940
January 20, 2022

100 Capital 100 Entrepreneurs EP.3

100 ทุนสำคัญในชีวิตของผู้ประกอบการและตัวแทนธุรกิจ 100 คน EP.3

สิ่งสำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจคือ ‘ทุน’ หากแต่ทุนที่สำคัญในการเริ่มต้นธุรกิจและทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องเงินเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงทุนอื่นๆ ที่เราสั่งสมมาในชีวิต แต่ละคนก็แตกต่างกันไป

ด้วยความอยากรู้ว่าทุนที่ว่ามีอะไรบ้าง เราจึงตั้งใจถาม 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ หลากหลายหมวดและขนาด ด้วยคำถามเดียวกัน

“อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้”

ในตำราอาจมีนิยามของคำว่าทุนกำกับไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เมื่อได้พูดคุยกับคน 100 คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกธุรกิจ คำตอบที่ได้กลับหลากหลาย

บางคำตอบก็ตรงไปตรงมา ในขณะที่บางคำตอบก็ไม่มีตำราเล่มใดเขียนกำกับไว้ บางคำตอบเป็นทุนสำคัญที่ใครหลายคนเห็นตรงกัน ในขณะที่บางคำตอบก็เฉพาะตัวตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน

ท่ามกลางคำตอบมากมาย เราคล้ายได้ค้นพบสิ่งสำคัญที่ควรให้ค่าในการทำธุรกิจ และชวนให้เรากลับมาทบทวนสิ่งเหล่านั้นในชีวิตของตัวเอง

พล หุยประเสริฐ
ผู้ก่อตั้ง H.U.I.

“ผมคิดว่าทุนชีวิตของผมคือการเกิดมาในบ้านชนชั้นกลางที่รายได้พออยู่ได้สบาย ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะมีภาระใดๆ ส่วนสิ่งอื่นๆ ที่เหลือที่ทำให้ผมมาอยู่ตรงนี้น่าจะเป็นสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่แม่เป็นเด็กเรียนแต่ไม่รวยเหมือนคนอื่นๆ ในตระกูล แม่จึงชอบให้ผมอ่านหนังสือ เรียนนู่นเรียนนี่ เช่น เรียนดนตรี 

“แต่ลึกๆ ผมเป็นเด็กขี้เกียจ สิ่งที่พอจะชอบมีแค่ดนตรี ที่เรียนดีได้ก็แค่เพราะไม่ชอบโดนดูถูกจากคนในตระกูล มันเป็นแรงขับให้เราอยากทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องมีใครมาสบประมาทหรือแกล้งเรา ดังนั้นถ้าไม่ชอบให้ใครมาดูถูก เมื่อมีโอกาสผมก็ต้องก้าวขึ้นไปเสมอ ผมจะไม่ปล่อยโอกาสให้ลอยผ่านไปและมองหาโอกาสตลอดเวลา เมื่อเห็นโอกาสที่จะเอาสิ่งที่ชอบคือดนตรีกับสิ่งที่ผมเรียนมาคืองานออกแบบมาผสมกันผมก็ทำ ซึ่งการที่ผมสามารถทำทุกอย่างได้โดยไม่สนใจว่ามันจะจบยังไงหรือจะล้มเหลวยังไง ลึกๆ มันย้อนกลับไปที่ต้นทุนของผม คือผมรู้เสมอว่าต่อให้เราล้มก็ยังมีครอบครัวที่ซัพพอร์ตเราได้”

เฟื่องฟู จิรัฐิติวณิชย์
เจ้าของโรงคั่ว Hands and Heart Coffee Roasters

“ผมเคยเชื่อว่าการทำตามความฝัน ทำตามแพสชั่น คือชุดความคิดที่ผลักดันให้เราประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายในชีวิต เหมือนสิ่งนี้จะเป็นทุนตั้งต้นที่ดีในการทำธุรกิจ แต่เมื่อผ่านเวลาไปทำให้ได้เรียนรู้ว่าแค่นั้นมันไม่เพียงพอ ความอดทนและความพยายามต่างหากที่เป็นทุนสำคัญที่จะผลักดันให้เราไปถึงจุดหมาย

“ซึ่งความยากของ ความอดทนและการพยายามต่อบางสิ่งชนิดกัดไม่ปล่อยนั้นคือ เราไม่รู้เลยว่ามันจะนำพาให้เราไปที่จุดหมายที่เราหวังไว้หรือไม่ แต่เราก็ต้องลองให้รู้ ดีกว่าจะยอมแพ้ในวินาทีแรกที่เราคิดว่ายากแล้ว

“แต่ความอดทนและความพยายามของแต่ละคนอาจวัดค่าหรือมาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะทุกคนล้วนเจอสถานการณ์ที่ต่างกันไป”

จิราภรณ์ วิหวา
Co-founder, ili และ ili U

“ต้นทุนที่สำคัญที่สุดของไอแอลไอคือเพื่อนร่วมงาน ฟังดูเหมือนเป็นคำตอบสวยๆ แต่จริงๆ แล้วไม่มีต้นทุนอะไรที่ส่งผลต่อการเติบโตของเราเลยนอกจากคนเหล่านี้

“คนเหล่านี้ที่ว่าคือพาร์ตเนอร์ที่เริ่มต้นด้วยกันมาโดยไม่มีทุนอะไรนอกจากทักษะ ประสบการณ์ และความเชื่อว่าเราสามารถออกแบบคอนเทนต์ให้ต่างจากสิ่งที่มีอยู่ได้ และคือทีมงานจำนวนเล็กๆ รวมทั้งฟรีแลนซ์ที่เข้าจังหวะกัน เราไม่ได้ใช้แค่ทักษะของเขาในการทำงาน แต่ยังใช้ไลฟ์สไตล์ ใช้ทัศนคติของเขาที่มีต่อเรื่องรอบตัวด้วย มันจึงจำเป็นมากที่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในการทำงานร่วมกัน ถึงจะเป็นธุรกิจเล็กๆ ที่ไม่ได้มีสวัสดิการหรือค่าตอบแทนหวือหวา แต่เราพยายามออกแบบให้โฟลว์ในการทำงานแฟร์พอ ยืดหยุ่นพอ และสบายใจพอที่จะสร้างสรรค์งานที่ดีไปด้วยกันยาวๆ”

สุรชัย พุฒิกุลางกูร 
ผู้ก่อตั้งบริษัท Illusion CGI Studio

“ในแง่ธุรกิจคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินคือทุนที่สำคัญและจำเป็นลำดับต้นๆ ที่จะทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ แต่ทุนที่จำเป็นที่สุดสำหรับผู้ประกอบการกลับไม่ใช่เงินแต่คือ ความศรัทธาที่เรามีต่อความฝัน

ความฝันที่เรามีต่อธุรกิจของเรา ฝันที่จะสร้างธุรกิจเพื่ออะไร ใหญ่หรือเล็กแค่ไหน ความศรัทธาที่เรามีจะทำให้เราผ่านอุปสรรคที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงเริ่มต้นที่ยังไม่มีลูกค้า หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาที่บริษัทขาดทุน

“สำหรับผม ความศรัทธาต่อความฝันเป็นทุนที่มีค่าที่สุด ความศรัทธาลดลงได้ แต่ขาดและหมดไปไม่ได้ เราต้องรักษาทุนนี้ให้ดีตลอดชีวิตธุรกิจของเรา”

ธัชวีร์ สนธิระติ
ผู้ก่อตั้ง Indigoskin

“ทุนของเราคือ ประสบการณ์ ความท้าทาย ความดื้อรั้น และมิตรภาพ

“ประสบการณ์–เราทำแบรนด์ด้วยความคิดที่ว่า ไม่ว่าเราจะผ่านการเรียนรู้อะไรจากที่ไหน หรือการได้สนทนากับใคร สิ่งเหล่านี้ไม่มากก็น้อย เรามักจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากคนเหล่านี้ และเราสามารถนำมันมาประยุกต์และปรับเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของเราได้ทั้งนั้น อย่ากลัวที่จะได้พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่าเรามากๆ การพูดคุยกันแค่ 2-3 ชั่วโมงอาจจะได้ประสบการณ์เท่ากับการเรียนหรือทดลองทำธุรกิจเอง 5-10 ปีก็ได้ หรือการพูดคุยกับเด็กๆ ยุคใหม่ เราอาจจะได้วิธีคิดรูปแบบใหม่ที่มาพัฒนาการออกแบบ หรือทำงานให้ทันสมัยเท่าทันยุคได้เช่นกัน 

“ความท้าทายและความดื้อรั้น–เราทำงานด้วยความท้าทายที่ว่า เราอยากทำอะไรให้มันดีที่สุดเท่าที่ความสามารถทำได้ เราต้องทำมันจนเราชอบ เราอยากใช้มัน เราถึงกล้าที่จะทำสินค้านั้นออกมาขาย ดังนั้นการออกแบบหรือทำผลิตภัณฑ์ของเรา มันจะมาจากสิ่งที่เราสนใจรอบตัว ความดื้อก็คือสิ่งที่เราอยากทำนั้น ยิ่งมีคนบอกว่าทำไม่ได้หรือมันยาก เราจะยิ่งอยากทำมันเป็นพิเศษมากกว่าเดิม เพราะเราต้องเชื่อมั่นในอิสระทางความคิดของเรา และถ้าหากเราทำออกมาได้ดีแล้ว มันก็คือความก้าวหน้าขั้นต่อไป แต่ในทางกลับกันถ้าทำแล้วออกมาไม่ดี มันก็คือประสบการณ์ที่เราต้องเรียนรู้ แต่เราต้องท้าทายตัวเอง เราต้องดื้อรั้นกับความเชื่อของตัวเอง ผมเริ่มต้น Indigoskin ด้วยความคิดแบบที่คนบอกว่า  “ทำกางเกงยีนส์ลายไทยขายตัวละหลายพันบาท คุณทำไม่ได้หรอก ผมเอาเงินไปซื้อแบรนด์นอกดีกว่า” คำพูดนี้แหละที่เป็นตัวผลักดันให้ผมพาธุรกิจของผมมาได้จนถึงทุกวันนี้

“มิตรภาพ–การทำธุรกิจจะอยู่มาอย่างยาวนานได้ คุณต้องมีมิตรภาพที่ดี ทั้งคู่ค้าทางธุรกิจ ทั้งมิตรภาพจากลูกค้า และบุคคลสำคัญรอบตัวอย่างเพื่อนๆ และครอบครัว สิ่งเหล่านี้เป็นตัวส่งเสริมแรงใจ แรงกาย และรวมถึงการสนับสนุนต่างๆ ในการทำธุรกิจ ช่วยให้เดินทางผ่านวิกฤตต่างๆ มาได้ หรือบางทีเราก็อาจจะสามารถไปช่วยเหลือเพื่อนๆ อย่างเช่นการทำกิจกรรมร่วมกัน การทำ collaboration แบ่งปันไอเดียในการทำธุรกิจ คุณไม่สามารถอยู่รอดในวงการได้หากคุณมีแต่ศัตรู มองทุกคนเป็นคู่แข่งหมด การทำธุรกิจจะราบรื่นมากหากคุณมีแต่มิตรภาพดีๆ อยู่รอบตัว ผมเชื่อแบบนั้น”

เมธาวจี สาระคุณ
Creative Director / Founder, Inside the Sandbox / Deadline Always Exists

“ทุนของเราคือทีม คือทุกคนที่พร้อมจะเจ็บปวด กรีดร้อง หัวเราะ และเติบโตไปพร้อมๆ กัน

“ด้วยอายุเท่านี้ เรารู้สึกว่าการที่มีคนอนุญาตให้เราผิดพลาดและโตไปด้วยกันมันวิเศษที่สุดแล้ว ที่สำคัญ เราไม่เชื่อว่ามีมนุษย์คนไหนเป็นหัวหน้าที่สมบูรณ์แบบแต่เราเชื่อในการอยู่ด้วยกัน โตไปด้วยกัน ดึงข้อดีที่สุดของกันและกันออกมา และในที่สุดก็ยอมรับกันว่าเราต่างเป็นมนุษย์ที่ผิดพลาดได้และมีวันแย่ๆ บ้าง แต่ที่สุดแล้วเราก็จะมีวันที่เราหัวเราะด้วยกัน

“เราพูดตลอดว่าเหตุผลเดียวที่เราทำงานที่นี่คือทีมนี้ เรามองว่าบริษัทเป็นแค่ข้ออ้างแหละ ความจริงสิ่งที่ดีที่สุดของการได้ทำงานคือการได้อยู่กับคนเหล่านี้ต่างหาก”

ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร
กรรมการผู้จัดการ JaiBaan Studio 

“ตอบยากมากๆ เลย ที่ยากคือไม่ได้ไม่รู้ว่าจะตอบอะไร แต่เพราะมันมีเยอะอยู่พอสมควรเลยในวันและเวลาที่ได้มองย้อนกลับไป 

“ทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเราเติบโตนี่มีอยู่หลายเรื่องเลย แม้ในตอนนั้นอาจจะไม่ได้คิดว่ามันเป็นทุนได้ ตั้งแต่ความเปราะบางที่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเองให้เป็นการเรียนรู้ ความเชื่อลึกๆ ว่างานแบบที่เราเชื่อนั้นมีพื้นที่ให้เติบโตและเป็นเราที่คู่ควรกับงานแบบนี้ หรือพลังงานในวัยเด็กที่ชอบผจญภัย ได้ค้นพบและชอบเรื่องราวที่ดูเป็นเหมือนอุดมคติ ซึ่งสิ่งนี้คอยผลักดันเราเสมอเวลาต้องตัดสินใจในเรื่องที่เป็นคุณค่า 

“อีกอย่างคือสภาพแวดล้อมที่เราเติบโตมา ตั้งแต่ครอบครัวที่ให้อิสรภาพกับเรา รักเรา และไม่ตัดสินเรา รวมทั้งเชื่อเรา ในวันที่มันยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก ระบบนิเวศแวดล้อมที่หล่อหลอมอัตลักษณ์บางอย่างที่เรามีและใช้ในงานทุกชิ้น

“และสุดท้ายคือทีมงานที่ดี ที่เรียกว่าดีนี่หมายถึงความรู้สึกเป็นคู่หูทั้งในวันที่งานสำเร็จและเผชิญความยาก องค์ประกอบเหล่านี้คือทุนสำคัญของเราที่เดินทางมาถึงวันนี้และน่าจะเป็นทุนสำคัญในการเดินทางต่อไปในอนาคต”

อเล็กซ์ อึ้ง
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

“ตั้งแต่วันแรกที่เราเริ่ม Kerry Express ทุนที่สำคัญที่สุดของธุรกิจคือ บุคลากรของเราที่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา 

“เมื่อเราใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังก็ทำให้องค์กรของเราบริการลูกค้าด้วยหัวใจ สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ลดโอกาสความขัดเเย้งภายในที่อาจจะเกิดให้น้อยที่สุด นั่นทำให้เราก้าวนำอยู่ในอุตสาหกรรมนี้อยู่เสมอ รวมถึงเราสามารถสื่อสารกับผู้ลงทุนและผู้ถือหุ้นอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา คุณค่าของ Kerry จึงไม่ได้อยู่ที่บุคลากรเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่บุคลากรผู้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา”

ฐิติพงศ์ ดาวพิเศษ
ผู้ร่วมก่อตั้ง La Vela Khao Lak

“ทุนของผมคือ ครอบครัว ศิลปะ กีฬา และธรรมชาติ

“ผมโชคดีที่มีครอบครัวที่คอยสนับสนุนความชอบในศิลปะและกีฬา มีวิสัยทัศน์ลงทุนในการพัฒนาพื้นที่เขาหลักมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรักและเข้าใจในงานออกแบบ จึงได้เกิดโปรเจกต์ที่เปิดโอกาสให้ใช้ศิลปะและดีไซน์เข้ามาเป็นแกนหลักอย่างเช่นโรงแรม Casa de La flora, La Vela ซึ่งต่อมาก็ถือได้ว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการเปิดตลาดใหม่ๆ ดึงกลุ่มคนไทยและคนรุ่นใหม่ให้รู้จักเขาหลักมากขึ้น โดยผมมีความเชื่อมั่นว่าดีไซน์ที่ดีนั้นสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ช่วยพัฒนาชุมชนได้ และจากการที่เป็นนักกีฬา จึงทำให้ผมเข้าใจถึงความสำคัญของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อธุรกิจบริการในอนาคต

“ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่สวยงามของเขาหลัก ประกอบกับการที่มีคลื่นที่เหมาะสมกับการโต้คลื่นและมีชุมชนนักโต้คลื่นที่แข็งแรง จึงได้เกิดโปรเจกต์ Laybay ซึ่งเป็นสนามเซิร์ฟสเกตที่ใช้ดีไซน์และ wellness เข้ามาเป็นแกนหลัก ยึดโยงกับชุมชนและคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองให้เป็นเซิร์ฟทาวน์ที่สวยงามและยั่งยืน”

สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ 
กรรมการผู้จัดการ บริษัท สังคมสุขภาพ จำกัด

“เราไม่ได้เริ่มจากการอยากทำธุรกิจ แต่เราออกแบบธุรกิจนี้เมื่อราว 25 ปีก่อน เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างแรงกระเพื่อมเล็กๆ ในแบบที่พอทำได้ ให้คนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมีสุขภาพที่ดีขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่

“เกษตรอินทรีย์คือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง วิถีนี้เอื้อให้เกษตรกรในหลายพื้นที่สามารถเลี้ยงชีพ พลิกชีวิต บนฐานการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารพิษ ส่งมอบอาหารสะอาดที่มีพลังชีวิตดีๆ ให้ผู้บริโภคทานอย่างมีความสุข รวมทั้งร่วมฟื้นฟูผืนป่าและสิ่งแวดล้อมด้วย

“ระหว่างทางมีเรื่องต้องอดทน ฝ่าฟันเยอะเป็นธรรมดา ขอบคุณทีมงาน พี่น้องเกษตรกร และผู้บริโภค ที่ร่วมเดินทาง สร้างสรรค์วิถีแห่งสุขภาพและความยั่งยืนนี้มาด้วยกัน”

ธนิสรา โพธิ์นทีไท
Creative Director, Madmatter

“ทุนที่สำคัญต่อธุรกิจคือ ความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ เพราะการทำธุรกิจเป็นงานสร้างที่เริ่มทุกอย่างจากศูนย์ การที่จะพามันเติบโตและไปข้างหน้าได้ ต้องผ่านความยากเย็น ปัญหาสารพัด ถ้าจิตใจเราไม่มุ่งมั่นพอ มันจะไม่มีแรงผลักดันธุรกิจให้ไปต่อได้เลย 

“ช่วงแรกที่เริ่มทำแบรนด์ เรื่องธุรกิจแฟชั่นยั่งยืนในประเทศเรายังใหม่มาก เราต้องเจอปัญหาทั้งการผลิต ผู้บริโภคไม่เข้าใจว่าทำไมรักษ์โลกแล้วราคาถึงแพง มันดียังไง เขาไม่เห็นคุณค่าสิ่งที่เราทำ ซึ่งทำให้เราอยากเลิกทำหลายครั้ง แต่เพราะความมุ่งมั่นที่จะต้องทำให้ได้นี่แหละ เป็นแรงให้เราคอยคิดหาทางออกและปรับตัวอยู่ตลอด ทำให้ธุรกิจของเราไปต่อได้”

กฤติกร ธนมหามงคล 
บรรณาธิการบริหาร Main Stand 

“ทุนในชีวิตที่สำคัญของผมคงเป็นเรื่องความอยากเอาชนะ ผมเป็นพวกอยากเอาชนะด้วยความแตกต่างเสมอ เป็นคนไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆ คนอื่น แม้กระทั่งเรื่องที่เราถนัดอย่างการทำคอนเทนต์กีฬา ผมไม่ชอบการทำข่าวกีฬาที่เน้นกระแส เน้นดราม่า เพราะฉะนั้นถ้าได้ทำสื่อกีฬา ที่เราได้วางรากฐาน เราก็ตั้งใจทำในแบบที่มันเป็นไปตามอุดมคติของเรามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“มันจะต้องเป็นสื่อกีฬาที่อัดแน่นด้วยความรู้ ความสนุก และทำให้คนทั่วไปอ่านได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นแฟนกีฬา เพราะเราอยากให้เรื่องกีฬามันเข้าถึงคนวงกว้างทุกคน โอเค แม้วันเวลาผ่านไปเราต้องยอมรับความจริงว่า โลกนี้มันก็หมุนไปด้วยเรื่องของทุนนิยม สิ่งที่เราอยากให้เป็นจาก 100 เปอร์เซ็นต์ มันอาจจะเหลือแค่สัก 70 เปอร์เซ็นต์ แต่สารตั้งต้นที่เราวางเอาไว้ อย่างน้อยมันก็เป็นพื้นฐานสำคัญให้ Main Stand ก้าวไปข้างหน้าได้ในแบบที่หลายๆ คนยอมรับ ผมว่านั่นถือเป็นความสำเร็จแล้ว”

ภวัต เรืองเดชวรชัย 
President & CEO, MI Group

“ทุนที่สำคัญในมุมมองของผม คือ trust ความเชื่อถือ ความไว้วางใจที่ลูกค้าและคู่ค้ามีต่อ MI Group ในการดูแลและวางแผนการตลาดและสื่อสารการตลาดให้แบรนด์ต่างๆ

“trust สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจในฐานะ media & marketing communication agency เพราะมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของงบการตลาดของแบรนด์หนึ่งๆ ถูกใช้ไปกับ media & marketing communication ซึ่งเป็นตัวหลักในการ drive sales & sustainability ของแบรนด์ที่ MI Group ดูแล ดังนั้นความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อความเป็นผู้เชี่ยวชาญในแขนงนี้จึงเป็นต้นทุนสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจของ MI Group ซึ่ง trust ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาแค่ชั่วข้ามวันหรือข้ามปีแต่เราได้สั่งสมความไว้วางใจกับคู่ค้ามาเกือบ 20 ปี จนได้รับความมั่นใจและบอกต่อในสถานการณ์การแข่งขันที่กดดันและดุเดือดจนทุกวันนี้”

รสลิน จรรยาศักดิ์
ผู้ก่อตั้งและดีไซเนอร์แบรนด์ Mo.

“ต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจของเราคือพลังของเพื่อน คนที่ช่วยให้เราตั้งต้นได้คือเพื่อนๆ และคนรอบตัว จากนั้นก็กลายมาเป็นการบอกแบบปากต่อปาก ลูกค้ากลายเป็นเพื่อนของเพื่อน แล้วก็ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเวลาโยนหิน แล้วเกิดระลอกคลื่นเป็นวงต่อๆ กัน 

“จนถึงทุกวันนี้ก็ยังขอบคุณเพื่อนๆ ที่ทำให้เราได้เริ่มต้นและเติบโตมีฐานลูกค้าที่เชื่อในแบรนด์ในวงกว้างขึ้น นับจากวันแรกที่ทุกคนเชื่อในตัวเรา”

อีเลน ซัน
ผู้ก่อตั้ง Nangloeng Shophouse นางเลิ้งชอปเฮาส์, Kǔ / Ku bar 

“ทุนที่สำคัญของธุรกิจเราคือ การอยากร่วมแบ่งปันประสบการณ์โดยสื่อสารผ่านของกินของใช้ที่พวกเราชื่นชอบแล้วแชร์ร่วมกับผู้อื่นที่สนใจ”

นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์
ผู้ก่อตั้ง Nuaynard

“ทุนของเราคือวัตถุดิบทุกอย่างในชีวิตที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ นั่นหมายถึงเงินด้วย เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราสามารถนำทุนอันน้อยนิดของเรา มาผสม ปรุงรส ประกอบร่าง เป็นอะไรได้บ้าง แฟนเรามีบ้านต่างจังหวัดทิ้งไว้เฉยๆ แล้วเราสนใจความเป็นพื้นถิ่นพอๆ กับสนใจเทรนด์โลก การไปทดลองอยู่บ้านซับศรีจันทร์ ทำให้เรารู้จักกับช่างฝีมือ และเจอวัตถุดิบธรรมชาติสำคัญในพื้นที่มากมาย เราไม่ได้มีแพสชั่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะรู้สึกว่าการมีชีวิตด้านเดียวมันน่าเบื่อเกินไป ดังนั้นทุนอีกอย่างของเราคือเวลา เราเลยอยากทำธุรกิจที่เอื้อกับการใช้ชีวิตได้หลายๆ แบบ จึงพยายามหาวิธี และรูปแบบการทำงาน ที่สามารถจัดการได้เพียงสองคน เพื่อเหลือพื้นที่ เหลือเวลาให้เราออกไปเติบโตเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ของชีวิต

“วัตถุดิบที่มากล้นจนแทบจะเหลือทิ้งขว้าง นั่นคือทุนชั้นดี เป็นตัวช่วยสำคัญของการประหยัดทุนที่เรียกว่าเงิน บ้านซับศรีจันทร์มีเศษหินเหลือทิ้งมาก ทำให้เราผลิตชิ้นงานได้ต่อเนื่อง ช่างเองก็สามารถนำเศษหินมาสร้างราคาใหม่ได้อีก เรามีใบหมี่ ใบย่านางขึ้นเองรอบบ้านตลอดทั้งปี ทำให้เราไม่ต้องกังวลว่าวัตถุดิบในการทำแชมพูจะขาดแคลน รวมถึงการพยายามงอกเงยทุนที่เรียกว่า ‘เวลา’ ให้มีมากพอ เพื่อเหลือพื้นที่ใช้ใจไปเล่นกับงาน ผลลัพธ์คือ ทำให้เราได้คุณภาพการผลิตที่ดี เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ผลงานจะออกมาดั่งใจทุกครั้งเมื่อเรามีเวลามากพอ แล้วเรื่องพวกนี้ลูกค้าสัมผัสได้”

ลลิดา สิทธิพฤษทานนท์
เจ้าของและผู้ก่อตั้ง OMNiA Café & Roastery

“ทุนที่สำคัญของเราคือความจริงใจ เราว่ามันสำคัญมาก ไม่ว่าเราจะอยู่ในธุรกิจหรือแม้จะไม่ได้อยู่ในโลกธุรกิจก็ตาม

“ที่นี่เราให้ความสำคัญกับนักเรียนเท่ากัน ให้ความรู้อย่างเต็มที่ รายละเอียดการสอนที่อิงหลักสูตรมาตรฐานสมาคมกาแฟพิเศษโลก SCA (Specialty Coffee Assocoation) และที่สำคัญเราไม่เคยยุบคลาสสอน มีนักเรียนเพียงคนเดียวก็สอน

“นี่คงเป็นสาเหตุที่นักเรียนแต่ละท่านเดินทางมาเรียนกับเราถึงเชียงใหม่ และสาเหตุที่สำคัญอีกสิ่งคือ เรื่องราวของกาแฟที่หล่อหลอมเป็นตัวเรา ก็มีส่วนมากพอควร คือเราเริ่มจากความสนใจในคำว่า specialty coffee ตั้งแต่สิบปีก่อนที่คนยังไม่รู้จักคำว่ากาแฟพิเศษ หรือคำว่า single-origin ในกาแฟ เริ่มจากการเรียน และพาตัวเองออกเดินทางไปยังแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่อเสียงในโลก

“เราไปเพื่อเห็นและเรียนรู้ในสิ่งที่อีกซีกโลกของกาแฟเขาทำ เขามีการสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น และที่สำคัญทำไมกาแฟเขาถึงมีมูลค่าสูงในตลาดโลกได้ และนำกลับมาพัฒนากาแฟที่บ้านเราที่นำมาเสิร์ฟที่ร้าน ส่วนในการสอน เราได้รับใบอนุญาตสอนในสมาคมกาแฟพิเศษ ทั้งของอเมริกา Specialty Coffee Association of America และของยุโรป Specialty Coffee Association of Europe ในทุกๆ module เลย ก็น่าจะเป็นคนไทยเดียวในบ้านเราที่สอนได้ครบ ทั้ง 5 module 

“และตอนนี้ OMNiA Café เชียงใหม่ เราเปิดมาเข้าปีที่ 7 แล้ว เปรียบกับคนที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัย mature ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง พัฒนา เรียนรู้ และก้าวเดินไปในโลกกาแฟที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ
ผู้ร่วมก่อตั้ง Once Again Hostel / Luk Hostel

“หากพูดถึงทุนที่สำคัญในการทำธุรกิจในอดีต เราน่าจะพูดถึงแพสชั่น ความไม่ย่อท้อ ความอดทนมุ่งมั่นต่อสู้ต่อความท้าทายเพื่อพิชิตฝันของผู้ก่อตั้ง หรือเป็นเรื่องของการบริหารคน การสร้างทีมงาน และการเอาใจใส่คนให้คนเก่งอยากอยู่กับเรา

“แต่หากพูดถึงวันนี้ ผมคิดว่าทุนที่สำคัญมากของการเริ่มต้นทำธุรกิจคือ ความเห็นอกเห็นใจ 

“ความเห็นอกเห็นใจเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างสิ่งที่ดีขึ้น ต่อตนเองและต่อสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวเราในทุกระดับ โดยเฉพาะการทำธุรกิจที่หลายคนมักมองว่า มักเป็นเรื่องของการแข่งขัน แก่งแย่ง คนหนึ่งได้อีกคนหนึ่งจะต้องเสีย แต่แท้จริงแล้วธุรกิจเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกคนดีไปด้วยกันได้ หากเราเริ่มจากความเห็นอกเห็นใจตัวเอง ผู้ร่วมก่อตั้ง พนักงานของเรา ชุมชนแวดล้อมย่านที่เราอาศัยอยู่ เมืองของเรา ประเทศ และสิ่งแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยต้นไม้ พืชพรรณ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มันยิ่งชัดเจนเมื่อโควิดแสดงให้เราเห็นถึงความไม่ยั่งยืนของการประกอบกิจการในอดีต การเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยความเห็นอกเห็นใจ คิดถึงสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองอยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก”

เดียว วรตั้งตระกูล
ประธานเจ้าหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท วันสามสิบเอ็ด จำกัด

“ทุนที่สำคัญในการทำธุรกิจให้เติบโตคือแพสชั่น ความชอบ ความหลงใหลในสิ่งที่ทำ คือทุนสำคัญที่จะนำพาให้เราทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด และหาทุกองค์ประกอบที่จะทำให้สำเร็จ รวมทั้งวิธีการก้าวข้ามปัญหา มองไปสู่เป้าหมายข้างหน้าอย่างสนุก ท้าทาย และไม่สิ้นสุด”

สิริอร เฑียรฆประสิทธิ์ 
ผู้ก่อตั้ง PAINKILLER Atelier

“ทุนที่สำคัญของอรคือความเชื่อที่ว่าเกิดมาเป็นคนแล้วต้องทำประโยชน์ต่อโลกให้ได้สักทาง อรเชื่อว่าไม่ว่าประกอบอาชีพอะไรเราก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่ดีต่อสังคมและโลกของเราได้ เราเกิดมาแล้วตายจากไป แต่ถ้าประโยชน์ของเราคงอยู่ได้ต่อไปก็คงดี”

วรวิทย์ ศิริพากย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปุริ จำกัด

“ผมคิดว่าทุนสำคัญที่ทำให้ PAÑPURI เติบโต อันดับแรกคือ เป้าหมายที่ชัดเจน หรือการตั้งคำถามและหาคำตอบให้ชัดว่าทำไมถึงต้องมีแบรนด์อยู่ 

“เราตื่นขึ้นมาทำอะไร จุดประสงค์ในชีวิตของแบรนด์คืออะไร ซึ่งคำตอบที่เราตอบตัวเองทุกวัน คือเราอยากให้คนมีสุขภาพกาย ใจ และจิตวิญญาณที่ดีขึ้น เพื่อเขาจะได้ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุกๆ วัน และเราก็เอาเป้าหมายนี้มาเป็นแกนหลักในทุกสิ่งที่เราทำ 

“อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือทีมที่มีความเชื่อ และมีใจรักในจุดมุ่งหมายเดียวกัน เมื่อเราพร้อมก้าวเดินไปที่จุดหมายปลายทางเดียวกันจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้แบรนด์ก้าวไปข้างหน้าได้”

ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา
ผู้ก่อตั้ง Pasutara / Ali Everyday Products / First and Foremost

“สำหรับผม การทำธุรกิจขึ้นมาสักอย่างนึง ผมไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจะทำสำเร็จหรือเปล่า เพราะมันมีปัจจัยภายในภายนอกจำนวนมากมากำหนด ผมจึงคิดว่าทุนที่สำคัญที่สุดของการทำธุรกิจที่ผ่านมา คือทุนที่เอื้อให้ผมล้มเหลวได้หลายครั้งแล้วยังมีกำลังทำต่อ

“ทุนแรกคือ support system ที่ดี ซึ่งรวมถึงเพื่อน ครอบครัว ผู้ใหญ่ที่เราเคารพ และลูกค้าผู้ที่รักในสิ่งที่เราทำ มิตรภาพและคนรอบกายที่ปรารถนาดีจะเป็นทั้งผู้ให้คำแนะนำในวันที่หลงทาง เป็นผู้เติมพลังใจให้ไปต่อในวันที่เหนื่อยอ่อน เป็นผู้กุมกุญแจสำหรับเปิดประตูไปสู่สภาวะใหม่ที่สดใสสว่างกว่า เมื่อเทียบกับสิ่งที่เผชิญอยู่

“ทุนถัดมาคือความรู้ ความรู้กว้างในหลายเรื่องและลึกในบางเรื่อง ไม่ได้หมายถึงแค่ในรูปแบบวิชาการ แต่คือการรู้จักตัวเอง รู้จักงาน และรู้จักคน ความรู้ทำให้เรามีความมั่นใจในการหาโอกาสใหม่ๆ ในวันที่ล้มเหลว ความรู้นี่แหละคือแหล่งพลังงานของความเชื่อมั่นในตัวเอง ว่าเราจะพาตัวเองและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนรอด ทั้งในระยะสั้นท่ามกลางวิกฤตและระยะยาวสู่ความยั่งยืนของธุรกิจ

“ลำดับถัดมาคือเงินและทีม การมีทุนด้านการเงินที่มากจะทำให้เราเกิดความกล้าทดลองทำสิ่งใหม่ กล้าเสี่ยงทำในสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ การมีเงินทุนทำให้เรามีเวลาคิดสร้างสรรค์โอกาส แทนที่จะต้องนั่งกลัดกลุ้มว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าตอบแทนทีมและคู่ค้า และแน่นอนทีม ทีมงานที่ควรค่าแก่การไว้วางใจทำให้ผมมองว่าความล้มเหลวคือบทเรียนและแบบทดสอบ ทุกการล้มเหลวเต็มไปด้วยแนวทางและโอกาสใหม่

“ทุนสุดท้ายที่เปรียบเหมือนอะตอมไฮโดรเจนของดวงอาทิตย์ เป็นเชื้อไฟของการทำงานแบบไม่รู้จักหมดสิ้น คือ จุดมุ่งหมายของการอยากปกป้องอะไรสักอย่าง (purpose) สำหรับผมแล้วสิ่งนั้นคือ ธรรมชาติ ต่อให้ทำแล้วล้มเหลวสักกี่ครั้ง ถ้าเรายังมีอะไรบางอย่างที่อยากทำอยากปกป้อง ผมพบว่าทุกสิ่งที่ผ่านมา ล้วนเกิดคุณค่าแล้วทั้งสิ้น เมื่อรู้สึกเช่นนี้ เราจะสามารถวางใจในความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน แล้วนำสิ่งที่เรียนรู้มาประกอบร่างสร้างตัวใหม่ เพื่อการเดินทางสู่เป้าหมายได้ดีขึ้น”

สันติ ลอรัชวี
ผู้ร่วมก่อตั้ง PRACTICAL Design Studio และ PRACTICAL school of design

“ส่วนตัวผมไม่แน่ใจว่าที่ตัวเองทำจนมาถึงตอนนี้นั้น นับว่าประสบความสำเร็จในแง่ของการทำธุรกิจหรือไม่ เพราะคิดว่าตนเองทำธุรกิจได้ไม่ดีนักในด้านของกำไรที่เป็นตัวเลข จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ทุนที่ผมใช้ในการทำสตูดิโอออกแบบจึงมีหลายสิ่งนอกเหนือจากเงิน จึงขอลองตอบทีละข้อเท่าที่พอจะอธิบายได้

“หนึ่ง–ความอยาก ความต้องการที่จะทำอะไรบางอย่างที่เราเชื่อว่าดีมาสู่คนอื่นๆ การมีต้นทุนความอยากนี้ มันผลักดันเราอย่างมากในการตัดสินใจลงมือทำ มันทำให้กล้าด้วย แม้ว่าหลายครั้งอาจจะกล้าเสี่ยงจนเหมือนไม่รอบคอบก็ตาม แต่ส่วนตัวเชื่อว่าถ้าความอยากทำมันมากพอ มันจะเปรียบเหมือนเชื้อเพลิงที่ทำให้เราเริ่มก้าว ผลักดันศักยภาพตัวเอง และเดินหน้าสู้ต่อปัญหาทั้งหลาย

“สอง–มิตรภาพที่น่านับถือ การมีความรู้สึกยกย่องนับถือกันเป็นมิตรภาพประเภทหนึ่งที่เชื่อว่าเป็นลมใต้ปีกของการประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นภายในองค์กรกันเอง กับลูกค้า กับซัพพลายเออร์ รวมถึงกับผู้คนทั่วไปที่มองเข้ามา หลายครั้งมิตรภาพเหล่านี้จึงส่งผลดีกับธุรกิจในลักษณะการปรับเปลี่ยนสถานะไปมาจนเป็นสังคมที่ดี เช่น จากลูกค้ากลายเป็นเพื่อน จากเพื่อนเป็นลูกค้า จากซัพพลายเออร์กลายเป็นลูกค้า เป็นต้น ความสัมพันธ์ลักษณะนี้จึงมีความเกื้อกูลกันทั้งในการทำงานและความรู้สึกที่ได้รับ

“สาม–ความล้มเหลวเล็กๆ ความล้มเหลวที่เรายอมรับ มองเห็นข้อผิดพลาด และสามารถให้อภัยตัวเอง เป็นต้นทุนที่ผมใช้ในการทำงานมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากทักษะ ประสบการณ์ หรือแม้กระทั่งเกิดจากนิสัยและอารมณ์ส่วนตัว หากไม่มีความผิดพลาดเหล่านี้ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะปรับปรุงและพัฒนาอย่างไร

“สี่–ผลประโยชน์ เรามักจะมีคำพูดติดปากว่า “จะทำไปทำไม ไม่เห็นจะได้อะไรขึ้นมา” ผลประโยชน์จึงเป็นต้นทุนที่สำคัญในการหล่อเลี้ยงการเดินทางไกลให้ไปต่อได้ ส่วนตัวผมพยายามให้นิยามและหารูปแบบที่หลากหลายทั้งในแง่ของการเงิน สถานะ และความรู้สึก เราจำเป็นต้องมีนิยามของผลประโยชน์ที่หลากหลายให้กับตัวเอง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า และสังคมรอบตัว ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจเล็กๆ ที่ไม่สามารถสร้างผลกำไรที่เป็นตัวเลขได้สูงมากนัก สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองและผู้คนรอบตัวได้อย่างพอใจและเหมาะสมกับช่วงชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน 

“นึกๆ ดูก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่สามารถนับเป็นทุนในการประกอบธุรกิจอีกไม่น้อย แต่เท่าที่พอเรียบเรียงออกมาได้ก็คงมีเท่านี้”

ปวริศ ขาวสำอางค์
CEO / Co-founder, Punpro

“ต้นทุนสำคัญในการทำธุรกิจของผมคือ คนที่อยู่กันมาตั้งแต่เริ่มและทีมงานที่เติบโตมาด้วยกัน”

ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์
Design Director บริษัท นิวอาไรวา จำกัด 

“ทุนของผมคือความคิด ในธุรกิจของผมความคิดใหม่ๆ มีความสำคัญมาก ความคิดสามารถสร้างมูลค่าให้กับสิ่งต่างๆ ได้ แม้แต่สิ่งด้อยค่าที่สุดอย่าง ‘ขยะ’  

“แต่ทุนทางความคิดก็มีค่าลดลงไปตามเวลาเหมือนเงินเฟ้อ จึงจำเป็นต้องลงทุนพัฒนาความคิดให้เพิ่มอยู่ตลอดเวลา และความรู้จะเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของความคิด เก็บออมสะสมไว้มากๆ ก็ดี แต่ถ้าไม่นำไปใช้ประโยชน์สักที วันหนึ่งความรู้และความคิดที่เก็บไว้ก็จะหมดอายุไปได้เหมือนกัน”

Illustrator

Just another graphic designer

You Might Also Like