Ageing Socity

สังคมผู้สูงอายุทำพิษ บริษัทในญี่ปุ่นปิดกิจการกว่า 8,000 บริษัท เยอะสุดในรอบ 4 ปี

สำหรับคนไทยที่ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นและเดินทางไปเยือนทุกปี อาจกล่าวได้ว่าการไปเยือนแดนปลาดิบครั้งหน้าไม่มีอะไรการันตีว่าร้านที่รัก แบรนด์ที่ชอบ หรือธุรกิจที่เชียร์ จะยังอยู่แข็งแรงเหมือนเก่าหรือเปล่า

ไม่ใช่ยอดขายไม่ดี แต่เพราะห้างร้านหรือธุรกิจต่างๆ ในญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน แม้แต่ร้านซูชิที่ขึ้นชื่อว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของญี่ปุ่นก็อยู่รอดยาก เพราะวัตถุดิบแพงขึ้นจนผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว จึงประกาศปิดกิจการเพิ่มขึ้นถึง 400%

รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลประจำปี พบว่า 1 ใน 10 ของประชากรญี่ปุ่นอายุเกิน 80 ปี ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก เมื่อเทียบกับสัดส่วนจำนวนประชากรที่อายุเกิน 65 ปี ซึ่งปีนี้ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 29.8% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 36.23 ล้านคน จากประชากรทั้งสิ้น 125 ล้านคน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่เริ่มหยุดนิ่ง สปีดช้าลง จนหลายคนเริ่มมองเห็นว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่โต หรือติดลบด้วยซ้ำ อาจจะด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หรือคนเกิดใหม่ที่น้อยเหลือเกิน

ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จากรายงานของ Tokyo Shōkō Research เผยว่า ปีที่ผ่านมามีบริษัทในญี่ปุ่นยื่นล้มละลายแล้วกว่า 8,690 บริษัท รวมมูลค่าหนี้สินทั้งหมด 2.40 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ถึง 35.2% เป็นตัวเลขที่มากที่สุดในรอบ 4 ปี

เมื่อแยกตามอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับงานบริการมีจำนวนมากที่สุด 2,940 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 46.1% ตามด้วยอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่ขาดแคลนแรงงานขั้นสุด บวกกับราคาวัสดุ-อุปกรณ์ที่แพงขึ้น ทำให้มีการยื่นปิดกิจการถึง 1,693 ราย และอุตสาหกรรมการผลิต ที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้นก็ประกาศเลิกกิจการไปกว่า 977 ราย

จากตัวเลขทั้งหมดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหา ageing society หรือสังคมผู้สูงอายุที่ทำให้ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้ภาระการจ่ายภาษีตกอยู่กับคนวัยทำงาน จึงส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในญี่ปุ่น จนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ทั้งนี้ หากมองที่ต้นตอปัญหาในประเด็นเรื่องประชากรเกิดใหม่ ใช่ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะนิ่งนอนใจ ช่วงที่ผ่านมาก็มีมาตรการเพิ่มจำนวนประชากรออกมาเป็นระยะ ทั้งเงินอุดหนุนสำหรับเด็กแรกเกิด เงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดู การลดหย่อนภาษีสำหรับครอบครัวที่มีลูก การสนับสนุนให้ผู้หญิงทำงานหลังคลอด ฯลฯ เนื่องจากตอนนี้คนญี่ปุ่นเลือกใช้ชีวิตแบบไม่แต่งงาน เป็นโสดมากขึ้น ซึ่งก็มาจากค่าครองชีพ และรายได้ที่พิจารณาแล้วว่าจะไม่พอต่อการเลี้ยงลูก นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจบอกอีกว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องการมีลูกแค่หนึ่งคนเท่านั้น ถือเป็นตัวเลขที่น่ากังวลอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม มาตรการต่างๆ ข้างต้นก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะอัตราการเกิดก็ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ปีละ 800,000 คน (ปี 2565 มีเด็กเกิดใหม่ทั้งสิ้น 799,728 คน) ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ วางแผนเรื่องการดูแลสุขภาพ และสวัสดิการต่างๆ ในระยะยาว

ล่าสุด The Guardian รายงานว่า ญี่ปุ่นกำลังจะเสียตำแหน่งประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกให้เยอรมนี ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากค่าเงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนตัวเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ และผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อัตราการเกิดใหม่ต่ำ จนเกิดช่องว่างของประชากรวัยทำงานที่น้อยลง

เมื่อประชากรวัยแรงงานน้อยลง สิ่งที่ตามมาคือ เศรษฐกิจเติบโตยาก ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจกลายเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับมารุ่งเรืองเหมือนเดิม

หนึ่งในวิธีที่รัฐบาลญี่ปุ่นเลือกใช้คือ การลดภาษีให้อยู่ในระดับต่ำ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของคนญี่ปุ่นให้ลดลง อย่าลืมว่ารายได้ของรัฐบาลมาจากภาษี เมื่อรายได้จากภาษีลดลง รัฐบาลญี่ปุ่นก็ต้องกู้เงินเพื่อใช้บริหารประเทศ จึงนำไปสู่วังวนของหนี้สาธารณะมาหลายสิบปี ทำให้เวลานี้ญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะกว่า 262% ต่อ GDP และมีการคาดการณ์ว่าใน 10 ปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะมีหนี้สาธารณะ 300% ต่อ GDP

จากกรณีของญี่ปุ่น เราสามารถเรียนรู้บทเรียนและเตรียมรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน และหนี้สาธารณะของไทยก็ไม่ได้น้อยไปกว่าของญี่ปุ่น อีกทั้งรัฐบาลไทยก็มีนโยบาย Digital Wallet ที่ต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ หรือนโยบายเพิ่มสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ ซึ่งการดูแลเหล่านี้ล้วนต้องแลกมาด้วยหนี้สาธารณะ และทางรัฐบาลก็พยายามตรึงดอกเบี้ยให้ต่ำเพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ในไม่ช้าไทยก็อาจเดินตามรอยญี่ปุ่น

ข้อมูลจาก

Writer

นักเขียนที่สนใจเรื่องธุรกิจ การตลาด และความเป็นไปในสังคม

Illustrator

บรรณาธิการศิลปกรรม Email: [email protected]

You Might Also Like