รู้จัก Norda แบรนด์รองเท้าจากแคนาดาที่ถูกยกให้เป็น Lamborghini แห่งวงการวิ่งเทรล

รองเท้าดีไซน์สวยหาได้ไม่ยาก แต่รองเท้าที่ดีไซน์สวยและคุณภาพการใช้งานยอดเยี่ยมอาจหาไม่ง่ายอย่างที่คิด โดยเฉพาะกับ ‘รองเท้าวิ่งเทรล’ ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ยี่ห้อ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการครบทั้งสองข้อ

กล่าวเช่นนี้ อาจจะนึกว่าค่ายสามแถบ (Adidas) หรือค่ายสวูช (Nike) จะเป็นผู้ชนะในตลาดดังกล่าว ทว่านับตั้งแต่ปี 2021 กลับมีแบรนด์รองเท้าชื่อไม่คุ้นหูจากประเทศแคนาดา ตีตื้นขึ้นมารวดเร็วจนน่าเหลือเชื่อ กลายเป็นทางเลือกใหม่แก่นักกีฬาปอดเหล็กสายเทรลทั่วโลก

แบรนด์แบรนด์นั้นมีชื่อว่า ‘Norda’ (นอร์ด้า) นั่นเอง

แบรนด์ที่ไม่ได้มีการโปรโมตหวือหวา ไม่ได้มีพรีเซนเตอร์เป็นนักวิ่งชื่อดัง ไม่ได้มีช็อปใหญ่ตั้งตระหง่านใจกลางเมืองหลวงประเทศมหาอำนาจ มิหนำซ้ำยังถูกบ่นอุบว่า เป็นรองเท้าวิ่งเทรลที่หาซื้อยาก แต่ทำไมใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของ

ข้อสงสัยทั้งหมดที่ว่ามา เราขอชวนผู้อ่านร่วมหาคำตอบไปพร้อมกันในคอลัมน์ Biztory ตอนนี้

1.
เมื่อดีไซเนอร์ที่ชอบวิ่ง อยากสร้าง ‘รองเท้าวิ่งเทรล’ ที่ทั้งดีและเป็นมิตรต่อธรรมชาติ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 นิค และ วิลลา มาร์ติเร (Nick and Willa Martire) คู่สามี-ภรรยาชาวแคนาดา ต่างมีงานอดิเรกกันทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ คือการออกไปวิ่งเทรล พร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ และผ่อนคลายไปกับต้นไม้เขียวขจีตลอดสองข้างทาง

กระทั่งวันหนึ่ง ขณะทั้งคู่ออกวิ่งอย่างที่ทำอยู่เป็นประจำ วิลลาเกิดตั้งคำถามกับสามีของเธอว่า “เราไม่สามารถสร้างรองเท้าวิ่งเทรลที่ดีกว่านี้ได้จริงๆ เหรอ?” 

คำถามที่ว่าสะกิดต่อมของนิคเต็มๆ เพราะตลอดอาชีพการเป็นดีไซเนอร์ให้กับแบรนด์รองเท้าวิ่งเจ้าดังหลายเจ้า ไอเดียการสร้างรองเท้าวิ่งเทรลของเขามักจะถูกปัดตก เพราะผู้ผลิตส่วนใหญ่มักต้องการเซฟค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนการผลิต 

นั่นทำให้นักวิ่งเทรลล้วนมี pain point เดียวกัน คือรองเท้าของพวกเขามักจะพังง่าย ไม่ว่าจะส่วนอัปเปอร์ที่ทะลุ หรือแม้แต่พื้นที่เสื่อมสภาพไวก็ตาม การที่ต้องเปลี่ยนรองเท้าบ่อยนี้เองที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาความยั่งยืน 

จากประโยคคำถามสั้นๆ ที่ว่า จึงกลายเป็นโจทย์ให้ทั้งคู่สร้างรองเท้าวิ่งเทรลที่สวมใส่ดี และคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนไปพร้อมกัน

(ขวา) นิค และ (ซ้าย) วิลลา มาร์ติเร ในช่วงเริ่มก่อตั้ง Norda

2.
Dyneema วัสดุในฝันสำหรับสร้างรองเท้าวิ่งเทรล

เมื่อเป้าหมายชัดเจน นิค และ วิลลา มาร์ติเร ไม่รอช้า ติดต่อหาเพื่อนสนิทอย่างหลุยส์ มาร์ติน เทรมเบลย์ (Louis-Martin Tremblay) และเจราด คลีล (Gerard Cleal) ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการดีไซเนอร์รองเท้าเช่นกัน เพื่อทาบทามมาร่วมโปรเจกต์ดังกล่าว

หุ้นส่วนทั้ง 4 คน ต่างพยายามเฟ้นหาวัสดุที่มีน้ำหนักเบา ทนทาน และเป็นมิตรต่อธรรมชาติ เพื่อสร้างรองเท้าวิ่งเทรลในฝัน ซึ่งช่วงแรกพวกเขามองไปที่ ‘Kevlar’ ผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ประเภท aromatic polyamide ที่มีความทนทานพิเศษ ถึงขั้นที่ผ้าใยสังเคราะห์ชนิดนี้ถูกนำไปใช้ผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน หรือสร้างชุดสำหรับนักบินอวกาศ

แต่พวกเขาก็มองว่ายังมีผ้าใยสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพที่เท่ากัน ที่ให้น้ำหนักเบากว่ามาก นั่นคือ ‘Dyneema’ เส้นใยที่ทนทานและเบาที่สุดในโลก ค้นพบโดย อัลเบิร์ต เพนนิงส์ (Albert Pennings) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เมื่อปี 1963 

เจ้าเส้นใย Dyneema มีการทดสอบแล้วว่ามีความแข็งแรงทนทานมากกว่าเหล็ก 15 เท่า แต่กลับมีน้ำหนักเบาและมีขนาดบางราว 1 มิลลิเมตรเท่านั้น จินตนาการให้เห็นภาพคือ มีขนาดบางและเบาพอๆ กับกระดาษ

Dyneema ยังถูกใช้ผลิตเป็นชุดคลุมและกระเป๋าสำหรับปีนเขา

สำหรับเส้นใย Dyneema ที่พวกเขาเลือกใช้เป็นประเภท ‘Bio-based Dyneema’ ซึ่งเป็นเส้นใยที่สังเคราะห์มาจากวัสดุชีวภาพ เช่น กากไม้หรือเศษไม้ที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปกติแล้ววัสดุดังกล่าวมักนำไปใช้ผลิต trekking pole หรือไม้เท้าเดินป่า นี่จึงเป็นครั้งแรกของโลกที่มีผู้นำ Dyneema มาใช้เป็นวัสดุผลิตรองเท้า

ที่สำคัญ เส้นใยชนิดนี้ยังลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการผลิตได้มากถึง 90% การเลือกใช้วัสดุชนิดนี้ในการผลิต จึงเปรียบเสมือนการได้ช่วยโลกไปในตัว รวมๆ แล้ว นี่จึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่พวกเขาตามหามาตลอด  

3.
ร่วมกับ Vibram สร้างพื้นรองเท้าชนิดพิเศษ

เมื่อส่วนอัปเปอร์คือวัสดุจาก Dyneema คำถามต่อมาคือ ในส่วนพื้นมิดโซล (พื้นที่ช่วงกลางของรองเท้า เป็นชิ้นส่วนเชื่อมต่อระหว่างผ้าและพื้นรองเท้า ส่วนใหญ่มีเทคโนโลยีที่ทำให้ผู้ใช้สวมใส่สบาย) และเอาต์โซล (พื้นรองเท้า ช่วยยึดเกาะและทำให้การเดินมีประสิทธิภาพสูงสุด) จะใช้วัสดุประเภทใด? 

เพราะนักวิ่งเทรลส่วนใหญ่มักบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า บริเวณพื้นนี่แหละคือส่วนประกอบที่มีน้ำหนักมากที่สุด และรองเท้าเทรลบางยี่ห้อก็มีพื้นที่หนาเทอะทะ และมีน้ำหนักมากแทบไม่ต่างจากรองเท้าเดินป่า 

ในระหว่างที่คิดไม่ตกนั้นเอง นิคนึกถึงแบรนด์ผู้ผลิตพื้นรองเท้าชื่อดังจากอิตาลีอย่าง ‘Vibram’ ซึ่งครั้งหนึ่งนิคเคยร่วมงานด้วย และรู้ดีว่าแบรนด์นี้คือที่สุดของผู้ผลิตพื้นรองเท้าวิ่งเทรล 

เมื่อนำโปรเจกต์ดังกล่าวไปเสนอ ทาง Vibram ใช้เวลาไม่นานนักก็ตอบรับข้อเสนอ ทั้งสองฝ่ายร่วมกันนำเสนอไอเดียเพื่อออกแบบพื้นรองเท้าที่เบา สามารถสวมใส่ได้ในทุกสภาพแวดล้อม และต่อให้วิ่งไปในระยะทางหลายกิโลเมตรก็ไม่เกิดอาการพื้นยวบ ซึ่งเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บของนักวิ่ง

ผลลัพธ์จากการระดมสมอง ปรากฏเป็นพื้นรองเท้าที่ทำจากโฟมชนิดพิเศษของ Vibram ที่มีน้ำหนักเบาแต่เฟิร์มกระชับ ไม่อ่อนยวบ ราวกับเหยียบอยู่บนก้อนเมฆ ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ทว่านี่ก็เป็นเพียงขั้นแรกเท่านั้น และจำเป็นต้องมีการหารือพัฒนาร่วมกันต่อไปอีกสักระยะ เพื่อหาจุดลงตัวที่ดีที่สุด

4.
ความภาคภูมิใจของแคนาดา ที่มีชื่อว่า Norda

หลังได้วัสดุครบถ้วนทั้งผิววัสดุ Dyneema และพื้นรองเท้าพิเศษจาก Vibram นิคและทีมใช้เวลาในฟาร์ม ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพวกเขา เพื่อดีไซน์หน้าตาของรองเท้าและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งาน โดยนอกจากทีมงานที่เพิ่มขึ้นมาอีก 5 คน นิคยังตระเวนสอบถามความคิดเห็นจากบรรดานักวิ่งเทรล ถึงรองเท้าในฝันที่พวกเขาอยากจะเห็น

  กระทั่งปี 2020 แบรนด์รองเท้าโลคอล จากแคนาดาจึงถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในชื่อ ‘Norda’ ซึ่งเป็นภาษาละตินที่มีความหมายว่า ‘North’ ชื่อนี้ถือเป็นการแสดงความภาคภูมิใจต่อประเทศแคนาดา บ้านเกิดของพวกเขาที่เป็นประเทศทางตอนเหนือ  

ส่วนผลิตภัณฑ์รองเท้าเทรลคู่แรกจาก Norda มีชื่อรุ่นว่า ‘Norda 001’ ความพิเศษของรองเท้าเทรลรุ่นนี้เริ่มจากส่วนอัปเปอร์ ที่ใช้เครื่องเลเซอร์ตัดผืนผ้าใบ Dyneema ออกมาเป็นชิ้นเดียว ทำให้ส่วนอัปเปอร์ ด้านบนไร้ร่องรอยการตัดเย็บและการเดินตะเข็บ เพื่อแก้ปัญหาการฉีกขาดระหว่างใช้งานได้ดียิ่งขึ้น แม้แต่ในส่วนของเชือกรองเท้าก็ทำจากวัสดุ Dyneema เช่นกัน

ต่อมาคือส่วนอินโซล หรือแผ่นรองเท้าด้านในที่ทำมาจากวัสดุประเภท TPU (Thermo Polyurethane Sole) ซึ่งตอบสนองต่อการลงน้ำหนักในการวิ่งแต่ละครั้งได้ดี และสุดท้ายคือส่วนมิดโซล และเอาต์โซล ที่ขึ้นรูปเป็นยางชิ้นเดียว 

พื้นของ Norda 001 เป็นพื้นชนิดพิเศษที่มีชื่อว่า ‘Vibram Megagrip Litebase’ ความพิเศษนอกจากน้ำหนักที่เบา พื้นชนิดดังกล่าวยังถูกพัฒนาให้มีดอกยางลักษณะตัว v ที่ช่วยยึดเกาะทุกสภาพพื้นผิว ตั้งแต่พื้นดินโคลนเฉอะแฉะในช่วงหน้าฝน พื้นแข็งกระด้างในช่วงหน้าหนาว และพื้นอุณหภูมิสูงในช่วงหน้าร้อน

หลุยส์ มาร์ติน เทรมเบลย์ ดีไซเนอร์ของ Norda ลงมือออกแบบหน้าตาของ Norda 001 ในสไตล์มินิมอลเรียบหรู สามารถใส่ได้แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน และที่สำคัญคือต้องไม่เคลือบเงาเหมือนกับรองเท้าวิ่งทั่วไป เพราะการใช้สารเคมีเคลือบเงาจะทำให้ยากต่อการนำรองเท้าไปรีไซเคิลต่อ   

แม้กระทั่งกระดาษห่อรองเท้า Norda ก็ยังใช้น้ำหมึกที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติในการพิมพ์ลาย และผ่านการการันตีความปลอดภัยจากองค์การพิทักษ์ป่าไม้ Forest Stewardship Council (FSC)

แน่นอนว่าด้วยวัสดุคุณภาพทุกอณู ราคาเปิดตัวของรองเท้า Norda 001 จึงอยู่ที่ 265 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9,500 บาท ผิวเผินอาจเป็นราคาที่สูง แต่หากเทียบสมรรถนะการใช้งานแล้วก็นับเป็นราคาที่คุ้มจ่าย

หลุยส์ มาร์ติน เทรมเบลย์ ผู้อยู่เบื้องหลังดีไซน์รองเท้า Norda 001

5.
รองเท้าที่นักวิ่งต่างคารวะให้เป็น ‘แลมโบกินี’ แห่งวงการเทรล

ภายหลังเปิดตัว Norda 001 ชื่อเสียงของแบรนด์โลคอลจากแคนาดาก็ค่อยๆ เป็นที่นิยมในหมู่นักวิ่งเทรล ถึงขั้นที่มีการตั้งสมญานามว่า ‘Lamborghini of Trail Running Shoes’ หรือ ‘แลมโบกินีแห่งวงการรองเท้าเทรล’  

เพราะจากข้อมูลของ Strava.Com เว็บไซต์ซึ่งเป็นแหล่งคอมมิวนิตี้ของนักวิ่งเทรลส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า รองเท้าวิ่งเทรลส่วนใหญ่มักมีอายุการใช้งานอยู่ที่ราว 500-600 กิโลเมตร ทว่ารองเท้าของ Norda แม้ผ่านไป 800 กิโลเมตร ก็ยังไร้ร่องรอยฉีกขาดให้เห็น 

แพททริก สแตงก์บาย นักวิ่งเทรลชาวนอร์เวย์ สวมใส่รองเท้า Norda 001 ขณะลงแข่งขัน

แม้กระทั่งนั่งวิ่งเทรลมือโปรหลายราย ยกตัวอย่าง แพททริก สแตงก์บาย (Patrick Stangbye) นักวิ่งเทรลชาวนอร์เวย์ สามารถทำลายสถิติวิ่งระยะทาง 100 กิโลเมตรภายในหนึ่งสัปดาห์ ด้วยรองเท้า Norda 001 

ความโด่งดังของ Norda ยังลามไปถึงการคอลแล็บกับ Zegna แบรนด์เสื้อผ้าสไตล์ quiet luxury ผ่านการออกผลิตภัณฑ์ชุดกีฬาวิ่งเทรล และรองเท้ารุ่น 001 ที่ดีไซน์มีความเป็นยูนิเซ็กซ์สูง แต่แฝงด้วยคอนเซปต์การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

6.
จิตวิญญาณแห่งความคราฟต์

“ถ้าเราทำแบบนี้ต่อไป เราจะสร้าง Norda ได้อย่างยั่งยืน”

นี่คือคำตอบจากปากของ นิค มาร์ติเร เมื่อถูกถามว่า ทำไม Norda จึงเป็นแบรนด์ที่ไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง แม้แบรนด์จะเริ่มแมส ไม่ใช่แค่ในเฉพาะกลุ่มนักวิ่ง แต่รวมไปถึงกลุ่มคนธรรมดาที่สนใจรองเท้าสุขภาพ กลับกัน Norda เลือกกระจายสินค้าผ่านแฟล็กชิปสโตร์ประเภทร้านรองเท้าสนีกเกอร์ หรือร้านที่จำหน่ายอุปกรณ์เดินป่า

คำตอบด้านบนที่ได้ถ้าจะให้ขยายความ คือ Norda ยังคงพอใจในความเป็นแบรนด์โลคอลเล็กๆ แต่เปี่ยมคุณภาพ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ ทุกวันนี้การผลิตรองเท้าทุกคู่ของ Norda ยังคงใช้ ‘ฝีมือคน’ ในการประกอบอยู่ แต่หากเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรมากขึ้น คุณภาพสินค้าก็อาจด้อยลง และอาจกระทบต่อเรื่องความยั่งยืนอีก

Norda จึงยังพอใจในการคราฟต์ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา เรียกว่า ค่อยๆ ก้าวไป แต่ก้าวอย่างยั่งยืนและมั่นคง ดีกว่ารีบวิ่งจนหมดแรง และถูกกลไกการตลาดดูดกลืนตัวตนที่สั่งสมมา 

ปัจจุบัน Norda กระจายสินค้าไปยังทั่วโลก จำนวน 27 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย หากใครสนใจอยากซื้อรองเท้าวิ่งเทรลของ Norda มาใช้งาน สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ nordarun.com/blogs/stories/q-a-with-patrick-stangbye-norways-007-of-the-trails

อ้างอิงจาก

เปิดตู้ Guss Damn Good ค้นวิธีคอลแล็บกับหลากแบรนด์จนได้เป็นไอศครีมที่เต็มไปด้วยเรื่องราว

“เราอยากเปิดความรู้สึกโคตรดีให้กับคน ที่กัสส์เราเชื่อว่าไอศครีมมีความรู้สึก และสามารถส่งผ่านกันได้ เลยเป็นคอนเซปต์ว่าเราทำไอศครีมที่มีเรื่องราว

“หลายครั้งที่คนเดินเข้ามาหาเรา แล้วบอกว่าไอศครีมกัสส์เยียวยาเขาในวัน bad day และในวันสำคัญของเขาอย่างวันแต่งงานหรือวันเกิดก็จะมีกัสส์อยู่ด้วย แปลว่าเขาจำกัสส์จากโมเมนต์ของเขาได้ กัสส์ก็เลยอยู่ในไลฟ์สไตล์ อยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญของเขา”

นี่คือคำบอกเล่าจาก ระริน ธรรมวัฒนะ และ นที จรัสสุริยงค์ สองผู้ก่อตั้ง Guss Damn Good แบรนด์ไอศครีมสัญชาติไทย ที่เก่งกาจเรื่องการคราฟต์รสชาติที่สดใหม่ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจ และถ่ายทอดความรู้สึกดีๆ ให้กับทุกคนที่ได้ลิ้มลอง

ในบรรดา 160 รสชาติของ Guss Damn Good บางรสชาติเกิดจากการคอลแล็บร่วมกับศิลปินและแบรนด์ต่างๆ กว่า 60 แบรนด์ ที่มาสร้างสีสันให้ตู้ไอศครีมของพวกเขา เต็มไปด้วยรสชาติที่หลากหลาย แต่ยังคงลายเส้นของกัสส์ไว้ได้ดี

“เราไม่เรียกว่าการคอลแล็บเป็นกลยุทธ์ เราได้มาเพราะแบรนดิ้งเรามันชัด เรื่องการ Activate Damn Good Feeling ไอศครีมมีความรู้สึก และทุกรสของเรามีเรื่องราว พออะไรต่างๆ มันชัด เราเลยมีโอกาสได้คอลแล็บกับแบรนด์เหล่านั้น” ระรินเผย

ก่อนที่กัสส์จะตัดสินใจคอลแล็บกับแบรนด์ไหน ระรินและนทีจะเข้าไปพูดคุยกับแบรนด์ที่ติดต่อเข้ามาด้วยตัวเองถึงจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าอยากคอลแล็บเพื่ออะไร เรื่องราวที่แบรนด์อยากถ่ายทอดคืออะไร และกัสส์จะช่วยเขายังไงได้บ้าง

“วิธีการทำงานของเราคือเอาเรื่องราวมาเปลี่ยนเป็นความรู้สึก และเอาความรู้สึกมาเปลี่ยนเป็นรสชาติ แต่ความยากอยู่ที่พอไอศครีมมันพูดไม่ได้ ความรู้สึกที่สื่อสารออกมาจึงต้องเป็นความรู้สึกเดียว ทำให้ใจความหลักของแบรนด์ที่สื่อสารออกมาต้องชัดเจนมากๆ

“หลายแบรนด์ก็มีเรื่องราวที่อยากบอกเล่ามากมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องไกด์เขาว่าถ้าอยากได้รสชาติที่ดูสนุกมันจะไปพร้อมกับความรู้สึกอบอุ่นไม่ได้นะ หรือความรู้สึกปลอดภัยจะไปพร้อมกับความรู้สึกอยากค้นหาไม่ได้นะ” นทีเล่าให้เราฟัง

ถึงแม้ไอศครีมในโปรเจกต์คอลแล็บแต่ละครั้ง จะวางขายที่หน้าร้านของกัสส์เป็นเวลาเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น แต่ก็ส่งผลดีต่อธุรกิจในระยะยาว ทั้งทำให้ลูกค้ารู้สึกสนุกเมื่อได้ลุ้นว่าแต่ละครั้งจะเจอกับรสชาติอะไรใหม่ๆ บ้าง นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างการรับรู้ของแบรนด์ด้วย  

คอลัมน์ X Change ในครั้งนี้ เราจึงพามาเปิดเบื้องหลังการคอลแล็บที่ Guss Damn Good ได้เปลี่ยน ‘เรื่องเล่า’ ของเหล่าแบรนด์และศิลปิน มาคราฟต์เป็น ‘ไอศครีมที่มีเรื่องราวและความรู้สึก’ ซึ่งทำให้แบรนด์ของกัสส์​สดใหม่ หอม อร่อยเหมือนดั่งรสชาติไอศครีมของพวกเขา

Guss Damn Good X Wet n Wild
เปิดโลกการคอลแล็บกับแบรนด์ดัง

หนึ่งในโมเดลธุรกิจของ Guss Damn Good คืออยากทำรสชาติไอศครีมร่วมกับแบรนด์อื่นๆ อยู่แล้ว แต่ในช่วงแรก ทั้งคู่ไม่เชื่อว่าจะมีแบรนด์ไหนที่อยากได้รสชาติไอศครีมเป็นของตัวเอง 

กระทั่งในงานเปิดตัวกัสส์ครั้งแรกที่ Winter Market Fest ของแสนสิริ ที่กัสส์ได้คอลแล็บกับ แพรี่พาย บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดัง เพื่อทำไอศครีมรสชาติ Galaxy of Pearypie ครั้งนั้นเองที่ทำให้ Wet n Wild ได้รู้จักกัสส์และติดต่อเข้ามา

“ตอนนั้นยังงงอยู่เลยว่าจะทำไอศครีมให้แบรนด์ลิปสติกยังไง แต่สุดท้ายเราก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องของสตอรี ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมไหน ทุกคนมีสตอรีที่อยากจะเล่า มีสิ่งดีๆ ที่อยากจะบอกอยู่แล้ว 

“การคอลแล็บกับแบรนด์ดังครั้งแรกอย่าง Wet n Wild เราเลยตีความจากเรื่องของเขาที่เป็นแบรนด์ลิปสติกสัญชาติอเมริกา ที่ราคาจับต้องได้ในคุณภาพที่ดี เป็นเฉดสีที่คนอเมริกาใช้จริง และสีของเขาก็ได้รับรางวัลมากมาย เราก็คิดต่อว่าอะไรที่คนอเมริกาชอบกินและมีติดตู้เย็น ดูจับต้องง่ายเหมือนลิปแบรนด์นี้ จนได้ออกมาเป็นรสครีมชีสและเชอร์รี”

หลังจากที่ระรินได้เล่าวิธีคิดรสชาติไอศครีมจากการคอลแล็บกับแบรนด์ดังเป็นครั้งแรก นทีก็เสริมถึงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้จากการก้าวเข้ามาสู่โลกของการคอลแล็บ

“ตอนนั้นเราตั้งชื่อว่ารส Wet n Wild เพราะตอนแรกเรายังงงอยู่ เราไม่คิดว่าจะมีใครมาคอลแล็บอีก ก็เลยเป็นชื่อแบรนด์ไปเลย แต่พอมีแบรนด์ติดต่ออยากมาคอลแล็บอีกเรื่อยๆ เราก็คิดได้ว่าจะไม่ตั้งชื่อรสไอศครีมตามชื่อแบรนด์แล้ว เพราะถ้าทุกแบรนด์อยู่ในตู้เราแล้วเป็นชื่อแบรนด์อย่างเดียว มันก็จะไม่สื่อสารกับผู้คน แล้วทำให้ brand promise ของเราที่ว่าจากเรื่องราวสู่รสชาติก็จะไม่แข็งแรง

“อีกอย่างตอนแรก เราไม่คิดค่าทำรสชาติไอศครีมให้กับแบรนด์ หรือถ้าคิดก็คิดถูกมากๆ เพราะมองว่าเป็นค่า R&D แต่หลังๆ ก็รู้ว่าไม่ใช่ นี่คือการคอลแล็บ เป็นการใช้แบรนดิ้งของกัสส์ เพราะฉะนั้นมันมีมูลค่า แล้วทำให้เรามองเห็นว่าการคอลแล็บมีศักยภาพที่ไปได้อีกไกลและเป็นทางที่ทำให้แบรนด์เราวิ่งไปข้างหน้าได้”

Guss Damn Good X Sundae Kids
รสชาติจากคอมิก 5 เรื่อง ที่ยอดสั่งจองเต็มตั้งแต่วันแรก

 “Sundae Kids ติดต่อเราเข้ามาว่าอยากคอลแล็บร่วมกัน เพราะในแต่ละปีนอกจากโปรเจกต์ที่เขาต้องทำแล้ว จะมีโปรเจกต์ที่ทำ เพราะอยากทำ เป็นการทำเอามันโดยไม่มีเรื่องเงินมาเกี่ยวข้อง เราก็ชอบเขาอยู่แล้ว เลยตกลงที่จะคอลแล็บด้วย

“เขาคิดเนื้อเรื่องมาก่อน แล้วกัสส์ก็ตีความจากเนื้อเรื่องออกมาเป็นรสชาติอีกที เหมือนเราดึงจุดเด่นของแต่ละคนมาใช้ อย่าง Sundae Kids ก็เก่งเรื่องการเล่าเรื่องผ่านภาพวาด เราก็ถนัดการตีความเรื่องเล่าออกมาเป็นรสชาติ ทำให้โปรเจกต์นี้เป็นสิ่งที่ทำแล้วใจฟูมาก” ระรินเล่าให้เราฟังด้วยดวงตาเป็นประกาย

การคอลแล็บในครั้งนี้ออกมาเป็นคอมิก 5 เรื่องที่เล่าถึง 5 โมเมนต์ความรัก มีตั้งแต่ ‘การสารภาพรัก’ ที่ใช้ความเปรี้ยวและความฝาดจากเปลือกมะนาว เพื่อบอกว่าการออกจากคอมฟอร์ตโซนครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ‘รสชาติความคิดถึง’ ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น นุ่มนวลจากน้ำตาลทรายแดงและซอสแอปเปิลคาราเมล มาจนถึง ‘การวาดอนาคตร่วมกัน’ ที่จะมีความเฟรช หวานอมเปรี้ยวจากฝักวานิลลาและแยมสตรอว์เบอร์รีอามาโอะ

นอกจากนั้น ยังมีความรู้สึกที่เรียบง่ายแต่ลึกซึ้งอย่าง ‘การจับมือ’ ที่ทำให้เรารู้สึกคุ้นเคย เลยเลือกใช้ช็อกโกแลต bittersweet กับเนยถั่ว และโมเมนต์สุดท้ายคือ ‘การคิดถึงความรู้สึกในวัยเด็ก’ ที่ยังไม่ผ่านเรื่องราวอันโหดร้าย จนได้มาเป็นแบล็กเคอร์แรนต์ และองุ่นสีม่วง ที่กินแล้วหวนนึกถึงเยลลี่สีม่วงรสองุ่นสมัยเด็กๆ

“พอเอามารวมกัน ยิ่งดีเข้าไปใหญ่ ทั้งได้อ่านและได้กินไปพร้อมกัน ทำให้กระแสตอบรับดีมาก ยอดสั่งจองเต็มตั้งแต่วันแรกที่เปิดพรีออร์เดอร์” นทีเล่าเสริมถึงการทำโปรเจกต์ในครั้งนี้ที่ทำให้พวกเขามีความสุขและภูมิใจที่ได้ทำ

Guss Damn Good X Scrubb
จากบทเพลงที่รักสู่รสชาติไอศครีม

“การคอลแล็บของกัสส์จะมีทั้งแบรนด์ที่ทักมาหาเรา แล้วก็คนที่เราชอบอยากทำด้วย อย่างโปรเจกต์นี้คือเราอยากทำ เพราะระรินชอบวง Scrubb มาก 

“พวกเราไปดูคอนเสิร์ต Scrubb กันที่เอ็มควอเทียร์ เราไม่รู้จักกับศิลปินเป็นการส่วนตัวมาก่อนด้วยนะ ระรินก็ยืนถือไอศครีมของกัสส์ไปแนะนำตัวกับพี่เมื่อย พี่บอล โชคดีที่พี่ๆ เขาเคยกินและรู้จักเรา” นทีเล่าถึงจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้ให้เราฟัง

ก่อนที่ระรินจะพูดเสริมอีกว่า “ตอนนั้นเราเจอวัตถุดิบที่คิดว่าเหมาะกับเพลง See Scape ของ Scrubb ในท่อนที่ร้องว่า แค่ออกไปมองฟ้าและน้ำที่กว้างใหญ่ ให้ได้กลิ่นดินที่ลมนั้นพัดเข้ามาจากสุดปลายฟ้า ซึ่งมันเข้ากับ lemon verbena เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่มีความเปรี้ยว ความหอม มีกลิ่นดิน หญ้า และฝน

“พอเราเข้าไปคุยพวกพี่เขาก็ตกลงอยากทำด้วย แล้วเขาก็เสนอไอเดียมาเยอะมาก จนออกมาเป็นโปรเจกต์ที่อยู่ในเดือน 7 ซึ่งตรงกับ ‘National Ice Cream Day’ หรือวันไอศครีมแห่งชาติของอเมริกา ที่เราตั้งใจจะมีโปรเจกต์ใหญ่ในเดือนนี้ของทุกปีอยู่แล้ว

“การคอลแล็บกันครั้งนี้ออกมาเป็น 4 รสชาติ จากเพลงโปรดของเรา นอกจากรส ‘See Scape’ แล้วก็จะมีรส ‘รอยยิ้ม’ ที่มีคุกกี้รอยยิ้มอยู่ข้างบน แล้วจากเอ็มวีเป็นความรักวัยมัธยม ก็เลยเป็นรสยาคูลท์ปีโป้ ที่สอดแทรกคัสตาร์ดรสยาคูลท์ 

“เพลง ‘คู่กัน’ ก็จะเป็นรสชาติที่กินแล้วเข้ากันอย่างรสฮอร์ลิกส์หรือมอลต์ จับคู่กับรสชาติของขนมปังบริยอชที่เข้ากันดีกับเนย ส่วนเพลง ‘ใกล้’ ก็จะมีความสปาร์กกัน ตามเนื้อเพลงว่า ใกล้จนอยากจะหยุดหายใจ ออกมาเป็นรสชีสเค้กกับซอร์เบต์ยูสุ และเพิ่มความสปาร์กกันด้วยลูกอมป๊อป ที่กินแล้วจะรู้สึกเป๊าะแป๊ะในปาก

“ที่เห็นลายถ้วยสวยๆ เหมือนภาพวาดบนผนังถ้ำ และลายบนของ merchandise อันนั้นพี่เมื่อยเป็นคนวาดเองหมดเลย เขาใส่ไอเดียให้เราสุดมาก ขนาดวันเปิดตัวรสชาตินี้ พี่ๆ เขาก็มาเล่นคอนเสิร์ตที่กัสส์ สาขาอารีย์ให้เราฟรี ซึ่งประกาศล่วงหน้าแค่วันเดียวคนก็มารอเต็มร้าน”

 นอกจากเรื่องราวดีๆ ที่ทำให้ระรินและนทีใจฟูจากการคอลแล็บครั้งนี้แล้ว นทียังเล่าถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้

“โปรเจกต์นี้มีการทำ merchandise ออกมา และเป็นการทำกระเป๋าเก็บความเย็นเป็นครั้งแรกของกัสส์ เพราะเราคิดว่ามันเหมาะกับเพลง See Scape ที่ให้ออกไปมองฟ้าและดาว พร้อมพกกระเป๋านี้ใส่ของเก็บความเย็นไปด้วย 

“แต่ตอนนั้นเราคิดว่าไม่น่าจะมีคนสนใจมากเท่าไหร่ เลยทำมาแค่ 200-300 ใบ กลายเป็นว่าขายหมดใน 2 วัน พอจะผลิตเพิ่มก็ไม่ทันแล้ว ยิ่งทำให้เราเห็นว่าการคอลแล็บมันมีพลังมากกว่าที่เราคิด”

Guss Damn Good Grocery
โปรเจกต์ใหญ่ที่รวม 9 แบรนด์ดังคู่ครัวไทยไว้ด้วยกัน

“เราทำเพื่อฉลอง National Ice Cream Day ที่ได้รับแรงบัลดาลใจมาจาก Anya Hindmarch เป็นดีไซเนอร์กระเป๋าที่ครีเอทีฟและเราชอบเขามากๆ เขาทำไอศครีมโปรเจกต์ คือไปตั้งป๊อปอัพสโตร์ไอศครีมใจกลางลอนดอน แล้วคอลแล็บกับแบรนด์ที่คนรู้จักกันดี เช่น ไฮนซ์ ซอสมะเขือเทศ แบรนด์ซอสคัสตาร์ดที่ดังที่สุด โปรเจกต์นี้ถูกพูดถึงเยอะมาก ทุกสื่อลงข่าวกันหมด

“เราก็มาคิดว่าในไทยเองก็มีแบรนด์ที่คนรู้สึกผูกพันและโตมาด้วยกันในหลายๆ ยุค อย่างกล่องคุกกี้อาร์เซนอลที่มีกันเกือบทุกบ้าน การกินซอสภูเขาทองเหยาะไข่ปิ้ง กินมาม่าแบบดิบแล้วใส่เครื่องปรุง หรือตอนไม่สบายก็อมยาแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัว

“เราก็คิดว่าถ้าเอารสชาติเหล่านี้มาทำเป็นไอศครีมก็น่าจะได้ เราเลยลิสต์แบรนด์ที่เราชอบทั้งหมดและติดต่อทุกแบรนด์ ซึ่งเขาตกลงหมดเลย ความยาก-ง่ายของแต่ละแบรนด์ก็ต่างกัน เราก็คุยชัดเจนว่าโปรเจกต์นี้เราจะเป็น R&D ทำไอศครีมให้ แล้วให้ทุกคนชิม เราก็ปรับจนแฮปปี้กันทุกฝ่าย ถ้วยทั้งหมดก็ทำให้ตรง CI ของแบรนด์ 100% เพราะเรารู้ว่าโลโก้และสีสำคัญกับทุกแบรนด์

“มีบางแบรนด์ที่เขาไม่เคยคอลแล็บกับใครเลยอย่างมาม่า เขาเล่าให้เราฟังว่าเคยทำไอศครีมอยู่หลายรอบแต่มันไม่ได้ เขากินแล้วไม่ชอบ แต่เขาเชื่อในรสมือของกัสส์ พอทำออกไปแล้วเขารู้สึกว่านี่แหละคือรสชาติที่ใช่ แล้วโปรเจกต์นี้มาม่าก็เป็นรสที่ขายดีที่สุด” ระรินเผย

โปรเจกต์นี้เป็นสิ่งที่เซอร์ไพรส์นทีมาก เพราะเขาเป็นคนไม่เชื่อเรื่องการนำของคาวมาอยู่ในของหวานแล้วจะมีคนชอบ จริงๆ ก่อนหน้านี้กัสส์เคยทำรสห่านพะโล้แล้วกระแสตอบรับดีมาก แต่ด้วยระยะเวลาแคมเปญที่สั้นเกินไปเพียง 1 สัปดาห์ ทำให้หลายคนยังไม่ได้มาชิมก็เลิกวางขายซะแล้ว รอบนี้กัสส์เลยกลับมาทำรสของคาวอีกครั้ง โดยขยายเวลาวางจำหน่ายเป็น 2 เดือนเต็ม และตอกย้ำให้เขารู้ว่ามีคนที่ชอบกินของคาวและของหวานรวมกันอยู่จริงๆ

ระรินเล่าถึงเบื้องหลังการคิดรสชาติไอศครีมที่เป็นของคาว และเรื่องราวการโปรโมตที่เต็มไปด้วยความสนุกว่า “ของ ส.ขอนแก่น ตอนแรกเราจะทำเป็นรสแหนม แต่ยังหารสชาติที่ลงตัวไม่ได้ และโปรเจกต์นี้เรามีเวลาทำจำกัด เลยเปลี่ยนมาทำรสหมูหย็องที่มีคนเรียกร้องมาเยอะเหมือนกัน และรสชาติเข้ากับน้ำตาลมะพร้าวอย่างไม่น่าเชื่อ

“โปรเจกต์นี้ทั้งเราและแบรนด์ที่คอลแล็บด้วยสนุกกับการทำการตลาดมาก อย่างหน้าร้านก็จะมีจัด Golden Week ของแต่ละรสชาติ ถ้าเป็นของมาม่าใครซื้อรสนี้ในสัปดาห์นั้นก็จะแถมมาม่าแบบซองและพัดมาม่าไปด้วย

“ทางแบรนด์ก็จะโปรโมตในรูปแบบของเขา มีการไปคุยแพลนคอนเทนต์กันเอง เช่น Golden Week ของบาร์บีก้อนจบ เขาก็ส่งไม้ต่อให้มาม่า ภาพที่ออกมาในโซเชียลก็จะเป็นมาสคอตพี่ก้อนส่งไม้ต่อให้มาสคอตของมาม่า เป็นภาพที่น่ารักมาก”

ระรินยังเล่าปิดท้ายถึงภาพในอนาคตของกัสส์ว่า “เราไม่ได้มองการคอลแล็บว่าจะต้องทำกับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเพียงอย่างเดียว หรือปีนี้คอลแล็บกับ 9 แบรนด์แล้ว ปีหน้าจะต้องทำเยอะกว่านี้ มันไม่ใช่ เราแค่ตั้งใจกับสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกสนุกไปกับมัน และต้องสื่อไปถึงใจของผู้คนตาม brand promise ของกัสส์คือจากเรื่องราวสู่รสชาติ”

LVMH กับการแปลงโฉมโอลิมปิกให้เป็นมหกรรมกีฬาที่มีสไตล์

Match : พิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024
Date : 26 ก.ค. 2024

แสงตะวันกำลังเริ่มลับฟ้า เป็นเวลาที่ขบวนเรือนับร้อยลำที่จะนำนักกีฬาจากทั่วโลกนับหมื่นคน และเหล่านักแสดงอีกหลายพันเริ่มต้นออกเดินทาง

จากสะพานปงต์ดุสแตลิตซ์ (Pont d’Austerlitz) ล่องไปตามแม่น้ำแซน สายน้ำที่ได้รับการกล่าวขานว่าโรแมนติกที่สุดของโลกเป็นระยะทางราว 6 กิโลเมตร 

เส้นทางนั้นผ่านสถานที่สำคัญของปารีสหลายแห่ง รวมถึง โบสถ์นอเทรอดาม (Cathédrale Notre-Dame de Paris), พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée de Louvre) ก่อนเส้นทางจะสิ้นสุดที่สะพานปงต์ดูลีนา (Pont d’léna) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหอไอเฟล (Tour Eiffel) ท่ามกลางผู้ชมหลายแสนคน ซึ่งได้ชมพิธีเปิดการแข่งขันรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน 

และในตอนสุดท้ายนั้นเองที่นักกีฬาผู้ได้รับเลือกจะเป็นคนจุดคบเพลิงโอลิมปิก ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 อย่างเป็นทางการ

โดยเปลวไฟนั้นมาจากคบเพลิงอันสวยงามที่ได้รับการออกแบบอย่างประณีตโดย Louis Vuitton

Bonjour!

มีเหตุผลมากมายครับที่ผู้คนทั้งโลกจะตื่นตัวกับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ปารีส

เพราะนี่ไม่ใช่แค่กีฬาโอลิมปิก แต่เป็นโอลิมปิกที่จัดขึ้นในมหานครที่สวยงามและเปี่ยมด้วยเรื่องราวมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก และที่สำคัญคือฝรั่งเศสกับปารีสนั้นมีบทบาทสำคัญกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติมาตั้งแต่เริ่มแรกครับ 

ผู้ที่มีความคิดจะนำการแข่งขันกีฬาจากยุคโบราณที่เคยเป็นเพียงเรื่องเล่าให้กลับมาแข่งขันกันใหม่คือบารอน เดอ กูแบร์แต็ง (Baron de Coubertin) ที่ผลักดันจนกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งในปี 1896

ก่อนที่ปารีสจะได้เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งที่ 2 ในปี 1900 พอดี และอีกครั้งในปี 1924 ซึ่งว่ากันว่าเป็นกีฬาโอลิมปิกที่ reinvent การแข่งขันขึ้นใหม่ เปลี่ยนจากการแข่งขันกีฬาธรรมดาๆ ที่ไม่น่าสนใจให้มีสีสันและศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นด้วยพิธีการต่างๆ ตั้งแต่ การออกแบบตราสัญลักษณ์ 5 ห่วง, การปฏิญาณของนักกีฬา, ขบวนพาเหรดที่ทำให้นักกีฬาและผู้ชมได้พบกัน ไปจนถึงการมอบเหรียญรางวัล เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดงก็ถือกำเนิดที่ปารีสนี่เอง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ฝรั่งเศสพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะขอเสนอเป็นเจ้าภาพในการจัดกีฬาโอลิมปิก 2024 ซึ่งจะครบ 100 ปีนับจากการเป็นเจ้าภาพครั้งสุดท้ายพอดี ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่

และต้องบอกว่าในฐานะเจ้าภาพ ฝรั่งเศสสร้างความประทับใจให้แก่คนทั้งโลกอีกครั้งในเรื่องของ ‘แนวคิด’ ที่ว้าวไปเสียเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นขบวนพาเหรดที่ไม่ได้จัดในสนามกีฬาเป็นครั้งแรก การดัดแปลงแลนด์มาร์กและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในเมืองให้กลายเป็นสนามกีฬา (อาทิ สนามวอลเลย์บอลชายหาดหน้าหอไอเฟล!) ตกแต่งด้วยธีมดีไซน์น้อยแต่มากในสีสันสดใสให้ความอบอุ่น ที่เกิดจากการนำเส้นแสงของนครปารีสมาใช้ในการออกแบบเพื่อสะท้อนจิตวิญญาณของฝรั่งเศส หรือแม้แต่การคืนชีพแม่น้ำแซนที่เน่าเสียให้ใสสะอาดจนกลับมาใช้แข่งขันกีฬาทางน้ำบางรายการได้

แต่ความน่าประทับใจไม่ได้หมดแค่นี้ เพราะปารีส 2024 ยังต้องการทำให้ทุกคนได้เห็นและจดจำความเป็นปารีสและฝรั่งเศสในภาพที่งดงามที่สุด

“เรื่องนี้ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเราเอง” คือคำพูดในใจของ LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton หรือที่รู้จักกันดีในชื่อสั้นๆ ว่า ‘LVMH’

voilà!

ความจริงแล้ว LVMH กับเกมกีฬาโดยเฉพาะมหกรรมกีฬาอย่างโอลิมปิก อาจจะเป็นเรื่องที่เหมือนจะมีระยะทางอันห่างไกลกันอยู่ทางความรู้สึกใช่ไหมครับ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว LVMH ซึ่งเป็นอาณาจักรของแบรนด์ระดับไฮเอนด์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนั้นไม่เคยทำตัวห่างจากเกมกีฬา หนึ่งในแบรนด์หลักของเครืออย่าง Louis Vuitton มีแคมเปญ ‘Core Values’ ที่นำสุดยอดนักกีฬามาสะท้อนคุณค่าและเรื่องราวของแบรนด์ที่เป็นมากกว่าแค่วัตถุที่หรูหรา 

ก่อนหน้านี้ “Louis Vuitton’ เคยสร้างความฮือฮามาแล้วเมื่อนำ 3 ตำนานนักเตะ เปเล่, มาราโดนา และซีเนดีน ซีดาน มาอยู่ในภาพเดียวกัน หรือคราวที่จับลิโอเนล เมสซี และคริสเตียโน โรนัลโด สองนักฟุตบอลที่เคยชิงชัยความเป็นหนึ่งร่วมทศวรรษมานั่งโขกหมากรุกด้วยกันในภาพสำหรับโปรโมตช่วงฟุตบอลโลก 2022 หรือล่าสุดที่นำคู่แข่งแห่งชีวิตโรเจอร์ เฟเดอเรอร์ และราฟาเอล นาดาล สองตำนานวงการเทนนิสมาร่วมออกเดินทางขึ้นยอดเขาโดโลไมต์อันหนาวเหน็บในประเทศอิตาลี สะท้อนเรื่องราวความสำเร็จ

ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาของคนทั้งโลกอย่างโอลิมปิก ในฐานะตัวแทนหมู่บ้านแล้ว LVMH ไม่อาจอยู่เฉยได้ไหว

ในเดือนกรกฎาคมปีกลาย มีการประกาศข่าวใหญ่มากๆ (ขนาดการแถลงข่าวยังจัดขึ้นที่พระราชวังชั่วคราว Grand Palais Éphémère ให้รู้ว่างานใหญ่จริง) ว่าเครือ LVMH ได้ตกลงที่จะสนับสนุนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (และพาราลิมปิก) ที่กรุงปารีส ด้วยเงินสนับสนุนกว่า 150 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินไทยแล้วเกือบ 6,000 ล้านบาท

เพียงแต่ LVMH ไม่ได้อยากจะเป็น global sponsor อะไรเหมือนชาวบ้านเขา แต่ขอเป็น ‘premium partner’ ควบกับตำแหน่ง ‘creative partnership’ ของกีฬาโอลิมปิกหนนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

“ในฐานะเครือบริษัทฝรั่งเศส เรารู้สึกว่านี่คือหน้าที่ของเราที่จะต้องมีส่วนร่วมกับงานครั้งนี้เพื่อที่จะให้หลงเหลือร่องรอยเป็นที่จดจำไปตลอดชีวิตของคนรุ่นนี้” อองตวน อาร์โนลต์ หนึ่งในทายาทของตระกูลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสขึ้นกล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่ยืนยันว่า LVMH จะเข้ามามีส่วนร่วมกับโอลิมปิกด้วย หลังจากที่ปล่อยให้ผู้คนถกเถียงอยู่นานว่าจะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์หรือไม่

คำถามสนุกๆ ต่อมาคือ เครือที่มีแบรนด์หรูสะสมไว้ถึง 75 แบรนด์จะมอบอะไรให้แก่กีฬาโอลิมปิกหนนี้บ้างนะ?

La Maison

ด้วยความที่ LVMH มีแบรนด์หรูหราระดับโลกอยู่เต็มไปหมด ชนิดที่ถ้าไล่ชื่อทั้งหมดน่าจะเหนื่อยอยู่ (ยกตัวอย่างก็ได้ เช่น Louis Vuitton, Dior, Givenchy, Tiffany & Co.) แต่พวกเขาก็พอรู้คำตอบในใจอยู่แล้วว่าจะเลือกใช้บ้านไหน (พวกเขาจะเรียกแบรนด์เป็นบ้านหรือ maison) เพื่อการทำสิ่งใดที่จะเกิดประโยชน์และมีคุณค่าสูงสุด

โดยแม่งานหลักฝั่ง LVMH จะมีทีมครีเอทีฟที่เป็นเหมือนชิปประมวลผลหลักที่จะทำงานร่วมกับฝ่ายจัดการแข่งขันและคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ซึ่งความร่วมมือนั้นไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหลังจากการแถลงข่าวเสียเมื่อไหร่

เพราะ LVMH อยู่เบื้องหลังการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งนี้มาตั้งแต่เริ่มตั้งไข่เลย โดยมีการช่วยเหลือในเรื่องของไอเดียความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาถนัดไม่น้อยไปกว่าความเนี้ยบพิถีพิถัน

ดังนั้นเมื่อถึงเวลาต้องลุยเต็มตัว LVMH ไม่ต้องตั้งท่าอะไรเยอะ แค่ถลกแขนเสื้อแล้วก็ลุยได้เลย!

บ้านที่ได้รับเลือกให้ทำงานใหญ่นี้ประกอบไปด้วย Louis Vuitton, Celine, Dior และ Berluti ซึ่งเป็นแกนหลัก นอกจากนี้ยังมี Chaumet, Moët Hennessy ไปจนถึง Sephora ซึ่งแต่ละบ้านก็จะได้รับมอบหมายหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น 

Louis Vuitton ออกแบบสิ่งของต่างๆ เช่น กระเป๋าสำหรับเก็บคบเพลิง หีบเหรียญใหญ่ ถาดเชิญเหรียญรางวัล ไปจนถึงชุดของผู้เชิญเหรียญรางวัล

Chaumet แบรนด์เครื่องประดับจิวเวลรีชั้นสูง เป็นผู้ออกแบบเหรียญรางวัลโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ทำจากชิ้นส่วนของหอไอเฟล ไม่ใช่แค่สวยแต่มีความหมายที่ซ่อนอยู่ 

Moët Hennessy มาพร้อมกับเครื่องดื่มชั้นเลิศของโลก ไวน์ เหล้า และแชมเปญ สำหรับการเลี้ยงรับรองแขกระดับสูงของประเทศ

Berluti ออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับนักกีฬาทีมชาติฝรั่งเศสที่จะใช้ในพิธีเปิดการแข่งขันที่ทั้งเรียบหรูและสง่างาม ภายใต้แนวคิดที่สะท้อน “จิตวิญญาณสมัยใหม่แห่งความสง่างามของฝรั่งเศส”

Dior จะมีส่วนร่วมไปกับพิธีเปิดการแข่งขันด้วย

เพียงแต่สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้คือ LVMH ไม่ต้องการจะเปลี่ยนโอลิมปิกครั้งนี้ให้ดูหรูหราอะไร แต่ต้องการทำให้เป็นโอลิมปิกฉบับที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ละเมียดละไม ให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะตัว และแน่นอนต้องมีความเป็นฝรั่งเศสมากที่สุด

“ในหลายๆ ด้านแล้ว บ้านต่างๆ ของเราก็คือสัญลักษณ์ของฝรั่งเศส ของความงามสง่า ของความอลังการ และสไตล์” นี่คือคำพูดของเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งที่บอกเป็นนัยว่างานนี้ถือเป็นงานใหญ่ของตระกูลที่ทุกบ้านต้องช่วยกัน

แต่ลึกๆ แล้วนี่ไม่ใช่งาน ‘เพื่อชาติ’​ เพียงอย่างเดียว

เพราะนี่ก็เป็นโอกาสที่อาจเกิดขึ้นแค่ครั้งใหญ่สำหรับ LVMH ด้วย

Combien?

มีการประเมินกันคร่าวๆ เอาไว้ว่าจะมีผู้คนหลั่งไหลมาที่ปารีสในช่วงของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขั้นต่ำที่สุดคือ 11.5 ล้านคน และสูงที่สุดคือ 15 ล้านคน

ขณะที่ผู้ชมทางบ้านจากทั่วโลกนั้นอยู่ในระดับ ‘พันล้าน’ อาทิ ในพิธีเปิดคาดว่าจะมีผู้ชมมากถึง 1.5 พันล้านคน

ผู้คนเหล่านี้คือกลุ่มเป้าหมายสำหรับภารกิจโอลิมปิกของ LVMH ที่ไม่ใช่เพียงแค่ได้มองเห็นแต่จะได้สัมผัสถึงประสบการณ์จากแบรนด์ต่างๆ ในแบบที่แตกต่างจากช่วงเวลาปกติ

โดยนอกเหนือจากสิ่งที่ทางแบรนด์จัดทำให้สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เช่น ชุด กล่องใส่คบเพลิง หรือเหรียญรางวัลแล้ว สำหรับแฟนกีฬาผู้มาเยือนสามารถเข้าชมนิทรรศการเกี่ยวกับโอลิมปิกในแฟล็กชิปสโตร์ของแบรนด์ในเครือ เช่น Guerlain, Berluti, Dior ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า La Samaritaine และมูลนิธิศิลปะ Louis Vuitton ได้ด้วย

โรงแรมใหญ่ในเครืออย่าง Cheval Blanc ก็มีการตกแต่งสวยงาม และเป็นหนึ่งในจุดที่สามารถร่วมรับชมพิธีเปิดการแข่งขันบนแม่น้ำแซนได้สวยที่สุด ซึ่งโรงแรมแห่งนี้ยังมีเลานจ์สำหรับนักกีฬาที่ชนะการแข่งขันได้เหรียญรางวัลด้วย

โดยที่นักวิเคราะห์มองว่าการลงทุน 150 ล้านยูโรของ LVMH ครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม เพราะจำนวนเงินนี้สำหรับเครือที่เป็นอาณาจักรอย่างพวกเขาเป็นเงินที่ไม่เยอะเลย แต่สิ่งที่จะได้กลับมานั้นเกินกว่าราคาที่ต้องจ่ายไปมาก

เพราะตอนนี้พวกเขาได้ย้อมปารีสให้เป็น LVMH และ LVMH ก็กลายเป็นปารีสไปแล้ว และเป็นปารีสที่สวยกว่าเดิมด้วย

ดังนั้นไม่ว่าแขกผู้มาเยือนจะไปที่ไหน เมื่อไหร่ในช่วงมหกรรมโอลิมปิก คุณจะพบเจอ LVMH ที่พร้อมจะทักทาย

ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อเป็นการบอกกับทุกคนว่าพวกเขากำลังก้าวข้ามจากแบรนด์แฟชั่นไปสู่การเป็น ‘cultural brand’

แบรนด์ที่เป็นวัฒนธรรม

Esthétique Games

การเข้ามาเป็น creative partner ของ LVMH กับกีฬาโอลิมปิก ‘Paris 2024 Olympics’ จึงอาจมองได้ทั้งในเชิงของ ‘ปรากฏการณ์’ ที่จะมีเครือแบรนด์ใหญ่ระดับนี้เข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์ให้โอลิมปิกดูมีสีสันสะดุดตา กลายเป็นเกมกีฬาที่สวยงามและสุนทรียิ่งขึ้น

หรืออาจจะมองในฐานะการเดินหมากที่แสนแยบยลของกลุ่มมหาอำนาจใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศสที่มีความเป็นฝรั่งเศ๊สฝรั่งเศสที่สุดในการใช้โอลิมปิกเป็นแพลตฟอร์มชิมลางการขยายธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ขึ้นอีกก็ได้เหมือนกัน

แต่ถ้าไม่คิดอะไรให้มากไป สิ่งที่ได้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะการเข้ามามีส่วนร่วมของเครือ LVMH เหมือนเป็นการเซตจังหวะให้โลกทั้งใบต้องขยับตาม  ที่มากไปกว่าแค่การยกระดับการจัดกีฬาโอลิมปิกให้ไปสู่อีกขั้น

โลกทั้งใบขยับตาม LVMH จริงๆ เหมือนที่เราได้เห็นความพยายามของแบรนด์อื่นๆ ที่จริงจังกับเรื่องงานออกแบบมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายที่แทบจะเหมือนยกแฟชั่นวีคมาไว้ในพิธีเปิด ชุดของนักกีฬาหลายชาติไม่ได้มาพร้อมกับฟังก์ชั่นการใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่มาพร้อมกับความงดงามที่สร้างแรงบันดาลใจไปด้วย

แฟนๆ เห็นก็ชอบใจ นักกีฬาเองก็อยากใส่ ใครบ้างไม่อยากโก้ในงานแบบนี้

นี่คือประสบการณ์ที่อาจเป็นครั้งหนึ่งและครั้งเดียวในชีวิตที่เราจะได้เห็นโอลิมปิกในเวอร์ชั่นนี้ ซึ่ง LVMH ได้พยายามเข้ามามีส่วนร่วม ใช้ทุกสิ่งที่มีในมือของตัวเองเพื่อทำให้มันน่าจดจำที่สุดสำหรับทุกคน ทุกสิ่งที่ดีงามไม่ว่าจะเป็นบ้านเมือง ผู้คน การมีส่วนร่วม ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปะ วัฒนธรรม และแฟชั่น ปารีสพร้อมแสดงให้ทุกคนได้เห็นด้านซิวิไลซ์ของพวกเขา 

นี่คือ ‘Art de Vivre’ หรือศิลปะในการใช้ชีวิตของคนฝรั่งเศส 

ดังนั้นถ้าถามว่า LVMH กับโอลิมปิกครั้งนี้เป็นยังไง?

คำตอบที่ได้น่าจะเป็น ‘Très bien’

‘โคตรดี’

อ้างอิง

Match facts

  • นอกจากสปอนเซอร์การแข่งขันแล้ว LVMH ยังสนับสนุนนักกีฬาที่ลงแข่งในโอลิมปิกด้วย เช่น เลออง มาร์ชองด์ นักว่ายน้ำ และเอ็นโซ เลอฟอร์ต นักฟันดาบ ซึ่งเป็นทีมชาติฝรั่งเศสทั้งคู่
  • วิกเตอร์ เวมบันยามา นักบาสเกตบอลเอ็นบีเอและทีมชาติฝรั่งเศส จะสวมชุดสูทของ Louis Vuitton 
  • ในการมอบเหรียญรางวัล ถาดที่ใช้นั้นมีลวดลาย Damier แพตเทิร์นที่แฟนๆ Louis Vuitton จดจำได้เป็นอย่างดี ขณะที่เหรียญรางวัลที่ทำโดย Chaumet จะมีเศษชิ้นส่วนของหอไอเฟลหลอมรวมอยู่ด้วย

ส่องสนามแข่งแบรนด์ดัง ที่อาจไม่เกี่ยวกับกีฬาแต่ขอเอี่ยวเป็นพาร์ตเนอร์ใน Paris 2024 Olympics

วันนี้แล้วที่มหกรรมกีฬาสุดยิ่งใหญ่อย่างโอลิมปิกจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ นอกจากนักกีฬาและเจ้าภาพที่ต้องเตรียมความพร้อม บรรดาแบรนด์ชั้นนำระดับโลกหลายแบรนด์ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ ลำพังแบรนด์กีฬาก็เข้าใจได้ แต่เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมบางแบรนด์ที่ไม่เกี่ยวกับกีฬาถึงขอเอี่ยวเป็นพาร์ตเนอร์ในงานนี้?

จากการวิจัยของบริษัทที่ปรึกษา BAV Group พบว่าผู้คนเชื่อมโยงคุณค่าและลักษณะบางอย่างของการเป็นพาร์ตเนอร์โอลิมปิกเกมส์เพิ่มขึ้น 117% แบรนด์ที่เป็นพาร์ตเนอร์อย่างเป็นทางการยังได้รับ brand loyalty เพิ่มขึ้น 49% และทำให้ผู้บริโภครู้สึกเกี่ยวข้องกับแบรนด์มากขึ้น 39% เมื่อเทียบกับคู่แข่ง

โอลิมปิกยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่าความร่วมมือด้านกีฬาระยะยาวสามารถสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์มากขึ้นได้ เช่น ในวงการการเงิน Visa เป็นหนึ่งในแบรนด์พาร์ตเนอร์ที่เป็นพาร์ตเนอร์ต่อเนื่องและทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกรับรู้ถึงแบรนด์เพิ่มขึ้นจาก 40% ในปี 2021 เป็น 43% ณ เดือนพฤษภาคม 2024 หรือแบรนด์ Coca-Cola ที่เป็นพันธมิตรกับโอลิมปิกมายาวนานเกือบ 100 ปีก็เพิ่มยอดขายในประเทศเจ้าภาพโดยเฉพาะช่วงเดือนที่มีการแข่งขันและสร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ได้เพิ่มขึ้น

ในขณะที่แบรนด์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ก็ได้โอกาสนำเสนอคอลเลกชั่นใหม่ในธีมสปอร์ตและได้โอกาสเล่าเรื่องถึงความเชี่ยวชาญและจุดเด่นที่แตกต่างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์ กล่าวได้ว่าแม้จะไม่ใช่แบรนด์กีฬาแต่ธุรกิจจากทุกวงการทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค, รีเทล, การเงิน, ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนได้ประโยชน์ทางธุรกิจหลายมิติจากการเป็นพาร์ตเนอร์กับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่มีผู้ชมนับพันล้านคน 

ก่อนคบเพลิงโอลิมปิกจะลุกโชติช่วงในค่ำคืนนี้ Capital ขอพาไป recap วิธีการของแบรนด์ต่างๆ ที่มาพาร์ตเนอร์กับโอลิมปิกครั้งนี้กัน

หีบเหรียญรางวัลโอลิมปิกสุดหรูจาก Louis Vuitton

เหรียญรางวัลและคบเพลิงโอลิมปิกถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการแข่งขันของมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างยาวนาน และแบรนด์ไหนจะเหมาะแก่การเป็นผู้ออกแบบและผลิตหีบพิเศษสำหรับบรรจุสัญลักษณ์ของงานโอลิมปิกที่ปารีสเป็นเจ้าภาพได้มากไปกว่า Louis Vuitton แบรนด์หรูที่คนทั่วโลกนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อนึกถึงฝรั่งเศส

ความเชี่ยวชาญของ Louis Vuitton ในการผลิตหีบเดินทางสั่งสมมานานกว่า 170 ปี โดยหีบเหรียญรางวัลสุดพิเศษนี้สามารถจัดเก็บเหรียญได้ถึง 468 เหรียญและมีลิ้นชักพิเศษที่ปีกหีบทั้งสองข้าง ภายนอกตกแต่งด้วยลายโมโนแกรมอันเป็นเอกลักษณ์ ภายในบุด้วยหนังสีดำด้าน ส่วนหีบคบเพลิงนั้นโดดเด่นด้วยลาย Damier มีช่องสำหรับวางคบเพลิงอย่างมั่นคงและปรับเปลี่ยนเป็นตู้โชว์ได้อย่างสง่างามเพียงแค่พลิกฝาที่มีบานพับเผยให้เห็นโลโก้ปารีส 2024 ที่ปั๊มนูนขึ้นมา 

ทั้งสองหีบนี้ป็นส่วนสำคัญในพิธีการต่างๆ ของปารีส 2024 โดยหีบเหรียญรางวัลจะจัดแสดงใน Champions Park ส่วนหีบคบเพลิงจะร่วมเดินทางในขบวนแห่คบเพลิงที่มีผู้ถือคบเพลิงกว่า 11,000 คนร่วมเดินทางสู่กรุงปารีส เกร็ดน่ารู้คือ เหรียญรางวัลนั้นออกแบบโดย Maison Chaumet ซึ่งเป็นอีกแบรนด์หนึ่งในเครือ LVMH เจ้าของเดียวกับ Louis Vuitton และยังมีไอเทมเล็กๆ น้อยๆ อย่างถาดเชิญเหรียญรางวัลและชุดผู้เชิญรางวัลที่ผลิตโดย Louis Vuitton เช่นกัน

การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นเอกเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญด้านงานฝีมือของ Louis Vuitton และค่านิยมร่วมกับกีฬาโอลิมปิกในการแสวงหาความเป็นเลิศและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการเชิดชูสัญลักษณ์แห่งความฝันของนักกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการกีฬา

เซตเมคอัพที่ Fenty Beauty มอบให้อาสาสมัครผู้เชิญรางวัล 

ไม่นานมานี้ริฮานน่า ศิลปินระดับโลกผู้โด่งดังจากเสียงเพลงอันทรงพลังได้ประกาศว่าแบรนด์เครื่องสำอางของเธอ Fenty Beauty ได้เป็นพาร์ตเนอร์กับโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ผ่านอินสตาแกรมพร้อมโพสต์ภาพทริปปารีสครั้งก่อนซึ่งแทนที่คนข้างเธอในภาพ (A$AP Rocky คนรักของริฮานน่า) ด้วยลิปกลอสยักษ์ของ Fenty Beauty

ในความร่วมมือครั้งนี้ Fenty Beauty จะมอบเซตเมคอัพและคำแนะนำในการแต่งหน้าจากทีมผู้เชี่ยวชาญให้กับอาสาสมัครรุ่นเยาว์ 600 คนในพิธีมอบเหรียญรางวัลซึ่งเป็นความตั้งใจของริฮานน่าที่อยากสร้างแบรนด์บิวตี้ที่ทำให้เรื่องความสวยความงามเป็นเรื่องของทุกคนไม่ว่าจะมีเชื้อชาติ วัฒนธรรม และสีผิวแบบไหนและอยากทำให้ทุกคนรู้สึกมั่นใจในตัวเอง 

แนวคิดของแบรนด์เหล่านี้สอดคล้องกับโอลิมปิก เวทีกีฬาที่อยากเฉลิมฉลองความหลากหลายของมนุษยชาติทั่วโลก การร่วมมือครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแต่ยังเป็นการส่งเสริมคุณค่าเรื่องความเท่าเทียมและการยอมรับความแตกต่างของทั้งสองฝ่ายให้แพร่หลายในวงกว้าง

งานนี้นอกจากโอลิมปิกเกมส์จะได้รับประโยชน์จากภาพลักษณ์ที่ทันสมัยและเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้นผ่านการร่วมมือกับแบรนด์ที่มีอิทธิพลอย่างแบรนด์ของริฮานน่าแล้ว Fenty Beauty ยังได้โอกาสอันดีในการขยายฐานลูกค้าสู่ตลาดใหม่ๆ ทั่วโลกผ่านการเข้าถึงผู้ชมหลายพันล้านคนที่จะรับชมการแข่งขันโอลิมปิกด้วย ถือว่า win-win ทั้งคู่ 

ที่พัก Airbnb ในหอนาฬิกาอายุ 125 ปี ที่นอนไปด้วย ชมพิธีเปิดโอลิมปิกไปด้วยได้

ณ พิพิธภัณฑ์ Musée d’Orsay กรุงปารีสในวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งตรงกับคืนพิธีเปิดโอลิมปิกปารีส 2024 ผู้โชคดีเพียงสองท่านจะได้สัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษครั้งเดียวในชีวิตคือการได้พักค้างคืนในห้องนาฬิกาอันเลื่องชื่อของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นจุดชมวิวอันงดงามของกรุงปารีสและแม่น้ำแซน

ประสบการณ์สุดพิเศษแบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีพาร์ตเนอร์งานโอลิมปิกเจ้าสำคัญคือ Airbnb ที่นำเสนอทางเลือกที่พักหลากหลายและยืดหยุ่นสำหรับผู้ชมและนักกีฬาจากทั่วโลก ห้องนาฬิกาแห่งนี้ตกแต่งด้วยนาฬิกาโบราณอายุกว่า 125 ปีและไม่เคยเปิดให้เข้าพักค้างคืนมาก่อน Mathieu Lehanneur นักออกแบบผู้อยู่เบื้องหลังคบเพลิงและกระถางไฟโอลิมปิกปารีส 2024 เป็นผู้เนรมิตให้สถานที่แห่งประวัติศาสตร์นี้กลายเป็นห้องนอนหรูที่มี floating bed และคบเพลิงจำลองเหมาะแก่การชมวิวในคืนโอลิมปิกเป็นที่สุด

นอกจากวิวอันงดงามแล้ว ผู้เข้าพักจะได้ทัวร์ชมผลงานศิลปะแบบอิมเพรสชันนิสม์และโพสต์อิมเพรสชันนิสม์จากฝีมือของศิลปินระดับตำนานอย่างโมเนต์, โกแกง, แวน โกะห์ และตบท้ายด้วยมื้อค่ำอาหารฝรั่งเศสสุดหรู ทั้งนี้นอกจากที่พักในพิพิธภัณฑ์ Musée d’Orsay อันพิเศษสุดแล้ว Airbnb ผู้เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของโอลิมปิกยังคัดสรรที่พักที่อยู่ไม่ไกลจากที่จัดงานโอลิมปิกไว้ใน airbnb.com/e/paris2024stays ซึ่งแต่ละแห่งก็เปี่ยมเสน่ห์ไม่แพ้กัน

นับว่า Airbnb มีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นของฝรั่งเศสด้วยการให้ชาวปารีสได้มีส่วนร่วมต้อนรับแขกจากนานาชาติและสร้างประสบการณ์ทางวัฒนธรรมให้กับผู้มาเยือน

เกม Roblox บรรยากาศโอลิมปิกแบบ virtual สนับสนุนโดย Visa

ใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศโอลิมปิกแต่เดินทางไปปารีสไม่ไหวไม่ต้องเสียใจ เพราะคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้เปิดตัว ‘Olympic World presented by Visa’ บน Roblox แพลตฟอร์มเกมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน นับเป็นก้าวสำคัญสู่การมีส่วนร่วมในโลกเสมือนจริงของวงการกีฬาระดับโลก

ผู้เยี่ยมชมสามารถเล่นมินิเกมในสนามกีฬาโอลิมปิก แข่งรถบนถนนเสมือนของปารีส ช้อปปิ้งสินค้าเสมือนจริงในร้านค้าโอลิมปิก เดินชม Olympic Champions Hall ที่พาย้อนรอยศึกษาประวัติศาสตร์โอลิมปิก และยังมีไอเทมพิเศษสำหรับตกแต่ง avatar ไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมเฉพาะสำหรับแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและบราซิลเพื่อดึงดูดผู้ชมท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมกับการแข่งขัน

ด้วยความที่ Visa เป็นผู้สนับสนุนหลักของโลกโอลิมปิกเสมือนจริงในครั้งนี้ทำให้นอกจากโซนกีฬายังมีโซนพิเศษคือ Visa Cash Adventure ที่ผู้เล่นจะได้รับภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินและการตัดสินใจทางการเงินโดยจำลองสถานการณ์ที่อาจพบได้ในชีวิตจริง เช่น การวางแผนงบประมาณสำหรับการเดินทางไปชมการแข่งขันโอลิมปิก การเลือกวิธีการชำระเงินที่เหมาะสม

ปัจจุบันมีผู้ใช้ Roblox ทั้งหมดมากถึง 77 ล้านคนต่อวันจาก 190 ประเทศทั่วโลกโดยนับเป็นเจนฯ Z ในสัดส่วนกว่าครึ่งของผู้ใช้ทั้งหมด การจัด Olympic World ในครั้งนี้จึงเป็นทั้งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการเงิน และการแข่งขันโอลิมปิกปารีส 2024 ให้แก่คนรุ่นใหม่จากทั่วทุกมุมโลก และแน่นอนว่า Visa ก็ได้สร้าง brand awareness ไปเต็มๆ

โพเดียมมอบรางวัลโดย P&G จากพลาสติกรีไซเคิลและแหล่งไม้ยั่งยืน

P&G หรือ Procter & Gamble เป็นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ระดับโลกที่เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์ตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ P&G ร่วมมือกับคณะกรรมการจัดงานปารีสในปีนี้คือการผลิตโพเดียมมอบรางวัลเฉลิมฉลองชัยชนะสำหรับเหล่านักกีฬา

ความพิเศษของโพเดียมมอบรางวัลคือการออกแบบที่ได้แรงบันดาลใจจากโครงสร้างและความโค้งมนของหอไอเฟล มีการเลือกใช้โทนสีเทาซึ่งมีที่มาจากสีโลหะเงินของตึกและอาคารจากวิวมุมสูงของปารีสคู่กับสีขาว off-white ซึ่งเป็นสีที่ตัดกันเพื่อให้นักกีฬาผู้รับรางวัลมีความโดดเด่น โพเดียมนี้ยังผลิตด้วยพลาสติกรีไซเคิล 100% และไม้จากแหล่งไม้ยั่งยืนในฝรั่งเศสเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการจัดการแข่งขันที่อยากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในปี 2020 P&G เคยผลิตโพเดียมมอบรางวัลจากวัสดุรีไซเคิลสำหรับโอลิมปิกเกมส์โตเกียวมาแล้ว ในครั้งนั้นได้รวบรวมพลาสติกจากการบริจาคทั่วญี่ปุ่นมาแปรรูปเป็นโพเดียมที่แข็งแรงและสวยงาม การสร้างมาตรฐานใหม่ในการผลิตโพเดียมของ P&G ไม่เพียงเป็นการสื่อสารภาพลักษณ์ว่าแบรนด์ P&G นั้นแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้เวทีกีฬาระดับโลกในการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง 

กระป๋องลิมิเต็ด กระเป๋าคาดเอว และกระเป๋าเก็บความเย็น จาก Coca-Cola

โอลิมปิกเกมส์ปีนี้ Coca-Cola ใจดีอยากแจกของรางวัลตั้งแต่ grand prizes อย่างทริปฟรี ‘Parisian Getaway for Two’ และโอกาสการได้ meet & greet กับทีมนักกีฬาโอลิมปิก USA ทีมโปรดไปจนถึงลุ้นสารพัดของที่ระลึกจากแบรนด์ทั้งกระเป๋าคาดเอวนักวิ่งรุ่น Olympic Games Fanny Pack, กระเป๋าเก็บความเย็นในชื่อรุ่น Olympic Games Lunch Cooler ไปจนถึงกระบอกน้ำและถุงผ้า 

แต่ของที่ระลึกเหล่านี้ไม่ได้แจกฟรีให้ทุกคนเพราะเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญที่แบรนด์อยากชวนผู้คนมาเล่นเกมนอกสนามแข่งด้วยการสแกนบาร์โค้ดเพื่อลุ้นรางวัล โดยบาร์โค้ดนี้จะมีอยู่บนกระป๋องหรือขวดรุ่นลิมิเต็ดภายใต้บริษัท Coca-Cola ที่ร่วมรายการ 5 แบรนด์ได้แก่ Coca-Cola Original Taste, Fairlife Core Power, Minute Maid, Powerade และ Smartwater ตามสถานที่จำหน่ายที่ร่วมรายการหรือสามารถเข้าไปสแกนบาร์โค้ดและร่วมเล่นได้ที่ coca-cola.com/us/en/offerings/coke-olympics โดยยิ่งสแกนบาร์โค้ดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลมากขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ Coca-Cola เป็นแบรนด์ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับโอลิมปิกเกมส์มานานที่สุดตั้งแต่ปี 1982 โดยแบรนด์มักช่วยโปรโมตการจัดงานโอลิมปิกผ่านแคมเปญการตลาดระดับโลกและมักมีโชว์เคสหรือการออกบูทพิเศษที่งานในแต่ละปี แถมยังช่วยสปอนเซอร์โครงการสนับสนุนนักกีฬาเยาวชนอย่างต่อเนื่อง แคมเปญปีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งการสื่อสารทางการตลาดที่อยากบอกผู้ติดตามโอลิมปิกเกมส์ให้ dream big กล้าที่จะฝันใหญ่เพราะโชคและชัยชนะอาจอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ถ่ายทอดสดวิวแม่น้ำแซนโดย Samsung Galaxy S24 Ultra กว่า 200 เครื่อง

ซัมซุง พันธมิตรอย่างเป็นทางการด้านสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของโอลิมปิกเกมส์เตรียมใช้สมาร์ตโฟน Galaxy S24 Ultra รุ่นล่าสุดช่วยในการถ่ายทอดสดพิธีเปิดโอลิมปิกปารีส 2024 วิวแม่น้ำแซนและการแข่งขันเรือใบโอลิมปิกผ่านเครือข่าย 5G ที่ขับเคลื่อนโดย Orange ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออย่างเป็นทางการของปารีส 2024 ในฝรั่งเศส

ระหว่างพิธีเปิดนักกีฬาคณะผู้แทนแต่ละประเทศจะเดินทางผ่านแม่น้ำแซนด้วยเรือ โดยซัมซุงจะติดตั้งสมาร์ตโฟน Galaxy S24 Ultra มากกว่า 200 เครื่องที่หัวเรือและด้านข้างเรือของนักกีฬาทั้ง 85 ลำเพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้อย่างใกล้ชิดให้แฟนๆ ได้สัมผัสความตื่นเต้นในการรับชมไปพร้อมๆ กัน

ด้วยการใช้เทคโนโลยีมือถือขั้นสูงและการเชื่อมต่อ 5G การเป็นพาร์ตเนอร์ของซัมซุงจะช่วยให้โอลิมปิกเกมส์ที่ปารีสในปีนี้บรรลุหนึ่งในคำมั่นสัญญาในการจัดการแข่งขันคือการจัดงานโอลิมปิกที่เปิดกว้างและเข้าถึงได้สำหรับแฟนๆ ทุกคนทั่วโลก ส่วนฟากฝั่งซัมซุงนั้นก็ได้แสดงศักยภาพของโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้ไปเต็มๆ 

ยางจักรยานนักแข่งจาก Bridgestone 

Bridgestone เป็นผู้นำระดับโลกด้านยางรถยนต์และยางที่มุ่งมั่นส่งมอบผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นสำหรับพัฒนาประสบการณ์การเคลื่อนที่ในการใช้ชีวิต และบริษัทผลิตภัณฑ์ยางที่ดำเนินธุรกิจในกว่า 150 ประเทศนี้เองที่เป็นอีกพาร์ตเนอร์สำคัญของทั้งงานโอลิมปิกและพาราลิมปิก

แก่นของแบรนด์คือ ‘Prepared to Perform’ ที่สื่อว่าชัยชนะมาจากการเตรียมตัวอย่างหนัก เช่นเดียวกับเหรียญรางวัลโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่นักกีฬาแต่ละคนไม่ได้มาโดยบังเอิญแต่ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการฝึกซ้อม Bridgestone มาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของอุปกรณ์กีฬาร่วมกับวิศวกรของแบรนด์และเหล่านักกีฬาผู้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Bridgestone และองค์ประกอบเล็กๆ อย่างยางจักรยาน ถุงมือกีฬา ขอบมือจับสำหรับวีลแชร์นี้เองที่ส่งเสริมให้นักกีฬาเข้าสู่เส้นชัย

ในปีนี้บริษัทได้ร่วมมือกับแบรนด์แอมบาสเดอร์ที่ประกอบด้วยนักกีฬา 40 คนจาก 9 ประเทศที่ร่วมแข่งขันกว่า 20 ชนิดกีฬา โดยเน้นสนับสนุนทั้งยางสำหรับการแข่งกีฬาปั่นจักรยานในโอลิมปิกและพาราลิมปิกและเหล่านักกีฬาแบรนด์แอมบาสเดอร์แต่ละคนจะได้รับการสนับสนุนทั้งทางการเงินและการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ด้วย

การเป็นพันธมิตรระดับโลกของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Bridgestone ไม่ได้มุ่งเน้นที่การขายสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เท่านั้นแต่มีความตั้งใจสร้างอิมแพกต์ตามแก่นของแบรนด์ที่อยากเสริมพลังและกำลังใจในการเคลื่อนไหวให้ผู้คนผ่านผลิตภัณฑ์ยาง 

อ้างอิง

ขอบคุณภาพจาก Olympics2024, Louis Vuitton, Fenty Beauty, Airbnb, Visa, P&G, Coca-Cola, Samsung, Bridgestone

AWESOME.SCREEN แบรนด์เสื้อยืด OEM ที่อยากช่วยปั้นแบรนด์คนรุ่นใหม่ และเชื่อว่าความโปร่งใสคือคีย์สำคัญ 

ทันทีที่ก้าวเข้ามาในโรงงานไซส์กะทัดรัดของ AWESOME.SCREEN พรมปูพื้นที่สกรีนคำว่า Transperency is Trending (ความโปร่งใสกำลังมา!) ก็ต้อนรับเราตั้งแต่ทางเข้า

ไม่มีใครบอกก็รู้ว่าโรงงานนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรอยู่ และเมื่อพบหน้า แพรว–พรรณระพี โกสิยพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท AWESOMEDOUGH และผู้ก่อตั้งแบรนด์ เธอก็ยืนยันว่าเราคิดถูก

“เวลาที่ลูกค้าถามเรื่องโรงงานที่ทอและทำ, ใบ certificate มีไหม, ช่างเย็บได้คุณภาพไหม, มีความเป็นธรรมกับแรงงานหรือเปล่า เหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ต้องตอบลูกค้าให้ได้”

จากแบรนด์สกรีนเคสมือถือที่เธอเปิดตอนอายุ 15 AWESOME.SCREEN ในวันนี้กลายเป็นแบรนด์ที่ให้บริการ OEM  ครบวงจรตั้งแต่ให้คำปรึกษา ตัด เย็บ สกรีน แพ็ก และส่งของ เรียกว่าลูกค้าไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากออกแบบลายมาให้ 

ที่สำคัญ ไม่ว่าออร์เดอร์จะเล็กหรือใหญ่ AWESOME.SCREEN ก็รับทั้งหมด นั่นเพราะในอดีต แพรวก็เคยเป็นเด็กที่มีฝันอยากทำเสื้อแต่ไม่มีโรงงานใหญ่ๆ โรงงานไหนจะรับคำสั่งซื้อเสื้อล็อตจิ๋วของเธอ หญิงสาวจึงปวารณาตัวว่าถ้ามีโอกาสได้ทำแบรนด์ของตัวเองบ้างจะทำให้ลูกค้าทั้งหมด นั่นคือสาเหตุที่ AWESOME.SCREEN กลายเป็นชื่อแรกๆ ที่ค่ายเพลง ดารา อินฟลูเอนเซอร์ บริษัทห้างร้าน ดีไซเนอร์หน้าใหม่ และใครก็ตามที่อยากทำเสื้อยืดเท่ๆ ของตัวเองนึกถึง

แน่นอนว่ายิ่งป๊อปปูลาร์  คุณภาพและการตอบโจทย์ลูกค้าได้ดังใจคือสิ่งสำคัญ ซึ่งเบื้องหลังของสิ่งเหล่านั้นไม่เพียงแต่เป็นเครื่องจักรที่ได้มาตรฐาน  แต่ผู้ก่อตั้งอย่างแพรวเชื่อว่า หัวใจสำคัญคือการวางระบบการทำงานให้พนักงานได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ ภูมิใจกับสิ่งที่ทำ มากกว่านั้นคือการทำโรงงานให้โปร่งใสทั้งเรื่องแรงงานและวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีให้ลูกค้าเลือกอย่างหลากหลาย

อะไรทำให้แพรวแห่ง AWESOME.SCREEN ใช้ความเชื่อนี้ขับเคลื่อนโรงงานเล็กๆ ของเธอ In Good Company ตอนนี้ขอพาไปทัวร์พร้อมหาคำตอบไปพร้อมกันในบทสนทนาของเรา

T-Shirt is Awesome 

ความสัมพันธ์ของคุณกับผ้าเริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน

เราก่อตั้งแบรนด์ AWESOMEDOUGH ตั้งแต่อายุ 15 ปี  ตอนนั้นเรามีความสามารถในการวาดรูป จึงเริ่มหาเงินด้วยการวาดเคสมือถือ กระทั่งตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 3 นั่นเป็นปีแรกที่จดทะเบียนเป็นบริษัท ช่วงนั้นคนนิยมเคสมือถือแบบสกรีนมาก เราจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการสกรีนแทน ทำธุรกิจได้สักพักก็มีหน้าร้านที่สยามและเซ็นทรัลเวิลด์ ได้ไปออกอีเวนต์เยอะ

เราได้ไปแตะเรื่องผ้าในปีนั้นเช่นกัน ด้วยความที่ตอนนั้นยังบริหารธุรกิจไม่เป็น เงินเก็บทั้งหมดจากธุรกิจจึงไม่มีเหลือ บังเอิญว่าเรามีโอกาสได้ไปดูแฟชั่นโชว์หนึ่งของ POEM ซึ่งพี่ชายไปช่วยวาดรูปให้เขา ตอนนั้นมีพี่คนหนึ่งเป็นผู้บริหารแบรนด์แฟชั่นที่ Gaysorn Village ชวนไปทำงานด้วย นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเข้ามาวนเวียนอยู่ในวงการแฟชั่น

จากธุรกิจสกรีนเคสมือถือ กลายเป็นธุรกิจสกรีนเสื้อยืดได้ยังไง

หลังจากเข้าไปทำงานให้แบรนด์แฟชั่นได้ไม่นาน มันมีช่วงที่เคสซิลิโคนจากจีนกำลังได้รับความนิยม ทุกคนเปลี่ยนไปใช้เคสซิลิโคนกันหมด เราจึงรู้สึกว่าเราต้องเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ

บังเอิญว่าเครื่องสกรีนที่เรามีสามารถใช้สกรีนผ้าได้ เพราะมันใช้ความร้อนในการทำเหมือนกัน  เราจึงเริ่มรับงานสกรีนเสื้อควบคู่ไปกับการสกรีนเคสไอโฟน รับงานหลากหลาย ใช้เครื่องจักรของเราให้เต็มรูปแบบ ปรากฏว่าตอนนั้นขายดี 

ขายดีแค่ไหน

ถ้าเทียบกับสเกลธุรกิจทุกวันนี้ถือว่าน้อย (หัวเราะ) แต่นับว่ามีคนให้ความสนใจเยอะ แล้วก็มีคนด่าเยอะเช่นเดียวกัน

เพราะตอนนั้นเราทำธุรกิจในสเกลสตูดิโอเล็กๆ ไม่ได้เป็นสเกลโรงงาน แต่ปรากฏว่าลูกค้าของเราไม่ได้เล็ก เราได้ลูกค้ากลุ่มธนาคาร ทำเสื้ออีเวนต์ ตามมาด้วยค่ายเพลงที่อยากทำเสื้อให้วงดนตรีอินดี้ ตอนนั้นเราก็ทำไปแบบโบ้ๆ เบ้ๆ ของเรา ปรากฏว่างานมีปัญหาเรื่องการคุมคุณภาพ ตอนนั้นมีคำสั่งซื้อเยอะแต่เราได้กำไรน้อยมาก เพราะทุกวันเราต้องรับมือกับความผิดพลาดอยู่ตลอด 

ทั้งๆ ที่เพิ่งเริ่มธุรกิจสกรีนเสื้อผ้า คุณหาลูกค้ามาจากไหน

ยุคที่เราเริ่มทำเป็นยุคอินเทอร์เน็ตกำลังมา เราลงงานทุกอย่างไว้ในบล็อก กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาหาเราก็จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ จริงๆ ยุคนั้นเป็นยุคทองของการทำสิ่งทอเลย โรงงานมีเยอะมาก แต่ลูกค้าอาจจะไม่รู้ว่าต้องไปหาคนทำจากไหน พอเสิร์ชหาก็เจอเรา

อีก pain point หนึ่งคือโรงงานสมัยก่อนไม่เหมือนสมัยนี้ เขาจะเข้าถึงยาก อย่างช่วงแรกที่เราลองทำเสื้อยืด ตลาดแรกที่เราจะไปคือตลาดโบ๊เบ๊ เพราะคนจะรู้ว่าถ้าจะไปหาเสื้อยืดเปล่าต้องไปที่โบ๊เบ๊ แต่พอไปถึง เราพบว่าไม่มีใครที่อยากจะค้าขายกับเด็ก เพราะจำนวนไม่มากพอ และคงจะไม่มีความต่อเนื่อง เวลาซื้อเสื้อก็คละสี ไม่ใช่สั่งสีขาวร้อยตัว สีดำร้อยตัว 

เราจึงเริ่มติดต่อโรงงานตัดเย็บเพื่อตัดเสื้อให้ แต่ปรากฏว่าเขาก็ไม่คุยด้วยอยู่ดี เรารู้สึกว่าไม่ควรจะเป็นแบบนี้ไหม การรับเงินลูกค้า ไม่ว่าจะรูปแบบใด จะออร์เดอร์ใหญ่หรือเล็กมันควรจะง่ายกว่านี้ เราเห็นช่องว่างตรงนี้เลยคิดธุรกิจขึ้นมา ถ้าโรงงานอื่นเข้าถึงยากก็อยากให้ลูกค้ามาหาเรา

อาจเพราะเราจบด้านดีไซน์มาด้วยจึงทำให้เราทำงานกับลูกค้าง่ายมากขึ้น เพราะส่วนมากคนที่วิ่งเข้าหาโรงงานคือดีไซเนอร์หรือแผนก merchandise ของบริษัท ส่วนมากคนเหล่านี้ก็จบสายดีไซน์มา พอเขาวิ่งเข้ามาก็คุยกันง่าย ซึ่งที่ AWESOME.SCREEN เรารับทำแบบครบวงจร (full service) ตั้งแต่ปรึกษาแบบ เลือกผ้า วัดไซส์ แก้ไฟล์ ตัด เย็บ สกรีน พับ แพ็ก ขนส่ง เอาง่ายๆ ลูกค้าไม่ต้องทำอะไรเลย มีอย่างเดียวที่เราไม่ได้ทำให้คือออกแบบลาย

Quality Control is Awesome

ในการทำสินค้าทุกชิ้น คุณให้ความสำคัญกับอะไรที่สุด

การคงคุณภาพ ตอนเราทำโรงงานแรกๆ แล้วมีคนมารุมสั่งซื้อ พอทำจริงๆ ประสบการณ์ลูกค้าแย่มาก เราไม่สามารถคงคุณภาพได้ เสื้อออกมาขนาดไม่ตรง สีเพี้ยน ถึงเรื่องเหล่านี้ถือเป็นเรื่องเนิร์ดๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญ 

พอเราทำโรงงาน เราไม่ได้ผลิตเสื้อ 10 ตัวอีกต่อไปแล้ว บางออร์เดอร์เราต้องทำเป็นพันตัว และพันตัวนั้นต้องเหมือนกัน การคุมคนเยอะๆ เพื่อควบคุมคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ

คำว่าคุณภาพของคุณหมายถึงอะไร

จริงๆ โรงงานของเราเรียกว่าเป็นโรงงานปลายทางนะ และในอุตสาหกรรมสิ่งทอมันใหญ่มาก ก่อนจะได้ผ้ามาตั้งแต่ต้น มันผ่านกระบวนการปั่นฝ้าย ทอ ย้อม ตัด เย็บ และมาจบที่การพิมพ์แล้วค่อยแพ็ก เมื่อก่อนเราตีความคำว่าคุณภาพของเราคือแค่เรื่อง garment แค่ตัดเย็บและพิมพ์ให้สวยแล้วจบ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ คุณภาพคือความคุ้มค่าเงินที่ลูกค้าต้องจ่าย เสื้อตัวนี้จะอยู่กับเขาได้อีกกี่ปี

ช่วงปีหลังๆ คุณภาพที่เรามองหาจึงไม่ใช่แค่กลางน้ำ แต่มองตั้งแต่ต้นน้ำ เรามองหาโรงทอและโรงย้อมที่ใช้ผ้าคอตตอน 100% และรับ small order ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าของเราด้วยว่าเขาต้องการอะไร  

อย่างลูกค้าที่เป็นวงดนตรี เขาต้องการเสื้อที่หนา กระด้าง แข็ง และใช้คอตตอนจากอเมริกาเท่านั้น สุดท้ายเราก็ไปเลือกเส้นใยที่อ้วน ตอนทอจะได้หนา ย้อมสีที่เฟดง่ายๆ แต่ถ้าเป็นลูกค้าเกาหลี เขาอาจจะชอบเสื้อที่นุ่มมาก เราก็เลือกเส้นใยที่ฟูขึ้นมาหน่อย

แล้วในบริษัทของคุณล่ะ ควบคุมคุณภาพได้ยังไง

เมื่อก่อนเราจะเริ่มจากมายด์เซต  สิ่งที่บอกกับพนักงานเสมอคือเราจะไม่ทำงานโหล ไม่ทำงานเหมา แต่ทำแค่งานคุณภาพดีเท่านั้น การปรับมายด์เซตของพนักงานช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่วันที่บริษัทเราโตขึ้น มีคนเยอะขึ้น มายด์เซตช่วยไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะมันยากที่จะทำให้ทุกคนคิดว่าสิ่งที่เขาทำคือการทำเพื่อลูกค้า ให้ลูกค้าไปเดินรันเวย์ 

เพราะฉะนั้น เราจึงต้องวางระบบให้ดี ซึ่งเราใช้ระบบรีเช็กไป-กลับคล้ายๆ CRM แต่เราทำแบบแมนนวล สมมติมีคำสั่งซื้อเข้ามา เราจะออกใบสั่งซื้อหนึ่งใบ ซึ่งใบนี้จะเป็นใบที่ลูกค้าและพนักงานทุกคนจะใช้ดูร่วมกัน ใบนี้จะผ่านทุกๆ แผนก เพราะฉะนั้นเราจะมั่นใจว่างานจะตรงปกแน่นอน ถามว่างานมันมีพลาดไหม มันก็มีพลาด แต่มันน้อยลงมากทันทีที่มีระบบ

นอกจากลูกค้าที่เป็นค่ายเพลง อินฟลูเอนเซอร์ และบริษัทต่างๆ   AWESOME.SCREEN ยังสนับสนุนกลุ่มดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่อยากทำแบรนด์ของตัวเองด้วย  การได้ผลักดันพวกเขามีความหมายกับคุณยังไง

เราได้คอนเซปต์นี้มาเพราะตอนแรกเราเคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่ทำเสื้อให้แบรนด์แค่ 10-20 ตัว แต่ตอนนี้ทำเป็นหมื่นตัวต่อเดือน เราเลยรู้สึกว่าเด็กๆ เหล่านี้อาจจะเคยเป็นเราที่ไปหาโรงงานอื่นแล้วเขาไม่รับทำ small order แต่มาที่นี่เรารับหมด ไม่ว่าจะแบรนด์เล็กหรือใหญ่ เราพยายามฉายภาพไปตามช่องทางต่างๆ ของเราตลอดว่าอยากเป็นเจ้าของกิจการต้องมา AWESOME.SCREEN  

สิ่งนี้สำคัญนะ เชื่อไหมเวลาที่ลูกค้ามาสั่งของ เราจะชอบเข้าไปดูไอจีเขาว่าเป็นแบรนด์เปิดใหม่หรือเปล่า เราซัพพอร์ตเขาได้ในแง่ไหน เด็กหลายคนเริ่มทำแบรนด์เสื้อผ้ากันตอนอยู่มัธยมหรือมหาวิทยาลัย บางคนมีความรู้เป็นศูนย์เลย เราเลยอยากให้ความรู้พวกเขา ในขณะที่อีกกลุ่มเป็นแบรนด์ที่เปิดมานาน เราก็อยากนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับพวกเขาเหมือนกัน 

การได้เฝ้าดูการเติบโตของเขาจนถึงวันที่เขาแมส ดังขึ้นมา บอกตรงๆ ว่าเราก็ภาคภูมิใจนะ เพราะหลายแบรนด์ทำให้ได้เห็นว่ามีเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งๆ เยอะมาก 

Transparency is Awesome

ตอนเดินเข้าโรงงานมา เราเห็นพรมที่สกรีนคำว่า Transparency is Trending ทำไมโรงงานของคุณถึงให้ความสำคัญกับความโปร่งใสด้วย

เรายึดมั่นถือมั่นในเรื่องความโปร่งใสมากๆ อาจเพราะก่อนหน้านี้เคยโดนคนหลอกว่าผ้าที่ใช้เป็นผ้าคอตตอน 100% แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เราเลยรู้สึกว่าเวลาที่ลูกค้าถามเรื่องโรงงานที่ทอและทำ, ใบ certificate มีไหม, ช่างเย็บได้คุณภาพไหม, มีความเป็นธรรมกับแรงงานหรือเปล่า เหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ต้องตอบลูกค้าให้ได้ ซึ่งจริงๆ โรงงานในต่างประเทศเขาก็ทำเรื่องความโปร่งใสกันเยอะมาก แต่ในประเทศไทยยังมีความคลุมเครืออยู่ เราจึงอยากเป็นโรงงานแรกๆ ที่ทำเรื่องความโปร่งใส 

เราให้ความสำคัญกับแรงงานมาก ถ้าเกิดดูคลิปของเราใน TikTok จะเห็นว่าเรามีการแจกของขวัญพนักงานรายบุคคลทุกปี เพราะเราได้แรงงานหลายคนมาจากชุมชน ที่โรงงานเราไม่ได้รับเด็กจากวุฒิ ไม่ว่าจะมีวุฒิหรือไม่มีเรารับหมดเลย ค่าแรงเท่ากันกับปริญญาตรี เราให้ความเป็นธรรมกับเรื่องนี้มากๆ และให้เกียรติช่างทุกคนในโรงงาน มีเด็กหลายคนที่เราปั้นจากเด็กพับผ้า แพ็กของ จนทุกวันนี้กลายเป็นฝ่ายควบคุมคุณภาพ (QC) เป็นหัวหน้าไปเลย การได้ดูแลเด็กพวกนี้มีความหมายกับเรา

ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อม เราเริ่มจากต้นน้ำก่อน วัสดุต่างๆ ที่เราเอามาขอแค่มี certificate ที่ชัดเจน โปร่งใส ตัวไหนเป็นออร์แกนิกต้องเป็นออร์แกนิกจริง มีใบเซอร์ฯ ว่าใครปลูก ฟอก ย้อม ทอ ซึ่งเอาจริงๆ โรงงานเราเล็กมากเกินกว่าจะมีทางเลือกด้านความยั่งยืนให้ลูกค้าด้วยซ้ำ แต่เราก็เลือกทำ ทั้งๆ ที่มันเสียพลังงาน เสียเงินทุน เสียทุกอย่าง ซึ่งสุดท้ายแล้วลูกค้าอาจจะไม่ได้เลือกใช้ขนาดนั้นหรอก แต่สุดท้ายมันก็จะกลายเป็นค่าเริ่มต้น (default) ไป

ยากไหมกับการต้องผลักดันเรื่องความโปร่งใสและความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในโรงงาน

ยากมาก แต่เราก็คิดว่าถ้าไม่ทำวันนี้ สุดท้ายก็ต้องทำอยู่ดี เราไม่อยากเอาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือแรงงานมาเป็นมาร์เก็ตติ้งของโรงงานเรา แต่การที่เราโพสต์ทุกอย่างลงไปในโซเชียลมีเดีย เราแค่ต้องการให้ลูกค้ารู้ว่าเขามีทางเลือกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอยู่และใช้ได้จริง มันก็เหมือนเป็นโปรดักต์ธรรมดาที่ราคาก็ไม่ได้สูงขนาดนั้น ส่วนเรื่องคน เราแค่แฮปปี้กับการซัพพอร์ตคนมากๆ ทำให้พนักงานมีรายได้และสวัสดิการที่ดี เราโอเคกับสิ่งนั้น

จนถึงตอนนี้ AWESOME.SCREEN ได้สร้างอิมแพกต์ต่อชุมชนยังไงบ้าง

มีเรื่องหนึ่งที่เราจำฝังใจมาก สมัยก่อนเรายังเป็นตึกแถวเล็กๆ หนึ่งห้อง เมื่อก่อนชุมชนเคยมองและตั้งคำถามว่าโรงงานเราทำอะไร แต่เรารู้ลึกๆ ว่าเราไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองกับคนในชุมชนหรอก แค่เราให้ความสำคัญกับคนในโรงงานเรามากกว่าว่าเขาคาดหวังอะไร และเราพาเขาไปได้ไกลแค่ไหน

จุดที่เราคิดว่าเราทำได้ดีมากๆ คือเราเคยรับช่างเย็บผ้าคนหนึ่งเข้ามาทำงานตั้งแต่ตอนทำในตึกแถว ซึ่งปัจจุบันเขาเป็นหัวหน้าช่างของเรา วันหนึ่งเขาเดินมาบอกเราว่า “คุณแพรว พี่ขอบใจนะ เพราะว่าทำงานกับคุณแพรวนี่แหละ พี่ส่งลูกพี่เรียนจบได้แล้ว” (ยิ้ม) เรารู้สึกว่าสิ่งที่เขาได้ไปอาจไม่ใช่เงินมหาศาล แต่เป็นวิชาชีพที่เขารัก และส่งเสียครอบครัวได้ เรารู้สึกว่าอิมแพกต์มากๆ

มีเด็กหลายคนที่เติบโตมาจากสายงานโรงงานมาก่อนแต่เปลี่ยนมาทำงานออฟฟิศ หลายคนเห็นก็ถามเราว่าจะปั้นเด็กพวกนี้เพื่ออะไร เขาองค์ความรู้น้อย ไม่ได้จบปริญญาตรี ทำให้บริษัทโตไม่ได้ แต่เวลาเราไปไหนแล้วมีคนชมทีมงานเราให้ฟังว่าเขาเก่ง มันก็เป็นความภาคภูมิใจของเรานะ

คุณมองอนาคตของ AWESOME.SCREEN ไว้ยังไง

เราอยากเป็นสตูดิโอสเกล SME สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เขาจะเข้ามาหาเราได้ทุกเมื่อ ไม่ว่างานเล็กหรือใหญ่เราจะรับ เราปฏิญาณกับตัวเองไว้แบบนี้เสมอ แต่เป้าสำคัญที่เราอยากได้คือเรื่องสิ่งแวดล้อม เราอยากทำให้เป็น default ของโรงงานเราจริงๆ และเราอยากเห็นแบรนด์เล็กๆ ได้ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง ไม่ใช่แค่โรงงานใหญ่ 

อีกสิ่งที่อยากเห็นคือความลีนในการทำงาน ดึงประสิทธิภาพของคนออกมาให้มากที่สุด ไม่ใช่เพราะอยากประหยัดต้นทุนแรงงานนะ แต่เราเชื่อว่าคนหนึ่งคนมีศักยภาพเยอะมาก

3 คำแนะนำสำหรับคนทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนจาก AWESOME.SCREEN 

1. หนึ่ง สิ่งแวดล้อมคืองานหิน ไม่ง่าย เสียเวลา และเปลืองแรงมาก แต่เราคิดว่า ไม่ว่าโรงงานจะใหญ่หรือเล็ก วันหนึ่งทุกโรงงานจะทำกันหมด เพราะฉะนั้นให้เวลากับมันมากๆ 
2. สอง การตั้งลูกค้าเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก โรงงานส่วนใหญ่อาจจะไม่ทำหรอก แต่มันทำให้เห็นว่าขีดจำกัดของเรามีเท่าไหน เราทำอะไรได้
3. นำมาสู่ข้อสาม เราต้องมีขีดจำกัดของตัวเองอย่างชัดเจน อย่างโรงงานเราจะเย็บเฉพาะเสื้อยืดอย่างเดียว เราพยายามจะเป็น specialty ด้านนี้ เพราะเรารู้สึกว่าเราพยายามลึก และไม่ต้องกว้างมากก็ได้ในบางเรื่อง

‘TROVE OF BLUE’ งานหัตถศิลป์รุ่นลิมิเต็ดหนึ่งเดียวในโลก ฉลอง 100 ปี Johnnie Walker ในไทย

ปีนี้ Johnnie Walker (จอห์นนี่ วอล์กเกอร์) แบรนด์วิสกี้ที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 200 ปีในระดับโลก กำลังเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2467 การเติบโตอย่างต่อเนื่องหลักศตวรรษนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของแบรนด์ในการปรับตัวและเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยไม่น้อย

สโลแกนของ Johnnie Walker ที่ทุกคนน่าจะจดจำได้ดี คือ ‘Keep Walking’ ที่อยากสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนไม่หยุดก้าวไปข้างหน้าและแบรนด์ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในตลาดไทยได้ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับผู้บริโภคและปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น

ในยุคสมัยแรกที่เริ่มเข้าสู่ตลาดไทย แบรนด์ได้ใช้กลยุทธ์การตั้งชื่อที่เข้าถึงง่ายสำหรับผู้บริโภคชาวไทยโดยใช้ชื่อการค้าที่สื่อถึงสีของฉลากผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ‘ตราดำ’ สำหรับ Johnnie Walker Black Label และ ‘ตราแดง’ สำหรับ Johnnie Walker Red Label ซึ่งเป็นกลยุทธ์สำหรับแบรนด์ต่างชาติที่ช่วยสร้างการจดจำและความคุ้นเคยกับผู้บริโภคท้องถิ่นได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ยังสื่อสารการตลาดแบบผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ด้วยโฆษณาที่สร้างสรรค์และท้าทายความคิด เช่น โฆษณา Johnnie Walker Red Label ที่นำเสนอภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่มีหิมะปกคลุม สะท้อนแนวคิด ‘เป็นไปไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือไม่ได้ทำ’ หรือโฆษณาชิ้นเด่นที่พูดถึงหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) ในยุคที่ AI ยังไม่เป็นที่พูดถึงอย่างในทุกวันนี้ รวมถึงยังสร้างสรรค์แคมเปญพิเศษที่สื่อสารถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยและร่วมมือกับศิลปินไทยหลายแขนงมาตลอด เช่น การจัดปาร์ตี้ THE BLACKLIST ร่วมกับศิลปินไทยในการสร้างสรรค์รูปยักษ์ นำเสนอดนตรีไทยในมุมมองใหม่และนำเสนอดีไซน์พิเศษบนขวด 

ในโอกาสพิเศษครบรอบ 100 ปีแห่งการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยนี้ Johnnie Walker ยังคงคอนเซปต์การสื่อสารปรัชญา Keep Walking และร่วมมือกับศิลปินไทยด้วยการจัดทำแคมเปญ ‘จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ 100 ปีในไทย ที่ไม่เคยหยุดก้าว’ สร้างสรรค์คอลเลกชั่นพิเศษ Johnnie Walker 100th Year Limited Edition สำหรับสินค้ารุ่น Black Label, Red Label และรุ่นล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวคือ Blue Label

จรินี วงศ์กำทอง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ DMHT เล่าว่าความพิเศษของแคมเปญนี้คือการชวนศรัณญ อยู่คงดี ผู้ก่อตั้งแบรนด์เครื่องประดับ SARRAN มาร่วมออกแบบ ‘TROVE OF BLUE’ ผลงานหัตถศิลป์ชิ้นพิเศษเพียงหนึ่งเดียวในโลกที่เพิ่งเปิดตัวในงาน THE BLUE BOUTIQUE ที่ไอคอนสยามเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา 

ผลงานชิ้นนี้เป็นการออกแบบผ้าห่อและลวดลายบนขวด Johnnie Walker Blue Label โดยได้แรงบันดาลใจจากลวดลายของ ‘ผ้าลายอย่าง’ ซึ่งเป็นผ้าไทยโบราณที่ใช้ห่อหุ้มสิ่งสำคัญล้ำค่าและลวดลายดอกไม้อย่างดอกพุดและดอกมะลิ ดอกไม้ที่สื่อถึงความเป็นไทย

การสร้างสรรค์ผลงานนี้ผสมผสานเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยใช้เทคนิคดิจิทัลพรินต์ร่วมกับผ้าลายอย่างเพื่อสร้างโครงสามมิติ เลือกใช้วัสดุทองเหลืองที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตไทยและยังออกแบบให้องศาการทิ้งตัวของโครงทองเหลืองเลียนแบบการทิ้งตัวของผ้าอย่างสมจริง ในบรรดาขวดหลายลวดลายในคอลเลกชั่นนี้ มีขวดพิเศษเพียงขวดเดียวที่ประดับอัญมณีสีน้ำเงินจำนวน 100 เม็ด และขายด้วยการประมูลเริ่มต้นที่ราคา 19,999 บาท

ศรัณญ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานได้กล่าวว่า สิ่งที่เขาให้คุณค่าเหมือน Johnie Walker คือการเริ่มคิดไอเดียจากสิ่งที่ยากที่สุดและไอเดียที่ท้าทายที่สุด ตัวเขาเองเป็นแฟนคลับนักดื่มที่ติดตามการสื่อสารทางการตลาดของแบรนด์มาตลอดและรับรู้มาว่าผลิตภัณฑ์แต่ละขวดผ่านการคัดสรรอย่างละเมียดจากการคัดวิสกี้ในโรงงานนับหมื่นถังจนเหลือเพียงถังเดียวเพื่อจำหน่าย

การตั้งชื่อคอนเซปต์ TROVE OF BLUE ซึ่งหมายถึงขุมทรัพย์เป็นการสื่อถึงที่มาที่ไปของแรงบันดาลใจ ในอดีต  การเก็บสมบัติของคนไทยมักนิยมนำผ้าลายอย่างมาห่อสมบัติเก็บไว้เพื่อส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เป็นผ้าที่ชนชั้นสูงนิยมใช้เพื่อเก็บของโบราณ คัมภีร์ ของล้ำค่าต่างๆ  การออกแบบใหม่จากลายจริงของผ้าลายอย่างในอดีตจึงเป็นการสื่อว่าขวด Blue Label เป็นสมบัติล้ำค่าที่อยากให้อยู่ข้ามกาลเวลาต่อไปอีกร้อยปี 

ทั้งนี้การสร้างสรรค์ TROVE OF BLUE เริ่มต้นในเดือนมกราคม 2567 และเป็นงานที่รวมเอาช่างฝีมือหลากหลายแขนงมาร่วมกันมากที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของศรัณญ ผสานเทคนิคทางศิลปะที่หลากหลายไว้ในชิ้นเดียว ทั้งการดุน การฉลุ การฝังพลอย (หรือที่เรียกว่า ‘เตย’) รวมถึงใช้ความรู้ด้านผ้าทอและเทคนิคอื่นๆ อีกมากมาย

คอลเลกชั่นสุดพิเศษนี้ได้เปิดตัวในงานป๊อปอัพ THE BLUE BOUTIQUE ที่นอกจากจะเปิดตัว TROVE OF BLUE แล้วยังสร้างประสบการณ์ผ่านศิลปะ immersive ที่ให้ผู้เข้าร่วมดื่มด่ำศิลปะผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และการมองเห็น พร้อมกับนำเสนอค็อกเทลสุดพิเศษจากเข้ม–ธณัช สุทธิรักษ์ ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขัน ‘ดิอาจิโอ เวิลด์ คลาส ไทยแลนด์ 2024’ ซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีโลกที่เซี่ยงไฮ้ในเดือนกันยายนนี้

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืนของแบรนด์ต่างประเทศในตลาดไทยต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างการเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น การสร้างสรรค์นวัตกรรมในการสื่อสาร และการรักษาเอกลักษณ์ของแบรนด์ไว้อย่างสมดุล ความสำเร็จในระยะยาวเกิดจากความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น ในขณะที่ยังคงรักษาคุณค่าหลักของแบรนด์ไว้ได้อย่างมั่นคงและการสนับสนุนศิลปินท้องถิ่นก็เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง

การฉลองครบรอบ 100 ปีของ Johnie Walker ในประเทศไทยจึงไม่เพียงแต่เป็นการรำลึกถึงความสำเร็จในอดีตเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอกย้ำถึงวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง พร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต ด้วยปรัชญา Keep Walking ที่ฝังรากลึกในทุกย่างก้าวของการดำเนินธุรกิจ