ทอล์กกะ TED

บทเรียนวิธีทำทอล์กให้ทัชใจผ่าน 5 ทอล์กในดวงใจของ พิ พิริยะ license holder แห่ง TEDxBangkok 

หลายคนอาจรู้จัก พิ–พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง Glow Story เอเจนซีที่จริงจังกับการเล่าเรื่องให้สนุก แต่รู้ไหมว่านอกจากการเป็น Co-founder ที่ Glow Story แล้ว พิยังเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ TEDxBangkok ที่สร้างปรากฏการณ์ทอล์กเปลี่ยนชีวิตมาหลายต่อหลายครั้ง 

ทั้งทอล์กเกี่ยวกับเรื่องราวธรรมดาสามัญ ไปจนถึงเรื่องราวความสำเร็จของหลายคน 

แม้บางประเด็นจะดูพบเห็นได้ทั่วไป แต่เมื่อนำเสนอโดยเวทีสีแดงอย่าง TEDxBangkok เมื่อไหร่ ประเด็นนั้นๆ กลับได้รับความสนใจขึ้นมาไม่มากก็น้อย เพราะ TEDxBangkok สามารถนำเสนอเรื่องราวเดียวกันในแง่มุมที่ผิดไปจากความรับรู้ อย่างการฉายสปอตไลต์ให้เห็นความเป็นฮีโร่ของคนธรรมดา และเผยด้านธรรมดาของคนมีชื่อเสียง

เรื่องราวเหล่านั้นอาจนำเสนอเพื่อเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนมุมมอง กลับกัน บางเรื่องราวอาจเรียบๆ นิ่งๆ แต่สร้างพลังงานมหาศาลกับผู้คนไม่น้อย เช่นเดียวกับเรื่องราวจากสปีกเกอร์ในปีนี้ที่หลากหลายทั้งที่มาและสารที่อยากส่งต่อ ภายใต้ธีม ‘See • Sound • Seen’ ที่ TEDxBangkok 2023 อยากชวนผู้คนมา See the Unheard, Hear the Unseen

“ปีนี้เราตั้งต้นจากสถานที่อย่างหัวลำโพงก่อน ซึ่งหัวลำโพงมันสื่อถึงเสียงในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว แต่ในเสียงเหล่านั้น มันยังมีเสียงอีกหลากหลายแบบที่เราอาจไม่เคยรับรู้ก็ได้ เราเลยอยากชวนคนมาลองมองอะไรที่ลึกลงไปกว่าที่เคยเห็นในชีวิตประจำวัน ลองใช้ใจมองเสียงที่ไม่เคยได้ยิน แล้วเงี่ยหูฟังสิ่งที่ไม่เคยมองเห็น”

เหนือสิ่งอื่นใด ทอล์กทุกครั้งล้วนมีเรื่องราวที่มีคุณค่าเป็นของตัวเอง ตัวเลขบอกยอดเข้าชมจึงไม่ใช่มาตรวัดความสำเร็จของทอล์กแต่ละประเด็น หรือธีมประจำในแต่ละปี สำหรับพิและทีมงาน TEDxBangkok คุณค่าของทอล์กแต่ละครั้งนั้นลึกลงไปกว่านั้นมาก

“หลายทอล์กที่ไปแตะหลักแสน สปีกเกอร์ไม่ใช่คนดังอะไร แต่ไอเดียของทอล์กนั้นๆ มันเป็นไอเดียที่หลายคนมี pain เป็นไอเดียที่ relate กับคนมากพอที่จะถูกส่งต่อไปได้ หรือแม้บางครั้งทอล์กของคุณไม่ถูกส่งต่อไปยังคนหมู่มาก แต่มันถูกส่งไปยังคนที่ใช่ เราว่าก็เพียงพอแล้วนะ” 

ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานที่จัดงานในปีนี้ เราจึงนัดพบกับพิเพื่อสนทนาถึงบทเรียนชีวิตและบทเรียนธุรกิจจาก 5 ทอล์กในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อการทำ TEDxBangkok 2023 ที่กำลังจะเกิดขึ้น

1
หัวข้อ : เป็นที่รักดีกว่าเป็นที่โหล่

สปีกเกอร์ : จิรัล–ดุลชยธร บูลภัทรปกรณ์  
TEDxBangkok Youth 2023

“ทอล์กหนึ่งที่ชอบมากคือ TedxBangkok Youth ปี 2023 ของน้องจิรัล–ดุลชยธร บูลภัทรปกรณ์ ที่พูดในหัวข้อ ‘เป็นที่รักดีกว่าเป็นที่โหล่’ คนแชร์เป็นหมื่นเลย น้องเป็นตัวแทนแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ น้องคือเด็กคนนั้นที่โรงเรียนฉายสปอตไลต์ด้วยการใส่หน้าเขาในป้ายไวนิล  

“น้องจิรัลเล่าให้เห็นว่าชีวิตของเด็กที่วันหนึ่งเคยชนะแล้วแพ้ไป เขาก็อยากจะหนีไปทำโน่นทำนี่ในพื้นที่ของตัวเอง เพราะเขาเกิด narrative ในหัว กลัวว่าแม่และคนอื่นๆ จะไม่รักเขาแล้ว แต่หลังจากที่เคยไปอยู่จุดพีคแล้วก็ค่อยๆ ดาวน์ เขาก็ตกตะกอนบางอย่างได้ 

“ทุกวันนี้น้องยังลองทำอะไรหลายๆ อย่างอยู่ ทั้งประกวดร้องเพลง รวมถึงลองมาออดิชั่นที่ TedxBangkok Youth น้องยังเล่าว่าตอนออดิชั่นพี่ๆ ก็ถามผมเหมือนกันว่าถ้าไม่ได้รับเลือกแล้วจะเสียใจไหม เขาก็ตอบไปอย่างมั่นใจว่าเสียใจดิ  

“แต่น้องก็บอกว่าไม่เป็นไรนะ เพราะผมเข้าใจว่าเวทีนี้มันไม่ใช่การแข่งขัน มันไม่มีคนแพ้คนชนะ แค่ผมขึ้นมาเล่าแล้วคุณรับฟัง คุณหัวเราะไปกับมัน คุณปรบมือให้ผม สำหรับผมมันก็มีค่ามากพอแล้ว มันเป็นประโยคที่เราจำได้แม่นจนโพสต์ไว้ใน IG Story วันนั้น  

“มันทำให้เราคิดว่าสื่ออย่างพวกเราสามารถเล่าเรื่องอื่นๆ เช่น ความพยายาม ความขยันตั้งใจ มากไปกว่าการฉายสปอตไลต์ให้กับคนที่ได้รางวัลนู่นนี่นั่นว่าเขาเก่ง เขาเท่ ได้บ้างหรือเปล่า แล้วก็ทำให้เราหันมาคิดถึงเรื่องการยอมรับว่ามนุษย์เราต่างก็ทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้รับการยอมรับทั้งนั้น

“ทุกวันนี้ที่เราวิ่งทำงานหลายๆ อย่างก็เพื่อให้ได้รับการยอมรับ เราพยายามแก้ปัญหาให้ออกมาดีกับทุกคนก็เพื่อได้รับการยอมรับ จนบางทีลืมคิดไปว่าบางอย่างมันก็ไม่ถูกใจทุกคนอยู่แล้ว แต่เราก็ยังตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราทำดีพอหรือยัง ตรงนี้เป๊ะหรือยัง ตรงนี้เนี้ยบหรือเปล่า 

“พอเจอปัญหาแบบนี้ เราคงวิ่งไปหาหนังสือ business หนังสือฮาวทูอ่าน หรือคนไปปรึกษานักธุรกิจรุ่นใหญ่ แต่เราลืมฟังเสียงตัวเองข้างในไป เราเลยคิดว่าประเด็นของน้องมันเป็นสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะได้จากทอล์กของเด็ก 14 เลย 

“ถ้าเปรียบกับ TEDxBangkok เอง วันนี้เราอาจไม่สดใหม่เท่ากับเมื่อ 8 ปีที่แล้ว คนอาจจะมองว่ามันเกร่อ คนสมัครเข้ามาฟังก็อาจจะน้อยลง แต่เราคิดว่า TEDxBangkok มันก็ทำหน้าที่ในแบบของมัน ถ้าวันนี้มันไม่ใหม่แล้ว คนกรุงทำในฐานะเจ้าของพื้นที่นี้ร่วมกันมาช่วยกันถามได้ไหมว่าแล้วเวทีนี้มันฟังก์ชั่นอะไร

“สำหรับเราเอง ในวันที่มันมี TED อีกหลายๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งแต่ละที่ก็เจ๋งและเติบโตในแบบของตัวเอง  เราว่า TEDxBangkok ในวันนี้มันสนุกในแง่ของการหาตัวตนใหม่ให้มันเหมือนกัน”

2
หัวข้อ : ให้รถเมล์ได้แสดงศักยภาพ

สปีกเกอร์ : แวน–วริทธิ์ธร สุขสบาย 
TEDxBangkok Youth 2017

“อีกทอล์กที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือทอล์กของแวน เพราะเป็นทอล์กที่ทำให้เราได้เห็นพลังของตัวเองที่เปลี่ยนไป แวนอินเรื่องรถเมล์และอยากพัฒนารถเมล์ให้ดีขึ้น ถ้าเล่าหลังบ้านแบบไม่เกรงใจแวนเท่าไหร่คือตอนที่คิวเรตก็ยังรู้สึกว่ามันจะเป็นไปได้เหรอวะ เพราะรถเมล์เกี่ยวกับภาครัฐและโครงสร้างเต็มไปหมด กูอยู่ประเทศนี้มาจะ 20 กว่าปีแล้ว ก็ยังไม่เคยเห็นรถเมล์ไทยมันดีขึ้น 

“ตัวแวนเองก็ไม่ใช่คนพูดเก่ง ถ้าเป็นงานกลุ่ม แวนน่าจะเป็นคนอ่านสไลด์ ไม่ได้เป็นคนที่อยู่ฟรอนต์โรว์ หรือประธานกลุ่มที่จะนำทุกคนเพราะเขาขี้เขิน แต่ทอล์กนี้ทำให้เราเห็นว่าพอเราคราฟต์มันอย่างเต็มที่ แวนใส่สุดในแบบของตัวเอง มันสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคมจริงๆ 

“เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือเรามีงานแอดเวนเจอร์ที่ช่วยแวนเก็บข้อมูลเรื่องรถเมล์ แล้วหลังจากนั้นแวนก็พัฒนาป้ายรถเมล์ฉบับ Mayday ขึ้นมาได้สำเร็จ ทุกครั้งที่เราเห็นป้ายรถเมล์เวอร์ชั่น Mayday เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนเล็กๆ เองนะ แต่กูโม้ยับเลย 

“พอเวลาผ่านไป เราโตขึ้น เราเริ่มสุขภาพไม่ดี เริ่มทำงานอาสาจนตี 1 ตี 2 ไม่ไหว เริ่มเป็นพี่ในบริษัทที่มีน้องๆ ต้องเลี้ยง พ่อเริ่มป่วย ชีวิตไม่ได้อิสระพอให้วิ่งตามแพสชั่น เริ่มโกรธมากเท่าเดิมไม่ไหว เวลารู้สึกแบบนี้ทีไรทอล์กของแวนมันเติมพลังและมันเติมความหวังให้เราได้ตลอดเลย  

“ทอล์กของแวนมันยังทำให้เรารู้สึกว่าจนเราตายเมืองนี้มันก็ไม่เพอร์เฟกต์หรอก แต่วันนี้ วันที่เรายังมีแรง เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในแบบที่เราทำได้นะ เวลารถติด เห็นประโยคที่ว่า ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ เราไม่ได้โกรธเท่าเดิม แต่เรารู้สึกว่ามันยังมีอะไรให้ลงตัวขึ้นได้อีกนิดนึงว่ะ

“ทอล์กของแวนมันยังมีผลต่อแง่มุมในการทำ TedxBangkok ในปีต่อๆ มาด้วย เพราะมันเป็นทอล์กที่มีทั้ง curse แล้วก็เป็นทั้ง gift เป็น curse เพราะพอทอล์กนี้มันสร้างอิมแพกต์ เราก็อยากได้ทอล์กแบบแวนอีก ตอนเด็กๆ เราจะพูดประโยคนี้ในห้องประชุมบ่อยมากว่า ‘call to action ของทอล์กนี้คืออะไร’ แต่พี่ๆ ในทีม เช่น พี่อ๋อง–วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ก็จะบอกว่าบางเรื่องมันไม่ต้องมีแอ็กชั่นก็ได้ เพียงมันเป็นเมล็ดพันธุ์ที่หยอดเอาไว้ก็โอเคแล้ว 

“ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราเริ่มคิดว่าเราไม่อยากทำทอล์กที่เปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนเมืองอย่างเดียว เราอยากเห็นเฉดอื่นๆ มากขึ้น เราอยากนั่งนิ่งๆ ฟังเสียงซอยบ้านเราเหมือนกันว่านกข้างบ้านมันมีเสียงเปลี่ยนไปหรือเปล่า เรื่องแบบนี้อาจดูเล็กน้อยนะ แต่เราว่ามันก็สำคัญกับคนกรุงเทพฯ ที่จะอยู่ในเมืองนี้ต่อไปเหมือนกัน”

3
หัวข้อ : ถอดความเทพพนม
สปีกเกอร์ : พิเชษฐ กลั่นชื่น 
TEDxBangkok 2015

“พี่พิเชษฐเป็นคนทำงานนาฏศิลป์ที่ได้รางวัลศิลปาธร แต่ก่อนที่เขาจะได้รับรางวัลหรือได้รับการยอมรับในไทย เขาต้องไปได้รางวัลเกียรติยศจากฝรั่งเศสก่อน มันก็สะท้อนโมเดลของไทยที่ต้องไปดังเมืองนอกให้ฝรั่งชมถึงจะได้รับการยอมรับในไทย 

“แกเลยเอานาฏศิลป์มาถอดให้เราเห็นถึงแก่น ลองชวนให้เราถอดหัวโขนพวกนั้นออกไป แล้วทำ performance ในแบบที่มันล้ำมากๆ เพื่อตั้งคำถามว่าเราตั้งคำถามกับวัฒนธรรมเดิมได้หรือเปล่า

“ปกติ TED Talks จะมีท่าประจำอย่างหนึ่งคือสปีกเกอร์จะชวนคนดูเล่นอะไรบางอย่าง เช่น ให้ยกมือว่าใครเคยทำสิ่งนั้นสิ่งนี้มาบ้าง แต่สิ่งที่พี่พิเชษฐทำมันสุดตีนกว่านั้น คือหลังจากที่ MC เกริ่นว่าเขาได้รางวัลอะไรบ้าง พี่พิเชษฐก็ให้คนดูถอดรองเท้าออกมา แล้วเขวี้ยงรองเท้าขึ้นมาบนเวที คนดูก็เขวี้ยงขึ้นมาโดนฉากพังเลย 

“จากนั้นพี่พิเชษฐก็เอารองเท้ามาวางบนหัว แล้วถามว่าผมทำแบบนี้ผิดไหม ยิ่งเขาเรียนนาฏศิลป์ เขามีครู แบบนี้ถือว่าผิดไหมเพราะอย่างที่รู้กันว่าคนไทยถือจะตาย ถ้าผิด ผิดเพราะอะไร ผิดเพราะว่าหัวเป็นของสูง เท้าเป็นของต่ำ หรือผิดเพราะว่ารองเท้ามันสกปรก 

“แล้วพอแกจบทอล์ก แทนที่จะให้คนดูปรบมือ แกก็ตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมการปรบมือโดยการบอกว่าใครชอบทอล์กผมไม่ต้องปรบมือ แต่ถอดรองเท้าแล้วโยน คนดูก็โยนรองเท้ากันใหญ่ นี่น่าจะเป็น TED Talks เดียวในโลกที่คนเล่นรองเท้ามากที่สุดขนาดนี้ (หัวเราะ)

“ทอล์กของพี่พิเชษฐเลยให้แง่มุมกับเราในหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องสังคมไทยที่ในหลายๆ ครั้ง เราไม่ได้ถูกอนุญาตให้ถามคำถามที่มันเมคเซนส์ แล้วเรื่องเหล่านี้หลายคนก็พูดถึงมามากมาย แต่พอมันอยู่ในรูปแบบของ TED ที่พูดครั้งเดียวไม่มีรอบสอง มันเลยน่าสนใจ 

“ทอล์กของพี่พิเชษฐยังทำให้เราเห็นว่าในโลกที่คอนเทนต์มันล้นเกินขนาดนี้ ในสังคมที่ปัญหามันมีอยู่เต็มไปหมด เราจะทำให้คนมาสนใจคอนเทนต์ของเราได้ยังไง หรือชวนคนคุยถึงปัญหาให้คนมีความหวัง ให้คนเอาไอเดียเหล่านี้มาต่อยอดได้ยังไง ทำยังไงให้มันไม่ใช่แค่การเอาปัญหามากองแล้วบอกว่าปัญหาอยู่ตรงนี้ ทำยังไงให้มันไม่ใช่การมาบ่น ตั้งคำถามแล้วเดินลงเวทีไป แต่จุดประกายหรือสปาร์กบทสนทนาให้เกิดขึ้นได้

“คำตอบของทอล์กนี้คือวิธีการนำเสนอที่มันสนุกมาก แกมีวิธีเปลี่ยน information ให้เป็น emotion ที่เรารู้สึกว่ามันต้องเล่าแบบนี้มันถึงจะถึงใจ แล้วรู้ไหมว่าพี่พิเชษฐแกอิมโพรไวส์ทั้งหมดนะ สตาฟก็เหวอเพราะว่ามันเป็นคนละเส้นเรื่องกับที่ซ้อม แต่นี่แหละที่เราว่ามันคือเมจิกโมเมนต์ของ TED Talks อย่างหนึ่งเลย”

4
หัวข้อ : วิชาเปิดใจยอมรับกับเด็กที่เคยก้าวพลาด

สปีกเกอร์ : ที นามสมมุติ (เยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก)
TEDxBangkok Youth 2019

“คนมักจะเข้าใจว่าสปีกเกอร์ของ TED คือคนที่ประสบความสำเร็จ น้องทีคือตัวอย่างที่ชัดเจนมากว่าคนที่ไม่ต้องประสบความสำเร็จแต่มีไอเดียที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ก็มาพูดได้นี่หว่า 

“ทอล์กนี้ก็ตอกย้ำความเชื่อนั้นเพราะเป็นทอล์กที่ตอนคิวเรต เราต้องคิวเรตผ่านทางโทรศัพท์ของผู้คุม เพราะน้องเป็นเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจ มันเกิดจากการที่ปีก่อนหน้าป้ามล ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาฯ มาเป็นสปีกเกอร์ พอมี TEDxBangkok Youth เราเลยอยากฟังเสียงน้องๆ บ้าง 

“ตัวทีเองเขาเคยเรียนเก่งมาก่อน แต่เขาก็เหมือนเด็กที่เป็นผลลัพธ์จากการเลี้ยงดู แม่เขาต้องทำงานเช้ายันค่ำ จำเป็นต้องทิ้งแบงก์ร้อยไว้ให้ลูกแล้วก็ไปทำงาน เด็กมันก็หาการยอมรับจากที่อื่นจนไปเจอพี่อาชีวะเท่ๆ เขาเริ่มไปต่อยตี เริ่มขโมยของ วันสุดท้ายก่อนโดนจับเขายิงคน 3 คนในวันเดียว แถมยังจะตามไปซ้ำคู่อริที่โรงพยาบาล ยิงสู้กับตำรวจ คือชีวิตอย่างกับ GTA

“เขาเล่าให้ฟังว่าชีวิตของเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจมันเป็นยังไง เขาถูกกดทับ เขาต้องนั่งคลานเข่าพนมมือคุยกับผู้คุม ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านั้นไม่ได้พยายามทำให้เด็กออกมาอยู่ในสังคมได้ แต่มันคือพื้นที่ที่ขังคนไว้ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เขายิ่งต้องเหี้ยมขึ้นไปอีก แต่ในวันที่เขาไม่รู้สึกว่ามีใครเชื่อใจเขาเลย เขาได้มาเจอป้ามลที่วันแรกก็รับไปกินหมูกระทะ แต่งชุดอะไรก็ได้ แถมมีวันให้เขานั่งดูหนัง เลือกหนังเองได้ จนเขาค่อยๆ เชื่อใจผู้ใหญ่อีกครั้ง   

“สิ่งที่เราประทับใจคือหลังจากงานจบ เราได้จัดเวิร์กช็อปให้ครูในโรงเรียนที่จัด TED ทีได้กลับมาพูดให้ครูและอาสาฟังว่าผมออกจากบ้านกาญจนาฯ แล้วก็กลับไปที่บ้าน พอออกมาค้นพบว่ากลับเข้าไปในคุกง่ายกว่าทนอยู่ข้างนอกเพราะสังคมตีตราเขาแล้วว่าเขาเป็นเด็กขี้คุก พอเพื่อนรู้ว่าเขาได้งานยากก็เข้ามาชวนให้กลับเข้าไปสายเดิม

“ทีบอกว่ามีป้ามล บ้านกาญจนาฯ มีพ่อแม่ แล้วก็มีพี่ๆ อาสา TEDxBangkok Youth นี่แหละที่เขาไม่อยากทำให้ผิดหวัง วันนี้ทีขายเสื้อมือสองและยังพยายามหาวิธีเอาตัวรอดในแบบของเขาเพราะเขารู้ว่ามีคนที่เชื่อในตัวเขาอยู่ 

“จริงๆ ตอนแรกเราถามทีว่าถ้าทีพูดแล้วมีคนจำทีได้ ทีจะกังวลไหม ทีก็บอกว่าไม่เป็นไรครับพี่ ผมไม่กังวลเลย สำหรับผม ถ้าแค่มีสักคนที่กำลังจะลั่นไก สักคนที่กำลังจะไปปล้นเพราะมันมองว่ามันเท่ ถ้าเขาได้ดูทอล์กผมแล้วเขาไม่ทำสิ่งนั้น แค่คนเดียวก็พอแล้ว

“ถ้าไม่ได้เจอกันใน TEDxBangkok เขาคงเป็นเด็กที่เราเดินหนีตอนสวนกัน แต่วันที่ได้รู้จัก ได้เป็นพี่เป็นน้องกัน เราได้เห็นเขาค่อยๆ เติบโต มันก็ทำให้เห็นว่าเวทีนี้มันยังมีความหมายกับชีวิตคนยังไงบ้าง”  

5
หัวข้อ : ไทม์แมชชีนการ์ตูน สู่ความฝันวัยเด็ก

สปีกเกอร์ : นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์ (น้าต๋อย เซมเบ้)
TEDxBangkok 2015

“ตอนที่ทำ TEDxBangkok มาได้ 2-3 ปี มีน้องในทีมชื่ออันดา พูดประโยคหนึ่งกับเราว่า ‘พี่พิ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่มันโดดเดี่ยวนะ’ เรารู้สึกว่ามันจริงมากเลย สังคมบอกว่าคุณต้องโตขึ้นนะ คุณเป็น license holder คุณต้องแต่งตัวดีๆ จะทำตัวตลกโปกฮาไม่ได้แล้วนะ บางทีคนไม่ได้บอกเราด้วยนะ เรารู้สึกไปเองว่าเราจะต้องทำตัวให้มืออาชีพขึ้น

“แต่เมื่อไหร่ที่เราได้กลับไปดูทอล์กน้าต๋อย เราจะถูกเตือนว่าเราก็เคยเป็นแค่เด็กแว่นหัวโปกคนหนึ่งที่ตื่นเช้ามารอดูการ์ตูนน้าต๋อย น้าต๋อยบอกว่าแปรงฟันด้วยนะเด็กๆ เราก็เชื่อเพราะเขาคือฮีโร่ในวัยเด็กของเรา แต่วันที่เราไปคิวเรต มันคือวันที่รู้สึกว่าความเป็นผู้ใหญ่มันตบหน้าเรา ฮีโร่เราเป็นเวอร์ชั่นที่ป่วยแล้ว ป่วยเป็นงูสวัดลงกระดูกสันหลัง เขาต้องใช้วอล์กเกอร์ช่วยพยุง

“ตอนนั้นน้าต๋อยจะเซย์โนแล้วเพราะอาการเขาแย่ลง แต่อย่างที่ทุกคนเห็นในทอล์ก ตอนแรกแกขอนั่งพูดเพราะยืนไม่ไหว แต่พอกำลังจะขึ้นเวทีอยู่ดีๆ แกไม่เอาเก้าอี้  แล้วน้าต๋อยก็ยืนพูดแบบปล่อยพลังเต็มที่ พอเดินกลับมาหลังเวที แกทรุด ตอนนั้นอาสาทุกคนร้องไห้เลย 

“ผมถามว่านี่มันคือขั้นเสี่ยงชีวิตแล้ว ทำไมเวทีนี้มันถึงสำคัญนักหนาเพราะน้าต๋อยไม่ได้รู้จัก TED มาก่อนด้วยซ้ำ น้าบอกว่าแค่ไม่อยากทำให้เด็กๆ ผิดหวัง มันเหมือนเป็นหน้าที่ที่เขาเคยทำมาตลอดชีวิต มันอาจจะคลิเช่นะแต่ทอล์กน้าต๋อยมันอนุญาตให้เรากลับไปเป็นเด็กได้บ่อยๆ แม้ในวันที่เราถูกบังคับให้เป็นผู้ใหญ่ ถูกบังคับให้ต้องรับผิดชอบอะไรมากมาย

“เราเลยรู้สึกว่าไม่ว่าทอล์กนั้นๆ หรือธีมนั้นๆ จะได้รับการพูดถึงแค่ไหนมันไม่ได้สำคัญเท่าอาสาสมัครทุกคนภูมิใจไหม เพราะแต่ละคนก็คงมีเหตุผลที่กระโดดมาทำงานอาสาแตกต่างกันซึ่งมันไม่น่าจะใช่การถูกใครบางคนชี้นิ้วสั่งแล้วก็วิ่งตาม KPI หรอกใช่ไหม” 

“เราเลยคิดว่า TEDxBangkok มันเป็นสนามเด็กเล่นผู้ใหญ่ที่ให้เราได้ทดลองทำอะไรหลายอย่าง ทดลองชวนคนกรุงเทพฯ มาเปิดตาแล้วมองอีกด้าน เปิดให้ทุกคนทดลองมาเป็นอาสากลางแล้วสร้างอะไรบางอย่างที่เราเชื่อร่วมกัน

“แม้กระทั่งสปอนเซอร์เขาก็ยังต้องลองขยับมาเล่นกับเรา ขยับมาเป็นอาสาอีกนิด อย่าง CPN เขาทำศูนย์การค้าใช่ไหม ทำ real estate ใช่ไหม ตามกฎของ TED พี่ขายตรงๆ ไม่ได้นะ งั้นพี่ลองคิดดูว่านอกจากชวนคนมาเดินห้าง สิ่งที่พี่อยากบอกคนในเมืองนี้มันคืออะไร อ๋อ มันคือการที่เราอยากสร้างเมืองที่ดีขึ้น

“หรือโรงงานไก่ GFPT เราแทบไม่เคยได้ยินชื่อเขาเลยเพราะส่วนใหญ่เขาเน้นลูกค้า B2B แต่สิ่งที่เรามานั่งคุยกันว่าไอเดียของพี่มันคืออะไรกันแน่ อ๋อ พี่เชื่อว่าจริงๆ แล้วเรื่องความยั่งยืนมันสำคัญ ไก่ที่เรากินเราเลือกได้นะว่าจะเป็นไก่จากกระบวนการไหนบ้าง

“สิ่งเหล่านี้มันดูเหมือนเรื่องเล็กๆ ไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วถ้าไปขุดเบื้องหลังไอเดียการทำงานของ TED จะเห็นว่ามันมีสตอรี มันมีเหตุผล และมันมีอิมแพกต์ทั้งหมดเลย แต่มันจะเป็นอิมแพกต์ในทางไหน เราก็รอดูทุกครั้งหลังจบงาน

“ในวันนี้ TEDxBangkok สำหรับเรามันไม่ต้องเปลี่ยนโลกก็ได้ แต่มันอาจจะมีอิมแพกต์กับบางคนที่ช่วยกิจการที่บ้านอยู่ อิมแพกต์กับคนที่เพิ่งฟื้นตัวมา เข้าไปช่วยคนที่อยากกลับมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง หรือช่วยคนที่อยากกลับมาเชื่อในตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เราว่าแค่นั้นก็เพียงพอแล้ว” 

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like