3454
February 23, 2023

Vietnam Economy

ทำไม GDP เวียดนามจึงโตกว่าไทยมากกว่าเท่าตัว ตัวเลขนี้กำลังบอกอะไรเราบ้าง

แม้โควิดจะซาลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบจะกลับมาเหมือนก่อนมีโควิดแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทว่าหากมองในแง่ของตัวเลขแล้ว เศรษฐกิจโดยรวมของทั่วโลกก็ยังคงชะงักเมื่อเจอกับภาวะเงินเฟ้อหนักจนทำให้หลายประเทศจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

เศรษฐกิจทั่วโลกที่เติบโตช้าสะท้อนได้จาก GDP ของแต่ละประเทศ อย่างประเทศไทยบ้านเราเองจากเดิมที่คาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 3.0% แต่ผลสุดท้ายก็เติบโตอยู่ที่ 2.6% ส่วนสหรัฐอเมริกาเติบโต 2.1% ขณะที่จีนซึ่งเคยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวกระโดดมาโดยตลอดก็เติบโต 3.0% เท่านั้น

แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอนนัก กลับมีประเทศหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็วจนสามารถสร้าง GDP ได้ถึง 8% เลยทีเดียว ซึ่งนั่นก็คือประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง ‘เวียดนาม’ นั่นเอง

GDP ของเวียดนามที่เติบโต 8% นี้มาจากภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างที่ขยายตัว 7.78% ขณะที่ภาคบริการขยายตัว 9.99% และภาคเกษตรกรรมเติบโต 3.36% ส่วนที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 10.6%

ด้วยการเติบโตระดับนี้ทำให้จากเดิมที่เวียดนามเคยติดอันดับหนึ่งในประเทศที่จนที่สุดในเอเชียในช่วงปี 2553 และมีอัตราคนยากจนสูงมากกว่า 70% แต่ปัจจุบันอัตราคนยากจนก็ลดลงเหลือน้อยกว่า 5% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ GDP ต่อประชากรก็อยู่ที่ 96,870 บาท เพิ่มมากกว่า 400 เท่า ภายในเวลา 40 ปี

ว่าแต่อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามก้าวมาไกลขนาดนี้

ข้อแรก เวียดนามมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการค้าระดับโลก โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเวียดนามมีการลงนามข้อตกลงการค้ากับประเทศต่างๆ ทั้ง FTA, EVFTA หรือ UKVFTA ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อตกลงที่ช่วยส่งเสริมการค้าระหว่างเวียดนามและนานาชาติ พูดง่าย ๆ ว่ารัฐบาลเวียดนามได้สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรแก่นักลงทุนและบริษัททั่วโลก จึงดึงดูดเม็ดเงินเข้ามาลงทุนได้อย่างมหาศาล จนในเดือนธันวาคมปี 2565 เวียดนามมี FDI หรือเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ คิดเป็นมูลค่า 775,000 ล้านบาทแล้ว

นอกจากนี้เวียดนามยังเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์โดยตรง จากการแข่งขันของมหาอำนาจ 2 ประเทศ ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนอีกด้วย

จากความตึงเครียดของ 2 ขั้วอำนาจ พรรคคอมมิวนิสต์จีนเลยเริ่มมีท่าทีที่ไม่ดีต่อบริษัทสัญชาติอื่นๆ มากขึ้น และนโยบายโควิด-19 ของจีน ที่กลายเป็นนโยบายที่เข้มงวด ทำให้ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องหาทางหนีทีไล่ ด้วยการกระจายกำลังการผลิตไปยังที่อื่นๆ เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยในปี 2564 เพียงปีเดียว บริษัทต่างชาติอย่างน้อย 11,000 แห่ง ยกเลิกการจดทะเบียนบริษัทในจีน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ตรงข้ามจากปี 2563 ที่บริษัทต่างชาติมีการจดทะเบียนบริษัทในจีนเพิ่มขึ้นสุทธิ 8,000 แห่ง

ตรงกันข้ามกับเวียดนามที่มีบริษัทขนาดใหญ่ได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น

  • Foxconn ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ ที่ทำสัญญากับบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่ง
  • Apple ประกาศลงทุน 10,000 กว่าล้านบาท ในโรงงานแห่งใหม่ ทางตอนเหนือของเวียดนาม
  • Microsoft ใช้เวียดนามเป็นแหล่งผลิตเครื่องเล่นวิดีโอเกม Xbox บางส่วน
  • ทำให้ปี 2565 FDI ในเวียดนาม เพิ่มขึ้นถึง 13.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี เวียดนามจะไม่มีบริษัทและนานาชาติกล้ามาลงทุนมากเพียงนี้ หากขาดปัจจัยข้อที่สองอย่างการมีแรงงานที่ถูกและมีจำนวนแรงงานที่เพียงพอ

แม้ว่าจีนจะเคยครองอุตสาหกรรมการผลิต แต่ด้วยค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ธุรกิจจำนวนมากต้องย้ายออกเพื่อหาแหล่งที่มีการผลิตต้นทุนต่ำสุด ผลพลอยได้จากครั้งนี้จึงลงมาตกที่เวียดนาม จากการมีค่าแรงงานที่ต่ำ

ในขณะเดียวกันเวียดนามก็ยังมีประชากรที่อายุน้อยค่อนข้างมาก และมีแรงงานที่มีทักษะพอสมควร เพราะประชากรส่วนใหญ่ที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ประมาณ 40% จบจากสาขาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาด

เมื่อมีแรงงานที่มีทักษะมากกว่าประเทศอื่นๆ และมีค่าแรงงานที่ถูกกว่าด้วย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่บริษัทต่างชาติจะให้ความสนใจในประเทศนี้กันมาก

เหตุผลข้อที่สามที่ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามกำลังเติบโต ก็เพราะตอนนี้เวียดนามกำลังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างเต็มกำลัง โดย 6% ของ GDP คือตัวเลขที่เวียดนามใช้จ่ายไปกับโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเงินส่วนนี้ลงไปพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • พัฒนาทางด่วนมากกว่า 9,000 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อศูนย์กลางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่
  • ท่าอากาศยานนานาชาติล็องถั่ญ เพื่อเพิ่มจำนวนในการรองรับการเดินทางระหว่างประเทศ
  • โครงการรถไฟฟ้าใต้ดินระหว่างกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์
  • โรงไฟฟ้าที่ผลิตจากหลากหลายพลังงาน

แม้ว่าจากตัวอย่างจะดูเหมือนเวียดนามลงทุนไปหลายๆ โครงการแล้ว แต่โครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ยังมีช่องว่างสำหรับโอกาสในการเติบโตอยู่พอสมควร

โดยจากข้อมูลของ East Asia Forum บอกว่า “โรงงานหลายแห่งในเวียดนามยังคงพึ่งพาแรงงาน มากกว่าการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยทำงานอย่างเป็นระบบและอัตโนมัติอยู่ ดังนั้นเวียดนามก็ยังคงต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่อไป” เห็นข้อมูลเหล่านี้จะบอกว่าเวียดนามก็เหมือนไทยเมื่อก่อนก็คงได้

แล้วกรณีของเวียดนามกำลังบอกอะไรเราบ้าง?

สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เวียดนามอาจจะยังไม่ใช่ประเทศที่น่ากลัว เพราะแม้แรงงานจะมีต้นทุนที่ถูก แต่ทักษะของแรงงานยังคงมีช่องว่าง ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไป ต่างกับประเทศที่กำลังพัฒนาที่มักใช่ท่าของการเสนอต้นทุนการผลิตที่ถูก เวียดนามจึงถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอยู่ไม่น้อย

เพราะพวกเขาไม่ได้เพียงมีค่าแรงงานที่ถูกอีกต่อไป แต่แรงงานกำลังมีทักษะที่แซงหน้าหลายๆ ประเทศแล้ว รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และกฎเกณฑ์ก็ถูกพัฒนาอยู่เรื่อยมา เพื่อเอื้ออำนวยให้เหมาะกับการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น

และจากเดิมที่เศรษฐกิจเวียดนามตามหลังไทย ไม่แน่ว่าสักวันอาจจะแซงไทยก็ได้ หากรัฐบาลไม่ได้เตรียมมือให้พร้อมยกระดับการแข่งขันในวันข้างหน้า เพราะการจะให้ไทยสู้ด้วยแรงงานต้นทุนถูกเช่นเดิม คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีอีกต่อไป ในเมื่อไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ้างอิง

You Might Also Like