ศึกชิงบัลลังก์ต้นคริสต์มาสในสหรัฐฯ ‘ต้นจริง’ หรือ ‘ต้นปลอม’ ที่ครองใจตลาด
เมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส หลายคนอาจนึกถึงความสวยงามของต้นคริสต์มาสที่ถูกประดับประดาไปด้วยของตกแต่งต่างๆ ทำให้ในช่วงคริสต์มาสธุรกิจการขายต้นคริสต์มาสมีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ โดยหนึ่งในประเทศที่มีมูลค่าธุรกิจขนาดใหญ่มากเป็นอันดับต้นๆ คือ สหรัฐฯ ที่มีการแข่งขันระหว่างต้นไม้จริงและต้นไม้ปลอม
ปัจจุบันมี 3 วิธีที่ชาวสหรัฐฯ จะหาซื้อต้นคริสต์มาสได้ คือการเข้าไปตัดในป่าสงวนแห่งชาติโดยมีค่าใช้จ่ายและเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลกำหนด, การซื้อต้นไม้จากฟาร์มต้นคริสต์มาสในท้องถิ่นนั้นๆ และการซื้อต้นไม้ปลอมที่นำเข้าจากประเทศอื่นๆ
สำหรับปี 2023 มีรายงานจาก American Christmas Tree Association ซึ่งเป็นสมาคมต้นคริสต์มาสในสหรัฐฯ เผยว่า 77% ของคนอเมริกันเลือกที่จะใช้ต้นคริสต์มาสปลอม เพราะเน้นเรื่องความสะดวกสบาย จัดเก็บง่าย และไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดเพลิงไหม้ในบ้าน
ปัจจุบันการใช้ต้นคริสต์มาสปลอมได้รับความนิยมมากขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 1990 และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2021 ซึ่ง 90% ของต้นคริสต์มาสปลอมที่นำเข้ามายังสหรัฐฯ มาจากประเทศจีน กัมพูชา และเม็กซิโก นอกจากนี้ ระหว่างปี 2000-2015 สหรัฐฯ ยังนำเข้าต้นคริสต์มาสจากแคนาดาเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 2 ล้านต้นต่อปี และในปี 2022 นำเข้า 2.8 ล้านต้น
‘การเดินทางของต้นไม้ปลอมจากประเทศจีนสู่สหรัฐฯ’
ในปี 2022 ต้นคริสต์มาสปลอมในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน มีการนำเข้ามากกว่า 20 ล้านต้นในปีเดียว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่นำเข้า 11 ล้านต้น นั่นหมายความว่าปริมาณการใช้ต้นไม้จริงลดลง มีข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างสำหรับธุรกิจของตกแต่งคริสต์มาสคือ 90% ของการส่งออกต้นคริสต์มาสทั่วโลกมาจากจีน คิดเป็นมูลค่า 338,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งค้าส่งอยู่ที่มณฑลเจ้อเจียง
เมื่อ demand สูง supply ก็ตามมา เป็นไปตามกฎอุปสงค์อุปทาน ทำให้ในช่วงปลายปี ราคาต้นคริสต์มาสปลอมในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นทันที โดยเฉพาะสินค้าที่นำเข้าจากประเทศจีน ที่กำลังทำสงครามราคากับสหรัฐฯ และทำให้สินค้าจากจีนได้รับผลกระทบจากภาษีมากถึง 25%
ด้วยความที่ทุกวันนี้เทคโนโลยีทำให้ต้นคริสต์มาสปลอมมีความสมจริงมากขึ้น ต้นคริสต์มาสตามธรรมชาติจึงค่อยๆ ลดลงอย่างช้าๆ ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ต้นคริสต์มาสจริงที่ขายในสหรัฐฯ มีจำนวนลดลง 34% จาก 19.3 ล้านต้นในปี 2541 เหลือเพียง 12.8 ล้านต้นในปี 2552 ส่วนหนึ่งมาจากระยะเวลาในการปลูกต้นคริสต์มาส 1 ต้นใช้เวลาเฉลี่ย 7 ปี บางครั้งอาจนานกว่า 10-15 ปี ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกต้นคริสต์มาสหันไปปลูกพืชผลอื่นๆ แทน หรือบางคนเลิกกิจการไปเลยก็มี
ขณะเดียวกันทิศทางการปลูกต้นสนก็ค่อยๆ ลดลง ระหว่างปี 2005-2020 จำนวนฟาร์มต้นสนในรัฐโอเรกอน ที่ซึ่งเป็นแหล่งผลิตต้นคริสต์มาสรายใหญ่ที่สุดคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศ และยอดขายต้นคริสต์มาสในปี 2019 ลดลงจาก 1,590 ต้น เหลือเพียง 490 ต้น
‘ต้นจริง-ต้นปลอม แบบไหนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน’
มีการถกเถียงเรื่องต้นคริสต์มาสระหว่างของจริงและของปลอม แบบไหนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ากัน ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเป็นเวลานาน
Gary Chastagner ศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยาพืชที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน เผยว่า การซื้อต้นคริสต์มาสปลอมสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ทุกปีก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้นคริสต์มาสปลอมจะเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนที่สุด ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้ดูแลรักษาดีแค่ไหน หรือในปีต่อไปคุณอาจต้องการต้นใหม่ที่ใหญ่หรือสวยกว่าเดิม
มีงานวิจัยบอกว่า การใช้ต้นไม้ปลอมอย่างน้อย 10 ปีจะช่วยลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับการใช้ต้นไม้จริง 1 ต้น เพราะในกระบวนการผลิตต้นไม้ปลอมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมายทั้งในส่วนของการผลิตและการขนส่งระยะไกล และการนำต้นคริสต์มาสปลอมกลับมาใช้ซ้ำทุกปีนั้นสะดวกก็จริง แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนที่สุด เพราะในกระบวนการผลิตต้นคริสต์มาสปลอม 1 ต้นจะทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ 88 ปอนด์ (ประมาณ 39 กิโลกรัม)
นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงการปลูกต้นคริสต์มาสจริงว่า จริงๆ แล้วต้นคริสต์มาสเป็นพืชผลทางการเกษตรที่หมุนเวียนได้ ควบคุมจำนวนการตัด และเปิดให้มีช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวในแต่ละปี จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีร้านจำหน่ายต้นไม้บางแห่งที่จัดส่งต้นคริสต์มาสไปพร้อมกระถางหรือห่อด้วยผ้ากระสอบเพื่อให้เจ้าของบ้านนำลงดินปลูกได้ทันที และหลายเมืองในสหรัฐฯ ก็มีโครงการรีไซเคิลต้นคริสต์มาส โดยการตัดแต่งต้นไม้ให้กลายเป็นวัสดุคลุมดินหรือส่งไปยังสวนสาธารณะต่างๆ ทั่วประเทศ
หากถามว่าต้นไม้จริงหรือต้นไม้ปลอมดีกว่ากัน คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับว่า คุณใช้ต้นคริสต์มาสปลอมกี่ครั้ง หากใช้อย่างน้อย 10-20 ปี ก็อาจช่วยลดการสร้างมลภาวะให้โลกได้เช่นกัน
ข้อมูลจาก
- Today Bizview
- ecochain.com/blog/sustainable-christmas-trees/
- abcnews.go.com/US/real-versus-fake-christmas-trees-environmentally-friendly/story?id=105179766
- edition.cnn.com/videos/business/2023/12/21/exp-artificial-christmas-tree-interview-122003pseg2-cnni-business.cnn
- edition.cnn.com/2023/12/19/business/artificial-christmas-tree-vs-real-dg/index.html