Surfer Selection 

Thalassomer แบรนด์ไลฟ์สไตล์ของสอง influencer นักเล่นเซิร์ฟที่บอกต่อไอเทมโปรดจากการใช้เอง

อินสตาแกรมของสองสาวนักเล่นเซิร์ฟ @vhernvhern และ @wacayeveryday ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมโต้คลื่นและรูปสดใสริมทะเลชวนให้สะดุดตา 

การติดตามพวกเธอในโซเชียลมีเดียทำให้รู้จักแบรนด์ชื่อเก๋อย่าง Thalassomer ที่ขายสินค้าเฉพาะทางอย่างครีมกันแดดจากต่างประเทศที่สามารถเป็นรองพื้นได้เวลาเล่นกีฬาเอกซ์ตรีมทางน้ำ, วิตามินกันแดดที่ป้องกันผิวไหม้, แบรนด์ของเพื่อนๆ นักเล่นเซิร์ฟที่พวกเธอรวบรวมสินค้ามาไว้ในร้านและร่วมออกแบบให้มีลวดลายน่ารักสดใสถูกใจผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นหมวกสำหรับคนเล่นเซิร์ฟโดยเฉพาะและเซิร์ฟบอร์ด

เหวิน–ธารินี ตฤติยศิริ และ ยุ้ย–วิจิตรา คูวิสิษฐ์โสภิต ขายสินค้าไลฟ์สไตล์เกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลและกิจกรรมเอาต์ดอร์มา 5 ปีแล้วจากจุดเริ่มต้นในความชื่นชอบเล่นเซิร์ฟเป็นงานอดิเรก โดยมีสินค้าหลักอย่างครีมกันแดดและสินค้าที่ตั้งต้นออกแบบจากความชอบของทั้งสองคนทำให้ลูกค้าของพวกเธอส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงซึ่งแตกต่างจากร้านมัลติแบรนด์สปอร์ตทั่วไป 

ทั้งคู่เดินทางไปเล่นเซิร์ฟที่หลากหลายประเทศ ลองผิดลองถูกในการหาซื้อของใช้ที่ตอบโจทย์ด้านฟังก์ชั่นสำหรับไลฟ์สไตล์ริมทะเล เมื่อใช้เองจนถูกใจก็แนะนำเพื่อนฝูงและตกลงทำธุรกิจร่วมกันอย่างจริงจัง เริ่มจากออกบูทขายริมทะเลที่งาน surf festival ขยับขยายด้วยการส่งสินค้าไปวางขายที่โรงเรียนสอนเซิร์ฟตามเขาหลัก ภูเก็ต ระยอง ฯลฯ รวมถึงคอนเซปต์สโตร์ด้านสปอร์ตชื่อดังอย่าง Ripcurl และ Sea Concept Store เบื้องหลังความสำเร็จในการทำธุรกิจจากแพสชั่นคือการไม่ได้มุ่งเน้นขายของอย่างเดียวแต่ทำคอนเทนต์ส่งต่อความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์เซิร์ฟให้มือใหม่รวมถึงสร้างคอมมิวนิตี้เพื่อ empower สาวๆ ในวงการเซิร์ฟด้วย

เมื่อคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ Thalassomer ก็พบกับกลิ่นอายทะเลและความสดใสจนต้องส่งข้อความทักทั้งคู่มาชวนคุย

ชื่อแบรนด์ Thalassomer แปลว่าอะไร 

เหวิน : Thalassomer มาจาก 2 คำ คือ thalasso มีรากศัพท์จากภาษากรีกโบราณแปลว่าทะเลและ thalassophile ก็แปลว่าผู้คนที่รักทะเลด้วยเช่นกัน บวกกับคำว่า somer แปลว่า summer และเป็นคำสแลงที่มีความหมายแฝงคือผู้หญิงติดดิน เราชอบความหมายของคำนี้เลยเอาคำมารวมกัน แปลว่า the sea with never ending summer อยากให้มีฤดูร้อนตลอดทั้งปี จะได้เล่นเซิร์ฟได้ตลอด

การชอบเล่นเซิร์ฟทำให้คุณทั้งสองคนมาทำธุรกิจด้วยกันได้ยังไง

เหวิน : เราสองคนรู้จักกันจากการเล่นเซิร์ฟ เจอกันที่ระยองแล้วถูกชะตาเลยเล่นเซิร์ฟด้วยกันมาเรื่อยๆ เวลาเราไปเซิร์ฟที่ต่างประเทศ เช่น บาหลีหรือญี่ปุ่น จะเห็นอุปกรณ์ surf gear ที่น่ารักและมีสีสันสดใสในขณะที่เมืองไทยมีแต่สีดำ รู้สึกว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเซิร์ฟเป็นของเฉพาะทางซึ่งประเทศไทยยังไม่มีหรือถ้ามีก็น้อยมากและไม่ค่อยน่ารัก ไม่ถูกใจผู้หญิง พอเราหาของเหล่านี้มาเรื่อยๆ สำหรับใช้เอง เพื่อนรอบตัวก็เริ่มสนใจเลยคิดว่านำเข้ามาขายเองดีกว่า เกิดเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากทำแบรนด์ด้วยกัน 

ยุ้ย : เวลาเราไปญี่ปุ่นเจออุปกรณ์เซิร์ฟน่ารักก็จะซื้อกลับมาลองใช้ เราลองมาเยอะจริงๆ พอใช้อะไรแล้วชอบก็จะเข้าไปดูในอินสตาแกรม ลองทักไปถามเขาว่าเราสนใจมากเลย ขอเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ไหม จากจุดนั้นเราก็เริ่มสั่งของเข้ามา 

คุณใช้หลักเกณฑ์อะไรในการเลือกสินค้ามาขายในร้าน

เหวิน : คอนเซปต์คือของที่เราสองคนลองใช้แล้วแฮปปี้จึงนำมาขาย  ส่วนใหญ่เป็นของที่ยุ้ยเจอแล้วเหวินทดลอง ความตั้งใจตั้งแต่แรกของเราคือเป็นมัลติแบรนด์ที่อยากเป็นเพื่อนกับทุกคนที่อยู่ในวงการเซิร์ฟ เราเลยคิดว่าถ้าร้านในไทยเอาสินค้าแบบไหนมาขายแล้ว เราก็จะไม่แย่งขายแบบเดียวกัน เลยเลือกขายผลิตภัณฑ์กันแดดเป็นหลักเพราะดูจากตลาดแล้วประเทศไทยยังไม่มีครีมกันแดดสำหรับคนเล่นเซิร์ฟเลย แต่เซิร์ฟบอร์ด หรืออุปกรณ์เซิร์ฟต่างๆ มีขายในช็อปบ้างแล้วเลยพยายามหาสินค้าหลักของเราที่ไม่เป็นคู่แข่งกับคนอื่น

สินค้าแปลกใหม่ที่คุณลองใช้แล้วแฮปปี้จึงนำมาขายเป็นสินค้าแบบไหน ลองยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย

ยุ้ย : วิตามินกันแดดแบรนด์ไทยที่นำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นชื่อ Sunaway เพื่อนแนะนำให้ลองดูเพราะเห็นว่าเราเล่นเซิร์ฟ เราก็ลองกินดู ปรากฏว่าผิวไม่ไหม้ 

เหวิน : รู้จักวิตามันกันแดดจากยุ้ย เห็นยุ้ยรีวิวและพอลองกินแล้วมันได้ผลเลยเอามาขาย เป็นสินค้าตัวแรกที่เรานำเข้ามาช่วงปี 2018 ที่กำลังเริ่มคัดของเข้ามาขายในร้าน ลูกค้าที่มาซื้อกับเราก็จะเป็นกลุ่มเซิร์ฟเฟอร์แต่ที่จริงแบรนด์ Sunaway มีกลุ่มเป้าหมายหลากหลายมากอย่างคนในเมืองที่กลัวผิวเสีย เวลาเราอยู่ในเมือง ถ้าวันไหนต้องออกแดดเยอะๆ ก็กินตัวนี้แทนการทากันแดดบ้างเหมือนกัน 

ครีมกันแดดสำหรับคนทำกิจกรรมทางทะเลแตกต่างกับครีมกันแดดทั่วไปยังไง

เหวิน : ย้อนกลับไป 6-7 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่เข้าใจว่าเวลาเล่นเซิร์ฟจะใช้ครีมกันแดดธรรมดาทั่วไปไม่ได้ เพราะเอาไม่อยู่ ใช้แล้วหน้าไหม้ หลังไหม้ ตัวไหม้กันมาตลอด เราจึงเริ่มสังเกตว่าที่ต่างประเทศใช้ครีมกันแดดแบบไหนกันทำให้เริ่มรู้จักคำว่า surf zinc

ต้องอธิบายก่อนว่า ครีมกันแดดมี 2 ประเภท คือ chemical และ physical sunscreen กันแดดที่ใช้กันทั่วไปเป็นแบบ chemical ที่ต้องรออย่างน้อย 20 นาที เพื่อให้ครีมทำปฏิกริยากับผิวก่อนถึงสามารถกันแดดได้ ส่วนแบบ physical คือกันแดดที่ไม่ต้องรอ 20 นาที เพราะทาแล้วจะเคลือบบนผิวทันที ทำหน้าที่สะท้อนรังสียูวีออกไป ส่วนผสมจะเป็นซิงค์ออกไซด์กับไทเทเนียมออกไซด์ที่เป็นแร่ธรรมชาติ เรียกอีกอย่างว่า surf zinc

นักเซิร์ฟในต่างประเทศมีวัฒนธรรมทาครีมกันแดดหนาๆ มานานแล้ว เขาพยายามคิดค้นกันแดดที่ติดแน่น ทนนานอยู่บนใบหน้าให้ได้มากที่สุด เพราะเวลาเซิร์ฟ เราอยู่ในทะเลนานกว่า 2 ชั่วโมง ต้องตกน้ำ เอามือลูบหน้า ถ้ากันแดดบางจะหลุด โดยเฉพาะคนที่ลูบหน้าบริเวณ T-zone บ่อยๆ จึงได้คิดค้น surf zinc ที่ผสมขี้ผึ้งทำให้ติดทนนานขึ้น

การทากันแดดเป็นแถบสีที่หน้าเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของเซิร์ฟเฟอร์หรือเปล่า

เหวิน : ส่วนประกอบสำคัญของ surf zinc เป็นแร่สีขาว ในยุคแรกเลยต้องทาทั้งหน้าเป็นสีขาวเหมือนคาบูกิ บางคนเลยเลือกทาแค่เฉพาะบางส่วนพอ กว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาเป็นเฉดสีที่เข้ากับสีผิวมากขึ้นก็ในยุคหลังแล้วซึ่งทำให้สามารถทาทั้งหน้าได้ ส่วนบางคนที่ยังชอบทากันแดดเป็นแถบสีสันต่างๆ คล้ายชนเผ่าอยู่ในทุกวันนี้น่าจะเป็นเพราะจากพฤติกรรมของเซิร์ฟเฟอร์เองที่ขี้เกียจโบกกันแดด เช่น สำหรับผู้ชายที่ไม่ชอบทากันแดด พอเขาเห็นคลื่นกำลังมาและกลัวว่าถ้าช้ากว่านี้คลื่นจะหายเลยคว้าบอร์ดแล้วลงน้ำเลย แต่สุดท้ายพอโดนแดดจะมีจุดที่ผิวไหม้แล้วทรมานคือบริเวณจมูก โหนกแก้ม หน้าผาก บางคนเลยเลือกทาแค่เฉพาะส่วนเป็นแถบๆ 

ผ่านการลองผิดลองถูกในการคัดเลือกแบรนด์ครีมกันแดดมายังไงบ้าง

เหวิน : เคยลองใช้ครีมกันแดดแบบ surf zinc ที่เน้นสีสันเยอะๆ ตอนแรกคิดว่าจะนำมาขายเพราะมีกิมมิกพอสมควร เคยลองทั้งแบรนด์ของออสเตรเลีย รวมถึงครีมกันแดดหลอดของอเมริกาและบาหลีที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ แต่พอลงน้ำแล้วมันเละเทะและหลุดง่ายมาก

ตอนบินไปบาหลีรู้จักแบรนด์กันแดด surf zinc แบบตลับที่ติดทนแน่นมาก แต่ด้วยความเป็นออร์แกนิกเลยมีแค่สีเดียวคือสีเผือกและมีส่วนผสมเป็นเมล็ดโกโก้ เนื้อครีมจึงหยาบและใช้ยาก ผู้ชายจะชอบกันแต่ผู้หญิงอาจไม่ชอบ เลยไม่ได้เอามาขายต่อ

สำหรับผลิตภัณฑ์กันแดดที่เราขายอยู่ตอนนี้จะมี 2 แบรนด์คือ Cocosunshine กับ Surfmud โดยเน้นขาย Cocosunshine ของญี่ปุ่นเป็นหลัก รู้จักแบรนด์นี้จากยุ้ยที่เคยอยู่ญี่ปุ่นมาก่อน ลองใช้แล้วค่อนข้างถูกจริตกับเรา เพราะมีความหลากหลาย เป็นกันแดดที่มีพาเลตต์เหมาะกับหลายเฉดสีผิว คิดว่าน่าจะทำให้คนไทยรู้สึกสนใจได้ง่ายกว่า

ทำไมสุดท้ายคุณถึงเลือกขายครีมกันแดดเพียงไม่กี่แบรนด์แทนการนำเสนอตัวเลือกแบรนด์จากหลายประเทศให้ลูกค้า 

เหวิน : พอมีตัวเลือกเยอะเกินไปทำให้ลูกค้าสับสน สุดท้ายเราจะเหนื่อยเองในการอธิบายความแตกต่าง ช่วงแรกเคยนำครีมกันแดดแบบ chemical ที่เป็นโลชั่นธรรมดามาขาย แต่พอเราเป็นร้านเฉพาะทางและมีกลุ่มคนติดตามเป็นคนเล่นเซิร์ฟ ปรากฏว่าพอลูกค้าซื้อไปแล้วใช้ผิดวิธี คือทาแล้วไม่ได้รอ 20 นาทีให้โลชั่นซึมเข้าผิวก่อนเล่นกิจกรรมทางน้ำทำให้หน้าไหม้ เราเลยตัดสินใจว่าไม่ขายครีมกันแดดแบบ chemical ดีกว่าเพื่อป้องกันความสับสน เคยรับครีมกันแดดแบรนด์ไทยแบบ physical ที่เนื้อดีมากทัดเทียมแบรนด์ Cocosunshine มาขายสำหรับเป็นตัวเลือกให้ลูกค้าด้วย แต่เวลาซื้อลูกค้าก็จะเกิดคำถามว่าตัวไหนดีกว่า เป็นตัวเลือกที่ทำให้ลูกค้าลังเลมากเกินไปเลยตัดออก

แล้วแบรนด์ Cocosunshine และ Surfmud ตอบโจทย์ลูกค้าแตกต่างกันยังไง

เหวิน : เป็นเรื่องพาเลตต์สีที่เราอยากตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าหลากหลายสีผิว จุดแข็งของ Cocosunshine คือเป็นครีมกันแดดที่มีเฉดสีผิวของคนเอเชีย แบรนด์กันแดดของออสเตรเลียและอเมริกาจะมีเนื้อดีใกล้เคียงกันแต่เป็นเฉดสีผิวโทนเย็นของฝรั่ง คนเอเชียทาแล้วจะหน้าลอย

มีสี Coconut White เป็นสีขาวออริจินัล Mango Brown สำหรับคนผิวแทนที่ออกแดดหน่อย เฉดสีอ่อน Honey Ocher สำหรับคนผิวสีขาวอมชมพู และ Snow Clear เป็นสีใส ทาแล้วเกลี่ยเนียนไปกับผิวเลย ความจริงสีสุดท้ายนี้เขาทำมาสำหรับคนเล่นสโนว์บอร์ดไม่ใช่เซิร์ฟ แต่มีคนใช้กับเซิร์ฟเหมือนกัน เพราะกันน้ำและกันเหงื่อได้แบบเอกซ์ตรีมเหมือนกัน 

ส่วน Surfmud เป็นแบรนด์ที่เรานำเข้ามาเพื่อตอบโจทย์เซิร์ฟเฟอร์ที่เล่นเซิร์ฟมาสักพักแล้วสีผิวจะคล้ำขึ้นเกินเฉด Mango Brown ของ Cocosunshine เราจึงนำ Surfmud จากออสเตรเลียเข้ามา ซึ่งเป็นเฉดที่เข้มที่สุดในบรรดากันแดดทุกอันที่เราลองมาแล้ว ตัวเนื้อครีมเกลี่ยง่ายเหมือนกันแต่เหนียวกว่านิดหน่อย เหมือนทารองพื้นที่หนาขึ้นหน่อย

อะไรคือความท้าทายของการขายสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก

เหวิน : เหนื่อยที่ต้องสื่อสาร ด้วยความที่เป็นของใหม่ทำให้ต้องใช้ความพยายามมากในการให้ความรู้ใหม่กับคนไทย เราต้องทำเว็บไซต์ วิดีโอ บล็อก เพื่อสื่อสารและให้ความรู้ลูกค้าอย่างหนัก เพราะไม่มีใครรู้จัก surf zinc มาก่อน ลูกค้าที่เข้ามาหาเราส่วนใหญ่เพราะเชื่อใจเรา รู้ว่าเราใช้จริง เขาเชื่อว่าถ้าซื้อครีมกันแดดกับเราแล้วหน้าจะไม่ไหม้ เราเชื่อว่าถ้าให้ความสำคัญกับคุณภาพผลิตภัณฑ์เป็นอันดับหนึ่ง ยังไงเราก็อยู่ได้ คุณภาพสินค้าดีทำให้ลูกค้าบอกต่อกันปากต่อปาก พอเราสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ก็เหนื่อยน้อยลง แต่ปัญหาใหม่ก็เข้ามาคือคู่แข่ง ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่อย่างนั้นวงการเซิร์ฟก็จะไม่โต

สินค้าหมวดอื่นที่นำเข้ามาขายและผลิตเองมีอะไรบ้าง

เหวิน : สินค้าที่เราทำเองมีหมวก กระเป๋าผ้า เสื้อยืด สติ๊กเกอร์ ตัวรีดติดเสื้อ เครื่องประดับ และนำเข้าอุปกรณ์เซิร์ฟต่างๆ อย่างเซิร์ฟบอร์ด, ผ้าคลุมเบาะรถสำหรับพร้อมขึ้นรถหลังจากเล่นเซิร์ฟแล้วตัวเปียก, wax comb ไว้ใช้สำหรับถูไม่ให้เซิร์ฟบอร์ดลื่นซึ่งมีทั้งแบรนด์ต่างประเทศและแบรนด์ไทย

ยุ้ย : ส่วนใหญ่จะเลือกสินค้าที่มาเติมเต็มในสิ่งที่ยังไม่มี เคยมีความคิดจะทำชุดว่ายน้ำแต่ถูกเหวินเบรกไว้ เหวินมีประสบการณ์เคยทำแบรนด์ชุดว่ายน้ำก่อนมาทำ Thalassomer คุยกันแล้วก็คิดว่ารอรอจังหวะเวลาที่เหมาะสมดีกว่า

ทำไมร้านที่ขายสินค้าหลากหลายเกี่ยวกับกิจกรรมทางทะเลถึงยังไม่เลือกโฟกัสการผลิตชุดว่ายน้ำขายเอง ความยากคืออะไร 

เหวิน : ฟังก์ชั่นชุดว่ายน้ำสำหรับเซิร์ฟจะมีรายละเอียดมากมาย คนไทยหลายคนยังไม่เข้าใจว่าเวลาเซิร์ฟ ถ้าใส่ฟองน้ำในชุดว่ายน้ำรัชการ์ดแขนยาว ยังไงฟองน้ำก็หลุดหายไปกับน้ำแน่นอน ถ้าไม่หลุดก็เลื่อน เพราะคลื่นแรง มันไม่เหมือนชุดว่ายน้ำทั่วไปเวลาเราว่ายน้ำธรรมดา และอีกเหตุผลคือคู่แข่งเยอะ อยากโฟกัสขายสินค้าที่เราถนัดก่อน ตอนนี้เลยให้ความสำคัญกับครีมกันแดดเป็นอันดับหนึ่ง

นอกจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศแล้ว ทำไมคุณถึงเลือกทำสินค้า collaboration กับแบรนด์อื่นและไม่เลือกผลิตเองเต็มตัว

เหวิน : แทนที่จะผลิตเองหรือนำเข้าแบรนด์อื่นแล้วมาเป็นคู่แข่งกับเพื่อนในวงการเซิร์ฟ เราก็เลือกที่จะทำร่วมกับแบรนด์ที่เป็นพันธมิตรกับเราดีกว่า

ที่ผ่านมา collaboration กับแบรนด์อะไรมาบ้าง

เหวิน : คอลเลกชั่นแรกคือหมวกที่ร่วมทำกับแบรนด์ Beach Boy Commu ซึ่งเป็นแบรนด์ไทยเจ้าแรกที่ทำหมวก bucket hat ที่สามารถสวมแล้วล็อกและพร้อมลงไปเซิร์ฟได้โดยไม่ต้องกลัวหมวกหลุด ผ้าแห้งไว ทำมาเพื่อกิจกรรมทางน้ำโดยเน้นเซิร์ฟเป็นหลัก แต่ก็จะมีกลุ่มคนดำน้ำเอาไปใช้ด้วย เพราะช่วยเก็บไรผมได้ดี บางทีพอดำน้ำแล้วไรผมเข้าหน้ากากจะทำให้น้ำเข้า ซึ่งหมวกตัวนี้ช่วยได้ พอมีเพื่อนคนหนึ่งที่ใส่หมวกนี้ไปดำน้ำแล้วถ่ายรูปลงโซเชียล ก็เริ่มมีกระแสใส่หมวกดำน้ำแล้วคนเริ่มบอกต่อ ตอนนั้นขายดีมากจนขาดตลาดไปช่วงหนึ่ง 

เวลา collaboration กับแบรนด์อื่น คุณใส่ตัวตนของแบรนด์ Thalassomer เข้าไปยังไง

ยุ้ย : เริ่มจากความชอบของตัวเองก่อนแล้วค่อยๆ กรองว่าแบบไหนที่เหมาะกับแบรนด์เรา ขึ้นอยู่กับคอนเซปต์ในแต่ละปี อย่างหมวกที่ทำกับ Beach Boy Commu รุ่นแรกข้างนอกเป็นสีเหลือง ข้างในเป็นลาย surf girl ที่เหวินเป็นคนวาด พอเป็นหมวกรุ่นที่ 2 ก็จะเป็นสีโทนพาสเทล Paddle Pop สีเหลือง ฟ้า ชมพูอ่อน ตอนนั้นเรารู้สึกว่า Thalassomer เป็นสามสีนี้ จนตอนนี้อยากได้หมวกลายดอกไม้ ก็มาคิดว่าทำยังไงให้ดอกไม้มาอยู่บนผลิตภัณฑ์แล้วเป็นเรา ทุกอย่างเริ่มจากตัวเรา

เหวิน : เรียกว่าดีไซน์จากความรู้สึกตัวเอง เพราะ Thalassomer คือเหวินกับยุ้ย เราก็ใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปในดีไซน์ ล่าสุดเราทำตัวรีดเสื้อในคอลเลกชั่นชื่อ Shroom Surf & Friends เป็นรูปเห็ดที่เราดีไซน์เองแล้วไปแปะกับแบรนด์อื่น ทั้งแบรนด์หมวกอย่าง Beach Boy Commu และแบรนด์เซิร์ฟบอร์ดอย่าง Suket ทำเพื่อเติมเต็มผลิตภัณฑ์อื่นให้มีกิมมิก

คอลเลกชั่นเซิร์ฟบอร์ด Suket x Thalassomer มีที่มายังไง

เหวิน : พอมีหมวกแล้วก็คิดว่าเราควรมีเซิร์ฟบอร์ดด้วย ก็เลยมีคอลเลกชั่นที่ทำกับ Suket แบรนด์เซิร์ฟบอร์ดของบาหลีที่เราและหุ้นส่วนร่วมกันนำเข้า ซึ่งคาแร็เตอร์ของเเบรนด์นี้จะถนัดเซิร์ฟบอร์ดแบบ longboard เดิมทีเราสองคนเล่น longboard ของแบรนด์นี้อยู่แล้วด้วย เซิร์ฟบอร์ดมีหลายประเภท ทั้ง shortboard, mid-length และ longboard ส่วน longboard ก็จะแบ่งประเภทยิบย่อยไปอีก เช่น แบบ performance หรือ log ซึ่งเหวินจะมีความรู้ด้าน longboard ทำให้สามารถตอบคำถามลูกค้าได้ ถ้าเป็นเซิร์ฟบอร์ดประเภทอื่นๆ อาจไม่มีความรู้มากนัก เลยเลือกขายบอร์ดสไตล์ที่เราสองคนเล่นอยู่แล้วดีกว่า ล่าสุดได้ทำลายพิเศษในคอลเลกชั่นลิมิเต็ด Shroom Surf & Friends ซึ่งเป็นลายเดียวกันกับหมวกที่ทำร่วมกับ Beach Boy Commu นั่นเอง

ลูกค้าของ Thalassomer เป็นคนกลุ่มไหน 

เหวิน : ด้วยสินค้าหลักอย่างกันแดดที่ใช้เป็นรองพื้นเวลาทำกิจกรรมทางทะเล ลูกค้าก็จะเป็นผู้หญิงมากกว่าแต่ผู้ชายก็ใช้ได้เหมือนกัน ที่จริงผลิตภัณฑ์ของเราอาจไม่ต้องเกี่ยวข้องกับคนทำกิจกรรมทางทะเลอย่างเดียวเท่านั้น กลุ่มคนเล่นกิจกรรมกลางแจ้งก็ใช้ได้ ทั้งจักรยาน ปีนเขา คนรักกิจกรรมเอาต์ดอร์ เพียงแค่กลุ่มลูกค้าหลักเป็นคนรักทะเล เล่นเซิร์ฟ พายซัปบอร์ด เล่นวินเซิร์ฟ เป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเล่นกีฬาเอกซ์ตรีม 

วางขายสินค้าที่ไหนบ้าง 

เหวิน : นอกจากออกบูทแล้ว ส่วนใหญ่วางขายที่โรงเรียนสอนเซิร์ฟและร้านที่เป็นเพื่อนหรือคอนเนกชั่นในวงการเซิร์ฟ เช่น Better Surf Thailand, Seapians Camp, Laem Yah Rayong Surf Club, Freedom Boardsports Phuket, Salt Surf Club ฯลฯ และ Ripcurl Flagship Store ส่วนร้านสายดำน้ำที่เพิ่งเพิ่มมาคือ Sea Concept Store ที่ขอให้เราส่งสินค้าให้แบบเอกซ์คลูซีฟเฉพาะร้านเขาเจ้าเดียวในวงการร้านดำน้ำเท่านั้น การที่มีร้านสายดำน้ำติดต่อมาหาเองทำให้เราเชื่อมั่นว่าแบรนด์เราเติบโตมาได้เพราะคุณภาพสินค้าจริงๆ คนรู้จักแบรนด์จากเวลาเพื่อนใช้แล้วดีจึงแนะนำต่อกันมา

การเป็นอินฟลูเอนเซอร์นักเล่นเซิร์ฟในไทยช่วยให้ขายของง่ายขึ้นยังไง 

เหวิน : อีเวนต์ที่ไปออกบูทขายของจะเป็นงานเล่นเซิร์ฟ ถ้าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับวงการนี้เรามักได้รับเชิญเพราะเป็นเซิร์ฟเฟอร์กลุ่มแรกๆ เหมือนเราได้รับเกียรติว่าถ้าเป็นงานเซิร์ฟ ต้องมีแบรนด์ Thalassomer ไปออกบูทนะงานถึงจะคอมพลีต ซึ่งก็ต้องขอบคุณทุกอีเวนต์ด้วยที่บอกว่าต้องมี Thalassomer ในงาน 

บรรยากาศการออกบูทขายสินค้าริมทะเลที่ Surf Festival เป็นยังไง ต่างกับการออกบูทขายสินค้าในเมืองยังไง

เหวิน : ด้วยความที่ Thalassomer ไม่ได้เป็นแค่ surf shop แต่เป็นคอมมิวนิตี้ที่ให้ความรู้กับเซิร์ฟเฟอร์ด้วย ลูกค้ามาที่บูทส่วนใหญ่จึงตั้งใจมาหาเราสองคน  บางคนไม่ได้รู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ เขาศึกษาสินค้าผ่านอินสตาแกรมมาและตั้งใจมาคุยกับเราเพื่อให้เราแนะนำเขาเพิ่มเติมว่าสินค้าอันนี้กับอีกอันต่างกันยังไง ลูกค้าเชื่อใจเรามากเพราะว่าเราสองคนใช้เอง

คนเล่นเซิร์ฟหรือกำลังจะเริ่มเล่นที่รู้จักว่าเราสองคนเป็นเซิร์ฟเฟอร์ก็จะเข้ามาทักเพื่อถามนอกเรื่องในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับการขายของ เช่น ถามหาโรงเรียนสอนเซิร์ฟ, เล่นเซิร์ฟยังไง เล่นยากไหม, ลงแวกซ์บนเซิร์ฟบอร์ดยังไง, ทำยังไงให้ผิวเเทนสวย, หน้าไหม้และลอกควรทำยังไงดี มีคนส่งข้อความเข้ามาถามเยอะมากจนเรารู้สึกว่าควรทำเพจเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้และเขียนเป็นบทความเพื่อให้ความรู้ประกอบการขายผลิตภัณฑ์ของเราไปเลย

บรรยากาศเวลาไปออกบูทจะเหมือนไปเจอเพื่อน ตอนออกบูธครั้งเเรกที่เขาหลักในปี 2018 เราตั้งใจไปแบบสนุกๆ และไม่ได้คาดหวังอะไร เเทบไม่ได้อยู่เฝ้าบูธและทิ้งบูธลงไปเล่นเซิร์ฟด้วยซ้ำ เเต่กลายเป็นว่าทุกคนมาหาเพื่อจะขอทากันแดดสีขาวซึ่งกลายเปนกิมมิกของงานไปเลย บางทีคนกลุ่มใหญ่ที่มางานแล้วไม่มีที่นั่งพักผ่อน ก็มานั่งที่บูธเรา อุดหนุนของง่ายๆ อย่างสร้อยหรือตั้งใจมาหาเราที่บูธโดยเฉพาะ 

ยุ้ย : บางคนก็มาคุยกันว่าช่วงนี้ไปเซิร์ฟที่ไหนดี ที่ไหนเป็นยังไงบ้าง มาแนะนำที่เล่นเซิร์ฟและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน คิดว่าถ้าเราไม่อยู่ตรงนั้น ลูกค้าอาจไม่กล้าถาม

พอคนมองคุณเป็นอินฟลูเอนเซอร์ คุณผลักดันคอมมิวนิตี้นักเล่นเซิร์ฟผู้หญิงยังไงบ้าง

เหวิน : แฮชแท็ก #Thalassomer_surfergirls ในโซเชียลมีเดียเป็นโปรเจกต์ที่ทำตั้งแต่เริ่มแบรนด์เลย ช่วงแรกที่เล่นเซิร์ฟ พบว่าการจะมีผู้หญิงคนหนึ่งโผล่มามันยากมากเลย พอมีผู้หญิงน้อยมาก เวลาไปเจอผู้หญิงเล่นเซิร์ฟเราก็อยากรู้จัก แต่อยู่ดีๆ จะเข้าไปคุยเลยก็ไม่รู้ต้องทำยังไง เหวินเคยทำงานออฟฟิศในสายที่ไม่ได้มีบรรยากาศเฟรนด์ลี่มากนัก พอมาเจอยุ้ยที่เป็นคนเฟรนด์ลี่ ยิ้มแย้มแจ่มใสทำให้เราได้สนิทกัน เลยรู้สึกว่าวัฒนธรรมของเซิร์ฟเฟอร์ที่มีความเฟรนด์ลี่เป็นเรื่องดี การยิ้มและคุยกับคนเยอะขึ้นจะสร้างบรรยากาศที่ดีในน้ำได้ เวลารอคลื่นก็มีปฏิสัมพันธ์กันบ้าง ไม่ใช่แค่นั่งเจื่อนๆ อยู่ในน้ำ เลยทำ #Thalassomer_surfergirls ไปสัมภาษณ์ผู้หญิงเล่นเซิร์ฟที่เราเคยเจอเพื่อแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกัน เวลาไปเจอกันในน้ำทำให้คุยกันง่ายขึ้น เป็นการสร้างคอมมิวนิตี้

นอกจากโพสต์แนะนำให้สาวๆ ที่เล่นเซิร์ฟรู้จักกันเองแล้ว เราอยาก empower ให้ผู้หญิงคนอื่นๆ ที่ยังลังเลหรืออยากลองเล่นเซิร์ฟแต่ไม่กล้า อยากทำให้เห็นว่าเซิร์ฟเป็นกีฬาที่ผู้หญิงก็เล่นได้นะ เมื่อก่อนเวลาเหวินและยุ้ยไปเล่นเซิร์ฟตามหาดต่างๆ มักเจอแต่ผู้ชายเต็มไปหมดทั้งคนท้องถิ่นและฝรั่ง บางทีเราถูกคุกคามด้วยสายตาและคำพูดจากการใส่ชุดว่ายน้ำ ยิ่งสมัยเล่นคนเดียว จะไม่กล้าใส่ชุดว่ายน้ำเลยด้วยซ้ำ ต้องใส่กางเกงขาสั้น แต่พอมียุ้ยและผู้หญิงคนอื่นๆ มาเล่นเป็นเพื่อน ทำให้เวลาใส่บิกินี่หรือชุดว่ายน้ำแล้วไม่รู้สึกแปลกแยก สบายใจมากขึ้นเวลาอยู่ในน้ำ ก็อยากให้มีผู้หญิงมาเล่นเซิร์ฟเยอะขึ้น

แล้วอยากผลักดันวงการเซิร์ฟในไทยยังไง

เหวิน : อยากให้วัฒนธรรมเซิร์ฟในไทยทัดเทียมกับต่างประเทศให้ได้ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ ต๊ะ–ทวีโรจน์ เอี๋ยวพานิช จากเพจ Surfer’s Holiday ที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์สายเซิร์ฟคนแรกของไทยพยายามทำมาตลอดหลายปีแต่ด้วยความที่เป็นของใหม่มันก็ยากพอสมควร

ยุ้ย : เพราะ surf culture ในต่างประเทศเริ่มมานานกว่าไทยมากด้วย เวลาจัดงานเลยคึกคักกว่า มีคนเข้าร่วมเล่นมากกว่าและกิจกรรมเยอะกว่า

เหวิน :  อยากให้คอมมิวนิตี้เซิร์ฟเฟอร์ในไทยเหมือนกับเมืองนอกที่มีเฟสติวัลทุกปี มีการแข่งขันและแบรนด์เข้ามาสนับสนุน เกิดภาพสนุกที่คนมองเข้ามาแล้วอยากเข้าร่วม ทุกวันนี้ในไทยเริ่มมีภาพอย่างนั้นให้เห็นบ้าง เช่น งาน Khaolak Classic ที่เพิ่งจัดเมื่อปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้มองว่าเราไม่ได้พยายามกันอยู่สองคน ทุกคนในกลุ่มเพื่อนที่เป็นเซิร์ฟเฟอร์ก็อยากให้คอมมิวนิตี้เซิร์ฟในไทยเติบโตไปในทางที่ดี 

ความสนุกของการทำแบรนด์จากแพสชั่นในกิจกรรมทางทะเลของคุณทั้งสองคนคืออะไร  

เหวิน : ก่อนหน้านี้เคยทำมาหลายอย่าง พอเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกไม่มีแพสชั่นในการทำงานให้คนอื่น เคยทำโฮสเทลซึ่งใช้ความเป็นตัวเองมาทำพอสมควร แต่ก็ยังไม่มีแพสชั่นมากพอ เพราะไม่ใช่สิ่งที่ชอบมากนักเลยไม่สามารถเค้นความรู้สึกตัวเองในการดีไซน์หรือใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่พอมาทำ Thalassomer แบบไม่ได้คาดหวังอะไรกลับรู้สึกมันมากเพราะดีไซน์ความเป็นตัวเองได้เต็มที่ เกิดความรู้สึกมีไฟกลับมาเหมือนสมัยเรียนจบใหม่อีกครั้ง ทำให้รู้ว่าเราชอบทำงานให้ตัวเองมากกว่าให้คนอื่น 

ยุ้ย : เราชอบเซิร์ฟมากๆ เลยคิดว่าถ้ามีแบรนด์ของตัวเอง เราจะสามารถเซิร์ฟไปด้วยและทำงานที่เรารักไปด้วยได้ เลยตัดสินใจร่วมกัน เลือกของกันเอง หาสินค้าใหม่ๆ ที่เราเองก็ใช้และคิดว่าลูกค้าคงจะชอบเหมือนกัน ได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้เซิร์ฟด้วย ได้ตังค์ด้วย

เหวิน : ปัญหาโลกแตกของทุกคนคืออยากเซิร์ฟแต่ก็ต้องทำงานด้วย หลายอย่างที่เคยไม่มีในไทย เราสองคนก็เป็นผู้บุกเบิกในการนำเข้าสินค้ามาในช่วงแรกจนกลายเป็นธุรกิจที่สำเร็จตรงนี้ได้

What I’ve Learned
1. Be an Authentic Influencer สร้างความเชื่อใจจากลูกค้าด้วยสินค้าที่ลองใช้เองแล้วดีจริง รวมถึง
ให้ข้อมูลและความรู้ที่ศึกษามาจากประสบการณ์ตรง
2. Blue Ocean Strategy กลยุทธ์น่านน้ำสีคราม คือการหลีกเลี่ยงตลาดที่มีการแข่งขันสูง (red ocean) อย่างชุดว่ายน้ำและเลือกขายสินค้าที่แตกต่างและไม่มีคู่แข่งมากนัก สร้างความต้องการใหม่ให้ลูกค้า 
3. Collaboration not Competition คำนึงถึงคอมมิวนิตี้อย่างแท้จริง ด้วยการเลือก collaboration แทน competition กับแบรนด์ของเพื่อนในวงการเดียวกัน 

Writer

Part-Time Columnist, Full-Time Villager ผู้คราฟต์สตอรี่และสิ่งของ Ig : rata.montre

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like