4375
November 28, 2023

Literary Tourism

เที่ยวตามรอยวรรณกรรม การเกิดขึ้นของด้อมนักท่องเที่ยวหญิง และการไปลอนดอนเพราะชาลส์ ดิกคินส์

ช่วงที่ซีรีส์เกาหลีกำลังบูมในไทย หนึ่งในกระแสต่อเนื่องคือการที่เกาหลีเปิดพื้นที่และแนวทางการท่องเที่ยวให้ทั่วโลกเดินทางเพื่อไปตามรอยเรื่องราวในสถานที่จริง การตามรอยหรือการท่องเที่ยวที่บูมขึ้นจากละครหรือพื้นที่ที่เป็นเรื่องแต่ง บ้านเราเองล่าสุดก็มีการตามรอยออเจ้า เกิดเป็นกระแสชุดไทยและการไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ในอยุธยา 

อันที่จริงการท่องเที่ยวเชิงตามรอยเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นสักพักแล้ว ในยุคก่อนซีรีส์ กระแสสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงคอนเทนต์มาจากวรรณกรรมและงานเขียนต่างๆ จุดเริ่มของการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมหรือ literary tourism มีที่มาจากประเทศอังกฤษ ภาพของประเทศอังกฤษปะปนไปด้วยภาพที่มาจากพื้นที่ในจินตนาการ เราอาจนึกถึงชานชลาที่ 9 ¾ คิดถึงบ้านที่ถนนเบเกอร์ของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ นึกถึงชีวิตของคุณนายดัลโลเวย์ นอกจากลอนดอนแล้วเราอาจจะนึกถึงเมืองชนบทที่เป็นบ้านเกิดของเชคสเปียร์ และเมืองอื่นๆ ที่อาจสัมพันธ์กับวรรณกรรมเยาวชนที่อ่านสมัยเด็กเช่นนาร์เนีย ไปจนถึงป่าร้อยเอเคอร์ของวินนี่เดอะพูห์

ไม่แปลกที่ถ้าวันหนึ่งเราได้เดินทางไปยังอังกฤษ แล้วเราจะได้ไปเยี่ยมสถานีคิงส์ครอสสักครั้ง หรือได้แวะไปพื้นที่ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจและฉากหลังของเจน ออสเตน การท่องเที่ยวจากวรรณกรรมเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ทางเศรษฐกิจ เมืองเล็กๆ บ้านเกิดเชคสเปียร์ที่กลายเป็นหมุดหมายคนรักวรรณคดีเปิดพื้นที่รับนักท่องเที่ยว 2-3 ล้านคนต่อปี ร้านของชำร่วยของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่สถานีรถไฟลอนดอนเองก็มีลูกค้าหลักล้านคนเช่นเดียวกัน

ถ้าเรามองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวเชิงตามรอย การเดินทางไปยังอังกฤษ โดยเฉพาะกรุงลอนดอน เกิดเป็นกระแสปลายทางของการท่องเที่ยวมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 เป็นกระแสที่เกิดจากความนิยมในนวนิยายของชาลส์ ดิกคินส์ และในจุดเริ่มต้นจริงๆ ก็มาจากนักเขียนหญิงคนสำคัญอีกท่านจากอเมริกาคือ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott) นักเขียนหญิงเจ้าของงานเขียนอเมริกันสำคัญคือ สี่ดรุณี หลังจากการตามรอยไอดอลและตีพิมพ์บันทึกการเดินทาง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของลอนดอนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ งานเขียนของดิกคินส์ก็ทำให้เกิดกระแสจินตนาการถึงลอนดอนเก่า (old London) นำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงตามรอยเพื่อตามหาลอนดอนของดิกคินส์ (Dickens’s London) ที่เป็นกระแสต่อเนื่องมากว่าร้อยปี

สาวทึนทึกบุกลอนดอน
การเกิดขึ้นของนักท่องเที่ยวหญิง

กระแสการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรม คือการเที่ยวลอนดอนตามรอยงานเขียนของชาลส์ ดิกคินส์ เป็นกระแสฮิตขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1870-1880s คือเป็นกระแสจริงจังหลังจากดิกคินส์เสียชีวิตในปี 1870 คำว่าเป็นกระแสฮิตคือพื้นที่สำคัญๆ เช่นโรงแรมหรูของลอนดอนเริ่มมีการจัดนำเที่ยวตามรอยวรรณกรรม มีหนังสือ ข่าวสาร บทความ บันทึกท่องเที่ยว และคู่มือรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับพื้นที่และเรื่องราวของเมืองลอนดอนที่สัมพันธ์หรือถูกเล่าถึงในนวนิยายของดิกคินส์ หนึ่งในหนังสือสำคัญคือ Dickens’s Dictionary of London เขียนโดยลูกชายคนแรกของดิกคินส์เอง ตีพิมพ์ใน 1879 พจนานุกรมเป็นการรวมสถานที่ที่ปรากฏหรือเกี่ยวข้องกับนวนิยายของดิกคินส์ มีการเชื่อมโยงถึงความเป็น old London ด้วย

ย้อนไปก่อนที่ดิกคินส์จะเสียชีวิตเล็กน้อย หนึ่งในผู้จุดกระแสการท่องเที่ยว และเป็นหนึ่งในผู้เริ่มกระแสการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมจากอเมริกาไปยังลอนดอน คือลุยซา เมย์ อัลคอตต์ ตัวเมย์เองมีความน่าสนใจคือเป็นผู้หญิงอเมริกันที่เป็นอิสระ ไม่แต่งงาน ตัวเธอเองเป็นศิลปินและกลายเป็นนักเขียนคนสำคัญซึ่งแน่นอนว่างานเขียน Little Women กลายเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจและเรื่องราวอบอุ่นของครอบครัวและพี่น้องผู้หญิง ในปี 1866 สองปีก่อนตีพิมพ์ สี่ดรุณี เมย์ ได้เดินทางไปยังเมืองลอนดอนโดยตั้งใจไปเยี่ยมชมสถานที่ที่ถูกเล่าถึงไว้ในนวนิยายของดิกคินส์ ไอดอลด้านการเขียนของเธอ และยังตั้งใจไปชมการบรรยายของดิกคินส์ คือไปพบไอดอลตัวเป็นๆ ด้วย

ในการเดินทางของอัลคอตต์ เธอเองได้เขียนเป็นบันทึกไว้ สถานที่ที่เธอไปก็เป็นจุดหมายท่องเที่ยวของลอนดอนเช่นหอคอยลอนดอน วิหารเซนต์ปอลล์ พระราชวังวินด์เซอร์ ในบันทึกของเธอระบุไว้ว่าเธอรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในวรรณกรรม แต่ทว่าในแผนการเดินทางการคือการไปชมนักเขียนไอดอล ซึ่งเธอบันทึกไว้อย่างไม่ค่อยประทับใจเท่าไหร่ เธอบอกว่าดิกคินส์ดูเป็นชายชราที่สำรวย ใส่แหวนเพชร แต่งตัวหรูหรา (น่าจะขัดกับเรื่องที่เขียนถึงคือเป็นการใช้ชีวิต การต่อสู้ดิ้นรนใช้ชีวิตในลอนดอนในฐานะเมืองใหญ่)

ทีนี้ตัวอัลคอตต์เองเป็นนักเขียนและเป็นนักเดินทางอยู่แล้ว เช่นเดินทางไปเรียนศิลปะที่ยุโรปและมีการเผยแพร่ข้อเขียนของเธอ บันทึกการท่องเที่ยวและการพบเห็นชาลส์ ดิกคินส์ ของเธอก็ได้ถูกเผยแพร่ออกไป ในการเดินทางของเธอก็มีความน่าสนใจคือเรียกตัวเองว่าเป็นสาวทึนทึกบุกตะลุย (spinster on the rampage) การเดินทางเพื่อตามรอยไอดอลของเธอมีความน่าสนใจในตัวเอง คือการที่ผู้หญิงคนหนึ่งท่องเที่ยวโดยมีจุดหมายในฐานะแฟนคลับ เป็นนักอ่าน เป็นสาวโสดที่ทำงานและมีเงิน สามารถเดินทางข้ามทะเลแอตแลนติกไปได้

การเดินทางไปมานี้จึงเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญ คือเราจะเห็นการเดินทางข้ามของงานเขียนและความนิยมในวรรณกรรม การที่งานเขียนของดิกคินส์ถูกเผยแพร่ไปยังอเมริกาและการที่ลอนดอนกลายเป็นจุดหมายของชาวอเมริกันที่เดินทางไปท่องเที่ยวโดยมีจุดมุ่งหมายจากงานเขียนที่พวกเขารัก

ความพิเศษที่มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือการที่อัลคอตต์เองเป็นเหมือนตัวแทนหน่ึงของกิจกรรมการเดินทางของสุภาพสตรี การเดินทางของเธอกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนและเป็นส่วนหนึ่งของกระแสลอนดอนเก่า ในทศวรรษ 1880 มีกิจการสำคัญคือเกิดสมาคมมัคคุเทศก์หญิง ผลิตไกด์ทัวร์หญิงที่เรียกว่า ‘สุภาพสตรีผู้เฉลียวฉลาด (intelligent gentlewoman)’ เป็นกิจการนำเที่ยวที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นสุภาพสตรีโดยเฉพาะ เป็นอาชีพของเหล่าผู้หญิงที่มีความรู้ มีความสุภาพเรียบร้อยที่จะพาเหล่านักท่องเที่ยวหญิงด้วยกันท่องเที่ยวและเล่าเรื่องราวของกรุงลอนดอนที่เชื่อมโยงกับวรรณกรรมของดิกคินส์ได้อย่างคล่องแคล่ว

การเกิดขึ้นของสมาคมและนักเที่ยวสตรีนี้จึงเป็นหมุดหมายหนึ่งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม ทั้งการเป็นผู้บริโภคและเป็นผู้บริการนำเที่ยว เป็นภาพของผู้หญิงที่ได้รับการศึกษา มีความเชี่ยวชาญ อ่านออกเขียนได้ และปรากฏตัว เดิน และใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เมือง หลังจากกระแสดิกคินส์ ในช่วงปี 1890 ลอนดอนเกิดกระแสท่องเที่ยวใหม่คือตามรอยแจ็ค เดอะริปเปอร์ หลังจากนั้นเหล่าไกด์ทัวร์สุภาพสตรีก็เริ่มขยายไปนำเที่ยวตามกระแสความสนใจใหม่ด้วย

ลอนดอนเก่า อดีตที่ผู้คนตามหา

ประเด็นเรื่องลอนดอนเก่ากลายเป็นกระแสอย่างสำคัญมากไม่ใช่แค่การท่องเท่ียว แต่นวนิยายของดิกคินส์สัมพันธ์กับบริบทลอนดอนในยุคเปลี่ยนแปลงไปสู่สมัยใหม่ เป็นส่วนหน่ึงของความฝันและจินตนาการกลับไปสู่ลอนดอนที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในบทสัมภาษณ์ของ Lee Jackson นักวิชาการที่วิจัยการก่อตัวของการท่องเที่ยวจากชาลส์ ดิกคินส์ และเจ้าของหนังสือ Dickensland ชี้ให้เห็นว่าตัวชาลส์ ดิกคินส์ เองใช้ชีวิตในช่วงรอยต่อที่ลอนดอนกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่ตัวดิกคินส์ได้เลือกแง่มุมของลอนดอนเก่าไว้เช่นการให้ภาพสุสานและโบสถ์ที่ยังมีความสำคัญในเมือง ภาพโรงเตี๊ยม ศาลที่ยังเป็นมรดกจากลอนดอนในยุคก่อนหน้า และละการพูดถึงสิ่งใหม่ๆ เช่น ถนน สะพาน ไปจนถึงระบบระบายน้ำ

ในยุคสมัยหลังดิกคินส์เสียชีวิต ด้วยการรับเกียรติของดิกคินส์ที่ได้เข้าฝังในสุสานกวีของมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ การเริ่มกระแสท่องเที่ยวจากฝั่งอเมริกามายังลอนดอน ลอนดอนในยุคหลังดิกคินส์จึงเป็นลอนดอนที่เผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ภาพของลอนดอนที่ถูกเขียนลงในงานของดิกคินส์จึงกลายเป็นภาพและกลิ่นอายของเมืองที่เต็มไปด้วยเสน่ห์และกลายเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวันตาย เป็นพื้นที่เชิงจินตนาการที่ผู้คนเดินทางไปมองเห็นหรือจินตนาการถึงในพื้นท่ีจริง

ประเด็นเรื่องการเป็นภาพอดีตของลอนดอนในกระแสลอนดอนเก่าของดิกคินส์ นอกจากจะนำไปสู่กิจการการค้าและการท่องเที่ยวแล้ว ยังไปเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ด้วย ดิกคินส์มีนวนิยายเล่มหนึ่งชื่อ The Old Curiosity Shop ตีพิมพ์ในปี 1841 ทีนี้ในย่านบลูมส์เบอรี ย่านคนชิคของลอนดอนที่ดิกคินส์ใช้ชีวิตอยู่ มีร้านโบราณร้านหนึ่งรับสมอ้างว่าเป็นร้านประจำและเป็นแรงบันดาลใจของร้านในนวนิยายของดิกคินส์ หลังนวนิยายออก ร้านก็เลยรับสมอ้างเอาชื่อมาตั้งเป็นชื่อร้าน แถมยังใส่คำสร้อยว่าเป็นมรดกที่ไม่มีวันตายเพราะชาลส์ ดิกคินส์

ภายหลังนักวิชาการค่อนข้างระบุว่าร้านค้าดังกล่าวกุเรื่องขึ้นมาเอง ทว่าในกระแสการท่องเที่ยวของอเมริกันมายังลอนดอนเพื่อตามรอยดิกคินส์ตั้งแต่แรกเริ่มเลย ร้านแห่งนี้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยว ตัวร้านเองก็ปรับตัวกลายเป็นร้านขายของที่ระลึก มีกระปุกใส่มัสตาร์ดหน้าตาเป็นร้านของตัวเอง มีออกประกาศนียบัตร มีการขายหนังสือของดิกคินส์

อย่างไรก็ตาม ร้านเก่าแก่นี้เป็นมรดกเก่าแก่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 คือเป็นร้านโครงสร้างไม้แบบที่ตกทอดมาจากยุคกลาง เป็นหน่ึงในสถาปัตยกรรมที่ยังตกทอดมาของกรุงลอนดอน ด้วยพลังของเรื่องเล่า สุดท้ายอาคารแห่งนี้ได้ข้ึนทะเบียนเป็นอาคารมรดกด้วยความเกี่ยวข้องกับดิกคินส์ กลายเป็นอาคารได้รับการบูรณะและกลายเป็นหมุดหมายของคนรักหนังสือ

การอนุรักษ์และภาพลอนดอนเก่ายังสัมพันธ์อีกหลายมิติ เช่นการเกิดขึ้นของสมาคมภาพถ่ายอาคารโบราณแห่งลอนดอนเก่า (The Society for Photographing the Relics of Old London) ก่อตั้งในปี 1875 สมาคมถ่ายภาพเกิดจากความพยายามในการรักษาร้าน The Oxford Arms โรงเตี๊ยม จุดพักนักเดินทางเก่าที่กำลังจะถูกรื้อ ในการอนุรักษ์มีการถ่ายภาพอาคารเก่าไว้เพื่อเผยแพร่คุณค่าเพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ สุดท้ายสมาคมภาพอาคารโบราณจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเก็บและเผยแพร่ภาพลอนดอนในมุมเก่าแก่ที่อบอวลไปด้วยความขลัง กลายเป็นส่วนหนึ่งของมนตร์เสน่ห์และการร่วมเดินทางตามหาลอนดอนยุคก่อนต่อไป

จากบันทึกการเดินทางของนักเขียนหญิง อิทธิพลของวรรณกรรมที่มีต่อภาพจินตนาการของเมือง ยุคสมัยที่การเดินทางและการอ่านเขียนเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมของนักคิด ปัจจุบันการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมหรือ literary tourism กำลังเป็นอีกหนึ่งกระแสการท่องเที่ยว ทาง Future Market Insights ทำรายงานเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมว่ามีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2022 และคาดว่าจะเติบโตขึ้นแตะ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2032 กระแสการท่องเที่ยวเชิงวรรณกรรมเกี่ยวข้องกับอิทธิพลการท่องเที่ยวจากโซเชียลมีเดีย การเดินทางที่มีรายละเอียดและความหมายมากขึ้น พื้นที่ท่องเที่ยวสามารถสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้

อย่างไรก็ตาม กระแสการท่องเที่ยวสัมพันธ์กับบริบทเมืองที่มองเห็นความสำคัญของวรรณกรรม สหราชอาณาจักรเองก็มีการชูพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่กายภาพและเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรม ทั้งนี้การให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม การส่งเสริมหรือมีพื้นที่การศึกษาที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม การมีอุตสาหกรรมหนังสือ มีพื้นที่สาธารณะเช่นห้องสมุดที่เพียงพอ มีเทศกาล และพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอ่าน การเขียน ไปจนถึงการแปล ก็เป็นเงื่อนไขที่ร่วมส่งเสริมให้เมืองเมืองหนึ่งกลายเป็นเมืองที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของวรรณกรรม และกลายเป็นปลายทางของคนรักการอ่านต่อไป

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like