Drive To Survive
Drive To Survive สารคดีที่ทำให้ F1 กลายเป็นกีฬาที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในโลก
สนาม : อาบูดาบี กรังด์ ปรีซ์
วันที่ : 12 ธันวาคม 2021
“ไมเคิล นี่มันไม่ถูกต้องนะ”
เสียงจากวิทยุเป็นเสียงของ โตโต้ วูล์ฟฟ์ หัวหน้าทีมเมอร์เซเดส ที่ไม่เห็นด้วยกับ ไมเคิล มาซี ผู้อำนวยการแข่งขันฟอร์มูลาวัน หลังสั่งให้ปล่อยรถบางคันที่คั่นกลางระหว่างนักขับ 2 ทีม ได้แซงขึ้นหน้าเซฟตี้คาร์ไป ซึ่งจะทำให้ ลูอิส แฮมิลตัน นักขับของเขาที่กำลังนำห่างเพียงวินาทีและเห็นแชมป์โลกสมัยที่ 8 อยู่ตรงหน้าแล้ว ต้องเสียเปรียบอย่างยิ่งในการดวลกับ แม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ผู้ท้าชิงที่เพิ่งเดิมพันเข้าพิตเพื่อเปลี่ยนยางใหม่ตามคำสั่งของคริสเตียน ออร์เนอร์ หัวหน้าทีมเรดบูล
“โตโต้ นี่มันคือการแข่งรถ” คำตอบสั้นๆ จากมาซี
แล้วเราก็ได้เห็นการดวลกันหนึ่งรอบสุดท้ายตัดสินแชมป์โลกฟอร์มูลาวัน ฤดูกาล 2021 ที่เป็นที่จดจำและโจษจันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยที่เราทุกคนมีโอกาสได้เป็นสักขีพยานร่วมกันทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหน้า
รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเบื้องหลังในสุดยอดซีรีส์สารคดีที่ดีต่อแบรนด์อย่าง Formula 1: Drive to Survive
รอบที่ 1
แค่เสี้ยววินาทีหลังไฟสัญญาณปล่อยตัวดับลง ลูอิส แฮมิลตัน ก็ควบรถคันเก่งทะยานฉีกตัวแซงหน้าแม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ในตำแหน่งโพลโพซิชั่น หรือนักขับที่ออกสตาร์ทเป็นคันแรกไปแบบต่อหน้าต่อตา
แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มของสงครามในสนามแข่งเท่านั้น
การขับเคี่ยวกันระหว่างแฮมิลตันกับเวอร์สแตปเพน ในการแข่งขันรถแข่งฟอร์มูลาวัน หรือ ‘เอฟวัน’ รายการสุดท้ายของปี 2021 ถือเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ยิ่งใหญ่ของยุคสมัย
เพราะในการแข่งขันวันนั้นไม่ต่างอะไรจากบทภาพยนตร์ดีๆ สักเรื่องหนึ่งที่มีครบทุกรสชาติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหักเหลี่ยมเฉือนคมกันระหว่างสองสุดยอดนักแข่งรถ การแทรกเข้ามามีบทบาทสำคัญของตัวละครลับอย่าง ‘เชโก้’ เซร์จิโอ เปเรซ นักขับมือสองของทีมเรดบูลที่ได้รับการยกย่องในฟอร์มขับระดับตำนาน
ไปจนถึงจุดพลิกผันราว ‘ปาฏิหาริย์’ ที่คริสเตียน ออร์เนอร์ต้องการ เมื่อรถของโธมัส ลาติฟี แหกโค้งจนทำให้การแข่งต้องหยุดชะงักชั่วคราว
และที่สุดคือช่วงโมเมนต์การตัดสินใจของผู้ควบคุมการแข่งขันอย่างไมเคิล มาซี ที่สร้างความประหลาดใจให้กับทีมแข่งและผู้ชมทั่วโลก และให้โอกาสเวอร์สแตปเพนได้ดวลกับแฮมิลตันในการขับรอบสุดท้าย
ใครได้ชมการถ่ายทอดสด (ผมเองก็เช่นกัน) คงจำกันได้ถึงความตื่นเต้นระดับทะลักจุดเดือดในวันนั้น
แต่นั่นไม่อาจเทียบได้เลยกับการได้เห็นสิ่งที่อยู่ ‘เบื้องหลัง’ ของการแข่งขันที่ถูกถ่ายทอดออกมาในซีรีส์สารคดีที่โด่งดังที่สุดในโลกตอนนี้อย่าง Formula 1: Drive to Survive ซึ่งเรื่องราวของเหตุการณ์ในวันที่ 12 ธันวาคม 2021 ที่อาบูดาบี อยู่ในซีซั่นที่ 4 ตอนที่ 10 ในชื่อตอนว่า Hard Racing (ซึ่งก็มาจากคำพูดของมาซีที่บอกกับโตโต้ วูล์ฟฟ์ ที่พยายามฟ้องว่าเชโก้ เปเรซ ขับรถอันตรายเกินไป)
ตลอดระยะเวลา 46 นาที 51 วินาทีในอีพีนี้เต็มไปด้วยเบื้องหลังของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกเอาไว้และถ่ายทอดออกมาได้อย่างเข้มข้นเร้าใจ
ดีขนาดไหน? ก็ดีในระดับที่ Formula 1: Drive to Survive ได้รับการยกย่องว่าเป็นสารคดีที่ไม่เพียงแต่คืนชีพกีฬารถแข่งเอฟวันอีกครั้ง แต่มันยังทำให้เอฟวันกลายเป็นกีฬายอดฮิตของแฟนๆ ทั่วโลกในระดับที่ไม่เคยทำได้มาก่อนด้วย
เพียงแต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญเลยแม้แต่นิด
ทุกอย่างของ Formula 1: Drive to Survive ได้ถูกขีดและเขียนเส้นทางเอาไว้หมดแล้ว
รอบที่ 13
เวอร์สแตปเพนตัดสินใจเข้าพิตในรอบที่ 13 ส่วนแฮมิลตันเข้าพิตตามมาในรอบถัดไป ทั้งคู่เลือกยางแบบแข็ง (hard tyre) เพื่อใช้วิ่งยาวๆ ส่งให้เซร์จิโอ เปเรซ ขึ้นเป็นผู้นำชั่วคราวในช่วงเวลานี้
“ผมไม่เคยได้มีรถแข่งที่เร็วที่สุดเลย การได้หวดกับรถของเมอร์เซเดสแบบนี้เป็นเรื่องที่สุดยอดมากๆ คริสเตียน (ออร์เนอร์) ต้องการให้ผมรีดศักยภาพของรถให้สุด”
คำพูดและความรู้สึกของเปเรซ เอาเข้าจริงแล้วในยามทั่วไปอาจจะไม่ใช่สิ่งที่แฟนเอฟวันให้ความสนใจมากนักมาก่อน แต่ใน Formula 1: Drive to Survive แล้ว ชีวิต ตัวตน ความรู้สึก และสิ่งละอันพันละน้อยของนักแข่งที่ไม่ได้อยู่ในแสงสปอตไลต์มากนักอย่างเชโก้ รวมถึงอีกหลายคนคือสิ่งที่ทำให้สารคดีกีฬาเรื่องนี้พิเศษและแตกต่างจากสารคดีอื่นๆ ทั่วไป
เพราะมันทำให้เราได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยถูกบอกเล่า (untold story) ของการแข่งขันเอฟวันที่ถูกเก็บงำตลอดมา โดยที่เรื่องราวนั้นได้ถูกรวบรวมและเรียบเรียงมาเป็นอย่างดี
Formula 1: Drive to Survive หนึ่งในคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเน็ตฟลิกซ์ชนะใจผู้ชมได้ตั้งแต่อีพีแรก “All to Play For” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งในซีซั่นที่ 1 ของ Formula 1: Drive to Survive ซึ่งออกฉายพร้อมกันทั่วโลกในช่วงต้นปี 2019 จนถึงปีนี้ 2024 ที่เข้าสู่ซีซั่นที่ 6 แล้ว
จุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากไอเดียของ Liberty Media ซึ่งตัดสินใจซื้อกิจการรายการรถแข่งฟอร์มูลาวัน รายการรถแข่งที่ดีที่สุดและมีแฟนติดตามมากที่สุดในโลกต่อจาก CVC Capital ด้วยเงินมหาศาลถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.87 แสนล้านบาท) เมื่อปี 2017
เพียงแต่ในครั้งนั้น Liberty Media บริษัทสัญชาติอเมริกันเองก็ถูกตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะเอฟวันดูเหมือนจะตกต่ำลงเรื่อยๆ จำนวนผู้ชมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และปัญหาใหญ่ที่สุดคือการที่พวกเขาไม่สามารถเจาะกลุ่มแฟนกีฬาที่เป็นคนรุ่นใหม่เจนฯ Z ได้
อย่างไรก็ดี พวกเขามองเห็นโอกาสและศักยภาพมากมายของเอฟวัน ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องของนักขับรถแข่ง หรือศาสตร์ที่เข้าใจได้ยากอย่างอากาศพลศาสตร์ และความลึกซึ้งของเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ซึ่งอาจเป็นกำแพงบางๆ ที่เคยจำกัดเอฟวันไว้สำหรับแฟนตัวยง
สิ่งที่ Liberty Media มองเห็นคือ ‘ฉากชีวิต’ เรื่องราวที่เหมือนบทหนังบทละครดีๆ ที่มีตัวละครให้เลือกกระจายบทอย่างมากมาย ตัวเอก ตัวร้าย เพื่อนพระเอก ตัวโกง ตัวละครสุดดราม่า
และสำคัญที่สุดคือเรื่องราวทั้งหมดที่เหมือนถูกขีดเขียนขึ้นมานั้นเป็นเรื่องจริงทั้งหมด เพราะเอฟวันเป็นกีฬาที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ทั้งสิ้น ด้วยความเป็นกีฬาที่วัดกันด้วยการตัดสินใจในหลักเสี้ยววินาที การวางแผนที่ดี และทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยที่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สามารถส่งผลต่อการแข่งขันอย่างรุนแรงได้เสมอ
ถ้าพวกเขาถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาให้ทุกคนได้เห็นมากกว่าแค่รถวิ่งผ่านไปมาอย่างรวดเร็วในสนามกับรายงานข่าวสั้นๆ ว่าใครได้แชมป์ในสนามนั้น เปลือยตัวตนของนักขับ เปิดเผยฉากที่ซ่อนอยู่ในเบื้องหลัง บทสนทนาที่เผ็ดร้อน ธาตุแท้ของมนุษย์คนหนึ่ง การชิงไหวชิงพริบนอกสนาม มันน่าจะโดนใจคนได้ไม่ยาก
คำถามคือแล้วจะเล่าแบบไหน เล่าผ่านช่องทางอะไร?
พวกเขาเลือกเน็ตฟลิกซ์ และเป็นฝ่ายที่ติดต่อไปเองด้วย
“พวกคุณสนใจจะทำสารคดีร่วมกับเราไหม เราจะให้สิทธิ์พวกคุณเข้าได้ทุกพื้นที่เลย”
รอบที่ 35
เวอร์สแตปเพนชิงจังหวะเปลี่ยนยางอีกครั้งในช่วงที่รถของอันโตนิโอ จิโอวินาสซี ของทีมอัลฟา โรมีโอ มีปัญหาระบบเกียร์โดยที่ไม่ต้องเสียอันดับ ขณะที่แฮมิลตันตัดสินใจไม่เปลี่ยนยางเพราะไม่อยากเสียความได้เปรียบในสนามไป
ในสนามยามนั้นคือความท้าทายสำหรับแฮมิลตันและทีมเมอร์เซเดส ในขณะที่ความท้าทายสำหรับ Liberty Media และเน็ตฟลิกซ์คือการที่พวกเขาจะทำยังไงถึงจะสามารถทำให้ Formula 1: Drive to Survive แซงเข้าเส้นชัยในหัวใจของแฟนๆ ทุกคน
สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่แค่การเพิ่มแฟนกลุ่มใหม่ ซึ่งเป้าหมายใหญ่ในงานนี้เป็นการเข้าถึงกลุ่มแฟนชาวสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศแม่ของ Liberty Media และเป็นผู้ชมกลุ่มหลักของเน็ตฟลิกซ์ที่ไม่เคยอินกับเอฟวันมาก่อน เพราะถ้าพูดถึงรถแข่งแล้ว ทั้งใจของพวกเขามีแต่ Indy 500 กับ NASCAR เท่านั้น
ในเวลาเดียวกันก็ต้องพยายามรักษาฐานแฟนคลับกลุ่มเดิมที่เป็นแฟนเดนตาย (die-hard fan) เอาไว้ด้วย เรียกว่าต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างแฟนใหม่กับแฟนเก่า และหัวใจของการแข่งขัน
ว่าแต่คำถามแรกคือ แล้วใครจะเป็นคนทำ?
โชคดีที่แนท กรูยล์ (Nat Grouille) ผู้อำนวยการ Nonfiction series ของเน็ตฟลิกซ์ค้นพบเจมส์ กาย-รีส (James Gay-Rees) โปรดิวเซอร์ที่อยู่เบื้องหลังสุดยอดสารคดีรถ Senna ที่ว่าด้วยประวัติของอายร์ตัน เซนนา ตำนานนักขับเอฟวันผู้ล่วงลับชาวบราซิล
กาย-รีสมีบริษัทสร้างหนังของตัวเองที่ชื่อ Box to Box Films ซึ่งกำลังมองหาโอกาสจะสร้างหนังเอฟวันที่มีแกนเป็นทีมเรดบูลอยู่พอดีด้วย ทำให้จิ๊กซอว์ต่างๆ ประกอบเข้าเป็นภาพเดียวกัน เป็นภาพของสารคดีชุดที่มีความยาวหลายตอน
โดยที่พวกเขาค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะ เริ่มจากการให้ทีมรถแข่งต่างๆ เซ็นสัญญาอนุญาตให้เก็บภาพฟุตเทจได้ในทุกมุมและทุกที่ ซึ่งทีมใหญ่อย่างเฟอร์รารีไม่ยินยอมในตอนแรก ขณะที่เมอร์เซเดสบอกว่าพวกเขาติดสัญญากับ Amazon ที่จะถ่ายทำสารคดีเฉพาะทีมของพวกเขาอยู่
เอาล่ะ ไม่มีทีมใหญ่ก็ไม่เป็นไร ต่อให้เหลือทีมเล็กกว่าอย่างฮาส, เรอโนลต์ และวิลเลียมส์ ก็ไม่ได้แปลว่าจะสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม มันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ลองคิดนอกกรอบดู
ย้อนกลับไปในระหว่างการถ่ายทำสำหรับซีซั่นแรกซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ทีมงานมีความกังวลอยู่ไม่น้อยว่ามันจะมีเรื่องมีราวอะไรให้หยิบมาเล่นได้มากพอไหม แต่แล้วในช่วงปลายปีของฤดูกาลแข่งขันทีมถ่ายทำก็ได้ฟุตเทจสำคัญมาจนได้
ฟุตเทจนั้นเป็นเหตุการณ์การปะทะคารมกันระหว่างคริสเตียน ออร์เนอร์ หัวหน้าทีมเรดบูล กับไซริล อาบิเตบูล ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าทีมเรอโนลต์
ออร์เนอร์กล่าวหาอาบิเตบูลว่าจัดเตรียมเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอาบิเตบูล ได้ยินดังนั้นก็ซัดกลับว่า “ปัญหาของเรดบูลมันไปไกลกว่าเรื่องตัวรถเยอะนะ”
ฟุตเทจนี้ได้กลายเป็นแกนของตอนสำคัญในซีซั่นแรกในอีพีที่ชื่อว่า Art of War ซึ่งในเวลาต่อมา เรดบูลได้ยุติความสัมพันธ์กับเรอโนลต์และหันไปใช้เครื่องยนต์ของฮอนด้าแทน ส่วนเรอโนลต์ไปกระชากตัวดาเนียล ริคคิอาร์โด นักขับลูกรักของออร์เนอร์มา
มันทำให้ทีมถ่ายทำค้นพบคำตอบว่าดราม่าที่พวกเขาต้องการอาจอยู่ที่นอกสนาม
เพราะการแข่งขันไม่ได้มีเฉพาะระหว่างทีมหรือนักขับ แต่เป็นนักขับในทีมเดียวกัน หรือนักขับกับหัวหน้าทีมที่ความสัมพันธ์ระหว่างบางคู่นั้นเหม็นหน้ากันยิ่งกว่าอะไร แต่ในความเป็นมืออาชีพก็ต้องหาทางที่จะทำงานร่วมกันให้ได้ ไปจนถึงตัวละครแวดล้อมอื่นๆ เช่น ทีมช่าง ทีมเทคนิค เจ้าหน้าที่สนาม ผู้ควบคุมการแข่งขัน ที่ล้วนแต่มีความสำคัญในแบบของตัวเอง
และด้วยความสุดยอดของทีมถ่ายทำที่แฝงตัวอยู่กับทุกทีม โดยทุกคนจะได้รับชุดเครื่องแบบของทีม ใช้จ่ายวันเวลาร่วมกัน ทำให้คนในทีมรถแข่งบางครั้งก็ลืมตัวและแทบจะไม่ได้ใส่ใจด้วยซ้ำแล้วว่ามีกล้องและไมค์ที่จับจ้องพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
เราจึงได้ยินบทสนทนาที่เกิดขึ้นจริง ถ้อยคำและอารมณ์ฟาดกันและเชือดเฉือนระหว่างกัน กลายมาเป็นตัวดำเนินเรื่องในแต่ละอีพี ที่จะมีความเข้มข้นมากน้อยและหนักเบาแตกต่างกันออกไป
Formula 1: Drive to Survive จึงเป็นสารคดีที่เปิดเผย ‘ตัวตนที่แท้จริง’ ของเอฟวัน มากกว่าว่าชัยชนะเป็นของใคร เป็นเหมือนนักขับที่พาทุกคนมาสัมผัสโลกที่หมุนเร็วที่สุดใบนี้แบบชัดๆ ไปด้วยกัน
และแน่นอนว่ามันเป็นประสบการณ์ใหม่ที่อย่าว่าแต่แฟนรุ่นใหม่เลย
แฟนกีฬาตัวยงหลายคนก็อาจจะไม่เคยเห็นมาก่อนเหมือนกัน
รอบที่ 53
“เราทำเท่าที่ทำได้แล้ว มากกว่านี้ก็ต้องพึ่งปาฏิหาริย์แล้ว” คริสเตียน ออร์เนอร์ บอกกับทีมหลังเห็นลูอิส แฮมิลตัน ทะยานหนีไปไกล โดยที่แม็กซ์ เวอร์สแตปเพน ไล่ยังไงก็ไม่ทัน แม้ว่าจะพยายามซิ่งแบบสุดคันเร่ง แต่แล้วจู่ๆ รถของนิโคลัส ลาติฟี ก็เกิดแหกโค้ง…ตู้ม!
ในแง่ของความสำเร็จ Formula 1: Drive to Survive ทำให้การแข่งรถเอฟวันกลายเป็นกีฬาที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในโลก
ตามข้อมูลในปี 2022 ระบุว่าเอฟวันทำรายได้ถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตขึ้นจากปี 2018 ที่ทำได้ 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จำนวนผู้ชมทั่วโลกมีมากถึง 70 ล้านคน ขณะที่ผลสำรวจของสถาบัน Nielsen พบว่าฐานแฟนของเอฟวันเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2017
ที่สำคัญที่สุดคือพวกเขาทำตามเป้าหมายได้สำเร็จเมื่ออายุเฉลี่ยของผู้ชมลดลงจากเดิม 4 ปี ค่าเฉลี่ยตอนนี้อยู่ที่ 32 ปี และมีจำนวนผู้ชมที่เป็นผู้หญิงเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 2 เท่า
โดยที่แฟนๆ กลุ่มนี้ยังส่งผลทำให้นักแข่งอย่างแม็กซ์ เวอร์สแตปเพน, ชาร์ลส์ เลอร์แกลร์ก, ดาเนียล ริคคิอาร์โด, คาร์ลอส ไซนซ์ กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ในระดับนานาชาติไปด้วยเพราะมีกลุ่มแฟนติดตามเพิ่มขึ้น ในเวลาเดียวกันพวกเขาก็เอาใจแฟนๆ เหล่านี้ด้วยการเสิร์ฟคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มที่แฟนกลุ่มนี้อยู่อย่าง TikTok
แม้กระทั่งหัวหน้าทีมอย่างกุนเธอร์ สไตเนอร์ ก็กลายเป็นขวัญใจไปกับเขาด้วย จากเรื่องราวในปี 2020 ที่ฮาสประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนต้องรับเงินสนับสนุนจากดมิทรี มาเซปิน มหาเศรษฐีชาวรัสเซียที่จ่ายเงินเพื่อขอแลกกับการให้ลูกชาย นิกิตา มาเซปิน มีชื่อเป็นนักขับในทีมด้วย รวมถึงขอเปลี่ยนสีรถใหม่ให้เป็นสีธงชาติรัสเซีย พร้อมกับติดแบรนด์ชื่อบริษัทของเขาบนรถ
การยืนหยัดของสไตเนอร์ ที่อดทนอดกลั้นต่อสถานการณ์ยากลำบากนานา ไปจนถึงความเดือดดาล ความสุข ตัวตนที่ถูกเปิดเผยและได้รับการถ่ายทอดทำให้สไตเนอร์กลายเป็นหนึ่งในฮีโร่ของ Formula 1: Drive to Survive ไปด้วย
สำหรับตลาดสหรัฐอเมริกาที่เป็นเป้าหมายหลักของซีรีส์นั้นก็มีจำนวนผู้ที่เข้าชมเอฟวันในสนามเพิ่มขึ้น โดยรายการยูเอสกรังด์ปรีซ์ ที่เท็กซัสในปี 2022 มีผู้ชมถึง 440,000 คน เพิ่มจากในปี 2018 ที่มีผู้ชม 263,000 คนเกือบ 2 เท่า และทำให้มีการจัดการแข่งขันเพิ่มอีก 2 สนามที่ไมอามี และลาสเวกัส กลายเป็นประเทศที่จัดการแข่งมากกว่าทุกประเทศในโลก ซึ่งแน่นอนว่าเม็ดเงินมหาศาลทั้งจากแฟนๆ และจากสปอนเซอร์หลั่งไหลเข้ามาไม่ขาดสาย
ผลสำรวจในปี 2022 ยังระบุด้วยว่ามีแฟนชาวอเมริกันถึง 53% บอกชัดเจนว่า Formula 1: Drive to Survive คือเหตุผลที่พวกเขาติดตามชมการแข่งขันเอฟวัน
“มันเป็นการแข่งขันเพื่อแย่งชิงคนดู และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างเอฟวันกับแฟนกีฬาในระยะยาว พวกเขาอยากเข้าถึงกลุ่มแฟนอายุน้อยให้ได้” กาย-รีสบอกถึงความสำเร็จของเอฟวันและ Formula 1: Drive to Survive ที่ทำให้กีฬาอีกหลายประเภทอยากเดินตามรอยความสำเร็จนี้ เช่น กอล์ฟ (Full Swing), เทนนิส (Break Point) และอีกมากมาย
เพียงแต่การจะเดินตามรอยนั้นไม่ง่าย เพราะการแข่งเอฟวันมีจุดแข็งหลายอย่างที่ได้เปรียบกว่า
รอบที่ 58 (รอบสุดท้าย)
หากการแข่งรถเอฟวันมีองค์ประกอบหลายอย่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ Formula 1: Drive to Survive เองก็ไม่แตกต่างกัน สารคดีชุดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอด branded content เลยทีเดียว
เพราะอะไร?
1. มีเป้าหมายที่ชัดเจน: เข้าถึงคนดูกลุ่มใหม่ และสร้างการรับรู้ให้แบรนด์เอฟวัน
2. พร้อมต้อนรับแฟนกลุ่มใหม่: Formula 1: Drive to Survive ถูกสร้างมาเพื่อเปิดมุมมองการดูกีฬา และดึงดูดแฟนกีฬาหน้าใหม่ ไม่ต้องลงลึกทุกรายละเอียดแบบแฟนเดนตายก็บันเทิงได้
3. มีรูปแบบที่โดนใจ บนแพลตฟอร์มที่ใช่: การเลือกจับมือกับเน็ตฟลิกซ์เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุด แบบวิน-วินสำหรับทั้งเอฟวัน ที่ได้เข้าถึงผู้ชมทั่วโลกของเน็ตฟลิกซ์ โดยเฉพาะตลาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา และเน็ตฟลิกซ์ก็ได้ลูกค้าที่สมัครใช้บริการเพิ่มขึ้นเพราะอยากติดตาม Formula 1: Drive to Survive
4. ให้ผลลัพธ์จับต้องได้จริง: Formula 1: Drive to Survive สร้างตัวตนและการรับรู้ถึงเอฟวันในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน พวกเขาชนะใจกลุ่มแฟนคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นแฟนตัวยงที่ติดตามต่อเนื่องยาวๆ ในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีบทเรียนที่สามารถถอดรหัสจากสารคดีชุดนี้ได้อีกหลายอย่าง
• การเล่าเรื่องตามความเป็นจริง (authentic storytelling) คือหัวใจ: เพราะทำให้ทุกคนได้ร่วมเดินทางไปด้วยกันในเรื่องราวและความท้าทายที่บอกเล่าผ่านผู้คนจนจับต้องได้ กลายเป็นความผูกพัน และความเข้าใจที่มากขึ้น
• ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ (strategic partnership) เลือกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง: การที่ Liberty Media ตัดสินใจเลือกแพลตฟอร์มอย่างเน็ตฟลิกซ์ช่วยเพิ่มการรับรู้ถึงแบรนด์ได้อย่างมากมายมหาศาล ร่วมถึงสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางการตลาด
• การกระจายความหลากหลายของเนื้อหา (content diversification): ช่วยให้เข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่กว้างขึ้น เพราะการพยายามทำเนื้อหาให้มีความหลากหลายและแตกต่างช่วยทำให้แบรนด์สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่มีความสนใจหลากหลาย ไม่ได้จำกัดแค่กรอบเนื้อหาและรูปแบบเดิมๆ เช่น รายงานทีมเต็ง ข่าวผลการแข่งขัน หรือสกู๊ปข่าวนักแข่งเทพ
• ใครๆ ก็อยากรู้เบื้องลึกเรื่องวงใน (behind the scenes): การเปลี่ยนมุมมองใหม่ของเรื่องเดิมก็อาจทำให้ผู้ชมรู้สึกสดใหม่และน่าตื่นเต้นได้ แม้ว่าจะเคยชมการแข่งแบบสดๆ มาแล้วแต่การได้รู้รายละเอียดเบื้องหลังช่วยเพิ่มความลึกซึ้งในความเข้าใจและความรู้สึกชื่นชมของคนดูได้อีก
ทั้งหมดนี้ของ Formula 1: Drive to Survive ทำให้การแข่งรถเอฟวันไม่เพียงแค่ ‘รอดชีวิต’ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังเติบโตอย่างสดใสได้อีกครั้งอย่างน่ามหัศจรรย์
จากเดิมที่แฟนรถแข่งจะรอเปิดฤดูกาลอย่างเหงาๆ ตอนนี้ทุกคนเฝ้ารอซีซั่นใหม่ของสารคดีรถแข่งชุดนี้ว่าจะมีเบื้องลึก เบื้องลับ มีพัฒนาการของตัวละครหรือเรื่องราวยังไง ไปจนถึงมีอะไรที่เป็นเหตุและผลของเหตุการณ์ที่ปรากฏขึ้นและเป็นข่าวผ่านตามาก่อน
ว่าแล้วภาพบนจอตอนนี้ ถัดจากเซฟตี้คาร์ เห็นแฮมิลตันในอารมณ์หงุดหงิดแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ กำลังรอออกตัวในรอบสุดท้ายของการแข่งขันโดยที่รู้ว่าเขาพลาดไม่ได้แล้ว ขณะที่เวอร์สแตปเพนค่อยๆ เคลื่อนรถมาใกล้ๆ เหมือนเสือที่รอขย้ำเหยื่อ
“นี่คือช่วงเวลาที่ทั้งสองจะได้สร้างประวัติศาสตร์”
โดยไม่รู้ตัว หัวใจของเราเต้นแรงตามไปด้วยแล้ว
อ้างอิง
- theconversation.com/how-a-netflix-show-has-become-a-key-driver-behind-f1s-rising-popularity-221924
- newyorker.com/culture/culture-desk/how-drive-to-survive-remade-formula-1
- gq.com/story/how-drive-to-survive-netflix-is-made
Match facts
- ในบางซีซั่นอาจจะไม่มีทีมที่ปฏิเสธจะเซ็นสัญญาเพื่อปรากฏในซีรีส์ ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่ทีมสามารถทำได้ และก็เปลี่ยนใจกลับมาได้เช่นกัน
- การที่ Formula 1: Drive to Survive ยืนยาวถึงซีซั่นที่ 6 ทำให้ผู้สร้างสามารถเจาะลึกถึงพัฒนาการของตัวละครได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นนักขับหรือหัวหน้าทีมก็ตาม
- เน็ตฟลิกซ์ยังไม่มีการยืนยันการสร้างซีซั่นที่ 7 ในเวลานี้ แต่เชื่อว่าน่าจะมีให้ชมอย่างแน่นอน