Unthaitled คาเฟ่ไทยแห่งแรกในปารีสที่เสิร์ฟชา กาแฟ และงานดีไซน์จากไทยให้ต่างชาติได้รู้จัก

ถ้าพูดถึงธุรกิจคนไทยในต่างแดน ร้านอาหารไทยและนวดไทยมักเป็นกิจการอันดับต้นๆ ที่เรามักนึกถึง ไม่แม้แต่คนไทยด้วยกันเอง แต่ยังรวมถึงต่างชาติที่จดจำชื่ออาหารไทยได้ขึ้นใจ และมีนวดแผนไทยไว้ในกิจกรรมเพื่อสุขภาพ

ขณะที่วัฒนธรรมอาหารของไทยเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย วัฒนธรรมเครื่องดื่มกลับยังไม่เป็นที่รู้จัก จนเมื่อต้นเดือนตุลาคมปี 2024 ร้าน Unthaitled คาเฟ่ของคนไทยได้ถูกก่อตั้งขึ้น และเปิดประตูรับลูกค้าหลากหลายเชื้อชาติ ณ ย่าน Le Marais ของกรุงปารีส ภาพธุรกิจร้านค้าของคนไทยในต่างแดนในรูปแบบเดิมจึงเปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นคาเฟ่ไทยโมเดิร์นที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติผสมผสานกัน

 ‘Cafe Thai Tea Gallery’ คือประโยคที่ Unthaitled ระบุเป็นเอกลักษณ์ของร้าน และแม้บนอินสตาแกรมจะบอกว่านี่คือคาเฟ่ชาไทย แต่ความจริงแล้วที่นี่ไม่ได้แค่มีชาไทยเท่านั้น เพราะยังมีทั้งกาแฟไทยรสชาติดีให้ลิ้มลอง นอกจากนั้นภายในร้านยังได้รับการตกแต่งเป็นแบบไทยร่วมสมัย ด้วยเฟอร์นิเจอร์และงานออกแบบจากศิลปินไทยและต่างชาติ

เมื่อได้เห็นของดีจากไทยถูกบอกเล่าในรูปแบบใหม่ เราจึงไม่รอช้าที่จะนัดพบโบตั๋น–ศศิวิมล สอนทรงศักดิ์ และกัน–กัณตวัฒน์ พงษ์ริยวัฒนา สองผู้ก่อตั้ง Unthaitled เพื่อชวนเขาทั้งสองเล่าถึงความเหมือนแต่แตกต่าง ตามประโยค ‘same same but different’ ที่ถูกเขียนไว้บนกระจกหน้าร้านและไบโอไอจี ตลอดจนสนทนาถึงที่มาที่ไปและชีวิตในต่างแดนของพวกเขาทั้งสอง 

Unplanned Paris

โบตั๋นย้อนอดีต 19 ปีก่อนที่ได้โยกย้ายมาอยู่ปารีสว่า “ไม่เคยคิดมาก่อนนะว่าจะต้องมาใช้ชีวิตที่นี่ ไม่เคยมีในหัวเลย จนวันหนึ่งแฟนพี่ที่เป็น expat อยู่เมืองไทยโปรเจกต์หมด ก็เลยโยกย้ายมาอยู่กับเขาที่นี่” 

“นี่ก็ไม่คิด ไม่คิดว่าจะมาเรียนที่นี่ด้วยซ้ำ ตอนที่คิดเรื่องเรียนต่อ ตอนนั้นมันมีหลายตัวเลือกมาเลย เพราะสายสถาปัตย์ ถ้าจะเรียนต่อมันก็จะมีที่อเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น แล้วฝรั่งเศสไม่ได้อยู่ในตัวเลือกเลย ซึ่งเราจบสาย urban design จากคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และอยากเรียนต่อปริญญาโท อาจารย์ที่คณะจบจากฝรั่งเศสเลยแนะนำให้ลองมาศึกษาดูด้านการเรียนต่อสายสถาปัตย์ และ urban design ที่ฝรั่งเศส ส่วนตัวคิดว่าการเลือกมาเรียนต่อที่นี่ จะได้เรียนภาษาใหม่หรือภาษาที่สามด้วย ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ตอนนั้นเลยเลือกจากตัวเลือกที่แปลกใหม่แตกต่างจากคนอื่น” กันเสริมเรื่องราวของตัวเอง

หลังจากโบตั๋นย้ายมาอยู่ฝรั่งเศส เธอวางมือจากการทำงานประจำและก้าวเข้าสู่การเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ ทำให้ชีวิตกว่า 19 ปีในฝรั่งเศสของเธอมีเพียงการดูแลงานบ้านงานเรือน และความชำนาญของการบริหารงานบ้านจึงนับว่าเต็มร้อย ในขณะที่เรื่องการทำธุรกิจมีเพียงศูนย์ 

“ก่อนจะมาทำตรงนี้เราเป็นแม่บ้านมาก่อน ประสบการณ์การทำงานที่มีคือของเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ไม่เคยทำธุรกิจและไม่เคยเป็นเจ้าของกิจการ จะเรียกว่าประสบการณ์ด้านนี้เป็นศูนย์เลยก็ได้ พอต้องมาทำร้าน มาเป็นเจ้าของธุรกิจเอง สำหรับเรามันบ้าเหมือนกัน ถามตัวเองอยู่ตลอดว่าจะรอดไหม” โบตั๋นบอก

ส่วนกันนั้น หลังเรียนจบเขาตัดสินใจอยู่ฝรั่งเศสต่อและเข้าทำงานเป็นสถาปนิกในบริษัทสถาปนิกฝรั่งเศส การตัดสินใจใช้ชีวิตต่อที่นี่ไม่เพียงทำให้เขาได้งานหรือได้รู้จักกับวัฒนธรรมการทำงานแบบคนฝรั่งเศสเท่านั้น แต่นั่นทำให้เขามีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบโปรเจกต์ใหญ่หลายงาน โดยเฉพาะโครงการออกแบบอาคารหมู่บ้านพักนักกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่ผ่านมา กันในฐานะสถาปนิกก็ได้ร่วมออกแบบด้วยเช่นกัน 

“เมืองไทยกลับเมื่อไหร่ก็ได้ แต่กลับมาที่นี่กลับมายาก” เขาว่าอย่างนั้น

ถึงปารีสจะไม่ใช่ที่ที่พวกเขาอยากมาสร้างชีวิตตั้งแต่แรก ทว่ามาวันนี้พวกเขากลับใช้ชีวิตที่นี่มานานถึง 10 กว่าปี และยังได้เริ่มต้นทำธุรกิจเล็กๆ ขึ้นในเมืองแห่งนี้ 

Unbasic Thai

เมื่อบอกว่าที่นี่คือร้านที่นำเสนอวัฒนธรรมความเป็นไทย หลายคนอาจคิดว่าเป็นไทยดั้งเดิม แต่หน้าตาและคอนเซปต์ของ Unthaitled กลับไม่เหมือนธุรกิจหรือร้านไทยในต่างแดนที่เคยเห็น บรรยากาศของร้านโปร่งโล่งสะอาดตา ไม่มีหุ่นปูนปั้นแต่งชุดไทยยืนไหว้ต้อนรับหน้าร้าน และบานประตูหน้าต่างไม่ได้ถูกตกแต่งด้วยลายกนก 

“same same but different ความหมายแบบกระชับมันคือร้านกาแฟนั่นแหละ แต่เป็นร้านกาแฟที่ไม่เหมือนใคร” กันเอ่ยอย่างภูมิใจอีกครั้ง

กันเล่าว่าในปารีสนั้นมีธุรกิจร้านกาแฟอยู่เยอะมาก หากแต่ไม่ค่อยแตกต่าง ซึ่งคำบอกเล่าของกันไม่เกินจริงนัก เพราะจากสถานีรถไฟผ่านจัตุรัสคนเมือง (Place de la République) มาจนถึงละแวกที่ตั้งของร้าน คาเฟ่ของคนปารีสแทบจะมีหน้าตาคล้ายกันหมด 

“การตกแต่ง การออกแบบ ร้านเราจะไม่เหมือนกับร้านที่เห็นในละแวกนี้ อย่างเฟอร์นิเจอร์ก็เป็นแบรนด์จากไทย ที่สำคัญคือวัตถุดิบของเรา อันนี้ไม่เหมือนเขาอยู่แล้ว เพราะกาแฟเราก็เป็นกาแฟไทย และถ้าเทียบกับร้านกาแฟที่ไทย เราว่าบางอย่างก็ยังมีความต่างกันอยู่ เช่นวัตถุดิบ บางอย่างที่ไทยใช้ไม่มีขายที่นี่ ซึ่งเราก็ต้องประยุกต์ใช้ แต่ก็ต้องปรับให้ได้รสชาติที่ใกล้เคียงกับรสชาติที่คนไทยเรากินมากที่สุด เหมือนอาหารไทย ร้านไทยที่นี่ก็ต้องประยุกต์วัตถุดิบเหมือนกัน” โบตั๋นอธิบาย

นอกจากนำเสนอวัฒนธรรมเครื่องดื่มของคนไทยอย่างชาและกาแฟให้ผู้คนได้รู้จักแล้ว พวกเขายังตั้งใจนำเสนองานดีไซน์ฝีมือคนไทยให้ต่างชาติได้เห็น โดยเลือกอิมพอร์ตเก้าอี้เฌยจากแบรนด์ Rumba Bor และนำเฟอร์นิเจอร์หินสังเคราะห์ของ QURV furniture มาตกแต่งร้านของพวกเขา ไปจนถึงเปลี่ยนกระจกหน้าร้านให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะของศิลปินไทยและเทศ และเปิดพื้นที่ภายในร้านบางส่วนเป็นป๊อปอัพสโตร์ ซึ่งจะมีทั้งแบรนด์แฟชั่นของคนไทยและเจ้าถิ่นปารีสสลับสับเปลี่ยนกันมา

“เราไม่ได้มองว่าที่นี่เป็นแค่ร้านกาแฟ เราอยากให้ร้านนี้เป็นเหมือนแกลเลอรี และมีความเป็นคอมมิวนิตี้ ในการออกแบบเลยออกแบบให้พื้นที่มันปรับเปลี่ยนได้ตลอด ตอนนี้ด้านหลังก็จะมีป๊อปอัพแบรนด์เสื้อผ้าของเพื่อนๆ ที่รู้จักมาวาง เดี๋ยววันเสาร์นี้เพื่อนก็จะมาเปิดตัวหนังสือ เราก็ให้เขามาใช้พื้นที่ของเราในการจัดงาน ที่เป็นแบบนี้เพราะเราชอบเข้าสังคมด้วย ร้านมันเลยมีความเป็นเรา มันคือ personal character ของเราอยู่เหมือนกัน” กันอธิบายความแตกต่างอีกครั้ง

พวกเขาไม่ได้มองลูกค้าเป็นเพียงผู้บริโภคที่มาแล้วไป แต่ยังสร้างความรู้สึกอบอุ่นเป็นกันเอง ตลอดจนใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างการทักทายด้วยรอยยิ้ม และแนะนำเมนูด้วยความเอาใจใส่ 

กันบอกว่า “ยิ้มเป็นเหมือนประตูหน้าต่างบ้าน มันเหมือนกับการต้อนรับแขกที่มาเยือน เหนื่อยแค่ไหน เจอสถานการณ์ที่แย่แค่ไหนก็ต้องยิ้มรับ การที่เราอยู่ในสังคมไทยมา การเป็นคนไทยทำให้เรามีสกิลนี้ติดตัว”

“สิ่งสำคัญที่สุดของการทำร้านคือการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า เรื่องสินค้าของเรา เรามั่นใจอยู่แล้วว่ามันจะขายได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือเราปฏิสัมพันธ์กับลูกค้ายังไง เราบริการยังไง คือเราจะพูดและอธิบายให้เขาฟังเกี่ยวกับสินค้าของเรา มีปฏิสัมพันธ์ ทักทายทุกคนที่เดินเข้ามา บางคนอาจจะไม่ได้อินกับเครื่องดื่ม แต่เขาชอบไวบ์ที่เป็นมิตรและคุยสนุกของเรา หรือความบ้าๆ บอๆ ของเรา พอเป็นแบบนี้เขาก็กลับมาซ้ำ

“เหมือนตัวเรา เวลาไปกินกาแฟร้านเดิมๆ ก็เพราะชอบคนที่นั่น กินกาแฟอาจจะไม่ได้อะไรเท่าไหร่หรอก แต่ชอบคน ชอบไวบ์ ชอบเวลาที่ได้สัมผัสกับความน่ารักๆ เราก็เลยอยากให้คนที่มาร้านเรารู้สึกแบบเดียวกับเวลาเราไปที่อื่น” โบตั๋นเสริม

แม้จุดแข็งของ Unthaitled จะว่าด้วยความแตกต่าง ทว่าการทำธุรกิจร้านกาแฟที่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อในย่านมีกาแฟและเครื่องดื่มให้ได้เลือกหลากหลาย หมายความว่าคู่แข่งของพวกเขาก็ไม่น้อยไปกว่ากัน 

กันบอกว่า “เราก็ต้องพยายามทำการตลาดเพื่อให้คนรู้จัก ซึ่งบอกตามตรงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งฝรั่งเศสที่มีวัฒนธรรมการดื่มแข็งแรง ยิ่งยากมาก แต่ด้วยเราเข้าใจไลฟ์สไตล์คนที่นี่ว่าเป็นยังไง เราเลยเอามาปรับกับเมนู ใช้กับการคิดเมนูต่างๆ ของเราได้ 

“อย่างชาไทยที่นี่กับชาไทยที่ไทยก็จะไม่เหมือนกัน เพราะคนที่นี่เขาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพมาก หวานเกินไปเขาก็ไม่กิน ถ้าจะให้เป็นรสชาติแบบที่ไทยจ๋าๆ อาจจะขายได้ยาก เราก็มาปรับสูตรใหม่ เติมนั่น ผสมนี่ ออกมาเป็นรสชาติชาไทยในแบบของเราเพื่อให้ถูกปากคนที่นี่”

“ชาไทยมีบ้างตามร้านอาหารไทย แต่มันเป็นแค่การถูกแทรกอยู่ในร้านอาหารไทยเท่านั้น แต่ถ้าเป็น Thai specialty coffee และชาไทยแบบนี้ ที่ฝรั่งเศสยังไม่มีใครทำมาก่อน จะมีก็แต่ coffee shop ของคนฟิลิปปินส์” โบตั๋นเสริม

Unalone Journey

ความยากไม่ใช่แค่เพราะปารีสมีวัฒนธรรมการดื่มที่เข้มแข็ง หรือเครื่องดื่มไทยคือของใหม่แห่งดินแดนนี้ โบตั๋นบอกว่าการเป็นคนเอเชียเองก็มีข้อเสียเปรียบ และหากไม่มีคอนเนกชั่นและเพื่อนฝูงที่สั่งสมมาสิบกว่าปี ธุรกิจของพวกเขาอาจไม่สามารถยืนอยู่ได้จนถึงตอนนี้

“เปิดเดือนแรกลูกค้ามีแต่เพื่อนและคนรู้จัก หลายๆ ร้านในปารีสก็เป็นเพื่อนกัน ร้านกาแฟแถวนี้กินมาหมดแล้ว เราเริ่มจากการเป็นลูกค้าเขามาก่อน เริ่มจากการเล่าเรื่องราวชีวิตว่าเรามีแพสชั่นอยากทำร้านกาแฟ เอากาแฟไทยมานำเสนอ มันมีความเป็นมาเป็นไป พอเขารู้ที่มาที่ไปและร้านมันเกิดขึ้นจริง เขาก็คอยซัพพอร์ต เพราะเขารู้อยู่แล้วว่าเรามีแพสชั่นกับกาแฟ

“สิ่งสำคัญในการทำธุรกิจสำหรับเราคือการมีคอนเนกชั่น เพราะถ้าไม่มีตรงนี้ร้านของเราจะไปต่อได้ยากมาก การมีคอนเนกชั่นมันดีตรงที่เราได้มีที่ปรึกษา ได้ถามในสิ่งที่เราไม่รู้ เพราะเราไม่ได้เก่งตั้งแต่เริ่มต้น”

พวกเขายังเตรียมการทุกอย่างภายในเวลาเพียงสี่เดือนก่อนเปิดร้านจริง ทั้งต้องรื้อวิชาบาริสต้ากลับมาใหม่ด้วยการบินกลับไทยไปเรียนเพิ่ม ส่วนกันซึ่งเป็นสถาปนิกก็ต้องเร่งออกแบบร้านให้เสร็จภายในเวลาอันจำกัด นอกจากนั้นพวกเขายังต้องหาที่ปรึกษาด้านกฎหมายเพื่อปรึกษาเรื่องการทำธุรกิจร้านอาหารในปารีส ตลอดจนจัดการเอกสารและระเบียบที่เข้มงวดภายใต้ข้อจำกัดของเวลา 

ซัพพลายเออร์กาแฟที่อยากนำเสนอให้เหล่าชาวปารีเซียงยังไม่ตอบรับ ด่านสานสัมพันธ์กับแบรนด์กาแฟไทยจึงเป็นอีกด่านที่พวกเขาต้องเอาชนะ  

“ติดต่อเขาไปล่วงหน้า แล้วก็เล่ารายละเอียดโปรเจกต์ของเราให้เขาฟังคร่าวๆ ว่าคืออะไร เราตั้งใจอยากทำมันยังไง พอกลับไปก็นัดเจอกัน เขาก็เอากาแฟมาให้ลองชิมทุกแบบ ซึ่งเราก็ได้เลือกตัวที่ชอบและง่ายกับการทำแต่ละเมนูมา” โบตั๋นย้อนเล่า

การบอกเล่าสิ่งที่ทำอย่างตั้งใจและผูกสัมพันธ์ฉันมิตร ทำให้แบรนด์กาแฟไทยยอมเป็นคู่ค้า และในที่สุด Unthaitled ก็ได้นำกาแฟไทยมาเสิร์ฟได้อย่างที่ตั้งใจหวัง ณ คาเฟ่น้องใหม่ของกรุงปารีส

“จุดที่อยากเอากาแฟไทยมาทำให้คนที่นี่รู้จัก คือปารีสไม่มีใครรู้จักกาแฟไทยเลย พอบอกไปเขาก็ถามว่า ประเทศไทยมีกาแฟด้วยเหรอ เมืองไทยมีเมล็ดกาแฟด้วยเหรอ ปลูกได้ด้วยเหรอ แล้วก็ด้วยความที่เรารู้อยู่แล้วว่ากาแฟไทยเรามันอร่อย เพียงแต่ว่าคนที่นี่เขาไม่รู้จัก ก็เลยอยากเอามานำเสนอ” โบตั๋นเล่าถึง pain point กาแฟไทยในตลาดฝรั่งเศส 

แม้ฟังดูเหมือนว่ากาแฟไทยกำลังเจอกับปัญหา ด้วยไม่เป็นที่รู้จักในกลุ่มต่างชาติ ทว่านี่กลับเหมือนเป็นโอกาสทางธุรกิจ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้กาแฟไทยได้ครองพื้นที่ในใจของต่างชาติ

Uncommon Community

“ปารีสมันคือหนึ่งในเมืองของโลกที่คนอยากมา ทุกคนอยากจะมาที่นี่สักครั้งในชีวิต คนเขามักจะเรียกปารีสว่าเป็น capital of Europe ถ้าเคยไปทั่วยุโรปมาก็จะเห็นว่าปารีสแทบจะเป็นเมืองเดียวเลยที่แตกต่างจากชาวบ้านเขา ทุกอย่างมันอยู่ที่นี่หมด

“ถ้าเทียบว่าไปเมืองอื่นในยุโรป กับไปปารีส คนก็จะว้าวกับการไปปารีส ภาพของหอไอเฟลมา สถาปัตยกรรมมา ในความรู้สึกของพี่ พี่รู้สึกว่าปารีสมันอิมแพกต์มาก” กันเอ่ยอย่างภูมิใจ 

ลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามายัง Unthaitled ตั้งแต่เช้าถึงบ่ายแก่ไม่ใช่แค่ชาวปารีเซียง แต่มีทั้งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไปจนถึงไทย ผู้ที่คุ้นชินและดื่มกินชาไทยกันเป็นเอฟเวรี่เดย์ดริงก์ แถมส่วนใหญ่ลูกค้าที่เดินเวียนเข้า-ออกก็ล้วนแต่เป็นต่างชาติ ซึ่งนั่นไม่ใช่ภาพที่ไม่คาดคิด เพราะพวกเขาคิดมาแล้วว่าผู้คนเหล่านี้นี่แหละที่จะเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก

“เรามองเห็นมาสักพักแล้วว่าเทรนด์วัฒนธรรมการกินของคนมัน globalization มากขึ้น สมัยก่อนมันอาจจะไม่ชัดขนาดนี้ แต่ตอนนี้คือฝรั่งนั่งคีบกิมจิ บางคนนั่งจกข้าวเหนียวทำคอนเทนต์ พวกนี้มันเป็นอะไรที่งงนะ และขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าของของเรามันมี potential วัฒนธรรมอะไรพวกนี้เป็นของที่เรามีอยู่ในมืออยู่แล้วแค่เราจะขายออกมายังไงให้น่าสนใจ” 

บทสนทนาของพวกเราดำเนินมาจนถึงช่วงบ่ายของวัน ลูกค้าเริ่มหลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อน แม้จะไม่เยอะจนล้นตัวร้าน ทว่าก็เต็มทุกที่นั่ง กันและโบตั๋นสลับกันทำหน้าที่อย่างไม่พักมือ ในขณะที่คนหนึ่งทำหน้าที่รับออร์เดอร์และแนะนำรายการเครื่องดื่ม ด้านหลังเคาน์เตอร์ก็ควบหน้าที่บาริสต้าอย่างขะมักเขม้น

“วันนี้เป็นวันธรรมดา คนก็จะประมาณนี้แหละ แต่ถ้าวันเสาร์-อาทิตย์ สักบ่ายสองก็เริ่มเยอะแล้ว วันนี้ถือว่าชิลล์ ช่วงอีเวนต์ก็จะแน่นมาก อย่างตอนแฟชั่นวีคที่ผ่านมาต้มชากันแทบไม่ทัน หมดไปเกือบ 20 เหยือก” กันเล่าย้อนถึงสถานการณ์ขายดีในช่วงอีเวนต์ใหญ่

ก่อนโบตั๋นจะเสริมว่า “Hello Merci กันตั้งแต่เช้าไปจนถึง 5-6 โมงทุกวัน ซึ่งมันดีนะ ถึงตอนนี้จะรู้สึกว่าเหนื่อยมาก แต่ก็รู้สึกว่าคุ้มมากด้วยเหมือนกัน มีอยู่วันหนึ่งลูกค้าเยอะมาก แล้วพี่ก็ทำกาแฟเยอะมาก เงยหน้ามาอีกทีกาแฟหมด กดไม่ออกแล้ว จากความเหนื่อยเลยกลายเป็นความสนุกมาแทน” โบตั๋นว่าพลางหันไปรับออร์เดอร์ลูกค้าชาวเอเชียสองคน พร้อมแนะนำเมนูชาไทยด้วยน้ำเสียงเริงร่า

Unlimited Growth

“ปีหน้ากลับมาอาจจะเห็นเป็นอีกรูปแบบ อาจจะมีสาขา 2, 3, 4 งอกขึ้นมา เพราะตอนนี้มันก็ยังแค่ 4 เดือนเนอะ มันยังเร็วไปที่จะบอกว่ามันจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหน และถ้าอนาคตต้องขยายสาขาจริงก็คงอยู่แถวนี้ คงไม่กลับไทย” กันตอบพร้อมเสียงหัวเราะเมื่อถูกถามถึงอนาคตของ Unthaitled

“แต่ที่ไทยไม่มีแน่นอน หนึ่งเลยคู่แข่งเยอะและน่ากลัว จะเอาชาไทยปารีสไปสู่กับชาไทยที่ไทยเหรอ ตายเลยแบบนั้น แต่สำหรับที่นี่ร้านเรายังถือว่ามีโอกาสเติบโต แต่หลักคือตัวเราอยู่ตรงนี้ด้วยแหละ อยู่ตรงนี้เลยอยากทำตรงนี้ และเราก็เข้าใจกลุ่มลูกค้าตรงนี้ด้วย”  โบตั๋นอธิบาย

เช่นเดียวกับคนอื่นที่ทำธุรกิจ เป้าหมายในอุดมคติมักคือการที่ธุรกิจงอกงามไปข้างหน้า กันและโบตั๋นเองก็เช่นเดียวกัน แต่เมื่อไม่สามารถเสกให้ธุรกิจโตได้ในเร็ววัน พวกเขาจึงใช้วิธีค่อยๆ สร้างและดูแล 

“อนาคตเราก็มองไว้ว่าคงหาคนมาทำแทน เพราะอยากมีเวลาพักกันมากกว่านี้ แต่ตอนนี้เปิดมาได้แค่ 4 เดือนก็อยากให้มันมั่นคงกว่านี้ก่อน ตอนนี้เลยทำกันเองแค่สองคน ปลายทางเราก็อยากให้ร้านนี้มันเดินไปในทางที่ดีขึ้น ระยะเวลา 3 เดือนมันใหม่มาก ก็ต้องยอมอดทน เหนื่อยหน่อยไม่เป็นไร ก็ต้องสู้ ทุกอย่างคือความอดทน” 

“เหมือนปลูกถั่วงอก ต้องมานั่งดูแลตลอด” กันเสริม

ก่อนโบตั๋นจะทิ้งท้ายว่า “พี่คิดว่าของของเรามีความสามารถที่จะขายได้อยู่แล้ว ลูกค้าที่เขาเข้ามาเขาก็เชื่อในสินค้าเรา เพราะเราคือคนไทย แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีไอเดียที่จะทำไหม และจะทำมันออกมายังไง อย่างที่นี่เราจะเห็นแต่ร้านอาหาร ใครๆ ก็ทำร้านอาหาร พี่เลยอยากจะทำให้คนอื่นได้รู้จักของดีอื่นๆ ของไทย อยากทำให้มันดังในตลาดต่างประเทศ ที่ไม่ใช่แค่ตลาดไทย”

ขอบคุณภาพ Unthaitled

จากบทเรียนแผ่นดินไหวปี 2011 สู่ Spectee Pro บริการจัดการวิกฤตของญี่ปุ่นที่พัฒนา AI รายงานภัยพิบัติแบบเรียลไทม์

ช่วงบ่ายของวันนี้ หนึ่งในประเด็นร้อนที่ทุกคนให้ความสนใจและต่างก็ได้รับผลกระทบคือเหตุการณ์แผ่นดินไหวซึ่งมีจุดศูนย์กลางที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 แมกนิจูด ซึ่งหลายพื้นที่ในประเทศไทยรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะอาคารขนาดสูง ทั้งตึกที่กำลังก่อสร้างบริเวณจตุจักรถล่ม รวมถึงถนนแถวสะพานพระราม 2 ก็เกิดการยุบตัว

ประเด็นที่ประชาชนพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ เมื่อออกมานอกอาคารแล้วนั้นต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อ รวมถึงกระบวนการแจ้งเตือนภัยพิบัติของไทยนั้นควรพัฒนาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ ทั้งหมดสะท้อนถึงการขาดความรู้และการเตรียมตัวด้านภัยพิบัติของไทย กลับกันกับประเทศที่เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้งอย่างญี่ปุ่นนั้น ภาครัฐไม่เพียงจริงจังกับเรื่องการเตรียมพร้อม แต่ยังมีภาคเอกชนหลายเจ้าที่กระโดดเข้ามาร่วมพัฒนาการจัดการภัยพิบัติให้ดีขึ้น

หนึ่งในเคสที่ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ Spectee Inc. สตาร์ทอัพจากญี่ปุ่นที่ซีอีโออย่าง มุราคามิ เคนจิโร ได้หยิบเอาบทเรียนจากการเป็นอาสาสมัครในพื้นที่ภัยพิบัติหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเดือนมีนาคม ปี 2011 มาพัฒนา Spectee Pro บริการจัดการวิกฤตบนคลาวด์

เจ้าบริการนี้ใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลจากหลายแหล่ง ทั้งโพสต์บนโซเชียลมีเดีย การวัดสภาพอากาศ ฟุตเทจจากกล้องถนนและแม่น้ำ รวมไปถึงข้อมูลจากรถราในท้องถนน นอกจากนั้นยังตรวจคัดกรองเฉพาะโพสต์บนโซเชียลมีเดียที่เชื่อถือได้ โดยระบบจะวิเคราะห์ข้อความและภาพในโพสต์ ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้โพสต์ พร้อมกับเทียบรูปแบบข้อมูลเท็จกับข้อมูลที่เคยเรียนรู้มา รวมถึงยังมีทีมเจ้าหน้าที่คอยช่วยตรวจสอบและเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อคัดกรองข้อมูลที่ AI ตรวจจับไม่ได้ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 1 นาที ตั้งแต่การโพสต์ไปจนถึงการเผยแพร่ข้อมูลที่ได้รับการยืนยัน

อินเทอร์เฟซ Spectee Pro ยังใช้งานง่าย กรองข้อมูลได้แม่นยำ จัดหมวดหมู่โพสต์บนโซเชียลมีเดียได้กว่า 100 ประเภท เช่น ไฟไหม้ หรืออุบัติเหตุ ทั้งยังแสดงบนแผนที่รวมกับข้อมูลสภาพอากาศและการจราจรได้ด้วย กระบวนการเหล่านี้จะช่วยรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติและตำแหน่งแบบเรียลไทม์ ไม่ต้องตามข่าวจากแอพฯ X หรือเฟซบุ๊กอย่างเดียวแบบที่คนไทยกำลังเผชิญในตอนนี้ 

นับตั้งแต่เปิดตัวในปี 2020 มีหน่วยงานท้องถิ่นและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติกว่า 1,100 แห่ง เข้าร่วมใช้งาน Spectee Inc. ยังมีแผนขยายบริการไปทั่วโลก ตั้งใจเริ่มจากฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติบ่อยที่สุดในเอเชีย นอกจากนั้นยังมีแผนขยายมายังเวียดนามและไทยด้วย 

ธุรกิจอย่าง Spectee Pro ได้ผสานทั้งการแจ้งเตือนภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และการเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้การจัดการภัยพิบัติมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือมากขึ้น

สำหรับไทยเอง แม้ว่าเราจะไม่คุ้นเคยกับภัยพิบัติรุนแรงเท่าญี่ปุ่น แต่การนำแนวทางเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ จะช่วยให้เรามีระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติที่ดีขึ้น และสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อ้างอิง

ฮอป 5 คาเฟ่ต้นแบบที่เปลี่ยนแนวคิดรักษ์โลกให้กลายเป็นกลยุทธ์ธุรกิจ

หากย้อนกลับไปไม่กี่ปีที่ผ่านมา คาเฟ่ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดรักษ์โลกอาจเป็นเรื่องไกลตัวและเข้าถึงได้ยาก หลายแห่งทำได้เพียงใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือรณรงค์ให้ลูกค้านำแก้วมาเองเพื่อลดขยะพลาสติก ซึ่งถึงแม้จะเป็นก้าวแรกที่ดี แต่แนวคิดนี้ยังคงจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ร้าน และยังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร

ปัจจุบันธุรกิจคาเฟ่ได้ยกระดับแนวคิดรักษ์โลกไปอีกขั้น ไม่ใช่แค่การลดขยะหรือใช้วัสดุรีไซเคิลเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการออกแบบร้านเพื่อลดคาร์บอนฟุตปรินต์ การเลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่งระยะไกล การสร้างคอมมิวนิตี้และแบรนดิ้งที่ส่งเสริมไลฟ์สไตล์รักษ์โลก ไปจนถึงการนำของเหลือใช้มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังกลายเป็นจุดขายที่แข็งแกร่งของธุรกิจ

ในยุคที่กระแสคาเฟ่ฮอปปิ้งได้รับความนิยม ลองเปลี่ยนมาสัมผัสประสบการณ์ Green Café Hopping กับ 5 คาเฟ่ต้นแบบที่ไม่ได้มองความยั่งยืนเป็นเพียงเทรนด์ แต่ปรับใช้เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่จับต้องได้จริง คาเฟ่เหล่านี้พิสูจน์ให้เห็นว่าความรักษ์โลกสามารถอยู่ร่วมกับความสุนทรีได้อย่างลงตัว และอาจเป็นแรงบันดาลใจให้ธุรกิจอื่นๆ เดินตามเส้นทางนี้ต่อไป

1. Et 1.5
Climate Restaurant ที่นำเสนอเมนูบรันช์ช่วยลดโลกร้อน

Climate Restaurant เป็นเทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเริ่มเป็นที่นิยมในธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะในต่างประเทศ แม้ในไทยอาจยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่หนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิดนี้คือ Et 1.5 ร้านบรันช์ย่านลาดพร้าว 15 ที่ตั้งชื่อจากแนวคิดสำคัญที่ว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงจนยากเกินจะแก้ไข

หลักการของ Climate Restaurant นั้นเรียบง่ายแต่ทรงพลัง นั่นคือการนำเสนอเมนูอาหารที่ช่วยลดภาวะโลกร้อนผ่านวิธีต่างๆ เช่น การใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อลดคาร์บอนฟุตปรินต์จากการขนส่งระยะไกล แนวคิด Zero Waste ที่คำนึงถึงการลดขยะจากการประกอบอาหาร การใช้โปรตีนทางเลือกและวัตถุดิบวีแกนแทนเนื้อสัตว์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แม้จะเน้นเรื่องความยั่งยืน แต่เมนูของ Et 1.5 กลับเต็มไปด้วยรสชาติที่น่าลิ้มลอง เช่น Turkish Egg from House Hens เมนูที่ใช้ไข่จากไก่ที่เลี้ยงเอง เสิร์ฟพร้อมสาหร่ายลาว ชีส และโยเกิร์ตโฮมเมด หรือเมนูที่เลือกใช้ปลาท้องถิ่นและขนมปังส่วนที่ร้านอื่นอาจมองข้าม ทุกจานไม่เพียงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ยังอร่อยจนต้องอยากกลับมาซ้ำ

Greenspirations : ไม่จำเป็นต้องเป็นคาเฟ่หรือร้านอาหารคอนเซปต์ Climate Restaurant แบบเต็มตัวก็สามารถผสานแนวคิดเมนูช่วยลดโลกร้อนเหล่านี้ให้เป็นส่วนหนึ่งในเมนูของร้านได้ หรือแม้แต่การคำนึงถึงการเลือกใช้วัตถุดิบด้วยวิธีง่ายๆ และสะดวกแบบ Et 1.5 แค่นี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดโลกร้อนได้แล้ว 

2. earlybkk
คาเฟ่ eco-design ที่ตกแต่งร้านด้วยขวดแก้วและกล่องนมใช้แล้ว

‘ลด ก่อน เริ่ม’ คือแนวคิดของ earlybkk คาเฟ่ในหมู่บ้านสัมมากร ถนนรามคำแหง ซึ่งโดดเด่นด้วยดีไซน์ที่เน้นวัสดุรีไซเคิลและการ upcycling ตั้งแต่ Facade ที่ทำจากขวดเบียร์และขวดแก้วใช้แล้ว ซึ่งเล่นกับแสงและเงาได้อย่างน่าสนใจ ไปจนถึงเคาน์เตอร์ terrazzo ที่ผสมเศษขวดแก้วเหลือใช้เข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ผนัง ฝ้าเพดาน บานประตู รวมถึงโต๊ะและเก้าอี้ยังถูกสร้างขึ้นจากวัสดุทางเลือกที่ผลิตจากเศษกล่องนมอีกด้วย

ล่าสุดคาเฟ่ได้ขยายสาขาที่สองในชื่อ early yuyen ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการ My Paws Backyard ซอยอยู่เย็น โดยยังคงยึดแนวคิด ‘ลด ก่อน เริ่ม’ เช่นเดียวกับสาขาแรก ผ่านการนำของเก่ามาตกแต่งร้าน พร้อมรักษาซิกเนเจอร์ดีไซน์อย่างผนังและฝ้าจากกล่องนม รวมถึงการนำเศษกระเบื้องจากพื้นเดิมกลับมาใช้ใหม่อย่างสร้างสรรค์

ทุกรายละเอียดภายในร้านยังได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ทั้งการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และการลดการใช้พลาสติก ไม่ว่าจะเป็นหลอดหรือแก้ว นอกจากนี้เมนูของร้านยังถูกออกแบบเพื่อลด food waste เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยลดขยะไปด้วยกัน

Greenspirations : ในยุคที่ Instagrammable cafés กลายเป็นจุดหมายของสายคาเฟ่ การใช้ขยะและวัสดุเหลือใช้เป็นองค์ประกอบหลักในการออกแบบร้าน ไม่เพียงสร้างความแตกต่าง แต่ยังสะท้อนแบรนดิ้งด้านความยั่งยืนที่ชัดเจน ถ่ายทอดแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมไปสู่ลูกค้าได้อย่างเป็นรูปธรรม

3. IG Cafe
คาเฟ่คอนเซปต์กรีนที่รักทั้งสิ่งแวดล้อมและงานศิลปะ

IG Cafe เป็นคาเฟ่น้องใหม่ย่านหัวลำโพงที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน แต่สร้างความโดดเด่นด้วยคอนเซปต์รักษ์โลกอย่างชัดเจน ด้วยสโลแกน Crafting a Greener Tomorrow ที่ตั้งใจแนะนำตัวในฐานะคาเฟ่สีเขียวที่จริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังคงความเท่และมีสไตล์ในแบบของตัวเอง

ทุกองค์ประกอบภายในร้านสะท้อนถึงความใส่ใจต่อโลก ตั้งแต่เครื่องดื่มที่เลือกใช้วัตถุดิบท้องถิ่น เช่น ข้าวก่ำน้อยลาเต้ และชาน่านจากสิงห์ปาร์ค ไปจนถึงภาชนะที่ทำจากเยื่อพืชธรรมชาติ 100% ซึ่งรีไซเคิลและย่อยสลายได้ ที่ร้านยังมีจุดแยกขยะเพื่อส่งเสริมการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ พร้อมบริการเติมน้ำฟรีสำหรับนักวิ่งและนักปั่นจักรยานที่แวะเวียนผ่านไปมา

ในช่วงเปิดตัว คาเฟ่เพิ่มความน่าสนใจด้วยการเชิญศิลปินชื่อดังมาจัดแสดงผลงานภายในร้าน เช่น ผลงานคำคม ‘โลกสีเขียวน่าอยู่จัง’ จาก เตยยี่–ประภัสสร กาญจนสูตร และอาร์ตทอย Mookman จาก เชาว์ คณาวุฒิกานต์ นอกจากนี้ยังมี Green Collection ไอเทมรักษ์โลกจาก IG Café ที่ออกแบบมาอย่างมีสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นหมวก กระเป๋าผ้า หรือแก้วน้ำ ให้ลูกค้าได้เลือกช้อปติดไม้ติดมือกลับไป

Greenspirations : การสร้างแบรนดิ้งในธีมคาเฟ่สีเขียวผ่านศิลปะและดีไซน์ ไม่เพียงช่วยสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมให้น่าสนใจและจับต้องได้ แต่ยังทำให้แนวคิดรักษ์โลกกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวสำหรับทุกคน พร้อมทั้งวางตำแหน่งให้คาเฟ่แห่งนี้เป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นมิตรและเข้าถึงง่ายสำหรับคนหมู่มาก

4. Better Moon Cafe
คาเฟ่ที่บุกเบิกเทรนด์รักษ์โลกในไทยเป็นเจ้าแรกๆ   

หากพูดถึงคาเฟ่รักษ์โลกยุคแรกๆ ในไทย Better Moon Guesthouse & Café คงเป็นชื่อที่หลายคนนึกถึง คาเฟ่แห่งนี้นิยามตัวเองว่า Low key time in Onnut neighborhood with good latte และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแนวคิด eco-friendly café ที่ช่วยจุดกระแสลดขยะและส่งเสริมการเลือกซื้อสินค้ารักษ์โลกให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์

หนึ่งในไอเดียที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการสิ่งแวดล้อมคือ Refill Station หรือร้านค้าแบบเติม (bulk store) ซึ่งเป็นเจ้าแรกๆ ในไทยที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถนำภาชนะมาเติมแชมพู สบู่เหลว น้ำยาซักผ้า และน้ำยาล้างจานเพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก แม้ในปัจจุบัน Better Moon Café จะย้ายโซน Refill Station ออกไปแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นคาเฟ่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกระแสรักษ์โลกให้เป็นที่ยอมรับในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ภายในร้านยังมีสินค้ารักษ์โลกให้เลือกซื้อ เช่น หลอดซิลิโคน หลอดสเตนเลส แปรงสีฟันไม้ไผ่ สบู่ออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ด้วยความที่คาเฟ่ตั้งอยู่คู่กับเกสต์เฮาส์ จึงเป็นอีกช่องทางที่ช่วยรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

Greenspirations : การสร้างคอมมิวนิตี้คนรักสิ่งแวดล้อมผ่านไอเดียริเริ่มใหม่ๆ อย่าง Refill Station และการนำสินค้ารักษ์โลกมาจำหน่าย ไม่เพียงช่วยดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีแนวคิดเดียวกัน แต่ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันกระแสรักษ์โลกให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคม

5. HARVKIND coffee
ร้านกาแฟในโชว์รูมของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก

HARV เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่าผ่านการออกแบบที่ช่วยลดเศษไม้ให้เหลือน้อยที่สุด และนำเศษไม้ที่เหลือไปสร้างสรรค์เป็นงานดีไซน์ใหม่ จุดเด่นของ HARV ไม่ได้อยู่แค่เฟอร์นิเจอร์ แต่ยังรวมถึงการสร้าง multipurpose space ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งแฟล็กชิปสโตร์ โชว์รูม และคาเฟ่ในพื้นที่เดียวกัน

แน่นอนว่าคาเฟ่ของ HARV ตกแต่งอย่างมีสไตล์ในแบบที่คนรักงานดีไซน์ต้องหลงใหล นอกจากจะเดินชมเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ได้แล้ว ภายในร้านยังสะท้อนแนวคิดรักษ์โลกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์บาร์ที่ทำจากกระเบื้องพลาสติกรีไซเคิลของแบรนด์ Qualy, โซน Refill Station หรือระบบแยกขยะที่ดำเนินการอย่างจริงจัง

ลูกค้าสามารถนั่งจิบกาแฟ เพลิดเพลินกับขนมคลีนเพื่อสุขภาพ พร้อมเลือกซื้อสินค้ารักษ์โลกในโซน selected shop หรือมานั่งใช้เวลาทำงานแบบชิลๆ แถมที่นี่ยัง pet-friendly สามารถพาสัตว์เลี้ยงมาด้วยได้ ถือเป็นตัวอย่างของคาเฟ่ที่สามารถเชื่อมโยงแบรนด์เฟอร์นิเจอร์เข้ากับแนวคิด circular economy ได้อย่างลงตัว

Greenspirations : แบรนด์ที่จำหน่ายสินค้ารักษ์โลกสามารถสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้ลูกค้าได้ ด้วยการออกแบบพื้นที่หรือกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้สัมผัสและใช้งานผลิตภัณฑ์จริง พร้อมซึมซับแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมไปในตัว ซึ่งคาเฟ่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Air Max สนีกเกอร์ระดับไอคอนจาก Nike กับการหาวิธีกลับสู่จุดรุ่งโรจน์อีกครั้ง

บริเวณส้นรองเท้าถูกเปลือยให้เห็นแผ่นพลาสติกใส ใสชนิดที่มองทะลุเห็นอีกฝั่ง โดยแผ่นพลาสติกใสที่ว่าสามารถรองรับแรงกระแทกในทุกก้าวที่ย่ำเดินราวกับเหยียบบนก้อนเมฆ 

ที่กล่าวมานี้คือสรรพคุณของ ‘แอร์โซล’ (Air Sole) ซึ่งเป็นนวัตกรรมสำคัญที่ถูกบรรจุอยู่ในรองเท้าตระกูล ‘แอร์แมกซ์’ (Air Max) สนีกเกอร์ตระกูลเรือธงจากค่ายไนกี้ (Nike) ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 1987 หรือเมื่อ 38 ปีที่แล้ว จนกลายเป็นรองเท้าระดับตำนาน ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปยาวนานแค่ไหนก็ยังคงความมหัศจรรย์และคลาสสิกไว้ทุกอณู

แน่นอนว่านวัตกรรมแอร์โซลนั้นถูกปรับเปลี่ยนให้มีความทันสมัยและใส่ง่ายใส่สบายขึ้นไปตามกาลเวลา เห็นได้ชัดจากการที่นวัตกรรมดังกล่าวถูกนำมาใช้ในรองเท้าตระกูลซูเปอร์ชูส์ ที่นักวิ่งเจ้าลมกรดใส่กันจนชินตา แต่ถ้าพูดถึงจุดกำเนิดที่ทำให้แอร์โซลโด่งดัง สนีกเกอร์แอร์แมกซ์ก็มักจะถูกพูดถึงตีคู่กันมา ไม่ใช่แค่ในฐานะสินค้าขายดี แต่ยังหมายถึง ‘มรดก’ ชิ้นสำคัญของไนกี้ 

เนื่องในวันแอร์แมกซ์เดย์ (Air Max Day) ที่เปรียบดังวันเฉลิมฉลองสนีกเกอร์แอร์แมกซ์ คอลัมน์ Biztory ขอชวนย้อนเส้นทางการกำเนิดของสนีกเกอร์ที่มาพร้อมกับนวัตกรรมล้ำๆ คู่นี้ ตั้งแต่จุดกำเนิด จนถึงวันที่หาทางกลับมาทวงบัลลังก์สนีกเกอร์อันดับ 1 อีกครั้ง 

ปี 1987 จุดกำเนิดของไนกี้ แอร์แมกซ์ 1 โดยชายที่มีชื่อว่า ทิงเกอร์ แฮตฟีลด์ 

“ช่วงปี 1980 ไนกี้เริ่มถูกคู่แข่งทิ้งห่าง มีเพียงรองเท้ารุ่นไนกี้ แอร์ จอร์แดน 1 ที่ครองตลาดได้ ผมในฐานะสถาปนิกจึงรู้สึกว่า ถึงเวลาที่ต้องนำเสนออะไรใหม่ๆ ในการออกแบบ เป็นรองเท้าที่มีเทคโนโลยีต่างออกไปจากที่มีอยู่ในตลาด” 

คำกล่าวข้างต้นคือความตั้งใจของทิงเกอร์ แฮตฟีลด์ (Tinker Hatfield) สถาปนิกและดีไซเนอร์ที่ ณ เวลานั้นเพิ่งตบเท้าเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าทีมออกแบบของไนกี้ ซึ่งกำลังหาจุดเปลี่ยนในการดึงส่วนแบ่งการตลาดสนีกเกอร์กลับมาอีกครั้ง 

จากคำกล่าวในตอนนั้น ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีแฮตฟีลด์ก็ทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด กับการทดลองนำเทคโนโลยีแอร์โซล ซึ่งเป็นนวัตกรรมรองรับแรงกระแทกที่ปกติถูกประกบติดเข้ากับใต้พื้นรองเท้า ที่ถูกพัฒนาโดยอดีตวิศวกรขององค์การนาซ่า (NASA) อย่าง แฟรงก์ รูดี้ (Frank Rudy) มาต่อยอดด้วยการเปลือยให้เห็นแอร์โซลกันแบบเต็มตา ผ่านรองเท้ารุ่นที่มีชื่อว่า ไนกี้ แอร์แมกซ์ 1 (Nike Air Max 1)

สำหรับแรงบันดาลใจในการนำเทคโนโลยีแอร์โซลออกมาเปลือยให้เห็นนั้น เกิดขึ้นระหว่างที่แฮตฟีลด์เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู (Centre Pompidou-Metz) ที่ตั้งอยู่ ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งดีไซน์การออกแบบอาคารของฌอร์ฌ ปงปีดู เป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเหนือกาลเวลา ที่ด้านนอกเผยให้เห็นโครงสร้างที่ปกติควรจะอยู่ด้านในอาคาร ไม่ว่าจะโครงเหล็ก ระบบท่อ บันไดแต่ละชั้น ฯลฯ ด้วยความที่เป็นสถาปนิกอยู่แล้ว แฮตฟีลด์จึงเกิดปิ๊งไอเดียทันทีว่า แล้วทำไมสนีกเกอร์จะเผยให้เห็นเทคโนโลยีที่ถูกซ่อนอยู่บ้างไม่ได้ล่ะ

ใครจะมองว่าหลุดโลกก็ช่าง เพราะแอร์แมกซ์ 1 ของแฮตฟีลด์ได้ปฏิวัติหน้าประวัติศาสตร์วงการสนีกเกอร์ โดยแอร์แมกซ์ 1 มียอดขายถล่มทลายมากกว่า 1 ล้านคู่ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตจะเห็นว่า แอร์แมกซ์ 1 ล็อตหลังจากที่วางจำหน่ายมีการปรับเปลี่ยนหน้าตาบริเวณแอร์โซลเล็กน้อย จากตอนแรกที่มีจำนวน 4 รู ถูกลดลงเหลือ 3 รู เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวแอร์โซลแตกง่ายจนเกินไป

ทิงเกอร์ แฮตฟีลด์ ผู้ให้กำเนิดไนกี้ แอร์แมกซ์ 1

ถูกต่อยอดจนกลายเป็น ‘สมบัติล้ำค่า’ ของไนกี้

หลังการกำเนิดของแอร์แมกซ์ 1 ไนกี้ก็ได้ต่อยอดพัฒนารองเท้าตระกูลรุ่นแอร์แมกซ์ออกมานับไม่ถ้วน และแต่ละรุ่นก็ได้กลายเป็นรองเท้าระดับขึ้นหิ้ง ที่สนีกเกอร์เฮดฝันอยากมีไว้ในครอบครองสักครั้งในชีวิต ไม่ว่าจะไนกี้ แอร์แมกซ์ 90 ในสีที่เรียกว่า ‘infrared’ หรือรุ่นแอร์แมกซ์ 97 ในสีที่เรียกว่า ‘silver bullet’ ที่ถูกพัฒนาให้มีแอร์โซลเต็มพื้นรองเท้า เพื่อเพิ่มความสบายและลดแรงกระแทกระหว่างใส่เดิน (แต่หลายคนกลับบอกว่ายิ่งใส่เดินยิ่งปวดเท้าเสียนี่)

ไนกี้ แอร์แม็กซ์ 90 ‘Infrared’
ไนกี้ แอร์แมกซ์ 90 ‘infrared’
ไนกี้ แอร์แม็กซ์ 97  ‘silver bullet’
ไนกี้ แอร์แมกซ์ 97 ‘silver bullet’

คำว่า ‘สมบัติล้ำค่า’ กับรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์คงไม่ใช่คำกล่าวอ้างเกินจริงสักเท่าไหร่นัก เพราะรองเท้าตระกูลดังกล่าวไม่เพียงแต่สอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมสตรีทแฟชั่นของชาวอเมริกัน แต่ยังสอดแทรกอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสื่อบันเทิง เช่นในภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future ที่มีการปรากฏรองเท้าไนกี้แอร์แมกซ์จากอนาคต ที่สามารถกดปุ่มรัดเชือกรองเท้าเองได้ ซึ่งต่อมาในปี 2011 ไนกี้ก็มีการผลิตรองเท้าที่ว่าจริง โดยปัจจุบันมีราคารีเซลถึง 37,500 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,270,000 บาท (ไม่แพงเลยใช่ไหมล่ะครับ)

นอกจากภาพยนตร์เรื่อง Back to the Future ใครที่เป็นแฟนมังงะเรื่อง เกมกลคนอัจฉริยะ หรือชื่ออย่างเป็นทางการ Yu-Gi-Oh! น่าจะเคยเห็นตัวละคร โจวโนะอุจิ คัตสึยะ อีกหนึ่งตัวละครหลักของเรื่องสวมไนกี้ แอร์แมกซ์ 95 สี ‘Neon’ ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมในรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์ผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง ขณะเดียวกันในช่วงที่มังงะเรื่องดังกล่าววางจำหน่ายบรรดาวัยรุ่นญี่ปุ่นต่างเฟ้นหารองเท้าแอร์แมกซ์ 95 สีดังกล่าวจนขาดตลาด และกลายเป็นของแรร์โดยปริยาย

และด้วยความที่รองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์ได้รับความนิยมสุดๆ ถึงขั้นที่ยามเปิดตัวแอร์แมกซ์รุ่นใหม่บรรดาสนีกเกอร์เฮดต่างพร้อมใจนอนแคมป์รอห้างเปิด เพื่อเข้าไปจับจองรองเท้าก่อนใคร ทางไนกี้เลยเกิดหัวใสคิดค้นวิธีทำโซเชียลมาร์เก็ตติ้ง ด้วยการบัญญัติให้วันที่ 26 มีนาคมของทุกปีเป็นวัน ‘แอร์แมกซ์เดย์’ (Air Max Day) หรือวันแอร์แมกซ์แห่งชาติ มาตั้งแต่ปี 2014 จุดประสงค์ก็เพื่อให้บรรดาแอร์แมกซ์เลิฟเวอร์ได้มารวมตัวร่วมทำกิจกรรม รวมไปถึงเปิดตัวแอร์แมกซ์รุ่นใหม่ๆ ที่เตรียมวางจำหน่าย อย่างประเทศไทยเองก็มีการจัดกิจกรรมภายใต้วันดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงราวปี 2020 และที่พีคสุดๆ เห็นจะเป็นการที่ค่ายสวูชนำ ‘พี่ตูน’ บอดี้สแลมมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับรองเท้ารุ่นนี้โดยเฉพาะ

รอวันฟื้นคืนกลับมาทวงบัลลังก์สนีกเกอร์ No.1 อีกครั้ง

เป็นสัจธรรมสุดแสนธรรมดาของชีวิต ที่หากขาดการพัฒนาก็ต้องถูกคนอื่นแซงหน้า เช่นเดียวกับรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์ที่ถูกทิ้งช่วงการพัฒนาไปอย่างยาวนาน เชื่อว่าครั้งสุดท้ายที่สนีกเกอร์เฮดตื่นตาตื่นใจกับรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์น่าจะเกิดขึ้นในปี 2017 กับรุ่น  Air VaporMax ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปี การกำเนิดรองเท้าแอร์แมกซ์ 

นั่นทำให้หลังปี 2020 เป็นต้นมา รองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์เริ่มเข้าสู่ช่วง ‘ขาลง’ ต่อเนื่อง ในขณะที่ไนกี้ในยุคการบริหารของซีอีโอ จอห์น โดนาโฮ (John Donahoe) หันมาปัดฝุ่นหยิบไลน์รองเท้าตระกูลบาสเกตบอลแนวเรโทรอย่างไนกี้ดังค์ (Nike Dunk) มาทำใหม่อีกครั้ง ประกอบกับรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัยก็ยังขึ้นชื่อเรื่อง ‘พื้นโฟม’ ที่แตกสลายง่ายราวกับเกล็ดขนมปังหากเก็บไว้สัก 3-4 ปี  จึงไม่แปลกใจที่ผู้คนจะเริ่มหลงลืมรองเท้าตระกูลนี้ไป

อย่างไรก็ดี ช่วงปลายปี 2024 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ไนกี้เริ่มเปิดฉากการตลาดด้วยการกลับมาพัฒนาเทคโนโลยีแอร์โซล เพื่อรองเท้าตระกูลแอร์แมกซ์อีกครั้ง โดยมีนามสกุลต่อท้ายชื่อรุ่นแอร์แมกซ์ว่า ‘Dn’ ซึ่งหมายถึง ‘dynamic’ สิ่งที่เปลี่ยนไปของแอร์แมกซ์รุ่นนี้คือแอร์โซลที่ปกติเป็นแผ่นมาตลอด ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นลักษณะทรงกลมติดตั้งไล่เรียงทั่วพื้นรองเท้า โดยแอร์โซลทรงกลมแต่ละลูกถูกบรรจุก๊าซน้ำหนักต่างกันไปเพื่อไล่เรียงการรองรับน้ำหนักยามเคลื่อนที่ในแบบไดนามิกนั่นเอง

และเนื่องในวาระเฉลิมฉลองวันแอร์แมกซ์เดย์ ปี 2025 ไนกี้ก็ได้เปิดตัวแอร์แมกซ์รุ่น Dn8 โดยมีสีแดงเป็นสีออริจินอล เหมือนกันกับไนกี้แอร์แมกซ์ 1 โดยมีคอบบี้ ไมนู (Kobbie Mainoo) กองกลางดาวรุ่งแห่งทีมปีศาจ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นพรีเซนเตอร์

น่าสนใจว่าการกลับมาของไนกี้แอร์แมกซ์ด้วยเทคโนโลยีใหม่จะสามารถดึงดูดสนีกเกอร์เฮดให้กลับมาสนใจได้อีกครั้งไหม แต่ที่แน่ๆ คือ นี่เป็นสัญญาณอันดีที่ไนกี้ในยุคของซีอีโอ แอลเลียต ฮิล (Elliott Hill) จะกลับใส่ใจเรื่องของเทคโนโลยี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดแข็งของไนกี้ที่ไม่ว่าใครก็ยากจะตามทัน

อ้างอิง : 

tISI แบรนด์สโลว์แฟชั่นสีพาสเทลที่วางขายในร้านมัลติแบรนด์สุดอินดี้ที่ต่างประเทศ

tISI (ธิซายด์) เป็นแบรนด์สโลว์แฟชั่นจากสีย้อมธรรมชาติน้องใหม่ที่มีอายุแบรนด์เพียง 2 ปี แต่ได้วางขายที่มัลติแบรนด์ซึ่งรวมแบรนด์แฟชั่นสุดอินดี้ในต่างประเทศอย่างร้าน Rhubarb Store ที่อังกฤษ และ No Borders Shop ที่อินเดีย

แบม–ธันยพร กิจจาเสถียรพันธุ์ เจ้าของแบรนด์ tISI ได้แรงบันดาลใจในการทำแบรนด์จากความชอบในประเทศอิตาลีทั้งภาษา วัฒนธรรมและแฟชั่นจนเกิดความฝันอยากสร้างแบรนด์แฟชั่นที่ทั้งเท่ เก๋และคำนึงถึงความยั่งยืนผ่านการอนุรักษ์งานคราฟต์

“ด้วยความชอบส่วนตัวคือเราชอบพวกสินค้าออร์แกนิกที่ผลิตจากธรรมชาติมานานแล้ว พอมีโอกาสได้เรียนด้านแฟชั่นแล้วได้ทำงานคราฟต์เยอะ ทั้งปัก ทอ ถัก ก็เลยทำให้กลับไปนึกถึงตอนเด็กๆ ก่อนที่เราจะต้องเรียนหนักๆ ก็เลยอยากทำงานทำมือในนามแบรนด์ของตัวเอง ยิ่งพอได้ทดลองทำงานย้อมธรรมชาติ ก็เลยรู้สึกว่าแบรนด์เสื้อผ้าทุกวันนี้ยังไม่ค่อยมีเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติในดีไซน์ที่เราชอบเลย”

แบมบอกว่าต่อให้ไม่มีต้นทุนหรือเงินเลยก็อยากปั้นแบรนด์ที่ทำให้ตัวเองรู้สึกสนุกกับงานออกแบบเสื้อผ้าตรงนี้ให้ได้และอยากอยู่กับมันให้นานที่สุด เธอจึงเริ่มต้นเส้นทางการทำแบรนด์ tISI เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ made by hands จะทำให้เกิดความยั่งยืนที่สุดทั้งในแง่ธุรกิจและความสุขของตัวเอง   

Life Wisdom
Italian Art & Craft   

แบ็กกราวนด์ของแบมไม่ใช่สายแฟชั่นดีไซน์ตั้งแต่แรก เธอเรียนคณะอักษรศาสตร์ เอกภาษาอิตาเลียนซึ่งต้องเรียนทั้งภาษาและวัฒนธรรมอิตาลี แต่การซึมซับวัฒนธรรมอิตาลีผ่านมุมมองของการเรียนภาษานี้เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นในความชื่นชอบด้านศิลปะจนต่อยอดกลายเป็นความรักด้านแฟชั่น

“ตอนที่เรียนอักษรศาสตร์ อาจารย์เคยยกตัวอย่าง art movement ของศิลปินต่างๆ และเล่าเรื่องการทำศิลปะในชีวิตประจำวันของคนยุคนั้น มีเคส Versace ศิลปินที่เอาแรงบันดาลใจจากงานศิลปะมาถ่ายทอดบนเสื้อผ้าลายปรินต์ เราที่ชอบการแต่งตัวอยู่แล้วก็เลยเริ่มรู้สึกว่าการเรียนศิลปะสามารถเชื่อมโยงไปสู่การทำแฟชั่นได้นะ ทำลายผ้าแล้วเอามาทำเป็นเครื่องแต่งกายได้”  

แบมตัดสินใจบินลัดฟ้าไปอิตาลีเพื่อเรียนต่อปริญญาโทด้าน Business of Fashion ควบคู่กับการทำงานฝ่าย Fashion Buyer (นักวางแผนและจัดซื้อสินค้าแฟชั่น) ให้ร้านมัลติแบรนด์เล็กๆ ที่อิตาลีที่รวบรวมแบรนด์แฟชั่นลักชัวรีชื่อดัง เช่น Gucci, Prada, Valentino, Max Mara ฯลฯ มาขาย

“ตอนทำงานที่อิตาลี ด้วยความที่ธุรกิจเขาค่อนข้างเล็ก เราเลยได้เรียนรู้ว่าเขาจัดการธุรกิจยังไง คนอิตาลีเป็นคนชิลล์ๆ เหมือนคนไทยนี่แหละ แต่เรารู้สึกว่าธุรกิจส่วนใหญ่ของเขามักเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่สเกลขายทั่วโลกได้ เขามักจะทำงานคราฟต์เองแล้วก็ค่อยๆ โตไปเรื่อยๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้มาเลยน่าจะเป็นเรื่องของการใส่ใจในโปรดักต์ของตัวเองจริงๆ และเชื่อมั่นว่าโปรดักต์ดีโดยที่สามารถขายตัวมันเองได้

“ด้วยความที่บริษัทที่เราทำงานตั้งอยู่ข้างหลัง Duomo di Milano ที่เป็นแลนด์มาร์กของเมืองมิลาน และตรงนั้นมีช้อปปิ้งสตรีทอยู่ เราก็จะเดินผ่านทุกวันแล้วชอบไปแวะดูตามร้านต่างๆ ว่าเขาขายอะไร จัดวางสินค้ายังไง อย่างเช่น การจัดดิสเพลย์ของห้างสรรพสินค้า La Rinascente ที่เข้าถึงง่าย แล้วมักจะชวนดีไซเนอร์หน้าใหม่สลับกันมาจัดแสดงผลงานในห้างที่เป็นระดับท็อปในมิลาน  มันมีความเข้าถึงง่ายในแง่ที่ว่าเราเดินเข้าไปเลือกซื้อของได้เลยโดยไม่ได้กั้นเป็นช็อปต่างๆ”

การเปิดโลกแฟชั่นที่อิตาลีและประสบการณ์ทำงานในบทบาท fashion buyer ทำให้แบมได้เห็นอุตสาหกรรมแฟชั่นในมุมที่กว้างมากขึ้น เมื่อกลับไทยมาก็ยังหลงใหลแฟชั่นจนลงเรียนด้านออกแบบแฟชั่นดีไซน์เพิ่มเพื่อศึกษาเรื่องเทคนิคเพิ่มเติมในการออกแบบแพตเทิร์นเสื้อผ้าจนรู้รอบและรู้ครบทั้งเชิงความรู้ในการทำธุรกิจและในเชิงปฏิบัติ

Local Wisdom
Heritage Palette from Nature 

ถึงแม้จะเคยเรียนและเคยทำงานด้านแฟชั่นมามากแค่ไหน แต่สิ่งที่เรียนในห้องเรียนใดไม่ได้ ศึกษาจากหนังสือเล่มไหนไม่ได้คือภูมิปัญญาของงานคราฟต์ และชุมชนบ้านสันดินแดง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ที่ห่างไกลข้ามทวีปจากอิตาลีแห่งนี้เองที่เป็นห้องเรียนแห่งสำคัญที่ทำให้แบมเริ่มต้นสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา 

หากเห็นเสื้อผ้าคอลเลกชั่นต่างๆ ของ tISI สิ่งที่เตะตาเป็นอย่างแรกเลยคือสีสันที่มีความละมุนจากธรรมชาติ เบื้องหลังเฉดสีเหล่านี้ล้วนเป็นเฉดที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับแบรนด์โดยเฉพาะจากชุมชนบ้านสันดินแดงแห่งนี้เอง

“สีย้อมธรรมชาติของที่นี่จะเป็นโทนพาสเทลจากพืชท้องถิ่นแถบนั้นหมดเลย ซึ่งเรามองว่ามันมีความสวยในตัวของมันเอง เป็นสีที่ได้มาจากการเก็บเปลือกไม้ในป่า กะเทาะออกมา เสร็จแล้วเอามาล้างแล้วแช่ในถังไว้ ซึ่งความเข้ม-อ่อนบางทีก็ขึ้นอยู่กับเปลือกไม้ด้วย แช่เสร็จแล้วก็เอามาต้มในหม้อ เอาเปลือกไม้ไปกรองออก นำผ้าฝ้ายมาย้อมและบีบน้ำออก มันจะติดสี แต่ถ้าอยากได้สีที่เข้มขึ้นก็ต้องมาทำใหม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราตากไว้แล้วย้อมกี่รอบ กี่สี เอาหลายสีมาผสมกันได้”  

ชื่อสีเหล่านี้จึงมีเอกลักษณ์ บางสีเป็นคำศัพท์ภาษาปกาเกอะญอ อย่างสีฟ้านางแมวป่า สีเขียวจากเปลือกเพกา สีแดงจากฝาง สีชมพูตุ่นจากฝางและใบสัก

หลังจากย้อมสีธรรมชาติจากป่าเขาเสร็จ ชาวบ้านจะนำผ้ามาทอเป็นผืนด้วยกี่เอว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทอเฉพาะของชุมชนบ้านสันดินแดงที่ใช้กี่ขนาดเล็กพิเศษ โดยในชีวิตประจำวันชาวบ้านจะใช้การทอลักษณะนี้ในการทอเสื้อผ้าผืนเล็กให้ลูกใส่ไปโรงเรียนหรือทอเป็นผ้าผืนพิเศษสำหรับงานแต่งงาน

แบมบอกว่าเธอไม่ได้เปลี่ยนกระบวนการทำงานของชาวบ้านเท่าไหร่เลย แค่เป็นคนเริ่มต้นออกแบบคอนเซปต์ในแต่ละคอลเลกชั่น ตั้งต้นไอเดียเฉดสีที่อยากทำแล้วร่วมพัฒนากับชาวบ้านในชุมชน โดยชาวบ้านเป็นคนต่อยอด แกะลวดลายและพัฒนาสีเฉพาะสำหรับแบรนด์ออกมา

“เรารู้สึกว่าความพิเศษของที่นี่คือชาวบ้านพร้อมที่จะทดลองไปกับเรา เขาเป็นเหมือนศิลปินหรืออาร์ทิสต์ที่ชอบทดลองเรื่องสี ไม่ว่าเราจะดีไซน์อะไรไปเขาก็จะไปทดลองให้ได้ ชุมชนที่นี่มีกันประมาณ 30-40 คนและอยู่กันแบบเรียบง่ายมากๆ ทุกคนรู้จักกัน ช่วยเหลือและพึ่งพากัน“

เช่น สมมติว่าเดี๋ยวเราจะต้องทอผ้าสีชมพู เขาก็จะมาช่วยกันทำทั้งหมู่บ้าน ใครทำอะไรได้ เช่น ปักเก่ง ก็จะอาสาเป็นคนปักให้ ผู้หญิงจะทอผ้า ตากผ้า ผู้ชายก็จะไปหาพืชสำหรับย้อมสีมาให้เพราะต้องเข้าไปในป่า ก็ช่วยเหลือกันตลอด”

นอกจากย้อมผ้า ชาวบ้านสันดินแดงยังปักผ้าลายพิเศษได้ เช่น ลายปักเกล็ดนิ่ม ซึ่งจะเห็นลวดลายเหล่านี้ในบางคอลเลกชั่นของแบรนด์ โดยแบมยังชวนชุมชนอื่นๆ มาทำงานร่วมกันในบางคอลเลกชั่นเพื่อผสานหลายเทคนิคของชุมชนให้เกิดแฟชั่นที่สนุก เช่น การใช้เทคนิค Indian Block Print ไปจนถึงการพัฒนาเฉดสีจากชุมชนแถบอีสานที่ทำให้โทนสีและเนื้อผ้าออกมาไม่เหมือนกัน เป็นต้น

“สุดท้ายแล้ว เราอยากจะโชว์ว่านี่คือ heritage ของเมืองไทยและโชว์ว่าเราทำอะไรได้บ้าง เพราะว่าคีย์ของเราคือเราต้องการ speak out ว่านี่คือแบรนด์ของเมืองไทยที่ไปขายต่างประเทศได้”

Business Wisdom
It’s Me & We 

ชื่อแบรนด์ tISI (ธิซายด์) มาจากคำภาษาอังกฤษโบราณที่มีความหมายว่า ‘It’s me’ ที่แปลว่า ‘ตัวตนของฉันเอง’ เพราะแบมต้องการสื่อสารให้ลูกค้าและคนที่ชื่นชอบแบรนด์เห็นว่าเมื่อใส่เสื้อผ้าของ tISI แล้วมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ใส่แล้วสามารถเป็นตัวของตัวเองได้

“เราใส่ความชอบของตัวเองลงไปในแบรนด์ อย่างความชอบในงานคราฟต์ เสื้อผ้าออร์แกนิกจากสีธรรมชาติที่ทำด้วยมือแบบ slow-made, slow-fashion เรายังเป็นคนที่ชอบยีนส์เดนิมและเสื้อผ้าวินเทจแบบที่ผู้ชายใส่ แต่ส่วนใหญ่แล้วเสื้อผ้าแนวนี้จะมีสไตล์ที่มีความเป็นผู้ชายสูงมากและใครๆ ก็ใช้ผ้าเดนิมเหมือนกันหมดเพราะมีตัวเลือกของผ้าให้ใช้ไม่ค่อยเยอะ พอใส่ออกมาแล้วบางทีจะมีปัญหาว่าใส่แล้วดูแน่น อัดอัด ใส่ออกมาแล้วไม่ค่อยสวย เลยคิดว่าถ้าเราทำเสื้อผ้าเดนิมออกมาอีก ตลาดก็มีขายอยู่แล้ว

“ตอนเริ่มต้นคิดแค่ว่ายังไม่มีแบรนด์เสื้อผ้าแบบที่ตัวเองชอบ เลยคิดว่าถ้าเราทำเสื้อผ้าที่คล้ายยีนส์แต่มีลูกเล่นมากขึ้น ไม่ได้มีแค่สีฟ้า สีน้ำเงินจะเป็นยังไง ดังนั้นถ้าเห็นเสื้อผ้าของ tISI มันเลยจะเป็นสไตล์ military wear หรือ workwear ต่างๆ ที่มีฟังก์ชั่นและออกแนวคล้ายยูนิฟอร์ม”

แม้ความหมายของแบรนด์จะสื่อถึงคอนเซปต์ It’s Me แต่กระบวนการทำงานหลังบ้านของชุมชนคือ It’s We ที่ไม่ยึดติดกับวิถีดั้งเดิมของตัวเอง แต่พร้อมเปิดกว้างและปรับตัวเพื่อทำงานร่วมกัน เพราะเมื่อแปรเปลี่ยนงานคราฟต์มาเป็นแบรนด์แฟชั่นเต็มตัวก็ต้องเพิ่มกระบวนการบันทึกเฉดสีที่ย้อมในแต่ละครั้งเพื่อให้ผลิตซ้ำได้ในเฉดเดิมและสื่อสารกันง่ายขึ้นจากที่แต่เดิมย้อมสีแบบครูพักลักจำ  

แบมบอกว่าความท้าทายในการทำงานคราฟต์กับชุมชนคือทุกอย่างต้องใช้เวลา โจทย์สำคัญคือจะทำยังไงให้กระบวนการทำงานคราฟต์ที่เนิบช้าสามารถผลิตตามดีมานด์ของลูกค้าได้ทัน ซึ่งที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของ tISI คือการวางแผนล่วงหน้าอย่างละเอียดตั้งแต่แผนสต็อกสินค้าจนถึงดีไซน์คอลเลกชั่นต่างๆ เช่น ออกแบบคอลเลกชั่นสำหรับซีซั่น fall/winter และ sping/summer ล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ถึงซีซั่นนั้นๆ เพื่อให้ชุมชนยังคงวิถีชีวิตสโลว์ไว้ให้ได้มากที่สุด    

การใช้เวลาอย่างพิถีพิถันของงานคราฟต์นี้เองที่ทำให้แบรนด์ tISI จัดอยู่ในหมวดลักชัวรีที่แบมมองว่าอยากเป็นความหรูหราที่คนยังเข้าถึงได้ในราคาไม่ถูกและไม่แพงเกินไป

“ตอนตั้งราคา เราก็จะมองว่า ถ้าลักชัวรีสุดๆ จะขายได้ที่ราคาเท่าไหร่ และถ้าขายแบบถูกและแมสสุดๆ จะอยู่ที่ราคาเท่าไหร่ แล้วก็มาดูว่าถ้าเราอยากให้คนเข้าถึงแบรนด์เราได้และรู้สึกว่าของเราดี จะทำยังไงให้คนไม่รู้สึกว่าราคาสูงเกินไปจนไม่เมคเซนส์ ช่วงราคาก็เลยอยู่ที่ราว 2,000 ต้นๆ ไปจนถึง 6,000-7,000 บาท แล้วแต่ความยากในกระบวนการทำ” 

กว่าจะออกมาเป็นคอลเลกชั่นที่ออกแบบเองและทำงานร่วมกับชุมชนแบบนี้จึงต้องผ่านความใจเย็นในทุกขั้นตอน ไม่ใช่แค่ไม่ทำตามกระแสฟาสต์แฟชั่น แต่ไม่ทำธุรกิจแบบใจร้อนที่โตเร็วและจากไปเร็วด้วย  

“สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการทำแบรนด์งานคราฟต์น่าจะเป็นเรื่องของความอดทน เพราะทุกอย่างต้องใช้เวลาในการสร้างแบรนด์หนึ่งขึ้นมา ถ้าจะทำอะไรขึ้นมาจริงๆ มันต้องมีความอดทนในแง่ที่ต้องอยู่กับมันให้ได้จริงๆ แบบที่เราไม่เบื่อมันไปเสียก่อน”

Global Citizen Tribe 

ความฝันของ tISI คือเติบโตทั้งในต่างประเทศและไทย อยากวางขายในห้างสรรพสินค้าและป๊อปอัพสโตร์ที่ต่างประเทศอย่างสง่างามเคียงคู่กับแบรนด์ระดับโกลบอล โดยแบมเล่าว่าที่ผ่านมาลูกค้าของแบรนด์คือชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศที่รักงานคราฟต์ ให้คุณค่ากับความยั่งยืน มีจิตวิญญาณแบบอาร์ทิสต์ รักแฟชั่น 

“ตอนนี้ที่ต่างประเทศจะมีวางขายที่ Rhubarb Store เขาเป็นร้านมัลติแบรนด์ที่อังกฤษซึ่งจะขายของเสื้อผ้าสไตล์ workwear และเขาต้องการแบรนด์คราฟต์ที่มีความยั่งยืน ซึ่งแบรนด์เราเป็น craft from Thailand ที่เขายังไม่มี ส่วนใหญ่เขาจะมีแบรนด์อินเดียเป็นหลัก มันทำให้เขารู้สึกว่าแบรนด์เราที่สไตล์มีความยูนิเซ็กซ์ ดูน่าสนใจ ส่วนอีกที่หนึ่งที่เราไปวางขายคืออินเดีย หลักๆ จะขายในแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่า ซึ่งก็จะมีไม่กี่แบรนด์ที่คราฟต์จริงๆ แล้วเราก็ได้เข้าไปอยู่ในนั้นด้วย” 

ด้วยความที่เน้นขายนักท่องเที่ยว ทำให้แบมเลือกช่องทางวางขายในไทยที่ทำให้ลูกค้าพบ tISI ได้ง่ายและมักเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวมักแวะไปอย่างเกษรอัมรินทร์, ร้านสารพัดไทยที่ One Bangkok, ร้าน All Kinds ที่ theCOMMONS Thonglor และป๊อปอัพสโตร์ที่เซ็นทรัลชิดลม 

ถึงแม้จะมีลูกค้าจากหลายชาติ แต่แบมบอกว่าการที่ tISI เลือกฝากขายที่มัลติแบรนด์ในอังกฤษและอินเดียเป็นสองประเทศแรกก็เพราะลูกค้าที่นั่นให้คุณค่ากับงานคราฟต์และความยั่งยืนมาก

“จากที่เราเคยไปงานเทรดโชว์ เรารู้สึกว่าคนอังกฤษกับอินเดียค่อนข้างอินกับของที่มีความคราฟต์ ลูกค้าค่อนข้างใส่ใจว่าแบรนด์คุณแคร์ถึงโลกยังไงและสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรในอุตสาหกรรมแฟชั่นได้บ้าง เวลาเราไปร่วมงานอีเวนต์ป๊อปอัพ ร้านพวกนี้เขาจะซีเรียสมากและมีเกณฑ์กำหนดไว้เลยว่าแบรนด์คุณต้อง sustainable นะ ถ้ายังไม่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนก็ไม่รับวางขายนะ มันเลยไม่ค่อยมีแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นมาขายเท่าไหร่ หรือต่อให้คุณใช้ผ้าแบบฟาสต์แฟชั่นคุณก็ต้องเอามามิกซ์กับแนวคิดยั่งยืนบางอย่าง” 

design philosophy ของ tISI จึงเป็นการให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้วยหลักคิด sustainable is practical เพราะแบมมองว่าการอนุรักษ์งานคราฟต์ให้คงอยู่ยืนยาวคือการรักษาไม่ให้ภูมิปัญญาหายไป

“มองว่า heritage คือการสอนที่ส่งต่อกันมาชั่วลูกชั่วหลาน แม่ส่งให้ลูกแล้วลูกก็ส่งต่อให้ลูกหลานอีกทีหนึ่ง มันอาจจะไม่ได้เป็นการสอนในเชิงของบทเรียนหรือเป็นหนังสือ แต่เป็นสิ่งที่มีเสน่ห์ในชุมชน ซึ่งถ้าเราแค่อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ด้วยการวางทิ้งไว้เฉยๆ สักที่ใดที่หนึ่งมันจะเท่ากับว่าไม่สามารถรักษาไว้ให้มันคงอยู่ต่อไปได้”

การทำแบรนด์แฟชั่นให้สำเร็จสำหรับแบมจึงเป็นการออกแบบเสื้อผ้าที่อินเทรนด์และทำให้อยากใส่ทุกวัน ชวนให้คนสนใจเบื้องหลังสีสันของธรรมชาติและเรื่องราวของชุมชนที่งดงามจากแฟชั่นแม้อาจไม่ได้สนใจงานคราฟต์เลยตั้งแต่ต้นก็ตาม 

Editor’s Note : Wisdom from Conversation

แบรนด์ tISI ตั้งต้นจากการสร้างแบรนด์ด้วยมายด์เซตแบบ global citizen ที่แม้จะใช้ภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติจากชุมชนในไทย แต่ได้แรงบันดาลใจในการทำธุรกิจคราฟต์แล้วขยายให้ใหญ่ไปทั่วโลกและความรู้เรื่องการทำแบรนด์แฟชั่นจากอิตาลี ไปจนถึงการตั้งมิชชั่นที่คำนึงถึงเรื่องความยั่งยืนซึ่งเป็นสิ่งที่พลเมืองโลกกำลังให้ความสำคัญ

คำว่า It’s Me สำหรับ tISI จึงไม่ใช่แค่ชุมชนงานฝีมือในไทยหรือดีไซน์ของคนไทยเท่านั้น แต่หมายถึงการผสานองค์ความรู้หลากหลายศาสตร์ (multidisciplinary) จากหลายประเทศที่ได้สัมผัสจากหลากวัฒนธรรม เปลี่ยน heritage palette จากธรรมชาติเพื่อสร้าง signature legacy จนกลายเป็นแบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง

 

สรุปเรื่องภาษีที่ในตำราไม่มีสอนกับ ‘ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์’ ผู้ก่อตั้ง iTAX

เคยมีคำกล่าวว่ามีเพียงสองสิ่งที่คนเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือความตายและภาษี ยิ่งในช่วงนี้เข้าสู่โค้งสุดท้ายในการยื่นภาษีออนไลน์ประจำปี 2568 ที่จะยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน แต่เชื่อว่าต่อให้คนที่ยื่นภาษีทุกปีก็ยังต้องปวดหัวกับการใช้สิทธิประโยชน์มาลดหย่อนให้เสียภาษีน้อยลง และจะยิ่งปวดหัวมากขึ้นหากมีรายรับหลายทาง หรือทำอาชีพอิสระไม่ว่าจะเป็นฟรีแลนซ์ ทำอาชีพค้าขาย หรือเป็นนักลงทุนที่มีรายได้ไม่แน่นอน

นี่ยังไม่นับรวมเด็กจบใหม่ที่กว่าจะเข้าใจเรื่องภาษี ก็คงผ่านการทำงานไปได้สักระยะหนึ่งและรู้เรื่องภาษีจากรุ่นพี่ที่ทำงาน แผนกบัญชี หรือจาก HR นั่นก็เพราะว่าถึงแม้ภาษีจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ยังไม่มีการบรรจุในตำราการเรียนการสอนอย่างจริงจัง พอคนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็จะยิ่งกลัวการยื่นภาษี และยังมีความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับภาษีอีกมากมาย

คอลัมน์ Keynote ในครั้งนี้ พามาสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับภาษี จากรายการ Business Summary EP.17 ที่เล็ก–มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล ได้พูดคุยกับ ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO iTAX ตั้งแต่ภาพใหญ่ว่าคนไทยเสียภาษีกันน้อยจริงหรือไม่ แล้วนอกจากภาษีเงินบุคคลธรรมดาที่เราต้องเสียกันทุกปีมีภาษีอะไรที่เราต้องจ่ายบ้าง ไปจนถึงเทคนิคการลดหย่อนภาษีที่หยิบไปปรับใช้ได้จริง

#ปัจจัยที่ทำให้คนไทยเสียภาษีไม่ถึง 10%

ดร.ยุทธนาเล่าว่าปัจุบันประชากรไทยมีประมาณ 70 ล้านคน มีคนที่เข้าระบบแรงงาน 38-40 ล้านคน แต่เวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีมีเพียง 10-11 ล้านคนเท่านั้น และถึงเกณฑ์ที่จะต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแค่ 4 ล้านคน ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนส่วนน้อยเรียกได้ว่าไม่ถึง 10% ของประชากรทั้งหมดด้วยซ้ำ

นั่นก็เพราะถ้านับรายได้เฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศ จะมีรายได้อยู่ที่ 38,000 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกามีรายได้เฉลี่ย 3 ล้านกว่าบาท สูงกว่าประเทศไทยเกือบสิบเท่า เพราะตอนนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาที่เรียกกันในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า ‘กับดักรายได้ปานกลาง’

ด้วยไทยมักเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำด้านการเกษตรและการผลิต แต่ยังขาดการทำเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างจริงจัง เช่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะช่วยกระตุ้นให้มีธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การจ้างแรงงานทักษะสูง ที่จะทำให้มีรายได้สูง และสามารถเสียภาษีกันได้มากยิ่งขึ้น แต่ในปัจจุบันที่ยังไม่ไปถึงขั้นนั้น ดร.ยุทธนาเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าถ้ามีรายได้เดือนละ 1 แสนบาท ก็สูงอยู่ในระดับท็อป 7% ของประเทศได้เลย เพราะบุคคลที่มีรายได้สูงในไทยนั้นมีจำกัด

#ทุกวันนี้เราต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ถึงแม้จะเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในจำนวนที่น้อยมาก ถ้าเทียบกับประชากรทั้งประเทศ แต่ ดร.ยุทธนาก็ได้ฉายให้เห็นภาพแท้จริงในชีวิตประจำวันของเราที่ต้องเสียภาษีกันอยู่แล้ว โดยสรุปภาษีหลักๆ ที่คนส่วนใหญ่ต้องจ่ายกัน ดังนี้

1. ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ถ้ามีรายได้จากการทำงานประจำ การค้าขาย การลงทุน ก็จะเข้าข่ายที่ต้องเสียภาษีในส่วนนี้ โดยประเทศไทยจะมีเกณฑ์และอัตราการเสียภาษีที่เป็นขั้นบันได ยิ่งมีรายได้ต่อปีมาก ภาษีที่เก็บก็จะแพงขึ้นตามลำดับ เช่น รายได้รวมต่ำกว่า 150,000 บาทต่อปี จะได้รับการงดเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่หากมีรายได้รวมตั้งแต่ 150,001-300,000 บาท/ปี ต้องเสียภาษี 5% ของจำนวนรายได้

2. ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT ก็คือภาษีที่ถูกคิดเวลาเราไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการอยู่แล้ว ดร.ยุทธนาบอกว่าภาษีส่วนนี้เป็นสิ่งที่ย้ำให้เห็นว่าคนไทยทุกคนจ่ายภาษีกันอยู่แล้ว แต่คนที่มีรายได้น้อยถือว่าเป็นคนที่ต้องเสียภาษีส่วนนี้แพงกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ เพราะถ้านำภาษีที่จ่ายมาเปรียบเทียบกับรายได้ที่เขามี เช่น คนที่มีรายได้วันที่ 400 กับคนที่มีรายได้วันละ 4,000 แต่ต้องจ่าย VAT 7% เท่ากัน สำหรับคนที่มีรายได้น้อยก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

3. ภาษีทรัพย์สิน เป็นภาษีที่เราต้องจ่ายจากการมีทรัพย์สินบางอย่างที่กฎหมายกำหนด เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่รถยนต์

#ลดหย่อนภาษีแบบไหนดีที่สุด

ดร.ยุทธนาเล่าว่าสิ่งที่คนชอบถามเขามากที่สุดคือ ลดหย่อนภาษียังไงให้คุ้มทุกที่ คำแนะนำของเขาคือการลดหย่อนที่เหมาะกับตัวเองที่สุด เพราะทุกอย่างให้การลดหย่อนเหมือนกันหมด แต่ต้องดูว่าอะไรที่เรามองหา หรืออะไรที่เราขาด

1. ต้องเริ่มจากคำนวณภาษีให้เป็นก่อน เพราะถ้าคำนวณภาษีไม่เป็น จะไม่รู้ว่าต้องเสียภาษีกี่บาท ได้เงินคืนเท่าไหร่ พอเห็นตัวเลขนี้แล้วค่อยถามตัวเองว่าถ้าต้องเสียภาษีเท่านี้พอใจไหม ถ้าพอใจแล้วไม่ลดหย่อนภาษีก็ได้

แต่ถ้าไม่พอใจอยากได้ภาษีคืนหรือจ่ายน้อยลง ค่อยไปมองหาการลดหย่อนภาษีและเช็กสิทธิ์ตัวเองก่อน ว่ามีอะไรที่ลืมกรอกอีกบ้าง เช่น ดอกเบี้ยบ้าน ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย เลี้ยงดูพ่อแม่ที่ไม่มีรายได้ ดูว่าที่เรามีอยู่ช่วยลดหย่อนได้มากน้อยแค่ไหน

2. จากนั้นแล้วค่อยหาการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตในตอนนั้น เช่น ถ้ามองหาโอกาสในการลงทุน กองทุนอาจจะตอบโจทย์ ถ้ามองหาเรื่องความคุ้มครอง เพราะตอนนี้เริ่มมีลูก กลัวคนข้างหลังมีปัญหา ประกันชีวิตอาจตอบโจทย์ แต่ถ้าเจ็บป่วยบ่อย ประกันสุขภาพอาจตอบโจทย์ และถ้าอยากเพิ่มแต้มบุญก็ค่อยบริจาค

ยิ่งในตอนนี้ที่มีแพลตฟอร์มช่วยเรื่องภาษี หนึ่งในนั้นคือ iTAX ที่แค่กรอกข้อมูลแล้วระบบจะคำนวณภาษีให้ พร้อมแนะนำให้ว่าสามารถลดหย่อนอะไรได้บ้าง และเปรียบเทียบว่าอันไหนให้ผลตอบแทนดีที่สุด นอกจากนี้ iTAX ยังเป็นรายแรกและรายเดียวที่เป็นพาร์ตเนอร์กับกรมสรรพากร เพื่อนำข้อมูลในแอพฯ ไปที่ระบบยื่นภาษีของสรรพกรได้เลย ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น ที่สำคัญคือใช้งานฟรี เพราะ ดร.ยุทธนาอยากให้ภาษีเป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนเข้าใจและไม่กลัวอีกต่อไป

อีกไม่กี่วันจะหมดเขตการยื่นภาษีแบบออนไลน์แล้ว อย่าลืมเข้าไปยื่นภาษีปี 2568 กันนะ ส่วนใครยังอยากเข้าใจแบบลงลึกสามารถติดตามเนื้อหาฉบับเต็มกันได้ในรายการ Business Summary EP.17 

YouTube : youtu.be/WqSHMo_OopI

Spotify : spoti.fi/48WLWPZ

Apple Podcasts : apple.co/4fS5gjx

Calm Outdoors แบรนด์เสื้อผ้าแคมป์ปิ้งของไทยที่แหวกขนบ ใส่ง่าย หลายสีสัน และเหมาะกับทุกคน

หากคุณพูดถึงเสื้อผ้าสำหรับแคมป์ ไปเดินป่า ภาพจำที่ผ่านมาของคุณเป็นยังไง 

สีดินอมฝุ่น เนื้อผ้าแข็ง ใส่แล้วมีน้ำหนัก คงเป็นภาพจำแรกที่เข้ามาในหัว เพราะที่ผ่านมาหลายคนคงต้องเคยสวมใส่เสื้อผ้าประเภทนี้ และประสบกับความรู้สึกที่ไม่รื่นรมย์เท่าไหร่นัก แม้จะอยู่ท่ามกลางแมกไม้ที่ร่มรื่นก็ตาม 

ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับ ต้น–ณัฐพงษ์ บุษบงษ์ จึงทำให้เขาตัดสินใจทำ Calm Outdoors แบรนด์เสื้อผ้าแคมป์ที่แหวกขนบของการเดินป่าในอดีต กับเสื้อผ้าที่ทั้งฟังก์ชั่นและแฟชั่น กล่าวคือมีน้ำหนักเบา ผ้าโปร่ง สวมใส่สบาย รวมถึงมีสีสันหลากหลายฉูดฉาด เหมาะกับคนหลากบุคลิก หลายสไตล์ 

วันนี้ Capital พูดคุยกับณัฐพงษ์ ตั้งแต่วันแรกของการทำธุรกิจ ช่วงสมัยที่ยังไม่มีใครทำแบรนด์เสื้อผ้าแคมป์ในไทย ว่าเขาเชื่อมั่นอะไร มองเห็นโอกาสตรงไหน มีเป้าหมายยังไงตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคตหลังจากนี้ 

คุณเริ่มรู้จักการออกไปแคมป์ปิ้งตั้งแต่เมื่อไหร่

การออกไปแคมป์ ไปเที่ยวในธรรมชาติ เท่าที่ผมจำได้คือมันอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่เคยมีช่วงหายไปเลยนะ คือพอจะเข้าหน้าหนาวก็เอากันแล้ว เริ่มซื้อเสื้อผ้า เริ่มคุยกันว่าจะไปดอยไหนดี ซึ่งสมัยก่อนก็ไม่ได้มีโรงแรมเยอะขนาดนั้น คนส่วนใหญ่เลยใช้วิธีกางเตนท์ นอนแคมป์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผมก็ใช้ชีวิตช่วงหน้าหนาวแบบนี้กับครอบครัวมาตลอด 

แล้วด้วยความที่เป็นคนรักการแต่งตัว ชอบติดตามเทรนด์แฟชั่นอยู่แล้ว คือช่วงไหนเขาฮิตอะไรกัน ผมทำหมด ขับบิ๊กไบก์ เล่นเซิร์ฟสเกต จนถึงกระแสแคมป์ปิ้ง เราก็ปรับเปลี่ยนการแต่งตัวมาตลอด จนมาติดใจตอนเข้าป่านี่แหละ ที่พวกเครื่องแต่งกายมันมีตัวเลือกหลากหลาย ทีนี้ผมก็สนุกเลย กับการหาของมาแต่งตัว มาเล่นในระหว่างเข้าป่า เป็นความสุขในช่วงเวลานั้น 

ความสนุกของการแคมป์ปิ้งคืออะไร

เรื่องนี้มันแตกต่างมากเลยนะแต่ละคน เท่าที่ผมศึกษามา บางคนก็บอกว่าชอบเวลาเดินป่า ที่ได้ทบทวนตัวเอง ได้ไปอยู่ท่ามกลางบรรยากาศใหม่ๆ ริมแม่น้ำ หรือตื่นมาทำไข่เจียวที่อร่อยกว่าปกติกิน ซึ่งเขาก็ให้คำตอบไม่ได้นะว่าทำไมเวลาทำที่บ้านเครื่องครัวเพียบพร้อมถึงไม่เคยอร่อยเท่ากับตอนกินในป่าเลย (หัวเราะ)

แต่สำหรับผม ผมชอบเดินทาง เพราะได้เจอผู้คนใหม่ๆ และจะชอบมากถ้าได้เจอพ่อค้า แม่ค้า ได้ไปตลาดท้องถิ่น ที่มีวัตถุดิบแตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค

แล้วเสื้อผ้าแคมป์แตกต่างจากเสื้อผ้าปกติยังไง

คือมีหลายคนเขาชอบพูดว่า ใส่เสื้อผ้าอะไรก็เดินเข้าป่าได้ ผมก็จะตอบเสมอว่า จริงครับ ผมไม่เถียง แต่คุณใส่แล้วมันรู้สึกสบายขึ้นไหม หรือกลับรู้สึกว่าสิ่งที่คุณสวมอยู่มันเป็นภาระมากกว่า 

วันนี้โลกมันพัฒนา เทคโนโลยีมันก้าวหน้า แฟชั่นมันล้ำสมัย เรามีเสื้อผ้าที่ใส่แล้วแห้งเร็ว กันเชื้อโรค กันหนามได้ ผมว่ามันก็เป็นสิ่งที่ทำให้การทำกิจกรรมที่เรารักทั้งสะดวกและสนุกขึ้น ผมเลยมองว่ามันเป็นจุดแตกต่างที่น่าสนใจ

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ พอมองในเชิงธุรกิจ ผมเองกลับพบว่า ปัจจุบันไม่มีแบรนด์ไทยที่ทำเสื้อผ้าแคมป์จริงๆ จังๆ เลย จะเห็นก็มีแต่แบรนด์ใหญ่ในต่างประเทศ เลยตัดสินใจว่า ถ้ายังไม่มีใครอยู่ในตลาด เราก็ลงมาเป็นผู้เล่นเองเลยดีกว่า จึงเกิดเป็นแบรนด์ Calm Outdoors ในปี 2018 ขึ้นมา

ทำไมจึงเป็นแบรนด์ที่ชื่อ Calm Outdoors

ด้วยความที่ผมอยู่ในวงการขับบิ๊กไบก์มาก่อน สังคมกลุ่มนี้เขาจะมีความเสียงดัง โหวกเหวก ชอบปาร์ตี้กัน ซึ่งมันก็เป็นความสนุกแบบหนึ่งนะ แต่พอได้มาทำแบรนด์แคมป์ ได้อยู่กับธรรมชาติบ่อยๆ เรากลับรู้สึกว่า ไม่อยากเป็นตัวเองในแบบที่ผ่านมา ผมกลับโหยหาความเงียบ การทำตัวเองให้กลืนไปกับธรรมชาติ ดังนั้นตอนตั้งชื่อเลยพยายามนึกถึงอะไรที่มันสงบ จึงกลายเป็นชื่อนี้ขึ้นมา 

แล้วความท้าทายของการเป็นแบรนด์จำหน่ายเสื้อผ้าแคมป์เจ้าแรกคืออะไร  

ก็เป็นความเสี่ยงของธุรกิจเจ้าแรก ที่มากวาดหญ้าถางพง เราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเจออะไรบ้าง เพียงแต่สิ่งเดียวที่ทำให้ผมตัดสินใจทำต่อคือ ถ้าในวันนี้มันยังไม่มีแบรนด์เสื้อผ้าไทยที่ตอบโจทย์การใช้งานของเราได้ หากเราทำขึ้นมาเอง แล้วมันตอบโจทย์ได้จริง ก็น่าจะมีคนแบบเราที่เขากำลังมองหาแบรนด์ประเภทนี้อยู่เช่นกัน 

ผมเชื่อแบบนั้น 

Calm Outdoors มีการวางแผนธุรกิจยังไงบ้าง

เป้าหมายแรกที่สำคัญที่สุดคือ สินค้าที่ทำมาต้องตอบโจทย์เราและลูกค้าที่เป็นคนชอบแคมป์ เพราะถ้าเขาซื้อสินค้าเรา แล้วถูกใจ มันจะเกิดการบอกต่อเอง และที่สำคัญคือมันจะช่วยตอกย้ำว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่มันมาในเส้นทางที่ถูกต้อง ตอบปัญหาเราในวันแรกที่ตัดสินใจทำแบรนด์ขึ้นมา

ดังนั้นแม้จะเปิดในปี 2018 แต่จริงๆ ผมเริ่มพัฒนาสินค้าตั้งแต่ปี 2017 คือทำกันแบบยังไม่มีรายได้เลย แต่ก็อาศัยธุรกิจอื่นๆ ในมือ มาช่วยหมุนเงินก่อน 

จนสุดท้ายได้สินค้าชิ้นแรกออกมา คือหมวก Outdoor ที่มีปีกคลุมรอบทิศทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเดินป่า นักแคมป์ที่ทุกคนต้องมี 

หนึ่งจุดเด่นของ Calm Outdoors คือการเลือกใช้สีที่ฉูดฉาด เป็นเพราะอะไร

สมัยก่อนเสื้อผ้าประเภทนี้จะมีสีประเภทเอิร์ทโทนเพราะมันใส่แล้วไม่สกปรก นั่งบนพื้นดินก็ดูไม่เลอะจนเกินไป ใช้งานได้นาน แต่มาถึงช่วงหนึ่งผมเริ่มสังเกตว่าทำไมแบรนด์ต่างประเทศเขาใช้สีฉูดฉาดจัง มีสีฟ้า สีเหลือง 

เลยลองไปศึกษาดูจนพบว่า อ๋อ ที่เขาใช้สีแบบนี้ เพราะบ้านเขาเป็นเมืองหนาว มีหิมะตก คือถ้าเวลาเกิดอุบัติเหตุสีพวกนี้จะช่วยให้หาตัวผู้ประสบภัยได้ง่าย ดังนั้นพอรู้ว่าเทรนด์ของแบรนด์ระดับโลกไปทางนี้แล้ว เราก็เอาบ้างเลย หันมาใช้สีสดๆ บ้าง สีส้ม สีม่วง ซึ่งมันสนุกมากเลยนะ เพราะมันทำให้เสื้อผ้ามีชีวิตชีวา ลูกค้าก็มีทางเลือกในการหยิบจับสีให้เหมาะกับตัวเองมากขึ้น

นอกจากแฟชั่นแล้ว Calm Outdoors ให้ความสำคัญเรื่องฟังก์ชั่นยังไงบ้าง

ผมขอยกตัวอย่างบางรายการที่คิดว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้การแคมป์สะดวกยิ่งขึ้น 

อันแรกคือหมวกกันรังสี UV คือต่อให้เราไปยืนใต้ร่มที่กำลังบังแดดให้เราอยู่ ถึงแม้จะร่มก็จริง แต่ถ้าอยู่นานๆ มันจะไม่สบายตัว จะรู้สึกตัวแดงๆ ร้อนๆ แสบๆ เป็นเพราะเราอยู่ใต้รังสี UV มากเกินไป หมวกที่เราออกแบบมาก็จะช่วยลดภาระตรงนี้ได้

หรือในส่วนของงานดีไซน์ที่เราทำให้ไม่พะรุงพะรัง สามารถพับเก็บได้ น้ำหนักเบา ระบายอากาศ ไม่เปียกน้ำ เช่นกางเกงของเราที่มีผ้าเป็นไนล่อน สมมติเราเผลอไปนั่งพื้นโคลนติดกางเกง เราเอาน้ำฉีดก็แห้งแล้ว 

ในช่วงแรกลูกค้าให้การตอบรับมากน้อยขนาดไหน

ใช้คำว่าฮิตพอสมควร เพราะส่วนใหญ่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเรา เขาบอกว่าคุณภาพของเราดี ไม่แพ้กับแบรนด์ต่างประเทศ แต่ราคาไม่สูงจนเกินไป ทำให้ลูกค้าหลายกลุ่มเขาสามารถเข้าถึงสินค้าของเราได้ 

ทุกวันนี้กลุ่มลูกค้าของ Calm Outdoors เป็นใคร

ตอนแรกผมตั้งเป้าเป็นกลุ่มเด็กจบใหม่ ที่อยากใช้ชีวิต หลังจากอยู่ในกรอบครอบครัวมา เลยอยากมีสินค้าที่เขาเข้าถึงได้ 

แต่ถ้าพูดถึงเป้าใหญ่ ผมมองถึงการเป็นแบรนด์ของประเทศไทย อยากให้ต่างชาติรู้จักแบรนด์เรา เลยเป็นเหตุที่พยายามใส่ลายช้างเข้าไป คือเราอยากให้สินค้าของ Calm Outdoors เหมือนกางเกงลายช้างที่ชาวต่างชาติอยากซื้อใส่ อยากเอากลับไปฝากคนที่บ้าน 

เรื่องหนึ่งที่คุณประกาศเป็นจุดยืนแบรนด์มาตลอดคือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันเริ่มขึ้นจากอะไร

วันแรกที่เริ่มทำแบรนด์ผมเห็นว่าแบรนด์ใหญ่ๆ ในต่างประเทศ เขาก็มีนโยบายรักษ์โลกอย่างจริงจัง เช่นแบรนด์ Patagonia เขาถึงกับประกาศว่าเสื้อเขาทำมาจากขวดพลาสติก โดยเสื้อ 1 ตัวทำมาจากขวดน้ำ 4 ขวด ดังนั้นอย่ามาซื้อเสื้อเราเลย เพราะมันเป็นแค่พลาสติก 4 ชิ้น ปรากฏว่าได้ใจกลุ่มลูกค้า ยอดขายล่มทลาย

ดังนั้นถ้าโลกไปทางนี้ ผมว่าเราก็ควรไปทางเดียวกัน แต่ผมมองว่าวิธีรักษ์โลกทุกวันนี้มันมีหลายแบบ ซึ่ง Calm Outdoors เราจะใช้วิธีติดต่อโรงงานที่ทำเสื้อผ้าให้แบรนด์ใหญ่ๆ ที่ปกติเขาจะใช้ผ้าขนาดใหญ่ แล้วจะมีส่วนที่เหลืออยู่หรือต้องสำรองไว้ ผมก็เลยติดต่อโรงงานว่าขอผ้าส่วนนี้ได้ไหม ซึ่งแน่นอนว่าสีที่มีนั้นก็จะเลือกไม่ได้ เลยทำให้แบรนด์เสื้อผ้าของเรามีหลายสีแบบทุกวันนี้ 

หรือเรื่องการสกรีนเสื้อที่ปกติเขาจะใช้วิธีแบบสกรีนบล็อก (silk screen) ซึ่งจะต้องใช้น้ำล้างบล็อกจำนวนมาก เราเลยใช้วิธีใหม่ที่เรียกว่า Digital film Transfer (DFT) คือ การพิมพ์สกรีนรูปลงบนแผ่นฟิล์มด้วยหมึกพิเศษ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นนะ แต่ผมก็เต็มใจทำ เพราะตัดสินใจแล้วว่าจะดำเนินธุรกิจแนวทางนี้ 

เพระสุดท้ายสินค้าของเรา ทำมาเพื่อให้คนได้ออกไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติ แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว เราเองเป็นคนทำให้ธรรมชาติมันลดน้อยถอยลงไป เสื้อผ้าที่เราผลิตขึ้นมาจะมีประโยชน์อะไรกับลูกค้า จริงไหม

ตลอดระยะเวลาที่ทำธุรกิจมา มีจุดไหนที่คุณเคยเฟลบ้างไหม

ไม่ได้มีเรื่องไหนชัดเจน ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่ละสาขา พอผมมีความเชื่อว่าสุดท้ายแล้วแบรนด์ที่ดีจะต้องยืนระยะ และเป็นที่จดจำ ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดปัญหาแบบไหน เราพยายามทำให้แต่ละสาขาอยู่รอดได้ 

อาจมีการโยกบัญชีการเงินจากสาขาหนึ่งไปสองบ้าง ซึ่งตอนนี้เราก็มี 23 สาขา และกำลังจะมีอีก 3 สาขา แต่จะมีบางสาขาอยู่ในมัลติแบรนด์ที่ห้างสรรพสินค้า ดังนั้นส่วนที่เราดูแลเองตอนนี้มีจะ10 กว่าสาขา ผมเองไม่รู้หรอกนะว่ามันถูกต้องที่สุดไหม แต่มันเป็นสิ่งที่ผมเชื่อ และคิดว่าจะทำให้แบรนด์อยู่รอด 

หลายธุรกิจมักจะกลัวเรื่องการขยายสาขา คุณมีความเห็นตรงนี้ยังไงบ้าง

ผมมองเรื่องเดียวเลยคือแบรนดิ้ง คือหลายปีที่ผ่านมาคนทำธุรกิจจะหนีเรื่องการยิงโฆษณาบนโลกออนไลน์ไม่ได้เลย ดังนั้นงบตรงนี้ต้องกันเอาไว้อยู่แล้ว แต่ผมกลับมองว่า จะดีกว่าไหมถ้าเอางบตรงนี้มาทำการตลาดในโลกออฟไลน์แทนออนไลน์ 

คือถ้าเราเอามาลงกับการขยายสาขาเพิ่มขึ้น ไปตั้งร้านอยู่ในโลเคชั่นดีๆ ไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า ผมว่ามันสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ผมจะรู้สึกว่ามันต้องมีคนจริงๆ ที่ได้มาเดิน มาเห็น มาจับสินค้าของเรา มากกว่าการยิงโฆษณาออนไลน์ที่อาจไปไม่ถึงคนที่มองหาสินค้าของเรา 

จะรู้ได้ยังไงว่าธุรกิจของเราพร้อมและสมควรจะมีสาขาที่ 2  

ไม่รู้หรอกครับ สิ่งที่ผมทำคือทดลอง เวลาผมขยายสาขาผมจะทำสัญญาระยะสั้น เอาแค่ครึ่งปีพอ เพื่อทดลองดู รวมถึงพวกของหน้าร้านต่างๆ ก็จะทำให้เคลื่อนย้ายได้ถ้าพลาด เพราะโอกาสมันมีแน่ แต่เราต้องเตรียมตัว ต้องมีแผนว่าถ้าพลาดแล้ว จะทำยังไงต่อ 

วันนี้แบรนด์เสื้อผ้าแคมป์ในต่างประเทศเขาพัฒนาไปทิศทางไหนบ้าง

ไปไกลแล้ว ผมยกตัวอย่าง The North Face ที่ใช้ซิปจากแบรนด์ YKK เป็นซิปที่ถูกการันตีว่าดีอันดับต้นๆ และใช้ผ้าของแบรนด์ Gortex คือเขาใช้ของคุณภาพอันดับต้นๆ ที่มีการรับรองว่าดี มาทำสินค้ากับเขา เหมือนรวมตัวทีมอเวนเจอร์ในหนังมาร์เวล  

ซึ่งเราก็มีเป้าหมายแบบนี้นะ เพราะมันก็เป็นแนวทางที่จะพาตัวเองไปสู่คำว่า global brand ในอนาคต

แล้วเป้าหมายใหญ่ล่ะ Calm Outdoors มีภาพฝันแบบไหน

ก็ยังอยากตะโกนและนำเสนอว่าเราเป็นแบรนด์จากประเทศไทย อยากให้สินค้าจากประเทศนี้เทียบเท่ากับแบรนด์ระดับโลกได้ 

หากให้สรุป 3 ข้อสำคัญที่คุณใช้บริหารแบรนด์ Calm Outdoors จะมีเรื่องอะไรบ้าง

อย่างแรก คือการทำสินค้าให้ดี มีคุณภาพ และการวางทิศทางของแบรนด์ที่ชัดเจน จะทำให้การดำเนินงาน หรือการเล่าอะไรกับลูกค้าทำได้ง่ายยิ่งขึ้น

ต่อมาคือพยายามทำสินค้าให้ง่าย เหมาะกับทุกคน เมื่อก่อนผมขายกางเกงยีนส์ กว่าจะขายได้ มีแต่ลูกค้าผู้ชาย คือบางทีมา 10 คน ขายได้แค่คนเดียวแบบนี้ก็มี แต่วันนี้ผมมีคอนเซปต์ ใครๆ ก็ใส่ Calm Outdoors ได้ เพราะทุกวันนี้กลุ่มลูกค้ามียันคนสูงอายุ ที่บางคนเขาไม่ไปเที่ยวแล้วนะ เขามาซื้อเสื้อกันยูวีของเราเพราะเขาจะใส่ทำสวน ปลูกผัก แบบนี้ก็มี

สุดท้ายคือการยืนระยะ ผมเริ่มทำแบรนด์มาก็เจอโควิด-19 เราทนอยู่หลายปีกับการไม่มีกำไร แต่ด้วยความที่เราเชื่อมั่นว่าต้องยืนระยะได้ รวมถึงเรามีแผนธุรกิจที่ชัดเจน แบรนด์ Clam Outdoors เลยต่อยอดมาถึงทุกวันนี้ 

HUMAN MADE แบรนด์ที่นำความรักทั้งชีวิตของมนุษย์นามว่า NIGO มาทำผลิตภัณฑ์จนคนรักตาม

ในแวดวงสตรีทแฟชั่นปัจจุบัน HUMAN MADE น่าจะเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ในใจชาวไทยแม้จะยังไม่มีสาขาในบ้านเราสักสาขา สังเกตได้จากราคารีเซลที่แม้จะพุ่งสูงแต่ก็ยังมีคนโหยหา–อยากคว้ามาครอบครอง

ไม่ใช่แค่ในไทย แต่ในระดับโลกแบรนด์ HUMAN MADE ก็ถือเป็นแบรนด์ที่ทรงอิทธิพลและยึดพื้นที่สื่อในโลกออนไลน์ได้เสมอยามออกคอลเลกชั่นใหม่หรือมีโปรเจกต์สำคัญ สินค้าที่วางขายบนโลกออนไลน์หลายไอเทมก็ขึ้นป้าย sold out ในหลักนาที-วินาที

ไม่ว่าจะมองด้วยแว่นคนทำธุรกิจหรือสายตานักสร้างสรรค์ ความสำเร็จของ HUMAN MADE ก็น่าศึกษาและค้นหาที่มาที่ไป

คำถามสำคัญคือ อะไรผลักดันให้แบรนด์ที่โลโก้เป็นรูปหัวใจสีแดงแบรนด์นี้ขึ้นมายืนหยัดอยู่แถวหน้าในสมรภูมิแฟชั่นอันแสนดุเดือดอย่างประเทศญี่ปุ่น และไม่มีทีท่าจะร่วงหล่นได้ง่ายๆ

การจะย้อนทำความเข้าใจความสำเร็จของ HUMAN MADE ว่ามีที่มาจากอะไร เราอาจจะต้องย้อนสำรวจชีวิตและการเติบโตของ NIGO ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและควบคุมทิศทางแบรนดิ้งทั้งหมด

คงไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะบอกว่า HUMAN MADE คือตัวอย่างของการเอาความรักทั้งหมดในชีวิตมาเทลงไปในงานที่ทำ

‘ทั้งหมดในชีวิต’ ที่หมายรวมถึงสิ่งสำคัญที่สั่งสมมา ทั้งความคลั่งไคล้ รสนิยม มิตรภาพ คุณค่าที่ยึดถือ และอีกหลายสิ่งที่ไม่มีใครลอกเลียนได้

และเมื่อเราเข้าใจชีวิตเขา เราย่อมรู้ว่า ‘Human’ ในชื่อแบรนด์ไม่ใช่ใคร

เขาคือมนุษย์ผู้มีนามแฝงว่า NIGO

NIGO MADE

“งานของคุณและความสนใจส่วนตัวของคุณดูเหมือนจะเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น มันเป็นอย่างนั้นใช่มั้ย”

ครั้งหนึ่ง Fraser Cooke อีกหนึ่งผู้ทรงอิทธิพลในโลกสตรีทแฟชั่นเคยตั้งข้อสังเกตต่อชีวิตของ NIGO ในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ใน System Magazine

“ผมก็แค่เปลี่ยนงานอดิเรกมาเป็นงาน ก็เท่านั้น”

คำตอบนี้ของ NIGO สะท้อนวิธีคิดในการทำงานของเขาตั้งแต่วันแรก

NIGO มีชื่อจริงที่หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นว่า Tomoaki Nagao เขาคือหนึ่งในบุคคลที่ยืนระยะในแวดวงแฟชั่นและงานสร้างสรรค์มานาน โดยเส้นทางชีวิตของเขาทาบทับกับดีไซเนอร์ระดับหัวแถวในแดนปลาดิบมากมายหลายชีวิต

นากาโอะเกิดที่เมืองมาเอะบาชิ จังหวัดกันมะ สิ่งที่หล่อหลอมความสนใจงานศิลปะและการออกแบบส่วนหนึ่งมาจากสื่อที่เขาได้เสพ ผลงานจำนวนมากที่เขาสร้างสรรค์เมื่อเติบใหญ่สะท้อนความสนใจของเขาเมื่อวัยเด็ก เขาหลงใหลภาพยนตร์อย่าง STAR WARS และ Planet of the Apes ในมุมแฟชั่นเขาหลงใหลและได้แรงบันดาลใจจาก American vintage & workwear ในยุค 50s-60s

ด้วยความสนใจด้านแฟชั่นและการออกแบบทำให้เขาเลือกศึกษาที่ Bunka Fashion College ซึ่งเป็นสถาบันแฟชั่นชั้นนำในแดนปลาดิบที่สร้างดีไซเนอร์ชั้นนำมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Yohji Yamamoto, Rei Kawakubo, Kenzo Takada, Hiroshi Fujiwara หรือ Junya Watanabe และเป็นสถาบันแห่งนี้เองที่สร้างสายสัมพันธ์อันมีส่วนสำคัญให้เขาเติบใหญ่ในเส้นทางแฟชั่น

นากาโอะเริ่มต้นเส้นทางสายแฟชั่นด้วยการเป็นผู้ช่วยของฮิโรชิ ฟูจิวาระ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น godfather of streetwear โดยฟูจิวาระคือผู้บุกเบิกแบรนด์ที่เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของสตรีทแฟชั่นในย่านฮาราจูกุ อย่าง GOODENOUGH ก่อนที่ต่อมาหลายคนจะจดจำเขาในฐานะผู้ก่อตั้งแบรนด์ Fragment Design

ฟูจิวาระถือเป็นไอดอลคนสำคัญของนากาโอะ อาจกล่าวได้ว่าเขารับอิทธิพลทางด้านแฟชั่นและไลฟ์สไตล์จากฟูจิวาระมาเต็มๆ หนึ่งในสิ่งที่ทรงอิทธิพลกับเขาคือคอลัมน์แฟชั่นล้ำยุคที่ชื่อ Last Orgy ในนิตยสาร Takarajima ซึ่งฟูจิวาระเป็นผู้เขียนร่วมกับ Kan Takagi

รสนิยมและสไตล์ของนากาโอะเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างจากสื่อที่เขาเปิดรับในช่วงวัยหนุ่ม ก่อนที่หลังจากนั้นเขาจะได้เขียนคอลัมน์ในนิตยสาร POPEYE ในชื่อ Last Orgy 2 ซึ่งถือเป็นการสานต่อคอลัมน์ Last Orgy ที่เคยเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในช่วงหนึ่งของชีวิต

จากความสนใจและหน้าตาที่คล้ายกัน ทำให้คนรอบตัวในเวลานั้นเรียกเขาว่า ‘Fujiwara No.2’ และนั่นคือที่มาของชื่อเล่นในวงการที่ทุกคนเรียกขานอย่าง ‘NIGO’ ซึ่งแปลว่าหมายเลขสอง

และเขาก็น้อมรับนามนี้ไว้เพื่อแสดงถึงความเคารพต่อฟูจิวาระมาจนกระทั่งปัจจุบัน

APE MADE

ในปี 1993 NIGO ได้เริ่มต้นสร้างบางสิ่งที่ทรงอิทธิพลต่อโลกสตรีทแฟชั่นในแดนปลาดิบ ด้วยการจับมือกับรุ่นพี่ของเขาที่ Bunka Fashion College อย่าง Jun Takahashi ซึ่งขณะนั้นได้ก่อตั้งแบรนด์ UNDERCOVER แล้ว เปิดร้านขายเสื้อผ้าในแบบที่ทั้งสองหลงใหลในชื่อ NOWHERE ที่ย่านฮาราจูกุ

ด้วยความสดใหม่และความแม่นยำในการเลือกสินค้าเข้าร้านของทั้งสอง รวมถึงได้รับการซัพพอร์ตอย่างดีจากฟูจิวาระ NOWHERE จึงใช้เวลาไม่นานก้าวขึ้นมาเป็นเสมือนฮับของวงการสตรีทแฟชั่นในโตเกียว

ไม่ใช่แค่ในแวดวงแฟชั่น แต่ NIGO ยังสนใจในวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอปแบบลงลึก

ในช่วงวัยหนุ่มเขาเป็นดีเจเปิดเพลงฮิปฮอป ก่อนที่หลังจากนั้นเขาจะเหยียบขาข้างหนึ่งเข้ามาในวงการฮิปฮอปในบทบาทโปรดิวเซอร์ดูแลศิลปิน เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มฮิปฮอปญี่ปุ่นที่ชื่อ Teriyaki Boyz ซึ่งหลายคนน่าจะจดจำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง The Fast and the Furious 2: Tokyo Drift ที่พวกเขาทำได้ นอกจากนั้นเขายังมีผลงานร่วมกับศิลปินระดับโลกมากมาย

อาจกล่าวได้ว่าเขาคือผู้ที่หลอมรวมวัฒนธรรมฮิปฮอปและสตรีทแฟชั่นเข้าด้วยกัน และสิ่งนี้ก็เป็นอีกต้นทุนสำคัญของเขาในการสร้างแบรนด์ของตัวเองโดยที่ ณ ขณะนั้นเขาเองก็อาจจะไม่รู้ตัว

โดยตำนานบทสำคัญได้ถูกเขียนหลังจากเขาลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์ของตัวเองเต็มตัวร่วมกับ SK8THING ในชื่อ A Bathing Ape หรือ BAPE ในปี 1993 

โดยแบรนด์นี้เขาได้เอาสิ่งที่หลงใหล คลั่งไคล้ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง Planet of the Apes และวลีญี่ปุ่นอย่าง A Bathing Ape in Lukewarm Water ที่ใช้เสียดสีวัยรุ่นญี่ปุ่นที่ใช้ชีวิตสุขสบาย นอกจากนั้นในแง่การออกแบบต่างๆ ยังได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นฮิปฮอป ป๊อปคัลเจอร์ และการ์ตูน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่เป็นตัวตนของเขา

BAPE ใช้กลยุทธ์ที่ ณ ขณะนั้นถือว่าเหนือชั้นและล้ำสมัย นั่นคือแทนที่จะผลิตแบบ mass production เหมือนแบรนด์แฟชั่นทั่วๆ ไป เขาเลือกที่จะผลิตแบบจำนวนจำกัด และใช้สายสัมพันธ์อันแข็งแรงของเขาในวงการดนตรี แฟชั่น และวัฒนธรรมฮาราจูกุ ขยายการรับรู้ถึงสินค้าออกไป นอกจากนั้นยังมีการกระจายเสื้อกราฟิกที่ผลิตอย่างจำกัดไปให้เพื่อนๆ และเซเลบในโตเกียวเพื่อสร้างกระแส ทำให้แบรนด์เป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้าย BAPE ได้กลายเป็นไอเทมสุดไฮป์ที่คนในวงการสตรีทแฟชั่นทุกคนอยากได้ มูลค่าในตลาดรีเซลพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และในช่วงปลายยุค 90s BAPE ได้ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของสตรีทแฟชั่นญี่ปุ่น รวมถึงเป็นแบรนด์ที่อยู่ใน top-of-mind เมื่อพูดถึงแบรนด์แฟชั่นที่เกี่ยวโยงกับวัฒนธรรมฮิปฮอป

แต่คล้ายสัจธรรม ทุกอย่างมีขึ้นและลง มีจุดสูงสุดและตกต่ำ

BAPE เริ่มเขาสู่ช่วงที่ธุรกิจมีปัญหาการเงินด้วยหลากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขยับขยายจนทำให้แบรนด์เสียสมดุลในการรักษาจุดเด่นเดิมของแบรนด์กับการขยายจำนวนการผลิต มีสินค้าลอกเลียนแบบในวงกว้างและหาซื้อได้ทั่วไป หรือการเริ่มมีแบรนด์สตรีทแวร์ใหม่ๆ เข้ามาแย่งชิงพื้นที่ในหัวใจเหล่าแฟนๆ ร่วมถึงส่วนแบ่งการตลาด

สุดท้ายด้วยปัญหาทางการเงินและไฟที่เริ่มมอดทำให้ในปี 2011 NIGO ตัดสินใจขาย BAPE ให้กับ I.T Group กลุ่มธุรกิจค้าปลีกจากฮ่องกง ด้วยมูลค่า 2.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ณ ตอนนั้นหลายคนคงมีคำถามว่า เส้นทางใหม่ของมนุษย์ผู้สร้างแบรนด์ที่มีโลโก้เป็นวานรจนยิ่งใหญ่จะเป็นยังไง

แล้วมนุษย์เราจะก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดของชีวิตได้กี่ครั้งกัน

HUMAN MADE

ในปี 2010 หรือหนึ่งปีก่อนที่ NIGO จะตัดสินใจขายแบรนด์ที่สร้างมาให้กลุ่มทุนจากฮ่องกง เขาได้เริ่มสร้างแบรนด์เอาไว้แบรนด์หนึ่ง คล้ายตั้งใจถางเส้นทางใหม่ไว้รองรับหากวันหนึ่งตัดสินใจหยุดในเส้นทางเดิม

เขาตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ว่า HUMAN MADE

หากสังเกตจากชื่อแบรนด์จะเห็นว่า จาก ‘วานร’ แบรนด์ใหม่นี้ก็ได้วิวัฒนาการเป็น ‘มนุษย์’

ไม่ใช่แค่ตั้งชื่อเพื่อล้อเฉยๆ แต่มันยังสะท้อนการเติบโตของเขาในแง่รสนิยมและความสนใจ เมื่อเทียบกับ BAPE จะเห็นว่าเสื้อผ้าของ HUMAN MADE นั้นมีความเป็นผู้ใหญ่กว่าและให้ความสำคัญกับเรื่อง craftsmanship แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความป๊อป เข้าถึงง่าย ซึ่งสะท้อนความสนใจในป๊อปคัลเจอร์ของเขาได้เป็นอย่างดี

ด้านลวดลายกราฟิกต่างๆ NIGO ได้ยอดดีไซเนอร์อย่าง ‘Sk8thing’ ที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่สมัยทำ BAPE มาช่วยออกแบบทำให้ดีไซน์รวมถึงอาร์ตเวิร์กต่างๆ ของแบรนด์แข็งแกร่งตั้งแต่วันแรก

คอนเซปต์อันเป็นหัวใจของแบรนด์ที่ปรากฏอยู่ในทั้งเว็บไซต์และบนผลิตภัณฑ์คือ ‘The Future Is In The Past’ หรืออนาคตอยู่ในอดีต อันมีที่มาจากความหลงใหลในสไตล์อเมริกันวินเทจยุค 50s-60s ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าสไตล์ military, สไตล์ workwear และสไตล์ Americana โดยโลโก้รูปหัวใจก็ออกแบบด้วยฟอนต์อักษรพิมพ์ดีดเพื่อคงกลิ่นอายความวินเทจ แต่ก็ออกแบบให้ดูร่วมสมัย

การออกแบบของ HUMAN MADE สะท้อนปรัชญาความเป็นญี่ปุ่น นั่นคือเน้นความเรียบง่ายแต่ในขณะเดียวกันก็ใส่ใจกับรายละเอียดและคุณภาพ และนี่คือสิ่งที่ทำให้แบรนด์โดดเด่น แตกต่าง จากบรรดาแบรนด์สตรีทแวร์ทั่วๆ ไป โดย HUMAN MADE ได้ผลิตเสื้อผ้าที่ WAREHOUSE & CO. ในโอซาก้า ซึ่งขึ้นชื่อด้านการผลิตเสื้อผ้าคุณภาพสูง โดยใช้วัสดุระดับพรีเมียมและเทคนิคการตัดเย็บที่พิถีพิถัน เพื่อให้ได้เสื้อผ้าที่กลิ่นอายย้อนยุคแต่ยังคงมาตรฐานระดับสูงในปัจจุบัน

“…We are sending various items to the world by interweaving Japan’s uncompromising manufacturing spirit and Tokyo-like playfulness.” 

บางวรรคในหน้า About ของเว็บไซต์ humanmade.jp สรุปชัดเจนถึงการเชื่อมโยงจิตวิญญาณแห่งการผลิตอย่างพิถีพิถันของญี่ปุ่นเข้ากับความสนุกแบบโตเกียว

ด้วยการดึงเอาเสน่ห์ของกลิ่นอายเสื้อผ้าสไตล์วินเทจมาผสมผสานกับลายพิมพ์น่ารักและสนุกสนานนี้เองที่ทำให้ HUMAN MADE เข้าไปนั่งในใจมนุษย์ผู้รักสตรีทแวร์อย่างรวดเร็ว

ในมุมธุรกิจ HUMAN MADE ใช้กลยุทธ์คล้าย BAPE ในช่วงเริ่มต้น นั่นคือการวางจำหน่ายแบบเอกซ์คลูซีฟ และจำกัดจำนวนสินค้า ยกตัวอย่างคอลเลกชั่นแรกในปี 2010 ตอนที่ยังไม่มีหน้าร้านของตัวเอง เขาเลือกวางขายแบบเอกซ์คลูซีฟที่ BEAMS JAPAN ร้านมัลติแบรนด์สโตร์ระดับท็อปในญี่ปุ่น

สำหรับการออกคอลเลกชั่น สินค้าของ HUMAN MADE ก็จะไม่ได้วางขายเป็นซีซั่นแบบแบรนด์แฟชั่นที่เราคุ้นเคย แต่จะทยอยวางจำหน่ายเป็นช่วงๆ (drop releases) ในเวลาที่กำหนดและจำนวนที่จำกัด ไม่แปลกที่แทบทุกดร็อปสินค้าจะ sold out อย่างรวดเร็ว

ด้วยดีไซน์ที่เรียบง่ายแต่ก็ยังสนุกไม่น่าเบื่อ คุณภาพของสินค้าที่ผลิตอย่างประณีต บวกกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ทำให้คุมให้ supply มีมากกว่า demand ทำให้เหล่าสินค้าที่มีโลโก้หัวใจปรากฏอยู่เป็นที่ต้องการทั้งในกลุ่มคนในวัฒนธรรมฮิปฮอปที่ตาม NIGO มาตั้งแต่ BAPE, คนที่คลั่งไคล้สตรีทแฟชั่น รวมถึงเหล่าพ่อค้ารีเซลล์และร้านรับหิ้วต่างๆ

แม้จะขายดีจนมีโอกาสที่จะขยายสาขาหรือกำลังการผลิต แต่ NIGO ก็พยายามรักษาสมดุลระหว่างตัวตนของแบรนด์กับจังหวะการเติบโต เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์สมัยทำ BAPE วนกลับมาซ้ำรอย

โดยปัจจุบันหน้าร้าน HUMAN MADE ก็ยังมีเพียง 7 สาขาในญี่ปุ่น, 1 สาขาในเกาหลี, 3 สาขาในจีน และอีก 1 สาขาในฮ่องกง แม้อันที่จริงแล้วจะมีผู้คนทั่วโลกต้องการผลิตภัณฑ์ของพวกเขามากมายมหาศาลก็ตาม

SOUL MADE

คงไม่เกินเลยไปถ้าจะบอกว่า HUMAN MADE คือการเอาสิ่งที่รัก ประสบการณ์ทั้งชีวิต และจิตวิญญาณของ NIGO มาใส่ลงไปในแบรนด์

เราจะเห็นร่องรอยความเป็น NIGO อยู่ในทุกสิ่งที่เป็นหน้าตาของแบรนด์เสมอ

เสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ของ HUMAN MADE มีกลิ่นอายสไตล์อเมริกันยุค 50s-60s ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาหลงใหล ที่สำคัญแบรนด์นี้ยังคงเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมดนตรีฮิปฮอปซึ่งเป็นอีกหนึ่งแพสชั่นของเขา มีศิลปินฮิปฮอประดับโลกมากมายที่เลือกสวมใส่ HUMAN MADE และยังร่วมงานกับแบรนด์ในหลากหลายรูปแบบ อาทิ Pharrell Williams, Lil Uzi Vert และ Tyler, the Creator

หรือความรักในภาพยนตร์ในวัยเด็กก็ยังสะท้อนผ่านคอลเลกชั่นที่คอลแล็บกับ Star Wars ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2023 และหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว ยังไม่นับการตกแต่งหน้าร้านสาขาต่างๆ ที่ผสานทั้งกลิ่นอายย้อนยุคแบบอเมริกันวินเทจ มีทั้งความมินิมอลแบบญี่ปุ่น และความสนุกขี้เล่นแบบโตเกียว

ยังไม่นับแนวคิดทางธุรกิจที่เขาได้นำเอาข้อดีและข้อควรระวังจากสมัยที่สร้างแบรนด์ BAPE ขึ้นสู่จุดสูงสุดและตกสู่จุดตกต่ำ

ทุกวันนี้ HUMAN MADE ไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้า แต่มีสินค้าไลฟ์สไตล์มากมายออกมาขายให้เหล่าสาวกได้แย่งชิง และ NIGO เองก็ไม่ได้มองว่าแบรนด์ของเขาเป็นแค่แบรนด์แฟชั่นทั่วไป

HUMAN MADE ‘s vision is to be a hub for creativity and ideas that are pulsing around the world. It will be an utopia for creators of all cultures and around the world, and for young people who will lead the future.

วิสัยทัศน์นี้ที่ป่าวประกาศไว้ในเว็บไซต์สะท้อนถึงการให้ความหมายต่อแบรนด์ที่เขาทำได้ชัดเจน

ในแวดวงแฟชั่นที่ ‘เทรนด์’ คล้ายเป็นไดเรกชั่นที่แต่ละแบรนด์ก้าวเดินตามๆ กัน HUMAN MADE เป็นกรณีศึกษาที่ดีของการตั้งใจทำในสิ่งที่หลงใหลอย่างแท้จริงให้ดี ย้อนสำรวจข้างในแทนที่จะวิ่งตามสิ่งที่อยู่ข้างนอก จนวันนี้ NIGO ได้พาแบรนด์ของเขาก้าวขึ้นมาเป็นแบรนด์สตรีทแวร์อันดับต้นๆ ของโลกตอนนี้ และเติบโตอย่างยั่งยืนแข็งแรงโดยไม่ต้องเกาะไปกับเทรนด์ใดๆ

วันนี้ NIGO ได้คอลแล็บกับแบรนด์และศิลปินระดับโลกมากมาย ทั้งในนามแบรนด์ HUMAN MADE หรือในนามตัวเขา เช่นการร่วมมือกับ Adidas, KAWS, Levi’s, Girls Don’t Cry หรือ Blue Bottle Coffee และทุกโปรเจกต์ล้วนได้รับความนิยมอย่างสูงทั้งจากแฟนๆ และพ่อค้าแม่ค้าที่หวังซื้อไปเก็งกำไร

โดยหนึ่งในโปรเจกต์ที่ฮือฮาคือคอลเลกชั่นพิเศษ ‘LV²’ Louis Vuitton x NIGO ในปี 2020 ที่เขาได้ร่วมงานกับ Virgil Abloh ซึ่งขณะนั้นเป็น Artistic Director ฝั่งเสื้อผ้าผู้ชายของหลุยส์ วิตตอง

ด้วยความที่หยิบจับอะไรก็ป๊อปไปหมด ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายแบรนด์จะหมายปองอยากทำงานร่วมกับ NIGO ในอีกบทบาทนอกจากทำแบรนด์ HUMAN MADE เขาจึงได้รับการทาบทามไปดูแลด้านความคิดสร้างสรรค์ให้กับแบรนด์ต่างๆ อย่างเมื่อปี 2021 ที่เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น Artistic Director ของแบรนด์แฟชั่นของฝรั่งเศสอย่าง KENZO ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่แบรนด์เลือกนักออกแบบจากแดนปลาดิบมาดูแลทีมด้านงานสร้างสรรค์ หรืออย่างข่าวล่าสุดที่เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Creative Director ของ Family Mart ประเทศญี่ปุ่น

ถึงวันนี้ NIGO พิสูจน์แล้วว่ามนุษย์เราขึ้นสู่จุดสูงสุดได้มากกว่าหนึ่งครั้ง และสิ่งที่พาเขามาอยู่ ณ จุดนี้ก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจากสิ่งที่เขาสั่งสมมาทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวตั้งแต่วัยเด็ก เป็นสิ่งที่ใครจะลอกเลียนก็ไม่เหมือน อยากทำตามก็ไม่ได้

The Future Is In The Past อันเป็นคอนเซปต์ของ HUMAN MADE และปรากฏชัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงหน้าร้านน่าจะนิยามชีวิตของชายผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

“ผมสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ด้วยแนวคิด ‘อนาคตอยู่ในอดีต’ ซึ่งครอบคลุมถึงไลฟ์สไตล์ในด้านต่างๆ ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าเท่านั้น ปีนี้เป็นปีที่ 10 ของแบรนด์ และตอนนี้มันกำลังเข้าใกล้สิ่งที่ผมวาดฝันไว้มากขึ้นเรื่อยๆ”

และนั่นคือคำอธิบายถึงชีวิตและการงานของ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งถึงสิ่งที่เขา ‘ทำ’

อ้างอิง