อีสานคลาสสิก

ISAN Cubism แบรนด์เซรามิกที่หยิบเอาศิลปะอีสานมาสื่อสารใหม่เป็นไอเทมที่ใครๆ ก็อยาก cf

ฉันเกิดและโตที่อีสาน 

ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนบ้านเดียวกันบ้าง แต่ไม่เคยเลยสักครั้งที่มีโอกาสได้นั่งคุยเรื่องศิลปะอีสาน สารภาพว่าอายนะ เพราะไม่รู้ว่าที่อีสานมีมรดกด้านศิลปะด้วย เมื่อต้องไปพูดคุยกับทีมที่ทำแบรนด์ ‘ISAN Cubism’ ที่เพิ่งออกโปรดักต์เป็นงานปั้นพระไม้ และคนในโซเชียลก็พร้อม cf ตั้งแต่ยังไม่เปิดขาย จนพระองค์ใหญ่ sold out ภายใน 40 นาที

สำหรับคนที่อาจจะยังไม่คุ้นชื่อ ‘ISAN Cubism’ คือแบรนด์เครื่องปั้นดินเผาที่ตั้งใจหยิบเอาศิลปะอีสานอย่าง ลายขิด ฮูปแต้ม และพระไม้มาสื่อสารใหม่เป็นโปรดักต์ร่วมสมัยเพื่อให้คนรุ่นเก่าเห็นคุณค่าและคนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ โดยมีผู้ร่วมก่อตั้ง 2 คนคือ อาจารย์เปิ้ล–ผศ. ดร.ณัฏฐพงศ์ พรหมพงศธร รับหน้าที่ดูแลการผลิต และ อาจารย์ขาม–ผศ. ดร.ขาม จาตุรงคกุล รับหน้าที่ดูแลเรื่องกราฟิกดีไซน์และแพ็กเกจจิ้ง ซึ่งนอกจากทั้งคู่จะแท็กทีมกันทำ ISAN Cubism แล้ว พวกเขายังมีงานหลักเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย

พอฉันได้เห็นงานของแบรนด์ ISAN Cubism แล้วปรากฏว่า ศิลปะอีสานที่ว่านั้นกลับคุ้นตามาก โดยเฉพาะลายขิด อาจเป็นเพราะลวดลายของลายขิดอยู่ในชีวิตประจำวันของคนอีสาน (ตั้งแต่เกิดเลยก็ว่าได้) บนหมอนที่มีทุกบ้าน บนเสื่อที่นั่งกินข้าว หรือกระทั่งของประดับในงานบุญ งานบวช งานกฐิน 

แต่ทั้งที่อยู่ใกล้แค่นี้เอง ทำไมฉันไม่เคยรู้เลยว่ามันคือ ศิลปะอีสาน   

นี่จึงเป็นการเปิดประตูเข้าไปรู้จักศิลปะอีสานของฉันผ่านแบรนด์ ISAN Cubism และอาจเป็นของคุณด้วย  

คุณทั้งสองคนผูกพันกับความเป็นอีสานตั้งแต่ตอนไหน 

อาจารย์ขาม : ผมเป็นเด็กชานเมือง พ่อแม่เป็นข้าราชการเลยไม่ได้อยู่ในสังคมลูกอีสานขนาดนั้น ผมชอบความ folk ของอีสาน ประเพณีพื้นบ้าน แต่ก็ไม่ถึงกับหลงใหล พอโตขึ้นมาไปเรียนออกแบบก็ต้องใส่ความเป็นสากลเข้าไปในงาน จุดที่ทำให้ผูกพันกับความเป็นอีสานคงเป็นตอนทำทีสิสปริญญาโทที่ศิลปากร สมัยเมื่อ 20 ปีที่แล้วอะไรก็ตามที่ไม่โมเดิร์นคือไม่ดี ล้าสมัย ซึ่งผมเองก็รู้สึกโดนกดทับ 

แต่ถ้าเราไหลตามน้ำไป แล้วเราจะกลับไปสอนเด็กยังไงว่าศิลปะอีสานมันมีตัวตนที่เท่ ผมก็เลยเดินทางไปทั่วอีสานเพื่อทำรีเสิร์ช ไปดูหม้อไหบ้านเชียง ปราสาทหิน วัดโบราณ แล้วเก็บลวดลายต่างๆ มาทำฟอนต์กับ clip art เป็นเล่มทีสิส

อาจารย์เปิ้ล : ผมเป็นคนใต้นะ มาจากจังหวัดตรัง ตอนเรียนก็มาเรียนที่ศิลปากรอยู่หน้าวัดพระแก้ว ตอนทำทีสิสก็ทำเกี่ยวกับสัตว์หิมพานต์ เรียกว่าทำงานศิลปะแบบ academic มาตลอด ซึ่งมันเป็นศิลปะที่ค่อนข้างมีสัดส่วนทองคำ มีแบบแผน ต้องลายเส้นแบบนี้ นอกกรอบแล้วไม่สวย แต่พอมาอยู่อีสาน มันเซอร์มาก ศิลปะอีสานเหมือนเด็กวาดรูปเล่นแต่มาอยู่ในวัดที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ผมก็เลยเริ่มสนใจว่ามันคือศิลปะอะไร

ตอนที่ผมคิดว่าผูกพันจริงๆ คงเป็นตอนเรียนปริญญาเอก เพราะผมต้องลงไปตามชุมชนเพื่อทำรีเสิร์ชศิลปะอีสาน ไปดูฮูปแต้มตามวัดที่มหาสารคาม ขอนแก่น ดูไปเรื่อยๆ ผมก็เริ่มตื่นเต้นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วยิ่งได้อาจารย์ขามที่เป็นกูรูอยู่ข้างๆ นอกจากจะทำให้ผมเรียนรู้เร็วแล้ว มันก็สนุกมาก

คิดว่าความน่าสนใจของศิลปะอีสานอยู่ตรงไหน 

อาจารย์ขาม : ศิลปะอีสานมันพูกพันกับผู้คน ไม่เหมือนภาคเหนือที่จะมีอาณาจักรล้านนา อยุธยาก็มีช่างหลวงทำให้เจ้านาย แต่ทางอีสานเราไม่มีเจ้าเมือง เราไม่ใช่ศูนย์กลางการปกครอง คนอีสานทำงานศิลปะเพื่อกันละกัน เพื่อตัวเอง เพื่อชุมชน เป็นศิลปะที่เกิดจากชาวธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำเรียนศิลปะสร้างสรรค์มันขึ้นมา

ผมไปอ่านหนังสือของอาจารย์วิโรฒ ศรีสุโร แกเป็นศิลปินนักออกแบบที่ไปช่วยอุตสาหกรรมด่านเกวียน แกเขียนหนังสือร่วมกับอาจารย์ไพโรจน์ สโมสร ซึ่งทั้งสองคนเป็นคนใต้ทั้งคู่เลยนะ แกก็สรุปศิลปะอีสานออกมาว่า บึกบึน เรียบง่าย ซื่อตรง ใสซื่อ ซึ่งมันเป็นคาแร็กเตอร์ของคนอีสาน

พอได้ศึกษาศิลปะอีสานแล้ว คิดจะทำแบรนด์กันเลยไหม 

อาจารย์เปิ้ล : เชื่อไหมว่าผมกับอาจารย์ขามเราเห็นภาพเลยว่าฮูปแต้มในวัดสามารถเป็นโปรดักต์สมัยใหม่อะไรได้บ้าง แต่ตอนนั้นยังไม่มีความคิดว่าจะทำแบรนด์ ผมคิดแค่ว่าถ้านักศึกษาได้เรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของบ้านเขาเอง ว่ามันสามารถสร้างเป็นโปรดักต์อะไรได้บ้าง นักศึกษาก็จะทำงานอยู่ที่บ้านได้ไม่ต้องไปอยู่ไกลบ้าน อยู่อีสานคนก็มาซื้อของคุณเอง เช่น เราไปภาคเหนือ เขามีผลิตภัณฑ์ของเขาเยอะมาก แต่มาอีสานเราไม่มีอะไรเลย  

ช่วงนั้นเราก็เลยมุ่งมั่นที่จะสอนเด็กเรื่องศิลปะอีสาน นอกจากจะสอนหนังสือ ผมกับอาจารย์ขามก็จะไปบรรยายเรื่องผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมให้กับชุมชนด้วย ผมทำผลงานไปประกวดตามเวทีต่างๆ ด้วย อาจารย์ขามก็เปิดบริษัทกราฟิกเขาก็ช่วยเหลือชุมชนออกแบบสินค้าให้ เพราะว่าเราอยากสื่อสารออกไปว่าศิลปะอีสานมันก็มีดีนะ แต่ฟีดแบ็กที่ได้กลับมาทำให้เราเฟล เพราะทุกคนก็จะบอกว่ามันอีสานเกิน (เสียงสูง)

แล้วอะไรคือแรงผลักดันให้คุณลุกขึ้นมาทำแบรนด์ ISAN Cubism  

อาจารย์ขาม : ย้อนกลับไปตอนที่เรายังไม่มีการตื่นตัวด้านวัฒนธรรมนะ ผมกลัวคนในพื้นที่จะมองว่าศิลปะอีสานบ้านเรามันน่าอาย ทำงานออกมาแล้วเดี๋ยวจะโดนบูลลี่ ซึ่งผมคิดว่าเด็กจำนวนหนึ่งก็น่าจะรู้สึกอย่างนั้น บวกกับผมเปิดบริษัทกราฟิก ทำแบรนด์ให้ชุมชนมา 15 ปี ไปบรรยายด้านการออกแบบ ทุกคนจะขึ้นบันไดขั้นที่ 1 ใหม่เสมอ คือ สร้างแบรนด์ ตั้งชื่อแบรนด์ใหม่ ทำโลโก้ใหม่ ทำแพ็กเกจจิ้งใหม่ เราใช้สมองกับงานเยอะมากแต่ชาวบ้านเขาก็ไม่เอาไปพัฒนาต่อ เราเหนื่อยกับการบอกเขาแล้วว่ามันดี มันก็ตกตะกอนมาเรื่อย ๆ จนอาจารย์เปิ้ลมาชวนทำ ผมก็ตกลงทันที

อาจารย์เปิ้ล : ผมทำเพราะผมอยากให้คนกลับมามองศิลปะอีสาน เด็กคือจุดใหญ่ของผมเหมือนกัน เพราะเราสอนเด็กเรื่องผลิตภัณฑ์เชิงวัฒนธรรมเขาก็ไม่เชื่อ เขาไปทำคาแร็กเตอร์ของเขาเอง แต่เด็กเซรามิกทุกคนจะทำงานเซรามิกได้แค่เดือนเดียว ก็ไปทำอย่างอื่นแล้ว ประเทศไทยเด็กเซรามิก 400 คน จะมีแค่ 10 หรือราวๆ 40 คนเท่านั้นที่ทำเซรามิกแล้วเลี้ยงชีพได้  

จุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์ ISAN Cubism 

อาจารย์เปิ้ล : ตอนปี 2021 ผมเริ่มจริงจังแล้วว่าอยากสร้างโปรดักต์เพื่อขายจริงๆ เพราะทุกครั้งที่ส่งผลงานไปประกวดเราจะได้ต้นแบบเพิ่มขึ้นมาทุกปี ทำเสร็จแล้วก็เอามากองไว้ ทุกงานเราไม่สามารถวางการผลิตจนจบแล้วขายได้ ผมเลยปรึกษาอาจารย์ขามว่า ผมอยากทำแบรนด์ อาจารย์อยากทำกับผมไหม เพราะผมจ่ายคนเดียวไม่ไหว อาจารย์ขามก็โอเค ซัพพอร์ตสถานที่ด้วยครับ

วันแรกที่ทำแบรนด์คาดหวังอะไร

อาจารย์เปิ้ล : ไม่คาดหวังอะไรเลยครับ 

อาจารย์ขาม : จะขายเมื่อไหร่เรายังไม่รู้เลยครับ (หัวเราะ)

ทำไมต้องเป็นแนว Cubism สนใจอะไรในศิลปะแนวนี้เป็นพิเศษ

อาจารย์ขาม : มันเป็นศิลปะที่เกิดมาตั้งแต่ 100 ปีที่แล้ว ปิกัสโซไปมิวเซียมที่รวบรวมพวกของใช้จากแอฟริกาที่ฝรั่งเศส แล้วก็วาดหน้าผู้หญิงสองสามคน แต่แทนที่จะวาดหน้าผู้หญิงที่เป็นเจ้านายสวยๆ เขาวาดหน้าโสเภณีเหมือนผี เป็นแนวเรขาคณิต วาดหน้าคนเป็นเหลี่ยมๆ ต่อมาคนก็เรียกมันว่าแนวคิวบิสม์ ซึ่งเป็นแนวศิลปะที่คนอีสานชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ได้เรียนศิลปะมาเลยเขาก็ทำได้ นั่นก็คือภูมิปัญญาลายขิดที่อยู่บนผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ลายผ้าของอีสาน ซึ่งทำยากมากกว่าจะจัดลายให้ได้เหมือน pixel art 

ปรัชญาหนึ่งของคิวบิสม์ที่ผมว่าน่าสนใจก็คือ ต้องเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาดัดแปลงให้มันต่างจากเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนดีไซน์ทุกคนถูกสอนมาเสมอว่า ห้ามลอกมานะ ต้องแปลงมันให้เป็นสิ่งใหม่ ฟังก์ชั่นใหม่และสื่อสารได้บ้าง ซึ่งมันก็ตรงกับสิ่งที่เราอยากเห็นใน ISAN Cubism

คุณตั้งใจจะเชื่อมโยงศิลปะอีสานกับศิลปะแนวคิวบิสม์เพราะสื่อสารง่ายหรือเปล่า

อาจารย์เปิ้ล : ผมอยากให้ฝรั่งเขารู้ว่าบ้านเราก็มีคิวบิสม์ที่เกิดจากชาวบ้านธรรมดา และผมมั่นใจว่ามันเก่าแก่กว่าคิวบิสม์ที่ยุโรปอีก ซึ่งก็ปิ๊งไอเดียขึ้นมาชื่อเดียวเลยครับว่า ISAN บวกกับคิวบิสม์ คำว่าคิวบิสม์ฝรั่งจะเก็ต แล้วเขาจะอยากรู้ต่อว่าอีสานคืออะไร เราต้องการเชื่อมอีสานกับสากลเข้าด้วยกัน 

อาจารย์ขาม : อย่างที่ผมบอกว่าปรัชญาของคิวบิสม์ ตัวมันเองก็คือการปรับตัวเข้าหาสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้วกลายเป็นสิ่งใหม่ เจออะไรก็ไม่รู้แหละปรับให้เป็นสิ่งใหม่ เพราะคิวบิสม์มันก็คืออยู่ๆ ก็วาดรูปคนเป็นหน้าลูกบาศก์เฉยเลย ซึ่งก็เหมือนวัฒนธรรมอีสานมาก ความเป็นอีสานมันลื่นไหล ผ่อนปรนไปได้กับทุกอย่าง ทั้งแจ๊ส โซล ฮิปฮอป เข้ากับคนอื่นก็ได้หมด อยู่ตรงไหนก็ได้

และผมก็มองคำว่า cube กับ cute มันออกเสียงคล้ายๆ กันใช่ไหมครับ เพราะงั้นผมคิดว่า ISAN Cubism จะมีสอง element ก็คือ อีสานน่ารักก็ได้ อีสานลูกบาศก์ก็ได้ ทำให้งานมีทั้งลายเส้นฟรีฟอร์มและเรขาคณิต ดีไซน์ผสมกันแล้วแต่โจทย์ เหมือนพ่อครัวคนหนึ่งที่มีรสชาติที่อยากนำเสนอให้คนลองกินเพราะเขาคิดว่ามันอร่อย

ความเชื่อของแบรนด์คืออะไร 

อาจารย์เปิ้ล : เราทำขึ้นมาใหม่ก็จริง แต่ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นของผมนะเพราะมันเป็นของชาวบ้านคนอีสาน เราเอามาทำให้มันร่วมสมัยเพราะเราเห็นว่าศิลปะอีสานมีศักยภาพที่จะไปต่อได้อีกไกล 

ตอนเริ่มต้นทำแบรนด์กันคุณคาดหวังอะไร

อาจารย์เปิ้ล : ไม่ได้คาดหวังเลยครับ 

อาจารย์ขาม : จะขายเมื่อไหร่เรายังไม่รู้เลยครับ ตอนแรกเราแค่ถ่ายรูปลงในเพจเฉยๆ เราลงรูปไปแค่ 4 แบบแต่ว่าพระมีทั้งหมด 12 แบบ เห็นยอดไลก์ร้อยกว่าไลก์ คนแชร์ไปเยอะมากมันก็มหัศจรรย์แล้ว มีคนอินบอกซ์มาขอซื้อตั้งแต่ตอนที่เราลงรูปนะ ปรากฏว่าพระ 130 องค์ องค์ใหญ่ขายหมดภายใน 40 นาที 

ตีโจทย์ออกมาเป็นเครื่องปั้นดินเผาได้ยังไง ทำไมไม่ทำเป็นอย่างอื่น

อาจารย์ขาม : ด้วยความที่ผมเปิดบริษัทกราฟิกแล้วเราทำงาน graphic on product เสียส่วนใหญ่ ไม่เคยทำโปรดักต์จริงๆ ช่วงโควิดก็ต้องปิดบริษัทไป 2 ปี ช่วงนั้นผมกับแฟนก็ได้มีโอกาสรีสกิลอัพสกิล ลองทำงานไม้ งานปั้นเซรามิก มันก็นำมาสู่การทำ ISAN Cubism อีกอย่างคืออาจารย์เปิ้ลมีทักษะในการปั้นเซรามิกสูงมาก

อาจารย์เปิ้ล : ผมทำเซรามิกมาตั้งแต่อายุ 14  นับเป็นความโชคดีมากๆ เพราะโรงเรียนผมที่ตรังมีช็อปเซรามิก ตอนเรียนปริญญาตรีก็เรียนศิลปอุตสาหกรรม แต่มันมีช่วงหนึ่งที่ผมไปลองทำอย่างอื่นนะ ผมเคยลองเลี้ยงกุ้ง เลี้ยงแคคตัส เลี้ยงปูนา ผมลองเปลี่ยนอาชีพไปเลยไม่ทำเซรามิกเลย แต่หลังจากลองทำแล้วผมรู้เลยว่าผมต้องทำเซรามิกอย่างเดียวเท่านั้น เพราะสิ่งที่ทำให้ผมอยู่ได้มากที่สุดคือเซรามิก

แล้วการจะทำงานที่มันคราฟต์มากแบบนี้ มีความยากอะไรไหม และแก้ปัญหายังไง

อาจารย์เปิ้ล : อย่างแรกคือ คนทำงานเพราะงานเรามันทั้งทำยากและพลาดได้ทุกขั้นตอน ไม่ใช่ใครจะทำได้ แล้วการทำเซรามิกมันมีต้นทุนสูง ถ้าทำงานเสียหายมันคือต้นทุนทั้งหมด แต่โชคดีที่ตอนปี 2022 ผมเจอเด็กเก่ง 2 คนที่ผมสอนอยู่ ผมมั่นใจในฝีมือน้องมากและพร้อมที่จะจ้างเขาในราคาสูง แต่ผมจ้างไหวแค่คนเดียว ผมเลยคุยกับอาจารย์ขามว่า เราจะช่วยกันจ่ายเงินเดือนน้อง 

ความยากที่ 2 ก็คือ ผมต้องจัดตารางชีวิตใหม่ เพราะผมมีงานสอน งานเวิร์กช็อป ถูกเชิญไปเป็นวิทยากร เวิร์กช็อปทีครั้งละ 15 วัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปผมจะไม่สามารถปลีกตัวไปทำแบรนด์ได้เต็มที่ ผมเลยต้องจัดการตัวเองก่อน ผมใช้ทั้งปี 2022 เคลียร์ชีวิตตัวเอง เพื่อจะได้เริ่มนับ 1 กับแบรนด์ ISAN Cubism ในปี 2023 

ถึงตอนนี้ทีมทั้งหมดมีกี่คน แบ่งหน้าที่กันยังไงบ้าง 

อาจารย์ขาม : ผมจะดูแลเรื่องกราฟิกดีไซน์ แพ็กเกจจิ้ง ดีไซน์บูทเวลาที่เราต้องไปออกบูทตามที่ต่างๆ แล้วก็ซัพพอร์ตอาจารย์เปิ้ลเวลาที่เขาต้องการอะไรครับ

อาจารย์เปิ้ล : ทีมเรามีทั้งหมด 6 คน ทีมผลิตเซรามิก 3 คน เราทุกคนจะเป็นแอดมินหมด ผมพูดได้เลยว่าตอนนี้ทุกคนในทีมสำคัญหมด ขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลยครับ

คุณมีวิธีคิดยังไงว่าจะผลิตโปรดักต์ไหนออกมาขาย

อาจารย์เปิ้ล : ตอบตรงๆ ว่าเราทำโปรดักต์ที่น่าจะทำเงินได้ออกมาก่อน ชิ้นที่ใช้เวลาน้อยที่สุด มีคำถามน้อยสุดและมีของเสียน้อยที่สุด เพราะเราเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทุกอย่างต้องใช้เงินหมด เรามีโปรดักต์อยู่ 3 ชิ้นหลักก็คือ เตาน้ำมันหอมระเหย ที่รองแก้วน้ำ แล้วก็พระ ทั้ง 3 อย่างนี้ผมอยากทำหมด แต่ถ้าเราทำเตาน้ำมันหอมระเหยก่อนกว่าจะคืนทุน เราจะตึงมาก และมันทำยากครับ ผมลองให้น้องฝ่ายผลิตในทีมทำ อาทิตย์หนึ่งทำได้หนึ่งชิ้นซึ่งแบบนี้เราไม่รอดแน่

ส่วนที่รองแก้ว เราก็ต้องลงทุนกับเครื่องจักรเพราะผมลองทำแล้ว ที่รองแก้วจบสวยที่สุดด้วยเครื่องจักรอัด RAM press ซึ่งตอนนี้เรายังไม่มีเงินไปลงทุนก็เลยต้องพักไว้ก่อน 

ส่วนตัวโปรดักต์พระก็ยากเหมือนกัน เพราะการถอดพิมพ์พระมันยากมาก ยากจนท้อ แต่พอให้น้องฝ่ายผลิตลองทำแล้วน้องทำได้ดีมาก เราก็เลยต้องทำของที่มันน่าจะขายดีและไม่ต้องลงทุนมากออกมาก่อนเพื่อความอยู่รอด และเมื่อเทียบเราเทียบพระกับเตาน้ำมันหอมกับที่รองแก้วแล้ว เตาน้ำมันหอมกับที่รองแก้วจะไม่ขายหมดภายใน 40 นาทีเหมือนพระ มันจะช้ากว่านั้นมาก เราก็ตั้งธงทำพระเลย

การเอาวัฒนธรรมดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ทำผลิตภัณฑ์ มันมีความละเอียดอ่อนไหม ต้องบาลานซ์ยังไง

อาจารย์ขาม : ผมจะพูดแบบนี้ทุกครั้งที่ไปบรรยายให้แม่ๆ ป้าๆ ฟังว่า สวัสดีครับผมจะมาพูดเรื่องวัฒนธรรมอีสานที่ทุกคนก็ทราบดีอยู่แล้วว่ามันคืออะไร แต่อีสานในความหมายของผมคือ ความเก่าและใหม่ที่มันอยู่ร่วมกันได้ เหมือนผมอยู่บนเวที ผมก็จะไม่ไปเบียดให้คุณตก ผมเป็นดีไซเนอร์ คุณเป็นช่างหัตถกรรม เรายืนอยู่บนเวทีนี้ด้วยกัน เพราะศิลปวัฒนธรรมอีสานเราทุกคนร่วมกันเป็น stakeholder ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกัน เราจะไม่ไปลบหลู่ความเชื่อดั้งเดิม แต่ผมก็ไม่อยากให้คนสมัยนี้เห็นวัฒนธรรมเดิมแล้วกลัวจนไม่กล้าสบตา ผมอยากทำให้มันน่ารักขึ้นมา

คุณทำยังไงในการเอาสิ่งที่คนยุคก่อนให้คุณค่ามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ให้คนยุคปัจจุบันยอมรับ

อาจารย์ขาม : ผมจะไม่ทิ้งของเก่าแต่ก็จะไม่อนุรักษ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำไว้ ตั้งแต่ 70 ปีหรือ 90 ปีก็แล้วแต่ มันเป็นฟังก์ชั่นของยุคนั้น แต่วันนี้เราผ่านช่วงเวลานั้นมานานแล้ว มันกลายเป็นว่าเราไม่สามารถเอาสิ่งนั้นกลับเข้ามาเป็นฟังก์ชั่นใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยได้ มันต้องเปลี่ยนรูปทรง สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ได้ ด้วยการเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้เกิดฟังก์ชั่นใหม่ เอาไปอยู่ในคอนโด stand alone ได้ เอาไว้ตกแต่งได้ เป็นฟังก์ชั่นที่เราจะไม่เอาไปขึ้นหิ้งพระหรือเอาไปถวายวัดให้คนกราบไหว้ เราไม่ได้ไปแข่งกับเวย์นั้นเลยเด็ดขาด 

ย้อนกลับไปไอเดียของการทำพระไม้เป็นมายังไง 

อาจารย์เปิ้ล : จริงๆ แล้วผมปั้นแม่พิมพ์พระไม้ไว้ตั้งแต่ปี 2013 นะ จากตอนที่ผมกับอาจารย์ขามเรียนปริญญาเอก เราต้องไปทำรีเสิร์ช พอเราได้ไปเห็นพระไม้อีสานของจริงแล้วผมก็อยากปั้นเลย ตอนนั้นยังไม่มีความคิดเรื่องจะทำแบรนด์เลยนะ ผมแค่อยากทำ และผมก็มองว่าพระเป็นของที่มีทั้งคุณค่าและมูลค่า ลองวางพระคู่กับแจกันดูสิ ทั้งที่ต้นทุนเท่ากันแต่พระจะขายได้ราคาสูงกว่า เพราะพระมีคุณค่ามากกว่าแจกัน 

คุณเอาพระไม้อีสานมาประยุกต์เป็นงานปั้นยังไง 

อาจารย์เปิ้ล : ผมยอมรับว่าผมใช้วิธีจำลอง ผมอยากรู้วิธีคิดของชาวบ้านว่าเขาคิดยังไงเวลาเขาทำพระ ผมก็ปั้นตาม พระไม้ทุกองค์ที่ผมปั้นมีอยู่จริงทั้งหมดในหนังสือ แต่ผมจะไม่ไปแกะไม้ตามเขานะเพราะมันไม่ใช่สกิลที่ผมมี ผมก็เปลี่ยนวัสดุจากไม้เป็นดินแล้วเก็บลักษณะพระไม้สไตล์ชาวบ้านเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเพื่อถ่ายทอดให้คนรู้ว่ายุคสมัยหนึ่ง ที่อีสานเคยมีพระไม้แบบนี้อยู่นะ ผมอยากให้คนอื่นได้เห็นว่านี่คือพระของชาวบ้านทั่วไปทางภาคอีสาน

แล้วการปั้นพระมันก็สอนผมอย่างหนึ่งว่า เราทุกคนก็สามารถสร้างพระเป็นของตัวเองได้ ชาวบ้านเขายังแกะพระตามความชอบของเขาเลย จะด้วยความสมถะ เขาก็แค่แกะไม้ท่อนหนึ่งให้เป็นพระ แกะไปจนรู้สึกว่ามันคือพระแล้วก็จบ ไม่ได้สวยงาม เป็นทรงประหลาดก็ตาม แสดงให้เห็นทัศนะของชาวบ้านต่อความงาม ผมก็คิดว่า ขนาดชาวบ้านเขายังทำตามใจตัวเองเลย ถ้าผมจะทำแล้ว ผมทำเซรามิกได้ ทำน้ำเคลือบได้ ทำดินได้ ผมก็ควรเอาสิ่งที่ผมถนัดมาทำพระ เพราะนี่คือพระในมุมของผม แต่ผมให้ความเคารพทุกขั้นตอนนะ และใส่ความเป็นตัวเองเข้าไป จะเรียกว่าผมไป co-branding กับช่างคนนี้ก็ได้

งานที่ออกมาดูป๊อปมาก คุณตั้งใจหรือเปล่า  

อาจารย์เปิ้ล : มันไม่ใช่ความตั้งใจของผมนะ จริงๆ ผมมีเหตุผลว่าทำไมพระไม้ที่เราทำถึงมีสีสัน เพราะว่าพระไม้บางองค์ที่สมบูรณ์จริงๆ จะมีสีสันสดใสมาก ตัวเหลืองเป็นเหลือง ทาหน้าขาว ปากแดง คิ้วดำ ซึ่งน่าจะมาจากชาวบ้านที่เขามีตังค์ หรือไม่ก็ได้ต้นแบบมาจากพระทางพม่าเพราะพระทางพม่าจะมีสีสดมาก คิดดูแล้วกันว่า องค์ที่เราเห็นแม้จะเก่าแล้วยังเหลืองขนาดนี้ ลองนึกถึงตอนที่ช่างเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ มันจะเหลืองขนาดไหน 

แล้วพระอีสานเซอร์มาก เป็นพระที่ไม่ได้สวยงามวิจิตรเหมือนทางพม่าหรือทางเหนือเลย พระปากเบี้ยว มือใหญ่ เท้าใหญ่ สัดส่วนไม่ได้เลย ซึ่งพระไม้อีสานเป็นแบบนี้จริงๆ ซึ่งผมทำงานด้วยความเคารพทุกขั้นตอน ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เรานึกอยากทำอะไรก็ทำนะ มันมีที่มาที่ไป แล้วเราก็ทำออกมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ

อาจารย์ขาม : นอกจากที่อาจารย์เปิ้ลบอกไปแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่เราคิดว่าควรทำพระให้มีสีสันสดใสเพราะผมคิดว่าการมีพระไว้ในบ้านทำให้จิตใจแจ่มใสได้นะ บ้านสดใสมากขึ้นไง เพราะพระของ ISAN Cubism เอามา decorate ได้ 

เรื่องรสนิยมความชอบเรื่องสีสัน คนเราชอบไม่เหมือนกันหรอก ผมเลยคิดว่าในเมื่อพระเราเป็นของตกแต่งบ้านได้ ก็ควรทำให้คนที่อยู่ในบ้านมองพระเเล้วมีความสุขอยู่ในนั้น ไม่ตึงเครียด หรือแตะต้องไม่ได้ขนาดนั้น เทียบกับคุมะมงที่มันแค่น่ารักฮีลใจได้ในระดับหนึ่ง แต่พระอาจจะฮีลได้มากกว่าเพราะมีคุณค่ามากกว่า

การที่เราเอาพระไม้มาทำให้มันป๊อปขึ้น คนเห็นแล้วอยากสะสม ถือเป็นการอนุรักษ์วิธีหนึ่งไหม

อาจารย์เปิ้ล : มันอาจจะเป็นวิธีการอนุรักษ์วิธีหนึ่ง แต่ผมไม่ได้มองเป็นเป้าหมายหลัก เราไม่รู้ว่าโปรดักต์ของเราจะช่วยอนุรักษ์ได้มากแค่ไหน แต่ผมมองว่าถ้าเราไปออกบูทที่ไหน คนก็จะถามเราว่าพระนี่คืออะไร มาจากไหน เราสามารถตอบเขาได้ว่ามันคืออะไร มันเป็นการสื่อสารให้คนรู้มากขึ้น ทำให้คนเห็นว่าที่อีสานเรามีพระแบบนี้ ศิลปะแบบนี้อยู่นะ ดูอย่างศิลปะทางภาคเหนือ บ้านเขามีคนหยิบจับศิลปะไปใช้ แต่อีสานเราไม่มีเลย ผมก็แค่อยากเอาศิลปะอีสานมาใช้บ้าง แต่เอาเข้าจริงแค่เขาซื้อไปผมก็ดีใจเเล้วนะ เพราะเขาเห็นว่าศิลปะชาวบ้านมันสวยไง

อาจารย์ขาม : เรารู้ว่าศิลปะอีสานมันมีดี แต่ถ้าเรานิ่งอยู่กับที่ ไม่ปรับตัวให้มันเข้ากับฟังก์ชั่นยุคสมัยใหม่ เราก็ต้องไปซื้อของที่ญี่ปุ่น อเมริกา ฝรั่งเศส จนเต็มบ้าน แล้วของบ้านเรามันก็จะไปอยู่ในมิวเซียม มันก็ดูน่ากลัวนะ เพราะวัฒนธรรมที่เข้มแข็งมันไม่ได้เกิดจากอาวุธ มันเกิดจากศิลปะและดีไซน์ด้วย ทุกที่ทั่วโลกเขาก็เลยให้งบประมาณมาพัฒนาศิลปะชุมชนให้แข็งแรง เพราะเขารู้ว่ามันเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ศิลปวัฒนธรรมชุมชนถูกอนุรักษ์ไว้ได้ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป 

ผมมองว่าเรากำลังเอาคัลเจอร์มาสร้าง identity แล้วดีไซน์เป็นงานเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เวลาที่ผมไปบรรยายให้แม่ๆ ป้าๆ ชาวบ้านฟังผมก็จะบอกพวกแกแบบนี้เหมือนกันว่า ผ้าทอ ผ้าซิ่น ผ้าไหมที่เขาทำเพื่อใส่ไปงานบุญ งานบวช สมมติจะขายให้คนที่อยู่ในเมืองหรือฝรั่ง ฝรั่งเขาจะใส่ไปงานบุญที่ไหน ทำไมเราไม่เอามาตัดเป็นของที่มันใช้ได้ทุกวัน เช่นทำกระเป๋าไหม

แล้วการนำพระพุทธรูปที่เชื่อมโยงกับความเชื่อและความศรัทธามาทำเป็นโปรดักต์แบบนี้ มีอะไรที่ต้องระวังไหม

อาจารย์เปิ้ล : ในแง่ของนักวัฒนธรรมผมไม่ทราบนะ แต่ถ้าเรามองพระไม้ของอีสานเราจะเห็นว่าดีไซน์พระไม้ของอีสานปากยิ้ม เราก็ไม่เคยเห็นมาก่อนใช่ไหมว่ามีองค์พระที่ยิ้มอยู่บนโลกนี้ด้วย   

อาจารย์ขาม : ถ้าจะมาดราม่ากับผม ผมจะบอกให้ไปด่าคนรุ่นก่อน 

กลัวไหมว่าคนจะมองเราว่าไปลดความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูป 

อาจารย์เปิ้ล : ผมว่าพระที่เราทำไม่ได้ไปลดความศักดิ์สิทธิ์หรอก อะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ได้หมดถ้าเขาเชื่อ ถูกไหม แต่ผมมองว่าพระของ ISAN Cubism ให้ความรู้สึกใหม่ พอมองแล้วเข้าถึงง่าย พระไม่ต้องซีเรียส บางทีหากมีพระของ ISAN Cubism คนอาจอยากเข้าวัดมากขึ้นก็ได้ เรียกว่าทำให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น 

อาจารย์ขาม : มันไม่มีหรอกที่เราจะเดินเข้าไปในร้านขายพระแล้ว อุ๊ย อยากนำไปไว้ที่บ้าน รู้สึกเป็นมิตร เข้าถึงได้ อยากเดินเข้าไปหา แต่เราก็ไม่ใช่สายมูนะ เพราะเราไม่ได้เอาไปปลุกเสกอะไร แต่มีคนอินบอกซ์มาถามนะว่าปลุกเสกหรือยังครับ ก็แล้วแต่ลูกค้าเลยจะเอาไปปลุกเสกเองก็ได้  

พระไม้มีความเชื่อมโยงกับความเชื่อของแบรนด์ยังไง

อาจารย์เปิ้ล : พระไม้ของอีสานจะมีความเป็นเหลี่ยมเป็นมุมเพราะสมัยก่อนชาวบ้านใช้เครื่องมือที่หาได้ง่ายๆ ไม่ค่อยคมมาเเกะพระ มันเลยทำให้พระมีรอยบิ่น รอยถาก มีความไม่เรียบร้อย ไม่เนี้ยบ ซึ่งตรงกับความเป็น ISAN Cubism มันมีความไม่เรียบร้อยผสมอยู่ด้วย มีความเป็นเหลี่ยม มุม มีความน่ารัก มีสีสันสดใสซึ่งเป็นสไตล์ของ ISAN Cubism ทั้งคู่เลย 

เห็นว่าขึ้น sold out ภายในเวลาไม่นาน คุณคิดว่าอะไรทำให้คนในโซเชียลสนใจงานปั้นพระไม้มากขนาดนี้

อาจารย์ขาม : ผมว่ามันเหมือนความสวยที่ปะทะต่อหน้า มันสวยแล้วอยากซื้อแค่นั้นเลย คนสนใจเพราะตัวโปรดักต์ล้วนๆ พระของ ISAN Cubism มีความร่วมสมัย มันเป็นของสะสมก็ได้ ให้ความรู้สึกเป็นของแรร์ไอเทม ในตลาดยังไม่มีพระแบบนี้ออกมาขาย แล้วสีสันของพระก็ตามเทรนด์ในตอนนี้ดีมาก มีองค์สีชมพูฐานฟ้า กับอีกองค์ฐานฟ้าสีชมพู พอมาตั้งคู่กันคู่สีน่ารักมาก คนซื้อเขาก็อยากซื้อพระองค์เล็กคู่กับพระองค์ใหญ่

จากที่ทำมา คุณคิดว่าข้อดี-ข้อเสียของการทำแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรมคืออะไร

อาจารย์ขาม : รู้ไหมว่า พระไม้บางองค์ชาวบ้านเขาเอาไปก่อไฟนะ เวลาที่มันหนาวๆ เพราะเขาไม่เห็นคุณค่า ผมก็มองว่าถ้าเราเห็นแล้วว่าบ้านเรามีของดีๆ ในพื้นที่ แต่เมสเซจที่ส่งไปอาจไม่ถึงใครเขา ผมเป็นดีไซเนอร์ผมก็ต้องใช้วิธีใหม่ให้ทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่เห็นคุณค่า แล้วช่วยสืบสานต่อหรือไม่ก็แค่รับรู้ไว้ก็ได้ว่าคนอีสานเรานับถือศาสนาพุทธอย่างเรียบง่าย พระไม่จำเป็นต้องซื้อ เราทำกันเอง ถึงจะไม่สวยแต่เรื่องศรัทธาเราไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร  

ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ถามว่าคนสมัยนี้เคร่งศาสนาไหม น้อยนะครับ แต่เขาอยากซื้อพระของ ISAN Cubism เพราะว่าน่ารัก แล้วผมก็มองว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรเราอยู่ เพราะธรรมะของผมคือธรรมะที่ไม่มีภาษาบาลี เพราะภาษาบาลีทำให้ผมไม่อยากศึกษาธรรมะ แต่ผมเห็นพระปางสมาธิแล้วทำให้ผมรู้จักคิดไตร่ตรอง พระปางรำพึง องค์นี้ทำให้ผมรู้จักคิดให้มีความสุข อีกปางคือปางไสยาสน์ ที่สอนให้ผมรู้จักพักบ้าง พระทุกองค์จะมีคำสอนอยู่ในนั้น 

ผมอยากให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าพระมีไว้ทำไม ไม่ต้องไหว้ก็ได้นะ แค่เห็นก็รู้แล้วว่าพระปางนี้ทำให้เรารู้จักคิด ปางนี้ทำให้เรามีสมาธิ ส่วนปางนี้ทำให้เรารู้จักพัก นี่คือเมสเสจที่ผมอยากส่งไป เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้เคยพูดไว้เมื่อ 2,000 กว่าปีตอนที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีสมาธิสั้น ไม่มีทำงานจนเบิร์นเอาต์ท่านจะบอกให้คนพักผ่อนยังไง ผมก็เลยมองว่าพระของเราต้องนอนแล้วยิ้มๆ มีความสุข เป็นศิลปะร่วมสมัยที่ต้องตีความใหม่เพื่อที่จะได้เข้าใจบริบทเก่า

อาจารย์เปิ้ล : คนที่ซื้อพระของเราไป บางคนเขาก็ยังไม่รู้นะว่าไอเดียมันมาจากพระไม้อีสาน มันแค่ทำให้เขาเห็น แต่ถ้าวันหนึ่งเขาไปรู้ มันก็จะลิงก์กันได้ว่ามันคือศิลปวัฒนธรรมของชาวบ้านคนอีสานที่มันมีมานานแล้ว ISAN Cubism ก็เหมือนสื่อสื่อหนึ่งมันบอกเล่าอะไรบางอย่างส่งต่อไปให้คนซื้อ มันอยู่ที่ว่าเขาจะรับได้มากแค่ไหนและเมื่อไหร่ 

คุณมีมุมมองต่อศิลปวัฒนธรรมเดิมยังไง มองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่แตะต้องได้หรือเปล่า 

อาจารย์ขาม : ผมไม่ได้แอนตี้ แต่ก็ไม่สะสม ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าซื้อของพวกนี้เข้าบ้าน มันมีขายอยู่นะ แต่ไม่กล้าซื้อ ผมกลัวผี มันเป็นฟังก์ชั่นที่เขาดีไซน์มาเพื่อใครบางคน บางสถานที่ สร้างขึ้นมาเพื่ออะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะไปเก็บมาไว้กับตัว มันก็ไม่ใช่

อาจารย์เปิ้ล : ของพวกนี้เขาอยู่ในที่ที่เขาควรจะอยู่อยู่แล้ว มันมีวัตถุประสงค์ของผู้สร้างที่จบไปแล้ว เราไม่ควรเอาของของเขามาเพราะเดี๋ยวจะผิดวัตถุประสงค์ แต่ถ้าถามว่าผมอยากได้พระไม้ไหม ผมอยากได้ แต่ไม่ใช่พระไม้องค์จริงองค์นั้นนะ แต่อยากได้พระหน้าตาแบบนี้แหละ ผมก็จำลองขึ้นมาใหม่ ผมปั้นเอง 

เป้าหมายของการทำแบรนด์ตอนนี้คืออะไร 

อาจารย์เปิ้ล : ผมมองว่าเรากำลังทำสิ่งที่มันมีคุณค่าและสามารถสร้างมูลค่าบางอย่างได้ด้วย แล้วเราก็อยากทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นนะ ดูแลครอบครัวได้ น่าจะเป็นเป้าหมายพื้นฐานในตอนนี้ 

ส่วนเป้าหมายอีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมอยากให้การทำแบรนด์นี้ไปซัพพอร์ตการเป็นอาจารย์ของเราด้วย เราอยากถ่ายทอดให้เด็กๆ เห็นว่า คุณเรียนเซรามิกไปแล้วคุณสามารถเอาไปเลี้ยงชีพได้เหมือนที่เราทำ ซึ่งเราก็หวังว่าเราจะทำได้นะ (หัวเราะ) 

อาจารย์ขาม : ตอนนี้เราทำเพื่อ business ผมอยากขายให้ได้ก่อน แต่เราจะไม่ใช้เส้นสาย เราใช้ความออร์แกนิก แต่ความฝันที่ไกลที่สุดเลยนะ ถ้าเราทำให้คนทั้งในประเทศและต่างชาติเขาชอบได้ เราก็จะมีพลังเฮือกใหม่ที่จะไปบอกชาวบ้านเขาได้ว่า เนี่ย สินค้าเชิงวัฒนธรรมมันทำได้นะ แล้วผมก็คิดไว้ในใจว่าวันหนึ่งต้องมีชาวบ้านได้เงินจากสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนเกษียณไปแล้ว คนตกงาน หรือเด็กตามบ้านคงต้องมาทำงานหัตถกรรม แต่อาจารย์เปิ้ลบอกว่ามันต้องใช้สกิลสูงมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องเอามาคิดต่อไป ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น

ตอนนี้วงการศิลปะกำลังเน้นเทคโนโลยี คุณกลัวไหมว่ามันจะกระทบกับแบรนด์

อาจารย์ขาม : ถ้าเราใช้ AI เจเนอเรต คอมพ์มันก็จะทำออกมาเป็นเส้นที่คอมพ์ชอบ ไม่ใช่แบบที่เราชอบ แล้วมันก็เสียศักดิ์ศรีความเป็นดีไซเนอร์ของเราแย่เลย แล้วถ้าเราไปจ้างโรงงานเซรามิกเขาทำ มันก็เสียความสามารถของอาจารย์เปิ้ลที่สั่งสมมาหลายสิบปี แม้ว่างานเราจะออกมามี human error ก็ตาม แต่นั่นก็คือทักษะของคนคนหนึ่ง คอมพ์มันลงสีไม่ได้แบบนี้หรอก เราก็เลยไม่กลัวเทคโนโลยี ทำ ISAN Cubism โดยเน้นความคราฟต์ทำมือกันให้มากที่สุด

อาจารย์เปิ้ล : ถ้าเป็นเซรามิกก็ไม่มีทางที่เทคโนโลยีจะทำได้เท่าฝีมือของคนครับ เพราะว่าผมลองแล้ว ผมลองใช้เครื่องปรินต์ 3D มาทำพระ ปรากฏว่ามันออกมาเป็นเส้นๆ ซึ่งจะต่างกับทำมือมาก เพราะว่าเครื่องปรินต์ 3D จะปรินต์ตามเส้นดิน ซึ่งดินมันจะไหลตัวตลอดเวลาตามธรรมชาติของดิน เครื่องจักรก็ไม่สามารถที่จะควบคุมดินได้ แม้เทคโนโลยีจะไปไกลแค่ไหน ดินมันก็ยังคงจะเป็นแบบนี้ถูกไหม เครื่องจักรอาจคุมความร้อนได้ ทำงานไว แต่งานออกมาแล้วสีจะเป็นเส้นๆ ไม่มีเสน่ห์เหมือนทำมือ พอรู้แล้วว่ามันเป็นแบบนี้เราก็ไม่ต้องกลัวหรอก เรามีจุดแข็งอยู่แล้ว เราไม่ต้องไปเขว แต่เราก็ไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีนะ เพราะว่าอย่างโปรดักต์ที่รองแก้วของเราก็ต้องใช้เครื่องจักรถึงจะออกมาสวยที่สุด  

คิดว่าอะไรคือจุดแข็งของแบรนด์

อาจารย์เปิ้ล : จุดแข็งของแบรนด์เราคือความรู้ นักออกแบบที่ดีต้องมีความรู้ ความรู้ที่เราเป็น expert ในด้านนี้ แล้วมันก็จะออกมาเป็นโปรดักต์ที่แข็งแรงเอง

อาจารย์ขาม : อาจารย์เปิ้ลมีทักษะในการปั้นเซรามิกสูงมาก การปั้นดินเผามันระเบิดได้นะถ้าผสมดินไม่ได้ การทำเซรามิกมีความเป็นวิทยาศาสตร์สูงมาก ถ้าปั้นไม่ดี ทำเร็วไปมันก็ยวบ ช้าไปก็แห้ง ต่ออะไรไม่ได้ เราต้องจับอารมณ์ดินให้ถูก ผมต้องเรียนรู้จากเขาอีกเยอะ

เห็นว่าไม่ถนัดเป็นผู้ประกอบการเลย ตอนนี้ดีขึ้นหรือยัง 

อาจารย์ขาม : ด้วยความที่ผมเป็นสายกราฟิกแล้วมาเรียนรู้เรื่องเซรามิกทีหลัง แรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจนะว่าทำไมชิ้นงานออกช้า สมมติผมบอกว่าของานนี้ภายใน 3 วันได้ไหม ทีมผลิตบอกอาทิตย์หนึ่ง พอลองไปทำเองถึงรู้ว่าจริงๆ ปั้น 3 วัน รอแห้ง 3 วัน เผาครั้งที่หนึ่ง 1 วัน รอเย็นอีก ลงสีอีก เผาครั้งที่สองปาเข้าไปแล้วเกือบๆ 10 วัน มันไม่เหมือนงานกราฟิกที่ทำวันเดียวก็เสร็จ มันยากมาก ไม่วายยังเสี่ยงแตกได้ทุกขั้นตอนแม้กระทั่งตอนแพ็กของ อีกอย่างคือการลงสินค้า ต่อไปนี้เราคงต้องคิดใหม่ว่าเราจะลงสินค้าทีละเท่าไหร่ เพราะครั้งแรกที่เราลงไปเราลงพร้อมกันหมด จนหน้าเพจเฟซบุ๊กล่มไปเลย (หัวเราะ)

อาจารย์เปิ้ล : ตอนนี้ผมพยายามควบคุมเรื่องความเสียหาย เพราะตอนแรกผมคิดว่าเราได้คนเก่งมาทำงานแล้วมันคงง่าย แต่ว่าพอมาทำงานจริง แม้เราจะมีทีมผลิตที่เก่งมากๆ แต่การทำงานเซรามิกมันเกิดความผิดพลาดได้ทุกขั้นตอนจริงๆ ผมต้องใจเย็น แล้วคิดว่าจะสื่อสารกับทีมยังไงถ้าเกิด conflict ขึ้นมา ผมจะพูดยังไงให้งานเดินต่อไปได้แล้วทุกคนโอเค ทีมผลิตแฮปปี้ อาจารย์ขามแฮปปี้ ไม่เครียดว่าทำไมงานถึงออกช้า 

ทุกวันนี้คุณบาลานซ์ระหว่างโลกธุรกิจและศิลปะยังไง 

อาจารย์เปิ้ล : จริงๆ เราเอาอาร์ตนำ ทำงานออกมาก่อนแล้วเราค่อยตั้งราคา เราไม่ได้คาดหวังว่าต้องได้เท่าไหร่ เพราะทีมเราไม่มีใครเก่ง business เลย เราเลยไม่กล้าพูดว่าเราเอา business นำ แต่แน่นอนว่าต่อไปนี้เราต้องคิดเรื่องธุรกิจให้มากขึ้น

สมมติว่าต้องทำโปรดักต์ออกมาแบบเดียวเพราะได้รับความนิยมมาก คุณโอเคไหม

อาจารย์ขาม : ผมยินดีนะ ผมให้ลูกค้าเป็นคนตัดสิน เหมือน Bearbrick ที่มีรูปทรงเดียวแต่เปลี่ยนสีไปเรื่อยๆ ถ้าแบบนี้มันขายได้ ทรงอื่นเราอาจจะหยุดแล้วมาทำทรงนี้ มันก็ดีที่เรามีงานที่คนชอบสต็อกเอาไว้ อาจารย์เปิ้ลจะได้ไม่ตึงมาก และผมก็คิดว่าทุกแบรนด์ก็น่าจะต้องการแบบนี้ คือมีโปรดักต์สักชิ้นหนึ่งที่ขายได้แน่นอน เป็นของยืนพื้น แต่เราจะไม่หยุดสร้างต้นแบบใหม่ๆ นะครับ

อาจารย์เปิ้ล : ผมขายของมาบ้างตั้งแต่มหาวิทยาลัย ผมก็จะรู้ว่าของที่มันขายดีแม้เราจะไม่อยากทำเราก็ต้องทำมันออกมาก่อนเพื่อความอยู่รอด เอาเงินมาเลี้ยงให้เราทำในสิ่งที่เราชอบต่อไป แล้วทุกแบรนด์ต้องมีของที่มันขายได้ตตลอดเวลาอยู่แล้ว เขาเรียก hero product หรือเปล่าไม่เเน่ใจ ผมมองว่า ISAN Cubism คือบ้าน ตอนนี้เราอยากสร้างบ้านอยู่ก่อน เราไม่เคยมีบ้าน เราก็ต้องการบ้านก่อน พอเรามีบ้านที่แข็งแรงแล้วเราค่อยไปใช้ชีวิตหรือทำอย่างอื่นออกมาต่อไป

เวลาทำงานผมมีความสุขนะ แม้ว่าจะทำแต่แบบเดียว ถึงแม้คนอาจมองว่ามันจำเจ แต่การทำงานเซรามิก เวลาที่เราเผา เปิดเตาออกมามันมีอะไรให้ลุ้นตลอด ว่าสีจะได้ไหม คุณภาพเป็นไง ระหว่างกระบวนการทำงานมันทำให้เราจินตนาการได้เรื่อยๆ

เท่าที่ฟังเรื่องราวของคุณมาจนกระทั่งทำแบรนด์ เหมือนกำลังดูหนัง comming-of-age อยู่เหมือนกันนะ 

อาจารย์ขาม : ตอนนี้เราทั้งสองคนอยู่ในช่วง comming-of-age กำลังเปลี่ยนผ่าน อย่างผมก็เปลี่ยนคณะที่สอนจากคณะสถาปัตย์มาอยู่ศิลปกรรมเพื่อทำงานศิลปะ จะได้ช่วยฝ่ายผลิตมากขึ้น ส่วนอาจารย์เปิ้ลเองก็เคลียร์งานสอนมาเป็นปีเพื่อปีนี้จะได้มาทำแบรนด์ อายุผมก็จะ 50 แล้ว ผมอยากทำอะไรสนุกๆ ตามใจตัวเองบ้าง ไม่อยากเป็นนักวิชาการพูดอะไรยากๆ 

ผมอยากทำ ISAN Cubism ให้สนุก เราเพิ่งเริ่มต้นกัน แม้ว่าเราจะเริ่มต้นได้ดีก็จริงแต่ก็ยังรู้สึกว่านี่คือช่วงทดลองของเราอยู่ จากที่เราด้นสดกัน ตอนนี้เราก็พอจะเห็นภาพแล้วว่าเราจะรอดด้วยวิธีไหน ผมรู้สึกเหมือนคนเพิ่งลงสนามมาเตะบอลครั้งแรก แต่ดันเตะเข้าโกล มันก็รู้สึกชื่นใจดี

อาจารย์เปิ้ล : เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของเราทั้งคู่จริงๆ แต่ก็เป็นช่วงที่ผมมีความสุขที่สุดนะ ผมทำงานสอนหนังสือ เราสอนเซรามิกที่คนเรียนน้อยมากแต่ได้เงินเดือนเท่าอาจารย์ขามสอนนิเทศที่เด็กมาเรียนเยอะ แล้วเด็กที่จบเซรามิกก็น้อยมากที่จะได้ทำอาชีพเกี่ยวกับเซรามิก มันก็เป็นความไม่สบายใจของเราที่สะสมมาเรื่อยๆ ว่าผมอยู่ผิดที่หรือเปล่า ก็เลยมีความคิดว่าอยากโฟกัสกับคนที่ตั้งใจอยากเรียนจริงๆ จะในระบบก็ได้ นอกระบบก็ได้ อยากทำแบรนด์นี้ให้เติบโตไปเรื่อยๆ

Writer

ตั้งใจจะไม่ทำอะไรที่มันพอกะเทิน

Photographer

คนธรรมดาที่บันทึกเรื่องราวผู้คนผ่านภาพถ่าย IG: Preeda.pan

You Might Also Like