7 ทศวรรษของ ‘โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่’ ที่อยากโก้เก๋ตามยุคสมัยและไม่อยากให้คนจำว่าโบราณ

เฮี้ยะไถ่กี่ แปลว่า ธุรกิจของคนตระกูลเฮี้ยะในประเทศไทย

โกปี๊ แปลว่า กาแฟ

โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ เป็นธุรกิจร้านกาแฟเก่าแก่ที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี 1952 และดำเนินมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 73 ปี

ร้านแห่งนี้เป็นที่จดจำในฐานะ ร้านกาแฟโบราณและร้านอาหารสุดคลาสสิก แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่หยุดนิ่งอยู่กับอดีต ยังคงพัฒนาและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ผ่านเมนูกาแฟที่แปลกตา เช่น โคเฟเต้ ชาเฟ โกปี่ฮวย รวมถึงกาแฟเบลนด์สูตรดั้งเดิมที่เรียกว่า สูตร 1 และสูตร 2 ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่

กั๊ก–สุวิชชาญ คมนาธรรมโกมล ทายาทรุ่นที่ 4 ของโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ ได้ให้นิยามแนวคิดของร้านว่าเป็นพื้นที่ที่ให้ผู้คนได้เข้ามาเติมพลังกายและพลังใจ แม้หลายคนจะมองว่าแบรนด์นี้เป็นเพียงร้านกาแฟโบราณหรือร้านอาหารเช้าที่มีเมนูขึ้นชื่ออย่างไข่กระทะ แต่สำหรับเขาแล้ว โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ไม่ใช่แค่ธุรกิจที่อยากถูกจดจำด้วยความทรงจำในอดีต หากแต่อยากปรับตัวให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ไม่ใช่ถูกแช่แข็งไว้ในพิพิธภัณฑ์

ปัจจุบันโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ได้ขยายจากร้านกาแฟสู่การเป็นร้านอาหารเต็มตัวที่มีหลายสาขา ไม่เพียงแต่ในย่านเมืองเก่า อย่างถนนประชาธิปไตย สราญรมย์ และเสาชิงช้า แต่ยังขยายเข้าสู่ห้างสรรพสินค้าเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายขึ้น โดยสาขาล่าสุดที่เปิดตัวเพื่อเฉลิมฉลอง 7 ทศวรรษของแบรนด์คือที่ One Bangkok

เบื้องหลัง 7 ทศวรรษในการสร้างแบรนด์ของร้านกาแฟโบราณที่ดูเป็นธุรกิจเรียบง่ายนั้นซ่อนปรัชญาทางธุรกิจที่ลึกซึ้งและเรื่องราวที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความรักในงานศิลป์ของตระกูลที่สะท้อนผ่านการเลือกภาชนะและแก้วกาแฟ, แนวคิดการสร้างแบรนด์ที่ไม่ต้องการให้ร้านกลายเป็นเพียงกระแสของนักท่องเที่ยว ไปจนถึงปรัชญาการเดินข้ามภูเขาและการอยู่กับปัจจุบันที่ช่วยให้ก้าวผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในการทำธุรกิจมาได้

และทั้งหมดนี้คือเสน่ห์ที่ทำให้โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่เป็นมากกว่าร้านกาแฟ แต่เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว รสชาติ และความหมายที่อาจทำให้อยากแวะไปลิ้มลองกาแฟสักแก้วเพื่อซึมซับบรรยากาศแห่งกาลเวลา

จุดเริ่มต้นในการทำกิจการ ‘เฮี้ยะ ไถ่ กี่’ เมื่อ 73 ปีที่แล้วคืออะไร

เริ่มแรกในรุ่นที่ 1 เป็นยุคของอาเหล่ากงหรือคุณทวดของผม เขามาจากอยุธยาแล้วมาเปิดร้านโชห่วย ฟีลลิ่งเหมือนร้านสะดวกซื้อในปัจจุบัน มีกาแฟเป็นแค่หนึ่งในบรรดาสินค้าทั้งหมด 

จุดที่ต่างจากร้านสะดวกซื้อในปัจจุบันคือเรามีโต๊ะให้นั่ง ซึ่งตอนแรกมีเพียงแค่ 3 โต๊ะเล็กๆ บรรยากาศของการทานกาแฟในยุคนั้นคือ ลูกค้าจะเดินมาซื้อของ สบู่ แชมพู ของใช้ต่างๆ พอมีเงินทอนเหลือก็ซื้อกาแฟแก้วหนึ่ง หรือเวลาเดินมาซื้อของแล้วเจอกับเพื่อนบ้าน คนใกล้เคียงก็ชวนกันว่า ‘เอ้า มานั่งกินกาแฟพูดคุยกันหน่อย’  เลยเป็นจุดเริ่มต้นของร้านเฮี้ยะไถ่กี่ที่เกิดจากการเป็นร้านโชห่วยก่อน

จุดพลิกผันที่ทำให้กลายเป็น ‘โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่’ ที่ขายกาแฟอย่างจริงจังคืออะไร

ในรุ่นที่ 2 ของอากงเริ่มมีโมเดิร์นเทรดและร้านค้าปลีกเจ้าใหญ่เข้ามา ไม่ได้มีแต่โชห่วยแล้ว เพราะฉะนั้นยอดขายสินค้าของใช้ต่างๆ ก็เริ่มตกลง ผู้คนหันไปซื้อในห้างบ้าง ไปซื้อตามแบรนด์สมัยใหม่บ้าง สวนทางกับยอดขายกาแฟซึ่งขายควบคู่กันมาอยู่แล้ว 

มันเห็นได้ชัดว่าฝั่งหนึ่งขายได้น้อยลง ฝั่งหนึ่งขายได้มากขึ้น พอโต๊ะที่นั่งกินกาแฟเริ่มไม่พอ อากงก็ให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินค้าในพาร์ตของความเป็นร้านกาแฟมากขึ้นและเป็นคนวางรากฐานจนกลายเป็นร้านกาแฟของชุมชนอย่างเต็มตัว สภากาแฟก็จะเกิดในยุคอากง

บรรยากาศร้านกาแฟของชุมชนในสมัยนั้นเป็นยังไง

ผมไม่แน่ใจว่าคำว่า ‘สภากาแฟ’ ที่ถูกใช้ทั่วไปในทุกวันนี้เป็นแบบไหนแต่ร้านเราคือสภากาแฟที่มีความจริงจังมาก สมัยก่อนทุกคนไม่ได้ชงกาแฟที่บ้านก็เลยมาที่ร้านใกล้บ้านอย่างโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ มันเลยเกิดบรรยากาศห้องรับแขกของชุมชนกลายเป็นแหล่งพบปะของคนในย่านนั้น

มีการคุยเรื่องการเมือง จริงจังถึงขั้นที่ว่าถ้าเชียร์พรรคนี้ให้นั่งโต๊ะนี้ ถ้าเชียร์อีกพรรคต้องนั่งอีกโต๊ะแล้วก็ตะโกนคุยกัน ช่วงเลือกตั้งจะมีความเข้มข้นในแง่ที่ว่าช่องมากสีน้อยสีต่างๆ จะมาที่ร้านแล้วสัมภาษณ์คนที่เชียร์แต่ละพรรคได้หมด เรามองว่ามันเป็นความแตกต่างที่เขาอยู่ร่วมกันได้ ชอบคนละอย่างแต่มากินกาแฟร้านเดียวกันและตะโกนคุยกันได้  

คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้กิจการในยุคอากงไปได้สวย   

ผมมองว่าอากงทำสิ่งแตกต่างที่ทำให้เกิดอัตลักษณ์ในตัวตนของร้านเรา และกลายเป็นสิ่งที่หล่อหลอมพวกเรามา คือเราพยายามไม่ทำอะไรที่เคยทำมาแล้วและไม่ทำตามคนอื่น ซึ่งมีความยากในแง่ที่บางครั้งมันอาจเป็นสิ่งที่คนไม่เข้าใจ แต่ในทางกลับกันก็เป็นสิ่งที่สร้างความจดจำให้คนชื่นชอบ

ตัวอย่างเช่น ถ้ามองไปที่ร้านกาแฟโบราณ ภาพจำที่ทุกคนนึกถึงคือ พวงพริกหูหิ้วที่ช่องหนึ่งใส่ไข่ลวก ช่องหนึ่งใส่กาแฟ อีกช่องใส่น้ำชาต่างๆ แต่สิ่งที่อากงทำก็คือ เอาถาดสเตนเลสมา แล้วก็จัดถ้วยน้ำชา กระปุกน้ำตาล เหยือกนมแบบที่ไม่เหมือนร้านสมัยนั้นทำ

หรืออย่างแก้วเครื่องดื่มเย็นที่ใช้ในทุกวันนี้ก็เป็นทรงแก้วที่แตกต่างจากร้านกาแฟโบราณร้านอื่นๆ ซึ่งใช้แบบนี้มาตั้งแต่ก่อนผมเกิด ทุกวันนี้สิ่งเหล่านี้ที่อากงวางรากฐานไว้ก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบหรือการนำเสนอ อากงเลือกทำในสิ่งที่แตกต่างแล้วก็ยึดคุณภาพเป็นจุดสำคัญ

ในยุคของอาเหล่ากงและอากง ‘โกปี๊’ ที่ผู้คนนิยมทานเป็นแบบไหนและมีพัฒนาการทำกาแฟยังไงบ้าง

ในยุคของอาเหล่ากงร้านเราเริ่มต้นจากทำกาแฟปี๊บ คือเป็นกาแฟแบบผสมหรือไม่ผสมก็ได้ คำว่าผสมในที่นี้หมายถึงกาแฟที่ผสมแกลบหรือเอาเม็ดมะขามคั่วกับเมล็ดกาแฟ บางคนจะเรียกสิ่งนี้ว่ากาแฟโบราณ ซึ่งมีกระบวนการอีกแบบหนึ่ง คือหลังจากคั่วกาแฟเสร็จแล้วก็เติมเนย เติมน้ำตาลลงไป พอคั่วเสร็จจะออกมาเป็นปึกแข็งๆ นำไปเข้าเครื่องโม่และเครื่องบดจนเป็นผงๆ แล้วบรรจุลงปี๊บ

เมื่อมาถึงยุคของอากง กาแฟเหล่านี้ยังคงมีอยู่แต่เริ่มพัฒนาสูตรให้ดียิ่งขึ้น ร้านเราใช้เฉพาะเมล็ดกาแฟแท้ 100% ในขณะที่ร้านทั่วไปมักลดต้นทุนด้วยการใช้กาแฟผสม พอธุรกิจเติบโตจนเริ่มชงไม่ทัน อากงก็นำเทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้นเข้ามาใช้คือเครื่อง Coffee Percolator ที่มีลักษณะคล้ายกับหม้อต้มใหญ่ ชงได้ครั้งละหลายร้อยแก้วและควบคุมรสชาติได้ ถือเป็นเครื่องแรกของร้านและทุกวันนี้ก็ยังตั้งจัดแสดงไว้ที่สาขาถนนประชาธิปไตย

ยุคอากงยังเป็นช่วงที่กาแฟสำเร็จรูป (instant coffee) เพิ่งเข้าไทยและบูมมากๆ ​​เป็นสิ่งที่มีความโก้เก๋ในยุคนั้น ทุกวันนี้กาแฟชงมีความแมสและพบได้ตามร้านกาแฟรถเข็นทั่วไปแล้วใช่ไหม แต่ในวันนั้นมันเท่ คนตื่นเต้นเพราะมันเทรนดี้ เป็นสิ่งใหม่ อากงเลยขายกาแฟเย็นที่ชงจากกาแฟสำเร็จรูปด้วย

นอกจากกาแฟแล้วก็มีชา ถึงเราจะชงชาไทยแต่อากงเลือกใช้ชาซีลอน เพราะรู้มาว่าชาซีลอนคือ the best black tea in the world เลยพยายามหาวัตถุดิบที่ดีที่สุดมาใช้เสมอ

ครอบครัวคุณเผชิญช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมกาแฟยังไงอีกไหม 

พอมาถึงรุ่นที่ 3 ของคุณพ่อคุณแม่ผม มันเป็นยุคที่เกิดคำว่ากาแฟสด จากก่อนหน้านี้ที่กาแฟสำเร็จรูปบูม เมล็ดกาแฟที่เรามีอยู่แล้วและก็ชงขายมาตลอด ผู้คนก็มาเรียกใหม่โดยเปลี่ยนชื่อมันว่ากาแฟสดซึ่งเป็นยุคที่เริ่มมีเครื่องชงกาแฟต่างๆ มากขึ้น

วิธีการกินกาแฟแบบชาติตะวันตกถูกนำเสนอเข้ามาในเมืองไทย เริ่มมีคำว่าลาเต้ คาปูชิโน่ มอคค่าเข้ามา ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างร้านกาแฟดั้งเดิมของคนไทยที่ชงด้วยถุงชงหรืออุปกรณ์ชงต่างๆ กับการชงด้วยเครื่องสมัยใหม่

สิ่งที่พ่อกับแม่ทำคือเอากาแฟที่อากงมีมาเริ่มสร้างอัตลักษณ์ของแบรนด์ เบลนด์ผสมเป็นสูตรของเราเอง ตั้งชื่อเป็นสูตร 1 สูตร 2 และสูตรดั้งเดิม ในยุคนั้นเริ่มมีคนเดินเข้ามาร้านเราแล้วก็บอกว่า ‘ขอลาเต้แก้วหนึ่ง’ ด้วยความอินดี้ของบ้านเราก็คือไม่ขาย (หัวเราะ) โกปี๊ไม่มีเมนูลาเต้แต่ลูกค้าอยากกิน งั้นเราจะทำยังไงดีให้กาแฟมีรสชาติเหมือนลาเต้ที่เขาอยากได้แต่ยังเป็นตัวตนเรา

เลยคิดค้นเมนู ‘โคเฟเต้’ ซึ่งได้รับความนิยมมากตั้งแต่ยุคของพ่อกับแม่ เป็นกาแฟตัวเดียวในร้านที่ชงด้วยนมสดพาสเจอร์ไรซ์ ในขณะที่ตัวอื่นเราจะชงด้วยนมข้นหวาน นมข้นจืด แล้วใส่น้ำตาลเคี่ยวจากน้ำตาลอ้อย เสิร์ฟเป็นเลเยอร์ 3 ชั้นซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครทำ ก็ออกมาสอดคล้องกับตลาดที่คนติดภาพว่าฉันต้องกินลาเต้ กินคาปูชิโน่นะ

จากร้านกาแฟ ทำไมถึงขยับขยายธุรกิจให้กลายเป็นร้านอาหารอย่างจริงจัง

เมนูอาหารจะเริ่มมีในยุคที่ 2 ของอากง ตอนแรกร้านเราจะมีเมนูหลักเพียงแค่ชุดสะดวกทาน ที่มีไข่ลวก ขนมปัง และเครื่องดื่มตามเลือก รุ่นที่ 3 เริ่มมีไข่กระทะ ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวหลอด จะเน้นทำแค่อาหารเช้า แต่พอทำไปเรื่อยๆ เราก็เริ่มมองเห็นว่าคนไทยกินอาหารเช้าจริงจัง ฉะนั้นมีแค่ไข่ลวกกับขนมปังไม่พอ เลยเริ่มเอาไข่กระทะมาขาย ซึ่งเราเป็นเจ้าแรกๆ ที่ขายไข่กระทะในกรุงเทพฯ และเกิดภาพจำว่าถ้ามาโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่คือมาทานไข่กระทะกับกาแฟ

ท้ายที่สุดแล้วเราก็มองว่าถึงภาพจำของโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่จะเป็นร้านอาหารเช้า แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้ปิดเที่ยง มีลูกค้าที่เข้ามาทานตอนเที่ยง และไข่กระทะ ก็ยังเป็น the must ที่ทุกคนมาแล้วสั่งไม่ว่าจะตอนเที่ยงหรือเย็น ก็เลยเริ่มมีเมนูอื่นๆ สำหรับเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เข้ามาตอบโจทย์ตั้งแต่รุ่นที่ 3 แล้วพอผมซึ่งเป็นรุ่นที่ 4 เข้ามาสานต่อก็ตบให้เมนูต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้น เพราะเราเป็นร้านสำหรับครอบครัว อาหารทุกอย่างจึงมาจากเมนูที่ทุกคนในครอบครัวมาแล้วทานได้

คุณรักษามาตรฐานความอร่อยและคุณภาพอาหารจากรุ่นก่อนยังไง

ตอนผมเข้ามารับช่วงต่อใหม่ๆ ประมาณ 10 กว่าปีนิดๆ ตอนนั้นเรายังเป็นร้านเล็กๆ เอง มี 2 สาขาแต่ก็เริ่มทำครัวกลางแล้ว ผมก็เริ่มจากการเข้ามาวางระบบครัวกลาง ซึ่งย้อนไปสมัยนั้นนอกจากร้านอาหารเจ้าใหญ่ที่มีสาขาเยอะ ก็ยังไม่มีใครลงทุนกับระบบครัวกลางเลย 

เราก็เดินหน้าทำเพื่อให้ไปต่อได้อย่างมีมาตรฐาน เพราะมองว่าอากงและพ่อแม่เราให้ความสำคัญกับคุณภาพ เราอยากเปิดสาขาใหม่แล้วลูกค้าได้ทานรสชาติเหมือนกัน ซึ่งเราซีเรียสกับตรงนี้ค่อนข้างมาก และรู้ว่านี่คือจุดสำคัญของธุรกิจอาหาร ก็เริ่มจากวางรากฐานตรงนี้ สร้างทีมงานแล้วก็ค่อยๆ ขยายสาขาตามความสมควรในโลเคชั่นที่มองว่ามีความความเหมาะกับเรา  

คุณมองภาพการเติบโตของโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ในอนาคตยังไง

เราไม่ต้องการให้โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่แมสในแบบที่มี 100 สาขา มองว่าอยากให้มีความโลคอลที่ยังมีความ niche อยู่ เบื้องต้นคิดว่าน่าจะขยายแค่ประมาณ 10 สาขาก็เพียงพอแล้ว เป้าหมายปลายทางคืออยากเป็นแบรนด์ที่อยู่คู่กรุงเทพมหานคร แล้วก็อยากให้อยู่ไปถึง 100 ปี นี่คือธงของผม ไม่ได้สำคัญว่าจะมีกี่สาขาแต่อยากให้อยู่จนถึง 100 ปี โดยยังคงเป็นร้านที่มีความเป็นปัจจุบันในวันนั้น คนอีก 30 ปีข้างหน้ายังอยากเข้าร้านอยู่ ไม่ใช่ขับรถผ่าน ถ่ายรูปแล้วบอกว่านี่คือร้านเก่าแก่ แต่ไม่ได้มาใช้บริการ

คุณมองว่าการทำธุรกิจให้ถึงร้อยปีและยังคงทันสมัยมีความท้าทายยังไง 

เรามีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศ ไปเจอคาเฟ่ที่อายุ 150 ปี 300 ปีในยุโรปและญี่ปุ่น เรามีความรู้สึกว่าร้านเหล่านี้เป็นของคู่บ้านคู่เมือง เป็นความภูมิใจของทุกคนในชาติที่คนท้องถิ่นต้องพาเพื่อนต่างบ้านต่างเมืองแวะมา แต่ทีนี้ผมมองว่าประเทศอื่นอย่างในยุโรปหรือญี่ปุ่น ธุรกิจเขาคงอยู่ได้เหมือนเดิมเพราะคัลเจอร์มีความเข้มแข็งในวัฒนธรรมการกินและไม่ได้เปิดรับอะไรใหม่มาก

อย่างทุกวันนี้คนสิงคโปร์ก็นิยมกินไข่ลวกกับโทสต์เป็นอาหารเช้าเป็นเรื่องเป็นราวมานาน แต่สำหรับคนไทย เรื่องกินเรื่องใหญ่ คัลเจอร์ไทยคือกินไปเรื่อยและเปิดรับสิ่งใหม่ตลอด เดี๋ยวก็เปลี่ยนเทรนด์การกินทุกปี แล้วเปลี่ยนแบบรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ซึ่งเป็นความท้าทายที่เราต้องหาทางทำให้ธุรกิจคงอยู่ในปัจจุบันให้ได้ 

ความท้าทายหลักที่คุณเผชิญในฐานะทายาทรุ่น 4 ที่มาสานต่อธุรกิจคืออะไร

ตอนที่ผมเริ่มเข้ามาทำ สิ่งที่ท้าทายที่สุดเลยคือในยุคนั้นผู้คนยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับร้านโลคอลเหมือนสมัยนี้ เราถูกมองว่าป็นร้านทั่วไป คนไม่ได้ให้คุณค่ากับการที่ร้านนี้เปิดมานานเกิน 50 ปี แต่จะเห่อร้านจากเมืองนอก แบรนด์ไทยมีภาพจำที่ไม่ดีเท่าแบรนด์นำเข้า ในความรู้สึกเรานั่นคือความท้าทายที่ต้องกลับมาคิดว่า แล้วเราจะพาแบรนด์ไปต่อได้ยังไงให้คนยังคงเห็นคุณค่า ยังคิดถึงกันและอยากกลับมา

มันเป็นยุคที่ทุกคนบอกว่า ‘อย่าไปกินเลยกาแฟโบราณ ต้องกินกาแฟสดแล้ว’ ทั้งที่กาแฟที่อยู่ในร้านเราก็ทำมาจากเมล็ดกาแฟตั้งแต่แรก เราแค่ไม่ได้เรียกสิ่งที่เราขายว่ากาแฟสด เวลามีคนถามผมว่าร้านกาแฟโบราณคืออะไร ก็ต้องดูว่าเราคุยกันที่มิติไหน คอนเซปต์ร้าน วิธีการชง หรือ ผลิตภัณฑ์ ถ้าคุยกันที่ผลิตภัณฑ์ก็ดูที่คั่วแบบไหน ต้องใส่น้ำตาลใส่นมใส่เนย หรือคุยด้วยวิธีชง แค่ชงด้วยถุงชงก็เป็นกาแฟโบราณแล้วหรือเปล่า หรือต้องมีความเก่าของร้านด้วยถึงจะเรียกว่าร้านกาแฟโบราณ ฉะนั้นมันมีหลายมิติขึ้นอยู่กับว่าเราจะคุยกันที่ตรงไหน

แต่มองว่าทุกวันนี้เป็นข้อโชคดีที่คนก็ให้คุณค่ากับร้านโลคอลไม่ต่างจากร้านจากต่างประเทศมากขึ้น ณ ปัจจุบันคนเข้าใจและเปิดรับแล้ว คนกินเก่งและกินแบบลึกซึ้งขึ้น หมายความว่ามีความเข้าใจในการหาของกินที่มีคุณภาพมากขึ้น ฉะนั้นมันก็มีความยากในการทำงานอีกแบบ คือไม่ใช่จะเอาอะไรมาขายให้ผู้บริโภคก็ได้ แต่เชื่อว่าเมื่อเราทำของดี คนก็จะเข้าใจและรับรู้ได้เอง

คุณมีหลักคิดในการสร้างแบรนด์เก่าแก่ให้มีเสน่ห์ยังไง

เราเฝ้ามองดูทั้งอากงแล้วก็พ่อแม่ทำงาน แล้วก็ตกตะกอนออกมาเป็นแนวคิดการทำงานที่เขาต้องการสื่อสารออกมาคือ ‘ปรับสิ่งที่ควรปรับ เปลี่ยนสิ่งที่ควรเปลี่ยน เก็บสิ่งที่ควรเก็บ’ แล้วก็ยึดถือในการทำงานเพราะว่าสุดท้ายถ้าเราไม่มีอัตลักษณ์ ผู้คนก็จำเราไม่ได้

เราเอาตรงนี้มาเป็นตัวตั้งต้นในการคิดทุกอย่างของโกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ เราถือว่าเรา ‘เป็นปัจจุบัน’ หมายความว่า ถ้าวันนี้เดินเข้าร้านมา เราไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ที่อยากเล่าเรื่องอดีตว่ากาแฟโบราณชงแบบนี้ แต่สุดท้ายคนไม่บริโภคมันแล้ว นั่นไม่ใช่โกปี๊เฮี้ยะไถ่กี่ 

ในยุคที่ผมเข้ามาทำงาน บางคนก็จะตัดสินว่า ‘นี่ร้านเก่าแก่’ ส่วนอีกคนหนึ่งก็จะบอกว่า ‘ไม่เห็นเก่าจริงเลย’ เก่าจริงต้องนั่นนี่นู่นโน่น แต่สุดท้ายแล้วคุณค่าจริงๆ ของธุรกิจที่อยู่ได้มา 73 ปี มันต้องมีการบิด ปัด ตบ ตามธรรมชาติของวงจรธุรกิจ เหมือนก้อนหินที่อยู่ในแม่น้ำไหลเชี่ยวแล้วถูกเซาะมาถึง 73 ปี ก้อนหินก้อนนั้นจะหน้าตาเหมือนเดิมและคงรูปเดิมตลอดไปไม่ได้ แต่เราแค่ทำให้ก้อนหินก้อนนี้ไม่ปลิวหายไปตามน้ำ  

เราสร้างตัวตนแบรนด์เราบนพื้นฐานปัจจุบัน ผมว่านี่คือธุรกิจ เพราะว่าถ้าเราไม่อยู่บนพื้นฐานของปัจจุบัน เราจะไปอยู่ในมิวเซียม (หัวเราะ)

แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าอะไรคือสิ่งที่ควรเก็บ อะไรคือสิ่งที่ควรเปลี่ยน

ผมมองว่าลูกค้าเป็นคนบอกเราทุกอย่าง เขาจะเป็นคนบอกเองว่าอะไรใช่ ไม่ใช่ ส่วนเรามีหน้าที่ทดลอง ดังนั้นข้อมูลจากลูกค้าคือสิ่งสำคัญ ทั้งหมดทั้งมวลที่แต่ละรุ่นทำเราก็มองที่ลูกค้าเป็นตัวตั้งเพราะสุดท้ายเราทำงานเพื่อให้พวกเขามีความสุข 

สิ่งที่เราเก็บรักษาไว้กับแบรนด์มักเป็นสิ่งที่เรามองว่าลูกค้ามีความผูกพันกับร้านเรา เราคือสถานที่ที่สร้างความสุขให้กับลูกค้า แค่มีสิ่งที่ทำให้ลูกค้าเดินเข้ามาแล้วมีความสุขก็โอเคแล้ว

ทุกวันนี้กลุ่มลูกค้าของร้านคุณคือใคร

ลูกค้ากลุ่มหลักของเราเป็นคนไทยแต่ว่าทุกวันนี้มีชาวต่างชาติมาเยอะขึ้น เหตุผลที่เราต้องเพิ่มจำนวนสาขาในโซนเกาะรัตนโกสินทร์เยอะเพราะบังเอิญว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้คนต่างชาติมาเยอะ ซึ่งบางคนจะดีใจแต่ผมไม่ (หัวเราะ) เพราะการมีต่างชาติมาเยอะทำให้คนไทยขี้เกียจรอคิว 

เราเป็นร้านโลคอล ถ้าโลคอลไม่เข้าร้านเราจะกลายเป็นร้านอะไร เขาจะเริ่มตีตราเราใหม่ว่านี่เป็นร้านของนักท่องเที่ยว และถ้าเราถูกตีตราแบบนั้น นักท่องเที่ยวที่มาจะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ร้านโลคอลอีกต่อไปเพราะฉันเจอแต่ชาวต่างชาติ ความท้าทายคือเราห้ามนักท่องเที่ยวมาเยอะไม่ได้ พาร์ตที่เราทำงานคือการมานั่งคิดว่าเราจะดูแลทั้งนักท่องเที่ยวและคนไทยให้ดีที่สุดได้ยังไง 

เห็นว่าหนึ่งในการปรับตัวทำสิ่งใหม่ของคุณคือการเข้าร่วม Bangkok Design Week 2025 ซึ่งมันดูฉีกจากภาพธุรกิจร้านกาแฟและร้านอาหารมาก กิจกรรมนี้มีที่มายังไง

ความจริงแล้วร้านเราอยู่คู่กับงานอาร์ตมาตลอด คือเราไม่ใช่ร้านที่เอาอาหารใส่จานเมลามีนหรือจานพลาสติกเสิร์ฟให้ลูกค้า แต่ละเจเนอเรชั่นวุ่นวายอยู่กับงานอาร์ตโดยที่ไม่รู้ตัว ทั้งอากงและพ่อแม่ก็มีไอเดียและความคิดเยอะแล้วก็ใส่ความอาร์ตลงไปในการทำร้าน เช่นการเลือกภาชนะทุกอย่างที่ไม่ทำหมือนคนอื่นเขา

พอมาตกตะกอนว่าจริงๆ ร้านเราก็มีความอาร์ตเหมือนกัน ปีนี้ก็เลยเข้าร่วมกับงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ เพราะอยากเล่าว่าในฝั่งงานอาร์ตของร้านเรามีการปรับเปลี่ยนอะไรและทำอะไรมาแล้วบ้างตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

สำหรับเทศกาลงานที่กำลังจะมาถึง เราก็มีการร่วมมือกับดีไซเนอร์ไทยหลายท่าน ในการทำผลิตภัณฑ์หรืองานศิลป์ให้อยู่คู่กับแบรนด์ จัดแสดงงานที่สาขาสราญรมย์ชั้น 2 ที่มีบรรยากาศคล้ายแกลเลอรีและมีตู้ดิสเพลย์ที่เล่าเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับงานอาร์ตของร้าน ความจริงมันคือการทำสิ่งเดิมที่เราทำอยู่แล้ว แต่แค่เหมือนเดินไปเคาะประตู บอกกลุ่มคนที่น่าจะเป็นลูกค้าเราให้ได้มาเจอกันและทำงานร่วมกันมากขึ้น 

บทเรียนในการเป็นนักธุรกิจของคุณคืออะไร 

ผมค้นพบว่าเมื่อเราข้ามภูเขาลูกหนึ่งมาแล้ว ต่อไปเราก็จะข้ามภูเขาที่สูงเท่าลูกนั้นได้ เราจะอ่านเกมออกแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่เราเคยทำได้ พอเราข้ามภูเขาซ้ำๆ ก็จะเจอภูเขาลูกที่ใหญ่ขึ้น เราก็แค่บอกตัวเองให้ข้ามมันไป เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัว แต่พอก้าวข้ามผ่านไปได้แล้วชีวิตก็ยังไม่จบ ชีวิตจะเจอภูเขาลูกใหม่มาอีก แค่เจอภูเขาที่เตี้ยกว่าเดิม สูงเท่าเดิม หรือสูงขึ้นตามบริบทที่เปลี่ยนไป หลักคิดก็มีแค่นี้เอง

ความจริงแล้วเราไม่ได้ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ในแง่ธุรกิจมากมายเลย เวลามีอุปสรรคหรือปัญหาเข้ามา ผมจะบอกกับทีมงานเสมอว่า ไม่ว่ามันจะหนักหนาสักแค่ไหน เราไม่ได้เจอสิ่งนี้เป็นคนแรก ถ้าเป็นคนแรกที่เจอปัญหานี้จริงๆ จะขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ค้นพบนะ เช่น ไปถึงดาวพุธคนแรก หรือลงไปถึงก้นทะเลที่ลึกที่สุดจนทำสถิติได้คนแรก ซึ่งนึกไม่ออกเลยว่าถ้าทำธุรกิจแบบนี้จะเจออุปสรรคอะไรที่คนที่ทำมามากกว่าผมหรือเยอะกว่าผมเขาจะยังไม่ได้เจอ เพราะฉะนั้นเราไม่ใช่คนแรก ฉะนั้นเวลาเจอปัญหาจะต้องผ่านไปได้แค่เราต้องหาทางให้เจอ

ในการทำธุรกิจ คุณเคยรู้สึกกลัวที่จะข้ามภูเขาไหม แล้วคุณจัดการกับความรู้สึกนั้นยังไง

มีบางอย่างที่เรายังไม่มีความกล้าพอที่จะทำ แต่คุณพ่อเคยพูดไว้ว่า ‘ถึงกลัวแต่ให้ลงมือทำ’ บางครั้งอาจจะเจอสถานการณ์บังคับ ความจำเป็น อยากท้าทายตัวเองหรืออะไรก็ตาม ก็ลงมือสู้กับมัน เพราะคำว่ากล้าหาญไม่ได้แปลว่าไม่มีความกลัวในนั้น 

เมื่อเราได้ลงมือทำ ต่อให้เราข้ามภูเขาลูกนั้นไม่พ้นแต่ก็จะได้เรียนรู้ ถ้าครั้งหน้าเจอแบบเดิมอีกก็จะตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าจะปีนหรือไม่ปืน ปีนทำไม ไม่ปืนเพราะอะไร หรือต้องไปทางอื่น ชีวิตไม่ได้แปลว่าต้องข้ามเขาลูกนี้แล้วเราถึงจุดหมายเสมอ อ้อมเขาก็ได้นะ เปลี่ยนไปทางอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจข้ามไม่ข้าม ไปไม่ไป อยู่ที่ตัวเรา

ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว โลกนี้อยู่ในกำมือเรา เราไม่โฟกัสว่าวันนี้ภาพรวมข้างนอกเกิดอะไรขึ้น เทรนด์ต่างๆ ของโลกเรารับรู้ไว้ แต่เราโฟกัสแค่ตัวเองเสมอว่า เรากำลังทำอะไร แล้วจะไปยังไงต่อ ไม่ได้ไปเปรียบเทียบตัวเองกับแบรนด์อื่นว่าอยากจะเป็นอย่างเขา แค่ลำพังเราพิจารณาตัวเองก็มีงานให้ทำไม่หมดแล้ว การจะทำให้ตัวเองในวันพรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ แค่นี้ก็ทำไม่หมดแล้วจริงๆ 

วิธีทำธุรกิจให้ยั่งยืนของ ECOLIFE ในวันที่เป็นมากกว่าแอพฯ สายกรีนแต่ช่วยปรับพฤติกรรมองค์กร

“ทุกคนมีสิทธิจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ว่าสิทธินั้นควรมาพร้อมกับหน้าที่ที่เราต้องช่วยกันปรับพฤติกรรมคนละเล็กคนละน้อย”

แม้ประโยคนี้จะถูกพูดในวันที่ฝุ่น PM2.5 ครองเมือง จนเราแทบไม่มีอากาศบริสุทธิ์ไว้ใช้หายใจ และผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ในมุมของคนที่คลุกคลีกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตลอด 16 ปียังเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อว่าสักวันหนึ่งโลกของเราจะน่าอยู่ขึ้นได้

เรากำลังพูดถึง ท็อป–พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ผู้ก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด หรือที่หลายคนรู้จักกันในฐานะนักแสดงคนแรกๆ ที่พูดเรื่องสิ่งแวดล้อมออกสื่อ ไปพร้อมๆ กับการทำธุรกิจเพื่อสังคมและรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ลดละ

“บางคนก็ถามว่าผมทำมาหลายปีเพื่ออะไร ก็เพื่อที่จะทำให้เราได้ปรับพฤติกรรมกันคนละเล็กคนละน้อย ที่ผ่านมาเราสร้าง awareness กันพอสมควรแล้ว คนไทยรับรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม เข้าใจเรื่องโลกร้อนแล้ว ตอนนี้เลยต้องเปลี่ยนการรับรู้ไปสู่การลงมือทำ”

ตั้งแต่ Day 1 ที่ท็อปเปิดร้าน ECOSHOP ขายสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลก ในวันที่คนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสินค้า eco คืออะไร ทำให้แม้แต่การขายสมุดเพียงเล่มเดียวก็ต้องอธิบายกันยืดยาว และเขาคิดว่าการซื้อสินค้า eco แล้วเอาไปใช้ ก็จะเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประมาณหนึ่ง แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมในวงกว้าง

รวมถึงการที่เขาจะเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องทำให้กลายเป็นธุรกิจเพื่อสังคมหรือ social enterprise ที่จะนำกำไรส่วนหนึ่งกลับคืนสู่สังคม อีกส่วนหนึ่งนำไปหล่อเลี้ยงทีมและสร้างโซเชียลอิมแพกต์ที่วัดผลได้ต่อไป

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ท็อปก่อตั้งบริษัท คิดคิด จำกัด เพื่อทำเซอร์วิส ทำแคมเปญ และสื่อสารเรื่องความยั่งยืนที่ประกอบไปด้วย people, planet, profit และเรื่อง SDGs (sustainable development goal) ให้กับบริษัทต่างๆ และอยากสื่อสารกับกลุ่ม public เพื่อให้เกิดการปรับพฤติกรรมเรื่องสิ่งแวดล้อม

“ผมไม่ได้อยากให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมนะ เอาแค่ปรับก็พอ”

ท็อปย้ำกับเรา และนั่นทำให้เขาตัดสินใจพัฒนาแอพพลิเคชั่น ECOLIFE ที่ทำให้การรักษ์โลกเป็นเรื่องง่ายและสนุก ผ่านการทำภารกิจต่างๆ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจะได้เป็นรางวัลไปใช้ในชีวิตจริง

ปัจจุบัน ECOLIFE เปิดตัวมาครบ 10 ปีพอดิบพอดี และได้ข่าวว่ามีการพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งพร้อมเปิดตัวในช่วงต้นปี 2025 เราจึงหยิบวาระนี้มาสนทนากับท็อป พร้อมอัพเดตเรื่องการทำธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับโลกที่ยั่งยืน 

ก่อนที่จะไปเข้าเรื่องกัน ท็อปแอบกระซิบว่า Capital เป็นสื่อแรกที่เขามาพูดคุยหลังจากมีการพัฒนา ECOLIFE เวอร์ชั่นใหม่อีกด้วย

ทุกธุรกิจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงและเติบโต

ชายตรงหน้าเท้าความให้เราฟังว่า ECOLIFE เวอร์ชั่นแรกเปิดตัวเมื่อปี 2015 เพราะเขาเห็นว่าคนใช้สมาร์ตโฟนกันเยอะ การทำแอพพลิเคชั่นน่าจะเข้าถึงคนได้มากและปรับพฤติกรรมคนได้จริง ซึ่งตอนนั้นยังทำแค่เรื่องเดียว คือเรื่องการเดินทางให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปั่นจักรยาน ใช้ขนส่งสาธารณะ แล้วจะได้เป็นรีวอร์ดไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่น่าเสียดายคนใช้งานไม่มากนัก

“ผมว่า UX/UI เวอร์ชั่นแรกไม่เฟรนด์ลี่ คนเลยรู้สึกว่าใช้งานยาก เวอร์ชั่นที่ 2 เราเริ่มต้นดีไซน์ตัวละคร ก็คือพี่หมีและผองเพื่อน ทำให้เฟรนด์ลี่ขึ้น ปูสตอรีว่าพี่หมีและเพื่อนๆ มาจากขั้วโลก เพราะน้ำแข็งละลายจนน้ำท่วมแล้วอยู่ไม่ได้ ต้องย้ายมาอยู่เมืองไทย และมาเจอสัตว์ต่างๆ ช่วยทำภารกิจส่งพี่หมีกลับบ้าน”

ภารกิจที่ท็อปหมายถึงจะเป็นเหมือนเกมให้เราไปทำตามทั้งหมด 3 โจทย์ คือปฎิเสธการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง แยกขยะ และถ่ายรูปต้นไม้ โดยแต่ละจุดที่ให้ไปทำภารกิจจะมี QR code ของ ECOLIFE ให้สแกนสะสมแต้ม

“เวอร์ชั่น 2 กระแสตอบรับดีขึ้นมาก มีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมใช้งานกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ โรงเรียนที่เข้ามาใช้งาน 200 แห่ง บริษัทเข้ามาทดลองใช้ประมาณ 150 บริษัท กับอีกเกือบ 20 แบรนด์ แต่จะมีช่วงที่คนใช้น้อยลงคือช่วงโควิด-19 ล่าสุดก่อนจะยุติการใช้งานเวอร์ชั่น 2 สิ้นปี 2024 มียอดดาวน์โหลดเกือบ 1 แสนคน และมีกิจกรรมที่คนเข้าร่วมในแอพฯ กว่า 2 ล้านกิจกรรม และช่วยลดคาร์บอนไปได้ถึง 2 ล้านกิโลคาร์บอน”

คุยมาถึงตรงนี้เราก็คิดว่า ECOLIFE เวอร์ชั่น 2 ดูไปได้สวย จนอดที่จะถามไม่ได้ว่าแล้วอะไรที่ทำให้เขามาพัฒนาเวอร์ชั่นใหม่อีก

“ผมว่าธุรกิจจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงและเติบโต ที่ผ่านมาเราเห็นการเติบโตจากผู้ใช้งานที่เป็นเด็กนักเรียน เด็กมหาวิทยาลัย ขยายไปที่บริษัทกับแบรนด์ ต่อไปเราอยากขยายไปถึงคุณหมอในโรงพยาบาล พระที่อยู่ในวัด ตำรวจตาม สน. ทหารที่อยู่ตามค่ายต่างๆ ซึ่งแต่ละที่มีการกำหนดเรื่องความยั่งยืนที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้ชัดเจน เหมาะสมกับองค์กรและสถานที่นั้นๆ”

ท็อปเล่าว่าถ้าพูดถึงการทำ CSR บางองค์กรก็ชอบไปปลูกต้นไม้ ในมุมของเขาคิดว่าทำได้ แต่หากไม่มีการดูแลต่อ สุดท้ายต้นไม้ก็ตาย จึงอยากสนับสนุนให้องค์กรทำ CSV หรือ creating shared value ที่องค์กรสามารถต่อยอดในสิ่งที่ตนเองถนัด เพื่อสร้างคุณค่ากลับคืนสู่สังคมทางใดทางหนึ่งก็ได้

“คุณอาจจะเป็นบริษัทจำกัด คุณอาจจะเป็นบริษัทมหาชน คุณอาจจะเริ่มต้นทำร้านเล็กๆ เป็นของตัวเอง คุณอาจจะขายของออนไลน์ คุณจะเป็นคนทำธุรกิจไหนก็ได้ จะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ได้ ผมว่าทุกคนสามารถที่จะช่วยกันในการทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นได้”

เขายกตัวอย่างให้เราเห็นภาพมากขึ้น ว่าถ้านำพนักงานบัญชีที่นั่งอยู่ในออฟฟิศไปปลูกป่า สุดท้ายก็อาจจะมีคนไป แต่น่าจะเป็นคนเดิมๆ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เขาถนัดนัก แต่ถ้านำพนักงานบัญชีไปสอนชาวบ้านเรื่องการทำรายรับ-รายจ่าย การออมเงิน ให้ความรู้เรื่องหนี้ครัวเรือน ก็จะตรงกับความถนัดและยั่งยืนมากกว่า

ไม่ใช่แค่ระดับองค์กรเท่านั้น ภาคส่วนอื่นๆ ก็ทำ CSV ได้เช่นกัน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภาคเหนืออาจจะทำเรื่องหมอกควัน เรื่องฝุ่นเยอะหน่อย ภาคใต้อาจจะทำเรื่องการอนุรักษ์ทะเล คุณหมออาจจะทำเรื่องขยะอันตราย โรงแรมอาจจะทำในเรื่องของการลด food waste

ด้วยเหตุผลนี้ การเซตภารกิจให้ทำตามแบบเดิมจึงไม่เวิร์กอีกต่อไป เวอร์ชั่นใหม่จึงเกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนากิจกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละธุรกิจ แต่ละภาคส่วน และแต่ละสถานที่มากยิ่งขึ้น

เจาะกลุ่มองค์กรในวันที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นไฟลต์บังคับ

ECOLIFE เวอร์ชั่น 3 ท็อปปักธงให้เป็นดั่งเครื่องมือสะท้อนภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนขององค์กรและของแบรนด์ โดยในปี 2025 นี้จะโฟกัสที่ 2 กลุ่มหลักคือพนักงานในองค์กรและลูกค้าของแบรนด์

“ณ วันนี้ที่เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ว่าทำก็ดีไม่ทำก็ได้ แต่เป็นเรื่องจำเป็นต้องทำ เราเติบโตมากับยุคที่ต้องพยายามทำกำไรให้สูงที่สุด vision ขององค์กรคือการเป็นที่หนึ่ง แต่ในทุกวันนี้ vision ขององค์กรต้องมีเรื่องความยั่งยืนอยู่ด้วย ถามว่าทำไมเขาจำเป็นต้องทำ ก็เพราะว่าทุกปีเขาต้องรายงานเรื่องความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า 56-1 One Report

“จะแบ่งเป็นสโคปหนึ่ง สอง และสาม ในนั้นก็มีหลายเรื่อง เช่น โลจิสติกส์คุณต้องปรับเรื่องการขนส่งให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรื่องพลังงานคุณต้องทำให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในเรื่องความยั่งยืนของพนักงานและลูกค้า ถึงแม้วันนี้อาจจะยังไม่บังคับใช้ แต่อีกไม่นานบังคับแน่นอน และสุดท้ายมันคือการวัดผลที่ต้องวัดผลได้ ต้องส่งรีพอร์ตได้”

ในมุมของท็อป การทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเหมือนกับการปิดทองหลังพระ แต่ทุกวันนี้ต้องปิดให้ล้นออกมาข้างหน้าเพื่อให้คนอื่นได้เห็นด้วย เพราะพอบริษัทใหญ่ทำ บริษัทเล็กจะได้เอาไปทำเป็นตัวอย่าง และถ้าบริษัทเล็กทำ บริษัทใหญ่เห็นเขาจะได้เลือกในการที่จะเป็นซัพพลายเออร์หรือทำธุรกิจร่วมกัน ในมุมลูกค้าพอเห็นบริษัทไหนทำเรื่องนี้ก็อยากสนับสนุน รวมถึงแบรนด์สามารถสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ามาทำเรื่องความยั่งยืนด้วยกันได้อีก

“ตอนนี้ผู้บริโภคก็อยากสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือว่าทำเพื่อสังคมมากขึ้น สมมติว่าเรามีของอยู่ 2 สิ่ง เหมือนกันทุกอย่างเลย อันหนึ่ง 100 บาท ไม่ได้สนใจอะไร ก็คือสวยอย่างเดียว อีกอันก็สวย แต่อันนี้เขาไปพัฒนามาจากชุมชน เขาไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้กับชุมชน สร้างงานสร้างอาชีพให้ชุมชน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะไม่เหลือ waste ไม่เหลือเศษขยะที่มันเกิดขึ้น แต่ราคา 120 บาท 

“เป็นคุณจะซื้ออันไหนถ้ามันเหมือนกันเลย ผมว่าผู้บริโภค 70% เลือกซื้ออัน 120 เพราะสนับสนุนชุมชนและรักษ์โลก”

เปิดทิศทางใหม่ของ ECOLIFE เวอร์ชั่น 3

เมื่อก่อน ECOLIFE จะต้องดาวน์โหลดผ่าน App Store และ Google Play แต่หลังจากที่ท็อปรีเสิร์ชก็พบว่าสมัยนี้คนไม่ชอบการดาวน์โหลดแอพฯ ใหม่ๆ เพราะหนักเครื่อง เขาจึงเปลี่ยนเป็นให้เข้าใช้งานผ่าน LINE @ECOLIFEapp และลงทะเบียนใช้งานได้ทันที 

ในนั้นจะมีกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถึง 9 แบบ คือแยกขยะ, ลดการใช้พลาสติก, เดินทางให้เป็นมิตรต่อโลก, การบริจาค, การประหยัด, ซื้อสินค้าและบริการที่เป็น eco, ปลูกต้นไม้, ทำกิจกรรมรักษ์โลก และลดมลพิษด้วยวิธีต่างๆ ในแต่ละกิจกรรมจะมีหัวข้อแยกย่อยให้ร่วมสนุกอีกที

“แต่ละบริษัทสามารถเลือกได้เลยว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง และแยกเป็นการทำกิจกรรมของพนักงาน และการทำกิจกรรมของลูกค้า อย่างพนักงานสมมติว่าโจทย์คือให้แยกขยะในองค์กร เขาจะถ่ายรูปตอนที่แยกขยะ และปักโลเคชั่นว่าทำที่ไหน 

“หลังจากนั้นรูปนี้จะถูกส่งไปที่เพื่อน 3 คนให้ approve ว่าเขาทำจริงไหม ซึ่งเพื่อน 3 คนนี้จะแรนด้อมไปเรื่อยๆ บางทีรูปเขาอาจจะไปขึ้นให้ผู้บริหาร approve หรือพนักงานเองก็สามารถ approve รูปที่ผู้บริหารทำกิจกรรมได้เหมือนกัน พอทำแบบนี้ก็จะเกิดเอนเกจในองค์กรและสร้างแรงจูงใจให้พนักงานร่วมกิจกรรมเป็นรีวอร์ดไปแลกของรางวัล 

“บริษัทก็สามารถมาซื้อของรางวัลกับทาง ECOLIFE ได้ เช่น e-voucher ส่วนลดร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงแรม หรือบางบริษัทก็แบ่งคะแนนประเมินประจำปี มาใช้กิจกรรมนี้ร่วมประเมินด้วยก็มี ซึ่งผมว่าอันนี้เวิร์กมากๆ เพราะจะทำให้พนักงานอยากมีส่วนร่วมสนับสนุน vision เรื่องสิ่งแวดล้อมขององค์กรด้วย”

ส่วนในฝั่งที่แบรนด์ทำกิจกรรมร่วมกับลูกค้า ท็อปเล่าว่าแบรนด์สามารถกำหนดภารกิจให้ลูกค้าทำได้ เช่น ร้านอาหารอาจกำหนดให้ทานหมดจาน ร้านกาแฟให้ลูกค้านำแก้วมาเอง ห้างให้ลูกค้านำถุงผ้ามาซื้อของ โรงแรมให้ลูกค้าเลือกไม่ซักผ้าเช็ดตัวได้หากพักมากกว่า 1 คืน แล้วลูกค้าถ่ายรูปตอนทำกิจกรรมเหล่านี้ ปักโลเคชั่นที่ทำ รูปก็จะถูกเก็บเข้าไปในเซิร์ฟเวอร์ ให้แบรนด์สามารถตรวจสอบได้ แล้วลูกค้าก็จะได้พอยต์ไปแลกตามที่แบรนด์กำหนด ระยะเวลาแต่ละกิจกรรมทางแบรนด์ก็สามารถกำหนดได้ และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกิจกรรมให้ลูกค้ากลับมาทำแล้วรู้สึกไม่เบื่อได้เช่นกัน

“ผมว่าวิธีนี้จะสร้างประสบการณ์ที่ดีกับลูกค้าในแง่ของความยั่งยืน คือไม่ใช่แค่ให้เขาซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อโลกนะ แต่ดึงเขาให้มา action กับสิ่งที่แบรนด์ทำได้เลย ในฝั่งแบรนด์ก็สามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ PR ทำการตลาดได้ หรือจะเก็บเป็นข้อมูลนำไปวิเคราะห์ปรับปรุงแบรนด์ต่อไปก็ได้ อีกเรื่องที่สำคัญคือกำลังจะมีกฎหมายตัวหนึ่งออกมา ชื่อว่า EPR หรือ Extended Producer Responsibility เป็นการรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ที่เราจำหน่ายออกไป ให้กลับมาจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างถูกต้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

ท็อปยกตัวอย่างแบรนด์ที่ใช้แพลตฟอร์ม ECOLIFE ไปร่วมกิจกรรมกับลูกค้า เช่น Yves Rocher และ Central ที่ให้ลูกค้านำบรรจุภัณฑ์ของเครื่องสำอางที่ใช้หมดแล้วมาคืนที่ Central หรือว่าที่ร้าน Yves Rocher ก็ได้ แล้วแบรนด์ก็นำไปจัดการต่อไป

หรืออย่างแคมเปญของเลย์ ที่จับกลุ่มทาร์เก็ตเดิมที่เคยทำงานด้วยอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัย 3 ที่คือ มศว, จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ ให้นำซองเลย์เปล่าที่ทานหมดแล้วมาส่งคืนฟรีที่ไปรษณีย์ในมหาวิทยาลัย ไปรษณีย์ก็จะบันทึกข้อมูลว่าน้ำหนักซองที่เข้ามาทั้งหมดเท่าไหร่แล้ว มหาวิทยาลัยไหนที่รวบรวมได้เยอะและเร็วสุดภายใน 2 เดือนจะได้รางวัลเป็นพานักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม 100 คนไปกินบาร์บีคิวพลาซ่าฟรี

แคมเปญนี้มหาวิทยาลัยก็ได้ข้อมูลในเรื่องการมีส่วนร่วมของนิสิตนักศึกษา ไปรษณีย์เองก็ช่วยเรื่องโลจิสติกส์ ส่งซองกลับมาให้เลย์นำมาวิจัยและจัดการขยะต่ออย่างถูกต้อง พอพานักศึกษาไปทานอาหารก็จะมีการสอนเรื่อง food waste อีกด้วย

ECOLIFE เวอร์ชั่นนี้จึงปรับพฤติกรรมคนได้ทั้งจากพนักงานในองค์กร ไปจนถึงลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่ม public ตามที่ท็อปจะให้เกิดการปรับพฤติกรรมในวงกว้างนั่นเอง

ธุรกิจเพื่อสังคมต้องยืนหยัดไปพร้อมกับโลกที่ยั่งยืน

ท็อปเน้นย้ำว่าการทำธุรกิจเพื่อสังคม พอมีคำว่าธุรกิจ ก็ต้องอย่าลืมเรื่องรายได้หรือเรื่องเงิน จะต้องคิด business model มีการวางระบบ และ strategy ว่าจะทำยังไงเพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนโดยที่มีรายได้เข้ามาจริงๆ 

ต้องมีการคิดต้นทุนที่ถูกต้อง ทั้งต้นทุนค่าแรงของตัวเอง ต้นทุนเวลา ต้นทุนการจ้างแรงงาน เพื่อทำให้มันกลายเป็นคำว่าธุรกิจให้ได้ แบบนี้ถึงจะยืนหยัดอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“ก่อนหน้านี้ผมเคยคิดเข้าข้างตัวเองเหมือนกันนะว่าทำเรื่องดีๆ ต้องมีคนชอบ ต้องมีคนสนับสนุนสิ แต่โลกความเป็นจริงไม่ได้สวยงามขนาดนั้น คนที่มาสนับสนุนคอยช่วยเหลือเรา ถ้าเขาไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม วันหนึ่งเขาอาจจะหมดกำลังใจ แล้วไม่สนับสนุนกันอีก พอเป็นแบบนั้นมันน่าเสียดาย 

“สุดท้ายแล้วธุรกิจเพื่อสังคมก็ต้องอยู่ได้ด้วยผลกำไรที่เหมาะสม เราอาจจะไม่ได้มองตัวเงินเป็นที่ตั้งสูงสุดแล้วทำอะไรก็ได้ แต่ว่าการมองรายได้และการสร้างอิมแพกต์ ผมว่ามันควรจะไปด้วยกัน”

นอกเหนือจากกำไรที่เป็นเม็ดเงินแล้ว ท็อปรู้สึกว่ากำไรที่เขาได้คือความรู้สึกใจฟูที่คนมาใช้แพลตฟอร์ม ECOLIFE แล้วค่อยๆ ปรับพฤติกรรมกันคนละเล็กละน้อย แต่ถ้าเกิดการบอกต่อในวงกว้างมากขึ้น

“ผมเชื่อว่าคนที่พกกระบอกน้ำ พกกล่องข้าว ถุงผ้า ลดพลาสติก เขาน่าจะเป็นตัวอย่างให้กับหลายๆ คนได้ และเกิดการบอกต่อว่าฉันก็ใช้แพลตฟอร์มนี้ช่วยโลก และนี่คือปริมาณที่เราช่วยกัน และสุดท้ายแล้วถ้าเกิดปริมาณที่มีมากพอ แน่นอนว่าเราก็จะเอาปริมาณพวกนี้ไปแชร์กับภาครัฐ ซึ่งภาครัฐเขาก็ดูอยู่ด้วยแหละว่าประชาชนสนใจเรื่องอะไร

“เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่เราชอบปั่นจักรยานกันมากเลย ภาครัฐก็ทำเลนจักรยานให้ หรือว่าตอนนี้เราชอบวิ่งก็จะมีการจัดงานวิ่ง ต่อไปเรื่องการแยกขยะ การลดพลาสติก หรืออะไรที่มันสามารถทำได้ เดี๋ยวภาครัฐเขาก็จะลงมา แต่วันนี้เราก็ช่วยเก็บ data ตรงนี้ ผมก็เลยมองว่าแพลตฟอร์มนี้น่าจะเป็นแพลตฟอร์มกลาง คือช่วยทำให้ทุกคนได้เห็นว่าเราปรับพฤติกรรมได้ เก็บข้อมูลได้ และมันก็จะทำให้คนอื่นได้เห็นและทำตาม ผมอยากให้เป็นอย่างนั้น”

บทเรียนสำคัญที่ทำให้ยืนระยะมาได้เป็น 10 ปี

บทเรียนข้อแรกของท็อปคือ ‘ชัดเจนในสิ่งที่ทำ’ เขาชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าอยากจะปรับพฤติกรรมของผู้คนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำทั้งในมิติของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์สนับสนุนเรื่องนี้ การพูดออกสื่อ การทำเป็นธุรกิจ และไม่ว่าจะทำในมิติไหน เขาทำเพื่อให้ปลายทางไปบรรจบที่เส้นทางเดียวคือให้เกิดการปรับพฤติกรรม

บทเรียนที่ 2 คือ ‘ตั้งใจทำอย่างต่อเนื่อง’ ที่ผ่านมาท็อปยังคงพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เขาย้ำว่าเขาไม่ได้เก่งเรื่องนี้ไปกว่าใครๆ บางทีเด็กรุ่นใหม่ที่มาขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมอาจเก่งกว่าเขาด้วยซ้ำ แต่จุดแข็งที่ทำให้เขาอยู่จนถึงทุกวันนี้คือความต่อเนื่อง ที่ถึงแม้ว่าบางทีจะมีสะดุดจากอุปสรรคต่างๆ แต่เขาก็ไม่ได้ล้มหัวทิ่มแล้วก็เลิกไป ยังฮึดๆ สู้ขึ้นมาได้

“ผมว่าข้อสุดท้ายคือการที่เราจะต้องปรับตัวไปเรื่อยๆ ความชัดเจนในตอนแรกไม่ได้แปลว่าเราจะไม่เปลี่ยนเลย ผมต้องปรับวิธีการสื่อสาร การพูด วิธีคิด ต้องปรับทั้งตัวเอง ทั้งธุรกิจที่ทำ ผ่านการมองข้างนอกว่าเทรนด์ ณ วันนี้ ความสนใจของโลกใบนี้ หรือว่าเทคโนโลยีมันปรับเป็นยังไงบ้าง ผมว่าการปรับตัวอยู่เสมอจะทำให้เรายังคงอยู่ในโลกที่มันหมุนเร็ว

“ผมว่าเราไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ท็อปตอนปี 2008 หรือเมื่อ 16 ปีที่แล้วที่เริ่มมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อม กับท็อปในวันนี้ เราก็วิ่งตามโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน บางทีเป็นความสำเร็จในช่วงเวลานั้น เราก็อาจจะดีใจตอนนั้น แต่ตอนนี้มันไม่ใช่แล้ว หรือวันนี้ที่เราดีใจว่าสำเร็จ พรุ่งนี้ต้องหาความสำเร็จใหม่ คือมันก็ต้องปรับ ผมก็เลยมองว่า 3 อย่างนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่เรายึดถือ เลยทำให้วันนี้เรามีโอกาสได้มาเจอและได้มาพูดคุยกัน”

ภารกิจพาธุรกิจไทยสู่เวทีโลก เมื่อความคิดสร้างสรรค์และธุรกิจต้องเดินด้วยกัน

ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีและการเชื่อมโยงแบบไร้พรมแดนเข้ามามีบทบาทสำคัญ ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความท้าทายในการก้าวเข้าสู่ตลาดสากล การแข่งขันไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศอีกต่อไป ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อให้โดดเด่นในตลาดโลก ไม่เพียงแต่สร้างสินค้าและบริการที่ดี แต่ยังต้องสร้างการเชื่อมโยงกับเครือข่ายระดับนานาชาติ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA มุ่งมั่นเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยกับโอกาสในระดับโลก ในปี 2567 ที่ผ่านมา CEA จึงได้พาผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์ไทยกว่า 80 ราย ไปจัดแสดงสินค้าในงานเทศกาลระดับโลกกว่า 10 เมือง เช่น งาน Thai Festival ในญี่ปุ่น เกาหลี และฝรั่งเศส หรือ China-ASEAN Expo (CAEXPO 2024) ในจีน 

กิจกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างการรับรู้ในระดับนานาชาติ แต่ยังช่วยสร้างรายได้และขยายเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการไทย โดยนำเสนอซอฟต์พาวเวอร์ที่โดดเด่นและเอกลักษณ์ของสินค้าไทยสู่สายตาชาวโลก

จากความสำเร็จในเวทีสากลนี้เอง CEA จึงเล็งเห็นว่า การสร้างความคิดสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป แต่การมุ่งเน้นเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ การสร้างความรับรู้ รวมถึงการสร้างเครือข่ายระหว่างธุรกิจเป็นอีกกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย

ในงาน Bangkok Design Week 2025 : ออกแบบพร้อมบวก ที่ครั้งนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 8 และได้รับการจดจำในฐานะเวทีระดับสากลที่รวบรวมความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบอันหลากหลาย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และ Capital สื่อธุรกิจที่เชื่อว่าธุรกิจเป็นเรื่องใกล้ตัว ออกแคมเปญ Creative House by CEA: Creativity x Business ขึ้น

ด้วยแนวคิด Creativity x Business จึงสะท้อนถึงการผสมผสานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เข้ากับกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสร้างความแตกต่างและการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะศิลปะไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจ แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มมูลค่าและขยายโอกาสทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเครือข่ายทางธุรกิจและกลยุทธ์ก็สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ 

เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยไม่เพียงก้าวสู่เวทีระดับโลก แต่ยังสร้างความเชื่อมโยงในด้านการซื้อ-ขาย การร่วมสร้างสรรค์ และการจ้างงานในระดับประเทศและนานาชาติ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคน แคมเปญนี้จึงประกอบด้วย 3 ไฮไลต์สำคัญ ได้แก่

📍Show & Shop พื้นที่จัดแสดงสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมสามารถซื้อสินค้าและสัมผัสผลงานสร้างสรรค์ได้โดยตรง แบ่งออกเป็นโซน Creative Service ที่รวมข้อมูลและผลงานจากผู้ประกอบการที่หากผลงานใครเข้าตาก็สามารถติดต่อเชื่อมโยงธุรกิจกันได้ และโซน Creative Business ที่มีผู้ประกอบการกว่า 17 ราย ที่ไม่ได้นำสินค้าและบริการมาจัดแสดงผลงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจเท่านั้น แต่ในวันจันทร์-ศุกร์ที่ 10-14 กุมภาพันธ์ เรายังเปิดให้เชื่อมต่อหรือเจรจาทางธุรกิจ ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ เราเปิดพื้นที่ให้ทุกคนช้อปสินค้าน่าสะสมได้อีกด้วย  

📍Business Networking เวทีสำหรับเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ ผ่านกิจกรรมเจรจาธุรกิจ การเปิดตัวสินค้า การจัดเวิร์กช็อป และการสร้างเครือข่าย

📍Business Directory ดิจิทัลบุ๊กที่รวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการและบริการสร้างสรรค์กว่า 60 ราย พร้อมรายละเอียดสินค้าและบริการที่โดดเด่น ซึ่งดาวน์โหลดได้แล้ววันนี้ที่ shorturl.asia/zxvCt

Creative House by CEA : Creativity x Business ไม่ใช่เพียงแค่งานเทศกาล แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย ให้เติบโตในเวทีโลก ด้วยการสนับสนุนของ CEA, Capital และพันธมิตรทางธุรกิจ

พบกันใน Bangkok Design Week 2025 ระหว่างวันที่ 8-23 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ TCDC ไปรษณีย์กลาง บางรัก!

📍 วันที่ : 8-16 กุมภาพันธ์ 2568

⏰ เวลา : 11:00-22:00 น.

📍 สถานที่ : Resource Center & Creative Space ชั้น 5, TCDC กรุงเทพฯ

เบื้องหลังการปั้นแพลตฟอร์มส่งออกงานคราฟต์ไทยไประดับโลกของ VT Thai ในยุคบูมของมาร์เก็ตเพลส

แพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างประเทศที่ขายงานฝีมืออย่าง Etsy จากอเมริกาและ Folksy จากอังกฤษถือเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับโลก โดยเฉพาะรายใหญ่อย่าง Etsy ซึ่งมีรายได้หลักพันล้านบาทและมีผู้ใช้เว็บไซต์ (user) ทั่วโลกถึง 96 ล้านคนจากการสร้างคุณค่าผ่านการเป็นสื่อกลางให้ช่างฝีมือและศิลปินสามารถเข้าถึงลูกค้าทั่วโลกได้ง่ายขึ้น

วัธ–จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ผู้ก่อตั้งของ VT Thai ซึ่งเป็นธุรกิจแพลตฟอร์มขายงานฝีมือของไทยมองว่าคนไทยก็มีศักยภาพในระดับโลกไม่แพ้ต่างชาติ จึงปลุกปั้นไอเดียทำแพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นมาตั้งแต่ราวปี 2016 เพื่อเป็นหนึ่งช่องทางให้ผลงานจากชุมชนไทยเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ โดย VT Thai มีโมเดลธุรกิจคล้าย Etsy คือเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมงานฝีมือมาขาย แต่เพราะเป็นธุรกิจของคนไทย จึงมีความแตกต่างคือรวมผลงานจากจากชุมชนทั่วไทยเท่านั้นซึ่งส่วนใหญ่สินค้าในตอนนี้เป็นงานจักสาน

วัธมองว่าเสน่ห์ของงานฝีมืออยู่ที่เรื่องราวเบื้องหลังกระบวนการผลิต เช่น งานย้อมครามของแต่ละจังหวัดที่มีกรรมวิธีเฉพาะ บางจังหวัดใช้เทคนิคย้อมครามผสมเหล้าขาวเพื่อให้ได้เฉดสีพิเศษ บางจังหวัดอาจย้อมจากวัตถุดิบท้องถิ่น หรืองานจักสานของแต่ละชุมชนที่ใช้วัสดุไม่เหมือนกันเลย ส่งผลให้ผลงานมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น การทำงานฝีมือจึงเปรียบเสมือนการบ่มไวน์ที่แหล่งผลิตมีอิทธิพลโดยตรงต่อคุณภาพและเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ตามงานฝีมือที่ทรงคุณค่าเหล่านี้กลับเผชิญปัญหาด้านการทำการตลาดและหาลูกค้า หน้าที่ของธุรกิจอย่าง

VT Thai คือการเป็นตัวกลางที่ช่วยให้ชุมชนเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้อย่างไร้ขีดจำกัด ถึงแม้ในขณะนี้วัธที่สวมบทบาททำหลายธุรกิจจะอยู่ในช่วงวางมือจากการบริหาร VT Thai และอยู่ในช่วงเจรจาให้พาร์ตเนอร์คนใหม่นำธุรกิจไปดูแลต่อ แต่เรื่องราวการตั้งต้นทำธุรกิจเพื่อผลักดันงานฝีมือไทยให้ก้าวไกลสู่เวทีสากลน่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้

แพลตฟอร์มผู้เป็นตัวกลางการบริหารจัดการ 

หน้าที่ของคนกลางอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์คือทำหน้าที่เหมือน service provider หรือผู้บริหารจัดการ ทั้งสนับสนุนชุมชนในการขายสินค้าให้เข้าถึงตลาดต่างประเทศได้ง่ายขึ้นและจัดหาสินค้าที่ลูกค้าต้องการ รูปแบบการดำเนินงานจึงมี 2 แบบ

หนึ่งคือรับฝากขายสินค้าจากชุมชนที่ผลิตอยู่แล้ว โดยใช้ระบบ QR Code ที่ช่วยให้ชุมชนสามารถกรอกข้อมูลสินค้าของตนเอง เช่น รายละเอียดสินค้า เรื่องราวของงานคราฟต์ ขนาดและราคาขาย จากนั้น VT Thai ก็จะรับหน้าที่อัปเดทข้อมูลในเว็บไซต์และรับไม้ต่อในส่วนการขายและการตลาด

รูปแบบที่สองคือการผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อเฉพาะ (customize) เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดระดับพรีเมียมที่ต้องการสินค้าที่ออกแบบเป็นพิเศษ เช่น กระเป๋าที่ใช้วัสดุภายนอกเป็นกระจูด ด้านในเป็นผ้าทอ และตกแต่งด้วยวัสดุหนังแท้ โดยที่ผ่านมาได้พางานฝีมือไทยไปไกลในหลายประเทศ เช่น โรงแรมที่สวิตเซอร์แลนด์และแอฟริกาใต้

สิ่งสำคัญในการเป็น service provider ที่วัธเล่าให้ฟังคือการออกแบบประสบการณ์หรือ service design ที่ดีซึ่งอำนวยให้การซื้อขายเป็นไปโดยง่าย 

“เมื่อก่อนเราเคยเข้าใจว่าไปจ้างคนทำเว็บไซต์หรือแอพแล้วก็จบ แต่จริงๆ แล้วแอพที่ดีหรือเว็บไซต์ที่ดีคือแพลตฟอร์มที่ลูกค้าสามารถกดสั่งซื้อและหาของได้ง่าย คนฝากขายก็สามารถบริหาร ทํางานได้ง่าย มีประสบการณ์ใช้งาน (user experience) ที่ดีสำหรับทั้งสองฝั่ง

“เราไม่ได้เอาเงินมาเป็นตัวกําหนดว่าจะต้องเป็นธุรกิจที่ได้เงิน 50 ล้านหรือร้อยล้านอะไรแบบนั้น แต่ค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับบริบทของแบรนด์ตอนนั้น เชื่อว่าแพลตฟอร์มต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น amazon หรือ alibaba ก็มีการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอเช่นกัน เขาไม่ได้ลงเงินไปพันล้านแล้วหยุดนิ่ง แต่พัฒนาตลอดเพื่อให้คนซื้อของได้ง่ายที่สุดและเร็วที่สุด”

เทสต์ระบบเพื่อเจาะตลาดโลก

ในช่วงสองปีแรก VT Thai ให้ความสำคัญกับการทดลองตลาดเป็นหลักเพื่อวางรากฐานให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่ง เริ่มต้นจากการทดลองตลาดในกลุ่มค้าปลีกก่อนผ่านการวางจำหน่ายสินค้าตามร้านค้าระดับพรีเมียม เช่น เซ็นทรัลชิดลม เซ็นทรัลเอมบาสซี คิงพาวเวอร์ โดยใช้กลยุทธ์ตั้งราคาสินค้าในระดับสูงเพื่อทดสอบว่าลูกค้ากลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงยินดีจ่ายหรือไม่

หลังจากนั้นจึงเริ่มขยาย ทดลองตลาดค้าส่งที่ต่างประเทศ ทดสอบตลาดอย่างจริงจังโดยสลับไปลองขายหลายแห่งที่ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และในช่วงเวลาไม่กี่เดือน จากอินไซต์ที่รุกขายในต่างประเทศในช่วงปี 2017-2019 ซึ่งอาจมีความแตกต่างจากปัจจุบันไปบ้างพบว่า พฤติกรรมผู้บริโภคที่อยากซื้องานฝีมือในแต่ละประเทศนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องมีการทำการตลาดในหลายช่องทาง ทั้งเฟซบุ๊ก บล็อกเกอร์และอินฟลูเอนเซอร์ การโฆษณาผ่าน Google AdWords 

อย่างในญี่ปุ่น คนมีแนวโน้มอยากซื้อสูงเมื่ออินฟลูเอนเซอร์โพสต์รีวิวสินค้า และหากอยากทำการตลาดโดยใช้คีย์เวิร์ดสำคัญ อาจต้องใช้คำที่ต่างกันในการทำโฆษณา เช่น ในบางประเทศผู้คนจะเสิร์ชหาสินค้าด้วยคำว่า wicker work แต่บางประเทศผู้คนนิยมเสิร์ชด้วยคำว่า handcraft มากกว่า

หัวใจสำคัญในการทำธุรกิจจึงเป็นการทดสอบและรอดูฟีดแบ็กเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

ระบบหลังบ้านที่พร้อมเติบโตกับชุมชน

ความท้าทายสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชนผู้ผลิตคือการวางระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับปัญหาที่ไม่คาดคิด ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เสมอ ตัวอย่างเช่น ในบางครั้งชาวบ้านผู้ผลิตงานฝีมืออาจมีธุระกะทันหันที่จำเป็นต้องเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานแต่งงาน หรืองานศพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตโดยตรง

แนวทางการจัดการกับความไม่แน่นอนเหล่านี้คือการวางแผนสำรอง โดยมีชุมชนผู้ผลิตสำรองไว้อย่างน้อย 2-3 ชุมชนที่ทำงานในลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียง เพื่อให้ดำเนินการผลิตต่อไปได้โดยไม่สะดุด นอกจากนี้การผลิตงานฝีมือจากชุมชนยังมีความท้าทายด้านความล่าช้าในการผลิตที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ดังนั้นการเผื่อเวลาสำหรับขั้นตอนต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ

เช่น ก่อนเริ่มงานมีการกำหนดระยะเวลาการผลิตที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการตรวจสอบความคืบหน้าระหว่างทาง และวางระบบการตรวจสอบคุณภาพสินค้าอย่างเป็นขั้นเป็นตอนหลายรอบ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนผู้ผลิตยังคงดำเนินงานตามที่ตกลงไว้ได้และสามารถส่งมอบสินค้าตรงตามสเปกที่ลูกค้าต้องการ

แม้จะเป็นคนกลางในฐานะแพลตฟอร์มและมีงานส่วนบริหารจัดการต้องดูแลเยอะแค่ไหน แต่วัธก็จริงจังในการศึกษาเรียนรู้จากชุมชนเช่นกัน ด้วยการลงไปเยี่ยมเยียนชุมชนงานฝีมือต่างๆ ในไทยหลักร้อยแห่งและให้ความสำคัญกับการให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมที่ชุมชนสมควรจะได้รับ

“เราพยายามไม่เลือกตัวเทพและตัวเท่ หมายความว่าเวลาเราเห็นงานชุมชน สมมติถ้าคิดถึงงานจักสานจากกระจูดจะคิดถึงชุมชนนี้เลย หรือคิดถึงงานจากผักตบชวาก็จะเป็นชุมชนนี้ แต่เรามองว่าชุมชนที่ประสบความสําเร็จมีคนอื่นเข้าไปซัพพอร์ตเยอะพอสมควรแล้ว เราก็เลยพยายามคัดเลือกชุมชนที่อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงแต่อาจจะยังเข้าถึงโอกาสได้น้อยกว่าคนอื่น”

บทเรียนของ serial entrepreneur คือการโฟกัสเพียงสิ่งเดียว

วัธเล่าว่า VT Thai ประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากนักลงทุนเพราะได้แสดงให้นักลงทุนเห็นถึงความตั้งใจที่ไม่ได้เลือกทำธุรกิจแค่เพราะตามกระแสหรือเป็นเทรนด์ที่ดูเท่ แต่มีแพสชั่นอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักลงทุนและคุณยายให้คำแนะนำแก่เขาตรงกันคือการโฟกัสและทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพรานอกจาก VT Thai แล้ววัธยังเป็น serial entrepreneur ที่ทำหลายธุรกิจตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ทั้ง Supercat แบรนด์ไม้ถูพื้นที่ขายให้ยี่ปั๊วะและซาปั๊วะต่างจังหวัด, Mango Mojito แบรนด์รองเท้าหนังสไตล์คลาสสิก, SC Grand และ CIRCULAR แบรนด์สิ่งทอรีไซเคิลที่ต่อยอดจากธุรกิจครอบครัว 

 “บทเรียนทางธุรกิจเป็นคำพูดเรียบง่ายของคุณยายคำเดียวคือ อยู่กับมัน ไม่ว่าจะทำอะไรต้องโฟกัสนึกถึงมันตลอดเวลา ถ้าคิดถึงธุรกิจนั้นทีธุรกิจนี้ที มันเหมือนเทน้ำใส่หลายเหยือกแล้วไม่เต็มสักที ต้องโฟกัสกับสิ่งเดียวแล้วทําให้แข็งแรงจนสร้างตึกสูงได้ แต่เราในอดีตเวลาเห็นโอกาสตรงไหนที่อยากลองทําแล้วรู้สึกท้าทายก็อยากหยิบจับไปซะหมด ทุก 3 ปีทำธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ไม่โฟกัส”  

ด้วยเหตุนี้ตอนนี้เขาจึงเลือกดูแล SC GRAND ที่ต่อยอดจากธุรกิจครอบครัวเป็นหลัก ส่วน VT Thai ก็กำลังมองหาพาร์ตเนอร์ต่อไป โดยในอนาคตมองว่าธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวหรือห้างสรรพสินค้าน่าจะเป็นคู่ค้าที่ผลักดันให้ VT Thai เติบโตไปได้ไกลดังความตั้งใจ 

เปิดประสบการณ์เช้าจรดเย็นที่ ‘วัน แบงค็อก’ แลนด์มาร์กแห่งใหม่ใจกลางกรุง 

ตั้งแต่ One Bangkok เปิดตัว ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติต่างก็อยากไปปักหมุด ณ ที่แห่งนี้สักครั้ง ด้วยถือเป็นแลนด์มาร์กระดับโลกแห่งใหม่ที่ทั้งใหญ่และมาในคอนเซปต์ที่แตกต่างไปจากเดิม ภายในพื้นที่แห่งนี้ยังแบ่งออกเป็นหลายโซนด้วยกัน เพื่อตอบโจทย์หลากหลายไลฟ์สไตล์ของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มาเยือน

วัน อัลทรา สกรีนส์ (One Ultra Screens)

ไม่ว่าจะในพื้นที่โซน Parade ที่มีทั้งวัน อัลทรา สกรีนส์ (One Ultra Screens) โรงภาพยนตร์ระดับ Ultra Luxury ในแนวคิดใหม่ The Exclusive Movie Club ที่รองรับประสบการณ์ชมภาพยนตร์สุดเอกซ์คลูซีฟพร้อมพื้นที่ส่วนตัวที่สุด โรงภาพยนตร์ Estophere by est ที่ทั้งทันสมัยและมีเทคโนโลยีภาพคมชัดระดับ 4K โรงภาพยนตร์ Smooth as silk Premium cinema ที่มีห้องรับรองพิเศษ Private Lounge จากการบินไทย 

นอกจากนั้นยังมี สารพัดไทย (Sarapad Thai) พื้นที่ที่นำเสนอเรื่องราวความเป็นไทยในหลากหลายมุมมองผ่านสินค้าที่สะท้อนความเป็นไทยที่ออกแบบและตีความใหม่ให้ร่วมสมัย แต่ยังคงอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันซึ่งถือเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและเศรษฐกิจของประเทศด้วย

HarborLand

สำหรับครอบครัว เมกา ฮาร์เบอร์แลนด์ วันเดอร์แลนด์ (MEGA HarborLand Onederland) สนามเด็กเล่นในร่มขนาดมหึมากว่า 6,000 ตารางเมตร ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ครั้งนี้ตกแต่งภายใต้แนวคิด ‘ป่าหิมพานต์’ ที่ผสมผสานความงดงามและตำนานสัตว์มหัศจรรย์แบบไทยๆ เชื่อมโยงระหว่างโลกมนุษย์และดินแดนแห่งเทพนิยาย ทั้งยังมีโซนใหม่ๆ อย่าง JumpZ, Laser Battle, Harbor Adventure และสวนน้ำ Harbor Island ที่เตรียมเปิดให้บริการเร็วๆ นี้

คิง เพาเวอร์ ซิตี บูทีก (King Power City Boutique)

ส่วนใครเป็นสายช้อป คิง เพาเวอร์ ซิตี บูทีก (King Power City Boutique) ก็ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มนักเดินทางคนไทยและต่างชาติ ด้วยสินค้าดิวตี้ฟรีและสินค้าซื้อแล้วรับกลับทันที กว่า 200 แบรนด์ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 2 ชั้น รวม 5,248 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 8 โซน พิเศษ ได้แก่ Masterpieces คัดสรรสินค้าหายาก เช่น นาฬิกา  ลิมิเต็ดเอดิชั่น, Sunglasses Street โซนแว่นกันแดดคอลเลกชั่นใหม่ที่คัดสรรแบรนด์ชั้นนำมาให้เลือกมากมาย, Thai Makers Market โซนสินค้าไทย จุดหมายแห่งการช้อปของขวัญของฝากของเมืองไทย, Liquor Lane โซนเครื่องดื่มสุดพรีเมียมที่รวมแบรนด์ดังจากทั่วทุกมุมโลก, Timepiece Town โซนนาฬิกาสุดพรีเมียม, Scent Avenue โซนเครื่องหอมที่รวบรวมแบรนด์ยอดนิยมให้เลือกสรร, Beauty Boulevard สัมผัสประสบการณ์ความงามสุดเอกซ์คลูซีฟจากแบรนด์ชั้นนำระดับโลก, The Square พื้นที่สร้างสรรค์กิจกรรมหลากหลายที่รอให้ทุกคนมาสัมผัส

ด้วยสถานที่แห่งนี้นั้นกว้างขวาง หากใครเดินชมจนเหนื่อยล้าก็เติมพลังกันได้ที่ มิตซูโคชิ เดปาชิกะ (Mitsukoshi Depachika) ศูนย์รวมร้านค้าและผู้ผลิตสินค้าจากญี่ปุ่นที่คัดสรรสารพันสินค้ามาสร้างความแปลกใหม่ให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติกันแล้ว

จิม ทอมป์สัน ไลฟ์สไตล์สโตร์ (Jim Thompson Lifestyle Store)

ไม่เท่านั้น อีกโซนสำคัญที่พลาดไม่ได้คือโลกของสีสันแห่งไลฟ์สไตล์ที่โซน The Storeys ซึ่งมีทั้ง จิม ทอมป์สัน ไลฟ์สไตล์สโตร์ (Jim Thompson Lifestyle Store) แห่งแรกของแบรนด์ เป็นสโตร์รูปแบบดูเพลกซ์บนพื้นที่กว่า 550 ตารางเมตร นอกจากจะมีโซนรีเทลยังมีร้าน Jim’s Terrace ที่เปิดให้ได้ลิ้มลองเมนูอาหารไทยร่วมสมัยและเครื่องดื่มสุดพิเศษ และ ‘Silk Exhibition’ ที่จะพาย้อนประวัติศาสตร์เส้นทางการยกระดับผ้าไหมไทยของแบรนด์จิม ทอมป์สัน

SWATCH

ส่วนใครเป็นสายนาฬิกา พลาดไม่ได้กับ Swatch Concept Store ของแบรนด์ Swatch ที่ใหญ่ที่สุดในโลก พิเศษที่มีถึง 2 ชั้น และยังมีโซน Personalized Station ที่ลูกค้าสร้างสรรค์นาฬิกาเรือนเดียวในโลกได้ด้วยตัวเอง ทั้งยังมี Club21 One Bangkok Multi-label Store นำเสนอพื้นที่รีเทลนิยามใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ 

ใน The Storeys ยังมีร้านอาหารชื่อดังที่ใครต่างอยากลิ้มลองและเช็กอินอย่าง บีอันก้า (BIANCA) ร้านอาหารอิตาเลียนที่ใช้วัตถุดิบสดใหม่และปรุงอย่างพิถีพิถัน ผสมผสานกับเทคนิคการทำอาหารรูปแบบใหม่ เสิร์ฟเมนูดังอย่าง Chicken Caesar, Parma Ham & Stracciatella Pizza, Truffle Pasta e Basta, Lamb Shank Fregola และ Bianca’s Tiramisu  

One Bangkok ยังมีความพิเศษอีกมากที่พร้อมสร้างประสบการณ์พิเศษให้ทุกคน ทั้งยังมีอีกหลายแบรนด์ที่จะทยอยเปิดในเฟสถัดไป ส่วนตอนนี้ใครยังไม่ได้ไปเยี่ยมชม อย่าลืมไปเช็กอินกัน

ธุรกิจที่เป็นผู้นำนวัตกรรมล้ำหน้าแห่งอนาคตที่พร้อมเติบโตไปกับเทรนด์โลก

ย้อนไปเดือนนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตั้งคำถามกับ 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ ว่า ‘อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้’ ก่อนจะค้นพบว่าท่ามกลางคำตอบมากมาย แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันออกไป ไม่แน่ว่าคำตอบเหล่านั้นอาจกลายไปเป็นทุนสำคัญของธุรกิจอื่นๆ อีกต่อไป

จวบจนปัจจุบัน Capital เดินทางมาถึงขวบปีที่ 3 ผ่านการนำพาความตั้งใจที่อยากบอกเล่าเรื่องราวในโลกธุรกิจอย่างเป็นมิตรด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘better business for good life’ เราขอเฉลิมฉลองช่วงเวลาสุดแสนพิเศษนี้ ผ่านการเชิดชูธุรกิจที่น่าจับตามองแห่งปีและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ

ผ่าน ‘CAPITAL40: 40 Businesses to Watch in 2025’  ที่พวกเราตั้งใจส่องไฟไปยัง 40 ธุรกิจที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ล้ำหน้า พร้อมพาไปดูว่าพวกเขาจะสร้างกระแสใหม่และเปิดขอบเขตความเป็นไปได้ของอนาคตได้ยังไง?

ไม่แน่ว่า 40 ธุรกิจนี้อาจเป็นแบรนด์ที่คุณหลงรัก อยากเปิดใจอยากทำความรู้จัก ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟให้คนทำธุรกิจ หรือชวนให้กลับมาขบคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจตลอดปี 2025

flo

flo Wolffia : THE SUPER FOOD 
ฝันใหญ่ที่อยากปั้นผำไทยเป็นโปรตีนของโลกโดยอาจารย์นักวิจัย

WHAT HAPPENED :

ไข่ผำหรือผำเป็นวัตถุดิบพื้นบ้านจากภาคเหนือและอีสานที่กำลังได้รับความนิยมและกลายเป็นเทรนด์ในปีที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญอย่าง ผศ. ดร.เมธา มีแต้ม และ ผศ. ดร.วิษุวัต สงนวล ที่เห็นโอกาสในการผลักดันผำให้กลายเป็นซูเปอร์ฟู้ดของไทยในยุคที่คนหันมาสนใจอาหารจากพืชและโปรตีนทางเลือก ทั้งคู่ได้ร่วมก่อตั้งบริษัท แอดวานซ์ กรีนฟาร์ม จำกัด เพื่อพัฒนานวัตกรรมการเพาะเลี้ยงผำ โดยใช้เทคโนโลยี NSS Technology ที่ให้ความสำคัญกับสามแกนหลักคือ nutritious (คุณค่าทางโภชนาการ), safe (ความปลอดภัย) และ sustainable (ความยั่งยืน) ซึ่งผำที่ผลิตได้มีโปรตีนสูงกว่าธรรมชาติถึง 5 เท่า โดยยังคำนึงถึงความปลอดภัยและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผำกลายเป็นซูเปอร์ฟู้ดของไทยที่มีคนต่างชาติรู้จักมากขึ้น และยังทำให้ผำสดซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่หายากในอดีตสามารถหาซื้อได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในตัวเมืองกรุงเทพฯ อีกด้วย

WHAT’S NEXT :

flo Wolffia เริ่มต้นการจำหน่ายผำในตลาดประเทศไทย โดยมีโจทย์สำคัญของแบรนด์คือการทำให้ผำกลายเป็นแหล่งโปรตีนที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกในแง่ของความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการกินอาหารเป็นยาและการตอบสนองต่อสังคมผู้สูงอายุในระยะยาว ดังนั้นโร้ดแมปของธุรกิจจึงมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมองเห็นโอกาสที่ตลาดโลกยังมีความเป็นไปได้สูง ทั้งในแง่การทำการตลาดเพื่อให้คนต่างชาติรู้จักผำในฐานะซูเปอร์ฟู้ดที่มีมูลค่าสูง คล้ายกับสไปรูลิน่า นอกจากนี้ยังมีแผนการต่อยอดสินค้าผำให้สามารถรับประทานได้หลากหลายรูปแบบในอนาคต ทั้งในรูปของโปรตีนออร์แกนิก และอาหารเสริม เพื่อขยายขอบเขตการใช้งานและการบริโภคอย่างยั่งยืน

WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Innovator Mindset พัฒนาสินค้าด้วยมายด์เซตของนวัตกร

– Added Value เพิ่มมูลค่าให้อาหารพื้นบ้านของไทย และมีวิสัยทัศน์อยากแนะนำให้คนต่างชาติรู้จัก

– Megatrend เลือกทำธุรกิจที่โตตามเมกะเทรนด์ ซึ่งคือเทรนด์อาหารทางเลือก 

Metthier

Metthier : THE SMART CITY SOLUTION
ผู้นำยุคใหม่ที่น่าจับตามองแห่งการบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะ

WHAT HAPPENED :

ธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ (smart facility management) แบบครบวงจรในไทยที่นำเทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาใช้นั้นมีรายใหญ่ไม่มากนัก ความน่าสนใจของ Metthier คือเป็นบริษัทภายใต้สกาย กรุ๊ป (SKY Group) ที่ต่อยอดมาจาก ‘รักข์สยาม’ หรือ SAMCO บริษัทด้านการรักษาความปลอดภัยและความสะอาด โดยนำเทคโนโลยี AI, IoT, 3D Visualization, Indoor Mapping, Robotics มาใช้ในระบบบริหารจัดการอาคารอัจฉริยะ เช่น สร้างแบบจำลองอาคาร 3 มิติ ทำแผนที่ดิจิทัล ระบุตำแหน่ง ทำให้สามารถดูแลความปลอดภัยและความสะอาดได้สะดวกรวดเร็ว บริหารจัดการอาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น ขยล ตันติชาติวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Metthier มีเป้าหมายผลักดันให้ธุรกิจเป็นมากกว่าการบริหารจัดการอาคาร แต่เป็น smart building solution ที่เจาะกลุ่มลูกค้าผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โครงการบ้านและคอนโด โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ ทำให้โอกาสเติบโตของธุรกิจยังขยายไปต่อได้อีกไกล 

WHAT’S NEXT : 

การพัฒนาแพลตฟอร์มของตัวเองทำให้ Mettier ตั้งเป้าว่าอยากเป็นธุรกิจที่มีส่วนช่วยผลักดัน smart city ในอนาคตด้วยมาตรฐานระดับสากลอย่างครบวงจรทั้งในไทยและภูมิภาค สิ่งที่น่าชื่นชมคือการเป็นบริษัทไทยที่เพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีขั้นสูงและยังไม่ลืมการให้ความสำคัญด้านการผสานการใช้เทคโนโลยีร่วมกับบุคลากร รวมถึงไม่ลืมคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมในการสร้างความยั่งยืนด้านการใช้พลังงาน ถือว่าเป็นบริษัทที่น่าจับตามองต่อไปในระยะยาว 

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– New S-Curve สร้างธุรกิจใหม่ที่ต่อยอดจากธุรกิจรักษาความปลอดภัยดั้งเดิมด้วยการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยี

– Hi-Tech, Hi-Touch ผสานการใช้เทคโนโลยีควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งมอบบริการที่ดี

– Visionary การมีวิสัยทัศน์ใหญ่ที่นิยามธุรกิจมากกว่าแค่รักษาความปลอดภัยหรือดูแลอาคาร แต่มุ่งเป็น smart city solution

Spacely AI

Spacely AI : THE VISUALIZER 
พลิกโฉมวงการออกแบบด้วยแพลตฟอร์ม AI ที่มีผู้ใช้งาน 50 ประเทศทั่วโลก

WHAT HAPPENED : 

ท่ามกลางแพลตฟอร์ม AI มากมายในท้องตลาดในวันที่กระแส Generative AI กำลังเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทพลิกโฉมรูปแบบการทำงานในหลายอุตสาหกรรม Spacely AI ที่นำทัพโดย มิ้ง–ธนัชชา พจน์ทวีเกียรติ เป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อเป็น design tool ให้อินทีเรียร์ สถาปนิก และนักออกแบบทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น อุดช่องโหว่ของการทำงานดีไซน์แบบเดิมด้วยการย่นเวลาขึ้นรูป 3D ในกระบวนการเรนเดอร์ทำให้เห็นภาพได้เร็วขึ้น มี Spacely Research ที่เขียนคำสั่ง prompt ให้ AI ช่วยค้นคว้าได้และยังมีฟีเจอร์อีกมากมายที่ทำให้นักออกแบบทำงานได้สะดวกขึ้น

WHAT’S NEXT :

ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่ Spacely AI มีผู้ใช้บริการมากกว่า 400,000 คนจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่เป็นนักออกแบบจากอเมริกาและยุโรป เนื่องจากแบรนด์ตั้งเป้าหมายการขยายตลาดสู่ระดับโลก ทีมงานของ Spacely AI มองว่า การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในวงการเทคโนโลยีออกแบบไม่ใช่แค่การสร้างเสร็จแล้วจบ แต่ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และเพิ่งเริ่มขยายตลาดไทยในช่วงหลังๆ นี้ ดังนั้นในอนาคต เราอาจได้เห็นฟีเจอร์ใหม่ๆ และการตลาดที่เข้มข้นขึ้นในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายหลักในการนำเทคโนโลยีมาปฏิวัติการทำงานในวงการออกแบบ ให้ช่วยให้นักออกแบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในการทำงาน

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Think Global การคิดใหญ่บุกตลาดโลกก่อนกลับมารุกตลาดไทย

– Platform Builder การเปลี่ยนรูปแบบการทำงานจาก pain point จริงของนักออกแบบด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

– Work Well-being การคำนึงถึงสวัสดิภาพการทำงานของนักออกแบบ

Vulcan Coalition

Vulcan Coalition : THE OPPORTUNITY MAKER 
สร้างโอกาสใหม่มหาศาลในตลาดแรงงานให้ผู้พิการด้วย AI 

WHAT HAPPENED : 

เทคโนโลยีในปัจจุบันจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตคนที่มองไม่เห็นได้ยังไงบ้าง? ปีที่ผ่านมา AI เข้ามาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้คนทั่วไปอย่างมาก แต่อิมแพกต์มหาศาลที่เกิดขึ้นคือการขยายโอกาสในการทำงานให้
ผู้พิการได้รับโอกาสใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในตลาดแรงงาน Vulcan Coalition ซึ่งก่อตั้งโดย จูน–เมธาวี ทัศนาเสถียรกิจ เป็นธุรกิจพัฒนานวัตกรรมจากเทคโนโลยี AI ที่สนับสนุนให้ผู้พิการทำงานได้เทียบเท่าหรือดีกว่าคนทั่วไป บริการของธุรกิจมีทั้งการสร้างระบบและโครงสร้างทาง AI ให้ธุรกิจ (AI as a Service-AIaaS), AI Social Listener ที่มอนิเตอร์ข้อมูลจากสื่อโซเชียล, MayWe ระบบคัดกรองสุขภาพจิตด้วย AI ทั้งนี้ธุรกิจจะฝึกอบรมการทำงานให้พนักงานอย่างใกล้ชิดโดยที่ผ่านมาสร้างโอกาสการทำงานให้ผู้พิการมากกว่า 600+ คน และทำให้ผู้พิการได้รับรายได้เฉลี่ยมากกว่า 9,000 บาทต่อเดือนต่อคน ซึ่งช่วยให้สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน

WHAT’S NEXT : 

Vulcan Coalition ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำด้าน AI และนวัตกรรมในระดับโลกภายใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยในอนาคตอาจได้เห็นบริการใหม่ เทคโนโลยีล้ำสมัย ฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรในรูปแบบใหม่เพื่อขยายโครงการจ้างงานผู้พิการ สร้างโอกาสการทำงานที่เท่าเทียมและกว้างขวางมากขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม ในระยะยาวธุรกิจตั้งเป้าหมายว่าการที่คนพิการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรม AI ได้นั้นจะช่วยยกระดับ GDP ของประเทศไทยผ่านการพัฒนา AI  ช่วยสร้างโอกาสการทำงานที่เน้นการใช้จุดแข็งเฉพาะของคนพิการ ซึ่งจะช่วยลดการพึ่งพาการสนับสนุนจากภาครัฐและเปิดโอกาสให้เกิดรายได้จากทรัพย์สินทางปัญญาที่พัฒนาโดยคนพิการซึ่งสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Mission พันธกิจที่ยิ่งใหญ่ที่อยากสร้างโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่ได้โอกาสอย่างเท่าเทียมในตลาดแรงงาน

– Multi-service การนำเสนอบริการจาก AI ที่หลากหลายโดยขยายศักยภาพผู้พิการไปพร้อมกัน

– High Growth การเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยการเป็นพันธมิตรร่วมกับองค์กรต่างๆ

Bluebik

Bluebik : THE TECH TRANSFORMER
โตเร็วในโลกยุคดิจิทัลกับ ‘บลูบิค’ ที่ปรึกษาดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นที่มาแรงแห่งยุค  

WHAT HAPPENED : 

หนึ่งในบริษัท ‘ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทย’ ที่มาแรงและเติบโตเร็วที่สุดในปีที่ผ่านมาคือ Bluebik ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล บริการของ Bluebik เป็นที่ต้องการสูงเพราะเน้นการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นครบวงจร โดยปีที่ผ่านมามีการผสานบริการที่นำเทคโนโลยีแห่งอนาคตมาใช้อย่างการประยุกต์ใช้ AI ในการผลักดันธุรกิจ มีบริการที่ครอบคลุมตั้งแต่กลยุทธ์ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การพัฒนาระบบบริหารจัดการและความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ฯลฯ พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ตั้งใจสร้างบริษัทปรึกษาธุรกิจที่มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับโลก ที่ผ่านมาจึงขยายโอกาสใหม่มากมายทั้งการควบรวมกิจการ M&A, การทำ joint venture, การสร้างสินค้าซอฟต์แวร์ของตัวเองและแตกบริษัทย่อยออกไปมากมายภายใต้ชื่อบลูบิค ทำให้บริษัทเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องกว่า 100%  โดยกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ของปี 2567 เติบโตถึง 115% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว และกลายเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการดิจิทัลระดับประเทศ

WHAT’S NEXT :

ด้วยโลกเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดตลอดเวลาทำให้บลูบิคมีแผนรองรับการขยายทางธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งการตั้งเป้าลดต้นทุน ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่และขยายศักยภาพการใช้ทรัพยากรบุคคลในระยะสั้น รวมถึงการติดอาวุธทางทักษะด้านการอัพสกิลและรีสกิลให้พนักงานซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการปรับตัวกับโลกดิจิทัลที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและทักษะทางเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งการเตรียมตัวเหล่านี้จะทำให้บลูบิคสามารถยืนระยะด้านการมีผู้นำที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีและผลักดันโครงการดิจิทัลขนาดใหญ่ระดับประเทศต่อไป

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Visionary การมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการมุ่งหน้าเป็นผู้นำด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นแบบครบวงจรที่มีมาตรฐานเท่าองค์กรระดับโลก

– Human Resource Management มุ่งผลักดันศักยภาพพนักงานให้พร้อมเติบโตตามบริษัทด้วยทักษะเทคโนโลยีแห่งอนาคต

– Short Term and Long Term Goals การมีแผนระยะสั้น ระยะยาวที่สอดคล้องต่อเนื่องกันกับวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว

meb

meb : THE RISING MEDIA
ธุรกิจ e-book ครบวงจรที่โตเร็วด้วยด้วยยอดผู้ใช้งานกว่า 10 ล้านราย

WHAT HAPPENED :

ใครบอกธุรกิจหนังสือกำลังอยู่ในช่วงขาลงคงต้องคิดใหม่เพราะวงการ e-book กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จาก meb แพลตฟอร์มผู้จัดจำหน่าย e-book, หนังสือเสียง (audio book), อุปกรณ์อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-reader) ที่มีคลังหนังสือ e-book นิยาย การ์ตูน ให้เลือกอ่านมากกว่า 100,000 เล่ม แถมยังมียอดผู้ใช้งาน (registered users) มากกว่า 10 ล้านราย โดยในเว็บไซต์ของ meb ระบุว่า meb เป็นแอพพลิเคชั่นของไทยที่มียอดใช้จ่ายของผู้ใช้บริการมากที่สุดใน App Store และ Google Play Store ติดต่อกันถึง 7 ปีซ้อน ซึ่งสอดคล้องกับกำไรหลักร้อยล้านบาทของธุรกิจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งปีที่ผ่านมาจะเห็นเทรนด์ตลาด e-book ที่ครึกครื้นจากกิจกรรมการตลาดต่างๆ ของ meb เช่น เทศกาลการ์ตูน มังงะ ไลต์โนเวล ฯลฯ สมกับเป็นผู้นำแห่งแพลตฟอร์ม e-book ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2566 และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

WHAT’S NEXT :

ไช้–รวิวร มะหะสิทธิ์ และ โก๋–กิตติพงษ์ แซ่ลิ้ม ตั้งใจผลักดันให้บริษัท เมพ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ตอบโจทย์ชุมชนนักเขียนและนักอ่านตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โอกาสเติบโตของธุรกิจในอนาคตนอกจากการจำหน่าย e-book จึงมีทั้งจาก readAwrite แอพพลิเคชั่นที่เปิดโอกาสให้นักเขียนโพสต์นิยายและหารายได้บนแพลตฟอร์มไปจนถึงธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์อ่าน e-book (e-reader) และ Hibrary ธุรกิจให้บริการห้องสมุดดิจิทัลสำหรับองค์กร โดยยังวางแผนให้ meb เป็นแพลตฟอร์ม e-book ที่ขับเคลื่อนการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือวรรณกรรมและนิยายจากนักเขียนไทยและต่างชาติรวมถึงมุ่งเจาะตลาดต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Ecosystem Builder การสร้างระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับ e-book ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

– Think Like Start-up คิดแบบสตาร์ทอัพในการขยายธุรกิจให้โตเร็ว 

– User-generated Community การสร้างแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้เข้ามาร่วมสร้างคอนเทนต์อย่าง readAwrite ทำให้เกิดคอมมิวนิตี้ที่อบอุ่น

ฮาตาริ : THE COOLER DESIGN
รีแบรนด์พัดลมแบรนด์เก่าแก่คู่คนไทยด้วยดีไซน์สุดคูล

WHAT HAPPENED :

ปีที่ผ่านมาฮาตาริแบรนด์พัดลมไทยอายุ 34 ปีให้ความสำคัญในการรีแบรนด์และดีไซน์สินค้าอย่างมาก ตั้งแต่การจัดนิทรรศการ Bangkok Design Week ร่วมกับ Habits Design Studio สตูดิโอออกแบบชื่อดังจากอิตาลีเพื่อจัดแสดงคอลเลกชั่นใหม่และเล่าเรื่องราวเบื้องหลังนวัตกรรมการออกแบบ กลยุทธ์สำคัญในปีที่แล้วคือการเปิดตัวสินค้าใหม่ในสไตล์มินิมอลและทันสมัยหลายรุ่น เช่น พัดลมพกพารุ่น HATARI CYCLONE MAX และ HandyWind Max ในสีสันสดใส, พัดลมกล่องหมุนเวียนอากาศ WindBox ทรงสี่เหลี่ยมสไตล์มินิมอล, พัดลมสไลด์ควบคุมรีโมต, พัดลมตั้งโต๊ะดีไซน์ใหม่ โดยหลายรุ่นเน้นดีไซน์ทันสมัย มีขนาดเล็กสำหรับเหมาะใช้สอยในคอนโดมิเนียมหรือพื้นที่อยู่อาศัยขนาดเล็ก ทั้งหมดนี้เกิดจากการวิจัยและพัฒนาสินค้าต่อเนื่องเพื่อให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ทันสมัยขึ้น

WHAT’S NEXT :

ทายาทรุ่นที่ 3 ได้แก่ ทัศน์ลักษณ์ พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการวิจัยและพัฒนา
และ ชัญญา พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานขายและการตลาด บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด ให้ความสำคัญกับการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ถูกใจคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเจนฯ Z เพื่อหวังให้ฮาตาริยังคงเป็นแบรนด์พัดลมสุดทันสมัยที่ผู้คนนึกถึง มีความเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่โดนใจทั้งด้านฟังก์ชั่นและดีไซน์ที่สวยงาม เหมาะกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มองว่าพัดลมเป็นแค่เครื่องใช้ไฟฟ้าอีกต่อไป

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Rebrand การไม่ยึดติดกับภาพลักษณ์แบรนด์แบบเดิมและมุ่งปรับอัตลักษณ์แบรนด์ที่โดนใจคนรุ่นใหม่

– Redesign ดีไซน์มินิมอลและการออกแบบฟังก์ชั่นที่ปรับตัวเข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ 

– Rethink การคิดพอร์ตโฟลิโอสินค้าใหม่ในวันที่ความนิยมการใช้งานสินค้าเปลี่ยนไป

ธุรกิจที่เปลี่ยนความยั่งยืนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทำให้การรักษ์โลกเป็นเรื่องง่าย

ย้อนไปเดือนนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตั้งคำถามกับ 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ ว่า ‘อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้’ ก่อนจะค้นพบว่าท่ามกลางคำตอบมากมาย แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันออกไป ไม่แน่ว่าคำตอบเหล่านั้นอาจกลายไปเป็นทุนสำคัญของธุรกิจอื่นๆ อีกต่อไป

จวบจนปัจจุบัน Capital เดินทางมาถึงขวบปีที่ 3 ผ่านการนำพาความตั้งใจที่อยากบอกเล่าเรื่องราวในโลกธุรกิจอย่างเป็นมิตรด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘better business for good life’ เราขอเฉลิมฉลองช่วงเวลาสุดแสนพิเศษนี้ ผ่านการเชิดชูธุรกิจที่น่าจับตามองแห่งปีและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ

ผ่าน ‘CAPITAL40: 40 Businesses to Watch in 2025’  ที่พวกเราตั้งใจส่องไฟไปยัง 40 ธุรกิจที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ล้ำหน้า พร้อมพาไปดูว่าพวกเขาจะสร้างกระแสใหม่และเปิดขอบเขตความเป็นไปได้ของอนาคตได้ยังไง?

ไม่แน่ว่า 40 ธุรกิจนี้อาจเป็นแบรนด์ที่คุณหลงรัก อยากเปิดใจอยากทำความรู้จัก ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟให้คนทำธุรกิจ หรือชวนให้กลับมาขบคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจตลอดปี 2025

Qualy : THE QUALITY QUALY
แก้ปัญหาสังคมด้วยสินค้ารักษ์โลกแบบมีคุณภาพฝีมือ Qualy

WHAT HAPPENED :

ตลอดปีที่ผ่านมา Qualy แบรนด์พลาสติกรักษ์โลกอายุ 20 ปี ของไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ได้สร้างสรรค์คอลเลกชั่นรักษ์โลกที่ผลักดันผลกระทบต่อสังคมควบคู่กับการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ตั้งแต่การสนับสนุน universal design สำหรับผู้พิการจากผลงาน Tactile Cube เกมรูบิกผิวสัมผัสแบบนูนพิเศษ, Land Game เกมจิ๊กซอว์พื้นผิว, Lensen ชุดอุปกรณ์วาดเขียนซึ่งถึงแม้จะมองไม่เห็นก็เล่นสนุกได้ และยังออกแบบสินค้าของใช้ดีไซน์ยั่งยืนจากแรงบันดาลใจในสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่ามะเฟือง ฉลามวาฬ วาฬสีน้ำเงิน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในการอนุรักษ์, พัฒนา ‘หุ่นชีวิน’ ชุดอุปกรณ์ฝึกสอน CPR ที่มีราคาสูงและขาดแคลนในตลาดเพื่อส่งเสริมทักษะการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน, ริเริ่มไอเดีย ‘กระทงวันเพ็ญ’ ที่มาพร้อมโมเดลวนใช้ซ้ำได้ในวันลอยกระทงและอีกมากมาย แน่นอนว่าทั้งหมดนี้แบรนด์ใช้วัสดุรีไซเคิลจากขยะเป็นหลักในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และยังพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ‘Waste War บอร์ดเกมแยกขยะ’ ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อม Konggreengreen ที่ทำให้ความรู้ในการแยกขยะเป็นเรื่องสนุก เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่นำเสนอแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าชื่นชม

WHAT’S NEXT :

Creative Design for Sustainability หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน ตามหลักการ BCG Model และเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) คือแนวทางสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ Qualy สิ่งที่น่าชื่นชมเป็นพิเศษคือการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals: SDGs) ในหลายมิติอย่างจริงจังผ่านสินค้ารักษ์โลก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางสังคม การส่งเสริมการศึกษา และการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมกับองค์กรพันธมิตรโดยเน้นความร่วมมือในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ช่วยให้แนวคิดสร้างสรรค์ของ Qualy ไม่มีวันหยุดนิ่ง พร้อมทั้งขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่บริการออกแบบและผลิตชิ้นงานพลาสติกอย่างยั่งยืน ด้วยประสบการณ์กว่า 15 ปี Qualy ยังแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลกผ่านงานสัมมนา รับคืนผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปรีไซเคิล และเปิดรับบริจาคขยะพลาสติกเพื่อนำมาสร้างชีวิตใหม่ทำให้เป็นแบรนด์ที่น่าติดตามตลอดเวลา

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Change Maker การออกแบบสินค้ารักษ์โลกที่สนับสนุนพันธกิจด้านความยั่งยืนของโลกในหลายมิติ

– Educator การเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้แค่ออกคอลเลกชั่นรักษ์โลกใหม่อย่างต่อเนื่องแต่ยังส่งต่อความรู้ด้าน circular economy ให้แบรนด์อื่น

– Partnership การร่วมมือกับองค์กร คู่ค้า ไปจนถึงอินฟลูเอนเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Bumba Bor

Rumba Bor : THE CHIC CHOEI
กระชากทุกความเชยให้ชิคแบบรัมบ้า

WHAT HAPPENED :

Rumba Bor เป็นแบรนด์ดีไซน์ของ รัมภา ปวีณพงษ์พัฒน์ ที่หยิบสารพัดของแมสที่หลายคนอาจมองว่าเช้ยเชยมาพลิกแพลงให้ร่วมสมัย สินค้าเด่นของแบรนด์อย่าง ‘เก้าอี้เฌย’ ไม่เพียงแค่ปัดฝุ่นเก้าอี้จีนวัสดุ PVC ให้มีเฉดสีสะดุดตาพร้อมลวดลายสะดุดใจมากขึ้น แต่ยังทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เช่น พอลิเอทิลีน ส่วน ‘เฌิง’ ก็เกิดจากลูกกรงเซรามิกสไตล์โรมันที่ค้างสต็อก นำมาสะบัดความเชยให้ชิคขึ้นด้วยการต่อกับฐานสเตนเลสสตีลลายดอกไม้กลายเป็นของตกแต่งบ้านดีไซน์ไฉไล นอกจากการใช้พลาสติกรีไซเคิลในการสร้างสรรค์ผลงานดีไซน์จะช่วยลดการใช้ PVC ที่รีไซเคิลยากแล้ว กระบวนการฉีดพลาสติกของแบรนด์ยังทำให้เกิดเฉดสีพิเศษไม่เหมือนใครที่นำมาตั้งชื่อสไตล์ไทยๆ อย่างมีจริต เช่น คอลเลกชั่นรวมมิตรที่มีสีเขียวใบเตย สีฟ้าอัญชัน สีน้ำตาลซาสี่ สีเขียวขาวตะโก้ ฯลฯ กลายเป็นการปัดฝุ่นสิ่งของที่หลายคนมองว่าเชยให้กลายเป็นของตกแต่งบ้านสุดชิคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย   

WHAT’S NEXT :

คอนเซปต์ของแบรนด์ Rumba คือ functional art collective ที่ไม่ได้ขายแค่สินค้าแต่สร้างสรรค์งานศิลปะที่จับต้องได้และมีมูลค่า โดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรสนิยมเฉพาะตัว ตั้งแต่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย คนครีเอทีฟสายติสท์ ไปจนถึงผู้ที่ชื่นชอบของตกแต่งบ้านดีไซน์หรูหรา ด้วยความเป็นศิลปินที่รักการทดลองและไม่หยุดสร้างสรรค์ Rumba Bor ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลงานดีไซน์ที่แปลกใหม่และหลากหลาย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้จากผลงานที่ผ่านมาซึ่งไม่ได้หยุดอยู่แค่การเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ของแบรนด์ แต่ยังขยายขอบเขตไปสู่การทำงานร่วมกับแบรนด์และองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงผลงานที่ unthaitled คาเฟ่ไทยในปารีส, หรือคอลแล็บสุดพิเศษ เช่น ‘เก้าอี้อุ่นจี๊ด’ รุ่นลิมิเต็ดสีเขียวและส้มที่ทำร่วมกับ AIS ใครที่ชื่นชอบการนำเสนอความเป็นไทยในมุมมองที่ทันสมัยและแหวกแนว แบรนด์น่าจะมีผลงานสนุกๆ และน่าติดตามมารอเซอร์ไพรส์อีกในอนาคตอย่างแน่นอน! โดยเร็วๆ นี้จะมีผลงานใหม่ใน Bangkok Design Week 2025 ที่กำลังใกล้เข้ามา 

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– One-of-a-Kind ออกแบบแบรนดิ้ง ดีไซน์ และการเล่าเรื่องอย่างเป็นเอกลักษณ์แบบไม่ซ้ำใคร

– Simple Twist แค่เพียงทวิสต์ดีไซน์และกระบวนการผลิตเพียงนิดเดียวก็กลายเป็นสินค้ารักษ์โลกดีไซน์เก๋ได้

– Chic Art ความเป็นงานศิลป์ของแบรนด์ทำให้ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มองเห็นคุณค่าในสุนทรียภาพทางศิลปะทำให้ผลงานของแบรนด์มีความสนุกที่หลากหลาย

loqa

Loqa : THE EARTH AESTHETICS 
สร้างสุนทรียภาพจากอิฐและของแต่งบ้านที่เป็นมิตรกับโลก

WHAT HAPPENED : 

ชื่อแบรนด์ loqa (โลกา) แปลว่าโลก ที่มาของแบรนด์โดย นนท์–นรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร มาจากแนวคิดการสร้างสรรค์แบรนด์วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในบ้านจากขยะเซรามิกและแก้วเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม สินค้าเด่นตอนนี้คือวัสดุก่อสร้างที่มีดีไซน์สวยงามทั้งอิฐแบบเผาไฟ แบบไม่เผาไฟ แบบเคลือบ และแบบ Terrazzo ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นของ loqa ทำจากขยะอย่างน้อย 80% โดยมีโมเดลธุรกิจที่เน้นผลิตจำนวนจำกัดและรับทำตามออร์เดอร์สำหรับผู้ที่สนใจอิฐดีไซน์สวยและมีสีสันสวยงามหลากหลาย ที่ผ่านมาจะเห็นอิฐของ loqa ได้จากคอนเซปต์สโตร์ดีไซน์เก๋และคาเฟ่ชื่อดัง เช่น PAÑPURI Sensorial Boutique สาขาฮ่องกง, rag & bone สาขาเซ็นทรัลชิดลม, Nana Coffer Roasters ฯลฯ และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่ปี 2024 ที่ผ่านมา loqa ได้รับรางวัลจากต่างประเทศมากมายในฐานะผู้ผลิตวัสดุเพื่อความยั่งยืน เช่น Architizer A+Product Award 2024, DNA Paris Design Awards 2024 ฯลฯ และยังได้รับ Climate Neutral Certified ที่รองรับมาตรฐานการเป็นกลางทางคาร์บอนตามมาตรฐานระดับโลก กลายเป็นธุรกิจที่สร้างความแปลกใหม่ให้วงการสถาปนิก

WHAT’S NEXT :

มากกว่าการทำอิฐคือการนิยามตัวเองว่าเป็นแบรนด์วัสดุก่อสร้างและของแต่งบ้าน ในอนาคต loqa มีแผนต่อยอดธุรกิจให้สนุกขึ้นด้วยการแปรรูปขยะเป็นสินค้าไลฟ์ไสตล์ในหมวดของแต่งบ้านที่หลากหลายมากขึ้นนอกจากอิฐ จุดแข็งของ loqa คือการพัฒนาวัสดุอย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิด circular design ทำให้เกิดวัสดุใหม่ที่มีเสน่ห์ทางผิวสัมผัสและสีสันแปลกใหม่อยู่เสมอ เห็นได้จากเปิดตัวคอลเลกชั่นที่ผ่านมาอย่าง glazed tiles ซึ่งพัฒนาผิวสัมผัสคล้ายพื้นผิวหิน เปลือกไม้ ไข่นกและสีสันโทนธรรมชาติ เช่น สีแดงปะการัง สีเขียวไลเคน ฯลฯ ถือเป็นแบรนด์ที่น่าจะตอบโจทย์ในใจของกลุ่มนักออกแบบ สถาปนิก เจ้าของร้านค้า และเจ้าของบ้านผู้ชื่นชอบสุนทรียภาพ

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Rooted in Earth, Made for Earth นำวัสดุเหลือใช้จากโลกมาแต่งโลกให้สวยงามและสร้างสรรค์

– Unburnt Family Business การมองเห็นมูลค่าของขยะในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมจนต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างชื่อเสียงให้ธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมอีกต่อ

– Innovator การคิดค้นกระบวนการ R&D ในการพัฒนาวัสดุอยู่เสมอทำให้ loqa ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านวัสดุที่ได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ : THE SUSTAINABILITY ADVISORY 
ขาขึ้นของธุรกิจที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนที่มาพร้อมเทรนด์คาร์บอนเครดิต  

WHAT HAPPENED :

หลายคนอาจรู้จักแบรนด์ดอยตุง (Doitung) ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผ่านผลิตภัณฑ์จากชุมชนอย่างกาแฟดอยตุงและงานหัตถกรรมต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่สะสมองค์ความรู้งานพัฒนาป่าและชุมชนมายาวนานกว่า 30 ปีมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนด้วย โดยใช้องค์ความรู้จากประสบการณ์การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและชุมชนมาให้คำปรึกษากับภาคเอกชน เช่น โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่า การวางแผนระบบตรวจสอบคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ การจัดการขยะขององค์กร เป็นต้น การผันตัวเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นี้เพื่อขยายผลการสร้างอิมแพกต์ในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่แค่พัฒนาโครงการดอยตุงแต่ยังอยากผลักดันให้มีองค์กรแห่งความยั่งยืนมากขึ้นในสังคมไทยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งที่ผ่านมามีโอกาสร่วมงานกับภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจกว่า 25 แห่งและพัฒนาป่าชุมชน 281 ชุมชน 11 จังหวัด ในการพัฒนาโครงการร่วมกัน

WHAT’S NEXT :

จากเทรนด์โลกที่มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต ทั้งการตั้งเป้าหมายการพัฒนาด้านความยั่งยืน เช่น (UNSDGs) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ไปจนถึงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มลงทุนในธุรกิจที่ทำด้าน ESG มากขึ้น
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงมองว่าอยากพัฒนาธุรกิจภายใต้แบรนด์ดอยตุงให้สามารถเติบโตอย่างแข็งแรงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด โดยในปี 2568 มีเป้าหมายจะขยายพื้นที่ดำเนินการในป่าชุมชนอีก 150,000-300,000 ไร่ และคาดว่าจะได้รับปริมาณคาร์บอนเครดิตปีละ 45,000-90,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า โดยทางมูลนิธิฯ ยังวางแผนจะหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเพิ่มเพื่อขยายบทบาทด้านที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนให้แข็งแรงขึ้นด้วย

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Business of Future ธุรกิจจัดการคาร์บอนเครดิตและที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่มาแรงพร้อมเทรนด์โลกซึ่งนับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของมูลนิธิฯ ที่ไม่ได้มองแค่การทำแบรนด์ดอยตุง

– Long Term Commitment การฟื้นฟูป่าและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องหลักสามสิบกว่าปีทำให้มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้ต่อไป

– Lead with Action การทำแบรนด์ดอยตุงให้เป็นตัวอย่างแบรนด์ที่ดีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนให้ธุรกิจอื่นไปด้วยกัน

SC GRAND และ CIRCULAR : THE SUSTAINABLE TEXTILE
ปลุกกระแสแฟชั่นรักษ์โลกให้อินเทรนด์ด้วยดีไซน์คลาสสิก

WHAT HAPPENED :

เมื่อนึกถึงธุรกิจสิ่งทอยั่งยืนที่เปลี่ยนขยะอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นผ้ารีไซเคิล หนึ่งในธุรกิจไทยที่จะต้องนึกถึงคือ SC GRAND ผู้ผลิตผ้ารีไซเคิลแบบไม่ฟอกย้อมที่ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดสารเคมีในการฟอกย้อม และลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม นอกจาก SC GRAND จะมีผ้ารีไซเคิลที่สามารถผลิตเสื้อผ้าหลากหลาย, มีโปรเจกต์รีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเป็นเสื้อผ้าใหม่ (closed loop), และบริการผลิตสินค้าตามต้องการ (OEM) แล้ววัธ–จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้บริหารของ SC GRAND ยังนำผ้ารีไซเคิลจากโรงงานมาสร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองในนามแบรนด์ CIRCULAR เพื่อให้กลุ่มลูกค้าและคนทั่วไปเห็นภาพว่าเส้นใยและผ้ารักษ์โลกมีศักยภาพต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นได้ ปีที่ผ่านมา Circular ได้ออกคอลเลกชั่นพิเศษที่ร่วมมือกับแบรนด์อื่นมากมาย เช่น การร่วมมือกับการบินไทยและอีกสิบแบรนด์แฟชั่นอย่าง She knows, Rough cut, JUN, Youngfolks, Hangles, Khaki bros, Hamburger studio, Mr.Big, EV girls รวมถึง CIRCULAR ในการแปลงโฉมชุดยูนิฟอร์มที่ไม่ได้ใช้งานแล้วให้เป็นแฟชั่นรักษ์โลก, ร่วมมือกับปั๊ม PT และแบรนด์ยืดเปล่าทำคอลเลกชั่นหมวกและเสื้อยืด, ร่วมมือกับบริษัทเงินติดล้อในการเปลี่ยนเสื้อแจ็กเก็ตเก่าของพนักงานเป็นผ้าห่ม สร้างภาพจำใหม่ว่าแฟชั่นรักษ์โลกก็มีความ minimal classy ที่ทันสมัยได้ 

WHAT’S NEXT : 

เป้าหมายในการสร้างอิมแพกต์ของ SC GRAND และ CIRCULAR คือการอยากเป็นผู้นำด้านสิ่งทอยั่งยืน
ในระดับอาเซียนและเป็นแบรนด์ที่ผู้คนนึกถึงเมื่อคิดถึงผ้ารีไซเคิล สามารถสร้าง sustainable textile ecosystem ที่ยั่งยืนในระยะยาวโดยอยากสร้างศูนย์รีไซเคิล (recycle hub) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 4 ปีข้างหน้าเพื่อขยายผลการลดขยะจากอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ไม่จำกัดอยู่แค่ในไทย ในอนาคตจึงมีโอกาสเห็นธุรกิจขยับขยายการเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจในอาเซียน, พาร์ตเนอร์กับแบรนด์แฟชั่นในการดีไซน์คอลเลกชั่นรักษ์โลกใหม่ๆ ไปจนถึงสร้างมาตรฐานที่มีมาตรวัดตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใสในทุกขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Fashionable ครีเอตดีไซน์เสื้อผ้าร่วมกับแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ที่ทันสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่

– Grand Mission มีเป้าหมายยิ่งใหญ่และมองระยะยาวในการผลิตสิ่งทอยั่งยืนอย่างจริงจัง

– Global Standard มีมาตรฐานในการวัดผลและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐานระดับโลก

บนบาน

บนบาน : THE VOW TO EARTH 
บนบานแบบไม่เบียดเบียนโลก

WHAT HAPPENED :

สินค้าที่ไม่ได้แค่ทำตามกระแสรักษ์โลกแถมยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อทางวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้เป็นแบบไหน? ‘บนบานแบบไม่เบียดเบียนโลก’  คือไอเดียของแก้บนรักษ์โลกที่ย่อยสลายได้ 100 % ของแบรนด์ BonBan (บนบาน) ก่อตั้งโดยถากูร เชาว์ภาษี จากการสังเกตวิถีชีวิตท้องถิ่นในบ้านเกิดที่มีการถวายของแก้บนจำนวนมากที่วัดเจดีย์ไอ้ไข่ วัดชื่อดังในจังหวัดนครศรีธรรมราชจนทำให้วัดต้องขยายพื้นที่หลายไร่สำหรับเก็บกองปูนของแก้บน ถากูรพลิกไอเดียผลิตไก่แก้บนจากกระดาษรีไซเคิลและใช้สีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนปูนซีเมนต์ซึ่งไม่เพียงแก้ปัญหาลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผา แต่ยังใส่เมล็ดพันธุ์ดอกไม้มงคลในตัวไก่ทำให้หลังจากระยะเวลาที่ไก่บนบานย่อยสลายไปภายในหนึ่งเดือน ต้นไม้จะงอกขึ้นใหม่ ไม่เกิดขยะบน landfill และยังสามารถขูดเลขเสี่ยงโชค ตอบโจทย์ทั้งด้านฟังก์ชั่น ความศรัทธา และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่แห่งความยั่งยืน

WHAT’S NEXT :

จากของแก้บนที่แก้ปัญหาขยะล้นวัดในระดับท้องถิ่น ที่ผ่านมา BonBan ขยายอิมแพกต์ด้วยการไปขายในงานมูเตลูของจังหวัดอื่นๆ และได้รับรางวัล GOOD DESIGN AWARD 2024 ที่ญี่ปุ่นในฐานะงานออกแบบจากไทย
และยังเพิ่มสินค้าในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น ไก่ไหว้เจ้ารักษ์โลก ไก่แก้บนสีประจำวันเกิด ไก่เงินไก่ทองรักษ์โลกไปจนถึงการผลิตรุ่นลิมิเต็ดสำหรับเป็นสินค้าที่ระลึกสำหรับองค์กรหรืองานต่างๆ ในอนาคตแบรนด์ BonBan มีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งการเป็นสินค้ามูเตลูประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช การขยายช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทนขาย ผูกพันธมิตรกับร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม ทัวร์ท่องเที่ยว และแบรนด์ต่างๆ ไปจนถึงออกสินค้าแก้บนรุ่นอื่นๆ นอกเหนือจากไก่แก้บนเพื่อสร้างอนาคตทางสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Obeserver การเป็นนักสังเกตจากปัญหาจริงของชุมชนทำให้มองเห็นโอกาสล้ำค่าในการสร้างธุรกิจ

– Culture Conservation นำเสนอไอเดียแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอนุรักษ์วัฒนธรรมไปพร้อมกัน  

– Community Supporter สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นและชุมชนด้วยการหาพันธมิตรตัวแทนขายท้องถิ่นต่างๆ

Sivatel

Sivatel : THE LOCAL COMMUNITIES UPLIFTER
โรงแรมบูทีกที่ยืนระยะสนับสนุนเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ปี

WHAT HAPPENED :

เมื่อปีที่ผ่านมา โรงแรม Sivatel Bangkok (ศิวาเทล) ได้รับการยกย่องด้วยรางวัล Global Responsible Tourism Award จาก International Centre for Responsible Tourism ในฐานะโรงแรมที่มุ่งมั่นในการเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากเกษตรกรมากกว่า 60 แห่ง โดยมี หนิง–อลิสรา ศิวยาธร CEO ของโรงแรม ศิวาเทล เป็นผู้นำในการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในหลายมิติ ซึ่งทำให้ 70% ของวัตถุดิบออร์แกนิกของโรงแรมมาจากเกษตรกรท้องถิ่น โดยโรงแรมยังได้เสนอ Sivatel Sustainable Market ที่รวบรวมงานฝีมือและอาหารท้องถิ่น รวมถึงชุดยูนิฟอร์มของพนักงานที่ออกแบบโดย Folkcharm แบรนด์ยั่งยืนที่ใช้ฝีมือของช่างฝีมือไทยอีกด้วย นอกจากนี้โรงแรมยังได้รับรางวัล Gold Award สาขา Corporate Social Responsibility ประจำปี 2024 จาก Pacific Asia Travel Association สำหรับโครงการ From Kitchen to Chicken and Beyond ที่แปลงเศษอาหารในครัวให้กลายเป็นอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับไก่ในฟาร์ม โดยมุ่งลดขยะและผลักดันการเกษตรกรรมยั่งยืน จนสามารถลดการสร้างขยะได้จนเกือบเป็นศูนย์ พร้อมกับส่งเสริมแนวทางการจัดการขยะเพื่อไม่ให้สิ้นสุดลงในทะเลหรือกองขยะ

WHAT’S NEXT :

ศิวาเทลถือเป็น sustainable boutique hotel ที่ลงทุนในความยั่งยืนอย่างจริงจังกว่า 22 ล้านบาทในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีโครงการสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่ครบวงจรและแข็งแรง ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการ เบื้องหลังธุรกิจโรงแรมแห่งนี้จึงไม่เพียงแค่ใส่ใจในความยั่งยืนของตัวเองแต่ยังริเริ่มโครงการที่แผยแพร่ความรู้ให้ธุรกิจอื่นๆ เช่น  โครงการธนาคารขยะที่ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะและลดอาหารขยะ, การออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน, การทำงานร่วมกับชุมชน เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่โรงแรมมีความตั้งใจทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวจนสามารถขยายผลการสร้างอิมแพกต์ให้ธุรกิจอื่นได้และกลายเป็นต้นแบบของธุรกิจโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี 

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Impactful การใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ ในโรงแรมตั้งแต่การบริหารจัดการขยะหลังบ้านจนถึงนำเสนอกิจกรรมรักษ์โลกให้ลูกค้า

– Local Community Support การสนับสนุนชุมชนเกษตรกรอย่างจริงจัง 

– Future Investment ลงทุนในเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคตโดยหวังผลระยะยาว

ธุรกิจครอบครัวและแบรนด์เก่าแก่คู่คนไทยที่ก้าวออกนอกคอมฟอร์ตโซน

ย้อนไปเดือนนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตั้งคำถามกับ 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ ว่า ‘อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้’ ก่อนจะค้นพบว่าท่ามกลางคำตอบมากมาย แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันออกไป ไม่แน่ว่าคำตอบเหล่านั้นอาจกลายไปเป็นทุนสำคัญของธุรกิจอื่นๆ อีกต่อไป

จวบจนปัจจุบัน Capital เดินทางมาถึงขวบปีที่ 3 ผ่านการนำพาความตั้งใจที่อยากบอกเล่าเรื่องราวในโลกธุรกิจอย่างเป็นมิตรด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘better business for good life’ เราขอเฉลิมฉลองช่วงเวลาสุดแสนพิเศษนี้ ผ่านการเชิดชูธุรกิจที่น่าจับตามองแห่งปีและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ

ผ่าน ‘CAPITAL40: 40 Businesses to Watch in 2025’  ที่พวกเราตั้งใจส่องไฟไปยัง 40 ธุรกิจที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ล้ำหน้า พร้อมพาไปดูว่าพวกเขาจะสร้างกระแสใหม่และเปิดขอบเขตความเป็นไปได้ของอนาคตได้ยังไง?

ไม่แน่ว่า 40 ธุรกิจนี้อาจเป็นแบรนด์ที่คุณหลงรัก อยากเปิดใจอยากทำความรู้จัก ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟให้คนทำธุรกิจ หรือชวนให้กลับมาขบคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจตลอดปี 2025

ไปรษณีย์ไทย

ไปรษณีย์ไทย : THE MODERN THAILAND POST 
การพลิกโฉมสู่องค์กรดิจิทัลและแบรนด์ไลฟ์สไตล์ของไปรษณีย์ไทย

WHAT HAPPENED :

ไปรษณีย์ไทยเป็นองค์กรเก่าแก่อายุ 141 ปีที่มีความท้าทายคือภาพลักษณ์เดิมที่ไม่ทันสมัยเท่าบริษัทโลจิสติกส์เจ้าอื่นที่เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทเทคโนโลยี ด้วยความตั้งใจอยากเป็น top-of-mind ของคนทุกวัยทำให้ปีที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยภายใต้การบริหารของ ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่มีการริเริ่มสร้างแบรนด์ด้วยทิศทางกลยุทธ์ที่แตกต่างจากเดิมเพื่อสื่อสารและสร้างสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่การก้าวข้ามจากแบรนด์โลจิสติกส์สู่การวางตัวเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ เปิด ‘POST Café สามเสนใน’ ร้านกาแฟสีแดง-ขาวที่มีกิมมิกตกแต่งร้านในธีมไปรษณีย์พร้อมบริการ iBox ตู้ล็อกเกอร์นำจ่ายพัสดุและตู้เช่าไปรษณีย์ P.O. Box ที่ร้านให้ลูกค้ามารับพัสดุที่คาเฟ่ได้ พร้อมปรับองค์กรสู่การเปลี่ยนผ่านในยุคดิจิทัล เช่น บริการจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร, ระบบ Postman Cloud บริการที่ใช้ประโยชน์จากการมีบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนทั่วประเทศ เช่น บริการการรับ-ส่งสิ่งของและบริการเก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนจุดแข็งเดิมให้พร้อมปรับตัวต่อไปในยุคดิจิทัล

WHAT’S NEXT : 

ทิศทางต่อไปของไปรษณีย์ไทยคือการมุ่งสร้างเครือข่ายและการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นพัฒนาองค์กรด้วย
Information Logistics หรือการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดการข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป็นองค์กรแห่งอนาคต
และรองรับการเติบโตของธุรกิจออนไลน์ เข้าถึงผู้บริการทุกกลุ่มด้วยการนำเสนอภาพลักษณ์ที่มีความเป็นไล์ฟสไตล์มากขึ้นและให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์ม นอกจากนี้เบื้องหลังการขับเคลื่อนองค์กรยังยึดหลักการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วยการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2593 เช่น การวางแผนและศึกษาความเป็นไปได้ในการนำยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจนมาใช้กับระบบขนส่งต่างๆ 

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Lifestyle Branding ฉีกกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ของบริษัทโลจิสติกส์แบบเดิมๆ ให้มีความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้นเพื่อเข้าถึงคนทุกกลุ่ม  

– Logistics Transformation ใช้จุดแข็งที่มีบุรุษไปรษณีย์ทั่วประเทศที่เข้าใจในทุกพื้นที่ในการทรานสฟอร์มสู่ยุคแห่งข้อมูล

– Customer Retention and  Acquisition นำเสนอบริการใหม่ในยุคดิจิทัลเพื่อมองหาลูกค้าใหม่พร้อมกับรักษาลูกค้าเดิมไปพร้อมกัน

ปฏิทินน่ำเอี้ยง

ปฏิทินน่ำเอี๊ยง : THE ASTROLENDER
จากปฏิทินกระดาษสู่แพลตฟอร์มโหราศาสตร์ส่องวันมงคล

WHAT HAPPENED :

จากปฏิทินฉีกที่คนไทยเชื้อสายจีนนิยมแขวนผนังติดบ้านไว้ดูฤกษ์ยามมงคลและมักชินตากับตัวเลขสีน้ำเงิน-แดงบนกระดาษแผ่นใหญ่ ภายใต้การนำธุรกิจของทายาทรุ่นที่ 3 กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล ได้พาปฏิทินน่ำเอี๊ยงพลิกโฉมจากรูปแบบกระดาษสู่แอพพลิเคชั่น ‘Num Eiang Astrolender’ ที่สามารถกดดูวันมงคลและคำแนะนำดวงออนไลน์จากสำนักโหราศาสตร์จีนได้ง่ายๆ ในมือถือ มีฟีเจอร์โดดเด่นอย่างคำพยากรณ์เฉพาะวัน คำแนะนำด้านวันมงคลต่างๆ โดยปีที่ผ่านมายังมีบริการสร้างสรรค์ใหม่ๆ เช่น ร่วมมือกับคลินิกเสริมความงามในการดูฤกษ์ทำหัตถการผ่านแอพพลิเคชั่นพร้อมอีเวนต์ที่เปิดโอกาสให้ถ่ายรูปจากโฟโต้บูท และนำรูปไปสกรีนทำปฏิทินวันเกิดได้อีกต่อ ไปจนถึงคอลแล็บกับศิลปินชื่อดังอย่างเอก ทองประเสริฐ ในการออกแบบปฏิทินกระดาษคอลเลกชั่นพิเศษให้มีดีไซน์น่าสนใจ มีบริการดูดวงอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น สั่งทำวอลเปเปอร์มงคล ซึ่งฉีกภาพปฏิทินจีนแบบดั้งเดิมให้ร่วมสมัย

WHAT’S NEXT : 

น่ำเอี๊ยงได้ขยายขอบเขตความหมายของธุรกิจให้กว้างไกลกว่าการเป็นเพียงปฏิทินทั่วไปด้วยการพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มโหราศาสตร์ที่ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่ ทิศทางธุรกิจจึงเน้นการนำเสนอสินค้าและบริการในรูปแบบ omnichannel ผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างลงตัว ถือเป็นตัวอย่างของสำนักโหราศาสตร์เก่าแก่ที่ปรับตัวให้สอดคล้องกับยุคสมัยได้อย่างน่าชื่นชม ด้วยความนิยมในวงการโหราศาสตร์ที่ยังคงแข็งแกร่งในสังคมไทย แม้ไลฟ์สไตล์ของผู้คนจะเปลี่ยนไปแต่ความสนใจในเรื่องดวงยังคงเป็นที่จับตามอง น่ำเอี๊ยงจึงมีโอกาสพัฒนาแพลตฟอร์มได้อีกหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ การปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ในแอพพลิเคชั่น การคอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ หรือการนำเสนอบริการรูปแบบใหม่ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นทิศทางที่น่าสนใจและน่าติดตามต่อไปในอนาคต

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Digital Transformation การตระหนักว่าผู้คนอยู่ในยุค paperless และทรานส์ฟอร์มปฏิทินกระดาษให้อยู่บนโลกออนไลน์

– User Experience ออกแบบประสบการณ์ดูดวงในแอพพลิเคชั่นให้สามารถดูฤกษ์มงคลได้ไม่ต่างจากอ่านดวงในปฏิทินกระดาษ 

– Collaboration ร่วมมือกับแบรนด์ทั้งวงการเดียวกันและต่างวงการเพื่อนำเสนอบริการใหม่ สินค้าใหม่ ประสบการณ์ใหม่

เด็กสมบูรณ์

เด็กสมบูรณ์ : THE EVOLUTION OF TASTE
รสชาติใหม่ของ ‘เด็กสมบูรณ์’ แบรนด์ที่เด็กลงทุกวันจากการออกสินค้าสุดปั่น

WHAT HAPPENED : 

หลังจากผ่านร้อนผ่านหนาวมาเกือบ 80 ปี เด็กสมบูรณ์ขึ้นแท่นเป็นเครื่องปรุงที่ใช้กันเกือบทุกบ้าน ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่น 3 อย่าง ท็อป–วสุพล ตั้งสมบัติวิสิทธิ์ ที่ต้องการทำให้เด็กสมบูรณ์เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านการเข้าไปทำความรู้จักกับคนรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่ได้รู้จักแบรนด์ดีเท่ารุ่น พ่อรุ่นแม่ ด้วยการออกสินค้าที่ไม่มีใครคาดคิดว่าเด็กสมบูรณ์จะทำ ตั้งแต่ต่อยอด core product ที่พูดถึงปุ๊บนึกถึงตราเด็กสมบูรณ์ปั๊บอย่างซีอิ๊วขาว มาแปลงโฉมในรูปแบบใหม่ จากตลาดเครื่องปรุงสู่ตลาดของหวานเป็นไอศครีมซีอิ๊วดำ ที่สร้างความฮือฮาและมีกระแสตอบรับเป็นอย่างดี จึงต่อยอดมาเป็นไอศครีมน้ำจิ้มบ๊วย และไอศครีมเต้าเจี้ยว ไปจนถึงชานมไข่มุกซีอิ๊วดำ และสร้างกระแสในโซเชียลมีเดียอย่างต่อเนื่องผ่านการโพสต์สินค้าใหม่เป็นซีอิ๊วเม็ด ซึ่งปล่อยในช่วงใกล้ April Fool’s Day จนชาวเน็ตนึกว่าเรื่องหลอก แต่เป็นความตั้งใจของท็อป ที่พอมีไอเดียแล้วอยากลงโซเชียลเช็กความสนใจก่อน ถ้าดูแล้วจะเป็นที่ชื่นชอบถึงจะมีการทำ R&D ผลิตและวางขายจริง และเลี้ยงกระแสในโซเชียลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เลือกพีพี กฤษฏ์ มาเป็นพรีเซนเตอร์ จนทำให้คนไปตามหาและบอกต่อกันเรื่อยๆ จากการปรับตัวเหล่านี้สามารถชื่นชมได้เต็มปากว่าเด็กสมบูรณ์ถือว่าเป็นแบรนด์ที่เดินเกมอย่างชาญฉลาดในการเจาะใจคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะเจนฯ Z 

WHAT’S NEXT :

ตลอด 80 ปีที่ผ่านมาเด็กสมบูรณ์มีวิสัยทัศน์ว่า ‘ที่ไหนมีครัวที่นั่นต้องมีเรา’ แต่จากการปรับตัวที่ผ่านมาจะเห็นว่าท็อปพยายามตีตลาดใหม่ๆ และน่าจับตามองต่อว่าในจะมีการหยิบโลโก้เด็กสมบูรณ์มาต่อยอดในรูปแบบอื่นๆ อีกหรือไม่ โดยเฉพาะการปรับให้ดูเด็กลง รวมถึงการขยายจากตลาดเครื่องปรุงและขนมหวาน ไปสู่สินค้าไลฟ์สไตล์มากขึ้น อย่างพวกสินค้าแฟชั่น แก้วน้ำ ไปจนถึงของสะสมยอดฮิตอย่างอาร์ตทอย ก็อาจจะมีออกมาให้ได้ฮือฮากันเหมือนทุกครั้งที่เด็กสมบูรณ์เปิดตัวสินค้าใหม่

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Thinking Outside the Box กล้าคิดนอกกรอบ ผ่านการออกสินค้าที่คนคาดไม่ถึงว่าแบรนด์จะทำ

– Pain Point คิดสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการ และเติมเต็มช่องว่างทางการตลาด

– Social Listening ฟังเสียงคนรุ่นใหม่ ผ่านการลงสินค้าสุดปั่นในโซเชียล เพื่อเป็นการเช็กฟีดแบ็กลูกค้า ถ้าปังแล้วค่อยพัฒนาสินค้าต่อไป

ขายหัวเราะ

ขายหัวเราะ : THE SOFT SKILL AMBASSADOR  
ครีเอทีฟคอลแล็บที่พาการ์ตูนขายหัวเราะรันทุกวงการ

WHAT HAPPENED :

จากคาแร็กเตอร์การ์ตูนที่แฟนๆ ของขายหัวเราะคุ้นเคยกันดีในหนังสือการ์ตูน แคมเปญ ‘ฮ่าสิบปีขายหัวเราะ : ขายหัวเราะ 50thHAPPYversary’ ที่จัดขึ้นในปีที่ผ่านมาภายใต้การนำของ นิว–พิมพ์พิชา อุตสาหจิต Executive Director และกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเครือ Vithita Group ได้นำการ์ตูนขายหัวเราะโลดแล่นข้ามวงการด้วยการชวนหลากแบรนด์คอลแล็บร่วมกันในรูปแบบสินค้าสุดลิมิเต็ด ทั้งคอลเลกชั่น ‘Mc โอเวอร์’ ร่วมกับแบรนด์ยีนส์ Mc Jeans, เสื้อสายสตรีทร่วมกับ CARNIVAL, สเก็ตบอร์ดลายพิเศษร่วมกับ Preduce Skateboards, ดีไซน์ลายแว่นใหม่ของหอแว่น, แพ็กเกจขนมปังแถวลายการ์ตูนของฟาร์มเฮ้าส์ และยังพิสูจน์ว่าการ์ตูนไม่ใช่แค่สร้างเสียงหัวเราะเพื่อความบันเทิงเท่านั้นแต่ยังสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของแบรนด์ได้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งแคมเปญ ‘เปลี่ยนไกด์เป็นแก๊ก’ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่โปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในไทยด้วยการ์ตูนและการเปลี่ยนแก๊กการ์ตูนให้เป็น gagtalogue ของเฟอร์นิเจอร์ IKEA ในคอนเซปต์ ‘ขำแบ็คโฮม’

WHAT’S NEXT : 

กาารคอลแล็บร่วมกับแบรนด์มากมายของขายหัวเราะกำลังบอกกับเราว่าการ์ตูนเป็นมากกว่าคาแร็กเตอร์ที่สร้างความบันเทิง แต่ยังเป็นสื่อที่ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ด้วยการเพิ่มความสนุกและสร้างความสุขให้แบรนด์ อนาคตของขายหัวเราะจึงเป็นผู้นำด้านการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ในการสร้างสรรค์แคมเปญการตลาดที่เข้าถึงหัวใจของผู้บริโภคทุกเจเนอเรชั่นด้วยคอนเทนต์ที่สร้างความสุขในชีวิตประจำวัน นำคาแร็กเตอร์สุดไอคอนิกมาเป็นตัวกลางที่สื่อสารเรื่องราวให้จับใจคนรุ่นใหม่พร้อมปูทางให้การ์ตูนไทยมีบทบาทสำคัญในวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– More Than Entertainment มอบบทบาทให้การ์ตูนมีหน้าที่มากกว่าสร้างความบันเทิงแต่เป็นทูตผู้ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์

– Character Branding สร้างแบรนด์ให้คาแร็กเตอร์การ์ตูนผ่านการครีเอตสินค้าที่ระลึกรุ่นลิมิเต็ด

– Beyond Imagination Collaboration คอลแล็บทำสินค้าหลากหลายวงการกับแบรนด์ที่คาดไม่ถึง

โรงงานสมุดโกญจนาท

โรงงานสมุดโกญจนาท : THE NEW NOSTALGIA 
รีดีไซน์สมุดลายไทยให้โดนใจคนรุ่นใหม่ 

WHAT HAPPENED :

ธุรกิจขายส่งสมุดกว่า 40 ปีอย่าง ‘โรงงานสมุดโกญจนาท’ มีสินค้าเด่นคือสมุดลายไทยที่มีสเปกการผลิตเหมือนเดิมมาตลอดไม่ว่าจะเป็นแพตเทิร์นลายไทยที่หน้าปกและตารางสูตรคูณที่ปกหลัง โดยโมเดลธุรกิจเน้นการขายส่งปริมาณมากผ่านยี่ปั๊วทั่วประเทศ จุดเปลี่ยนคือเมื่อธุรกิจโดนดิสรัปต์จากโรงงานจีนที่ผลิตสมุดในราคาถูกกว่าทำให้ มิน–ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ ทายาทรุ่นที่ 3 นำลายไทยโบราณอย่างลายโคมพวงแก้ว พิกุลกรอง เหลี่ยมเพชร ดาวกระจาย ราชวัตรดอกกลม เฉลวเพชร กุหลาบดอกจอก มาออกแบบใหม่ให้หน้าปกมีความมินิมอลและโมเดิร์นขึ้นพร้อมพาเลตต์สีพาสเทลน่ารักน่าใช้ อีกทั้งยังกล้าคิดต่างด้วยการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากขายเฉพาะ B2B เป็นจับกลุ่ม B2C เป็นครั้งแรกซึ่งเป็นกลยุทธ์แตกต่างที่โรงงานผู้ผลิตสมุดลายไทยในโมเดลธุรกิจเดียวกันไม่มีใครเคยทำมาก่อน

WHAT’S NEXT :

ฃมินมองว่าหากโรงงานสมุดยึดติดกับโมเดลธุรกิจขายส่งที่เคยรุ่งเรืองในอดีต วันข้างหน้าธุรกิจก็อาจล้มหายตายจากไป จึงตั้งใจผลักดันช่องทางขายปลีกและวางแผนดีไซน์สมุดหมวดใหม่และลายใหม่อย่างต่อเนื่องในอนาคตโดยไม่ทิ้งสมุดลายไทยรุ่นดั้งเดิมที่เป็นสมุดในความทรงจำของคนไทยหลายรุ่นมาเนิ่นนาน น่าชื่นชมที่ในโลกซึ่งสมรภูมิธุรกิจขายส่งเน้นการผลิตสินค้าราคาถูกและธุรกิจจำนวนไม่น้อยยอมพ่ายแพ้ให้การบุกจากโรงงานจีน ยังมีผู้ประกอบการไทยที่ยืนหยัดการผลิตสินค้าราคาย่อมเยาให้มีคุณภาพดี ดีไซน์โดดเด่น และมีเอกลักษณ์ทำให้ธุรกิจเก่าแก่ยังคงเดินหน้าได้ต่อไป

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Brave กล้าคิดต่างและก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนเดิมที่คุ้นชินในการทำธุรกิจมาเนิ่นนาน

– Design Acumen สายตาที่แหลมคมในการมองเห็นโอกาสเพิ่มมูลค่าให้งานดีไซน์

– Diversify ผลิตสินค้าใหม่และขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าเพื่อบุกตลาดใหม่และกลุ่มลูกค้าใหม่

กวงฮั้วป่อ

กวงฮั้วป่อ : THE DATA VISUALIZATION NEWSPAPER  
การฟื้นคืนชีพของหนังสือพิมจีนในยุคสงครามเย็น

WHAT HAPPENED :

หนังสือพิมพ์ ‘กวงฮั้วป่อ’ ตีพิมพ์ฉบับแรกในปี พ.ศ. 2490 และกลายเป็น 1 ใน 4 ของหนังสือพิมพิมพ์จีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดในพระนคร ทว่าปี พ.ศ. 2501 ในช่วงสงครามเย็นที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดทางการเมือง ‘กวงฮั้วป่อ’ ถูกกล่าวหาว่ามีแนวคิดซ้ายเกินไปและโดนคำสั่งปิดกิจการด้วยข้อหาเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์จากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ทำให้เรื่องราวในหนังสือพิมพ์ถูกลบออกจากหน้าประวัติศาสตร์โดยไม่มีโอกาสได้อธิบายเหตุผลหรือโต้แย้งใดๆ และไม่ได้บอกลาผู้อ่าน… 66 ปีต่อมา วันนี้ ‘กวงฮั้วป่อ’ กลับมาอีกครั้งในรูปแบบใหม่ภายใต้ชื่อ ‘กวงฮั้ว แอนด์ ดอว์น’ (@guanghua_and_dawn) โดยฝีมือของทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลหลี่ ปุณณ์ พจนาเกษม ผู้อยากกลับมาทวงคืนความยุติธรรมให้ตระกูล กวงฮั้วเวอร์ชั่นใหม่ในศตวรรษที่ 20 ใช้เทคนิคการเล่าเรื่องในรูปแบบใหม่ได้อย่างน่าสนใจ เช่น ไดอะแกรมและอินโฟกราฟิกจากทักษะการเล่าเรื่องผ่านข้อมูล (data visualization) ของปุณณ์ผู้เป็นนักออกแบบ โดยมีการจำหน่ายฉบับแรกเมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่งานรวมผู้ผลิตสิ่งพิมพ์

WHAT’S NEXT :

ในยุคที่วงการสื่อเปลี่ยนแปลงจากยุคก่อนมากและดาต้ามีบทบาทสำคัญในการเล่าเรื่อง ปุณณ์รื้อฟื้นหนังสือพิมพ์ของอากงให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในคอนเซปต์ใหม่ที่น่าติดตามคือ the data visualization newspaper ‘กวงฮั้ว แอนด์ ดอว์น’ ฉบับแรกเริ่มต้นด้วยหนังสือพิมพ์เล่มบาง 8 หน้าที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของธุรกิจผ่านการเล่าเรื่องอย่างเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยเสน่ห์ พร้อมด้วยส่วน data visualization ที่บอกเล่าถึงที่มาของโปรเจกต์อย่างสร้างสรรค์ และหน้า Draw Your Own Charts ที่เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านได้บันทึกเรื่องราวของตัวเองในรูปแบบที่แปลกใหม่และมีเอกลักษณ์ ที่น่าจับตายิ่งกว่านั้นคือปีนี้ ‘กวงฮั้ว แอนด์ ดอว์น’ กำลังจะเปิดตัวฉบับใหม่ ซึ่งการกลับมาครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการคืนชีพหนังสือพิมพ์ในตำนาน แต่เป็นการประกาศถึงบทบาทใหม่ของสื่อในการผสานการเล่าเรื่องและภาพประกอบจากดาต้าเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

WHAT’S PRAISEWORTHY :

– Reclaim Justice การทวงคืนความยุติธรรมทางธุรกิจให้กับตระกูลหลี่ของทายาทรุ่นปัจจุบัน

– Persistent การยืนหยัดกลับมาทำหนังสือพิมพ์อีกครั้งแม้จะเคยปิดตัวไปนานแล้วในวันที่วงการสื่อหนังสือพิมพ์กระดาษแบบแมสอยู่ในยุคขาลง

– Future Skills x History การนำทักษะแห่งอนาคตอย่าง data visualization มาใช้เป็นคอนเซปต์ของหนังสือพิมพ์เก่าแก่