พลังเคลื่อนเต่า
คุยกับผู้บริหาร ‘เต่าบิน’ ตู้อัตโนมัติที่ชงเครื่องดื่มได้กว่า 170 เมนู จนเป็นตู้ที่หลายคนหลงรัก
‘เต่าบิน’ คือธุรกิจตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติชื่อดัง หรือถ้าจะเรียกว่าเต่าบินเป็นคาเฟ่ขนาด 1×1 ตารางเมตร ก็ไม่เกินความจริงเลย เพราะอัดแน่นไปด้วยกว่า 170 เมนู มีตั้งแต่ น้ำมะนาวโซดา ชา กาแฟ โปรตีนเชค และสารพัดเมนูร้อนเย็นปั่น
ลักษณะของเต่าบินที่พบเห็นทั่วไป ไม่ใช่ตู้เหล็กสีขาวหน้าตาเป็นมิตร แต่เป็นหาง
เพราะไปที่ไหนเราก็จะเห็นหางแถวต่อคิวตู้เต่าบินก่อนจะเห็นว่าตู้จริงๆ อยู่ตรงไหน
ความสำเร็จของเต่าบินไม่ได้เกิดขึ้นเพียงช่วงข้ามคืน แต่มาจากการคิดนอกกรอบ ผสมกับความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของคนมากมายที่อยู่เบื้องหลังตู้เต่าบินนี้
สิ่งที่น่าสนใจคือ เต่าบินไม่ได้บอกว่าตัวเองกำลังทำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แต่กำลังทำธุรกิจเทคโนโลยี ซึ่งเมื่อรู้ว่าตู้เต่าบินนี้พัฒนาเทคโนโลยีด้วยคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็อดภูมิใจไปด้วยไม่ได้ และหลายคนก็อาจจะรู้ว่า เต่าบินนั้นมีบริษัทแม่เดียวกับ ‘บุญเติม’ ตู้เติมเงินออนไลน์อัตโนมัติ ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ล้ำสมัย และสิ่งประดิษฐ์
ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มีกิจการที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตามกลไกตลาด เต่าบินก็เช่นกัน
ในช่วงที่สถานการณ์โควิดระบาด ร้านกาแฟปิดตัวชั่วคราว คนทำงานจากบ้านเป็นหลัก การเกิดขึ้นของตู้กดน้ำอัตโนมัติคงจะเป็นไปได้ยาก แต่เต่าบินทำได้ เพราะไม่ว่าจะเมนูไหน น้ำจากเครื่องเต่าบินนั้นอร่อยจนคนต้องเคาะตู้ชื่นชมบาริสต้าด้านใน
ทำไมบริษัทเทคโนโลยีถึงทำเครื่องดื่มออกมาอร่อยขนาดนี้ได้
Capital ไม่เก็บความสงสัยนี้ไว้กับตัว เรานัดหมาย คุณวทันยา อมตานนท์ ผู้บริหารและเจ้าของแบรนด์เต่าบิน หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 2 ของฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น พูดคุยถึงแนวคิดเบื้องหลังเต่าบินทั้งหมด
หลังเรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากต่างประเทศ วทันยาเริ่มต้นทำงานเป็น UX Designer ที่บริษัท Microsoft ทำหน้าที่ออกแบบซอฟต์แวร์ให้วิศวกรและเหล่า Data scientist ใช้ ก่อนจะย้ายไปทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพ ออกแบบซอฟต์แวร์ให้นักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีใช้ในขั้นตอนตรวจสอบบริษัท ก่อนกลับมาเป็น Business Development Executive และ Chief Product Officer ที่บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ดูแลโปรเจกต์เต่าบินตั้งแต่เริ่มต้น
แม้ว่าวันนี้เต่าบินจะกำลังไปได้สวย และเตรียมบินขึ้นสูงไปเปิดตู้ที่ต่างประเทศ วทันยามีหลักการบริหารเต่าบินและการเตรียมรับกับความเสี่ยงในธุรกิจยังไง
เชิญเลือกเมนูที่ชอบบนหน้าจอ ปรับระดับความหวาน แล้วตามไปฟังแนวคิดเบื้องหลังการทำธุรกิจเต่าบิน ระหว่างรอรับเครื่องดื่มที่พร้อมเสิร์ฟได้เลย (ถ้าดื่มแล้วอร่อย จะเคาะตู้ให้กำลังใจบาริสต้าด้านในไปด้วยก็ได้ แต่กรุณาเคาะตู้เบาๆ)
อะไรคือที่มาของตู้เต่าบิน
เต่าบินเกิดจากการทดลองตลาดมาระยะหนึ่งจนแน่ใจ เราเริ่มจากการเป็นตู้ขายน้ำกระป๋องที่รับของมาขาย เมื่อหักลบกับต้นทุนและค่าแรงแล้วไม่คุ้มกัน และถ้าต้องลุกขึ้นมาผลิตน้ำกระป๋องเอง กว่าจะไปถึงจุดที่ธุรกิจประสบความสำเร็จ เราจะต้องมีตู้ขายน้ำกี่ตู้กันถึงจะคุ้มกับต้นทุนพัฒนาและผลิตน้ำสักกระป๋องหนึ่ง ก็เลยลองนำเข้าเครื่องทำกาแฟอัตโนมัติจากต่างประเทศเข้ามาทดลองขายดู ซึ่งทั้งที่มีเมนูไม่เยอะก็ยังพอขายได้ กำไรดีกว่า และเหนื่อยน้อยกว่า เมื่อเห็นว่าธุรกิจพอจะเป็นไปได้ บริษัทก็ตัดสินใจลงทุน R&D กับโปรเจกต์เต่าบินจริงจัง โดยเรากลับมาทำเต่าบินช่วงที่บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด เริ่มทำตู้น้ำกระป๋องได้ประมาณ 4 ปี
จากบริษัทที่ผลิตและให้บริการตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ การตัดสินใจกระโดดลงมาทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม ถือเป็นการข้ามสายธุรกิจไหม
ก่อนที่จะเริ่มพัฒนาเต่าบิน เดิมเราผลิตตู้จำหน่ายสินค้าแบบเกลียวหมุน (Spiral Vending Machine) อยู่แล้ว เป็นสายเครื่องอัตโนมัติเหมือนกันเพียงแต่ไม่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรง การตัดสินใจทำเต่าบินไม่เชิงเป็นการต่อยอด ตอนแรกคิดว่าจะรื้อและพัฒนาระบบเครื่องที่มี แต่ทำจนไม่เหมือนเครื่องแรก เราและทีมวิศวกรก็คิดว่าถ้างั้นเราทำเครื่องของเราขึ้นมาเองดีกว่า
อะไรคือที่มาของการเป็นตู้ทำน้ำอัตโนมัติที่มีเครื่องดื่มกว่าร้อยเมนูที่ทำและพร้อมเสิร์ฟในเวลาจำกัดแถมยังอร่อยจนคนติดใจ
แนวคิดนี้ค่อยๆ มาเพื่อตอบโจทย์การทำตู้ ซึ่งโจทย์แรกสุดคือเราจะทำยังไงให้เครื่องชงด้านในไม่เสียบ่อยๆ ซึ่งสาเหตุของเรื่องนี้คือ mixing bowl เพราะเครื่องชงกาแฟทั่วๆ ไปมักจะใช้ผง 3 in 1 เวลาชงผงจะถูกจ่ายลงถ้วยรองใต้ช่องจ่ายผงชนิดต่างๆ ก่อนที่เครื่องจะปล่อยน้ำร้อนมาทำละลาย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไอความร้อนในเครื่องทำให้ผงในกระบวยจ่ายผงแข็งตัว จนกระบวยนั้นตัน ยิ่งอากาศบ้านเราร้อนชื้นยิ่งไปกันใหญ่ วิธีแก้ก็คือ เปลี่ยนจากชงใน mixing bowl เป็นตั้งระบบให้เครื่องใส่ผงลงแก้วแล้วชงในแก้วได้เลย
เมื่อแก้ที่ปัญหาการชงได้ โจทย์ต่อมาคือการสร้างเมนูใหม่ๆ เมื่อเครื่องไม่จำเป็นต้องใช้ผงชงสำเร็จรูป 3 in 1 แล้วเพราะการเปลี่ยนวิธีมาชงเครื่องดื่มที่แก้วนั้น แก้วจะเคลื่อนที่เข้าหาส่วนผสมที่ใช้ พร้อมวัดตวงและน้ำหนักชัดเจนจากเครื่องชั่งที่ฐานแก้ว ทำให้ทุกอย่างเป็นมาตรฐาน
ตอนที่เริ่มทำเต่าบิน คุณเห็นโอกาสอะไรในตลาดเครื่องดื่มซึ่งเป็นตลาดที่มีคู่แข่งสูงมาก
นอกจากความรู้เรื่องตู้อัตโนมัติ เรามีหลายๆ อย่างที่ได้เปรียบคนอื่น เรื่องแรกคือสถานที่ เพราะถ้าต้องลงทุนทำคาเฟ่ขึ้นมาสักแห่ง คุณก็จะต้องผูกติดอยู่กับที่นั่น แต่ตู้เต่าบินจะย้ายไปตรงไหนก็ได้ เรื่องที่สองคือคน มีทั้งเรื่องเทรนนิ่ง เรื่องความไม่ตรงเวลา และเรื่องฝีมือ ตู้เต่าบินตัดความเสี่ยงเรื่องคนออกไป เพราะถ้าต้องฝึกบาริสต้าให้ทำเครื่องดื่มกว่าร้อยเมนูได้นั้นต้องใช้เวลาฝึกฝนนานแค่ไหน ขณะที่เครื่องจักรบันทึกสูตรของทุกเมนูในระบบ แทนที่จะขายแค่ 20 เมนู เราก็ขาย 170 เมนู ไม่ว่าคุณจะชอบเครื่องดื่มแบบไหน เต่าบินก็มี
การเปลี่ยนจากบริษัทเทคโนโลยี มาเป็นผู้ให้บริการเครื่องดื่มผ่านตู้อัตโนมัติ เรียกร้องให้คุณและองค์กรต้องเปลี่ยนแปลงอะไรแค่ไหน
เมื่อก่อนไม่เคยต้องจับต้องอะไรที่เป็นของสดหรือของที่เสียได้ง่ายเลย ก่อนหน้านี้ลูกค้าของทั้งฟอร์ท เวนดิ้ง และฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จะเป็นรูปแบบองค์กรหรือบริษัทขนาดใหญ่ เช่น งานระบบที่ทำกับภาครัฐ เช่น มิเตอร์ไฟฟ้า ไฟจราจร ความจริงฟอร์ทฯ อยู่รอบตัวคนไทยมากกว่าที่คิด เรามั่นใจเลยว่าทุกวันนี้ อย่างน้อยต้องเคยใช้อะไรสักอย่างของฟอร์ทฯ เพียงแค่คนไม่รู้ บริการจากเราที่พอจะเข้าใกล้ผู้บริโภคมากที่สุดคือตู้บุญเติม ซึ่งซื้อ-ขายเติมเงินกันบนคลาวด์ ไม่ได้มีสินค้าที่จับต้องได้จริงๆ
เต่าบินจึงเป็นสิ่งใหม่ในบริษัท ความรู้ใหม่ตอนที่ทำเต่าบินคือการเทรนทีมงานว่าความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจในสิ่งที่เราเป็น และเราจำเป็นต้องแคร์ลูกค้า สนใจว่าสินค้าจะหน้าตาเป็นแบบไหน รสชาติโอเคไหม ภาพลักษณ์ของตู้เป็นยังไง UX/UI โอเคไหม มันรายละเอียดเยอะแยะมากมายหลายจุดที่เราต้องมานั่งดูให้ละเอียด
คนทั่วไปรู้ว่าเต่าบินพัฒนาธุรกิจจาก pain point ของคน เช่น ความต้องการคาเฟ่ 24 ชั่วโมง แถมยังต้องอร่อย มีคุณภาพดี อะไรคือสิ่งที่ทำให้ผู้เล่นคนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมขยับตัวได้ช้ากว่าเต่าบินแม้ว่าเขาอาจจะคิดได้เหมือนกัน
ความจริงแล้วเรื่องเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังตู้นี้มันไม่ได้ง่ายนะ เราใช้เวลา 2-3 ปีในการคิดค้นและลองผิดลองถูกกว่าจะสำเร็จอย่างวันนี้ เป็นข้อจำกัดที่จะช่วยต่อเวลาการเข้ามาของคู่แข่งได้อีกสักระยะหนึ่งแน่ๆ
เรื่องต่อมา เรามักจะพบว่า มีภาพจำอย่างหนึ่งของเครื่องดื่มจากตู้อัตโนมัติ ซึ่งคนคิดว่าจะต้องเป็นของที่ราคาถูกเสมอไป ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปในแนวทางนั้น เราโชคดีที่มีโอกาสทดลองก่อน ได้ลองขายทั้งในบริษัทและบริษัทใกล้ๆ เก็บข้อมูลตลาดว่าอันไหนขายได้บ้าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว มีแค่ครั้งแรกเท่านั้นแหละที่ลูกค้าจะลังเลว่าจะจ่าย 55 บาทกับกาแฟแก้วหนึ่งดีไหม หลังจากนั้นตราบใดที่เราให้ความคุ้มค่ากับลูกค้า เขาจะกลับมา สำคัญคือต้องอย่าลืมว่าเราไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อตั้งใจจะเอาแต่กำไรนะ
อะไรคือแผนการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากคู่แข่งในอนาคต
อันดับแรก อะไรที่สำคัญที่สุดเราก็จดสิทธิบัตรไว้ ซึ่งก็คงต้องว่ากันด้วยเรื่องกฎหมาย จากนั้นพยายามสร้างแบรนด์ สร้างความมั่นใจให้ลูกค้ารับรู้ว่าอร่อยนะไม่ว่าจะเป็นเมนูอะไรก็มั่นใจได้
ในเรื่องการขาย ทราบมาว่าเต่าบินทำธุรกิจด้วยระบบตัวแทน การจะเป็นตัวแทนของเต่าบินได้ต้องมีคุณสมบัติอะไร
แม้เราจะเรียกว่าระบบตัวแทน แต่ความจริงแล้วคล้ายๆ แฟรนไชส์ แต่เป็นแฟรนไชส์ที่ไม่ขายขาด และรับแค่เจ้าใหญ่ เพราะว่าเราไม่ได้ต้องการคนที่เอาตู้ไปตั้งหน้าบ้านหรือข้างบ้านเพียงเพราะอยากทำเป็นอาชีพเสริม เรามองหาคนที่ชื่นชอบ เชื่อมั่นในตู้เต่าบิน และคนที่ตั้งใจจะทำสิ่งนี้เป็นอาชีพหลักจริงๆ เราอยากได้คนที่จะมาควบคุมคุณภาพสินค้าให้เราได้ โดยตัวแทนแต่ละคนสามารถดูแลตู้เต่าบินอย่างน้อย 50 ตู้ ถึงจะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ คือเราไม่ได้ขายตู้ แต่เราแบ่งกำไร แม้ตัวแทนจะไม่ได้ลงทุนซื้อตู้จริง เขาก็ต้องลงทุนค่ารถ ซื้อวัตถุดิบ รวมถึงมีเงื่อนไขอื่นๆ วิธีการนี้ทำให้เราควบคุมคุณภาพตู้ได้ง่ายกว่าเพราะไม่ต้องเสียเวลาไปสอดส่องดูแลตู้รายย่อยซึ่งมีจำนวนเยอะ
คุณสมบัติหลักของคนที่มาเป็นตัวแทนคือ มีความรู้เรื่องเทคนิค มีทีมช่างของตัวเองที่จะซ่อมบำรุงตู้เต่าบินได้โดยไม่ต้องรอคนจากทางเรา นอกจากนี้อาจจะมีทีมขายของตัวเองด้วย โดยสรุปเราต้องการความรู้และความเชี่ยวชาญในพื้นที่ตรงนั้นจากเขา เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงใช้ระบบตัวแทน
ทุกวันนี้ยังมีเรื่องยากๆ ที่เต่าบินต้องเจอและยังไม่ยอมแพ้กับมันบ้างหรือเปล่า
เรื่องแรกคือเรื่องวัตถุดิบ ยิ่งขายก็ยิ่งต้องระวัง เพราะสุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับธรรมชาติเนอะ ว่าปีนี้จะได้กาแฟขนาดไหน เรื่องต่อมาคือสถานที่ติดตั้งที่ตั้งใจอยากให้มีประมาณ 20,000 ตู้ทั่วประเทศ หรืออย่างน้อยก็ขอให้มีตู้เต่าบินอยู่ในตึกทุกตึกของกรุงเทพฯ
ในอนาคตเต่าบินจะมีโรงคั่วกาแฟของตัวเองหรือเปล่า
เรื่องโรงคั่วยังไม่แน่ค่ะ แต่เรามีการสนับสนุนโรงคั่วรายเล็กๆ ด้วย อาจจะผลิตแก้วของตัวเอง แต่เราคงไม่ทำทุกอย่างเอง เพราะเราไม่ต้องการแบกรับความเสี่ยงไว้ทั้งหมด อันไหนใช้ outsource ได้ ใช้รายย่อยได้ เราก็พยายามจะทำ เพราะว่าเราไม่ต้องรวยคนเดียวก็ได้
อะไรคือสิ่งที่คุณปล่อยวางและยอมรับให้เกิดได้และไม่ได้
ยอมให้เกิดได้บ้างบางทีคือเรื่องที่ตู้เสีย แต่เรื่องที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้เลยคือเรื่องความอร่อย ถ้ามีฟีดแบ็กว่าไม่อร่อยต้องเรียกประชุมทีมแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเรื่องสุดวิสัยจริงๆ เช่น ตู้นี้หัวชงตั้งไม่ตรงหรือแก้วแตก แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องปล่อยไปเพื่อให้เกิดการพัฒนา ไม่งั้นเราจะไม่มีทางขยายมาได้ขนาดนี้
นับจนถึงวันนี้ การตัดสินใจลุกขึ้นมาทำเต่าบิน สร้างเทคโนโลยี สร้างทีม สร้างระบบเองในทุกขั้นตอนคุ้มค่าแค่ไหน ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ คุณยังคงเลือกที่จะทำสิ่งนี้และเลือกหนทางที่ยากขนาดนี้หรือเปล่า
แน่นอนค่ะ แค่ได้บอกว่าเต่าบินเป็นเทคโนโลยีที่คนไทยคิดค้นขึ้นมาร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ภูมิใจมากแล้ว เรามักจะบอกใครต่อใครเสมอว่าวิศวกรไทยฝีมือดีกว่าที่คนอื่นคิดเยอะมากๆ แต่เรามักจะพบว่าน้องที่เก่งๆ ออกไปเติบโตที่นอกประเทศหมดเลย ซึ่งเสียดายมาก คนไทยเก่ง EQ ก็ดี แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน จะด้วยการศึกษาหรืออะไรหลายๆ อย่าง ขณะที่ในต่างประเทศเขาจะมี intern หรือสิ่งที่เรียกว่า Hackathon หลอมรวมกันพัฒนาผลักดันให้คนคิดตลอดเวลา คิดไอเดียใหม่ขึ้นมาเองโดยไม่ต้องตามหลักสูตร อันนี้เสียดาย
คุณมีวิธีรักษาคนเก่งให้อยู่ในองค์กร หรือมีวิธีสร้างบรรยากาศการทำงานให้เต่าบินเป็นองค์กรที่คนเก่งอยากมาร่วมงานด้วยยังไง
จริงๆ เราจะไม่ได้เข้าไปแตะเรื่อง R&D ทั้งหมดตลอดเวลา แต่เราสัมผัสได้ว่า การทำเต่าบินทำให้ทีมรู้สึกถึงความเป็น ownership มากขึ้น แต่ละคนมีความรับผิดชอบเป็นของตัวเอง เช่น มีคนทำหน้าที่ดูเรื่องน้ำแข็ง ก็ดูเรื่องน้ำแข็งไปเลย แล้วการจดสิทธิบัตรก็มีชื่อเขาอยู่ด้วย
พูดถึงเรื่องการนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ก็มีการสร้างแรงจูงใจ ยกตัวอย่างไอเดียที่ว่าเครื่องดื่มทำช้า เราก็ท้าว่าใครคิดวิธีลดเวลาลงได้แม้เพียงวินาที แค่ลดได้หนึ่งวินาทีก็เอารางวัลไปเลย แต่ละคน แต่ละพาร์ท ก็ไปคิดกันเอาเองว่าจะทำยังไงให้เครื่องดื่มเสร็จเร็วขึ้นได้ หรือถ้าใครเกิดคิดอะไรที่ใหม่ๆ ให้องค์กรได้ ก็ให้รางวัลเหมือนกัน
นอกจากคนที่ทำหน้าที่ดูแลน้ำแข็งโดยเฉพาะ ยังมีตำแหน่งหน้าที่สนุกๆ ในเต่าบินอีกไหม และถ้าตู้เต่าบินเป็นคน ในตู้นั้นจะมีคนทั้งหมดกี่คน
น่าจะประมาณ 100 คน มีคนที่ทำหน้าที่ดูแลชุดผง ชุดไซรัป คนทำปั๊ม คนดูแลหัวชง โซดา ไหนจะแขนชั่ง แก้ว เมล็ดกาแฟ ปั๊มล้าง ถ้วยล้าง น้ำทิ้ง เต็มไปหมดเลยค่ะ
ถ้าสังเกตดูดีๆ ข้างใต้ขาจะมีถาดกันมดอยู่ มีส่วนที่ทำหน้าที่เหมือนเอาดาบไปไล่ฟันมด อันนี้จดสิทธิบัตรไว้ด้วยจริงจัง ปกติตู้น้ำอื่นๆ ใช้วิธีวางน้ำดักหมดซึ่งมันทำให้ตู้ย้ายไปไหนไม่ได้ แต่เราต้องการให้เคลื่อนย้ายตู้ได้ขณะที่ขากันมดก็ยังอยู่ ซึ่งก็จะมีวิธีการซีล ทำยังไงให้สามารถเลื่อนตู้ได้ คิดแม้แต่เรื่องสายไฟด้านหลังตู้ คือมันมีรายละเอียดยิบย่อยเยอะมาก
กลัวไหมว่าวันหนึ่งคนจะเลิกฮิตเต่าบิน
กลัวค่ะ ซึ่งเพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อ วันหนึ่งเราตั้งใจจะเปลี่ยนสินค้าและคิดสร้างบรรยากาศใหม่ๆ พยายามเปลี่ยนให้ได้ทุกซีซั่น เหมือนห้างสรรพสินค้าที่เราไปได้ไม่เคยเบื่อ
เป็นเพราะเต่าบินไม่ยึดติดกับความสำเร็จ?
ถูกต้องค่ะ ข้อได้เปรียบของเราคือยืดหยุ่นและไหวตัวทันกับการเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งเรื่องโลเคชั่น ที่ไหนไม่ดีเราก็ย้าย
สุดท้ายนี้เราพบว่าคนชอบตู้เต่าบินกันมาก แต่ก็มีหลายคนเป็นห่วงเรื่องการใช้พลาสติก คุณมีแผนรับมือกับเรื่องนี้ยังไงบ้าง
เราพยายามที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ เริ่มจากสร้างตัวเลือกอัตโนมัติ ไม่รับหลอดและไม่รับฝาเลย ซึ่งก็จะลดการใช้พลาสติกไปแล้วสองชิ้น ส่วนแก้วเราเลือกพลาสติกที่รีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รวมถึงเลือกสีด้วย พยายามเลือกสีที่พอไปบดเป็นเม็ดพลาสติกก็ยังได้พลาสติกในเกรดคุณภาพสูงอยู่ เรียกว่าค่อยๆ ทำกันไป แต่ยังไม่สามารถใช้แก้วที่ทำจากพลาสติกย่อยสลายได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ในตอนนี้ เพราะว่าราคาต้นทุนของแก้วพลาสติกที่ย่อยสลายได้นั้นยังสูงอยู่
เราต้องการจะเป็นเครื่องดื่มที่กินทุกวันของทุกคน ในราคาที่จับต้องได้ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องบาลานซ์สิ่งนี้ เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ แต่ก็ทำในทางที่เป็นไปได้ ในอนาคตตู้เต่าบินที่อยู่ตามคอนโดฯ เราอาจจะไปตั้งที่รับแก้วคืนเพื่อนำไปรีไซเคิล แต่ว่ายังอยู่ในสถานการณ์โควิดอยู่ เราก็เลยยังไม่เสี่ยงที่จะทำ
PLAYBOOK
บันทึกการผ่านด่านสำคัญที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิต หรือส่งผลต่อชีวิตจนปัจจุบัน
MISSION : เปลี่ยนชื่อแบรนด์
YEAR : 2019
EVENT :
ตอนนั้นชื่อ ‘เติมเต็ม’ เป็นชื่อที่ทุกคนเห็นว่า save นั่นคือทั้งเบสิกและง่าย ความหมายมงคลแบบไทยๆ ทั้งเติมเต็มจิตใจและเติมเต็มบุญ แต่ว่าเราต้องการเปลี่ยนไปสู่อะไรที่มันฉีก อะไรก็ได้เลยที่จำง่าย คนได้ยินแล้วต้องถาม เห็นโลโก้ปุ๊บต้องจำได้
PLAN :
เราต้องใช้เวลานานพอสมควรกับการโน้มน้าวผู้บริหารที่ค่อนข้างมีอายุ ซึ่งแต่ละท่านก็ยังไม่เห็นด้วย เราจึงมัดมือชกทุกคนด้วยการใช้ชื่อของประธานบริษัทมาตั้งชื่อแบรนด์ พร้อมเสนอทางเลือกเป็นชื่อกลางๆ อย่าง Cosmic Coffee ซึ่งเรารู้สึกว่ามันน่าเบื่อเหมือนเติมเต็ม ขณะที่เต่าบินเป็นชื่อที่เราเลือกอยู่ในใจอยู่แล้ว
สุดท้ายเราก็ตัดสินใจบอกทุกคนว่าเอาเต่าบินนี่แหละ ไม่เป็นไรลองดู ถ้าไม่ดีจริงๆ เดี๋ยวค่อยเปลี่ยน จะว่าไปมันมีความเป็นอินเตอร์นิดนึง คลุมเครือ ได้ยินแล้วต้องถามว่ามันคืออะไร นอกจากนี้รูปเต่ามันเป็นสัญลักษณ์ที่ให้ความรู้สึกสิริมงคล เชื่อถือได้ ประกอบกับอะไรหลายๆ อย่างก็ถือว่าโอเค
SCORE :
8 คะแนน
QUIT or RESTART :
ไม่เปลี่ยนแล้วเอาอันนี้แหละ ดีแล้วค่ะ