สร้างธุรกิจกับคนนอนน้อย

‘Sleep Economy’ เจาะตลาดคนไม่หลับไม่นอน กับช่องว่างธุรกิจที่หอมหวาน

เชื่อว่าหลายๆ คนที่กำลังอ่านประโยคนี้คงเคยผ่านประสบการณ์ตี 2 ยังนอนไม่หลับด้วยหลากเหตุผล ก่อนจะหยิบโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้างกายมาเสิร์ชหาวิธีให้ตัวเองนอนหลับ

แม้ตลอดชีวิตของเรา ใช้เวลา 1 ใน 3 ไปกับการนอน แต่เชื่อว่าทุกคนต้องเคยมีคืนที่นอนยังไงก็ไม่หลับ ข่มตาตั้งแต่ 4 ทุ่มก็ไม่หลับสักที แน่นอนทุกคนทราบดีว่าควรนอนเฉลี่ย 7-9 ชั่วโมงต่อคืน หากน้อยกว่านั้นอาจส่งผลต่อร่างกายในหลายด้าน ทั้งเรื่องประสิทธิภาพการทำงาน อารมณ์ ความจำ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ  แต่คนนอนไม่หลับก็ยังคงมีมากมายทุกแห่งหนด้วยหลากเหตุผล

มีงานวิจัยของ Mintel ระบุว่า 8 ใน 10 ของคนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นปัญหาด้านความเครียด 46% ตามด้วย นอนไม่หลับ 32% และวิตกกังวล 28% และสภาพจิตใจคนไทยแย่ลงไปอีกจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ รวมถึงสถานการณ์บ้านเมือง และสภาพเศรษฐกิจที่ไม่สู้ดีนัก ยิ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลวิจัยยังบอกอีกว่า คนไทยทุกวัยต้องประสบกับความเครียดในชีวิต โดยเฉพาะเจนฯ Z และมิลเลนเนียล ที่ 35% ประสบปัญหาการนอนไม่หลับ  เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย ที่อัตราการนอนไม่หลับหลังจากเกิดโรคระบาดเพิ่มขึ้น 55% และนอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน 28% ถือได้ว่าอยู่ในภาวะที่คุณภาพการนอนแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด 

ในขณะที่ผู้คนกำลังต่อสู้กับการอดนอน Sleep Economy หรือเศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอนก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น

สำหรับคนที่อาจจะยังไม่รู้จัก Sleep Economy หมายถึง ธุรกิจทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการนอน ไม่ว่าจะเป็นสินค้า บริการ แอพพลิเคชั่น และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอน ซึ่งจะเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2024 มูลค่า Sleep Economy จะสูงถึง 585 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากผู้คนเริ่มสนใจสุขภาพการนอนมากขึ้น ทั้งการนอนหลับอย่างเพียงพอ เพื่อเยียวยาจิตใจ ร่างกาย และอารมณ์ จึงเปิดโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ พัฒนาธุรกิจหรือสินค้าเพื่อแก้ปัญหาที่ผู้คนกำลังเผชิญอยู่ เช่น วิตามินที่ช่วยให้การนอนหลับมีคุณภาพมากขึ้น เครื่องนอนเพื่อสุขภาพ เครื่องหอมผ่อนคลายอารมณ์ สินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงคอนเทนต์ ASMR ต่างๆ ที่มีมูลค่าตลาดสูงถึง 950 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมสินค้าในกลุ่มนี้ถึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

หนึ่งในตัวอย่างสินค้าที่อยู่ใกล้ตัวเราคือนม ที่มีสรรพคุณช่วยเรื่องการนอนหลับ และตั้งแต่เด็กๆ เรามักได้ยินประโยคที่ว่า  กินนมก่อนนอนแล้วจะหลับฝันดี ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น เพราะในนมมีทริปโตเฟน กรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาททางสมองที่ช่วยในการนอนหลับ ทำให้หลับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง 

การนอนไม่หลับไม่ได้กระทบแค่ร่างกาย แต่ยังสะเทือนไปถึง GDP ประเทศ RAND Corporation ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การทหารของสหรัฐฯ ได้ประเมินผลกระทบต่อการนอนหลับไม่เพียงพอว่า ประเทศที่ประชากรมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน จะสูญเสีย GDP ไปไม่น้อย

  • สหรัฐอเมริกา สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 411 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 2.28% ของ GDP
  • ญี่ปุ่น สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 138 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 2.92% ของ GDP
  • เยอรมนี สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.56% ของ GDP
  • สหราชอาณาจักร สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.86% ของ GDP
  • แคนาดา สูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี คิดเป็น 1.35% ของ GDP

จากข้อมูลข้างต้น บ่งชี้ว่าหากต้องการเพิ่มมูลค่า GDP เศรษฐกิจประเทศ ควรทำให้ประชาชนได้รับการพักผ่อนเพียงพอและนอนเต็มอิ่ม หากผู้คนให้ความสำคัญกับการนอนเพิ่มขึ้นอีกนิด ก็ส่งผลต่อเศรษฐกิจมหาศาล เช่น จากที่เคยนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมง ต้องการนอน 7 ชั่วโมง การจ่ายเงินเพื่อซื้อเวลานอนเพิ่ม 1 ชั่วโมง คุณอาจได้ที่นอนใหม่ วิตามินกระปุกใหม่ ชุดนอนผ้าไหมแสนสบาย ฯลฯ

เมื่อผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการนอน ทำให้ระบบนิเวศของ Sleep Economy เปลี่ยนไป จากการศึกษาของ McKinsey ได้แบ่งผลิตภัณฑ์และบริการด้านการนอนออกเป็น 3 ประเภท

  1. การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ในห้องนอน เครื่องนอน แสงไฟ เสียง หรืออุปกรณ์ควบคุมอุณหภูมิ
  2. การปรับกิจวัตรประจำวัน เช่น ชาสมุนไพร นาฬิกาปลุกอัจฉริยะ เครื่องวัดการนอนหลับ การทานอาหารเสริม ฯลฯ
  3. การบำบัดรักษา เช่น การรักษาแบบชีวิต เครื่องช่วยนอนหลับ การปรึกษาแพทย์ การรักษาอาการนอนกรน นอนหลับไม่สนิท หรือต้องมีอุปกรณ์ช่วยขณะนอนหลับ ฯลฯ

ในทางกลับกัน Sleep Economy ไม่ได้มีแค่ธุรกิจที่เชิญชวนให้นอน แต่ยังมีธุรกิจที่เหมาะกับคนใช้ชีวิตกลางคืน ต้องการพื้นที่สงบเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเรา นั่นคือคาเฟ่ ร้านอาหาร Drive Thru ฟิตเนส หรือ co-working space ที่เปิด 24 ชั่วโมง มีพื้นที่อ่านหนังสือ ทานอาหาร และเครื่องดื่ม ในบรรยากาศเงียบๆ ซึ่งมีงานวิจัยจากสแตนฟอร์ดบอกว่า การทำงานนอกสถานที่ ที่หลุดออกจากสิ่งแวดล้อมเดิมๆ จะทำให้จดจ่อกับสิ่งที่ทำได้มากขึ้น ทำให้ในช่วงสอบของนักศึกษา เราได้เห็นหนุ่มสาวเหล่านี้จับจองพื้นอ่านหนังสือโต้รุ่งใน co-working space มากมาย

จากข้อมูลที่กล่าวมา จะเห็นว่าปัญหาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ ซึ่งหากมองในมุมธุรกิจถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่น่าจับตามอง และมีโอกาสเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะในแง่ของความหลากหลายทางธุรกิจ หากเข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไป อาจทำให้ Sleep Economy สว่างไสวท่ามกลางความมืดยามค่ำคืน

อ้างอิงข้อมูล

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

You Might Also Like