Back to FYSIK

FYSIK แบรนด์อุปกรณ์ออกกำลังกายแฮนด์คราฟต์ที่ออกแบบสวยงามเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่ง

คนที่ออกกำลังกายจะรู้กันดีว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการออกกำลังคือการดีดตัวเองให้ลุกจากเตียง ผูกเชือกรองเท้าให้แน่น รวบรวมพลังลมปราณแล้วเดินไปหยิบดัมเบลสักคู่ออกจากตู้

เป้าหมายมีไว้ให้พิชิต แต่แรงจูงใจในการออกกำลังกายก็สำคัญไม่แพ้กัน หากจะมีอุปกรณ์ออกกำลังกายแบรนด์ไหนที่ช่วยจูงใจให้อยากทำ ที่หนึ่งในใจเราตอนนี้ขอยกให้ FYSIK

FYSIK เป็นแบรนด์อุปกรณ์ออกกำลังกายแฮนด์คราฟต์ของ Henrik Olofsson และแอม–ภัทราวรรณ ธรสารสมบัติ ก่อตั้งราว 8 ปีก่อน ด้วยความเชื่อว่าอุปกรณ์ออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องถูกเก็บไว้ในตู้แต่สามารถตั้งโชว์ไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ้าน ประหนึ่งเฟอร์นิเจอร์​ชิ้นหนึ่งที่เจ้าของเลือกสรรมาอย่างดี

ว่าด้วยเรื่องฟังก์ชั่น อุปกรณ์ออกกำลังกายของพวกเขาไม่ต่างจากอุปกรณ์เราเคยเห็น มีทั้งดัมเบล เชือกจั๊มป์โรป เมดิซีนบอล ฯลฯ หากสิ่งที่ทำให้ต่างคือทั้งหมดเป็นงานแฮนด์คราฟต์แบบคอนเทมโพลารี สไตล์สวีเดน ผลิตจากไม้ เหล็ก และหนังคุณภาพดี โดยให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาพอๆ กับการใช้งาน

คอลัมน์ 5P ตอนนี้ ขอพาไปทำความรู้จักแบรนด์อุปกรณ์ออกกำลังกายที่จะจูงใจให้รักสุขภาพมากขึ้น รู้ตัวอีกที การตื่นทุกเช้ามาฟิตหุ่นก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

PRODUCT

เฮนริกและแอมเจอกันในยิมในปี 2011 เขาบอกว่าสิ่งที่ประทับใจในตัวหญิงสาวคือทัศนคติในการออกกำลัง แอมรักการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นชีวิตจิตใจ ต่างจากหลายคนที่ไม่ว่าจะออกกำลังกายหนักแค่ไหน เธอไม่เคยกลัว 

“ผมคิดว่าเมื่อคุณมีทัศนคติที่ดีในยิม คุณน่าจะมีทัศนคติเดียวกันในด้านอื่นๆ ของชีวิต ไม่ว่าจะการงานหรือที่บ้าน” ชายหนุ่มยิ้ม

ความสนใจในการออกกำลังพาให้ทั้งคู่รู้จักกัน นำไปสู่การเป็นพาร์ตเนอร์กันทั้งในด้านชีวิตและการงาน ธุรกิจแรกที่เปิดด้วยกันคือยิมชื่อ HAUS No.3 ในปี 2015

HAUS No.3 เป็นยิมที่เฮนริกและแอมอยากให้เป็นพื้นที่พิเศษของคนออกกำลังกาย พวกเขาจึงสร้างยิมสไตล์ House Studio ที่สวย เท่ เข้าไปแล้วไม่รู้สึกเหมือนอยู่ในยิม

เมื่อยิมขึ้นชื่อว่าพิเศษแล้ว อุปกรณ์ออกกำลังกายก็ต้องพิเศษตามไปด้วย แต่หลังจากเสาะหาอุปกรณ์ออกกำลังกายจากหลายร้าน ทั้งคู่ก็ไม่เจออุปกรณ์ที่สวยและเหมาะกับยิมของพวกเขาอย่างที่คาดหวัง

“นั่นคือตอนที่เราคุยกันว่า ทำไมเราไม่สร้างอุปกรณ์ออกกำลังกายของเราขึ้นมาเองล่ะ” แอมบอก นั่นคือตอนที่พวกเขาสร้าง FYSIK ขึ้นมา

“เราอยากสร้างความแตกต่างให้ยิมของเรา ซึ่งผมคิดว่าใครๆ ก็บอกว่ายิมของตัวเองแตกต่างทั้งนั้นแหละ สำหรับเราการทำอุปกรณ์ออกกำลังกายเหล่านี้ช่วยอธิบายกับผู้คนว่ายิมของเราต่างจากที่อื่นยังไง มันคล้ายๆ รูปภาพรูปหนึ่งสามารถแทนคำพูดได้เป็นพันคำ” เฮนริกเท้าความถึงจุดประสงค์แรกให้ฟัง

ระหว่างที่พวกเขาเปิดยิมให้บริการ เฮนริกกับแอมทำธุรกิจขายเสื้อผ้าออกกำลังกายที่เน้นกลุ่มลูกค้าผู้หญิงเป็นหลัก และต้องพัฒนาอุปกรณ์ออกกำลังกายไปพร้อมกัน 

หลังจากการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขาก็เข็น FYSIK ออกมาขายสำเร็จ ลูกค้าที่มายิมหลายคนเห็นแล้วชอบ สั่งพรีออร์เดอร์ ไม่นานก็เริ่มติดตลาด พวกเขาจึงตัดสินใจปิดยิมและหันมาทุ่มเทกับ FYSIK เต็มตัว 

เฮนริกกับแอมเปิดโรงงานผลิตของตัวเอง จ้างช่างประจำ และรับวัตถุดิบจำพวกไม้มาจากหลายย่านในกรุงเทพฯ ประกอบกับเหล็กจากบริษัทเหล็กของครอบครัวแอม โดยหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญคือสินค้าทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์คราฟต์ ทำด้วยมืออย่างประณีตทุกชิ้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากงานไม้ของประเทศสวีเดน บ้านเกิดของเฮนริก

“ในบ้านเกิดของผมไม่มีใครทำงานฝีมือแบบนี้อีกแล้วแต่ในไทยยังมีอยู่ ผมจึงมีความสุขมากเมื่อได้อยู่ที่นี่ ในจุดแรกเริ่ม ผมเดินทางไปเยาวราชในเวลาว่างเพื่อไปเจอช่างฝีมือที่รับทำอุปกรณ์เหล่านี้ วาดรูปสิ่งที่อยากได้ใส่กระดาษให้เขา แล้วเขาก็ทำดัมเบลมาให้หนึ่งอัน ผมกลับไปหาเขาทุกสัปดาห์หลังจากนั้น” ชายหนุ่มเล่า

หนึ่งในโอกาสที่พวกเขามองเห็นคือคนรักสุขภาพทั้งหลายสร้างบ้านและพื้นที่ออกกำลังกายของตัวเองขึ้นมา พวกเขาทุ่มเทไปกับการหาเฟอร์นิเจอร์ชิ้นที่ใช่ แต่พอเป็นอุปกรณ์กำลังกายที่ดูดีและเข้ากับบ้านกลับหาได้ยากเหลือเกิน 

“เราไม่อยากสร้างอุปกรณ์ออกกำลังที่คุณอยากซ่อนมันไว้ เราอยากให้มันเป็นอุปกรณ์ที่ตั้งโชว์ได้ เจ้าของภูมิใจที่จะโชว์มัน มากกว่าอุปกรณ์ออกกำลังที่ใช้เสร็จแล้วเก็บเลย” แอมเล่าความตั้งใจ ก่อนเฮนริกจะเสริมต่อ

“หลักพฤติกรรมศาสตร์ข้อหนึ่งบ่งบอกว่า ถ้าคุณอยากสร้างนิสัยบางอย่างให้เกิดขึ้น คุณต้องมีแรงจูงใจและมีบางสิ่งที่เตือนความจำ เหมือนเวลาคุณเข้าห้องน้ำแล้วเห็นแปรงสีฟัน คุณก็จะจำได้ว่าเราต้องแปรงฟัน ดัมเบลก็เช่นกัน ถ้าคุณมีเซตดัมเบลสวยๆ ในบ้านที่เห็นได้ทุกวัน คุณก็จะมีแนวโน้มที่จะใช้มันบ่อยๆ”  

ไม่เพียงแค่หน้าตาสวยแต่อุปกรณ์ออกกำลังกายของ FYSIK นั้นให้สัมผัสและความรู้สึกที่แตกต่าง

“เวลาที่คุณใช้มัน คุณจะรู้สึกว่ามันเป็นของแฮนด์เมดจริงๆ ที่ประกอบสร้างและดีไซน์มาอย่างดี และนั่นยิ่งทำให้คุณหลงใหลมันมากขึ้น” ชายหนุ่มนักออกแบบบอก แล้วอธิบายว่า อีกหนึ่งข้อดีของอุปกรณ์ออกกำลังกายแฮนด์เมดคือมันประกอบใหม่ได้ตลอด 

“หนึ่งใน pain point ใหญ่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการออกกำลังกายคือ หลังจากคนใช้อุปกรณ์ไป 5-10 ปี หากพวกเขาคิดจะขายต่อก็ไม่มีใครอยากซื้อของมือสอง” แต่ FYSIK แก้ pain point นี้ได้ เพราะหลังจากหลายปีที่ลูกค้าซื้อไปใช้งาน หากพวกเขาอยากได้เซตใหม่ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ แต่ส่งสิ่งที่มีอยู่มาให้พวกเขาเปลี่ยนชิ้นส่วนบางอันใหม่ได้เลย

PRICE

กลยุทธ์ด้านการตั้งราคาของ FYSIK นั้นเรียบง่าย นั่นคือตั้งราคาให้สมเหตุสมผลกับสินค้าเท่านั้น 

“พวกเราอยากภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ อยากให้ความสำคัญกับคุณค่าของสินค้า กลยุทธ์การตั้งราคาที่สมเหตุสมผลสำหรับเราจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของต้นทุนในการสร้างสรรค์สินค้า ซึ่งหมายถึงเวลาในการทำที่ยาวนาน ความทุ่มเท และค่าวัสดุด้วย” เฮนริกบอก

ด้วยหมวดหมู่สินค้าที่มีหลากหลาย ราคาสินค้าของพวกเขาจึงเริ่มต้นราวๆ 1,000 บาทขึ้นไป ราคาจะสูงแค่ไหนขึ้นอยู่กับจำนวนอุปกรณ์ที่ลูกค้าอยากได้ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น ระยะเวลาที่ลูกค้าอาจจะมีให้จำกัด 

PLACE

FYSIK มีหน้าร้านที่เอ็มควอเทียร์ แบ่งสินค้าไปจำหน่ายที่ร้านขายอุปกรณ์ฟิตเนส Sierra บ้าง แต่หลักๆ แล้วพวกเขาใช้ระบบพรีออร์เดอร์จากทางออนไลน์เป็นหลัก โดยมีระยะเวลาในการทำอุปกรณ์เริ่มต้นตั้งแต่ 1 สัปดาห์เป็นต้นไป

นอกจากลูกค้าที่เคยมายิมของพวกเขาแล้วประทับใจ FYSIK ยังรับพรีออร์เดอร์อุปกรณ์จากทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา ฮาวาย ฮ่องกง ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อิตาลี และอีกหลายประเทศ  ซึ่งนอกจากลูกค้าที่เป็นบุคคลทั่วไปแล้ว พวกเขายังทำอุปกรณ์ออกกำลังกายให้กับโรงแรมหลายแห่ง มากกว่านั้นคือสินค้าไม่ได้ถูกซื้อไปใช้เองเท่านั้น ลูกค้าบางคนยังซื้ออุปกรณ์ไซส์เล็กๆ จับพอดีมืออย่างลูกบอลสำหรับนวด (massage ball) ไปเป็นของขวัญในโอกาสพิเศษด้วย

“พอเราบอกว่าเราทำธุรกิจขายสินค้าออกกำลังกาย ผู้คนมักคิดว่ากลุ่มลูกค้าหลักๆ ของเราคือคนที่ไปยิมเป็นประจำ แต่จริงๆ แล้วกลุ่มลูกค้าที่เราจับมักจะเป็นคนที่ชอบงานดีไซน์ พวกเขาอาจไม่ได้ไปยิม 7 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปบ้างเป็นครั้งคราว และบางทีอาจจะออกกำลังกายที่บ้าน” เฮนริกอธิบาย

“นอกจากคนกลุ่มนี้ เรายังอยากจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีพาวเวอร์ในการใช้เงิน โดยเฉพาะคนที่รักดีไซน์แนวสแกนดิเนเวียซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในไทย” แอมสมทบ

คุยมาถึงตรงนี้ เราสงสัยว่าทั้งๆ ที่เฮนริกก็เป็นคนสวีเดน และสไตล์สินค้าของ FYSIK คือสแกนดิเนเวีย การไปตั้งช็อปในบ้านเกิดของเขาจะดีกว่าธุรกิจมากกว่าหรือเปล่า

ชายหนุ่มยิ้ม ก่อนจะตอบว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่แข็งแรงทั้งด้านการเงินและความมั่นคง อย่างที่ผมบอกไปว่าเราสามารถหาช่างฝีมือดีในไทยได้เยอะ ที่นี่มีประวัติศาสตร์ของคนทำงานคราฟต์ที่ยาวนาน พวกเขาคุ้นชินกับการทำงานไม้ งานหนัง และงานเหล็ก มากกว่านั้น ประเทศไทยยังเป็นโลเคชั่นที่สะดวกสบายเรื่องโลจิสติกส์ ใกล้กับประเทศอื่นๆ ที่ลูกค้าของเราอยู่ด้วย”

PROMOTION

ตั้งแต่เปิดแบรนด์มา เฮนริกและแอมบอกว่าพวกเขาแทบจะไม่ได้ทำการตลาดเลย นอกจากเปิดเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียเพื่อจัดจำหน่ายสินค้า

“การทำการตลาดของเราจะเป็นระบบ passive มากกว่า เป็นการตลาดออร์แกนิก เพราะผลิตภัณฑ์ของเราค่อนข้างแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาด” เฮนริกบอก 

“ซึ่งจริงๆ ตลาดของอุปกรณ์ออกกำลังกายเป็นตลาดที่แข่งขันสูงมาก แต่ FYSIK สร้างหมวดหมู่ใหม่ คล้ายๆ ที่เครื่องทำกาแฟ Nespresso สร้างเครื่องทำกาแฟแบบ Home Barista ที่เจ้าของบ้านทำกาแฟเองได้ แถมยังเป็นเครื่องที่ดูดี แมตช์กับห้องครัวของเขา หรือ Lululemon ที่สร้างมิติใหม่ๆ ให้กับชุดออกกำลังกาย FYSIK ก็อยากเป็นแบบนั้น

“แต่แน่นอนว่าในอนาคต บางทีอาจจะ 3-6 เดือนต่อจากนี้เราอยากมีช็อปบนออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้โดยตรงโดยไม่ต้องส่งอีเมลมาหาเรา เราอยากทำสต็อกสินค้าจากตัวที่ขายดี และอยากทำโปรโมชั่นและการโฆษณาอื่นๆ ในอนาคต แต่ ณ ตอนนี้เราพยายามทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก เพราะสำหรับเรา การขายสินค้าในไทยก็ยังง่ายกว่าการจัดส่งไปต่างประเทศอยู่ดี เพราะฉะนั้นเร็วๆ นี้เราพยายามจะทำให้ลูกค้าในไทยรู้จักเรามากขึ้นล่ะ” ชายหนุ่มเล่าแผนในอนาคต

PERFECTION

P ตัวสุดท้ายของ FYSIK คือ Perfection หรือความสมบูรณ์แบบ

“ความสมบูรณ์แบบน่าจะเป็นคำที่ดี ในสายตาของผม หากเราพยายามจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ ธุรกิจจะดำเนินไปได้ด้วยตัวเองมันเอง และเราสามารถหาจุดสมดุลระหว่างการงานกับชีวิตของเราได้” เฮนริกอธิบาย

“ผมกับแอมมีลูก 2 คนที่เราอยากใช้เวลากับพวกเขาให้มากที่สุด เพราะฉะนั้นเราย่อมต้องการไปถึงจุดที่เราสามารถไปรับลูกๆ ที่โรงเรียนได้โดยไม่เครียดจนเกินไป (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นการทำธุรกิจให้สมบูรณ์แบบนั้นสำคัญ ถ้าเราสามารถไปถึงจุดที่เราพร้อมทั้งด้านการผลิต ช่องทางการขาย มีโชว์รูมของตัวเอง และทำให้ธุรกิจของเราดำเนินไปด้วยตัวเองได้ ชีวิตของเราก็จะสมบูรณ์แบบไปด้วย เพราะฉะนั้นความสมบูรณ์แบบคือสิ่งที่เราอยากไปให้ถึง” ทั้งสองยิ้มพร้อมกันหลังสิ้นสุดประโยค

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like