สุขสันต์วันงีบหลับ

จากวิกฤตการนอนไม่หลับ สู่ช่องว่างทางธุรกิจอันหอมหวาน

เวลาที่เราอ่านสิ่งที่คนประสบความสำเร็จเขาทำกัน หนึ่งในนั้นจะมีเรื่องของการลดเวลานอน เพื่อนำเวลาไปพัฒนาตนเองหรือบริหารธุรกิจในด้านต่างๆ ทั้งที่ในอีกมุมหนึ่งการพักผ่อนให้เพียงพอก็ทำให้เราตื่นมาสดใส พร้อมรับมือกับการทำงานในวันใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ในบางครั้งก็อาจมีเหตุปัจจัยที่ทำให้ใครบางคนนอนไม่หลับยามค่ำคืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเครียด ความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือบาดแผลทางจิตใจ จนทำให้บางคนต้องแอบมางีบหลับในเวลางานอยู่บ่อยๆ และเนื่องในวันที่ 11 มีนาคม 2567 เป็น ‘วันงีบหลับ’ เราจึงพามาดูว่าการงีบหลับในเวลางานไม่ได้มีแค่แง่ลบเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีในแง่บวกและสัมพันธ์กับธุรกิจต่างๆ อีกด้วย

โดย PlushBeds ผู้ผลิตเครื่องนอนหรูสัญชาติอเมริกาได้ทำการสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยแอบงีบหลับเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในระหว่างการทำงาน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า คนที่งีบหลับมีแนวโน้มได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าคนที่ไม่ได้งีบถึง 18% อีกด้วย

การงีบหลับจึงเป็นเหมือนวาระแห่งชาติ ถึงขนาดที่มีบางองค์กรสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการงีบหลับในที่ทำงานอย่างจริงจัง เช่น บริษัทระดับโลกอย่างไนกี้ (Nike) ได้ทำห้อง ‘Quiet Room’ เพื่อให้พนักงานไปงีบหลับได้แบบไม่จำกัดเวลา แต่ต้องรับผิดชอบงานให้เสร็จตามที่ได้รับมอบหมาย

หรือจะเป็นบริษัทวางแผนประกันสุขภาพสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Aetna ที่ให้ความสำคัญกับการพักผ่อนของพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นการนอนหลับยามค่ำคืนและหากวันไหนนอนไม่พอ จะมางีบหลับเล็กๆ น้อยๆ ในที่ทำงานก็ได้ เพราะเชื่อว่าหากทุกคนนอนหลับเพียงพอ จะช่วยลดปัญหาสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน จึงได้ออกนโยบาย ‘จ่ายเงินให้พนักงานนอนหลับ’ นับทั้งเวลานอนปกติและเวลางีบหลับรวมกันให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเวลาติดกัน 20 วัน จะได้รับเงินวันละ 25 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 895 บาท โดยจ่ายเงินให้สูงสุดถึง 300 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 10,752 บาทต่อปีเลยทีเดียว

ซึ่งถือเป็นนโยบายที่สวนทางกับวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่น ที่นิยมทำงานเฉลี่ยวันละ 12 ชั่วโมง และมักทำงานล่วงเวลากว่า 100 ชั่วโมงต่อเดือน ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่คนอดหลับอดนอนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่ให้พนักงานงีบหลับในเวลางาน พร้อมจัดพื้นที่ไว้ให้ด้วย เช่น Google, Ben & Jerry’s, Cisco, Facebook และ Uber เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีธุรกิจที่คิดค้นนวัตกรรมที่ช่วยให้งีบหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย อย่างนวัตกรรม ‘กล่องยืนงีบ’ หรือ ‘giraffenap’ ที่ออกแบบโดย KOYOJU Plywood Corporation ซึ่งได้เลียนแบบการยืนหลับของยีราฟ ที่จะหลับครั้งละไม่กี่นาที แต่ช่วยลดความอ่อนเพลียจากการพักผ่อนไม่เพียงพอได้

จึงออกมาเป็นดีไซน์ที่คล้ายกับแคปซูลให้คนไปยืนงีบหลับ โดยมีเบาะรองตรงหัว บั้นท้าย หน้าแข้ง และฝ่าเท้า เพื่อช่วยซัพพอร์ตให้งีบหลับได้เต็มที่ จึงทำให้ giraffenap เหมาะกับการไปตั้งไว้ในออฟฟิศให้พนักงานได้มางีบได้แบบไม่รู้สึกผิด แต่ทำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

หรือแม้แต่ร้านกาแฟอย่าง NESCAFÉ ในย่านฮาราจูกุ ประเทศญี่ปุ่น ที่ถึงแม้จะเป็นคาเฟ่ที่เน้นการขายกาแฟเป็นหลัก แต่ก็มองเห็นช่องว่างทางการตลาดของธุรกิจคาเฟ่ที่ยังไม่มีใครทำคือ การเปิด ‘คาเฟ่งีบหลับ’ ในชื่อว่า ‘Nescafe Sleep Cafe’

โดยนำ giraffenap ไปให้บริการแก่ลูกค้าที่มองหาสถานที่งีบหลับในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นที่มักจะทำงานหนักและนอนหลับไม่เพียงพอ รวมถึงมีพฤติกรรม ‘ดื่มและงีบ’ หรือที่เรียกว่า ‘Nappuccino’ คือจะดื่มกาแฟเข้าไปก่อนแล้วค่อยงีบหลับไม่เกิน 20 นาที เพราะหลังจาก 20 นาที คาเฟอีนในกาแฟจะออกฤทธิ์ให้ตื่นตัวพร้อมทำงานได้อย่างเต็มที่ โดยไอเดียนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีและมีผู้เข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมาก

จากเรื่องราวทั้งหมดที่ว่ามาสะท้อนให้เห็นว่าการงีบหลับในที่ทำงานเนื่องจากการนอนไม่หลับยามค่ำคืนแทบจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ที่หลายองค์กรให้ความสำคัญถึงขนาดสร้างวัฒนธรรมการงีบหลับขึ้นมา เพื่อให้พนักงานพักผ่อนได้เต็มที่และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

รวมถึงยังเป็นช่องว่างทางธุรกิจที่หอมหวาน ในการคิดค้นนวัตกรรมมาช่วยซัพพอร์ตการงีบหลับ หรือแม้แต่บางธุรกิจที่เพิ่มบริการสร้างพื้นที่ให้คนมางีบหลับได้อย่างสบายใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่าในอนาคตจะเกิดธุรกิจอะไรที่มาช่วยส่งเสริมการงีบหลับมาช่วยแก้ปัญหาให้ผู้คนได้ดียิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก

Tagged:

Writer

นักเขียนที่อยากเปลี่ยนเรื่องธุรกิจให้เป็นเรื่องสนุก และมีแมวกับกาแฟช่วยฮีลใจในทุกวัน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like