Now and Future Trend

คุยกับนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ว่านอกจากการเก็งกำไร คริปโตฯ จะส่งผลต่อธุรกิจและชีวิตคนหมู่แมสยังไงบ้าง

เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมการเงิน แน่นอนว่าเทรนด์ที่มาแรงที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เราจึงชวน ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย มาพูดคุยกันถึงเทรนด์สำคัญที่ว่า หากแต่ประเด็นที่เราพูดคุยกับศุภกฤษฎ์ครั้งนี้ ไม่ใช่แง่มุมของการเก็งกำไร

ไม่มีบอกว่าควรลงทุนในตัวไหน ถือไว้ยาวเท่าไหร่ ดูกราฟการเทรดยังไง เราตั้งใจชวนคุยถึงทิศทางที่สำคัญ ด้วยเชื่อว่ามันมีผลต่อการวางแผนของใครหลายคน

ปี 2022 คริปโตฯ จะส่งผลกับชีวิตประจำวันของเรายังไง ธุรกิจรายเล็กรายใหญ่ควรจะรับมือกับโลกการเงินที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยวิธีไหน 

หรือต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่เรื่องคริปโตฯ จะแมสชนิดที่ว่าร้านกับข้าวหน้าปากซอยหลายๆ ร้านจะรับจ่ายอาหารด้วยเงินสกุลดิจิทัลได้

RE-CAP 

การลงทุนเป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล

มองย้อนกลับไปในภาพรวมของ 2021 หากพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ราคาของคริปโตฯ ที่ขึ้น-ลงเหมือนรถไฟเหาะน่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง ตั้งแต่ช่วงที่ราคาแตะเกินล้าน พอถึงเดือนพฤษภาคมราคาก็ดิ่งลงมา แล้วราคาก็ดีดขึ้นมาเป็น all-time high ในช่วงพฤศจิกายน

ข้อมูลด้านบนสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนให้ความสนใจในเรื่องของการลงทุนในคริปโตฯ จนกลายเป็นกระแส แต่ในมุมของศุภกฤษฎ์เขามองว่าการลงทุนเป็นเพียงสัดส่วนที่เล็กน้อยมาก หากเทียบกับโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลที่แสนจะกว้างใหญ่ 

“ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลมันยังมีอะไรอีกเยอะแยะ และเอาไปพัฒนาเป็นอย่างอื่นได้อีกมากมาย เพียงแต่เรื่องการลงทุนมันเป็นการสื่อสารที่ทรงพลังและดึงดูดใจให้คนเข้ามาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในยุคเริ่มต้นมันก็ต้องอาศัยเรื่องพวกนี้แหละ จนกว่าจะไปถึงสเตจที่ผู้คนจะได้เรียนรู้จริงๆ ว่าประโยชน์ของมันที่มากกว่านี้คืออะไร

ผมมองว่านี่ยังเป็นช่วง early adoption ยังไม่ได้แมสเพราะถ้าจะเรียกว่าแมสได้คือถ้าเดินไปเจอใครเขาต้องมีสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในมือแล้ว”

อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวน่าสนใจในปีที่ผ่านมา ก่อนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกร่างหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้ใช้ crypto เป็นตัวกลางในการซื้อ-ขายสินค้าและบริการ ก็คือการที่เหล่าแบรนด์ใหญ่ทยอยออกมาเปิดรับชำระค่าสินค้าด้วยเงินสกุลดิจิทัล 

หลายคนมองว่ามันคือการตลาด เช่นเดียวกับศุภกฤษฎ์ที่คิดว่าในแง่มุมหนึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดเขามองว่ามันคือเรื่องของการค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในธุรกิจ เป็นเหมือนการทดลองที่ใครทดลองก่อน ล้มเหลวก่อนก็จะมีประสบการณ์มากกว่า 

เมื่อถึงวันที่ผู้คนเริ่มเปิดรับในระดับแมสก็จะทำให้ธุรกิจมีความพร้อมในการตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยไม่ต้องเสียเวลามาทดลองอีกครั้ง ซึ่งนั่นอาจกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้คู่แข่งเข้ามาแย่งชิงโอกาสทางธุรกิจไปได้ 

แบรนด์ใหญ่ปรับได้ แต่แบรนด์เล็กที่ไม่ได้มีสายป่านธุรกิจที่ยาวมากเท่า ไม่สามารถหั่นงบมาทำการตลาดหรือ R&D (research and development) ควรปรับตัวยังไงกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ 

ศุภกฤษฎ์จึงแนะนำว่าสิ่งที่แบรนด์เล็กทำได้ทันทีในตอนนี้คือการศึกษาและทำความเข้าใจเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลเอาไว้ เพราะเมื่อถึงเวลาที่เทคโนโลยีพร้อมสำหรับแบรนด์เล็กเมื่อไหร่ ก็สามารถดึงเอาความรู้ที่เคยลงทุนเก็บสะสมเอาไว้มาต่อยอดในธุรกิจได้ทันที 

“อาจไม่ต้องนำหน้า แค่ได้อยู่ในเฟสต้นๆ ตอนที่เขากำลังปรับใช้ ผมว่าก็เป็นอะไรที่มีประโยชน์กับธุรกิจรายย่อยไม่น้อยเลย”

Planner

จากสายตาของนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลของไทย เขามองว่าในปี 2022 วงการนี้น่าจะมีความเปลี่ยนแปลงในหลายแง่มุมด้วยกัน 

แง่มุมรัฐบาล

ศุภกฤษฎ์บอกว่าเมื่อคริปโตฯ เป็นเรื่องที่คนเริ่มให้ความสนใจมากขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทบางอย่างกับวงการสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้นเช่นกัน

และหลังจากการพูดคุยกับศุภกฤษฎ์ ไม่กี่สัปดาห์หลังจากนั้น ก็เกิดประเด็นร้อนที่คนในวงการพูดถึงกันเป็นอย่างมาก นั่นคือการที่สรรพากรได้ออกมา take action เอาจริงเอาจังกับการเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น 

โดยใจความสำคัญของเรื่องนี้มีอยู่ว่า นักลงทุนที่มีกำไรจากการเทรดคริปโตฯ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15 เปอร์เซ็นต์ของกำไรที่ได้ 

ซึ่งในแบบยื่นภาษีเงินได้เดือนมีนาคม 2565 ก็จะมีช่องให้ติ๊กสำหรับคนที่มีกำไรจากตรงนี้ ทั้งยังนำเอา data analytics มาช่วยตรวจสอบด้วยว่าใครยื่นหรือไม่ยื่นภาษีแล้วบ้าง

แง่มุมแบรนด์ใหญ่

จากปี 2021 ที่ผ่านมาเราได้เห็นกลุ่มธุรกิจเดิมค่อยๆ ขยับปรับตัวเข้ามาในโลกเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น ศุภกฤษฎ์ยกตัวอย่างแบรนด์ระดับโลกมาเล่าให้ฟัง เช่น Nike ที่ก้าวเข้ามาในวงการนี้ด้วยการซื้อ RTFKT บริษัททำสนีกเกอร์ในรูปแบบ NFT มาเป็นของตัวเอง

รวมไปถึงอีกหลายตัวอย่างที่เขาไม่ได้ยกขึ้นมา แต่เป็นบิ๊กดีลที่หลายคนน่าจะจำกันได้ ทั้งการที่ธนาคารเข้าซื้อ exchange เจ้าหนึ่งด้วยมูลค่า 17,850 ล้านบาท หรือการที่หลายแบรนด์ใหญ่เริ่มมีบริการออกมารองรับ crypto มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณความเคลื่อนไหวที่น่าจะส่งผลกระทบอะไรบางอย่างกับวงการสินทรัพย์ดิจิทัลปี 2022 ในบ้านเราได้ไม่น้อยเลย 

แง่มุมผู้พัฒนา 

ศุภกฤษฎ์มองว่าหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาก็จะส่งผลให้ในปี 2022 ตลาดจะเริ่มคัดสรรผู้พัฒนาที่มีศักยภาพมากกว่าเดิม และนั่นก็จะทำให้เกิดโปรเจกต์ใหม่ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเงินทุนจากเหล่า Venture Capital ก็จะหลั่งไหลเข้ามาในวงการนี้มากขึ้นเช่นกัน

จากภาพรวมของตลาดที่มีแนวโน้มจะเติบโตเช่นนี้ ก็จะส่งผลต่อการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ ในโลกของ crypto space เพิ่มขึ้นไปด้วย เทียบให้เห็นภาพก็เหมือนอาชีพบล็อกเกอร์, ยูทูบเบอร์, อินฟลูเอนเซอร์ ที่ไม่ได้เกิดมาจากการร่ำเรียนในมหาวิทยาลัย แต่เป็นเพราะโลกออนไลน์ที่ทำให้ผู้คนเห็นโอกาสในการทำอาชีพใหม่ขึ้นมา 

แง่มุมนักลงทุน

จากปีที่ผ่านๆ มา เขามองว่า cycle ของราคาที่ขึ้น-ลงเหมือนรถไฟเหาะจะเริ่มสอนอะไรบางอย่างให้กับเหล่านักลงทุนมากขึ้น จะมีคนกลุ่มนึงที่ออกไปจากตลาด แต่เดี๋ยวเขาก็จะกลับมาใหม่ใน cycle ถัดไปที่มีเรื่องราวใหม่ๆ เข้ามา 

และอีกเรื่องที่ไม่ต้องคาดเพราะเราได้เห็นกันตามหน้าข่าวกันแล้ว นั่นก็คือเรื่องของภาษีคริปโตฯ ที่จะเข้ามากระทบต่อนักลงทุนไม่แง่ใดก็แง่มุมหนึ่ง ซึ่งก็คงต้องมาดูกันต่อไปในอนาคตหลังจากผลการพูดคุยหารือระหว่างสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย กับกรมสรรพากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่คาดว่าจะได้ข้อสรุปออกมาในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ 

ความเข้าใจของผู้คน สำคัญพอๆ กับเทคโนโลยีที่ดี 

บัตรเดบิต, บัตรเครดิต, Mobile Banking, QR Code แม้วิธีการชำระเงินทั้งหลายเหล่านี้จะอ้างอิงกับเงินในบัญชีที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ถึงอย่างนั้นกว่าจะทำให้ผู้คนมีความเชื่อใจในการใช้จ่ายผ่านระบบเหล่านี้ได้ก็เป็นอะไรที่อาศัยระยะเวลาที่ไม่น้อยเลย 

และกับคริปโตฯ ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเข้าใจได้ยากยิ่งกว่า เราจึงเกิดความสงสัยว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่มันถึงจะแมสเหมือนกับเทคโนโลยีการเงินเรื่องอื่นที่ใช้กันอย่างคุ้นชินอยู่ในทุกวันนี้ 

แม้จะไม่สามารถบอกระยะเวลาแบบเป๊ะๆ ได้ เพราะแน่นอน-ว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่ศุภกฤษฎ์ก็ยกตัวอย่างมาอธิบายได้อย่างเห็นภาพว่าการจะทำให้เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลแมสได้นั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของเทคโนโลยีอย่างเดียว 

“ตอนนี้แม่ค้าปากซอยก็มีแอพเป๋าตังค์กันแล้ว สมมติถ้ารัฐเอานโยบายต่างๆ เอา CBDC (central bank digital currency–สกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของรัฐ) มาใส่เข้าไป เท่านี้มันก็ได้แล้ว แต่คำถามคือใส่เข้าไปแล้วใช้ยังไงต่อ 

“ผมเลยมองว่าการจะทำให้มันแมสอาจไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีเท่านั้น แต่คือการทำให้ผู้คนมีความเข้าใจ แล้วก็รวมไปถึงเรื่องของเจเนอเรชั่นด้วย”

เขาอธิบายต่อเรื่องเจเนอเรชั่นผ่านวิธีการเปรียบเทียบเพื่อทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า ก็เหมือนยุคก่อนที่คนรุ่นปู่ย่าตายายเชื่อในการเก็บเงินไว้ในไหมากกว่าธนาคาร 

พอถึงยุครุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เขาเกิดมากับธนาคาร เข้าใจว่ามันคืออะไร เมื่อคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เติบโตมาถึงวัยที่จะมีบทบาทเชิงนโยบายในสังคมมากขึ้น ก็เลยทำให้เรื่องของธนาคารได้รับการยอมรับมากขึ้น

เช่นเดียวกับคริปโตฯ เมื่อถึงวันที่คนรุ่นใหม่ที่เขามีความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยี เคยติดดอยมาก่อน ได้เติบโตมามีบทบาทบางอย่างในสังคมคริปโตฯ มันก็จะค่อยๆ เป็นที่ยอมรับของผู้คนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

“ย้อนไปดูในอดีต มีเทคโนโลยีเจ๋งๆ มากมาย แต่มาก่อนกาลมากเกินไป คนยังไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้จริงอยู่ดี 

“ผมเลยคิดว่าเรื่องนี้มันก็เหมือนการปลูกต้นไม้แหละ ไม่ใช่แค่หว่านเมล็ดพันธุ์ที่ดีลงไปแล้วจะทำให้ต้นไม้โตได้ แต่มันยังต้องอาศัยปัจจัยแวดล้อมอีกมากมาย ทั้งการรดน้ำ ใส่ปุ๋ย และที่สำคัญคือความเข้าใจของคนที่เลี้ยงต้นไม้นั้น”

ความ decentralize ที่จะก่อให้เกิดนวัตกรรมอีกมากมาย 

มองในมุมส่วนรวม ศุภกฤษฎ์คิดว่าความเป็น decentralize ที่เปิดกว้างให้กับผู้คน จะทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมเกิดขึ้นอีกมากมาย เป็นโลกที่จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากกว่าเดิม และเป็นโลกที่หมุนเร็วขึ้นกว่าเดิม 

มองในมุมส่วนตัว แม้ที่ผ่านมาเขาจะทำงานด้าน IT มานานกว่า 20 ปี แต่เรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลก็ไม่ใช่อะไรที่ง่ายสำหรับเขา และเพื่อจะเรียนรู้ วิ่งตามโลกใบนี้ที่หมุนเร็วยิ่งกว่าเดิมให้ทันได้ นั่นทำให้เขาต้องเปิดใจเป็นอย่างมาก 

“เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่มีสิ่งใหม่เข้ามาตลอดเวลา เลยทำให้เราต้องเปิดใจอยู่เสมอ 

“สิ่งหนึ่งที่คิดได้หลังจากเข้ามาอยู่ในวงการนี้คือผมรู้สึกว่าบางทีที่ผ่านมาเราอาจจะแค่อยู่ในระบบที่เคยชิน จนไม่รู้ว่าอีกระบบนึงมันก็อาจจะดีเหมือนกัน

“เรื่องคริปโตฯ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลต่างๆ มันก็เลยเป็นเหมือนประตูบานแรกที่เปิดใจให้ผมได้เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ในเรื่องอื่นเข้ามาอีกมากมาย” ศุภกฤษฎ์ทิ้งท้าย

[ล้อมกรอบ]

3 สิ่งสำคัญที่จะทำให้ crypto กลายเป็นเรื่องของผู้คนในวงกว้างมากขึ้น

1.เทคโนโลยี

2. ความรู้ความเข้าใจในเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้คน

3. เจเนอเรชั่น เมื่อเจเนอเรชั่นที่เข้าใจในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตขึ้นมาและมีบทบาททางสังคม ก็อาจเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ 

อ้างอิง 

thaidigitalasset.org

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน

You Might Also Like