Master of Leather  

เซ่งชง ร้านเครื่องหนัง 127 ปีที่เป็นมาสเตอร์แห่งรองเท้าหนังและเครื่องม้า

Master คือผู้มีความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการสะสมประสบการณ์อันยาวนาน

เซ่งชงที่มีอายุกิจการ 127 ปีจึงนับว่าเป็นมาสเตอร์ทางด้านเครื่องหนังได้

ชื่อร้าน ‘เซ่งชง’ มาจาก เซ่งชง แซ่หลิว ชื่อเดิมของคุณทวด หลวงประดิษฐบาทุกา ผู้มีวิชาการทำรองเท้าหนังและเครื่องหนังติดตัวข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

เขาก่อตั้งกิจการตั้งแต่เมื่อครั้งไทยยังนำเข้าสินค้าหนังจากต่างประเทศก่อนยุคสงครามโลก ในยุคที่เริ่มทำหุ่นรองเท้าด้วยไม้ พื้นรองเท้าจากยางรถยนต์และตัดแพทเทิร์นหนังด้วยมือ  

รองเท้า เข็มขัด กระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ อานม้าและรองเท้าบูตขี่ม้าจากหนังของเซ่งชง

เป็นงานปราณีตด้วยศาสตร์การทำเครื่องหนังที่มีกรรมวิธีการตัดเย็บละเอียดลอออย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่สืบทอดกันมาจากรุ่นคุณทวดปัจจุบันทายาทรุ่นที่ 4 กานต์ – อาจฤทธิ์ ประดิษฐบาทุกา เป็นผู้ที่ยังคงเชื่อมั่นในการใช้หนังแท้และอยากสร้างความเชื่อใจให้ลูกค้าที่เดินเข้ามาเลือกเครื่องหนังในร้านมั่นใจว่าจะได้สินค้ามีคุณภาพในราคาสมเหตุสมผลกลับไป

Leatherman  

กานต์เล่าว่าคุณทวดเปิดกิจการในชื่อร้านเซ่งชง เมื่อปี พ.ศ. 2439 ที่ตึกแถวเล็กๆ ณ แยกสามยอด ถนนเจริญกรุง ก่อนที่ร้านจะย้ายทำเลมาที่ถนนนครสวรรค์ในปัจจุบันโดยยังคงบรรยากาศคลาสสิกของความเป็นร้านเก่าแก่ในย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยสินค้าเครื่องหนังให้เลือกสรร 

เขาเปิดประวัติเครื่องหนังให้คนรุ่นใหม่อย่างเราได้ฟัง “สมัยก่อนเครื่องหนังในไทยเป็นสินค้านำเข้า ตอนแรกคุณทวดเริ่มจากทำรองเท้าอย่างเดียว พอมีคนเอามาลองให้ทำแล้วเริ่มมีลูกค้าชอบในฝีมือเลยขยายเป็นหมวดเครื่องหนังชนิดอื่นด้วย รุ่นผมก็ต้องมาปรับเทคนิคและอุปกรณ์ที่ใช้ให้ผลิตเร็วขึ้น”

เนื่องจากเป็นหนุ่มวิศวะที่ไม่ได้เรียนเรื่องการทำหนังและแฟชั่นมาก่อนเลย เขาจึงอาศัยการเรียนรู้แบบครูพักลักจำด้วยตนเอง

“ตอนเด็กเวลามีคนมาส่งหนังที่บ้าน จะคอยช่วยนับจำนวน ช่วยดูวัสดุหนัง มาเรียนรู้ได้เยอะตอนกลับมาทำกิจการตอนโต ศึกษาเรื่องวัสดุหนังจากทุกทิศทุกทาง เวลาไปซื้อหนัง เราก็ถามคนขายว่าหนังต่างกันยังไง ของคุณดีกว่าที่อื่นยังไง พอเขาบอกความรู้มาแล้วเป็นสิ่งที่หลายคนในวงการพูดตรงกัน เราก็รู้แล้วว่าอันนี้คือข้อดีที่ต้องมีของหนังนะ” 

“กระบวนการทำก็เรียนจากช่างเก่าแก่ เขาก็สอนเรา เราอาจทำไม่สวยเท่าช่างแต่ต้องเข้าใจภาพรวมว่าทำยังไง แต่ละขั้นตอนในการทำมีอุปสรรคหรือปัญหาอะไรบ้าง”  

Guru of Leather

เมื่อถามทายาทรุ่น 4 ว่าสินค้าหนังที่มีคุณภาพดีต้องเป็นแบบไหน กานต์บอกว่า สำหรับเซ่งชงต้องใช้หนังแท้เท่านั้น ไม่ใช้หนังเทียม คุณภาพในการฟอกต้องดี เราจะเน้นว่าต้องใช้แล้วทน” ความแตกต่างคือหนังเกรด A จะไม่มีแผล ไม่มีรอย ส่วนหนังคุณภาพไม่ดีจะมีแผล เอามาแต่งผิวแล้วขายในราคาที่ถูกกว่า

ศาสตร์การดูชนิดของหนังให้เป็นนั้นเป็นวิชาเฉพาะจากการสะสมประสบการณ์ที่กานต์เล่าด้วยความถ่อมตัวว่าแม้ตัวเขาเองเป็นทายาทร้านหนังที่อายุเกินหนึ่งศตวรรษก็ยังต้องเรียนรู้ไม่สิ้นสุด “pain point ของคนใช้หนังคือเขาไปซื้อของจากบางเจ้าแล้วเข้าใจผิดว่าเป็นหนังแท้ แต่ความจริงเป็นหนังเทียม แยกชนิดหนังด้วยตายากมาก ขนาดผมบางทียังไม่กล้าฟันธงเลยว่าใช่หรือไม่ใช่ ต้องดูหลายอย่างประกอบกัน บางเจ้าเอาเศษหนังมาอัดกลายเป็นหนังอัด ดูผิวเผินเหมือนหนังแท้ปกติทั่วไป” 

จากคำบอกเล่าของกานต์ หนังแท้คือหนังที่ผลิตมาจากสัตว์สำหรับเอามาใช้เป็นอาหารอย่างหนังวัว หนังควาย หนังแกะ โดยแต่ละชนิดมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างกันออกไป มักใช้หนังวัวเป็นหลักซึ่งเป็นหนังที่มีเส้นใยที่ละเอียดและมีความทนทาน

หนังแกะใช้สำหรับเป็นซับในเพราะน้ำหนักเบา ข้อเสียคือมีความทนทานน้อยกว่า หนังควายมีคุณสมบัติพิเศษที่ความหนาและราคาถูกกว่าหนังชนิดอื่น เหมาะกับงานที่ต้องใช้หนังที่หนาซึ่งไม่สามารถหาได้จากหนังวัว

ทั้งนี้เซ่งชงจะไม่ใช้หนังที่ได้จากการเลี้ยงเพื่อเอาหนังโดยเฉพาะอย่างหนังจระเข้หรือหนังงู ส่วนหนังเทียมนั้นทำมาจากวัสดุสังเคราะห์อย่างหนัง PVC ที่คุณภาพของเนื้อหนังและอายุการใช้งานแตกต่างจากหนังแท้

กว่าจะแยกหนังแต่ละชนิดออกและเข้าใจเหตุผลที่ต้องเลือกหนังแท้ราคาสูง กานต์ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้อยู่กับหนังที่หน้างานจนมองเห็นคุณค่าของมัน “ตอนมาทำงานใหม่ๆ ผมไม่เข้าใจว่าระหว่างหนังสองชนิดมันต่างกันยังไง ฟีลลิ่งต่างกันยังไง ตอนแรกก็มองว่าทำไมไม่ใช้ตัวที่ถูกกว่าในเมื่อเป็นหนังเหมือนกัน แต่กลายเป็นว่าแต่ก่อนเราคิดแต่เรื่องค่าใช้จ่ายทางธุรกิจจนของที่ทำออกมาไม่สวยเพราะเราไม่เข้าใจเรื่องหนัง”

Legacy of Shoemaking

กานต์บอกว่ารองเท้าเป็นสินค้าเด่นของเซ่งชงและทำยากที่สุดในบรรดางานหนังทั้งหมด รองเท้า 1 คู่มีช่าง 3 ตำแหน่งที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ช่างคนแรกมีหน้าที่ทำหุ่นรองเท้า (shoe last) “สมัยก่อนใช้หุ่นรองเท้าไม้ ยุคนี้เปลี่ยนมาใช้หุ่นจากพลาสติก มันคือการขึ้นแบบรองเท้าที่ช่างต้องคำนวณการตัดหนังเพื่อให้ได้ทรงที่ต้องการ ต้องใช้ทักษะสูง รองเท้าจะใส่สบายหรือไม่ขึ้นอยู่กับหุ่น ตำแหน่งนี้ทำงานแค่ตอนออกแบบครั้งเดียวในตอนแรกแล้วหลังจากนั้นจะมีกี่ร้อยกี่พันคู่ก็ไม่เกี่ยง” 

การออกแบบรองเท้าให้ใส่สบายสำหรับกานต์คือการทำรองเท้าที่คนทั่วไปใส่ได้ “คิดว่ารองเท้าไม่สามารถตอบโจทย์ทุกคนได้ แต่เวลาทำหุ่นเราจะพยายามทำให้ตอบโจทย์เท้าไซส์มาตรฐาน”

ช่างคนที่สองคือช่างเย็บหนังหน้า นำหนังแผ่นใหญ่มาตัดเป็นแผ่นเล็กแล้วเย็บด้วยความละเอียดและใส่ใจ

ช่างคนสุดท้ายเป็นคนดึงรองเท้าหนังออกมาให้เป็นทรงจากหุ่นต้นแบบและติดพื้นรองเท้า ที่ในยุคก่อนทำจากยางรถยนต์เพราะสึกยากก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ยางแผ่นทั่วไป

งานหนังของเซ่งชงเป็นงานแฮนด์เมดที่ใช้มือเย็บผสมเครื่องจักร “สมัยก่อนเราวางแพทเทิร์นเองแล้วตัดด้วยมือแต่มันมีโอกาสที่ขนาดจะออกมาไม่เท่ากัน รุ่นเราเลยใช้เครื่องปั๊มที่เร็วกว่าและทำให้เกิดมาตรฐาน”

ทั้งนี้เพราะเครื่องจักรไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมดเลยต้องใช้มือช่วยลบเหลี่ยมและเก็บขอบให้ปราณีต อุปกรณ์สำคัญของปรมาจารย์ช่างทำหนังมือาชีพคือมีดตัดหนังที่คมกริบ “คนทำหนังต้องลับมีดเก่งและใจเย็น ควรใช้หินลับมีดที่เบอร์ละเอียดพิเศษและต้องรู้องศาว่าควรเอียงมุมไหน” 

กานต์บอกว่า “ช่างทำหนังที่ดีคือช่างที่ถ้าเห็นงานออกมาไม่สวยแล้วเขาจะหงุดหงิด หรือถ้าไปบอกว่าคุณไม่ต้องเน้นรายละเอียดขนาดนี้ก็ได้ แบบนี้ไม่ได้ นี่คืองานของเขา เขามองว่างานฝีมือคือสิ่งที่ต้องทำออกมาให้ดีที่สุด”

หากย้อนไปในยุคก่อน การเป็นช่างประจำที่ร้านเซ่งชงต้องสะสมชั่วโมงบิน เริ่มจากเป็นลูกมือตั้งแต่เด็ก ช่วยลับมีดและหยิบของก่อนถึงจะมีโอกาสได้เรียนวิชาการทำหนัง ทำให้กานต์มองว่าคุณสมบัติที่ดีของช่างที่เก่งคือความใจเย็นซึ่งเป็นนิสัยของช่างเก่าแก่หลายคนตั้งแต่รุ่นคุณปู่แต่เป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่ น้อยคนจะชอบนั่งทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดและจดจ่ออยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน สิ่งนี้เป็นความท้าทายในการเฟ้นหาปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการทำหนังในรุ่นต่อไป

Size & Shape From Past to Present 

รองเท้าหนังของเซ่งชงหลายคู่เป็นทรงคลาสสิก ออกแบบโดยช่างสมัยโบราณ หนึ่งในคู่ที่เก่าแก่ที่สุดตั้งแต่ยุคแรกคือ รองเท้าหนังหัวหนีบสำหรับพระ มีพื้นรองด้วยหนัง 4 ชั้น ตัดเย็บด้วยมือทั้งหมดและตอกพื้นรองเท้าเป็นเลข 5 ตามแบบที่ยึดจากคนสมัยก่อนและยังทำมาจนถึงทุกวันนี้ หนึ่งวันเย็บได้สองคู่เท่านั้นเพราะเป็นงานทำมือล้วน เป็นรุ่นรองเท้าที่พระนิยมซื้อและโรงแรมสั่งออเดอร์ให้พนักงานใส่

สมัยก่อนผู้คนนิยมใส่รองเท้าทรงหัวตัดที่ใหญ่มากหรือแหลมเล็กมากซึ่งกานต์บอกว่ารองเท้าหัวตัดโบราณเป็นแบบที่ยังขายได้อยู่จนถึงทุกวันนี้เพราะมีกลุ่มลูกค้าเก่าแก่ที่เป็นแฟนคลับร้าน

ทั้งนี้เขาทำรองเท้ารุ่นใหม่ที่ปรับทรงหัวรองเท้าให้อยู่ตรงกลางระหว่างหัวแหลมจัดกับหัวตัดเกินไปโดยตัดสินใจทำทรงรองเท้าใหม่จากความต้องการของตลาด “เรื่องแฟชั่นผมแทบไม่ได้เลยแต่ร้านเราไม่ได้แฟชั่นจ๋ามากอยู่แล้ว พอตลาดรองเท้าเริ่มเปลี่ยน เราก็ต้องเปลี่ยนตามตลาด การเปลี่ยนแบบรองเท้าคือการไปเปลี่ยนตัวหุ่น ต้องศึกษาว่าทรงนี้จะขายได้ไหม ถ้ามองว่าขายได้ เราถึงลงทุนทำหุ่นรองเท้าขึ้นมา” 

ด้วยรองเท้าหนังมักมีทรงคลาสสิกอย่างโลฟเฟอร์ คัตชู บูต ทำให้การไม่ได้เป็นสายแฟชั่นจ๋าของกานต์ไม่เป็นปัญหา สิ่งที่เขาพิถีพิถันคือคุณภาพและฟังก์ชันการใช้งาน 

“ถ้าเป็นรองเท้าบูตขี่ม้าต้องสั่งตัดเป็นพิเศษ เพราะลูกค้าแต่ละคนเบอร์รองเท้าเท่ากันแต่ขนาดของน่องอาจไม่เท่ากัน จำเป็นต้องมาวัดและสั่งตัดขนาดให้เข้ากับเท้าของตัวเอง” นอกจากนี้กานต์ยังพบปัญหาจากการขายรองเท้าว่า “คนไทยมักมีเท้าใหญ่และหาขนาดรองเท้าที่พอดีไม่ได้เยอะมาก เราเลยตอบสนองลูกค้าตรงนี้ด้วยการทำไซส์ให้เยอะ เล็กสุดคือ 35 ใหญ่สุดถึง 51 คู่ที่ใหญ่ที่สุดยอมใช้หนังถึง 2 คู่ที่เยอะกว่ารองเท้าไซส์อื่น มาแล้วใส่ได้แน่นอน ถ้าไม่มีไซส์ที่หน้าร้านก็จะไปหามาให้”

ในขณะที่รองเท้าเป็นสินค้าที่ทำยากสุด กานต์บอกว่าเข็มขัดนั้นทำง่ายสุดเพราะแค่ตัดเป็นเส้นตรงและใช้หลักการเดียวกับรองเท้าคือทำตัวเลือกหลายไซส์ให้ได้มากที่สุด “อยากให้ทุกคนที่มาร้านเรามีเข็มขัดที่ใส่ได้ ที่ร้านมีไซส์ตั้งแต่เอว 40 กว่าถึง 50  ไม่ว่าจะยาวแค่ไหนเราก็ตัดให้ได้ ถ้าใหญ่กว่านี้ก็สั่งรอไว้และสามารถตัดให้ได้และเลือกแบบหัวเข็มขัดทองเหลืองได้ 

Pieces of Leather Accessories 

หมวดพิเศษที่ไม่ค่อยพบเห็นตามร้านเครื่องหนังร้านอื่นมากมายนักคือเครื่องม้าที่กานต์บอกว่าทำมานานตั้งแต่รุ่นคุณปู่และมีประเภทสินค้าหลากหลายมากขึ้นในรุ่นของเขาที่คนนิยมขี่ม้าเป็นงานอดิเรกมากกว่าสมัยก่อน

สินค้าหลักที่เซ่งชงผลิตเองคืออานม้าสำหรับการขี่ม้าเล่นที่กานต์บอกว่าแม้จะเป็นสินค้าเฉพาะทางแต่หลักการทำคล้ายกับรองเท้าทั้งกระบวนการและความใส่ใจในขนาด

“ทำโครงขึ้นมาก่อนแล้วดึงทรงออก แต่มีเพิ่มขั้นตอนนิดหน่อยตรงการเย็บเข้า อานม้าต้องคำนึงทั้งขนาดของคนและม้าทั้งสองอย่าง เวลาทำของพวกนี้เรามีความรู้เรื่องการขี่ม้าบางส่วน แต่ความรู้เรื่องการทำสำคัญกว่า อาศัยว่าลูกค้าอยากได้อะไร เขาก็จะบอกเราเองว่าควรปรับตรงไหน ส่วนใหญ่คนเลือกจากขนาด เราก็ต้องมีของหลากหลายให้เขาเลือกได้”

ในยุคแรก เซ่งชงยังทำแส้ม้าหนังด้วยตัวเองโดยข้างในใส่หวายจากร้านนายเหมือน ร้านหวายอายุกว่าร้อยปีในละแวกใกล้เคียงแล้วหุ้มด้วยหนัง

ปัจจุบันอุปกรณ์ขี่ม้าทั้งหมดอยู่บนชั้น 2 ของร้านโดยไอเท็มเกี่ยวกับม้าอื่นๆนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อให้ครบจบในที่เดียวสำหรับผู้ที่กำลังมองหาอุปกรณ์เสริมทั้งบังเหียน เหล็กปาก เกือก กางเกงและหมวกขี่ม้า ชุดฝึกม้าและอีกมากมาย

ในขณะที่หมวดเกี่ยวกับม้าอยู่ในช่วงขาขึ้นแต่กระเป๋าจากหนังแท้เป็นหมวดสินค้าที่กานต์มองว่ากำลังถูกดิสรัปต์และอาจเลิกขายหมวดนี้ไปในอนาคต “ตอนนี้มีวัสดุใหม่เข้ามาเยอะคือหนัง PU ที่มีน้ำหนักเบาและบางกว่า หนังแท้ที่เราใช้ยังไงก็มีน้ำหนักมากกว่า เราจึงไปเน้นทำรองเท้ามากกว่า”

ทั้งนี้เซ่งชงขายทั้งเครื่องหนังที่ผลิตเองและนำเข้าจากต่างประเทศโดยตอนนี้ยังคงมีกระเป๋าหนังที่นำมาขายซึ่งกานต์บอกว่าอยู่ภายใต้การคัดเลือกหนังที่ดีตามมาตรฐานของร้าน  

กานต์เสริมว่าสินค้าอีกอย่างที่อยู่คู่ร้านมาตั้งแต่แรกคือ น้ำยาขัดรองเท้ายี่ห้อ carr & day & martin Est.1765 ที่เป็นแบรนด์รุ่นคุณปู่อายุสองร้อยกว่าปี “น้ำมันชนิดนี้ทำมาจากไขกระดูกวัวที่มีคุณสมบัติพิเศษเป็นน้ำมันที่ดีกว่าน้ำมันอื่นๆ เอามาเช็ดให้หนังทนและเงา”

Lessons Engraved in Leather 

ในฐานะทายาทผู้สืบทอดร้านเครื่องหนัง กานต์มองว่า “เดี๋ยวนี้ know-how ทันกันหมดแล้ว เราไม่กล้าบอกว่าเราดีหรือเก่งกว่าใคร จุดขายของเราคือความเชื่อมั่นที่มีให้ลูกค้า เราคงไม่สามารถบอกได้ว่าสินค้าของเราถูกที่สุด แต่ของเรามีคุณภาพและราคาสมเหตุสมผล” 

”ผมมาดูแลร้านนี้ครั้งแรกอย่างเต็มตัวตอนปีพ.ศ. 2549 สิ่งที่ได้เรียนรู้มีสองเรื่อง
หนึ่งคือสิ่งที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่รุ่นคุณทวด คุณปู่จนถึงรุ่นผมคือเวลาขายของต้องอยู่หน้าร้านเองเพื่อทำความรู้จักกับลูกค้าว่ามีความต้องการอะไร ซื่อสัตย์ในการขายของคุณภาพ

สองคือสิ่งที่เราเรียนรู้ด้วยตัวเอง นั่นคือเทคนิคใหม่หรือการเก็บรายละเอียดที่พอทำจริงแล้วได้เรียนรู้ไปในตัว เช่น เจอหนังจากปากีสถานที่ราคาถูกลงแต่คุณภาพดีกว่าทำให้ลดต้นทุนทางวัสดุได้โดยยังคงคุณภาพระดับเดิม 

รวมถึงการเรียนรู้จากสิ่งที่เคยทำผิดพลาดอย่างการจัดการสต๊อก ตอนแรกเรามีความเชื่อว่าการสต็อกสินค้าไว้มากเป็นสิ่งที่ไม่ดี รู้สึกว่าสต็อกคือต้นทุนและพยายามเก็บของไว้ให้น้อย อยากทำยังไงก็ได้ให้ของออกเร็ว แต่ถึงเวลาขายจริงมันไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าลูกค้าจะซื้อรองเท้าเบอร์นี้มากน้อยแค่ไหน ตอนหลังผมเลยบอกพนักงานที่ร้านว่าสต็อกของไปเถอะ ให้ลูกค้ามาถึงแล้วมีของดีกว่า”

สุดท้ายก่อนจบบทสนทนา กานต์ฝากข้อคิดในการทำธุรกิจที่แม้ครอบครัวจะปูทางไว้ให้ตั้งแต่ร้อยกว่าปีที่แล้วแต่ก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอด

“ทุกวันนี้คู่แข่งเยอะแต่จะไม่มองว่าเราแข่งกับใคร เพราะถ้าไปตั้งว่าอยากชนะคนอื่นมันจะยาก แค่อยากแข่งกับตัวเอง คิดว่าจะทำยังไงให้เราอยู่ในตลาดนี้ได้ ตอนนี้วงการคนทำเครื่องหนังในไทยก็มีกลุ่มคนที่รวมตัวกันด้วยความคิดใหม่ว่าไม่อยากเป็นคู่แข่งกันแต่อยากช่วยกันพัฒนาวงการเครื่องหนัง

สเน่ห์งานหนังคือความมีเอกลักษณ์ที่ตอนนี้ยังไม่มีวัสดุอื่นใช้ทดแทนแล้วเหมือนหนังทั้งหมด แต่ในอนาคตมันไม่แน่ โลกเปลี่ยนเร็ว ต้องเรียนรู้ไว เรียนรู้สิ่งใหม่และพัฒนาตัวเองตลอด”  

Writer

Part-Time Columnist, Full-Time Villager ผู้คราฟต์สตอรี่และสิ่งของ Ig : rata.montre

Photographer

เปงแงว…น้ามม :3

You Might Also Like