The Rider’s Secret

Concept Speed ชุดกีฬาแบรนด์ไทยสำหรับคนเสพความเร็ว ที่ขอเป็นหนึ่งในความสำเร็จของคนเล่นกีฬา

ย้อนกลับไปในช่วงกลางปี 2566 ได้เกิดปรากฏการณ์ในแวดวงวิ่งของประเทศไทย หลังเหล่านักวิ่งขาแรงจำนวนมาก ได้หันมาใส่เสื้อผ้าของ Concept Speed แบรนด์เสื้อผ้าน้องใหม่ในวงการ ที่ผลิตโดยคนไทย จนมีเหล่านักวิ่งใส่ตามเป็นจำนวนมาก และกลายเป็นกระแส ‘ไทยผลิต ไทยใช้ ไทยแรง’ ในช่วงปีที่ผ่านมา

แบรนด์ Concept Speed เป็นเหมือนลูกรักของ ‘พีช สุคนธราช’ ชายผู้หลงใหลการเล่นกีฬาและความเร็ว นำมาสู่การผลิตและออกแบบเสื้อผ้าออกกำลังกายที่ทำให้เหล่านักกีฬาที่ทำผลงานได้ดี หรือกลุ่ม ‘ขาแรง’ ทั้งในวงการวิ่ง และปั่นจักรยานที่เขาเคยตีตลาดมาก่อนหน้า ยังคอยตามเสพ ตามซื้อสินค้าไม่ว่าจะออกมากี่คอลเลกชั่น กี่รูปแบบก็ตาม ทั้งที่ตัวเขาเองก็ยืนยันชัดเจนว่าสินค้าของแบรนด์มีไว้สำหรับผู้ที่ชื่นชอบความเร็วในกีฬาต่างๆ เท่านั้น 

“คำว่า ‘เร็ว’ ไม่ได้แปลว่า เร็วกว่าใครเขา แต่แปลว่าเร็วกว่าตัวเองเมื่อวาน แบรนด์ของเรามองหากลุ่มลูกค้าแบบนี้อยู่ กลุ่มลูกค้าที่เป็นใครก็ตามที่ต้องการเก่งขึ้น กำลังฝึกฝน และแข่งกับเงาตัวเองอยู่ ไม่ได้หมายความว่าเราจะขายให้กับนักกีฬาหรือคนที่เก่งมากๆ อยู่แล้วเท่านั้น”

น่าสนใจไม่น้อยว่าพีชจับคำว่า ‘ความเร็ว’ มาทำแบรนด์และการตลาดยังไง ถึงขนาดที่นักวิ่งนักปั่นไว้ใจและเลือกสินค้าของ Concept Speed มากกว่าแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ที่สำคัญ วิธีบริหารและจัดกิจกรรมต่างๆ ของเขาเป็นแบบไหนจนทำให้ Concept Speed มีตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งยังมีนักกีฬากึ่งสมัครเล่นที่กลายมาเป็นลูกค้าอย่างเหนียวแน่นตลอด

ย้อนกลับไป อะไรที่ทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองอยากเริ่มธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อ-ขายเสื้อผ้ากีฬา

ต้องเล่าก่อนว่า ผมเกิดในยุคที่เชื่อเรื่องว่าเราต้องมีกิจการของตัวเอง ไม่ทำงานเป็นลูกน้องใคร เป้าหมายของผมจึงคือผมต้องมีกิจการเป็นของตัวเองให้ได้ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะทำอะไร แต่ด้วยนิสัยของผมคือเวลาทำอะไรสักอย่าง ผมชอบหาช่องทางในการทำเงิน ตั้งแต่ช่วงเล่นการ์ดเกม เกมออนไลน์ ปืนบีบีกัน ก็จะมีการค้าขายเกิดขึ้นทั้งหมด ได้บ้าง เสียบ้าง จ่ายหนึ่งหมื่น คืนหนึ่งร้อย อะไรแบบนี้บ้าง

จนมาถึงช่วงที่ผมชอบปั่นจักรยาน ตรงนี้จะมีความหลังกับมันนิดนึง (ยิ้ม) คือจักรยานคันแรกของผมซื้อมา 4 หมื่นกว่าบาท จากเงิน 5 หมื่นบาท แต่พอขี่ไปได้ 2 เดือนผมดันขี่ไปชนกับรถเมล์จนมันพังทั้งคัน แต่ผมเองก็อยากปั่นจักรยานต่อทั้งที่เงินเก็บหมดแล้ว 

คิดอยู่นานว่าจะทำยังไงดี สุดท้ายเลยไปรูดบัตรเครดิตประมาณ 5 ใบเพื่อซื้อจักรยานคันละ 2 แสนกว่าบาท ซื้อแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเลย แต่สุดท้ายก็โดนที่บ้านจับได้ และบังคับให้เราขายจักรยานทิ้ง แม้มันจะลงเอยไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ แต่ผมก็คิดได้ว่าถ้าเราอยากปั่นจักรยาน เราต้องมีเงินและเวลา 

ผมเปลี่ยนเป้าหมายเลย ไม่เอาแล้วเจ้าของกิจการ ไม่เอาแล้วการซื้อมาขายไป เราจะปั่นจักรยาน และทำเงินจากจักรยาน เราจะรวยให้ได้ หลังจากนั้น 1 ปี ที่ผมไม่มีจักรยาน ผมตั้งใจทำงานเก็บเงิน จนมีเงินสด 300,000 บาท วันนั้นเดินเข้าไปในร้านแล้วลากจักรยานกลับมาบ้านด้วยเงินสดเลย คือภูมิใจมาก 

หลังจากนั้นก็อยู่ในวงการจักรยานมาตลอด คือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เป็นกิจกรรมที่รู้สึกว่าจะอยู่กับมันได้นานกว่ากิจกรรมอื่นๆ 

จุดไหนที่เริ่มเห็นช่องทางในการสร้างรายได้จากการปั่นจักรยาน

ผมเริ่มรู้สึกว่าเสื้อผ้าที่เราใช้ในการปั่นจักรยานมันไม่ค่อยดีพอ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มปั่นจักรยาน เทรนด์เสื้อผ้าจักรยานในประเทศไทยมันเหมือนเดิมมาตลอด คือเป็นของจีนที่คุณภาพไม่ได้สูงมาก ประกอบกับตอนนั้นผมเห็นแบรนด์เสื้อผ้าจักรยานยี่ห้อหนึ่งชื่อว่า Rapha ที่เห็นปุ๊บรู้สึกกับมันปั๊บเลย ช่างดูผู้ดี ดูหรูหรา ความรู้สึกเหมือนเราได้เห็นกระเป๋า Louis Vuitton หลังใช้กระเป๋าธรรมดามาตลอด 

ผมเลยกดสั่งชุดจักรยานของ Rapha มาในราคา 7,000 กว่าบาท บวกภาษีอีก 40% ไปจบที่หนึ่งหมื่นบาท ถามว่าแพงไหม ก็แพงอยู่ ผมยอมรับ แต่พอเราได้ใส่แล้วนี่สิ มันลืมเรื่องราคาหมดเลย ด้วยคุณภาพ ด้วยชื่อชั้นของแบรนด์ ใส่แล้วมันรู้สึกดีไปหมด กลายเป็นว่าช่วงนั้นผมปั่นจักรยาน 7 วัน ก็ใส่ชุดของ Rapha ทั้ง 7 วันเลย ใส่แล้วก็เอามาซักทุกวัน

พอใส่บ่อยยิ่งขึ้น เพื่อนที่ปั่นจักรยานก็ถามว่าแบรนด์อะไร เราเลยป้ายยาพวกเขา แล้วเกิดเป็นความคิดว่าจะทำยังไงให้ได้ชุดจักรยานของ Rapha มาใส่อีกในราคาถูกลง ผมเลยเปิดรับหิ้วให้กับกลุ่มเพื่อนจักรยาน พอซื้อมามากขึ้น ราคาสินค้าก็ถูกลง และเก็บค่าหิ้วสินค้าเพิ่มนิดหน่อย ก็พอมีรายได้กลับมาบ้าง 

จุดนี้แหละที่รู้สึกว่าดูเป็นช่องทางทำเงินได้ เลยทำมาตลอด จนมีเงินเก็บ 500,000 เลยนะ คือมันเยอะจนรู้สึกว่างานประจำที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์แล้ว เลยคิดว่าจะทำควบคู่กันไปก่อน แล้วถ้าอันไหนไปได้ดีกว่ามากๆ ก็ค่อยยึดงานตรงนั้นเป็นงานหลัก

การเป็นพ่อค้ารับหิวเสื้อผ้ากีฬาดูไปได้สวย 

แต่หลังจากนั้น มันไม่เหมือนเดิม 

พอรับหิ้วมาสักพัก แบรนด์ Rapha ก็เริ่มดังขึ้น ผู้เล่นรายใหม่ก็เริ่มเข้ามาในตลาด พ่อค้า-แม่ค้านักหิ้วก็มีมากขึ้น ไม่ใช่ผมคนเดียวแล้ว และจากที่ผมเคยขายได้หลักหมื่น ก็เริ่มถูกพ่อค้ามาตัดราคากันเอง เหลือหลักพัน ได้กำไรหลักร้อยเขาก็เอาแล้ว 

ผมเลยรู้สึกว่าไม่ใช้แล้ว คำว่าไม่ใช่คือ ได้เงินน้อย เราไม่ได้หมิ่นเงินน้อยนะ เพียงแค่รู้สึกว่าเราเป็นคนลงแรง ผมเปิดตลาดให้คนแรก แต่ทำไมตะกร้าใบนี้ถึงโดนควักเละเทะแบบนี้ ในวันนั้นเลยรู้สึกว่าต้องหากำแพงสักอย่างมากั้นให้รู้สึกว่านี่เป็นสิ่งที่เราทำ

แล้วคุณทำยังไงต่อ 

ตอนนั้นผมเลยมีความคิดที่จะทำ multi-brand store ไม่เอาแค่แบรนด์ Rapha มาขายอย่างเดียวแล้ว แต่เราอีเมลไปหาแบรนด์อื่นๆ ที่รองลงมา ตั้งแต่อันดับ 2-100 เลย เพื่อขอเสื้อผ้ามาขายในร้านเรา 

เชื่อไหม ไม่มีใครตอบผมสักคนเลย แต่โชคดีที่สุดท้ายแล้วมีแบรนด์จากออสเตรเลียเขาให้โอกาส ให้เราลองสั่งมาขายดูก่อน 300,000 บาท ด้วยความที่ผมมีฐานลูกค้าเก่าที่เขาเชื่อมั่นในการเลือกเสื้อผ้าของตัวเรา ก็เลยมีคนมาซื้อ

สรุปดีกว่าเดิม ด้วยชื่อชั้น ด้วยความแปลกใหม่ คราวนี้แค่ 6 เดือนผมได้เงินหลายล้านเลย บางทีไปงานปั่นจักรยานครั้งเดียว ได้ลูกค้าใหม่มา 600 คน เฉลี่ยเขาจ่ายให้เราคนละ 10,000 บาท แบบนี้ก็เลยโตแบบก้าวกระโดด

จนพอเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้น แบรนด์อื่นๆ ก็เริ่มตอบเรากลับมาบ้างแล้ว ผมเลยเพิ่มแบรนด์อื่นๆ ในร้านของเรา และตั้งเป้าหมายว่าจะทำ multi-brand store ในประเทศไทยจริงๆ 

การขยับมาทำ multi-brand store ดูเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

ทุกอย่างมันมีเวลาของมันนะ คือพอทำไปได้ 5-6 เดือนผมรู้สึกว่าควบคุมยาก

คำว่าควบคุมยากหมายถึงเราควบคุมคุณภาพของสินค้ายาก บางแบรนด์เราชอบเสื้อ บางแบรนด์เราชอบกางเกง บางแบรนด์เราชอบความหนา ความบาง ตอนนั้นก็เลยผุดมาในหัวว่าอยากลองทำแบรนด์ของตัวเองดู แต่ก็เป็นได้แค่การคิด ยังไม่กล้าลงมือทำ ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง ยังกลัวอยู่ ก็เลยคิดว่าจะขายแบรนด์อื่นๆ แล้วเรียนรู้จากเขาให้มากจนเรามั่นใจก่อน 

โชคดีว่าสิ่งร้ายมันเกิดขึ้นเร็ว คือพอทำไปได้เกือบปี บริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทย เขาก็ไปเทคโอเวอร์บริษัทเสื้อผ้าจักรยานที่ผมขาย ผมเลยหลุดจากการเป็นตัวแทน ตอนนั้นแหละที่เริ่มคิดได้แล้ว ว่าสิ่งที่ทำอยู่มันไม่มีความมั่นคงเลย และสิ่งที่จะอยู่กับตัวเราไปตลอดคือการที่ต้องเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง 

หลังจากนั้นผมเริ่มทดลองจากเงินทุนส่วนตัวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จำนวนกว่า 95% หมดไปกับการจ่ายค่าสินค้าเพื่อทดลอง หาโรงงานผลิต คือกว่าจะหาโรงงานที่ใช่นี่ผมตระเวนหา 50-60 โรงงานเลยนะ แล้วก็ใช้เงินตลอด จนมันร่อยหรอ 

สุดท้ายก็ยังไม่ได้ที่พอใจขนาดนั้น แต่รู้สึกว่าแบบนี้มันดีที่สุด มันผ่านมาตรฐานเราแล้ว ก็เลยลองผลิตมาดู 100 ตัว ใครจะเอาก็เอา ปรากฏว่าแค่ชั่วโมงเดียว เสื้อของเรา sold out คือยังไม่ได้เห็นตัวอย่างอะไรเลย คนเขาซื้อด้วยชื่อ ด้วยเครดิตของผม 

หลังจากนั้นก็เอาเงินที่ได้มาจากการขายล็อตแรกมาหาโรงงานต่อ สุดท้ายก็ได้คุณภาพการตัดชุดที่พอใจ ผมเลยหยุดการขายยี่ห้ออื่น แล้วเริ่มทำแบรนด์ของตัวเองที่ชื่อว่า Concept Speed เต็มตัว

หากสรุปเส้นทางก่อนสร้างแบรนด์ Concept Speed อะไรคือสิ่งสำคัญก่อนเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง

แพสชั่นต้องแรง เงินต้องพร้อม 

สมมติคุณบอกว่าจะวิ่งขึ้นตึก 20 ชั้นภายใน 10 นาที บางคนบอกมึงตายแน่ อย่าทำเลย แต่ถ้าคุณเป็นคนที่มีแพสชั่นกับเรื่องนี้จริงๆ ผมมองว่าสุดท้ายคุณจะหาวิธีทำมันให้ได้ ดังนั้นการมีแพสชั่นจะทำให้เรากล้ากว่าคนรอบข้าง 

ส่วนเงินต้องพร้อม ผมไม่ได้บอกว่าคุณต้องมีหลักสิบล้านบาท ผมก็เริ่มจากศูนย์ มีเงินเก็บแค่หลักหมื่น แต่ผมหมายความว่า เงินที่เข้ากระเป๋าคุณทุกวันมันเพียงพอต่อการกินอยู่ของคุณแค่ไหน ในวันที่คุณมีเงินหลักหมื่น คุณยังมีเงินเก็บที่เหลือเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อได้ไหม ถ้าลองบวก-ลบ ลองคำนวณแล้ว ในแต่ละเดือนยังมีเงินเก็บเหลืออยู่ ก็แปลว่าคุณพร้อมแล้วสำหรับการทำธุรกิจ

แต่ถ้าแพสชั่นไม่แรง เงินไม่พร้อม สุดท้ายเลยคือห้ามยอมแพ้ เพราะในวันที่แพสชั่นเรามอด เงินทุนเริ่มติดขัด สุดท้ายแล้วสิ่งที่จะทำให้หัวใจของเรามันยังสู้ต่อคือการไม่ยอมแพ้ ดังนั้นเป็นไปได้ ปักธงกับความสำเร็จข้างหน้าเอาไว้ก่อน แล้วท่องเอาไว้เสมอว่า จะแพ้ไม่ได้ จะแพ้ไม่ได้ 

 ที่ผมเล่าไปอาจจะดูมีแต่ค่อยๆ สำเร็จขึ้นเรื่อยๆ นะ แต่ระหว่างทางก็เละเทะอยู่ไม่น้อย น้ำตาไหลตลอดทาง 

ในวันที่พร้อมทำแบรนด์ของตัวเอง คอนเซปต์ของ Concept Speed ที่คุณวาดภาพไว้เป็นแบบไหน 

วิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนจบมามันสอนว่า คุณจะขายของให้กับลูกค้าได้คุณต้องตอบโจทย์ หรือแก้ปัญหาให้กับเขาได้ 

ดังนั้นผมเลยปักธงว่าแบรนด์เล่นกับคนที่ชอบความเร็ว ชื่อ Concept Speed ก็ถูกต่อยอดมาจากไอเดียนี้ คือแบรนด์เราต้องเร็ว ผมเองก็เป็นคนที่เร็วอยู่แล้ว ทำอะไรคล่องแคล่ว ไม่ช้า ไม่เสียเวลา จะปั่นก็ต้องเร็ว จะวิ่งก็ต้องเร็ว คือเราต้องสร้างภาพจำของแบรนด์ให้คนเห็นว่า ใครก็ตามที่ใส่เสื้อผ้าแบรนด์ของเราเป็นคนที่เร็ว 

นำไปสู่เรื่องคุณภาพเสื้อผ้า มันต้องดี ต้องซัพพอร์ตการพยายามทำความเร็วของพวกเขา ต้องรัดรูป ใส่แล้วสวย ใส่แล้วดูดีขึ้น ใส่แล้วเร็ว 

คำว่า ‘เร็ว’ ของแบรนด์คือเร็วแบบไหน

ไม่ได้แปลว่า ‘เร็วกว่าใครเขา’ แต่แปลว่า ‘เร็วกว่าตัวเองเมื่อวาน’ แบรนด์ของเรามองหากลุ่มลูกค้าแบบนี้อยู่ เป็นใครก็ตามที่ต้องการเก่งขึ้น ฝึกฝนอยู่ กำลังแข่งกับเงาตัวเองอยู่ นั่นคือเรา ไม่ได้ความว่าเราจะขายให้กับนักกีฬาหรือคนที่เก่งมากๆ อยู่แล้วเท่านั้น 

คอนเซปต์เสื้อผ้ากีฬาที่เฉพาะทางแบบนี้ ในวันแรกของการทำแบรนด์ลูกค้าเข้าใจไหม

น้อยในน้อย แม้กระทั่งเพื่อนยังถาม ถามยันเรื่องราคาว่าแพงไปไหม

ผมไม่ได้บอกว่าของแพงจำเป็นต้องดี ของดีจำเป็นต้องแพง แต่มากกว่าราคาที่เห็นคือเราใส่หัวใจเข้าไป เราไม่ได้ทำให้มันราคาแพง แต่ทุกอย่างมันมีต้นทุนของมัน เพราะใส่นวัตกรรมที่ดีที่สุดสำหรับพวกคุณในเสื้อผ้าของเรา

หวั่นใจบ้างไหมที่ต้องต่อสู้กับแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาใหญ่ๆ ระดับโลก 

ผมรู้อยู่แก่ใจมาตลอด เพราะด้วยความที่เราเป็นลูกค้าของแบรนด์เหล่านี้มาก่อน ไม่ว่าวันนี้จะมีแบรนด์ของตัวเองแล้วก็ตาม แต่คนมันเคยชอบแบรนด์ใหญ่ๆ มาก่อนก็ปฏิเสธไม่ลง มองข้ามมันไม่ได้ 

ดังนั้นผมจึงต้องแตกต่าง ไม่ไปเล่นในตลาดเดียวกับที่เขาทำอยู่ จะไม่สู้ในสังเวียนที่ไม่มีวันชนะ คุณทำเสื้อผ้าสำหรับกลุ่มคนออกกำลังกายทุกเพศทุกวัยเหรอ ผมขอทำให้เฉพาะแค่กลุ่มที่ชอบความเร็วก็แล้วกัน 

ผมคิดแบบนี้นะ

อะไรทำให้คุณแตกไลน์สินค้าจากเสื้อผ้าสำหรับการปั่นจักรยาน มาเป็นเสื้อผ้าสำหรับการวิ่ง ซึ่งกลายเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของแบรนด์

เรื่องส่วนตัวล้วนๆ เลย ผมปั่นจักรยานมา 12 ปี เลยรู้สึกเบื่อเพราะมันคือ 1 ใน 3 ของชีวิตเลยนะ ถามว่าอิ่มตัวไหม อิ่ม เบื่อไหม เบื่อ แต่ก็ยังมีความสุขกับมัน แล้วก็เป็นงานที่ทำได้เรื่อยๆ ด้วย 

จนวันที่ผมมีลูกสาว ผมก็บอกแฟนว่า อยากยกบริษัทนี้ให้ลูกถ้าเขาโตขึ้น ให้เขาทำอะไรก็ได้ บัญชี มาร์เก็ตติ้ง หรือบริหารบริษัท แฟนบอกคำเดียวเลย ไม่ให้ เดี๋ยวลูกล้มจักรยาน ไหปลาร้าหักแบบผม แขนหัก รถชนตายจะทำยังไง ก็ถกเถียงกันยกใหญ่เลย 

จนสุดท้ายผมถามว่า แล้วถ้าเป็นวิ่งได้ไหม ซึ่งแฟนก็บอกว่าถ้ามันไม่อันตราย ไม่ไหปลาร้าหักแบบปั่นจักรยานก็ไม่มีปัญหา ตอนนั้นเองที่ผมเริ่มมองว่า Concept Speed ไม่ใช่แบรนด์ขายเสื้อผ้าจักรยานอย่างเดียวแล้ว แต่เราจะขายเสื้อผ้ากีฬา

คนที่ปั่นจักรยานมาตลอดแต่ต้องมาทำเสื้อผ้าวิ่ง ต้องเริ่มต้นยังไง

ออกไปวิ่งก่อน ทั้งที่ตัวเองก็ไม่ใช่คนที่วิ่งและชอบวิ่งเลย 

จำได้เลยว่าวันแรกผมคุยกับตัวเองทั้งทาง “นี่เพิ่ง 5 กิโลเมตรเองเหรอวะ” “เฮ่ย! นี่เพิ่งครึ่งชั่วโมงเหรอ” แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ากำลังมาผิดทางอะไรแบบนั้นนะ เพราะเราปักธงไปแล้วว่าจะทำแบบนี้ ก็ต้องทำให้ได้ ไม่ว่าจะวิธีแบบไหน 

ช่วงที่ผมหัดวิ่ง ก็เริ่มพยายามทำความเข้าใจตลาดว่า นักวิ่งเขาต้องการอะไร อยากให้มีชุดกีฬาแบบไหน มีกิจกรรมแบบใด ที่สำคัญคืออะไรที่นักวิ่งต้องการ แต่แบรนด์ใหญ่ๆ ยังไม่ได้ทำ ซึ่งตลาดของนักกีฬากึ่งสมัครเล่น กลุ่มคนที่กำลังฝึกฝนเพื่อความเป็นเลิศในการวิ่งนี่แหละ ที่จะเป็นช่องทางของเรา

ตลาดเสื้อผ้ากีฬาจักรยานกับวิ่งแตกต่างกันมากไหม

สำหรับผมมองว่า โอกาสในการจ่ายเงินให้กับสินค้าของนักวิ่งไม่สูงเท่านักปั่นจักรยาน วงการวิ่งราคาในการเข้ามาเล่นมันไม่แพง รองเท้าวิ่งดีๆ หนึ่งคู่ก็พอแล้ว ต่างกับจักรยานที่ราคาเริ่มต้นก็ 30,000-40,000 ดังนั้นคนกลุ่มปั่นจักรยานเสื้อราคา 5,000-10,000 เขาก็ยอมจ่ายได้ แต่สำหรับวงการวิ่ง ราคานี้หมายถึงรองเท้าดีๆ คู่หนึ่งของพวกเขาเลย 

กลุ่มลูกค้าเสื้อผ้าวิ่งของ Concept Speed เป็นใคร

ผมมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นลูกค้าที่น่ารักจำนวนหนึ่ง พอเขาเห็นผมมาวิ่ง เขาก็มาวิ่งตามด้วย เราเลยกำหนดกลุ่มลูกค้าในช่วงแรกของเราได้ค่อนข้างง่าย คือกลุ่มคนที่ปั่นจักรยานด้วยกัน แล้วอยากลองมาวิ่ง

แล้วพอวิ่งมาระยะหนึ่ง ก็ได้เริ่มเข้าไปอยู่ในกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น เช่น กลุ่มของโค้ชสอนวิ่งต่างๆ ที่ผมได้เข้าไปเรียน ก็ทำให้ได้รู้จักคนมากยิ่งขึ้น 

จุดหนึ่งที่น่าสนใจของแบรนด์ Concept Speed คือดีไซน์ของชุดทั้งจักรยานและวิ่ง คอนเซปต์ภายใต้ลวดลายเหล่านี้คืออะไร

เราจะมีคอลเลกชั่นที่ชื่อว่า Know Me Soon มาจากตัวผมเอง ที่อยากบอกกับแบรนด์ใหญ่ๆ ว่า เดี๋ยวเจอกัน แต่ที่เราอยากสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าคือ อยากให้เป็นแรงบันดาลใจประมาณว่าความเร็วที่มันยากกว่าจะทำได้นั้น เดี๋ยวเจอกัน เดี๋ยวฉันจะทำให้ดู อะไรประมาณนี้ 

ส่วนเรื่องการออกแบบ จริงๆ ไอเดียผมได้มาจาก Karl Lagerfeld นักออกแบบแบรนด์แฟชั่นระดับโลก เขาเคยพูดว่า “โลกใบนี้มันไม่เคยมีใครตาบอดและออกแบบได้ ทุกสิ่งมันเกิดขึ้นจากสิ่งที่เคยเห็นและประสบการณ์ชีวิต”

คือผมไม่ได้มีความสามารถในด้านความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ อันนี้ผมรู้ตัว แต่ผมก็รู้ตัวด้วยเช่นกันว่าตัวเองเป็นคนเสพเยอะ ชอบแฟชั่น มีความอินดี้ อยากหาอะไรใหม่ๆ ซึ่งมันก็สะท้อนออกมาเป็นเสื้อผ้าของแบรนด์ 

ในแง่ธุรกิจของเสื้อผ้ากีฬาวิ่ง ใช้คำว่าประสบความสำเร็จได้ไหม

ขอใช้คำว่า โคตรๆ 

ต้องบอกว่าเป้าปัจจุบันที่มันเป็นอยู่วันนี้ เป็นเป้าหมายที่ผมตั้งเอาไว้ใน 3 ปีข้างหน้า แต่พอมันมาถึงได้ในเวลาไม่กี่เดือน ก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ ยังมีคนต้องการอะไรแบบนี้อยู่ เพียงแต่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน 

นอกจากขายในไทย คุณทำยังไงให้ Concept Speed มีตัวแทนจำหน่ายหลากหลายประเทศด้วย

ผมเชื่อว่าทุกคนที่ทำธุรกิจ ถ้าขายออกต่างประเทศได้ ทุกคนอยากทำ ผมก็ตั้งเป้าไว้ แต่บังเอิญผมตั้งไว้แปลกๆ หน่อย คือผมตั้งไว้ว่าผมจะไม่ไปบุกต่างประเทศเอง แต่จะให้เขาเดินเข้าหาเราแทน เพราะอำนาจต่อรองมันมากกว่า 

ความยากในการทำงานกับตัวแทนในต่างประเทศคืออะไรบ้าง

อย่าเรียกว่าระวังเลย ใช้คำว่าเรารู้อะไรเกี่ยวกับตัวแทนได้บ้างดีกว่า คือมันมืดไปหมดเลย เราจะรู้ความเคลื่อนไหวได้จากในโซเชียลมีเดียอย่างเดียว อย่างมากก็การไปเยี่ยมไม่กี่ครั้ง ที่พอจะสืบต่อได้บ้าง ที่เหลือก็ต้องสวดมนต์เอาเองว่า ตัวแทนจะน่ารัก จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้เราฟัง ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก 

ถ้าต้องระวังขนาดนี้ อะไรที่ทำให้ยังรู้สึกว่าคุ้มค่ากับการมีตัวแทนในต่างประเทศ

แบรนดิ้ง เพราะกลายเป็นว่ามูลค่าของ Concept Speed สูงขึ้นมาก จากตอนแรกที่คนไทยใส่แบรนด์นี้เพราะตัวผมเป็นเจ้าของ ทุกวันนี้ลูกค้าต่างประเทศไม่รู้จักผมแล้ว หลังจากนี้ผมหวังว่าลูกค้าในไทยก็จะไม่ต้องเคยเห็นหน้า หรือไม่รู้จักชื่อผม เพียงแค่เห็นว่าเป็น Concept Speed เขาก็ตัดสินใจเลือกซื้อแล้ว

มีหลักในการพิจารณาตัวแทนในต่างประเทศยังไงบ้าง

อันดับแรกเลยคือเรื่องเงิน ต้องพูดกันตามตรงว่าเราไม่รู้จักกัน ไม่รู้นิสัยเขา เลยต้องคุยกันด้วยยอดการสร้างสินค้า ถ้าได้ยอดตามที่ตกลงกัน มีการชำระเงิน เราถึงส่งสินค้าให้เขา นั่นคือวันแรกของการมีตัวแทนต่างประเทศ

หลังจากนั้นถึงจะมีเรื่องสัญญาและเงื่อนไขต่างๆ ให้เขาปฏิบัติตาม เพื่อให้การเป็นตัวแทนของเรายังคงไว้ซึ่งคุณภาพ เช่นต้องมีการรักษายอดสั่งซื้อ มีการบินมาดูงานที่สาขาหลัก เป็นต้น

อีกสิ่งที่ Concept Speed เป็นที่พูดถึงทั้งในแวดวงจักรยานและวิ่งคือการจัดกิจกรรม ทำไมแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาจึงต้องมีกิจกรรมด้วย  

ผมแบ่งไอเดียเรื่องอีเวนต์ออกเป็น 2 ส่วน 

อันแรกคือ อีเวนต์สำหรับการพิชิตเป้าหมาย สำหรับนักกีฬากึ่งสมัครเล่น ยกตัวอย่างในวงการวิ่ง คือผมรู้ว่าการจะวิ่งให้เร็วขึ้นสัก 1 นาทีมันยากขนาดไหน เราเลยอยากเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของคนที่กำลังพยายามจะเร็วขึ้นตรงนี้อยู่ 

ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่ก็จะขึ้นอยู่กับความเร็วระดับมาตรฐานของนักกีฬาวิ่งกึ่งสมัครเล่นของประเทศไทย เช่น การวิ่งฮาล์ฟมาราธอนเวลา 1 ชั่วโมง 35 นาที หรือการวิ่งมาราธอน 3 ชั่วโมงครึ่ง คือพวกนี้เป็นตัวเลขที่เรานับถือคนที่ทำได้ ว่าเขาได้ทุ่มเท ได้สังเวยอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มันมา เราจึงจะจัดกิจกรรมให้เขาได้มาทำลายสถิติตรงนี้

อีกส่วนคือกิจกรรมที่แปลกใหม่ เช่นการ วิ่ง 18 กิโลเมตร โดยมีรถคอยให้บริการ แบบที่เห็นตามคลิปเวลานักกีฬาจากประเทศเคนยาซ้อม อยากทำแบบนั้น หรือการวิ่งขึ้นลานจอดรถ 9 ชั้น อะไรแบบนี้ ก็เป็นอะไรใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่ Concept Speed จะทำ

กิจกรรมเหล่านี้ส่งผลต่อการขายสินค้าของ Concept Speed ยังไง

มันคือการสร้างความจดจำให้กับคนในแวดวงนั้น 

ยกตัวอย่าง ในวงการปั่นจักรยาน 7-8 ปีก่อนไม่มีใครจัด Group Ride เลยในประเทศไทย ผมก็ทำเป็นคนแรก คือหลายคนอาจมองว่าเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย แต่ผมมองว่ามันเป็นการกระตุ้นวงการนะ คือการทำให้คนกว่า 500 คน ต้องขับรถ แบกจักรยาน มาร่วมงานของคุณได้นี่ไม่ธรรมดาแล้ว 

เรื่องยอดขายที่จะตามมาหลังจากกิจกรรมไม่ต้องพูดถึงเลย ถ้าเขาจ่ายค่าตั๋ว ค่าที่พักในการเดินทางมาร่วมงานได้ ก็ซื้อเสื้อผ้าของเราได้เหมือนกัน

การเป็นคนชอบออกกำลังกาย แล้วมีแบรนด์เสื้อผ้าออกกำลังกายเป็นของตัวเองมันตอบอะไรกับตัวเองได้บ้าง 

ทุกเหรียญมีสองด้าน ด้านหนึ่งคือมันภูมิใจ มันสนุกกับการได้อยู่กับสิ่งที่เรารักทุกวัน เห็นคนที่ชอบออกกำลังกายเหมือนกันใส่แบรนด์เสื้อผ้าของเรา 

แต่ในอีกด้านหนึ่งคือหลับตาได้ข้างเดียว วันไหนเห็นลูกค้าใส่แบรนด์เราเยอะมันก็มีความสุข แต่ถ้าวันไหนไม่เห็น วันไหนขายไม่ดี ผมก็เครียด ก็เซ็ง มันกลายเป็นว่าการออกกำลังกายของเราสนุกน้อยลงไปเยอะ

วันนี้ประเมินคะแนนในการทำธุรกิจของตัวเองเอาไว้เท่าไหร่

ให้สัก 3 คะแนนพอ 

ผมรู้ว่าตัวเองไม่เก่งเรื่องบริหารเลย ถ้าย้อนเวลาได้จะไปทำแบบเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เปิดร้านรับหิ้วอย่างเดียวดีกว่า ต่อให้ได้เงินน้อยกว่านี้เยอะแต่ผมก็สบายใจ เพราะว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจ มันต้องมากกว่ากำไรขาดทุน พนักงานทุกคนคือส่วนหนึ่งของเรา ลูกค้าทุกคนคือเพื่อนของเรา มันกดดัน

คือผมเป็นคนที่ชอบทำแต่สิ่งที่เป็นตัวเอง อะไรที่ไม่ชอบไม่ใช่ผมทำไม่ได้นะ แต่ผมไม่ทำเลย เช่นบัญชีเป็นต้น ทั้งบริษัทเนี่ย หั่นออกมา ผมจะอยู่ในส่วนของการผลิต ออกแบบ การตลาด ไม่มีบัญชีเพราะว่าบัญชีให้แฟนดู เพราะว่าผมไม่ชอบ ผมชอบแค่วิ่ง แค่ปั่นจักรยาน

ผมเลยรู้ตัวว่าผมไม่ใช่ผู้บริหารที่ดี 

มีคำแนะนำสำหรับคนที่เอาความชอบและแพสชั่นมาทำเป็นธุรกิจบ้างไหม

ต้องแยกแยะให้เด็ดขาด 

เคยมีรุ่นพี่คนหนึ่งในวงการเขาบอกว่า ไม่ว่าเรื่องที่เข้ามาหาคุณจะคอขาดบาดตายขนาดไหน ถึงเวลานอนต้องนอน แล้วตื่นค่อยเข้ามาแก้ ไม่อย่างนั้นจะนอนไม่หลับ ช่วงพักคือต้องพัก ครอบครัวคือครอบครัว เพื่อนคือเพื่อน 

อีกอย่างคือผมเรียนรู้อีกว่า ผู้บริหารต้องมีจังหวะไร้หัวใจ ต้องเลือดเย็น กำไร ขาดทุน เรื่องลูกน้อง ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด 

ที่เหลือก็ทำบุญไว้ก่อน เอาเฮงๆ เข้าไว้ (หัวเราะ)

Writer

KFC ฟิลเตอร์สตอรี่ไอจี และ Tame Impala คือสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้อยากมีชีวิตอยู่

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like