อสังหอนริมทรัพย์

ความสัมพันธ์ของ ‘ฮาโลวีน’ กับ ‘กิจการบ้านผีสิง’ จากเศรษฐกิจตกต่ำถึงความป๊อปจากดิสนีย์

สุขสันต์วันฮาโลวีน!

ฮาโลวีนเป็นอีกเทศกาลที่บ้านเราเองก็ค่อยๆ สนุกไปกับการกลับมาของภูตผี กับการได้แต่งชุดที่วันธรรมดาเราไม่ค่อยได้ใส่กัน คำว่าวันปล่อยผีที่เป็นชื่อเล่นของเทศกาลนี้ก็ดูจะเป็นคำอธิบายที่ดี คือนอกจากจะเป็นวันตามความเชื่อว่าภูตผีจะกลับมาแล้ว ยังเป็นวันที่มนุษย์แบบเราๆ ที่อยู่ในสังคมอันเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ได้ปล่อยผี ได้ทำตัวแปลกๆ หรือกระทั่งได้มีปฏิสัมพันธ์กัน

ด้วยความที่ฮาโลวีนเป็นวันแห่งการกลับหัวกลับหาง คนเป็นกลายเป็นคนตาย เมืองที่เคยซึมเซากลับกลายเป็นมีสีสัน อีกด้านฮาโลวีนเป็นเทศกาลที่แพร่กระจายพร้อมๆ กับความเฟื่องฟูของวัฒนธรรมป๊อปเช่นหนังสยองขวัญทั้งหนังผีและหนังเชือดจากฮอลลีวูด ถ้าเรามองย้อนไป หนึ่งในผลผลิตจากฮาโลวีนอเมริกันคือบ้านผีสิง ซึ่งเจ้าบ้านผีสิงนี้ในที่สุดกลายเป็นเครื่องเล่นหนึ่งในดิสนีย์ และบ้านผีสิงกลายเป็นธุรกิจ เป็นความบันเทิง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพจำของความสยองขวัญที่ทั่วโลกมีคล้ายๆ กัน

ในวันฮาโลวีนนี้ ทรัพย์คัลเจอร์ขอพาทุกท่านย้อนไปยังยุคสมัยแห่งความฝืดเคืองของอเมริกาในยุคเศรษฐกิจตกต่ำหรือ Great Depression ยุคสมัยที่ความฝืดเคืองทำให้ความบ้าคลั่งของฮาโลวีนต้องถูกควบคุมด้วยการเปิดบ้านผีสิงขึ้น ไปจนถึงเมื่อดิสนีย์ได้ทำบ้านผีสิงให้กลายเป็นไอคอนด้วยการออกแบบอย่างพิเศษถี่ถ้วนจนทำให้บ้านผีสิงกลายเป็นเครื่องเล่นหรือพื้นที่หลอกหลอนแบบใหม่ที่ฮิตไปทั่วโลก บ้านผีสิงกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สัมพันธ์กับป๊อปคัลเจอร์ จนทุกวันนี้จากบ้านผีสิงค่อยๆ เปลี่ยนไปสู่พื้นที่เล่นเพื่อความหลอกหลอนอื่นๆ เช่นซอมบี้หรือห้องปิดตาย

บ้านผีสิงกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

เทศกาลฮาโลวีนเป็นเทศกาลที่มีประวัติยาวนาน แต่เดิมสัมพันธ์กับความเชื่อของทางเคลติก (celtic) และความเชื่อนี้ก็เดินทางมาพร้อมกับชาวสก็อตและไอริชที่อพยพมายังอเมริกา หนึ่งในจุดเด่นคือการที่เปลี่ยนจากการแกะสลักหัวเทอร์นิป (turnip) มาเป็นการแกะฟักทอง พืชท้องถิ่นของอเมริกา (ที่หาง่ายและใหญ่กว่าด้ย) จนกลายเป็นอีกไอคอนสำคัญของเทศกาลนี้ก็เป็นจุดเด่นของการย้ายบริบทประเพณีจากยุโรปมาสู่อเมริกา

จุดเด่นหนึ่งของเทศกาลฮาโลวีนคือการปล่อยผี ในความหมายของการปล่อยผีให้ผู้คนโดยเฉพาะเด็กผู้ชายได้เล่นบ้าๆ ทำการกลั่นแกล้งต่างๆ ได้อย่างหนำใจ หลายครั้งเลยเถิดไปจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ เช่น มีข่าวว่าในปี 1879 ที่เมืองเคนตักกี้ เด็กผู้ชายรวมตัวกันถึง 200 คนเอาศพปลอมไปวางที่ทางรถไฟหลายจุดเพื่อหยุดไม่ให้รถไฟวิ่งได้ ในปี 1900 นักศึกษาแพทย์ก็ขโมยร่างคือศพจริงๆ มาแขวนไว้ที่ประตูอาคารเรียน คือปล่อยผีเกิน เล่นเกิน

ทีนี้ในการเล่นที่บ้าคลั่งในช่วงก่อนทศวรรษ 1930 ก็ยังไม่เป็นปัญหาอะไรมาก พอมาถึงปี 1930 อันเป็นปีที่ทั่วโลกเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ในช่วงที่เกิดความตึงเครียด กลายเป็นว่าฮาโลวีนที่เคยเป็นเทศกาลล้อเล่นปล่อยผีธรรมดา ด้วยการเป็นพื้นที่ระบายอารมณ์เดิม เพิ่มเติมคือโกรธจริง เด็กหนุ่มในยุคนั้นคือเครียดและโกรธสังคมเลยใช้โอกาสนี้ระบายอย่างรุนแรงมาก

ในปี 1933 เกิดภาวะที่เรียกกันว่า Black Halloween เป็นการล้อกับภาวะตลาดหลักทรัพย์ล่มสลายเมื่อสี่ปีก่อนหน้าคือ Black Tuesday ฮาโลวีนมืดในยุคเศรษฐกิจมืดมน กลายเป็นสุดยอดความอลหม่าน ในปีนั้นเด็กวัยรุ่นออกมาป่วนเมืองขนาดที่ว่าช่วยกันคว่ำรถยนต์ที่จอดอยู่ เลื่อยเสาสัญญาณโทรศัพท์และทำการพ่นสีและทำลายสาธารณสมบัติทั่วประเทศ

ช่วงทศวรรษนี้เองที่อเมริกาเริ่มเกิดธรรมเนียม trick-or-treat คือเป็นช่วงที่ผู้ใหญ่ เมือง ไปจนถึงระดับรัฐเริ่มมองเห็นว่าพลังของเด็กๆ จากความโกรธเกรี้ยวที่มาระบายออกนี้เป็นปัญหาและต้องหาทางออก หลายเมืองถึงขนาดเตรียมจะห้ามธรรมเนียมฮาโลวีนกันเลย ในช่วงนี้เองที่เมืองพยายามจำกัดพื้นที่ พูดง่ายๆ คือหาที่เล่นที่หลอกให้กับเด็กๆ ซึ่งการออกธรรมเนียม trick-or-treat เป็นวิธีนึง คือให้แต่งผีมานะ แล้วเอาขนมแลกไม่ให้หลอก

นอกจากการแจกขนมแล้ว กิจกรรมของเมืองใหม่คือการเปิดพื้นที่ที่เราเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของบ้านผีสิง คือมีการตกแต่งพื้นที่เฉพาะให้เด็กๆ เข้าไปหลอนไปกลัวกัน เป็นจุดเริ่มต้นของการตกแต่งบ้านเป็นพื้นที่สยอง และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดบ้านผีสิงขึ้น

ทีนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่าบ้านผีสิงในยุคแรกๆ คือก่อนที่จะกลายเป็นกิจการ บ้านผีสิงเป็นกลยุทธ์และธรรมเนียมของบ้านในอเมริกา คือแต่งกันแบบบ้านๆ เรียกว่า trails of terror หลักฐานสำคัญหนึ่งคือใบปลิวในปี 1937 เป็นแนวทางว่าแต่ละบ้านจะสร้างบ้านผีสิงหรือเส้นทางสยองของตัวเองได้ยังไง ในแผ่นพับนั้นก็พูดถึงการวางเส้นทางจากหน้าบ้านไปจนถึงห้องต่างๆ มีการเอาขนเฟอร์มาตกแต่ง เอาตับสดๆ มาแขวน การจัดเส้นทางในสวนเป็นเขาวงกต มีการกำหนดตีมที่ต่างกัน เช่น เป็นบ้านคนบ้า เส้นทางผีสาง หรือเป็นอุโมงค์ก็สุดแล้วแต่จะสร้างสรรค์

บ้านผีในยุคแรกจึงเป็นเหมือนการที่เด็กๆ เร่ไปตามบ้านแต่ละหลัง ขอขนม และเข้าไปถูกหลอกหลอนตามแต่ว่าแต่ละบ้านจะออกแบบไว้ อันที่จริงคอนเซปต์บ้านผีสิงอันหมายถึงพื้นที่จำลองที่เข้าไปเพื่อถูกหลอนหลอนเป็นสิ่งที่มีมาก่อนแล้ว เช่นที่มาดามทุสโซที่ลอนดอนเองก็มีการจัดแสดงห้องสยองขวัญคือ Chamber of Horrors คือเป็นห้องของบุคคลสำคัญที่ถูกตัดคอด้วยกิโยตินในการปฏิวัติฝรั่งเศส มีตั้งแต่ปี 1802 หรือในปี 1915 ก็มีการสร้างบ้านผีสิงหรือ ghost house

ทว่าจุดเริ่มที่เริ่มเป็นธรรมเนียมและวัฒนธรรมก็ต้องยกให้การเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจตกต่ำและเทศกาลฮาโลวีน และที่สำคัญคือจากบ้านผีบ้านๆ หรืออาจจะแค่เป็นการจัดบ้านผีของหน่วยงาน สถานพยาบาล หรือโรงเรียนเพื่อระดมทุน บ้านผีสิงกลายเป็นปรากฏการณ์ คือกลายเป็นไอคอนระดับโลกได้ ก็ต้องยกให้เป็นผลงานของดิสนีย์ ผู้ยกระดับบ้านผีสิงชั่วคราวให้กลายเป็นสุดยอดเครื่องเล่นตลอดกาล เป็นพื้นที่หลอกหลอนด้วยพลังของการออกแบบและนวัตกรรมจากโลกสมัยใหม่

ไอคอนของบ้านผีสิง เริ่มต้นที่ดิสนีย์แลนด์

ก่อนจะไปถึงดิสนีย์แลนด์ รอยต่อของบ้านผีสิงที่ขยายตัวไปทั่วอเมริกาและจริงจังขึ้นเรื่อยๆ เป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องกันจากทศวรรษ 1930 ที่เป็นการสร้างบ้านผีในระดับบ้านเรือนเพื่อหลอกล่อเด็กๆ ในช่วงทศวรรษ 1950 เริ่มเกิดบ้านผีสิงจริงจังขึ้นเช่นในหลายเมืองของแคลิฟอร์เนีย เริ่มมีองค์กรเช่นการตั้งสมาพันธ์บ้านผีสิง (Assistance League Haunted House) ส่วนใหญ่ในยุคก่อนดิสนีย์แลนด์ บ้านผีสิงจะมีฟังก์ชั่นคล้ายๆ บ้านผีเร่ในบ้านเรา คือเป็นส่วนหนึ่งของฮาโลวีน เป็นงานแฟร์ที่หน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานการกุศลใช้ระดมทุน

หมุดหมายสำคัญของบ้านผีสิงในฐานะเครื่องเล่น พื้นที่เข้าไปท่องเที่ยวเพื่อความกลัวต้องยกให้การเปิด ‘คฤหาสน์ผีสิง (haunted mansion)’ ในปี 1969 คฤหาสน์ผีสิงที่ดิสนีย์แลนด์นับเป็นพื้นที่ความฝันใหม่ที่น่าสนใจ เพราะดิสนีย์แลนด์เป็นดินแดนฝันดีของเด็กๆ เป็นที่สว่างไสว สดใส แต่ทว่าโปรเจกต์คฤหาสน์ผีสิงเป็นพื้นที่เดียวของดิสนีย์แลนด์ที่เต็มไปด้วยลักษณะเสื่อมโทรม ซากปรักหักพัง แต่คฤหาสน์ผีสิงใหม่กลายเป็นว่าพอเปิดตัว คฤหาสน์สยองใหม่กลายเป็นพื้นที่ยอดฮิต มีคนเข้าเล่นกว่า 80,000 คน ภายในไม่กี่วันหลังเปิดตัว

อันที่จริง โปรเจกต์บ้านผีสิงของดิสนีย์เป็นอภิมหาโปรเจกต์ คือใช้เวลาพัฒนานานมาก คืออันที่จริงวอลต์ ดิสนีย์ไปดีลศิลปินอังกฤษที่ไปเจอโดยบังเอิญที่ลอนดอนตั้งแต่ปี 1951 ในร้านของเล่น คือแกสนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไก จนเปิดดิสนีย์แลนด์ในปี 1955 แนวคิดในการอยากจะมีบ้านผีสิงอยู่ในใจของวอลต์ ดิสนีย์มาตั้งแต่วันเปิดสวน และแผนการขยายสวนก็เริ่มตั้งแต่วันที่สวนเปิด ความพิเศษของการคิดเนื้อหามีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือหลายส่วนมาจากการที่วอลต์ ดิสนีย์ ดึงทีมจากส่วนโปรดักชั่นคือที่ทำแอนิเมชั่นมาช่วยคิด เช่นการดึงแอนิเมเตอร์คู่ใจคือ Ken Anderson ตัวเคนเองเคยเป็นสถาปนิกมาก่อนและหลังจากเข้ามาช่วยคิดในพื้นที่ดิสนีย์แลนด์แกก็ไปทำ Sleeping Beauty 

เคนเป็นคนเสนอเรื่องคฤหาสน์ผีสิง แนวคิดของเคนเป็นคฤหาสน์ทางตอนใต้ (เรียกว่า antebellum mansion) เป็นบ้านใหญ่ๆ ในยุคที่ยังมีทาส ทำไร่ฝ้าย ซึ่งตัวบ้านคล้ายๆ กับปัจจุบันคือเป็นบ้านเก่า ผุพัง แต่จุดที่อาจจะเหลือกลิ่นอายบ้างคือเคนคิดให้บ้านผีที่พัฒนาในยุคแรกเป็นแบบตลก คือชวนหัว บ้าๆ บอๆ ไปเลย ในสมัยที่คิดบ้านผีสิงของดิสนีย์แลนด์ในช่วงแรกมีหลายข้อเสนอมาก บ้านผีแบบเรียบหรูเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นก็มี ต่อมามีการนำหลายๆ ทีมแอนิเมเตอร์เข้ามาจนได้เป็นแบบจำลองบ้านผีสิงที่เน้นการหลอกหลอน วอลต์ ดิสนีย์เองก็เคาะตัวบ้านและสถาปัตยกรรมแบบหลอกหลอนในปัจจุบันขึ้น

สิบปีผ่านไป ในที่สุดบ้านคฤหาสน์ผีสิงของดิสนีย์ลงมือสร้างในปี 1962 พอ 1963 ก็สร้างเสร็จแต่ตัวอาคาร ข้างในยังว่างเปล่า โปรเจกต์ก็พักไป การพักโปรเจกต์กลายเป็นจุดเพิ่มเติมที่น่าสนใจหลายอย่างที่ทำให้บ้านผีของดิสนีย์กลายเป็นบ้านผีแห่งโลกสมัยใหม่

อย่างแรกการพักในช่วงนั้นทีม Imagineering (คือทีมคิดและสร้างดินแดนในฝันของดิสนีย์) ทางวอลต์ต้องการแรงไปร่วมงานเวิลด์แฟร์ที่นิวยอร์กที่จะจัดขึ้นในปี 1964-1965 จุดนี้เองที่ในสวนดิสนีย์แลนด์มีบ้านผีเปล่าๆ ตั้งอยู่ คนยังเข้าไม่ได้เพราะทีมไม่พอ แต่ทีมก็แก้ปัญหาอย่างฉลาดด้วยการตั้งป้ายที่โด่งดังถึงเหล่าวิญญาณที่ไม่อยากจะเกษียณ (ghosts who didn’t want to retire) คือเป็นป้ายที่บอกให้ผีสางต่างๆ สมัครเข้ามาอยู่ในบ้านได้ คนที่มาดูสวนก็รอว่าจะมีผีแบบไหนอยู่ข้างใน กลายเป็นกระแสไปอีก

ทีนี้ จุดเล็กๆ ที่น่าสนใจคือ ในการร่วมเวิลด์แฟร์ ทางทีมของดิสนีย์ก็ได้ไปเห็นอะไรในงานหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หนึ่งในนั้นคือการใช้กลไกต่างๆ ไปจนถึงระบบเคลื่อนที่เช่นรถยนต์หรือรถราง แรงบันดาลใจสุดยอดของสวนคือการอยากสร้างให้บ้านผีสิงไม่ต้องเดิน ใช้วิธีการนั่งเครื่องเข้าไป จุดนี้เองเป็นจุดเริ่มของเก้าอี้อัตโนมัติที่เคลื่อนต่อๆ กันไป การใช้ระบบนั่งเข้าไปเล่นแก้ปัญหาหลายอย่าง อย่างสำคัญที่สุดคือทำให้เครื่องเล่นรับกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ ในที่สุดทางทีมก็ออกแบบส่วนประกอบสำคัญของเครื่องเล่นคือเป็นเก้าอี้และกลไกที่หมุน ขยับ และเคลื่อนที่ได้เรียกว่า Omnimover

หลังจากนั้นก็มีบางแรงบันดาลใจที่เชื่อมโยงกัน เช่นข้างต้นคือวอลต์ ดิสนีย์ใช้ทีมและแรงบันดาลใจจากทีมแอนิเมชั่น จากโลกของการทำหนัง หนึ่งในธีมสำคัญที่คฤหาสน์ผีสิงของดิสนีย์แลนด์ได้แรงบันดาลใจมาคือหนังเรื่อง โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ฉบับฝรั่งเศสของ Jean Cocteau ผู้กำกับภาพยนตร์ในตำนาน ในเรื่องให้ภาพของอสูรอันแปลกประหลาด การจุดคบเพลิงท่องไปในปราสาท การที่พื้นที่รายล้อมไปด้วยชั้น ด้วยของแปลกประหลาด 

ด้วยแนวคิดแสนประหลาดนี้ สรุปว่าวอลต์ ดิสนีย์ เอาด้วย และบอกว่าในบ้านผีสิงจะมีลักษณะสำคัญหนึ่งคือจะเป็นพิพิธภัณฑ์ของสิ่งประหลาด (Museum of the Weird) โปรเจกต์บ้านผีถือเป็นหนึ่งในมรดกช่วงท้ายๆ จากจินตนาการและการทำงานอย่างของวอลต์ ดิสนีย์ ร่วมกับทีม เพราะหลังจากนั้นไม่นานวอลต์ก็เสียชีวิตลงในปี 1966 แต่ความฝันที่เป็นฝันร้ายของดิสนีย์ได้รับการสานต่อ บ้านผีสิงของดิสนีย์ปฏิวัติเครื่องเล่นที่ใช้ความสยอง จากกลไกที่สมจริง ห้องโถงที่ภูตนับร้อยออกมาเต้นรำเต็มไปด้วยความสมจริง กลิ่นอายที่ตกทอดมา ที่ทำให้บ้านผีของดิสนีย์ได้รับความนิยมคือการปนความตลกชวนหัวเข้ากับการถูกหลอนและความน่ากลัว

เมื่อเปิดบ้านผีสิงแล้ว ในที่สุดเจ้าบ้านผีสิงกลายเป็นไอคอนของบ้านผีสิง กลายเป็นหัวใจหนึ่งของทั้งสวนสนุก งานกิจกรรม ไปจนถึงเป็นหน้าตาเครื่องเล่นและเป็นส่วนหนึ่งของความสยองให้กับทั่วโลกในเวลาต่อมา

บ้านผีสิง ฮาโลวีน และป๊อปคัลเจอร์

เราจะเริ่มเห็นความซ้อนทับกันของสื่อ เช่นโลกจินตนาการของดิสนีย์ที่หยิบยืมไปมาระหว่างโลกภาพยนตร์สู่พื้นที่กายภาพ ในขณะเดียวกันความเป็นไอคอนที่ดิสนีย์ทำในบ้านผีสิง ที่เปลี่ยนพื้นที่กายภาพจากบ้านผีด้วยผ้าและตับสดไปสู่พื้นที่ประสบการณ์ที่สมจริงและเต็มไปด้วยนวัตกรรม หลังจากบ้านผีที่ดิสนีย์กลายเป็นไอคอน บ้านผีสิงที่จริงจังขึ้น กลายเป็นพื้นที่เล่นที่มีการใช้กลไก มีการออกแบบจริงจังก็กระจายตัวออกไป

นับจากความดังของบ้านผีสิงของดิสนีย์ และคงจะประกอบกับว่าคนอเมริกันทำบ้านผีสิงช่วงฮาโลวีนอยู่แล้ว หลังจากบ้านผีดิสนีย์เปิดก็เริ่มเกิดกิจการจริงจัง เช่นองค์กร The United States Junior Chamber เป็นเหมือนสมาคมเยาวชนก็ใช้การทำบ้านผีสิงเพื่อระดมทุน ทำบ้านผีสิงเก่งมากถึงขนาดมีฮาวทูออกมา หรือมีฟาร์ม Knott’s Berry Farm ในแคลิฟอร์เนียก็ทำฟาร์มสยองให้คนไปเที่ยว จากทำในระดับไม่กี่วันกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวระดับหลายสัปดาห์ หรือในทุกปีมีคุณ Bob Burns ที่มีชื่อเสียงในการเอาหนังผีคลาสสิกมาทำเป็นบ้านผีสิงที่มีความสยองและละเอียด กิจการบ้านผีเป็นที่นิยมขนาดกลุ่มคริสเตียนที่ต่อต้านฮาโลวีนทำบ้านผีสิงในรูปแบบของตัวเองเรียกว่า hell house ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1972

ในช่วงทศวรรษ 1980 ทางฮอลลีวูดก็รับเอาความสยองและเทศกาลฮาโลวีนเข้ามาโดยเสนอหนังตระกูลหนังเชือดต่างๆ ความนิยมของหนังเชือดเช่น ศุกร์ 13 ทำให้กิจการที่เที่ยวหลอนได้รับความนิยมมากขึ้น ในยุค 1980-1990 บ้านผีสิงจะเริ่มมีตัวละครสำคัญคือเฟรดดี้ ครูเกอร์ เจสัน หรือผีหัวเข็มหมุดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบ้านผีสิง เริ่มมีผีฆาตกรใส่หน้ากากถือมีดไล่สับเรา ตรงนี้เองที่บ้านผีสิง กิจกรรมฮาโลวีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสื่อกระแสหลักและส่งอิทธิพลมายังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามในสหรัฐฯ เองก็เกิดปัญหาเช่นมีการฆาตกรรมกันจริงๆ ในบ้านผีสิง ทำให้กิจการถูกตรวจสอบ ทว่าในภาพรวม กิจการบ้านผีสิงในยุคทองมีมูลค่ารวมสูง 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเฉพาะช่วงฮาโลวีนมีมูลค่า 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ย้อนกลับมาบ้านเรา บ้านผีสิงเองดูจะเป็นความหลอกหลอนและกิจกรรมที่ล้อกับกระแสโลก ยุคหนึ่งแทบทุกสวนสนุกขนาดใหญ่ล้วนมีบ้านผีสิงที่มีหน้าตาเป็นปราสาทหรือบ้านวิกตอเรียนให้เข้าไปเล่น หรืออีกด้านเราก็มักมีบ้านผีสิงแบบบ้านๆ มีโชว์ของแปลกตามงานวัด หลายครั้งสัญลักษณ์ของการหลอกหลอนก็สัมพันธ์กับหนังที่กำลังอยู่ในกระแส เรามักจะเจอหน้ากากสกรีม เจอมีด เจอเลื่อยไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบของการหลอกหลอน

ในปัจจุบัน เทรนด์เรื่องผีก็ค่อยๆ เปลี่ยนความนิยมไป หนังเชือดเริ่มลดความนิยมลง พื้นที่เล่นที่มีธีมความหลอนก็ปรับตัว เราจะเริ่มเจอเครื่องเล่นที่มีธีมสำคัญเช่นซอมบี้ วิ่งหนีซอมบี้มากขึ้น หรือพื้นที่ที่เล็กลง กลายเป็นเครื่องเล่นสยองที่อาจจะอินเทอร์แอ็กทีฟมากขึ้นเช่นการเข้าไปเป็นกลุ่มแล้วไปร่วมไขปริศนาเพื่อออกจากห้องปิดตาย

ความสนุกปนความหลอนในช่วงฮาโลวีนจึงมีหลายปัจจัยของสื่อและการกลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรม จากวัฒนธรรมบ้านผีแบบบ้านๆ สู่การกลายเป็นบ้านผีสิงจริงจัง และบ้านผีสิงในเทศกาลฮาโลวีนกลายเป็นส่วนหนึ่งของหนังเช่นหนังเชือด และหนังเชือดที่ฉายวันฮาโลวีนหรือมีฉากฮาโลวีนก็ย้อนกลับไปมีบทบาทในพื้นที่บ้านผีวนเวียนไปมาอย่างไม่รู้จบ

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like