หนังฮาม่า 

ศิลปะและธุรกิจใน Long Live Love! ในมุมมองของ มุก ปิยะกานต์ และกิมมิกโปรโมตโดย ระเบิด ธนสรณ์

มุก–ปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ เรียกเสียงฮาจากเราตั้งแต่เริ่มการสัมภาษณ์ ด้วยการบอกว่า Long Live Love! หนังเรื่องแรกในชีวิตของเธอได้แรงบันดาลใจมาจากคุณรุจน์-ป้ารุจน์-ยามรุจน์ ใน เนื้อคู่อยากรู้ว่าใคร ซิตคอมที่เคยสร้างชื่อให้เธอเมื่อหลายปีก่อน

เปรียบเทียบง่ายๆ ตัวละครของ ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ คือป้ารุจ V.2 แต่รอบนี้ไม่ได้เวียร์ดและฮาเท่า อันที่จริงซันนี่ในเรื่องนี้เป็นสามีของ ชมพู่–อารยา เอ ฮาร์เก็ต ที่แต่งงานกันมานานจนความสัมพันธ์ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น แต่บังเอิญมีเหตุให้ตัวละครของซันนี่ความจำเสื่อมเสียก่อน ระหว่างนั้นเขาก็ไปเจอรูปถ่ายวิเศษใบหนึ่งที่มอบพลังพิเศษให้เขา นั่นคือการถ่ายรูปแล้วย้อนกลับไปอยู่ในอดีตได้อีกครั้ง

“เราเป็นคนชอบทำงานท้าทาย” ผู้กำกับสาวเอ่ยปาก แน่นอนว่าพล็อตระเบิดเปิดเปิงที่มัดรวมทั้งหนังดราม่า คอเมดี้ แฟนตาซีเข้าด้วยกันนี้ก็เป็นหนึ่งในความท้าทายเช่นกัน แต่นั่นไม่ใช่ความท้าทายเดียวที่เธอประสบพบเจอจากการทำหนังเรื่องนี้

ความท้าทายอื่นๆ ก็เช่นว่า การคิดบทหนังให้ดีทั้งด้านศิลปะและซัพพอร์ตธุรกิจ หรือการชวน ระเบิด–ธนสรณ์ เจนการกิจ ครีเอทีฟโฆษณาผู้เคยได้รางวัล Grand Prix จากเมืองคานส์ มาช่วยทำโปรโมตหนังเรื่องนี้ ในยุคที่คนดูเดินเข้าโรงหนังน้อยลงทุกที

ก่อน Long Live Love! จะเข้าฉายในไม่กี่วัน เราชวนปิยะกานต์กับธนสรณ์มานั่งคุยเรื่องความโหดหินของหนังเรื่องแรก แนวคิดธุรกิจที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง และการโปรโมตหนังที่คิดกันสนุกไม่แพ้เนื้อเรื่อง

อะไรดึงดูดให้คุณเข้าสู่วงการหนังและวงการโฆษณา

ปิยะกานต์ : ภาพยนตร์​เป็นความชอบตั้งแต่เด็ก ผู้กำกับเป็นอาชีพเดียวในชีวิตเลยมั้งที่เราอยากเป็น ราว ป.4-5 เราฟังเพลงแล้ววาดรูปตามท่อนเพลง ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่ามันคือสตอรีบอร์ดแต่เรารู้ว่าฟังเพลงนี้แล้วอยากเห็นภาพนี้ หลังจากนั้นเราจึงสนใจการเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นเด็กไทยทั่วไปที่เรียนศิลป์-ภาษา เอนทรานซ์เข้านิเทศฯ จบมาก็เป็นผู้กำกับ

สำหรับคุณ เสน่ห์ของการเป็นผู้กำกับอยู่ตรงไหน

ปิยะกานต์ : เราสนใจมนุษย์ สนใจการรู้จักมนุษย์ไปเรื่อยๆ เสน่ห์ของอาชีพผู้กำกับคือการทำจิตวิทยากับคน สมมติเรามีภาพในหัวหรือเรื่องที่อยากเล่าให้เป็นหนัง เราสนใจการดีลกับคนอื่นเพื่อให้ได้สิ่งที่อยู่ในหัว เราจะทำยังไงให้ทีมอินกับสิ่งที่เราอยากเล่า หรือแม้กระทั่งการทำโฆษณาซึ่งเรามีเรื่องที่จะไปคุยกับลูกค้าหรือเอเจนซี เราชอบมากเลยนะถ้าไปเจอคนจากหลายแผนกมาคอมเมนต์งานของเรา พอทำไปสักพักมันจะสะสมและยิ่งสนุกเพราะการทำงานทำให้เราได้อ่านคน สุดท้ายประสบการณ์เหล่านี้จะเป็นเหมือนสิ่งที่เราเอามาใช้ในขั้นตอนการคิดเรื่องต่ออีกที

ธนสรณ์ : ส่วนเรา ตอนเด็กๆ เราไม่รู้หรอกว่ามีอาชีพอะไรบ้าง แต่เราเลือกเอนทรานซ์เพราะไปดูหนังเรื่องหนึ่งที่ทำให้อยากเป็นผู้กำกับ เพราะคงสนุกดีถ้าเราได้เล่าเรื่อง จนพอเรียนมาเรื่อยๆ เราเลยรู้จักคำว่า ‘นักเล่าเรื่อง’ เป็นกลุ่มคนที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องซึ่งไม่จำเป็นต้องเล่าผ่านหนังก็ได้ งานโฆษณาเป็นหนึ่งในนั้น 

สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะเหมือนมุกคือเราสนใจคน ทุกครั้งที่เรารับบรีฟโฆษณามันทำให้เรารู้จักคนเยอะ ยิ่งทำให้เราได้เจอความหลากหลาย สนุกกับการได้เห็นความสนใจของคนหลายกลุ่ม

เวลาพูดคำว่าผู้กำกับ หลายคนนึกภาพของคนที่อยู่หลังกล้อง คอยกำกับทิศทางทั้งหมดของหนัง แล้วจริงๆ สิ่งสำคัญที่ผู้กำกับคนหนึ่งต้องคิดคือเรื่องอะไร

ปิยะกานต์ : นอกจากการใช้จิตวิทยาในการดีลกับคน เราคิดว่าความซื่อสัตย์ต่อภาพในหัวตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ บางคนมองภาพผู้กำกับว่าต้องโหด ต้องเห็นแก่ตัว แต่จริงๆ เราคิดว่ามันคือการซื่อสัตย์ต่อทั้งรสนิยม ความคิด ทัศนคติ และวัตถุประสงค์ การไม่หวั่นไหวต่อสิ่งเร้าต่างๆ เป็นคุณสมบัติที่เราคิดว่าผู้กำกับควรมี  

คุณเป็นผู้กำกับที่สนใจในแง่มุมธุรกิจของหนังไหม

ปิยะกานต์ : ให้ความสำคัญมาก เพราะฉันคือประธานบริษัท (หัวเราะ)  จริงๆ เราสนใจเพราะถ้าไดเรกเตอร์สามารถ calculate shot (คิดวางแผนช็อตที่จะถ่าย) ออกมาเพื่อให้ได้ production value (มูลค่าทางการผลิต) มากที่สุดภายใต้การทำงานที่เหมาะสม มันเป็นความเก่งชนิดหนึ่ง หมายความว่าเขาผ่านการทำการบ้านหรือคิดมาแล้วเพื่อให้โปรดักชั่นเกิดคุณค่าที่สุด เราจะชอบมากกับการที่เรารู้ว่าเรามีบัดเจ็ตเท่านี้ เราต้องการเล่าเรื่องนี้ เขียนบทมาดีมากแต่มันต้องถ่าย 50 ช็อต แล้วเราจะถ่ายยังไงให้มันมี production value มากที่สุด

คุณบาลานซ์ศิลปะกับธุรกิจยังไง

ปิยะกานต์ : ระหว่างขึ้นโปรเจกต์ เรารู้อยู่แล้วว่าสิ่งที่เราต้องเจอในวงการภาพยนตร์คืออะไร ไม่เหมือนโฆษณาแน่ๆ ด้วยเม็ดเงินที่ต่างกันมากทำให้คุณภาพของการทำงานมันแตกต่าง เราเคยได้ฟังจากรุ่นพี่และเพื่อนๆ ที่เคยผ่านมาเขาบอกว่าการทำหนังโหดมาก เราจึงพยายามทำการบ้าน คิดว่าเราจะเมเนจสิ่งนี้ยังไง

พอมาทำปุ๊บ เราคิดมาตั้งแต่ตอนเขียนบทเลยเรื่องสปอนเซอร์หรือพาร์ตเนอร์ชิปที่อาจเป็นโปรดักต์บางอย่าง ซึ่งต้องมีเพื่อพยุงตัวโปรเจกต์ มันอาจจะแตกต่างจากที่อื่นที่เขียนบทเสร็จแล้วค่อยเอาไปคุยกับลูกค้า แต่เราเดินไปคุยกับ Good Things (เอเจนซี) ตั้งแต่ตอนเขียนบทเลยว่า โปรดักต์ที่จะอยู่ในหนังของเราจะมีประมาณนี้ Good Things ลองไปดูว่าอะไรที่มาอยู่ในหนังได้ พอลูกค้าเริ่มสนใจเราก็มาตกลงกันว่าเราพึงพอใจกับสินค้าที่จะมาอยู่ในหนังกี่ตัว เพื่อบาลานซ์ให้มันยังไม่มากเกินไป

คำว่ามากเกินไปของคุณคือแค่ไหน

ปิยะกานต์ : บางทีโปรดักต์ตัวเดียวมันก็ too much ได้นะ ถ้ามันมาแบบไม่สมเหตุ ตอนเราทำซิตคอมเราก็เคยมีโปรดักต์ไทอินเข้ามา เพราะเราว่าโปรดักต์ทุกอย่างมันก็อยู่ในร่างกายเราได้ นาฬิกา แก้วน้ำ แต่เราจะทำยังไงให้มันสมูทและเบลนด์กับเนื้อหาและชีวิตประจำวันของตัวละครได้

ในยุคนี้ ความยากและโอกาสของคนในวงการภาพยนตร์ไทยมีมากน้อยแค่ไหน

ปิยะกานต์: เรามองว่าโอกาสมีมากขึ้นนะ แต่ความยากคือทุกวันนี้โลกเชื่อมโยงกันหมดแล้ว การเสพภาพยนตร์ของทั้งโลกมันเริ่มเป็นมาตรฐานเดียวกัน แต่สิ่งที่เรากำลังเผชิญคืองบประมาณ ความไม่เท่ากันของโปรดักชั่นที่เราจะไปสู้กับประเทศอื่น เรารู้สึกว่ามันควรจะมีสิ่งที่สนับสนุนมากกว่านี้เพื่อช่วยซัพพอร์ตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย จริงๆ หลายคนก็เคยพูดไว้แล้ว พอเราเข้ามาทำเองก็รู้ว่า เฮ่ย มันสู้ด้วยตัวเองลำบาก ยากมากจริงๆ 

อีกอย่างคือการมีคำว่า ‘ไม่ดูหนังไทย’ นี่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าใจเหมือนกัน แต่เราก็เข้าใจคนที่เขาพูดนะ เพราะอย่างที่เราบอกว่าโลกเชื่อมกันไปหมดแล้ว คนดูเขาก็มีมาตรฐานมากขึ้น เขาได้ดูอะไรดีๆ ในสตรีมมิง มันก็ช่วยไม่ได้ถ้าเราไม่ได้ทำสิ่งที่ดึงดูดเขามากพอ เขาก็ skip มัน หน้าที่ของเราคือเราจะทำยังไงให้หนังไทยมันกลับขึ้นมาได้ ซึ่งเราว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาแรกๆ คือการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ นี่ล่ะค่ะ

ก่อนหน้านี้คุณเคยทำซิตคอมมาก่อน การทำหนังเรื่องแรกต้องปรับตัวไหม

ปิยะกานต์: เราปรับมาตลอด 4-5 ปีก่อนจะเริ่มโปรเจกต์นี้ หลังจากจบเนื้อคู่ฯ แล้วเราเลยกระโดดเข้าในวงการโฆษณาเพราะอยากฝึกตัวเองในด้านโปรดักชั่น จึงพยายามทำงานที่ทำให้เรามีประสบการณ์ในการออกกองที่ tough (โหด) 

ถ้าสังเกต งานโฆษณาของเรามันจะมีโปรดักชั่นที่หวือหวาพอสมควร เราเลือกทำสตอรีบอร์ดหรือเรื่องราวที่โหดร้ายกับตัวเอง ซึ่งนั่นเป็นโจทย์อย่างหนึ่งในชีวิตเหมือนกัน เราอยากทำงานที่ชาเลนจ์ตัวเองเพื่อให้เราแข็งแกร่งพอ ก่อนที่เราจะโดดเข้าไปทำหนัง

ในแง่การสร้าง หนังกับซิตคอมมีความยาก-ง่ายต่างกันยังไง

ปิยะกานต์ : ซิตคอมจะถ่ายในสตูดิโอ ที่เซตอัพแค่ที่เดียว เรื่องราวก็ดำเนินในนั้น แต่พอเป็นหนังปุ๊บ ยิ่งเป็น Long Live Love! ที่มีทั้งแฟนตาซี ดราม่า เราต้องทำการบ้านหลายอย่าง 

โดยเฉพาะพาร์ตดราม่า เพราะก่อนหน้านี้เรามีประสบการณ์การทำคอเมดี้มาพอสมควร แต่วันนี้เราโตขึ้นและเรามีเรื่องที่เราอยากพูด เลยรู้สึกว่าดราม่าเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจ แต่พอเรามีประสบการณ์การทำคอเมดี้มาพอสมควรแต่ไม่เคยทำดราม่าเลย เราจึงต้องวางเทคนิคเยอะมากๆ เพื่อที่จะได้ภาพในหัวของเราออกมา 

อย่างบทหนังเอง วันที่เราส่งให้ชมกับพี่ซันนี่ เราก็มีการสลับตำแหน่งของซีนในหนังและขีดดำตอนจบของเรื่องไว้ เพราะเรารู้สึกว่าเราอยากได้วิธีการแสดงอะไรบางอย่างที่แสดงความสับสนของตัวละคร ถ้าเขาไม่รู้ตอนจบ เขาจะมีเรื่องให้ต้องสับสน และเราคิดว่าความรักมันเป็นแบบนั้น

ย้อนกลับไป จุดเริ่มต้นที่อยากให้เล่าเรื่อง Long Live Love! คือตอนไหน

ปิยะกานต์ : เราชอบคาแร็กเตอร์คุณรุจน์-ป้ารุจน์ในเนื้อคู่ฯ มาก เลยสนใจเรื่องการ double character และรู้สึกว่าถ้าเรามีตัวละครหลักที่มี 2 คาแร็กเตอร์แต่เป็นคนเดียวกันมันจะเกิดอะไรขึ้น

หลังจากนั้นเราก็ต่อยอดไปว่าถ้าวันหนึ่งคนคนหนึ่งที่มีตัวตนกลับไม่มีตัวตน เขาจะกลับไปเจอเหตุการณ์ในอดีต เขาจะตัดสินใจแบบเดิมไหม หรือเขาจะรู้สึกกับสิ่งนั้นยังไง เลยนึกถึงรูปถ่าย ซึ่งรูปถ่ายนี่ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากวันหนึ่งที่เราได้ย้อนกลับไปดูรูปถ่ายตอนช่วงมหา’ลัย เห็นตัวเองยิ้มแล้วสงสัยว่า เฮ่ย กูเคยยิ้มแบบนี้ด้วยเหรอ เรารู้สึกว่าเราไม่สามารถมีรอยยิ้มแบบนั้นได้อีกแล้ว เพราะเราผ่านชีวิตและประสบการณ์มาระยะหนึ่งแล้ว

นั่นคือที่มาของความแฟนตาซี กลายเป็นสตอรีของ Long Live Love! ที่ว่าด้วยผู้ชายคนหนึ่งที่ความจำเสื่อม แล้วต้องกลับเข้าไปในเหตุการณ์ในอดีตผ่านการถ่ายรูป 

หนังเรื่องนี้ตั้งใจบอกเล่าหรือสื่อสารประเด็นอะไรกับคนดู

ปิยะกานต์ : หนังว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์แหละ อาจดูเหมือนเป็นหนังของคู่รักคู่หนึ่ง แต่จริงๆ มันเป็นหนัง coming-of-age ของความรัก เราเชื่อว่าหนังเรื่องนี้จะรีเลตกับคนทุกวัย ไม่ว่าเด็กหรือคนที่เพิ่งมีปั๊ปปี้เลิฟ ถ้าวันหนึ่งเราอยากรักใครสักคนไปนานๆ เราจะต้องเดินทางไปสู่สิ่งที่อยู่ในหนัง เราเชื่อว่าทุกคนต้องมีโมเมนต์ใดโมเมนต์หนึ่งหรือรูปถ่ายสักใบที่มีเหตุการณ์คล้ายๆ ในหนัง ถ้าคุณอยากรักกันยาวๆ เรารู้สึกว่ายังไงก็ต้องผ่านโมเมนต์แบบนี้

คำตอบของคำถามว่าถ้าจะรักใครสักคนแบบยาวๆ จะต้องผ่านอะไรบ้าง ทุกคนก็อาจจะมีแตกต่างกัน ที่พิเศษคือในภาพยนตร์เรื่องนี้ คุณจะได้เลือกคำตอบนั้นด้วย เพราะเราทำเวอร์ชั่นพิเศษที่มันจะมีแค่ในโรงภาพยนตร์เท่านั้น ในสตรีมมิงจะไม่ใช่เวอร์ชั่นนี้แล้ว 

ชื่อเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังเป็นที่พูดถึง ทำไมถึงตั้งชื่อว่า Long Live Love!

ปิยะกานต์ : Long Live Love! เล่าเรื่องการเดินทางของความรักผ่านการถ่ายรูปหลายๆ รูป และเราอยากได้คำหรือชื่ออะไรบางอย่างที่มัน sarcastic (ย้อนแย้ง) เพราะเรื่องเกี่ยวกับคู่แรกที่กระท่อนกระแท่นมาก จะแยกกันแล้ว แต่ Long Live Love! มันให้ความรู้สึกเหมือนกับความรักที่ยืนยาว พอชื่อนี้มาอยู่กับพล็อตนี้แล้วมันขี้เล่นดี

ในมุมของการคัดเลือกนักแสดง ทำไมนักแสดงหลักต้องเป็นชมพู่ ซันนี่ เบ็คกี้ 

ปิยะกานต์ : ซันนี่เป็นเพื่อนเรา เป็นความไว้ใจ เป็นคนที่ซิงก์ ส่วนชมไม่เคยทำงานด้วยกัน เป็นโจทย์ที่ชาเลนจ์มากเพราะเราอยากทำให้เขาเยิน (หัวเราะ) ด้วยตัวชมที่เป็นเหมือนโรลโมเดลของผู้หญิงที่ดูสมบูรณ์แบบ มีครอบครัว มีลูกน่ารัก พอมาอยู่ในหนังของเรา เราเลยอยากให้เขาเป็นอินสไปเรชั่นบางอย่าง อยากสื่อสารในแง่ที่ว่าเมื่อผู้หญิงคนหนึ่งมีความรัก ความรักอาจจะพาเขาไปที่ไหนก็ไม่รู้ได้เหมือนกัน

ส่วนเบ็คกี้เซอร์ไพรส์เรามาก แทบจะเรียกว่าเบ็คลูกเทพ (หัวเราะ) ตอนเราหาเราหาอยู่นานมากเพราะชมกับซันเขามีความเป็นสตาร์มาก แล้วบทนะโมของเบ็คมันต้องหาคนที่เท่าเทียม ต้องสู้ได้ ไม่ใช่มาเพื่อเป็นซัพพอร์ต พอมาเจอเบ็คเราเห็นแววตาความรั้นอะไรบางอย่าง เขารู้สึกเลยว่าเขาคือลูกพี่ซัน

ในกระบวนการทั้งหมดที่ทำมา สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือเรื่องอะไร

ปิยะกานต์ : กังวลเรื่อง genre ที่มีหลายๆ หมวดในเรื่องเดียวกัน เรารู้สึกว่าทุกวันนี้ genre มันเป็นเรื่องเอาต์แล้ว เพราะชีวิตมนุษย์เราเกิดมายังได้เจออะไรมากมาย ทำไมมันจะมีหนังที่มี genre ที่มีแฟนตาซี ดราม่า และคอเมดี้อยู่ด้วยกันไม่ได้  

ในขณะเดียวกัน พอเราเลือกมาทางนี้ เราต้องทำให้มันกลมกล่อมให้ได้ ดีกรีของพาร์ ตดราม่า คอเมดี้ เราพยายามทำให้มันเป็นก้อนให้ได้ นี่คือสิ่งที่ยากเพราะมันเป็นดีเทลที่กว่าจะรู้ว่ามันไม่ใช่ บางทีมันออกมาเป็นภาพใหญ่แล้ว มันก็ผ่านการทำการบ้านมาพอสมควร แม้กระทั่งตอนที่ทำตัดต่อมันก็ยังต้องทำสิ่งนี้ให้ลงตัวให้ได้

เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้คุณธนสรณ์มาช่วยดูแลในพาร์ตการโปรโมต ที่มาที่ไปของการจับมือกันเป็นยังไง

ธนสรณ์ : มุกกับเราเป็นเพื่อนกันมาก่อน แล้วประมาณ 1 ปีที่แล้ว มีวันหนึ่งอยู่ดีๆ มุกก็ทักมาบอกว่ามุกจะทำหนัง อยากชวนมาทำโปรโมต ตอนนั้นเลยนัดกินข้าวกันแล้วมุกก็เล่าพล็อตให้ฟัง ให้บทมา ผมก็เอาบทไปอ่านที่งานคานส์เลยนะ พออ่านบทแล้วรู้สึกว่ามันมีเศษเสี้ยวของเราอยู่ในนั้นมากเลย

ไม่ได้บอกว่ามุกเขียนบทมาจากเรานะ แต่เรารู้สึกกับหนังเรื่องนี้เยอะมาก สิ่งที่ทำให้สนใจมีหลายเรื่องมาก อย่างที่มุกบอกไปว่า เรากลับไปดูรูปสมัยก่อนแล้วเรายิ้มแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว อันนี้ทัชเราและคิดว่าน่าจะคงทัชอีกหลายคน เพราะหลายครั้งในการเติบโต เรารู้สึกว่าเรายังเป็นตัวเรานะ แต่เป็นตัวเราอีกคนหนึ่ง และเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ 

คุณทำอะไรบ้างในพาร์ตการโปรโมต

ธนสรณ์ : ถ้าพูดแบบผิวๆ คือการโปรโมต แต่จริงๆ แล้วหน้าที่ของเราคือการถ่ายทอด ไม่ใช่แค่หนัง แต่เป็นหนังของมุกด้วย มุกบอกว่าหนังเรื่องนี้เป็น coming-of-age ของคนมีความรัก แต่เราเองรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้เป็น coming-of-age ของตัวมุกเองด้วย ในขณะเดียวกัน ในแง่การโปรโมตมันก็มีทุกอย่างที่เป็นมุกที่ผ่านอะไรมาหลายอย่างมาก ทั้งสี ภาษาที่ใช้ หรือตัวหนังเอง 

ถ้าเทียบตัวมุกเป็นแบรนด์ เรารู้สึกว่า Long Live Love! คือโปรดักต์หนึ่งที่จะเล่าการเปลี่ยนแปลงของมุก จริงๆ ถ้าดูหนังแล้วเทียบกับงานเก่าๆ ที่ผ่านมาของเขา จะเห็นว่าเขาเล่าสิ่งที่เป็นตัวเองและเติบโตขึ้นมา

จากวัตถุดิบที่มีอยู่ ทั้งบท ตัวหนัง และความสัมพันธ์ของพวกคุณทั้งสอง คุณตีความสิ่งเหล่านี้ออกมาในการโปรโมตยังไง

ธนสรณ์ : เราเคยทำโปรโมตให้หนังต่างประเทศและหนังของไทยมาบ้าง พอมาทำเรื่องนี้กับมุก ด้วยความเป็นเพื่อนกัน มันทำให้เรากับผู้กำกับได้คุยกันเยอะขึ้น วิธีการโปรโมตคือการทำให้ความเป็นหนังของมุกออกมาให้เยอะที่สุด

สิ่งหนึ่งที่มุกพูดบ่อยๆ คือมุกไม่เชื่อในเรื่อง genre มันมีความฮาบวกดราม่า สุดท้ายจึงกลายเป็นคำที่เราใช้นิยามหนังว่าเป็นหนัง ‘ฮาม่า’ กับอีกจุดหนึ่งที่เราคิดว่าน่าสนใจมากๆ คือ ความรักที่อยู่กันมานาน เวลาเรามองความรัก เราจะเห็นว่าความรักไม่มีแค่รสชาติเดียว และมันก็ไม่ใช่รสเดิมเวลาอยู่ไปนานๆ ด้วย 

ปิยะกานต์ : นั่นคือที่มาของ ‘ลูกอมรสความรัก’ ที่เรากับโอเล่ทำขึ้นมาแจกคนดูที่โรงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นลูกอมแบบแรนด้อมที่คนกินไม่รู้หรอกว่าเราจะเจอรสชาติไหน และหากอมไปเรื่อยๆ มันอาจจะไม่ใช่รสเดิมก็ได้ 

ธนสรณ์ : ในดีเทลของหนังเรื่องนี้มีสิ่งที่สนุกเยอะมาก ซึ่งเราเริ่มทำกันตั้งแต่ตอนบวงสรวงเลย เพราะภาพที่เราส่งไปให้สื่อ เราก็ทำภาพที่มีซันนี่อยู่ 2 คน มีอะไรอย่างนี้อยู่

สำหรับคุณ การโปรโมตหนังยุคนี้ยากยังไง

ธนสรณ์ : โคตรยากเลยครับ (ตอบเร็ว) มันยากตรงที่ว่า ถ้าเรามองเป็นหนังเข้าโรง การโปรโมตมันคือการเชิญคนเข้าโรง

สิ่งที่ดีสิ่งหนึ่งของการโปรโมตหนังเรื่องนี้ คือเราสามารถคุยกับมุกได้ทุกเรื่อง และมุกก็เปิดรับหลายอย่าง หนังเรื่องนี้จึงจะเป็นหนังที่มีเวอร์ชั่นพิเศษที่จะมีเฉพาะในโรง ซึ่งฟีลลิ่งของการเข้าไปดูในโรง สิ่งที่หนังจะให้คนดูคือประสบการณ์อะไรบางอย่าง ถ้าคุณเข้าไปดูในโรงคุณจะได้อะไรที่ไม่เหมือนดูที่อื่น เราว่าแง่งามของการเข้าไปในโรงคือสิ่งนี้ เราจึงพยายามทำให้การเข้าไปดูในโรงมันพิเศษ

ปิยะกานต์ : พอหนังมี genre เป็นฮาม่า เราก็มีการดีไซน์ประสบการณ์ที่ชวนคนดูมาร่วมมือกัน คือการแบ่งให้คนดูฝั่งชอบฮานั่งฝั่งหนึ่ง ฝั่งชอบดราม่านั่งอีกฝั่ง ฝั่งหนึ่งหัวเราะไป อีกฝั่งอยากร้องไห้เท่าไหร่ก็ร้อง จะได้ไม่รบกวนกัน (หัวเราะ) อยากให้คนดูมีประสบการณ์สนุกๆ ในโรงหนัง

ประสบการณ์แบบไหนที่คนดูจะคาดหวังได้จากการดู Long Live Love!

ธนสรณ์ : คนที่ไปดู Long Live Love! แล้วออกมาจากโรง ถ้าไม่ได้อะไรติดกลับไป เราว่าเขาน่าจะได้แก้ปัญหาอะไรบางอย่างในใจตัวเอง ถ้าไม่ได้ตั้งคำถามกับหนังพวกเขาก็จะได้คำตอบจากหนัง และพวกเขาจะได้เอนจอยกับคำถามและคำตอบนั้น

ปิยะกานต์ : หนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นความเทาของความรัก การกระทำหลายๆ อย่างของตัวละครจะทำให้คนรู้สึกตั้งคำถามและได้คำตอบ ที่สำคัญคือจะมีความเข้าใจ เพราะเราเชื่อว่าทุกคนน่าจะเคยมีประสบการณ์คล้ายๆ ตัวละครคนละนิดคนละหน่อยจากเรื่องนี้

สิ่งสำคัญที่คุณทั้งสองคนได้เรียนรู้จากการทำหนังเรื่องนี้คืออะไร

ปิยะกานต์ : เราเป็นคนชอบทำงานยาก หมายถึงว่าเราจะท้าทายตัวเอง ซึ่งบางงานก็ผ่านไปได้ดี บางงานก็ผ่านไปได้ไม่ดี แต่เราเรียนรู้ว่ามันจะผ่านไปได้เสมอ พอเสร็จแล้วมันจะทำให้เราโตขึ้นได้จริง และเราได้ก้าวข้ามความท้าทายนี้มาแล้ว เราว่านี่เป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็น motivation ของการทำงานศิลปะและครีเอทีฟนะ

ธนสรณ์ : หนังเรื่องนี้เป็นงานโปรโมตงานแรกที่เราได้ทำงานกับผู้กำกับ ซึ่งนอกจากโปรโมตหนัง เราอยากถ่ายทอดตัวเขาออกมาด้วย ระหว่างมีชาเลนจ์หลายอย่างที่เราว่าสนุก แต่จริงๆ สิ่งที่ให้บทเรียนเราเยอะเลยคือเนื้อหนังของมุก สิ่งหนึ่งที่สำคัญเลยคือการบอกว่าเราไม่ใช่เราคนเดิมเสมอไป

งานนี้ทำให้เราได้เติบโตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ในมุมคนดู เราเชื่อว่าตอนเขาเดินออกมาจากโรง เขาจะไม่ใช่เขาคนเดิม

Writer

นักอยากเขียนผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

เปรี้ยว ซ่า น่าลัก

You Might Also Like