Love From Carpenters
Robert & Howl พ่อของลูกชายผู้เปลี่ยนความชอบเป็นงาน และการคราฟต์งานไม้ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้
วันที่สินค้าและเฟอร์นิเจอร์มีวัสดุทางเลือกมากมาย ไม่เฉพาะเจาะจงแค่งานไม้ ทั้งพลาสติกที่ยืดหยุ่นในการขึ้นรูป ไปจนถึงการใช้เหล็กที่มีความแข็งแรงทนทาน คำถามคือวัสดุธรรมชาติอย่างไม้นั้น ยังคงเจาะกลุ่มตลาดคนรักเฟอร์นิเจอร์ได้อยู่ไหมในสมรภูมิการออกแบบและผลิตในปัจจุบัน
‘ความคราฟต์’ คงเป็นหนึ่งในคำตอบสำคัญที่หลายคนยังเชื่อมั่นในการทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ รวมถึงความรู้สึกในการใช้งาน ซึ่งการจะทำให้เกิดสองสิ่งนี้ได้ งานไม้ชิ้นนั้นจำเป็นต้องมีช่างไม้และนักออกแบบที่ดี มีคุณภาพ สามารถผลิตสินค้าได้ตรงความต้องการของผู้ใช้งาน
โรเบิร์ต–เอกชัย กล่อมเจริญ ผู้ที่มีทักษะด้านการออกแบบโดยตรงจึงตัดสินใจนำความชอบในการทำงานไม้ มาต่อยอดจนกลายเป็น Robert & Howl ธุรกิจรับทำงานไม้ประเภทสั่งทำพิเศษ (custom-made) ผลิตงานตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้า จนกลายเป็นที่นิยมและรู้จักในวงการไม้ว่านี่คืออีกหนึ่งแบรนด์ที่เข้าใจว่าผู้ใช้งานอยากได้เฟอร์นิเจอร์ไม้แบบไหน
อะไรคือเสน่ห์ของงานไม้ จุดเด่นของงานไม้เป็นอย่างไร เอกชัยรอให้คำตอบกับ Capital แล้ว
1
“เฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านการคิด การออกแบบที่ดี มันจะมีฟังก์ชั่นมากกว่าการใช้งาน”
Robert & Howl เริ่มต้นจากความหลงใหลในการทำงานไม้เป็นทุนเดิม ประกอบกับตัวเขาสำเร็จการศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงนำความรู้มาประยุกต์กับความชอบ จนเกิดเป็น Mink’s แบรนด์ขายสินค้าที่ผลิตจากไม้ ซึ่งถือเป็นธุรกิจแรกของเขา
“Mink’s ถือเป็นแบรนด์ขายของประเภท ‘กระจุกกระจิก’ เช่น นาฬิกาข้อมือ เครื่องประดับ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ผมเริ่มทำตั้งแต่เฟซบุ๊กกำลังได้รับความนิยมเลย ก็ตั้งใจมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้าออนไลน์เป็นหลัก
“แต่พอทำมาได้สักระยะ ผมเริ่มอิ่มตัว เพราะพอต้องทำอะไรเดิมๆ ผลิตของซ้ำๆ ไฟในตัวก็เลยมอด รู้สึกไม่มีความท้าทายในการทำงานเท่าไหร่ พักหลังเลยหันมาทำงานอีกแบบ คือรับงานประเภทสั่งทำพิเศษ (custom-made) ผลิตงานตามความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้ามากขึ้น”
จึงเป็นเหตุให้อีกหนึ่งธุรกิจของเอกชัยถือกำเนิดขึ้นมา และธุรกิจเล็กๆ ที่ว่าก็คือสตูดิโอนาม Robert & Howl ที่มาจากชื่อของตัวเขาเองและลูกชายที่เหมือนแรงบันดาลใจในการทำงาน
สินค้าและเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้นั้นพิเศษยังไง
สำหรับเอกชัย เขากล่าวเพียงสั้นๆ ว่ามันเป็นความชอบส่วนตัวที่รู้สึกสบายใจอย่างมาก หากได้ใช้ ได้จับ ได้นั่ง สิ่งต่างๆ ที่ทำมาจากไม้
“ผมเชื่อว่าอย่างน้อยที่สุดแต่ละบ้านน่าจะต้องมีของสักหนึ่งชิ้นที่ทำมาจากไม้ เพราะการที่เราได้อยู่ในบ้านที่เห็นสิ่งของทำมาจากธรรมชาติอย่างไม้มันให้ความรู้สึกอบอุ่น ช่วยให้สบายใจขึ้นได้จริงๆ นะ
“ตัวไม้เองก็มีคาแร็กเตอร์แตกต่างกัน ทำให้ผมรู้สึกสนุกที่ได้เลือกไม้พันธ์ุต่างๆ มาออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้าน”
นอกจากไม้แล้ว รูปแบบการผลิตแบบโฮมเมดก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้งานของ Robert & Howl มีเสน่ห์ เอกชัยเล่าว่าวิธีการทำงานแบบนี้ จะสะท้อนถึงความสามารถของนักออกแบบและช่างไม้ของแต่ละเจ้าว่าทำตามโจทย์ลูกค้าได้หรือไม่ อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้แต่ละแบรนด์ได้โชว์ทักษะอย่างเต็มที่
“ผมยังจำงานไม้ชิ้นแรกของตัวเองได้อยู่เลย คือตอนทำทีสิสช่วงมหาวิทยาลัย ผมลองเอาเฟอร์นิเจอร์ไม้มาผสมกับการพับแบบโอริกามิ (origami) คือทำให้ไม้มันพับได้ หรือตอนที่ผมทำงานไม้สำหรับนำไปประกวด ผมก็ลองทำเก้าอี้รูปหมา แต่ทำให้มันมีขนฟูๆ จนเหมือนหมาจริงๆ ในช่วงจัดแสดง ผมลองวางหวีไว้ข้างๆ เก้าอี้ตัวนี้ เชื่อไหมว่ามีบางคนเดินมาหยิบหวีแปรงไปบนเก้าอี้ด้วย”
“ผมว่าเรื่องนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเลยนะ ว่าเฟอร์นิเจอร์ที่ผ่านการคิด การออกแบบที่ดี มันจะมีฟังก์ชั่นมากกว่าการใช้งาน ที่อาจเป็นความสวยงาม เป็นของตกแต่ง เป็นเครื่องประดับ หรือเป็นอะไรก็ได้ แล้วแต่ความสามารถของนักออกแบบจะพาไปถึง”
2
“แบรนด์อื่นอาจให้ผู้ใหญ่ออกแบบสินค้าสำหรับเด็ก แต่ผมเริ่มจากถามลูกก่อน ว่าเขาอยากได้อะไร”
ในวันนี้ Robert & Howl มีลูกค้าที่แวะเวียนมาให้ออกแบบสินค้ามากมาย ตั้งแต่ชั้นวางของ โต๊ะ เก้าอี้ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับเด็กอย่างเครื่องปีนป่ายหรือกำแพงผาจำลอง
เอกชัยเล่าว่าตัวเขาเองไม่ได้กำหนดทิศทางของ Robert & Howl เพราะส่วนใหญ่งานที่ได้รับจะเป็นการช่วยออกแบบสิ่งต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น เพียงแต่อาจเป็นเพราะการมีลูกชาย เขาจึงมีโอกาสทำเฟอร์นิเจอร์ให้กับเด็ก จนกลายเป็นภาพจำว่านอกจากงานไม้ทั่วไปแล้ว งานไม้สำหรับเด็กถือเป็นสินค้าหลักของแบรนด์
“แบรนด์อื่นๆ อาจให้ผู้ใหญ่ออกแบบสินค้าสำหรับเด็ก แต่ผมเริ่มจากการคุยกับลูกก่อน ว่าเขาอยากได้สินค้าแบบไหน อยากให้เก้าอี้ที่นั่งเป็นแบบใด เลยทำให้สินค้าที่ทำออกมามันตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน
“ยกตัวอย่างเช่น โรงงานส่วนใหญ่มักผลิตเก้าอี้ที่นั่งได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1-5 ขวบ ถามว่านั่งได้ไหม จริงๆ ก็นั่งได้ แต่มันพอดีตัวไหม สบายไหม คำตอบคือไม่ แต่มันอาจเป็นเพราะเรื่องการตลาด เรื่องความคุ้มทุน หรือการผลิตสินค้าให้ใช้ได้นาน เขาเลยต้องออกแบบสินค้าในแนวทางนี้ แต่พอแบรนด์ผมทำงานแฮนด์เมด เราออกแบบได้ละเอียดกว่า”
เอกชัยยังสรุปไว้ว่า มี 2 สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นสำคัญ อันดับแรกคือนักออกแบบต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เราออกแบบใช้งานสำหรับอะไร และใครจะเป็นผู้ใช้ เพื่อที่จะออกแบบให้ตอบความต้องการ
อีกส่วนคือการมีช่างไม้ที่ดี เพื่อให้ผลิตได้ตรงตามที่นักออกแบบวางแผนไว้ได้ ที่สำคัญคือต้องได้งานไม้ที่แข็งแรง มีคุณภาพ ใช้งานแล้วไม่ชำรุด
“แต่โชคดีที่ผมเองเป็นทั้งนักออกแบบและช่างไม้ ก็เลยทำทั้งสองอย่างพร้อมกันได้ ทำให้สินค้าที่ออกมาตรงกับภาพในหัวของตัวเอง”
3
“มันจะไม่สนุกทันที หากลงทุนไปแล้วพบว่าตัวเองไม่ชอบสิ่งนี้จริงๆ”
แม้ Robert & Howl จะเป็นแบรนด์ที่ได้รับความสนใจจากผู้ที่ชื่นชอบเฟอร์นิเจอร์ไม้ แต่เอกชัยเองไม่ได้มองว่าสิ่งนี้คือธุรกิจหลักของชีวิต เป็นเพียงงานอดิเรกหนึ่งที่เขาชื่นชอบและมีโอกาสได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง
“เพราะงานหลักผมคือเลี้ยงลูก”
นอกจากนี้ เอกชัยยังทำเพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานไม้ที่ชื่อ DADDY MAKER ที่เขานำประสบการณ์การลองผิดลองถูกในการทำงานไม้ มาแบ่งปันให้กับคนที่รักงานไม้เช่นกัน รวมถึงแชร์เคล็ดลับและความรู้ในเรื่องการดีไซน์ การออกแบบ เทคนิค กระทั่งการรีวิวเครื่องมือต่างๆ
เอกชัยยังเปิดเวิร์กช็อปให้ความรู้กับคนที่สนใจเกี่ยวกับงานไม้ เพราะอยากให้คนที่สนใจแต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับงานไม้เลยได้มาลองคลุกคลี ได้จับอุปกรณ์ ได้ลองเลื่อย ลองหั่น ได้มีประสบการณ์ในการทำงานไม้สักชิ้นหนึ่งดูบ้าง
“คลาสของผมมันเกิดขึ้นจากลูกค้าที่เคยทำงานด้วยกัน เขาบอกว่าอยากมีโอกาสได้ลองทำงานไม้ดูบ้าง เพราะเวลาเขามาสั่งให้เราทำสินค้า มันก็เป็นงานคราฟต์ที่มาจากเรา แต่ถ้าเขาได้ลงมือทำเอง มันจะเป็นงานคราฟต์ที่เกิดจากมือของเขาจริงๆ”
เอกชัยสอนตั้งแต่การทำความรู้จักอุปกรณ์ต่างๆ ลองตัดไม้ เลื่อยไม้ ด้วยตัวเอง เพราะเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การผลิตงานไม้ด้วยตัวเอง
“มันเหมือนกับการเรียนภาษาไทยเลย คือเราต้องรู้จักพยัญชนะก่อน รู้ว่าอะไรคือ ก ไก่ ข ไข่ แล้วเราถึงจะนำไปรวมกันเป็นคำ เป็นประโยคต่อไปได้”
ปกติแล้ว คนที่เข้ามาเรียนกับ Robert & Howl คือผู้ใหญ่ที่มีความสนใจเรื่องงานไม้ และอยากใช้เวลาว่าง มาลองคลุกคลีกับงานประเภทหนึ่ง ทว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เอกชัยอยากให้มาลองเรียนการทำงานไม้ คือกลุ่มเด็กๆ ที่จะได้เรียนรู้และฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์จากกิจกรรมนี้
“ผมว่าการฝึกแบบนี้มันไม่ใช่แค่การตัดไม้ แต่เป็นการฝึกความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาไปในตัว คือถ้าลองตัดแบบนี้ แล้วประกอบกันไม่ได้ เขาก็จะเรียนรู้จากความผิดพลาด เริ่มรู้จักการแก้ปัญหา เวลาเขาเห็นของหรือของเล่นที่พัง เขาจะได้รู้จักซ่อม รู้วิธีทำให้มันกลับมาใช้งานได้ ไม่ใช่อะไรเสียนิดหน่อยก็ทิ้งแล้วไปซื้อใหม่ ปล่อยให้ของพังๆ แต่ยังสภาพดีนอนกองเป็นขยะเท่าภูเขา
“ในต่างประเทศ หลายโรงเรียนบรรจุการฝึกงานไม้เป็นหลักสูตรเลยนะ ให้เด็กได้ลองทำงานไม้จริงๆ แต่ในประเทศไทยเราไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่นัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ใหญ่มักมองว่าเป็นเรื่องอันตรายถ้าให้เด็กตัวเล็กๆ มาจับอุปกรณ์ไม้ที่มีความเสี่ยง
“แต่เรื่องนี้ ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วถ้าเด็กจะต้องเจ็บตัว มันก็ต้องเจ็บตัวเหมือนเราปล่อยให้เด็กลองวิ่งแล้วหกล้ม มันก็ต้องให้เขาได้เจ็บ ให้เขาได้รู้จักระวัง เพราะถ้าเราไม่ให้เขาวิ่งเลย เขาก็จะไม่เรียนรู้อะไรเลย เขาจะไม่รู้ว่า หกล้มไปแล้วมันจะเจ็บนะ”
ปัจจุบัน Robert & Howl ถือเป็นงานอดิเรกที่ช่วยเติมไฟและทำให้มีความสุขกับการทำงานไม้ได้ อันดับแรกคือโปรเจกต์นี้ช่วยสร้างความท้าทายให้นักออกแบบอย่างเขาได้ฝึกคิด ได้แก้ปัญหา ได้ลองทำอะไรที่นอกกรอบอยู่เรื่อยๆ จนทำให้ผลงานที่ออกมาแต่ละชิ้นแตกต่างกันออกไป
ที่สำคัญคือเขารู้สึกมีความสุขทุกครั้ง เวลาลูกค้าใช้สินค้าจากเขาแล้วพึงพอใจ หรือการได้เห็นเด็กๆ มาเล่น มาจับ เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่เขาออกแบบขึ้นมา เพราะถือเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า งานออกแบบที่ทำงานกับกลุ่มผู้ใช้งานนั้นเป็นยังไง
หากจะให้คำแนะนำกับคนที่อยากนำความชอบมาทำเป็นธุรกิจเช่นเดียวกับเอกชัย เขาแนะนำว่าสิ่งแรกที่คำนึงคือการเริ่มลองทำในขนาดที่เล็กๆ อย่าเพิ่งลงทุนอะไรมากมาย ลองลงไปคลุกคลีอยู่กับสิ่งนั้นสักพัก เพื่อตอบตัวเองให้ได้ว่าชอบสิ่งนี้จริงๆ หรือไม่
“เพราะมันจะไม่สนุกทันที หากคุณลงทุนไปแล้วพบว่าตัวเองไม่ชอบสิ่งนี้จริงๆ”
ที่สำคัญคือต้องมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เพราะการทำธุรกิจสักอย่างต้องรู้ว่า เราทำไปขายใคร เพราะถ้ามีแต่ความชอบ มันก็จะขายไม่ได้ ในเชิงธุรกิจจะไม่โต แล้วจะพานให้ไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ก็เป็นได้
ขอบคุณสถานที่ Siam Woodworker