Drink industry

เข้าสู่ High Season ธุรกิจน้ำอัดลม โค้ก – เป็ปซี่ – เอส โคล่า อัดงบ หวังแย่งมาร์เก็ตแชร์

ซัมเมอร์ของทุกปีคือช่วงเวลาที่เหล่าแบรนด์น้ำอัดลมออกมาอัดงบการตลาดทำแคมเปญกันมากเป็นพิเศษ เพราะนี่ถือเป็นช่วง high season ของธุรกิจนี้ที่ผู้คนมักจะมองหาเครื่องดื่มเย็นๆ ซ่าๆ มาช่วยดับร้อน 

ยิ่งกับซัมเมอร์ปีนี้ยิ่งคึกคักเมื่อสถานการณ์หลายอย่างกลับสู่สภาวะปกติหลังจากติดชะงักกับช่วงโควิด-19 ระบาดจนไม่สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เหล่าแบรนด์จึงต้องเร่งเครื่องมาร์เก็ตติ้งกันอย่างร้อนแรง เพื่อแย่งชิงยอดขายในช่วงเวลาที่อากาศร้อนสุดๆ ให้ได้มากที่สุด 

เริ่มตั้งช่วงกุมภาพันธ์ที่เป๊ปซี่ได้เปิดตัว PROXIE วง T-Pop ที่กำลังอยู่ในกระแสเจ้าของเพลง ‘คนไม่คุย’ มาเป็นพรีเซนเตอร์ของแบรนด์ และผลักดันแบรนด์ด้วย music marketing ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่เป๊ปซี่ทั่วโลกใช้ในการทำการตลาดมาอย่างยาวนาน มาช่วยกระตุ้นยอดขายในซัมเมอร์นี้

ถัดมาในเดือนมีนาคม เอส โคล่าก็ได้แถลงข่าวรีเฟรชแบรนด์ครั้งใหญ่ ตั้งแต่การปรับโลโก้ใหม่ให้ดูมีความทันสมัยมากขึ้น ทั้งยังดึง ชา อึน-อู, โบกี้ไลอ้อน, Yes Indeed และ 3 สาวนักวอลเลย์บอลนิวเจนฯ มาเป็นพรีเซนเตอร์แบรนด์เพื่อดึงดูดลูกค้ากลุ่มเจนฯ Z โดยหากเทียบกับผู้เล่นรายอื่นในตลาด เอส โคล่าถือเป็นแบรนด์น้ำอัดลมที่ใช้พรีเซนเตอร์จำนวนมากที่สุด

อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการที่เอส โคล่ากล้าเอาสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นจุดอ่อนของแบรนด์อย่าง ‘รสชาติ’ มาทำเป็นการตลาด ด้วยการประกาศปรับสูตรครั้งใหม่ซึ่งเป็นการปรับจากคอมเมนต์ของผู้บริโภค ทั้งยังจัดแคมเปญให้ผู้บริโภคโหวตความรู้สึกที่มีต่อรสชาติใหม่ด้วย 

หลัง เอส โคล่าแถลงข่าวไปเพียงหนึ่งสัปดาห์ ก็มาถึงคิวของโค้กที่กระตุ้นตลาดด้วยการเปิดตัวโค้กสูตรไร้น้ำตาลรสชาติใหม่อย่าง Coca Cola Move ซึ่งเป็นรสชาติพิเศษที่โค้กไปคอลแล็บกับ Rosalia ศิลปินชื่อดังชาวสเปนมาช่วยออกแบบรสชาติให้ พร้อมเปิดตัว พีพี-กฤษฏ์ อํานวยเดชกร เป็นพรีเซนเตอร์คนล่าสุดของแบรนด์ 

หากย้อนดูมูลค่าตลาดน้ำอัดลมย้อนหลัง 3 ปีที่ผ่านมา 

ปี 2563 มีมูลค่าอยู่ที่ 55,000 ล้านบาท

ปี 2564 มีมูลค่าอยู่ที่ 53,000 ล้านบาท

ปี 2565 มีมูลค่าอยู่ที่ 57,000 ล้านบาท

มูลค่าของตลาดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี้ สอดคล้องกับการที่ผู้คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติเนื่องจากสถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายเพราะน้ำอัดลมเป็นสินค้าที่ผู้คนมักจะกินตอนอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน และอีกส่วนก็เป็นผลมาจากการเติบโตของ ‘น้ำอัดลมสูตรไร้น้ำตาล’ ที่เริ่มกินส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมมากขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขของเป๊ปซี่ที่บอกว่าเฉลี่ยใน 5 ปีที่ผ่านมาเป๊ปซี่ไม่มีน้ำตาลสามารถเติบโตได้ 19% หรือสะท้อนจากสิ่งที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวันคือบนเชลฟ์น้ำอัดลมในร้านค้านั้นมีพื้นที่สำหรับน้ำอัดลมไร้น้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ 

ภายในมูลค่าตลาดน้ำอัดลมกว่า 70% คือน้ำอัดลมที่เป็นโคล่าหรือที่เรียกกันว่า ‘น้ำดำ’’ ส่วนอีก 30% ถึงค่อยเป็นน้ำอัดลมสีต่างๆ เช่นน้ำเขียว น้ำแดง เป็นต้น 

โดยผู้นำในปัจจุบันคือโค้ก รองลงมาคือเป๊ปซี่ และอันดับที่ 3 คือ เอส โคล่า ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณเกือบ 20 ปีก่อนหน้า เป๊ปซี่คือผู้นำในตลาดนี้ แต่ที่มาถูกโคคา-โคล่าแซงหน้าก็เพราะเหตุการณ์เมื่อปี 2554 ที่เป๊ปซี่ได้แยกทางกับเสริมสุขทำให้เป๊ปซี่มีปัญหาเรื่องสายส่งสินค้า และจากนั้นอีกไม่นานก็โดน โคคา-โคล่าแซงหน้ามาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบันบริษัทโคคา-โคล่า (ประเทศไทย) เจ้าของแบรนด์โคคา-โคล่า, สไปรท์, แฟนต้า มีส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมอยู่ที่ 51%

บริษัท เป๊ปซี่ – โคล่า (ไทย) เจ้าของแบรนด์เป๊ปซี่, เซเว่นอัพ, มิรินด้า มีส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมอยู่ที่ 37%

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของแบรนด์เอส โคล่ามีส่วนแบ่งในตลาดน้ำอัดลมอยู่ที่ 8%

ส่วนการอัดงบมาร์เก็ตติ้งในซัมเมอร์นี้จะทำให้มาร์เก็ตแชร์ในตลาดน้ำอัดลมขยับปรับเปลี่ยนไปได้มากน้อยขนาดไหน เป็นสิ่งที่ต้องมารอดูกันต่อไปในช่วงปลายปีนี้ 

อ้างอิง

  • งานแถลงข่าวเอส โคล่า
  • ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย)
  • NielsenIQ

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

You Might Also Like