Unexpected Multi-lifestyle

คุยกับ STUDIO360 จากร้านเครื่องเขียนสู่แบรนด์ไลฟ์สไตล์ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตผู้คน

นอกจากฝีมือและประสบการณ์ หากสำรวจดีๆ จะเห็นว่าผลลัพธ์ของงานที่เราสร้างขึ้นนั้นมักสัมพันธ์กับอุปกรณ์ที่เลือกใช้ เช่นเราชอบสร้างสรรค์งานศิลปะ ถ้าเลือกใช้อุปกรณ์ที่ดีและมีคุณภาพ ผลงานที่เราสร้างสรรค์ขึ้นก็ย่อมมีผลลัพธ์ที่ดีตามมา

นี่จึงเป็นที่มาของการที่แบรนด์อย่าง ‘STUDIO360’ ลุกขึ้นมารีแบรนด์ตัวเองใหม่ จากที่เคยวางตัวเป็นเพียงแค่ร้านขายเครื่องเขียน ให้กลายแบรนด์สินค้าไลฟ์สไตล์ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คนมากขึ้น ผ่านการใช้สินค้าและบริการที่แบรนด์ตั้งใจคัดสรรมาเป็นอย่างดี 

“คำว่า 360 มันคือทุกอย่าง ครอบคลุมทุกอย่าง”

“เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคน อยากเป็นตัวกลางจัดหาเครื่องเขียน หรืออะไรก็ตามที่ช่วยให้คนสามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น และทำให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น”

น้ำหวาน–ปาลีรัตน์ ดำรงค์กิจการ และ มะปราง–ณิชมน ดำรงค์กิจการ สองพี่น้องผู้ก่อตั้ง STUDIO360 บอกกับเราถึงคาแร็กเตอร์ของแบรนด์ STUDIO360 ถึงแม้วันนี้จะรีแบรนด์ใหม่จากร้านเครื่องเขียนมาเป็นแบรนด์ไลฟ์สไตล์ ของคนรักเครื่องเขียนและคนทำงานสร้างสรรค์มากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้หัวใจสำคัญของการทำแบรนด์เปลี่ยนไป เพราะพวกเขายังคงยึดมั่นในความเชื่อที่ว่า จะเป็นตัวกลางคัดสรรสิ่งของเพื่อส่งต่อสิ่งที่ดีที่สุดไปให้ลูกค้า 

ในวันที่ STUDIO360 รีแบรนด์และรีโนเวตร้านใหม่ให้ป๊อปและสนุกขึ้น เราจึงชวนน้ำหวานและมะปรางมาคุยกันถึงแพสชั่นที่ทั้งสองคนมีต่อเครื่องเขียน จนเกิดเป็นร้านเครื่องเขียนที่ไม่เหมือนใคร ไปจนถึงเรื่องที่มาที่ไปของการเปลี่ยนร้านเครื่องเขียนสู่การเป็นแบรนด์ และกลยุทธ์การขายสินค้า niche ในแบบฉบับของ STUDIO360

ย้อนกลับไป อะไรที่ทำให้ทั้งสองคนหลงใหลในเครื่องเขียน จนอยากเปิดร้านเครื่องเขียนของตัวเอง

น้ำหวาน : ด้วยครอบครัวทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องเขียน มีแบรนด์สมุดชื่อ Zequenz เป็นสมุดสัญชาติไทยที่มีตัวแทนจำหน่ายที่ต่างประเทศ เราเลยมีโอกาสได้ไปงานแฟร์ต่างประเทศ และได้เห็นเครื่องเขียนและร้านเครื่องเขียนใหม่ๆ อยู่เสมอ เวลาไปเดินประเทศโน้นประเทศนี้ ญี่ปุ่นหรือว่าโซนยุโรป ร้านเครื่องเขียนเขาจะค่อนข้างน่ารัก แล้วเครื่องเขียนเขาก็ไม่ได้มีดีแค่เรื่องฟังก์ชั่น แต่ดีไซน์เขาก็ดูดีด้วย เลยเป็นเหมือนสิ่งที่เราสองคนค่อยๆ สะสมมา

มะปราง : ตอนที่เปิดมองว่าในประเทศไทยยังไม่มีร้านเครื่องเขียนแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่จะเป็น art supply ไม่ก็ office supply อย่าง art supply ก็คือขายสีน้ำ, พู่กัน, canvas, copic, ปากกา อะไรก็ตามที่เป็นอุปกรณ์สำหรับเอาไปสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ เราเลยมองเห็นช่องว่างในตลาดว่ามันยังไม่มีร้านขายเครื่องเขียนที่เป็น selected shop ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและดีไซน์ขนาดนั้นในประเทศไทย  ก็เลยตัดสินใจเปิดร้านเครื่องเขียน เพราะเรามองว่าตอนนั้นมันยังไม่มีแบบนี้ในประเทศไทย และถ้าไม่ใช่เรามันจะเป็นใครล่ะ เพราะว่าเราก็อยู่ในวงการนี้มานาน 

ร้านขายเครื่องเขียนที่เป็น selected shop ที่ว่า ต่างจากร้านเครื่องเขียนทั่วไปยังไง

มะปราง : ร้าน selected shop มันต่างจาก art supply shop ที่คนไทยคุ้นชิน การเข้าไป art supply shop คือไปซื้ออุปกรณ์ที่จะเอามาทาสี มาระบาย แล้วที่ร้านนั้นบังเอิญมีดินสอ มีปากกา ซึ่งฟังก์ชั่นของปากกาที่คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญก่อนหน้านี้คือเขียนทั่วๆ ไป แต่พอมันเจาะลึกไปที่ selected shop หมายความว่าเครื่องเขียนจะเป็นเครื่องเขียนที่ไม่ได้เป็น art supply shop ไม่ได้เอาไประบายสี แต่เป็นเครื่องเขียนที่ลึกลงไปด้วยวัสดุ เช่นวัสดุแบบนี้มัน respresent ความเป็นเรา 

น้ำหวาน : อย่างที่ต่างประเทศเขาจะมีวิธีการนำเสนอเครื่องเขียนที่มันไม่ธรรมดา เขา respresent ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสตอรี ฟังก์ชั่น ดีไซน์ เบื้องหลังของเครื่องเขียน เขาทรีตเป็นหนึ่งใน fashion accessory มีเรื่องราวเบื้องหลัง มีเปลี่ยนสีตามซีซั่น เปลี่ยนวัสดุตามซีซั่น มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย น่าสนใจเนอะ ทั้งดีไซน์ การนำเสนอ คือครบจบ ของที่เราเอามาขายเราเลยเน้นมากๆ ว่าเราให้ความสำคัญกับคุณภาพและดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตามที่เราขายจะต้องมีดีไซน์และคุณภาพที่ดี

การที่เราเลือกจะทำแบบ selected shop มันสร้างโอกาสหรือจำกัดโอกาสยังไงไหม

น้ำหวาน : ไม่ได้มองว่าจำกัด ถ้าเขาอยากซื้อที่เป็นฟังก์ชั่นเบส เขาก็อาจจะไป art supply แต่ว่าอันนี้เราเหมือนสร้างฟิลเตอร์เพิ่มขึ้นมาให้ลูกค้า นอกจากฟังก์ชั่นต้องได้แล้ว ดีไซน์ต้องสวยด้วย ได้เห็นปากกาด้ามนี้ก็จะไม่ใช่แค่ปากกา แต่เป็นแอ็กเซสเซอรีติดตัวที่ respresent ตัวเอง เพราะเราก็มีกลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับด้านนี้จริงๆ

ช่วงแรกของการทำร้านเป็นยังไง

มะปราง : เราเริ่มต้นจากร้านเครื่องเขียนออนไลน์ เพราะทุกอย่างเวลาเราจะเริ่มขาย ออฟไลน์มันใช้เงินเยอะ จะสร้างร้านขึ้นมา ทำผนัง ติดแอร์ ทำอะไรต่างๆ มันเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง แต่การเปิดร้านค้าออนไลน์มันก็คือการเปิดเฟซบุ๊ก เปิดอินสตาแกรม เหมือนใช้โซเชียลมีเดียในการช่วยเหลือ ค่าใช้จ่ายมันก็ไม่สูงในการเริ่มต้น 

จุดไหนที่ทำให้พวกคุณอยากขยับสู่ออฟไลน์ที่มีหน้าร้าน 

มะปราง : พอเปิดไปสักพักค้นพบว่าเราควรจะมีร้านค้าออฟไลน์ได้แล้วนะ เพราะว่าเราเริ่มมีฐานลูกค้า โปรดักต์เราก็เริ่มหลากหลายมากขึ้น คนที่อยากซื้อของในมูลค่าสูงเขาก็อยากจะเห็นสินค้า อยากจับ อยากทดลองก่อนจะควักเงิน 5,000-6,000 บาทซื้อปากกาออนไลน์ เราก็เลยตัดสินใจมีหน้าร้าน 

พอมีหน้าร้านแล้วมันช่วยสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างไปจากออนไลน์ยังไง 

มะปราง : คิดว่าต่าง ไม่ใช่เชิงที่ว่าดีหรือไม่ดีนะ แต่ว่าต่างกันตรงที่เราเห็นหน้าลูกค้าเลย ทุกอย่างถูกแก้ปัญหา ทุกอย่างถูกพูดคุยทันทีโดยไม่ต้องรอ สมมติในโลกออนไลน์มันจะต้องมีช่องว่างของช่วงเวลา ตอบมาปุ๊บ รออีกคนตอบกลับ ทำให้อาจจะมีเรื่องหรือสถานการณ์ที่เราอาจจะไม่ได้เข้าใจลูกค้ามากขนาดนั้น เพราะว่ามันผ่านตัวอักษร 

แต่พอมันเป็นโลกหน้าร้านรู้สึกว่าได้สัมผัสกับลูกค้าหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งหน้าตาลูกค้า อายุลูกค้า ชื่อของลูกค้า น้ำเสียง ทุกอย่าง รู้สึกว่าหน้าร้านทำให้เราเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่า เข้าใจลูกค้าได้มากกว่า

น้ำหวาน : ลูกค้าสามารถทดลองได้ ออนไลน์ลูกค้าลองปากกาไม่ได้ ลองสมุดไม่ได้ ไม่ได้จับมือลงกระดาษ บางคนลูกค้าหลายๆ ท่าน แค่ information feed ไปมันไม่พอ อ๋อ กระดาษ 80 แกรมค่ะ รองรับปากหมึกซึม เขาอาจจะงงว่ายังไงต่อ 80 แกรมคืออะไรก็ยังไม่รู้ แต่การได้มาหน้าร้านเราก็สามารถแนะนำได้ว่าลองใช้ปากกาหมึกซึมนี้นะ ขีดลงบนกระดาษ 80 แกรม อ๋อ มันไม่ทะลุ ประสบการณ์เขาก็ฟูกว่า

แล้วสำหรับสินค้าที่เอามาขายในร้าน มีหลักในการเลือกหาโปรดักต์ที่ทั้งคุณภาพดีและดีไซน์สวยยังไง

มะปราง : เลือกที่แบรนด์ก่อน คือเลือกแบรนด์ที่เรารู้สึกสนใจ รอบแรกตอนที่เราไปเดินงานแฟร์ อะไรที่เราสนใจก็จะจดๆ ไว้แล้วก็มาทำการบ้านกันต่อ สินค้าที่คัดเลือกเข้ามาขายในร้านจะมีความเป็นไลฟ์สไตล์และสวย ไม่ใช่แค่ดินสอไม้ที่ใช้เขียนได้ ยี่ห้ออะไรก็ได้ ไม่ใช่กบเหลาดินสอแบบไหนก็ได้ แต่ว่ามันคือสินค้าที่มีแบรนด์ 

น้ำหวาน : สามข้อง่ายๆ เลย คือสวยสะดุดตา ไม่เคยเห็นมาก่อน คุณภาพดี และเราค่อนข้างมั่นใจว่าเราไปงานเครื่องเขียนมาบ่อย เราไปร้านเครื่องเขียนมาเยอะ เห็นเครื่องเขียนมาหลากหลาย ถ้าเรามองว่าอันนี้มันสะดุดตา ลูกค้าน่าจะชอบ สินค้านี้คือผู้ถูกเลือก 

ยุคที่ทุกอย่างปรับไปเป็นเทคโนโลยีและดิจิทัล คนหันไปใช้ไอแพดและแท็บเล็ต อะไรที่ทำให้คนยังอยากซื้อเครื่องเขียนอยู่

มะปราง : เรามองว่ายังไงก็ยังต้องมีคนที่ใช้ปากกาคู่กับสมุด การเขียนมันคือการถ่ายทอดความคิดที่คิดออกมาแล้ว มันถึงจะออกมาเป็นตัวอักษรได้ แล้วก็มองว่ายังไงมันก็มาทดแทนกันไม่ได้ ไอแพดมันทำให้คนสามารถใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น แต่ว่าคนเราก็ยังต้องเขียนอยู่ดี แล้วจะไปเขียนที่ไหนถ้าไม่ได้มีสมุดให้เขียน แล้วก็ไอแพดแบตฯ หมดได้ด้วยนะ สมุดแบตฯ ไม่หมด

น้ำหวาน : เราว่าไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยก็ยังต้องมีการฝึกเรียนฝึกจับดินสอ แล้วก็เขียนลงบนกระดาษอยู่ดี มันเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นสำหรับมนุษย์เรา ไม่สามารถมีอะไรมาทดแทนสิ่งนี้ได้ หลายคนให้ความสำคัญว่าการเขียนเป็นหนึ่งในการคิด คือคิดด้วยมือ พอเราคิดเสร็จเราได้กลั่นกรองแล้วก็เขียนลงไปบนกระดาษ เราถามหลายๆ คนมา หลายๆ คนตอบคล้ายกันนะว่า หลายครั้งเลือกที่จะตัดสินใจเขียนลงในสมุด เพราะว่าสิ่งที่เขียนมันสำคัญ

อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องเทคโนโลยี หลังๆ คนอยู่กับเทคโนโลยีมากแล้ว มากจนรู้สึกว่าเหนื่อยล้าและอยากจะลองพักดูบ้าง ตอนหลังเริ่มมีเทรนด์เรื่องดิจิทัลดีทอกซ์ หรือว่าเรื่องการจดบันทึกต่างๆ ที่เป็นกระแสมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น bullet jounal การทำ mood tracker อะไรอย่างนี้ หรือแม้กระทั่งเรื่องการบำบัดด้วยการเขียน เพื่อนเราหลายคนที่ไปหาหมอ หมอแนะนำให้เขียนทุกอย่างลงไปในสมุด มันเริ่มมีอะไรแบบนี้เข้ามาเยอะขึ้น

ซึ่งยิ่งทำให้เห็นชัดว่าสมุดหรือว่าการเขียนมันเป็นอะไรที่อยู่กับมนุษย์เรา ไม่ได้อยากจะแบ่งแยกเลยนะว่ายูเป็นสายเทคฯ ​ยูไม่สามารถใช้สมุดปากกาได้หรอก คือทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ ไม่มีอะไรขวางกั้น

มะปราง : อันนี้คือสิ่งที่หลายๆ คนเข้าใจผิด บางทีเขาอาจจะคิดว่าพอไอแพดมาแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สมุดไม่ได้เลยนี่นา มีไอแพดก็มีสมุดได้ มีสมุดก็มีไอแพดได้ มันไปด้วยกันได้ แค่โลกเรามันสร้างเครื่องมือให้มีมากขึ้นเพื่อให้เลือกใช้ได้หลากหลายขึ้น

พอเป็นเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เป็นความยากของการทำร้านเครื่องเขียนไหม ต้องปรับตัวยังไงบ้าง

น้ำหวาน : สำหรับเราไม่ได้รู้สึกว่ายาก แต่คนถามคำถามนี้เยอะ มันเลยเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราควรจะ concern ไม่ได้รู้สึกว่ายาก แต่ทำยังไงให้คนเห็นเราได้มากที่สุด ให้รู้สึกว่าเราจับต้องได้มากที่สุด แล้วก็จะจับได้ยังไงบ้างล่ะ เราว่าก็ดีที่มีโลกเทคโนโลยี เพราะทำให้สามารถโปรโมตร้านได้มากขึ้น  เราใช้มันเป็นตัวกลางในการโปรโมตมากกว่า ทุกวันนี้เราก็ขายของบนออนไลน์เหมือนกัน เราไม่ได้ทิ้งมันไป

อยู่กับธุรกิจเครื่องเขียนมาตั้งแต่เด็กจนโต ร้านเครื่องเขียนในอุดมคติของพวกคุณเป็นแบบไหน

น้ำหวาน : ไม่อยากพูดว่ามันเป็นอุดมคติ เพราะว่าก่อนหน้านี้เราไปเมืองนอก ต่างประเทศคนเขาชอบเดินตามถนน เพราะอากาศเขาดี เขาก็จะมีร้านเครื่องเขียนกุ๊กกิ๊กๆ น่ารัก แต่แบบนั้นมันอาจจะเอามาปรับใช้กับประเทศเราไม่ได้ ด้วยสภาพอากาศ หรืออะไรต่างๆ ร้านที่เราอยากให้เป็นเลยเป็นร้านที่อยากให้ลูกค้ามีตัวเลือกมากที่สุด

มะปราง ​: อยากจะมีแบรนด์ที่เวลาลูกค้าเดินเข้ามาถามว่ามีอันนี้ไหม ก็บอกได้ว่ามี อยากจะมีตัวเลือกให้ลูกค้าได้มากที่สุด ถามว่าวันนี้มีเยอะไหม มันก็มีเยอะแล้วแหละ แต่ด้วยปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างมันก็มีได้เท่าที่มี อาจจะเป็นเรื่องของการเอาเข้ามาไม่ได้ เรายังไม่รู้จักแบรนด์นี้ หรือยังไม่รู้จักสินค้าตัวนี้ แต่วันหนึ่งในอนาคตก็อยากให้ร้านเราเป็นที่ที่มาหาอะไรก็เจอ

น้ำหวาน : แล้วก็ร้านอาจจะขยายใหญขึ้น มีโซนที่ไว้สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับเครื่องเขียน หรือว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับแบรนด์มากขึ้น อาจจะเป็นโซนเวิร์กช็อป เพราะอย่างเราจะมีจัดเวิร์กช็อป เราก็ต้องไปจัดที่ออฟฟิศ หรือที่นี่ที่เป็นเซ็นทรัลเวิลด์ อนาคตก็อยากจะมีที่ของร้านที่มากขึ้นกว่านี้สำหรับจัดเวิร์กช็อป หรือว่าขายของอะไรที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ได้มากกว่านี้ เช่น เรื่องสีน้ำ สีน้ำแบบไหนที่ไม่เหมือน art supply แต่มีโซนให้ลูกค้าได้ทดลองได้เรียนได้อะไรอย่างนี้ อาจจะยังตอบเป็นภาพได้ไม่ชัดเจน แต่อยากได้อะไรที่สร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้ดีที่สุด

ออนไลน์ก็เหมือนจะลงตัวแล้ว หน้าร้านและฐานลูกค้าก็แข็งแรงประมาณหนึ่ง ทำไมถึงอยากรีแบรนด์ใหม่ 

มะปราง : อินไซต์เลยนะ ตอนนั้นอยากทำสินค้าที่เป็นของ STUDIO360 อยากทำปากกาสีพิเศษ แต่ไม่รู้ว่าจะทำสีอะไรดี ไปถามคนทั้งออฟฟิศเลย บอกน้องดีไซเนอร์ว่าออกแบบให้หน่อย อยากทำปากกาของ STUDIO360 แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าต้องทำสีอะไร

น้ำหวาน : ออกแบบมาสวยนะแต่เราไม่รู้ว่าอะไรมันคือถูกหรือผิด มีตัวเลือกมาให้ แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกต้อง มันเลยทำให้เราหันมามองตัวเองว่าแล้วจริงๆ กูเป็นอะไรวะ เราคือสีอะไร เราเป็นใคร 

มะปราง : อีกอย่างคือ ทุกแบรนด์เมื่อมาถึงอายุประมาณหนึ่งก็ต้องมีการรีแบรนด์ เพื่อให้เหมาะสมและตอบโจทย์กับลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้เรารู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ณ ปัจจุบัน ร้านเราเปิดมา 4 ปีแล้ว เบื้องต้นตอนที่ทำร้านรอบแรกเราอาจจะยังไม่รู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร ลูกค้าเป็นใคร ยังไม่เห็นภาพชัด เราว่ามันถึงเวลาที่จะทำให้ร้านเรามันชัดเจนมากขึ้น

น้ำหวาน : ก่อนหน้านี้ STUDIO360 เป็นร้านขายเครื่องเขียน แต่ตอนนี้ STUDIO360 เป็นแบรนด์ คำว่าเป็น ‘แบรนด์’ หมายความว่า วันหนึ่งเราอาจจะออกโปรดักต์อะไรออกมาก็ได้ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าของเรา อาจจะเป็นปากกาของ studio360  หรือว่าสมุดของเราเอง หรือไอเทมอื่นๆ ที่ไปทางไลฟ์สไตล์มากขึ้น วันหนึ่งเราก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคุณ อาจจะมีหมวก อาจจะมีเสื้อผ้า คือเราไม่อยากจะมีข้อจำกัดอะไร อันนั้นเป็นเหตุผลที่อยากรีแบรนด์ เราไม่อยากจำกัดตัวเองเป็นแค่ร้านเครื่องเขียน แต่เราอยากจะเป็นแบรนด์ STUDIO360

การรีแบรนด์ใหม่ครั้งนี้เลยเป็นเหมือนการทำให้ STUDIO360 มีภาพที่ชัดเจนขึ้น

น้ำหวาน : ใช่ แล้วก็ไม่อยากให้มันจำกัดอยู่แค่ว่าเป็นร้านขายเครื่องเขียน แต่อยากจะสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้เข้ามาพูดคุยรู้จักกัน ในอนาคตเราอาจจะจัดเวิร์กช็อป จัดทอล์ก ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าจะต้องเป็นแค่ร้านขายเครื่องเขียน อาจจะใช้คำว่า  life style community ซึ่งคำนี้มันก็ไม่ได้มีอะไรตายตัว แต่อย่างไรก็ตาม ยังอยากจะเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ลูกค้าที่เขาให้ความสำคัญกับร้านเรา ที่ชอบร้านเรา ที่เป็นแฟนคลับร้านเราอยู่

มะปราง : รีแบรนด์มา จริงๆ อยากให้ร้านไม่มีข้อจำกัดอะไรเลย ด้วยความที่เป็นแบรนด์แล้ว เราอยากทำอะไรก็ได้ที่ลูกค้าปัจจุบันจะสนับสนุนเรา อย่างทุกวันนี้ขายของรู้แล้วว่าของที่อยู่ในร้าน ลูกค้าที่จะซื้อเขามั่นใจว่าหนึ่งของคุณภาพดี สองของหน้าตาสวย สามของมีเรื่องราว เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เราทำ เราอยากจะสร้างขึ้นมาด้วยการมี 3 อย่างนี้ มันก็จะต้องสวย คุณภาพดี และมีเรื่องราว 

ตอนนี้มีออกโปรดักต์อะไรที่เป็นของ STUDIO360 ออกมาแล้วบ้าง

มะปราง : เคยมีก่อนหน้านี้ออกเป็นไอเทมสนุกๆ อย่างสมุดสีๆ สติ๊กเกอร์ เล็กๆ น้อยๆ เน้นทำไม่เยอะ หมดแล้วหมดเลย แต่ว่าล่าสุดกับโลโก้ใหม่ มีทำ reusable bag เป็นถุง เหมือนที่เราบอกว่าเราอยากเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคน คำว่า lifestyle คือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ที่เขาบอกว่า product lifestyle อะไรอย่างนี้ นี่ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราทำ reuseble bag เพราะตามเทรนด์ทุกวันนี้ด้วยที่เขาไม่ให้ถุง 

รีแบรนด์ใหม่คือได้รีโนเวตหน้าร้านใหม่ด้วย หน้าร้านเดิมเจอปัญหาอะไร และตอนนี้ร้านใหม่มีหน้าตาเป็นแบบไหน

มะปราง : It’s simple เลย หน้าร้านมันมืด แต่งร้านโอเคแต่ร้านมืด ลูกค้าจะถ่ายรูปก็ไม่รู้จะถ่ายยังไง เพราะว่าแสงอาจจะยังไม่เหมาะสมมากพอ หรือชั้นวางของก็ระยะยังไม่ถูกต้อง ด้วยความที่เราไม่ได้ตัวใหญ่มาก ดังนั้นเราเลยจะเคลื่อนย้ายเคลื่อนไหวเร็ว ไม่ว่าอะไรที่ไม่ดี ทำๆ ไปแล้วไม่ดีเราก็เปลี่ยน เรารู้แล้ว่ามืด ก็แค่ติดไฟเพิ่ม เรารู้ว่าชั้นวางตรงนี้ไม่สวยก็เปลี่ยน เราค่อยๆ สะสมฟีดแบ็ก

น้ำหวาน : ร้านใหม่ให้ความสำคัญกับแบรนด์ดิ้งมากขึ้น แบรนด์ดิ้งชัดเจน โลโก้ต้องชัด แล้วทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันหมดเลยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพราะถ้าไปดูเว็บไซต์มันก็คือเหมือนกัน มีการเอาโลโก้มาพัฒนาต่อ ทุกอย่างมันไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น หรือแม้กระทั่งชั้นวางด้านซ้าย จริงๆ มันคือฟอนต์เดิมของเรา แล้วเราก็เอามาทำเป็นชั้นวางสินค้า ถ้ามองดูดีๆ มันจะเป็นเลข 3 เลข 6 เลข 0 

STUDIO360 ในนิยามของทั้งสองคนมีความหมายว่าอะไร หลังจากนี้เราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ จากการเป็นแบรนด์อีกบ้าง

น้ำหวาน : ด้วยชื่อที่ว่า STUDIO360 คำว่า 360 มันคือทุกอย่าง ครอบคลุมทุกอย่าง มันคือความ hold ความเต็ม ทำอะไรก็ได้ แล้วตอนนี้เราเป็นแบรนด์แล้ว ไม่ได้เป็นแค่ร้านเครื่องเขียนแล้ว เราอาจจะขายเสื้อผ้าที่ใส่แล้วสบาย ใส่แล้วรู้สึกว่าวันนี้ไม่ต้องมากังวลเรื่องเสื้อผ้าเลย เอาสมองไปคิดเรื่องอื่น  อาจจะขายน้ำที่กินแล้วทำให้รู้สึกมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เรารีแบรนด์เพื่อจะไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนคนหนึ่ง เป็นแบบ unexpected experience เลย ไม่ได้จำกัดตัวเองว่าเป็นแค่ร้านเครื่องเขียน 

มะปราง : ก็ต้องรอลุ้นกันต่อไป แต่ทุกอย่างมันจะยังคงความเป็นตัวตนของเรา ความสวยงาม ความคุณภาพดี มีเรื่องราว และมีความสนุก เรามองร้านเราว่ามันเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากให้มันเป็น ตอนเริ่มต้น 4 ปีที่แล้วมันเป็นแค่ร้านเครื่องเขียน แต่อนาคตมันจะไม่ใช่แล้ว เพราะตอนนี้เราอยากเป็นแบรนด์ 

น้ำหวาน : แต่ทุกอย่างมันก็มาในเวลาและจังหวะที่ถูกต้องนะ เพราะตอนนั้นถ้าจะมาเป็นโลโก้แบบนี้ สีแบบนี้อาจจะยังไม่เหมาะ อาจจะจัดจ้านหรือสนุกเกินไป แต่การรีแบรนด์มันก็บอกถึงความเป็นตัวตนทั้งหมดของเราว่ามันคืออะไร เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ลูกค้าจะรู้ได้ไงว่าเราเป็นใคร แล้วเราจะโตยังไงถ้ารากฐานเราไม่ชัดเจน

การที่ทั้งสองคนลุกขึ้นมาทำสิ่งนี้ มันให้บทเรียนอะไรในชีวิต หรือเปลี่ยนอะไรในชีวิตเราไปบ้างไหม 

มะปราง : ทำให้มองว่าเราไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้ตลอดไป ตอนที่เปิดร้านเครื่องเขียนมาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว อาจจะตอบโจทย์ ณ ตอนนั้น แต่โจทย์ ณ วันนี้มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้จริงๆ ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ หาโปรดักต์ใหม่ หาเซอร์วิสใหม่ แล้วการที่เราไม่อยู่ที่เดิมมันจะนำมาใช้ได้กับทุกอย่าง

น้ำหวาน : เปลี่ยนเรื่องมายด์เซตถ้าเกิดเราเซตมายด์เซตถูกต้องเราจะผ่านมันไปได้ เรื่องแรกคือเราต้องเป็นนักแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชีวิต ธุรกิจ ทุกอย่างปัญหาเข้ามาตลอดอยู่แล้ว เราต้องคิดว่าถ้าฉันเป็นนักแก้ปัญหา ปัญหาต่างๆ ที่มันเข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร มันคือหนึ่งสิ่งที่เราต้องทำ ต้องแก้ปัญหาตลอดเวลา อีกเรื่องนึงก็คือเราไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวคนเดียว ทีมสำคัญ ทุกคนเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ของกันและกัน จะทำยังไงเพื่อบริหารจิตใจของพนักงานและตัวเองไปได้ด้วยกัน เรื่องคนก็ค่อนข้างสำคัญ

พวกคุณดูยังไงว่าช่วงเวลาไหนถึงควรหาสิ่งใหม่ๆ ทำ หรือปรับเปลี่ยนแบรนด์ 

มะปราง : เรารู้ได้นะว่าตอนนี้มันเริ่มอิ่มตัวแล้ว ต้องปรับ ถ้ามันยังไม่มีความท้าทายใหม่ นั่นหมายความว่าต้องหาโจทย์ใหม่ๆ สมมติทำสิ่งเดิมไปแล้วมันยังมีปัญหาอยู่ นั่นหมายความว่าเรายังคงต้องโฟกัสสิ่งนั้นและแก้ปัญหาอยู่ แต่พอสิ่งนั้นนิ่งแล้วเราก็ต้องหาอันใหม่ ต้องหาอะไรทำเพิ่มแล้ว 

สุดท้ายการหาอะไรใหม่ๆ ทำเพิ่ม ควรมีหลักยังไงเพื่อไม่ให้แบรนด์เราดูจับฉ่ายเกินไป 

มะปราง : เราต้องมีจุดยืน เรามองว่าเราจะเป็นตัวกลางในการจัดหาเครื่องเขียน หรือว่าอะไรก็ตามที่ช่วยให้คนสามารถทำงานสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้น แกนหลักๆ มันมีแค่นี้คือเราจะเป็นตัวกลางในการเซอร์วิส ในการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า อะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตลูกค้าดีขึ้น อะไรก็ตามที่ทำให้ลูกค้ามีความคิดสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น นั่นแหละคือสิ่งที่เราจะทำ

น้ำหวาน : หลักๆ เวลาจะทำอะไรเราจะกลับมาดูตัวแกนนี้ว่าสิ่งที่เราทำมันยังอยู่บนแกนรึเปล่า ถ้าอยู่ก็ทำต่อไป 

อะไรเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวให้ตื่นมาทำงานได้อยู่ 

น้ำหวาน : เหมือน STUDIO360 เป็นเบบี๋ของเรา เพราะฉะนั้น ในการตื่นมาของทุกๆ วันเราจะแรงกล้าที่จะดูแลลูกและเลี้ยงลูกให้เติบโตได้ในที่สุด วันหนึ่งลูกจะโตแล้วก็เลี้ยงเรา รึเปล่า? (หัวเราะ)  

มะปราง : สิ่งที่ทำให้ตื่นมาแล้วอยากจะทำงานต่อคือ เมื่อมีโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ทำ จะตื่นเต้น จะเป็นสิ่งที่ตั้งหน้าตั้งตารอ 

น้ำหวาน : แล้วก็ฟีดแบ็กดีๆ จากลูกค้า

มะปราง : อันนี้ลืมพูดไปเลย ตอนที่เปิดร้านที่เซ็นทรัลเวิลด์สัปดาห์แรก มีลูกค้าเดินเข้ามาคุยด้วย ลูกค้าบอกว่า “ขอบคุณมากเลยนะคะที่เปิดร้านแบบนี้ในประเทศไทย” โห เราฟินมาก กลับมาบอกทีมว่ามีลูกค้ามาพูดแบบนี้ด้วย สิ่งที่เราทำที่เราเหนื่อยมันโอเคนะ

น้ำหวาน : ประโยคเดียว แป๊บเดียว มันทำให้เราอยากจะทำโน่นทำนี่มาถึงทุกวันนี้ 

Writer

บรรณาธิการ ผู้หลงใหลการเล่าเรื่องธุรกิจ ใช้เวลางานตีสนิทแบรนด์ไทย นอกเวลางานเป็นนักธุรกิจออนไลน์ฝึกหัด จริงจังจนได้ดิบได้ดีในวงการห้องลองเสื้อ

Photographer

ช่างภาพและ baker ฝึกหัด

You Might Also Like