คุยกับผู้อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยที่เป็นหัวใจของ Siam Amazing Park

The Safety of Siam Amazing Park

“ปลอดภัยไว้ก่อน”
“ต้องสนุกด้วย ปลอดภัยด้วย”

“ความปลอดภัยเป็นอะไรที่อะลุ่มอล่วยไม่ได้”

เท่าที่เราได้คลุกคลีกับสยามอะเมซิ่งพาร์คมาถึง episode ที่ห้า มีหนึ่งคำที่ได้ยินสูสีตีคู่มากับคำว่า ‘สนุก’ ก็คือคำว่า ‘ปลอดภัย’ คำนี้แทบจะกลายเป็นคำติดปากที่หลุดออกมาในทุกๆ สิบวินาทีของการพูดคุยกับผู้บริหารและทีมงานของที่นี่

ซึ่งสนุกน่ะเราพอรู้แล้ว เพราะที่นี่คือสวนน้ำ-สวนสนุกแห่งแรกของประเทศ ที่ถ้านับรวมตั้งแต่ปีที่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันนี้ก็ปาเข้าไปปีที่ 42 แล้ว ถ้าเป็นสวนสนุกที่ไม่สนุกก็คงอยู่ไม่ได้ยาวนานอย่างนี้แน่ แต่ที่เราสงสัยคือเรื่องของความปลอดภัยที่ถูกยกให้เป็นหัวใจของธุรกิจสวนสนุก แน่นอนว่าไม่ได้ข้องใจสักนิดว่าปลอดภัยจริงไหม (เพราะเราเชื่อว่าปลอดภัยจริงๆ) แต่อยากรู้มากกว่าว่ากระบวนการและขั้นตอนของความปลอดภัยทั้งหมดคืออะไร และใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยเหล่านี้ของสยามอะเมซิ่งพาร์ค

1
ทีมความปลอดภัย 

ทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังความปลอดภัยของสยามอะเมซิ่งพาร์คประกอบด้วย วิศวกรสวนสนุก ทำหน้าที่วางแผนงานวิศวกรรมทั้งหมด แบ่งเป็นสามส่วนสำคัญของเครื่องเล่นที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของวิศวกรทั้งสามฝ่าย

  • วิศวกรโยธา ดูแลโครงสร้างในการติดตั้งเครื่องเล่นทุกประเภท
  • วิศวกรเครื่องกล ดูแลเครื่องยนต์กลไล รวมถึงพาร์ตที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของเครื่องเล่นทั้งหมด
  • วิศวกรไฟฟ้า ดูแลระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หัวใจสำคัญของการคอนโทรลเครื่องเล่น รวมถึงโปรแกรมควบคุมเครื่องเล่น 

เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ผู้ที่เรียนสาขาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ เพื่อดูแลความปลอดภัยให้ผู้มาใช้บริการและผู้ปฏิบัติงาน 

และ ช่างซ่อมบำรุงเครื่องเล่น ดูแลการติดตั้ง ประกอบ เครื่องเล่น และตรวจเช็กซ่อมบำรุงเครื่องเล่นตามที่ได้รับมอบหมาย

2
ชีวิตประจำวันของทีมความปลอดภัย 

หลังตอกบัตรเข้างานตอนเช้า ทีมความปลอดภัยจะต้องตรวจสอบความพร้อมของเครื่องเล่นทุกจุดในสวนสนุกและสวนน้ำก่อนเซย์เยสเปิดให้บริการ เริ่มจากเช็กระบบการทำงานของเครื่องเล่นว่าพร้อมไม่พร้อม > วางแผนการซ่อมบำรุง ทั้งรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี เพื่อให้เกิดความมั่นใจ > ดำเนินการตามใบแจ้งซ่อม นั่นหมายความว่าทุกๆ วัน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องรอทีมความปลอดภัยคอนเฟิร์มก่อนว่าวันนี้เครื่องเล่นใดบ้างที่พร้อมเปิดและไม่พร้อมเปิด เพื่อแจ้งให้ผู้มาใช้บริการทราบโดยทั่วกัน 

3
ความพร้อมของเครื่องเล่นปลอดภัย 

ตาดู หูฟัง มือสัมผัส คือลำดับขั้นตอนการตรวจสอบความพร้อมเครื่องเล่นของทีมความปลอดภัย เริ่มจากสังเกตด้วยตาว่าสภาพของเครื่องเล่นและบริเวณโดยรอบเป็นอย่างไร มีส่วนใดผิดไปจากความปกติ ต่อมาต้องฟังด้วยหูว่าเสียงของเครื่องเล่นนั้นๆ ดังอยู่ในระดับปกติ หรือ ผิดเพี้ยนไปยังไง และสุดท้ายคือการสัมผัสด้วยมือ ทั้งความแข็งแรงของที่นั่งทุกตัว สภาพของน็อตทุกชิ้น การใช้งานของเข็มขัดนิรภัย ถ้าสภาพภายนอกมีความพร้อมแล้ว จะเริ่มทดสอบระบบการทำงานของเครื่องเล่นทั้งหมด 3 รอบด้วยกัน โดยขั้นตอนนี้จะต้องสังเกตส่วนล้อ น้ำมันหล่อลื่น และระบบไฮดรอลิกไปด้วย การทดสอบทั้ง 3 รอบแบ่งเป็นระบบ manual 2 รอบ เพื่อทดสอบปุ่มต่างๆ ระบบเดินโซ่และการเคลื่อนที่ และรอบสุดท้ายเปิดระบบออโต้เพื่อทดสอบ sequence การทำงานให้เป็นไปตามที่ตั้งโปรแกรมไว้ โดยผลการทดสอบต้องผ่านฉลุยทั้งสามรอบ จึงจะแจ้งเปิดใช้บริการเครื่องเล่นในแต่ละวัน

4
ติดตั้งเครื่องเล่นปลอดภัย 

ให้ลองจินตนาการถึงการต่อชิ้นส่วนเลโก้ ประกอบเฟอร์นิเจอร์อิเกีย การติดตั้งเครื่องเล่นของสวนสนุกก็มีขั้นตอนคล้ายกัน เพียงแต่เป็นสเกลที่มหึมากว่ามาก การติดตั้งเครื่องเล่นใช้เวลาประมาณ 1-4 เดือน ขึ้นอยู่กับความยาก-ง่ายและขนาดของเครื่องเล่นนั้นๆ โดยเครื่องเล่นจะถูกส่งผ่านทางเรือสินค้ามาจากบริษัทผู้ผลิต พร้อมแบบและการประกอบชิ้นส่วนเครื่องเล่น โดยมีวิศวกรประจำสยามอะเมซิ่งพาร์คเตรียมพื้นที่และหาผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อทำฐานของเครื่องเล่นเป็นอย่างแรก ส่วนโครงสร้างจะแยกเป็นส่วนๆ มาดำเนินการประกอบที่นี่เป็นลำดับถัดมา 

หลังจากวิศวกรตรวจสอบและพิจารณาแบบและรายละเอียดของการก่อสร้างแล้ว ต้องจัดทำแผนงานเพื่อนำเสนอฝ่ายบริหารอีกที ถ้าผ่านจึงจะสามารถเริ่มการติดตั้งเครื่องเล่นได้ ในระหว่างการติดตั้ง ทีมวิศวกรต้องตรวจสอบและควบคุมให้งานก่อสร้างเป็นไปตามสัญญา พร้อมกันนั้นบริษัทผู้ผลิตจะส่งเจ้าหน้าที่เทคนิคจากประเทศต้นสังกัดมาตรวจสอบการดำเนินการอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้นจนจบงานด้วย หลังการติดตั้งแล้วเสร็จจะมีการทดสอบเครื่องเล่นให้เป็นไปตามมาตรฐานที่บริษัทผู้ผลิตกำหนดไว้ ถ้าผ่านจุดนี้ไปก็เป็นอันสิ้นสุดและสามารถเปิดใช้บริการได้ แต่เท่านั้นยังปลอดภัยไม่พอ เพราะเจ้าหน้าที่เทคนิคจากบริษัทผู้ผลิตยังจะบินกลับมาเพื่อตรวจสอบ อัพเดตระบบ และเทรนนิ่งที่สยามอะเมซิ่งพาร์คปีละครั้ง!

การขึ้นโครงสร้างของเครื่องเล่นเป็นส่วนที่กินเวลามากที่สุด เพราะบริษัทผู้ผลิตเน้นเรื่องความมั่นคงแข็งแรง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแบบที่วางไว้ สำคัญที่สุดอีกอย่างคือเรื่องระยะ เพราะระยะที่ผิดเพี้ยนส่งผลต่อการติดตั้งที่ล่าช้าออกไป ดังนั้นทุกอย่างต้องเป๊ะตั้งแต่แรก

ล่องซุงมหาสนุก คือเครื่องเล่นที่ติดตั้งนานที่สุด ใช้เวลาประมาณสี่เดือน เพราะต้องสร้างสระน้ำขนาดใหญ่พร้อมจำลองโครงสร้างของภูเขาขึ้นมา เรียกว่ามีทั้งงานประติมากรรม (หัวเสือและหัวสิงโต) ระบบปั๊มน้ำ และเป็นเครื่องเล่นที่มีพื้นที่ขนาดเกือบ 3 ไร่ด้วย ซึ่งงานโครงสร้างเป็นการใช้วัสดุภายในประเทศ ส่วนระบบเครื่องกลและเรือเป็นการสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

5
เสียงของความปลอดภัย

มาตรฐานความดังของเครื่องเล่นทั่วไปที่หูเราได้ยินอยู่ที่ประมาณ 85 เดซิเบล เสียงที่ดังขึ้นไปถึง 90-120 เดซิเบล หมายความว่ามีความผิดปกติบางอย่างกำลังเกิดขึ้นกับเครื่องเล่น เช่น จุดรั่วของระบบไฮดรอลิก นอกจากนั้นยังมีลักษณะของเสียงที่เปลี่ยนไปที่ฟังแล้วต้องรู้ทันที 

เช่น เครื่องเล่นที่ปกติจะให้เสียง เอี๊ยด เอี๊ยด เอี๊ยด ถ้าวันไหนเกิดได้ยินเป็นเสียง เอี๊ยดดดด ที่ยาวกว่าปกตินั่นอาจหมายความว่าเครื่องเล่นเกิดความผิดปกติขึ้นแล้ว ตรงนี้เป็นหน้าที่ของทีมความปลอดภัยต้องเข้าไปแก้ไขเพื่อความปลอดภัยของผู้มาใช้บริการ

6
สวนน้ำปลอดภัย

ทุกๆ เช้า ขณะที่วิศวกรตรวจสอบความพร้อมของเครื่องเล่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยก็จะทำการตรวจเครื่องเล่นในสวนน้ำและระบบคุณภาพน้ำให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อนเปิดให้บริการเช่นกัน 

การตรวจคุณภาพน้ำจะต้องเช็กค่าคลอรีนในน้ำให้ได้มาตรฐาน ค่า pH เป็นกลาง ไม่กรดและไม่ด่างเกินไป และตรวจค่าความขุ่น-ความใสของน้ำ โดยตลอดทั้งวันที่เปิดให้บริการจะต้องอยู่ในขอบเขตที่กำหนด ที่จะไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้หรืออันตรายต่อผู้ใช้บริการ 

น้ำที่ใช้ในสวนน้ำของสยามอะเมซิ่งพาร์คนับรวมกันแล้วมีปริมาณมากกว่า 1,500,000 ลิตร ซึ่งน้ำทั้งหมดต้องผ่านระบบการกรองน้ำที่ได้มาตรฐาน โดยระบบจะนำน้ำส่วนที่สัมผัสกับผู้ใช้บริการแล้วดึงกลับไปเพื่อทำการกรอง และนำน้ำสะอาดเติมกลับเข้ามาใหม่ เป็นระบบบำบัดน้ำที่ทำงานวนไปแบบนี้ตลอดวัน ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของน้ำได้เป็นอย่างดี 

7
สัญลักษณ์ปลอดภัย 

ห้ามปีนป่าย

ห้ามเข้า (เขตอันตราย)

ห้ามกระโดดน้ำ

ห้ามนั่ง ห้ามยืน (ขณะอยู่บนเครื่องเล่น)

ลัญลักษณ์แสดงระดับความลึกของน้ำในสระ

สัญลักษณ์แถบทางเดิน ป้ายลูกศร ทางเข้าออก

8
ปลอดภัยทุกคน 

เครื่องเล่นในสยามอะเมซิ่งพาร์คทั้งหมดได้รับการแบ่งออกเป็น 5 ดินแดน คือ Water World, Extreme World, Adventure World, Family World และ Small World ซึ่งการแบ่งดินแดนของเครื่องเล่นไม่ใช่แค่คอนเซปต์สนุกๆ แต่คือหนึ่งในนโยบายด้านความปลอดภัยด้วย เพื่อจำแนกการให้บริการกับลูกค้าแต่ละกลุ่มได้ชัดเจน เช่น Family World โซนที่สามารถใช้บริการเครื่องเล่นได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้พิการด้วย และอีกหลากดินแดนที่ทุกคนสามารถเล่นได้ แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับเครื่องเล่นบางประเภทที่จำเป็นต้องจำกัดผู้ใช้ด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยเช่นกัน ส่วนทางเท้า ทางลาด ทางเข้า และทางออกไปสู่บริเวณเครื่องเล่นต่างๆ รวมถึงพื้นที่ภายในของสยามอะเมซิ่งพาร์คทุกจุดล้วนถูกออกแบบมาเพื่อความปลอดภัยของทุกคน (universal design)  

Writer

อดีตกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ปัจจุบันรับจ้างเขียนเป็นการเลี้ยงชีพ

Photographer

ชีวิตต้องมีสีสัน