Gaytrification

อยู่ที่ไหนก็เจริญ เมื่อชุมชน LGBTQ+ เปลี่ยนย่านผุพังเป็นทำเลทอง 

เมื่อเราเริ่มพ้นยุคที่สังคมเหยียดและแบ่งแยกเกย์หรือก็คือกลุ่มเพศหลากหลาย เรามีไพรด์พาเรดและการฉลองเดือนไพรด์รวมถึงความหวังต่อกฎหมายในการสมรสเพื่อรับรองความรักทุกรูปแบบ เราอาจมีคำกล่าวขำๆ ว่า ชุมชนเกย์สัมพันธ์กับความเจริญ ที่ไหนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่นั่นมักจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้า

และในคำกล่าวจากการสังเกตไม่ว่าจะด้วยว่าสังคมนั้นมีความก้าวหน้าจึงยอมรับความหลากหลายทางเพศ หรือคุณสมบัติของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่นำไปสู่การพัฒนาในมิติต่างๆ งานวิจัยเองก็ดูจะให้คำตอบที่สอดคล้องกัน คือในพื้นที่ที่มีครัวเรือนเพศหลากหลายหนาแน่น พื้นที่นั้นมักจะมีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ

อะไรทำให้เป็นเช่นนั้น ก่อนอื่นต้องชวนนึกภาพก่อนว่า ประวัติศาสตร์ที่เรากำลังย้อนไปดูเป็นประวัติศาสตร์ยุคใกล้คือราวทศวรรษ 1970 เป็นช่วงที่การต่อสู้ของกลุ่มเพศหลากหลายเข้มข้น มีการเหยียด กีดกันและทำร้ายร่างกายกันอย่างจริงจังและรุนแรง ทว่าในประวัติศาสตร์ต่อสู้นี้ การก่อตัวขึ้นของย่านที่ใหญ่จนกลายเป็นหมู่บ้านของผู้มีความหลากหลายเพศที่เราอาจจะเรียกลำลองว่า gay village หรือ gayborhood ที่ก่อตัวขึ้นท่ามกลางความเกลียดชังนั้น พื้นที่เมืองที่เหล่าเกย์และเลสเบี้ยนใช้เพื่อหลบความรุนแรงและความเกลียดชังจนเรียกว่าเป็นบ้านและชุมชนของตนนั้น กลับนำไปสู่ด้านกลับและเป็นบทเรียนของการพัฒนาเมืองได้อย่างน่าสนใจ 

ชุมชนเกย์นั้นมักเกิดขึ้นจากการรวมตัวในย่านที่เรียกว่าเป็นย่านเสื่อมโทรม จากข้อจำกัดและการกดเหยียดจากสังคม ย่านเหล่านั้นมักถูกเนรมิตให้กลายเป็นพื้นที่ของชีวิต ของความเป็นชุมชน และเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะและกิจการที่เฉพาะตัวโดยเฉพาะกิจการสร้างสรรค์ ย่านเกย์กลายเป็นตัวแทนของรสนิยมและดึงดูดคนที่มีไลฟ์สไตล์เฉพาะ สุดท้ายจากปัญหาของชุมชนที่สู้กับสายตาของผู้คน ย่านเกย์จึงนำไปสู่ปัญหาใหม่คือชุมชนที่ทำให้ที่ดินแพงเกินไปจนเรียกล้อว่าเป็นภาวะ gaytrification 

จาก Ghetto สู่พื้นที่ปลอดภัย

ปรากฏการณ์ย่านเกย์ที่ขยายตัวกลายเป็นย่านที่ไม่ใช่แค่เป็นพื้นที่กินดื่มแต่กลายเป็นย่านพักอาศัย กลายเป็นชุมชนเฉพาะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างน่าประหลาดใจในช่วงทศวรรษ 1920 คือเกิดย่านเกย์แห่งแรกของโลกขึ้นที่กรุงเบอร์ลินในสมัยที่เยอรมนียังเป็นสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic) และย่านเกย์กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1970 ทั้งในยุโรปและโดยเฉพาะย่านเกย์ในอเมริกา เช่นกรณีความรุนแรงและการที่ผับสโตนวอลในกรีนวิชวิลเลจ (Greenwich Village) กลายเป็นศูนย์กลางชุมชนและการต่อสู้ของเกย์ในระดับโลก ในการก่อตัวขึ้นนี้ ชุมชนเกย์ค่อนข้างมีลักษณะที่คล้ายกันในการก่อรูปร่างขึ้นซึ่งและค่อนข้างเป็นบทเรียนด้านกลับของการพัฒนาและการฟื้นฟูเมือง

ในภาพรวม การก่อตัวขึ้นของย่านเกย์มักเกิดขึ้นจากกิจการโดยเฉพาะผับ บาร์ หรือแหล่งท่องเที่ยวเพื่อชาวเกย์โดยเฉพาะ พื้นที่กินดื่มนั้นแง่หนึ่งเป็นเหมือนที่หลบภัยของชาวเกย์จากสังคมภายนอก เมื่อเกิดกิจการแล้ว ชาวเกย์จึงมีแนวโน้มค่อยๆ ลงหลักปักฐาน จากกิจการหนึ่งสู่กิจการอื่นๆ ขยายไปจนกลายเป็นการลงหลักปักฐาน กลายเป็นชุมชนที่มีความแข็งแรงในท้ายที่สุด

เบอร์ลิน ทศวรรษ 1920

ทีนี้ ในยุคก่อนปี 2000 ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง พื้นที่ที่ชาวเกย์ก่อตัวกันขึ้นมักจะเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมของเมือง ส่วนหนึ่งมาจากราคาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาไม่สูง และพื้นที่อื่นๆ ที่พัฒนาแล้วไม่ต้อนรับชุมชนเกย์ ในเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจเช่นพื้นที่ทั่วไปมีราคาสูงเกินไป เกินวงเงินที่คนเพศหลากหลายจะสามารถกู้เพื่อครอบครองและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ได้ ดังนั้นกลุ่มเกย์ในสมัยนั้นไม่ว่าจะเข้าครอบครองเพื่ออยู่อาศัยหรือเปิดกิจการของตนจึงมักเลือกสินทรัพย์ที่มีราคาถูก อาจจะเป็นอาคารเก่าๆ เสื่อมโทรม และกันงบบางส่วนไว้เพื่อใช้สำหรับปรับปรุง

ความพิเศษของชุมชนเกย์ที่ก่อตัวขึ้นรวมถึงกิจการจึงเป็นเหมือนการปรับสิ่งที่เป็นแง่ลบให้กลายเป็นพื้นที่เพื่อการเติบโต นิยามหนึ่งของชุมชนเกย์ในยุคแรกที่สายตาคนนอกมองเข้ามามีลักษณะเหมือนพื้นที่ที่เรียกว่า ghetto คือเป็นเขตจำกัดเฉพาะที่กลุ่มเกย์รวมตัวและอยู่อาศัย นัยหนึ่งเป็นเหมือนพื้นที่ปิดล้อม เป็นพื้นที่ทิ้งร้างที่ถูกละเลยจากสังคมอื่นๆ ที่ยังมีลักษณะเหยียดเพศอยู่ แต่ทว่าในการก่อตัวขึ้นจากภาวะจำเป็นกลับทำให้พื้นที่เล็กๆ กลายเป็นพื้นที่ชุมชนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย

ในที่สุดด้วยลักษณะเฉพาะของชุมชนเพศหลากหลาย ภาพที่เราอาจจะมองเห็นคือการที่กลุ่มเกย์เข้าซื้อบ้านหรืออาคารโทรมๆ และเปลี่ยนให้กลายเป็นกิจการ บนถนนที่มีนัยของอิสรภาพและเสรีภาพ ย่านเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยรู้สึกปลอดภัย เป็นถนนที่กิจการการค้าเฟื่องฟูขึ้น จากย่านที่ก่อตัวจากความจำเป็นจึงกลายเป็นย่านที่กลายเป็นจุดเด่นใหม่ของเมืองและดึงดูดผู้คนใหม่ๆ เข้ามา

ความก้าวหน้าในไวมาร์ 

ภาพของความเป็นย่านเกย์ที่เจริญรุ่งเรือง มีประวัติศาสตร์ค่อนข้างน่าประหลาดใจคือ ย้อนไปในปี 1920 ที่กรุงเบอร์ลิน สมัยที่เยอรมนีเป็นสาธารณรัฐที่เรียกว่าไวมาร์ ในช่วงปี 1911-1933 คือก่อนที่นาซีจะเรืองอำนาจ สาธารณะไวมาร์นับได้ว่าขับเคลื่อนโดยความคิดที่ค่อนข้างเป็นประชาธิปไตย ในยุคที่การเป็นเกย์ผิดกฎหมายเกือบทั่วโลก รัฐสภาเยอรมันในขณะนั้นเกือบจะผ่านกฎหมายยกเลิกให้การรักเพศเดียวกันถูกกฎหมาย

ในเบอร์ลินเองก็เกิดย่านเกย์ขึ้นเป็นครั้งแรกและกลายเป็นหัวใจของชุมชนเกย์ในระดับโลก ถ้าเราจำได้ ทศวรรษ 1920 เป็นยุคแห่งความหวือหวาเรียกว่า roaring twenties ในกระแสเสรีนิยมนำไปสู่การปลดแอกผู้หญิงโดยเฉพาะในเรื่องเพศ ผู้คนมีอิสระในเนื้อตัว เกิดการเที่ยวยามค่ำคืน และแน่นอน ในยุคนี้สิทธิของคนรักเพศเดียวกันเริ่มชัดเจนขึ้น ที่สาธารณะไวมาร์ดูจะก้าวหน้ากว่าเพื่อน ที่มั่นสำคัญในยุคนั้นคือย่านเชินแบร์ค (Schöneberg) ย่านเกย์แห่งแรก คำว่าย่านเกย์นี้คือการที่ย่านย่านหนึ่งมีการรวมตัวและใช้ชีวิตในฐานะเกย์อย่างเปิดเผย 

นึกภาพบรรยากาศของยุค 1920 วัฒนธรรมเกย์ ผับบาร์เฉพาะ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสันและแสงวิบวับ ในย่านเชินแบร์คเองก็มีจุดเริ่มต้นคล้ายกันคือเริ่มที่บาร์และโรงแสดงคาบาเรต์เช่นบาร์ชื่อ Eldorado ไปจนถึงบาร์ของเลสเบี้ยนที่ในที่สุดกลายเป็นพื้นที่ที่เหล่าหญิงสาวหัวก้าวหน้าและคนดังเข้ามากินดื่มและใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยแสงระยับของกากเพชร ในยุคนั้นการแสดงเช่นแดร็กโชว์รวมถึงดารานับเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้คนยอมรับกระทั่งยกย่องในฐานะดาว

ย่านเชินแบร์คเฟื่องฟูขนาดไหน ในใจกลางของย่านมีจัตุรัสเรียกว่า Nollendorfplatz ในปี 1922 ที่จัตุรัสแห่งนี้มีการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิของชาวเกย์ขึ้นโดยนับว่าเป็นการเดินขบวนครั้งแรกของโลก ในทศวรรษ 1920 นับแค่ถนนบริเวณสถานี Nollendorfstrasse มีตัวเลขว่าในช่วงนั้นแค่ถนนสายบริเวณสถานีมีกิจการและที่พักอาศัยของชาวเกย์กว่า 40 กิจการ ย่านเชินแบร์คมีทั้งโรงละคร มีร้านรวง และมีกระทั่งสื่อสิ่งพิมพ์ของตัวเอง ในยุคนั้นย่านเชินแบร์คถือว่าหวือหวามาก ไม่ใช่แค่เกย์ แต่ตัวตนและชีวิตของเลสเบี้ยนเองก็ค่อนข้างเปิดเผย มีที่ท่องเที่ยว นิตยสาร บางคลับเช่น Nationalhof เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมจากการประชุม การบรรยายของ ‘Bund für Menschenrechte’ (Association for Human Rights) ไปจนถึงจัดลานเต้นรำของสุภาพสตรีเท่านั้น

จุดเรืองรองของความหลากหลายทางเพศในเยอรมนีก้าวไปในหลายระดับ จนถึงการเตรียมแก้ไขกฎหมายในรัฐสภาคือการแก้ Paragraph 175 ไม่ให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรมอีกต่อไปในปี 1929 แน่นอนว่าฝั่งขวาจัดชาตินิยมโดยการผงาดขึ้นของนาซีในปีเดียวกันนั้นก็มีผลมาจากความเคลื่อนไหวนี้ เมื่อนาซีเรืองอำนาจ การรักเพศเดียวกันจึงกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ถูกกวาดต้อนเข้าค่ายกักกันพร้อมกับชาวยิว ยุครุ่งเรืองของทศวรรษ 1920 จึงจบลงก่อนจะฟื้นฟูขึ้นใหม่ในทศวรรษ 1960

The Pink Economy และ Gaytification

หลังจากจักรวรรดินาซีทำให้ดินแดนเกย์ในเบอร์ลินล่มสลายไปหลายทศวรรษ การก่อตัวขึ้นและการต่อสู้ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศค่อนข้างเฟื่องฟูและเป็นที่จับตาในสหรัฐฯ เราอาจนึกภาพที่มั่นสำคัญคือบาร์สโตนวอล พื้นที่ความรุนแรงที่กลายเป็นหมุดหมายการต่อสู้ในปลายทศวรรษ 1960 ตัวบาร์แห่งนี้ทำให้ย่านกรีนวิชวิลเลจกลายเป็นชุมชนเกย์ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือราคาอสังหาฯ ในกรีนวิชพุ่งสูงขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 ทำให้ชาวเกย์บางส่วนต้องย้ายออกและย้ายไปในย่านเชลซี (Chelsea) ผลคือภายหลังราคาอสังหาฯ ในเชลซีก็แพงขึ้นจนเกือบจะเท่าที่กรีนวิช

ในมุมของการพัฒนา มีสื่อนิยามกระบวนการพัฒนาที่เกิดขึ้นในฐานะมุมที่กลับด้านและเรียกว่าเป็นระบบเศรษฐกิจสีชมพู (The Pink Economy) ในบทสัมภาษณ์บริษัทด้านตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Inc.) ย้อนกลับไปชี้ให้เห็นว่าการก่อตัวของย่านเกย์ในทศวรรษ 1920-1930 เป็นมุมกลับที่นักผังเมืองได้เรียนรู้ คือแต่เดิมจะเชื่อว่าการพัฒนาหรือการฟื้นฟูย่านเกิดจากการสร้างที่อยู่อาศัยที่คนจ่ายได้ (affordable housing) และรอให้คนมาอยู่โดยคาดว่าจะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวอื่นๆ แต่เศรษฐกิจสีชมพูทำให้เห็นว่ากิจการเฉพาะเช่นร้านหนังสือ บาร์ และกิจการบันเทิงที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเป็นสิ่งที่เกิดก่อน หลังจากนั้นการลงหลักปักฐานจึงตามมา กลายเป็นชุมชนในเวลาต่อมา

ความน่าสนใจของภาพความเคลื่อนไหวและการก่อตัวขึ้นของชุมชนเกย์ใหม่ในอเมริกาช่วงหลังทศวรรษ 1960-1970 บริบทในช่วงนั้นทั้งกรณีที่สโตนวอล การก่อตัวขึ้นของชุมชนและการต่อสู้เรียกร้องที่กระจายตัวขึ้นทั่วอเมริกา ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 คือก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ปี 2000 ชุมชนเกย์ยังถูกเหยียดอยู่แต่ก็ปรากฏตัวต่อสาธารณะชัดขึ้น บางส่วนสัมพันธ์กับการเปิดตัวของชาวเกย์และเข้าไปมีบทบาทในวงการนายหน้าและอสังหาฯ 

กรีนวิชวิลเลจ เมืองนิวยอร์กซิตี้, 2016

ในช่วงนั้น gentrification เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นดาบสองคม คือการที่เกย์ทั้งชายและหญิงไปตั้งถิ่นฐานจนสุดท้ายราคาอสังหาฯ แพงและต้องย้ายออก การพัฒนาเมืองจนเกิดการขับไล่ผู้มีรายได้น้อยออกไปเกิดขึ้นทั้งในบอสตัน ชาวเกย์ต้องย้ายออกไปที่เขตเซาท์เอนด์ (South End) เลสเบี้ยนย้ายไปที่จาไมก้าเพลน (Jamaica Plain) ชิคาโกเองย้ายไปที่แอนเดอร์สันวิลล์ (Andersonville) บางส่วนเช่นกลุ่มเกย์ที่มีรายได้น้อยก็ย้ายไปตั้งชุมชนในพื้นที่ห่างไกล ไปใกล้ชิดธรรมชาติ ตัวเลขรายงานในทศวรรษส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกันคือพื้นที่ที่มีครัวเรือนของครอบครัวหลากหลายมักมีราคาที่อยู่อาศัยที่พุ่งสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เช่นรายงานในปี 2019 ระบุว่าพื้นที่เช่น North Banker’s Hill ของซานดิเอโกที่มีครัวเรือนของครอบครัวเพศเดียวกันหนาแน่นที่สุดมีราคาบ้านที่สูงกว่าราคาเฉลี่ยถึง 25% หรือย่านกรีนวิชอันเป็นที่ตั้งของสโตนวอลก็ขึ้นแท่นย่านที่แพงที่สุดอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ

ประเด็นเรื่องการขับไล่ผู้คนและปัญหามูลค่าที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นก็เลยกลายเป็นอีกปัญหาใหม่ภายในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการที่เราพูดถึงกลุ่มเกย์ในฐานะกลุ่มคนที่กระตุ้นการพัฒนาเมือง คือเราเองก็ต้องระวังเพราะเรากำลังให้ภาพและให้ค่าเกย์บางกลุ่ม คือกลุ่มคนผิวขาวที่ได้รับการศึกษาดี มีรสนิยม และเป็นกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ ในภาพรวมของผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงมีปัญหาความไม่เท่าเทียมของรายได้ ความยากจน และการเข้าไม่ถึงโอกาสอยู่

ดังนั้นถ้าเรามองย้อนไป ในพื้นที่ชุมชนเกย์แต่แรกนั้นนับเป็นเหมือนการก่อตัวขึ้นของพื้นที่ปลอดภัย ในพื้นที่ชุมชนมักมีความเป็นชุมชนสูง ผู้คนเกื้อกูลและยืนหยัดเพื่อกันและกัน ต่อสู้กับการกดเหยียดกระทั่งความรุนแรงที่เป็นรูปธรรมจากภายนอก เป็นพื้นที่อิสระที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ถึงจุดหนึ่งย่านเกย์กลายเป็นปลายทางของการท่องเที่ยว เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยแสงสีและกลุ่มคนที่มีรายได้สูงซึ่งก็จะกลายเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่เมืองในเวลาต่อมา

เชินแบร์ค เมืองเบอร์ลิน, 2022

ทั้งนี้ตัวปรากฏการณ์ย่านเกย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง สัมพันธ์กับบริบททางสังคมคือความเปิดกว้าง การก่อตัวขึ้นเกิดจากการไม่ยอมรับแล้วจึงค่อยๆ ก่อให้เกิดการพัฒนา ในบางประเทศเช่นสวีเดนที่ออกกฎหมายรับรองเพศเดียวกันตั้งแต่ปี 1944 พื้นที่รวมตัวและอยู่อาศัยเฉพาะจึงไม่มีความจำเป็น ย่านเกย์ก็เลยไม่ปรากฏเป็นพื้นที่เฉพาะที่สวีเดน ลักษณะดังกล่าวก็อาจจะทำให้เห็นการคลี่คลายของย่านเกย์ในฐานะพื้นที่เฉพาะและบทบาทการพัฒนาเมืองและเขตเศรษฐกิจที่น่าสนใจที่มีแนวโน้มคลี่คลายลงในยุคปัจจุบัน คือเราไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกอีกต่อไป ไม่ว่าคนเพศไหนก็สามารถใช้สาธารณูปโภคร่วมกันได้

ทว่า สุดท้าย แม้ว่าสังคมอาจจะก้าวไปสู่การยอมรับ แต่ทว่าปัญหาการกีดกันและอคติทางเพศ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิและสาธารณูปโภคต่างๆ ก็อาจจะเป็นพื้นที่ที่ต้องการความสนใจและการก้าวไปข้างหน้าต่อไป เรายังคงพูดถึงเรื่องกฎหมายการสมรสและมุมมองต่อครอบครัวหลากหลาย ประเด็นเรื่องสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่อาจจำเป็นเช่นการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เรื่องเล็กๆ เช่นห้องน้ำที่แบ่งแยกเพศ ไปจนถึงประเด็นเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวที่แตกต่างหลากหลาย พื้นที่เมืองที่ทุกความรักสบายใจที่จะแสดงตัว ที่ทุกคนเดินจูงมือกันได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย

อ้างอิง

Writer

ชื่อว่านครับ ทำงานรับจ้างทั่วไปด้านงานเขียน ส่วนใหญ่เขียนเรื่องการเขียน การอ่าน และวัฒนธรรม เชื่อว่าพื้นที่นามธรรมเป็นสินทรัพย์ที่จะพาเราเติบโตอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

Illustrator

กราฟฟิกที่พยายาม ประคองสติ เพื่อค้นหาสไตล์

You Might Also Like