Aged Society

จะเป็นอย่างไรเมื่อไทย อาจกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ‘ขั้นสุดยอด’เร็วกว่าที่คาดเอาไว้

นอกจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม สงคราม ภาวะเงินเฟ้อ อีกหนึ่งปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกันอยู่ตอนนี้คือปัญหาโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจากอดีต

เกิดน้อยลง แก่มากขึ้น จึงนำมาสู่ปัญหาสังคมผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบมานานหลายปีแล้ว เกาหลีใต้ ที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก

กระทั่งจีน ประเทศที่เคยมีประชากรมากที่สุดในโลกจนต้องออกนโยบายลูกคนเดียว แม้ภายหลังจีนจะออกมาผ่อนปรนนโยบายดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาอัตราการเกิดที่ต่ำมากจนเกินไป ทว่าด้วยสังคมที่เต็มไปด้วยวิกฤตและโรคระบาด การผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวก็ยังไม่สามารถทำให้จีนแก้ปัญหาการลดลงของประชากรเกิดใหม่ได้ โดยจีนเจอปัญหาจำนวนประชากรลดลงมากที่สุดเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ และถูกอินเดียแซงหน้าเรื่องจำนวนประชากรไปเป็นที่เรียบร้อย 

เช่นเดียวกับไทยที่ได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมาตั้งแต่ช่วงปี 2548 แต่เหตุผลที่ทำให้เราหยิบยกประเด็นนี้มาพูดถึงอีกครั้งเพราะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ออกรายงานเกี่ยวกับเรื่อง ‘การมาถึงของสังคมสูงอายุขั้นสุดยอดที่เร็วกว่าที่คาดไว้’ 

แล้วสังคมผู้สูงอายุ ‘ขั้นสุดยอด’ วัดจากอะไร? 

องค์การสหประชาชาติได้กำหนดเกณฑ์เอาไว้ว่า สังคมผู้สูงอายุจะแบ่งเป็น 3 ขั้นหลักๆ ด้วยกัน 

ขั้นแรกคือสังคมผู้สูงอายุทั่วไป–มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% หรือมีคนอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด

ขั้นที่สองคือสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์–มีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีคนอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด

ขั้นที่สามคือสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด–มีคนอายุมากกว่า 65 ปีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

ซึ่งไทยอาจกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นหลังสุดตอนปี 2572 เร็วขึ้นกว่าจากเดิมซึ่งคาดไว้ว่าจะเป็นปี 2574 โดยเหตุผลที่ทำให้ไทยอาจก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยขั้นสูงสุดเร็วกว่าที่กำหนดไว้มาจาก 3 ข้อหลักๆ ด้วยกัน

ข้อแรก ประชากรของไทยมีจำนวนลดลงแล้วตั้งแต่ปี 2563 เป็นการลดลงที่เร็วขึ้นถึง 9 ปี จากเดิมที่เคยคาดกันเอาไว้ว่าประชากรไทยน่าจะเริ่มมีจำนวนลดลงในปี 2572 อีกทั้งในปี 2564-2565 จำนวนผู้เสียชีวิตก็เริ่มแซงหน้าจำนวนเด็กเกิดใหม่แล้ว

ข้อที่สอง อัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์ในไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 0.7% มีภาวะเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.33 สวนทางกับตัวเลขของประชากรรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่อายุ 60 ปีจำนวนกว่า 1 ล้านคนในปีนี้

ข้อสุดท้าย เมื่อโลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาดและความไม่แน่นอนทั้งหลาย จึงทำให้คนรุ่นใหม่นิยมมีลูกกันน้อยลง ส่งผลให้อัตราการเกิดใหม่ลดลงตามไปด้วย

เมื่อโครงสร้างของประชากรในประเทศเริ่มเปลี่ยนแปลง ธุรกิจก็ควรเริ่มที่จะปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปด้วย แม้วันนี้รายได้ของธุรกิจคุณจะยังดีอยู่ ลูกค้ายังซื้อของจากคุณในจำนวนเฉลี่ยเท่าเดิม ยังมีลูกค้าประจำที่เป็นฐานแฟนของธุรกิจอยู่ แต่หากประเทศเริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยมากกว่านี้ ลูกค้าคนเดิมเริ่มล้มหายไปตามกาลเวลา การหมั่นสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้

หรือแม้แต่ในวันที่จำนวนคนเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ ย่อมส่งผลให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นตามไปด้วย การมองหาเทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานก็อาจเป็นหนทางในการประหยัดต้นทุนของธุรกิจในระยะยาวได้ 

ไม่เพียงแต่ภาคเอกชนหรือธุรกิจเท่านั้น การที่ประเทศก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยยังถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของภาครัฐด้วยเช่นกัน เพราะสังคมผู้สูงวัยนั้นพ่วงมาด้วยค่าใช้จ่ายและต้นทุนอีกมากมายที่ภาครัฐต้องแบกรับ ทั้งเบี้ยผู้สูงอายุ หรือค่าใช้จ่ายด้านสาธารณะสุขก็ตาม สวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ซึ่งเป็นวัยที่เต็มไปด้วยพละกำลังในการทำงานและเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไป

นี่จึงถือเป็นโจทย์ใหญ่ ที่ไม่ใช่แค่ไทย แต่หลายประเทศก็ยังแก้ไม่ตกเช่นกัน 

แล้วประเทศที่หลายคนมักจะนึกถึงเมื่อพูดถึงสังคมผู้สูงวัยอย่าง ‘ญี่ปุ่น’ แก้ปัญหานี้ยังไง? 

การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นนั้นมี 3 วิธีหลักๆ ด้วยกันคือการขยายอายุเกษียณ โดยตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในปี 1980 นับแต่นั้นรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้มีการขอความร่วมมือให้ขยายอายุเกษียณจากเดิม 55 ปี มาเป็น 60 ปี กระทั่งในปี 2006 ก็ได้มีการปรับให้จ้างงานได้จนถึงอายุ 65 ปี ทั้งยังมีการเสนอให้ผู้สูงอายุรับเงินบำนาญในช่วงอายุ 60-70 ปี ซึ่งหากผู้สูงอายุคนไหนรับเงินบำนาญในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไปก็จะได้เงินจำนวนมากกว่า เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้สูงอายุทำงาน และเพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดตลาด 

วิธีที่สองคือการใช้กฎหมายบังคับนายจ้างเพื่อสร้างความมั่นคงในการทำอาชีพให้กับผู้สูงอายุ ส่วนวิธีสุดท้ายคือการมีมาตรการที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำงานกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอาชีพ หรือการให้คำปรึกษาเรื่องการทำงานก็ตาม

แม้ว่าอายุและพละกำลังของผู้สูงวัยจะยังไม่สามารถมาทดแทนแรงงานที่มาจากคนรุ่นใหม่ได้ แต่นโยบายเหล่านี้ก็ทำให้อัตราว่างงานของผู้สูงอายุในญี่ปุ่นลดน้อยลงไปในจำนวนที่ไม่น้อยเลย

และหากไทยนำนโยบายเหล่านี้มาปรับใช้บ้าง ก็อาจช่วยชะลอให้การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยขั้นสุดยอด ช้าลงก็เป็นได้

อ้างอิง

  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  • tdri.or.th/2017/01/2017-01-20

Writer

บรรณาธิการธุรกิจ มีความสนใจเรื่องกลยุทธ์ธุรกิจ-การตลาด และชื่นชอบการเข้าโรงงานเพื่อดูเบื้องหลังการผลิตเป็นอย่างยิ่ง

You Might Also Like