The Art Auction Center ความหลงใหลในศิลปะที่กลายเป็นธุรกิจการประมูลชั้นนำของเมืองไทย

โดยทั่วไปหลายคนอาจคิดว่า ศิลปะเป็นเรื่องที่ห่างไกลจากธุรกิจการค้า เพราะมักจะยกให้ศิลปะเป็นสิ่งบริสุทธิ์สูงส่งเลิศลอย จนอาจลืมไปว่า นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ศิลปะก็เป็นสินค้าและบริการอย่างหนึ่ง 

ดูจากศิลปินชั้นครูในอดีต ที่ต่างก็รับจ้างวาดภาพให้เหล่าบรรดา ศาสนจักร ราชวงศ์ หรือเศรษฐีมีทรัพย์ทั้งหลายแหล่เป็นตัวอย่างเอาก็ได้ และกิจกรรมที่ทำให้ศิลปะและธุรกิจการค้าใกล้ชิดกันที่สุดก็คือการประมูล หรือในภาษาอังกฤษว่า ‘auction’ ที่บางคนอาจเคยผ่านตาในภาพยนตร์กับการที่มีเจ้าหน้าที่ประมูลขานชื่องานให้คนแย่งกันยกป้าย ก่อนที่จะเคาะราคาขายไปที่ตัวเลขสูงที่สุดนั่นแหละ 

ก่อนหน้านี้การประมูลศิลปะถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยกันนัก ผิดกับในปัจจุบัน ที่มีการประมูลศิลปะจัดขึ้นในบ้านเราบ่อยครั้ง และมีนักสะสมรวมถึงผู้ชมติดตามไปยกป้ายประมูลงานหรือเสพบรรยากาศการประมูลกันอย่างเนืองแน่น

หนึ่งในบุคคลผู้เป็นเรี่ยวแรงหลักผลักดันให้การประมูลศิลปะกลายเป็นเทรนด์ฮิตติดลมในบ้านเรา คือชายหนุ่มผู้มีชื่อว่า พิริยะ วัชจิตพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง The Art Auction Center (TAAC) บริษัทประมูลงานศิลปะชั้นนําของไทย ที่เริ่มดำเนินการใน พ.ศ. 2564 นอกจากนี้เขายังเป็นกรรมการและผู้ร่วมก่อตั้ง สมาคมนักสะสมงานศิลปะไทย และเป็นนักสะสมผลงานศิลปะตัวกลั่น ผู้มีผลงานหาชมได้ยากของศิลปินชั้นครูในอดีตและศิลปินไทยร่วมสมัยในความครอบครองกว่า 500 ชิ้น นอกจากนั้นเขายังมีอีกบทบาทในฐานะนักเขียนคอลัมน์ศิลปะ เจ้าของนามปากกา ‘ตัวแน่น’ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวศิลปะสมัยใหม่ของไทยในลีลาสนุกสนาน เปี่ยมสีสัน และอ่านง่าย จนมีแฟนๆ ติดตามกันอย่างคับคั่ง 

คราวนี้เรามีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชมคลังสะสมงานศิลปะของเขาถึงบ้าน และได้พูดคุยสนทนาถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของแรงบันดาลใจแห่งความรักศิลปะอันเป็นสิ่งที่ทำให้ก่อกำเนิด The Art Auction Center

แรกเริ่มคุณเริ่มต้นสนใจงานศิลปะได้ยังไง

เริ่มตั้งแต่ตอนเด็กๆ เลย สมัยเด็กผมชอบวาดรูปและสนใจศิลปะ ถ้าเราไปเมืองนอกก็ชอบที่จะเดินดูพิพิธภัณฑ์หลากหลายแบบ ทั้งพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ พิพิธภัณฑ์ของโบราณ และหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ a must ที่ต้องไปดูแน่นอน ก็คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พอดูๆ ไป ก็เริ่มชอบ เริ่มอิน นี่ก็สวย โน่นก็สวย แต่ก็คิดว่าเป็นของไกลตัว จับต้องไม่ได้ เรามองว่างานศิลปะพวกนี้เป็นของสูงส่งเหลือเกิน ไม่มีปัญญาซื้อหรอก พูดง่ายๆ คือไปดูอย่างเดียวเพลินๆ ไม่ได้คิดอะไร 

พอเราโตขึ้น เรามีคอนโดเป็นของตัวเองเราก็อยากแต่งคอนโดของเรา พอมีกำแพงว่างๆ เราอยากจะมีภาพวาดมาแขวนสักรูป แต่พอเราอุตส่าห์แต่งคอนโดมาอย่างสวยงาม อยู่ดีๆ ถ้าเราจะซื้อภาพวาดม้าเจ็ดตัว หรือปลาทองแปดตัวที่สวนจตุจักรมาแขวน ก็อาจจะทำลายสิ่งที่เราตกแต่งไว้อย่างงดงามได้ นึกออกไหม เราก็อยากได้ผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงมาแขวน แต่เราก็รู้อยู่แล้ว ว่าเราไม่มีปัญญาซื้อผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศ เราก็หันมามองที่ศิลปินไทยก็แล้วกัน ว่าศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงมีใครบ้าง 

แล้วเราก็พบว่าเรารู้จักศิลปินไทยไม่เยอะ ที่รู้จักก็มีแค่อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี กับอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เพราะว่าจะเอาภาพวาดทิพยวิมานแบบของอาจารย์เฉลิมชัยมาแต่งบ้าน ก็จะไม่ค่อยเข้า ทีนี้ก็เหลือแต่อาจารย์ถวัลย์ พอดีมีงานของอาจารย์ชุดหนึ่งที่เราคุ้นตามากๆ เป็นงานขาว-ดำแบบเขียนตวัดเป็นฝีแปรงเร็วๆ ซึ่งดูมินิมอลดี เราก็อยากจะได้งานชุดนั้น แต่ปัญหาก็คือ อยากได้แล้วยังไงต่อ หนึ่ง–จะซื้อที่ไหน สอง–ราคาเท่าไหร่ สาม–ที่ได้มาจะเป็นของจริงหรือปลอมก็ไม่รู้ อยู่ดีๆ เราจะไปกดกร่ิงบ้านอาจารย์ถวัลย์เพื่อขอซื้องาน เขาคงไม่ขายให้ บ้านอาจารย์อยู่ตรงไหนไม่รู้ เราก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง คือการซื้องานศิลปะในบ้านเรา ถ้าเราไม่รู้จักคนในวงการ ไม่รู้จักนักสะสมต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราต่อไม่ติด แกลเลอรีไหนมีงานอาจารย์ถวัลย์อยู่ก็ไม่รู้ เคยเห็นงานของแกแต่ในพิพิธภัณฑ์ MOCA ก็เลยเป็นความหวังลมๆ แล้งที่ค่อยๆ ลืมไป แต่ก็คิดในใจเสมอว่าอยากจะได้งานอาจารย์ถวัลย์สักชิ้นหนึ่ง 

ทีนี้วันหนึ่งเราบังเอิญไปกินข้าวกับรุ่นพี่ที่สะสมงานศิลปะ เราก็เล่าให้เขาฟังว่าอยากได้งานอาจารย์ถวัลย์ ตอนแรกเราก็ไม่รู้ว่าเขาสะสมงานศิลปะด้วยซ้ำ เขาบอกว่า พี่มีงานศิลปินไทยเยอะแยะเลย มาดูที่บ้านได้ เดี๋ยวจะแนะนำให้ เราก็เลยไปบ้านเขา เขาก็โชว์ให้เราดูงานของศิลปินไทยเยอะแยะมากมาย เราก็โอเคว่าสวยดีนะ แต่เราไม่เก็ต ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ จนได้เจอว่าเขามีภาพวาดอาจารย์ถวัลย์อยู่ภาพหนึ่ง เป็นรูปช้าง เขียนตวัดเร็วๆ ขนาดเมตรกว่าๆ วางอยู่ 

เราก็ถามเขาว่า “ภาพนี้เป็นของอาจารย์ถวัลย์ใช่ไหมครับ ถ้าพี่ไม่หวง ผมขออนุญาตขอแบ่งได้ไหม” เขาก็ใจดีบอกว่า “เอ้า พี่แบ่งขายให้ราคาเท่าทุน 5 แสนบาท” เราก็คิดในใจว่า ตั้ง 5 แสนเลยเหรอ ไม่ไหวว่ะ ไม่ซื้อดีกว่า ยอมตัดใจซื้อรูปม้ากับปลาทองจากจตุจักรก็ได้ (หัวเราะ) พี่เขาก็ใจดีบอกว่า “เฮ่ย ไม่เป็นไร เอาอย่างนี้ ยกไปแขวนไว้เล่นๆ ก่อน ถ้าชอบก็ค่อยจ่ายสตางค์” พอให้ยืมฟรีเราก็โอเค รับไป ไม่เป็นไร กะว่าสองสามวันมียกไปคืนแน่นอน แต่พอเอาไปแขวนแล้วเนี่ย ผลงานศิลปะที่ดีๆ จะมีพลังงานบางอย่าง ทำให้เรารู้สึกหลงใหลจนถอนตัวไม่ขึ้น

เหมือนมันมีออร่า

ใช่ เหมือนมีออร่า ภาพเข้ากับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจัดเอาไว้หมดเลย เพราะบ้านเราก็เป็นแบบขาวๆ ดำๆ มินิมอล ก็ ฉิบหายละ! ทำไงดีวะ เพราะถ้ายกภาพช้างภาพนี้ออกจากบ้านนี่ ไอ้ที่แต่งมาแทบตายทั้งหมดก็จะจบเห่เลย เหมือนภาพนี้เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้บ้านเราสมบูรณ์แบบ คราวนี้ก็ยุ่งแล้วไง จนวันนึงผมก็ตัดสินใจออกไปโอนเงินให้เขาที่ห้างสยามพารากอน สมัยก่อนยังไม่มีแอพฯ โอนเงิน เราก็ต้องไปโอนจาก ATM กว่าจะกดโอนให้เขาได้เดินกลับไปกลับมาหลายรอบมาก หัวสมองเราปั่นป่วนไปหมด ในที่สุดก็หลับหูหลับตาโอนไป 5 แสน

โอนเสร็จแล้วเครียดเลยนะ กลับบ้านมาช่วงนั้นกินแต่มาม่า (หัวเราะ) ชีวิตรันทด ลำบาก แทนที่เราจะดีใจ กลับกลายเป็นแย่เลย ซื้อของไป 5 แสน รู้สึกเหมือนโดนปล้น แต่ก็ทำใจอยู่กับมันไป ช่วยไม่ได้แล้ว จนผ่านไปไม่กี่เดือน มีเพื่อนรุ่นพี่อีกคนมานั่งเล่นที่บ้าน เขาเห็นรูปนี้แขวนอยู่ ก็ทักว่า “นี่ภาพวาดของอาจารย์ถวัลย์นี่” ผมก็ตอบว่า “ใช่ครับ พอดีเพิ่งได้มา เพื่อนรุ่นพี่เขาแบ่งให้” เขาก็บอกว่าภาพนี้ดีมากนะ แล้วก็เล่าให้ฟังว่าผลงานชิ้นนี้พิเศษยังไง แถมตบท้ายว่า “พี่ขอแบ่งได้ไหม” เราก็ถามเขาว่าเขาจะซื้อเท่าไหร่ เขาบอกว่า “เอาอย่างนี้ พี่ให้ล้านนึง” เราก็ เฮ่ย! เพิ่งซื้อมาไม่กี่เดือนเอง (หัวเราะ)

จาก 5 แสนขึ้นเป็นล้านนึง?

เออ เราก็คิด เอาไงดีวะ อารมณ์เปลี่ยนอีกแล้ว ตอนแรกรู้สึกเหมือนโดนปล้น ตอนนี้รู้สึกเหมือนถูกหวย (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่ได้ขายเขานะ เพราะถ้าขายนี่บ้านพังเลยไง ที่ตกแต่งเอาไว้จะไม่รอดเลย แต่เราก็เริ่มรู้สึกว่า เอาล่ะเว้ย! เรามาถูกทางแล้ว! 

เริ่มเห็นว่างานที่ซื้อมามีมูลค่าขึ้น ไม่ใช่ซื้อมาแล้วไม่คุ้มราคา

ใช่ เริ่มเห็นว่ามีมูลค่า เราเลยใช้เหตุการณ์ตรงนี้เป็นเหตุผลในการศึกษาหาความรู้ต่อ แล้วก็เริ่มซื้องานต่อเนื่องมา จนเริ่มกลายเป็นการสะสมไปในที่สุด

แล้วจากการสะสม กลายเป็นการประมูลไปได้ยังไง

การประมูลเกิดจากการที่เราสะสมไปเรื่อยๆ เริ่มรู้จักคนโน้นคนนี้ คนขาย คนซื้อ เพื่อนๆ ที่ชอบสะสมงานศิลปะเหมือนกัน เราก็เลยจัดตั้งเป็น “สมาคมนักสะสมงานศิลปะ” ขึ้นมา ก็มีคุณต้อบ–กิตติภรณ์ ชาลีจันทร์ เป็นประธาน ผมก็ไปร่วมเป็นผู้ก่อตั้ง แล้วก็รวบรวมนักสะสมรุ่นใหม่ๆ ตอนนี้เรามีสมาชิกอยู่ประมาณ 100 คน ทั้งนักสะสมรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ น่าแปลกที่สมาชิกเราบางคนยังไม่เคยสะสมศิลปะสักชิ้นเลยนะ แต่เขาแค่อยากอยู่ในสมาคม อยากอยู่ในกลุ่มไลน์ อยากมาคุยกัน เพื่อศึกษา หยั่งเชิงก่อนแล้วค่อยสะสม ทุกวันนี้เราก็ยังมีกิจกรรมอยู่ตลอด

ทีนี้พอมีสมาคม ก็ทำให้เรารู้จักคนเยอะขึ้นไปอีก รู้จักนักสะสม รู้จักคนขายมากมาย เราก็ย้อนกลับไปนึกถึงปัญหาในวันแรกที่เราเริ่มสะสม คือซื้องานศิลปะที่ไหน ยังไง การสะสมศิลปะในเมืองไทยนี่ยากนะ ถ้าจะเริ่มให้เป็นเรื่องเป็นราว เราก็ดูว่าเมืองไทยเราจริงๆ ขาดอะไร เมืองไทยมีแกลเลอรี มีศิลปินที่ขายงานศิลปะ แต่เราไม่มีตลาด secondary market หรือตลาดสำหรับคนซื้องานศิลปะมือสอง เราซื้องานศิลปะมาแล้ว เราไม่รู้จะไปขายต่อที่ไหน เพราะวงการศิลปะเรานี่ประหลาด ปกติเวลาคนซื้อนาฬิกา ซื้อรถ พอเบื่อเขาก็ขายต่อได้เลย แต่งานศิลปะเนี่ย ถ้าขายต่อเขาจะรู้สึกเหมือนประกาศว่าตัวเองสิ้นเนื้อประดาตัว ถ้าคุณเอางานศิลปะออกมาขาย แปลว่าคุณต้องตกอับแน่ๆ ซึ่งไม่ใช่สิ นาฬิกาหรือรถคุณยังขายต่อได้ ศิลปะก็ต้องขายได้เหมือนกันหรือเปล่า ต่างกันตรงไหน แต่นักสะสมส่วนใหญ่รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เราก็เลยแปลกใจ

อีกอย่าง ตลาดศิลปะบ้านเราราคามาตรฐานก็ไม่มี ก็เลยขายกันยาก พอได้ยินคนบอกว่า ทำไมงานศิลปะไทยไม่โกอินเตอร์เสียที ก็เพราะว่าต่างชาติไม่มีใครเข้ามาซื้อ-ขายกับเรา เพราะว่าไม่รู้ว่าจะเล่นกันยังไง ขนาดในประเทศไทยยังซื้อ-ขายกันลำบาก แล้วต่างชาติจะเข้ามาได้ยังไง ข้อดีของการมีคนต่างชาติมาร่วมซื้อ-ขายกับนักสะสมท้องถิ่น ก็คือทำให้งานศิลปะของประเทศนั้นๆ มีราคาสูงขึ้นมา ยกตัวอย่าง อินโดนีเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์ หลายๆ ประเทศรอบบ้านเรางานศิลปะของเขาทะลุหลัก 100 ล้านมาตั้งนานแล้ว แต่บ้านเราเต็มที่ก็ 20-30 ล้าน 

ความต่างระหว่างบ้านเรากับเขาคืออะไร

ประเทศเหล่านั้นมีระบบมาตรฐาน มีราคามาตรฐาน มี auction house พอมีการประมูลก็มีราคาชัดเจน คนเคยซื้อไปเท่าไหร่ก็มาดูย้อนหลังใน record ได้ คนมาซื้ออาจารย์ถวัลย์วันนี้ เขาดูย้อนหลังไปสิบปีว่าขายได้เท่าไหร่ กราฟก็จะแสดงให้เห็นว่าราคาขึ้นเรื่อยๆ เขาก็สามารถที่จะลงทุนได้อย่างมั่นใจ เรารู้สึกว่าเมืองไทยยังขาด auction house ก็เลยคิดว่าจะตั้งขึ้นมา 

ตอนนั้นเรารู้จักคนขาย เรารู้จักคนซื้อแล้วนะ แต่ว่าเรื่องของ khow-how ในตลาด auction เรายังไม่มี เราจะทำยังไงดี บังเอิญว่าเรารู้จักคุณท๊อป (ยุทธชัย จรณะจิตต์) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ธุรกิจในเครือกลุ่มบริษัทอิตัลไทย เขามี auction house อยู่ที่ริเวอร์ ซิตี้ ชื่อว่า RCB Auction เขาจัดประมูลของโบราณ พวกเบญจรงค์ต่างๆ แล้วเขาก็มีไอเดียอยากจะจัดประมูลงานศิลปะอยู่แล้ว จริงๆ ถ้าเราไปริเวอร์ ซิตี้ วันนี้จะเห็นว่าโมเดิร์นกว่าเดิมเยอะ เดิมทีจะมีแต่ร้านแอนทีกอยู่เต็มไปหมดใช่ไหม คนที่ไปเดินก็จะเป็นแนวรุ่นใหญ่ แต่ ณ วันนี้คนเดินจะเป็นเด็กๆ วัยรุ่น วันเสาร์-อาทิตย์ไปแฮงเอาต์ก่อน เพราะว่าเขาต้องการเปลี่ยนลุคริเวอร์ ซิตี้ให้เป็นพื้นที่ของงานศิลปะร่วมสมัยยิ่งขึ้น 

พอเขามี khow-how เกี่ยวกับการประมูล เรามี khow-how เกี่ยวกับคนซื้อ คนขาย และงานศิลปะสมัยใหม่ เราก็จับมือมาหุ้นกันว่า ถ้าอย่างนั้นเรามาตั้งบริษัทกันดีกว่า ทำประมูลด้วยกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำบริษัทประมูลขึ้นมา ตอนนั้นมีคุณจก (เสริมคุณ คุณาวงศ์) เขาได้ยินว่าเราจะตั้งบริษัทประมูล ก็เลยอยากจะมาร่วมด้วย คุณจกเขามี khow-how ในเรื่องการทำอีเวนต์ เพราะเขาเคยทำบริษัทออร์กาไนเซอร์รายใหญ่ของเมืองไทยมาก่อน ก็เลยกลายเป็นพาร์ตเนอร์สามคน ตั้ง auction house ขึ้นมา

ชื่อ Bangkok Art Auction เป็นชื่อที่คุณจกเคยทำมาก่อนเมื่อประมาณสัก 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ปิดตัวไป ก็เลยเอาชื่อนี้มาใช้ โดยจัดการประมูลครั้งแรกตอนปลาย พ.ศ. 2564 ปรากฏว่าขายดี จัดขึ้นมาปุ๊บ ขายได้ประมาณเกือบ 60 ล้าน เราก็คิดว่า ตลาดมันดีนี่หว่า หลังจากนั้นเราก็เลยจัดต่อมาเรื่อยๆ ต่อมาคุณจกก็แยกตัวออกไปทำ auction house ของเขาเอง และขอชื่อ Bangkok Art Auction ไปใช้ เราก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าชื่อนี้เดิมทีเป็นของเขามาก่อน เราก็เลยเปลี่ยนชื่อเป็น The Art Auction Center แทน แล้วเราก็จัดงานต่อเนื่องกันมาทุกๆ 2-3 เดือนครั้งมาตลอด จนตอนนี้เราจัดไป 7 รอบแล้ว อีก 2 เดือนหน้าก็รอบที่ 8 แล้ว 

เราก็จัดมาเรื่อยๆ แต่เราก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะที่ริเวอร์ ซิตี้เท่านั้น มีหลายๆ งานที่ผ่านมาที่เราจัดที่อื่นด้วย เช่นงานที่เราร่วมจัดกับ Bitkub ช่วงที่ NFT กำลังมาแรง เราก็ไปจัดที่ Bitkub M Social ห้างสรรพสินค้า The EmQuartier และทุกๆ ครั้งที่เราจัดก็จะมีธีมใหม่ๆ ขึ้นมา โดยเอางาน old master (ศิลปินชั้นครู) ของไทย มาผสมกับงานศิลปินร่วมสมัยรุ่นใหม่ เพื่อให้มีลูกค้าหลากหลายกลุ่มมากขึ้น

งานที่นำมาประมูลส่วนใหญ่ได้มาจากไหนบ้าง

แทบทั้งหมดมาจากนักสะสม จริงๆ ระบบที่ถูกต้องต้องเป็นอย่างนี้ ศิลปินขายงานผ่านแกลเลอรี แกลเลอรีส่งต่อสู่ลูกค้า พอเมื่อลูกค้าอยากจะเปลี่ยนมือ เขาก็จะฝากแกลเลอรีขายต่อ หรือใช้บริการของ auction house  

เวลาประมูลนี่คือยกป้ายประมูลกันแบบที่เราเห็นในหนังไหม

ใช่ การประมูลทำได้หลายแบบ เราทำมาตรฐานเดียวกับต่างประเทศเลย คือคนสามารถมาลงทะเบียนแล้วมายกป้ายในงาน แบบที่เราเห็นตามเมืองนอก กับอีกวิธีคือการประมูลทางโทรศัพท์ คือให้ลงทะเบียนเอาไว้ เมื่อถึงเวลาที่งานชิ้นนั้นจะออกประมูล เราก็จะมีทีมงานโทรไปหา เขาก็จะให้ราคาทางโทรศัพท์ในขณะที่ประมูลยกป้ายกัน คือทำกันสดๆ เดี๋ยวนั้นเลย อีกแบบหนึ่งคือทิ้งราคาไว้ เช่น ฉันสู้ชิ้นนี้พันนึง ถ้าราคาขึ้นมาแล้วไม่ถึงพันคุณก็ได้ไป แต่ถ้าใครสู้ราคาทะลุพันคุณก็อด วิธีนี้ไม่ดีตรงที่คุณไม่ได้นั่งอยู่ตรงนั้น บางทีคนให้ราคาแซงแล้วคุณไม่ได้สู้ ก็เสียโอกาสไป กับอีกวิธีคือการประมูลออนไลน์ เราจัดประมูลออนไลน์อยู่ในเว็บไซต์ชื่อ www.invaluable.com ซึ่งคนจะเห็นไปทั่วโลก อย่างล่าสุด ผลงานของ Alex Face หรือ Gongkan คนที่ประมูลชนะไปก็เป็นคนต่างชาติ 

การที่ศิลปินถูกประมูลงานไปในราคาสูงๆ จะส่งผลกับงานของเขายังไงบ้าง

ผลดีก็คือ งานก็จะขายดี แกลเลอรีที่แสดงงานของเขาจะขายออกเร็ว เพราะว่าคนรู้ว่าซื้อไปปุ๊บจะกำไรทันที แต่ศิลปินก็ไม่ควรจะไปขึ้นราคารวดเร็ว คือบางทีราคาประมูลขึ้น 3-5 เท่าของราคาที่แกลเลอรีขาย พอคุณเห็นราคางานของคุณขึ้น 3-5 เท่าคุณก็ขึ้นราคา แบบนี้ไม่ได้ คุณต้องค่อยๆ ขึ้นปีละ 5-10% ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวตัวกลไกการตลาดและการประมูลจะทำให้คุณขายดีเอง ถ้าคุณไปรีบขึ้นราคาตามเร็วๆ ในที่สุดคุณจะขายไม่ดี ขายไม่หมด เพราะฉะนั้นต้องใจเย็นๆ แต่การประมูลมีผลแน่นอนกับการขายมือแรก งานของศิลปินคนนั้นจะขายดีทันที 

การเลือกงานของศิลปินที่มาประมูล ผลงานของ old master นั้นแน่นอนว่าสามารถพิสูจน์ได้ด้วยกาลเวลา แต่คุณเลือกศิลปินรุ่นใหม่ศิลปินร่วมสมัยมาประมูลจากอะไร

ศิลปินรุ่นใหม่เราดูจากกระแส เราดูจากแกลเลอรี ว่าเขามีแฟนคลับเยอะแค่ไหน งานของเขาขายดีไหม เพราะงานที่ประมูล ถ้าซื้อกันง่ายๆ เขาก็เดินไปซื้อที่แกลเลอรีก็ได้ ต้องเป็นอะไรที่เขาเดินไปซื้อไม่ได้ เป็นของที่มีความหายาก มีคนอยากได้หลายคน ต้องมีการแข่งกัน เราก็ดูจากฟีดแบ็กของนิทรรศการของเขา ช่วงหลังๆ นิทรรศการของศิลปินรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่มัก sold out กันหมด เราเอางานพวกนี้มาประมูลเพราะว่าคนซื้อไม่ทันแล้วหงุดหงิด เขาก็จะมาซื้อในงานประมูลนี่แหละ 

แล้วพอพูดถึงนักสะสม คนส่วนใหญ่จะนึกว่าเป็นผู้ใหญ่ ใส่ทองเส้นโตๆ มาประมูลภาพแพงๆ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เลย นักสะสมที่เป็นลูกค้าเราหลักๆ เป็นวัยรุ่น หนุ่มสาว เป็น younger generation อายุ 20-30 ที่มาประมูลเยอะที่สุด ในขณะที่รุ่นใหญ่ๆ ส่วนใหญ่จะเอางานมาขายแทน แต่ว่านักสะสมรุ่นใหญ่ๆ ถ้าเห็นงานของ old master ที่ราคาน่าซื้อก็ซื้อตลอดนะ สมมติบางชิ้นเราเอามาประมูล แล้วราคาโดนใจเขา เขาก็ต้องได้นะ งานของ old master มี 2 ประเภท ก็คืองานกลางๆ ราคาดีๆ จะมีคนซื้อตลอด กับอีกประเภทหนึ่งคืองานของ old master ที่มีความพิเศษมากๆ อันนี้แพงแค่ไหนคนก็สู้ เท่าไหร่เท่ากัน อย่างเช่นงานของอาจารย์ถวัลย์ชิ้นใหญ่ขนาดหลายๆ เมตร หรือว่างานยุคเก่าๆ ที่คนไม่เคยเห็นนี่เขาสู้ราคากันหลัก 20-30 ล้านเลยนะ

แล้วนักสะสมที่เก็บงานราคาแพงๆ  โดยเฉพาะนักสะสมรุ่นใหญ่รุ่นเก่าที่เก็บงานของ old master จะมีความแปลกที่น่าสนใจก็คือ เขาจะมีสไตล์แบบชอบซื้อ แล้วเอางานไปแอบๆ ซ่อนๆ ไม่อวดให้ใครเห็น เขาชอบอารมณ์นั้น ชอบความเอกซ์คลูซีฟ ความไม่ให้ใครรู้ เอางานไปซ่อนไว้ในห้องที่บ้าน แล้ววันดีคืนดีพอมีใครมาเห็น โอ้! ว้าว! ชิ้นนี้อยู่กับคุณเหรอ คนที่ได้ดูคือคนมีบุญ นี่เป็นความภูมิใจของเขา ในขณะที่นักสะสมรุ่นใหม่ๆ ซื้อมาก็ลงอินสตาแกรม ลงเฟซบุ๊ก โชว์เลย

แล้วคุณเป็นแบบไหน

แบบหลังสิ (หัวเราะ) แต่เวลาประมูลเนี่ย บอกตามตรงว่าไม่มีงานของผมในนั้นสักชิ้น ผมชอบขายของคนอื่น แต่ไม่ชอบขายของตัวเอง ผมก็เลยมีสองบทบาท ส่วนแรกคือเราหาของมาเพื่อให้เกิดการประมูล อีกส่วนคือ เนื่องจากเราเป็นนักสะสมมาก่อน เราก็จะเก็บสะสมเพื่อที่จะทำพิพิธภัณฑ์ พอเราจะทำพิพิธภัณฑ์ก็ต้องมีของที่เล่าเรื่องได้ เราก็มานั่งดูว่าพิพิธภัณฑ์บ้านเราขาดอะไร คือเราไปเมืองนอก ไปยุโรป เขามีพิพิธภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน เวลาเราเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เวลาออกมาเราจะเข้าใจประวัติศาสตร์ศิลปะ เข้าใจเรื่องราวของงานศิลปะในนั้นค่อนข้างชัดเจน เหมือนกับเราได้เรียนรู้ และเดินมาด้วยความอิ่มเอม ในขณะที่บ้านเราพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่ง ก็ไม่ใช่ไม่ดีนะ ก็เป็นวิถีทางของแต่ละคน แต่เราเข้าไป เรารู้สึกเหมือนเราไปเดินแกลเลอรี ไปดูของที่เขาโชว์ให้ดูมากกว่า อย่างพิพิธภัณฑ์ของรัฐเองก็ขาดตอน มีแต่งานในยุคเก่า ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงมาถึงงานร่วมสมัยได้ เราก็เลยตั้งใจทำเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะแบบสมบูรณ์ ที่มีงานตั้งแต่ขรัวอินโข่งมาเลย (เพราะถือว่าขรัวอินโข่งเป็นต้นกำเนิดศิลปะสมัยใหม่ในบ้านเรา) จนมาถึงปัจจุบัน มาถึงงานของ Gongkan ของ Suntur ให้ครบเลย เป็นพิพิธภัณฑ์แบบที่เราอยากจะให้มีในบ้านเรา

ตอนนี้เรารวบรวมของเอาไว้มาก ค่อนข้างใกล้จะสมบูรณ์แล้ว แต่เรายังนึกสถานที่ไม่ออก จริงๆ เราอยากให้มันอยู่ในละแวกใกล้ๆ สถานที่ท่องเที่ยวหลักของประเทศ อย่างวัดพระแก้ว ตอนนี้ก็กำลังหาสถานที่เช่าในละแวกนั้น แต่ผมก็ทำพิพิธภัณฑ์มาหลายแห่งแล้วนะ อย่างพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่สุโขทัย อันนั้นก็เสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ไม่ได้เปิดเป็นประจำ จะเปิดเดือนละครั้ง ให้นักศึกษา นักท่องเที่ยว หรือคนที่จองล่วงหน้ามาดูพอทำพิพิธภัณฑ์นี้เสร็จ ก็จะเริ่มทำพิพิธภัณฑ์ศิลปะเป็นแห่งต่อไป

เน้นเฉพาะงานของศิลปินไทย?

ของไทยเป็นหลัก ของต่างประเทศไม่มีปัญญาหรอก งานทั้งหมดที่ผมมี ซื้องานของปิกัสโซได้รูปเดียว… ไม่ถึงด้วย แค่ครึ่งรูปเองมั้ง เวลาผมสะสมงาน ผมคิดว่าเราเป็นหัวหมาดีกว่าหางมังกร ถ้าคุณไปเก็บปิกัสโซ เก็บให้ตายคุณก็ไม่มีทางไปสู้ฝรั่งเศสหรือสเปนได้หรอก วันนี้คุณอาจเป็นหัวหมา แต่คุณสามารถมีงานดีๆ ของไทยได้หมดเลย แล้ววันหนึ่งผมมั่นใจว่าหมาตัวนี้อาจจะกลายเป็นมังกรได้ในอนาคต 

ตอนนี้ธุรกิจการประมูลในประเทศไทยเป็นอะไรที่มั่นคงแล้วหรือยัง

ผมว่าค่อนข้างมั่นคงแล้วนะ เพราะเราจัดมา 2-3 ปี ก็ถือว่าขายดีทุกครั้ง เรียกว่าอยู่ได้ แล้วเราก็มีงบประมาณที่จะไปลงทุนทำสูจิบัตร จัดงาน เช่าพื้นที่ ทำประชาสัมพันธ์ เราทำแบบจัดเต็ม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคุ้มทุน ครั้งแรกๆ จริงๆ ผมตั้งใจทำให้เล็กๆ ด้วยซ้ำ ยุคนี้การประมูลบูมมากๆ มีนักธุรกิจ คนรุ่นใหม่ๆ ที่เข้ามาสนใจ ทำให้วงการคึกคัก ผมคิดว่าสิ่งที่เราทำวันนี้ จะเป็นการต่อยอดให้วงการศิลปะในบ้านเรามีมาตรฐานขึ้น เพราะเรามี track record แล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ผมก็ได้รับการติดต่อจากบริษัทประมูลเมืองนอกอย่าง Christie’s, Sotheby’s, Phillips, Bonhams ให้ส่งงานของศิลปินไทยไปให้เขาได้ เพราะว่าเขาเห็นจาก track record ของเรา ใน 6-7 ครั้งที่ผ่านมา เขาก็อยากจะเอาไปประมูล เพราะฉะนั้นศิลปินไทยเราก็ถูกยอมรับโดยต่างประเทศได้ด้วย

แล้วเรื่องงานเขียนของคุณล่ะ มีที่มายังไง

เริ่มจากการที่ผมสนใจสะสมงานศิลปะ ผมก็จะศึกษาตรงนั้นเป็นพิเศษ อีกอย่างคือ ผมชอบสะสมหนังสือศิลปะ ผมมีหนังสือศิลปะในเมืองไทยแทบทุกเล่มแล้วน่ะ แล้วพอช่วงไหนเราอินเรื่องอะไร เราก็จะอ่านเรื่องนั้นเยอะมาก พอเราอ่านเยอะๆ เราก็กลัวลืม พอเรากลัวลืมเราก็เลยย่อย แล้วเอามาเขียนเป็นบทความ แล้วยิ่งช่วงไหนเราไปเจอประสบการณ์อะไรแปลกๆ เช่น ไปตามหางานชิ้นนั้นที่โน่นที่นี่ อุตส่าห์ไปเจอ ไปหามาได้ เรากลัวลืม เลยเอามาเขียนดีกว่า ก็เลยเกิดเป็นบทความขึ้นมา

นามปากา ‘ตัวแน่น’ ได้มายังไง

ตัวแน่นเป็นชื่อลิงที่ผมเลี้ยงเอาไว้ มีตัวผู้กับตัวเมีย ตัวผู้ชื่อติ๊ดตี่ ตัวเมียชื่อตัวแน่น คนอื่นนึกว่าตัวแน่นหมายถึงผม (หัวเราะ) คือผมคิดนามปากกาไม่ออก ไม่รู้จะตั้งว่าอะไรดี พอดีลิงตัวนี้ชอบเดินมาหา ก็เลยเอาชื่อนี้ก็แล้วกัน

ส่วนใหญ่ผมจะเขียนเรื่องศิลปะไทย เพราะเราสะสมงานของศิลปินไทย เราเลยอ่านเรื่องของศิลปินไทยมากกว่า ต่างชาติก็ชอบนะ ไปเมืองนอกทีไรก็ไปดูตลอดแหละ แต่ผมว่าศิลปินไทยมีข้อเสียคือ ไม่ค่อยมีใครเขียนเรื่องให้อ่าน ก็เลยทำให้เข้าใจยาก เราก็เลยพยายามจะเขียนเรื่องศิลปินไทยเพิ่มขึ้น แล้วผมก็แปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพราะเราอยากจะให้ต่างชาติเข้าใจศิลปินไทย เพราะฉะนั้นงานเขียนของผมจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เดี๋ยวจะทำเป็นบล็อกภาษาอังกฤษด้วย คนต่างชาติจะได้เข้าใจงานศิลปะของไทยได้ อย่างสูจิบัตรในงานประมูลทุกครั้งก็จะมีข้อมูล 2 ภาษา แล้วก็จะมีเวอร์ชั่น PDF ให้ดูทางออนไลน์ให้คนต่างชาติเข้ามาดู แล้วก็จะมีประวัติคร่าวๆ ของศิลปินอยู่ด้วย เพื่อทำให้เขาเข้าใจงานของศิลปินไทยได้มากขึ้น

ผมคิดว่าวงการศิลปะไทย ถ้าอยากจะดังในระดับโลก ต้องมีขั้นตอน คือคุณต้องทำ local market ของคุณให้เจ๋ง พอเจ๋งปุ๊บก็จะมี auction house ระดับ regional (ภูมิภาค) รับไป สมมติเราทำประมูลในเมืองไทยขายดี regional ก็คือ Christie’s Hong Kong เขาก็จะมารับไปประมูลที่ฮ่องกง พอที่ฮ่องกงติดตลาด คนเอเชียยอมรับแล้ว ต่อไปก็จะเป็นที่นิวยอร์ก เมื่อไหร่ที่คุณเข้านิวยอร์กได้ ก็จะเป็นอีกเรื่องเลย เป็นอีกเลเวล เป็นอีกลีกนึง วันนี้เราก็ต้องทำตรงนี้ให้ดี แล้วไปอยู่ใน regional ให้ได้ ถ้าขายดีๆ แล้วเดี๋ยวจะถูกนำไปสู่ตลาดประมูลที่นิวยอร์กหรือลอนดอนเอง

เป็นเหมือนระบบนิเวศของวงการศิลปะ

ใช่ สูงสุดจะไปอยู่ตรงนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะขึ้นไปถึงตรงนั้นได้ยังไง ที่ผ่านมาผมชอบใช้คำว่า บ้านเราไม่มีสปริงบอร์ดที่จะกระโดดไประดับโลกได้ แค่ระดับภูมิภาคยังไปไม่ได้เลย เราไม่ไปไหนกันสักที เล่นกันเอง ไม่มีต่างชาติมาเล่นด้วย แต่วันนี้เรามีสปริงบอร์ดแล้ว ถ้าใช้ให้ถูกต้องก็จะช่วยได้เยอะมาก

Harmenstone & KARAVA แบรนด์ไอเทมของสายมูฯ ที่ใช้ความเชื่อ ดีไซน์ และดาต้าขับเคลื่อนธุรกิจ

คุณเชื่อเรื่องโชคลาภหรือเปล่า

คุณเชื่อเรื่องของการมูเตลูหรือไม่

และอีกหนึ่งคำถาม–คุณเคยมูฯ อะไรสักครั้งในชีวิตไหม

แม้จะไม่มีทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาพิสูจน์ แต่ความเชื่อ ความศรัทธาที่อยู่คู่คนไทยมานาน จึงมีหลายๆ แบรนด์เห็นโอกาสและสร้างธุรกิจขึ้นมาจากความหวัง ความสบายใจ ความศรัทธาของผู้คนที่ต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือสมหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ซึ่งแบรนด์ที่เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยเห็นผ่านตาคือ Harmenstone แบรนด์เครื่องประดับ กำไลหินสีเสริมมงคลที่มาในยุคแรกๆ และ KARAVA แบรนด์องค์เทพตั้งโต๊ะดีไซน์สุดโมเดิร์น ที่เปิดตัวพรีออร์เดอร์องค์เทพแล้ว sold out ภายในไม่กี่นาที

‘บุ๊ค–หัสวีร์ วิรัลสิริภักดิ์’ และ ‘เคน–นันท์ธร พรกุลวัฒน์’ คือเจ้าของผู้ปลุกปั้นแบรนด์ Harmenstone กับโจทย์ใน Day 1 ที่ว่า ‘อยากทำเครื่องประดับเสริมมงคลที่ใส่ได้ทุกวัน’ ต่อยอดมาสู่แบรนด์น้องใหม่อย่าง KARAVA องค์เทพตั้งโต๊ะที่องค์ประกอบของเทพแต่ละองค์ยังคงความถูกต้อง ครบถ้วน แต่มีดีไซน์สวยสะดุดตา

จุดเริ่มต้นในปี 2017 นับจนถึงตอนนี้ก็เข้าสู่ขวบปีที่ 6 เราจึงชวนบุ๊ค และเคนมาพูดคุยตั้งแต่แนวคิด ความเชื่อ ไปจนถึงเป้าหมายต่อไปในอนาคตของ Harmenstone และ KARAVA 

มูเตลูสั่งสมมาจากครอบครัว

แม้ทั้งบุ๊คและเคนจะเรียนจบวิศวะที่อิงกับหลักการและเหตุผลมากๆ แต่เมื่อเราถามถึงจุดเริ่มของการเข้ามาทำธุรกิจเป็นสายมูเตลูตัวจริงอย่างทุกวันนี้ คำตอบที่ได้มานั้นไม่ต่างกัน นั่นคือ “ความชื่นชอบส่วนตัว และคลุกคลีกับการบูชา ไหว้พระ ไหว้องค์เทพเจ้าจากครอบครัวตั้งแต่เด็กๆ”

ด้วยความที่บุ๊คและเคนเป็นครอบครัวคนจีนทั้งคู่ เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ ทีไร ครอบครัวคนจีนที่บ้านก็จะไหว้องค์เทพเจ้าตลอดอยู่แล้ว เรียกว่าไหว้กันทั้งปีเลยก็ว่าได้ 

ขณะที่บ้านของบุ๊คมีความพิเศษลงไปอีกนิด เพราะคุณพ่อของบุ๊คเป็นคนสะสมพระ ในบ้านก็จะมีตู้ตั้งโชว์มีพระจากวัดดังเป็นร้อยๆ องค์ เรียงรายอยู่ เยอะขนาดที่บุ๊คบอกว่าน่าจะสามารถเปิดเป็นร้านเช่าพระได้แล้ว

มารู้ตัวอีกที ทั้งบุ๊คและเคนก็ซึมซับการมูเตลู การไหว้พระ ไหว้เจ้า เข้าแล้ว

“หากย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อนเราเห็นเทรนด์มงคลมาตั้งแต่จตุคามรามเทพ ตะกรุดต่างๆ ที่อาจจะมีความใหญ่ อาจจะดูโบราณ บวกกับอีกความชื่นชอบพวกเครื่องประดับหินอยู่ก่อนแล้ว แต่ในตอนนั้นเรายังไม่เห็นแบรนด์ที่ทำเครื่องประดับที่มีความใหม่ และใส่ได้ทุกวัน เราสองคนจึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจแรกคือเครื่องประดับหินเสริมมงคลที่ดีไซน์ดูโมเดิร์นและสามารถใส่ได้ทุกวัน” เคนอธิบายถึงจุดเริ่มต้น

ทั้งสองเชื่อว่าความมงคล ความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของความโบราณ แต่ความโมเดิร์นสมัยใหม่ก็สามารถสร้างความมั่นใจ นำพาความมงคล ความสำเร็จรอบด้านมาสู่ผู้คนได้เหมือนกัน 

รีดีไซน์ ด้วยความโมเดิร์น และมีชิ้นเดียวในโลก

Harmenstone จึงเกิดขึ้นเป็นแบรนด์เครื่องประดับอัญมณีหินแท้จากธรรมชาติที่เริ่มจากสร้อยข้อมือ ก่อนที่จะรีดีไซน์ขนาดหินให้หลากหลาย และเพิ่มในส่วนของชาร์มหรือตัวจี้ เพิ่มองค์เทพให้ทันสมัยมากขึ้น ขึ้นรูปด้วยเงินแท้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว

 เพิ่มดีไซน์ลูกเล่นจับกลุ่มลูกค้าความเชื่อทำกำไลสร้อยข้อมือ 12 ราศี ทำคอลเลกชั่นเทพเจ้ามงคลที่มีทั้งองค์ปี่เซียะ องค์พญานาคราช องค์ท้าวเวสสุวรรณ และพระแม่ลักษมี ที่ถูกศรัทธาของลูกค้าไม่น้อย 

ก่อนที่จะขยายไลน์สินค้าทำให้ตอนนี้ Harmenstone มีสินค้าเสริมความมงคลครอบคลุมทั้งสร้อยข้อมือ สร้อยคอ และแหวนที่สามารถใส่เป็นแฟชั่น และใส่ได้ทุกวันแบบไม่เคอะเขินแม้แต่น้อย

บุ๊คบอกกับเราว่า อีกหนึ่งความแตกต่างของ Harmenstone คือ เครื่องประดับเสริมมงคลของ Harmenstone เป็นแบรนด์แรกๆ ที่ให้ลูกค้า customize เองได้ ตั้งแต่เลือกหินธรรมชาติ เลือกชาร์ม และองค์เทพตามด้านที่ต้องการเน้น ไปซื้อสินค้าที่หน้าร้านก็สามารถให้พนักงานแนะนำและเลือกแบบตามความชอบได้ด้วยตัวเอง

  “ใช้คำว่าเราอยากให้คนที่มาบูชา มาใส่เครื่องประดับของเราได้รับพลังจากองค์เทพและพลังจากตัวเอง เพราะเมื่อเกิดความเชื่อ มีศรัทธา มีความหวังและมั่นใจมากขึ้น เราจะมีความกล้าทำบางอย่างให้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้มากขึ้น” เคนอธิบายเสริม

ตาม DNA หรือ Tagline ของแบรนด์ที่ว่า ‘Empower Your Life’ เพราะทั้งบุ๊คและเคนเชื่อว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นจาก ‘สิ่งเล็ก ๆ’ เสมอ Harmenstone อยากเป็นตัวแทนสิ่งนั้น เพื่อเติมเต็มความศรัทธาและความมั่นใจให้ผู้คนก้าวรับความสำเร็จมากกว่าที่เคย

‘คารวะ’ ต่อยอดไลน์สินค้าองค์เทพตั้งโต๊ะ

จากการทุ่มเทแรงกายแรงใจที่เปี่ยมไปด้วยความเชื่อและความศรัทธาของทั้งสอง ทำให้ Harmenstone ที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ อยู่ในธุรกิจเครื่องประดับเสริมมงคลเข้าสู่ปีที่หกแล้ว และความเชื่อในแบรนด์ที่ลูกค้ามีให้ ผสานกับความชื่นชอบดีไซน์องค์เทพ พร้อมกับเรียกร้องให้ทำองค์เทพแบบตั้งโต๊ะมาตลอดนี่เอง ทำให้ทั้งสองต่อยอดไลน์สินค้าจากเครื่องประดับเป็นองค์เทพตั้งโต๊ะดีไซน์โมเดิร์น นำมาสู่แบรนด์น้องใหม่ที่ชื่อว่า KARAVA

เคนอธิบายขยายความอีกว่า “ ชื่อคารวะแก้ตัวจากแบรนด์แรกที่ต้องการให้จำง่าย  เพราะย้อนกลับไปวันแรกของการทำ Harmenstone ตอนนั้นอยากทำแบรนด์ที่เราอยากใส่ ตั้งใจทำให้มันดูเท่ เป็นสีดำ แต่พอทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นเริ่มแมส ชื่ออาจจะจำค่อนข้างยาก และลูกค้าเป็นกลุ่มผู้หญิงค่อนข้างเยอะ ก็เลยปรับมู้ดแอนด์โทน”

‘คารวะ’ คือชื่อสามัญที่เรียบง่าย และสื่อสารออกไปอย่างชัดเจน ที่หมายถึงการเคารพสักการะบูชา ถ้าใครเห็นโลโก้ และแพ็กเกจจิ้งก็เห็นถึงความเรียบง่าย สงบนิ่ง แต่มีพลังที่ส่งออกมา

“เราตั้งใจออกแบบสร้างแบรนดิ้งให้ดูสงบนิ่ง แต่เติมไปด้วยพลัง พลังความสงบนิ่งที่แสดงถึงความเคารพที่มีต่อองค์เทพ เป็นการย้ำเตือนผู้บูชาในทุกๆ วันให้ระลึกถึงความสงบสุขที่เกิดขึ้นในจิตใจ

“EMPOWER YOUR SOUL คือ ดีเอ็นเอ หรือ Tagline ของแบรนด์คารวะที่ต้องการตอกย้ำความเป็นไปได้ไร้ขีดจำกัดที่พลังแห่งจิตวิญญาณให้ได้ ที่ทั้งบุ๊คและเคนเชื่อว่าทุกความสำเร็จล้วนเกิดจากสิ่งเล็กๆ ในจิตใจเราเสมอ เมื่อเรามีความเชื่อมั่น มั่นใจ และตั้งใจ ย่อมพาเราไปถึงจุดที่เราต้องการได้” เคนกล่าวย้ำกับเรา

และกว่าจะเห็นองค์พระพิฆเณศ และองค์ท้าวเวสสุวรรณตั้งโต๊ะที่มีดีไซน์สวยสะดุดตา แต่ยังคงรายละเอียดแบบต้นฉบับไว้ ทั้งคู่ใช้เวลาศึกษา และพัฒนาอยู่กว่า 2 ปี ด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ ก่อนที่จะมาเปิดขายแบบพรีออร์เดอร์ และ sold out ภายในไม่กี่นาทีทุกครั้ง

บุ๊คที่เป็นคนดูเรื่องดีไซน์บอกว่า “ก่อนที่จะทำองค์เทพขึ้นมาสักองค์หนึ่ง ต้องศึกษารายละเอียดขององค์ท่าน แต่ละปางมีลักษณะแบบไหน อย่างองค์แรกที่เราทำคือองค์พระพิฆเนศปางประทานพร เราก็ต้องศึกษารายละเอียดต่างๆ พระหัตถ์ทั้ง 4 ที่ถืออาวุธมีความหมายต่างกัน เราก็ต้องมีให้ครบตามต้นฉบับ จากนั้นค่อยนำมาดีไซน์ให้ทันสมัยเข้ากับยุคมากขึ้น”

องค์เทพของแบรนด์คารวะออกแบบด้วยดีไซน์ที่เรียกว่า Modern Polygon ใส่ความเท่ ทันสมัย มีพลังให้เข้ากับเหลี่ยมมุมที่พิถีพิถัน ที่จะต้องนำองค์เทพมาขัดเก็บรายละเอียดด้วยมือทุกชิ้น

ความสวยงามของสินค้าอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ

และเพราะว่า Harmenstone และ Karava อยากไปสุดทั้งสองทาง ทั้งดีไซน์ที่สวยงามและความมงคลต้องมี เพราะฉะนั้นความสวยงามของสินค้าอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบของบุ๊คและเคน

‘ต้องถูกต้องตามหลักการ’ คืออีกคำตอบที่เราถามทั้งสองถึงหัวใจของการทำแบรนด์ และเป็นสิ่งที่ทั้งคู่เน้นย้ำกับเราในทุกช่วงของบทสนทนาเสมอว่า เมื่อเราต้องการส่งต่อความมงคล เราต้องยึด core หลักคือการบูชาที่ถูกต้อง

ไม่ว่าจะเป็นสร้อยข้อมือ สร้อยคอ องค์เทพ หรือสินค้าใดๆ ที่มาจาก Harmenstone และ Karava จะต้องผ่านการทำพิธีมงคลทั้งพิธีพุทธาภิเษก พิธีเบิกเนตร หรือการปลุกเสก กับสถานที่ที่ผู้คนให้ความเคารพบูชาที่ขึ้นชื่อเรื่องความมงคลนั้นๆ มาก่อนแล้วทั้งสิ้น

องค์ปี่เซียะ ทำพิธีที่วัดหวังต้าเซียน ฮ่องกง

องค์พญานาคราช ทำพิธีที่ลานพญาศรีสัตตนาคราช นครพนม

องค์ท้าวเวสสุวรรณ ทำพิธีกับหลวงพ่อน้ำหอม วัดไร่กล้วย

องค์พระพิฆเนศ ทำพิธีที่วัดสมานรัตนาราม ฉะเชิงเทรา

พระแม่ลักษมี ทำพิธีที่วัดแขก คลองสี่

“นอกจากศึกษารายละเอียดของลักษณะขององค์เทพต่างๆ แล้ว ยังต้องดูเรื่องของการบูชา การทำพิธีก่อนจะส่งต่อความมงคลให้กับลูกค้าด้วย จะเห็นว่าองค์เทพของแบรนด์คารวะในปีหนึ่ง จะเปิดขายเพียงไม่กี่รอบ ราวๆ 3 รอบต่อปี เพราะว่าต้องดูฤกษ์มงคลในแต่ละช่วงเนื่องจากไม่ได้มีฤกษ์ที่เหมาะสมทุกวัน เราจะดูฤกษ์ทุกอย่างตั้งแต่เริ่มทำ ไปจนวันและเวลาวางขายก็จะดูฤกษ์ทั้งหมด”

ใช้ดาต้าช่วย research & development 

แม้จะทำธุรกิจกับความเชื่อ ความศรัทธา แต่สิ่งที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้คือการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ทั้ง Harmenstone และ Karava ใช้ดาต้าเข้ามาช่วยในการหาอินไซต์ของลูกค้า ดูเทรนด์ที่สอดรับกับเทรนด์คนไทยและเทรนด์โลก จากนั้นจึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์เจาะลึก พัฒนาสินค้าใหม่ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า

“ตลาดสายมูเตลูบอกตรงๆ ว่าเป็น red ocean มากๆ เพราะเมื่อเทรนด์มามาก ก็มีหลายคนกระโดเข้ามา แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เข้ามาทำแบรนด์สไตล์นี้แล้วจะประสบความสำเร็จ สุดท้ายธุรกิจต้องคิดระยะยาว โปรดักต์ต้องได้ คุณภาพต้องได้ และเซอร์วิสต้องได้เช่นกัน ต้องมีเอเลเมนต์ให้ครบ ซึ่งเมื่อมีคู่แข่งเราก็ต้องพัฒนาทั้งเรื่องมู้ดแอนด์โทนของสินค้า ไม่ได้เน้นแค่ดีไซน์ที่สวยงาม แต่ต้องถูกต้องตามหลักการเคารพบูชาด้วย” บุ๊คอธิบายให้ฟัง

ไม่แปลกใจเลยว่า ความอิ่มเอมของการทำแบรนด์ของทั้งคู่นั้นสะท้อนออกมาผ่านสินค้าที่มีคุณภาพ และถูกต้องตามหลักการ เพื่ออยากเป็นส่วนเล็กๆ ที่ช่วยสร้างความหวัง ความเชื่อ ความศรัทธา ความสบายใจให้กับผู้คน

“จากตอนแรกที่ทำแบรนด์แล้วคนไม่รู้ จากนั้นก็ได้รู้เรื่องระหว่างทาง สุดท้ายมีคนเชื่อและใส่สินค้า ศรัทธาและเชื่อถือในแบรนด์เรา ก็เป็นอะไรที่น่าภูมิใจ” เคนทิ้งท้ายบทสนทนา

Baskin-Robbins แบรนด์ไอศครีมที่บุกเบิกการชิมก่อนซื้อและโมเดลแฟรนไชส์จนแพร่หลายไปทั่วโลก

ใช่ว่าจะมีเพียงแต่ประชาชนโลกในเขตโซนร้อนเท่านั้นที่ชื่นชอบของกินเล่นรสชาติหวานเย็น เนื้อเนียนละมุนอย่างไอศครีม คนจากอีกฟากโลกที่มีภูมิอากาศเย็นสบาย ก็มีความรักและชอบพอไอศครีมเช่นกัน ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต หนุ่มสาววัยรุ่น ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ไอศครีมเป็นสิ่งที่ผูกรั้งเชื่อมโยงคนทุกเพศทุกวัยให้มีรอยยิ้มและเวลาดีๆ ร่วมกันได้ ฉะนั้นการมีร้านไอศครีมอร่อยๆ อยู่ใกล้บ้านน่าจะเป็นไอเดียที่ดีมากๆ เลย

นี่ไม่ใช่คำกล่าวเลื่อนลอยของใครที่ไหน แต่เป็นความคิดของสองผู้ร่วมก่อตั้ง Baskin-Robbins เบอร์ตัน บาสกิน (Burton Baskin) และเออร์ไวน์ รอบบินส์ (Irvine Robbins) สองหนุ่มผู้หลงรักไอศครีมเหมือนกันและมีความฝันที่จะเปิดร้านไอศครีมให้เป็นสถานที่ที่พักผ่อนและรวบรวมรอยยิ้มของเพื่อนและครอบครัวเอาไว้

สำหรับเออร์ไวน์เองอาจจะไม่น่าแปลกใจนักที่เขาจะชื่นชอบและหลงรักไอศครีม เพราะพ่อของเออร์ไวน์เปิดร้านไอศครีม The Olympic store ในวอชิงตัน ดี.ซี. เออร์ไวน์จึงเติบโตมากับร้านไอศครีม การหยิบจับที่ตักไอศครีมเพื่อคดไอศครีมทีละสกู๊ปๆ ให้กับลูกค้าเป็นสิ่งที่เออร์ไวน์ช่ำชองและเชี่ยวชาญ ภาพใบหน้าเปื้อนยิ้มของทั้งเด็กและผู้ใหญ่เมื่อได้รับโคนไอศครีมผ่านเคาน์เตอร์เป็นสิ่งที่เออร์ไวน์เห็นจนชินตามาตั้งแต่เด็ก

  กาลเวลาผ่านไปจนเออร์ไวน์เติบใหญ่และจบการศึกษาจาก University of Washington ในสาขารัฐศาสตร์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เออร์ไวน์ได้เข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพในแคลิฟอร์เนีย และถูกปลดประจำการในเดือนสิงหาคม 1945 สำหรับคนที่เคยผ่านสนามรบ เห็นเพื่อนร่วมกองกำลังบาดเจ็บล้มตาย ภาพบ้านเมืองเสียหายระเบิดพินาศไปกับตาอยู่ตรงหน้า หลังจากรอดเรื่องราวอันหนักหน่วงทุกอย่างมาได้ คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการใช้เวลาทุกนาทีของชีวิตให้คุ้มค่า โดยการเดินตามความฝันและทำในสิ่งที่อยากจะทำ

เออร์ไวน์ตัดสินใจเปิดร้านไอศครีมเป็นของตัวเองที่ชื่อ ‘Snowbird Ice Cream’ ในเดือนธันวาคม 1945 ที่เมืองเกลนเดล ในแคลิฟอร์เนีย ด้วยการถอนเงินประกันที่ผู้เป็นพ่อฝากไว้ให้จำนวน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาเริ่มต้นธุรกิจ

โดยร้านไอศครีมเออร์ไวน์มีรสไอศครีมให้ลูกค้าเลือกสรรถึง 21 รส และร้านไอศครีมมาในคอนเซปต์ไอศครีมคุณภาพสูง ในบรรยากาศที่สนุกสนานเป็นกันเอง

“ไม่มีสถานที่ใดที่เหมือนกับร้านไอศครีม ร้านที่ขายแต่ไอศครีมอย่างเดียวอีกแล้วครับ…ผมมีความคิดบ้าๆ ว่าผมอยากจะเปิดร้านที่ขายแต่ไอศครีมอย่างเดียวเท่านั้น และต้องเป็นร้านที่โดดเด่นกว่าร้านอื่นๆ ด้วย” เออร์ไวน์ให้สัมภาษณ์ไว้กับ The Times ในปี 1985

ตัดภาพมาที่คู่หูผู้ก่อตั้งอีกคนของกิจการไอศครีม Baskin-Robbins เบอร์ตัน บาสกิน เองก็มีความรักความชอบในไอศครีมไม่ต่างกับเออร์ไวน์เลย ต่างกันเพียงแต่ตรงที่ว่าเบอร์ตันเองไม่ได้โตมากับครอบครัวไอศครีมเหมือนเออร์ไวน์ อาชีพดั้งเดิมของเบอร์ตันคือการเปิดร้านเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษ ดังนั้นความใส่ใจในรายละเอียด สิ่งละอันพันละน้อย อาจถือเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของเบอร์ตันที่ทำให้คิดค้นและพัฒนาอะไรใหม่ๆ ให้กับ Baskin-Robbins ได้ในเวลาต่อมา

เบอร์ตันพบรักและแต่งงานกับ เชอร์รี่ รอบบินส์ (Shirley Robbins) ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดกับเออร์ไวน์ ทำให้ทั้งเออร์ไวน์และเบอร์ตันรู้จักและสนิทสนมกันในเวลาต่อมา ไม่ใช่เพียงแต่ว่าการดองเป็นพี่เขย-น้องเขยเท่านั้นที่ทำให้ทั้งสองสนิทสนมกัน แต่ด้วยความที่ทั้งคู่สนใจและชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน นั่นคือไอศครีม จึงทำให้ทั้งคู่สนิทสนม หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่พูดจาภาษาเดียวกันเพราะเรื่องราวเกี่ยวกับไอศครีมทำให้ทั้งสองคุยกันได้ทุกครั้งที่พบเจอกันได้อย่างไม่มีวันเบื่อ

นอกจากโชคชะตาจะนำพาให้เออร์ไวน์ต้องไปประจำการในกองทหาร เบอร์ตันก็เช่นเดียวกัน เบอร์ตันไปประจำการที่กองทัพเรือในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และระหว่างที่ประจำการอยู่ในกองทัพนั่นเอง เบอร์ตันได้เรียนรู้วิธีการทำไอศครีม และแจกจ่ายไอศครีมที่เขาทำได้ให้เพื่อนทหารได้ลองชิม

เออร์ไวน์อาจเคยได้เห็นคนยิ้ม หัวเราะ และได้รับคลื่นมวลความสุขที่อบอวลในร้านไอศครีมมาตั้งแต่เด็กจนโต เบอร์ตันเองก็ได้รับความรู้สึกเหล่านั้นเช่นกัน หากแต่ไม่ใช่ในร้านไอศครีม หรือรถเข็นขายไอศครีมตามท้องถนน แต่เป็นในกองทัพเรือ จากเพื่อนทหารที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับเขา เบอร์ตันเองได้ลองเรียนรู้และทดลองส่วนผสมที่ถือว่าแปลกใหม่หลายต่อหลายอย่างในขณะนั้น เช่น การนำเอาผลไม้ในเขตเมืองร้อนเข้าไปผสมเป็นรสชาติใหม่ๆ

หลังถูกปลดประจำการเบอร์ตันก็กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่ความรู้สึกที่เคยเห็นเพื่อนร่วมทัพทั้งยิ้มทั้งหัวเราะ ทั้งดีใจที่ได้กินไอศครีมรสอร่อยที่เขาทำให้ยังคงประทับอยู่ในใจของเขา ประจวบเหมาะกับความเป็นพี่เขย-น้องเขย กับเออร์ไวน์ที่เกลี้ยกล่อมและชักจูงเบอร์ตันอยู่ตลอดว่า “ขายไอศครีมสนุกกว่าขายเสื้อเชิ้ตและเน็กไทเยอะ”

และนั่นคือแรงผลักดันที่ทำให้เบอร์ตันจึงตัดสินใจเปิดร้านไอศครีม

ร้านไอศครีมของเบอร์ตันชื่อว่า ‘Burton’s Ice Cream’ โดยสาขาแรกอยู่ที่พาซาเดนา (Pasadena) แคลิฟอร์เนีย โดยเบอร์ตันตัดสินใจเปิดร้านไอศครีมหลังจากที่เออร์ไวน์เปิดร้าน Snowbird Ice Cream ได้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น

การเปิดร้านไอศครีมของพี่เขย-น้องเขยคู่นี้ถือว่าเป็นการเปิดกิจการชนิดเดียวกันที่มีเส้นเวลาใกล้เคียงกันมากๆ แรกเริ่มเดิมทีเชื่อว่าทั้งสองมีความคิดที่จะเปิดร้านไอศครีมร่วมกัน แต่พ่อของเออร์ไวน์แนะนำว่าให้ต่างคนต่างเปิดร้านของตัวเองเสียก่อนดีกว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นน่าจะเป็นเพราะว่าพ่อของเออร์ไวน์เล็งเห็นแล้วว่าชายหนุ่มที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหลงใหลในไอศครีม และมุ่งมั่นจะเปิดร้านไอศครีมให้ได้ ทั้งคู่คงจะต่างคนต่างมีไอเดียต่างๆ มากมายในหัว ถ้าพวกเขาต่างฝ่ายต่างไปแยกย้ายปล่อยพลังงานของตัวเอง เรียนรู้ในแบบของตัวเองก่อนน่าจะเป็นความคิดที่ดีกว่า 

จนกระทั่งปี 1948 ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าทั้งร้านไอศครีมของเออร์ไวน์และเบอร์ตันมีสาขารวมกัน 6 สาขา ในขณะที่ข้อมูลบางแหล่งระบุว่า ร้าน Snowbird Ice Cream มีทั้งหมด 5 สาขา และ Burton’s Ice Cream มี 3 สาขา แต่เอาเป็นว่าทั้งคู่ตัดสินใจควบรวมร้านเข้าด้วยกัน 

การตัดสินใจควบรวมกิจการครั้งนั้นของเออร์ไวน์และเบอร์ตันน่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ถูกต้อง ดูได้จากหลักฐานการขยายสาขาของทั้ง Snowbird Ice Cream และ Burton’s Ice Cream ที่สามารถขยายสาขาได้ถึง 43 สาขา ภายในปี 1949 หรือเพียงแค่ 1 ปีหลังควบรวมกิจการเท่านั้น

สิ่งที่เออร์ไวน์และเบอร์ตันให้ความสำคัญหลังการขยายกิจการมากมายหลายสิบสาขา คือการคงคุณภาพของไอศครีมเอาไว้ให้ยังคงอยู่ดีดังเดิม เออร์ไวน์และเบอร์ตันจึงริเริ่มไอเดียของการให้ผู้จัดการร้านไอศครีมร่วมเป็นเจ้าของกิจการร้านไอศครีมไปด้วย ในเวลานั้นคอนเซปต์การขายแฟรนไชส์ร้านไอศครีมอาจยังไม่เป็นที่แพร่หลาย แต่ผู้ก่อตั้ง Baskin-Robbins กำลังบุกเบิกเส้นทางแฟรนไชส์ไอศครีมโดยไม่รู้ตัว 

นอกจากกลยุทธ์การขายแฟรนไชส์ไอศครีม เออร์ไวน์และเบอร์ตันยังตัดสินใจเข้าซื้อแหล่งผลิตนมที่เบอร์แบงก์เป็นครั้งแรก ทำให้ทั้งคู่มีสิทธิ์เข้าถึงและควบคุมวัตถุดิบที่สำคัญของไอศครีมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และมูฟครั้งนี้ทำให้แบรนด์ไอศครีมของเออร์ไวน์และเบอร์ตันมีแต้มต่อในการควบคุมรสชาติและวิถีทางในการทำไอศครีมมากกว่าแบรนด์ไอศรีมอื่นโดยตรง เพราะเป็นเจ้าของแหล่งผลิตนมเองเสียเลย

Los Angeles Times เคยเขียนถึงประเด็นที่ทั้งสองได้เข้าซื้อโรงงานผลิตนมที่เบอร์แบงก์ว่า หลังจากที่เป็นเจ้าของโรงงานวัตถุดิบผลิตไอศครีมด้วยตนเอง ทั้งสองก็ทุ่มเทอย่างบ้าคลั่งในการผลิตรสชาติไอศครีมใหม่ๆ ออกมา จนปีหนึ่งได้ทดลองผลิตรสชาติออกมาร่วมร้อยรสเลยทีเดียว แต่สุดท้ายก็มีเพียงแค่ 8-9 รสชาติต่อปีเท่านั้นที่หลุดรอดออกมาขายตามหน้าร้านได้

SEREMBAN,MALAYSIA- SEPTEMBER 16,2017: A cup of baskin robbins ice cream with blur background of colorful light

ปี 1953 ถือเป็นปีที่เป็นก้าวสำคัญของทั้งสองอีกครั้งเพราะมีเหตุการณ์สำคัญมากมายเกิดขึ้นหลายอย่างในปีนี้ ได้แก่

หนึ่ง–ทั้งคู่ตัดสินใจว่าจะไม่ใช้ชื่อร้านไอศครีมแยกเป็นสองชื่อภายใต้กิจการเดียวกันอีกต่อไป ดังนั้นทั้งสองจึงโบกมือลาชื่อ Snowbird Ice Cream และ Burton’s Ice Cream ก่อนจะตัดสินใจใช้ชื่อร้านไอศครีมทุกร้านภายใต้แบรนด์ที่ชื่อ ‘Baskin-Robbins’

สอง–Baskin-Robbins ได้ชูกลยุทธ์ 31 รสชาติ 31 วัน เป็นข้อความสื่อสารหลักของแบรนด์ โดยคอนเซปต์การสื่อสารนี้เป็นที่มาของเลข 31 บนโลโก้ของ Baskin-Robbins โดยข้อความที่ทั้งคู่อยากจะสื่อต่อลูกค้าคือ ลูกค้าสามารถมาที่ร้าน Baskin-Robbins และชิมไอศครีมได้ในทุกวันตลอดทั้งเดือนโดยที่ทางแบรนด์จะมีรสชาติให้เลือกแบบไม่ซ้ำกันเลยสักวันเป็นเวลา 31 วัน

นอกจากนั้น Baskin-Robbins ยังใช้จุดสีชมพู และจุดสีน้ำตาลในโลโก้และภาพกราฟิกต่างๆ ของแบรนด์เพื่อเป็นการย้อนให้ลูกค้ารู้สึกถึงสวนสนุก ความสดใส และความสนุกสนาน

ส่วนที่มาของช้อนชิมไอศครีมเล็กๆ สีชมพูของ Baskin- Robbins เกิดขึ้นในปี 1960 หรือยุค 60sในสมัยนั้นคอนเซปต์การชิมไอศครีมก่อนตัดสินใจซื้อยังไม่เป็นที่นิยมนัก หรืออาจจะยังไม่เคยเกิดขึ้นบนโลกนี้เลยด้วยซ้ำ แต่ทั้งเออร์ไวน์และเบอร์ตันเชื่อเหลือเกินว่าลูกค้าควรจะต้องได้กินไอศครีมรสที่พวกเขาอยากกินที่สุด รสที่พวกเขาคิดว่าอร่อยที่สุด และวิธีเดียวที่พวกเขาจะรู้ได้ว่าไอศครีมรสไหนคือรสที่ถูกปากเขาที่สุดก็คือ พวกเขาต้องได้ชิมมันก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ

Baskin-Robbins อยู่ในมือการบริหารและครอบครองของเออร์ไวน์และเบอร์ตันจนกระทั่งปี 1967 ปีนั้นเป็นปีที่ United Fruit เข้าซื้อกิจการของ Baskin-Robbins และขยายสาขาออกนอกอเมริกาเป็นครั้งแรก โดยสาขาแรกนอกอเมริกาที่ Baskin-Robbins ไปเปิดคือที่โตรอนโต ประเทศแคนาดา 

จากนั้น Baskin-Robbins ถูกเปลี่ยนมือต่อมาอีกหลายครั้งจนกระทั่งในปี 2020 Inspire Brands บริษัทโฮลดิ้งได้เข้าซื้อกิจการ Dunkin’ ( ซึ่งแบรนด์ Dunkin’ เป็นเจ้าของ Dunkin’ ที่ขายโดนัทและเป็นเจ้าของแบรนด์ Baskin-Robbins)

นอกจาก Baskin-Robbins จะมีรสชาติไอศครีมมากมายที่ไม่ได้มีแค่ 31 รสชาติ บางรสชาติของ Baskin-Robbins ถูกทำขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อฉลองโอกาสสำคัญๆ ในสหรัฐอเมริกาด้วย เช่น รส Beatle Nut (1964) ถูกทำขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้กับวงร็อกแบนด์จากลิเวอร์พูล The Bealte มาแสดงคอนเสิร์ตที่สหรัฐฯ ครั้งแรก ในตอนนั้นทาง Baskin-Robbins ไม่ได้มีแผนที่จะสร้างรสไอศครีมขึ้นใหม่เพื่อเกาะกระแส The Beatle แต่อย่างใด แต่เป็นความบังเอิญเมื่อนักข่าวจาก The Washington Post คนหนึ่งถามเออร์ไวน์ว่า คุณจะทำรสชาติไอศครีมใหม่ขึ้นมาในโอกาสที่ The Bealte มาเยือนสหรัฐฯ ไหม และคำตอบจากทั้งเออร์ไวน์และเบอร์ตันคือ ทำแน่นอนสิ และรสนั้นจะชื่อรสว่า Beatle Nut และ 5 วันหลังจากนั้นไอศครีมรสชาติ Beatle Nut ก็วางขายอยู่ใน Baskin- Robbins

หรือจะเป็นการสร้างรสชาติไอศครีมเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จของมวลมนุษยชาติอย่างการไปถึงดวงจันทร์ของนักบินอวกาศชาวสหรัฐฯ ในปี 1969 รส Lunar Cheesecake ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองที่นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกของโลกได้ก้าวเท้าลงเหยียบบนผิวดวงจันทร์

นอกจากจะมีรสชาติไอศครีมที่เสมือนเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา Baskin-Robbins ยังถือเป็นร้านไอศครีมที่เคยเป็นที่ทำงานพาร์ตไทม์ให้กับคน (กำลังจะ) ดังหลายคนในอนาคต เช่น บารัค โอบามา (Barack Obama) เคยทำงานที่ร้าน Baskin-Robbins ที่ฮาวายในปี 1978 และคริส บัค (Chris Buck ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง Frozen) ในปี 1976

ในประเทศไทยเราได้เห็นข่าวคราวการปิดตัวลงของ Baskin-Robbins ไปอย่างเงียบๆ เมื่อต้นปี 2023 โดยเหตุผลที่ทุกคนรับทราบมาคือ แบรนด์ทำรายได้ลดลงมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน

ถึงแม้จะปิดตัวลงไปในประเทศไทยแต่ Baskin-Robbins ในต่างประเทศน่าจะยังคงไปต่อได้ สังเกตได้จากที่ Inspire Brands ทุ่มเงินเข้าซื้อกิจการ Dunkin’ ถึงหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย Inspire Brands เป็นแบรนด์ที่เชี่ยวชาญในด้านการลงทุนกับแบรนด์อาหารเพราะบริษัทโฮลดิ้งบริษัทนี้เป็นเจ้าของกิจการร้านอาหารมากมายทั้ง Arby’s, Buffalo Wild Wings, Sonic, Jimmy John’s และตอนนี้รวมไปถึง Dunkin’ และ Baskin-Robbins อีกด้วย

ส่วนเราจะได้เห็นแบรนด์ไอศครีมสัญชาติอเมริกันแบรนด์นี้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทยใหม่อีกครั้งหรือไม่ เราคงต้องมาจับตาดูกันต่อไป

ที่มา

เข้าสู่ High Season ธุรกิจน้ำอัดลม โค้ก – เป็ปซี่ – เอส โคล่า อัดงบ หวังแย่งมาร์เก็ตแชร์

ซัมเมอร์ของทุกปีคือช่วงเวลาที่เหล่าแบรนด์น้ำอัดลมออกมาอัดงบการตลาดทำแคมเปญกันมากเป็นพิเศษ เพราะนี่ถือเป็นช่วง high season ของธุรกิจนี้ที่ผู้คนมักจะมองหาเครื่องดื่มเย็นๆ ซ่าๆ มาช่วยดับร้อน 

ยิ่งกับซัมเมอร์ปีนี้ยิ่งคึกคักเมื่อสถานการณ์หลายอย่างกลับสู่สภาวะปกติหลังจากติดชะงักกับช่วงโควิด-19 ระบาดจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เหล่าแบรนด์จึงต้องเร่งเครื่องมาร์เก็ตติ้งกันอย่างร้อนแรง เพื่อแย่งชิงยอดขายในช่วงเวลาที่อากาศร้อนสุดๆ ให้ได้มากที่สุด 

เริ่มตั้งช่วงกุมภาพันธ์ที่เป๊ปซี่ได้เปิดตัว PROXIE วง T-Pop ที่กำลังอยู่ในกระแสเจ้าของเพลง ‘คนไม่คุย’ มาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ และผลักดันแบรนด์ด้วย music marketing ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เป๊ปซี่ทั่วโลกใช้ในการทำการตลาดมาอย่างยาวนาน มาช่วยกระตุ้นยอดขายในซัมเมอร์นี้

ถัดมาในเดือนมีนาคม เอส โคล่าก็ได้แถลงข่าวรีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ ตั้งแต่การปรับโลโก้ใหม่ให้ดูมีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งยังดึง ชา อึน-อู, โบกี้ไลอ้อน, Yes Indeed และ 3 สาวนักวอลเลย์บอลนิวเจนฯ มาเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มเจนฯ Z โดยหากเทียบกับผู้เล่นรายอื่นในตลาด เอส โคล่าถือเป็นแบรนด์น้ำอัดลมที่ใช้พรีเซนเตอร์จำนวนมากที่สุด

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการที่เอส โคล่ากล้าเอาสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นจุดอ่อนของแบรนด์อย่าง ‘รสชาติ’ มาทำเป็นการตลาด ด้วยการประกาศปรับสูตรครั้งใหม่ซึ่งเป็นการปรับจากคอมเมนต์ของผู้บริโภค ทั้งยังจัดแคมเปญให้ผู้บริโภคโหวตความรู้สึกที่มีต่อรสชาติใหม่ด้วย 

หลัง เอส โคล่าแถลงข่าวไปเพียงหนึ่งสัปดาห์ ก็มาถึงคิวของโค้กที่กระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวโค้กสูตรไร้น้ำตาลรสชาติใหม่อย่าง Coca Cola Move ซึ่งเป็นรสชาติพิเศษที่โค้กไปคอลแล็บกับ Rosalia ศิลปินชื่อดังชาวสเปนมาช่วยออกแบบรสชาติให้ พร้อมเปิดตัว พีพี-กฤษฏ์ อํานวยเดชกร เป็นพรีเซนเตอร์คนล่าสุดของแบรนด์ 

หากย้อนดูมูลค่าตลาดน้ำอัดลมย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา 

ปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท

ปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท

ปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 57,000 ล้านบาท

มูลค่าของตลาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ สอดคล้องกับการที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายเพราะน้ำอัดลมเป็นสินค้าที่ผู้คนมักจะกินตอนอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน และอีกส่วนก็เป็นผลมาจากการเติบโตของ ‘น้ำอัดลมสูตรไร้น้ำตาล’ ที่เริ่มกินส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมมากขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขของเป๊ปซี่ที่บอกว่าเฉลี่ยใน 5 ปีที่ผ่านมาเป๊ปซี่ไม่มีน้ำตาลสามารถเติบโตได้ 19% หรือสะท้อนจากสิ่งที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวันคือบนเชลฟ์น้ำอัดลมในร้านค้านั้นมีพื้นที่สำหรับน้ำอัดลมไร้น้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ 

ภายในมูลค่าตลาดน้ำอัดลมกว่า 70% คือน้ำอัดลมที่เป็นโคล่าหรือที่เรียกกันว่า ‘น้ำดำ’’ ส่วนอีก 30% ถึงค่อยเป็นน้ำอัดลมสีต่างๆ เช่นน้ำเขียว น้ำแดง เป็นต้น 

โดยผู้นำในปัจจุบันคือโค้ก รองลงมาคือเป๊ปซี่ และอันดับที่ 3 คือ เอส โคล่า ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณเกือบ 20 ปีก่อนหน้า เป๊ปซี่คือผู้นำในตลาดนี้ แต่ที่มาถูกโคคา-โคล่าแซงหน้าก็เพราะเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ที่เป๊ปซี่ได้แยกทางกับเสริมสุขทำให้เป๊ปซี่มีปัญหาเรื่องสายส่งสินค้า และจากนั้นอีกไม่นานก็โดน โคคา-โคล่าแซงหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันบริษัทโคคา-โคล่า (ประเทศไทย) เจ้าของแบรนด์โคคา-โคล่า, สไปรท์, แฟนต้า มีส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมอยู่ที่ 51%

บริษัท เป๊ปซี่ – โคล่า (ไทย) เจ้าของแบรนด์เป๊ปซี่, เซเว่นอัพ, มิรินด้า มีส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมอยู่ที่ 37%

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของแบรนด์เอส โคล่ามีส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมอยู่ที่ 8%

ส่วนการอัดงบมาร์เก็ตติ้งในซัมเมอร์นี้จะทำให้มาร์เก็ตแชร์ในตลาดน้ำอัดลมขยับปรับเปลี่ยนไปได้มากน้อยขนาดไหน เป็นสิ่งที่ต้องมารอดูกันต่อไปในช่วงปลายปีนี้ 

อ้างอิง

  • งานแถลงข่าวเอส โคล่า
  • ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย)
  • NielsenIQ

theCOMMONS กับความฝันหลังวิกฤตโควิด-19 ที่อยากเป็นคอมมิวนิตี้ที่ใจดีต่อโลกมากกว่าเดิม

จากการระบาดของโควิด-19 ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมาทำให้ทั้งห้างสรรพสินค้าและคอมมิวนิตี้มอลล์ได้รับผลกระทบอย่างหนักและต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก theCOMMONS ก็เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

คอมมิวนิตี้มอลล์แห่งนี้เปิดมา 7 ปีแล้วและอยู่ภายใต้ Kinnest Group ในเครือเดียวกับ Roast, Roots และร้านอาหารชื่อดังอีกมากมาย มีความตั้งใจรวบรวมผู้ประกอบการรายเล็กที่มีแพสชั่นและความตั้งใจดีมาอยู่ด้วยกัน แตกต่างจากห้างสรรพสินค้าที่มักคัดเลือกเฉพาะแบรนด์ใหญ่และร้านแฟรนไชส์ การออกแบบสเปซของที่นี่ยังตั้งใจให้เป็นสวนหลังบ้านของย่านที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจที่มีความตั้งใจดีแบบนี้ยืนหยัดผ่านความท้าทายและรักษา purpose ของธุรกิจไว้ได้  

วิชรี วิจิตรวาทการ ผู้ก่อตั้ง Kinnest Group ที่ดูแลธุรกิจในฝั่งไลฟ์สไตล์อย่าง theCOMMONS และทีมของเธอบอกว่าสิ่งนั้นคือคำว่า ‘Kind’

พวกเขาบอกว่าในวันนี้สิ่งที่ theCOMMONS ยังทำได้ไม่ถึงภาพที่ฝันไว้คือยังใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมไม่พอ อยากสร้างคอมมิวนิตี้ที่ kind ต่อโลกมากกว่านี้ เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่มมากกว่านี้เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ในหลายแง่มุม ไม่อยากเป็นแค่สถานที่ปาร์ตี้สังสรรค์

all kinds of product by all kinds of kind people คือสิ่งที่วิชรีนิยามคอนเซปต์ของร้านมัลติแบรนด์ชื่อ All Kinds ซึ่งเปิดใหม่ในช่วงโรคระบาดที่ theCOMMONS เพื่อสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นรายเล็ก

นอกจากนั้นคำว่า kind ยังเป็นหัวใจที่นิยามสปิริตของทั้งทีมทำงานและผู้เช่าที่แต๊วบอกว่าอยากให้คอมมิวนิตี้ใจกลางเมืองแห่งนี้เป็นเหมือนบ้านที่ทุกคนสนับสนุนกันและกัน

purpose ในการทำ theCOMMONS มาตลอดหลายปีของคุณคืออะไร 

ความตั้งใจของเรายังคงมีส่วนที่เหมือนเดิมจากวันแรกอยู่เยอะคือเราอยากเป็น backyard หรือสวนหลังบ้านให้ชุมชนในย่าน อยากเป็นสถานที่โปรโมตการใช้ชีวิต wholesome คือการทานอาหารที่ดี ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ เรียนรู้สิ่งใหม่ และเติมเต็มตัวเองอยู่เสมอ เป็นแพลตฟอร์มที่สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กที่อาจไม่ได้เป็นแบรนด์ใหญ่แต่มีความตั้งใจที่ดีและเป็นพื้นที่โชว์เคสให้เขา 

7 ปีที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งที่รู้สึกว่าทำสำเร็จแล้วและยังทำไม่สำเร็จ

ส่วนที่สำเร็จหรือภูมิใจแล้วคือเราสร้างคอมมิวนิตี้ได้จริงจากตอนแรกที่ฝันไว้ พอเห็นว่ามีกลุ่มลูกค้าที่กลับมาบ่อยๆ มานัดเจอเพื่อนฝูง ใช้ชีวิตที่นี่แล้วมีความสุข มาแล้วเป็น backyard ของลูกค้าได้จริง สามารถทำให้เขารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้ได้ อีกความสำเร็จคือการที่เราได้สนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กแล้วเขาเติบโต มีผู้เช่าหลายคนที่มาเปิดร้านค้าที่นี่ครั้งแรก พอตั้งตัวได้ก็ขยายสาขาไปเปิดเพิ่มที่อื่นต่อ มีร้านที่สองและสามตามมา พอเห็นความสำเร็จของผู้เช่ากลุ่มนี้ก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์สิ่งที่เราอยากทำ 

ส่วนสิ่งที่รู้สึกว่ายังไม่สำเร็จคือการผลักดันสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องใหญ่ที่รู้สึกว่าเราทำได้มากกว่านี้เยอะมากเพราะที่จริงเราก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เช่น มีการสั่งอาหารเดลิเวอรีเยอะทำให้สร้างขยะเยอะมากไม่ว่าจะเป็นแก้วหรือแพ็คเกจต่างๆ ที่เกิดขึ้น พอทำมาถึงจุดนี้เลยกลับมาดูว่าจะทำคอมมิวนิตี้ของเราให้ดีขึ้นได้ยังไงบ้าง เรามักจะไม่แฮปปี้กับคำว่าดีแล้ว อยากทำให้ดีขึ้นกว่านี้ตลอด อยากผลักดันให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญซึ่ง theCOMMONS จะโฟกัสอย่างจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปีที่ 7 เป็นต้นไป การ be kind เป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่แค่ be kind กับตัวเองหรือชุมชน แต่ kind กับโลกด้วย 

ที่ผ่านมาทำไมถึงรู้สึกว่ายัง kind ไม่พอ

เราตั้งต้นทำกิจกรรมเล็กๆ หลายอย่างเกี่ยวกับการรณรงค์ดูแลสิ่งแวดล้อมแต่ที่ผ่านมามันกระจัด กระจายพอสมควร สิ่งที่เราทำเป็นที่แรกในไทยคือ community fridge กับ Scholars of Sustenance Foundation (SOS) รณรงค์ให้ร้านอาหารที่อยู่กับเรานำอาหารส่วนเกิน (food surplus) ไปใส่ตู้เย็น แล้วทาง SOS จะมารับเพื่อเอาไปบริจาคต่อ เป็นงานที่เราทำมาตลอด นอกจากนี้ก็ทำเวิร์กช็อปเรื่องการ reuse ต่างๆ เช่น การทำสบู่จากน้ำมันที่ใช้แล้วจากร้านอาหาร งานที่เราเริ่มทำเมื่อปีที่แล้วคือ งาน ‘สมบัติผลัดกัน…’ เช่น สมบัติผลัดกันฟัง สมบัติผลัดกันอ่าน อยากให้คนมาแลกเปลี่ยนของมือสองที่มีอย่างอุปกรณ์ดนตรี แผ่นเสียง หนังสือ ฯลฯ มากกว่าซื้อใหม่ในทุกครั้ง ปีนี้ก็จะมีกิจกรรมเพิ่มอีก ในส่วนของการรีไซเคิลก็ทำเรื่อยๆ มาตลอดแต่ไม่ได้ทำแบบจริงจัง

นอกจากนี้เราทำจุดกดน้ำมานานตั้งแต่เปิดใหม่ซึ่งช่วงแรกยังไม่ได้เน้นเรื่องรักษ์โลกเท่าตอนนี้ แต่ก่อนจะมีขวดน้ำพลาสติกวางไว้ให้สามารถหยิบไปได้ หยอดเงินตามความสะดวกและแรงศรัทธาของแต่ละคน สำหรับเงินบริจาคที่ได้ สำนักงานเขตวัฒนาจะนำไปบริจาคและสนับสนุนการสร้างอาชีพแก่ครอบครัวหรือคนที่กำลังลำบากและต้องการความช่วยเหลือในทุกเดือน คนเหล่านี้อยู่นอกชุมชน หลายคนไม่ได้มีทะเบียนบ้านในเขตนี้ทำให้ไม่อยู่ในสถานะที่ทางเขตหรือ กทม.จะช่วยได้ เราก็ทำงานกับเขตวัฒนามาเกือบ 7 ปีแล้ว แต่พักหลังเรารู้สึกผิดว่าถึงแม้ได้เงินบริจาคแต่กลับมีขวดพลาสติกเพิ่มขึ้นเยอะ เลยเปลี่ยนจากการขายขวดน้ำพลาสติกมาเป็นกดน้ำแทน คือกิจกรรมค่อนข้างยิบย่อยและไม่ได้สื่อสารเป็นเรื่องเดียวกัน

อยากทำให้คอมมิวนิตี้มอลล์แห่งนี้ kind ขึ้นยังไง 

ปีนี้ตั้งใจว่าอยากเล่าเรื่องให้คนเห็นภาพชัดขึ้นด้วยการสื่อสารเป็นเรื่องเดียวกันผ่าน Reseries ที่ประกอบด้วย 4 Re อย่างแรกคือ reuse ทำยังไงให้คนบริโภคน้อยลงและใส่ใจมากขึ้นด้วยการใช้ของที่มีอยู่ เลือกใช้ซ้ำแทนซื้อใหม่ เรารีฟิลแทนซื้อใหม่ได้ไหม แทนที่จะใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งตลอด เราสนับสนุนให้คน bring your own container เอากระติกน้ำหรือคอนเทนเนอร์ต่างๆ มาใช้ที่นี่ เรื่องรีไซเคิล เราพาร์ตเนอร์กับ Trash Lucky เป็นองค์กรที่ตั้งจุดรับบริจาคขยะรีไซเคิลตามที่ต่างๆ ทั้งศาลาแดงและทองหล่อ

อย่างที่ทองหล่อก็จะมีจุดทิ้งขยะรีไซเคิลตรงบันไดทางเข้าและที่จอดรถด้านล่าง สามารถเอาขยะที่แยกแล้วจากบ้านมาทิ้งเพื่อนำไปรีไซเคิลต่ออย่างถูกต้องได้ ถ้าลูกค้าเป็นสมาชิก พอเอาขยะมาทิ้งและเขียนนัมเบอร์ทิ้งไว้ จะมีชิงโชคทุกเดือน ได้รางวัลตั้งแต่เงิน 100 บาท ทอง ไปจนถึงโทรศัพท์ คิดว่าวิธีนี้ทำให้คนอยากทำดีง่ายขึ้นด้วย อันสุดท้ายคือ redistribute อย่างการเอารายได้บางส่วนจากการขายน้ำกลับไปให้คนในชุมชนที่ลำบาก กิจกรรมทั้งหลายที่เราจัดต่อไปในอนาคตจะเน้นพูดเรื่อง Reseries โดยมีกิจกรรมที่ใหญ่ขึ้นและสนับสนุน 4 Re นี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้เป็นการสื่อสารที่ติดหูลูกค้าและเข้าใจว่า theCOMMONS จริงจังกับสิ่งนี้ 

อะไรคือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากสมัยเปิด theCOMMONS ใหม่ๆ  

ช่วงที่เปิดใหม่ โซนชั้น 1 หรือ ชั้น village เงียบและโล่งมาก ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจว่าร้านแบบไหนที่ควรอยู่ที่นี่ ตอนแรกคิดว่าอยากมีรีเทลหลายหมวดอย่างร้านขายกระเป๋า ร้านขายรองเท้า แต่เราก็มาเข้าใจว่ามันไม่เวิร์ก พอเป็นสินค้าที่ลูกค้าสามารถหาซื้อในห้างได้ เขาก็ไปที่ห้างดีกว่า ถ้าจะมีรีเทลที่ theCOMMONS ควรเป็นสิ่งที่พิเศษหรือมีเอกลักษณ์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้ เราก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนตรงโซนร้านค้าชั้นหนึ่ง ใช้เวลาหลายปีเลยกว่าจะลงตัว

แล้วคุณมีวิธีเลือกผู้เช่ายังไงที่ทำให้แตกต่างจากที่อื่น  

เริ่มจากคอนเซปต์ก่อนว่าเราต้องการคอนเซปต์อะไร ตอนนี้มีร้านอะไรที่ขาดไปไหม เราอาจไม่เหมือนห้างสรรพสินค้าหรือคอมมิวนิตี้มอลล์ที่อื่นที่มีร้านหมวดเดียวกันหลายร้าน ถ้าที่นี่มีร้านไอติมแบรนด์หนึ่ง เขาก็จะเป็นตัวแทนว่าแบรนด์นี้คือร้านไอติมของ theCOMMONS เราจะไม่เอาร้านไอติมเข้ามา 3-4 ร้าน อยากพยายามไม่ให้มีคอนเซปต์ที่ชนกัน ทุกร้านต้องได้เจอก่อนและคุยกันก่อน ลองชิมก่อน แต่แค่อร่อยอย่างเดียวก็อาจไม่พอ เราพยายามมองในหลายจุดเพราะการทำร้านอาหารจริงๆ เหนื่อยมากและไม่ง่ายเลย ต้องดูว่าเขามีประสบการณ์ด้านโอเปอเรชั่นด้วยไหมเพราะการบริหารร้านก็มีเรื่องปวดหัวที่ตามมาอีกเยอะ มีแพสชั่นที่อยากทำจริงๆ พร้อมจะลุยไปด้วยกันในระยะยาวหรือเปล่า ต้องเป็นคนที่มีใจรัก พร้อมสู้และอยู่กับมันจริงๆ

บางทีอาจยังไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับเช่าเลย แต่ถ้ามีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่น่าสนใจทีมก็จะไปทำความรู้จักและลองชิมไว้ก่อน หลายแบรนด์เราก็เป็นแฟนคลับเขากันมาก่อน ถึงเวลาที่เหมาะสมก็ไปจีบเขามา บางทีก็จะทำแบบสอบถามกับลูกค้าด้วยว่ามีร้านอะไรที่ตอบโจทย์เขาได้มากกว่าในตอนนี้ไหม นอกจากนั้นก็มีผู้ประกอบการที่ติดต่อเราเข้ามาตลอด เราก็จะมีดาต้าเบสเป็นมาสเตอร์ลิสต์ไว้ว่าใครน่าสนใจ 

สิ่งสำคัญคือเรามองหาคนที่เป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้ด้วย ไม่ได้อยากแค่ให้พื้นที่สำหรับเปิดร้าน มาเก็บค่าเช่าอย่างเดียวแล้วจบ แต่อยากให้ทุกคนที่มาเช่ารู้สึกว่าที่นี่คือบ้านของเขา มีคนที่พร้อมซัพพอร์ตร้านเขาได้ มีอะไรก็ช่วยเหลือกันและได้เป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้จริงๆ   

ภายใต้ Kinnest Group การทำงานในฝั่งไลฟ์สไตล์ของ theCOMMONS กับฝั่งร้านอาหารและเครื่องดื่มช่วยสนับสนุนกันยังไง 

เราเป็นบ้านให้ฝั่ง F&B (food & beverage) คือที่ theCOMMONS จะมีแบรนด์ในเครือบริษัทเราอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟอย่าง Roots ร้านอาหารอย่าง Roast หรือ Monty’s ที่เป็นร้านเบเกิล เวลาเรามีพื้นที่หรือโครงการใหม่ก็จะเป็นบ้านให้เวลาที่มีคอนเซปต์ที่เหมาะสม การกินดื่มเป็นสิ่งที่เอาคนมาอยู่ด้วยกันซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เติมเต็มไลฟ์สไตล์ของ Kinnest Group ก็ต้องทำงานไปด้วยกันตลอด

แล้วความท้าทายของ theCOMMONS หลังจากทำมาหลายปีคืออะไร

เราอยู่ที่นี่มาปีที่ 7 ตอนนี้กำลังจะเข้าปีที่ 8 ความท้าทายคือเราจะทำยังไงให้สามารถสร้างพื้นที่และประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าได้อยู่เพราะเมื่อผ่านมาหลายปีบางอย่างอาจจะเริ่มเก่า ทำยังไงให้คงความน่าสนใจและเฟรชในอีเวนต์ต่างๆ ที่เราจัดอยู่ตลอด ทำยังไงให้สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดและสร้างคุณค่าใหม่ที่ลูกค้าต้องการได้เรื่อยๆ ช่วงหลังโควิดพอเวิร์กฟรอมโฮมมานานพฤติกรรมการเดินห้างหรือมาคอมมิวนิตี้มอลล์ของคนก็เปลี่ยน สิ่งที่เราเคยทำแล้วเอากลับมาทำใหม่อาจไม่ได้เวิร์กเหมือนเดิมเสมอไป จากงานที่คนเคยลงทะเบียนเต็มก็สามารถกลายเป็นว่าคนไม่ลงทะเบียนได้ ซึ่งเราต้องเข้าใจลูกค้ามากๆ ว่า ณ วันนี้เขามองหาอะไรในอีเวนต์และเราจะตอบโจทย์เขาได้ยังไง  

ณ วันนี้ อยากตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้ายังไง 

คิดว่าตอนนี้หลายคนจะรู้จัก theCOMMONS ในแง่ของการเป็นที่กินดื่มอย่างเดียว กลางคืนมีคนมาเยอะและมาปาร์ตี้กัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดีแต่เราไม่อยากเป็นแค่นั้น เราอยากกลับไปถึงแก่นของคำว่า wholesome ที่มีความกลมในหลายด้านของไลฟ์สไตล์จริงๆ อยากเป็นที่ของครอบครัว ทั้งสำหรับคนอายุมากและเด็กเล็ก พร้อมต้อนรับกลุ่มคนที่เอาสัตว์เลี้ยงมา ซึ่งเราก็พยายามให้มีอย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่อาหารและเครื่องดื่ม ทั้ง Paws Club ที่เป็นร้านขายสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง ตอนนี้เพิ่งเปิดได้เดือนกว่า ยังใหม่มากและกำลังปรับบางอย่างในพื้นที่ให้มีความเฟรนด์ลี่ต่อสัตว์เลี้ยงด้วย เช่น พื้นที่สำหรับให้น้องหมามาเข้าห้องน้ำ นอกจากนี้ก็มี Little Pea ที่จัดกิจกรรมสำหรับเด็ก และมัลติแบรนด์ All Kinds ของเราที่เพิ่งเปิดใหม่รวมถึงฟิตเนสสำหรับออกกำลังกาย ก็อยากทำบริการหรือกิจกรรมที่ตอบโจทย์คนหลายกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น

คุณสร้างคอมมิวนิตี้ที่เฟรนด์ลี่สำหรับครอบครัวยังไง 

อย่างการทำ Little Pea ซึ่งเป็นธุรกิจที่จัดกิจกรรมสำหรับเด็กที่ชั้น 2 หรือ Play Yard ของ theCOMMONS มีจุดประสงค์หนึ่งคือการสร้างคอมมิวนิตี้ของเหล่าคุณแม่ บางทีคุณแม่มือใหม่จะมีคำถามในการเลี้ยงลูกหรืออยากมีเพื่อนที่อยู่ในช่วงชีวิตเดียวกัน ก็สามารถมาเข้าร่วมกิจกรรม playgroup ทุกเช้าได้ เราเห็นเด็กไปโรงเรียนแล้วมีความเครียด ต้องเรียนกวดวิชาที่เป็นวิชาการเยอะแยะ เลยมีกิจกรรมหลายอย่างที่ให้เด็กเรียนรู้อย่างสนุก ทั้งทำอาหาร เต้นรำ ถ่ายรูป ฯลฯ ซึ่งก็เป็นโอกาสให้ครอบครัวหรือคุณแม่ได้เจอเพื่อนด้วย ในส่วนของ Little Pea ก็เปิดมาพร้อม theCOMMONS เลย ก็มีความท้าทายว่าพอเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ แล้ว กิจกรรมที่มีอยู่ก็เด็กเกินไปสำหรับเขา เราก็ต้องพยายามหาลูกค้าใหม่ตลอดเวลาเพื่อมีฐานลูกค้าที่มั่นคงต่อไปเรื่อยๆ

ภาพปาร์ตี้ในนิยามของ theCOMMONS แตกต่างจากอีเวนต์สังสรรค์และกินดื่มของที่อื่นยังไง 

เราจัดอีเวนต์ประจำปีชื่องาน Block Party ซึ่งจัดมาตลอดทุกปียกเว้นช่วงโควิด-19 ชวนผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่มีความตั้งใจดีและน่าสนใจมาในงาน ชวนผู้คนมาปาร์ตี้สังสรรค์กันและแนะนำร้านค้าเหล่านี้ให้ได้รู้จัก ไม่เฉพาะร้านค้าที่อยู่กับเราเท่านั้นแต่พยายามชวนเพื่อนบ้านมาด้วย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่เราจัดงาน Block Party ในธีมรักษ์โลก Reseries ด้วย ก็เป็นปาร์ตี้ที่มีสิ่งที่อยากสื่อสารออกไป 

ทำไมถึงทำมัลติแบรนด์ของตัวเองในชื่อ All Kinds 

เริ่มสังเกตว่ามีผู้ประกอบการรายเล็กที่ขายของผ่านอินสตาแกรมโดยไม่มีหน้าร้านแต่มีสินค้าที่น่าสนใจและทำในสิ่งที่คืนกลับสู่สังคม เลยรู้สึกว่าอยากเป็นแพลตฟอร์มหรือกระบอกเสียงให้แบรนด์ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพใจหรือกาย รวม all kinds of product by all kinds of kind people ของกลุ่มคนใจดีที่ทำธุรกิจหลายอย่าง เริ่มเปิดตั้งแต่กุมภาพันธ์ปีที่แล้วในช่วงโควิด-19 เป็น retail collective อันแรกเลยที่เราลองทำ มีการเรียนผิดเรียนถูกเยอะมากทั้งการหาสินค้ามาวางที่ร้านหรือการจัดดิสเพลย์สินค้า (visual merchandising) ก็เป็นสิ่งที่เรายังไม่ได้เก่ง ก็ค่อยๆ ปรับและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ 

การทำรีเทลแตกต่างจากการทำคอมมิวนิตี้มอลล์ยังไง 

การทำรีเทลจะเป็นการสร้างประสบการณ์ในร้าน คิดว่าจะเล่าเรื่องยังไงให้ลูกค้าเข้าใจและชื่นชอบแบรนด์ของเรา ซึ่งการทำ theCOMMONS และกิจกรรมต่างๆ ของเราก็มีความคล้ายรีเทลในส่วนของการสร้างประสบการณ์และการสื่อสารว่าทำไมถึงควรมาที่นี่ ความแตกต่างคือปฏิสัมพันธ์ของลูกค้าที่เข้ามาในรีเทลจะมีระยะเวลาสั้นกว่า เดินเข้ามาในร้านเดียวแล้วจ่ายเงิน ส่วนปฏิสัมพันธ์ของคนที่เข้ามาในคอมมิวนิตี้มอลล์จะนานกว่า ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสดีที่มีระยะเวลายาวนานในการสร้างสิ่งที่คอนเนกต์กับลูกค้า

ผู้ประกอบการรายเล็กที่คุณเลือกมาอยู่ใน theCOMMONS เป็นสเกลไหนบ้าง  

มีหลายสเกล แบรนด์ที่วางขายใน All Kinds คือแบรนด์น้องใหม่ที่ขนาดเล็กมาก มีหลายรายที่ยังไม่เคยมีหน้าร้านเลยหรือเพิ่งเปิดได้ไม่นาน ไม่มีทีม ทำ 1-2 คน และยังมีสินค้าไม่เยอะ ส่วนตลาดป๊อปอัพที่ตอนนี้กำลังทำเป็นอีกโปรเจกต์หนึ่งที่สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่นทั้งขนาดเล็กและกลาง ขนาดกลางหมายถึงคนที่ทำธุรกิจมาแล้ว 2-3 ปี บางคนอาจมีหน้าร้านของตัวเองอยู่แล้ว เป็นคนที่อยากขยายเพิ่มหรือมีความตั้งใจดีและเป็นแบรนด์ที่น่าสนใจ 

การมี 2 สาขาที่ตั้งอยู่ในคนละย่านอย่างทองหล่อและศาลาแดงทำให้คุณออกแบบพื้นที่ของคอมมิวนิตี้แตกต่างกันยังไง  

สาขาศาลาแดงอยู่ใจกลางโซนออฟฟิศทำให้มีกลุ่มคนทำงานเยอะ ในขณะที่สาขาทองหล่อจะมีกลุ่มคนทำงานฟรีแลนซ์และครอบครัวมากกว่า ซึ่งพอเปิดมาแล้วก็พบว่าทั้งจริงและไม่จริง เพราะหลังเปิดสาขาศาลาแดงได้ 2 อาทิตย์ก็เจอโควิด-19 เลยทำให้พนักงานออฟฟิศหายหมดเลย แต่ช่วงนี้คนกลุ่มนี้ก็เริ่มกลับมาแล้ว นอกจากพนักงานออฟฟิศ ที่ศาลาแดงยังมีนักท่องเที่ยวและครอบครัวที่อาศัยแถวนั้น รวมถึงนักศึกษาและวัยรุ่นที่มาตอนเย็นและวันธรรมดา 

พอกลุ่มคนที่มาไม่เหมือนกัน พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละสาขาก็ต่างกัน การใช้เวลาของคนทำงานและนักศึกษาที่ศาลาแดงจะเป็นอีก pace หนึ่ง ไม่เหมือนคนที่ทองหล่อซึ่งมักมานั่งเป็นเวลานานและทำงานไปด้วยแบบชิลล์ๆ ดังนั้นแทนที่เราจะพยายามบังคับให้องค์ประกอบทุกอย่างของสองสาขาเหมือนกัน เราก็พยายามปรับการนำเสนอสถานที่และกิจกรรมให้เข้ากับลูกค้าในย่านนั้น

ถ้านึกถึงสถาปัตยกรรมของ theCOMMONS ศาลาแดงก็จะมีความทึบและโมเดิร์นกว่าที่ทองหล่อซึ่งเรื่องความทึบเป็นสิ่งที่เรากำลังจะปรับ เรียนรู้ว่าลูกค้าที่มา theCOMMONS ชอบความโปร่งที่มองเห็นกันและกัน ตอนนี้เพิ่งรีโนเวตชั้นหนึ่งไปและมีแผนอยากรีโนเวตชั้นบนทั้งชั้นเพราะอยากให้มีความเชื่อมทะลุที่มองเห็นกันมากขึ้นและมีที่นั่งเอาต์ดอร์มากขึ้นให้รู้สึกว่ามีพื้นที่นั่งข้างนอกด้วย เอาพื้นที่สีเขียวมาเติมเข้าไป โดยรวมคืออยากให้คนได้มาใช้เวลากับเรามากขึ้นกว่าเดิม

คุณแก้ปัญหาช่วงวิกฤตในตอนที่เพิ่งเปิดสาขาใหม่แล้วเจอโควิด-19 ยังไง

เป็นช่วงที่หนักมากและต้องปรับหลายอย่าง เราพยายามสนับสนุนผู้เช่าให้ได้มากที่สุดเพราะหลายคนเป็นเจ้าใหม่ที่เพิ่งเปิด เป็นร้านแรกของเขา เราก็สนับสนุนโดยการไม่คิดค่าเช่าหรือลดค่าเช่าตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าเราก็สามารถช่วยให้บางคนอยู่ได้จนถึงตอนนี้ แต่ก็ไม่สามารถช่วยทุกคนได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องเศร้าที่มีผู้ประกอบการหลายคนที่สินค้าดีมากแต่เขาก็ไม่รอดในช่วงโควิด 

พอเราช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ เราเองก็ลำบากมาก การบริหารจัดการเงินในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เครียดที่สุดว่าทำยังไงให้สามารถพยุงให้อยู่ต่อไปได้ในระยะ 2-3 ปี ต้องขอความช่วยเหลือกับคนหลายกลุ่มมากทั้งธนาคารและนักลงทุนรวมถึงกับซัพพลายเออร์ต่างๆ ในช่วงลำบากก็เป็นช่วงที่ได้เห็นถึงความมีน้ำใจของหลายคนซึ่งเป็นสิ่งที่ซึ้งมาก ทั้งทีมของเราเองและผู้ประกอบการต่างก็พยายามช่วยกันและกัน 

Common Things ของ theCOMMONS’ People ไม่ว่าจะเป็นผู้เช่าและทีมในบริษัทคืออะไร  

kind และ care ในการช่วยเหลือคอมมิวนิตี้และสิ่งรอบตัว มีความเอาใจเขามาใส่ใจเราและนึกถึงคนอื่น เปิดใจและเปิดกว้างที่จะรับฟัง หลายคนอาจไม่ได้เป็นคนเอกซ์โทรเวิร์ตแต่อยากคอนเนกต์กับผู้คน เวลาร้านไหนมีปัญหา ร้านข้างเคียงก็จะมีความแอ็กทีฟในการช่วยเหลือกันและกัน ช่วยกันปรับที่หน้างานตามสิ่งที่เจ้าของร้านเห็นจากพฤติกรรมลูกค้า บางทีทีมเรามีไอเดียอะไร พอเจอผู้เช่าก็จะปรึกษากัน หรือช่วงไหนที่เจ้าของร้านรู้สึกว่าคนไม่ค่อยมาเลย ช่วยถ่ายรูปเมนูนี้ลงสตอรีในโซเชียลมีเดียให้หน่อยได้ไหมก็มาโยนไอเดียกัน เราอาจไม่ได้เหมือนที่อื่นที่มีปฏิทินลงคอนเทนต์ฟิกซ์ไว้อย่างจริงจัง ที่นี่เราจะช่วยเหลือกันแบบ very community-based มากๆ

ในระยะยาวเห็นภาพคอมมิวนิตี้มอลล์ในฝันเป็นยังไง 

ภาพในฝันเลยคือเป็นคอมมิวนิตี้ที่ kind และการใช้ชีวิตรักโลกกลายเป็นเรื่องง่ายในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ฝันคือจะมีบริการ reusable container เวลาสั่งอาหารเดลิเวอรีร้านค้าก็จะส่งคอนเทนเนอร์นี้มาที่บ้าน ทานเสร็จแล้วสามารถล้างได้ที่จุด drop off ที่คอนโดหรือร้านสะดวกซื้อต่างๆ มีบริการรับคอนเทนเนอร์เหล่านี้กลับไปล้างพร้อมนำกลับมาส่งให้ร้านอาหาร ไม่มีอะไรที่ใช้แล้วทิ้งอีกต่อไป ยกระดับไปถึงขั้น no waste จริงๆ

ตอนนี้การทำดีมันอาจดูยาก ต้องสู้ตายประมาณหนึ่ง อยากไปถึงจุดที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนได้จริง ให้รู้สึกว่าทำดีนั้นทำง่าย คนอาจจะเริ่มทำสิ่งเหล่านี้จากการมา theCOMMONS ก่อนแล้ววันหนึ่งเขาอาจเอาพฤติกรรมนี้ เช่น การพกกระติกน้ำหรือการรีไซเคิลไปใช้กับที่อื่นได้เหมือนกัน ปลายทางก็อยากให้เป็นอย่างนั้น 

What I’ve Learned

  • Kind Purpose มั่นคงกับความตั้งใจแรกที่ทำธุรกิจในการสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กและการยกระดับ
  • Kind with Stakeholders ใส่ใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคอมมิวนิตี้ทั้งผู้เช่า ลูกค้า คนในย่าน ทุกคนในแต่ละบทบาทพร้อมช่วยเหลือกันเวลามีปัญหา
  • Kind with Neighborhood คำนึงถึงอิมแพกต์ที่ธุรกิจสามารถสร้างให้ย่านได้และผลกระทบต่อโลกในสเกลใหญ่
  • Thalassomer แบรนด์ไลฟ์สไตล์ของสอง influencer นักเล่นเซิร์ฟที่บอกต่อไอเทมโปรดจากการใช้เอง

    อินสตาแกรมของสองสาวนักเล่นเซิร์ฟ @vhernvhern และ @wacayeveryday ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมโต้คลื่นและรูปสดใสริมทะเลชวนให้สะดุดตา 

    การติดตามพวกเธอในโซเชียลมีเดียทำให้รู้จักแบรนด์ชื่อเก๋อย่าง Thalassomer ที่ขายสินค้าเฉพาะทางอย่างครีมกันแดดจากต่างประเทศที่สามารถเป็นรองพื้นได้เวลาเล่นกีฬาเอกซ์ตรีมทางน้ำ, วิตามินกันแดดที่ป้องกันผิวไหม้, แบรนด์ของเพื่อนๆ นักเล่นเซิร์ฟที่พวกเธอรวบรวมสินค้ามาไว้ในร้านและร่วมออกแบบให้มีลวดลายน่ารักสดใสถูกใจผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นหมวกสำหรับคนเล่นเซิร์ฟโดยเฉพาะและเซิร์ฟบอร์ด

    เหวิน–ธารินี ตฤติยศิริ และ ยุ้ย–วิจิตรา คูวิสิษฐ์โสภิต ขายสินค้าไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลและกิจกรรมเอาต์ดอร์มา 5 ปีแล้วจากจุดเริ่มต้นในความชื่นชอบเล่นเซิร์ฟเป็นงานอดิเรก โดยมีสินค้าหลักอย่างครีมกันแดดและสินค้าที่ตั้งต้นออกแบบจากความชอบของทั้งสองคนทำให้ลูกค้าของพวกเธอส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงซึ่งแตกต่างจากร้านมัลติแบรนด์สปอร์ตทั่วไป 

    ทั้งคู่เดินทางไปเล่นเซิร์ฟที่หลากหลายประเทศ ลองผิดลองถูกในการหาซื้อของใช้ที่ตอบโจทย์ด้านฟังก์ชั่นสำหรับไลฟ์สไตล์ริมทะเล เมื่อใช้เองจนถูกใจก็แนะนำเพื่อนฝูงและตกลงทำธุรกิจร่วมกันอย่างจริงจัง เริ่มจากออกบูทขายริมทะเลที่งาน surf festival ขยับขยายด้วยการส่งสินค้าไปวางขายที่โรงเรียนสอนเซิร์ฟตามเขาหลัก ภูเก็ต ระยอง ฯลฯ รวมถึงคอนเซปต์สโตร์ด้านสปอร์ตชื่อดังอย่าง Ripcurl และ Sea Concept Store เบื้องหลังความสำเร็จในการทำธุรกิจจากแพสชั่นคือการไม่ได้มุ่งเน้นขายของอย่างเดียวแต่ทำคอนเทนต์ส่งต่อความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์เซิร์ฟให้มือใหม่รวมถึงสร้างคอมมิวนิตี้เพื่อ empower สาวๆ ในวงการเซิร์ฟด้วย

    เมื่อคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ Thalassomer ก็พบกับกลิ่นอายทะเลและความสดใสจนต้องส่งข้อความทักทั้งคู่มาชวนคุย

    ชื่อแบรนด์ Thalassomer แปลว่าอะไร 

    เหวิน : Thalassomer มาจาก 2 คำ คือ thalasso มีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณแปลว่าทะเลและ thalassophile ก็แปลว่าผู้คนที่รักทะเลด้วยเช่นกัน บวกกับคำว่า somer แปลว่า summer และเป็นคำสแลงที่มีความหมายแฝงคือผู้หญิงติดดิน เราชอบความหมายของคำนี้เลยเอาคำมารวมกัน แปลว่า the sea with never ending summer อยากให้มีฤดูร้อนตลอดทั้งปี จะได้เล่นเซิร์ฟได้ตลอด

    การชอบเล่นเซิร์ฟทำให้คุณทั้งสองคนมาทำธุรกิจด้วยกันได้ยังไง

    เหวิน : เราสองคนรู้จักกันจากการเล่นเซิร์ฟ เจอกันที่ระยองแล้วถูกชะตาเลยเล่นเซิร์ฟด้วยกันมาเรื่อยๆ เวลาเราไปเซิร์ฟที่ต่างประเทศ เช่น บาหลีหรือญี่ปุ่น จะเห็นอุปกรณ์ surf gear ที่น่ารักและมีสีสันสดใสในขณะที่เมืองไทยมีแต่สีดำ รู้สึกว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเซิร์ฟเป็นของเฉพาะทางซึ่งประเทศไทยยังไม่มีหรือถ้ามีก็น้อยมากและไม่ค่อยน่ารัก ไม่ถูกใจผู้หญิง พอเราหาของเหล่านี้มาเรื่อยๆ สำหรับใช้เอง เพื่อนรอบตัวก็เริ่มสนใจเลยคิดว่านำเข้ามาขายเองดีกว่า เกิดเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากทำแบรนด์ด้วยกัน 

    ยุ้ย : เวลาเราไปญี่ปุ่นเจออุปกรณ์เซิร์ฟน่ารักก็จะซื้อกลับมาลองใช้ เราลองมาเยอะจริงๆ พอใช้อะไรแล้วชอบก็จะเข้าไปดูในอินสตาแกรม ลองทักไปถามเขาว่าเราสนใจมากเลย ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ไหม จากจุดนั้นเราก็เริ่มสั่งของเข้ามา 

    คุณใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกสินค้ามาขายในร้าน

    เหวิน : คอนเซปต์คือของที่เราสองคนลองใช้แล้วแฮปปี้จึงนำมาขาย  ส่วนใหญ่เป็นของที่ยุ้ยเจอแล้วเหวินทดลอง ความตั้งใจตั้งแต่แรกของเราคือเป็นมัลติแบรนด์ที่อยากเป็นเพื่อนกับทุกคนที่อยู่ในวงการเซิร์ฟ เราเลยคิดว่าถ้าร้านในไทยเอาสินค้าแบบไหนมาขายแล้ว เราก็จะไม่แย่งขายแบบเดียวกัน เลยเลือกขายผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นหลักเพราะดูจากตลาดแล้วประเทศไทยยังไม่มีครีมกันแดดสำหรับคนเล่นเซิร์ฟเลย แต่เซิร์ฟบอร์ด หรืออุปกรณ์เซิร์ฟต่างๆ มีขายในช็อปบ้างแล้วเลยพยายามหาสินค้าหลักของเราที่ไม่เป็นคู่แข่งกับคนอื่น

    สินค้าแปลกใหม่ที่คุณลองใช้แล้วแฮปปี้จึงนำมาขายเป็นสินค้าแบบไหน ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

    ยุ้ย : วิตามินกันแดดแบรนด์ไทยที่นำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นชื่อ Sunaway เพื่อนแนะนำให้ลองดูเพราะเห็นว่าเราเล่นเซิร์ฟ เราก็ลองกินดู ปรากฏว่าผิวไม่ไหม้ 

    เหวิน : รู้จักวิตามันกันแดดจากยุ้ย เห็นยุ้ยรีวิวและพอลองกินแล้วมันได้ผลเลยเอามาขาย เป็นสินค้าตัวแรกที่เรานำเข้ามาช่วงปี 2018 ที่กำลังเริ่มคัดของเข้ามาขายในร้าน ลูกค้าที่มาซื้อกับเราก็จะเป็นกลุ่มเซิร์ฟเฟอร์แต่ที่จริงแบรนด์ Sunaway มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลายมากอย่างคนในเมืองที่กลัวผิวเสีย เวลาเราอยู่ในเมือง ถ้าวันไหนต้องออกแดดเยอะๆ ก็กินตัวนี้แทนการทากันแดดบ้างเหมือนกัน 

    ครีมกันแดดสำหรับคนทำกิจกรรมทางทะเลแตกต่างกับครีมกันแดดทั่วไปยังไง

    เหวิน : ย้อนกลับไป 6-7 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่เข้าใจว่าเวลาเล่นเซิร์ฟจะใช้ครีมกันแดดธรรมดาทั่วไปไม่ได้ เพราะเอาไม่อยู่ ใช้แล้วหน้าไหม้ หลังไหม้ ตัวไหม้กันมาตลอด เราจึงเริ่มสังเกตว่าที่ต่างประเทศใช้ครีมกันแดดแบบไหนกันทำให้เริ่มรู้จักคำว่า surf zinc

    ต้องอธิบายก่อนว่า ครีมกันแดดมี 2 ประเภท คือ chemical และ physical sunscreen กันแดดที่ใช้กันทั่วไปเป็นแบบ chemical ที่ต้องรออย่างน้อย 20 นาที เพื่อให้ครีมทำปฏิกริยากับผิวก่อนถึงสามารถกันแดดได้ ส่วนแบบ physical คือกันแดดที่ไม่ต้องรอ 20 นาที เพราะทาแล้วจะเคลือบบนผิวทันที ทำหน้าที่สะท้อนรังสียูวีออกไป ส่วนผสมจะเป็นซิงค์ออกไซด์กับไทเทเนียมออกไซด์ที่เป็นแร่ธรรมชาติ เรียกอีกอย่างว่า surf zinc

    นักเซิร์ฟในต่างประเทศมีวัฒนธรรมทาครีมกันแดดหนาๆ มานานแล้ว เขาพยายามคิดค้นกันแดดที่ติดแน่น ทนนานอยู่บนใบหน้าให้ได้มากที่สุด เพราะเวลาเซิร์ฟ เราอยู่ในทะเลนานกว่า 2 ชั่วโมง ต้องตกน้ำ เอามือลูบหน้า ถ้ากันแดดบางจะหลุด โดยเฉพาะคนที่ลูบหน้าบริเวณ T-zone บ่อยๆ จึงได้คิดค้น surf zinc ที่ผสมขี้ผึ้งทำให้ติดทนนานขึ้น

    การทากันแดดเป็นแถบสีที่หน้าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของเซิร์ฟเฟอร์หรือเปล่า

    เหวิน : ส่วนประกอบสำคัญของ surf zinc เป็นแร่สีขาว ในยุคแรกเลยต้องทาทั้งหน้าเป็นสีขาวเหมือนคาบูกิ บางคนเลยเลือกทาแค่เฉพาะบางส่วนพอ กว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาเป็นเฉดสีที่เข้ากับสีผิวมากขึ้นก็ในยุคหลังแล้วซึ่งทำให้สามารถทาทั้งหน้าได้ ส่วนบางคนที่ยังชอบทากันแดดเป็นแถบสีสันต่างๆ คล้ายชนเผ่าอยู่ในทุกวันนี้น่าจะเป็นเพราะจากพฤติกรรมของเซิร์ฟเฟอร์เองที่ขี้เกียจโบกกันแดด เช่น สำหรับผู้ชายที่ไม่ชอบทากันแดด พอเขาเห็นคลื่นกำลังมาและกลัวว่าถ้าช้ากว่านี้คลื่นจะหายเลยคว้าบอร์ดแล้วลงน้ำเลย แต่สุดท้ายพอโดนแดดจะมีจุดที่ผิวไหม้แล้วทรมานคือบริเวณจมูก โหนกแก้ม หน้าผาก บางคนเลยเลือกทาแค่เฉพาะส่วนเป็นแถบๆ 

    ผ่านการลองผิดลองถูกในการคัดเลือกแบรนด์ครีมกันแดดมายังไงบ้าง

    เหวิน : เคยลองใช้ครีมกันแดดแบบ surf zinc ที่เน้นสีสันเยอะๆ ตอนแรกคิดว่าจะนำมาขายเพราะมีกิมมิกพอสมควร เคยลองทั้งแบรนด์ของออสเตรเลีย รวมถึงครีมกันแดดหลอดของอเมริกาและบาหลีที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ แต่พอลงน้ำแล้วมันเละเทะและหลุดง่ายมาก

    ตอนบินไปบาหลีรู้จักแบรนด์กันแดด surf zinc แบบตลับที่ติดทนแน่นมาก แต่ด้วยความเป็นออร์แกนิกเลยมีแค่สีเดียวคือสีเผือกและมีส่วนผสมเป็นเมล็ดโกโก้ เนื้อครีมจึงหยาบและใช้ยาก ผู้ชายจะชอบกันแต่ผู้หญิงอาจไม่ชอบ เลยไม่ได้เอามาขายต่อ

    สำหรับผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราขายอยู่ตอนนี้จะมี 2 แบรนด์คือ Cocosunshine กับ Surfmud โดยเน้นขาย Cocosunshine ของญี่ปุ่นเป็นหลัก รู้จักแบรนด์นี้จากยุ้ยที่เคยอยู่ญี่ปุ่นมาก่อน ลองใช้แล้วค่อนข้างถูกจริตกับเรา เพราะมีความหลากหลาย เป็นกันแดดที่มีพาเลตต์เหมาะกับหลายเฉดสีผิว คิดว่าน่าจะทำให้คนไทยรู้สึกสนใจได้ง่ายกว่า

    ทำไมสุดท้ายคุณถึงเลือกขายครีมกันแดดเพียงไม่กี่แบรนด์แทนการนำเสนอตัวเลือกแบรนด์จากหลายประเทศให้ลูกค้า 

    เหวิน : พอมีตัวเลือกเยอะเกินไปทำให้ลูกค้าสับสน สุดท้ายเราจะเหนื่อยเองในการอธิบายความแตกต่าง ช่วงแรกเคยนำครีมกันแดดแบบ chemical ที่เป็นโลชั่นธรรมดามาขาย แต่พอเราเป็นร้านเฉพาะทางและมีกลุ่มคนติดตามเป็นคนเล่นเซิร์ฟ ปรากฏว่าพอลูกค้าซื้อไปแล้วใช้ผิดวิธี คือทาแล้วไม่ได้รอ 20 นาทีให้โลชั่นซึมเข้าผิวก่อนเล่นกิจกรรมทางน้ำทำให้หน้าไหม้ เราเลยตัดสินใจว่าไม่ขายครีมกันแดดแบบ chemical ดีกว่าเพื่อป้องกันความสับสน เคยรับครีมกันแดดแบรนด์ไทยแบบ physical ที่เนื้อดีมากทัดเทียมแบรนด์ Cocosunshine มาขายสำหรับเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าด้วย แต่เวลาซื้อลูกค้าก็จะเกิดคำถามว่าตัวไหนดีกว่า เป็นตัวเลือกที่ทำให้ลูกค้าลังเลมากเกินไปเลยตัดออก

    แล้วแบรนด์ Cocosunshine และ Surfmud ตอบโจทย์ลูกค้าแตกต่างกันยังไง

    เหวิน : เป็นเรื่องพาเลตต์สีที่เราอยากตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหลากหลายสีผิว จุดแข็งของ Cocosunshine คือเป็นครีมกันแดดที่มีเฉดสีผิวของคนเอเชีย แบรนด์กันแดดของออสเตรเลียและอเมริกาจะมีเนื้อดีใกล้เคียงกันแต่เป็นเฉดสีผิวโทนเย็นของฝรั่ง คนเอเชียทาแล้วจะหน้าลอย

    มีสี Coconut White เป็นสีขาวออริจินัล Mango Brown สำหรับคนผิวแทนที่ออกแดดหน่อย เฉดสีอ่อน Honey Ocher สำหรับคนผิวสีขาวอมชมพู และ Snow Clear เป็นสีใส ทาแล้วเกลี่ยเนียนไปกับผิวเลย ความจริงสีสุดท้ายนี้เขาทำมาสำหรับคนเล่นสโนว์บอร์ดไม่ใช่เซิร์ฟ แต่มีคนใช้กับเซิร์ฟเหมือนกัน เพราะกันน้ำและกันเหงื่อได้แบบเอกซ์ตรีมเหมือนกัน 

    ส่วน Surfmud เป็นแบรนด์ที่เรานำเข้ามาเพื่อตอบโจทย์เซิร์ฟเฟอร์ที่เล่นเซิร์ฟมาสักพักแล้วสีผิวจะคล้ำขึ้นเกินเฉด Mango Brown ของ Cocosunshine เราจึงนำ Surfmud จากออสเตรเลียเข้ามา ซึ่งเป็นเฉดที่เข้มที่สุดในบรรดากันแดดทุกอันที่เราลองมาแล้ว ตัวเนื้อครีมเกลี่ยง่ายเหมือนกันแต่เหนียวกว่านิดหน่อย เหมือนทารองพื้นที่หนาขึ้นหน่อย

    อะไรคือความท้าทายของการขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก

    เหวิน : เหนื่อยที่ต้องสื่อสาร ด้วยความที่เป็นของใหม่ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากในการให้ความรู้ใหม่กับคนไทย เราต้องทำเว็บไซต์ วิดีโอ บล็อก เพื่อสื่อสารและให้ความรู้ลูกค้าอย่างหนัก เพราะไม่มีใครรู้จัก surf zinc มาก่อน ลูกค้าที่เข้ามาหาเราส่วนใหญ่เพราะเชื่อใจเรา รู้ว่าเราใช้จริง เขาเชื่อว่าถ้าซื้อครีมกันแดดกับเราแล้วหน้าจะไม่ไหม้ เราเชื่อว่าถ้าให้ความสำคัญกับคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นอันดับหนึ่ง ยังไงเราก็อยู่ได้ คุณภาพสินค้าดีทำให้ลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปาก พอเราสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ก็เหนื่อยน้อยลง แต่ปัญหาใหม่ก็เข้ามาคือคู่แข่ง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่อย่างนั้นวงการเซิร์ฟก็จะไม่โต

    สินค้าหมวดอื่นที่นำเข้ามาขายและผลิตเองมีอะไรบ้าง

    เหวิน : สินค้าที่เราทำเองมีหมวก กระเป๋าผ้า เสื้อยืด สติ๊กเกอร์ ตัวรีดติดเสื้อ เครื่องประดับ และนำเข้าอุปกรณ์เซิร์ฟต่างๆ อย่างเซิร์ฟบอร์ด, ผ้าคลุมเบาะรถสำหรับพร้อมขึ้นรถหลังจากเล่นเซิร์ฟแล้วตัวเปียก, wax comb ไว้ใช้สำหรับถูไม่ให้เซิร์ฟบอร์ดลื่นซึ่งมีทั้งแบรนด์ต่างประเทศและแบรนด์ไทย

    ยุ้ย : ส่วนใหญ่จะเลือกสินค้าที่มาเติมเต็มในสิ่งที่ยังไม่มี เคยมีความคิดจะทำชุดว่ายน้ำแต่ถูกเหวินเบรกไว้ เหวินมีประสบการณ์เคยทำแบรนด์ชุดว่ายน้ำก่อนมาทำ Thalassomer คุยกันแล้วก็คิดว่ารอรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมดีกว่า

    ทำไมร้านที่ขายสินค้าหลากหลายเกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลถึงยังไม่เลือกโฟกัสการผลิตชุดว่ายน้ำขายเอง ความยากคืออะไร 

    เหวิน : ฟังก์ชั่นชุดว่ายน้ำสำหรับเซิร์ฟจะมีรายละเอียดมากมาย คนไทยหลายคนยังไม่เข้าใจว่าเวลาเซิร์ฟ ถ้าใส่ฟองน้ำในชุดว่ายน้ำรัชการ์ดแขนยาว ยังไงฟองน้ำก็หลุดหายไปกับน้ำแน่นอน ถ้าไม่หลุดก็เลื่อน เพราะคลื่นแรง มันไม่เหมือนชุดว่ายน้ำทั่วไปเวลาเราว่ายน้ำธรรมดา และอีกเหตุผลคือคู่แข่งเยอะ อยากโฟกัสขายสินค้าที่เราถนัดก่อน ตอนนี้เลยให้ความสำคัญกับครีมกันแดดเป็นอันดับหนึ่ง

    นอกจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ทำไมคุณถึงเลือกทำสินค้า collaboration กับแบรนด์อื่นและไม่เลือกผลิตเองเต็มตัว

    เหวิน : แทนที่จะผลิตเองหรือนำเข้าแบรนด์อื่นแล้วมาเป็นคู่แข่งกับเพื่อนในวงการเซิร์ฟ เราก็เลือกที่จะทำร่วมกับแบรนด์ที่เป็นพันธมิตรกับเราดีกว่า

    ที่ผ่านมา collaboration กับแบรนด์อะไรมาบ้าง

    เหวิน : คอลเลกชั่นแรกคือหมวกที่ร่วมทำกับแบรนด์ Beach Boy Commu ซึ่งเป็นแบรนด์ไทยเจ้าแรกที่ทำหมวก bucket hat ที่สามารถสวมแล้วล็อกและพร้อมลงไปเซิร์ฟได้โดยไม่ต้องกลัวหมวกหลุด ผ้าแห้งไว ทำมาเพื่อกิจกรรมทางน้ำโดยเน้นเซิร์ฟเป็นหลัก แต่ก็จะมีกลุ่มคนดำน้ำเอาไปใช้ด้วย เพราะช่วยเก็บไรผมได้ดี บางทีพอดำน้ำแล้วไรผมเข้าหน้ากากจะทำให้น้ำเข้า ซึ่งหมวกตัวนี้ช่วยได้ พอมีเพื่อนคนหนึ่งที่ใส่หมวกนี้ไปดำน้ำแล้วถ่ายรูปลงโซเชียล ก็เริ่มมีกระแสใส่หมวกดำน้ำแล้วคนเริ่มบอกต่อ ตอนนั้นขายดีมากจนขาดตลาดไปช่วงหนึ่ง 

    เวลา collaboration กับแบรนด์อื่น คุณใส่ตัวตนของแบรนด์ Thalassomer เข้าไปยังไง

    ยุ้ย : เริ่มจากความชอบของตัวเองก่อนแล้วค่อยๆ กรองว่าแบบไหนที่เหมาะกับแบรนด์เรา ขึ้นอยู่กับคอนเซปต์ในแต่ละปี อย่างหมวกที่ทำกับ Beach Boy Commu รุ่นแรกข้างนอกเป็นสีเหลือง ข้างในเป็นลาย surf girl ที่เหวินเป็นคนวาด พอเป็นหมวกรุ่นที่ 2 ก็จะเป็นสีโทนพาสเทล Paddle Pop สีเหลือง ฟ้า ชมพูอ่อน ตอนนั้นเรารู้สึกว่า Thalassomer เป็นสามสีนี้ จนตอนนี้อยากได้หมวกลายดอกไม้ ก็มาคิดว่าทำยังไงให้ดอกไม้มาอยู่บนผลิตภัณฑ์แล้วเป็นเรา ทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา

    เหวิน : เรียกว่าดีไซน์จากความรู้สึกตัวเอง เพราะ Thalassomer คือเหวินกับยุ้ย เราก็ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในดีไซน์ ล่าสุดเราทำตัวรีดเสื้อในคอลเลกชั่นชื่อ Shroom Surf & Friends เป็นรูปเห็ดที่เราดีไซน์เองแล้วไปแปะกับแบรนด์อื่น ทั้งแบรนด์หมวกอย่าง Beach Boy Commu และแบรนด์เซิร์ฟบอร์ดอย่าง Suket ทำเพื่อเติมเต็มผลิตภัณฑ์อื่นให้มีกิมมิก

    คอลเลกชั่นเซิร์ฟบอร์ด Suket x Thalassomer มีที่มายังไง

    เหวิน : พอมีหมวกแล้วก็คิดว่าเราควรมีเซิร์ฟบอร์ดด้วย ก็เลยมีคอลเลกชั่นที่ทำกับ Suket แบรนด์เซิร์ฟบอร์ดของบาหลีที่เราและหุ้นส่วนร่วมกันนำเข้า ซึ่งคาแร็เตอร์ของเเบรนด์นี้จะถนัดเซิร์ฟบอร์ดแบบ longboard เดิมทีเราสองคนเล่น longboard ของแบรนด์นี้อยู่แล้วด้วย เซิร์ฟบอร์ดมีหลายประเภท ทั้ง shortboard, mid-length และ longboard ส่วน longboard ก็จะแบ่งประเภทยิบย่อยไปอีก เช่น แบบ performance หรือ log ซึ่งเหวินจะมีความรู้ด้าน longboard ทำให้สามารถตอบคำถามลูกค้าได้ ถ้าเป็นเซิร์ฟบอร์ดประเภทอื่นๆ อาจไม่มีความรู้มากนัก เลยเลือกขายบอร์ดสไตล์ที่เราสองคนเล่นอยู่แล้วดีกว่า ล่าสุดได้ทำลายพิเศษในคอลเลกชั่นลิมิเต็ด Shroom Surf & Friends ซึ่งเป็นลายเดียวกันกับหมวกที่ทำร่วมกับ Beach Boy Commu นั่นเอง

    ลูกค้าของ Thalassomer เป็นคนกลุ่มไหน 

    เหวิน : ด้วยสินค้าหลักอย่างกันแดดที่ใช้เป็นรองพื้นเวลาทำกิจกรรมทางทะเล ลูกค้าก็จะเป็นผู้หญิงมากกว่าแต่ผู้ชายก็ใช้ได้เหมือนกัน ที่จริงผลิตภัณฑ์ของเราอาจไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคนทำกิจกรรมทางทะเลอย่างเดียวเท่านั้น กลุ่มคนเล่นกิจกรรมกลางแจ้งก็ใช้ได้ ทั้งจักรยาน ปีนเขา คนรักกิจกรรมเอาต์ดอร์ เพียงแค่กลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนรักทะเล เล่นเซิร์ฟ พายซัปบอร์ด เล่นวินเซิร์ฟ เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเล่นกีฬาเอกซ์ตรีม 

    วางขายสินค้าที่ไหนบ้าง 

    เหวิน : นอกจากออกบูทแล้ว ส่วนใหญ่วางขายที่โรงเรียนสอนเซิร์ฟและร้านที่เป็นเพื่อนหรือคอนเนกชั่นในวงการเซิร์ฟ เช่น Better Surf Thailand, Seapians Camp, Laem Yah Rayong Surf Club, Freedom Boardsports Phuket, Salt Surf Club ฯลฯ และ Ripcurl Flagship Store ส่วนร้านสายดำน้ำที่เพิ่งเพิ่มมาคือ Sea Concept Store ที่ขอให้เราส่งสินค้าให้แบบเอกซ์คลูซีฟเฉพาะร้านเขาเจ้าเดียวในวงการร้านดำน้ำเท่านั้น การที่มีร้านสายดำน้ำติดต่อมาหาเองทำให้เราเชื่อมั่นว่าแบรนด์เราเติบโตมาได้เพราะคุณภาพสินค้าจริงๆ คนรู้จักแบรนด์จากเวลาเพื่อนใช้แล้วดีจึงแนะนำต่อกันมา

    การเป็นอินฟลูเอนเซอร์นักเล่นเซิร์ฟในไทยช่วยให้ขายของง่ายขึ้นยังไง 

    เหวิน : อีเวนต์ที่ไปออกบูทขายของจะเป็นงานเล่นเซิร์ฟ ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับวงการนี้เรามักได้รับเชิญเพราะเป็นเซิร์ฟเฟอร์กลุ่มแรกๆ เหมือนเราได้รับเกียรติว่าถ้าเป็นงานเซิร์ฟ ต้องมีแบรนด์ Thalassomer ไปออกบูทนะงานถึงจะคอมพลีต ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกอีเวนต์ด้วยที่บอกว่าต้องมี Thalassomer ในงาน 

    บรรยากาศการออกบูทขายสินค้าริมทะเลที่ Surf Festival เป็นยังไง ต่างกับการออกบูทขายสินค้าในเมืองยังไง

    เหวิน : ด้วยความที่ Thalassomer ไม่ได้เป็นแค่ surf shop แต่เป็นคอมมิวนิตี้ที่ให้ความรู้กับเซิร์ฟเฟอร์ด้วย ลูกค้ามาที่บูทส่วนใหญ่จึงตั้งใจมาหาเราสองคน  บางคนไม่ได้รู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ เขาศึกษาสินค้าผ่านอินสตาแกรมมาและตั้งใจมาคุยกับเราเพื่อให้เราแนะนำเขาเพิ่มเติมว่าสินค้าอันนี้กับอีกอันต่างกันยังไง ลูกค้าเชื่อใจเรามากเพราะว่าเราสองคนใช้เอง

    คนเล่นเซิร์ฟหรือกำลังจะเริ่มเล่นที่รู้จักว่าเราสองคนเป็นเซิร์ฟเฟอร์ก็จะเข้ามาทักเพื่อถามนอกเรื่องในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการขายของ เช่น ถามหาโรงเรียนสอนเซิร์ฟ, เล่นเซิร์ฟยังไง เล่นยากไหม, ลงแวกซ์บนเซิร์ฟบอร์ดยังไง, ทำยังไงให้ผิวเเทนสวย, หน้าไหม้และลอกควรทำยังไงดี มีคนส่งข้อความเข้ามาถามเยอะมากจนเรารู้สึกว่าควรทำเพจเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้และเขียนเป็นบทความเพื่อให้ความรู้ประกอบการขายผลิตภัณฑ์ของเราไปเลย

    บรรยากาศเวลาไปออกบูทจะเหมือนไปเจอเพื่อน ตอนออกบูธครั้งเเรกที่เขาหลักในปี 2018 เราตั้งใจไปแบบสนุกๆ และไม่ได้คาดหวังอะไร เเทบไม่ได้อยู่เฝ้าบูธและทิ้งบูธลงไปเล่นเซิร์ฟด้วยซ้ำ เเต่กลายเป็นว่าทุกคนมาหาเพื่อจะขอทากันแดดสีขาวซึ่งกลายเปนกิมมิกของงานไปเลย บางทีคนกลุ่มใหญ่ที่มางานแล้วไม่มีที่นั่งพักผ่อน ก็มานั่งที่บูธเรา อุดหนุนของง่ายๆ อย่างสร้อยหรือตั้งใจมาหาเราที่บูธโดยเฉพาะ 

    ยุ้ย : บางคนก็มาคุยกันว่าช่วงนี้ไปเซิร์ฟที่ไหนดี ที่ไหนเป็นยังไงบ้าง มาแนะนำที่เล่นเซิร์ฟและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน คิดว่าถ้าเราไม่อยู่ตรงนั้น ลูกค้าอาจไม่กล้าถาม

    พอคนมองคุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คุณผลักดันคอมมิวนิตี้นักเล่นเซิร์ฟผู้หญิงยังไงบ้าง

    เหวิน : แฮชแท็ก #Thalassomer_surfergirls ในโซเชียลมีเดียเป็นโปรเจกต์ที่ทำตั้งแต่เริ่มแบรนด์เลย ช่วงแรกที่เล่นเซิร์ฟ พบว่าการจะมีผู้หญิงคนหนึ่งโผล่มามันยากมากเลย พอมีผู้หญิงน้อยมาก เวลาไปเจอผู้หญิงเล่นเซิร์ฟเราก็อยากรู้จัก แต่อยู่ดีๆ จะเข้าไปคุยเลยก็ไม่รู้ต้องทำยังไง เหวินเคยทำงานออฟฟิศในสายที่ไม่ได้มีบรรยากาศเฟรนด์ลี่มากนัก พอมาเจอยุ้ยที่เป็นคนเฟรนด์ลี่ ยิ้มแย้มแจ่มใสทำให้เราได้สนิทกัน เลยรู้สึกว่าวัฒนธรรมของเซิร์ฟเฟอร์ที่มีความเฟรนด์ลี่เป็นเรื่องดี การยิ้มและคุยกับคนเยอะขึ้นจะสร้างบรรยากาศที่ดีในน้ำได้ เวลารอคลื่นก็มีปฏิสัมพันธ์กันบ้าง ไม่ใช่แค่นั่งเจื่อนๆ อยู่ในน้ำ เลยทำ #Thalassomer_surfergirls ไปสัมภาษณ์ผู้หญิงเล่นเซิร์ฟที่เราเคยเจอเพื่อแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกัน เวลาไปเจอกันในน้ำทำให้คุยกันง่ายขึ้น เป็นการสร้างคอมมิวนิตี้

    นอกจากโพสต์แนะนำให้สาวๆ ที่เล่นเซิร์ฟรู้จักกันเองแล้ว เราอยาก empower ให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ยังลังเลหรืออยากลองเล่นเซิร์ฟแต่ไม่กล้า อยากทำให้เห็นว่าเซิร์ฟเป็นกีฬาที่ผู้หญิงก็เล่นได้นะ เมื่อก่อนเวลาเหวินและยุ้ยไปเล่นเซิร์ฟตามหาดต่างๆ มักเจอแต่ผู้ชายเต็มไปหมดทั้งคนท้องถิ่นและฝรั่ง บางทีเราถูกคุกคามด้วยสายตาและคำพูดจากการใส่ชุดว่ายน้ำ ยิ่งสมัยเล่นคนเดียว จะไม่กล้าใส่ชุดว่ายน้ำเลยด้วยซ้ำ ต้องใส่กางเกงขาสั้น แต่พอมียุ้ยและผู้หญิงคนอื่นๆ มาเล่นเป็นเพื่อน ทำให้เวลาใส่บิกินี่หรือชุดว่ายน้ำแล้วไม่รู้สึกแปลกแยก สบายใจมากขึ้นเวลาอยู่ในน้ำ ก็อยากให้มีผู้หญิงมาเล่นเซิร์ฟเยอะขึ้น

    แล้วอยากผลักดันวงการเซิร์ฟในไทยยังไง

    เหวิน : อยากให้วัฒนธรรมเซิร์ฟในไทยทัดเทียมกับต่างประเทศให้ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ ต๊ะ–ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช จากเพจ Surfer’s Holiday ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์สายเซิร์ฟคนแรกของไทยพยายามทำมาตลอดหลายปีแต่ด้วยความที่เป็นของใหม่มันก็ยากพอสมควร

    ยุ้ย : เพราะ surf culture ในต่างประเทศเริ่มมานานกว่าไทยมากด้วย เวลาจัดงานเลยคึกคักกว่า มีคนเข้าร่วมเล่นมากกว่าและกิจกรรมเยอะกว่า

    เหวิน :  อยากให้คอมมิวนิตี้เซิร์ฟเฟอร์ในไทยเหมือนกับเมืองนอกที่มีเฟสติวัลทุกปี มีการแข่งขันและแบรนด์เข้ามาสนับสนุน เกิดภาพสนุกที่คนมองเข้ามาแล้วอยากเข้าร่วม ทุกวันนี้ในไทยเริ่มมีภาพอย่างนั้นให้เห็นบ้าง เช่น งาน Khaolak Classic ที่เพิ่งจัดเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้มองว่าเราไม่ได้พยายามกันอยู่สองคน ทุกคนในกลุ่มเพื่อนที่เป็นเซิร์ฟเฟอร์ก็อยากให้คอมมิวนิตี้เซิร์ฟในไทยเติบโตไปในทางที่ดี 

    ความสนุกของการทำแบรนด์จากแพสชั่นในกิจกรรมทางทะเลของคุณทั้งสองคนคืออะไร  

    เหวิน : ก่อนหน้านี้เคยทำมาหลายอย่าง พอเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกไม่มีแพสชั่นในการทำงานให้คนอื่น เคยทำโฮสเทลซึ่งใช้ความเป็นตัวเองมาทำพอสมควร แต่ก็ยังไม่มีแพสชั่นมากพอ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ชอบมากนักเลยไม่สามารถเค้นความรู้สึกตัวเองในการดีไซน์หรือใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่พอมาทำ Thalassomer แบบไม่ได้คาดหวังอะไรกลับรู้สึกมันมากเพราะดีไซน์ความเป็นตัวเองได้เต็มที่ เกิดความรู้สึกมีไฟกลับมาเหมือนสมัยเรียนจบใหม่อีกครั้ง ทำให้รู้ว่าเราชอบทำงานให้ตัวเองมากกว่าให้คนอื่น 

    ยุ้ย : เราชอบเซิร์ฟมากๆ เลยคิดว่าถ้ามีแบรนด์ของตัวเอง เราจะสามารถเซิร์ฟไปด้วยและทำงานที่เรารักไปด้วยได้ เลยตัดสินใจร่วมกัน เลือกของกันเอง หาสินค้าใหม่ๆ ที่เราเองก็ใช้และคิดว่าลูกค้าคงจะชอบเหมือนกัน ได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้เซิร์ฟด้วย ได้ตังค์ด้วย

    เหวิน : ปัญหาโลกแตกของทุกคนคืออยากเซิร์ฟแต่ก็ต้องทำงานด้วย หลายอย่างที่เคยไม่มีในไทย เราสองคนก็เป็นผู้บุกเบิกในการนำเข้าสินค้ามาในช่วงแรกจนกลายเป็นธุรกิจที่สำเร็จตรงนี้ได้

    What I’ve Learned
    1. Be an Authentic Influencer สร้างความเชื่อใจจากลูกค้าด้วยสินค้าที่ลองใช้เองแล้วดีจริง รวมถึง
    ให้ข้อมูลและความรู้ที่ศึกษามาจากประสบการณ์ตรง
    2. Blue Ocean Strategy กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม คือการหลีกเลี่ยงตลาดที่มีการแข่งขันสูง (red ocean) อย่างชุดว่ายน้ำและเลือกขายสินค้าที่แตกต่างและไม่มีคู่แข่งมากนัก สร้างความต้องการใหม่ให้ลูกค้า 
    3. Collaboration not Competition คำนึงถึงคอมมิวนิตี้อย่างแท้จริง ด้วยการเลือก collaboration แทน competition กับแบรนด์ของเพื่อนในวงการเดียวกัน 

    Decathlon อาณาจักรอุปกรณ์กีฬาสัญชาติฝรั่งเศสที่ใช้ความเข้าถึงได้และประสบการณ์การขายมัดใจคน

    ไม่ว่าจะคนเล่นกีฬา คนบ้ากีฬา หรือคนที่อยากออกกำลังกายเฉยๆ เชื่อว่าถ้าได้เดินเข้าไปยังอาณาจักร Decathlon สาขาใหญ่ๆ คงตกตะลึงกับความอลังการของพื้นที่ จำนวนสินค้ามหาศาล และประเภทสินค้าที่ไม่คาดคิดว่าจะมี 

    หลายคนถูก Decathlon ตกด้วยราคาที่จับต้องได้ เป็นมิตรกับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะเอาจริงเอาจังกับกีฬานั้นๆ หรือเปล่า บางคนก็เป็นแฟนคลับของ Decathlon เพราะกลยุทธ์ที่ให้ลูกค้าทดลองสินค้าจริงก่อนซื้อและถ้าไม่ถูกใจก็แค่เอากลับมาคืน (ภายใต้เงื่อนไข) พูดให้เข้าใจง่ายๆ Decathlon เหมือนเป็น IKEA แห่งวงการกีฬา

    ไม่แปลกใจ ถ้าปัจจุบัน Decathlon จะมีสาขามากกว่า 2,800 แห่งใน 56 ประเทศ มีพนักงานมากกว่า 87,000 คนจาก 80 สัญชาติ ขายอุปกรณ์กีฬากว่า 2,080 รายการ ครอบคลุมกีฬา 80 ชนิด และมีแบรนด์กีฬาเป็นของตัวเองกว่า 20 แบรนด์ 

    ความตลกคือด้วยตัวเลขที่สูงขนาดนี้ทำให้หลายคนถึงกับตั้งคำถามว่า Decathlon เป็นแบรนด์สัญชาติจีนหรือเปล่า คำตอบนั้นผิดคาด เพราะ Decathlon เป็นอาณาจักรกีฬาสัญชาติฝรั่งเศสต่างหาก

    ย้อนกลับไปเมื่อปี 1976 กลุ่มเพื่อนที่หลงใหลกีฬา 7 คน ได้แก่ Didier Decramer, Stéphane Delesalle, Nicolas Dubrulle, Stanislas Ernoult, Hervé Valentin, Benoit Poizat และ Michel Leclercq หารือกันว่าจะทำยังไงถึงจะรวมอุปกรณ์กีฬาไว้ในที่เดียวกันและขายให้ผู้คนในราคาถูกแต่มีคุณภาพได้ 

    เพื่อนๆ ทั้ง 6 คน

    ความเป็นไปได้คือ Michel Leclercqin คือมหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศส เขาเห็นด้วยกับไอเดียและเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ อีก 6 คน วางแผนกัน แรกเริ่มแก๊งเพื่อนที่หลงใหลกีฬาคิดหาชื่อร้านกันหลายชื่อ ตั้งแต่ Pentathlon (ปัญจกรีฑา) Triathlon (ไตรกีฬา) Decathlon (ทศกรีฑา) Marathon (มาราธอน) Sportland และ Supermarket ฯลฯ 

    โปสเตอร์ในปี 1980

    ในที่สุดพวกเขาก็ตั้งชื่อว่า Dacathlon ที่แม้จะมีความหมายถึงกีฬา 10 ประเภท แต่เขาตั้งใจขายอุปกรณ์กีฬามากกว่านั้น Decathlon สาขาแรกจึงตั้งขึ้นในเมือง Lille ประเทศฝรั่งเศส และหลังจากนั้นอีก 10 ปี Decathlon ก็เปิดสาขาต่างประเทศสาขาแรกที่เยอรมนี ก่อนจะมาบุกตลาดเอเชียในศตวรรษที่ 21

    Decathlon สาขาต่างประเทศสาขาแรก

    คำถามสำคัญที่หลายคนสงสัยคือ Decathlon ทำยังไงให้ขายของถูกแต่อยู่ได้และยอดขายเติบโตจนกลายเป็นบริษัทที่ผลิตและขายอุปกรณ์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไปหาคำตอบกัน

    1. ราคาเข้าถึงได้ตามสโลแกน ‘Sports for All, All for Sports’

    คนเล่นกีฬาและกำลังจะทดลองเล่นคงรู้ดีว่าถ้าอยากจะสุขภาพดีแต่ละที ต้องเสียหายไปหลายบาท นอกจากอาหารเฮลตี้จะราคาสูง อุปกรณ์กีฬาก็แพงใช่ย่อย

    นี่จึงเป็นเหตุผลแรกที่ทำให้ Decathlon ครองใจคน เพราะสินค้าของ Decathlon มีตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่น เรียกว่าตอบโจทย์ลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม ตามกำลังซื้อที่มี

    คำถามคือแล้วทำไม Decathlon ถึงทำราคาได้ดีขนาดนั้น? 

    หลังจากเปิดร้านมาได้ระยะหนึ่ง Decathlon เปลี่ยนโมเดลธุรกิจใหม่ พวกเขาออกแบบ ทดสอบ ผลิต และขายสินค้าของตัวเอง จนมีทีมวิจัยและพัฒนาหลักหลายร้อยคนเพื่อผลิตสินค้ากว่า 2,000 รายการต่อปีออกมา Deathlon จึงสามารถทำราคาได้ต่ำและควบคุมราคาต่างๆ ได้เอง 

    อุปกรณ์กีฬากว่า 20 แบรนด์ที่เราเห็นใน Decathlon จึงไม่ใช่แบรนด์กีฬาอื่นๆ แต่เป็นแบรนด์ที่ Decathlon ผลิตคิดค้นออกมาเองทั้งนั้น ไม่ว่าจะ QUECHUA แบรนด์อุปกรณ์เดินป่า ตั้งแคมป์ และอุปกรณ์กลางแจ้ง Kalenji แบรนด์สำหรับการวิ่ง และ Wed’Ze สำหรับสกี ฯลฯ

    1. เน้นเอาชนะใจ ‘คนอยากเล่นกีฬา’ มากกว่านักกีฬาอาชีพ

    แม้ Decathlon จะมีอุปกรณ์กีฬาหลายระดับตอบโจทย์ลูกค้าหลากหลายฐานะ แต่ถ้าเดินดูสินค้าในร้าน เราจะเห็นว่ากลุ่มลูกค้าที่ Decathlon ให้ความสำคัญสุดๆ คือกลุ่มคนออกกำลังกายระดับเริ่มต้นต่างหากซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้แหละที่ Decathlon มองว่าจะเป็นลูกค้าที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของแบรนด์ เพราะถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนกันจริงๆ คนทั่วไปที่แค่อยากออกกำลังกายต้องมากกว่านักกีฬามืออาชีพอยู่แล้ว 

    พอโฟกัสของ Decathlon เป็นอย่างนั้น สินค้าที่ Decathlon ผลิตออกมาจึงหลากหลายมากๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ รองเท้าวิ่งของ Decathlon มีราคาตั้งแต่สี่ร้อยกว่าบาทสำหรับการวิ่งไม่เกิน 10 กิโลเมตรต่อสัปดาห์ เหมาะกับคนที่อยากลองวิ่งแต่ไม่รู้ว่าจะจริงจังแค่ไหน ไปจนถึงรองเท้าวิ่งราคาสี่พันกว่าบาท สำหรับใส่ไปแข่งได้ และมีนักกีฬาเคยใส่วิ่งมาแล้วกว่า 1,500 กิโลเมตร

    1. คิดค้นสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

    แน่นอนว่าใครๆ ก็พูดได้ว่าสิ่งสำคัญในการผลิตสินค้าคือการตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ แต่ Decathlon ก็ทำให้เราทึ่งกับสินค้าหลายชนิดกว่าแบรนด์ไหนๆ 

    ไม่ว่าจะเป็นเตนท์ป๊อปอัพที่กางได้ภายใน 2 วินาที แถมยังมีนวัตกรรม Fresh&Black ช่วยให้เตนท์มืดสนิทและเย็นสบาย เป้สะพายหลังที่กันทรายเข้าและระบายอากาศ เหมาะกับนักเดินทางที่ชอบเดินทางในทะเลทราย!

    ที่คิดค้นสินค้าได้ว้าวขนาดนี้เพราะ Decathlon เปิดให้คนรีวิวสินค้าอย่างตรงไปตรงมา และนำฟีดแบ็กนั้นไปพัฒนาใน SportsLab การวิจัยจริงจังถึงขั้นมีทีมที่ศึกษาปฏิกิริยาของร่างกายมนุษย์ต่อสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ไปจนถึงทีมที่ดูแลเรื่องความรู้สึกของลูกค้าที่มีผลต่อการใช้สินค้า 

    แล็บสำหรับวิจัยและออกแบบสินค้าไม่ได้ช่วยให้ Decathlon ผลิตสินค้าได้ตอบโจทย์ลูกค้าเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ลูกค้าเห็นถึงคุณค่าของสินค้าอีกด้วย เพราะข้อดีของ Decathlon ที่ราคาถูกจับต้องได้ก็เป็นดาบสองคม เพราะสินค้าที่ถูกเกินไปอาจทำให้ลูกค้าไม่เชื่อมั่นในคุณภาพ การจริงจังกับการทดลองด้วยการสร้างแล็บที่มีมาตรฐาน รวมถึงให้นักกีฬามืออาชีพทดสอบและร่วมพัฒนาสินค้าจริงๆ จึงช่วยทำให้ลูกค้ากลุ่มกลางๆ ค่อนสูงวางใจกับสินค้าของ Decathlon ได้

    ศูนย์ออกแบบกีฬาภูเขาในหุบเขา Mont-Blanc
    1. ไม่ได้ขายแค่ของ แต่ขายประสบการณ์  

    ประสบการณ์เป็นสิ่งที่ Decathlon ให้ความสำคัญ แต่คำว่าประสบการณ์ของ Decathlon นั้นก็แตกแยกย่อยได้หลายประเด็น

    อย่างแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ทำให้หลายคนหลงรัก Decathlon และหลายคนก็ปวารณาตนเป็นแฟนคลับ เพราะ Decathlon ไม่เคยปฏิเสธการทดลองสินค้า ไม่ว่าจะเดินไปแผนกใด อยากทดลองสินค้าก่อนใช้นานแค่ไหน พนักงานทุกคนก็พร้อมให้เราทดลองเล่นกันตรงนั้นไปเลย จะได้รู้ว่าแบบไหนใช่ แบบไหนไม่ผ่าน

    นอกจากนั้น ในบางประเทศ Decathlon ยังมี Virtual Reality นวัตกรรมที่ทำให้ลูกค้าได้เห็นของจริงเมื่อไปซื้อของจากสาขาที่มีพื้นที่จำกัด แม้ลูกค้าจะกางเตนท์ที่สาขาไม่ได้ แต่ก็เห็นว่าขนาดเตนท์นั้นๆ เหมาะกับความต้องการหรือเปล่า เจ้านวัตกรรมนี้ยังทำให้ Decathlon ได้รับรางวัลด้านประสบการณ์ลูกค้าที่ดีเยี่ยมด้วย 

    สอง–​​แม้จะทดลองสินค้าที่ Decathlon มาแล้ว แต่ถ้าซื้อไปใช้แล้วไม่ถูกใจ Decathlon ก็มีนโยบายการคืนสินค้าภายใน 365 วัน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจว่าสินค้าที่ซื้อมานั้นตอบโจทย์ตัวเองหรือเปล่า 

    สาม–เวลาเห็นพนักงาน Decathlon เดินผ่าน ลูกค้าหลายคนกล้าเดินเข้าไปถามมากกว่าเดินหนีเพราะพนักงานแนะนำวิธีใช้ ช่วยเลือกสินค้าที่ตอบโจทย์ เสาะหาขนาดที่พอเหมาะพอดีและเข้ากับความต้องการของแต่ละคนได้จริงๆ 

    ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะพนักงานของ Decathlon จะต้องเป็นคนที่หลงใหลกีฬามาแต่เดิม และบางคนก็ต้องช่ำชองในกีฬาชนิดนั้นๆ จริงๆ  

    สี่–ถ้าไปซื้อสินค้าที่สาขาและจ่ายเงินเอง เราจะเห็นว่าเครื่องคิดเงินอัตโนมัติของ Decathlon ฉลาดแค่ไหน เพียงเอาสินค้าวางที่จุดนั้นโดยไม่ต้องพยายามหาบาร์โค้ดแล้วสแกน เครื่องคิดเงินก็รู้ทันทีว่าเราหยิบอะไรมา เพราะสินค้าทุกชิ้นมีแท็ก RFID เรียกว่าเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เอาชนะใจลูกค้าได้ดี

    1. สาขาครอบคลุม ไปที่ไหนก็เจอ 

    นอกจากราคาดีที่ทำให้คนอยากเล่นกีฬาเปิดใจซื้ออุปกรณ์กีฬาได้ง่ายๆ แล้ว อีกสิ่งสำคัญที่ Decathlon ทุกสาขาทั่วโลกยึดถือคือการขยายสาขาให้ครอบคลุมที่สุดเพื่อให้คนอยากเล่นกีฬาเข้าถึงง่าย 

    ยกตัวอย่างอินเดีย ประเทศที่ Decathlon ประสบความสำเร็จไม่แพ้ที่ไหน แค่เฉพาะในบังกาลอร์ก็มี Dcathlon กว่า 10 สาขาแล้ว ทั้งยังมีสาขาในห้างสรรพสินค้าอีกด้วย นอกจากนั้น ในหลายๆ ประเทศ Decathlon มักจะขยายสาขาไปตั้งใกล้ๆ ชุมชนกีฬาเพื่อให้นักกีฬาสมัครเล่นและมืออาชีพเข้าถึงอุปกรณ์ของพวกเขามากกว่าเดิม Decathlon จึงได้รับฟีดแบ็กจริงๆ จากคนเล่นกีฬา 

    ในไทยอาจจะไม่เห็นชัดเจนขนาดนั้น แต่ Decathlon ก็ขยายสาขาอย่างครอบคลุมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลังๆ เราจะเห็นว่าอาณาจักรกีฬาแห่งนี้ได้ย่อส่วนตัวเองลงแล้วไปเปิดในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้ผู้คนเข้าถึง Decathlon ได้มากขึ้น 

    แม้ของจะไม่ครบครัน หรือจริงๆ จะเรียกว่ามีของไม่กี่ชนิดเท่านั้น แต่ Decathlon ก็แก้ปัญหาด้วยการให้คนสั่งจองทางอินเทอร์เน็ตและหน้าร้านสาขาเล็กๆ ได้ จากนั้น Decathlon ก็จะส่งสินค้าที่ลูกค้าต้องการมายังสาขาที่ใกล้ลูกค้าที่สุด 

    คำถามที่ว่าทำไม Decathlon จึงเอาชนะใจคนทั่วโลกได้ขนาดนี้น่าจะกระจ่างขึ้นจากคำตอบทั้ง 5 ข้อที่เราพาไปสำรวจ และนั่นยิ่งทำให้เห็นว่า Decathlon นั้นเป็นแบรนด์กีฬาสำหรับทุกคนตามสโลแกนที่ว่า  ‘Sports for All, All for Sports’ จริงๆ 

    ภาพจาก Decathlon 

    อ้างอิง

    Nailfie Always เปลี่ยนความชื่นชอบมาสู่ร้านขายอุปกรณ์ทำเล็บที่มีให้เลือกมากกว่าหมื่นรายการ 

    ใครที่ชื่นชอบการทำเล็บ หรือเคยลองเสิร์ชหาร้านขายอุปกรณ์ทำเล็บในราคาที่ไม่แพงแบบจับต้องได้ เราเชื่อว่าพวกคุณต้องเคยได้ยินชื่อของ Nailfie Always ผ่านหูแน่ๆ

    เพราะ Nailfie Always คือร้านขายอุปกรณ์ทำเล็บที่ใหญ่ที่สุดในไทย มีสารพัดสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั่วไป และร้านค้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นสีทาเล็บ เจล เบสโค้ต ท็อปโค้ต วิตามินบำรุงเล็บ กลิตเตอร์ สติ๊กเกอร์ตกแต่ง เล็บปลอม น้ำยาล้างเล็บ พู่กัน เครื่องอบ เครื่องเจียรตกแต่ง และอีกมากมาย 

    จากแรกเริ่มที่เป็นคนชื่นชอบการทำเล็บอยู่แล้วของ เก้ย–อมลณัฐ สิริวัฒน์ธนกุล และทุกวันนี้ก็ยังชอบทำเล็บอยู่ บวกกับแฟนของพี่ชายที่เปิดร้านทำเล็บเป็นทุนเดิม และต้องการหาซื้อของเข้าร้านแบบถูกใจ เพราะร้านที่มีอยู่ในตลาดมีสินค้าไม่ตรงกับความต้องการเท่าไหร่ จึงตัดสินใจบินไปยังประเทศจีนดูไลน์สินค้า และตัดสินใจนำสินค้าเข้ามาขายเอง เปิดเป็นหน้าร้านขายอุปกรณ์ทำเล็บที่มีสินค้าให้เลือกเยอะที่สุดมากกว่า 10,000 SKU 

    ในโอกาสที่ได้มาเยี่ยมเยือนร้าน Nailfie Always ที่เพิ่งย้ายโลเคชั่นใหม่มาตั้งอยู่ที่จามจุรีสแควร์ได้ราวๆ 7 เดือน เราจึงชวนเก้ยมาคุยถึงการสร้างแบรนด์ ความเปลี่ยนแปลง ความเสี่ยงต่างๆ รวมถึงกลยุทธ์เคล็ดลับในการทำร้าน และสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ในวงการทำเล็บมาถึงขวบปีที่ 7 แล้ว

    Rebranding to Nailfie Always

    ก่อนที่เราจะเห็นหน้าร้านที่ดึงดูดสายตาด้วยเชลฟ์สีทาเล็บที่วางเรียงรายมีให้เลือกเป็นร้อยๆ สีอยู่ในร้าน มองทีไรก็สะดุดตา และชักชวนให้ลองแวะเดินเข้าไปในร้านหน้าตาวัยรุ่น มีสีแดงเด่น และสีฟ้าสดใส ตกแต่งร้านดูเฟรนด์ลี่และเป็นมิตรมากขึ้นที่จามจุรีสแควร์ที่เราเห็นในตอนนี้ ร้านเดิมของเก้ยมีชื่อว่า ‘Nailfie Studio’

    “ถามว่าเริ่มทำช่วงแรกๆ เสี่ยงไหม ก็ถือว่าเสี่ยงนะเพราะในตอนนั้นทำร้านโดยที่เรายังไม่ได้เชี่ยวชาญ ไม่ได้ศึกษาให้ดี แต่เราแค่เห็นช่องว่าง เห็นว่าร้านทำเล็บ ร้านขายอุปกรณ์ต่างๆ มันมีน้อย ของที่มีวางขายในตลาดมันก็ยังไม่ได้ตอบโจทย์ที่แท้จริงกับทุกร้าน เราจึงเริ่มทำร้านนี้ขึ้นมา”

    Nailfie Studio ณ ตอนนั้นเริ่มต้นในปี 2017 อยู่ที่ตึกตั้งฮั่วปัก เป็นอาคารสำนักงาน Nailfie Studio เป็นร้านห้องเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ชั้น 4 

    เห็นร้านเล็กๆ แบบนั้นแต่มีสินค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ทำเล็บให้เลือกอย่างครบครันจากหลากหลายประเทศทั้งจีน อเมริกา เกาหลี ใครที่ชื่นชอบการทำเล็บด้วยตัวเอง หรือร้านค้าต่างๆ ที่ต้องการซื้อของคุณภาพและราคาไม่แพง ต่างก็แนะนำให้มาหาซื้อที่นี่ อยู่ตึกนี้ได้ 3 ปี ก็ถึงเวลาที่เก้ยตัดสินใจย้ายโลเคชั่นใหม่ เพิ่มพื้นที่ในร้านให้ใหญ่และมากกว่าเดิมหลายเท่าไปอยู่ที่เดอะสตรีท รัชดา มีพื้นที่มากกว่า 750 ตร.ม. และมีโกดังสินค้าขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 1,500 ตร.ม.ในการสต็อกสินค้า

    อยู่ที่ใหม่อีก 3 ปี พอเข้าขวบปีที่ 7 เก้ยมองว่าถึงเวลาแล้วที่ Nailfie Studio ต้องลุกขึ้นมาสลัดลุคของตัวเองให้ดูเฟรชมากขึ้น พร้อมกับต้องการจับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะวัยรุ่นและวัยทำงาน 

    ไม่ได้เพียงแค่เปลี่ยนสไตล์การตกแต่งร้านใหม่ แต่เก้ยตัดสินใจเปลี่ยนทั้งชื่อ บรรยากาศ รวมถึงเปลี่ยนโลเคชั่นของร้านเป็นครั้งที่สาม มาอยู่ที่ที่เรามาในวันนี้คือจามจุรีสแควร์ และใช้ชื่อใหม่ว่า ‘Nailfies Always’ แม้พื้นที่จะเล็กลงกว่าเดิม แต่สินค้าในร้านยังมีครบเหมือนเดิม

    “เมื่อรีแบรนดิ้งเราต้องการให้ร้านสดใสขึ้น ดูเด็กลง และเข้าถึงง่าย ถ้าใครเคยเห็นภาพร้านก่อนหน้านี้ ร้านเนลฟี่จะให้ลุคแบบ professional ดูทางการทั้งอาร์ตเวิร์กและฟีลลิ่ง ภาพลักษณ์ไม่ได้ดูไม่กล้าเข้า แต่คนจะตีราคาไปก่อนว่าขายของแพงแน่ๆ ลูกค้ามีฟีลลิ่งว่ายังไงของก็ไม่ถูกกว่าสำเพ็งอยู่แล้ว มันจะถูกกว่าได้ยังไง แถมยังขายอยู่บนห้างอีก แต่ในมุมกลับกันร้านเนลฟี่มีสโลแกนว่า Always Low Price เราขายของราคาที่คุ้มค่า ซึ่งเอาจริงๆ สินค้าหลายตัวของที่ร้านถูกกว่าสำเพ็งด้วยซ้ำ

    “และพอตั้งใจเปลี่ยน จึงมีโจทย์ขึ้นมาว่า จะทำยังไงให้ร้านของเราเข้าถึงง่าย ไม่แพง จึงเกิดร้านโฉมใหม่ที่มีสีสันแบบที่เห็นนี้” 

    Quality at Heart 

    ‘คุณภาพ’ คือคำที่เก้ยเน้นย้ำบ่อยมากๆ ในทุกช่วงของบทสนทนา 

    เพราะไม่ใช่แค่การขายของ ขายสินค้าแล้วจบไป แต่ยังหมายถึงสินค้าที่ถูกขายออกไปนั้นถูกนำไปใช้ต่อกับผู้คนมากมาย เรื่องของคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญ 

    แน่นอนว่าความสนุกของเก้ยคือการหาโปรดักต์ใหม่ๆ เข้ามาที่ร้าน แต่ใช่ว่าเมื่อมีสินค้าใหม่ทีไร Nailfie Always จะนำเข้ามาขายแบบทันที และนำเข้ามาทุกแบบ  เพราะก่อนที่จะนำสินค้ามาวางบนเชลฟ์ขายนั้นต้องทดลอง ลองใช้ก่อน และถ้าสินค้าดีจริงก็จะเห็นผลิตภัณฑ์นั้นๆ วางขายอยู่ในร้านแน่นอน

    “ทุกวันนี้มีหลายร้านที่เน้นความเร็ว มีสินค้าใหม่แล้วนำเข้ามาเลย แต่ของที่ร้านยังคงยึดเรื่องของคุณภาพอยู่ จะขายถูกขายแพงไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่คุณภาพ ถ้าขายถูกคุณภาพเหมาะสมกับราคาก็โอเค แต่หากขายแพงแต่คุณภาพไม่ได้ลูกค้าก็ไม่โอเค

    “เป็นสิ่งที่ร้านพยายามบอกอยู่แล้ว อยากจะเอาสินค้าเข้ามาสักชิ้นหนึ่ง ยิ่งเป็นตัวที่สำคัญๆ อย่างท็อป เบส เจล สีทาเล็บ เครื่องอบ ต้องมีการทดลองใช้เองก่อนว่าคุณภาพดีไหม ให้ลองทา อาบน้ำสระผมอาทิตย์นึง เดือนนึง มันเวิร์กไหม ถ้าเวิร์กก็นำเข้ามาขาย เพราะฉะนั้นของที่ขายอาจจะไม่เร็วเท่าร้านอื่น”

    หัวใจของการทำซูเปอร์ขายอุปกรณ์ทำเล็บคือคุณภาพ ราคาที่มาพร้อมกันอย่างสมเหตุสมผล และบริการเสริมอื่นๆ ที่ช่วยในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า

     “Nailfie Always พูดกับลูกค้าเสมอว่า ของถูกที่ก็มีแต่ต้องดูที่คุณภาพ ที่ร้านขายสินค้าตั้งแต่ราคาถูกไปจนถึงราคาแพง ซึ่งคุณภาพก็ตามราคา ลูกค้าอยากได้คุณภาพแบบไหน ราคาเท่าไหร่ที่รับได้เรามีหมด แต่ต้องมั่นใจว่าซื้อของแท้แน่ๆ เพราะราคาต่างกันไม่กี่ร้อยบาท หากเอาสินค้าไปใช้แล้วเกิดอะไรขึ้นก็ไม่คุ้มที่จะเสี่ยง”

    Enhance Customer Experience

    เปิดร้านมาเข้าปีที่ 7 หลายคนคงอยากรู้ว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้ร้านขายอุปกรณ์ทำเล็บที่มีคู่แข่งมากมายโดยเฉพาะสินค้าที่มีขายในออนไลน์ยังเติบโตมาได้ถึงทุกวันนี้

    คำตอบของเก้ยคือเรื่องของ ‘คน’ ที่ต้องเริ่มจากภายในองค์กร 

    ขยายความลงไปอีกนิดคือ การทำให้พนักงานแฮปปี้ก่อน มีความรู้ มีความสุข เมื่อพนักงานในร้านมีความสุข การขายของส่งต่อออกไปยังลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาในร้านก็จะดีตามไปด้วย

    “พนักงานในร้านมี generation gap เยอะมาก แต่ทำอย่างไรให้ทุกคนสนุก และอยู่ร่วมกันได้ พอพนักงานเกิดความสบายใจ สิ่งที่เราได้กลับมาคือฟีดแบ็กจากลูกน้องที่ทำให้เรานำไปปรับปรุงแก้ไขได้ตลอดและอยู่ได้”

    อีกหนึ่งสิ่งที่เก้ยทำคือ การเทรนนิ่งพนักงานในร้าน พนักงานในร้านทุกคนจะต้องรู้จักสินค้า รู้วิธีใช้ ไล่เรียงตั้งแต่โครงสร้างของเล็บ การทำเล็บแบบต่างๆ ทำยังไง และสินค้าแบบไหนมีวิธีใช้ยังไงบ้าง  และแต่ละขั้นตอนสินค้าที่ขายในร้านสามารถไป combine กันได้ยังไง 

    เมื่อมีลูกค้าสอบถาม คำตอบที่ห้ามตอบออกไปคือ ‘ไม่ทราบค่ะ ไม่รู้ค่ะ’

    “พนักงานในร้าน Nailfie Always ต้องแนะนำ อธิบายลูกค้าได้ทุกคน ลูกค้าจะยังไม่ซื้อของในร้านก็ไม่เป็นไร แต่เราจะแนะนำอย่างตรงไปตรงมา จากพนักงานในร้านที่ทำเล็บไม่เป็น ตอนนี้ทำเป็นทุกคน ถ้าเราทำไม่เป็นเราก็ยากที่จะขายได้ บางคนไม่ชอบทำเล็บ เราก็ให้มาเป็นแบบมือ เพราะพอมาเป็นแบบก็จะได้เห็นวิธีการ ได้เรียนรู้ไปด้วย”

    ลองเดินดูภายในร้าน Nailfie Always เพลินๆ นอกจากเราจะเห็นสินค้าให้เลือกอย่างครบครันแล้ว เรายังเห็นอุปกรณ์อื่นๆ ที่มาเสริมอย่างพวกขนตา เก้าอี้นวด ที่เมื่อเราไปตามร้านทำเล็บในยุคนี้ก็จะเห็นบริการมากมายที่มากกว่าแค่บริการทำเล็บอย่างเดียว

    เก้ยบอกกับเราว่า นอกจากทำให้พนักงานในร้านมีความสุขแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัสมากกว่าการขายของคือการเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า จึงเป็นที่มาว่าในร้าน Nailfie Always ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ตอบโจทย์บริการด้านความงามที่กำลังทยอยเพิ่มเข้ามาขายอีกด้วย

    “เราต้องเป็นมากกว่าร้านขายของ นอกจากจะมีป้ายแปะชื่อสินค้าภาษาอังกฤษที่จะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มต่างชาติแล้ว ที่ร้านยังมีคลิปให้ดูประกอบซึ่งสามารถถามวิธีการใช้จากพนักงานในร้านได้เลย และนอกจากสินค้าใหม่ๆ ที่กำลังจะเพิ่มเติมเข้ามาที่ร้านเองยังมีมุมเวิร์กช็อป มุมเทรนนิ่งให้กับลูกค้าที่สนใจมาเรียนรู้ และสามารถนำไปใช้งานได้จริง

    “ในส่วนของออนไลน์ เราก็ไม่ได้ทำแค่โปรโมชั่นที่เน้นแต่ขายของอย่างเดียว แต่ที่ร้านยังทำคอนเทนต์ให้ความรู้เกี่ยวกับเล็บ คอนเทนต์วิธีการทำเล็บที่ถูกต้องให้ทุกคนดูได้อีกด้วย”

    Challenges in the Nail Industry

    “ร้านทำเล็บที่อยู่ได้นานคือร้านที่เจ้าของทำเล็บเองเป็น” เก้ยเน้นประโยคนี้เมื่อเราชวนคุยถึงสิ่งสำคัญในการทำร้าน

    เพราะแม้การทำเล็บ เพนต์เล็บจะเป็นสิ่งสวยงาม สร้างสุนทรียะ แต่ในอุตสาหกรรมความงามเกี่ยวกับการทำเล็บก็ไม่ได้สวยงามอย่างที่คิด

    เก้ยอธิบายขยายความว่า ตลอดเวลาที่อยู่ในวงการมาเจอปัญหามาตลอด ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะของที่ร้าน แต่ปัญหาที่มีมันเชื่อมโยงทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่ร้านขายอุปกรณ์ทำเล็บที่ต้องต่อสู้กันเรื่องราคา

    ส่วนร้านทำเล็บเอง แม้จะเห็นว่ามีเปิดใหม่ขึ้นมาก แต่ไม่ได้เติบโตในแบบที่หลายคนคิด เพราะร้านใหม่เข้ามา ร้านเก่าออกไปเป็นวัฏจักร กำไรที่ได้ไม่ได้เยอะอย่างที่คิด รวมถึงค่าแรงของช่างทำเล็บที่ได้ไม่มาก กลายเป็นว่าช่างที่มีฝีมือก็หายออกไปจากวงการ

    “ปัญหาเหล่านี้ของวงการเล็บคือไม่มีคนมาคุม เลยทำให้วงการเล็บไม่ได้เติบโตไปไหนแบบที่ควรจะเป็น เวลาลูกค้าเดินเข้ามาในร้านปรึกษาเราว่าอยากเปิดร้านทำเล็บสักร้าน เราก็จะอธิบายกันตรงๆ ว่า ถ้าคุณมีทุนอย่างเดียว สิ่งที่คุณจะไปรอดคือการหาช่างคู่บุญที่ไว้ใจได้ และจะอยู่รอดได้เมื่อเกิดปัญหาช่างขาดแคลนคือคุณต้องทำเล็บเองเป็นด้วย”

    Next Step of Nailfie

    สเตปถัดไปของร้านที่เก้ยวาดฝันไว้คือการทำ Nailfie Always ให้ครบวงจรมากกว่าเดิม เพิ่มเติมคือการที่จะมี refill station แบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ที่จะตอบโจทย์ความหลากหลายของลูกค้าได้มากขึ้น และจะปั้น house brand ที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิม

    “ตอนนี้เรากำลังจะปล่อยสินค้า house brand ตัวใหม่ออกมา จากเดิมที่เราเคยมีสินค้าแบรนด์ตัวเองอยู่แล้ว เราพัฒนาใหม่ในชื่อแบรนดว่า Nailgic จะใช้กลยุทธ์การขายกับร้านค้าด้วยโมเดล subscription  ที่ไม่ได้ต้องการแค่ถูกอย่างเดียว แต่ต้องเป็นแบรนด์ที่ถูกใจลูกค้า พร้อมยังมี refill station ให้ลูกค้าครีเอตสีเองในแบบที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

    “และด้วยดาต้าที่เรามีจากลูกค้า ร้านค้าที่ส่งพนักงานมาเทรนนิ่งหรือเวิร์กช็อป ถัดจากนี้ Nailfie Always จะทำตัวเป็นเหมือนตัวกลาง มีบริการแมตช์ร้านค้ากับช่างทำเล็บ รับออกแบบและตกแต่งร้านทำเล็บให้กับลูกค้าเพิ่มด้วย”

    และแม้ว่าเก้ยจะเข้ามาบริหารทำอาชีพขายสินค้าในวงการทำเล็บอย่างเต็มตัว แต่ท้ายที่สุดแล้วเก้ยก็ยังเลือกที่จะไปทำเล็บกับร้านต่างๆ อยู่ดี 

    ไม่ใช่ว่าทำเล็บเองไม่เป็น แต่เพื่อหาฟีดแบ็ก ดูภาพรวมตลาด เพื่อนำมาปรับ หาสินค้าให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และให้ร้านดำเนินต่อไปได้นั่นเอง

    หากคุณอยากหาร้านที่ตอบโจทย์มีสินค้าให้เลือกซื้อมากกว่าหมื่นรายการ ก็ลองแวะมาที่ Nailfie Always เดินเลือกซื้อสินค้าดูสักครั้ง น่าจะได้ของถูกใจติดไม้ติดมือกลับบ้านไม่น้อย

    คุยกับ ‘รวยไม่หยุดกรุ๊ป’ จาก nice two Meat u, ชานมเสือพ่นไฟ สู่ความฝันอยากเป็นที่หนึ่งในใจเรื่องร้านอาหารเกาหลี