สิบ่สำเร็จ ขั่นใจบ่มัก

โสเหล่หลังฮ้านหมอลำกับ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ ถึงชีวิตและธุรกิจหมอลำแห่งยุค

โครงเหล็กเวทีขนาดใหญ่กำลังถูกประกอบร่างขึ้น ป้ายหน้าเวทีเขียนว่า ‘ระเบียบวาทะศิลป์‘ และมีเลข  ‘๖๐’ เด่นตระหง่านอยู่ตรงกลาง ไม่บอกก็คงพอเดาออกว่านี่คือเลขอายุวง 

ตัวเลข 60 สำหรับคนอื่นๆ อาจคือวาระเกษียณ วางการงานทุกอย่างลงเพื่อใช้เวลาพักผ่อนหลังจากทำงานมายาวนาน แต่สำหรับความคิดฉันในตอนเห็นป้ายเวทีของระเบียบฯ มันคือตัวเลขที่บอกชั่วโมงบินในการทำงานและการอยู่ยั้งยืนยงของศิลปะดนตรีอีสาน

จากคณะหมอลำเล็กๆ ที่มีสมาชิกหลักหน่วย ได้ค่าจ้างหลักพัน จนเติบโตมีสมาชิกมากมาย รายได้หลักแสนต่อครั้ง ตระเวนแสดงไปทั่วประเทศตลอดปีแทบไม่มีวันเว้นว่าง ปลุกปั้นศิลปินอีสานหลายคนจนโด่งดังเป็นที่รู้จัก ได้ร่วมงานกับเวที Miss Grand Thailand หรือปีล่าสุดในงานเทศกาลดนตรี Big Mountain Music Festival ครั้งล่าสุด ระเบียบวาทะศิลป์เป็นหมอลำคณะเดียวที่มีชื่อในไลน์อัพและได้ขึ้นเล่นบนเวทีเคียงข้างวงดนตรีร่วมสมัย ที่สำคัญเหล่าแฟนดนตรีล้วนเอนจอยกับแสงสีเสียงบนเวทีและพลังที่พวกเขาส่งมา

เมื่อรู้ว่าระเบียบวาทะศิลป์เดินสายแวะมาเยือนกรุงเทพฯ ฉันจึงติดต่อเพื่อขอนัดพบ สุมิตรศักดิ์ พลล้ำ หรือที่คนในแวดวงสายงานหมอลำรู้จักเขาในชื่อ ‘พ่อเปีย’ หนึ่งในผู้สานต่อระเบียบวาทะศิลป์ ผู้เป็นลูกชายคนโตของ ‘ระเบียบ พลล้ำ’ และ ‘ดวงจันทร์ พลล้ำ’ คู่สามีภรรยาผู้ปลุกปั้นคณะหมอลำแดนอีสานคณะนี้ขึ้นมา 

-1-
ซู่มื้อซู่เวนคืองาน

สถานที่ที่เรานัดพบกันคือลานด้านหลังของตลาดแห่งหนึ่งย่านรังสิต 

บริเวณที่ที่เรานั่งพูดคุยกันอยู่ท่ามกลางเหล่าทีมงานที่กำลังวุ่นอยู่กับการตั้งเวที–เวทีที่อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าจะมีชีวิตชีวาด้วยแสงสีเสียง และมีผู้คนนั่งรอด้านหน้าเพื่อชมโชว์จากระเบียบวาทะศิลป์

“ทีแรกปีนี้พ่อไม่มีคิวเข้ากรุงเทพฯ แต่ออร์แกไนซ์เขาขอมา ครั้งนี้ก็เลยเข้ามาแค่วันสองวัน ถ้าอย่างปีที่แล้วกับช่วงก่อนโควิดจะเข้าเยอะ เพราะแถวอีสานเขาไม่ให้จัดก็ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ แต่เข้ากรุงเทพฯ มันก็เหนื่อย ปีก่อนนี้ลงกรุงเทพฯ ทีคือ 30-40 คิวเลย ต้องเทียวไปเทียวมาเหมือนไปนาเลยนะ

“ครั้งนี้ออร์แกไนซ์ที่จัดเขาว่าขอมาลงสักคิวสองคิวหน่อย ให้แฟนคลับหายคิดถึง พอมีคิวว่างก็เลยมา พอดีกับอีกสองวันคณะพ่อมีงานที่แม่สอดด้วย” 

เขาเล่าว่าในปีหนึ่งที่มี 365 วันพวกเขาต้องทำงานเกือบทุกวัน จนเราสงสัยว่าพวกเขาเอาเวลาที่ไหนพัก กินอยู่กันยังไง

“ก็พักบนรถ นอนกับรถ มันเคยชินแล้ว หนึ่งปีมี 12 เดือน พ่ออยู่บนรถตู้คันนี้ไปแล้ว 9 เดือน (หัวเราะ) เขาเรียกว่าเอารถเป็นบ้าน เอาร้านเป็นครัว” เขาหัวเราะ 

ถึงแม้ดูเผินๆ เขาจะมีความสุขกับกิจวัตรการงานแบบนี้ แต่ภายใต้สีหน้าเปื้อนยิ้มกลับดูซ่อนความเหนื่อยล้าไว้อย่างสังเกตได้ 

แล้วชีวิตแบบนี้มันเป็นชีวิตที่มีความสุขจริงหรือเปล่า–ฉันสงสัย

“พ่อมีลูกสาว บางทีเขามาเดินสายด้วย เขาก็บอก “พ่อไปเปิดห้องนอนดีกว่า มานอนทำไมในรถ ตากแดดตั้งแต่เช้ายันเย็น” แต่พ่อไม่นอน มันอยู่แบบนี้ คลุกคลีกับแบบนี้มาตั้งแต่เกิด ถ้านอนแบบนี้ ทำงานแบบนี้ พ่ออยู่ได้ มีความสุข แต่ถ้าให้ไปนอนรีสอร์ต แบบนั้นคือความทุกข์ของพ่อ

“อีกอย่างเราต้องดูแลสมาชิกในวง ไม่ใช่เป็นหัวหน้าแล้วคุณจะไปนอนพักสบายคนเดียว แล้วมาถามลูกน้องว่าเสร็จยัง เสร็จยัง เราจะเป็นแบบนั้นไม่ได้ เราทำทุกอย่าง บางทีก็ต้องขึ้นนั่งร้าน ยกสายไฟ ยกป้ายขึ้นไป”

“เป็นหัวหน้าต้องทำเองด้วยเหรอ”

“เด็กมันก็ถามนะว่าเป็นหัวหน้าต้องทำเองด้วยเหรอ ใช่ คือเราทำมาตั้งแต่เด็ก เราทำเองทุกอย่าง อีกอย่างคือข้าวของมันไม่ใช่ของลูกน้อง เด็กมันก็ทำไปของมันตามหน้าที่ พังมาอะไรมาก็ต้องถึงพ่ออยู่ดี โทรศัพท์พ่อต้องถือตลอด วางไม่ได้เลย ตี 2 ตี 3 โทรมาก็ต้องรับสาย เดี๋ยวก็โทรมาบอกว่าพ่อน้ำมันหมด พ่อยางระเบิด คนนั้นไม่สบาย คนนี้ป่วย เราเลยต้องดูแลหมด มันก็เลยรับภาระหนักพอสมควร แต่ก็เหมือนร่วมทุกข์ร่วมสุขกันไป”

“ต้องแบกรับหน้าที่หลายอย่างขนาดนี้ ฟังดูน่าจะเหนื่อยมาก แล้วทำไมถึงยังอยากทำอาชีพนี้อยู่” ฉันชวนผู้นำของคณะหมอลำตรงหน้าย้อนทบทวน

“จริงๆ ก็เหนื่อย แต่เพื่อปากท้อง เพื่อองค์กร ที่จริงไม่ทำก็ได้ แต่มีสมาชิกอยู่ 300 คน มันจะไปรอดกี่คน อีกร้อยสองร้อยคน ก็ไม่รู้เขาจะไปยังไง อย่างคนเฒ่าคนแก่ เราดูแลมา เขาทำงานมานาน ถ้าจะไปหางานอื่นทำ ไปทำที่ไหนเขาจะเอา เราก็ต้องคิดถึงคนอื่น

“อย่างบางคนเราดูแลมา เขามีรถรา มีอาหารการกินดีๆ มีแฟนคลับรู้จักก็เพราะหมอลำ เสื้อผ้าทุกตัวที่เราใส่ก็เพราะหมอลำ มันลืมไม่ได้ แล้วถ้ายุบตรงนี้ไปจะไปทำงานอะไร”

-2-
แม้นดีฟากฟ้ากะบ่เบิ่งเด้อหมอลำ

สุมิตรศักดิ์ผูกพันกับเวทีและดนตรีอีสานมาตั้งแต่ก่อนเกิด

เขาเป็นลูกชายคนโตของพ่อเบียบและแม่ดวงจันทร์ ตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลกแม่ก็กระเตงท้องเขาขึ้นเวทีลำกลอน กระทั่งวันคลอดก็ยังประจวบกับต้องออกงานร้องลำและเกือบต้องคลอดหลังเวที โตขึ้นมาหน่อยก็ต้องตามติดพ่อแม่ที่ต้องไปร้องรำทำงาน และเขาใช้ชีวิตคลุกคลีกับดนตรีอีสานมาตั้งแต่จำความได้

แม้เขาจะเกิดและเติบโตมากับหมอลำโดยแท้ ทว่าสังคมชนบทอีสานก็ยังอยากให้ลูกหลานเป็นเจ้าคนนายคน ปลูกฝังแต่อ้อนแต่ออกว่าเป็นเจ้าเป็นนายชีวิตสบาย อีกทั้งหมอลำสมัยก่อนเก่าก็ไม่ใช่อาชีพที่มีภาพลักษณ์ที่ดีนัก

ใครโตมากับอีสานจะรู้ดีและคงเคยได้ยินคำว่า ‘หมอลำขอข้าว’ 

“เกิดและโตกับหมอลำมา มีความคิดอยากจะเป็นหมอลำตั้งแต่แรกเลยไหม” ฉันชวนเขาย้อนเวลา

“ความคิดคนมันเปลี่ยนไปเรื่อยเนาะ ตอนเรียนก็อยากเป็นครู เพราะอาชีพหมอลำมันก็ไม่มั่นคง สมัยก่อนมันก็ลุ่มๆ ดอนๆ มีงานบ้างไม่มีงานบ้าง ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่คิวเต็มตลอด

“ตอนเรียน ม.ศ.3 ความคิดตอนนั้นคืออยากไปเป็นครูบนดอย แต่พอจบ ม.ศ.3 มันก็คิดไปอีกอย่างนึง เห็นรถราวิ่งตามถนนก็อยากเป็นช่าง สมัยนั้นคนรุ่นเดียวกันจบช่างยนต์เยอะ กลายเป็นว่าทำให้ตอนนั้นการแข่งขันมันสูง ทุกคนเรียนช่างยนต์หมด ความคิดเหมือนกันหมด จบมาก็ตกงาน พอตกงานประจวบกับตอนนั้นวงของพ่อก็เริ่มหาพระเอกยากแล้ว เราก็สงสารพ่อ เลยบอกเขาว่าเอาอย่างนี้พ่อ เดี๋ยวผมเป็นให้พ่อสักปีนึง ถ้าพ่อหาคนอื่นแทนได้ผมก็จะกลับไปทำงาน”

และครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางอันยาวไกล

“ตอนเป็นตัวตามเขามันก็คล่องแคล่ว แต่พอเป็นตัวจริงมันประหม่า ทำอะไรไม่ถูก ถ้าคนเยอะจะไม่อยากเล่นเลย อาย แต่ถ้าคนน้อยชอบมาก กลับกันทุกวันนี้ถ้าคนเยอะจะชอบมาก” เขายิ้มหลังประโยคเมื่อเล่าถึงตัวเองในวันวาน

“ที่บอกว่าตอนนั้นหมอลำยังไม่ได้รับการยอมรับอย่างทุกวันนี้ คุณเคยโดนดูถูกมั้ยว่าเป็นหมอลำ”

“มี เวลาพ่อไปโรงเรียน สมัยนั้นเข้าไปเรียนในเมือง มันก็จะมีเพื่อนฝูงที่เขาฐานะดีหน่อย เขาก็จะชอบมาพูดถากถางเยาะเย้ย เวลาไปโรงเรียนเขาก็จะล้อ หมอลำมาแล้ว หมอลำมาแล้ว แต่ไม่ตอบโต้นะ เราเป็นของเราอยู่แล้ว เราเป็นหมอลำอยู่แล้ว ตอบโต้ไปก็ไม่มีประโยชน์

“ถ้าเป็นคนแบบบ้านๆ ตามชนบทกับเราเขาก็ไม่ดูถูกนะ อย่างพวกเพื่อนฝูงที่คลุกคลีกับเรามาเขาเข้าใจเรา แต่มันจะมีคนที่มีฐานะ เขาจะบอกว่ามันเชย เต้นกินรำกิน มือถือไมค์ ไฟส่องหน้า บางครั้งไปขอลูกขอหลานมาเพื่อจะเป็นศิลปิน เขาก็พูดไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ภาษาอีสานเพิ่นว่า ‘โอ้ แม้นดีฟากฟ้ากะบ่เบิ่งเด้อหมอลำ’ จังซี่กะมี ‘บ่ให้เป็นเด้อหมอลำ’ ไปจั่งซี่กะมี

“พ่อยังจำขึ้นใจอยู่เลย ตอนนั้นมันจะมีเพื่อนพ่อคนนึงเขาก็บอกว่าไม่แน่นะ ลูกศิษย์อาจารย์ 40-50 คน สุมิตรศักดิ์เขาอาจจะเป็นนายกก็ได้นะในอนาคต แต่เพื่อนอีกคนมันก็ว่า “แค่นายกฯ หมอลำนั่นแหละ” พูดอย่างนี้” 

เขาเล่าย้อนถึงความหลัง ก่อนจะบอกกับฉันว่า ปัจจุบันเขาได้เป็นประธานชมรมหมอลำเรื่องต่อกลอนของภาคอีสาน

-3-
เฮ็ดธุรกิจเป็นระบบระเบียบ

จากเรื่องเล่าของเขานอกจากได้เห็นถึงความตั้งใจที่จ่ายลงไปเพื่อสืบสานศิลปะดนตรีอีสาน อีกด้านหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่ระเบียบวาทะศิลป์กำลังทำคือการทำธุรกิจ

พ่อเปียบอกว่าเขามองระเบียบวาทะศิลป์เป็นทั้งศิลปะและธุรกิจ เพราะหากไม่มองเป็นธุรกิจ ไม่คิดถึงเรื่องเงินทอง ศิลปะมันก็เดินต่อไปไม่ได้ 

“พ่อว่ามันต้องเป็นของคู่กัน แต่ทำยังไงถึงจะคงเอกลักษณ์ของเรา ของหมอลำขอนแก่นเอาไว้ได้ เพราะเราอยู่ได้ด้วยตรงนี้ เราจะต้องมองเป็นธุรกิจ ต้องไปวิ่งหาสปอนเซอร์มาช่วยด้วย บางทีค่าใช้จ่ายกับค่าจ้างที่เขาจ้างไปโชว์มันไม่เท่ากันอยู่แล้ว แต่ค่าแรงเด็กมันเท่าเดิม มันต้องจ่ายเท่ากันเป๊ะๆ 

“อย่างไปแม่สอดก็จะราคาสูงหน่อย ค่าจ้างมันประมาณ 750,000 คืนเดียวเล่น 3-4 ชั่วโมง พ่อก็ไม่รู้เขาจ้างไปทำไม (หัวเราะ) จ้างไปเล่นไม่กี่ชั่วโมง ราคาเกือบล้าน แต่ที่ราคามันสูงเพราะถ้าเรารับแถวอีสานมันจะประมาณ 350,000 บาท สามวันก็ล้านนึง แต่ไปแม่สอดคือเราเหมือนต้องเสียงานไป 3 วัน แต่เราก็เหมือนได้พาเด็กๆ เขาไปเที่ยวด้วย”

พูดถึงเรื่องรายได้ หากย้อนกลับไปสมัยหลายสิบกว่าปีก่อน ค่าจ้างหมอลำแต่ละคณะอยู่กันที่แค่หลักพันถึงหลักหมื่นเท่านั้น ซึ่งสำหรับระเบียบวาทะศิลป์ที่ตอนนั้นยังเป็นเพียงคณะเล็กๆ ค่าจ้างสักหมื่นสองหมื่นพวกเขาก็อยู่กันได้อย่างสบาย จนเมื่อสมาชิกวงเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาคือความรับผิดชอบและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นตาม

“ค่าจ้างเราเริ่มต้นที่คืนละ 300,000 บางทีก็ 450,000-600,000 บาท ขึ้นอยู่กับเจ้าภาพคนจ้างว่าเขาอยากได้อะไร กับขึ้นอยู่กับระยะทาง ถ้าระยะทางไม่เกิน 150 กิโลเมตรก็จะอยู่ที่ 340,000 บาท ถ้าเป็นช่วงมินิคอนเสิร์ตที่แต่ก่อนเขาเรียกว่าเป็นช่วงปิดฤดูกาล ก็จะอยู่ที่ 180,000-220,000 บาท อันนี้จะคิดตามจำนวนศิลปิน

“ตอนนี้ศิลปินเรามีประมาณ 30-40 คน แดนเซอร์ 100 กว่าชีวิต คอนวอยอีก โชเฟอร์อีก แม่ครัวทำกับข้าวอีก รวมๆ ก็ 300 (หัวเราะ) ซึ่งพอคนเราเยอะ ค่าจ้างเราก็ต้องสูง แต่ส่วนใหญ่ก็ขาดทุนไปกับน้ำมัน (หัวเราะ) สมมติค่าจ้าง 220,000 จ่ายค่าน้ำมันไปแล้วแสนนึง เหลือแสนกว่าบาทนิดๆ คนทำงานเกือบ 300 ชีวิต จะแบ่งกันยังไง ก็ต้องไปวิ่งหาสปอนเซอร์มาซัพพอร์ต”

นั่นเป็นเหตุผลที่บนเวทีแฟนๆ จะเห็นหน้าจอขนาดใหญ่ ที่ก่อนและระหว่างแสดงจะมีโฆษณาของสปอนเซอร์ฉายให้ชม เพื่อที่จะนำรายได้จากสปอนเซอร์มาหล่อเลี้ยงคณะเพิ่มอีกทาง

ถึงโชว์แต่ละครั้งของหมอลำคณะใหญ่จะมีค่าจ้างเหยียบหลักแสน แต่ถ้าบอกว่าแต่ละงานที่ต้องแสดงโชว์นั้นต้องเล่นตั้งแต่ค่ำจนถึงเช้าตรู่ของอีกวัน ก็ชวนปาดเหงื่ออยู่พอสมควร อาชีพหมอลำจึงไม่ใช่อาชีพที่ง่าย เพราะต้นทุนที่เป็นเม็ดเงินก็สำคัญไม่แพ้กัน

มากกว่าการบริหารแรงกายและแรงใจที่จ่ายไปให้สมดุลเสมอ กระทั่งบริหารธุรกิจให้ก้าวเดินไปพร้อมกับศิลปะดนตรีอีสานได้ อีกสิ่งที่นับเป็นความยากในการทำธุรกิจหมอลำ พ่อเปียบอกว่ามันคือการบริหารคน 

“คณะเรามันเต็มไปด้วยคน หลายพ่อหลายแม่ 300 ชีวิตที่มาอยู่ด้วยกัน ชีวิตมันต่างกัน บางคนจบปริญญาตรี ปริญญาโทก็มาเป็นหมอลำ บางคนฐานะการเรียนก็ไม่ได้สูงเท่าไหร่ ความคิดความอ่าน เคมีมันก็มีบ้างที่ไม่ตรงกัน เราก็ต้องช่วย ต้องทำให้เขาไปด้วยกันให้ได้ หลอมรวมเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้องค์กรเราเดินไปให้ได้ เพราะมันคืออาชีพหลักของเรา และจะได้ช่วยให้เขามีเงินมีทองส่งน้องเรียน เจือจุนครอบครัว ค่าอาหารกับข้าวก็ต้อง เราเลยต้องมีพระเดชพระคุณต่อกัน พ่อก็ทำแบบนี้มา เลยรู้ว่าความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ภาษาอีสานเขาจะบอกว่าโมโหยิ่งพาตัวตกต่ำ ถ้าจะมีแต่ไล่ออก ไล่ออก แบบนี้ก็ฉิบหายหมด”

“เวลาพนักงานที่โด่งดังจากเราแล้วออกไป ความรู้สึกมันเป็นยังไง โกรธไหม” ฉันถามด้วยอยากคลายความสงสัย

“มันเสียดายมากกว่า แรกๆ น้อยใจว่าหรือเพราะเราดูแลเขาไม่เต็มที่ แต่หลังๆ มาก็ทำใจได้บ้าง มันต้องทำใจ เพราะทุกคนไม่ได้อยู่กับเราไปตลอดชีวิต ถึงจะอยู่มา 5 ปี 10 ปี ก็โอเคแล้ว มันก็เป็นแบบนี้แต่ไหนแต่ไร พ่อระเบียบก็เหมือนกัน พ่อเขาก็แยกออกจากวงอื่นมาทำของตัวเองเหมือนกัน” เขาหัวเราะเมื่อเล่าถึงตรงนี้  

“ในเมื่อมีคนเข้ามาและออกไป แล้วในมุมธุรกิจจะทำยังไงให้มันยั่งยืน”

“พ่อขายแบรนด์ตัวเอง ไม่ได้ขายส่วนบุคคล บุคคลมันเกิดขึ้นมาด้วยธรรมชาติของมัน คนเก่าไปคนใหม่ก็มา ระเบียบฯ เราอยู่กับการโปรโมตตัวเอง เชียร์ตัวเอง เหมือนกับว่าถ้าพื้นฐานเราแน่น เสาบ้านเราแน่น เราก็จะสามารถเป็นเสาชูคนอื่นขึ้นมาได้

“ที่ผ่านมาพ่อผลิตบุคลากรออกไปตั้งวง 3-4 คนแล้วนะ วงแรกคือบอย ศิริชัย มาอยู่กับพ่อ 4 ปี มีแฟนคลับซัพพอร์ตก็ออกไปตั้งวง นก พงศกร ก็ไปตั้งวง กู๊ด จักรพันธ์ ก็ไปตั้งวง แมน จักรพันธ์ ล่าสุดก็ไปตั้งวง เราเหมือนมหาวิทยาลัยผลิตบุคลากร คนไหนที่จบการศึกษาก็ออกไปหาประสบการณ์ข้างนอก แต่คุณจะได้งานดีหรือไม่ดีก็แล้วแต่ หน้าที่ของพ่อจบแล้ว เราก็ผลิตรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมา มันก็จะเป็นลูกโซ่กันแบบนี้” 

-4-
สิบ่เป็นหมอลำนอกสายตา

เวลาล่วงเลยมาจวนจะค่ำ เวทีถูกประกอบร่างใกล้แล้วเสร็จ บรรยากาศชุลมุนกว่าช่วงเย็นย่ำที่เราเดินทางมาถึง แดนเซอร์และศิลปิน 300 กว่าชีวิตง่วนอยู่กับการลงเครื่องหน้าและการจัดแจงเครื่องแต่งกาย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ฉันได้มาสัมผัสบรรยากาศหลังเวทีหมอลำแบบแนบชิด 

บทสนทนาดำเนินถึงช่วงท้ายๆ ก่อนที่เขาจะต้องออกไปหน้าเวทีทำหน้าที่เหมือนที่ทำมาตลอดระยะเวลาที่เลือกก้าวเท้าเข้าสู่เส้นทางนี้ ตั้งแต่วันที่ระเบียบวาทะศิลป์ยังเป็นเพียงคณะหมอลำเล็กๆ คณะหนึ่ง

ถึงวันนี้ ในบรรดาหมอลำอีสานหลายร้อยคณะ ฉันไม่แน่ใจว่าในสายตาของคนอื่นนั้นระเบียบวาทะศิลป์เป็นที่สุดของหมอลำแล้วหรือยัง แต่ถ้ามองด้วยสายตาของฉันที่ได้เห็นหมอลำคณะนี้ในเทศกาลดนตรีระดับประเทศอย่าง Big Mountain และได้ร่วมงานกับ Miss Grand Thailand 2023 ในโปรเจกต์มิสแกรนด์ไรซ์ซิงสตาร์ นั่นคงอาจพอพิสูจน์สิ่งที่ฉันคิดได้ว่าระเบียบวาทะศิลป์คือหมอลำแห่งยุคสมัย

จากหมอลำนอกจากสายตา วันนี้ระเบียบวาทะศิลป์ได้กลายมาเป็นวงที่คนทั้งประเทศเปิดใจฟังและตกหลุมรัก อีกทั้งยังสร้างปรากฏการณ์คนล้นหน้าเวทีและตกเหล่าวัยรุ่นให้แวะฟังหมอลำได้อยู่หมัดในงาน Big Mountain ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา

“รู้สึกยังไงกับปรากฏการณ์คนล้นหน้าเวทีตอนไป Big Mountain”

“พ่อภูมิใจนะ ตอนนั้นก็ไม่คิดอะไร ก็เล่นตามที่ซ้อมมา แต่ไม่รู้ไปมายังไง คนที่มาดูเขาก็ดูชอบ ตอนแรกก็คิดว่าจะมีใครมาดูเราไหม ที่ไหนได้ หน้ามือเป็นหลังมือเลย บางคนบอกว่าจะไปดูเวทีโน้น ดูระเบียบฯ แล้วกูไปไหนไม่ได้เลย (หัวเราะ) ศิลปินดังๆ บางคนมาเต้นหน้าเวทีเราก็มี”

หากว่ากันตามตรง เทศกาลดนตรี Big Mountain เป็นเหมือนพื้นที่สำหรับคนรุ่นใหม่และส่วนใหญ่คนที่เข้ามาฟังก็เป็นคนที่หลงใหลในดนตรีร่วมสมัย จนเมื่อปีล่าสุดนี่แหละที่หมอลำพื้นบ้านได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของงาน จึงไม่ผิดนักถ้าจะบอกว่านี่นับเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งของเทศกาลดนตรีและหมอลำ

“ตอนแรกพ่อก็ไม่รู้หรอกว่า Big Mountain มันคืออะไร เราคนรุ่นเก่า ลูกสาวก็เล่าให้ฟัง เขาบอกว่าพ่อ สุดยอดเลยนะถ้าพ่อได้เข้าไปโชว์งานนี้ มันดนตรีระดับโลก ระดับประเทศเลย

“งาน Big Mountain ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ เขาให้เราไปร่วมงานนะ ทางผู้บริหารเขาบอกว่ามาดูงานเราอยู่หลายปีเลย ตอนแรกพ่อก็สงสัยนะว่าทำไมชื่อระเบียบฯ เข้าไปถึง Big Mountain ได้ จริงๆ มันไม่ใช่แค่เวทีเราอลังการแล้วเขาจ้างนะ เขาดูเราถึงขั้นว่าเราบริหารจัดการยังไง ระบบเสียง เวที ดนตรีเป็นยังไง เขาละเอียดมาก”

“ตอนเห็นคนล้นหน้าเวทีความรู้สึกเป็นยังไง”

“น้ำตาจะไหล ออกหน้าเวทีร้องเพลงยังไม่ถูกเลย ลืมหน้าลืมหลัง มันปลื้มใจ เพราะเราไม่คิดว่าวัยรุ่นเขาจะให้การตอบรับกับศิลปะพื้นบ้านเยอะขนาดนี้ มันไม่เคยมีมาก่อน เขาคงอยากมาดูความสนุกสนาน วัฒนธรรมอีสานมันคือความสนุก อีสานมันมักม่วน

“2-3 ปีหลังมานี้หมอลำมันก็เริ่มกระเตื้องขึ้น คนเริ่มมาทำหมอลำกันเยอะ แต่ก็ไม่รู้ว่าทำเพื่อธุรกิจ ขยายฐาน ขยายวัฒนธรรม หรือเพื่อรักษาวัฒนธรรมเราก็ไม่รู้ แต่สำหรับเรา เราทำเพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานยังได้เห็น และมันเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ให้กับเด็กหลายๆ คนได้” 

แม้ไม่ใช่คนที่โตมากับหมอลำ ไม่เคยคลุกคลีอยู่กับศิลปะพื้นบ้านอย่างหมอลำแบบจริงจัง และรู้เบื้องหลังชีวิตหลังม่านเท่าที่เคยได้ยินผ่านหู แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องบอกว่าภูมิใจแทนในความใจรักของพวกเขา และจากคำบอกเล่าของพ่อเปีย เขาคงรู้สึกแบบเดียวกัน

“คิดว่าอะไรที่ทำให้ระเบียบวาทะศิลป์เติบโตมาได้ไกลขนาดนี้” 

“ตอนนี้พ่อก็ไม่รู้ว่าระเบียบฯ มีชื่อเสียงขนาดไหน รู้แค่ว่าต้องทำทุกวันให้ดีที่สุด ถึงคนจะบอกว่าระเบียบฯ อันดับหนึ่ง ไปไกลทั่วโลก พ่อไม่สนใจ แค่อยากทำทุกวันให้ดีที่สุด ทำผลงานให้ดีที่สุด อัพเดตคุณภาพการแสดงเป็นหลัก ถ้าผลงานการแสดงเราดี คนชื่นชอบ เขาก็จ้างเราไปเล่น เราอย่าไปมัวแต่หลงตัวว่าเราเป็นอันดับไหน เราทำผลงานให้ดีที่สุด ให้ตอบโจทย์คนดูที่สุดก็พอ เดี๋ยวของพวกนั้นมันก็มาเอง

“สิ่งไหนที่เราทำให้กับแฟนเพลงได้ อันนั้นคือสิ่งที่ดี เพราะเป็นสิ่งที่เขาต้องการที่สุด อันไหนที่เขาบอกว่าไม่ชอบ ไม่ต้องการ เราก็เปลี่ยน อันนี้เขาไม่ยินดีกับเรานะ เราก็ต้องเปลี่ยนแนวไป ต้องหาอะไรที่ตอบโจทย์คนดูให้มากที่สุด สิ่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้แฟนคลับเขาอยู่กับเรา ทำให้ดีที่สุด ทำให้สุดความสามารถ เท่าที่ศักยภาพเรามี และพอทำได้”

“ตอนเด็กๆ พ่อมีมุมมองยังไงกับหมอลำ เคยคิดมั้ยว่าจะมาไกลขนาดนี้” ฉันย้ำถามถึงความหลังวัยเด็กอีกครั้งเพื่อให้แน่ใจในคำตอบ

“มันก็ตามประสาเด็ก ก็สนุกสนาน ก็ดู ก็ไม่ดูยืดยาว ไม่ได้ดูเป็นเรื่องเป็นราว ไปดูเขาเล่นก็ชื่นชมว่าเขาเล่นดี แค่นั้นแหละ ก็ไม่ได้คิดไกลขนาดนี้ แต่พอทำไปนานๆ อายุวงมันนานขึ้น เริ่มสมาชิกมากขึ้น เราก็ต้องคิดไปไกลแล้วว่าจะต่อยอดให้ศิลปะบ้านเราไปต่อยังไง

“อีกอย่างคือเราทำมาแล้ว เราก็อยากต่อยอดให้ดีที่สุด พ่อเราสร้างชื่อ ‘ระเบียบวาทะศิลป์’ ไว้แล้ว หน้าที่เราคือต้องพัฒนาต่อยอดไปให้ได้ในแต่ละปี ต้องอัพเดตข้อมูล อัพเดตวัฒนธรรมต่างๆ ดูของหลายๆ ภาค ของหลายๆ ประเทศ แล้วเอามาปรับใช้ เราต้องคิด ต้องปรับปรุงอยู่ตลอด กว่าจะออกไปสู่สายตาพี่น้อง ไม่ใช่ว่าออกไปแล้วคนส่ายหัว”

ก่อนจากเขาทิ้งท้ายกับฉันว่าสิ่งที่เขากลัว คือกลัวว่าถ้าหมอลำอีสานหายไปแล้วมันจะเอากลับคืนมาได้ยาก 

“ของพวกนี้มันฟื้นตัวยากมาก พ่ออยากให้ทางรัฐทางอะไรเขามาช่วยด้วย หมอลำมันสร้างรายได้ให้ประเทศไม่น้อยเลยนะ ต่างชาติเขายังมาดู คนที่อยู่ต่างจังหวัดเขาตามมาดูก็มี”

แม้ขานึงจะเป็นธุรกิจ แต่อีกขาของระเบียบวาทะศิลป์ก็ยังคงเป็นความตั้งใจรักษาวัฒนธรรมอีสานเอาไว้ บทสนทนาของเราจบลงพร้อมกับความสงสัยและคำถามที่ฉันเขียนลงมาในกระดาษ

ตอนนี้ฉันไม่สงสัยแล้วว่า อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ระเบียบวาทะศิลป์ยืนระยะมาจนถึงปีที่ 60

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like