เมื่อเกาหลีใต้จัดระเบียบนักท่องเที่ยวไทยจนเกิดแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี สุดท้ายใครได้รับผลกระทบ

ยิ่งใกล้วันไปเที่ยวเกาหลีใต้ ยิ่งกังวลใจ-ความรู้สึกคงเกิดขึ้นกับใครหลายคน

ในช่วงหลายปีมานี้ เกาหลีใต้กลายเป็นจุดหมายปลายทางที่คนไทยต้องการไปท่องเที่ยวมากเป็นอันดับต้นๆ แม้จะวางแผนเที่ยวอย่างละเอียด จองที่พัก และตั๋วเครื่องบินไป-กลับเรียบร้อย แต่เมื่อใกล้วันเดินทาง หลายคนกลับยิ่งกังวลใจ เพราะไม่รู้เลยว่า ตม.เกาหลีจะใช้ดุลยพินิจให้ผ่านเข้าไปท่องเที่ยวตามที่ฝันอย่างง่ายดายหรือฝันสลายถูกกักตัวไว้แล้วส่งตัวกลับบ้าน และนั่นนำไปสู่การเกิดของแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี จนขึ้นเทรนด์ใน X และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

‘เอกสารครบแต่ไม่ผ่าน’

จริงๆ แล้วการที่คนไทยถูกส่งตัวกลับประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ซะทีเดียว เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนโควิดอยู่แล้ว และในช่วงเปิดประเทศหลังโควิดยิ่งเข้าเกาหลีได้ยากขึ้น ตม.คัดกรองเข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวจากไทย

ปัจจุบันเกาหลีใต้เปิดให้คนไทยเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า ทว่าแม้จะมีเอกสารครบ เตรียมแพลนเที่ยวมาอย่างดี K-ETA (Korea Electronic Travel Authorization ระบบออนไลน์ที่คัดกรองชาวต่างชาติเข้าประเทศเกาหลีใต้) ผ่านแล้ว แต่ก็เข้าประเทศไม่ได้ และถูกส่งกลับโดยไม่เต็มใจ ซึ่งในปัจจุบันอัตราการส่งตัวกลับค่อนข้างสูงมาก โดยในปีที่ผ่านมามีรายงานจากสื่อในเกาหลีใต้ว่าจาก 10,000 คนของคนไทยที่เดินทางเข้าเกาหลีใต้ ถูกปฏิเสธหรือส่งตัวกลับไม่ให้เข้าเมืองอย่างน้อย 5,000 คน (ข้อมูลจาก KBS News, 2022) จึงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคการท่องเที่ยว ทั้งในฝั่งของการไปด้วยตัวเอง และฝั่งเอเจนซีทัวร์ที่ลูกค้าไม่กล้าเดินทาง เพราะบริษัททัวร์เองก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่านักท่องเที่ยวจะเข้าประเทศได้

โดยหนึ่งในเหตุผลมาจากมีชาวไทยบางกลุ่มที่เข้าประเทศแบบถูกกฎหมายแต่หลังจากนั้นไปลักลอบทำงานและไม่กลับตามกำหนดเวลา หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘ผีน้อย’ ส่งผลให้ ตม.คัดกรองคนเข้าประเทศเข้มงวดเป็นพิเศษจนบางกรณีกลายเป็นทำให้คนทั่วไปที่ไม่ได้ตั้งใจไปทำงานพลอยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บางคนมีเอกสารต่างๆ ที่แสดงความบริสุทธิ์ใจครบถ้วน ก็โดนส่งตัวกลับ

‘ผีน้อย ไม่น้อย’

หากจะย้อนกลับไปยังต้นตอของความเข้มงวดที่หลายคนมองว่าเกินพอดี จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก #แบนเที่ยวเกาหลี คงต้องย้อนไปดูตัวเลขสถิติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนี้โดยตรง

มีข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม ประเทศเกาหลีใต้ ระบุว่า มีคนไทยอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้เกือบ 200,000 คน แบ่งเป็นคนที่เข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมาย 40,000 คน และลักลอบทำงานแบบผิดกฎหมาย 140,000 คน นั่นหมายความว่า คนไทยกว่า 75% อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้แบบผิดกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงถึงระบบและความสัมพันธ์ระดับประเทศ

มีงานวิจัยเรื่อง A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea หรือแรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี เผยว่า แรงงานไทยในเกาหลีส่วนใหญ่ทราบดีว่าการเข้าไปทำงานแบบผิดกฎหมายมีความเสี่ยงในเรื่องใดบ้าง ซึ่งบางครั้งก็คุ้มที่จะเสี่ยง โดยเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจไปเป็นผีน้อยในเกาหลีมาจากความไม่มีเสถียรภาพในสังคมไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ที่คนรายได้น้อยมักถูกตีกรอบให้ไม่มีทางเลือกในสังคม และการกระจุกตัวของการพัฒนาในกรุงเทพฯ จนละเลยพื้นที่ในต่างจังหวัด

ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสและตัวเลือกไม่มากนัก การทำงานนอกประเทศจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น หากปัญหาภายในประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายก็จะเกิดขึ้นต่อไป แม้ในอนาคตจะไม่สามารถทำงานในเกาหลีได้ พวกเขาก็จะมองหาการทำงานในประเทศอื่นๆ อยู่ดี

นอกจากนี้ ในปี 2562 มีข้อมูลจาก KBS Report เผยว่า นักท่องเที่ยวคนไทยประมาณ 20% ที่ลงสนามบินเชจู เมื่อผ่าน ตม.แล้วจะหายตัวทันที และไม่กลับประเทศตามเวลาที่ระบุไว้ ทั้งนี้การเดินทางไปเกาะเชจูไม่จำเป็นต้องผ่าน K-ETA ขณะเดียวกันคนไทยยังเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเกาหลีใต้และถูกจับด้วยข้อหายาเสพติดมากที่สุด ทั้งในส่วนของการลักลอบนำเข้า และการจำหน่าย

สำหรับอาชีพที่เป็นที่ต้องการในเกาหลีใต้ หลักๆ ยังเป็นงานเกษตร พืชสวน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเรือเดินทะเล อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น รายได้เฉลี่ย 2,000 บาทต่อชั่วโมง หรือ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน

‘แค้นนี้ต้องชำระ’

เมื่อนักท่องเที่ยวที่บริสุทธิ์ใจได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้น มีหลายคนที่แสดงความคิดเห็นว่า ควรต้องยกเลิกการเว้นวีซ่า เพื่อป้องกันปัญหาการหลบหนีเข้าไปทำงาน นักท่องเที่ยวที่มีความประสงค์จะไปท่องเที่ยวก็ทำวีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายและความยุ่งยากเพิ่มขึ้น

หลังจากมีประเด็นนักท่องเที่ยวโดนส่งกลับโดยไม่รับฟังเหตุผลใดๆ ทำให้หลายคนยึดหลัก ‘แค้นนี้ต้องชำระ’ ไม่ใช่แค่ #แบนเที่ยวเกาหลี แต่ในเมื่อ ตม.เกาหลีใต้เข้มงวดกับนักท่องเที่ยวไทย เราก็ควรเข้มงวดกับนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้บ้าง คำถามคือสิ่งนี้จะเป็นผลดีต่อประเทศจริงหรือไม่

ซึ่งกรณีนี้หากมองในมุมเศรษฐกิจไทย ต้องบอกว่านักท่องเที่ยวแดนโสมนี่แหละที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นชนชาติที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวในบ้านเราอย่างมาก

เมื่อดูข้อมูลย้อนหลังในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาประเทศไทยประมาณ 1.89 ล้านคน ซึ่งถือเป็นประเทศที่มาเยือนประเทศไทยมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 75,000 ล้านบาท

  • ปี 2563 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาไทยราว 262,000 คน
  • ปี 2564 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาไทยราว 12,000 คน
  • ปี 2565 นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางมาไทยราว 530,000 คน

ซึ่งเมื่อเทียบกับอันดับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปเกาหลีใต้แล้ว นักท่องเที่ยวไทยยังไม่ติดอันดับ Top 5 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศ โดยอันดับที่หนึ่งคือญี่ปุ่น ตามด้วยจีน ไต้หวัน สหรัฐฯ และสิงคโปร์ (ข้อมูลจาก Korea Times, 2023) แต่ถึงอย่างไรตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยก็ไม่ถือว่าน้อย

ข้อมูลจากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รายงานว่าในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวประเทศเกาหลีราว 570,000 คน สำหรับปี 2566 ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าเกาหลีกว่า 250,000 คน ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว สะท้อนชัดเจนว่าทั้งสองประเทศต่างเป็นตลาดการท่องเที่ยวที่สำคัญร่วมกัน

ในส่วนของกำลังซื้อ เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับญี่ปุ่น โดยในปี 2565 เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 1,734.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อคนเท่ากับ 33,592 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 1,178,000 บาทต่อปี (อันดับที่ 34 ของโลก) นอกจากนี้เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางออกนอกประเทศค่อนข้างสูง โดยในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ออกเดินทางไปทั่วโลก 28.7 ล้านคน

อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้นักท่องเที่ยวเกาหลีสำคัญต่อไทยคือ ค่าใช้จ่ายต่อคนเวลาไปเที่ยวอยู่ที่ 39,891 บาทต่อทริป แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวประมาณ 7 วันถือว่าสมน้ำสมเนื้อ โดยค่าใช้จ่ายที่มากที่สุดเป็นค่าใช้จ่ายด้านที่พัก ประมาณ 12,000 บาทต่อคน ตามด้วยค่าอาหารและเครื่องดื่ม 8,600 บาท ที่เหลือเป็นค่าช้อปปิ้ง ค่าเดินทาง และอื่นๆ

‘ทำไมเกาหลีจึงยังเป็นจุดหมายสำคัญ’

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจบอกว่าต่อให้มีประสบการณ์ไม่ดี หรือถูกส่งกลับ เกาหลีก็ยังเป็นประเทศในฝันที่อยากไปอยู่ดี โดยเฉพาะเด็กไทยที่อยู่ในยุค 2000 เติบโตมาพร้อมกับวัฒนธรรมเกาหลี ทานอาหารเกาหลี เทรนด์แฟชั่นแบบเกาหลี หรือเป็นแฟนคลับไอดอลเกาหลี เป็นการกลืนกินทางวัฒนธรรมโดยใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ต่อให้คนไทยเข้าถึงเทรนด์เกาหลีแค่ไหน ในสายตาคนเกาหลีเราก็ยังเป็นรองอยู่ดี นั่นทำให้เกาหลีมีแต้มต่อกับคนไทยอย่างมาก

เกาหลีใต้ถือได้ว่าเป็นประเทศที่ใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงวัฒนธรรม (cultural marketing) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือมีการนำต้นทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างเป็นจุดขาย และดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เนื่องจากวัฒนธรรมของเกาหลีใต้สามารถเข้าถึงง่าย มีหลายรูปแบบ เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร การแต่งกาย สถานที่ถ่ายทำซีรีส์ ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้

จะว่าไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจะโทษทาง ตม.เกาหลีอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะในอีกมุมหากเรายังแก้ปัญหาเรื่องผีน้อยไม่ได้ คนไทยที่จะเดินทางเข้าเกาหลีใต้ก็อาจต้องเตรียมตัวเตรียมใจตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าอาจถูกส่งตัวกลับ ซึ่งหากจะแก้ปัญหานี้จริงก็อาจต้องกลับมาย้อนมองถึงต้นตออันเป็นรากของปัญหา อย่างเรื่องการสร้างงานสร้างโอกาสให้คนไทยอย่างเท่าเทียมและเพียงพอ รวมถึงทำให้แต่ละอาชีพมีรายได้ที่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในประเทศบ้านเกิด เพื่อไม่ให้แต่ละคนต้องดิ้นรนกลายไปเป็นผีน้อยในต่างแดน

อ้างอิงข้อมูลจาก

Writer

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like