Second Impression

Loopers แพลตฟอร์มซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองที่แก้ pain point ให้คนขายสบายและคนซื้อแฮปปี้ที่สุด

“เสื้อผ้าหนึ่งตัวผลิตขึ้นมาเพื่อให้ใส่ได้ 30-50 ครั้ง” ชายหนุ่มให้ข้อมูล

“ใส่ได้แทบจะตลอดชีวิต” หญิงสาวเสริม 

แต่ในชีวิตใครหลายคน เสื้อผ้าบางตัวกลับถูกใส่เพียงครั้งสองครั้ง จากนั้นถูกแขวนไว้นิ่งๆ ในตู้เสื้อผ้า ท่ามกลางชุดจำนวนมหึมาที่แทบจะไม่ถูกหยิบมาใส่เหมือนกัน

ชายหนุ่มและหญิงสาวที่ว่าคือ กอล์ฟ–ศรัณย์ ศิริภัทรประวัติ และ เกด–พิชามาศ ชัยงาม คู่รักผู้ก่อตั้ง Loopers แพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองออนไลน์ที่ก่อตั้งขึ้นจาก pain point ในย่อหน้าข้างบน กับพาร์ตเนอร์อีกหนึ่งคนคือ ลูกกอล์ฟ–คณาธิป สุนทรรักษ์ (ใช่ พี่ลูกกอล์ฟแห่งสถาบันสอนภาษา ANGKRIZ และรายการ ‘ถกถาม’ นั่นแหละ) ด้วยความตั้งใจจะลบภาพจำของเสื้อผ้ามือสองที่เคยถูกมองว่าเป็นขยะหรือเสื้อผ้าคนตาย จนกลายเป็นเว็บไซต์ตัวกลางที่จำหน่ายสินค้ามือสองคุณภาพดีไม่แพ้มือหนึ่ง บางชิ้นราคาถูกกว่าครึ่ง ที่สำคัญคือคนขายไม่ต้องทำอะไร แค่ส่งชุดที่ไม่อยากใส่แล้วมาให้ทีม Loopers แล้วพวกเขาจะจัดการต่อให้เอง

แพลตฟอร์มเปิดตัวครั้งแรกราวหนึ่งปีก่อน จนถึงตอนนี้มีเสื้อผ้าในคลังมากกว่า 2 หมื่นชุด และลูกค้า DM เข้ามาชมจนแทบไม่ต้องจ้างใครมารีวิวโปรโมต เพียงเท่านี้ก็พอบอกได้แล้วว่า Loopers ประสบความสำเร็จแค่ไหน

แต่ลึกลงไป เมื่อได้นั่งคุยกับศรัณย์และพิชามาศจริงๆ เราจึงได้รู้ว่าหัวใจหลักที่ทำให้แพลตฟอร์มปังได้ขนาดนี้ คือความเป๊ะในระบบหลังบ้านของพวกเขา มากกว่านั้น มันคือความเชื่อที่ว่า สิ่งเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของเราสามารถสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ให้กับคนรอบข้างและโลกที่เราอยู่ได้

บนโลกใบนี้ยังมีเสื้อผ้าคุณภาพดีอีกหลายล้านชิ้นที่ยังมีคุณค่า และสมควรจะถูกใส่มากกว่าแค่ครั้งสองครั้ง บทสนทนานี้บอกเราอย่างนั้น

รู้มาว่าคุณทั้งสองคนอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทออยู่แล้ว

พิชามาศ : ใช่ เรารับช่วงต่อโรงงานผลิตยูนิฟอร์มมาจากพ่อแม่

ศรัณย์ : ส่วนเราทำโรงงานผลิตเสื้อผ้าให้กับองค์กร หน่วยงานต่างๆ ทั้งชุดพนักงาน หรือชุดที่ใส่ในการส่งเสริมการขาย

พูดได้ว่าผูกพันกับเสื้อผ้ามาทั้งชีวิต

พิชามาศ : เราเห็นกระบวนการทำเสื้อผ้ามาตั้งแต่เกิด คลุกคลีกับคนเย็บ คนแพ็กของ ดีไซเนอร์ พอยิ่งมารับช่วงต่อยิ่งทำให้เราเก่งเรื่องเสื้อผ้าโดยไม่รู้ตัว ไอเทมติดตัวของเราสองคนคือสายวัดตัวและ calibrator เทียบสีแพนโทน เราพกกันเป็นเรื่องปกติเพราะมันเป็นอาชีพเรา

ศรัณย์ : ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเพื่อนถามว่านี่ผ้าอะไร เราจับแล้วตอบได้เลย แล้วทุกคนก็จะแบบ “เฮ่ย รู้ได้ไง” แต่สำหรับเรามันโคตรเบสิก

พิชามาศ : หรือเวลาไปเดินห้าง เราก็จะแยกกันเดินตามร้านขายเสื้อผ้า ชอบเข้าไปดูการจัดวาง การตัดเย็บ แหวกดูตะเข็บ ดูเนื้อผ้า ดมกลิ่นตามประสาคนทำ (หัวเราะ)

จากคนคุ้นเคยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลายเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองได้ยังไง

พิชามาศ : เราชอบการแต่งตัว ชอบการเลือกเสื้อผ้าดีๆ มาใส่ และจะหงุดหงิดเวลาเจอเสื้อผ้าที่ตัดเย็บไม่ดี กลายเป็นว่าจุดหนึ่งเรามีเสื้อผ้าเยอะ แล้วเรารู้ว่าเรามีโอกาสจะใส่มันแค่ตัวละไม่กี่ครั้ง เราบอกเพื่อนๆ เสมอว่าฉันมีเสื้อผ้าแบบนี้นะ ยืมได้นะ มีแนวคิดแบบนี้มานานเป็นสิบๆ ปี

Loopers เกิดขึ้นด้วยแนวคิดนี้แหละ เรามีเสื้อผ้าเยอะและเราอยากให้มันถูกใส่บ่อยๆ แต่จะทำอย่างนั้นได้ยังไง ก็ต้องขายหรือส่งต่อ ตอนแรกเราเปิดไอจีหนึ่งมาขาย แต่เราพบว่ากระบวนการกว่าจะขายได้นั้นมีเยอะมาก ทั้งต้องถ่ายรูป วัดไซส์ ตั้งราคา คุยกับลูกค้า หาแพ็กเกจส่งของ เดาว่าอีกฝ่ายเป็นมิจฉาชีพหรือเปล่า ทำได้ 4-5 ตัวก็ไม่เอนจอย ไม่ทำแล้วเพราะขี้เกียจทำ ไม่มีเวลา

แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่า ถ้าเราไม่ทำเสื้อผ้าดีๆ คงไม่ถูกส่งต่อสิ จากนั้นเลยลองเปลี่ยนวิธีใหม่เพราะคิดว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อขายของ เลยทำเป็นแพลตฟอร์มในการส่งต่อเสื้อผ้าคุณภาพดี ใส่ได้อีกหลายครั้ง โดยมีเราเป็นตัวกลางกรองให้ เพราะเราคิดว่าหลายคนคงมีเสื้อผ้าเยอะแต่ขี้เกียจทำหรือไม่มีเวลาเหมือนเรา 

ก่อนจะก่อตั้ง Loopers ในไทยมีแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งต่อเสื้อผ้ามือสองหรือเปล่า

พิชามาศ : จริงๆ มี แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ใครจะลงขายเองก็ทำได้ เขาไม่มีคนกรองให้ อาจมีของปลอม ของที่ไม่ใช่เสื้อผ้ามือสอง หรือรูปภาพที่ไม่ใช่สินค้าจริงบ้าง ต้องกังวลว่าคนขายเป็นมิจฉาชีพไหม พอเราเข้าไปดูแล้วรู้สึกว่าแพลตฟอร์มนั้นไม่น่าใช้ และคิดว่าคนอื่นก็คงคิดเหมือนกัน เราเลยอยากทำแพลตฟอร์มที่ไว้ใจได้ มีหน้าตาของระบบที่ใช้งานง่าย มีกระบวนการชัดเจน แค่ผู้ขายส่งสินค้ามาให้แล้วเราเคลียร์ต่อให้ ผู้ซื้อก็สบายใจ 

ก่อนหน้านี้ไม่มีแพลตฟอร์มลักษณะนี้ในไทยเลย เราก็ตั้งคำถามว่า “หรือมันจะไม่เวิร์กล่ะ?” แต่พอเสิร์ชกว้างขึ้น เราพบว่ามันเคยมีในเมืองนอกแล้วและมีเยอะมาก บางแพลตฟอร์มประสบความสำเร็จมากจนเข้าตลาดหุ้นได้ นี่ก็พิสูจน์ได้ระดับหนึ่งว่ามันเวิร์ก

ส่วนใหญ่เสื้อผ้ามือสองมักจะขายตามตลาดนัดหรืออีเวนต์ทั่วไป ทำไมจึงเลือกทำแพลตฟอร์มบนออนไลน์ 

พิชามาศ : เราซื้อเสื้อผ้าออนไลน์ โดยเฉพาะเสื้อผ้ามือสองที่เราชอบซื้อผ่านไอจี แต่พออยู่ในไอจีแล้วไม่สะดวกในแง่ที่ว่า เราต้องมานั่งหาว่าเขาเชื่อถือได้ไหม เสื้อผ้าแบบที่ต้องการก็หายาก มันไม่มีที่เดียวที่รวมมาให้เราเลย และเราคิดว่ามีคนที่หาเว็บไซต์แบบนี้เหมือนเราอยู่ อยากดูอะไรก็เข้ามาฟิลเตอร์หาเองได้ ไม่ต้อง DM ไปหาแม่ค้า ที่สำคัญคือซื้อได้ตลอดเวลา 

มีเคสหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงบอลโลกเมื่อปีที่แล้ว อาร์เจนตินาแข่งกับฝรั่งเศส กว่าจะแข่งจบก็เวลาตี 2 ตี 3 ตอนนั้นเรายังไม่นอน แล้วอยู่ๆ ก็มีเสียง ‘กริ๊ง’ ดังขึ้นมา ปรากฏว่ามีแฟนบอลมาซื้อเสื้อบอลทีมอาร์เจนตินา (หัวเราะ) นี่คือข้อได้เปรียบของแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะร้านมือสองทั่วไปลูกค้าจะขับรถออกไปซื้อ 24 ชั่วโมงแบบนี้ก็ไม่ได้

ศรัณย์ : อีกอย่างคือร้านสินค้ามือสองส่วนใหญ่ที่เชื่อถือได้จะขายสินค้าระดับ high-end แบบ luxury ไปเลย แต่สินค้าที่มูลค่าน้อยลงมายังไม่มีใครทำ หลายร้านยังไม่มีความน่าเชื่อถือพอ เรามองเห็นช่องว่างตรงนี้ด้วย

จาก pain point ที่มองเห็น คุณนำมาออกแบบแพลตฟอร์มต่อยังไง

พิชามาศ : เราออกแบบจากความต้องการของเราเป็นหลัก ชัดเจนเรื่องสิ่งที่จะมีในแพลตฟอร์มตั้งแต่แรก ตั้งต้นว่าภาพสินค้าในแพลตฟอร์มต้องสวย มีรายละเอียดระบุไว้ชัดเจน มีการวัดไซส์เสื้อผ้าทุกส่วน ลงรายละเอียดยิบย่อยให้ผู้ใช้เห็น

อีกอย่างคือการสื่อสารคอนเซปต์ แรกๆ เรากลัวว่าคนอื่นจะมองว่าแพลตฟอร์มนี้จะเป็นศูนย์รวมของเสื้อผ้าที่ถูกโละ เราไม่อยากให้คนมองแบบนั้นเลยใช้เวลาคิดคอนเซปต์นานมาก สุดท้ายก็สรุปได้ว่านี่คือแพลตฟอร์มในการวนของที่ยังใช้ต่อได้ วนของที่มีคุณภาพดีให้คนอื่น

ศรัณย์ : แท็กไลน์ของเราคือ “ส่งเสื้อให้เพื่อนสนิทใส่ต่อ”

พิชามาศ : ใช่ เพราะคิดดูว่าถ้าเพื่อนสนิทส่งเสื้อผ้าไม่ดีให้เราแล้วเราจะทำยังไง ด่าใช่ไหม เราก็เป็นแบบนั้น เราเลยอยากให้การส่งต่อใน Loopers เป็นเหมือนการส่งต่อของดีๆ ที่ต้องคัดมาให้เพื่อนเพราะเดี๋ยวเพื่อนด่า (หัวเราะ) เราชอบบอกกับเจ้าของเสื้อผ้าว่านี่คือตู้เสื้อผ้าออนไลน์ของคุณนะ และจะมีการโชว์หน้าบนเว็บไซต์เราด้วย เขาก็อาจจะเขินถ้าส่งเสื้อผ้าสภาพไม่ดีมา วิธีนี้ทำให้เราใช้เวลากับการคัดเสื้อผ้าน้อยลง เจอเสื้อผ้าที่ใช่มากขึ้น 

แต่เหนืออื่นใด เราอยากสื่อสารเรื่องนี้กับผู้ใช้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่อยากให้รู้สึกว่าเป็นการสั่งหรือว่าเขา ไม่โทษเขาว่าเสื้อผ้าแบบไหนที่เราไม่ต้องการ อย่างเรื่องฟาสต์แฟชั่นก็เหมือนกัน เราจะไม่บอกใครว่า “คุณซื้อฟาสต์แฟชั่นคุณไม่รักษ์โลกเลย” จุดประสงค์หนึ่งของ Loopers คือการเป็นแพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสองที่มาช่วยลดโลกร้อนก็จริง แต่เราเห็นจากหลายๆ เพจสิ่งแวดล้อมที่มีวิธีการสื่อสารแบบโทษผู้ใช้แล้วทำให้คนอ่านอึดอัด บางคนเคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า “มันผิดมากเหรอวะที่วันนี้ฉันใส่ฟาสต์แฟชั่น” เราพยายามไม่เป็นอย่างนั้น แต่จะบอกว่า “โอเคคุณใส่ได้ แค่ใส่ให้นานขึ้น หรือถ้าคุณไม่มีโอกาสใส่มันให้นานขึ้นก็มาส่งต่อกับเรา แต่เสื้อผ้าต้องอยู่ในสภาพดีนะ”

มีเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการคัดเลือกเสื้อผ้ามือสองแต่ละตัวยังไง แบบไหนที่จะอยู่บน Loopers ได้

พิชามาศ : เราใช้เกณฑ์เรื่องคุณภาพเสื้อผ้าอย่างเดียว เสื้อผ้าตัวหนึ่งเราจะตรวจทั้งหมด 12 จุด ตามไบเบิลการดูเสื้อผ้าของเรา ตั้งแต่ตะเข็บรักแร้ กระดุมต้องอยู่ครบทุกเม็ด ซิปต้องใช้ได้ มีป้ายแบรนด์ ไม่มีรอยขาด ไม่มีรอยเยอะมากเกินไป ฯลฯ ถ้าคุณภาพตรงนี้ผ่านเราจะปล่อยขาย 

เราไม่มีเกณฑ์เรื่องดีไซน์หรือสไตล์ และจะไม่ตัดสินว่าสไตล์นี้ไม่น่าจะมีคนซื้อหรอก ส่งกลับเจ้าของดีกว่า หรือสไตล์นี้ไม่ใช่เราเลย เพราะเราพบว่าเสื้อผ้าทุกแบบที่ถูกผลิตมามันมีความต้องการอยู่แล้ว ถึงเราจะไม่ชอบแต่เดี๋ยวมันก็มีคนชอบ เพราะคนที่ชอบแต่งตัวเขาจะคิดออกว่าอะไรที่เหมาะกับเขา

ศรัณย์ : เรามาตกผลึกเรื่องนี้ได้ช่วงที่ขายแรกๆ เพราะมีเสื้อตัวหนึ่งที่ถ่ายรูปไม่ค่อยสวย เราคุยกับเกดอยู่ว่าเดี๋ยวเอาตัวนี้มาถ่ายรูปใหม่ดีกว่า แต่ยังไม่ทันได้ถ่ายเลย เสื้อตัวนั้นก็ถูกขายไปแล้ว (หัวเราะ) 

กระบวนการก่อนที่เสื้อผ้าตัวหนึ่งจะเดินทางจากเจ้าของเดิมสู่เจ้าของใหม่ ต้องผ่านอะไรบ้าง

พิชามาศ : เล่าอย่างนี้ สมมติวันนี้คุณกลับบ้านไปแล้วรู้ว่ามีเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใส่แล้วอยู่ ยังทำใจทิ้งไม่ได้เพราะมันมีราคาสูง คุณภาพยังดีอยู่ คุณก็ลงทะเบียนใน Loopers แล้วแพ็กส่งมาให้เรา แล้วบอกราคาคร่าวๆ ว่าอยากให้ขายเท่าไหร่ โดยราคาขั้นต่ำของเราคือ 300 บาท

พอส่งมาที่ Loopers แล้ว เราจะแจ้งกลับเมื่อได้รับของแล้ว จากนั้นจะคัดตามเกณฑ์ที่เรามี ถ้าคัดแล้วเราไม่ติดอะไร ทางเราจะเอาขึ้นหุ่น ถ่ายรูปทุกมุม โดยเป็นรูปที่ซูมแล้วต้องเห็นชัดถ้าหากเสื้อผ้าตัวนั้นมีตำหนิ เสร็จแล้วก็ลงรายละเอียดในแพลตฟอร์มว่าเสื้อผ้าตัวนี้เป็นแบรนด์อะไร ความยาวเท่าไหร่ มีตำหนิจุดไหน หรือบอกสิ่งที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น อย่างของกระโปรงก็จะมีซับใน เป็นต้น เราจะระบุสิ่งเหล่านี้แล้วอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์

พอน้องตัวนั้นอยู่บนเว็บไซต์ มีคนเห็น ถูกใจ กดซื้อ เราจะส่งให้เขาจนเรียบร้อย พอถึงรอบเงินที่ต้องจ่ายทางเราจะโอนให้ รายได้ของเราก็จะมาจากการหักค่าการจัดการ ซึ่งจะเริ่มต้นที่ 35% แต่ถ้าราคามากกว่า 1,500 เราจะหักค่าดำเนินการลดลงเหลือ 25%

เท่าที่ฟัง รู้สึกว่ากระบวนการระหว่างทางมีหลายขั้นตอนมาก อะไรทำให้คุณอยากลงไปทำเองทุกขั้นตอนขนาดนี้

พิชามาศ : เราอยากดูแลเองก่อนในช่วงหนึ่ง เพื่อเราจะได้รู้ว่าปัญหาจะเกิดจากจุดไหนได้บ้าง แล้วทำไบเบิลของเราเพื่อเป็นคู่มือ พอพ้นช่วงนั้นมาแล้วเราก็ฝากน้องๆ ในทีมช่วยดูแทน จริงๆ ที่อยากดูทุกขั้นตอนเพราะเราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ว่าน้องๆ เดินมาถามแล้วตอบไม่ได้เพราะเราไม่เคยผ่านงานมาก่อน

เปิดใช้แพลตฟอร์มมาเกือบ 2 ปีแล้ว สินค้าแบบไหนขายดีที่สุด และทำไมถึงขายดี

พิชามาศ : สินค้าสตรีทแฟชั่นทั่วไป ราคาประมาณ 400-800 บาท และส่วนใหญ่ก็เป็นฟาสต์แฟชั่น เพราะฟาสต์แฟชั่นเขาคิดมาแล้วว่าจะผลิตแบบไหนให้คนหมู่มาก 

ลูกค้าส่วนใหญ่ในเว็บ Loopers จะเป็น first jobber หรือน้องๆ เจนฯ Z ที่เขาซื้อเสื้อผ้ามือสองอยู่แล้ว แค่เราทำให้มันสะดวกกับเขาเท่านั้นแหละ เดี๋ยวเขาจะยอมเป็นลูกค้าเราเอง แล้วส่วนใหญ่ 70% ของลูกค้าเก่ากลับมาซื้อซ้ำ เพราะเขารู้ว่าสินค้ามีคุณภาพ ไม่ต้องเสี่ยงซื้อกับมิจฉาชีพที่ของไม่ตรงปก 

ศรัณย์ : ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อแค่ตัวเดียวเพื่อลองใช้ก่อน แล้วเขาเห็นว่าคุณภาพดี ไม่ใช่สินค้ามือสองแบบที่เขารู้จัก บางทีราคาถูกกว่ามือหนึ่งเกินครึ่ง เขาก็จะประทับใจจนมาซื้อซ้ำ อีกอย่างคือ Loopers เป็นแพลตฟอร์มที่มีเสื้อผ้าเยอะ และเขามีเวลาที่จะเลือกได้เยอะขึ้นด้วยซ้ำ

ที่บอกว่าเยอะคือเยอะแค่ไหน

พิชามาศ : ตอนนี้มี 20,000 ยูนิตแบบไม่ซ้ำกันเลย เราเข้าเว็บไซต์ตัวเองเรายังกลัวเลยว่าเราจะได้เสื้อผ้าตัวใหม่แน่ๆ (หัวเราะ) เพราะตามพฤติกรรมคนซื้อเสื้อผ้าเขาซื้อบ่อยอยู่แล้ว อย่างผู้หญิงเวลาจะไปไหนก็จะคิดว่าแต่งตัวอะไรดี เคยซื้อมือหนึ่งราคาเท่านี้ แต่แค่เปลี่ยนที่มาซื้อมือสองที่คุณภาพดีประมาณเดิมแต่จ่ายถูกกว่า ทำไมจะไม่เปลี่ยน เปลี่ยนแล้วไม่พอ กลายเป็นบอกต่อคนรอบตัวอีก ลูกค้าของเราจะเป็นลักษณะนี้ คือเป็นนางบอกต่อทั้งหลาย (หัวเราะ) เราเลยไม่ได้เสียเงินกับการจ้างอินฟลูฯ หรือออกสื่อเท่าไหร่เลย เพราะเรามีลูกค้าที่ขยันบอกต่อแทนเราตลอด 

ร้านเสื้อผ้าส่วนใหญ่จะขาดแคลนรีวิว แต่ Loopers มีคนส่งมาตลอดเวลาจน DM แทบระเบิด เพราะเขาเห็นคุณภาพของเสื้อผ้าและความตั้งใจในการส่งต่อให้คนอื่น ชอบการมีอยู่ของเรา หรืออย่างฝั่งเจ้าของเดิม เขาเคยรักเสื้อผ้าตัวหนึ่งมากแต่ไม่ได้ใส่ เพราะไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไป เช่น “ตอนนี้ฉันต้องเลี้ยงลูกน่ะ ใส่ตัวนี้ไม่ได้แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าฉันไม่รักมัน และฉันก็บริจาคไม่ลง” พอเขาส่งต่อให้เราแล้วเห็นว่ามีคนเอาเสื้อผ้าตัวนั้นไปใส่ มันเป็นความภาคภูมิใจของการวนใส่ต่อ เขาก็รู้สึกขอบคุณเรา และสิ่งนี้ก็กลับมาเติมเต็มเราในฐานะคนทำด้วยเหมือนกัน

มองในภาพกว้างกว่านั้น คุณคิดว่าการมีอยู่ของ Loopers ส่งผลกระทบต่อสังคมและโลกใบนี้ยังไง

พิชามาศ : ส่งผลเยอะโดยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ จริงๆ การใส่เสื้อผ้าตัวเดิม ใช้ของที่มีอยู่มันส่งผลเยอะอยู่แล้ว เพราะกระบวนการผลิตเสื้อผ้าหนึ่งตัวนั้นซับซ้อนมาก ต้องใช้ทรัพยากรโลก คน เวลา ความเชี่ยวชาญหลายอย่าง ถ้าเราตัดตรงนี้ไปได้มันก็ลดการต้องผลิตใหม่ เซฟทรัพยากรได้แบบมหาศาล และตั้งแต่ที่เปิด Loopers มา เราเซฟกันมาได้เป็นหมื่นๆ ตัวแล้ว ถ้าเกิดเราเป็นที่รู้จักมากขึ้นเราจะสามารถเซฟได้อีกเป็นล้านๆ ตัวเลย

และจริงๆ การกลับมาใช้ของเดิมก็ไม่ควรหยุดอยู่กับเสื้อผ้า แต่รวมถึงไลฟ์สไตล์ด้านอื่นๆ พอลูกค้าของเราได้มาเป็นชาวลูป หลายคนมีวิธีคิดในการใช้ของเดิมๆ กับทุกอย่างรอบตัว เขาจะคิดว่าอันไหนยังใช้ได้อยู่ก็ใช้ อันไหนยังใช้ได้แต่รู้สึกไม่เหมาะกับเขาแล้ว เขาก็ส่งต่อ อย่างเสื้อผ้าเด็กเนี่ย ปีหนึ่งต้องเปลี่ยนประมาณ 7-8 ไซส์ พ่อแม่ต้องซื้อเสื้อผ้ามหาศาล บางคนก็อาจนำมาวนมาส่งต่อได้เหมือนกัน

กลับกัน พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่หลายคนหันมาสนใจไลฟ์สไตล์แบบกรีนๆ มากขึ้น สิ่งนี้ส่งผลต่อธุรกิจของคุณในแง่ไหน

พิชามาศ : เราคิดว่าเขารักเรามากขึ้นนะ เพราะเขาเห็นว่าธุรกิจแบบไหนที่ตอบโจทย์หรือคุณค่าของเขาได้ น้องๆ เจนฯ Z หรือ Alpha หลายคนเราไม่ต้องไปบอกเขาเลยว่าทำแบบไหนจะไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เขารู้กันอยู่แล้ว แค่บอกเถอะว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง เขาพร้อมจะเปลี่ยน ลูกค้าของเราหลายคนเป็น active citizen สนใจการเมืองและสิ่งแวดล้อมจริงจัง ถ้ามีเรื่องอะไรที่เขาเห็นว่าเรายังทำได้ดีกว่านี้ เขาหันมาบอกเราตรงๆ เลยนะ จะมีคนที่พูดว่า “สวัสดีค่ะ ขออนุญาตนะคะ วันนี้มาใช้ Loopers แล้วคิดว่ามีสิ่งที่แนะนำได้ ทำไม่ได้ไม่เป็นไรนะคะ” เขาบอกมาเป็นข้อๆ แล้วพอคุยเรื่องนี้จบเขาก็หันไปคุยเล่นอย่างอื่น เรื่องไร้สาระ เรื่องแมว เราเจอคนแบบนี้เยอะมาก

แรกๆ เรารู้สึกท้าทายกับการรับมือเหมือนกัน เพราะเราไม่รู้ว่าธรรมชาติของเขาเป็นแบบนี้ แต่พอรู้ว่าลูกค้าของเราชอบให้คำแนะนำ ชอบการมีส่วนร่วม เราก็รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น เพราะเอาจริงๆ เขาน่ารักกับเรามาก เวลาเขาเจอปัญหาเรื่องอะไรแล้วมาแจ้ง เราก็ขอโทษเขาไปแล้วบอกว่าจะแก้ไข เขาก็ “ไม่เป็นไรค่ะ เดี๋ยวรอ” อะไรอย่างนี้ มันมีความอะลุ้มอล่วยกับเรา

สิ่งที่คุณยึดถือไว้ตลอดในการทำธุรกิจคืออะไร

พิชามาศ : เราจริงจังกับการแก้ไขปัญหา จริงจังกับการอ่านคอมเมนต์ ดู DM เช็กอินบอกซ์ เราไม่ปล่อยผ่านเลยเพราะเราอยากฟังเสียงลูกค้าตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเสียงชมหรือคำแนะนำก็ตาม อย่างคำชม เราได้รับแล้วต้องกลับมาดูด้วยนะว่าเขาชมเพราะขั้นตอนไหน แล้วเราจะทำยังไงให้ลูกค้าคนอื่นรู้สึกแบบที่คนนี้รู้สึก เราจริงจังกับเรื่องนี้มากตั้งแต่วันแรก

คุณรู้สึกว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่าตอนไหน ใช่ตอนที่ได้รับคอมเมนต์ชมแบบนี้หรือเปล่า

พิชามาศ : ตอนที่มือถือส่งเสียงดัง ‘กริ๊ง’ แจ้งเตือนว่ามีคนซื้อ ในแง่หนึ่งก็คือเสียงแจ้งเตือนว่ามียอดขายแต่อีกแง่หมายถึงมีเสื้อผ้าถูกส่งต่อแล้ว เพราะนี่คือความตั้งใจของเราตั้งแต่แรกที่อยากให้เสื้อผ้าตัวหนึ่งได้ถูกใช้งานหลายครั้ง

วันนี้ กำไรสำคัญกับคุณแค่ไหน

พิชามาศ : สำคัญมาก เพราะมีกำไรเราถึงอยากทำธุรกิจ ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้สำคัญมากจนเราต้องเอาเปรียบคนทำงานหรือเอาเปรียบสิ่งแวดล้อม กำไรทำให้เรามีความสุขแต่เราอยากทำมันได้ในระยะยาว 

ศรัณย์ : ความโปร่งใสคืออีกสิ่งสำคัญสำหรับเรา ตั้งแต่ day 2 เราค่อนข้างมีความโปร่งใสในการทำงาน อย่างโปรแกรมที่เราใช้ทั้งหมดก็ใช้ของที่ถูกลิขสิทธิ์ หรือเสื้อผ้าที่อยู่ในแพลตฟอร์มก็ต้องมีแบรนด์ ไม่ใช่ของผิดลิขสิทธิ์เหมือนกัน

แล้วคุณมองอนาคตของแบรนด์ยังไงต่อ

พิชามาศ : ตอนนี้เราเน้นเรื่องเสื้อผ้าแฟชั่นเพราะอยากทำให้แบรนด์แข็งแรงก่อน ส่วนในอนาคตเราอยากโฟกัสกับการวนใช้ไปเรื่อยๆ ขยายไปสู่ประเภทเสื้อผ้าใหม่ๆ เช่น กระเป๋า อุปกรณ์กีฬา เสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้าแม่ เพราะแม่ท้องแค่ 9 เดือนเอง แต่เสื้อผ้าอยู่ไปอีก 200-300 ปี อยากให้แม่ๆ ซื้อเสื้อผ้ามือสองดีกว่า แล้วเอาเงินไปซื้อนมลูกเพิ่ม อะไรแบบนี้

ศรัณย์ : ถ้าเราโตมากพอก็อยากมี offline store เพราะมันคือ user experience อย่างหนึ่ง อยากให้ลูกค้าเดินเข้าช็อปมาแล้วเห็นเสื้อผ้าที่เป็นไซส์ตัวเองให้เลือก หนึ่งไซส์อาจจะมี 500 แบบ แต่เสื้อผ้าแต่ละตัวจะมีแค่ตัวเดียว มันจะต่างจากร้านเสื้อผ้าทั่วไปที่เดินเข้าร้านจะเจอแค่ 3-4 แบบ แต่คุณเข้า Loopers มาจะมีร้อยแบบให้ลอง โดยที่เป็นไซส์ของคุณ นี่คืออีกก้าวหนึ่งในอนาคตที่เราอยากทำ

การได้ทำแพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองให้ wear วนไปได้เรื่อยๆ มีความหมายกับคุณยังไง

ศรัณย์ : การได้เห็นว่าเราสามารถทำให้เจ้าของเสื้อผ้า ลูกค้าที่ซื้อ ลูกน้อง จนถึงสิ่งแวดล้อมแฮปปี้ มันทำให้เราอยากทำต่อ มีกำลังใจในการทำงาน และอยากผลักดันให้มันไปไกลกว่านี้อีกเยอะๆ  

พิชามาศ : มันทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนเลยว่าฉันอยู่ได้ทั้งชีวิตโดยที่ไม่ต้องซื้อเสื้อผ้ามือหนึ่งเลยก็ได้ เพราะเราเห็นปริมาณเสื้อผ้ามือสองคุณภาพดีที่ถูกส่งต่อมามีเยอะมาก มีคนเข้าใจสิ่งนี้ แล้วมันเป็นทรัพยากรที่ทุกคนมีอยู่ในตู้แต่ไม่มีเวลาจัดการมัน เราคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่เราต้องพิสูจน์กันต่อไปให้ทุกคนเห็นว่าถ้าเราอยู่ได้ คนอื่นก็อยู่ได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่เหมือนกัน

3 คำแนะนำให้คนทำธุรกิจสายกรีน จากพิชามาศ-ศรัณย์ แห่ง Loopers

  1. “สื่อสารด้วยความเห็นใจ ไม่เบลมใคร การทำแบรนด์เพื่อสิ่งแวดล้อมควรเข้าถึงได้ง่าย ต้องไม่ทำให้ชอยส์เรื่องการรักษ์โลกเป็นพริวิเลจ”
  2. “ถ้าจะทำธุรกิจรักษ์โลก ก็ต้องรักษ์โลกจริงๆ นะ เพราะถ้าไม่เห็นว่าเรารักษ์โลกไปเพื่ออะไร เราจะคิดกระบวนการทำงานไม่ออกเลย”
  3. “ฟังความคิดเห็นลูกค้า เห็นปุ๊บแล้วแก้ปัญหาให้เขาเลย เพราะการที่ลูกค้าคอมเมนต์ นั่นแปลว่าเขายังใส่ใจเรา”

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like