Keep Calm and Recycle

Recycle Day Thailand ระบบจัดการขยะแบบครบวงจรที่ช่วยให้แยกขยะได้สนุกและท้าทายเหมือนเล่นเกม

หลายคนคงรู้ดีว่าการแยกขยะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าขั้นตอนการแยกขยะนั้นซับซ้อน แถมเมื่อแยกแล้วก็ไม่รู้จะไปส่งขยะที่ไหน เรียกซาเล้งมารับก็มาบ้างไม่มาบ้าง ครั้นจะขนออกไปส่งที่โรงรับซื้อด้วยตัวเองก็ดูไม่คุ้มทุนและยุ่งยาก 

สารพันปัญหาที่เกิดขึ้นตรงนี้เองที่หลายคนต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อให้การแยกขยะไม่ยากจนเกินไป เช่น สอนแยกขยะอย่างง่าย รวมรายชื่อโรงงานรับขยะให้คนรู้ว่าต้องส่งขยะที่ไหน กระทั่งการสร้างระบบสอนแยกและรับขยะแบบครบวงจร เช่น Recycle Day Thailand ที่ทำให้การแยกขยะดูไม่ยากจนอยากล้มเลิกความตั้งใจ

ว่ากันง่ายๆ Recycle Day Thailand คือระบบเรียกรถจัดการขยะแบบครบวงจรที่มีคู่มือสอนแยกขยะอย่างง่าย มีแอพพลิเคชั่นให้เรากดเรียกรถมารับขยะถึงบ้าน หรือถ้าไม่อยู่ในพื้นที่ที่รถจะเดิน ก็ยังมีจุดดร็อปขยะใกล้ๆ ให้เราไปส่ง ในแอพพลิเคชั่นยังบันทึกว่าเราแยกขยะไปแล้วเท่าไหร่ ขยะเหล่านั้นได้พอยต์สำหรับแลกของรางวัลหรือได้เงินคืนอีกแค่ไหน

เรียกว่าไม่เพียงช่วยอำนวยความสะดวกให้คนที่แยกขยะอยู่แล้วรู้ว่าขยะที่แยกจะเดินทางไปไหน แต่ยังสร้างเกมขนาดย่อมไว้ดึงดูดให้คนที่ไม่ได้สนใจเริ่มหันกลับมามอง แต่ภายใต้ความง่ายนี้กลับแฝงไปด้วยความยากในแง่มุมคนทำธุรกิจเพราะไม่เพียงต้องใช้แรงใจมหาศาลแต่ยังต้องมีแรงเงินหมุนเวียนด้วย 

เราจึงชวน ‘ชนัมภ์ ชวนิชย์’ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด มาพูดคุยถึงเรื่องราวเบื้องหลัง Recycle Day Thailand และโมเดลธุรกิจที่แม้ปัจจุบันจะยังไม่คืนกำไรแบบเป็นกอบเป็นกำ แต่ระบบการจัดการและการพัฒนาของทีมงานก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีๆ 

Pain point ของคนแยกขยะ

ก่อนกระโดดเข้าสู่แวดวงขยะรีไซเคิล ชนัมภ์และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ เป็นพนักงานในบริษัทใหญ่ที่มีโครงการจัดการขยะและพลังงานอยู่แล้ว การคลุกคลีในโครงการเหล่านี้เองที่ทำให้พวกเขาเห็นช่องโหว่ในระบบการจัดการขยะของไทยที่ต่อให้รณรงค์เท่าไหร่ ก็ยากจะไปถึงฝั่งฝัน

“ประเทศที่เจริญแล้วเกือบทุกประเทศมีการแยกขยะอย่างชัดเจนเพื่อแปรรูปขยะให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ในประเทศไทย การคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เมื่อ 5 ปีก่อน กระแสสตาร์ทอัพกำลังมาแรงในไทย ผมกับเพื่อนๆ ก็มองว่าเราควรจะทำอะไรสักอย่าง”

ด้วยองค์ความรู้ที่มี ชนัมภ์และผู้ร่วมก่อตั้งคนอื่นๆ ลงความเห็นว่าขยะที่จัดการได้ง่าย สื่อสารไม่ยาก ใกล้ตัวทุกคน และน่าจะมีโอกาสทางธุรกิจได้ด้วยคือขยะรีไซเคิล มากกว่าจะเป็นขยะอุตสาหกรรมหรือขยะชุมชน โมเดลแรกๆ ของ Recycle Day Thailand จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจากการแชร์ pain point ของคนแยกขยะกันไปมา

“ตัวผมเองอยู่บ้าน ผมเจอปัญหาว่าผมแยกขยะไม่ได้เพราะแยกแล้วไม่รู้จะส่งไปที่ไหน จะเรียกซาเล้งมารับ บางหมู่บ้านก็ไม่ให้เข้า หรือบางทีซาเล้งก็ไม่มาเสียเองเพราะปริมาณขยะที่ได้รับมันไม่คุ้มทุน ขณะที่เพื่อนที่อยู่คอนโดกลับแยกขยะได้ง่ายเพราะจะมีคนมารับขยะจากลูกบ้านทุกวันเสาร์ 

“ผมจึงเริ่มหันไปดูการจัดการขยะในประเทศอื่นบ้างว่าเขาทำกันยังไง พบว่าแต่ละเทศบาลก็จะระบุวันชัดเจนไปเลยว่าวันไหนบ้างที่จะเข้ามารับขยะประเภทไหน ตรงนี้เองที่ทำให้คิดว่าถ้าเราทำแบบเดียวกันบ้างจะเป็นไปได้ไหม” ชนัมภ์เล่า 

ฟื้นขยะให้มีค่าด้วยระบบแบบครบวงจร

“ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่ทำงานกับคนจำนวนมาก ทั้งพนักงานของเราเองและกับทั้งลูกค้า การมีเครื่องมืออย่างแอพพลิเคชั่นและระบบการจัดเก็บขยะที่ดีจึงจำเป็นมากเพื่อให้การสื่อสารมันง่าย การเก็บข้อมูลก็ไม่ยาก การนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อและคุยกับโรงงานที่รับซื้อก็ไม่ซับซ้อน อีกอย่าง เราไม่ได้อยากเป็นซาเล้งที่มารับขยะแล้วซื้อมาขายไป แต่เราอยากค่อยๆ แก้ไขพฤติกรรมคนด้วย” ชนัมภ์เกริ่นถึงความตั้งใจในการเริ่มธุรกิจนี้ 

เพราะความตั้งใจนั้น Recycle Day Thailand จะต้องถูกสร้างขึ้นอย่างเป็นระบบ ส่วนของสมาชิกที่แยกขยะ ระบบที่ว่าจะประกอบด้วยแอพพลิเคชั่นที่มีคู่มือสอนแยกขยะ ระบบนัดรถมารับขยะ และระบบเก็บบันทึกปริมาณขยะที่ขายได้ซึ่งจะแปลงมาเป็นพอยต์เพื่อแลกของรางวัล  

“ทุกคนควรจะรู้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ อีกอย่างถ้าการแยกขยะมันสนุกขึ้น คนก็น่าจะมีแรงจูงใจและกำลังใจในการแยกต่อไป เราจึงพัฒนาให้มีระบบพอยต์และของรางวัล เพราะราคาขยะรีไซเคิลนั้นขึ้น-ลงอยู่ตลอด แทนที่เขาจะเก็บขยะเพื่อแลกเงินไม่กี่บาท ก็ให้เขาเก็บสะสมพอยต์นั้นมาแลกของรางวัลที่น่าสนใจดีกว่า” ชนัมภ์อธิบายแนวคิด

จัดการระบบให้สมาชิกแล้ว ก็ต้องจัดการระบบเพื่ออำนวยความสะดวกคนทำงานด้วย การเก็บขยะของ Recycle Day Thailand นั้นมีอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือรถเก็บขยะที่จะขับไปในโครงการหมู่บ้าน สำนักงาน หรือคอนโด โดยทีมงานและนักพัฒนาจะจัดเส้นทางรับขยะให้คุ้มค่ามากที่สุด 

ส่วนใครที่อยู่นอกเส้นทาง จำเป็นต้องแยกขยะให้ได้ 30 กิโลกรัมจึงจะเรียกรถเข้ารับได้ จึงนำมาสู่แบบที่สองอย่างจุดดร็อปขยะ ที่ชนัมภ์ร่วมกับห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อสร้างจุดดร็อปขยะให้สมาชิกที่อยู่นอกบริเวณรถผ่านมาส่งขยะได้อย่างสะดวก เพียงยื่นขยะให้พนักงาน จากนั้นก็สามารถไปทำธุระต่อได้เลย

“ที่ต้องทำระบบให้ครบวงจรขนาดนี้เพราะผมก็อยากจะเห็นว่าถ้าเราทำให้ขนาดนี้แล้ว คนจะแยกขยะกันไหม ซึ่งก็ต้องบอกตามตรงว่าตลอดเวลาที่ทำมา พฤติกรรมคนนั้นเปลี่ยนยากมากๆ แต่เราก็เห็นอีกเหมือนกันว่ามันเปลี่ยนได้ หลายคนที่แยกขยะให้เราแต่แรกก็ยังแยกอยู่จนทุกวันนี้ บางคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ได้แค่ 2 เดือน การแยกขยะก็กลายเป็นกิจวัตรของเขาไปแล้ว” ชนัมภ์อธิบาย

ถ้าเลือกเอาเวอร์ชั่นของแอพพลิเคชั่นเป็นตัวมาร์กจุดของธุรกิจ ขยะที่ได้จากแอพพลิเคชั่นเวอร์ชั่น 2 นั้นรวมๆ แล้วประมาณ 900 ตัน แต่หากรวมขยะตั้งแต่เวอร์ชั่นแรกสุด Recycle Day Thailand และสมาชิกร่วมกันคัดแยกขยะไปหมื่นกว่าตันแล้ว ตัวชี้วัดนี้เองที่ทำให้โครงการหมู่บ้านต่างๆ ก็เริ่มติดต่อเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ ส่วนห้างร้านต่างๆ ก็ให้ความร่วมมือกับการตั้งจุดดร็อปขยะเป็นอย่างดี

ธุรกิจที่ต้องแก้ไขปัญหาตลอดเวลาและใช้แรงใจสูง

ธุรกิจที่ทำงานกับพฤติกรรมของคน แถมยังเป็นธุรกิจค่อนข้างใหม่เช่น Recycle Day Thailand จำเป็นต้องเป็นธุรกิจที่หมั่นปรับปรุงและแก้ไขปัญหาอยู่ตลอด ยิ่งในช่วงแรกที่ต้องพิสูจน์กับทั้งตัวเอง พนักงาน และสังคมว่าธุรกิจนี้จะไปได้ ก็ยิ่งต้องใช้ความอดทนและแรงใจในการทำงานสูง

กว่าระบบของ Recycle Day Thailand จะครอบคลุมขนาดนี้ ชนัมภ์บอกว่าใน 2-3 ปีแรก เขาและเพื่อนๆ จำเป็นต้องตั้งเป้าเดินหน้าทดลองระบบมากกว่าตั้งเป้าหากำไร ตั้งแต่การดูว่าขยะแบบไหนบ้างที่รับได้หรือไม่ได้ ทดลองวิธีการนัดรับขยะผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ หาวิธีจ่ายเงินให้ลูกค้า กระทั่งเดินแจกโบรชัวร์ตามหมู่บ้าน 

“ช่วงแรก เราพยายามเข้าไปชักชวนหลายๆ โซนของกรุงเทพฯ เลยนะ เราก็จะเห็นว่าบางโซนอาจจะเวิร์ก บางโซนก็ไม่เวิร์ก แต่ที่พยายามเสี่ยงเข้าไปหลายโซนขนาดนี้ก็เพราะเราอยากทดลองและเราเชื่อว่าถ้าไม่มีคนเริ่ม การจัดการขยะมันก็จะไม่เกิด

“เมื่อก่อนเราก็รับขยะหลายรูปแบบกว่านี้ เช่น โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่กลายเป็นว่าคนเขาอยากจะเคลียร์ของเหมือนเราเป็นร้านรับซื้อของเก่ามากกว่า ผมเลยเลือกที่จะปฏิเสธขยะบางประเภทออกไป เพราะเงินที่ได้ก็ไม่คุ้มกับลูกค้า เราก็จัดการขยะลำบาก แถมพฤติกรรมของเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนแบบที่เราตั้งใจ”

นอกจากการปรับเปลี่ยนเหล่านี้แล้ว ชนัมภ์และทีมงานยังตั้งเป้าปรับเปลี่ยนวิธีการจัดหาของรางวัลให้จูงใจคนมากกว่านี้ สรรหาทีมงานเพื่อขยายการรับขยะในแต่ละพื้นที่ให้มากขึ้น และพัฒนาการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และเชิญชวนให้คนเป็นส่วนหนึ่งของ Recycle Day Thailand 

ธุรกิจเพื่อสังคมที่ต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองและมีคนเป็นทุนสำคัญ

การแยกขยะเพื่อส่งต่อให้ Recycle Day Thailand นั้นเป็นเพียงเศษหนึ่งส่วนสามของระบบเท่านั้น เพราะ Recycle Day Thailand ยังต้องนำขยะไปแยกประเภทให้ละเอียด จัดเก็บ และขนส่งขยะไปยังโรงงานแปรรูปขยะอีก แน่นอนว่าในทุกๆ ขั้นตอน ย่อมแฝงค่าใช้จ่ายเรื่องคนและค่าขนส่งจำนวนมาก

คำถามที่เราสงสัยคือ Recycle Day Thailand จะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนจริงไหม ชนัมภ์ไม่ลังเลที่จะบอกกับเราว่าธุรกิจนี้มีโอกาสและคุ้มทุน เพียงแต่ต้องค่อยๆ พัฒนาโมเดลและปรับปรุงระบบให้สอดคล้องและครอบคลุมกับความต้องการให้ได้ รวมถึงบริหารจัดการคนทำงานให้ดีกว่าเดิม 

“ผมว่าผมได้ทีมงานที่ดีมากๆ แล้วผมก็ว่าเขาค่อนข้างภูมิใจในงานที่ทำ มันเหมือนเป็นงานบริการเหมือนกันนะ เพราะอย่างจุดดร็อปขยะบางแห่งที่เปิดทุกวัน ทีมงานเราก็ต้องไปสแตนด์บายเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า หรือบางทีดึกแล้ว เขาก็ยังเข้าไปตอบคำถามที่คนสงสัย เพราะแบบนี้เราจึงต้องให้ความมั่นใจกับพนักงานทุกคน 

“เป็นที่มาว่า Recycle Day Thailand จะต้องเป็นธุรกิจที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ด้วยสปอนเซอร์ การมีสปอนเซอร์ช่วยสนับสนุนย่อมดีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราสามารถควบคุมและจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง ธุรกิจมันจะขยายต่อไปได้และเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ณ ตอนนี้ เราอาจจะยังไม่ได้คืนกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่เราเห็นว่ามันมีความหวัง เห็นว่าเรากำลังจะทำอะไร และรายได้ในอนาคตจะเป็นยังไง”  

ความตั้งใจที่ว่าและแผนที่เขาเกริ่นว่าต้องพัฒนา Recycle Day Thailand ไปในทิศทางไหน ไม่ใช่แค่เพื่อให้ Recycle Day Thailand ทะลุเป้าเก็บขยะได้วันละ 10 ตัน จากที่ปัจจุบันทำได้ 4 ตันเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้การจัดการขยะนั้นยั่งยืน และทำให้ธุรกิจนี้หล่อเลี้ยงทีมงานที่ตั้งใจด้วย 

Writer

กองบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ที่มีแมวเป็นแรงผลักดันในการทำงาน

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like