โลก(า)

‘loqa’ แบรนด์วัสดุก่อสร้างและของแต่งบ้านจากขยะ ที่อยากให้การรักษ์โลกเป็นเรื่องสนุก

ท่ามกลางกระแสรักษ์โลกรักษ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ธุรกิจเกี่ยวกับความยั่งยืนก็ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ใช่ว่าไม่ดี แต่หลายครั้งเราเองและคนรอบตัวก็สงสัยทุกทีว่าทำไมธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ดึงดูดผู้คนในสังคมเท่าไหร่ 

เพนพอยต์หนึ่งที่เราและหลายคนเห็นตรงกันคือดีไซน์ของแบรนด์นั้นๆ ยังไม่ดึงดูดพอ แม้จะอยากช่วยโลกแค่ไหน แต่ลึกๆ ในใจ หลายคนก็ยังอยากได้ของที่มีการออกแบบอย่างดี พอต้องเลือกระหว่างจะรักษ์โลกหรือจะเน้นการออกแบบ ก็ต้องกลับมาถามตัวเองทุกทีว่าเมื่อไหร่จะมีแบรนด์ที่ช่วยให้เราไม่ต้องเลือกอีกต่อไป

เพราะถือคติแบบ Vatanika ว่า “Why choose? when you can have them both” ครั้งแรกที่เห็นภาพสินค้าของ loqa หรือในภาษาไทยว่า ‘โลกา’ เราก็กดเข้าไปดูหน้าโปรไฟล์ทันที แม้จะยังไม่รู้ว่า loqa คืออะไร หรือเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใดก็ตาม

เมื่อลงลึกไปทำความรู้จัก loqa คือแบรนด์วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และของใช้ในบ้านที่สร้างขึ้นจากขยะเซรามิกและแก้วเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ผู้อยู่เบื้องหลังคือคู่ชีวิตและคู่คิดอย่าง ‘นนท์–นรฤทธิ์ วิสิฐนรภัทร’ และ ‘มาย–มนัสลิล มนุญพร’ ที่เรารู้จักกันดีในนามผู้ก่อตั้งร้านดอกไม้ Plant House

ทั้งคู่ไม่ได้กระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้เพียงเพื่อหวังผลกำไรจากเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป แต่เกิดจากความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความเชื่อที่ว่าความรักษ์โลกต้องเกิดขึ้นแบบไม่ฝืนใจ จึงเป็นที่มาที่เราได้มาเยือนสตูดิโอ loqa ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านสุขุมวิทในวันนี้

ทฤษฎีกำเนิดโลก(า)

อย่างที่เกริ่นว่าก่อนหน้านี้ เรารู้จักนนท์และมายในฐานะเจ้าของร้านดอกไม้สุดเก๋อย่าง ‘Plant House’ ซึ่งป็นแบรนด์ที่ทั้งคู่ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กจบใหม่ แน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป เป้าหมายชีวิตของทั้งคู่ย่อมเปลี่ยนแปลง

พอเราสองคนเริ่มโตขึ้นและมีประสบการณ์ในการทำงานมากขึ้น เราก็รู้สึกอยากทำอะไรสักอย่างที่มันมีคุณค่าและมีความหมายมากกว่าเดิม หนึ่งในนั้นคือการชวนให้คนเห็นว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมันก็สนุกได้โดยไม่จำเป็นต้องยัดเยียดหรือพยายามเปลี่ยนชีวิตเขามาก” นนท์บอก

Earth Mart ร้านรวมสารพัดสิ่งของรักษ์โลกที่มายและนนท์เลือกสรรจากต่างประเทศจึงเกิดขึ้น เอกลักษณ์ของ Earth Mart คือสารพันสิ่งของรักษ์โลกที่สวย เก๋ และดูน่าใช้เพื่อดึงดูดให้คนอยากลองใส่ใจสิ่งแวดล้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป

แต่เพราะช่วงเวลาที่ Earth Mart เปิดตัว ไวรัสร้ายอย่างโควิด-19 ดันแพร่ระบาดเข้ามาพอดี ความตั้งใจที่จะทำธุรกิจนี้จึงต้องพับเก็บไป แต่ก็เพราะ Earth Mart นี้เองที่ทำให้ทั้งนนท์และมายเริ่มเห็นความเป็นไปได้ของธุรกิจเพื่อความยั่งยืนรูปแบบใหม่ที่สร้างขึ้นจากรากฐานเดิมของครอบครัว

“ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดใหม่ๆ ธุรกิจดอกไม้ของเราก็ซบเซาตามไปด้วยเพราะอีเวนต์และร้านค้าต่างต้องปิดตัวลง เราจึงได้กลับมาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น พอดีที่บ้านทำธุรกิจอิฐและวัสดุทนไฟสำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้ความร้อนสูงมาตั้งแต่รุ่นอากงซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่เคยสนใจเลย แต่พอคลุกคลีมากเข้าก็จุดประกายว่าเราสามารถเอาขยะทั้งหลายมาทำอะไรกับโรงงานได้บ้าง 

“มันเหมือนเส้นผมบังภูเขานะ แต่แค่เปลี่ยนมุมมองที่มีต่อธุรกิจที่บ้าน เราก็เห็นว่าเราน่าจะทำให้วัสดุก่อสร้างเหล่านี้มีผิวสัมผัสที่แตกต่างและสวยงามขึ้นได้ แถมยังเกิด circular design ด้วย” นนท์ย้อนเล่า 

ก่อร่างสร้างโลก(า)

เมื่อตกลงปลงใจว่าจะลองดูสักตั้ง ทั้งมายและนนท์ก็เริ่มลงมือทำ นนท์รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลการผลิตส่วนมายรับหน้าที่เป็นคนดูแลคอนเซปต์และการออกแบบของแบรนด์

“แรกเริ่มเราสนใจแปรรูปขยะทางการเกษตรแต่ด้วยผลผลิตทางการเกษตรนั้นมีคุณภาพไม่ค่อยสม่ำเสมอ เราเลยหันกลับมามองที่แก้วซึ่งนำไปรีไซเคิลเป็นปกติอยู่แล้ว และเซรามิกซึ่งไม่ค่อยมีคนนิยมนำไปแปรรูปต่อเท่าไหร่”

ช่วงนั้น นนท์และมายรับบทนักทดลองกับทีมงาน R&D ของธุรกิจครอบครัวกันอย่างสนุกสนาน ปรับอันนู้นใส่อันนี้ จนได้เป็นวัสดุก่อสร้างที่มีผิวสัมผัสแตกต่าง มีทั้งอิฐแบบเผาไฟ แบบไม่เผาไฟซึ่งไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ แบบเคลือบ และแบบ Terrazzo ที่เห็นเศษเซรามิกเป็นลวดลาย ฯลฯ

ถ้านับๆ ดูตั้งแต่ที่นนท์และมายร่วมกันทำ loqa ขึ้นมา ขยะเซรามิกและแก้วเหลือทิ้งก็ถูกแปรรูปไปหลายตันแล้ว เพราะในผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นของ loqa จะใช้ขยะไปกว่า 80-85% ทีเดียว ส่วนเปอร์เซ็นต์ที่เหลือคือดินและน้ำที่นำมาขึ้นพิมพ์ รวมถึงสีสันที่ยังต้องใช้ตัวทำสีเป็นหลักเพราะหากจะใช้สีจากขยะโดยตรง ทั้งคู่จะต้องหาแก้วและเซรามิกเหลือทิ้งจำนวนมหาศาลให้ได้ก่อน

“ข้อดีข้อแรกคือถ้าลูกค้าอยากจะทุบทิ้งหรือเขาย้ายบ้านก็ส่งกลับมาให้เราแปรรูปต่อได้ เพราะสินค้าของเราสร้างขึ้นตามแนวคิด circular design ทั้งหมด   

“ข้อดีข้อที่สองคือเซรามิกกับแก้วนั้นเป็นวัสดุที่เหมือนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเพราะผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อเรานำมาผ่านกระบวนการอีกครั้ง จากแต่เดิมที่มันอาจจะต้องใช้ความร้อนประมาณ 1,200-1,600 องศาเซลเซียส เราจึงใช้ความร้อนน้อยกว่าอิฐทั่วๆ ไป 10-15%”  

แต่เพราะคนเราไม่ได้จะสร้างบ้านกันง่ายๆ นอกจากวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อโลกสุดๆ แล้ว นนท์กับมายยังตั้งใจต่อยอด loqa ในอนาคตให้เจ๋งกว่าเก่าด้วยการแปรรูปขยะให้เป็นของใช้ ของตกแต่งบ้าน และเฟอร์นิเจอร์โดยใช้เทคนิคการหล่อส่วนผสมขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าช่วยลดขยะได้ง่ายขึ้น แถมชีวิตและบ้านก็มีสีสันมากขึ้นด้วย

 แม้กระบวนการเหล่านี้ดูไม่มีอะไรมากจนหลายคนอาจจะคิดว่าต้นทุนก็คงไม่สูงเท่าไหร่ แต่ความไม่มีอะไรมากตรงนั้นกลับซับซ้อนและเต็มไปด้วยต้นทุนแฝงใช่ย่อย ตั้งแต่กระบวนการขนส่งขยะ การทำให้เศษเซรามิกและแก้วกลับไปแปรรูปต่อได้ การทดลองรูปทรง และอีกหลายกระบวนการที่เราคาดไม่ถึง 

“ผมเข้าใจว่าหลายคนน่าจะต้องคิดแบบนี้ มันจึงเป็นเหตุผลที่ loqa ไม่ได้มีราคาสูงกว่าวัสดุตามท้องตลาดขนาดนั้น เพราะเราไม่อยากให้ลูกค้ารู้สึกลบกับสินค้าที่เป็นมิตรกับโลก” นนท์อธิบาย

โลก(า)สวยด้วยความครีเอทีฟ

วัสดุตั้งต้นนั้นทำให้ loqa แตกต่างก็จริง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้หลายคนรวมถึงเราตกหลุมรัก loqa เข้าอย่างจังคือสีสันและรูปทรง ชนิดที่ครั้งแรกที่เห็น เราถึงกับพูดคำว่า ‘โคตรสวย’ ออกมา

“เราสองคนเชื่อว่าเราไม่สามารถบังคับหรือยัดเยียดชีวิตให้ใครได้ เราจึงไม่ได้อยากให้มองว่าของพวกนี้เป็นของรักษ์โลกหรือของที่คุณต้องใช้ ไม่ใช้แล้วคุณจะผิดมหันต์ แต่เราอยากให้คนมองที่ความสวยงามหรือรูปลักษณ์ของมันก่อน พอเขาชอบ เขาถึงจะเปิดใจและได้ทำความเข้าใจว่า อ๋อ มันไม่ใช่แค่ของที่ทำให้บ้านเขาดูสนุกหรือมีมิติมากขึ้นนะ แต่มันยังดีต่อโลกด้วย” 

จากความเชื่อนั้น นนท์มอบหมายให้มายดูแลเรื่องการออกแบบ เพราะมายสามารถเอาสิ่งรอบตัวมาเป็นแรงบันดาลใจในการทำ loqa และแบรนด์ต่างๆ ได้อย่างดี ไม่ว่าจะสีของท้องฟ้า ปีกของแมลง หรือกระทั่งสีของดวงดาว มายก็หยิบมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญได้ทั้งสิ้น

นนท์ยกตัวอย่างคอลเลกชั่นหนึ่งที่มายออกแบบให้อิฐมีทั้งหมด 5 สีด้วยกัน ทั้ง 5 สีนั้นได้แรงบันดาลใจมาจากแต่ละชั้นของแกนโลก สื่อถึงชื่อแบรนด์ว่า loqa ได้เป็นอย่างดี หรืออีกคอลเลกชั่น มายก็ได้รับแรงบันดาลใจจากสีสันในยุค 70s 

“ถ้าคิดๆ ดูทั้ง 3 แบรนด์ของเรามันก็เติบโตขึ้นตามวัยเหมือนกันนะ เริ่มจาก Plant House ที่ดูแฟนตาซีและเต็มไปด้วยความสนุกเหมือนวัยเด็กหรือวัยรุ่น จนมาเป็น Earth Mart และมาสู่ loqa ที่ภาพลักษณ์​สงบนิ่งและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นเพื่อให้สินค้าได้พรีเซนต์ตัวเอง 

“แต่ทั้ง 3 แบรนด์ล้วนถือคุณค่าเดียวกันนั่นก็คือจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้เราต่อยอดทุกการทำงานต่อไปได้ ไม่อย่างนั้นผมก็คงมองว่าอิฐทนไฟเป็นได้แค่อิฐทนไฟอยู่วันยังค่ำ” นนท์บอกหัวใจสำคัญ

โลก(า)ธุรกิจ 

เมื่อต้นปี 2021 ช่วงเวลาที่นนท์เริ่มปิ๊งไอเดีย loqa  เขาสารภาพกับเราตามตรงว่าทั้งนนท์และมายไม่ได้คิดเรื่องช่องว่างทางการตลาดหรือโอกาสทางธุรกิจอะไรทั้งสิ้น ทั้งสองพกเพียงความตั้งใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเชื่อมั่นในสายตาตนเอง และความอยากทดลองจนคันไม้คันมือเท่านั้น

“โชคดีที่พ่อแม่ผมก็ไม่ได้ปิดไอเดียนี้ เพียงแต่เขาไม่ค่อยเข้าใจว่าใครจะมาซื้อของที่ทำจากขยะ บางทีเขาก็จะมองเพียงว่ามันต้องแข็งแรงเท่านั้น ไม่ได้สนใจเรื่องสุนทรียะขนาดนั้น ตอนแรกที่ผมทำขึ้นมา เขายังถามเลยว่าอันนี้เสียใช่มั้ย จะได้เอาไปทิ้ง เพราะสวยของเขากับสวยของเรามันไม่เหมือนกัน แต่ปัจจุบันเขาก็เข้าใจแล้วนะว่ามันมีตลาดจริงๆ” นนท์เล่าพลางหัวเราะ

ด้วยวัสดุตั้งต้นนั้นแตกต่าง สีสันที่สวยงามดูทันสมัย แถมพิมพ์ขึ้นรูปและกระบวนการทำของ loqa นั้นยังปักหมุดที่โรงงานทำอิฐทนไฟซึ่งต้องอาศัยความแม่นยำและมาตรฐานสูง สินค้าของ loqa จึงสร้างความแปลกใหม่ให้วงการสถาปนิกได้

“ไม่ว่าสถาปนิกจะมีจินตนาการในงานออกแบบมากแค่ไหน แต่ท้ายที่สุด ถ้าของในตลาดมันมีให้เลือกแค่เอ บี ซี หรือถ้าเขาต้องการสีอื่นแต่ในตลาดมันมีให้เขาเลือกไม่กี่สี แบบที่เขาคิดมันก็เป็นจริงไม่ได้ loqa เลยเหมือนเป็นของเล่นให้สถาปนิกได้ทดลองและเล่นกับแบบของตัวเอง 

“เวลาสถาปนิกส่งแบบมาให้ ผมก็อินตามไปด้วยและพยายามจะออกแบบและผลิตขึ้นมาตามความต้องการของเขาให้ได้มากที่สุด หนึ่งในความท้าทายที่ผมสนุกมากในตอนนี้จึงคือการทำยังไงให้เราสามารถออกแบบวัสดุตามแบบที่เขาคิดได้ เช่น ถ้าเขาอยากให้หน้าตัดที่เห็นเทกซ์เจอร์ของเซรามิกมาเป็นหน้าหลัก เราต้องทำยังไง หรือถ้าเขาอยากได้รูปทรงใหม่ๆ มันจะมีรูปทรงไหนได้อีก” นนท์บอกความตั้งใจในการพัฒนางานออกแบบของ loqa ซึ่งแม้จะหนักแต่เขาและมายก็สนุกกับมัน

โลก(า)ที่อยากเห็น

เล่าถึงตรงนี้ นนท์ก็ชวนเราเพ่งพินิจโลโก้ของ loqa ดีๆ ว่ามันแปลว่าอะไรได้บ้าง

“ที่แน่ๆ มันคือภาพวิว” เราตอบไปแบบนั้น ก่อนที่นนท์จะเฉลยให้ฟังว่า

“มันประกอบขึ้นจากคำว่า loqa ซึ่งจะมองว่าเป็นวิวก็ได้ หรือจะมองว่าเป็นภูเขา พระจันทร์ ยอดเขา หรือพระอาทิตย์ก็ได้ แต่ทั้งหมดมันเชื่อมต่อกันเพื่อสื่อถึง circular design ที่เราตั้งใจ 

“ในอนาคต ผมเลยพยายามคิดหาทางตั้งจุดดร็อปและขนส่งขยะเพื่อให้คนมีที่ทิ้ง และเราก็มีขยะไปแปรรูปด้วย และแม้ในตอนนี้เราอาจจะยังผลิตสินค้าจากขยะแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่อุดมคติสูงสุดคือการทำให้ loqa สร้างขึ้นจากขยะทั้งหมด และมากไปกว่านั้นคืออยากให้ loqa สามารถซับคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้ด้วย”  

โลกาหรือที่แปลว่าโลกในความเป็นจริงจะดำเนินไปถึงจุดไหนเรายังไม่ทราบ แต่สิ่งนนท์และมายมั่นใจแน่ๆ คือนี่คือ loqa ที่ทั้งคู่อยากเห็น 

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like