Available in Your Community
Not Available in Your Country ไลฟ์สไตล์แบรนด์ที่อยากให้คนซื้อไม่ใช่ลูกค้าแต่เป็นเพื่อนที่โตไปด้วยกัน
น่ารัก!!! มักจะเป็นคำที่เราใช้อธิบายแบรนด์ Not Available in Yr Country ให้คนอื่นฟัง
น่ารักที่หนึ่งคือโปรดักต์ แบรนด์นี้ขายของน่ารัก! ตั้งแต่เสื้อยืดสกรีน, tote bag, สติ๊กเกอร์ ไปจนถึงกริปต็อก ติดโทรศัพท์มือถือ ทุกชิ้นเป็นลายเส้นซิกเนเจอร์ที่เจ้าของแบรนด์วาดเองกับมือ เห็นแวบๆ ก็รู้ว่ามาจาก Not Available in Yr Country แน่นอน
น่ารักที่สองคือความลิมิเต็ด เพราะอยากให้ลูกค้าเป็นคนพิเศษและได้ใส่ของไม่ซ้ำใคร (เยอะ) แบรนด์จึงทำของออกมาในจำนวนไม่มากและไม่รีสต็อกแน่นอนไม่ว่าลูกค้าจะเรียกร้องแค่ไหน เชื่อไหมว่าทุกวันนี้ยังมีคนขอให้รีสต็อกเสื้อลายแรกๆ อยู่เรื่อยๆ แต่แบรนด์ก็ยังไม่ใจอ่อนอยู่ดี
น่ารักที่สามคือแบรนด์ไม่ได้คิดถึงแค่กำไรของตัวเองแต่คิดถึงกำไรของคนอื่นๆ ในสังคม อยากช่วยคนที่ขาดด้วยความสามารถที่ไลฟ์สไตล์แบรนด์จะพอทำได้
และที่น่ารักสุดๆ คือสำหรับ Not Available In Yr Country ลูกค้าไม่ใช่แค่คนที่มาซื้อของแต่เป็นเพื่อนที่จะเติบโตไปด้วยกัน แบรนด์เลยไม่ได้ทำแค่สินค้าอย่างเดียวแต่สร้างคอมมิวนิตี้ขึ้นมาด้วย (ขออุบไว้ก่อนว่าทำยังไง)
แบรนด์เล็กๆ แต่อยากทำอะไรน่ารักๆ มากมาย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากตัวตนและอารมณ์ศิลปินของ อีฟ–พรปวีณ์ บาเกอร์ และคุณแม่คนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของแบรนด์
“Not Available เกิดขึ้นเพราะว่าอีฟรู้สึกว่าเราทำงานที่ใช้ตรรกะมาเยอะแล้ว เราอยากพักมาทำอะไรอีโมชันนอลสุดๆ กันบ้าง ดังนั้นแบรนด์นี้มันคืออารมณ์ของอีฟล้วนๆ ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มี customer insights ใดๆ ทั้งสิ้น”
แบรนด์ที่สร้างจากความเป็นศิลปินจะมีหลักการตลาด 4P (บวก 1) แบบไหน บอกได้แค่ว่าไม่เหมือนใครแต่ผลลัพธ์ออกมาดีและน่ารักอย่างที่เห็นกันนี่แหละ
Product
Available for Fun
ในขณะที่หลายแบรนด์ยึดความต่อเนื่องของการปล่อยสินค้าเป็นหัวใจสำคัญ การปล่อยสินค้าของ Not Available In Yr Country นั้นเรียกได้ว่าแรนด้อมตามใจฉัน เพราะแบรนด์นี้เริ่มจากความสนุกของอีฟล้วนๆ
“อีฟเรียนมาด้าน communication design เอก Interactive Design อาชีพจริงๆ คือเป็น User Experience Designer และทำ brand strategy มันเป็นงานที่ใช้ตรรกะค่อนข้างมาก เราต้องเอา customer insights มาพัฒนาของบางอย่าง ดีไซน์ touch point เพื่อให้ user รู้สึกอะไรสักอย่างหนึ่งตามแต่บรีฟซึ่งนี่ไม่ใช่ Not Available เลย” เธอแอบเน้นเสียงคำว่าเลยเป็นการยืนยัน
“อีฟซัฟเฟอร์กับการไม่ยอมโตมาตลอด รู้สึกว่าโลกมันหมุนเร็วมาก ทุกคนต้องรีบโต ต้องรับผิดชอบ ต้องรีบๆๆๆ เราเลยรู้สึกว่าอยากหยุดบ้าง อยากทำอะไรที่ไม่เครียดขนาดนั้น ไม่ต้องมีตรรกะก็ได้
“ช่วงปลายปี 2019 เราแฮงเอาต์กับเพื่อนแล้วก็คุยกันว่าอยากติดแทตทูลายของเราเอง ทำแทตทูกันดีกว่าก็วาดออกมาเป็นคำบ้าง ลายการ์ตูนบ้าง ทำเป็นสายเหมือนเป็นกำไลข้อมือ วาดแหวน เป็นแทตทูเด็กๆ ไม่มีสาระ วาดแล้วก็ไปหาโรงงานผลิตแต่ไม่มีโรงงานไหนเขาจะรับทำแผ่นเดียวหรอก ขั้นต่ำมันอยู่ที่ 50 แผ่น ก็เลยคิดว่างั้นทำขั้นต่ำก็ได้ พอทำแล้วก็ต้องขาย (หัวเราะ) นี่แหละคือไอเทมแรกของ Not Available In Yr Country”
ทำเพราะชอบเพราะสนุกแต่ดันขายหมด คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะยังสนุกอยู่อีฟเลยทำของที่อยากได้เพิ่มอีกเพื่อเพื่อนๆ คนกันเอง และใช้เองด้วย
คราวนี้เธอไม่ได้เล่นสนุกแค่กับเพื่อนแต่ไปชวนแม่มาร่วมขบวนการ
“สินค้าชิ้นที่สองที่ทำจริงๆ จังๆ คือเสื้อปัก มันเริ่มจากปักใส่เล่นกันเองนี่แหละเพราะแม่อีฟทำงานปักเป็นงานอดิเรกอยู่แล้ว ช่วงแรกเลยเป็นการทำสินค้าแบบ made to order เพื่อนคนนี้อยากได้อะไรแม่ก็ปักให้ แต่ทีนี้มันมีหลายคนที่อยากได้บ้าง เราก็ปักไม่ได้เยอะขนาดนั้นจะทำยังไง”
นั่นทำให้สินค้าหมวดงานสกรีนค่อยๆ ถูกปล่อยตามมา ทั้งเสื้อยืดโอเวอร์ไซส์, baby tee ตัวจิ๋ว, เสื้อสายเดี่ยว, กระโปรง, กางเกง, tote bag รวมไปถึงสินค้าหมวดอื่นๆ อย่าง griptok และสติ๊กเกอร์ ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นอีฟสปาร์กจอยกับอะไร ทุกครั้งที่ Not Available In Yr Country ปล่อยสินค้าใหม่เราจึงไม่เคยเดาได้เลยว่าสินค้าจะมาแนวไหน ทำได้แค่วอร์มนิ้วรอกด CF ให้ทัน
ถึงอย่างนั้น ในความแรนด้อมสินค้าทุกชิ้นก็มีจุดร่วมของมันอยู่
“แบรนด์นี้ธีมของมันคือคนที่ไม่ยอมโตแต่โตแล้วแบบเรา หรือคนที่กำลังจะโตและสับสนกับชีวิตมากๆ แล้วก็ธีมความเป็นเพื่อน เรื่องที่เราเล่าผ่านของมันเหมือนเป็นไดอารี่บันทึกตัวฉันในช่วงต่างๆ แล้วฉันก็หวังใจว่าคนที่ซื้อของฉันไปน่าจะเจอปัญหาคล้ายๆ กัน อยากเจอเพื่อนร่วมทาง เธอมีปัญหายังไงนะ ฉันก็มีแบบนี้เหมือนกัน
“อย่างเสื้อยืดลาย How I Fix My Problems ดีเทลลายเสื้อมันคือวิธีการแก้ปัญหาชีวิตของอีฟ เช่น บางทีเราก็แก้ปัญหา บางทีเราก็หนีปัญหา บางทีก็ไปพึ่งอย่างอื่น หรือเสื้อกล้ามลาย ‘Sorry Prince Charming, I only date badasses’ มันเกิดจากความรู้สึกว่าคนดีๆ ที่เข้ามาในชีวิตไม่ชอบ ชอบคนชั่ว! (หัวเราะ) ฉันเป็นอย่างนี้! และฉันก็หวังว่าจะเจอเพื่อนที่มีเพนพอยต์ในชีวิตคล้ายๆ กัน
“เราเลยไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นแบรนด์เสื้อผ้าขนาดนั้น โฟกัสของเราไม่ใช่การใส่เสื้อผ้าเพื่อถ่ายรูปลงไอจีด้วยซ้ำ แต่คือการเล่า statement ความคิด คือการที่คอมมิวนิตี้ได้มา express เรื่องต่างๆ ด้วยกัน แต่ละสินค้าเราจะมีเรื่องราวที่อยากเล่าแล้วก็เลือกทำไอเทมที่เหมาะกับเรื่องนั้น เราเลยอาจจะทำของแล้วก็หยุด ทำ หยุด เพราะถ้าไม่มีเรื่องจะเล่าก็ไม่ฝืนทำ”
ต้องมีเรื่องที่อยากเล่าถึงจะทำสินค้า ในทางกลับกัน ถ้ามีไอเทมบางอย่างที่อีฟอยากทำแต่ยังไม่มีเรื่องเล่าที่เหมาะกับไอเทมนั้นเธอก็จะยังไม่ผลิต เช่น tote bag ลายหนังสือพิมพ์ที่กว่าจะได้ทำก็ใช้เวลาหลายปี
“tote bag เป็นหนึ่งในไอเทมที่อยากทำมานานมากแต่ยังไม่มีเรื่องเหมาะๆ อีฟเป็นคนชอบอ่านข่าวแล้วก็รู้สึกว่าข่าวในช่วงนั้น (ที่ทำ tote bag) มีเรื่องคนยิงกันเยอะมาก ทุกอย่างแย่ไปหมด เราก็เลยอยากทำหนังสือพิมพ์ในแบบของเราที่มีข่าวที่เราอยากให้มันเป็นจริงบ้าง ซึ่งการจะเล่าสิ่งนี้เราต้องมีพื้นที่ให้มันเนอะ มันไม่ควรอยู่บนเสื้อเพราะคนก็จะบอกว่าลายน่ารักดีแล้วก็ผ่านไปแต่ว่ากับงานนี้เราอยากให้ตั้งใจอ่าน ก็เลยนึกถึง tote bag ซึ่งมันลิงก์กับหนังสือพิมพ์ด้วยรูปทรงและสี คนใช้เวลาอ่านได้จริงๆ”
Available for All
Not Available In Your Country แปลตรงตัวได้ว่า ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศของคุณ แต่ในเมื่อโปรดักต์ของอีฟขายทั้งในไทยและส่งได้ทั่วโลก แล้วอะไรล่ะที่ยังไม่เปิดให้บริการที่นี่?
เธอเฉลยว่าสิ่งนั้นคืองบประมาณสำหรับช่วยเหลือสังคม
“ตั้งแต่เด็กอีฟอยากช่วยสังคมมาตลอด ทุกๆ ปีเราจะพยายามหาโปรเจกต์เพื่อสังคมทำ โปรเจกต์แรกคือไปช่วยทำโซเชียลมีเดียให้กับ Bribespot ซึ่งเป็นแอพฯ ของ American Bar Association เพื่อจับคนที่ติดสินบน อีฟรู้สึกว่าเมืองไทยยังขาดองค์กรที่ทำเพื่อสังคมอยู่หรือไม่ องค์กรเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็อยู่ได้ไม่นานเพราะขาดเงินทุนเราเลยรู้สึกว่าถ้าเราในฐานะดีไซเนอร์สามารถระดมทุนส่วนหนึ่งขึ้นมาได้ ทำให้พวกองค์กรที่ not available in your country มัน available ขึ้นมาได้ก็คงดีมากๆ เลย การระดมทุนเลยเป็นเป้าหมายหนึ่งของแบรนด์
“ทุกครั้งที่ทำสินค้าขึ้นมาเราจึงเอาเงินที่ได้ส่วนหนึ่งไปบริจาค ตอนแรกๆ ก็เป็นองค์กรที่เราอยากช่วย เราเห็นว่าเขาขาดแคลนสุดๆ เช่น บริจาคให้องค์กรที่ช่วยเหลือหมาจร หรือว่าช่วงไหนมีปัญหาแบบน้ำท่วมเราก็เอาเงินไปช่วยคนที่ได้รับผลกระทบ แต่ว่าหลังๆ มานี้เราจะถาม follower ว่าอยากให้ช่วยที่ไหน อยากให้คนที่ซื้อของเราไปได้มีส่วนช่วยกันคิดว่าเงินของพวกเราจะเอาไปลงที่ไหนดี”
นอกจากช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อนในสังคม อีฟยังมีเป้าหมายในใจว่าอยากให้แบรนด์นี้ available สำหรับการช่วยโลกด้วยการสร้างความยั่งยืนเท่าที่จะทำได้ งานปักทุกชิ้นในร้านจึงแทบไม่มีชิ้นที่ใช้เสื้อผ้าใหม่มาปักเลย
“ของปัก 90 เปอร์เซ็นต์ของเราเป็นของ sustainable หมดเลย เราเชื่อในการเลือกไอเทมที่สปาร์กจอยทั้งเราและแม่มาทำมากๆ อย่างแบรนด์เราจะมีไอเทมนึงที่ฮิตๆ คือกระเป๋าสะพายข้างทำจากกางเกงยีนส์ นั่นคือกางเกงยีนส์ของเราหมดเลยนะที่ใส่ไม่ได้แล้วแม่เอามาตัด แฟชั่นคืออุตสาหกรรมที่สร้างขยะแบบติดท็อปเราก็ไม่อยากสร้างเพิ่มแล้ว เราไม่ได้อยากแค่บริจาคเงินแต่เราอยากให้ทุกแง่มุมแบรนด์เรามันยั่งยืนสำหรับทุกๆ คน”
Price & Promotion
Available for Friends (Only)
“เรื่องนี้แหละที่มันตอบยากมาก (หัวเราะ)” อีฟสารภาพตอนที่เราถามถึงวิธีการตั้งราคาสินค้า
“เวลาที่อีฟทำแบรนดิ้งให้คนอื่น เราจะต้องเข้าใจ user เข้าใจ positioning ของแบรนด์ แต่กับแบรนด์ของตัวเองเราไม่ได้มี positioning มีทาร์เก็ตชัดเจน เราแค่อยากหาเพื่อนที่เข้าใจกันและอยากทำงานอาร์ต ซึ่งราคางานศิลปะมันไม่มีเกณฑ์ ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ สิ่งนี้ราคาเท่าไหร่นะ เราเองก็ไม่รู้เหมือนกัน สุดท้ายเราเลยตั้งราคาแบบที่อยู่ได้ ไม่ซัฟเฟอร์จนเกินไป ได้เอาเงินไปทำอะไรที่อยากทำ อยากช่วยสังคมก็ได้ทำ และมีทุนทำของในล็อตต่อๆ ไป”
ในด้านโปรโมชั่น เพราะใช้กำไรจากโปรดักต์หนึ่งไปเป็นทุนอีกโปรดักต์ ถ้าขายไม่หมดก็จะทำล็อตใหม่ไม่ได้ อีฟจึงเคยลองลดราคาเพื่อกระตุ้นการขาย แต่สุดท้ายด้วยความรู้สึกว่าลูกค้าคือเพื่อน อีฟเลยตั้งใจว่าถ้าไม่จำเป็นก็จะไม่ลดราคาเพื่อไม่ให้ลูกค้าที่ซื้อไปก่อนโปรโมชั่นรู้สึกไม่ดี
“เรื่องโปรโมชั่นก็เลยไม่มีเลย” เธอบอก
“เราไม่สามารถทำใจอัดโปรโมชั่นหรือร่วมแคมเปญในแพลตฟอร์มออนไลน์ช้อปปิ้งได้ขนาดนั้นเพราะรู้สึกผิดกับลูกค้าที่ซื้อไปแล้ว หลายคนก็บอกว่าไม่ต้องรู้สึกผิด เราขายของก็ขายไปเลย แต่เราก็นึกถึงลูกค้าหลายคนเขามาซื้อกับเราตั้งแต่เปิดขายราคาเต็ม เขารอเรา ก็เลยไม่อยากทำให้รู้สึกไม่ดีที่เรามาลดราคาทีหลัง ดังนั้นถ้ากลัวของเหลือเราก็ทำของน้อยลงแล้วกัน (หัวเราะ) เพราะเราวาดลายเอง เรามีเรื่องอยากเล่า ทุกอย่างคอนโทรลที่เราได้”
นอกจากคอนโทรลราคา ไม่ทำโปรโมชั่น อีกสิ่งที่อีฟคอนโทรลได้คือจำนวนของที่ผลิตและการไม่รีสต็อกเพื่อให้ลูกค้าที่เธอมองว่าเป็นเพื่อนได้ใส่ของที่พิเศษจริงๆ
“เราเชื่อว่าในการทำงานขึ้นมาหนึ่งชิ้น ความพิเศษมันไม่ได้จบแค่ magical process ตอนไอเดียเกิดตอนที่อยู่ดีๆ ไอเดียหล่นมาจากไหนก็ไม่รู้แต่ความพิเศษมันยังเป็นการที่คนใส่ได้รู้ว่าสิ่งนี้ทำมาเพื่อเขาด้วย อย่างของปักที่มีชิ้นเดียวไอเดียคือมันเกิดมาเพื่อยู หรือแม้แต่ของสกรีนเราก็ไม่ทำเยอะใส่ไม่ชนกันแน่นอน เนี่ย เพื่อนชอบถ่ายรูปมาให้เวลาเจอคนที่ใส่เสื้อของเรา เราอยู่เมืองนอกเวลากลับไทยทุกครั้งก็พยายามขึ้นรถไฟฟ้าแต่ไม่เคยเจอเลย เซ็งมาก อยากเห็นบ้าง (หัวเราะ)”
แต่ที่พิเศษสุดๆ ต้องยกให้ ‘สินค้าปัก’ ซึ่งไม่เพียงแค่มีรายละเอียดตาแตก ปักมือโดยคุณแม่ แต่ยังมี ‘เงื่อนไข’ คือลูกค้าต้องซื้อสินค้าสกรีนครบ 4 ชิ้นจากร้านโดยตรง ถึงจะสามารถจองสินค้าได้
“ถามว่าทำไมถึงต้องซื้อ 4 ชิ้น เพราะเรารู้สึกว่าของมันปักยาก เราทำกันแบบโฮมเมด แม่ปักคนเดียวแต่มีคนจำนวนหนึ่งเลยที่ซื้อไปทำเหมือนกันหรือเอาไปรีเซลล์เยอะมาก เราก็รู้สึกว่าคนที่ควรจะได้ไปมันคือเพื่อนรักเรา การที่จะเป็นเพื่อนรักคือเราไปแฮงเอาต์กันเนอะ เจอกันครั้งแรกไม่มีวันสนิทกันหรอก แค่รู้ว่า อ๋อ คนนี้คือใคร เจอกันครั้งที่สอง โอเค เริ่มรู้จักเขามากขึ้น คือพอเขาซื้อไปถึงชิ้นที่ 4 แค่เห็นเขาทักไลน์มาอีฟก็รู้ที่อยู่เขาแล้ว จำกันได้หมดเลย นี่คือเพื่อนเรา เรารู้ว่าเขาจะชอบของประมาณไหนด้วยซ้ำ
“เราเป็นคนไม่เชื่อในการทำอะไรซ้ำเลย เราชอบความเอกซ์คลูซีฟต่อให้เป็น edition product อย่างโปรดักต์สกรีนมันก็เอกซ์คลูซีฟมากๆ เราเชื่อว่าของเรามีน้อยพอที่คนที่ซื้อไปจะรู้สึกพิเศษเสมอ”
และเราเองก็มั่นใจว่าเป็นอย่างนั้นเพราะถึงแม้เงื่อนไขการซื้อครบ 4 ชิ้นจะฟังดูทำยาก แต่ทุกครั้งที่มีของปักมาขายเราก็ได้เห็นคำว่า sold ภายในไม่กี่นาที
Place
Available Online
Not Available In Yr Country เป็นแบรนด์ของคนไทย ผลิตในประเทศไทย แต่บริหารจัดการโดยอีฟซึ่งลงหลักปักฐานทำงานอยู่ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เพราะแบบนี้แบรนด์จึงไม่มีหน้าร้านและ available แค่ในช่องทางออนไลน์เท่านั้น
คำว่าช่องทางออนไลน์หมายถึงอินสตาแกรมที่เป็นเหมือนหน้าร้านหลัก มีช่องทาง LINE OA สำหรับทักไปสั่งสินค้า มี LINE SHOPPING สำหรับคนที่อยากกดสั่งด้วยตัวเอง และไม่ฝากวางสินค้าที่หน้าร้านไหนเลยแม้ว่าน่าจะทำให้ขายได้มากขึ้นก็ตาม
“Not Available ไม่เคยขายผ่านใครเลยเพราะเรายังให้คุณค่าโมเมนต์ที่ได้ตอบไลน์ลูกค้าเอง เราอยากรู้ว่าเขาซื้อไปแล้วตอนใส่เป็นยังไง เขา experience สินค้ายังไง บางคนเขาได้ของเขาก็มาเล่า บางคนมาร้องไห้กับเราว่าทำหายก็มี เราก็แบบ ตายแล้ว ของหมดแล้วทำยังไงดี ก็ไปหาตัวที่บ้านที่มีตำหนิมาให้ ถามว่ารับได้มั้ย ถ้ารับได้พี่ส่งให้เลยไม่เสียเงิน
“ถ้าเราไปขายผ่านคนอื่นปฏิสัมพันธ์แบบนี้มันจะหายไปหมดเลย อาจจะเป็นเพราะอาชีพของเราจริงๆ ทำงานเกี่ยวกับ user experience ด้วยเราเลยให้คุณค่ากับการปฏิสัมพันธ์มาก เราอยากให้การซื้อของออนไลน์ไม่ได้เป็น experience ที่แค่ซื้อๆ ไปแล้วจบ แต่ก่อนหน้าหรือหลังการซื้อมี touch point ที่ทำให้เราสัมพันธ์กันได้ด้วย ทำให้มันเกิดเป็นคอมมิวนิตี้จริงๆ”
อย่างที่บอก อีฟเชื่อในการสร้างคอมมิวนิตี้ นอกจากจะเปิดพื้นที่ไว้ขายของ เธอก็เปิด Discord ซึ่งสามารถแชตคุยกันและสร้างห้องสำหรับหัวข้อต่างๆ ได้ เอาไว้เป็นพื้นที่ให้ (ลูกค้าที่ซื้อสินค้าจนเป็น) เพื่อนๆ ได้มาเจอกัน
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราตามหาแพลตฟอร์มสำหรับให้ลูกค้าคุยกันมาตลอด แต่เราไม่อยากทำ line openchat ไว้แค่บอกโปรโมชั่น โกลมันคือการทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่คนเดียวเหมือนที่เราเองก็ดีใจมากที่ได้เจอคนเหล่านี้แล้วรู้สึกว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว พอมาเจอ Discord เรารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่สามารถ bounce ไอเดียกัน คุยกันได้ ก็เลยเปิด Discord ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
“หลักๆ คือเราเปิดพื้นที่ให้เขาคุยกันเอง มันสนุกยิ่งกว่าขายของอีกเพราะมันไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวแล้วแต่เขาได้เจอเพื่อนที่ชอบอะไรประมาณเดียวกัน แล้วเขาก็แชร์กัน รีวิวของกันบึ้บบั้บแบบ no sponsor เล่าว่าช่วงนี้ไปฟังเรื่องผีเรื่องนี้ เพลงนี้ฮิตมากเลย ดูอะไรกันในเน็ตฟลิกซ์ หรือช่วงนี้ฝนตกซื้อรองเท้าบูตยี่ห้ออะไรดี ไม่เกี่ยวอะไรกับ Not Available เลย แค่จะมีห้อง Not Available เล็กๆ เอาไว้แชร์ work in progress หรือสปอยล์ของใหม่ เล่าที่มาที่ไปแค่นั้น
“เราอยู่เมืองนอกทุกวันนี้คอมมิวนิตี้ของเรามันเลยอยู่ในโลกออนไลน์เป็นหลักเพราะใครๆ ก็เข้ามาได้ง่าย แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าแบรนด์จะจำเป็นต้องอยู่ในโลกออนไลน์ไปตลอด โจทย์ของเรามีแค่ว่าช่องทางนั้นจะยังสามารถสร้างคอมมิวนิตี้ได้หรือเปล่า เป็นที่ที่ทุกคนได้เจอกัน เป็นที่ที่เกิดขึ้นแล้วไดรฟ์ด้วยเราทุกคนหรือเปล่า และเราจะยังได้ทำสิ่งที่รักอยู่ไหม”
Pornpawee
Available Because of Me
“P สุดท้ายของเราคือพรปวีณ์ คือชื่อของเรา” อีฟพูดถึง P ตัวสุดท้ายที่ทำให้ Not Available In Yr Country เป็นแบรนด์แบบที่เรารู้จักและรักทุกวันนี้
“แบรนด์มันขับเคลื่อนจากข้างในของเราจริงๆ บางครั้งเราก็เจอเรื่องที่แย่มากๆ อย่างตอนทำเสื้อ How I Fix My Problems เพราะเป็นเราเราก็เลยมองเรื่องทุกอย่างเป็นเรื่องตลกแล้วเราก็ผ่านมาได้แล้วก็มาทำเป็นงานศิลปะเล่าถึงช่วงเวลานี้ ถ้าไม่ใช่พรปวีณ์ เป็นคนอื่นมาทำคงไม่ใช่แบบนี้
“หรือเสื้อลายผีเสื้อแบบต่างๆ ที่เราวาดแล้วกลายเป็นซิกเนเจอร์แบรนด์ มันก็มาจากการที่อีฟกลัวผีเสื้อแต่ชอบ cycle of life ของมัน ของแมลงต่างๆ เราก็เลยอยากวาด อยากเล่าความพิเศษออกมา ตีความว่าถ้าอยู่ในโลกจินตนาการของฉันน้องๆ พวกนี้จะหน้าตาเป็นยังไง มีตัวที่มีปลาโลมาอยู่ข้างในผีเสื้อเพราะปลาโลมาเป็นสัตว์โปรด ตัวนี้เป็นธีมดอกไม้ ตัวนี้เป็นธีมเค้ก มันคือจินตนาการของเราล้วนๆ
“แล้วกับสินค้าปัก คนที่ปักให้เราคือแม่ แม่คือ best friend ของอีฟ โมเดลการทำงานสเกลเล็กๆ แบบเรามันไม่ได้เหมาะกับทุกแบรนด์แน่ๆ แต่มันเหมาะกับสิ่งที่อีฟอยากเล่าเพราะมันมาจากข้างในมากๆ เขาเป็นคนเลี้ยงเรามา สิ่งที่เราคิดหลายๆ อย่างก็มาจากเขางานมันเลยได้สะท้อนเราและเขาไปในตัว เขารู้จักเราดีที่สุด บางครั้งแม่เห็นดีไซน์ของอีฟเรายังไม่ทันอธิบายแม่ก็จะบอกเลยว่าฉันรู้ว่าแกอยากได้อะไรแล้วเขาก็จะปักสิ่งที่เราอยากสื่อสารได้ เหมือนเรามีไอเดียก็จริงแต่ถ้าขาดเขาสิ่งที่เราจะเล่ามันก็ไม่กลม
“บางคนเขาสร้างแบรนด์จาก pain point ใช่ไหม อย่างไอโฟนเกิดขึ้นมาเพราะว่าไม่มีโทรศัพท์อันไหนใส่ในกระเป๋าเสื้อได้ หรือเวลาอีฟทำแบรนดิ้งให้คนอื่นมันจะมีเรื่องที่เราต้องชู เช่น แบรนด์นี้เก่งเรื่องคัตติ้งมากเลย แต่ของอีฟมันไม่ใช่แบบนั้น มันแบบ ฉันเก่งเรื่องอะไรนะ แต่ทุกวันนี้ฉันมีเรื่องอยากเล่า เล่าด้วยวิธีของฉัน ฉันไม่ได้อยากเป็นใคร ไม่มีไอดอล ฉันก็อยากเป็นฉันนี่แหละ ขอเป็นพรปวีณ์แล้วกันค่ะ”