Behind the TEDxBangkok Stage

7 วิธีสู่การปั้น TEDxBangkok ให้เป็นเวทีแห่งไอเดียที่คนอยากฟัง ทั้งที่ยังไม่รู้สปีกเกอร์

เอ่ยถึงอีเวนต์ทอล์กทีไร เชื่อว่าชื่อของ TEDxBangkok ต้องเข้าไปอยู่ในหัวใจทุกคนไม่มากก็น้อย เพราะแฟรนไชส์ทอล์กที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2015 แห่งนี้สร้างปรากฏการณ์ต่อหลายแวดวงของไทยทีเดียว ตั้งแต่วงการสร้างสรรค์ วงการอีเวนต์ วงการบันเทิง ไปจนถึงส่วนเล็กส่วนน้อยในสังคม

แม้ในวันนี้จะเดินทางมาเกือบ 10 ปีแล้ว แม้หลายคนอาจไม่ได้ติดตามเวทีสีแดงแห่งนี้มากเท่าเดิม แต่สิ่งที่ยังคงดึงดูดใครอีกหลายคนได้ก็คือการที่อาสาสมัครและ ‘พิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน’ license holder และ head curator ยังสนุกกับการหาตัวตนใหม่ๆ ให้กับเวทีแห่งไอเดียนี้อยู่เสมอ และสนุกกับการชวนคนกรุงมาเปิดหูเปิดตากับประเด็นที่ไม่เคยนึกถึงจนปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเอ่ยถึงอีเวนต์ทอล์กทีไร เชื่อว่าชื่อของ TEDxBangkok ต้องเข้าไปอยู่ในหัวใจทุกคนไม่มากก็น้อย

ก่อนที่ TEDxBangkok 2023 ในธีม ‘See • Sound • Seen’ ที่อยากชวนผู้คนมา See the Unheard, Hear the Unseen ไปด้วยกันในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ที่สถานที่เก่าแต่ใหม่แกะกล่องสำหรับงานอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง Capital อยากพาทุกคนไปลัดเลาะหลังเวที ไขเบื้องหลังการทำทอล์กให้คนจดจำ การนำเสนอไอเดียให้คนสนใจ

1. ธีมงานที่อาสาสมัครภูมิใจและอยากชวนคนกรุงตั้งคำถามไปด้วยกัน

TEDxBangkok เป็นอีเวนต์ทอล์กที่ทีมงานทุกคนคืออาสาสมัครที่มาทำด้วยใจรักล้วนๆ ไม่ได้มีเงินตอบแทนอะไร การเลือกธีมประจำปีจึงต้องผ่านเช็กลิสต์ต่างๆ ที่สะท้อนได้ว่าทั้งหมดนี้คือ TEDxBangkok ที่อาสาสมัครทุกคนจะภูมิใจ

ปกติธีมประจำปีจะมาก่อนสถานที่จัดเสมอ แต่ปีนี้พิเศษตรงที่ TEDxBangkok เลือกจัดทอล์กในสถานที่เปิดอย่างสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อตั้งต้นจากสถานที่ที่มี ‘เสียง’ เป็นเอกลักษณ์ สอดคล้องกับกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีเสียงหลากหลายแบบ อาสาฯ กว่า 80 คนจึงเคาะธีม See, Sound, Seen ธีมที่พาคนกรุงเทพฯ ไปเงี่ยหูฟังเสียงที่ไม่เคยได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นเสียงของคนดัง เสียงของคนธรรมดา ไปจนถึงเสียงของธรรมชาติ

“เราเลือกได้นะว่าเราอยากจะพูดอะไร อยากจะตะโกนบอกคนในเมืองว่าอะไร บางปีเราอยากบอกว่าคนกรุงเทพฯ เอ๋ย ชาวบางกอกเอ๋ย เรามาเทน้ำออกจากแก้วกัน เรามา unlearn กันเถอะ เพราะเรารู้สึกว่าสังคมนี้ เราอยู่ในสภาวะน้ำเต็มแก้วกันมากเลย 

“หรือบางปีเราก็อยากจะบอกว่าโควิดหนัก เรารู้ว่าทุกคนอ่วมกันหมดแล้ว มา awake และ connect กันเถอะ แต่ละปีมันมีทั้งสิ่งที่เราพยายามถาม และสิ่งที่เราพยายามจะสปอตไลต์ให้คนเห็น” พิอธิบายหลักการ

2. มองหาความหลากหลายในทุกมิติ 

หลักการสำคัญที่ผู้ถือลิขสิทธิ์เวที TED ทุกแห่งต้องยึดและทำให้ได้คือความหลากหลาย ไม่ว่าจะประเด็นการนำเสนอ เพศ และที่มาของสปีกเกอร์ สปอนเซอร์ ไปจนถึงผู้ฟัง เพื่อให้เวทีแห่งนี้เป็นเวทีสำหรับทุกคนจริงๆ 

“TED ไม่ใช่แค่เวทีของนักธุรกิจอย่างเดียว TED ไม่ใช่แค่เวทีของคนทำงานเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ TED Speaker มีทั้งสายบันเทิง สายดีไซน์ สายสังคม ฯลฯ มีหลายท็อปปิกที่ทุกคนพุดคุยกันได้ 

“ฉะนั้นสิ่งที่เราทำทุกปีคือการขายบัตรโดยไม่บอกไลน์อัพสปีกเกอร์ แต่ให้คนฟังกรอกข้อมูลเข้ามาก่อนว่าคุณเป็นใคร ทำไมอยากมางานนี้ เพราะเราอยากได้คนที่เปิดใจรับฟังไอเดียที่เขาอาจไม่คุ้นเคย อย่างปีนี้ก็เชื่อว่ามีสปีกเกอร์หลายคนที่เซอร์ไพรส์คนฟังแน่นอน”  

3. เผยความเป็นมนุษย์ของคนดัง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวของคนดังมักได้รับการรับฟังมากกว่าเสมอ แต่ที่จริงแล้ว หลักใหญ่ใจความในการคัดเลือกสปีกเปอร์แห่งเวทีสีแดงนี้ไม่ใช่ ‘ใคร’ แต่คือคุณนำเสนอ ‘อะไร’ ต่างหาก 

เมื่อสปีกเกอร์เป็นคนมีชื่อเสียง เรื่องราวที่นำมาเล่าก็ควรแตกต่างและไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน เช่น ทอล์กของ ‘ป๋อมแป๋ม–นิติ ชัยชิตาทร’ ในหัวข้อ ‘โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง’ ที่มาเล่าถึงความรู้สึกของการถูกแปะป้าย

“จริงหรือเปล่าที่ผู้บริหารบริษัทนี้เขาอยากพูดแต่เรื่องตัวเลข จริงหรือเปล่าที่พี่ป๋อมแป๋มเป็นคนตลกตลอดเวลา มนุษย์คนนี้มันมีมุมอื่นอีกหรือเปล่า ถ้าเราฟังเขามากพอ ทุกครั้งที่เราคุยกับเขา เราจะพบว่าตาเขาเป็นประกายเรื่องไหน” พิอธิบาย

อีกคำถามหนึ่งคือ นิยามของคำว่า ‘ดัง’ ของคนแต่ละวัยอาจไม่ตรงกันก็ได้ การหันไปหาคนที่เป็น ‘แม่เหล็ก’ ของแต่ละวงการอาจสำคัญกว่า 

4. เผยความมหัศจรรย์ของคนธรรมดา

หลายคนมักมองว่าคนที่จะขึ้นพูดบนเวทีแห่งนี้ได้ต้องประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วต้องเป็นคนที่มีไอเดียเจ๋งพอให้ส่งต่อ ตัวอย่างที่ดีคือทอล์กของ ‘แวน–วริทธิ์ธร สุขสบาย’ ที่มีเพสชั่นกับรถเมล์มากจนอยากพัฒนาระบบของรถเมล์ให้ตอบโจทย์ทุกคนได้จริงๆ 

“เราเรียกว่า speaker hidden gem ที่เสิร์ชชื่อแล้วไม่เจอหรอกว่าเขาคือใคร แต่งานเขามันมาก”  

ปัจจุบันแวนนำแพสชั่นตรงนั้นมาพัฒนาเป็น Mayday กลุ่มคนที่อยากพัฒนาขนส่งสาธารณะของไทยให้ดีขึ้น และเชื่อว่าหลายคนก็น่าจะเคยเห็นป้ายรถเมล์ที่ใช้งานง่ายของ Mayday กันมาบ้างแล้ว  

5. ท็อปปิกที่คน relate เรื่องราวที่คนรู้สึกว่าเป็น pain point

ถ้าไม่ใช่คนดังแล้วจะทำยังไงให้เรื่องน่าฟัง? สิ่งหนึ่งสำคัญคือการเลือกคนที่พร้อมเล่าเรื่องราวที่ทุกคนเชื่อมโยงได้ เช่นทอล์กของ ‘จิรัล–ดุลชยธร บูลภัทรปกรณ์’ เด็กอายุ 14 ปีที่ขึ้นมาพูดเรื่องความต้องการได้รับการยอมรับ 

หรือทอล์กของ ‘ฉิ่ง–วินัย ฉัยรักษ์พงศ์’ จาก BUG Studio ที่ชวนมาตั้งคำถามว่าเราจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้ยังไง ซึ่งเชื่อว่าคนทำงานสายครีเอทีฟจะต้องอยากกดฟังแน่นอน

“แม้คุณจะไม่ได้เป็นคนดัง แต่ถ้าไอเดียคุณมัน relate กับหลายคนมากพอ มันก็จะถูกส่งต่อไปได้ หรือบางครั้งถ้าทอล์กคุณไม่ได้ถูกส่งต่อเยอะ แต่มันถูกส่งไปยังคนที่ใช่ มันก็เพียงพอแล้วนะ”

6. ไม่ต้องพูดเป๊ะ ไม่ต้องอกผาย แต่นำเสนอในแบบที่เชื่อ 

เชื่อไหมว่าคนที่ขึ้นพูดในเวทีนี้ไม่ต้องเป็นคนพูดเก่งก็เล่าเรื่องได้! เพราะสปีกเกอร์แต่ละคนล้วนถูกคัดเลือกมาแล้วว่า ‘อิน’ กับประเด็นที่อยากสื่อจริงๆ  

“ไอเดียนี้ใช่ไหม คุณเชื่อแล้วหรือยัง มันใหม่ไหม แล้วมันคุ้มค่ากับคนที่เสียเวลาสิบกว่านาทีมานั่งฟังแล้วใช่ไหม บางทีไอเดียนี้มันดูสะท้อนปัญหานะ แต่ฟังแล้วมันไม่น่า spreading เลยมันน่า sleeping มากกว่า เราก็ต้องหาวิธีนำเสนอใหม่ๆ”

เช่นการนำเสนอประเด็นการตั้งคำถามกับวัฒนธรรมต่างๆ ของพิเชษฐ กลั่นชื่น ที่ให้คนปารองเท้าขึ้นมาบนเวที หยิบรองเท้ามาไว้บนหัว เพื่อชวนคิดถึงเหตุผลอันแท้จริงของประโยคที่ว่า ‘เท้าคือของต่ำ หัวคือของสูง’ หรือการตั้งคำถามกับวัฒนธรรมการปรบมือ ด้วยการให้คนโยนรองเท้าเพื่อชื่นชม

“เราไม่ได้ต้องการสปีกเกอร์สุดเท่ พูดทุกประโยคเป๊ะๆ หลายครั้งที่สปีกเกอร์ไปต่อไม่ถูก ผู้ชมเขาก็ไม่ได้มาบอกว่าคืนตังค์มาเลย มึงพูดสะดุดได้ยังไง แต่เขาปรบมือเชียร์เพราะเขาไม่ได้มาดูคนพูด เขามาฟังไอเดีย”

7. ไม่ใช่แค่อิมแพกต์กับคนฟัง แต่อาสาสมัครสำคัญที่สุด 

เหนือสิ่งอื่นใด ธีมที่ชอบ สปีกเกอร์ที่ใช่ และสปอนเซอร์ที่พร้อมสนับสนุนจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าขาดอาสาสมัคร การบริหารคนให้ทำงานที่ไม่ได้เงินแถมยังต้องเสียเวลาอีกจึงเป็นเรื่องยากและเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องทำให้ออกมาดี

“หลายครั้งที่งานออกมาดี แต่อาสาสมัครทะเลาะกัน สำหรับเราคือเฟลเลย แม้คนมักจะมองว่าคนทำ TEDxBangkok ต้องนึกถึงอิมแพกต์ต่อคนดูแน่ๆ แต่เรากลับพบว่าความรู้สึกและประสบการณ์ของอาสาสมัครสำคัญที่สุดเลย มันเป็นสิ่งที่เราคิดว่าจะทำให้งานมีความหมาย

“ตอนเด็กๆ เราเข้าใจมาโดยตลอดว่า TEDxBangkok มันคืองานอาสา มันคืองานอดิเรก โตมาถึงได้เข้าใจว่ามันคือการรันอีกบริษัทหนึ่งที่ไม่ได้ให้ค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน และตัวเราก็ไม่ได้เงินจากตรงนี้แต่เราได้ reward อย่างอื่นแทน ได้มิตรภาพ ได้เติบโต ได้ความสัมพันธ์ที่ดีต่างหาก”

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like