967
January 20, 2022

100 Capital 100 Entrepreneurs EP.2

100 ทุนสำคัญในชีวิตของผู้ประกอบการและตัวแทนธุรกิจ 100 คน EP.2

สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจคือ ‘ทุน’ หากแต่ทุนที่สำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจและทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องเงินเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงทุนอื่นๆ ที่เราสั่งสมมาในชีวิต แต่ละคนก็แตกต่างกันไป

ด้วยความอยากรู้ว่าทุนที่ว่ามีอะไรบ้าง เราจึงตั้งใจถาม 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ หลากหลายหมวดและขนาด ด้วยคำถามเดียวกัน

“อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้”

ในตำราอาจมีนิยามของคำว่าทุนกำกับไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เมื่อได้พูดคุยกับคน 100 คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกธุรกิจ คำตอบที่ได้กลับหลากหลาย

บางคำตอบก็ตรงไปตรงมา ในขณะที่บางคำตอบก็ไม่มีตำราเล่มใดเขียนกำกับไว้ บางคำตอบเป็นทุนสำคัญที่ใครหลายคนเห็นตรงกัน ในขณะที่บางคำตอบก็เฉพาะตัวตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน

ท่ามกลางคำตอบมากมาย เราคล้ายได้ค้นพบสิ่งสำคัญที่ควรให้ค่าในการทำธุรกิจ และชวนให้เรากลับมาทบทวนสิ่งเหล่านั้นในชีวิตของตัวเอง

นาเคนทร์ พุฒิกุลางกูร
Founder, Akirart

“ทุนของเราคือความซน ตอนที่เปิดร้านแรกบนชั้น 3 ของตึกออฟฟิศเก่าของที่บ้าน ใช้แผ่นฟลอปปี้ดิสก์เป็นที่รองแก้ว ที่นั่งที่แปลนเหมือนโต๊ะทำงานหรือทางเข้าร้านใหม่ที่เปิดประตูมาแล้วเจอบันไดเลย ไม่มีอะไรปกติ ทุกอย่างซนหมดเลย เราแค่อยากทำอะไรที่สนุกไปเรื่อยๆ และหวังว่ามันจะเป็นที่จดจำ”

ลีลานันทน์ รณเกียรติ
ผู้ก่อตั้งและนักออกแบบ Aprilpoolday

“ทุนที่สำคัญของ Aprilpoolday คือความหลงใหลที่เรามีต่อการออกแบบโดยเฉพาะชุดว่ายน้ำ นอกจากนี้เรายังชอบเดินทาง รักศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี ชอบ ทำกิจกรรมทางน้ำ ชอบแต่งตัว ชอบลองทำอะไรใหม่ๆ และอื่นๆ  

“Aprilpoolday ก็คือพื้นที่ที่เราสร้างขึ้น เพื่อให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง ได้ใช้ชีวิตในรูปแบบที่เราต้องการ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานหลายๆ รูปแบบ ได้ทดลองทําอะไรใหม่ๆ เพื่อออกแบบ one-of-a-kind holiday สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับทั้งเรา ลูกค้า เพื่อนๆ ในแบบที่น่าจดจำ และไม่เหมือนใคร”

ศุภมาศ พะหุโล
Co-founder & Managing Director, BANGKOK CITYCITY GALLERY

“ต้นทุนของเราคือความไม่มี ณ เวลานั้น (ที่เปิด BANGKOK CITYCITY GALLERY) ตลาดยังไม่ค่อยมีพื้นที่ศิลปะแบบ mixed-use ไม่ค่อยมีโมเดลการแสดงงานศิลปะคละสาย ศิลปะร่วมสมัยก็ยังไม่ได้มีการผลิตและเผยแพร่มากหรืออาจยังอยู่ในกลุ่มที่จำกัดไม่ได้เป็นงานสำหรับพับลิกขนาดนั้น เราก็รู้สึกว่าทำยังไงดีเพราะตัวเราเคยทำ TCDC มาก่อน เวลาทำโปรเจกต์ เขียน proposal หรืออะไรก็ตามมันจะมีไอเดียการทำงานให้พับลิกดู ฉะนั้นเราอยากทำงานสำหรับพับลิกที่ค่อนข้างกว้างกว่าสิ่งที่วงการมีให้ดูในตอนนั้น

“ความไม่มียังเป็นแรงผลักสำคัญในการผลิตอะไรสักอย่าง เป็นเจ้าของกิจการ หรือทำธุรกิจเล็กๆ ขึ้นมา มากกว่านั้น แรงผลักก็เกิดขึ้นได้จากเรื่องอื่นๆ ด้วย ทั้งแพสชั่นส่วนตัวหรือสิ่งที่เคยได้รับ อย่างเราไม่ได้โตมาในบ้านที่มีการพูดคุยเรื่องศิลปะ ที่บ้านไม่มีหนังสือสักเล่ม แต่ศิลปะมาเปิดความคิดของเราให้กว้าง นิทรรศการทำให้เราสามารถทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ เมื่อต้องทำธุรกิจ แพสชั่นเรื่องศิลปะก็เป็นแรงผลักให้ทำธุรกิจในแบบที่เราอยากอยู่กับมันทุกวัน ธุรกิจนี้มันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้ามันไม่ใช่สิ่งที่เรามีแพสชั่นหรือสิ่งที่เราชอบ”

บุณย์ญานุช บุญบํารุงทรัพย์
ผู้บริหาร Food Passion 

“ทุนในมุมของเราคือการที่เห็นภาพความสำเร็จให้ชัด และสามารถถ่ายทอดให้ทีมงานมองเห็นร่วมกัน นอกจากนั้นคือการมีทีมงานที่มี positive & possible mindset

“และท้ายสุด ทุนที่สำคัญที่สุดของการใช้ชีวิตคือ สุขภาพที่ดีของตัวเราเอง และความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง”

จีระวุฒิ เขียวมณี 
บรรณาธิการบริหาร Biblio Publishing

“สำหรับผมแล้ว ทุนที่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ทำสำนักพิมพ์ Biblio มาได้ตั้งแต่วันแรกจนถึงตอนนี้ก็คือ เพื่อนร่วมงานที่ดี ซึ่งมีทั้ง co-worker ที่มีความเป็นมืออาชีพสูง และมี workmate ที่ทำงานด้วยกันมานานจนรู้ใจกันดี เพราะการทำสำนักพิมพ์โดยเนื้องานแล้วค่อนข้างโดดเดี่ยวพอสมควร คุณจำเป็นต้องมีเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจกันและกัน ในเวลาที่ต่างคนกำลังทำหน้าที่ของตนเองอยู่เงียบๆ คนที่มีจุดเด่นแตกต่างไปจากคุณที่เข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างที่เป็นไม่ได้ และยิ่งในธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่ต้องอยู่กับคุณค่าของตัวหนังสือแล้ว การมีเพื่อนร่วมงานที่ดีก็ช่วยให้การทำงานในแต่ละวันมีความหมายกับชีวิตมากยิ่งขึ้น”

นิโรธา วีรธรรมพูลสวัสดิ์
Co-owner, Brave Roasters / OOObkk

“ทุนของเราคือความอดทน และการสังเกตเพื่อปรับปรุงตัวเองและหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา และแน่นอนว่าต้องมีวิธีหาเงินมาลงทุน

“เรารู้สึกว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้ ถ้ายังไม่หยุดทำ ซึ่งการไม่หยุดทำต้องอาศัยความอดทนนะ เพราะมันจะมีทั้งปัญหา ความท้าทายหรือเรื่องที่ต้องจัดการอยู่ตลอด และเพื่อน พี่ หลายๆ คนที่เลิกทำไปก็เพราะเบื่อแล้ว ไม่อยากจัดการแล้ว ไม่อยากต้องมานั่งคิด นั่งทำ หรือมาลุ้นอะไรอีก 

“ซึ่งการทำไปเรื่อยๆ นี้ เราก็พยายามมองหาโอกาสตลอดเวลา และคิดหาทางว่าจะทำยังไง เพื่อให้ใช้โอกาสนั้นทำให้เราไปในทิศทางที่เราอยากให้เป็น หรือพัฒนาให้มันดีขึ้น ก็ลองทำดูและนำผลลัพธ์มาปรับใช้เรื่อยๆ ซึ่งก็มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ เวลาไม่สำเร็จก็ต้องยอมรับตัวเองให้ได้ และกลับมาสำรวจตัวเอง ปรับปรุงเพื่อให้ก้าวต่อได้ แต่ปัจจัยทั้งหมดที่เล่ามาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีเงินลงทุน ทุนที่สำคัญอีกทางหนึ่งจึงเป็นการรู้วิธีหาเงินทุน ว่าเราจะหาโอกาสให้ได้มาซึ่งเงินนี้อย่างไร”

พีรเดช มุขยางกูร 
ผู้ร่วมก่อตั้ง Cariber

“ทุนของผมคือนิสัยไม่ชอบยอมแพ้ ถ้าเริ่มแล้วต้องทำให้ได้ ยิ่งคนบอกว่าเราจะทำไม่ได้เราจะยิ่งตั้งใจเพื่อพิสูจน์ตัวเอง เพราะเราเชื่อว่าเวลาคนเราตั้งใจทำอะไรมากๆ ให้เวลา ให้ชีวิตกับมัน มันก็คงต้องมีอะไรสำเร็จบ้าง

“วันแรกที่เริ่มต้นทำ Cariber เราคือเด็กอายุ 23 ที่ไม่ได้มีความรู้ในธุรกิจการศึกษาแต่เรามองเห็นโอกาสในตลาดและลงมือทำ และแม้วันนี้เราจะเริ่มได้แล้วแต่ก็ยังอยู่ไกลมากจากคำว่าสำเร็จ หวังว่าเราจะไม่ยอมแพ้และสามารถเติบโตไปสู่ภาพที่ฝันไว้ได้”

อนุพงศ์ คุตติกุล
CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Carnival

“ทุนที่สำคัญสำหรับผมคือประสบการณ์ที่ผ่านมาที่ช่วยสร้างนิสัยและคาแร็กเตอร์ในการทำงานของเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งต่างๆ ที่เราโตมากับมัน ทั้งหนังสือที่เราอ่าน เกมที่เราเล่น หนังที่เราดู เพลงที่เราฟัง มันสำคัญ เพราะว่าสตรีทแฟชั่นคือการหยิบจับเอาคัลเจอร์ต่างๆ มาเล่าเรื่องในสไตล์ของแฟชั่น เพราะฉะนั้นคัลเจอร์ต่างๆ ที่เราเสพมามันมีอิทธิพลกับตัวเรา ในแง่ที่ทำให้เราสามารถเล่าเรื่องออกมาให้คนอินไปกับเราได้

“อีกสิ่งที่สำคัญคือประสบการณ์ที่เราเป็นผู้บริโภค ไปซื้อสินค้า ติดตาม และเป็นแฟนคลับแบรนด์ต่างๆ ประสบการณ์เหล่านี้ช่วยทำให้เราได้คิดว่าวันนึง ถ้าเราจะสร้างแบรนด์ของเราเองเราอยากให้มันออกมาแบบไหน ซึ่งในช่วงที่เติบโตเรามองเห็นหลายๆ แบรนด์ที่เราชอบเขามีความพยายามอยากจะไปให้สุดทางในสายของตัวเอง เราก็คิดว่าถ้าวันหนึ่งเรามีร้าน เรามีแบรนด์ เราต้องไปให้สุดในสิ่งที่เราตั้งใจทำเหมือนกับแบรนด์ที่เราชื่นชอบ”

ณัฐ วงศ์พานิช 
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG)

“ทุนของผมคือการ unlearn สิ่งที่เคยรู้ และ relearn สิ่งใหม่ เพราะความสำเร็จในอดีตไม่ได้การันตีว่าจะประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ต้องไม่หยุดพัฒนาตนเอง และพร้อมเปิดรับการทำสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา”

ธนาคาร จันทิมา 
บรรณาธิการบริหาร Chaichai Books

“ทุนสำคัญของสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างไจไจบุ๊คส์คือการมีพาร์ตเนอร์ที่ดี โชคดีที่เขาเชื่อในตัวเราและมีแพสชั่นตรงกัน มันช่วยให้ผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้เสมอ แต่ธุรกิจนี้คงไม่ยืนยาวมาถึงวันนี้ถ้าขาดอีกหนึ่งต้นทุนคือความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและนักอ่าน ซึ่งพวกเขาจะรับรู้ได้เองจากหนังสือแต่ละเล่มที่เราตั้งใจทำมันออกมา”

เกวลิน ศักดิ์สยามกุล
ผู้ร่วมก่อตั้ง Cheww.co

“Cheww.co เป็นแบรนด์ยาสีฟันเม็ดที่ตั้งใจจะเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคไทยในการลดการใช้ขยะพลาสติกจากหลอดยาสีฟัน ซึ่งไม่สามารถรีไซเคิลได้ ซึ่ง essence ของแบรนด์ชัดเจนมาก นั่นคือการใช้ชีวิตอย่างสมดุลย์โดยใส่ใจทั้งความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 

“ดังนั้นหากถามหลิวว่า ทุนที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ธุรกิจของ Cheww.co ดำเนินมาได้ถึงวันนี้คืออะไร ในฐานะ co-founder ของแบรนด์ที่มีแนวคิดนี้ หลิวยืนยันว่า ทุนทางธรรมชาติ (natural capital) คือทุนที่สำคัญที่สุดของเรา

“ส่วนผสมของยาสีฟันเม็ดทั้งหมดเราได้มาจากธรรมชาติ ตั้งแต่เกลือที่เป็นแร่ธรรมชาติเอย สารให้ความหวานที่สกัดจากผลไม้เอย กลิ่นมินต์เอย ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ที่เป็นแก้ว และฝาที่ทำจากอลูมิเนียม ทั้งหมดล้วนผลิตจากทรัพยากรธรรมชาติทั้งสิ้น แค่ลองจินตนาการว่าวันพรุ่งนี้เกลือหมดจากโลกไป Cheww.co ก็ไม่เหมือนเดิมแล้วจริงไหม

“โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มนุษย์สูญเสียความสามารถในการควบคุมต่อธรรมชาติไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนอย่างช่วง 2-3 ปีมานี้ การระบาดของโควิด-19 ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากธรรมชาติมีความผันผวนเพียงนิดเดียว มนุษย์จะได้รับผลกระทบมากมายขนาดไหน ระบบเศรษฐกิจ ความทะยานอยาก การพัฒนาทุกสิ่งอย่างของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความเห็นอกเห็นใจของธรรมชาติทั้งนั้น”

พฤฒิ เกิดชูชื่น 
ผู้ก่อตั้ง Dairy Home

ทุนที่สำคัญที่สุดคือองค์ความรู้ (knowledge capital) รองลงมาคือ ทรัพยากรบุคคล (human capital) ส่วนถัดมาอาจไม่สำคัญที่สุด แต่ว่าก็สำคัญ คือเรื่องเงิน

“ความรู้สำคัญที่สุดเพราะว่าถ้าเราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไร มันก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง อย่างน้อยในตัวของผู้ประกอบการเองจะต้องมีทุนนี้อยู่ในตัว เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่มีใครเอาไปจากเราได้และทำให้เกิดความมั่นคงทางธุรกิจมากที่สุด ถ้าเกิดความรู้คุณไปยืมเขามา ไปซื้อเขามา มันก็อาจจะไม่มั่นคงได้ ถ้าไปยืมเขามา เขาเอาคืนคุณก็ไปต่อไม่ได้ ไปเช่าเขามาหมดสัญญาเช่าก็จบกัน หรือแม้กระทั่งว่าเป็นการไปยืมบุคคล เอาคนที่เก่งๆ มาจ้างเขามาทำ ถ้าเกิดเขาลาออกก็จบเหมือนกันนะ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดสำหรับผู้ประกอบการ คุณต้องมีองค์ความรู้ที่สำคัญที่เป็นหัวใจของธุรกิจนั้น

“ส่วนทรัพยากรบุคคล คนสำคัญกว่าเงินนะครับ เพราะว่าถ้าไม่มีเงินเรายืมได้ ยืมใครก็ได้ ยืมญาติพี่น้อง ยืมธนาคาร หรือแม้กระทั่งมีเงินทุนเล็กน้อยเราก็สามารถใช้บุคลากรค่อยๆ สร้างสมระดมทุนเข้ามาได้ แต่บุคลากรเป็นตัวที่จะทำให้งานมันก้าวหน้าได้ งานมันพัฒนาได้ แล้วก็เป็นตัวที่จะสร้างผลผลิต สร้างกำไรได้ ถ้าขาดตรงนี้ไปคุณก็ต้องทำคนเดียว การทำคนเดียวคุณก็ทำได้แค่แรงคุณ เราก็ไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นที่สำคัญ

“สุดท้ายคือเงิน เงินสำคัญเพราะว่าการจะซื้อวัตถุดิบ ซื้ออะไรต่างๆ เงินก็สำคัญทั้งนั้น เพียงแต่ว่าในโลกปัจจุบันนี้บางครั้งเงินมันอาจจะไม่ใช่ปัจจัยแรกที่เราต้องนึกถึง เพราะอย่างที่บอก บางทีมันมีระบบเครดิต คุณซื้อวัตถุดิบคุณอาจจะไม่ต้องใช้เงินก็ได้ถ้าคุณเครดิตดีพอ คุณอาจจะเอาหน้าคุณไปยืมของเขามาใช้ แล้วคุณก็สามารถผลิตสินค้าออกมาแล้วค่อยเอาเงินไปใช้เขาทีหลังก็ได้”

กฤษณ์ สกุลพานิช
CEO, Dream Express (DEX)

“ทุนสำคัญในการทำธุรกิจของผมคือ การเริ่มต้นที่ความชอบ ความมุ่งมั่น การมีทีมที่ดี สนุกกับงาน บนวิสัยทัศน์ร่วมกัน และที่สำคัญที่สุดคือความสุขของลูกค้าและผู้ติดตามเรา”

ธิดา ผลิตผลการพิมพ์
ผู้ก่อตั้งและดำเนินงาน Documentary Club

“ทุนของเราคือการเลี้ยงดูของพ่อแม่ซึ่งเป็นคนเข้มแข็ง พ่อแม่ในภาพจำของเราคือคนที่ทำงานหนัก อดทนต่ออุปสรรค มีแต่ความมุ่งหวังว่าจะส่งเสริมให้ลูกๆ ได้มีการศึกษาและมีชีวิตที่สบายกว่าเขาในทุกๆ ทาง พ่อแม่ไม่ได้ใช้วิธีพูดแต่ทำให้ดู เห็นทุกวันจนซึมซับไปเองว่าการทำงานและการใช้ชีวิตมันมีความหมายของมัน มีเป้าหมายที่เกินไปกว่าตัวเรา และความล้มเหลว ความเจ็บปวดต่างๆ เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต

“เมื่อมาทำงาน ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้ เราเลยคิดว่าถ้าเราพอจะมีอะไรเป็นทุนติดตัวอยู่บ้างคงเป็นความอดทน ล้มแล้วพยายามลุก ไม่ชอบปล่อยให้ตัวเองเจ็บนานๆ 

“และถ้าจะมีอะไรอีกสักอย่างที่เป็นทุนนอกตัว สำหรับเราแล้วคงเป็นมิตรสหาย ทั้งคนใกล้ชิดในชีวิตจริงและเพื่อนพ้องน้องพี่ จริงๆ แล้วเราเป็นคนไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบสุงสิงกับใคร แต่ตลอดชีวิตการทำงานของเราได้รับความช่วยเหลือ ความเข้าใจ และแรงประคับประคองจากผู้คนเยอะมากๆ เราเริ่มทำ Doc Club ได้ด้วยการระดมทุนของทั้งคนที่สนิทและคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย จนทุกวันนี้เวลาเราท้อแท้ก็จะมีคนให้กำลังใจ เวลาเราทำอะไรต่ออะไรก็มีมิตรสหายคอยช่วยสนับสนุน นึกไม่ออกจริงๆ ว่าถ้าชีวิตไม่มีอะไรแบบนี้แล้วเราจะทำงานแบบที่ทำอยู่นี้ให้รอดมาได้ยังไง”

นนทวัฒน์ เจริญชาศรี
Design Director, DUCTSTORE The Design Guru และผู้ก่อตั้ง www.iameverything.co

“ทุนสำหรับผมคือการเป็นคนที่สนใจ แฟชั่น ดนตรี ศิลปะ เเละชอบงานออกแบบหลากหลายเเขนง ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม กราฟิกดีไซน์ เเละอื่นๆ ผมคิดว่าทุกอย่างมันเกี่ยวข้องส่งผลต่อกัน สามารถผสมผสานทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้ เเละตัวผมเองก็มีความเชี่ยวชาญจากการได้ลงมือทำงานที่ข้ามสายไปมาจนมีสูตรหรือเเนวความคิดที่ชัดเจนในงานออกแบบที่มีความเป็นตัวเราได้จนมาถึงทุกวันนี้ ทำให้มีความยืดหยุ่นเเละสามารถปรับตัวหรือใช้ design thinking มาเป็นตัววาง strategy เเละกำหนดไดเรกชั่นใหม่ๆ ในงานออกแบบเเละการทำธุรกิจ เเละสามารถต่อยอดไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ”

นิรามย์ วัฒนสิทธิ์
เจ้าของร้าน Eden’s

“ทุนสำคัญของเราอาจจะเป็น individuality เราเริ่มต้นเล็กๆ จากสิ่งที่เป็นตัวตนของเรา การเรียนรู้ ประสบการณ์ และสถานการณ์ช่วยให้เราเติบโตขึ้นโดยไม่สูญเสียสิ่งที่เราให้คุณค่าและสิ่งที่ตัวเองเป็น

“เราเริ่มต้นทำร้านด้วยไอเดียเรียบง่ายที่สุดคือเป็นร้านขนมและอาหารเช้าในบรรยากาศแบบที่เราถนัดและอยากให้เป็น เคยมีคนถามว่าจะสร้างความแตกต่างหรือความพิเศษอย่างไรในวันที่คาเฟ่เกิดขึ้นง่ายและเต็มไปหมด มันทำให้เราได้คำตอบว่าเราไม่เคยมองเรื่องการสร้างความแตกต่างเลยเพราะเราทำทุกสิ่งขึ้นมาจากตัวตนของเรา จากความหลงใหลและจากสิ่งที่เราให้คุณค่า ภายใต้ความเป็นจริงในเรื่องงบประมาณและสถานการณ์รอบตัว

“และจาก Eden’s เราต่อยอดมาผลิตนิตยสารรายครึ่งปีของตัวเองชื่อ Out Of Eden’s ซึ่งตั้งใจจะวางจำหน่ายแค่ในร้านเรา แต่มันได้ขยายไปอยู่ในร้านหนังสือที่นิวยอร์ก selected shop ในอเมริกา และได้รับการติดต่อให้วางในร้านเซรามิกที่ปารีส มันเป็นการเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติที่ทำให้เรายิ่งเชื่อในเรื่องการทำในสิ่งที่รัก ความฝันที่ไม่เกินฝัน คุณภาพ และ individuality”

วุฒิศักดิ์ อนรรฆพร
ผู้กำกับโฆษณาและผู้ก่อตั้ง Factory01

“ทุนที่สำคัญของผมคือการรู้ว่าเราห่วยขนาดไหน นี่คือสิ่งที่ล้ำค่าที่สุด ผมขอบคุณตัวเองที่รู้ว่าเราห่วยขนาดไหน พอพูดแบบนี้คนจะรู้สึกว่า อ๋อ ถ่อมตัวแหละ แต่เราห่วยจริงๆ ผมรู้ว่าตัวเองห่วย และเชย และสะเหล่อขนาดไหน มันเลยทำให้เราทำงานหนักเพื่อจะแก้เรื่องพวกนั้น หรือเอาคนที่เขาเก่งกว่ามาทำ และที่สำคัญมันคงสร้างนิสัยของการฟังให้เราด้วย ความห่วยบอกผมว่าจงฟัง

“ตอนเด็กๆ ผมเคยได้รางวัลจากเวที B.A.D AWARDS ทั้งที่ใจผมรู้อยู่เต็มอกเลยว่าผมไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นแรงจูงใจให้เราดูงานเยอะขึ้น เราต้องเข้าใจมันจริงๆ เรารู้ตัวว่าเราไม่ใช่อาร์ทิสต์แล้วเราจะสู้กับคนที่เขาเป็นอาร์ทิสต์ได้ยังไง เราก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ถ้าเราไม่ถนัดศิลปะเราใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยได้มั้ย เราเลยศึกษาสมองมนุษย์ว่าสมองมีการรับรู้ยังไง เราแฮ็กตรงไหนได้บ้าง เราควบคุมอะไรได้บ้าง แล้วส่วนที่เราไม่เชี่ยวชาญเราก็เอาคนที่เก่งที่สุดมาทำ เราไม่รู้เรื่องความ cinematic เราเอาตากล้องเก่งๆ มาช่วย เราไม่รู้เรื่องเสื้อผ้าเราเอาคนที่เก่งที่สุดมาดูแล หรือเราไม่รู้เรื่องโปรดักต์เราก็ถามลูกค้า ถ้าเราคิดว่าเราเป็นผู้กำกับแล้วทุกคนต้องฟังเรา หรือเราทำงานประสบความสำเร็จมาหลายแบรนด์แล้ว ไม่ต้องฟังลูกค้าหรอก งานมันก็จะไม่เป็นแบบนี้

“การไม่รู้แล้วยอมรับว่าไม่รู้ ไม่มีแล้วยอมรับว่าไม่มี ผมว่าเป็นสิ่งที่ล้ำค่าที่สุดเลย”

นรุตม์ ปิติทรงสวัสดิ์
Founder / Design Director, FLO Furniture

“ผมรู้สึกว่าต้นทุนที่สำคัญที่สุดคือต้นทุนที่เรามีคนเดียว คนอื่นทำตามหรือเลียนแบบได้ยาก ก็เลยคิดว่าทุนที่สำคัญที่สุดคือประสบการณ์ 

“ประสบการณ์ในที่นี้หมายถึงประสบการณ์ของคุณแม่ คุณพ่อ ช่าง คนงานในโรงงาน ที่บ้านของผมทำธุรกิจเฟอร์นิเจอร์มาประมาณ 20 กว่าปี แต่ก่อนเราเป็นผู้รับผลิต เป็น OEM ฉะนั้นสิ่งที่รุ่นพ่อแม่ทำก็คือการพัฒนาระบบการผลิต พัฒนาระบบบัญชีให้ดี แต่ว่าในยุคนี้เราไม่ได้เป็นฐานการผลิตอีกต่อไปผมจึงเห็นว่าเราควรมีแบรนด์ของตัวเองได้แล้ว เอาทรัพยากรที่มีมาทำดีไซน์ ทำโปรดักต์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ขายได้ราคาสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็มอบความแปลกใหม่ แตกต่างให้กับลูกค้า

“เวลาเล่าเรื่องแบรนด์ผมจะบอกเสมอว่ามันไม่ได้เริ่มจากผมนะ มีคนทำมาก่อน มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนหน้าผมเยอะมาก เรื่องราวแบบนี้มันทำให้แบรนด์ของเรามีเรื่องเล่า มีที่มาที่ไป ทำไมเราใช้แมตทีเรียลนี้ ทำไมเราใช้รูปทรงแบบนี้ ทำไมเราขายแบบนี้ ดีไซน์ที่ผสมวัสดุก็มาจากเรื่องราวที่ว่าโรงงานของคุณพ่อ คุณแม่มีวัสดุนี้อยู่แล้ว และมันยังสร้างความเชื่อให้ลูกค้าได้ด้วยว่าเราทำงานมานาน ไม่ต้องกลัว เราซ่อมให้ เราดูแล

“เวลาพูดถึงต้นทุนที่สำคัญ จริงๆ มันมีเรื่องทรัพยากรด้านวัตถุด้วย เช่น โรงงาน เครื่องจักร สเปซ แต่ผมมองว่าถ้ามีวัตถุแต่ไม่มีประสบการณ์เราก็ทำไม่ได้ กลับกัน ถ้ามีประสบการณ์เรายังไปหาวัตถุ ไปหาโรงงานทำได้ FLO เอง ถ้าไม่มีประสบการณ์การทำแบรนด์ขึ้นมาจากศูนย์จะค่อนข้างยาก หรืออาจจะทำได้แต่ไม่สามารถสเกลได้เร็วอย่างที่เราทำ”

บุญญนัน เรืองวงศ์
ผู้ร่วมก่อตั้ง Frank! Garcon

“ถ้าถามว่าอะไรคือทุนที่ทำให้ธุรกิจอย่าง Frank! เติบโตได้ดี มันไม่ใช่แค่หนึ่งเหตุผลแน่นอน แต่เป็นทุกอย่างที่เราสั่งสมประสบการณ์จนมาเป็นเราทุกวันนี้ ทั้งความตั้งใจทำให้สุด, ความใฝ่รู้ น้ำไม่เต็มแก้ว, ความกล้าได้กล้าเสีย และอื่นๆ การจะทำธุรกิจสักอย่าง มันคือการใช้ทักษะ 360 องศา ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมทุกการเลือกเส้นทางเดิน และการตัดสินใจ

“ผมเคยเป็นครีเอทีฟโฆษณาที่ผ่านโปรเจกต์ต่างๆ มาเยอะมาก เหมือนเป็นสนามที่สร้างประสบการณ์ให้เราได้ทดลองก่อนที่จะมาเปิดธุรกิจตัวเอง หลักการสำคัญของการสร้างแบรนด์คือการเข้าใจลูกค้า คำพูดอาจจะสวยหรูเป็นคำที่ใครๆ ก็พูดกัน แต่นี่คือที่สุดแล้วสำหรับการทำธุรกิจ ลูกค้าหน้าตาเป็นยังไง ฟังเพลงอะไร อินอะไรช่วงนี้ ทั้งหมดนี้ภาพเราต้องชัด ซึ่งในปี 2018 ตอนนั้นยังไม่มีร้านเสื้อผ้ายูนิเซกซ์ที่มีดีไซน์ดีๆ และราคาจับต้องได้ เราก็ใช้จุดนี้เริ่มสร้าง Frank! ขึ้นมาใจกลางสยามสแควร์ และทำมันให้สุด สื่อสารไปให้ลูกค้าเห็นภาพตรงกับเรา ซึ่งเราให้ความสำคัญกับแบรนด์ดิ้งมากๆ เรียกได้ว่า ถ้าลูกค้าได้เดินเข้ามาที่ร้าน Frank! แล้วจะไม่เหมือนกับร้านไหนแน่นอน และสิ่งนี้เป็นการสร้าง awareness ที่ดีมาก เพราะเมื่อเราทำสิ่งที่แตกต่าง พลังของ word of mouth จะทำงานได้เอง โดยที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อโฆษณาใดๆ และทำให้ Frank! เดินทางและเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้”

วัชรพล เตียวสุวรรณ์ 
ผู้ร่วมก่อตั้ง Gadhouse

“ทุนของผมคือความหลงใหลและความคิดสร้างสรรค์ เราหลงใหลในตัวผลิตภัณฑ์ที่เราอยากจะทำ ซึ่งความหลงใหลมันเป็นทุนในใจที่ผลักดันให้เราตื่นมาทำมันในทุกๆ วันถึงแม้ว่าช่วงแรกผลตอบแทนที่ได้จะยังน้อยนิด แต่ความหลงใหลมันยังหล่อเลี้ยงให้เรายังทำมันอยู่เรื่อยๆ แม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

“ในขณะที่ความคิดสร้างสรรค์ส่วนใหญ่เกิดจากไอเดียของทีมงานที่ร่วมกันสร้างสรรค์และต่อยอดมาเรื่อยๆ ความคิดสร้างสรรค์เราอาจจะได้มาอย่างฟรีๆ ระหว่างการเดินทาง เหม่อลอย หรือตอนที่เรามีตติ้งกัน ซึ่งเป็นทุนที่สำคัญมากของเรา”

จินา โอสถศิลป์ 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด

“ทุนที่สำคัญที่สุดของ GDH คือคน ในการทำหนังให้เสร็จสมบูรณ์ออกมา 1 เรื่อง มันต้องใช้คนเป็นสิบเป็นร้อยคน ช่วยกันสร้างมันขึ้นมา หน้าที่ของเราคือ เชื่อใจ ให้ใจ และไว้ใจคนทำงาน เพื่อให้พวกเขาไปให้สุดในสิ่งที่คิด กล้าลองถูกลองผิด ไม่ต้องกลัว เพราะเราเชื่อว่าความผิดพลาดจะสร้างประสบการณ์ และประสบการณ์จะสอนให้คนเก่ง และคนเก่งจะทำให้บริษัทเติบโต ขอแค่ให้พวกเขาโฟกัสกับงานที่อยู่ตรงหน้า ห่วงหน้าได้แต่ไม่ต้องพะวงหลัง เพราะพี่จะซัพพอร์ตทุกสิ่งที่อยู่ข้างหลังให้พวกเขาเอง”

พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน
Story Curator / Co-founder, Glow Story

“สำหรับเรา ทุนที่ทำให้ Glow อยู่มาจนถึงทุกวันนี้คือความเชื่อในคน ความเชื่อในมนุษย์ อย่างเรากับป่าน (ปิยพัทธ์ ปฏิโภคสุทธิ์) เริ่มต้นทำ Glow มาสองคนแบบไม่มีอะไรเลยแต่เราเชื่อใน intention ที่ดีของกันและกัน หรือเวลาเราทำ TEDx สปีกเกอร์บางคนก็ไม่เชื่อในตัวเองแต่เราเชื่อในความเนิร์ดของคุณ เชื่อว่าคุณมีของ

“หลังจากที่เป็นเด็กเบียวอยากเปลี่ยนโลกมาหลายปีเราก็รู้สึกว่าตลอดเวลาที่ทำงานเล่าเรื่องมา 7 ปี ไม่มีเรื่องไหนที่ Glow เล่าแล้วเปลี่ยนโลกหรือเปลี่ยนสังคมไทยได้เลย แต่เราเชื่อว่าเรื่องเล่าที่ Glow ทำมันได้ไปเปลี่ยนใครสักคน อาจจะเป็นสปีกเกอร์ที่มาขึ้นเวทีแล้วเชื่อในตัวเองมากขึ้น หรือไปช่วยโปรเจกต์ Limited Education แล้วพี่บุ๋ม (บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์) เห็นว่าบาร์บีคิวพลาซ่าก็พูดเรื่องการศึกษา สามารถคอลแล็บได้ ครีเอทีฟได้ Glow จึงเชื่อว่าหัวใจสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องราวแต่คือมนุษย์ ถ้าเราไม่หยุดเชื่อในมนุษย์ เราอยู่กับคนที่เราเชื่อในตัวเขา ในที่สุดคนเหล่านี้นี่แหละที่จะออกไปสร้างการเปลี่ยนแปลง”

สถาพร พานิชรักษาพงศ์ 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด

“ประสบการณ์และการเรียนรู้จากการทำงานจริง คือทุนที่มีค่าที่สุด ทุนที่เป็นองค์ความรู้จากการสะสมประสบการณ์ และการทำงานจริง จะสร้างวิสัยทัศน์ให้ธุรกิจเติบโต และมั่นคง”

บดินทร์ อภิมาน
Creative Director, GREYHOUND 

“ผมขอตอบคำถามนี้ในฐานะพนักงาน ที่มีโอกาสได้มารับหน้าที่ creative director ให้กับแบรนด์ เราเชื่อว่าทุนที่สำคัญคือ ความสามารถในการส่งต่อความเชื่อของแบรนด์ให้ไปต่อจากรุ่นสู่รุ่น 

“GREYHOUND เป็นแบรนด์ street, urban, contemporary ที่มุ่งเน้นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ความเท่และการสร้างงานแบบ basic with a twist ซึ่งแปลความหมายได้หลากหลายและทำให้แบรนด์ไม่ตายไปกับรูปแบบเดิมๆ เราแค่ยึดแกนไว้เพื่อให้เรามีตัวตน มีเอกลักษณ์ แต่ไม่ยึดติดกับรูปแบบที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตามยุคสมัย”

เธียรชัย พิสิฐวุฒินันท์
กรรมการผู้จัดการบริษัท โกลเบิล สปอร์ต เวนเจอร์ส จำกัด (GSV)

“ทุนที่สำคัญคือ faith หรือความเชื่อมั่น ความศรัทธาครับ ผมคิดว่า คนทำธุรกิจทุกคนจะต้องเจอกับทั้งวันที่ดีและวันที่ยาก ซึ่งนอกจากทุนอื่นๆ แล้ว ความศรัทธาหรือ faith จะช่วยให้ตัวเราเอง ทีม และธุรกิจไม่หลงทางในวันที่ดี และ ไปต่อได้ในวันที่ยาก

“faith ในตัวเองว่า จะสามารถหาทางทำสิ่งต่างๆ ได้ หรือสามารถเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง และพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดไปได้เสมอ

“faith ในทีมว่า “The whole is greater than the sum of its parts” ทีมที่ดีจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าความสามารถเฉพาะบุคคลเสมอ ถ้าเรามีทีมที่ถูกต้อง ทีมมี intention ที่ดี และคัลเจอร์ที่เหมาะสม มีมิสชั่นที่ตรงกัน ทีมจะสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้มากกว่าที่แต่ละคนคิดซะอีก

“faith ในมิสชั่น ศรัทธา และเข้าใจในสิ่งที่ทำว่าจะช่วยผู้อื่น ช่วย stakeholder ช่วยวงการและสังคมได้อย่างไร ผมเชื่อว่าทั้งในชีวิตและในธุรกิจทุกคนต้องเจอ cycle ขึ้น-ลง โดยเฉพาะคนกีฬาอาจจะเจอ cycle ที่ถี่และเหวี่ยงกว่าคนวงการอื่นๆ หน่อย เวลาทำได้ดีคนอาจชมเกือบทั้งประเทศ เวลาพลาดก็อาจโดนด่าเกือบทั้งประเทศ การที่เราตั้งมั่นและศรัทธาในมิสชั่นจะทำให้เราลดความทะนงตัว ไม่เดินหลงทางเอาตนเองเป็นศูนย์กลางเมื่อประสบความสำเร็จ และจะช่วยให้เราตอบคำถามตัวเองได้ว่าเราทำสิ่งที่ทำอยู่ทำไมในวันที่ทุกอย่างดูยากไปหมด การที่มี faith ในมิสชั่นจะช่วยให้เราโฟกัสไปที่ภารกิจมากกว่าตนเอง ทำให้สามารถถ่อมใจและมั่นใจในเวลาเดียวกัน Think less of yourself not think of yourself less.

“และ faith ใน God’s path เมื่อปี 2005 สตีฟ จ็อบส์ กล่าวที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ว่า “You can’t connect the dots looking forward; you can only connect them looking backward.” บางสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเราคิดว่าดีอาจจะส่งผลไม่ดีทีหลัง บางสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเราคิดว่าไม่ดีอาจจะกลายเป็นดีในภายหลัง ด้วยลิมิตความเป็นมนุษย์เราไม่สามารถกำหนดหรือเห็นทุกสิ่งล่วงหน้าได้ แต่ทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทาง ผมเชื่อว่าหากเรานำทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาเรียนรู้และพัฒนา และทำทุกอย่างให้สุดความสามารถเสมอ เชื่อมั่นในมิสชั่นแต่ยืดหยุ่นในวิธีการ มี faith ใน journey ของตนเอง ให้พระเจ้าหรือชีวิตช่วย connect the dot  เราจะสามารถนำตัวเองและธุรกิจเดินหน้าและ breakthrough ได้ไม่ว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบไหน”

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like