READING IS EVERYWHERE

คุยกับ รวิวร มะหะสิทธิ์ พ่อบ้านแห่ง readAwrite เรื่องการเติบโตของเว็บอ่านเขียนนิยายออนไลน์

นอกจากความสะดวกสบายของนิยายออนไลน์ที่ทำให้คนเข้าถึงการอ่านได้ทุกที่ทุกเวลาแล้ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดาหนังสือนิยายที่เรียงรายอยู่บนชั้นตามร้านหนังสือเชนสโตร์ล้วนเป็นผลงานที่เคยลงออนไลน์มาก่อน เมื่อมันกลายเป็นรูปเล่มที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งส่วนหนึ่งมักถูกนำไปดัดแปลงเป็นซีรีส์ด้วย ก็ทำให้มีแฟนคลับมากมายตามมาสนับสนุนจนยอดขายปังไม่หยุด

สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเลยว่านี่คือยุคที่นิยายออนไลน์ผลิบานเต็มที่

ด้วยความสนใจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอ่านการเขียน เราจึงนัดคุยกับ ‘readAwrite’ แพลตฟอร์มอ่านเขียนนิยายออนไลน์ที่กำลังได้รับความนิยมและคำชมจากทั้งนักเขียนและนักอ่านว่าเป็นเว็บไซต์ที่ใช้งานง่าย เป็นมิตร และที่สำคัญคือสร้างรายได้ที่เป็นรูปธรรมให้จริงจากระบบติดเหรียญและโดเนต

แม้จะเพิ่งก่อตั้งเมื่อปี 2017 แต่ ‘ไช้—รวิวร มะหะสิทธิ์’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือ ‘พ่อบ้าน’ ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้าง readAwrite ไม่ใช่มือใหม่ทั้งในวงการหนังสือออนไลน์และการอ่าน เขาคือผู้ร่วมก่อตั้ง ‘meb’ สตาร์ทอัพร้านค้าอีบุ๊กอันดับต้นๆ ในเมืองไทย รวมถึงยังเป็นอดีตเจ้าของสำนักพิมพ์เล็กๆ แห่งหนึ่ง และยังเป็นนักอ่านที่ยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงเสมอมา

เราชวนรวิวรมานั่งสนทนาย้อนไปก่อนวันแรกที่จะเริ่มต้นทำ readAwrite วิธีการสร้างบ้านแห่งความสบายใจให้นักเขียนและนักอ่าน เทรนด์การอ่านในปี 2022 ไปจนถึงทิศทางของเว็บอ่านเขียนนิยายออนไลน์

RE-CAP

คนเขียน คนอ่าน คนทำหนังสือ

ปัจจุบัน readAwrite มีนิยายออนไลน์อยู่ในแพลตฟอร์มกว่า 100,000 เรื่อง ตัวเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นแบ่งออกเป็นหลากหลายหมวดจึงสามารถรองรับงานเขียนได้ทุกแนว ตั้งแต่รักโรแมนติก ดราม่า แฟนตาซี ไซไฟ ลึกลับสยองขวัญ ไปจนถึงกำลังภายในและจีนโบราณ ครอบคลุมเรื่องความหลากหลายทางเพศ มีทั้งคู่รักชาย-หญิง บอยเลิฟ (Yaoi) และเกิร์ลเลิฟ (Yuri) อีกทั้งรูปแบบการเล่าเรื่องก็มีทั้งแบบบรรยายและนิยายแชต ซึ่งตอบโจทย์การอ่านในยุคที่ผู้คนนิยมใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเป็นหลัก

เมื่อชวนคุยถึงจุดเริ่มต้นของ readAwrite รวิวรก็พาเราขึ้นไทม์แมชชีนย้อนเวลาไปไกลกว่าปี 2017 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งของ readAwrite 

ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นราว 20 ปีก่อน ตอนที่เขาลงมือลงแรงทำสำนักพิมพ์ ASK Media สำนักพิมพ์เล็กๆ ที่พิมพ์งานแนวไซ-ไฟเป็นหลัก

“ข้อจำกัดที่ชัดเจนมากของคนทำหนังสือคือพื้นที่ เราจะคาดหวังให้ร้านหนังสือโชว์หนังสือทุกเล่มคงเป็นไปไม่ได้ เล่มไหนขายดีก็อยู่ในร้านได้นาน เล่มไหนความเคลื่อนไหวต่ำก็ต้องกลับมาอยู่ในคลังหนังสือของสำนักพิมพ์ มันเป็นธรรมชาติของธุรกิจ ผมเห็น pain point ตรงนี้เลยคิดว่าจะมีทางไหนไหมที่หนังสือทุกเล่มจะมีพื้นที่ของตัวเอง และไม่หายไปตามกาลเวลา”

ด้วยความที่เป็นวิศวกร มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีซอฟต์แวร์ รู้ว่าอินเทอร์เน็ตคือโลกอีกใบที่มีพื้นที่อันไร้ขีดจำกัด เขาจึงคิดได้ว่าคำตอบของโจทย์ที่กำลังแก้คือ eBooks นั่นเอง

“meb เปิดตัวในปี 2011 แต่มันไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามทันทีเลยนะ เพราะต้องยอมรับว่ามีคนเห็น pain point นี้ของคนทำหนังสือเหมือนๆ กับเรา แต่ในรายละเอียดระหว่างการเดินทางที่ยาวไกล เราค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป”

รวิวรบอกว่าความท้าทายของการทำ meb คือจะทำยังไงให้คนอ่านเชื่อว่าพวกเขาจะได้เป็นเจ้าของครอบครองสิ่งที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตได้จริงๆ

“meb ให้ความมั่นใจกับนักอ่านว่าเราคือตัวจริง และเราจะดูแลเขาไปอีกนาน การทำธุรกิจนี้ไม่มีเคล็ดลับพิเศษเลย สิ่งสำคัญคือเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ทำดี ทำสิ่งที่ควรจะเป็นให้สม่ำเสมอ และทำให้ได้นาน ผมว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้ meb มีวันนี้”

ถึงยังไงรวิวรก็มองว่าทั้งสำนักพิมพ์และ meb ในฐานะร้านค้า eBooks เป็น ‘ปลายน้ำ’ ของธุรกิจสิ่งพิมพ์ เขายังอยากจะทำ ‘ต้นน้ำ’ ซึ่งคืองานเขียนที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาให้ได้ดีด้วย 

ผลจากการตกผลึกอยู่นาน คือจุดเริ่มต้นของ readAwrite เว็บไซต์ที่จะดูแลนักเขียนตั้งแต่เริ่มลงงานตอนแรกไปจนถึงวันที่รวมเป็นเล่ม

ทำเพื่อนักเขียนและนักอ่าน

หาก meb เริ่มต้นจาก pain point ของคนทำหนังสือ readAwrite ก็เริ่มจาก pain point ของนักเขียนเช่นกัน

“สิ่งที่นักเขียนหลายคนเป็นมาโดยตลอดคือเวลาลงงานในเว็บต่างๆ แค่มีคนอ่านก็ดีใจแล้ว ยิ่งมีคนมาคอมเมนต์ว่าชอบมาก ผลงานของคุณทำให้วันแย่ๆ ของเรากลับมาดูสดใส ถ้าคุณเป็นนักเขียนคุณคงอยากจะร้องไห้เลยใช่ไหม แต่ pain point ที่สำคัญคือระหว่างทางที่เขาเขียน เขาไม่มีรายได้กับมันเลย”

คำติชม คำขอบคุณ หรือคอมเมนต์ต่างๆ ล้วนมีคุณค่ากับนักเขียน แต่รวิวรมองว่าหากเราสามารถเปลี่ยนคำพูดเหล่านั้นเป็นกาแฟเย็น หรืออะไรสักอย่างที่ทำให้นักเขียนอยู่ได้มันจะดีสักแค่ไหน ดังนั้นนอกจากจะเปิดพื้นที่ให้ลงผลงานแบบฟรีๆ แบบไม่มีโฆษณาคั่นแล้ว readAwrite ยังมีระบบโดเนต (donate) ซึ่งเป็นอีกทางเลือกให้นักอ่านได้แสดงความรู้สึกต่อนักเขียนอีกด้วย

“ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ค้ำจุนและตอบแทนนักเขียนที่อุตส่าห์ทำผลงานดีๆ ออกมาให้อ่านกัน แล้ว readAwrite หักเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งน้อยมาก เอาในระดับแค่ให้เราอยู่ได้ ที่เหลือนักเขียนรับไปเต็มๆ ผมว่านักอ่านก็อยากให้เป็นแบบนี้”

ถึงจะบอกว่าเอาในระดับแค่ให้อยู่ได้ แต่เพราะส่วนแบ่งมันน้อยมากจริงๆ จนเราอดสงสัยไม่ได้ว่า readAwrite เอาเงินจากไหนมาดูแลระบบที่มีนิยายกว่าแสนเรื่องและมีคนอ่านมากจนนับไม่ถ้วนได้

คำตอบนั้นคือระบบติดเหรียญ

เนื่องจากนักเขียนบนแพลตฟอร์มไม่ได้มีแค่คนที่ทำเป็นงานอดิเรก แต่ยังมีอีกหลายคนที่ทำเพื่อหาเลี้ยงชีพอย่างจริงจัง 

“เวลาจะลงขาย eBooks เราจะเน้นให้เขียนให้จบเล่มก่อน บางคนเขียนยาวมาก กว่าจะจบก็ตั้งหลายเดือน ซึ่งระหว่างทางที่เขาเขียน เขาก็ควรมีรายได้ที่หล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่ได้ เราเลยทำระบบขายตอนเป็นการติดเหรียญขึ้นมา”

ส่วนเหตุผลที่ readAwrite กำหนดส่วนแบ่งโดยให้นักเขียนเป็นหลัก ซึ่งมากกว่าทาง readAwrite มากๆ รวิวรบอกอย่างจริงจังว่านี่เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น เนื่องจากเขาเคยทำ meb มาก่อน จึงพอจะรู้จุดลงตัวระหว่างการแบ่งรายได้ของเว็บกับนักเขียน

“มันไม่ใช่บุญคุณหรือความยิ่งใหญ่ที่เราให้นักเขียนเท่านี้นะ แต่ผมคิดว่ามันคือความแฟร์ พอเป็นอย่างนี้ก็ทำให้มาตรฐานของวงการค่อยๆ ปรับมาอยู่ในจุดที่ทุกคนแฮปปี้ อย่างที่บอกว่าการที่เราจะดูแลเขาได้ เราต้องมีความหนักแน่นและมั่นคง

“แต่จริงๆ จะบอกว่าเราไม่ได้กำไรอะไรจาก readAwrite มากขนาดนั้นนะ ถ้าไปเทียบสัดส่วนระหว่างฟรีกับขาย มันฟรีเยอะกว่าขายแน่นอน แล้วกลุ่มผู้ใช้ก็เยอะมาก บางช่วงที่ฮิตๆ มีผลงานใหม่ๆ เราต้องใช้ทรัพยากรเซิร์ฟเวอร์หลายสิบเครื่องเลย ส่วนแบ่งรายได้ที่ได้จากการติดเหรียญหรือโดเนตก็วนกลับมาเยียวยาสิ่งนี้”

ขณะเดียวกันหากมีแต่ผลงานไม่มีคนอ่านก็คงไร้ความหมาย readAwrite จึงตั้งใจแก้ pain point ของนักอ่านด้วยการทำเว็บไซต์ให้สอดคล้องกับการอ่านบนสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต และให้นักอ่านปรับเพิ่มลดขนาดฟอนต์ได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ปล่อยออกมา รวมไปถึงการทำแอพพลิเคชั่น และสร้าง night mode เพื่อการอ่านตอนกลางคืนในเวลาต่อมา 

การปรับตัวตามพฤติกรรมผู้ใช้งานนี้ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ readAwrite มาถึงจุดนี้ที่ครองใจผู้อ่านบนโลกออนไลน์ได้สำเร็จ

หนักแน่นและมั่นคงในกฎเกณฑ์ที่วางไว้

นอกจากการดูแลระบบให้ไม่ล่มแล้ว อีกงานหลักของ readAwrite คือการดูแลสมาชิกในบ้านทั้งนักเขียนและนักอ่านให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

“ผลงานนิยายมีหลากหลายหมวด สิ่งที่ readAwrite ต้องทำคือทำให้แต่ละชิ้นอยู่ถูกที่ถูกทาง บางทีอาจจะมีนักเขียนที่ลงผิดหมวดอยู่บ้าง เอาหนังสือไปอยู่หมวดที่มีนักอ่านเยอะกว่า ถ้าเราดูแลไม่ดี ปล่อยปละละเลย มันก็จะเกิดความไร้ระเบียบ นักอ่านก็จะรู้สึกไม่สบายใจเวลาเข้ามาอ่านที่นี่ 

“ผลงานบางเรื่องควรจะจำกัดนักอ่านแค่เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ให้ใครก็ได้มานั่งอ่าน ก็ต้องจัดหมวดหมู่ เราไม่อยากบอกว่าหมวดนี้ควรหรือหมวดนี้ไม่ควรอยู่ใน readAwrite แต่ละหมวดก็จะมีเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับเขาที่แตกต่างกันออกไป” 

ในส่วนของความเหมาะสมของเนื้อหา แม้ทีมงานจะไม่สามารถอ่านนิยายทุกเรื่องที่มีบนเว็บไซต์ได้ แต่ด้วยความเข้มแข็งของคอมมิวนิตี้นักอ่าน เมื่อมีคนเห็นความไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมก็จะรายงานมาที่ระบบ จากนั้นก็จะมีทีมงานไปตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด

ส่วนประเด็นเรื่องการคัดลอกผลงาน รวิวรบอกว่าจะมีทีมงานคอยดูแลโดยไปนั่งอ่านจริงๆ เทียบดูรายละเอียดก่อนจะตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างถูกต้องและยุติธรรม

“เราต้องหนักแน่นในสิ่งที่เราเป็น ถ้าจะประกาศกฎเกณฑ์การอยู่ร่วมกัน เราก็ต้องทำให้อยู่ในจุดที่ดูแลสิ่งนั้นได้จริงๆ ไม่ใช่ทำเพื่อเลือกปฏิบัติกับใคร นักเขียนทุกคนต้องอยู่บนกฎเกณฑ์และกติกาเดียวกันจึงจะอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่ว่าหยวนๆ ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องพูดถึงในสังคมเราด้วย ถ้าสังคมใช้รูปแบบอย่างนั้นมันก็คงยุ่งเหยิงใช่ไหม”

เอาใจใส่และเติบโตไปพร้อมกัน

คุยไปคุยมาเราเริ่มสงสัยว่า readAwrite มีทีมงานกี่คนในการดูแลนิยายกว่าแสนเรื่อง

“ไม่เยอะครับ ถ้าเทียบกับลูกค้า กับนักอ่าน เรามีกันหลักสิบ ทุกคนก็ทำด้วยใจรักและทำงานหนัก บางทีปัญหามันก็ไม่เลือกวันหยุดหรือวันทำการ ซึ่งส่วนมากจะเกิดในวันหยุด (หัวเราะ) ทีมงานก็นั่งทำ นั่งดูกัน ผมก็อยู่ด้วย คอยให้คำปรึกษาให้ผ่านกันไปให้ได้

“เวลามีปัญหาต่างๆ เราจะไม่โยนความกดดันไปที่ทีมคนใดคนหนึ่ง ช่วงที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าเราดูแลตรงส่วนนี้ได้ค่อนข้างดี อย่างน้อยก็ดูแลความรู้สึกของทีมงานไม่ให้เขารับน้ำหนักหรือความกดดันของอินเทอร์เน็ตทั้งมวล ถ้าจะมีการดำเนินการใดๆ ออกไป เราจะมีการประชุมกันก่อน และถ้าจะมีฟีดแบ็กจากสิ่งนั้น นั่นคือเอกฉันท์ของ readAwrite จะต้องไม่มีใครมาเสียใจที่ตอบแบบนั้นออกไป”

PLANNER

ทิศทางการอ่านในปี 2022

รวิวรมองว่าตลาดนิยายออนไลน์ในปัจจุบันเปิดกว้างกว่าเดิมมาก ทั้งในแง่เนื้อหาที่ไม่ถูกจำกัดกรอบแนวทางผลงานให้มุ่งตอบสนองกลุ่มผู้อ่านที่เป็นกระแสหลัก เพื่อให้เอื้อต่อการจัดการพิมพ์เป็นรูปเล่มควบคู่กันไปแบบสมัยก่อน และความยาวเนื้อหาที่นักเขียนมีอิสระที่จะสร้างสรรค์ให้ยาวหรือสั้นได้ตามใจ ทำให้ผลงานมีความทันสมัยสอดคล้องกับแนวโน้ม กระแสความนิยม และสถานการณ์ของสังคมเป็นอย่างดี

“เรื่องราวความรักระหว่างหญิง-ชายถือว่าอยู่ในกระแสหลักที่ได้รับความนิยมมานาน ขณะเดียวกันความรักของคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีแนวจีนโบราณ แนวที่ปลดปล่อยจินตนาการ เกิดใหม่ในต่างโลก หรือกลับชาติมาเกิดใหม่ ที่เป็นที่พูดถึงอยู่ในช่วงนี้”

เมื่อชวนคุยถึงทิศทางการอ่านและเขียนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 รวิวรก็ให้ความเห็นว่า ในปีนี้กระแสนิยายออนไลน์จะยังได้รับแรงส่งจากสถานการณ์โรคระบาดอยู่ และแพลตฟอร์มต่างๆ จะนำเสนอแง่มุมหรือคุณสมบัติใหม่ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของประชากรอินเทอร์เน็ตให้เข้ามาอ่านผลงานอย่างต่อเนื่อง และสามารถแทรกตัวเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้รักการอ่าน

“ส่วนในแง่ของผู้สร้างสรรค์หรือที่ชาวเน็ตเรียกกันว่าฝ่ายผลิตนั้น ผมว่านักเขียนจะปรับตัวและใช้ช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ผลงาน สื่อสารกับนักอ่าน รวมถึงสามารถสร้างรายได้จากช่องทางเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้นไปอีก”

READING IS EVERYWHERE

นอกจากการเป็นแพลตฟอร์มสำหรับนักอ่านนักเขียนแล้ว readAwrite ยังเป็นจุดสนใจของสำนักพิมพ์ในแง่ที่พวกเขาจะสามารถมาหาต้นฉบับจำนวนมหาศาลในคลังได้ ดังนั้นสิ่งที่ readAwrite ต้องทำอยู่เสมอคือการแสดงระบบข้อมูลที่ถูกต้องและแฟร์กับนักเขียนทุกคน เพื่อให้ทางคนอ่านหรือสำนักพิมพ์สามารถนำไปพิจารณาได้ตามความต้องการ

อีกทั้งรวิวรยังเชื่อว่าในยุคที่สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และอินเทอร์เน็ต สามารถดึงเวลาในชีวิตคนเราไปได้เยอะมาก การมีอยู่ของ eBooks หรือ readAwrite จึงยังทำให้การอ่านมีพื้นที่อยู่ในฝ่ามือของคนได้อยู่ และเชื่อว่าหากวันหนึ่งมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ถ้าพวกเขายังคงเอาใจใส่อยู่เรื่อยๆ readAwrite และ meb ก็คงปรับตัวตามไปอยู่กับสิ่งนั้น

“ถ้าพูดถึงแค่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผมว่า readAwrite ก็มาถึงเกินจุดที่คาดหวังในอดีตมาเยอะแล้ว ตอนแรกผมคิดว่าเราอยากเป็นสังคมน่ารักๆ ที่เป็นทางเลือกหนึ่งของนักเขียนนักอ่าน แต่ตอนนี้เขาเลือกเราเป็นฐานหลัก ก็ถือว่ามาไกลกว่าเดิมมากๆ 

“สิ่งที่ทำต่อไปคือการหาอะไรใหม่ๆ หรือหาวิธีดูแลนักเขียนให้ดีขึ้น ในบางเรื่องเราก็เป็นผู้นำในการวางมาตรฐานของอุตสาหกรรมเหมือนกัน เช่น บางคอนเทนต์ที่นักเขียนอยากจำกัดคนอ่าน เราก็มีระบบตรวจอายุด้วยการส่งสำเนาบัตรประชาชนที่ตรวจสอบได้จริง 

“ในอนาคตถ้ามีรูปแบบการอ่านใหม่ๆ ก็จะได้เจอใน readAwrite แน่นอน และผมคิดว่านักเขียนนักอ่านก็คงจะมีความสุขกับมัน”


3 สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจหนังสือและการอ่านไปต่อได้อย่างยั่งยืน

1. เข้าใจความเปลี่ยนแปลง

พฤติกรรมนักอ่านยุคใหม่กำลังเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เว็บอ่านออนไลน์และ eBooks คืออาวุธใหม่ของคนทำหนังสือ

2. เอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ

ทำในสิ่งที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการคือสิ่งสำคัญ

3. หนักแน่นในกฎเกณฑ์ที่วางไว้

ตระหนักและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้อย่างเป็นระเบียบ เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมอย่างเท่าเทียมกัน

Tagged:

Writer

นักอ่าน นักเขียน นักตีป้อม

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like