พุทธคูล

จินตนาการไร้ขีดจำกัดของศิลปินเรซิ่น Resindrome ผู้เสกพุทธคูลอาร์ตสุดเฟี้ยวชิ้นเดียวในโลก

เหตุผลที่ Resindrome เป็นแบรนด์เรซิ่นที่มีชิ้นเดียวในโลกเพราะทุกผลงานเป็นงานแฮนด์เมดที่ทำชิ้นต่อชิ้นโดยฝีมือและไอเดียสร้างสรรค์สุดเฟี้ยวของโนะ–พิจารณ์ วราหะ

ในเฟซบุ๊ก ศิลปินเรซิ่นผู้นี้ได้เขียนคำนิยามตัวเองไว้ว่าเป็น Security Guard at Resindrome, เอ็กเซกคลูซีฟโคฟาว์นเดอร์ไดเรกชั่นโปรดิวส์เซอร์อเมริกาโน่คอมเมเดี้ยน at Comedy Against Dictatorship, รปภ. at ยืนเดี่ยว (YuenDeaw), Podcaster at The Stand-Up 

นอกจากตัวตนความเป็น ‘อาร์ตติสท์’ ที่เรียกจากทักษะตรงตัวของเขาคือความเชี่ยวชาญในการทำศิลปะเรซิ่นแล้ว คำนิยามของโนะคือไม่ใช่ศาสนิกชนแต่เป็น ‘สำราญชน’ ที่แปลว่าผู้เบิกบานสำราญใจกับการเสพสุนทรียะในชีวิตอย่างศิลปะและดนตรี ตัวตนความซนและกวนของเขาสอดคล้องกับสโลแกนสินค้าเรซิ่นคอลเลกชั่นล่าสุดในธีม ‘ไม่มีพระพุทธคุณ มีแต่พระพุทธคูล’ ที่ทำเรซิ่นเป็นพระเครื่อง, ไม้กางเขนพระเยซูรุ่น ‘พระ SAY U’, สร้างกองทัพบุดด้าทั้งเวอร์ชั่น ‘เบบี้บุ๊ด’ สีรุ้งตัวจิ๋ว สร้อยคอผสมสีกลิตเตอร์ รูปหล่อเรซิ่นพระแม่มารีย์ขนาดยักษ์สีสันจี๊ดจ๊าดและอีกมากมายที่เห็นแล้วอาจต้องอุทานว่า ‘สาธุ555’  

คอลัมน์ Moden Nice ตอนนี้ไม่ได้อยากชวนศิลปินอย่างโนะคุยแค่เรื่องราวการสร้างแบรนด์และหารายได้แต่เราอยากชวนเจ้าของแบรนด์คุยถึงทั้ง life wisdom และ business wisdom หรือเรื่องราวชีวิตที่ส่งผลให้เกิดแนวคิดทางธุรกิจที่ไม่เหมือนใครในการครีเอตผลงานซึ่งยากที่ใครจะลอกเลียนแบบได้ 

Life Wisdom 
Read & Watch Like a Five-Star Artist 

โนะทำงานเรซิ่นมาเป็นระยะเวลาสิบกว่าปี พ่อของโนะเป็นอาร์ตติสท์ผู้เคยทำงานในแผนกอาร์ตที่โรงแรม 5 ดาวทำให้เขาคุ้นเคยกับงานเรซิ่นตั้งแต่เด็ก ในยุคสมัยที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ อาร์ตติสท์ต้องลงมือทำงานเองทุกกระบวนการตั้งแต่หาข้อมูล แกะแบบ หล่องาน และเรซิ่นก็เป็นงานหล่อยอดนิยมที่คนทำงานศิลปะชื่นชอบเพราะทำผลงานออกมาได้หลายประเภททั้งงานลามิเนต งานเคลือบ จะหล่อผลงานเป็นรูปทรงอะไรก็ได้และยังสามารถทำข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันได้สารพัดอย่างตั้งแต่แว่นตาไปจนถึงถังน้ำ  

เมื่อบ้านเป็นสตูดิโอทำงานศิลปะ ทำให้โนะซึมซับความชอบและเรียนรู้ศาสตร์การทำเรซิ่นจากพ่อ พอได้ลองทำดูแล้วรู้สึกตรงจริต ถนัดมือ 

“เหมือนคนที่โตในฟาร์มเลี้ยงไก่ ก็จะเลี้ยงไก่เป็นโดยธรรมชาติและสนใจอยู่แล้ว ไม่ได้ถูกบังคับให้เรียนรู้”

ในยุคนั้นแหล่งหาข้อมูลชั้นดีของเหล่าอาร์ตติสท์ยังเป็นสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือและวิดีโอ ความโชคดีของวิชาชีพนี้คือการได้งบสำหรับค้นคว้าและทดลองเพื่อหาไอเดียในการสร้างสรรค์งานศิลป์คอนเซปต์ใหม่ โนะจึงเติบโตขึ้นมาด้วยการรายล้อมไปด้วยหนังสือของพ่อที่ซื้อเข้าบ้านครั้งละเยอะๆ   

“พอพ่อทำงานที่โรงแรมระดับโลก สิ่งที่เขาเสพเข้าไปก็แตกต่างจากคนอื่น ยุคนั้นจะมีร้านหนังสือดวงกมล เอเซียบุ๊คส์ที่มีหนังสือหมวดอาร์ตที่โหดมาก ตอนนั้นศิลปะยุค 80s อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านที่งานวิจิตรศิลป์กับดิจิทัลเริ่มเข้ามา ถ้าสังเกตปกแผ่นเสียงหรือปกอาร์ตในยุคนั้น จะเห็นได้ว่าสีสันสุดมากๆ ประกอบกับประเทศร้อนชื้นของเราก็ชอบใช้สีสันสดๆ มีความลิเก 

“เราซึมซับความชอบในสีเหล่านี้มาเป็นแบ็กกราวน์ของเราโดยธรรมชาติ เวลาพ่อดูอะไร เราก็ได้ดูด้วยมันก็เลยมี sourcing (แหล่งข้อมูลในการเสพสื่อ) บางอย่างที่แตกต่างจากคนอื่นตั้งแต่เด็กและไม่ได้โดนบังคับให้อ่าน ในยุคนั้นตอนเด็กไม่มีอะไรทำ พอเปิดตู้พ่อก็ดูแผ่นเสียง ดูหนังสือ มันก็ซึมซับเข้ามาโดยปริยาย” 

นอกจากเสพศิลปะ โนะยังชอบดูคอนเสิร์ต สะสมแผ่นเสียงเหมือนที่พ่อชอบสะสม และฟังเพลงหลากหลายหมวดตั้งแต่เพลงลูกทุ่งของยิ่งยง ยอดบัวงาม วงดนตรีร็อกอย่าง The Yers ยันเพลงสุนทราภรณ์ การเป็นสำราญชนผู้ยกให้ศิลปะและดนตรีเป็นสุนทรียภาพสำคัญในชีวิตช่วยหล่อหลอมให้เขามีมุมมองทางศิลป์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

Believe Nothing, Question Everything 

นอกจากเสพศิลป์จากแหล่งที่แตกต่างแล้ว โนะบอกว่าคำถามสำคัญสำหรับนักสร้างสรรค์คือ ‘คุณมองสิ่งต่างๆ รอบตัวด้วยอะไร’ แล้วตั้งคำถามต่อให้ลึกลงไปอีกขั้น เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “คนชอบดูหนังก็จะดูหนัง 2 รอบ เช่น ดูด้วยสายตาและดูโปรดักชั่น หรือเวลาฟังเพลง บางทีเราฟังเพื่อผ่อนคลาย แต่บางจังหวะเราก็ฟังเพื่อเก็บรายละเอียด แล้วคิดตามว่าทำไมถึงมีท่อนนี้ ทำไมเลือกเสียงนี้ คล้ายๆ กับการดูงานศิลปะ เราก็จะตั้งคำถามว่าทำไมเขาลงแปรงแบบนี้ ทุกอย่างคือการมองและตีความที่เสพแล้วสมองทำงานต่อทันที

“เวลาไปดูคอนเสิร์ตก็จะคิดว่าทำไมตอนเขาทำโชว์ถึงเลือกจัดไฟแบบนี้ ทำไมเวทีถึงทำเป็นวงกลม ถ้าเป็นเราจะจัดการกับเวทีวงกลมนี้ยังไง ทุกอย่างมันคือสิ่งที่เขาสื่อสารออกมาทั้งนั้น บางครั้งดูหนังจบ พอไปดูเซสชั่น Q&A ของหนังเรื่องนี้ต่อ แล้วก็พบว่า อ้าว ไม่ใช่แบบที่เราคิด เราคิดมากไปก็มี”  

และการมีไลฟ์สไตล์ที่เสพสุนทรีเพื่อจรรโลงใจก็ช่วยให้โนะเป็นนักสร้างสรรค์อย่างลื่นไหลโดยธรรมชาติ กระบวนการนี้คือการกลั่นความสงสัยใคร่รู้จากการสังเกตออกมาเป็นคำถามและโจทย์ใหม่ๆ แล้วตกตะกอนเป็นไอเดียออริจินัลสำหรับงานสร้างสรรค์ของตัวเอง

การเป็นคนชอบตั้งคำถามและได้คำตอบใหม่ที่ไม่เหมือนใครนี้เองที่ทำให้หลายคนมองว่าโนะมีความขบถ ตัวอย่างเช่น มุมมองความเชื่อทางจิตวิญญาณ (spiritual) ของเขาที่เจ้าตัวบอกว่าเป็นศูนย์ หมายความว่า ไม่ได้นับถือศาสนาใดและไม่เชื่อในอะไรเลย 

“ผมมองว่าความเชื่อของแต่ละคนมันอยู่ที่ว่าครอบครัวเลี้ยงมายังไง พ่อกับแม่ผมไม่เชื่อในอะไรเลย เขาเป็นไอดอลผม ซึ่งก็ไม่รู้ดีหรือเปล่า มันอาจส่อไปทางลบหลู่ได้ในบางครั้งแต่ผมมองว่ามันคือการตั้งคำถาม ซึ่งความจริงมันก็มีเส้นบางๆ อยู่ระหว่างการลบหลู่กับตั้งคำถาม ปัจจุบันเด็กยุคใหม่กับการตั้งคำถามมันเปลี่ยนไปเยอะ ยุคเราถูกห้ามถาม แต่ยุคนี้คนจะตั้งคำถามกับความเชื่อ พฤติกรรม แล้วศึกษา”  

พอไม่เชื่อในอะไรเลย โนะก็ไม่เคยสะสมเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจทางศาสนาใดๆ เลย เขาไม่เคยสะสมพระเครื่องหรือวัตถุทางจิตวิญญาณเพื่อบูชา สิ่งที่เขายอมจ่ายเงินเพื่อสะสมตลอดมามีเพียงสุนทรียะทางศิลปะและดนตรีอย่างแผ่นเสียงและการได้ซื้อผลงานเหล่านี้ก็เป็นกิเลสที่ทำให้มีความสุข

“สำหรับผม ความสุขคือการลบปมบางอย่างในชีวิต กว่าพ่อจะเลี้ยงผมมาได้ เขาขายแผ่นเสียงในยุคเศรษฐกิจแย่เพื่อให้เราได้เรียนต่อ ตอนที่พ่อผมเสีย ความสุขของเราคือการซื้อแผ่นเสียงคืนเขาแม้ว่าเขาจะไม่อยู่แล้ว อะไรที่เราเคยเห็นว่าพ่อมี เราก็ซื้อมันกลับคืนมา เราเรียกว่าซื้อคืนพ่อ ซึ่งเป็นมิชชั่นในชีวิตเราเลย 

“รู้สึกว่าการกลับมาย้อนดูและเสพใหม่เรื่อยๆ ตลอดเวลาคือการได้คุยกับคนที่จากไปแล้วผ่านผลงานที่ทิ้งเอาไว้ ได้ฟังเพลงที่พ่อฟังในยุคของเขาหรือเอาเพลงที่พ่อเขียนใส่เทปเพื่อจีบแม่มาฟังใหม่ในวัยเรา มันเหมือนเราได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยว่าเขาคิดอะไร จินตนาการว่าในยุคนั้นเป็นยังไง นี่คือสุนทรียะ มันคือการใช้จินตนาการในการเก็บหลายสิ่งที่เขาทิ้งเอาไว้”

กล่าวได้ว่าท่ามกลางช่วงเวลาที่ชีวิตเผชิญกับความทุกข์ ไม่ใช่ธรรมะและหลักคำสอนที่ช่วยให้โนะผ่านวันเวลาเหล่านั้นมาได้ แต่เป็นซาวนด์แทร็กและสุนทรียะทางศิลปะที่แต่งแต้มช่วงเวลามืดมนให้กลับมามีสีสันอีกครั้ง 

ช่วงเวลายากลำบากเหล่านั้นได้แก่ วัย 30 ปีของเขาที่พ่อจากไปและตัวเขาป่วยหนัก ต้องผ่าตัดสมองในช่วงเวลาเดียวกัน “ตอนนั้นที่ผ่าตัดสมอง ก็หนักมาก เราก็ช่างแม่งสิวะ เรายังมีเพลงที่อยากฟัง คอนเสิร์ตที่อยากดู ยังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่เจอ ศิลปะยังคงไปต่อข้างหน้า ทำไมเวลาเราสูญเสียอะไรแล้วต้องเปลี่ยนตัวตน โชคดีที่พอเราหาตัวเองเจอตั้งแต่เด็ก เราก็รักษามันไว้ ทีนี้ต่อให้แขนเราจะขาด ขาจะขาด เราก็ยังเป็นเรา เราจะพูดคำนี้บ่อย แต่เรากลัวคนฟังแล้วเอาแบบอย่าง เพราะไทป์ของคนมันต่างกัน” 

นอกจากใช้สุนทรียภาพบำบัดความขมในชีวิตแล้ว เสียงหัวเราะและมุกขำขันยังเป็นเทคนิคการสื่อสารที่โนะถนัดเวลาพูดถึงเรื่องซีเรียส นอกจากแบรนด์เรซิ่นของตัวเองแล้ว เขายังมีอีกบทบาทคือเป็นหนึ่งในแก๊งยืนเดี่ยวซึ่งเป็นคอมมิวนิตี้ผู้สร้างเวทีสแตนด์อัพคอเมดี้ในไทย และเป็นหนึ่งในแก๊ง Comedy Against Dictatorship ที่จัด Comedy Club เพื่อต่อต้านเผด็จการ 

สำหรับโนะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าหรือสินค้า วิธีคิดของเขาก็ใช้ศาสตร์เดียวกันทั้งหมดคือตั้งคำถามแล้วถ่ายทอดออกมาแบบสวนกระแส และไม่ว่าจะเผชิญความทุกข์หรือเจอเรื่องเคร่งเครียดแค่ไหน โนะก็ยังคงสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ซึ่งตรงคำบรรยายตัวตนของแบรนด์ Resindrome คือ Happy Crazy Naughty Stuff

“คำนี้คือความกวนตีน เราว่าความกวนตีนมันช่วยก่อเกิดสิ่งใหม่ มันไม่ใช่เรื่องผิดบาป ไม่อยากจะพูดคำนี้เลยว่า เพื่อนที่กวนตีนได้เป็นตัวเองกันหมด คำว่าได้ดีหรือไม่ได้ดี อันนั้นเป็นคำที่คนอื่นตัดสินเขา แต่ทุกคนได้เป็นตัวเองหมด เขาได้เป็นตัวเขาในแบบนั้น”  

Business Wisdom 
Create Paradise from Pure Imagination

Happy Crazy Naughty Stuff เป็นคำนิยามของแบรนด์ที่โนะบอกว่าใส่เข้าไปเพราะอยากให้แรงบันดาลใจกับผู้คนว่า “เท่อย่างนี้ก็ทำได้ ใครเป็นคนบอกว่าทำแบบนี้ไม่ได้”  

ไอเดียสินค้าของ Resindrome เกิดจากการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาหลายปี ช่วงแรกโนะเริ่มจากทำศิลปะเรซิ่นออกมาเป็นแหวน สร้อยคอ เคสโทรศัพท์แล้วก็แตกสินค้าใหม่ที่ขยายขอบเขตจินตนาการให้เฟี้ยวสุดเหวี่ยงออกมาเรื่อยๆ ทั้งที่เขี่ยบุหรี่รูปหัวแมว จานชามกลิตเตอร์สีสันวิบวับ ถาดรูปใบกัญชา เคสไฟแช็ก ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนคุมโทนด้วยสีสันแสบตา

ช่วงตั้งต้น โนะเริ่มจากการออกบูทขายของในงานอีเวนต์ชื่ออินดี้อินทาวน์ที่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้เช่าบูทเพื่อขายผลงานศิลปะของตัวเองฟรีซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ศิลปินอย่างเขาเห็นโอกาสว่าผลงานศิลปะสามารถแลกเป็นเงินกลับมาได้ เขาพบว่ายิ่งสินค้าแตกต่างแบบมีเอกลักษณ์มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นที่สนใจได้ง่าย  

หลังจากสวมบทบาทพ่อค้าเร่ออกบูทขายของมาหลายที่ โนะก็พบอินไซต์ว่าถ้าทำสินค้าใดแล้วขายดี อาทิตย์ถัดไปร้านค้าร้านอื่นจะเริ่มทำสินค้าเลียนแบบตามกันทำให้มีสินค้ารูปแบบละม้ายคล้ายคลึงกันวางขายเกลื่อนเต็มแผง ด้วยความที่เป็นคนทำงานสร้างสรรค์ทั้งงานอาร์ตและ stand-up comedy ทำให้เขาชอบมองหาโจทย์ใหม่ที่ไม่เหมือนคนอื่นอยู่เสมอ 

“ยิ่งอะไรที่เป็นกระแส พอเราเข้าไปจับแล้วจะรู้สึกจั๊กจี๋กับตัวเอง ไม่ชอบเลย อยากสวนกระแส ขออินดี้ ขอเป็นความฉิบหาย อยากอัลเทอร์เนทีฟ มันเป็นธรรมชาติมากๆ ของคนมี creative mind ที่เวลาเราเจออะไร เราจะตั้งคำถามกับขนบเดิมว่า What If… แล้วถ้าทำแบบนี้จะเป็นยังไง เราเลยสนุกกับการเปลี่ยนสิ่งที่ทำไปเรื่อยๆ ไม่ซ้ำเดิม สนุกกับการจินตนาการว่า ถ้าทำอย่างนี้มาเจอกับอันนี้จะเป็นยังไง อยากตื่นขึ้นมาแล้วลองทำสิ่งใหม่” 

เขาสังเกตเห็นว่าพระเครื่องไม่เคยมีสีสันเลย 

ถ้าลองเปลี่ยนสีและเอาคู่สีใหม่มาจับเข้าคู่กันจะเป็นยังไง  

ถ้าทำสีสะท้อนแสงหรือถ้าทำเป็นสีพาวเวอร์พัฟเกิร์ลจะเป็นยังไง 

จึงเกิดคอนเซปต์ ‘ไม่มีพระพุทธคุณ มีแต่พระพุทธคูล’ และ ‘ไม่ศักดิ์สิทธิ์แต่ชิคในหมู่วัยรุ่น’ ที่สร้างสรรค์งานเรซิ่นเป็นพระเครื่องจิ๋วติดตู้เย็น, ‘Baby Budd’ (เบบี้บุ๊ด) sculpture บุ๊ดด้าเวอร์ชั่นเบบี๋ตัวจิ๋วขนาดน่ารักพอดีมือที่มีหลายเฉดสีให้เลือก, สร้อยคอห้อยพระเครื่องที่ร้อยด้วยลูกปัดสีพาสเทลและกลิตเตอร์, ‘พระ SAY U’ ไม้กางเขนเรซิ่นรูปพระเยซู และรูปหล่อเรซิ่นอีกมากมาย เช่น พระแม่มารีย์ ดอกบัว แน่นอนว่าทุกผลงานล้วนคุมโทนด้วยสีสันจี๊ดจ๊าด

พระเครื่องเรซิ่นของ Resindrome นั้นอิงมาจากพระเครื่องต่างๆ ที่มีชื่อเสียง โดยสร้างสรรค์ผลงานตามปางพระที่มีอยู่จริงทั้งรูปทรงและรายละเอียด เช่น พระสมเด็จวัดระฆัง, ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์, พระซุ้มกอ, พระรอด, พระผงสุพรรณ, พระนางพญา 

ยังไม่ทันได้ถามว่าโนะมีมุมมองยังไงกับการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนนับถือมาตีความใหม่ โนะก็ออกตัวว่าเขาได้ปรึกษาพระเรียบร้อยแล้ว “ก่อนจะทำออกมา ก็ปรึกษาพระมหาไพรวัลย์ ตอนนั้นไปเจอท่านเทศน์ที่งานหนึ่ง เขาก็บอกว่าระวังนะ ระวังจะรวย”  

ทั้งนี้โนะไม่ได้กำหนดนิยามว่าผลงานเรซิ่นเหล่านี้คืออะไรหรือจัดอยู่ในหมวดหมู่ใด แต่อยากเปิดกว้างให้คนภายนอกมองผลงานของเขาว่าเป็นได้หลายสิ่ง มันอาจเป็นอาร์ตทอย, เครื่องประดับ, ของตกแต่ง, เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ, สิ่งเตือนสติ, ของที่ระลึก หรือเป็นอะไรก็ได้แล้วแต่เจ้าของเรซิ่นชิ้นนั้นจะให้คำจำกัดความ 

“พออะไรที่มันฟีเวอร์มากๆ อย่างอาร์ตทอยเราจะไม่ค่อยอยากไปแตะคำนิยามนั้น บางคนจะเรียกว่าเป็นอาร์ตทอยก็ได้ แต่จนถึงทุกวันนี้นิยามคำว่าอาร์ตทอยมันก็หลากหลายนะ บางคนสะสมเอาไว้เทรด บางคนซื้อเพื่อสนุก คือสุนทรียะและการใส่นิยามในแต่ละสิ่งของแต่ละคนมันไม่เหมือนกันอยู่แล้ว บางคนก็อาจใส่พระเครื่องของเราเพื่อความมั่นใจ เราเลยคิดว่าอย่าไปจำกัดคำนิยามไว้กับสิ่งใดเลย สมมติว่าตอนแรกเราเรียกว่าอาร์ตทอย คนที่มองมันเป็นอย่างอื่นก็อาจจะสับสนละ”

แก่นสำคัญที่ Resindrome อยากสื่อสารคือแบรนด์ไม่ได้ขายความเชื่อแต่ขายคอนเซปต์สร้างสรรค์ ในบางครั้งการเจอกับลูกค้ากลุ่มใหม่ก็ทำให้เกิดผลงานใหม่ อย่างเช่นโจทย์ของค่ายเพลง YUPP! ที่ติดต่อแบรนด์มาเพราะสนใจนำสร้อยพระเครื่องเรซิ่นมาทำเป็นของที่ระลึกสำหรับแจกที่งาน The Milli Show ของ Milli แรปเปอร์สาวชาวไทยชื่อดัง จากแรงบันดาลใจในเพลงสาธุ (SAA-TUU) ที่ฟีตเจอริ่งกับ Tang Badvoice ที่คุยเรื่องศาสนา โนะก็ผุดไอเดียเป็นคอนเซปต์ ‘แม่sheอำนวยอวยชัย’ (จากชื่อเล่น ‘นวย’ ของมิลลิ) และทำสร้อยที่ล้อทรงจากสร้อยพระเครื่องโดยใส่หน้ามิลลิลงไปแทน

โนะบอกว่า “สำหรับคนที่เป็นแฟนคลับมิลลิก็มองว่ามิลลิเป็น trendsetter เป็นคนทำลายกำแพงบางอย่าง ทั้ง beauty standard, คุณภาพของการแสดงและวิธีการนำเสนอกับคนดู” และพระเครื่องเรซิ่นก็เป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยสื่อสารตัวตนของศิลปินในงานนี้ได้ดี

Debate & Flow Stage to Resin Nirvana 

กระบวนการทำเรซิ่นของ Resindrome เริ่มจากแกะแบบแล้วหล่อให้เป็นทรง มีทั้งรับบล็อกสำเร็จรูปจากโรงงานมาทำต่อ ซื้อบล็อกทรงสุดเฟี้ยวจาก Taobao ที่จีน และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเครื่องปรินต์ 3D มาช่วยในการขึ้นแบบใหม่เอง โนะผสมสีและกลิตเตอร์สำหรับทำเรซิ่นโดยเฉพาะด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นงานแฮนด์เมดที่ทำเองแทบจะทุกขั้นตอน 

สำหรับพระเครื่องเรซิ่น โนะได้บล็อกทำขนมรูปพระมาจากร้านมาดามชุบที่ทำขนมอาลัวทรงพระเครื่องจนเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง “เห็นร้านเขาทำขนมอาลัวรูปพระแล้วโดนสังคมวิพากษ์วิจารณ์ เราเลยขอรับไม้ต่อเพราะอยากคุยกับสังคมอยู่แล้ว เลยติดต่อเขาไปว่าผมขอสานต่อ แต่ทำมา 2 ปียังไม่เจอใครติดต่อมาเลย”

แทนที่จะกลัวกระแสแง่ลบ เขากลับสนุกกับการเจอผู้คนหลากหลายและตั้งตารอกระแสวิพากษ์วิจารณ์เพราะมองว่าเป้าหมายของงานสร้างสรรค์คือการสร้างบทสนทนาให้คนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
ที่ผ่านมาลูกค้าคนแรกที่ซื้อพระเครื่องเรซิ่นเป็นพระและด้วยความที่โนะย้ายสถานที่ออกบูทไปเรื่อยๆ ก็ทำให้ได้เจอกลุ่มลูกค้าหลากหลายทั้งวัยรุ่น วัยเรียน วัยทำงาน ผู้ใหญ่ เพราะออแกไนซ์จัดอีเวนต์แต่ละที่ก็มีฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มในสไตล์ของตัวเองที่แตกต่างกันไป 

“พอมีลูกค้าเป็นพระ เราก็ได้สนทนาธรรม แล้วก็ได้ดีเบตกับคุณป้าที่บอกกับเราว่า ‘ทำแบบนี้เลยเหรอ’ เขารู้สึกว่าทำไมถึงทำสีขนาดนี้ เราก็เลยพยายามแชร์ว่า ใครเป็นคนกำหนดให้สีเงิน สีทอง สีทองแดงเท่านั้นเป็นสีที่มีค่า สมัยก่อนสีที่แพงที่สุดในบางพื้นที่คือสีน้ำเงินหรือสีแดงเพราะแต่ละพื้นที่ทำสีได้ไม่เท่ากัน ความแพงของสีหรือการมองอะไรว่าแพงเป็นเรื่องของจิตที่ปรุงแต่งทั้งนั้น ในบริบทของผมมองเป็นงานอาร์ตและเราโตไปกับข้อมูล ผมก็เลยทำขึ้นมาแค่นั้นเอง คุณป้าเขาก็ไม่ได้ผิดอะไร เราก็แลกเปลี่ยนกันไป มันดีเบตกันได้”

โนะยังบอกว่าสุนทรียะในการทำงานเรซิ่นของเขาไม่ใช่แค่ขายดี การมีลูกค้าชื่นชอบนับเป็นโบนัส แต่ความสนุกคือการได้ลงมือทำและมองว่าส่วนใหญ่คนสายอาร์ตแบบเขามักไม่สนใจเรื่องเงินเป็นหลัก 

“ใครที่เป็นสายอาร์ตแล้วมีทักษะ business management ด้วยเป็นเหมือนช้างเผือกที่มีงาดำ หางแดง รวยเละเทะ ซึ่งเป็นส่วนน้อย อย่างเราจะไม่มีทักษะนี้เลย เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่เราเลยไม่รับทำแบบ custom-made เพราะกลัวไม่ถูกใจ บางคนทักมาว่าทำหลายชิ้นได้ไหม แต่เราทำแบบแฮนด์เมด เราทำตามสุนทรีย์ของเรา ซึ่งไม่ดีหรอก แต่ถ้าถามถึงความสำเร็จของเรา มันคือการที่นอนคิดแล้วตอนเช้าตื่นมาได้ทำ แค่นี้สำเร็จแล้ว ต่อให้ไม่สวยเลย ทำแล้วต้องทิ้งไป ก็สำเร็จแล้วที่ได้ทำ”

สำหรับโนะ การทำศิลปะเรซิ่นคือการพักผ่อนที่โต๊ะทำงาน ใช้เรซิ่นเป็นกระบวนการบำบัดเข้าสู่ flow stage ที่มีสมาธิในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างลื่นไหลและสนุกกับกระบวนการคิดไอเดียใหม่

นิพพานของอาร์ตติสท์อย่างโนะผู้ไม่เชื่อในอะไรเลยอาจไม่ได้ผ่านเส้นทางการศึกษาหลักธรรมล้ำลึก แต่เป็นการมีสมาธิจดจ่อกับเรซิ่นที่ชื่นชอบจนบรรลุไอเดียสร้างสรรค์แบรนด์สดใหม่ที่ไม่เหมือนใครในแบบของตัวเอง 

Editor’s Note : Wisdom from Conversation


โลกของคนที่ไม่ศรัทธาในอะไรเลยดูเหมือนจะมีส่วนคล้ายกับโลกของผู้นับถือศาสนาอย่างน่าพิศวงแม้ความเชื่อจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงเหมือนโลกคู่ขนาน (parallel universe)   

‘การทำงานคือการปฏิบัติธรรม’ คือคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุซึ่งหมายถึงการมีจิตว่างและการสร้างสมาธิสามารถอยู่ในกิจกรรมชีวิตประจำวันอย่างการงาน แม้แต่พระนิกายเซนก็นับงานบ้านเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ฝึกฝนสมาธิ และดูเหมือนว่าการลงมือสร้างสรรค์อะไรสักอย่างแบบจดจ่อเช่นการทำศิลปะเรซิ่นสีสันฉูดฉาดจะทำให้ศิลปินผู้บอกว่าเสพติดกิเลสจากศิลปะสามารถสร้างสภาวะ flow ที่เต็มเปี่ยมด้วยสมาธิและ pure imagination (จินตนาการอันบริสุทธิ์) ได้

จินตนาการไร้กรอบนี้เองที่ทำให้แบรนด์อย่าง Resindrome เป็นที่สนใจและสามารถสร้างสินค้าที่มีความออริจินัล ซึ่งทำได้เพราะไม่มีกรอบและกฎเกณฑ์ใดในหัวเลยตั้งแต่แรก ทำให้เกิดความแหวกแนวและเฟี้ยวสุดทางมากกว่าการคิดสร้างสรรค์แบบออกนอกกรอบ 

เราคงไม่อาจเทียบได้ว่าสินค้าพระเครื่องเรซิ่นของ Resindrome ทันสมัยมากกว่า ป๊อปมากกว่า หรือมีมูลค่ามากกว่าวัตถุบูชาดั้งเดิม แต่ความหมายของ Modernize สำหรับแบรนด์นี้น่าจะเป็นกระบวนการความคิดสร้างสรรค์ที่สะสมจาก input ที่ศิลปินเสพทำให้เกิดการมองโลกและไอเดียจากเรซิ่นที่ไม่มีใครเหมือนได้ไม่รู้จบ และไม่อาจคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะมีสินค้าอะไรออกมาอีก 

Writer

Craft Curator, Editor-in-Cheese, Chief Dream Weaver, Wicker Expressionist, Design Researcher, Entrepreneur Crybaby 'Instagram : @rata.montre'

Photographer

ช่างภาพที่สนุกกับการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลง และหลงรักในความทรงจำ Ig : mocfirst

You Might Also Like