Cold Brew สำหรับ home brewer ก็เป็นหนึ่งในการอิมโพรไวซ์ที่ช่วยเราได้มาก”

ย้อนกลับไป 2 ปีก่อนที่วิกฤตโควิด-19 มาเยือน Concentrated Cold Brew เป็นโปรดักต์ที่หลังบ้านของ Brave Roasters ผลิตให้เฉพาะลูกค้าที่ซื้อแบบ wholesale อยู่แล้ว (นอกจากหน้าร้านที่เราเห็นๆ กันอยู่แล้ว พวกเขายังเป็นโรงคั่วที่คั่วเมล็ดขายส่งให้ร้านอื่นๆ ด้วย) ลูกค้ากลุ่มที่ว่าก็คือเหล่าคาเฟ่ที่ไม่ต้องการลงทุนกับเครื่อง espresso machine หรือมีคอนเซปต์หน้าร้านที่เน้นขายเมนูกาแฟโคลด์บรูว์

แค่พลิกวิธีขายจากขายส่งเป็นขายปลีก ออกแบบแพ็กเกจที่เฟรนด์ลี่กับคนกินกาแฟที่บ้านมากขึ้น บวกกับการเป็นเจ้าแรกๆ ที่ปล่อยโปรดักต์ตัวนี้เข้าสู่ตลาด คำว่า ‘ออร์เดอร์ถล่มทลาย’ คงใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้ได้ดีสุด

ถึงอย่างนั้น Concentrated Cold Brew ก็ไม่ใช่วิธีเอาตัวรอดวิธีเดียวที่ถูกใช้ ทางฝั่งหน้าร้านสาขาก็ต้องสู้ยิบตาเพื่อยอดขายเหมือนกัน

“ช่วงนั้นเราก็มีคิดกลยุทธ์ คิดโปรโมชั่นเพิ่มเข้ามา แต่อย่าลืมว่าในเวลาเดียวกัน ทุกๆ ร้านก็ออกโปรฯ แข่งกันหมด ตัวเลือกในการจ่ายเงินของลูกค้ามีเยอะมาก เลยนั่งทบทวนว่าเรามีอะไรอยู่ในมือบ้าง ซึ่ง 2-3 ปีก่อนหน้าเราทำ LINE OA เป็นช่องทางให้ลูกค้าติดตามเรา คือใช้แค่พีอาร์ว่าเรามีอะไรแต่ไม่เคยใช้เป็นเครื่องมือขายของตรงๆ กลายเป็นว่าปีที่ผ่านมา LINE OA ที่เราค่อยๆ สะสมฐานลูกค้ามาเรื่อยๆ มันกลับสร้างประโยชน์ให้เราเยอะมาก” เตเล่า

นอกจากเลือกเปิดใจให้กับช่องทางการขายช่องนี้มากขึ้น เตยังใช้มันเป็นช่องทางยิงโปรโมชั่นหน้าร้านส่งตรงถึงลูกค้า และจากการเฝ้าสังเกตและวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าตลอดปีที่ผ่านมา เตได้เรียนรู้ว่าคนกินกาแฟบ้านเราหรือลูกค้าของพวกเขาเบื่อโปรโมชั่นค่อนข้างเร็ว การสู้ด้วยความสดใหม่และความถี่ของการนำเสนอโปรโมชั่น ที่แม้จะเหนื่อยแรงคนหลังบ้านหน่อย แต่ถือเป็นการแก้เกมที่ใช้ได้ทีเดียว

Package Design Matters

เตมองว่ากิจวัตรที่อยู่บ้านมากขึ้น จนทำให้คนกินกาแฟผันตัวเองเป็นบาริสต้ามือสมัครเล่นหรือ home brewer มากขึ้นนั้น ถือเป็นโอกาสที่เปิดทางให้คนทำธุรกิจกาแฟ ได้สื่อสารและขายของให้กับคนหน้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น 

“นอกจาก home brewer เยอะขึ้นเร็วกว่าเดิมแล้ว เราเห็นภาพด้วยว่าคนเอนจอยกับกาแฟมากขึ้น” 

คำว่าเอนจอยในความหมายของเตคือ คนกินรื่นรมย์กับกลิ่นและรสของกาแฟมากขึ้น แม้จะดูเป็นโอกาสที่หอมหวานสำหรับผู้ผลิตกาแฟพิเศษ (specialty coffee) ที่ขายจุดเด่นเรื่องกลิ่นและรสที่เกิดจากกระบวนการผลิตสุดพิถีพิถัน และขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะให้เครดิตคนต้นทาง ทว่าปรากฏการณ์นี้มีหนึ่งเรื่องที่น่าขบคิดอยู่

“สมมติมีคนกินกาแฟเพิ่มขึ้น 1,000 คน สัดส่วนที่เราได้เป็นสัดส่วนที่น้อยเสียจนเรารู้สึกว่ามันน้อยไป พอเราไม่สามารถหาลูกค้าใหม่ได้มากเท่าที่คิด เราเลยกลับมาดูว่าในเหตุการณ์นี้มันเกิดอะไรขึ้น แล้วก็พบว่าบางคนเขามองหากาแฟที่บรรจุภัณฑ์น่ารักเป็นอันดับแรก คือยอมรับว่าตัวเราเองไม่ได้มองขาดในเรื่องนั้น คือใช้คำว่า ‘นึกไม่ถึง’ เลยดีกว่า เพราะเราอยู่กับกาแฟมานานมากๆ เลยโฟกัสแค่การทำยังไงให้โปรดักต์เราดีและได้นำเสนอในสิ่งที่เราเลือกมาแล้วเท่านั้น”

เรื่องคุณภาพหรือการเป็นตัวจริงเรื่องกาแฟ สำหรับเรา Brave Roasters เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ไทยที่ยืนหนึ่งในเรื่องนี้ เมื่อคลิกแล้วว่าดีไซน์ของหีบห่อเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลกับการตัดสินใจซื้อของลูกค้ากลุ่มใหม่บางกลุ่ม การเลือกหรือไม่เลือกที่จะปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่เจาะใจคนกลุ่มนี้มากขึ้น สำหรับเตแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นการบ้านอีกหนึ่งอย่างของ Brave Roasters ทั้งในขวบปีนี้และอนาคตข้างหน้า

PLANNER

Everyone Knows Specialty Coffee 

เตและพลอยบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ๆ ในปีนี้คือ ลูกค้าจะให้ความสนใจกาแฟที่ไม่ธรรมดาหรือกาแฟพิเศษกันเยอะมากขึ้น พูดง่ายๆ คือรู้จักเลือกกินกาแฟมากขึ้นนั่นเอง

“เพราะกาแฟคือโปรดักต์ที่คนกินซ้ำทุกวัน ดังนั้น การที่เขาเลือกจะเปลี่ยนแปลงอะไร เราเดาว่าเขาคงมีการไปหาข้อมูลเพิ่มเติมจนรู้ว่า ตัวเลือกกาแฟที่ดีในราคาที่ใกล้เคียงกับกาแฟแก้วก่อนหน้าที่เขาเคยซื้อมันมีอยู่นะ ซึ่งการที่ลูกค้าเลือกกินมากขึ้น เรามองว่าสิ่งนี้เป็นโบนัสของพนักงานหน้าร้าน คือทุกคนสนุกที่ได้คุย ได้เล่าเรื่องให้ลูกค้าฟัง ขณะเดียวกันพนักงานก็ทำงานง่ายมากขึ้น เพราะว่าลูกค้ามีความเข้าใจเรื่องกาแฟพิเศษมาแล้วประมาณหนึ่ง” เตเล่า

“แล้วพอมีคนเข้าใจมันมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ในอุตสาหกรรมนี้จะมีคนหน้าใหม่ทำธุรกิจมากขึ้น ปีที่ผ่านมาเราเห็นเลยว่ามีนักคั่วกาแฟหน้าใหม่หลายคน พยายามบินไปหาเกษตรกรกาแฟที่เชียงใหม่ เชียงราย จากนั้นก็ซื้อสารกาแฟมาคั่วแบบ small batch แล้วขาย” พลอยเสริม

เมื่อโรงคั่วหรือแบรนด์กาแฟทุกเจ้าเข้าถึงเกษตรกรและนักแปรรูปได้เหมือนๆ กัน แถมการดีลกับเกษตรกรโดยตรงก็ดีกว่าตรงที่ราคาต้นทุนจะไม่มีส่วนที่ต้องเสียให้กับพ่อค้าคนกลาง ความท้าทายของคนทำธุรกิจกาแฟคือ ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นในการหาเมล็ดกาแฟที่มีความน่าสนใจกว่าที่ตลาดเคยมี ไม่ว่าจะเป็นความต่างของแหล่งปลูก ชื่อของเกษตรกรหน้าใหม่ หรือเลือกกาแฟที่แปรรูปด้วยโพรเซสใหม่ๆ หรือที่กำลังเป็นกระแส ณ เวลานั้น ตัวอย่างเช่น ปีที่ผ่านๆ มา วงการกาแฟตื่นเต้นกับกระบวนการแปรรูปแบบ yeast fermentation หรือการหมักกาแฟด้วยยีสต์ที่เชื่อกันว่ามันสามารถดึงรสชาติที่พิเศษออกมา หรือบางช่วงก็มีการให้ความสนใจกับกาแฟสายพันธุ์พิเศษ เป็นต้น

“อย่างเรา เราไม่ได้เป็นผู้ประกอบการที่อยากจะหากาแฟสายพันธุ์ดีที่สุดหรือซื้อสารกาแฟจากแหล่งดังๆ มาคั่ว เราอยากให้พื้นที่กับกาแฟที่ดี คือเป็นกาแฟที่อาจจะต้องให้ความรู้คนกิน เป็นความรู้ในระดับที่ไม่ได้สูงมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ไม่ตื้นเขินเกินไปด้วย ดังนั้น วิธีการ sourcing หรือการหาเมล็ดกาแฟมานำเสนอในแบบของเรา จะให้ความสำคัญกับความสมเหตุสมผลของราคาและรสชาติกาแฟเป็นหลัก อันนี้คือทิศทางที่เราอยากจะไปนะ” พลอยเล่า

Home Brewing to Home Roasting

หลังจากโควิด-19 ระลอกสองผ่านไป พลอยสังเกตว่าคนที่ทำกาแฟกินเองที่บ้านหลายคน เริ่มขยับจากคนกินมาสู่คนทำมากขึ้น

“บางคนอยากลองคั่วกาแฟขายเอง เริ่มต้นด้วยการซื้อเครื่องคั่วขนาดเล็กๆ (sample roaster) มาตั้งที่บ้าน ก่อนหน้านี้เราได้มีโอกาสไปสอน home roasting มีคนสมัครคลาสนี้เยอะมากๆ เรียนแล้วได้เครื่องคั่วกลับบ้านด้วย ปีนี้เราเลยมั่นใจมากว่า home roasting น่าจะเป็นเทรนด์ที่กำลังมา

“ถ้าถามว่ามันกระทบธุรกิจเราไหม ส่วนตัวเราไม่ได้กังวลกับมันขนาดนั้น เพราะเราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำว่ามันจะเป็นสิ่งที่ดี แล้วเราคิดว่ารอบตัวเรามีคนจำนวนหนึ่งที่อยากซัพพอร์ตโปรดักต์เราอยู่ แต่ถ้าคนที่เขาคอยซัพพอร์ตเรา อยู่ๆ วันดีคืนดีเขาอยากคั่วกาแฟขายเอง วันนั้นยอดขายเราอาจจะตกบ้าง แต่มุมหนึ่งมันช่วยทำให้วงจรอุตสาหกรรมกาแฟบ้านเรามีสีสันมากขึ้น สิ่งนี้เรามองว่าเป็นกำไรของคนกินกาแฟนะ” พลอยสรุป

A Small Shift for Sustainable Movement

เตเล่าให้ฟังว่าการผลิตกาแฟก็ถือเป็นงานที่ไม่ได้น่ารักกับสิ่งแวดล้อมสักเท่าไหร่ ตั้งแต่การดูแลต้นกาแฟที่เกษตรกรบางรายยังพึ่งพาสารเคมี การแปรรูปเชอร์รีกาแฟยังต้องใช้น้ำสะอาดในปริมาณมาก สร้าง waste เยอะสุดๆ หรือการคั่วกาแฟก็เป็นขั้นตอนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากสุดในบรรดากระบวนการผลิตกาแฟทั้งหมด

ในเมื่อการบริโภคของมนุษย์ติดคาเฟอีนยังต้องดำเนินต่อ สิ่งที่คนกาแฟยุคปัจจุบันขอลุกขึ้นมาทำเพื่อโลก นั่นคือการสนับสนุนฟาร์มกาแฟอินทรีย์ที่มีการหมุนเวียนทรัพยากรในนั้น ลดการปล่อยคาร์บอนในการขนส่ง รวมทั้งลดขยะที่เกิดจากการบริโภคให้ได้มากที่สุด ซึ่งขวบปีแรกของแบรนด์น้องใหม่อย่าง Sauce Coffee ก็ได้เลือกจริงจังในประเด็นสุดท้าย

โจทย์แรกๆ ที่พลอยและ เพื่อน–รตา วงศ์บุษราคัม พาร์ตเนอร์ ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ ให้ความสำคัญ คือการดีไซน์หีบห่อเมล็ดกาแฟที่ลดขยะ ไม่เลือกใช้ถุงแบบ tin tie (ลวดปิดปากถุง) หรือใช้ถุงที่เป็นซิปล็อกแบบที่โรงคั่วอื่นๆ ใช้ เพราะถุงเหล่านี้ประกอบด้วยวัสดุ 2-3 ประเภทที่ถูกผนึกไว้ด้วยกัน ทำให้ยากต่อการเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล และแม้โปรดักต์ของ Sauce Coffee จะมีกล่องแข็งด้านนอกที่ถูกออกแบบมาสวยกริบ ทุกๆ การสั่งซื้อ ลูกค้าที่ไม่อยากสร้างขยะเพิ่มยังสามารถกดออพชั่นไม่รับกล่องกาแฟได้ด้วย

“วันนี้สัดส่วนลูกค้าที่ไม่รับกล่องมีครึ่งหนึ่งแล้ว เราไม่รู้หรอกว่าจุดเล็กๆ นี้มันจะอิมแพ็กขนาดไหน แต่การที่ได้เริ่มลงมือทำก่อนใคร ถึงจะท้าทายแต่มันโอเคมากๆ เลยสำหรับเรา” พลอยทิ้งท้าย


3 สิ่งสำคัญที่คนทำธุรกิจกาแฟควรปักหมุดยึดไว้ในใจ

1. ให้ความสำคัญกับต้นทาง

“ถ้าเราตั้งใจอยากจะเสิร์ฟสิ่งที่ดีให้กับลูกค้า ส่วนตัวเราเชื่อในการคุยกับเกษตรกร ได้ดีลกับเขาด้วยตัวเอง เพราะมันทำให้เราได้รู้คุณภาพของแหล่งปลูกนั้นๆ แบบค่อนข้างเรียลไทม์ ถ้าต้นทางดีและเราตั้งใจทำให้มันดีด้วย ธุรกิจมันอยู่ได้อยู่แล้ว” – เต

2. เมคเฟรนด์ คุยกับคนอื่นๆ บ้าง

“เราว่าการที่เราคอนเนกต์กับคนอื่น เช่น เกษตรกร ลูกค้า หรือเพื่อนในวงการด้วยกัน ถ้ามีความสัมพันธ์ที่ดี ธุรกิจเราจะเดินได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น เช่น กับเพื่อนเราอาจจะแชร์ facility โรงคั่วกาแฟด้วยกันได้ หรือกับลูกค้า ฟีดแบ็กจากเขาอาจเป็นสิ่งที่ช่วยไกด์ว่าเราควรพัฒนาตัวเองยังไง เป็นต้น” – พลอย

3. หนักแน่นกับตัวเองเข้าไว้

“ธุรกิจที่ยั่งยืนควรเริ่มต้นจากตัวเราที่มีแนวคิดที่ยั่งยืนก่อน หาให้เจอว่าทิศทางที่เราอยากเติบโตมันเป็นทิศทางไหน และทุกๆ การเปลี่ยนแปลงควรเกิดจากการที่เราพิจารณาสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเรา ทีมเรามากกว่า อย่าลนลานหรือรีบเปลี่ยนเพื่อเอาใจลูกค้าโดยที่หลงลืมตัวตนของเราเอง” – เต

คุยกับ รวิวร มะหะสิทธิ์ พ่อบ้านแห่ง readAwrite เรื่องการเติบโตของเว็บอ่าน-เขียนนิยายออนไลน์

นอกจากความสะดวกสบายของนิยายออนไลน์ที่ทำให้คนเข้าถึงการอ่านได้ทุกที่ทุกเวลาแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาหนังสือนิยายที่เรียงรายอยู่บนชั้นตามร้านหนังสือเชนสโตร์ล้วนเป็นผลงานที่เคยลงออนไลน์มาก่อน เมื่อมันกลายเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งส่วนหนึ่งมักถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ด้วย ก็ทำให้มีแฟนคลับมากมายตามมาสนับสนุนจนยอดขายปังไม่หยุด

สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่านี่คือยุคที่นิยายออนไลน์ผลิบานเต็มที่

ด้วยความสนใจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่านการเขียน เราจึงนัดคุยกับ ‘readAwrite’ แพลตฟอร์มอ่านเขียนนิยายออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมและคำชมจากทั้งนักเขียนและนักอ่านว่าเป็นเว็บไซต์ที่ใช้งานง่าย เป็นมิตร และที่สำคัญคือสร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรมให้จริงจากระบบติดเหรียญและโดเนต

แม้จะเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2017 แต่ ‘ไช้—รวิวร มะหะสิทธิ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ‘พ่อบ้าน’ ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง readAwrite ไม่ใช่มือใหม่ทั้งในวงการหนังสือออนไลน์และการอ่าน เขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง ‘meb’ สตาร์ทอัพร้านค้าอีบุ๊กอันดับต้นๆ ในเมืองไทย รวมถึงยังเป็นอดีตเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่ง และยังเป็นนักอ่านที่ยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงเสมอมา

เราชวนรวิวรมานั่งสนทนาย้อนไปก่อนวันแรกที่จะเริ่มต้นทำ readAwrite วิธีการสร้างบ้านแห่งความสบายใจให้นักเขียนและนักอ่าน เทรนด์การอ่านในปี 2022 ไปจนถึงทิศทางของเว็บอ่านเขียนนิยายออนไลน์

RE-CAP

คนเขียน คนอ่าน คนทำหนังสือ

ปัจจุบัน readAwrite มีนิยายออนไลน์อยู่ในแพลตฟอร์มกว่า 100,000 เรื่อง ตัวเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นแบ่งออกเป็นหลากหลายหมวดจึงสามารถรองรับงานเขียนได้ทุกแนว ตั้งแต่รักโรแมนติก ดราม่า แฟนตาซี ไซไฟ ลึกลับสยองขวัญ ไปจนถึงกำลังภายในและจีนโบราณ ครอบคลุมเรื่องความหลากหลายทางเพศ มีทั้งคู่รักชาย-หญิง, บอยเลิฟ (Yaoi) และเกิร์ลเลิฟ (Yuri) อีกทั้งรูปแบบการเล่าเรื่องก็มีทั้งแบบบรรยายและนิยายแชต ซึ่งตอบโจทย์การอ่านในยุคที่ผู้คนนิยมใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเป็นหลัก

เมื่อชวนคุยถึงจุดเริ่มต้นของ readAwrite รวิวรก็พาเราขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปไกลกว่าปี 2017 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งของ readAwrite 

ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นราว 20 ปีก่อน ตอนที่เขาลงมือลงแรงทำสำนักพิมพ์ ASK Media สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์งานแนวไซไฟเป็นหลัก

“ข้อจำกัดที่ชัดเจนมากของคนทำหนังสือคือพื้นที่ เราจะคาดหวังให้ร้านหนังสือโชว์หนังสือทุกเล่มคงเป็นไปไม่ได้ เล่มไหนขายดีก็อยู่ในร้านได้นาน เล่มไหนความเคลื่อนไหวต่ำก็ต้องกลับมาอยู่ในคลังหนังสือของสำนักพิมพ์ มันเป็นธรรมชาติของธุรกิจ ผมเห็น pain point ตรงนี้เลยคิดว่าจะมีทางไหนไหมที่หนังสือทุกเล่มจะมีพื้นที่ของตัวเอง และไม่หายไปตามกาลเวลา”

ด้วยความที่เป็นวิศวกร มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ รู้ว่าอินเทอร์เน็ตคือโลกอีกใบที่มีพื้นที่อันไร้ขีดจำกัด เขาจึงคิดได้ว่าคำตอบของโจทย์ที่กำลังแก้คือ eBooks นั่นเอง

“meb เปิดตัวในปี 2011 แต่มันไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทันทีเลยนะ เพราะต้องยอมรับว่ามีคนเห็น pain point นี้ของคนทำหนังสือเหมือนๆ กับเรา แต่ในรายละเอียดระหว่างการเดินทางที่ยาวไกล เราค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป”

รวิวรบอกว่าความท้าทายของการทำ meb คือจะทำยังไงให้คนอ่านเชื่อว่าพวกเขาจะได้เป็นเจ้าของครอบครองสิ่งที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตได้จริงๆ

“meb ให้ความมั่นใจกับนักอ่านว่าเราคือตัวจริง และเราจะดูแลเขาไปอีกนาน การทำธุรกิจนี้ไม่มีเคล็ดลับพิเศษเลย สิ่งสำคัญคือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ทำดี ทำสิ่งที่ควรจะเป็นให้สม่ำเสมอ และทำให้ได้นาน ผมว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้ meb มีวันนี้”

ถึงยังไงรวิวรก็มองว่าทั้งสำนักพิมพ์และ meb ในฐานะร้านค้า eBooks เป็น ‘ปลายน้ำ’ ของธุรกิจสิ่งพิมพ์ เขายังอยากจะทำ ‘ต้นน้ำ’ ซึ่งคืองานเขียนที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้ดีด้วย 

ผลจากการตกผลึกอยู่นาน คือจุดเริ่มต้นของ readAwrite เว็บไซต์ที่จะดูแลนักเขียนตั้งแต่เริ่มลงงานตอนแรกไปจนถึงวันที่รวมเป็นเล่ม

ทำเพื่อนักเขียนและนักอ่าน

หาก meb เริ่มต้นจาก pain point ของคนทำหนังสือ readAwrite ก็เริ่มจาก pain point ของนักเขียนเช่นกัน

“สิ่งที่นักเขียนหลายคนเป็นมาโดยตลอดคือเวลาลงงานในเว็บต่างๆ แค่มีคนอ่านก็ดีใจแล้ว ยิ่งมีคนมาคอมเมนต์ว่าชอบมาก ผลงานของคุณทำให้วันแย่ๆ ของเรากลับมาดูสดใส ถ้าคุณเป็นนักเขียนคุณคงอยากจะร้องไห้เลยใช่ไหม แต่ pain point ที่สำคัญคือระหว่างทางที่เขาเขียน เขาไม่มีรายได้กับมันเลย”

คำติชม คำขอบคุณ หรือคอมเมนต์ต่างๆ ล้วนมีคุณค่ากับนักเขียน แต่รวิวรมองว่าหากเราสามารถเปลี่ยนคำพูดเหล่านั้นเป็นกาแฟเย็น หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้นักเขียนอยู่ได้มันจะดีสักแค่ไหน ดังนั้นนอกจากจะเปิดพื้นที่ให้ลงผลงานแบบฟรีๆ แบบไม่มีโฆษณาคั่นแล้ว readAwrite ยังมีระบบโดเนต (donate) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกให้นักอ่านได้แสดงความรู้สึกต่อนักเขียนอีกด้วย

“ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ค้ำจุนและตอบแทนนักเขียนที่อุตส่าห์ทำผลงานดีๆ ออกมาให้อ่านกัน แล้ว readAwrite หักเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งน้อยมาก เอาในระดับแค่ให้เราอยู่ได้ ที่เหลือนักเขียนรับไปเต็มๆ ผมว่านักอ่านก็อยากให้เป็นแบบนี้”

ถึงจะบอกว่าเอาในระดับแค่ให้อยู่ได้ แต่เพราะส่วนแบ่งมันน้อยมากจริงๆ จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่า readAwrite เอาเงินจากไหนมาดูแลระบบที่มีนิยายกว่าแสนเรื่องและมีคนอ่านมากจนนับไม่ถ้วนได้

คำตอบนั้นคือระบบติดเหรียญ

เนื่องจากนักเขียนบนแพลตฟอร์มไม่ได้มีแค่คนที่ทำเป็นงานอดิเรก แต่ยังมีอีกหลายคนที่ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพอย่างจริงจัง 

“เวลาจะลงขาย eBooks เราจะเน้นให้เขียนให้จบเล่มก่อน บางคนเขียนยาวมาก กว่าจะจบก็ตั้งหลายเดือน ซึ่งระหว่างทางที่เขาเขียน เขาก็ควรมีรายได้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ เราเลยทำระบบขายตอนเป็นการติดเหรียญขึ้นมา”

ส่วนเหตุผลที่ readAwrite กำหนดส่วนแบ่งโดยให้นักเขียนเป็นหลัก ซึ่งมากกว่าทาง readAwrite มากๆ รวิวรบอกอย่างจริงจังว่านี่เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เนื่องจากเขาเคยทำ meb มาก่อน จึงพอจะรู้จุดลงตัวระหว่างการแบ่งรายได้ของเว็บกับนักเขียน

“มันไม่ใช่บุญคุณหรือความยิ่งใหญ่ที่เราให้นักเขียนเท่านี้นะ แต่ผมคิดว่ามันคือความแฟร์ พอเป็นอย่างนี้ก็ทำให้มาตรฐานของวงการค่อยๆ ปรับมาอยู่ในจุดที่ทุกคนแฮปปี้ อย่างที่บอกว่าการที่เราจะดูแลเขาได้ เราต้องมีความหนักแน่นและมั่นคง

“แต่จริงๆ จะบอกว่าเราไม่ได้กำไรอะไรจาก readAwrite มากขนาดนั้นนะ ถ้าไปเทียบสัดส่วนระหว่างฟรีกับขาย มันฟรีเยอะกว่าขายแน่นอน แล้วกลุ่มผู้ใช้ก็เยอะมาก บางช่วงที่ฮิตๆ มีผลงานใหม่ๆ เราต้องใช้ทรัพยากรเซิร์ฟเวอร์หลายสิบเครื่องเลย ส่วนแบ่งรายได้ที่ได้จากการติดเหรียญหรือโดเนตก็วนกลับมาเยียวยาสิ่งนี้”

ขณะเดียวกันหากมีแต่ผลงานไม่มีคนอ่านก็คงไร้ความหมาย readAwrite จึงตั้งใจแก้ pain point ของนักอ่านด้วยการทำเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับการอ่านบนสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต และให้นักอ่านปรับเพิ่มลดขนาดฟอนต์ได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ปล่อยออกมา รวมไปถึงการทำแอพพลิเคชั่น และสร้าง night mode เพื่อการอ่านตอนกลางคืนในเวลาต่อมา 

การปรับตัวตามพฤติกรรมผู้ใช้งานนี้ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ readAwrite มาถึงจุดนี้ที่ครองใจผู้อ่านบนโลกออนไลน์ได้สำเร็จ

หนักแน่นและมั่นคงในกฎเกณฑ์ที่วางไว้

นอกจากการดูแลระบบให้ไม่ล่มแล้ว อีกงานหลักของ readAwrite คือการดูแลสมาชิกในบ้านทั้งนักเขียนและนักอ่านให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

“ผลงานนิยายมีหลากหลายหมวด สิ่งที่ readAwrite ต้องทำคือทำให้แต่ละชิ้นอยู่ถูกที่ถูกทาง บางทีอาจจะมีนักเขียนที่ลงผิดหมวดอยู่บ้าง เอาหนังสือไปอยู่หมวดที่มีนักอ่านเยอะกว่า ถ้าเราดูแลไม่ดี ปล่อยปละละเลย มันก็จะเกิดความไร้ระเบียบ นักอ่านก็จะรู้สึกไม่สบายใจเวลาเข้ามาอ่านที่นี่ 

“ผลงานบางเรื่องควรจะจำกัดนักอ่านแค่เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ให้ใครก็ได้มานั่งอ่าน ก็ต้องจัดหมวดหมู่ เราไม่อยากบอกว่าหมวดนี้ควรหรือหมวดนี้ไม่ควรอยู่ใน readAwrite แต่ละหมวดก็จะมีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเขาที่แตกต่างกันออกไป” 

ในส่วนของความเหมาะสมของเนื้อหา แม้ทีมงานจะไม่สามารถอ่านนิยายทุกเรื่องที่มีบนเว็บไซต์ได้ แต่ด้วยความเข้มแข็งของคอมมิวนิตี้นักอ่าน เมื่อมีคนเห็นความไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมก็จะรายงานมาที่ระบบ จากนั้นก็จะมีทีมงานไปตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด

ส่วนประเด็นเรื่องการคัดลอกผลงาน รวิวรบอกว่าจะมีทีมงานคอยดูแลโดยไปนั่งอ่านจริงๆ เทียบดูรายละเอียดก่อนจะตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างถูกต้องและยุติธรรม

“เราต้องหนักแน่นในสิ่งที่เราเป็น ถ้าจะประกาศกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน เราก็ต้องทำให้อยู่ในจุดที่ดูแลสิ่งนั้นได้จริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อเลือกปฏิบัติกับใคร นักเขียนทุกคนต้องอยู่บนกฎเกณฑ์และกติกาเดียวกันจึงจะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ว่าหยวนๆ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องพูดถึงในสังคมเราด้วย ถ้าสังคมใช้รูปแบบอย่างนั้นมันก็คงยุ่งเหยิงใช่ไหม”

เอาใจใส่และเติบโตไปพร้อมกัน

คุยไปคุยมาเราเริ่มสงสัยว่า readAwrite มีทีมงานกี่คนในการดูแลนิยายกว่าแสนเรื่อง

“ไม่เยอะครับ ถ้าเทียบกับลูกค้า กับนักอ่าน เรามีกันหลักสิบ ทุกคนก็ทำด้วยใจรักและทำงานหนัก บางทีปัญหามันก็ไม่เลือกวันหยุดหรือวันทำการ ซึ่งส่วนมากจะเกิดในวันหยุด (หัวเราะ) ทีมงานก็นั่งทำ นั่งดูกัน ผมก็อยู่ด้วย คอยให้คำปรึกษาให้ผ่านกันไปให้ได้

“เวลามีปัญหาต่างๆ เราจะไม่โยนความกดดันไปที่ทีมงานคนใดคนนึง ช่วงที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าเราดูแลตรงส่วนนี้ได้ค่อนข้างดี อย่างน้อยก็ดูแลความรู้สึกของทีมงานไม่ให้เขารับน้ำหนักหรือความกดดันของอินเทอร์เน็ตทั้งมวล ถ้าจะมีการดำเนินการใดๆ ออกไป เราจะมีการประชุมกันก่อน และถ้าจะมีฟีดแบ็กจากสิ่งนั้น นั่นคือเอกฉันท์ของ readAwrite จะต้องไม่มีใครมาเสียใจที่ตอบแบบนั้นออกไป”

PLANNER

ทิศทางการอ่านในปี 2022

รวิวรมองว่าตลาดนิยายออนไลน์ในปัจจุบันเปิดกว้างกว่าเดิมมาก ทั้งในแง่เนื้อหาที่ไม่ถูกจำกัดกรอบแนวทางผลงานให้มุ่งตอบสนองกลุ่มผู้อ่านที่เป็นกระแสหลัก เพื่อให้เอื้อต่อการจัดการพิมพ์เป็นรูปเล่มควบคู่กันไปแบบสมัยก่อน และความยาวเนื้อหาที่นักเขียนมีอิสระที่จะสร้างสรรค์ให้ยาวหรือสั้นได้ตามใจ ทำให้ผลงานมีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวโน้ม กระแสความนิยม และสถานการณ์ของสังคมเป็นอย่างดี

“เรื่องราวความรักระหว่างหญิง-ชายถือว่าอยู่ในกระแสหลักที่ได้รับความนิยมมานาน ขณะเดียวกันความรักของคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีแนวจีนโบราณ แนวที่ปลดปล่อยจินตนาการ เกิดใหม่ในต่างโลก หรือกลับชาติมาเกิดใหม่ ที่เป็นที่พูดถึงอยู่ในช่วงนี้”

เมื่อชวนคุยถึงทิศทางการอ่านและเขียนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 รวิวรก็ให้ความเห็นว่า ในปีนี้กระแสนิยายออนไลน์จะยังได้รับแรงส่งจากสถานการณ์โรคระบาดอยู่ และแพลตฟอร์มต่างๆ จะนำเสนอแง่มุมหรือคุณสมบัติใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของประชากรอินเทอร์เน็ตให้เข้ามาอ่านผลงานอย่างต่อเนื่อง และสามารถแทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้รักการอ่าน

“ส่วนในแง่ของผู้สร้างสรรค์หรือที่ชาวเน็ตเรียกกันว่าฝ่ายผลิตนั้น ผมว่านักเขียนจะปรับตัวและใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ผลงาน สื่อสารกับนักอ่าน รวมถึงสามารถสร้างรายได้จากช่องทางเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก”

READING IS EVERYWHERE

นอกจากการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักอ่านนักเขียนแล้ว readAwrite ยังเป็นจุดสนใจของสำนักพิมพ์ในแง่ที่พวกเขาจะสามารถมาหาต้นฉบับจำนวนมหาศาลในคลังได้ ดังนั้นสิ่งที่ readAwrite ต้องทำอยู่เสมอคือการแสดงระบบข้อมูลที่ถูกต้องและแฟร์กับนักเขียนทุกคน เพื่อให้ทางคนอ่านหรือสำนักพิมพ์สามารถนำไปพิจารณาได้ตามความต้องการ

อีกทั้งรวิวรยังเชื่อว่าในยุคที่สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต สามารถดึงเวลาในชีวิตคนเราไปได้เยอะมาก การมีอยู่ของ eBooks หรือ readAwrite จึงยังทำให้การอ่านมีพื้นที่อยู่ในฝ่ามือของคนได้อยู่ และเชื่อว่าหากวันหนึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ถ้าพวกเขายังคงเอาใจใส่อยู่เรื่อยๆ readAwrite และ meb ก็คงปรับตัวตามไปอยู่กับสิ่งนั้น

“ถ้าพูดถึงแค่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมว่า readAwrite ก็มาถึงจุดที่เกินความคาดหวังในอดีตมาเยอะแล้ว ตอนแรกผมคิดว่าเราอยากเป็นสังคมน่ารักๆ ที่เป็นทางเลือกหนึ่งของนักเขียนนักอ่าน แต่ตอนนี้เขาเลือกเราเป็นฐานหลัก ก็ถือว่ามาไกลกว่าเดิมมากๆ 

“สิ่งที่ทำต่อไปคือการหาอะไรใหม่ๆ หรือหาวิธีดูแลนักเขียนให้ดีขึ้น ในบางเรื่องเราก็เป็นผู้นำในการวางมาตรฐานของอุตสาหกรรมเหมือนกัน เช่น บางคอนเทนต์ที่นักเขียนอยากจำกัดคนอ่าน เราก็มีระบบตรวจอายุด้วยการส่งสำเนาบัตรประชาชนที่ตรวจสอบได้จริง 

“ในอนาคตถ้ามีรูปแบบการอ่านใหม่ๆ ก็จะได้เจอใน readAwrite แน่นอน และผมคิดว่านักเขียนนักอ่านก็คงจะมีความสุขกับมัน”


3 สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจหนังสือและการอ่านไปต่อได้อย่างยั่งยืน

1. เข้าใจความเปลี่ยนแปลง

พฤติกรรมนักอ่านยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เว็บอ่านออนไลน์และ eBooks คืออาวุธใหม่ของคนทำหนังสือ

2. เอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ

ทำในสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการคือสิ่งสำคัญ

3. หนักแน่นในกฎเกณฑ์ที่วางไว้

ตระหนักและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้อย่างเป็นระเบียบ เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่กันร่วมอย่างเท่าเทียม

เรื่องราวการเติบโตและวิธีทำงานกับเพื่อนในแบบของ Glow Story

ไม่ว่าจะเพราะไม่อยากให้ธุรกิจเจ๊ง หรือความสัมพันธ์จบ ก็มักจะมีคนหวังดีเตือนว่าห้าม ‘ทำธุรกิจกับเพื่อน’ เสมอ Glow Story

ขณะที่ตำราธุรกิจของบางคนเขียนข้อห้ามนั้นไว้ตัวหนาๆ แล้วขีดเส้นใต้ storytelling agency ขนาดกะทัดรัดชื่อ Glow Story กลับเกิดขึ้นบนพื้นฐานความสัมพันธ์ของสามเพื่อนซี้ พิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน, ป่าน–ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์ และ บี๋–นภัส มุทุตานนท์ ที่เจอกันหลังเวที TEDxBangkok ปีแรก

ม่านปิด Glow Story เปิด และดำเนินกิจการมาได้ถึง 7 ปี แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่พาร์ตเนอร์อย่างป่านต้องย้ายไปอยู่ต่างประเทศก็ตาม

วัดด้วยจำนวนปี ตัวเลขนี้พอยืนยันได้ว่าความสัมพันธ์ที่ใช้ตั้งต้นบริษัทอาจไม่ใช่ตัวกำหนดความสำเร็จ เสมอไป

ถึงอย่างนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องราวความสัมพันธ์โรแมนติกโรยด้วยกลีบกุหลาบ พร้อมเคล็ดลับวิธีการทำงานกับเพื่อนให้รอด

กลับกัน คอลัมน์ Business Partner ตอนแรกนี้ขอเสนอเรื่องราวที่เริ่มด้วยความหอมหวาน ตามมาด้วยการทะเลาะ ร้องไห้ เกือบถอดใจ การคืนดี 

และการเติบโตเพื่อหาพื้นที่ที่ความเป็นเพื่อนและความเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจจะอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

Glow Story

ตอนทั้งสามคนเจอกันที่ TEDxBangkok สนิทกันแบบตอนนี้หรือยัง

ป่าน : ตอนนี้ก็ยังไม่สนิทเลยครับ (ทั้งสามคนหัวเราะ)

บี๋ : สองคนนี้รู้จักกัน เหมือนสนิทกันอยู่แล้ว ชอบเล่นมุกกัน ใน TED จะมีป่านเล่นมุกตลอดเวลา

พิ : ทำให้ประชุม 4 ชั่วโมง

บี๋ : กลับบ้านตี 1 อะไรอย่างนี้ แล้วก็มีเราที่อยู่หลังห้อง คอยขำๆ ไม่ค่อยเข้าใจมุกเขาเท่าไหร่ ตอนนั้นยังไม่ได้สนิทกันมากแต่เรารู้ว่าพิกับป่านเก่งมาก เวลามีปัญหาอะไรพิจะเป็นคนคอยคุมบทสนทนาในห้อง พี่คิดว่ายังไง ผมคิดว่าอย่างนี้นะ หลายๆ ครั้งก็เป็นพิที่ช่วยเคาะบทสรุป ส่วนป่านเป็นคนไบรต์ เอเนอร์จี้ ยิ้มแย้ม ทำงานหนัก และแก้ปัญหาเก่งมาก มีปัญหาอะไรป่านมีความเป็นไปได้ในการแก้ไขมาให้ตลอด เรารู้สึกว่าสองคนนี้เก่งจังเลย อยากเป็นเพื่อนกับเขาบ้าง

จากจุดที่อยากเป็นเพื่อนกัน มาสู่จุดที่อยากทำบริษัทด้วยกันได้ยังไง

ป่าน : เราทำ TED มาด้วยกันเนอะ TED มันคือสิ่งที่เป็น volunteer based พี่ๆ ชอบพูดว่ามีแค่เท่าทุนกับเข้าเนื้อซึ่งส่วนมากเป็นอย่างหลัง แต่ทีนี้ความสุขที่ได้จากการทำ TED มันคือความรู้สึกว่าเราได้สร้างการเปลี่ยนแปลง เวลาคนเข้ามาในฮอลล์ เขามองพื้นที่นี้ด้วยสายตาแบบหนึ่ง ตอนที่เขาเดินออกไปสายตาเขาเปลี่ยนไปจริงๆ

ณ วันนั้นเราเป็นฟรีแลนซ์ เราทำงานด้วยเป้าหมายอย่างเดียวเลยคืออยากได้เงิน โปรเจกต์หนึ่งใช้เวลาเท่าๆ กับ TED คือประมาณ 3 เดือน แต่พอจบ TED แล้วเรารู้สึกว่า เฮ้ย! แตกต่าง! (หัวเราะ) มันมูฟเรา เราได้ความสัมพันธ์ ได้ความหัวใจฟูกลับไป หลังจบงานแค่วันเดียวก็เลยคุยกับพิว่าอยากทำสิ่งนี้ว่ะ อยากทำให้คนมีแววตาเป็นประกายโดยที่ได้เงินจากสิ่งนี้ด้วย

พิ : อีเวนต์จัดวันเสาร์ วันอาทิตย์มานั่งคุยกัน วันจันทร์เราไปลาออกจากงานเลย

บี๋ : ที่เราจำได้คืออยู่มาวันหนึ่งสองคนนี้ก็เปิดบริษัทด้วยกัน ตอนนั้นเรายังไม่ได้แจมด้วยแต่จะได้ยินเรื่องโปรเจกต์ตลอด อย่างที่พาคนไปน่าน เราก็รู้สึกว่าเจ๋งจัง อยากเข้าไปอยู่ในนั้น แล้วเขาก็มาจีบให้เราไปทำงานด้วย เราก็โอเค ดีใจได้เป็นเพื่อนกันแล้ว (หัวเราะ)

พิ : แต่ต้องบอกว่าเงินเดือนบี๋ตอนนั้นเป็นเงินเดือนบริษัท consult นะ Glow ตอนนั้นเงินเดือน 15,000

ป่าน : 15,000 นี่หายากด้วยนะ กว่าจะจ่ายเงินเดือนตัวเองได้

Glow Story

หลายคนพูดว่าอย่าทำธุรกิจกับเพื่อน พวกคุณเชื่อในคำพูดนี้ไหม

ป่าน : เราเพิ่งคุยเรื่องการทำงานกับเพื่อนกับพี่ต้อง (กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร) ก่อนมาที่นี่เลย พี่ต้องพูดมาประโยคหนึ่งซึ่งมันใช่มากๆ คือคนชอบเข้าใจผิดว่า คนทะเลาะกันตอนไม่มีตังค์ แต่จริงๆ คนมันทะเลาะกันตอนมีตังค์เว้ย ตอนไม่มีตังค์ก็สู้ไปด้วยกัน ต้องเป็นตอนมีตังค์นั่นแหละถึงจะรู้สึก

ซึ่งจริงไหม

พิ : จริง ธรรมชาติของงาน Glow ในเฟสแรกมันคือการทำอีเวนต์ สมมติลูกค้าจ้างเราทำอีเวนต์ 100 บาท พอเรามีเครดิตขึ้นมาหน่อยว่าเป็นทีมที่เคยทำ TED มาก่อน ค่าจ้างเราอาจจะบวกเป็น 120 บาท ซึ่งมันเป็นงานแรงงานอะ ถ้าในห่วงโซ่ของมาร์เก็ตติ้ง อีเวนต์ออร์แกไนเซอร์กับซัพพลายเออร์คือจุดต่ำสุดของห่วงโซ่อาหาร เพราะฉะนั้นมันเหนื่อยมาก กว่าจะได้เงินมาก็ไม่ง่าย 

ทำไปทำมา ตอนเปิดบริษัทได้สัก 3 ปี ไอ้พินี่ก็โม้เก่งหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็จะเริ่มโดนชวนให้ออกไปพูดข้างนอก ตอนแรกก็พูดฟรี สักพักบรรยายแล้วได้ 5,000 สักพักเริ่มได้เยอะ ดันไป 10,000 20,00 ก็ได้ 50,000 ก็ได้ อยู่ดีๆ มันเริ่มเห็นข้อเปรียบเทียบ งานอีเวนต์ทำกันเป็นเดือนๆ ได้หลักแสน อยู่ดีๆ มีงานที่พูด 3 ชั่วโมงได้หลักหมื่น หลักแสน เราเด็กเกินกว่าที่จะรู้ว่าจะจัดการกับเงินก้อนนี้ยังไง 

แต่เราก็ต้องไปเวิร์กช็อปอยู่ดีเพราะมันคือแบรนด์ดิ้ง สมมติไปสอนคลาส ABC ผู้บริหารเต็มไปหมดมันก็เป็นโอกาสที่ทำให้เราได้งานใหญ่ขึ้น กลายเป็นว่ามีทั้งเงิน ทั้งโอกาสเข้ามา แต่เราไม่รู้จะจัดการยังไง ตอนนั้นทะเลาะกันเรื่องนี้

มีเงินน่าจะเป็นเรื่องดี ทำไมถึงทะเลาะกัน

ป่าน : คือคนที่เป็นหน้าตา เป็นฟรอนต์แมนเขาก็จะได้ offer แบบฟรอนต์แมนใช่ไหม ชาเลนจ์ของมันคือ คนในทีมจะรู้สึกน้อยใจจากการที่เราปั้นสิ่งนี้มาด้วยกัน แล้วผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากตรงนั้นเราควรจะจัดการยังไง

บี๋ : ช่วงต้นๆ ของพวกเรามันเป็นช่วงฮันนีมูน เป็นอาฟเตอร์ปาร์ตี้ของ TED มีแววตาของความสนุก ความอยากเปลี่ยนโลก ช่วงแรกๆ เราได้งานอีเวนต์ งานทอล์กเยอะ ความฮันนีมูนมันคือการอยู่ด้วยกัน นอนด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน ยูต้องเหนื่อยเท่าเรา เราไปเซตอัพอีเวนต์ก็ต้องไปกับเรา ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีระบบเท่าไหร่ นัวๆ งงๆ ทำทุกอย่างด้วยกัน 3 คน มีครั้งหนึ่งต้องทำโปรเจกต์พร้อมกัน 6 โปรเจกต์ ก็ทำด้วยกัน 3 คน (หัวเราะ) 

ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากมีเงินเราว่าเป็นความรู้สึกขุ่นๆ ตอนทำโปรเจกต์ก็จะมีความรู้สึกแบบ อะไรวะ เหนื่อยอะ แต่อีกคนหนึ่งไม่อยู่เพราะว่าไปทำงานของตัวเอง ทำไมเขาได้พักวะ ซึ่งเขาก็ทำงานอยู่ไง เขาไปเวิร์กช็อป พอมีกันแค่ 3 คนเวลาทำงานก็จะหงุดหงิดแต่ไม่ได้พูดเพราะเป็นเพื่อนกันก็ไม่อยากทะเลาะกัน เกรงใจกัน

พิ : แต่จะเอาเงินกลับเข้าบริษัทก็ไม่ได้ด้วยนะเพราะไปทำเวิร์กช็อปวันเสาร์-อาทิตย์ พอดันเงินเข้ามาป่านก็ดันออก กลายเป็นว่าปัญหาไม่ใช่เพื่อนอยากได้เงิน เพราะทุกคนผลักเงินที่เราได้มาออกไป

บี๋ : เพราะมันไม่ใช่เงินที่ได้มาจากการทำด้วยกัน พี่ต้อง กวีวุฒิน่าจะเป็นคนที่สะกิดว่ามีเรื่องไม่สบายใจกันอยู่ใช่ไหม มันเป็นเซนส์นั้นแหละว่าตอนลำบาก ลำบากด้วยกันได้ แต่ว่าตอนรุ่งเรืองแล้วมันจะเป็นจุดที่พิสูจน์ว่าความสัมพันธ์ของเราเป็นยังไง ตอนนั้นจำได้ว่ามาคุยกัน ร้องไห้กันเลย

พิ : ทะเลาะกันหนัก เราไม่เคยร้องไห้กันหนักขนาดนั้น วันนั้นเราตั้งเคานต์ดาวน์ในมือถือว่าอีก 365 วัน คือ 1 ปีหลังจากนั้น ถ้ายังเคลียร์ปัญหาไม่ได้ก็แยกย้าย ปิดบริษัท

ป่าน : เราเคยคุยกันว่าถ้าทำบริษัทต่อไปแล้วต้องเลิกคบกัน พรุ่งนี้เราปิด Glow เลยก็ได้ เลิกทำมันแล้วเก็บความสัมพันธ์ไว้ดีกว่า

ระหว่าง 1 ปีที่เคานต์ดาวน์ทำอะไรบ้าง

บี๋ : พอมีความไม่สบายใจเกิดขึ้น sense of trust มันก็สั่นคลอน เราเริ่มไม่ไว้ใจกันว่าที่พิไปพูดเพราะพิอยากได้เงินหรือเปล่า พิดังอยู่คนเดียว พิไม่มาทำงานที่ต้องช่วยพวกเรา แต่ไม่เคยพูดกัน พอเปิดใจ เราก็มากะเทาะกันไปทีละจุดว่าปัญหาจริงๆ คืออะไร คือเรื่องเงิน แบรนด์ดิ้ง หรือความดัง เอาสิ่งสำคัญของแต่ละคนมากางแล้วแก้ปัญหา

เราว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนเลย จากการที่ไม่มีระบบ ทรีตทุกอย่างด้วยความเป็นเพื่อน คือให้อภัยกันไปเรื่อยๆ แต่มีสิ่งไม่สบายใจที่ขุ่นอยู่ข้างใน จนวันหนึ่งห่างกันไป เราเอาความเป็นเพื่อนพักไว้แป๊บนึง แล้วมองกันในฐานะ co-founder จะทำยังไงให้พวกเราเป็น co-founder ที่ดีในการสร้างบริษัท

Glow Story

แล้วพวกคุณทำยังไง

บี๋ : อย่างแรกเรามีวัน Founders’ Dinner ทุกเย็นวันพุธหรือศุกร์นี่แหละ กินข้าวกัน คุยกัน จัดการปัญหาไปทีละข้อ

พิ : เราว่าความขุ่นเทาเป็นสิ่งที่อันตรายมากต่อความสัมพันธ์ของ business partner เราควรทำให้ทุกเรื่องขาวหรือดำไปเลย ขาวคือสิ่งนี้ทำได้ ทุกคนเห็นตรงกันว่าดี ดำคือไม่ดี ไม่ทำ เช่น เรื่องสัมภาษณ์ ป่านไม่อยากได้ fame บี๋เขินไม่อยากออก พิชอบให้สัมภาษณ์คือดี พิจะได้ไม่ต้องพะวงว่า กูไปโม้อีกแล้ว เพื่อนกูอยากออกมากกว่าเปล่าวะ

ป่าน : ซึ่งไม่เลย

เรื่องระบบต้องให้เครดิตบี๋เลย การถามหาความต้องการของแต่ละคนว่ายากแล้วใช่ไหม แต่การเซตระบบมาจัดการความเทาให้เป็นตัวเลขมันยากกว่ามาก สมมติพิออกไปพูดได้เงินแสนแต่ตอนนั้นเงินเดือนเรา 20,000-25,000 พูดหนึ่งวันได้เงินเท่ากับ 4 เดือน จะบอกว่าให้เอาเงินแสนนั้นมาเข้ากองกลางลึกๆ เราก็รู้ว่าไม่แฟร์ มันเป็นเสาร์-อาทิตย์ของพิ แต่จะให้มันเก็บเงินแสนเอาไว้เราก็แบบ โอ๊ย

พิ : ที่มึงเล่าก็งานกู

ป่าน : นี่คือความเทาของจริง บี๋คือคนที่จัดการมันให้ออกมาเป็นโมเดล เริ่มจากคำถามว่าเราตั้งใจจะทำ Glow เป็นหลักหรือเปล่า ถ้าใช่ งานอื่นเราให้ความสำคัญรองลงไปได้ไหม ข้อนี้ทุกคนเห็นด้วยร่วมกัน

ข้อที่สองคือ พิอยากได้เงินไหม ตอนนั้นพิบอกว่าไม่เอา แต่พวกเราบอกว่าไม่ได้ บี๋ก็เลยคิดระบบขึ้นมาเพื่อไม่จูงใจให้พิรับเวิร์กช็อปเยอะขนาดนั้น เพราะมันไม่ใช่เป้าหมายหลักของเรา แต่ก็ต้องแฟร์พอสำหรับทุกฝ่าย ระบบที่บี๋ออกแบบคือถ้าเวิร์กช็อปของพิมาจากงานของ Glow เราเอาเงินที่พิได้จากเวิร์กช็อปนั้นเข้ามาที่กองกลางบริษัทก่อน แล้วก็ตัดเงินเป็นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนทั้งปีคืนให้พิ มันทำให้พิไม่รับเวิร์กช็อปเยอะเกินไปเพราะยังไงเงินที่มากที่สุดที่ได้กลับมามันก็เท่านี้ ขณะเดียวกัน เมื่อเงินส่วนหนึ่งเข้า Glow บริษัทก็ต้องเอาทรัพยากรไปช่วยพิในการจัดการเวิร์กช็อปด้วย

ละเอียดมาก

ป่าน : นี่เป็นแค่ 1 ในระบบที่ถูกเซตขึ้นมานะ จริงๆ ยังมีระบบอื่นๆ อีกด้วย

ทำไมถึงเชื่อในระบบขนาดนั้น

บี๋ : สำหรับพวกเราระบบคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ทุกอย่างสบายใจขึ้น เรารู้ว่าเรามีสิ่งที่เห็นตรงกัน ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง ถ้าให้เราแนะนำคนที่กำลังเริ่มต้นบริษัทใหม่ เราคิดว่าอย่ามองข้ามระบบ การมีระบบไม่ได้หมายความว่าเราไม่ยืดหยุ่นแต่มีไว้เป็นพื้นฐานว่าเรากำลังเคารพกันและกันอยู่ ถ้ามันไม่เวิร์กก็มาคุยกัน ทบทวนมันเพื่อเปลี่ยนให้มันเมคเซนส์มากขึ้น

พิ : เรื่องระบบและนโยบาย ตอนเด็กๆ หรือตอนเริ่มทำบริษัทของตัวเองเราจะงงมากเลยว่าต้องเซตยังไง กฎบริษัทต้องมีหน้าตาเป็นแบบไหน หรือแม้กระทั่งต้องมีไหม แต่สิ่งที่เราเรียนรู้จากการทำงานกับมนุษย์พวกนี้โดยเฉพาะกับบี๋คือนโยบายมันเป็นสิ่งสมมติ บริษัทคืออะไร มันคือการที่กลุ่มคนมาอยู่ร่วมกัน ถูกไหม ดังนั้นในการออกแบบนโยบายเราควรตั้งคำถามว่าเมสเซจที่อยากส่งไปถึงคนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้นคืออะไร ถ้าตั้งกฎนี้เพื่อใช้กับพิ เมสเซจที่บอกพิคือไปเวิร์กช็อปมันดีนะ บริษัทได้แบรนด์ดิ้ง แต่ต้องเลือกด้วยว่าควรจะไปเวิร์กช็อปกับใคร ไม่ใช่ไปพูดทั้งปีจนไม่ได้ทำ Glow มันก็ไม่ใช่

หรือแม้แต่การแบ่งโบนัสในทีมจะแบ่งยังไง จะแบ่งเป็นรายคน รายโปรเจกต์ หรือให้ incentive เป็นตำแหน่ง ถ้าเราให้ค่าคอมมิสชั่นเซลส์มันก็ส่งเมสเซจบอกทีมว่าเซลส์คือคนที่สำคัญที่สุด ถ้าให้ครีเอทีฟ เราก็กำลังบอกว่าครีเอทีฟสำคัญที่สุด แต่กับพวกเราไม่ใช่ เราหักกำไรของทั้งปีออกมา 15 เปอร์เซ็นต์แล้วกระจายตามฐานเงินเดือน เพราะเรากำลังจะส่งเมสเซจว่าทุกคนสำคัญเท่ากัน ทุกคนเหนื่อยมาทั้งปีเหมือนๆ กัน

อะไรอีกที่คุณค้นพบว่าสำคัญสำหรับการทำงานกับเพื่อน

บี๋ : สำหรับเรามันคือมายด์เซตของการทำงานร่วมกัน ความขาวกับดำจริงๆ มันคงไม่ได้เป็นสีขาวหรือดำร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก มันมีความเทาๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ป่านเคยพูดว่าสุดท้ายแล้วเราไว้ใจใน intention ของกันและกัน บางทีเราก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมป่านกับพิทำแบบนั้น คุยกันหลายรอบก็ยังไม่เก็ตตรรกะแต่สุดท้ายเราก็โอเคเพราะเราไว้ใจในเจตนาของพวกเขา เรารู้ว่าป่านกับพิอยากทำให้ Glow โตให้ได้มากที่สุด เชื่อใจว่าเรามีปลายทางเดียวกัน ดังนั้นทุกครั้งที่มีพื้นที่สีเทาเกิดขึ้นมันทำให้เราปล่อยได้เพราะเราเชื่อใจ

ทำไมถึงไว้ใจกันได้ถึงระดับนั้น

ป่าน : เราว่ามันคือความเป็นเพื่อน ย้อนกลับไปจุดตั้งต้นของเราคือ relationship over company เรารู้จักกันและต่างหวังอยากให้แต่ละคนมีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนหาแฟนอะ เราไม่รู้หรอกว่าทำไมคนนี้ถึงคิดแบบนี้ รู้แค่ว่าเขาหวังดีกับเรา

พิ : ในเฟสแรกของการเริ่มต้นธุรกิจหลายๆ คนมักจะหมกหมุ่นกับการคิดว่าจะทำอะไรดี เราคิดว่ามันมีอะไรให้ทำ มีธุรกิจให้เลือกเต็มไปหมดเลย แต่สิ่งที่ยากกว่าการหาสิ่งที่จะทำคือการหาคนที่อยากทำด้วยกัน ซึ่งมีหลายแบบ เพื่อนที่เรารู้จัก เพื่อนที่เรียนมาด้วยกัน บางคนไหลๆ สนิทกันก็ลากๆ กันมาหุ้นอะไรบางอย่าง แต่เราว่าเคสของ Glow โชคดีกว่านั้นตรงที่เรามีโอกาสได้ลองเดตกันก่อนในพื้นที่ที่เรียกว่า TED ถ้าสมมติบี๋ส่งแค่เรซูเม่เข้ามาเราจะเห็นเขาเป็นคนที่ทำ consult ด้านบัญชี เงินเดือนก็แพง เกียรตินิยมเหรียญทองอีก เห็นเราเป็นเด็กจีนศึกษา มึงจะมาทำอะไรบริษัทเอเจนซี แต่การที่ได้ไปเจอกันใน TED เรารู้สึกว่าเราหันหลังชนคนนี้ได้ สู้ไปกับเขาแล้วเรารู้สึกปลอดภัย มั่นใจ แม้วันนั้นเราจะยังไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรด้วยกันก็ตาม

บี๋ : เรื่องนี้มันทำให้เราซีเรียสมากเรื่องการรับคนใหม่ เราต้องเห็นว่าเขาเข้ากับคัลเจอร์ของเราได้ ไม่ใช่แค่มีคนนี้ก็ดีนะ สนุกดี แต่ต้องบวกมิติอะไรบางอย่างของ Glow ด้วย

พิ : นอกจากความเก่ง เรซูเม่ สายงาน ประสบการณ์ หรือมายด์เซตที่ตรงกัน ลองชวนไปกินข้าวด้วยกันแล้วดูว่าเขาทรีตคนตอนกินข้าวยังไง เขาทรีตคนเท่ากันมั้ย ดูถูกพนักงานเสิร์ฟ ใช้น้ำเสียงไม่ดีหรือเปล่า เราอยากทำงานกับคนที่เราอยากกินข้าวด้วย เลิกงานแล้วเราก็ยังอยากใช้เวลากับคนคนนี้ เคารพเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่ใช่แค่อยากได้สกิลเขามาแล้วก็เลิกงานแยกย้ายหายกันไป เพราะเราไม่ได้แยกงานกับชีวิต เนี่ยทำงานกันแล้วก็มาเจอกันตอนเย็นแบบวันนี้

ถ้าแนะนำคนที่กำลังจะเปิดบริษัทกับเพื่อนได้คนละ 1 ข้อจะแนะนำว่าอะไร

พิ : ล่าสุดป่านเพิ่งย้ายไปอยู่สิงคโปร์ วันที่ไปส่งเรากับบี๋ขับรถไปด้วยกัน อยู่ดีๆ พวกเราก็เปิดมือถือแล้วเสิร์ชคำว่า company เราเพิ่งรู้ว่ารากศัพท์ของมันคือคำว่า friendship คือ intimacy คือคนที่แบ่งขนมปังกับเรา สำหรับเราบริษัทมันเป็นส่วนใหญ่ในชีวิต ดังนั้นหน้าที่ของคนที่จะเริ่ม company คือคุณอยากเป็นมนุษย์แบบไหน 

ตอนเริ่มต้นบริษัท เราคิดว่าคุณออกแบบได้ว่าคุณอยากมีความสัมพันธ์ใน company แบบไหน คุณอยากเป็น company ที่ผลิตสร้างคนแบบไหน อยากทำให้คนเป็นคนเฟียร์ซๆ ใส่ลูกค้าและเอเจนซีตลอดเวลา หรือคุณอยากทำให้คนเป็นซึมเศร้ากี่คนก็ไม่รู้ ก่อนเริ่มต้นบริษัทลองตั้งคำถามกับตัวเองก็ดีว่าเราอยากเป็นมนุษย์แบบไหน เราก็ไม่ได้เป็นคนแบบนี้ในวันก่อนที่เราเริ่ม Glow แต่พอเราเลือกป่านกับบี๋และพวกเขาเลือกเรา เราเลยได้นิสัยของป่านมา ได้สันดานของบี๋มา (หัวเราะ) เขาเชปเรา เราก็เชปเขา

ป่าน : ของเราคือประโยคของพี่เอ๋ นิ้วกลมที่บอกว่า  ‘ชีวิตคือการวิ่งเล่น’ การเริ่มธุรกิจกับเพื่อนมันคือการเลือกเพื่อนไปวิ่งเล่นด้วยกัน ไม่ได้หมายความว่าการวิ่งเล่นนี้มันจะต้องไปไกล วิ่งวนก็ได้ ก็สนุกแล้ว มายด์เซตของการได้ลองสำรวจ ลองเล่นด้วยกันมันได้ประโยชน์อยู่แล้วไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้นเราคิดว่าควรหาคนที่คุณรู้สึกว่าอยากเล่นด้วย อยากสนุกด้วยในการเดินทางครั้งนี้ ปีหน้า Glow อาจจะเจ๊งก็ได้ แต่เราโคตรภูมิใจเลยที่ทำด้วยกันกับสองคนนี้ ไม่ว่าจะลื่นล้ม หกล้ม เลิกเล่นตอนนี้ หรืออีก 10 ปีข้างหน้าเล่นแล้วรวยโคตรๆ หรือจนมากๆ แต่เรามีความสุขอยู่แล้วกับการวิ่งเล่นครั้งนี้

บี๋ : เราว่ามันคือสิ่งที่เราพูดไปแล้วคือการทำให้มันเป็นระบบ เอาทุกอย่างที่คิดว่าจะไม่สบายใจ ไว้ค่อยเคลียร์กันมาคุยตั้งแต่ต้น แบ่งผลประโยชน์กันยังไง จะแก้ปัญหากันยังไง จะบริหารบัญชียังไง แล้วเราก็ไม่ต้องคอยหันไปมองข้างหลังหรือมาน้อยใจกัน ขุ่นกันทีหลัง เพื่อที่ว่าเราจะได้สนุกกันเต็มที่โดยที่ไม่ต้องคอยกังวลว่าเราจะเจ๊ง (หัวเราะ) 

ถึงอย่างนั้นท้ายที่สุดแล้ว ตอนนี้กลุ่มก้อนที่เรียกว่า Glow มันคือ storytelling agency ใช่มั้ย มันก็แค่นิติบุคคล เป็นแค่ข้ออ้างให้ได้มาทำงานด้วยกัน ดังนั้นถ้าวันหนึ่งมันเจ๊ง ขาดทุน หรือทำร้ายจิตใจพวกเราอย่างร้ายแรงเราก็ควรจะเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ เปิดร้านชายสี่หมี่เกี๊ยวก็ได้นะ (หัวเราะ)

คุยกับนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ว่านอกจากการเก็งกำไร คริปโตฯ จะส่งผลต่อธุรกิจและชีวิตคนหมู่แมสยังไงบ้าง

เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมการเงิน แน่นอนว่าเทรนด์ที่มาแรงที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เราจึงชวน ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มาพูดคุยกันถึงเทรนด์สำคัญที่ว่า หากแต่ประเด็นที่เราพูดคุยกับศุภกฤษฎ์ครั้งนี้ ไม่ใช่แง่มุมของการเก็งกำไร

ไม่มีบอกว่าควรลงทุนในตัวไหน ถือไว้ยาวเท่าไหร่ ดูกราฟการเทรดยังไง เราตั้งใจชวนคุยถึงทิศทางที่สำคัญ ด้วยเชื่อว่ามันมีผลต่อการวางแผนของใครหลายคน

ปี 2022 คริปโตฯ จะส่งผลกับชีวิตประจำวันของเรายังไง ธุรกิจรายเล็กรายใหญ่ควรจะรับมือกับโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยวิธีไหน 

หรือต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่เรื่องคริปโตฯ จะแมสชนิดที่ว่าร้านกับข้าวหน้าปากซอยหลายๆ ร้านจะรับจ่ายอาหารด้วยเงินสกุลดิจิทัลได้

RE-CAP 

การลงทุนเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล

มองย้อนกลับไปในภาพรวมของ 2021 หากพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ราคาของคริปโตฯ ที่ขึ้น-ลงเหมือนรถไฟเหาะน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ตั้งแต่ช่วงที่ราคาแตะเกินล้าน พอถึงเดือนพฤษภาคมราคาก็ดิ่งลงมา แล้วราคาก็ดีดขึ้นมาเป็น all-time high ในช่วงพฤศจิกายน

ข้อมูลด้านบนสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนให้ความสนใจในเรื่องของการลงทุนในคริปโตฯ จนกลายเป็นกระแส แต่ในมุมของศุภกฤษฎ์เขามองว่าการลงทุนเป็นเพียงสัดส่วนที่เล็กน้อยมาก หากเทียบกับโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่แสนจะกว้างใหญ่ 

“ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลมันยังมีอะไรอีกเยอะแยะ และเอาไปพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้อีกมากมาย เพียงแต่เรื่องการลงทุนมันเป็นการสื่อสารที่ทรงพลังและดึงดูดใจให้คนเข้ามาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในยุคเริ่มต้นมันก็ต้องอาศัยเรื่องพวกนี้แหละ จนกว่าจะไปถึงสเตจที่ผู้คนจะได้เรียนรู้จริงๆ ว่าประโยชน์ของมันที่มากกว่านี้คืออะไร

ผมมองว่านี่ยังเป็นช่วง early adoption ยังไม่ได้แมสเพราะถ้าจะเรียกว่าแมสได้คือถ้าเดินไปเจอใครเขาต้องมีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในมือแล้ว”

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวน่าสนใจในปีที่ผ่านมา ก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกร่างหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้ใช้ crypto เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ ก็คือการที่เหล่าแบรนด์ใหญ่ทยอยออกมาเปิดรับชำระค่าสินค้าด้วยเงินสกุลดิจิทัล 

หลายคนมองว่ามันคือการตลาด เช่นเดียวกับศุภกฤษฎ์ที่คิดว่าในแง่มุมหนึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดเขามองว่ามันคือเรื่องของการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในธุรกิจ เป็นเหมือนการทดลองที่ใครทดลองก่อน ล้มเหลวก่อนก็จะมีประสบการณ์มากกว่า 

เมื่อถึงวันที่ผู้คนเริ่มเปิดรับในระดับแมสก็จะทำให้ธุรกิจมีความพร้อมในการตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยไม่ต้องเสียเวลามาทดลองอีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้คู่แข่งเข้ามาแย่งชิงโอกาสทางธุรกิจไปได้ 

แบรนด์ใหญ่ปรับได้ แต่แบรนด์เล็กที่ไม่ได้มีสายป่านธุรกิจที่ยาวมากเท่า ไม่สามารถหั่นงบมาทำการตลาดหรือ R&D (research and development) ควรปรับตัวยังไงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ 

ศุภกฤษฎ์จึงแนะนำว่าสิ่งที่แบรนด์เล็กทำได้ทันทีในตอนนี้คือการศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเอาไว้ เพราะเมื่อถึงเวลาที่เทคโนโลยีพร้อมสำหรับแบรนด์เล็กเมื่อไหร่ ก็สามารถดึงเอาความรู้ที่เคยลงทุนเก็บสะสมเอาไว้มาต่อยอดในธุรกิจได้ทันที 

“อาจไม่ต้องนำหน้า แค่ได้อยู่ในเฟสต้นๆ ตอนที่เขากำลังปรับใช้ ผมว่าก็เป็นอะไรที่มีประโยชน์กับธุรกิจรายย่อยไม่น้อยเลย”

Planner

จากสายตาของนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย เขามองว่าในปี 2022 วงการนี้น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในหลายแง่มุมด้วยกัน 

แง่มุมรัฐบาล

ศุภกฤษฎ์บอกว่าเมื่อคริปโตฯ เป็นเรื่องที่คนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทบางอย่างกับวงการสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน

และหลังจากการพูดคุยกับศุภกฤษฎ์ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ก็เกิดประเด็นร้อนที่คนในวงการพูดถึงกันเป็นอย่างมาก นั่นคือการที่สรรพากรได้ออกมา take action เอาจริงเอาจังกับการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น 

โดยใจความสำคัญของเรื่องนี้มีอยู่ว่า นักลงทุนที่มีกำไรจากการเทรดคริปโตฯ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่ได้ 

ซึ่งในแบบยื่นภาษีเงินได้เดือนมีนาคม 2565 ก็จะมีช่องให้ติ๊กสำหรับคนที่มีกำไรจากตรงนี้ ทั้งยังนำเอา data analytics มาช่วยตรวจสอบด้วยว่าใครยื่นหรือไม่ยื่นภาษีแล้วบ้าง

แง่มุมแบรนด์ใหญ่

จากปี 2021 ที่ผ่านมาเราได้เห็นกลุ่มธุรกิจเดิมค่อยๆ ขยับปรับตัวเข้ามาในโลกเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น ศุภกฤษฎ์ยกตัวอย่างแบรนด์ระดับโลกมาเล่าให้ฟัง เช่น Nike ที่ก้าวเข้ามาในวงการนี้ด้วยการซื้อ RTFKT บริษัททำสนีกเกอร์ในรูปแบบ NFT มาเป็นของตัวเอง

รวมไปถึงอีกหลายตัวอย่างที่เขาไม่ได้ยกขึ้นมา แต่เป็นบิ๊กดีลที่หลายคนน่าจะจำกันได้ ทั้งการที่ธนาคารเข้าซื้อ exchange เจ้าหนึ่งด้วยมูลค่า 17,850 ล้านบาท หรือการที่หลายแบรนด์ใหญ่เริ่มมีบริการออกมารองรับ crypto มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณความเคลื่อนไหวที่น่าจะส่งผลกระทบอะไรบางอย่างกับวงการสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2022 ในบ้านเราได้ไม่น้อยเลย 

แง่มุมผู้พัฒนา 

ศุภกฤษฎ์มองว่าหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็จะส่งผลให้ในปี 2022 ตลาดจะเริ่มคัดสรรผู้พัฒนาที่มีศักยภาพมากกว่าเดิม และนั่นก็จะทำให้เกิดโปรเจกต์ใหม่ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเงินทุนจากเหล่า Venture Capital ก็จะหลั่งไหลเข้ามาในวงการนี้มากขึ้นเช่นกัน

จากภาพรวมของตลาดที่มีแนวโน้มจะเติบโตเช่นนี้ ก็จะส่งผลต่อการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ ในโลกของ crypto space เพิ่มขึ้นไปด้วย เทียบให้เห็นภาพก็เหมือนอาชีพบล็อกเกอร์, ยูทูบเบอร์, อินฟลูเอนเซอร์ ที่ไม่ได้เกิดมาจากการร่ำเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เป็นเพราะโลกออนไลน์ที่ทำให้ผู้คนเห็นโอกาสในการทำอาชีพใหม่ขึ้นมา 

แง่มุมนักลงทุน

จากปีที่ผ่านๆ มา เขามองว่า cycle ของราคาที่ขึ้น-ลงเหมือนรถไฟเหาะจะเริ่มสอนอะไรบางอย่างให้กับเหล่านักลงทุนมากขึ้น จะมีคนกลุ่มนึงที่ออกไปจากตลาด แต่เดี๋ยวเขาก็จะกลับมาใหม่ใน cycle ถัดไปที่มีเรื่องราวใหม่ๆ เข้ามา 

และอีกเรื่องที่ไม่ต้องคาดเพราะเราได้เห็นกันตามหน้าข่าวกันแล้ว นั่นก็คือเรื่องของภาษีคริปโตฯ ที่จะเข้ามากระทบต่อนักลงทุนไม่แง่ใดก็แง่มุมหนึ่ง ซึ่งก็คงต้องมาดูกันต่อไปในอนาคตหลังจากผลการพูดคุยหารือระหว่างสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กับกรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปออกมาในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ 

ความเข้าใจของผู้คน สำคัญพอๆ กับเทคโนโลยีที่ดี 

บัตรเดบิต, บัตรเครดิต, Mobile Banking, QR Code แม้วิธีการชำระเงินทั้งหลายเหล่านี้จะอ้างอิงกับเงินในบัญชีที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ถึงอย่างนั้นกว่าจะทำให้ผู้คนมีความเชื่อใจในการใช้จ่ายผ่านระบบเหล่านี้ได้ก็เป็นอะไรที่อาศัยระยะเวลาที่ไม่น้อยเลย 

และกับคริปโตฯ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ยากยิ่งกว่า เราจึงเกิดความสงสัยว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่มันถึงจะแมสเหมือนกับเทคโนโลยีการเงินเรื่องอื่นที่ใช้กันอย่างคุ้นชินอยู่ในทุกวันนี้ 

แม้จะไม่สามารถบอกระยะเวลาแบบเป๊ะๆ ได้ เพราะแน่นอน-ว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่ศุภกฤษฎ์ก็ยกตัวอย่างมาอธิบายได้อย่างเห็นภาพว่าการจะทำให้เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลแมสได้นั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว 

“ตอนนี้แม่ค้าปากซอยก็มีแอพเป๋าตังค์กันแล้ว สมมติถ้ารัฐเอานโยบายต่างๆ เอา CBDC (central bank digital currency–สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของรัฐ) มาใส่เข้าไป เท่านี้มันก็ได้แล้ว แต่คำถามคือใส่เข้าไปแล้วใช้ยังไงต่อ 

“ผมเลยมองว่าการจะทำให้มันแมสอาจไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่คือการทำให้ผู้คนมีความเข้าใจ แล้วก็รวมไปถึงเรื่องของเจเนอเรชั่นด้วย”

เขาอธิบายต่อเรื่องเจเนอเรชั่นผ่านวิธีการเปรียบเทียบเพื่อทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ก็เหมือนยุคก่อนที่คนรุ่นปู่ย่าตายายเชื่อในการเก็บเงินไว้ในไหมากกว่าธนาคาร 

พอถึงยุครุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เขาเกิดมากับธนาคาร เข้าใจว่ามันคืออะไร เมื่อคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เติบโตมาถึงวัยที่จะมีบทบาทเชิงนโยบายในสังคมมากขึ้น ก็เลยทำให้เรื่องของธนาคารได้รับการยอมรับมากขึ้น

เช่นเดียวกับคริปโตฯ เมื่อถึงวันที่คนรุ่นใหม่ที่เขามีความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยี เคยติดดอยมาก่อน ได้เติบโตมามีบทบาทบางอย่างในสังคมคริปโตฯ มันก็จะค่อยๆ เป็นที่ยอมรับของผู้คนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ย้อนไปดูในอดีต มีเทคโนโลยีเจ๋งๆ มากมาย แต่มาก่อนกาลมากเกินไป คนยังไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงอยู่ดี 

“ผมเลยคิดว่าเรื่องนี้มันก็เหมือนการปลูกต้นไม้แหละ ไม่ใช่แค่หว่านเมล็ดพันธุ์ที่ดีลงไปแล้วจะทำให้ต้นไม้โตได้ แต่มันยังต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมอีกมากมาย ทั้งการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย และที่สำคัญคือความเข้าใจของคนที่เลี้ยงต้นไม้นั้น”

ความ decentralize ที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมอีกมากมาย 

มองในมุมส่วนรวม ศุภกฤษฎ์คิดว่าความเป็น decentralize ที่เปิดกว้างให้กับผู้คน จะทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมเกิดขึ้นอีกมากมาย เป็นโลกที่จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากกว่าเดิม และเป็นโลกที่หมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม 

มองในมุมส่วนตัว แม้ที่ผ่านมาเขาจะทำงานด้าน IT มานานกว่า 20 ปี แต่เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลก็ไม่ใช่อะไรที่ง่ายสำหรับเขา และเพื่อจะเรียนรู้ วิ่งตามโลกใบนี้ที่หมุนเร็วยิ่งกว่าเดิมให้ทันได้ นั่นทำให้เขาต้องเปิดใจเป็นอย่างมาก 

“เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีสิ่งใหม่เข้ามาตลอดเวลา เลยทำให้เราต้องเปิดใจอยู่เสมอ 

“สิ่งหนึ่งที่คิดได้หลังจากเข้ามาอยู่ในวงการนี้คือผมรู้สึกว่าบางทีที่ผ่านมาเราอาจจะแค่อยู่ในระบบที่เคยชิน จนไม่รู้ว่าอีกระบบนึงมันก็อาจจะดีเหมือนกัน

“เรื่องคริปโตฯ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ มันก็เลยเป็นเหมือนประตูบานแรกที่เปิดใจให้ผมได้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ในเรื่องอื่นเข้ามาอีกมากมาย” ศุภกฤษฎ์ทิ้งท้าย

[ล้อมกรอบ]

3 สิ่งสำคัญที่จะทำให้ crypto กลายเป็นเรื่องของผู้คนในวงกว้างมากขึ้น

1.เทคโนโลยี

2. ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้คน

3. เจเนอเรชั่น เมื่อเจเนอเรชั่นที่เข้าใจในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นมาและมีบทบาททางสังคม ก็อาจเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ 

อ้างอิง 

thaidigitalasset.org

จากโรงงานขายส่งขนมปังอายุ 60 ปีของคนรุ่นพ่อ ต่อยอดมาเป็นร้านขายโชคุปังของคนรุ่นใหม่ในนาม Chapter 9

เล่าให้ฟังก่อนว่า Chapter 9 คือคาเฟ่ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ประมาณ 2 ปี มองผิวเผินจากสิ่งที่เห็นตรงหน้า นี่คือคาเฟ่ในตึกสีอิฐที่โดดเด่นออกมาจากสิ่งก่อสร้างที่อยู่รอบข้าง สวยงามจนดึงดูดใจให้เหล่า cafe hopping มาเช็กอินได้เป็นอย่างดี

จนเมื่อได้ลองเปิดประตูเข้าไปด้านใน สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กลิ่นกาแฟที่หอมกรุ่นลอยมาเตะจมูกก็คือ ‘โชคุปัง’ ที่ตั้งเด่นอยู่หน้าบาร์

ส่วนผสมของโชคุปังที่เห็นไม่ได้มีแค่แป้ง นม หรือยีสต์ เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงการใส่แนวคิดที่ทำให้ความชอบและธุรกิจเดินหน้าไปด้วยกันได้ของ เอ๋–ธัญญนันทน์ ตรีเสน่ห์จิต ทายาทโรงงานขายส่งขนมปังที่มีมานานกว่า 60 ปี และ จัสติน–จุงมิน ตัน เชฟมืออาชีพชาวสิงคโปร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ ทั้งสองยังเป็นหุ้นส่วนในชีวิตของกันและกันอีกด้วย

หากใครพอจะรู้ที่มาที่ไปของที่แห่งนี้ ย่อมรู้ว่าหนึ่งในส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เกิดโชคุปังของ Chapter 9 ขึ้นมาได้ก็คือ ‘พรพรรณเบเกอรี่’ โรงงานขายส่งขนมปังที่มีมานานกว่า 60 ปี ซึ่งเกิดมาจาก ‘ป๊าของเอ๋’ ชายชาวจีนที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาตั้งรกรากในไทย โดยเริ่มทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตขนมมากมาย 

กระทั่งวันหนึ่งเจ้านายของป๊าก็ออกเงินทุนให้มาทำร้านขนมเล็กๆ เป็นของตัวเอง และเมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถขยายจนกลายเป็นโรงงานขายส่งขนมปังที่ครอบคลุมพื้นที่ย่านบางบอนได้ในที่สุด 

ด้วยความที่มีมานานกว่า 6 ทศวรรษ โรงงานแห่งนี้จึงผ่านเรื่องราวร้อนหนาวมามากมาย–เป็นความร้อนและหนาวจริงๆ เพราะโรงงานแห่งนี้เจอทั้งน้ำท่วม ทั้งไฟไหม้ จนต้องทุบตึกทิ้งไปรอบหนึ่งแล้ว แต่สุดท้ายก็สามารถก่อร่างสร้างธุรกิจให้กลับมาได้ใหม่อีกครั้ง

เล่ามาถึงตรงนี้ หลายคนอาจกำลังคิดว่าเรื่องเล่าในย่อหน้าถัดไปคงเป็นไปตามสูตร ที่เอ๋คงลุกขึ้นมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว แล้วเปลี่ยนจากโรงงานขนมปังขายส่งมาเป็นโชคุปังเพื่อให้เข้ากับเทรนด์ของคนรุ่นใหม่คล้ายกับเรื่องราวของทายาทธุรกิจหลายๆ คนที่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อพลิกฟื้นให้ธุรกิจของคนรุ่นพ่อแม่ยังคงอยู่ต่อไปได้ 

แต่เรื่องราวของเธอไม่ใช่แบบนั้น สิ่งที่เธอทำไม่ใช่การไปเปลี่ยนธุรกิจเดิมของผู้เป็นพ่อ หากแต่คือการลุกขึ้นมาทำอะไรเป็นของตัวเอง โดยมีองค์ความรู้ที่ซึมซับมาตั้งแต่เด็กทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวจากการเติบโตมาในโรงงานพรพรรณเบเกอรี่ นอกจากนั้นยังได้การบริหารแบบเชฟมืออาชีพของจัสตินมาเป็นต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจ

ว่าแต่ทั้งสองมีวิธีการรังสรรค์ให้เรื่องของความชอบและธุรกิจเดินหน้าไปด้วยกันอย่างกลมกล่อมได้ยังไง มาเปิด business recipe ของทั้งคู่ไปพร้อมๆ กัน 

ส่วนผสมหลัก

1. resource ของคนรุ่นเก่า 

2. แพสชั่น

3. แนวคิดการทำธุรกิจแบบคนรุ่นใหม่ 

วิธีทำ

ขั้นตอนที่ 1 

ถึงจะเติบโตในโรงงานมาตั้งแต่เด็ก มีแป้งขนมปังเป็นของเล่นแทนดินน้ำมัน แต่อาจด้วยความที่อยู่ใกล้ตัวและเห็นมันทุกวันจนชินตา เอ๋จึงไม่ได้รู้สึกสนใจเรื่องขนมปังแต่อย่างใด หลังเรียนจบเธอเลือกเข้าทำงานที่เอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่ง ส่วนธุรกิจของที่บ้านมีพี่สาวคนโตเป็นผู้รับไม้ต่อจากผู้เป็นป๊า

นอกจากเป็นธุรกิจของครอบครัว ชีวิตของเธอก็ไม่ได้เฉียดใกล้การทำขนม แม้แต่ตอนที่ไปสมัครเรียนทำเบเกอรี่ เธอก็ยังเลือกที่เรียนทำเค้กทำขนมแนว pastry เพราะมองว่าขนมปังไม่มีอะไรมากไปกว่าที่เคยเห็นมา

ตอนนั้นเธอคิดแค่ว่ามันก็แค่ ‘ขนมปังก้อนหนึ่ง’ เท่านั้นเอง

เมื่อเรียนไปได้สักพักจนเริ่มมีวิชาติดตัว เอ๋จึงตัดสินใจนำเค้กที่ทำไปฝากขายที่คาเฟ่ของหลานชาย สุดท้ายก็จับพลัดจับผลูกลายมาเป็นเจ้าของร้านเสียเอง จากที่เคยแค่เอาไปวางขาย คราวนี้เธอตัดสินใจเล่นใหญ่เพื่อทำตามความฝัน เป็นความฝันที่คล้ายกับใครหลายคนที่อยากเปิดคาเฟ่ ลงทุนรีโนเวตร้านใหม่ จนกลายมาเป็นคาเฟ่ตึกสีอิฐที่เรากำลังนั่งพูดคุยกันอยู่นี้

หลายคนคงจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ฝันแล้วให้รีบลงมือทำ ซึ่งเอ๋เป็นหนึ่งในนั้น หากแต่ความฝันที่ไม่มีแผนในโลกความเป็นจริงมารองรับ เวลาตื่นมาก็อาจค้นพบความจริงที่ไม่สวยงามเหมือนฝันแบบเดียวกับที่เธอเคยเจอ

“ตอนนั้นแพสชั่นสุดๆ ถ้าฝันแล้วต้องลงมือทำจริง แต่ไม่ได้ดูความเป็นจริงในธุรกิจเลย ขายแบบคิดราคาไม่แพง เพราะถ้าแพงกลัวไม่มีคนซื้อ ขาดทุนไม่เป็นไร มีรอยรั่วมีช่องโหว่ตรงไหนก็เอาเงินเดือนมาอุด 

“ทั้งที่จริงแล้วมันผิดอย่างรุนแรง คือเงินที่ร้านกับเงินเดือนมันต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน เพราะเงินเดือนเป็นสิ่งที่หามาได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราร้อยเปอร์เซ็นต์ 

“เป็นไงล่ะผลของการแพสชั่นมาก” หญิงสาวลากเสียงยาวที่คำท้ายก่อนหัวเราะในเรื่องตลกร้ายเสียงดัง

ขั้นตอนที่ 2 

ขั้นตอนถัดมาเป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้ร้านพลิกกลับมาหล่อเลี้ยงตัวเองได้อีกครั้ง คือเรื่องราวการพบเจอกันระหว่างเอ๋และจัสตินที่ตีฟูหัวใจของเราให้พองโตได้ไม่น้อย 

“ตอนนั้นที่เราไปคอร์สเบเกอรี่ หลังเรียนคอร์สแรกจบเราก็หาคอร์สเบเกอรี่อื่นๆ เรียนไปเรื่อยๆ จนมาเจอคลาสนึงที่สอนกวนแยม ความจริงตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะไปเรียน แต่พอเพื่อนบอกว่ามีเหลืออยู่ที่นึงพอดีแล้วมีส่วนลดด้วย สุดท้ายเลยคิดว่าไปก็ไป”

จากความไม่ได้ตั้งใจทำให้เธอได้พบกับจัสติน เชฟมืออาชีพชาวสิงคโปร์ ซึ่งเอ๋บอกว่าโดยปกติแล้วคนเป็นเชฟจะไม่ค่อยไป Join คลาสของเชฟด้วยกันเองสักเท่าไหร่ แต่เพราะคนที่มาสอนกวนแยมในครั้งนั้นเป็นเชฟที่ไม่เคยออกไปสอนนอกประเทศและเป็นเชฟที่จัสตินติดตามมานาน จัสตินจึงตั้งใจบินจากสิงคโปร์เพื่อมาเรียนคลาสนี้โดยเฉพาะ และแน่นอนว่าครั้งนั้นทำให้เขากับเอ๋ได้พบกันโดยไม่ได้ตั้งใจ

หลังจากนั้นเมื่อความสัมพันธ์ค่อยๆ พัฒนาและรู้ว่าเอ๋กำลังทำคาเฟ่ที่ชื่อ Chapter 9 ในฐานะที่เป็นเชฟมืออาชีพมาราว 10 ปี จัสตินจึงเข้าไปช่วยดูร้านให้

“สิ่งแรกที่เกิดขึ้นหลังเขาเข้ามาดู POS ในร้านเราคือทะเลาะกันยับ (หัวเราะ)

“ด้วยความที่เขาเป็นมืออาชีพมากๆ ทำงานร้านอาหารมาหลายปี เขาก็เลยเห็นอะไรหลายอย่างที่เราไม่เห็น คือเราคิดแต่ว่าเค้กมันต้องหน้าตาสวย รสชาติอร่อย ขายแบบไม่ต้องแพงมากเพื่อให้คนซื้อได้ไม่ยาก แต่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องต้นทุน กำไร หรือ food waste อะไรต่างๆ เลย สุดท้ายจัสตินก็เลยบอกว่า

“ถ้าอยากจะให้ธุรกิจอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง เราควรจะเปลี่ยนมาขายขนมปังแทน”

ขั้นตอนที่ 3 

สิ่งที่ทำให้ทั้งสองตัดสินใจโฟกัสมาที่ขนมปังเพราะหากมองไปยังสิ่งที่มีอยู่รอบตัว ไม่มีอะไรจะตอบโจทย์ธุรกิจไปได้ดียิ่งกว่าขนมปังอีกแล้ว 

resource ของคนรุ่นพ่อที่ทำธุรกิจขายขนมปังมานานกว่า 60 ปีนั้นสามารถเอามาต่อยอดเป็นสิ่งต่างๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ต่างๆ ซัพพลายเออร์ หรือแม้กระทั่งทีมงานที่มีทักษะในการทำขนมปังอยู่แล้ว 

“อันนี้ต้องให้เครดิตจัสตินเลย เขาเป็นคนที่ทำให้เราหันกลับมามองในสิ่งที่เคยมองข้ามไปอย่างขนมปัง ทำให้เราเห็นภาพของมันชัดมากขึ้นว่า นอกจากจะเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เรากับพี่น้องเติบโตและเรียนจบมาได้ ก็ยังสามารถเอามาต่อยอดเป็นธุรกิจที่เลี้ยงปากท้องของเราในอนาคตได้อีก”

ขั้นตอนที่ 4

ขั้นตอนนี้ว่าด้วยเรื่องแนวคิดของการต่อยอดขนมปังขายส่งของคนรุ่นพ่อที่มีมานานกว่า 60 ปี ให้กลายมาเป็นขนมปังรุ่นใหม่อย่างโชคุปัง 

ในเมื่อจะทำขนมปังอยู่แล้ว ทำไมไม่กลับไปทำของที่บ้านเลยล่ะ–เราสงสัย

เอ๋อธิบายว่า เพราะ consumer trend นั้นเปลี่ยนไปมาก การทำขนมปังขายส่งไม่ใช่ไม่ดี เพราะที่ผ่านมานี่คือสิ่งที่เลี้ยงให้เธอและครอบครัวเติบโตขึ้นมาได้ มีกลุ่มลูกค้าที่ทำให้ขายมาได้นานหลายสิบปี แต่อีกมุมหนึ่งความเป็นขนมปังขายส่งก็มาบดบังเรื่องของ brand identity และนี่อาจเป็นโอกาสที่ทำให้คู่แข่งเข้ามาแทรกได้

“อย่างตอนที่โรงงานไฟไหม้จนแทบจะไม่เหลือพื้นที่ให้ทำขนมปัง แต่เราก็ต้องหาวิธีทำมันออกมาให้ได้ ก่อนไฟไหม้ทำได้วันละพันชิ้น หลังไฟไหม้ทำได้แค่วันละ 400 ชิ้น ลดลงมาเกินครึ่งนึงก็ยังต้องทำ 

“เพราะถ้าเราไม่ทำเมื่อไหร่ มันมีช่องว่างให้คู่แข่งเข้ามาแทรกได้ เราหยุดแต่ลูกค้าของเราเขาไม่ได้หยุดไปด้วยไง เขาก็ต้องหาของจากเจ้าอื่นมาแทนของเราได้ 

“ดังนั้นถ้าจะลงแรงทำอะไรใหม่ทั้งที ขอทำอะไรที่คนอื่นเลียนแบบยากดีกว่า ”

ส่วนในมุมของจัสติน เขาคิดว่าอยากจะทำสิ่งที่คนสามารถกินได้บ่อยๆ และขนมปังก็มีความคล้ายกับข้าว จะเอามากินเป็นของหวานก็ยังได้ แล้วพอมองไปยังสิ่งที่มีรอบตัวก็ไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่เหมาะไปกว่าการทำโชคุปังอีกแล้ว

ขั้นตอนที่ 5

นอกจากสตอรีที่สอดไส้อยู่ข้างใน อีกสิ่งที่น่าสนใจของ Chapter 9 ก็คือการเป็นขนมปังญี่ปุ่นที่ตั้งใจไม่ทำตามสูตรแบบออริจินอล ด้วยเหตุผลที่จัสตินบอกกับเราว่า หากจะทำให้เหมือนกับต้นตำรับจริงๆ ก็ต้องสั่งแป้งเข้ามาจากญี่ปุ่น ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบเป็นโดมิโน่ให้ราคาขายต้องสูงตาม สวนทางกับจำนวนคนกินที่เข้าถึงได้น้อยลง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ผิดความตั้งใจในตอนต้นของเธอและเขา

“ผมพอใจกับการใช้แป้งที่มีอยู่ใกล้ตัวเราแล้วหาวิธีหาเทคนิคในการทำที่รีดเค้นศักยภาพตัวแป้งให้ออกมาได้มากที่สุดเท่าที่ตัวมันเองจะสามารถทำได้ สิ่งที่ออกมาก็เลยกลายมาเป็นโชคุปังที่เคี้ยวได้หนุบหนับ เหนียวสู้ฟันกำลังดี  

“อีกอย่างผมคิดว่าส่วนผสมอะไรที่มันอยู่ใกล้มือที่เรารู้จักมันมานาน ถ้าเรายังไม่สามารถใช้มันให้ดีที่สุดในแบบที่มันเป็นได้ แล้วแบบนี้การใช้ของนำเข้าที่เรารู้รายละเอียดของมันน้อยกว่า สุดท้ายแล้วเราจะใช้มันได้อย่างคุ้มค่าจริงหรือ อย่างมากเราก็อาจจะแค่ทำตามสูตรของคนอื่นที่เคยทำมา” จัสตินอธิบายจนเราคลายสงสัย

ขั้นตอนที่ 6

ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นการเทส่วนผสมในแง่ของธุรกิจ

เมื่อการเปิดคาเฟ่คือความฝันของใครหลายคนสะท้อนได้จากทุกวันนี้ที่มีคาเฟ่เกิดใหม่มากมาย คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้คาเฟ่ของเธอและเขา รวมถึงคนอื่นๆ อยู่ได้อย่างยั่งยืน

จากประสบการณ์การเป็นเชฟมา 14 ปี ซึ่งใน 6 ปีนั้นคือเชฟเมเนเจอร์ที่ต้องดูแลจัดการร้านในด้านอื่นๆ ไม่ใช่เพียงแค่ทำอาหาร จัสตินแชร์ให้เราฟังว่า หากจะทำให้ธุรกิจคาเฟ่อยู่ในระยะยาวได้นั้น ร้านควรจะมีกำไร 30-40 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนที่ขาย ซึ่งเป็นอัตราการทำกำไรที่ถือว่าสูงแล้วสำหรับธุรกิจนี้ เพราะถ้ามากกว่านี้ ก็คงจะมีคำถามขึ้นมาในใจว่าของที่คุณเสิร์ฟให้ลูกค้านั้นมันคืออะไร มีคุณภาพเพียงพอหรือเปล่า

จัสตินขยายความว่า ตัวเลข 30-40 เปอร์เซ็นต์ ที่ว่านั้นไม่ได้มาจากการขายสินค้าที่มีคุณภาพดีหรือการจัดการที่ดีเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอีกสองสิ่งสำคัญนั่นคือเรื่องของ brand identity และคน 

เขามองว่าในวันที่มีคาเฟ่เกิดใหม่มากมาย สิ่งหนึ่งที่จะทำให้คาเฟ่สักที่สามารถอยู่ได้ในระยะยาวก็คือการมี brand identity ชัดเจน ห้ามเบี้ยวเด็ดขาด เพราะถ้าเบี้ยวเมื่อไหร่ภาพลักษณ์ของร้านก็จะไม่ชัด ไม่แตกต่าง สุดท้ายก็อาจถูกกลืนหายไปท่ามกลางร้านอีกมากมายที่มีอยู่

ส่วนเรื่องของคนในที่นี้ เขาหมายถึงการดูแลคนให้ดี เพราะคนคือต้นทุนที่สำคัญมากๆ ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตาม ถ้าขาดคนไปก็ดำเนินต่อไปไม่ได้ 

ซึ่งวิธีการดูแลคนของ Chapter 9 ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย

“เราสองคนไม่ได้มองว่าในอนาคต Chapter 9 จะเป็นแค่คาเฟ่หรือร้านขายโชคุปัง แต่มันคือแพลตฟอร์มที่สามารถใช้ resource ที่เรามีอยู่ไปต่อยอดเป็นสิ่งอื่นๆ ได้อีก เหมือนกับที่เราเอาทรัพยากรจากพรพรรณเบเกอรี่มาต่อยอด 

“อย่างตอนนี้เราก็เพิ่งเอาสิ่งที่มีอยู่มาแตกเป็นแบรนด์ใหม่ให้กับลูกน้องที่เขาอยู่กับ Chapter 9 มาตั้งแต่ต้น เราไปช่วยลงทุน ไปช่วยเขาเซตธุรกิจในตอนแรก พอมันเริ่มอยู่ตัวค่อยให้เขาเอาไปรันเองต่อ

“ที่ทำแบบนี้เพราะเรามองว่าการดูแลคนมันไม่ใช่แค่เรื่องของเงินเดือน สวัสดิการ หรือการทำให้เขาแฮปปี้เวลาทำงาน แต่รวมไปถึงการให้โอกาส มันเป็นการรักษาคนในแบบของเรา ให้เขาได้เห็นว่าถึงจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่เราก็ทำให้คนที่อยู่กับเราเติบโตได้เช่นกัน” เอ๋เล่าโดยมีจัสตินพยักหน้ายืนยันคำตอบ 

ฟังทั้งสองเล่าแบบนี้ เลยทำให้เรานึกย้อนกลับไปในตอนต้นของเรื่องเล่า ที่เจ้านายของ ‘ป๊าของเอ๋’ ให้โอกาสพ่อของเธอจนทำให้เกิดพรพรรณเบเกอรี่ขึ้นมา และนั่นเป็นรากฐานสำคัญของการเกิด Chapter 9 ด้วยเช่นกัน

และมาวันนี้เธอก็ส่งโอกาสนั้นต่อ เช่นเดียวกับที่พ่อของเธอเคยได้รับ

วิธีทำงานกับลูกค้าและลูกค้าที่ดีของ วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ผู้กำกับโฆษณาแห่ง FACTORY01

ในโลกโฆษณา ไม่ว่าจะคุณจะยืนอยู่ฟากฝั่งใด–ในมุมลูกค้าหรือฝั่งคนทำงาน เราย่อมพบความจริงว่าหลายครั้ง แม้ทั้งสองฝั่งต่างฝันเห็นงานที่ดีเช่นกัน แต่ระหว่างทางก็มักมีเรื่องที่ทำให้ต้องปะทะอย่างเลี่ยงไม่ได้ จนหลายครั้งเป็นที่มาของสเตตัสตลกร้ายที่พูดถึงลูกค้าในโลกโซเชียลฯ

หากใครเป็นเฟรนด์กับ อั๋น–วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร ในเฟซบุ๊ก หรือเคยฟังเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับโฆษณาเจ้าของรางวัลใหญ่ในเวทีโฆษณาระดับสากลต่างๆ รวมถึงเป็นผู้ก่อตั้งโปรดักชั่นเฮาส์ชื่อ ‘FACTORY01’ ย่อมเคยผ่านหูผ่านตาทัศนคติของเขาที่มีต่อคำว่า ‘ลูกค้า’ มาบ้าง

หากแต่สิ่งที่เขาพยายามสื่อสารผ่านถ้อยคำและตัวอักษรหาใช่ถ้อยคำจิกกัด นินทา หรือต่อว่าแต่อย่างใด แต่เป็นการพยายามทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ถ้าเราจะเรียกมันว่าความขัดแย้ง เขาก็พยายามทำความเข้าใจความขัดแย้งนั้น และมองหาทางออกร่วมกัน เพื่อที่ในวันหน้าเราจะได้ก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นในการทำงาน

‘Good Client’ คอลัมน์ที่ตั้งใจชวนเหล่าคนทำงานหลากแขนงมาพูดคุยถึงวิธีคิดในการทำงานกับลูกค้า และมอบตำแหน่ง Good Client ให้ลูกค้าที่ดีที่เคยร่วมงาน จึงนัดสนทนากับวุฒิศักดิ์ ด้วยเชื่อว่าหลายมุมมองของเขาน่าจะพูดแทนใจใครหลายคน และทำให้ทั้งสองฝั่งมีหลักบางอย่างในการทำงานให้ยึด

เพื่อที่วันหน้าเราจะได้ไม่ต้องมานั่งพร่ำบ่นกันถึงปัญหาเดิมๆ

โดยส่วนตัวคุณมีทัศนคติต่อคำว่าลูกค้ายังไง

เราไม่ได้รู้สึกลบกับคำว่าลูกค้าตั้งแต่แรกแล้ว มีแค่ตอนเป็นครีเอทีฟที่เริ่มทำงานสักปีสองปี ตอนนั้นยังรู้สึกว่าลูกค้าน่ากลัว หมายความว่าเขาเป็นคนที่ชี้ชะตา เราทำงานมาตั้งนาน สุดท้ายมันขึ้นอยู่กับเขาในวันนั้น มีความวัดใจประมาณนึง (หัวเราะ) เราก็เลยรู้สึกว่าชีวิตเราขึ้นกับเขามาก เป็นความรู้สึกกังวล กลัว ว่าเขาจะโอเคไหม

มีจุดไหนที่ทำให้คุณมองลูกค้าเปลี่ยนไปไหม

พอทำงานได้สักปีสองปีผมมีโอกาสได้ทำงานให้คนในครอบครัว หมายความว่าเป็นธุรกิจของที่บ้าน ตอนนั้นเขาก็รู้สึกว่า เฮ้ย อั๋นไปทำงานข้างนอกมันก็ดูโอเคนี่หว่า เห็นได้รางวัล ได้นั่นได้นี่ มีคนพูดถึงมัน ถ้าอย่างนั้นมาทำให้ที่บ้านหน่อย แล้วพอทำให้ที่บ้านเท่านั้นแหละ โอ้โห มันเป็นที่สุดของความพินาศ

ตอนแรกคิดไว้ว่า เวลาเราทำงานกับลูกค้า สมมติถ้าตีเป็นหนึ่งร้อย ถ้าลูกค้าซื้อสัก 70 ก็จุดพลุฉลองแล้ว ถือว่าหรูมากแล้ว เราก็คิดว่าแต่นี่ทำกับที่บ้าน มันต้อง 100 สิวะ มันคงควบคุมทุกอย่างได้ ปรากฏว่าตรงข้ามเลย 

ความยากของการทำงานให้ครอบครัวคืออะไร

ความยากอันดับหนึ่งเลยคือเรามีส่วนได้ส่วนเสียกับงานมากเกินไป ตรงนี้เราเลยถอยกลับมามองว่า อ๋อ เวลาเราเอางานไปขายลูกค้า เรามองจากสายตาคนนอก ซึ่งสายตาคนนอกใกล้เคียงกับ consumer มากกว่าเจ้าของกิจการ แต่ว่าทันทีที่เรามีส่วนได้ส่วนเสียว่ายอดขายมันจะเท่าไหร่ มันจะเป็นอั๋นอีกร่างนึงมาเข้าสิง เราจะกลัวว่านั่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ เดี๋ยวดูไม่ดี เดี๋ยวอะไรต่อมิอะไร งานที่ทำออกมาข้อจำกัดมันเลยเยอะมาก ข้อจำกัดแรกคือตัวเราเอง เพราะเรามีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจนี้ เราเลยคิดอีกแบบ

เหมือนสมมติตอนเราเป็นวัยรุ่นแล้วเราชอบผู้หญิงคนนึง ไอ้โมเมนต์ที่ชอบมากๆ แล้วจะต้องอินเทอร์แอกต์กันเราจะไม่เป็นตัวเองเลย คือมันมีความลน มีความกังวล เราพูดอย่างนี้ได้เปล่าวะ ทำอย่างนี้น่าเกลียดเปล่าวะ เดี๋ยวเขาจะคิดยังไง เราคิดเยอะไปหมด แต่กลับกัน พอเวลาที่เพื่อนเราเป็นคนไปแอบชอบ แล้วเพื่อนเราปรึกษาเรา โอ้โห กูคือมาสเตอร์เลย เฮ้ย มึงอย่าทำอย่างนั้น มึงทำอย่างนี้ เชี่ยวชาญมาก แต่พอเรากลายเป็นคนที่จะต้องจีบเองสกิลมันหายหมดเลย สมองมันทึบไปหมด มันเห็นแต่ปัญหา มันกังวลไปหมด ตรงนี้ผมคิดว่าเหมือนเวลาเราทำงานกับลูกค้า

คือเวลาเราเป็นลูกค้า เราต้องกังวลเรื่องอื่นเยอะมาก กังวลถึงสินค้า กังวลถึงรีแอกต์ กังวลถึงคน มันเลยทำให้การพูดของเราไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งพอเราถอยมามองเราจะสังเกตว่า สมมติกับผู้หญิงคนนึงที่เราชอบเขา เราอาจจะ perform ตัวเองได้ไม่ดี ในขณะที่เพื่อนเราที่ไม่ได้ชอบอะไรด้วยเขาเอนเตอร์เทนได้อย่างสนุกสนาน แล้วผู้หญิงก็คุยกับเขามากกว่าเราอีก ซึ่งตรงนี้มันเหมือนเวลาลูกค้ามาใช้บริการเรา มันเหมือนเราเป็นเพื่อนคนนี้ที่มองสถานการณ์ด้วยสายตาที่สะอาดกว่า แล้วก็รู้ว่า เฮ้ย อันนี้ทะเล่อทะล่าแล้ว อันนี้ผิดจุดแล้ว 

การเรียนรู้ที่ว่าส่งผลอะไรกับการทำงานกับลูกค้าหลังจากนั้นไหม

เราก็โอเค เข้าใจแล้ว คืออย่างแรกเลยมันจะชอบมีการเมาท์ลูกค้าว่าลูกค้าคนนี้โง่ คือเขาพูดอย่างนี้กันเลยนะ เราก็คิดได้ว่า เฮ้ย จริงๆ เขาไม่ได้โง่นะ เขาแค่ หนึ่ง–เขาลนอยู่ เขากำลังอยู่ในภาวะที่มีเรื่องอื่นในหัวแล้วทำให้คอมมิวนิเคชั่นไม่ได้ กับสอง–เขาไม่รู้เรื่องคอมมิวนิเคชั่น เขาเป็นมาร์เก็ตติ้ง เรื่องตัวเลขเรื่องสถิติต่างๆ เขาเก่งกว่าเรามาก เขามาสเตอร์ทางนี้ เขาจบโทจบเอกมา แต่ว่าพอเป็นการสื่อสาร เป็นการคุย อันนี้มันบียอนด์ textbook มันเป็นเรื่องที่เป็นศิลปะมากๆ

เราจะสังเกตว่ามุกบางมุก ทำไมเพื่อนคนที่หนึ่งเล่นได้ แต่เพื่อนคนที่สองเล่นแล้วมันแป้ก คือมันค่อนข้างละเอียดอ่อนถึงขนาดที่ตัวคนที่สื่อสารก็อธิบายไม่ได้ ทีนี้มันก็เลยต้องถอยกลับมาว่า เวลาลูกค้าจ้างนักคอมมิวนิเคชั่น ซึ่งผมพูดรวมๆ ไม่ว่าจะเป็น Marcom (marketing & communication) หรือเอเจนซี หรือโปรดักชั่นเฮาส์ หรือช่างภาพ หรืออะไรก็ตาม ผมคิดว่าเราซื้อความพิเศษของความเป็นมนุษย์ที่เราก็อธิบายไม่ได้หรอกว่าทำไมคนคนนั้นถึงเลือกแบบนี้ แต่ปัญหาคือในห้องประชุม สิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามักจะต้องคุยกันด้วยเหตุผล ลองนึกภาพว่าถ้ามีเอเจนซีไปพรีเซนต์บอร์ดแล้วลูกค้าถามว่า “ทำไมเรื่องต้องเป็นอย่างนี้” แล้วคนคิดงานตอบว่า “ไม่รู้ครับ ฟีลมันได้ ต้องแบบนี้” คือมึงเด้งออกจากห้องประชุมแน่นอน มันดูไร้เหตุผล

คือในขณะที่คนที่ทำหน้าที่มาร์เก็ตติ้งหรือเป็นเจ้าของกิจการเขาใช้จ่ายเวลาไปกับการผลิตสินค้าขึ้นมา เขาสำรวจตลาด คุยกับลูกค้า ทำนู่นนี่นั่นเกี่ยวกับโปรดักต์เขา เราซึ่งเป็นคนทำคอมมิวนิเคชั่นก็ใช้จ่ายเวลาทั้งชีวิตไปกับการศึกษาว่า เฮ้ย ทำไมอันนั้นไม่เวิร์ก อันนี้ไม่เวิร์ก ทำไมอันนั้นตลก อีกอันไม่ตลก ทำไมอันนี้สวย ทำไมเวลาเราซื้อชุด เราอยากซื้อชุดนี้ ไม่อยากใส่อีกชุด มันเพราะอะไร จริงๆ มันอธิบายได้ ถ้าจะต้องอธิบายกันจริงๆ แต่ใช้เวลานานมาก

คุณคิดว่าที่ผ่านมาปัญหาที่มักเกิดขึ้นระหว่างลูกค้ากับฝั่งโปรดักชั่นเฮาส์คืออะไร

การที่เราเรียกว่าลูกค้ามันสเตอริโอไทป์ลูกค้าทั้งหมดเป็นแฟ้มเดียวกัน ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่เลยนะครับ คือลูกค้ามีหนึ่งพันเฉด

แต่ปัญหาคือส่วนใหญ่เวลาลูกค้ามาใช้บริการ สมมติเป็นโปรดักชั่นเฮาส์ ลูกค้ามาใช้ผู้กำกับคนนี้ มาใช้โปรดักชั่นเฮาส์เพื่อทำหนัง ลูกค้าจะมีสเตอริโอไทป์ว่าเฮาส์ทำหนังคือคนที่รับเงินแล้วถ่ายตามคำสั่งเรา ไม่ต้องเกรงใจ และปัจจัยหนึ่งที่มีผลมากในสังคมไทยคือมุมมองต่อคำว่า ‘ลูกค้า’ 

ที่ใช้คำว่าในสังคมไทยเพราะจากประสบการณ์ของผม ผมคิดว่าต่างชาติเขาโตมาในวัฒนธรรมแบบ effectiveness-based คือคุณเป็นใครผมไม่รู้ แต่ถ้าทำให้มัน effective ได้ผมเอา แล้วมันเปิดกว้างมากในห้องประชุม ต่อให้คุณเป็นเอเจนซีคุณก็สามารถเบรกลูกค้าได้ เราสามารถบอกลูกค้าได้ว่า “เดี๋ยว สิ่งที่คุณทำไม่ถูกว่ะ” แต่ในไทยคุณพูดไม่ได้ ซึ่งผลของมันก็คือไม่มีใครพูดความจริงในห้องประชุมเลย ทุกคนจะนั่งเงียบแล้วก็คิดในใจ แล้วก็จะไม่บอกออกไปว่าตอนนี้ปัญหาของเราคืออะไร

คนไทยเคยได้ยินคำว่าลูกค้าคือพระเจ้า มันเลยสเตอริโอไทป์ไปเลยว่า อ๋อ กูคือพระเจ้า แต่เดี๋ยว ใจเย็นๆ ใจเย็นก่อน คือในแง่การสื่อสาร คนเดียวที่มีสิทธิพูดว่าลูกค้าคือพระเจ้าคือคนที่ provide product และ service นะ ไม่ใช่ตัวลูกค้าเป็นคนพูด ถูกไหม 

คือเวลาคนบอกว่าลูกค้าคือพระเจ้า คำนี้มันจะ valid เมื่อคนที่กำลังทำงานให้ลูกค้าเขามีทัศนคติว่าลูกค้าคือพระเจ้า เราต้องให้เขาหมด ไม่ใช่ลูกค้าเดินมาแล้วบอกว่า “เฮลโหล กูคือพระเจ้า” แบบนี้ตายนะ

ทัศนคติที่ลูกค้าคิดว่าตัวเองคือพระเจ้าส่งผลเสียยังไง

การที่คิดว่าลูกค้าคือพระเจ้ามันทำให้คุณไม่ได้งานที่ดี 

ผมเชื่อเรื่องนึงมากๆ เลยว่าเวลาเราทรีตคนยังไง เราก็จะได้ของแบบนั้นกลับมา อย่างทีมงานของผมเอง คือไม่ว่าจะเป็นตากล้อง เสื้อผ้า โลเคชั่น หรือตำแหน่งอื่นๆ ซึ่งจริงๆ ผมก็เป็นลูกค้าเขาเหมือนกัน ถ้าผมสั่งเขาว่า “ไปหาแบบนั้นมา” “ไม่สน ไม่เอา บอกว่าแบบนั้น ไม่เห็นเหมือนเลย” แสดงว่าแทนที่เราจะมี 20 สมอง เรามีสมองเดียว แล้วคนที่เหลือเป็นแรงงานหมดเลย ซึ่งถ้าคนที่เหลือเป็นแรงงานหมดเลย เราจ่ายค่าตัวคนคนนี้ สามหมื่น ห้าหมื่น แปดหมื่นเพราะอะไร ในเมื่อเราไม่ได้ใช้สมองเขา

ในทางกลับกันเราต้องฟังให้ได้เยอะที่สุด ตากล้องคิดยังไง โลเคชั่นคิดยังไง สไตล์ลิสต์คิดยังไง แล้วถ้าสไตล์ลิสต์ขัดกับแคสติ้งตรงนี้ เราที่เห็นภาพสุดท้ายถึงค่อยโผล่เข้าไปแล้วทำหน้าที่ตัดสินใจ แต่ว่าก่อนหน้านั้นหน้าที่ผมคือเมเนจให้ทุกคนพูดออกมาให้ได้เยอะที่สุด เราถึงจะได้งานที่ดีที่สุด

คือคนเราจะคิดมาสเตอร์พีซในชีวิตนึงได้สักกี่ชิ้น แต่ว่างานโฆษณามันเป็นอย่างนั้นไม่ได้ คือคุณต้องคิดมาสเตอร์พีซทุกชิ้น เท่ากับว่าเราต้องการสมองมากกว่าหนึ่ง แต่ว่ามันอยู่ที่เราว่าเราสร้างบรรยากาศให้สมองอื่นมีอิสระในการทำงานหรือเปล่า

ล่าสุดต้นปีผมทำงานกับลูกค้าเจ้านึง เป็นเจ้าที่ทำงานด้วยกันครั้งแรก ผมก็ทำงานบางอย่างไว้ หัวหน้าเขาที่เป็นเจ้าของดูแล้วก็บอกว่า “อืม มันแปลกๆ นะ มันไม่ค่อย…” ลูกน้องเขาบอกว่า “แบบนี้ดีแล้ว คุณผู้กำกับ เอาอย่างนี้” ทุกคนในห้องก็หัวเราะ 

สิ่งที่ผมคิดคือหัวหน้าคนนี้โคตรเก่ง ทำให้ลูกน้องกล้าที่จะบอกว่า “เฮ้ยพี่ ไม่เอา แบบนั้นมันแก่แล้ว” ผมนี่แบบ โอ้โห พี่ทำยังไงครับ ขอดูดสกิลนี้ได้ไหม ทำยังไงให้ทุกคนกล้าที่จะบอกเราว่าพี่อั๋นอันนั้นแก่แล้ว เชยแล้ว เพราะไดเรกเตอร์วันนึงก็ต้องเชย วันนึงก็ต้องเอาต์ วันนึงก็ต้องแก่ แต่เราชะลอมันได้นะ ไม่ใช่ด้วยครีม แต่ด้วยการที่ทุกคนกล้าบอกเราตรงๆ ว่า พี่อั๋น อันนี้มันแก่ มันเชย

แล้วคุณมีภาพชัดๆ ไหมว่าลูกค้าที่ดีเป็นยังไง

ผมว่าจริงๆ แล้วคำว่าลูกค้าที่ดีแม้แต่เอเจนซีหรือเฮาส์เองก็เข้าใจผิดนะว่าลูกค้าที่ดีคือคนที่ยอมตัวเอง ซึ่งมันก็ไม่ใช่เหมือนกัน

ผมรู้สึกว่าลูกค้าที่ดีคือคนที่เขารู้หน้าที่เขา แล้วเขารู้ว่าเขาใช้ใครอยู่ ผมว่าอันนี้สำคัญมาก (เน้นเสียง) ซึ่งหลายครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการทำโฆษณาตอนนี้มันเหมือนกับว่าคุณไปร้านโอมากาเสะแล้วคุณไปสั่งให้เขาทำข้าวกะเพราหมูไข่เจียวเหยาะน้ำปลาสองหยด คุณจ่ายราคาโอมากาเสะแต่คุณไปสั่งเขาเหมือนร้านข้าวตามสั่ง

คือในการทำงาน คุณชอบร้านไหนคุณก็แค่เข้าไปร้านนั้น แล้วคุณก็อย่าไปเปลี่ยนธรรมชาติเขา เพราะว่าผู้กำกับมันเป็นสัตว์ป่าที่ทุกคนก็มีสัญชาตญาณตัวเอง มีธรรมชาติของตัวเอง คนนี้เป็นลิง คนนี้เป็นเสือ คนนี้เป็นม้าลาย มันเก่งคนละแบบ มันไม่มีใครเก่งกว่าใคร คนชอบใช้จำนวนรางวัลที่ได้หรืออันดับมาตัดสินว่าคนนี้เก่งกว่าคนนี้ จริงๆ ไม่ใช่นะ ผู้กำกับทุกคนมันไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณอยากได้แบบไหน 

แต่ผมขอย้ำอีกที เรื่องนี้สำคัญมาก คือลูกค้าที่ดีไม่ใช่ลูกค้าที่ตามใจเรานะ เขาคือลูกค้าที่รู้ว่าเขาจะทำงานยังไง ส่วนเราแค่มีหน้าที่ทำหนัง มันเป็นเพียงเครื่องมือเดียวในมาสเตอร์แพลนของเขา เราแค่ต้องทำหน้าที่ของเราให้ฟังก์ชั่นที่สุด เพียงแต่ว่าถ้าเขาเอาแพลนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหนังแล้วมาทำให้หนังไม่ฟังก์ชั่น เราต้อง defend ผมถือว่าลูกค้าจ่ายเงินเรามารวมค่า defend ไปแล้ว คืออั๋นมึงต้องเหนื่อย เพราะว่าลูกค้าไม่รู้ เขาจ่ายเงินใช้เรา มึงมีหน้าที่ทำให้เขารู้ ซึ่งเรื่องนี้พูดมันง่ายแต่ทำมันยากมาก 

ถ้าอย่างนั้นสมมติลูกค้ารู้สึกไม่โอเคกับงาน วิธีการทำงานที่ควรจะเป็นคือยังไง

ผมขอออกตัวไว้อย่างนี้ จริงๆ เรื่องนี้ภาษาที่ใช้อธิบายมันอธิบายให้เข้าใจผิดได้ง่าย เพราะภาษามันมีข้อจำกัด 

วิธีการคือคุณต้องใช้ผู้กำกับคนนั้น แล้วเมื่อรู้ว่าไม่เวิร์ก คุณก็เปลี่ยน แล้วคุณก็ใช้คนใหม่ แล้วถ้าไม่เวิร์กก็เปลี่ยน แล้วก็ใช้คนใหม่ แล้วถ้าเวิร์กก็ใช้ต่อ จริงๆ มันซิมเปิลแค่นั้นเลยครับ

ทำไมผมถึงบอกว่าต้องใช้ แล้วไม่เวิร์กคุณค่อยเปลี่ยน เพราะคุณจะไม่มีวันรู้ว่ามันไม่เวิร์ก จนหนังโฆษณามันปล่อยไปแล้ว ก่อนที่หนังจะปล่อย ที่คุณรู้สึกว่ามันไม่เวิร์กมันเป็นเพราะมันไม่แมตช์กับรสนิยมคุณ แต่ไม่ได้แปลว่ามันไม่เวิร์กจริงๆ เหมือนเวลาคุณผ่าตัด คุณจะรู้ว่าคุณหายหรือไม่หายก็เมื่อคุณผ่าตัดเสร็จแล้ว คุณกำลังใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นที่เขามีในสิ่งที่คุณไม่มีมาทำงานชิ้นนี้ให้ อย่างตอนที่ผมทำบ้าน ผมก็คิดอย่างนี้จริงๆ นะ ผม interrupt อินทีเรียร์ผมน้อยมาก แล้วผลออกมาบ้านผมก็สวย คอนโดผมก็สวย ถ้าผมไปยุ่งมากมันจะไม่สวยเท่านี้ เขามีแกรมมาร์ของเขาว่ากำแพงนี้มันต้องห่างกันเท่าไหร่ ถ้าผมไปยุ่งมันจะเละ

ซึ่งผมรู้ว่าในความเป็นจริงในการทำงานเราทำไม่ได้ขนาดนั้นหรอก แต่อย่างน้อย สิ่งนึงที่ลูกค้าทำได้ก็คือคุณสื่อสารกับคนทำว่า ตอนนี้คุณรู้สึกไม่คอมฟอร์ตแล้วนะ คุณรู้สึกว่ามันอาจจะผิด แล้วผู้กำกับคุณมีความคิดเห็นยังไง เอเจนซีคุณมีความคิดเห็นยังไง คือลูกค้าที่เก่งเขาจะพูดว่าไม่ต้องเปลี่ยนตามที่ฉันพูดนะ เขาจะบอกแค่ว่าตอนนี้ฉันรู้สึกแบบนี้ มันผิดปกติไหม หรือฉันคิดไปเอง หรือไม่ควรจะกังวลเรื่องนี้แล้ว พอลูกค้าพูดประโยคเหล่านี้ผมรู้เลยว่าคนนี้เก่ง เขารู้วิธีทำงานกับคน

ตรงนี้พอถอยกลับมาที่ลูกค้า แล้วถามว่าการที่ลูกค้าไม่รู้ว่ากำลังเข้าร้านโอมากาเสะหรือร้านแบบไหนลูกค้าผิดไหม ก็ไม่ผิด เพราะเขาดูไม่ออก จริงๆ คนที่ดูโชว์รีล (showreel–ผลงานวิดีโอที่ผ่านมา) ของผู้กำกับแต่ละคนเพื่อตัดสินใจแล้วเลือกเป็นมีน้อยมากนะครับ แม้กระทั่งระดับเอเจนซีเองก็ตาม คือการดูโชว์รีลเป็นสิ่งที่ต้องเทรน ผมใช้เวลานานมากกว่าผมจะดูโชว์รีลเป็นว่าผมต้องดูอะไรจากหนังเรื่องนี้

เวลาเราดูโชว์รีลผู้กำกับ เราซื้อ decision เขานะ เราไม่ได้ซื้อหนังเรื่องที่เราดู หนังเรื่องนั้นมันเป็นของคนอื่นไปแล้ว มันเป็นของแบรนด์อื่นไปแล้ว มันไม่ใช่ของคุณ คุณซื้อ decision ของผู้กำกับ ถ้าคุณจะซื้อสไตลิสต์ คุณก็ซื้อ decision ของการบาลานซ์ภาพรวมทั้งหนัง ไม่ใช่ชุดใดชุดหนึ่ง

ประเด็นมันคือ Put the right man on the right job. เข้าร้านอาหารให้ถูกร้าน เพราะถ้าคุณเลือกร้านผิดมันจะเจ็บปวดกันไปหมดเลย สมมติพอเป็นเชฟเทเบิลถ้าวันนั้นคุณไม่ได้มาเขาก็รับคนอื่นไปแล้ว คนที่เขารู้ว่าเขามาร้านเชฟเทเบิลเพื่ออะไร ฟังแบบนี้มันดูหยาบ แต่ว่าถ้าเราเห็นภาพ ปัญหาคือแค่คุณไม่รู้ว่าคุณกำลังเข้าไปร้านอาหารแบบไหน

แล้วคุณมีวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำงานกับลูกค้ายังไง

สำหรับผมมี 3 ข้อ

ข้อหนึ่งคืออธิบาย ผมทำอย่างนี้ตั้งแต่ปีแรกเลย จนเอเจนซีบางคนเขาบอกผมว่า อั๋นไม่ต้องอธิบายหรอก ช่างเขาเถอะ ลูกค้าไม่เข้าใจหรอก แต่ผมบอกว่า “ไม่ได้ ผมต้องอธิบาย” คือพออธิบายมันก็เป็นจริงอย่างที่เอเจนซีบอกนะครับว่า ลูกค้าไม่เข้าใจจริงๆ แล้วลูกค้าก็บอกว่า “คุณอั๋นคิดเยอะไปหรือเปล่า” แต่ที่ผมต้องอธิบายเพราะสมมติผมขายสักสิบ ถ้าผมไม่อธิบายมันอาจจะรอดแค่สาม แต่ถ้าผมอธิบายมันอาจจะรอดสักห้า คือเรา aim high ถ้าเราไม่อธิบาย สิ่งที่เหลือรอดมาในงานนั้นจะน้อยกว่านี้นะ

แล้วเมื่อคุณอายุมากขึ้น คุณมีงานเยอะขึ้น แล้วงานคุณ success เยอะเท่าไหร่ คุณจะไม่ต้องอธิบายมากเท่าเดิม คือถ้าถามว่าความยากของลูกค้าในปีแรกกับความยากของลูกค้าในปีนี้ ก็ต้องยอมรับว่าไม่เหมือนกัน เพราะว่าเรามี success case เยอะ พอ success case เยอะ ลูกค้าเริ่มจะไม่ตั้งคำถามต่อเรา พอเริ่มจะไม่ตั้งคำถาม เราก็ไม่ต้องอธิบายในจุดที่มันไม่จำเป็นต้องอธิบาย แต่ถามว่าการที่เราไม่ต้องอธิบายในวันนี้มันเกิดขึ้นจากอะไร มันก็เกิดจากตั้งแต่ผมเป็นผู้กำกับเรื่องแรกเมื่อมกราคมปี 2011 ผมได้อธิบายไว้เยอะมากแล้ว เพื่อทำให้งานมันค่อยๆ เล็ดลอด เล็ดลอด เล็ดลอด จนเพิ่งมา 3-4 ปีหลังนี้เองที่ผมรู้สึกว่าลูกค้าก็ฟังเรามากขึ้น

ข้อแรกคืออธิบาย ข้อถัดมาคือเราต้องมีโชว์รีลที่ดี และข้อสุดท้าย เราต้องไม่รับงานที่ไม่เหมาะกับเราด้วย คือตรงนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุดของคนทำงาน เพราะเงินมันกองอยู่ตรงหน้า คุณจะปฏิเสธเงิน 4 ล้านไหม แต่ผมทำเป็นปกติมาก คือสมมติจ็อบนี้ 8 ล้าน อีกจ็อบนึง 2 ล้าน บ่อยครั้งมากผมเลือก 2 ล้าน เพราะรู้ว่าลูกค้าคนนี้เราทำด้วยแล้วเราไม่เจ็บปวด แล้วบอกได้เลยว่าผม calibrate ตัวเองไม่เป็น ผมยั้งตัวเองไม่เป็นว่า 2 ล้านแล้วเราจะไม่คิด 2 ล้านกูก็คิดเท่า 120 ล้านนั่นแหละ แต่ที่เลือกลูกค้าคนนี้เพราะเขาสนุกกับเรา เขารู้ว่าเขาจะใช้เราทำอะไร คือเวลาคนเป็นปากกาแล้วมันถูกใช้ในฟังก์ชั่นแบบปากกามันมีความสุขนะ

แต่ทีนี้พอถอยกลับมาที่ผมบอกว่า เราต้องไม่รับบางงานถ้ามันไม่เหมาะกับเรา ต้องปฏิเสธงานแม้ว่าเงินมันจะเยอะมากก็ตาม ตรงนี้มันก็จะเป็นเรื่องเดียวกับคำถามที่ว่าเราจะต้องเถียงหรือไม่เถียงลูกค้าด้วย แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าถ้าเราอธิบายลูกค้าด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงๆ เราหวังดีกับเขาจริงๆ มันต้องเข้าบ้างแหละวะ คือถ้าไม่เข้าเลย สมมติเราพูดสักสิบแล้วไม่เข้าเลยหรือเข้าแค่หนึ่ง ก็แสดงว่าเราทำบุญกันมาแค่นี้ นี่คือจ็อบสุดท้ายระหว่างเรา

แล้วระหว่างทางคุณจัดการยังไง

ส่วนมากเลยที่ต้องไปตีกันคือหลังจากที่เริ่มถ่ายไปแล้ว มันเหมือนสมมติผมเป็นผู้หญิงแล้วมีผู้ชายคนนึงมาจีบ แล้วเขาบอกว่าเขาชอบผมมาก เขาชอบทุกอย่างที่ผมทำเลย ผมเลยบอกเขาว่า “งั้นถ้าเราแต่งงานกัน ผมจะทำแบบนี้นะ” เขาก็บอกว่า “นั่นแหละคือผู้หญิงในฝันเลย’ แต่พอแต่งงานกันปุ๊บ โอ้โห คุณเปลี่ยนผมยับเลย คือตรงนั้นก็เป็นหน้าที่ผมที่ต้องไฟต์เพื่อสิทธิของตัวเอง คือมันแต่งงานและมีลูกด้วยกันแล้ว มันถ่ายไปแล้ว ลูกคลอดมาเป็นแบเบาะแล้ว ผมก็ต้องปกป้องเด็กคนนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ แล้วหลังจากนั้นเราค่อยหย่ากัน แต่กูเอาลูกกูโตก่อน เหมือนสัญชาตญาณความเป็นแม่เลยครับ คืองานมันเหมือนลูกผมจริงๆ เวลาคุณเป็นแม่แล้วคุณมีลูก คุณจะ protect ลูกอย่างสุดความสามารถ

ในมุมนี้ลูกค้าเขาก็อาจมองว่างานคือลูกเขาเหมือนกันหรือเปล่า

จริงๆ มันก็เป็นลูกทุกคนนะ แต่ว่าเราคิดว่านี่เป็น process ที่เป็นหน้าที่เรา คือมันเป็นสิ่งที่เราถูกมอบหมายให้รับผิดชอบ สิ่งนี้ถ้าเป็นสังคมฝรั่งเขาจะมาแทรกแซงน้อย แต่เขาจะใช้วิธีตัดหัว หมายความว่าไดเรกเตอร์คนนี้ไม่เวิร์ก มึงออกไปเลย กูเปลี่ยนไดเรกเตอร์ใหม่เข้ามา ซึ่งผมแฮปปี้นะ อย่างนี้ดีกว่า คุณตัดหัวผมเลย ถ้าผมดื้อไป ถ้าผมเห็นหนังไม่เหมือนคุณ ถ้าผมกำลังจะทำให้แบรนด์คุณพินาศ คุณมีสิทธิที่จะบอกว่า กูไล่มึงออก แล้วเอาคนอื่นมากำกับแทน ผมแฮปปี้เลยนะครับ เพราะผมรู้สึกว่าแฟร์

แต่เวลาที่คุณบอกว่า “คุณอั๋นกำกับให้หน่อย ทำให้หน่อย แต่ช่วยให้นักแสดงเล่นแบบนี้ได้ไหม ช่วยให้เขาหมุนตัวแบบนี้ได้ไหม” แต่ในโลกของผมนักแสดงไม่หมุนตัวไง แล้วผมก็ไม่รู้มันเป็นคีย์หรือเปล่า แต่มันเป็นส่วนนึงที่ทำให้หนังของผมมีกลุ่มคนที่เขาชอบอยู่ และคนในหนังของผมจะไม่มีอาการแบบที่คุณอยากให้ทำ เพราะมันเป็นอาการที่ผมไม่ชอบคนที่เป็นแบบนั้น ซึ่งอันนี้มันอยู่ที่ว่าถ้ามันเป็นพื้นที่ที่ผมต้องรับผิดชอบ ผมควรจะต้องรับผิดชอบมันจริงๆ

แต่ว่าผมเข้าใจอยู่แล้วนะครับ คือผมทำโฆษณามาจะ 20 ปีแล้ว ผมรู้จริงๆ ว่าโฆษณามันไม่ใช่หนังของผู้กำกับ มันไม่ใช่หนังใหญ่ มันไม่ใช่ short film มันคือหนังที่เป็นเครื่องมือของมาร์เก็ตติ้ง แล้วผมชอบโฆษณามาก ผมชอบโฆษณาแบบหมดหัวใจเลย ผมเองก็ไม่อยากได้หนังสนุกที่มันไม่เวิร์กนะเว้ย 

ผมเป็นคนโฆษณา ผมไม่ใช่คนทำหนังด้วยซ้ำ คือผมเป็น genre โฆษณาจริงๆ ถ้าคุณใช้ผมอย่ากลัวว่าผมจะมาหลอกเงินคุณทำหนัง มันไม่มี ผมแอนตี้เรื่องนั้นมาก รับรองว่าผมทำโฆษณาอยู่ แต่อย่าบอกว่าผมต้องเลี้ยงบอลยังไง อย่าบอกว่าตอนไหนผมต้องเปิด คุณแค่กำหนดแผนได้ว่า “วันนี้เราจะเล่นแผนโยนบอลให้กองหน้าตัวสูงๆ แล้วมีโอกาสคุณเปิดให้ไอ้นี่โหม่งนะ” ผมทำได้ แต่อย่าบอกผมว่า “เฮ้ยอย่าใช้เท้าซ้ายนะ” “เฮ้ยตอนวิ่งอย่ากางแขนได้ไหม” เรื่องนั้นคุณต้องปล่อยผม เพราะว่าไม่อย่างนั้นคุณจะได้ผมที่มีประสิทธิภาพเหมือนเด็กเลย แล้วคุณจะไม่คุ้มเอง

แต่ในทุกงานคุณก็จะทำงานนั้นจนจบใช่ไหม ไม่บอกเลิกกลางคัน

ผมมีไทม์ไลน์ของผม ถ้าเลยเส้นนี้ผมไม่เลิก ผมจะอยู่ไฟต์กับคุณจนจบ แต่มันจะมีช่วงแรกๆ ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของงานที่แบบถ้าเราแหย่เข้าไปแล้วเรารู้สึกว่าอย่าเลยว่ะ ก็จะบอกเขาตรงๆ ว่า “ผมว่าผมไม่เหมาะ อย่าใช้ผมเลย ผมแนะนำคนอื่นให้ได้” 

ผมแนะนำคนอื่นบ่อยมากนะครับ มีน้องชายผมที่เป็นลูกพี่ลูกน้อง สนิทกันมาก เขาจะทำหนัง ผมบอกเขาว่าใช้ Salmon House เลย เพราะโจทย์มันเหมาะกับเขา ผมบอกเขาอย่างนี้จริงๆ นะ “อย่าใช้เฮีย เฮียไม่เวิร์ก” แล้วผมบอกเขาว่า “พร้อมเมื่อไหร่ไปคุย แต่ถ้าใช้ที่นี่อย่าเสือกไปบังคับเขานะ” อันนี้คือที่ผมทิ้งพินัยกรรมไว้ (หัวเราะ) ผมบอกเขาไว้แบบนี้ เพราะงานของ Salmon House จะดีที่สุดเมื่อมีอิสระ ผมก็บอกน้องผมอย่างนี้ เขาก็โอเค

คือการที่เราสามารถบอกลูกค้าเราได้ว่า เฮ้ย ผมไม่เหมาะ ไปใช้คนนั้นคนนี้คนโน้นเถอะ ผมแฮปปี้กว่า

ทุกวันนี้คุณมีลูกค้าที่ยังทำงานด้วยกันต่อเนื่องเยอะไหม

เอาจริงๆ โฆษณามันน่าเศร้าตรงที่คุณทำให้ดีให้ตายคุณก็ไม่ดังนะ มันไม่เหมือนหนังใหญ่ มันไม่เหมือนมิวสิกวิดีโอ มันไม่มีใคร give a shit ว่าคุณเป็นใคร คือคุณต้องรักมันจริงๆ คุณถึงทำนะ แล้วเวลาคุณ success จ็อบนี้ จ็อบหน้าคุณก็เริ่มนับหนึ่งใหม่อยู่ดี เพราะคุณไม่ได้ต่อยอดจากของเดิม นอกจากลูกค้าใช้ซ้ำ พอลูกค้าใช้ซ้ำมันก็เป็นความกดดันอีกว่ากูต้องทำให้ดีกว่าเดิม คือผมก็จะมีลูกค้า 2-3 รายที่เขาใช้ซ้ำ เป็นลูกค้าที่จูนกันมาจนแบบโอเค รู้มือกันแล้ว เราไม่ต้องคุยกันถึงเรื่องไร้สาระในห้องประชุมเลย การประชุมเฮฮามาก สบายใจมาก พูดเล่นกันได้เพราะเขาทรีตผมเป็นทีม ไม่ได้ทรีตผมเป็นขี้ข้า

คือลูกค้าแก๊งนี้จะเป็นลูกค้าที่บางคนก็มีตำแหน่งใหญ่มากเลยนะ แต่เขารู้ว่าเขาต้องทำงานกับคนยังไง เขาไม่ได้ทำงานกับซัพพลายเออร์ เขาทำงานกับเพื่อน และมันทำให้ผมกล้าแซวเขา กล้าปล่อยมุก กล้าพูดว่า “เฮ้ย ลองอันนี้ ผมรู้นะว่าฟังแล้วมันอาจจะแปลกๆ แต่ลองอันนี้ อันนี้เด็ดจริง” 

ผมสามารถบอกเขาได้ว่าอันไหนเด็ด แล้วเขาก็จะสนใจสิ่งที่เราเสนอ แต่ลองผมไปพูดกับลูกค้ารายอื่นสิว่า “เลือกทางนี้สิครับ มันเด็ดจริง” เขาคงด่ากลับมา นึกออกไหมครับ เพราะเราไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์กัน เพราะว่าคุณใช้วิธีสั่ง คุณทิ้งใบสั่งไว้ 1-8 จงทำตามนี้

แสดงว่าความสัมพันธ์สำคัญกับงานที่คุณทำ

สำคัญครับ พูดแล้วมันดูไม่โปรเฟสชันนอลเลย แต่จริงๆ ความสัมพันธ์ที่ว่านี้ผมไม่ได้เลือกว่าคนนี้รู้จัก เลยให้ของดี ไม่ใช่นะ เพราะว่าผมตั้งใจไว้แล้วว่ากระสุนทุกนัดที่เรายิง มันต้องใกล้เป้าที่สุด เพราะฉะนั้นผมมีของดีผมยัดทุกงานอยู่แล้ว แต่ประเด็นก็คือ คำว่าของดีมันจะมีเรื่องของความเหมาะสมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรารู้อยู่แล้วว่าลูกค้าไทป์นี้เขา approve งานอีกแบบนึงไม่เป็น เราจะไปเสียเวลากับเขาทำไม ถามว่ามันเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่เขาจะเลือกได้ใช่ไหม มันก็ใช่ แต่ว่าถ้าเขาทำให้เรารู้สึกว่าเขาโอเพ่นจริงๆ เราจะรู้สึกเลยว่ามันมี potential ที่เราจะใส่ creativity ของเราลงไป ซึ่งนั่นคือมูลค่าจริงของเราที่เขาจ่ายเงินจ้าง


Good Client of FACTORY01
“เขาไม่ได้แค่เปิดประตู แต่เขาพังกำแพงทิ้งไปเลย”

รวิศรา จิราธิวัฒน์
ประธานบริหารฝ่ายการตลาด
บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ บริษัท โรบินสัน จำกัด (มหาชน) ในเครือเซ็นทรัล รีเทล

ลูกค้าคนนี้ชื่อคุณเท็น (รวิศรา จิราธิวัฒน์) ผมว่าเขาเป็นคนมี vision มีวิธีการคุยกับคน มีวิธีการใช้คน ซึ่งไม่ใช่ในความหมายว่าเป็นคนตลก เฮฮา คุยสนุก นะครับ มันคนละเรื่องกัน แต่ผมว่าเขาเป็นคนที่เปิดทางให้ทุกคนทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ 

“ถ้าเราลองมาวิเคราะห์งาน Central Midnight Sale ที่เรารับโจทย์มามันเป็นงานอีเวนต์ ไม่ใช่โปรดักต์  หมายความว่า budget ที่เอามาทำหนังมันน้อยอยู่แล้ว ประเด็นคือหนังของ Central Midnight Sale เป็นหนังเรื่องนึงที่โปรดักชั่นค่อนข้างดู rich ซึ่งถ้าเป็นลูกค้าทั่วไปจะทำโปรดักชั่นเลเวลนี้ ผมว่าใช้เงินอีกเท่านึง เพราะมันจะมีเงินที่ต้องตกหล่นไปกับกระบวนการต่างๆ เยอะ เช่น ปกติเวลา pre-pro ต้องมีตัวแสดงมาให้เลือก ต้องมีเสื้อผ้ามาให้เลือก เวลาฟิตติ้งก็ต้องใส่เสื้อผ้าหลายๆ แบบ ลองรองเท้าหลายๆ คู่ แต่งานนี้ผมเลือกแบบสตรองชอยส์ได้เลย คือมันไม่ต้องเผื่อเลือกเพราะว่าลูกค้าเขาไว้ใจเรา เขาเลือกเราจากงานที่เราทำอยู่แล้ว

“เวลาเราทำงานมันสัมพันธ์กันเสมอ ถ้าเวลาเยอะคุณก็จะได้ของดี แต่ถ้าเวลาน้อยคุณก็ต้องเอาเงินฟาด เพื่อเอาคนจำนวนมากมาช่วยกันทำ แล้วถ้าผมใช้เงินไปกับการเตรียมตัวเยอะ ผมก็มีเงินไปทำ post production น้อยลง คือมันสัมพันธ์กันหมดเลย

“อย่างที่บอกว่า budget มันจำกัด แต่มันเป็นไปได้เพราะลูกค้าเชื่อใจเรา ตัวแสดงผมแคสต์น้อยมาก บางเรื่องที่ผมทำกับเขาผมไม่แคสต์เลย บางเรื่องผมบอกลูกค้าว่า ผมใช้คนนี้เลยนะครับ แล้วผมบอกเขาว่าชุดนี้ผมทำชุดเดียวเลยนะ แล้วลองคิดง่ายๆ แทนที่เราจะเอาเงินไปลงกับชุด 8 ชุด เราเอาเงินมาลงกับชุดชุดเดียว cost efficiency สูงมากนะ 

“แล้วผมเพิ่งรู้มาไม่นานว่าคุณเท็นเขาอายุเท่าผม แต่การตัดสินใจของเขานี่ โอ้โห… คือผมเชื่อว่า ไม่ว่าใครทำงานกับคนคนนี้คุณจะไม่มีทางปล่อยให้เขาได้งานที่ไม่ดีจริงๆ ยกตัวอย่างเหตุการณ์นึง วันนั้นผมไปขายงาน Central Midnight Sale ที่เป็นรถแยกกับคุณเท็นและทีมนี่แหละ ผมเล่าหนังจนจบตบด้วยคำว่า ‘Shop Unfriend’ ซึ่งคำว่า Shop Unfriend มันผิดแกรมมาร์ ผมรู้อยู่แล้วว่ามันผิด ซึ่งอันนี้มันก็ต้องไปพาดพิงถึงเรื่อง copywriting ด้วย การเขียนก๊อบปี้คนมักเข้าใจว่ามันต้องเขียนถูกต้อง ไม่ใช่นะครับ ต่อให้คุณสะกดผิดแต่มันได้อารมณ์ มันก็คือสิ่งที่ต้องทำ ความแพงของก๊อบปี้อยู่ตรงนั้น decision ของก๊อบปี้ฯ ที่เก่งคือคนที่รู้ว่าต้องเลือกใช้คำอะไร เรียงต่อกับอะไร แล้วเว้นวรรคหรือไม่เว้นวรรค แล้วต้องใช้เสียงแบบไหน นี่คือก๊อบปี้ฯ ที่เก่ง คำนั้นมันได้อารมณ์หรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เป็นเมจิกของมนุษย์

“ตอนแรกมีคนติดว่า “เอ๊ะ อันนี้มันผิดแกรมมาร์นี่ครับ” ผมก็โอเค แต่ทีมนี้เป็นทีมลูกค้าที่น่ารัก ผมก็พร้อมอธิบายอยู่แล้ว ในขณะที่กำลังจะอ้าปากอธิบายว่า แกรมมาร์เป็น priority สุดท้าย อย่าง Apple ที่ใช้ Think Different ก็ผิดแกรมมาร์ เขาไม่ใช่ Think Differently เพราะซาวนด์เพอร์เฟกต์กว่า เฟิร์มกว่า แค่นั้น เป็น logic ของอารมณ์ เพราะฉะนั้นผมกำลังจะบอกเขาว่าจริงๆ Shop Unfriend มันเฟิร์มที่สุดที่คำนี้แล้ว แต่ผมยังไม่ได้พูดอะไรเลย แค่สูดหายใจเข้ากำลังจะพูด ลูกค้าคนนี้ก็บอกว่า ‘อันนี้ดีแล้ว มันควรจะเป็นแบบนี้แหละ’

“พอเขาพูดประโยคนี้ผมรู้เลยว่า คนคนนี้รู้ว่าอะไรคือของดี รู้ด้วยสัญชาตญาณของเขาเลย เขาอาจจะอธิบายไม่ได้ เขาแค่แบบมันต้องเป็นแบบนี้ หรือมองอีกมุมนึง เขาอาจจะไม่รู้ก็ได้นะ แต่เขาเชื่อเรา แต่ผมเชื่อว่าเขารู้ เพราะว่าเขาไม่ได้ฟังผมอธิบายด้วยซ้ำ

“แล้วกับงานล่าสุด เขาเป็นลูกค้าที่ผมเอาของดีที่สุด เอาทีมเอแล้วใส่ทุกอย่างลงไปในนี้ แล้วเขาเป็นคนแรกที่มองออก แล้วเขาก็จะบอกผมว่าตรงนี้ไม่ต้องแตะ ตรงนี้ดีอยู่แล้ว ซึ่งพอเป็นแบบนี้ คำถามคือครั้งหน้าเราจะเอางานประเภทไหนไปขายเขา มันจบแล้ว

“กับลูกค้าอีกแบบ ผมเคยทำ shooting board จ้าง visualizer วาด ลูกค้าเจ้านั้นคอมเมนต์ว่าไม่ชอบทรงผม ไม่ชอบเสื้อ ผมต้องบอกว่า เดี๋ยวครับ ใจเย็นๆ อันนี้คือ visualizer เขาวาดบอร์ดมา เขาอาจจะไม่ใช่คนสนใจแฟชั่น ผู้ชายเขาก็วาดใส่เสื้อลายสก็อต ผมยุ่งๆ คือเขาแค่วาดให้ดูรู้ว่าเป็นผู้ชาย ลูกค้าคอมเมนต์ผม คอมเมนต์เสื้อแล้ว แล้วในกระบวนการต่อไป คิดว่าเราจะเอาเสื้อแบบไหนไปขายเขา คือเขาปิดประตูจำนวนมากในคอมเมนต์เดียว 

“ในขณะที่คุณเท็น เขาไม่ได้แค่เปิดประตูนะ แต่เขาพังกำแพงทิ้งไปเลย เราอยู่ในที่โล่งเลย คุณอั๋นลุย ความเป็นไปได้มหาศาล

“เขาแค่พูดว่า ‘โอเค อันนี้ดีแล้ว ไปต่อ’ มันประหยัดเวลาชีวิตของคน 20 คน แล้วได้งานที่ดีที่สุด จ่ายเงินน้อยที่สุด แล้วคือเขาไม่ได้จับกล้องนะ เขาไม่ได้เลือกเสื้อผ้านะ แต่เขาเมเนจให้เกิดงานที่ดีที่สุด โดยที่เขาไม่ต้องเลือกอะไรเลย เขาเลือกอย่างเดียว คือเลือกใครมาทำ ซึ่งมันเมคเซนส์มากๆ เขามีเรื่องอีกพันเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ทำไมต้องมานั่งเลือกเมคอัพตัวแสดง

“ผมถึงบอกเสมอว่าลูกค้าเขากำกับเรา อย่างที่เห็นผมโพสต์ในเฟซบุ๊กบ่อยๆ ผมหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ นะ งานมันจะดีได้ อยู่ที่คน approve มันไม่ได้อยู่ที่คนทำอย่างเดียว”