Good Sustainable Lifestyle
ธุรกิจที่เปลี่ยนความยั่งยืนให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ทำให้การรักษ์โลกเป็นเรื่องง่าย
ย้อนไปเดือนนี้เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เราตั้งคำถามกับ 100 ผู้ประกอบการและตัวแทนของธุรกิจต่างๆ ว่า ‘อะไรคือทุนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจที่คุณทำเติบโตมาจนถึงวันนี้’ ก่อนจะค้นพบว่าท่ามกลางคำตอบมากมาย แต่ละธุรกิจมีสิ่งที่ให้คุณค่าแตกต่างกันออกไป ไม่แน่ว่าคำตอบเหล่านั้นอาจกลายไปเป็นทุนสำคัญของธุรกิจอื่นๆ อีกต่อไป
จวบจนปัจจุบัน Capital เดินทางมาถึงขวบปีที่ 3 ผ่านการนำพาความตั้งใจที่อยากบอกเล่าเรื่องราวในโลกธุรกิจอย่างเป็นมิตรด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์ ภายใต้ความเชื่อที่ว่า ‘better business for good life’ เราขอเฉลิมฉลองช่วงเวลาสุดแสนพิเศษนี้ ผ่านการเชิดชูธุรกิจที่น่าจับตามองแห่งปีและทำให้ชีวิตของผู้คนดีขึ้นในหลากหลายมิติ
ผ่าน ‘CAPITAL40: 40 Businesses to Watch in 2025’ ที่พวกเราตั้งใจส่องไฟไปยัง 40 ธุรกิจที่ล้วนแล้วแต่มีผลงานอันโดดเด่นและเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ล้ำหน้า พร้อมพาไปดูว่าพวกเขาจะสร้างกระแสใหม่และเปิดขอบเขตความเป็นไปได้ของอนาคตได้ยังไง?
ไม่แน่ว่า 40 ธุรกิจนี้อาจเป็นแบรนด์ที่คุณหลงรัก อยากเปิดใจอยากทำความรู้จัก ไปจนถึงสร้างแรงบันดาลใจ เติมไฟให้คนทำธุรกิจ หรือชวนให้กลับมาขบคิดถึงแนวทางการทำธุรกิจตลอดปี 2025

Qualy : THE QUALITY QUALY
แก้ปัญหาสังคมด้วยสินค้ารักษ์โลกแบบมีคุณภาพฝีมือ Qualy
WHAT HAPPENED :
ตลอดปีที่ผ่านมา Qualy แบรนด์พลาสติกรักษ์โลกอายุ 20 ปี ของไจ๋–ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ ได้สร้างสรรค์คอลเลกชั่นรักษ์โลกที่ผลักดันผลกระทบต่อสังคมควบคู่กับการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ตั้งแต่การสนับสนุน universal design สำหรับผู้พิการจากผลงาน Tactile Cube เกมรูบิกผิวสัมผัสแบบนูนพิเศษ, Land Game เกมจิ๊กซอว์พื้นผิว, Lensen ชุดอุปกรณ์วาดเขียนซึ่งถึงแม้จะมองไม่เห็นก็เล่นสนุกได้ และยังออกแบบสินค้าของใช้ดีไซน์ยั่งยืนจากแรงบันดาลใจในสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่ามะเฟือง ฉลามวาฬ วาฬสีน้ำเงิน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในการอนุรักษ์, พัฒนา ‘หุ่นชีวิน’ ชุดอุปกรณ์ฝึกสอน CPR ที่มีราคาสูงและขาดแคลนในตลาดเพื่อส่งเสริมทักษะการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉิน, ริเริ่มไอเดีย ‘กระทงวันเพ็ญ’ ที่มาพร้อมโมเดลวนใช้ซ้ำได้ในวันลอยกระทงและอีกมากมาย แน่นอนว่าทั้งหมดนี้แบรนด์ใช้วัสดุรีไซเคิลจากขยะเป็นหลักในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และยังพัฒนาสื่อการเรียนรู้ ‘Waste War บอร์ดเกมแยกขยะ’ ร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์สายสิ่งแวดล้อม Konggreengreen ที่ทำให้ความรู้ในการแยกขยะเป็นเรื่องสนุก เป็นตัวอย่างของแบรนด์ที่นำเสนอแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าชื่นชม
WHAT’S NEXT :
Creative Design for Sustainability หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน ตามหลักการ BCG Model และเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) คือแนวทางสำคัญในการดำเนินธุรกิจของ Qualy สิ่งที่น่าชื่นชมเป็นพิเศษคือการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals: SDGs) ในหลายมิติอย่างจริงจังผ่านสินค้ารักษ์โลก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมทางสังคม การส่งเสริมการศึกษา และการร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมกับองค์กรพันธมิตรโดยเน้นความร่วมมือในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ช่วยให้แนวคิดสร้างสรรค์ของ Qualy ไม่มีวันหยุดนิ่ง พร้อมทั้งขยายขอบเขตธุรกิจไปสู่บริการออกแบบและผลิตชิ้นงานพลาสติกอย่างยั่งยืน ด้วยประสบการณ์กว่า 15 ปี Qualy ยังแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลกผ่านงานสัมมนา รับคืนผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปรีไซเคิล และเปิดรับบริจาคขยะพลาสติกเพื่อนำมาสร้างชีวิตใหม่ทำให้เป็นแบรนด์ที่น่าติดตามตลอดเวลา
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Change Maker การออกแบบสินค้ารักษ์โลกที่สนับสนุนพันธกิจด้านความยั่งยืนของโลกในหลายมิติ
– Educator การเป็นแบรนด์ที่ไม่ได้แค่ออกคอลเลกชั่นรักษ์โลกใหม่อย่างต่อเนื่องแต่ยังส่งต่อความรู้ด้าน circular economy ให้แบรนด์อื่น
– Partnership การร่วมมือกับองค์กร คู่ค้า ไปจนถึงอินฟลูเอนเซอร์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Rumba Bor : THE CHIC CHOEI
กระชากทุกความเชยให้ชิคแบบรัมบ้า
WHAT HAPPENED :
Rumba Bor เป็นแบรนด์ดีไซน์ของ รัมภา ปวีณพงษ์พัฒน์ ที่หยิบสารพัดของแมสที่หลายคนอาจมองว่าเช้ยเชยมาพลิกแพลงให้ร่วมสมัย สินค้าเด่นของแบรนด์อย่าง ‘เก้าอี้เฌย’ ไม่เพียงแค่ปัดฝุ่นเก้าอี้จีนวัสดุ PVC ให้มีเฉดสีสะดุดตาพร้อมลวดลายสะดุดใจมากขึ้น แต่ยังทำจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล เช่น พอลิเอทิลีน ส่วน ‘เฌิง’ ก็เกิดจากลูกกรงเซรามิกสไตล์โรมันที่ค้างสต็อก นำมาสะบัดความเชยให้ชิคขึ้นด้วยการต่อกับฐานสเตนเลสสตีลลายดอกไม้กลายเป็นของตกแต่งบ้านดีไซน์ไฉไล นอกจากการใช้พลาสติกรีไซเคิลในการสร้างสรรค์ผลงานดีไซน์จะช่วยลดการใช้ PVC ที่รีไซเคิลยากแล้ว กระบวนการฉีดพลาสติกของแบรนด์ยังทำให้เกิดเฉดสีพิเศษไม่เหมือนใครที่นำมาตั้งชื่อสไตล์ไทยๆ อย่างมีจริต เช่น คอลเลกชั่นรวมมิตรที่มีสีเขียวใบเตย สีฟ้าอัญชัน สีน้ำตาลซาสี่ สีเขียวขาวตะโก้ ฯลฯ กลายเป็นการปัดฝุ่นสิ่งของที่หลายคนมองว่าเชยให้กลายเป็นของตกแต่งบ้านสุดชิคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
WHAT’S NEXT :
คอนเซปต์ของแบรนด์ Rumba คือ functional art collective ที่ไม่ได้ขายแค่สินค้าแต่สร้างสรรค์งานศิลปะที่จับต้องได้และมีมูลค่า โดยเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรสนิยมเฉพาะตัว ตั้งแต่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย คนครีเอทีฟสายติสท์ ไปจนถึงผู้ที่ชื่นชอบของตกแต่งบ้านดีไซน์หรูหรา ด้วยความเป็นศิลปินที่รักการทดลองและไม่หยุดสร้างสรรค์ Rumba Bor ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลงานดีไซน์ที่แปลกใหม่และหลากหลาย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นได้จากผลงานที่ผ่านมาซึ่งไม่ได้หยุดอยู่แค่การเปิดตัวคอลเลกชั่นใหม่ของแบรนด์ แต่ยังขยายขอบเขตไปสู่การทำงานร่วมกับแบรนด์และองค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงผลงานที่ unthaitled คาเฟ่ไทยในปารีส, หรือคอลแล็บสุดพิเศษ เช่น ‘เก้าอี้อุ่นจี๊ด’ รุ่นลิมิเต็ดสีเขียวและส้มที่ทำร่วมกับ AIS ใครที่ชื่นชอบการนำเสนอความเป็นไทยในมุมมองที่ทันสมัยและแหวกแนว แบรนด์น่าจะมีผลงานสนุกๆ และน่าติดตามมารอเซอร์ไพรส์อีกในอนาคตอย่างแน่นอน! โดยเร็วๆ นี้จะมีผลงานใหม่ใน Bangkok Design Week 2025 ที่กำลังใกล้เข้ามา
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– One-of-a-Kind ออกแบบแบรนดิ้ง ดีไซน์ และการเล่าเรื่องอย่างเป็นเอกลักษณ์แบบไม่ซ้ำใคร
– Simple Twist แค่เพียงทวิสต์ดีไซน์และกระบวนการผลิตเพียงนิดเดียวก็กลายเป็นสินค้ารักษ์โลกดีไซน์เก๋ได้
– Chic Art ความเป็นงานศิลป์ของแบรนด์ทำให้ดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มองเห็นคุณค่าในสุนทรียภาพทางศิลปะทำให้ผลงานของแบรนด์มีความสนุกที่หลากหลาย

Loqa : THE EARTH AESTHETICS
สร้างสุนทรียภาพจากอิฐและของแต่งบ้านที่เป็นมิตรกับโลก
WHAT HAPPENED :
ชื่อแบรนด์ loqa (โลกา) แปลว่าโลก ที่มาของแบรนด์โดย นนท์–นรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร มาจากแนวคิดการสร้างสรรค์แบรนด์วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในบ้านจากขยะเซรามิกและแก้วเหลือทิ้งในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม สินค้าเด่นตอนนี้คือวัสดุก่อสร้างที่มีดีไซน์สวยงามทั้งอิฐแบบเผาไฟ แบบไม่เผาไฟ แบบเคลือบ และแบบ Terrazzo ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นของ loqa ทำจากขยะอย่างน้อย 80% โดยมีโมเดลธุรกิจที่เน้นผลิตจำนวนจำกัดและรับทำตามออร์เดอร์สำหรับผู้ที่สนใจอิฐดีไซน์สวยและมีสีสันสวยงามหลากหลาย ที่ผ่านมาจะเห็นอิฐของ loqa ได้จากคอนเซปต์สโตร์ดีไซน์เก๋และคาเฟ่ชื่อดัง เช่น PAÑPURI Sensorial Boutique สาขาฮ่องกง, rag & bone สาขาเซ็นทรัลชิดลม, Nana Coffer Roasters ฯลฯ และเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยที่ปี 2024 ที่ผ่านมา loqa ได้รับรางวัลจากต่างประเทศมากมายในฐานะผู้ผลิตวัสดุเพื่อความยั่งยืน เช่น Architizer A+Product Award 2024, DNA Paris Design Awards 2024 ฯลฯ และยังได้รับ Climate Neutral Certified ที่รองรับมาตรฐานการเป็นกลางทางคาร์บอนตามมาตรฐานระดับโลก กลายเป็นธุรกิจที่สร้างความแปลกใหม่ให้วงการสถาปนิก
WHAT’S NEXT :
มากกว่าการทำอิฐคือการนิยามตัวเองว่าเป็นแบรนด์วัสดุก่อสร้างและของแต่งบ้าน ในอนาคต loqa มีแผนต่อยอดธุรกิจให้สนุกขึ้นด้วยการแปรรูปขยะเป็นสินค้าไลฟ์ไสตล์ในหมวดของแต่งบ้านที่หลากหลายมากขึ้นนอกจากอิฐ จุดแข็งของ loqa คือการพัฒนาวัสดุอย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิด circular design ทำให้เกิดวัสดุใหม่ที่มีเสน่ห์ทางผิวสัมผัสและสีสันแปลกใหม่อยู่เสมอ เห็นได้จากเปิดตัวคอลเลกชั่นที่ผ่านมาอย่าง glazed tiles ซึ่งพัฒนาผิวสัมผัสคล้ายพื้นผิวหิน เปลือกไม้ ไข่นกและสีสันโทนธรรมชาติ เช่น สีแดงปะการัง สีเขียวไลเคน ฯลฯ ถือเป็นแบรนด์ที่น่าจะตอบโจทย์ในใจของกลุ่มนักออกแบบ สถาปนิก เจ้าของร้านค้า และเจ้าของบ้านผู้ชื่นชอบสุนทรียภาพ
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Rooted in Earth, Made for Earth นำวัสดุเหลือใช้จากโลกมาแต่งโลกให้สวยงามและสร้างสรรค์
– Unburnt Family Business การมองเห็นมูลค่าของขยะในกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมจนต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างชื่อเสียงให้ธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมอีกต่อ
– Innovator การคิดค้นกระบวนการ R&D ในการพัฒนาวัสดุอยู่เสมอทำให้ loqa ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านวัสดุที่ได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ : THE SUSTAINABILITY ADVISORY
ขาขึ้นของธุรกิจที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนที่มาพร้อมเทรนด์คาร์บอนเครดิต
WHAT HAPPENED :
หลายคนอาจรู้จักแบรนด์ดอยตุง (Doitung) ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ผ่านผลิตภัณฑ์จากชุมชนอย่างกาแฟดอยตุงและงานหัตถกรรมต่างๆ แต่รู้หรือไม่ว่ามูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ที่สะสมองค์ความรู้งานพัฒนาป่าและชุมชนมายาวนานกว่า 30 ปีมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนด้วย โดยใช้องค์ความรู้จากประสบการณ์การฟื้นฟูพื้นที่ป่าและชุมชนมาให้คำปรึกษากับภาคเอกชน เช่น โครงการจัดการคาร์บอนเครดิตในป่า การวางแผนระบบตรวจสอบคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรและผลิตภัณฑ์ การจัดการขยะขององค์กร เป็นต้น การผันตัวเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นี้เพื่อขยายผลการสร้างอิมแพกต์ในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่แค่พัฒนาโครงการดอยตุงแต่ยังอยากผลักดันให้มีองค์กรแห่งความยั่งยืนมากขึ้นในสังคมไทยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ซึ่งที่ผ่านมามีโอกาสร่วมงานกับภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจกว่า 25 แห่งและพัฒนาป่าชุมชน 281 ชุมชน 11 จังหวัด ในการพัฒนาโครงการร่วมกัน
WHAT’S NEXT :
จากเทรนด์โลกที่มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต ทั้งการตั้งเป้าหมายการพัฒนาด้านความยั่งยืน เช่น (UNSDGs) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ไปจนถึงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มลงทุนในธุรกิจที่ทำด้าน ESG มากขึ้น
ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จึงมองว่าอยากพัฒนาธุรกิจภายใต้แบรนด์ดอยตุงให้สามารถเติบโตอย่างแข็งแรงและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด โดยในปี 2568 มีเป้าหมายจะขยายพื้นที่ดำเนินการในป่าชุมชนอีก 150,000-300,000 ไร่ และคาดว่าจะได้รับปริมาณคาร์บอนเครดิตปีละ 45,000-90,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า โดยทางมูลนิธิฯ ยังวางแผนจะหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเพิ่มเพื่อขยายบทบาทด้านที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนให้แข็งแรงขึ้นด้วย
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Business of Future ธุรกิจจัดการคาร์บอนเครดิตและที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่มาแรงพร้อมเทรนด์โลกซึ่งนับเป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของมูลนิธิฯ ที่ไม่ได้มองแค่การทำแบรนด์ดอยตุง
– Long Term Commitment การฟื้นฟูป่าและพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องหลักสามสิบกว่าปีทำให้มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญให้สามารถต่อยอดธุรกิจได้ต่อไป
– Lead with Action การทำแบรนด์ดอยตุงให้เป็นตัวอย่างแบรนด์ที่ดีที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการเป็นที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนให้ธุรกิจอื่นไปด้วยกัน

SC GRAND และ CIRCULAR : THE SUSTAINABLE TEXTILE
ปลุกกระแสแฟชั่นรักษ์โลกให้อินเทรนด์ด้วยดีไซน์คลาสสิก
WHAT HAPPENED :
เมื่อนึกถึงธุรกิจสิ่งทอยั่งยืนที่เปลี่ยนขยะอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นผ้ารีไซเคิล หนึ่งในธุรกิจไทยที่จะต้องนึกถึงคือ SC GRAND ผู้ผลิตผ้ารีไซเคิลแบบไม่ฟอกย้อมที่ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดสารเคมีในการฟอกย้อม และลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม นอกจาก SC GRAND จะมีผ้ารีไซเคิลที่สามารถผลิตเสื้อผ้าหลากหลาย, มีโปรเจกต์รีไซเคิลเสื้อผ้าเก่าเป็นเสื้อผ้าใหม่ (closed loop), และบริการผลิตสินค้าตามต้องการ (OEM) แล้ววัธ–จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ ทายาทรุ่นที่ 3 และผู้บริหารของ SC GRAND ยังนำผ้ารีไซเคิลจากโรงงานมาสร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองในนามแบรนด์ CIRCULAR เพื่อให้กลุ่มลูกค้าและคนทั่วไปเห็นภาพว่าเส้นใยและผ้ารักษ์โลกมีศักยภาพต่อยอดเป็นสินค้าแฟชั่นได้ ปีที่ผ่านมา Circular ได้ออกคอลเลกชั่นพิเศษที่ร่วมมือกับแบรนด์อื่นมากมาย เช่น การร่วมมือกับการบินไทยและอีกสิบแบรนด์แฟชั่นอย่าง She knows, Rough cut, JUN, Youngfolks, Hangles, Khaki bros, Hamburger studio, Mr.Big, EV girls รวมถึง CIRCULAR ในการแปลงโฉมชุดยูนิฟอร์มที่ไม่ได้ใช้งานแล้วให้เป็นแฟชั่นรักษ์โลก, ร่วมมือกับปั๊ม PT และแบรนด์ยืดเปล่าทำคอลเลกชั่นหมวกและเสื้อยืด, ร่วมมือกับบริษัทเงินติดล้อในการเปลี่ยนเสื้อแจ็กเก็ตเก่าของพนักงานเป็นผ้าห่ม สร้างภาพจำใหม่ว่าแฟชั่นรักษ์โลกก็มีความ minimal classy ที่ทันสมัยได้
WHAT’S NEXT :
เป้าหมายในการสร้างอิมแพกต์ของ SC GRAND และ CIRCULAR คือการอยากเป็นผู้นำด้านสิ่งทอยั่งยืน
ในระดับอาเซียนและเป็นแบรนด์ที่ผู้คนนึกถึงเมื่อคิดถึงผ้ารีไซเคิล สามารถสร้าง sustainable textile ecosystem ที่ยั่งยืนในระยะยาวโดยอยากสร้างศูนย์รีไซเคิล (recycle hub) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีก 4 ปีข้างหน้าเพื่อขยายผลการลดขยะจากอุตสาหกรรมสิ่งทอให้ไม่จำกัดอยู่แค่ในไทย ในอนาคตจึงมีโอกาสเห็นธุรกิจขยับขยายการเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจในอาเซียน, พาร์ตเนอร์กับแบรนด์แฟชั่นในการดีไซน์คอลเลกชั่นรักษ์โลกใหม่ๆ ไปจนถึงสร้างมาตรฐานที่มีมาตรวัดตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใสในทุกขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Fashionable ครีเอตดีไซน์เสื้อผ้าร่วมกับแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ที่ทันสมัย โดนใจคนรุ่นใหม่
– Grand Mission มีเป้าหมายยิ่งใหญ่และมองระยะยาวในการผลิตสิ่งทอยั่งยืนอย่างจริงจัง
– Global Standard มีมาตรฐานในการวัดผลและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยมาตรฐานระดับโลก

บนบาน : THE VOW TO EARTH
บนบานแบบไม่เบียดเบียนโลก
WHAT HAPPENED :
สินค้าที่ไม่ได้แค่ทำตามกระแสรักษ์โลกแถมยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อทางวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้เป็นแบบไหน? ‘บนบานแบบไม่เบียดเบียนโลก’ คือไอเดียของแก้บนรักษ์โลกที่ย่อยสลายได้ 100 % ของแบรนด์ BonBan (บนบาน) ก่อตั้งโดยถากูร เชาว์ภาษี จากการสังเกตวิถีชีวิตท้องถิ่นในบ้านเกิดที่มีการถวายของแก้บนจำนวนมากที่วัดเจดีย์ไอ้ไข่ วัดชื่อดังในจังหวัดนครศรีธรรมราชจนทำให้วัดต้องขยายพื้นที่หลายไร่สำหรับเก็บกองปูนของแก้บน ถากูรพลิกไอเดียผลิตไก่แก้บนจากกระดาษรีไซเคิลและใช้สีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนปูนซีเมนต์ซึ่งไม่เพียงแก้ปัญหาลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผา แต่ยังใส่เมล็ดพันธุ์ดอกไม้มงคลในตัวไก่ทำให้หลังจากระยะเวลาที่ไก่บนบานย่อยสลายไปภายในหนึ่งเดือน ต้นไม้จะงอกขึ้นใหม่ ไม่เกิดขยะบน landfill และยังสามารถขูดเลขเสี่ยงโชค ตอบโจทย์ทั้งด้านฟังก์ชั่น ความศรัทธา และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่แห่งความยั่งยืน
WHAT’S NEXT :
จากของแก้บนที่แก้ปัญหาขยะล้นวัดในระดับท้องถิ่น ที่ผ่านมา BonBan ขยายอิมแพกต์ด้วยการไปขายในงานมูเตลูของจังหวัดอื่นๆ และได้รับรางวัล GOOD DESIGN AWARD 2024 ที่ญี่ปุ่นในฐานะงานออกแบบจากไทย
และยังเพิ่มสินค้าในโอกาสพิเศษต่างๆ เช่น ไก่ไหว้เจ้ารักษ์โลก ไก่แก้บนสีประจำวันเกิด ไก่เงินไก่ทองรักษ์โลกไปจนถึงการผลิตรุ่นลิมิเต็ดสำหรับเป็นสินค้าที่ระลึกสำหรับองค์กรหรืองานต่างๆ ในอนาคตแบรนด์ BonBan มีศักยภาพในการเติบโตสูง ทั้งการเป็นสินค้ามูเตลูประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช การขยายช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทนขาย ผูกพันธมิตรกับร้านอาหาร คาเฟ่ โรงแรม ทัวร์ท่องเที่ยว และแบรนด์ต่างๆ ไปจนถึงออกสินค้าแก้บนรุ่นอื่นๆ นอกเหนือจากไก่แก้บนเพื่อสร้างอนาคตทางสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Obeserver การเป็นนักสังเกตจากปัญหาจริงของชุมชนทำให้มองเห็นโอกาสล้ำค่าในการสร้างธุรกิจ
– Culture Conservation นำเสนอไอเดียแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยอนุรักษ์วัฒนธรรมไปพร้อมกัน
– Community Supporter สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นและชุมชนด้วยการหาพันธมิตรตัวแทนขายท้องถิ่นต่างๆ

Sivatel : THE LOCAL COMMUNITIES UPLIFTER
โรงแรมบูทีกที่ยืนระยะสนับสนุนเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ปี
WHAT HAPPENED :
เมื่อปีที่ผ่านมา โรงแรม Sivatel Bangkok (ศิวาเทล) ได้รับการยกย่องด้วยรางวัล Global Responsible Tourism Award จาก International Centre for Responsible Tourism ในฐานะโรงแรมที่มุ่งมั่นในการเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากเกษตรกรมากกว่า 60 แห่ง โดยมี หนิง–อลิสรา ศิวยาธร CEO ของโรงแรม ศิวาเทล เป็นผู้นำในการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในหลายมิติ ซึ่งทำให้ 70% ของวัตถุดิบออร์แกนิกของโรงแรมมาจากเกษตรกรท้องถิ่น โดยโรงแรมยังได้เสนอ Sivatel Sustainable Market ที่รวบรวมงานฝีมือและอาหารท้องถิ่น รวมถึงชุดยูนิฟอร์มของพนักงานที่ออกแบบโดย Folkcharm แบรนด์ยั่งยืนที่ใช้ฝีมือของช่างฝีมือไทยอีกด้วย นอกจากนี้โรงแรมยังได้รับรางวัล Gold Award สาขา Corporate Social Responsibility ประจำปี 2024 จาก Pacific Asia Travel Association สำหรับโครงการ From Kitchen to Chicken and Beyond ที่แปลงเศษอาหารในครัวให้กลายเป็นอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับไก่ในฟาร์ม โดยมุ่งลดขยะและผลักดันการเกษตรกรรมยั่งยืน จนสามารถลดการสร้างขยะได้จนเกือบเป็นศูนย์ พร้อมกับส่งเสริมแนวทางการจัดการขยะเพื่อไม่ให้สิ้นสุดลงในทะเลหรือกองขยะ
WHAT’S NEXT :
ศิวาเทลถือเป็น sustainable boutique hotel ที่ลงทุนในความยั่งยืนอย่างจริงจังกว่า 22 ล้านบาทในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีโครงการสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่ครบวงจรและแข็งแรง ซึ่งรวมถึงการบริหารจัดการ เบื้องหลังธุรกิจโรงแรมแห่งนี้จึงไม่เพียงแค่ใส่ใจในความยั่งยืนของตัวเองแต่ยังริเริ่มโครงการที่แผยแพร่ความรู้ให้ธุรกิจอื่นๆ เช่น โครงการธนาคารขยะที่ให้ความรู้เรื่องการแยกขยะและลดอาหารขยะ, การออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน, การทำงานร่วมกับชุมชน เป็นเรื่องน่าชื่นชมที่โรงแรมมีความตั้งใจทำกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวจนสามารถขยายผลการสร้างอิมแพกต์ให้ธุรกิจอื่นได้และกลายเป็นต้นแบบของธุรกิจโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ดี
WHAT’S PRAISEWORTHY :
– Impactful การใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ ในโรงแรมตั้งแต่การบริหารจัดการขยะหลังบ้านจนถึงนำเสนอกิจกรรมรักษ์โลกให้ลูกค้า
– Local Community Support การสนับสนุนชุมชนเกษตรกรอย่างจริงจัง
– Future Investment ลงทุนในเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยวิสัยทัศน์แห่งอนาคตโดยหวังผลระยะยาว