Toy for rent
Keimen Kids ธุรกิจให้เช่าของเล่นรายเดือนที่อยากให้เด็กไทยได้เล่นอย่างหลากหลาย จนเจอชิ้นที่เหมาะกับตัวเองที่สุด
ท่ามกลางธุรกิจแบบจ่ายรายเดือน (subscription) ที่เกิดขึ้นมากมายในยุคนี้ อะไรก็กลายเป็นสินค้าและบริการจ่ายรายเดือนได้ ไม่เว้นแม้แต่ของเล่น
Keimen Kids คือธุรกิจปล่อยให้เช่าของเล่นแบบจ่ายรายเดือนที่ก่อตั้งโดย เกา หลี่ขุยหลิน (Gao Likuilin), อุ้ม–พิมพ์จุฑา จิระวัฒน์พงศา และ ฝ้าย–พฤดา ตั้งพุทธสิริ 3 พาร์ตเนอร์ที่ตั้งใจอยากให้เด็กไทยได้เล่นของเล่นที่หลากหลาย เหมาะกับวัย ตรงใจ มากกว่านั้นคืออยากให้ผู้ปกครองได้ประหยัดเงินและพื้นที่ในบ้าน
ที่น่าสนใจกว่าเซฟเงินคือ ธุรกิจของ Keimen Kids ยังเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ที่ช่วยเซฟโลกให้น่าอยู่มากขึ้น ผ่านโมเดลการเช่าและสับเปลี่ยนหมุนเวียนของเล่นของเด็กๆ นี่แหละ
Kids’ Toy
Keimen คือภาษาเยอรมัน แปลว่ากระบวนการงอกเงย
ทีมผู้ก่อตั้งเลือกใช้ชื่อนี้ เพราะพวกเขาเชื่อว่าเด็กๆ ก็เหมือนเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตเป็นต้นกล้า ก่อนจะกลายเป็นต้นไม้สูงใหญ่
ต้นกล้าต้องการดินดี แสงแดดอุ่น และน้ำสะอาดฉันใด เด็กๆ ก็ต้องการแรงสนับสนุนและพื้นที่ที่ช่วยให้พวกเขาเติบโตได้อย่างงดงามฉันนั้น และ ‘ของเล่น’ คือส่วนสำคัญในช่วงขวบปีแรกๆ ของการเติบโต
ก่อนหน้าที่จะมาทำ Keimen Kids ด้วยกัน เกา อุ้ม และฝ้ายเคยทำธุรกิจ telemedicine หรือบริการปรึกษาหมอทางโทรศัพท์มาก่อน พวกเขาพบว่าในไทยมีหลายแบรนด์ที่ทำเช่นกัน จึงคิดอยากลองสิ่งใหม่
อันที่จริง Keimen Kids เกิดขึ้นจาก pain point ส่วนตัวของเกาในฐานะพ่อมือใหม่ เขาพบว่าการเป็นผู้ปกครองนั้นเป็นเรื่องท้าทาย โดยเฉพาะการแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่ในบ้านให้สมาชิกใหม่ และของเล่นกองมหึมาของลูก
มากกว่านั้น ทุกครั้งที่เขาซื้อของเล่นให้ลูก เกาจะไม่รู้ล่วงหน้าเลยว่าเขาซื้อของที่ถูกใจลูกหรือเปล่า “เพราะลูกเขาพูดไม่เป็น ผมเลยต้องซื้อของเล่นหลายชิ้นมาให้เขาลองเล่น เราเสียเงินไปกับของเล่นเยอะมาก” ชายชาวต่างชาติหัวเราะ ก่อนจะกลับเข้าเรื่องจริงจัง
“ผมก็คิดว่าจะช่วยผู้ปกครองที่เผชิญสถานการณ์เดียวกับผมยังไงได้บ้าง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่เป็นพ่อแม่ตั้งแต่ยังหนุ่ม ซึ่งประสบปัญหาการซื้อของเล่นเยอะเกินไปเหมือนกัน นั่นคือตอนที่ไอเดียบริการให้เช่าของเล่นเกิดขึ้นมา”
Complex Toy
เกาบอกว่า Keimen Kids เปรียบเสมือน Netflix แห่งวงการของเล่น
กล่าวคือ พวกเขาใช้โมเดลการจ่ายรายเดือน พ่อแม่จะจ่ายแค่ราคาเดียว ไม่มีค่าส่ง ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่ม และสามารถเข้าถึงของเล่นมากมายได้ตามต้องการ
“ตอนแรกมันยังไม่ใช่โมเดล subscription เราอยากให้เช่าเป็นครั้งๆ ไป แต่พอรีเสิร์ชดูจากต่างประเทศก็เห็นว่าออสเตรเลียกับอเมริกาเขาก็มีโมเดลธุรกิจแบบนี้เหมือนกัน แต่จะเน้นให้เช่าแบบออฟไลน์เสียมากกว่า เราก็เห็นว่ามันน่าจะมีศักยภาพในตลาด” อุ้มขยายความ
ไม่ใช่แค่โมเดลนี้เป็นสิ่งใหม่ แต่เทรนด์ของเล่นที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยก็ทำให้พวกเขาเห็นโอกาสที่มากขึ้น ทีมผู้ก่อตั้งเล่าว่า เมื่อก่อนของเล่นอาจเป็นสิ่งที่เด็กๆ เล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่สมัยนี้ ของเล่นสามารถเป็นสื่อการศึกษา ไปจนถึงการเป็นเฟอร์นิเจอร์ไลฟ์สไตล์ชิ้นหนึ่งในบ้านที่เด็กๆ หัดประกอบขึ้นด้วยสองมือของตัวเอง
“ของเล่นในปัจจุบันมีความซับซ้อน และความต้องการของผู้บริโภคก็ขยายขอบเขตกว้างมากขึ้น นั่นทำให้ของเล่นมีราคาแพงขึ้น” เกาบอก
นอกจากจะส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เข้าถึงของเล่นที่หลากหลาย Keimen Kids ยังช่วยให้พ่อแม่เซฟเงินในกระเป๋ามากขึ้น เพราะเมื่อเด็กๆ เช่าของเล่นใหม่ไปในแต่ละครั้ง เด็กๆ สามารถตัดสินใจว่าจะเล่นชิ้นไหนต่อ หรืออยากได้ชิ้นไหนมาประจำไว้ที่บ้าน ก็สามารถอ้อนให้คุณพ่อคุณแม่ซื้อจาก Keimen Kids ได้เลย วิธีนี้ก็จะช่วยให้พ่อแม่ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
พวกเขาบอกว่า นี่แหละคือวิธีการที่ win-win ของทั้งผู้ปกครองและเด็กๆ
Customized Toy
ในคลังของเล่น Keimen Kids มีของเล่นให้เลือกมากถึง 400 ชิ้น
พวกเขาแบ่งของเล่นออกตาม 5 สกิลพัฒนาการของเด็ก ได้แก่ ของเล่นเพื่อการฝึกกล้ามเนื้อ ของเล่นเพื่อการฝึกแก้ปัญหา ของเล่นเพื่อฝึกทักษะทางสังคม ของเล่นเพื่อฝึกภาษา และของเล่นเพื่อฝึกความคิดสร้างสรรค์ มากกว่านั้น รูปแบบการเล่นก็มีหลากหลาย เพราะมีทั้งของเล่นไม้ หนังสือ ของเล่นเอาต์ดอร์ ของเล่นที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ ไปจนถึงของเล่นที่มีแสงสีเสียง กดปุ่มสนุก
แค็ตตาล็อกของเล่นของพวกเขายังมีการแบ่งของเล่นตามอายุและพัฒนาการ เพื่อแก้ pain point อีกข้อของผู้ปกครองส่วนใหญ่คือไม่รู้จะเลือกของเล่นให้ลูกยังไง
ที่เจ๋งก็คือ ผู้ปกครองและเด็กๆ สามารถ customize จำนวนของเล่นได้ตามโอกาสและเวลาที่อยากเล่น เช่น วันไหนที่บ้านมีปาร์ตี้ของเด็กๆ พ่อแม่ก็สามารถจ่ายค่าเช่าเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ของเล่นกล่องใหญ่ขึ้น หรือถ้าลูกอยากเล่นชิ้นไหนนานกว่ารอบสมัครสมาชิก พ่อแม่ก็สามารถต่อค่าสมาชิกเดือนต่อเดือนเพื่อเช่าต่อชิ้นนั้นได้เลย และถ้าเบื่อเมื่อไหร่ก็คืนของแล้วเปลี่ยนชิ้นใหม่ หรือจะยกเลิกสมาชิกรายเดือนก็ได้เช่นกัน
จากของเล่นกองใหญ่ที่เห็น เราอดสงสัยไม่ได้ว่า นิยามของเล่นที่ดีสำหรับทีม Keimen Kids เป็นแบบไหน
อุ้มยิ้ม ก่อนจะตอบว่า ของเล่นที่ดีต้องเป็นของเล่นที่สามารถตอบหลายๆ โจทย์ ทั้งหน้าตาดี คงทนเล่นได้นาน และเสริมสร้างพัฒนาการได้
“สำหรับผม มันคือคำว่า timeless” เกาเสริม “อย่างเลโก้นี่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก มันช่วยเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ คุณสามารถเล่นมันได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ จนอายุ 80 ปีแล้วก็ยังเล่นไม่เบื่อ ผมว่านั่นมันน่าทึ่งมากเลย
“การเล่นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ไม่เพียงแต่เด็กๆ แต่หลายบ้านที่เช่าของเล่นเราไปเขาก็มีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านเหมือนกัน และของเล่นเหล่านี้ช่วยให้เหล่าผู้สูงอายุได้ฝึกกล้ามเนื้อได้ด้วย อีกหนึ่งคุณสมบัติที่สำคัญคือมันควรจะเป็นของเล่นที่ยั่งยืน คงทน อย่างของเล่นไม้ที่หักได้ยาก ผมว่ามันอาจจะยั่งยืนว่าพลาสติกที่ใช้แค่ครั้งเดียว”
Sustainable Toy
อันที่จริง คงไม่เกินจริงถ้าจะพูดว่าของเล่น Keimen Kids นั้นคือของเล่นที่ ‘รักษ์โลก’
“รูปแบบการเช่าของเรามันคือการหมุนเวียนของเล่นอยู่แล้ว เพราะของเล่นบางชิ้น เช่น ของเล่นไม้ มันหมุนมาประมาณสิบบ้านแล้วก็ยังอยู่ในสภาพที่ดีอยู่ เมื่อเทียบกับการซื้อของเล่นที่เด็กๆ อาจจะเล่นแป๊บเดียวแล้วพ่อแม่ก็หาที่ปล่อยขาย ถ้าปล่อยไม่ได้ก็วางไว้ตรงเชลฟ์ ทุกอย่างก็จะกลายเป็นขยะ เราพยายามที่จะลบภาพนั้น ให้ของเล่นมาอยู่กับเราแล้วหมุนเวียนกันในสังคมที่เราพยายามสร้าง” ฝ้ายเล่าด้วยแววตาตั้งใจ
พวกเขายังรับซื้อของเล่นมือสองสภาพดีจากเว็บไซต์ e-Commerce และเหล่าพ่อแม่มาเก็บไว้ในคลัง ซึ่งสามารถลดจำนวนของเล่นที่จะถูกทิ้งได้ราว 1,000 ชิ้นแล้วในตอนนี้
ในอนาคต Keimen Kids ยังมีแผนที่จะพัฒนาธุรกิจให้กลายเป็นแพลตฟอร์มเช่า ขาย และส่งต่อของเล่นเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนกันได้มากขึ้น
“ตอนนี้ลูกสาวของผมอายุ 2 ขวบ ผมก็ต้องคิดแล้วว่าผมจะสร้างโลกแบบไหนไว้ให้เธอ จะเป็นโลกที่มีแต่ขยะเหรอ หรือเป็นโลกที่อุณหภูมิร้อนกว่านี้ นั่นคือคำถามที่ผมถามตัวเองตลอดเวลา และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงอยากทำธุรกิจนี้ให้เป็นมิตรต่อโลก เพราะรู้ไหมว่า 90% ของของเล่นที่เด็กๆ ไม่เล่นแล้วจะกลายเป็นขยะที่เดินทางไปสู่แหล่งฝังกลบ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อหยุดภาพนั้นล่ะ” เกาทิ้งคำถามไว้ให้คิดต่อ
“ตั้งแต่เราได้มาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจนี้ เรารู้สึกแฮปปี้ ถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อย แต่เวลาไปส่งของแล้วเจอน้อง ๆ มันก็เติมเต็มในแต่ละวันได้” ฝ้ายบอก ก่อนที่อุ้มจะเสริมต่อ
“พอได้มาทำธุรกิจนี้ เราได้เห็นฟีดแบ็กต่างๆ ได้เจอพ่อแม่ เจอเด็ก แม้จะเป็นพาร์ตสั้นๆ เพราะบางคนอยู่กับเรา 2-3 เดือน บางคนอยู่กับเราตั้งแต่ต้นจนตอนนี้ เรารู้สึกดีที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะบอกเขาให้ลองอะไรใหม่ๆ ทำให้พ่อแม่ค่อยๆ เข้าใจพัฒนาการของเด็ก รู้สึกดีใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งของพาร์ตเล็กๆ ในชีวิตเขา”